กำลังใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ทำบาป”
ที่บ้านผมมีการขัดแย้งในครอบครัวเป็นประจำ โดยเฉพาะผมกับแม่ วันก่อนทะเลาะกันรุนแรง แม่เข้ามาดุและจะมาตีผม ผมจึงทำร้ายแม่โดยขาดสติ แม่บาดเจ็บและผิดหวัง ผมเสียใจและสะเทือนใจมาก ผมได้ถือดอกไม้ไปกราบขอขมาแม่และพ่อแล้ว แม่ก็ให้อภัย แต่ก็ยังโกรธอยู่ เหตุการณ์นี้ทำให้ครอบครัวผมทุกคนเสียใจ ผมต้องทำอย่างไร ผมทำบาปมาก ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนเข้าวัดมาแต่เด็ก ตอนนี้ผม ๓๓ มีครอบครัวแล้ว บ้านผมค้าขาย ทำแต่งาน ถูกปลูกฝังให้ทำแต่งาน หาแต่เงิน ผมเครียดและรู้สึกผิดมาก
ตอบ : นี่พูดถึงความรู้สึกไง ความรู้สึก นี่ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือการเกิดมา การเกิด เราเกิดในวัฏฏะ เราเกิดมาต้องมีพ่อมีแม่ ไม่มีพ่อมีแม่เป็นแดนเกิด เราจะไปเกิดเป็นอะไร
โอปปาติกะไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม นั่นโอปปาติกะ เกิดโดยเวรโดยกรรม เกิดในนรกอเวจี เกิดโดยโอปปาติกะ เกิดโดยสัตว์เดรัจฉาน เกิดโดยเป็นมนุษย์ต้องมีพ่อมีแม่เป็นแดนเกิด ถ้ามีพ่อแม่เป็นแดนเกิดนี่ผลของวัฏฏะ ถ้าผลของวัฏฏะ ทุกคนก็ตั้งใจ ตั้งใจทำคุณงามความดี เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก ฉะนั้น คนเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนที่มีบุญ มีบุญถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเกิดเป็นมนุษย์ต้องมีมนุษย์สมบัติ
มนุษย์สมบัติคืออะไร คือศีล ๕ ถ้ามีมนุษย์สมบัติได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าขาดจากศีล ๕ ขาดจากทำบาปทำกรรม มันก็ไปเกิดเป็นโอปปาติกะ ฉะนั้น ผลของวัฏฏะ เราเกิดมาแล้ว เกิดมาด้วยบุญกุศล เราถึงมีความคิดที่ดีไง ความคิดที่ดีเพราะว่า เขาทำสิ่งใดผิดไปแล้วเขาเสียใจ เขาเสียใจ แล้วไม่เสียใจธรรมดาด้วย เพราะอะไร เพราะผมเป็นคนเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก ผมเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก แล้วทำไมผมยับยั้งความรู้สึกไม่ได้ล่ะ ทำไมเวลาแม่เข้ามาดุ ทำไมเรามีอารมณ์ไปอย่างนั้นล่ะ
ผลของวัฏฏะ หมายความว่า ที่บ้านผมทำการค้ามา ที่บ้านผมทำแต่งาน ถูกปลูกฝังมาให้ทำแต่งาน การว่าถูกปลูกฝังมามันอยู่ที่วัฒนธรรม วัฒนธรรมนะ ดูสิ นี่พูดถึงกระแสสังคมนะ เราไม่ได้คิดว่าเป็นอย่างนั้นทั้งหมด อย่างที่เขาว่าพวกยิวๆ พวกยิวเขาปลูกฝังกันมาว่าอย่างไร ว่าเห็นแก่ตัว แต่เวลาพวกยิวพวกที่มีปัญญา ดูสิ อย่างทางเราทางเอเชีย คนจีนเป็นคนที่ทำมาค้าขาย เราคนไทย คนไทยเป็นพวกขุนนาง พวกเอาความสะดวก นี่พูดถึงว่ามันฝังกันมาในสังคม ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่ว่า ที่บ้านผมทำแต่งาน ถูกปลูกฝังมาให้ทำแต่งาน เราเกิดมาในวัฒนธรรมไหนล่ะ
ถ้าวัฒนธรรมอย่างนี้ การทำงาน คนทำงาน คนถ้ามีงานทำ ดูสิ ดูทางยุโรปเขา เขาบอกว่าเขาต้องพยายามหาตำแหน่งงานให้มากที่สุด ผู้ที่ขึ้นมาบริหารต้องไม่ให้คนตกงาน เพราะคนทำงานมันก็มีเงิน คนทำงานก็มีอาหาร คนทำงานก็มีปัจจัยเครื่องอาศัย คนเราจะอาศัยมันก็ต้องมีหน้าที่การงานเป็นธรรมดา ถ้ามีหน้าที่การงานเป็นธรรมดา
ที่บ้านปลูกฝังมาให้ทำแต่งาน ปลูกฝังมาให้ทำแต่งาน ถ้าเราว่าปลูกฝังให้ทำแต่งาน ถ้าจิตใจเราเครียด จิตใจเรามีความน้อยเนื้อต่ำใจ เราก็เสียใจไง เราก็เสียใจว่าทำไมเราต้องทำแต่งาน ทำไมดูข้างบ้านเขายังอยู่กันแบบสุขสบาย อยู่กันโดยที่เขาไม่เคร่งเครียด เขาไม่เคร่งเครียด วัฒนธรรมไง วัฒนธรรม
ฉะนั้น ถ้าวัฒนธรรม พ่อแม่ปลูกฝังมาให้ที่บ้านทำมาค้าขาย พ่อแม่ปลูกฝังมาให้ทำแต่งาน พ่อแม่ปลูกฝังมาให้เป็นคนรับผิดชอบ ถ้ารับผิดชอบแล้วเราเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเราเข้าวัดตั้งแต่เด็ก จิตใจเรามีศีลมีธรรม มีความกตัญญูมีกตเวที มันผ่อนคลายได้ไง
ถ้าเราทำงาน เขาว่าคนที่ทำงานด้วยความเป็นสุข ทำงานด้วยความเป็นสุขเขาทำด้วยความไม่ได้เคร่งเครียด นี่ปลูกฝังมาทำแต่งาน ถ้าปลูกฝัง เราอยู่กับงาน เราอยู่กับงานมันเป็นเรื่องปกติ มันทำงาน อยู่กับงานจนเป็นความสุข ถ้าเป็นความสุขอยู่กับงาน เหนื่อยก็พัก เราเหนื่อยร่างกายเราก็พัก แต่หัวใจสิ หัวใจเวลามันมีอะไรปลูกฝัง มันพักไม่ได้ ถ้ามันพักไม่ได้มันต้องมีศีลธรรม มีศีลมีธรรมเป็นที่อาศัย
ถ้ามีศีลธรรมเป็นที่อาศัย เพราะว่าเราบอกว่าเราเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก ทำไมผมก็เป็นคนเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก แล้วนี่ขาดสติไป ได้ทำบาป เห็นไหม คิดได้อย่างนี้ คนเกิดมา ผลของวัฏฏะ เกิดเป็นคน คนคิดใฝ่ดีๆ แล้วทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ มันเป็นแบบนี้เพราะเราไม่ได้ฝึกไม่ได้ฝนไง
เวลาเข้าวัดตั้งแต่เด็กเราเข้าไปทำไมล่ะ เข้าไปวัด ไปวัดเขาไปวัดหัวใจ ถ้าไปวัด ไปวัดหัวใจใช่ไหม มันจะพัฒนาขึ้น ถ้าเราไปวัด เราบอกไปวัดๆ แล้วได้บุญ ดูประเพณีของเรา ฟังเทศน์เอาบุญ นั่นไปถึง พอพระเทศน์ก็ยกมือพนมกันนะ สัปหงกกันน่ะ นั่งเอาหัวโขกกันไปโขกกันมา เอาบุญๆ ไม่ได้เอาอะไรเลย ไปวัดไปทำไม ไปฟังเทศน์ ฟังเทศน์เอาบุญ
ฟังเทศน์เอาปัญญา ฟังเทศน์ให้สะกิดหัวใจเรา
ดูสิ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ลูกชายก็คัดค้านบิดา คัดค้านพ่อเหมือนกัน พ่อใช้อุบาย อุบายบอกให้ไปวัด นี่ไปวัดตั้งแต่เด็กๆ ไปวัดนะ ไปวัดกลับมาแล้วให้สตางค์ ไปวัดกลับมาก็มารับรางวัลทุกวัน แล้วพอไปวัด จิตใจมันชักดีขึ้น พอจิตใจดีขึ้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ตั้งเงื่อนไขขึ้นต่อเนื่องไป ไปวัดนะ แล้วฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ว่าอะไร ไปฟังนะ ถ้าจำคำพูดพระพุทธเจ้ามาได้คำหนึ่งจะให้รางวัลเป็น ๒ เท่า
อ้าว! ก็ไปวัด ไปวัดก็ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ ก็มีความตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังก็เปิดหัวใจ ตั้งใจฟังนะ พอฟังกลับมา จำว่าพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องอะไร เรื่องอริยสัจ เรื่องอะไร ก็มารายงานพ่อ วันนี้พระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องนั้นๆ อ้าว! ให้ ๒ เท่า โอ๋ย! ดีใจได้รางวัล
ทีนี้ฟังไปๆ มันสะเทือนใจ พอสะเทือนใจ มันไปเปิดตาของใจ บรรลุธรรม พอบรรลุธรรมขึ้นไป กลับบ้านนะ พ่อรอให้สตางค์ รอให้สตางค์นะ เอ๊ะ! วันนี้มันไม่เอาสตางค์ ให้คนไปตามมา อยู่ในพระไตรปิฎก พอตามมา โอ๋ย! อายมาก กลับมากราบพ่อใหญ่เลย รำพันออกมา รำพันออกมาเลย อู๋ย! พ่อเลี้ยงมาตีนเท่าฝาหอยก็ไม่รู้บุญคุณพ่อแม่ พ่อแม่ทำอะไรก็มีแต่ความขัดแย้ง พ่อแม่ทำสิ่งใดก็ไม่เห็นด้วยกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็จ้างให้ไปวัด นี่เขาไปวัดตั้งแต่เด็ก จ้างให้ไปวัด พอจ้างให้ไปวัด ไปวัดกลับมาก็ยังไปเอาสตางค์ ไปวัดมาเอาสตางค์ไง
พ่อฉลาดเพราะพ่อเป็นพระโสดาบัน พ่อฉลาด พ่อบอกว่าจะให้มากขึ้นอีกถ้าฟังพระพุทธเจ้าพูดว่าอะไร
คำว่า “พูดว่าอะไร” เพราะพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องกิเลส เรื่องธรรม เรื่องกิเลสคือเรื่องที่ฝังใจ พอพระพุทธเจ้าเทศน์ จำคำพูด จำคำพูด มันจำ มันยังไม่จริง พอมันจำมันก็เปิดหัวใจๆ พอมันแทงหัวใจเท่านั้นน่ะ ไม่เอาสตางค์แล้วนะ ไม่เอาสตางค์แล้วยังอายพ่อ อายเพราะอะไร อายเพราะรู้ว่าตัวเองผิด แต่ถ้าตัวเองยังไม่รู้ว่าตัวเองผิดนะ ไม่อาย จะเอาสตางค์ จะเอาเยอะๆ จะเอา ๒ เท่า พ่อให้น้อยไปจะเอา ๓ เท่า
แต่พอดวงตาเห็นธรรม อายนะ อาย เห็นคุณว่าพ่อเลี้ยงมาตีนเท่าฝาหอย รำพันเลยนะ พ่อเลี้ยงมาตีนเท่าฝาหอย พ่อรักขนาดนี้ก็ยังไม่รู้จักว่าพ่อรัก แล้วเวลายังมาโทษอีก เวลาไปวัดก็ไปเอาสตางค์ๆ
จนพ่อว่า ถ้าไปวัดเอาสตางค์แสดงว่าชักดีขึ้นแล้ว เพราะยอมไปวัดแล้ว ไปวัดแล้วมาเอาสตางค์ แต่พอไปวัดแล้วพอฟังคำเทศน์ เพราะพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องกิเลส เรื่องการชำระล้างกิเลส เรื่องความสุข เรื่องความดีงาม พอเทศน์มันถึงใจ มันเปลี่ยนโปรแกรม พอเปลี่ยนโปรแกรมนะ คนมันเปลี่ยนความคิด พอเปลี่ยนความคิดขึ้นมา อายพ่อมาก อายพ่อมาก
นี่ก็เหมือนกัน เราขาดกำลังใจไง เราขาดการฝึกฝนไง เราไม่ต้องเสียใจ สิ่งที่ทำไปแล้วเป็นอดีต สิ่งที่ทำไปแล้วเป็นอดีต สิ่งที่ว่ามันเป็นบาป อย่างนี้เราชมนะ เราชมว่าโยมเป็นสุภาพบุรุษ เป็นสุภาพบุรุษเพราะว่า หนึ่ง ทำบาปแล้วยอมรับว่ามันเป็นบาป รู้ตัว คนรู้ตัวนี่หายาก
ถ้าคนที่ไม่รู้ตัวนะ โยมไปเป็นคนอื่นนะ เขาจะไปรำพันกับเพื่อนเขา “พ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ไม่รัก” แล้วก็ไปสุมหัวกับเพื่อนเขา แล้วเพื่อนเขาก็ชักนำกันไป ชักนำไปทางที่ถูกที่ผิด ก็ชักนำกันไป ถ้าชักนำกันไปอย่างนั้นมันจะไปไกลเลย แต่นี่เรายังรู้ว่าเราทำบาป
ไม่มีใครรักเราเท่าพ่อแม่หรอก พ่อแม่อย่างไรก็รักเรา นี่พ่อแม่เข้ามาดุ จะมาตี ผมจึงทำร้ายแม่ไปด้วยความขาดสติ แม่บาดเจ็บและผิดหวัง
นี่เราคิดได้ เราคิดได้แล้วเราก็เสียใจ เราก็สะเทือนใจ เราคิดได้ เราเสียใจ เราสะเทือนใจ แล้วเราไปขอขมาพ่อแม่ พ่อแม่ก็ให้อภัย แต่ยังโกรธอยู่ โกรธแน่นอน ก็เกิดมันมา หวังดีกับมันทุกอย่าง สอนมันทุกอย่าง ทุกอย่างทำมาก็จะให้มันนั่นแหละ แล้วมันยังมาทำร้ายอีก
ฉะนั้น ทำร้ายเพราะว่ามันเครียด ทำงาน อันนี้เห็นใจนะ เห็นใจเพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเรา เรายังคิดไง เราคิดของเราโดยวัย โดยวัยมีความขัดแย้ง แล้วอีกอย่างหนึ่งคนใกล้ชิด คนใกล้ชิดพ่อแม่นะ ลูกของเราๆ ก็พูดโดยไม่ได้ยั้งคิด ความจริงแม่พูดกับคนอื่นก็ไม่พูดเหมือนเราหรอก ถ้าแม่เขาไปพูดกับคนอื่น โดยมารยาท เขาก็ต้องยับยั้งของเขาด้วยมารยาทของเขา แต่คิดว่าลูกไง ลูกของเราก็พูดอย่างไรก็ได้ พอพูดอย่างไรก็ได้ ไอ้ลูกเก็บกดไว้ๆ มันก็เจ็บช้ำน้ำใจ ถ้าเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วอย่างว่า เราก็เป็นคนไปวัด เราก็ต้องเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้นะ เข้าใจ หมายความว่า เราปล่อยวางได้ สิ่งนั้นเราปล่อยวางได้ เรามองในความมุ่งดีปรารถนาดีของพ่อของแม่ แล้วถ้าท่านพูดสิ่งใดก็เป็นความเคยชินของท่าน เป็นความเคยชินของท่าน
หลวงตาท่านพูดซึ้งมาก หลวงตาท่านบอกว่า พ่อแม่ของเรานะ แม้แต่ท่านจะผิดก็อย่าไปเถียง หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ พ่อแม่ของเราแม้แต่ท่านจะผิด แม้แต่ท่านจะผิด ไม่ใช่ถูกนะ แม้แต่ท่านจะผิดก็อย่าไปเถียง เพราะถ้าไปเถียงแล้ว สังคมเขามองมาแล้วระหว่างลูกกับพ่อแม่ ลูกเถียงพ่อแม่มันมีแต่เสียหายทั้งนั้นน่ะ ถึงท่านจะผิด เราก็อย่าไปเถียง แต่ถ้าเมื่อไหร่ท่านอารมณ์ดีแล้ว ท่านอารมณ์ดีแล้ว ท่านเป็นปกติแล้วค่อยคุยกันด้วยเหตุด้วยผล อย่าไปโต้อย่าไปเถียง เพราะเถียงเท่าไรเราขาดทุน เพราะเขามองมาระหว่างลูกเถียงพ่อแม่ๆ เขาไม่มองว่าพ่อแม่ถูกหรือผิดหรอก เขาว่าลูกเถียงพ่อแม่
แต่เราอดกลั้นไว้ ขันติธรรมอดกลั้นไว้ ถึงเวลาแล้วเราค่อยอธิบายกัน อธิบายกัน คุยกันด้วยเหตุด้วยผล เราคุยได้ ไม่ใช่ว่าผิดแล้วจะปล่อยให้ผิด พ่อแม่ผิดแล้วจะปล่อยพ่อแม่ไปเลย ไม่ใช่หรอก แต่ขณะที่มีการโต้แย้งกัน ทิฏฐิเกิดระหว่างพ่อแม่กับลูก เจ้าของสิทธิ์ เจ้าของสิทธิ์คือพ่อแม่เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย เราไม่มีสิทธิอะไรเลย เราไม่มีสิทธิ์หรอก เราเถียงอย่างไรก็เถียงไม่ขึ้นหรอก เจ้าของสิทธิ์เขาให้เกิด ให้ชีวิตมา เขาให้ชีวิตมา เขาเลี้ยงดูมา เขาเหมือนเจ้าของสิทธิ์ แล้วเจ้าของสิทธิ์เขาจะทำอะไร ถ้าเขามีความเห็นผิด มันก็เจ้าของสิทธิ์นั้นใช้สิทธิผิด ทีนี้ถ้าเราเป็นลูก เราพยายามแก้ไขๆ
อันนี้พูดถึงเราพอใจไง เราพอใจที่เขาคิดได้ ตรงนี้สำคัญมากนะ “ผมต้องทำอย่างไร เพราะผมทำบาปมาก ทั้งๆ ที่ผมก็เป็นคนเข้าวัดแต่เด็ก ตอนนี้ผม ๓๓ มีครอบครัวแล้ว”
ถ้าคิดได้ ถ้าคิดได้นะ พอคิดได้ พอเข้าไป เข้าไปถึงในวงจรนั้น เรารักษาสติของเรา เราแก้ไขของเรา ฉะนั้น ขอขมาลาโทษแล้ว เราขอขมาลาโทษแล้ว เราทำคุณงามความดีของเรา เรากลับมาที่ตัวเรา ถ้าเราทำของเราได้ ในเมื่อเราต้องทำงาน ในเมื่อการทำงานมันมีการแข่งขันในเรื่องงาน มันเรื่องธรรมดานะ ฉะนั้น ในการปลูกฝังมาให้หาแต่เงิน ปลูกฝังมาให้หาแต่เงิน เราก็หา เราหามา เพราะมันเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมของคนทำมาค้าขาย เขาเรียกว่าคนค้าขายเป็น คนที่เป็นพ่อแม่ที่ดีเขาฝึกหัดลูกเขาค้าขายตั้งแต่เด็กๆ
เด็กๆ ไปโรงเรียนก็ซื้อของไปขาย เขาฝึกหัดลูกเขามา เดี๋ยวนี้โรงเรียนทุกโรงเรียนนะ เขาจะตั้งให้เด็กทำโครงการ หัดให้เด็กค้าขายเป็น หัดให้เด็กรู้จัก ตอนนี้เขาฝึกหัดกันอยู่ โลกเขาก็ต้องการอย่างนั้น พ่อแม่ก็ต้องการอย่างนั้นเหมือนกัน ฉะนั้น ถูกปลูกฝังมาให้หาแต่เงิน เราก็หา แต่เราหาแล้ว หาเงินส่วนหาเงิน แล้ววางไว้ แต่เราก็มีศีลธรรมไว้ให้หัวใจของเราได้พักผ่อน ถ้าเราได้พักผ่อน มันมีที่พึ่งไง เวลาทำงานก็ทำงาน มันเป็นวัฒนธรรม แล้วผมเครียด แล้วรู้สึกผิด
ถ้าเครียด เวลาทำงานก็ทำงาน เวลาวางจากงานแล้วเรามาพุทโธของเรา มาพิจารณาของเรา พิจารณาของเราแล้วเปลี่ยนให้จิตใจเราพักตรงนี้ เวลาไปทำงานต้องทันโลก เราจะบอกว่าถ้าไม่ทันโลกมันก็สู้โลกไม่ได้ ถ้าไม่ทันโลก เราจะอยู่กับสังคมได้อย่างไร ถ้าเราอยู่กับสังคม เราต้องทันกัน เราต้องทันกัน เราต้องมีที่มาที่ไป เรามีเหตุมีผลของเรา แต่เวลาเราพักต้องพักเป็น ธรรมะเขาสอนตรงนี้
ดูพระสิ หลวงตาท่านบอกนะ “ทุกคนว่าทำงานหนักๆ ยังไม่ได้ภาวนา อย่าเพิ่งมาคุย” หลวงตาพูดอย่างนี้จริงๆ เพราะเวลานั่งภาวนาเอาชีวิตเข้าแลก นั่งตลอดรุ่ง
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็พัก ทำงานนะ เวลาป่วยก็ลาป่วย เวลาคนทำงานก็ยังลาได้ แต่เวลาต่อสู้กับการภาวนา เวลามันถึงที่สุด เวลาจะเอาจริงอยู่ฟากตายๆ มันเอาตายเข้าแลกเลย ถ้าเอาตายเข้าแลก มันทำจริงทำจังขนาดนั้น
ฉะนั้น เวลาทำจริงทำจังก็จะโม้อีกแหละ ว่า “พระไม่ทำอะไรเลย เช้าก็บิณฑบาตฉัน มีแต่สอนคนอื่น ไม่เห็นสอนตัวเองเลย” แน่ะ ไม่เห็นพระเดินจงกรม นั่งสมาธิทั้งวันๆ งานที่ยากที่สุด ที่บอกว่าผมเครียดมาก ผมเครียด
งานที่ยากที่สุดคือเอาใจของตนเองไว้ในอำนาจของตน งานที่ยากที่สุด เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา แล้วถ้ามันเอาไว้ได้แล้วนะ ที่ผมเครียดจะหายทันทีเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราโดนปลูกฝังมาหาแต่เงิน เราก็หาแต่เงิน แต่ถ้าถึงเวลาแล้วเราหาที่พึ่งของเรา เราเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา พุทโธๆ ไป แต่นี้พุทโธไม่ได้สิ ก็หาแต่เงิน ก็ห่วงแต่เงินไง ห่วงแต่งาน อ้าว! งานก็ทำมาแล้ว วางไว้ เราพุทโธของเราก่อน เราพักของเราก่อน ถ้ามันทำได้ ถ้ามันทำได้เพราะอะไร เพราะผมเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก ถ้าผมเข้าวัดตั้งแต่เด็ก มันได้เทียบเคียง ได้เทียบเคียงว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรควรไม่ควรแล้วเราทำตรงนี้ไป ไอ้สิ่งที่เครียดต้องธรรมโอสถเท่านั้น
เงินทองเขาเอาไว้ใช้จ่าย เอาไว้เพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย เงินทองซื้อทุกอย่างไม่ได้ ซื้อบางอย่างได้ แต่ซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่ธรรมสิ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีค่ากว่า ถ้ามีค่ากว่า มันวัดเป็นเงินเป็นทองไม่ได้ด้วย อริยภูมิวัดเป็นเงินเป็นทองไม่ได้เลย แต่โลกเขาวัดกันด้วยเงินด้วยทอง ฉะนั้น เราวางตรงนี้ได้ ถ้าเราวางตรงนี้ได้แล้วมันจะหายเครียดไง
งานก็คืองาน เราเกิดมาเราเป็นคนต้องมีอาชีพเป็นธรรมดา ถ้ามีอาชีพเป็นธรรมดา เราทำแล้วเราก็ทำงานของเรา ฉะนั้น ถ้าสิ่งที่ในครอบครัว ถ้ามันมีความขัดแย้ง ค่อยๆ คุยกัน มันเป็นเรื่องผลของวัฏฏะ จะให้คนมีความคิดเหมือนกันไม่มี เขาเรียกประชาธิปไตย ความเห็นต่างไง ฟังความเห็นต่างของเขา แล้วคุยกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วเราทำงานของเราไป ถ้ามันมีสิ่งที่เราทำมาดี มันจะเป็นดีไป แต่ถ้ามันมีสิ่งใดที่ขัดแย้ง ถึงที่สุดแล้วมันก็ยกให้กรรม
เวลาเกิดมาโดยกรรมนี่นะ เกิดในประเทศอันสมควร แล้วเกิดมา เวลาเกิดมาอยู่กับคนพาล เวลาเกิดมานะ สิ่งที่ทุกข์ที่สุดคืออยู่กับคนพาล คนพาลไม่มีเหตุผล คุยกับบัณฑิตนี่คุยกันรู้เรื่อง คุยกับคนพาลนี่ทุกข์น่าดูเลย ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ถ้าพูดถึงมันมีความขัดแย้ง ความทุกข์ที่สุดของบัณฑิตคือทุกข์เพราะอยู่ใกล้คนพาล ทุกข์มาก คนพาลทำให้เราทุกข์มาก เพราะมันไม่มีเหตุผล แต่ถ้ามันเป็นบัณฑิตด้วยกันคุยกัน นี่พูดถึงจะยกให้กรรมนะ แต่นี่มันเป็นผลของวัฏฏะ เราเกิดมาเป็นครอบครัวต้องสมานไว้ ยิ่งอายุเรา ๓๐-๔๐ แล้ว ต่อไปเราจะเป็นหัวหน้าครอบครัว พ่อแม่ก็หวังจะมอบให้ทุกๆ อย่าง พ่อแม่ก็ฝากไว้กับเราทั้งนั้น
ฉะนั้น ถ้าผลของวัฏฏะ มันเป็นเวรเป็นกรรม เราก็พยายามหาเหตุผลคุยให้ได้ อันนี้มันเป็นเวรเป็นกรรมที่หลีกไม่ได้ อดีตเป็นอดีต ปัจจุบันเป็นปัจจุบัน อนาคตเป็นอนาคต รักษาสิ่งที่ดีงามของเราให้สมกับเป็นเราชาวพุทธ
ถาม : เรื่อง “สงสัยในการภาวนา”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีข้อสงสัยในการภาวนาดังนี้ครับ คือว่าเมื่อผมพิจารณาเวทนา ถ้าในคราวใดที่ผมสามารถพิจารณาจนจบ จะมีผลตามมา ๒ อย่างคือ
๑. จิตมีอาการหดตัวเข้าจนกระทั่งหยุดนิ่งแล้วรู้อยู่ อาการดังกล่าวเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหมครับ
๒. จิตมีอาการคลายตัวเหมือนกับเราเปิดน้ำในถังออกอย่างรวดเร็ว และอาการเวทนาก็สลายไป และจิตมีอาการเบา โล่ง สบายมาแทนที่ อาการดังกล่าวใช่อาการที่เรียกว่าปล่อยวางชั่วคราวหรือเปล่าครับ
ตอบ : ฉะนั้น คำถาม ถ้ามันภาวนามาแล้ว ถ้ามันมีประสบการณ์ การถามอย่างนี้มันจะมา
คำถามจากการอ่านหนังสือมาถามอย่างหนึ่ง คำถามอย่างการปฏิบัติมาแล้วมันมีผลกระทบต่างๆ แล้วถามมาหนึ่ง ฉะนั้น เวลาถามมา ถ้ามีอย่างนี้ปั๊บแสดงว่าจิตมันมีการกระทำ ถ้าจิตมีการกระทำ เห็นไหม ข้อ ๑. อาการที่หดตัวเข้ามา เขาบอกว่าเขาภาวนาไป ภาวนาพิจารณาจนจบ มันจะมีผล พิจารณาเวทนาจนจบมันจะมีผลอย่างนี้นะ จนจบ
คำว่า “จนจบ” มันมี ๒ ประเด็น เขาบอกว่ามันมีอาการ ๒ อย่าง ข้อ ๑. ข้อ ๒. แต่การภาวนามันก็มี ๒ อย่างเหมือนกัน ๒ อย่าง หมายความว่า อย่างหนึ่งคือว่าเราพิจารณาเวทนา ถ้าพิจารณาเวทนาตั้งแต่เริ่มต้น มันปล่อยเวทนาเข้ามามันก็เป็นสมถะ
แต่พอจิตมันมีกำลัง จิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้ามันจับเวทนาโดยข้อเท็จจริงเป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ คือจิตมันมีสมาธิแล้ว จิตมันจับเวทนาได้ มันพิจารณาเวทนาไป ถ้ามันปล่อยมามันจะเป็นวิปัสสนา เขาว่ามันเป็น ๒ อย่าง ๒ อย่างคือสมถะกับวิปัสสนา ฉะนั้น ถ้ามันไม่มีสมถะมันก็ไม่มีวิปัสสนา
ฉะนั้น ถ้ามันเป็น ๒ อย่าง ๒ อย่างหมายถึงข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้จริงๆ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้จริงๆ แต่จิตของเรามันเป็นอย่างนี้หรือเปล่าล่ะ ถ้าจิตของเราไม่เป็นอย่างนี้ เราก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามาโดยเนื้อหาสาระ โดยข้อเท็จจริงเลย ถ้าจิตมันไม่สงบเข้ามา จิตมันไม่จริง มันจะเห็นสติปัฏฐาน ๔ โดยความจอมปลอม จอมปลอมเพราะกิเลสมันสร้างภาพ จอมปลอมเพราะกิเลสเป็นสมุทัย สมุทัยมันผสมมาในการกระทำของเรา คือมันมีกิเลส มันไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ มันไม่เป็นความถูกต้องดีงาม
ฉะนั้น ไม่เป็นความถูกต้องดีงาม ถ้าจิตมันสงบ ถ้าไม่ถูกต้องดีงาม ทำความสงบของใจได้อย่างไร ทำความสงบของใจเพราะมันเป็นพื้นฐานไง พื้นฐานถ้าจิตมันเป็นปุถุชน จิตมันเป็นปุถุชน มันเป็นคนหนา มันก็ต้องพิจารณาของมันให้มันสมควร จิตมันสมควรแก่การงาน
จิตสมควรแก่การงานคือว่าจิตมันสงบ พอจิตมันสงบควรแก่การงานแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์อริยสัจ อริยสัจคือความจริงไง ทุกข์ ทุกข์มันเป็นความจริงของมัน ทุกข์มันก็เป็นความทุกข์ แต่มันมีปัญหาขึ้นมาเพราะมันเป็นสมุทัย มีปัญหาขึ้นมาเพราะมันเป็นสมุทัยเพราะอะไร เพราะเป็นตัณหา ถ้าทุกข์มันเป็นทุกข์
ทีนี้ทุกข์เป็นทุกข์ เราไปปฏิเสธทุกข์กัน เราไปพยายามจะผลักไสทุกข์กัน ทุกข์มันเป็นความจริงของมันโดยธรรมชาติของมัน ทุกข์มันเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เพราะเราไปอยู่ที่ตัณหา ไปอยู่ที่สมุทัย ต้องการให้ทุกข์หาย ต้องการปฏิเสธมัน ต้องการอยากได้ผล ปฏิบัติก็อยากได้ผลๆ มันก็เลยเป็นคนหนาๆ ไง
แต่ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง จิตมันพิจารณาไปแล้วมันเป็น ๒ อย่าง ๒ อย่างคือสมถะ ถ้ามันเป็นสมถะแล้ว สมถะถ้าจิตมันสงบมากขึ้นๆ มันออกไปมันก็จะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา ถ้ามันเห็นจริงนะ ถ้าไม่เห็นจริง เป็นสมถะ คนที่ติดสมถะคือคิดว่าสมถะนี้คือผลเป้าหมายของการปฏิบัติ มันก็ติดอยู่แค่นั้นน่ะ มันติดสมาธิของมัน ถ้าไม่ติดสมาธิของมัน พิจารณาไป
ฉะนั้น มันมีโลกกับธรรมๆ ศึกษาโดยโลก โลกียปัญญา ศึกษาโดยโลกไง ศึกษาโดยปริยัตินี่โลกียปัญญา ฟังธรรมๆ ก็เป็นโลก โลกเพราะอะไร โลกเพราะเราใช้อายตนะ เราใช้สามัญสำนึกของเราฟังธรรม
แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ พอจิตมันสงบ สงบมันก็มหัศจรรย์แล้วล่ะ พอมหัศจรรย์ มีใครเขี่ย หลวงตาท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ๆ ท่านเปรียบจิตของเรามันเหมือนวัว เหมือนวัวมันอยู่ในคอก พออยู่ในคอก คอกวัว วัวเต็มหมดเลย มันอยู่ในคอก มันออกไม่ได้ ถ้าใครเปิดปากคอก วัวตัวนั้นออกก่อน ใครอยู่ปากคอกใช่ไหม ใครเปิดคอกวัว วัวก็ต้องหลุดจากคอกเป็นธรรมดา
จิตของเรามันปุถุชนคนหนา มันโดนคอก โดนโลกียปัญญา โดยสามัญสำนึกมันกั้นไว้หมด ทีนี้พอทำความสงบของใจๆ ทำความสงบของใจ แล้วเวลาฟังเทศน์ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรม จะเปิดปากคอก เปิดปากคอกให้วัวออก ถ้าเราใช้จิตของเรา ถ้าจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ มันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นจริง เวลามันวิปัสสนาไป วิปัสสนาเป็นความจริง ผลมันเป็นแบบนั้น บอกว่าเป็น ๒ อย่าง
ทีนี้พอเป็น ๒ อย่าง เอาตรงนี้เป็นประเด็นก่อน เป็นประเด็นเพราะเวลาเข้ามา เพราะเข้ามาตอบปัญหาไง “๑. จิตที่มีอาการหดตัวเข้ามาจนกระทั่งหยุดนิ่งแล้วรู้อยู่ อาการดังกล่าวเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหมครับ”
นี่พูดถึงถ้าโดยการปฏิบัติเขาจะฟันธงเลย ใช่ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน
เวลาตอบปัญหาจะบอกว่าหลวงพ่อตอบปัญหา เดี๋ยวก็รับ เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวก็รับ เดี๋ยวก็รับ เดี๋ยวปฏิเสธ
เพราะการปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้ เพราะถ้าจิตมันสงบแล้ว ทำให้สงบของใจนี่รับ รับว่าใจมันสงบเข้ามา แล้วใจสงบเข้ามา เวลาต่อไปปฏิเสธ ปฏิเสธเพราะอะไร ปฏิเสธเพราะมันไม่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา แล้วไม่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา แล้วถ้าไม่ยกขึ้นสู่วิปัสสนามันจะก้าวเดินไปอย่างไร แต่ถ้าพอจะยกขึ้นวิปัสสนามันก็ต้องมีสมถะ มันก็ต้องมีสมาธิขึ้นมาก่อน ถ้ามีสมาธิเข้ามาก่อน
ทีนี้อาการแบบนี้ จิตของคนมันอยู่ที่วุฒิภาวะ อยู่ที่จิตของคน จิตของคนไม่เคยสงบเลย จิตของคนไม่มีหลักฐานเลย มันก็ต้องทำความสงบของใจ ต้องปัญญาอบรมสมาธิ นั่นน่ะถูก นี่ถูก แต่เวลาบอกถ้าถูกแล้ว ถูกแล้วก็คือว่ามันต้องต่อเนื่องไป ถูกแล้วมันถึงที่สุดไป ผิด นี่ปฏิเสธแล้ว ปฏิเสธเพราะอะไร ปฏิเสธเพราะมันไม่ยกขึ้นวิปัสสนา
ถ้าวิปัสสนา วิปัสสนาปั๊บ ถ้าวิปัสสนาไปมันก็เป็น ๒ เดี๋ยวรับ เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวรับ ถ้ารับ รับว่ามันถูกในขณะนั้น มันถูกในขณะนั้นแล้วต่อเนื่องไป เพราะถูกในขณะนั้น บางคน คนที่เห็นแก่ตัว คนที่พยายามจะเอาแต่ความดี จะไปถามหลวงตาว่าอย่างนี้ถูกไหม แล้วก็อ้างว่าหลวงตาบอกว่าถูก แล้วก็บอกว่าถูก ถูกไปนั่นน่ะ ถูกอะไรล่ะ ถูกในขั้นของสมถะ
รับแล้วปฏิเสธไง เวลารับใช่ไหม ใช่ รับว่าถูก แล้วถ้าต่อไปล่ะ พอถูกแล้วมันก็ไม่ทำอะไรต่อแล้ว ถูกแล้วมันก็ลอยนวลเลย พอลอยนวล พอมันเสื่อมไป กิเลสมันก็กลับมาอีก อ้าว! ถ้าถูกแล้วทำไมมันไม่ก้าวหน้าล่ะ ถ้าถูกแล้วทำไมมันไม่ไปต่อล่ะ เห็นไหม รับแล้วปฏิเสธ เพราะมันเป็นสมถะ มันยังไม่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนามันไป
ฉะนั้น เวลากิเลสมันหลอกไง คนภาวนาส่วนใหญ่คิดอย่างนี้ เวลาไปหาหลวงตา เขาบอกเขาถามหลวงตามาทั้งนั้นน่ะ
ไปอย่างไร
ก็ไปนั่งที่ศาลา แล้วอธิษฐานจิตถาม แล้วท่านก็ตอบมาตรงเปี๊ยะเลย
อย่างนี้คือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ คือไม่เปิด ไม่คุยกันตามข้อเท็จจริง ไปคุยแบบจินตนาการ ไปคุยแบบสร้างภาพ ไปนึกเอาเอง
ไปที่ศาลาบอกว่าทำอย่างไรนะ
ก็ไปหาหลวงตาที่ศาลา เวลาหลวงตาท่านเทศน์ก็นึกในใจ
ถ้านึกในใจมันก็ตอบในใจอยู่แล้ว ในใจก็นึกขึ้นมาเองใช่ไหม แล้วก็ตอบเสร็จเลย แล้วก็กลับมาว่าถามหลวงตามาแล้ว หลวงตาว่าถูก
เป็นอย่างนี้ร้อยทั้งร้อย เพราะเวลาคุยธรรมะกันเขาไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ร้อยทั้งร้อย เวลาที่บอกว่าหลวงตาบอกว่าถูกก็อ้างว่าถูกๆ หลวงตาว่าถูก ถูกในขณะนั้น ถูกโดยที่ว่าคนที่ภาวนาไม่เป็น ถ้าใครไปฝึกหัดภาวนา ใครได้สมาธิ คนนั้นก็ภาวนาถูกไหม ถูก ใช่ แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ ทำอย่างไรต่อไป ทำอย่างไรต่อไปมันก็ต้องพัฒนาขึ้นไป ถ้าพัฒนาขึ้นไปจะเป็นวิปัสสนาถ้าทำได้นะ
ฉะนั้น กลับมาข้อที่ ๑. จิตที่มันหดตัวเข้ามาจนกระทั่งหยุดนิ่งแล้วรู้อยู่ อาการดังกล่าวเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่หรือไม่
ใช่ ถ้าใช่แล้ว พอใช่แล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ เวลาต่อไป จิตมันหดตัวเข้ามา หดตัวเพราะอะไร หดตัวเพราะพิจารณาเวทนา เวทนามันก็พิจารณาแล้ว โดยที่ว่า โดยปฏิบัติแบบโลกๆ ปฏิบัติพอเป็นพิธี เขาก็บอกว่าพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม
นี่คำถาม ผมพิจารณาเวทนาจนมันหดตัวเข้ามา ผมพิจารณาเวทนามันปล่อยแล้ว นี่เป็นอะไร
ถ้าไปปฏิบัติโดยพิธีก็บอกว่าอันนี้ก็สติปัฏฐาน ๔ ไง ก็พิจารณาเวทนาแล้วไง สติปัฏฐาน ๔ ไง
แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาเวทนาโดยสามัญสำนึก สามัญสำนึกทุกคนมีเวทนา ทุกคนมีความรู้สึก ความรู้สึกคือเวทนา ความรู้สึกดีชั่วคือเวทนา ผิดถูกนี่เวทนา แล้วถ้ามันปล่อยเวทนาเข้ามา มันปล่อย มันปล่อยเข้ามา ปล่อยมันก็สมถะ เพราะมันโดยสามัญสำนึก
แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้ว ถ้ามันสงบเข้าไปจับเวทนา ถ้าจับเวทนานะ ทีนี้เวทนามันจะไม่เจ็บปวดจนเกินไปแล้ว จับเวทนามาสู้กับเวทนาได้ มันมีจิตจับเวทนา
แต่ถ้าเริ่มต้นขึ้นมา จิตเราอยู่ไหนเราไม่รู้ มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นความรู้สึกของมนุษย์ มนุษย์รู้สึกได้หนึ่งเดียว ก็รู้สึกเวทนา แล้วจิตมันอยู่ไหนไม่รู้ แต่มันพิจารณาเวทนาๆ คือมันปล่อยเข้ามามันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ พอปัญญาอบรมสมาธิ นี่เป็นตัวของมัน เป็นสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิมันเห็นของมัน อันนั้นถึงเป็นวิปัสสนา
ฉะนั้น อันที่หนึ่งบอกว่าถูกไหม ถูก ที่เราพูดนี้เพราะบอกว่า ถ้าบอกว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แล้วว่าเป็นสมาธิ นี่รับแล้ว แล้วเดี๋ยวจะปฏิเสธ ปฏิเสธว่า แล้วถ้ามันรับคือมันพิจารณาเวทนามาแล้ว มันปล่อยเวทนามาแล้ว พิจารณาเวทนาจนจบแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไป
ทำอย่างไรต่อไป มันก็ต้องไปจับเวทนาอีกไง
อันนี้รับ นี่ถูกต้อง ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วต่อไปล่ะ ต่อไปจิตสงบแล้วก็จับเวทนาไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตมันจับเวทนาได้ จิตเห็นอาการของจิต จิตตามความเป็นจริงจะเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริง พอภาวนาไปมันไม่เป็นแบบนี้แล้ว เพราะมันจะมีปัญญา
ปัญญาอบรมสมาธินี่ปัญญาของเรา ปัญญาดิบๆ ปัญญาแบบสามัญสำนึก ปัญญาแบบโลก แต่เพราะจิตมันสงบแล้วมันถึงมีปัญญาของมัน ปัญญาอันนั้นมันจะเป็นภาวนามยปัญญา
ถ้าภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากอะไร มันเกิดขึ้นมาจากปัจจุบัน เกิดขึ้นมาจากมรรค มรรคคืออะไร งานชอบ เพียรชอบ การกระทำชอบของจิต การกระทำชอบของจิตเป็นอย่างไร การกระทำชอบของจิตเพราะจิตสงบแล้วจิตไม่ส่งออก จิตไม่ส่งออกมันก็พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ คือพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาในตัวของมันเอง จิต อาการของจิตมันกระทบกัน นี่งานมันชอบของมัน ความเพียรชอบธรรมของมัน ความเพียรชอบธรรมของมัน มันอยู่ของมัน มรรคมันเดินตัวของมัน มรรคเดินตัวของมัน นี่วิปัสสนาเกิดตรงนั้น
ฉะนั้น เพราะว่าคำถามพอถามขึ้นมาแล้ว เพราะพวกเราเป็นปัญญาชน พระต้องพูดจริง พอพระพูดจริง คำพูดพระมันตายตัวไง มันฟังคำพูดแล้วต้องเอาน็อตขันไว้เลย แล้วมันกอดตายเลยนะ คือมันเถรส่องบาตร มันไม่ใช้ปัญญาแยกแยะ มันไม่ใช่ปัญญาพิจารณาว่ามันเป็นขั้นตอนไหน
ขั้นตอนของสมถะมันเป็นอย่างหนึ่ง ขั้นตอนของวิปัสสนาอย่างหนึ่ง บุคคล ๔ คู่นะ ขั้นตอนของโสดาบัน ขั้นตอนของสกิทาคามี ขั้นตอนของอนาคามี ขั้นตอนของอรหัตตผล แตกต่างกันอีกเยอะแยะ ขั้นตอนครูบาอาจารย์ท่านมีอย่างนี้ ท่านพิจารณาอย่างนี้ท่านถึงจะไปของท่านอย่างนี้
ฉะนั้น ข้อที่ ๑. บอกว่าถูกไหม “จิตที่มีอาการหดเข้ามาจนกระทั่งหยุดนิ่งแล้วรู้อยู่ อาการดังกล่าวเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม”
ใช่ พอเป็นปัญญาอบรมสมาธิแล้วทำอย่างไรต่อไป ซ้ำๆๆ เข้าไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้บ่อยครั้งเข้าจนมันชำนาญของมัน พอจิตสงบแล้ว แล้วสังเกตให้ดี ถ้าสังเกตให้ดี จิตเห็นอาการของจิต จิตถ้ามันจับได้อีกทีหนึ่งนะ อันนั้นน่ะเป็นสันทิฏฐิโกแล้ว มันเป็นปัจจุบันธรรม แต่อันนี้มันเป็นที่ว่า หนึ่ง เราฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ฟังธรรมของครูบาอาจารย์มา แล้วเราพยายามทำ มันก็ได้ผลนี่แหละ มันได้ผลตามความเป็นจริง นี่ประสบการณ์ของเรา นี่ประสบการณ์นะ
แล้วถ้าปฏิบัติไปแล้วถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วนะ เวลาเทียบเคียงเข้าไปในพระไตรปิฎกมันจะซาบซึ้งมาก แล้วพอซาบซึ้งแล้วเรามีองค์ความรู้ เรามีความจริงในใจ เรารู้จริงเห็นจริงในใจของเรา ฟังครูบาอาจารย์องค์ไหนเทศน์รู้เลยว่าอาจารย์องค์นี้เทศน์จริงหรือเปล่า อาจารย์องค์นี้พูดมาจากความจำหรือความจริง ใจเรารู้แล้วเราฟังออกหมดเลยว่าใครพูดจริงหรือพูดไม่จริง
แต่ถ้าเรายังไม่รู้นะ มันพูดแบบตามตำราหมดไง พูดทางวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ก็คุยทางวิทยาศาสตร์ แหม! แจ๋ว แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบแล้วนะ มันมีองค์ความรู้ที่มันได้พิสูจน์แล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ปริยัติ ปฏิบัติ อันนี้เราทำซ้ำเข้าไปๆ เดี๋ยวจะรู้ไปเรื่อยๆ ข้างหน้า เพียงแต่ว่า นี่คือปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม ใช่
“๒. จิตมีอาการคลายตัวเหมือนกับเปิดถังน้ำออกอย่างรวดเร็ว และอาการเวทนาก็หายไป และมีอาการเบา โล่ง สบาย”
นี่ผลของมันไง ธรรมโอสถนั้นเป็นมรรค นี่ธรรมรส รสของธรรม ยถาภูตัง เกิดญาณทัสสนะ ถ้าเกิดยถาภูตัง นี่พูดถึงเวลามันคลายตัว ที่ว่าเวลาพิจารณาไปแล้วมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม แต่เวลาอาการที่มันเป็น อาการที่มันเป็นมันคลายตัว ความรู้สึกที่ว่าเวลาพิจารณาไปแล้วถ้ามันปล่อย มันปล่อยเข้ามามันก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าปล่อยเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจับเวทนาอีกสิ จับเวทนาอีก แล้วพิจารณาอีก มันจะเห็นเหตุเห็นผลมากกว่านี้ เห็นเหตุเห็นผลมากกว่านี้มันมีที่มาที่ไป ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ มันเห็นตลอดสายเลย ถ้าเห็นตลอดสาย จิตนี้มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ
แต่นี้ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณามันคลายตัว พอมันคลายตัว มันก็พรั่งพรูออกมา เหมือนเปิดถังน้ำเลย เวทนาหายหมดเลย เบา โล่ง สบาย อย่างนี้เรียกว่ามันเป็นการปล่อยวางชั่วคราวหรือเปล่า อันนั้นเป็นสมถะ ถ้าว่าอันสองคือวิปัสสนา คือว่าถ้าวิปัสสนาแล้วมันมีการปล่อยวางชั่วคราว
เวลาจิตถ้าเป็นสมถะ ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิคือมันก็ปล่อย ปล่อยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณออกไป ขันธ์ ๕ ปล่อยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ นี่คืออาการ อาการเกิดดับจากจิต เวลามันปล่อยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นมา มันเป็นตัวมัน พอเป็นตัวมันก็เป็นตัวจิตล้วนๆ สัมมาสมาธิ อันนี้คืออาการปล่อย ถ้าปล่อยอย่างนี้เป็นสมถะ
แต่ถ้าเวลาจิตมันสงบแล้วถ้ามันจับได้ ที่ว่าจิตเห็นอาการของจิต ถ้ามันจับเวทนาได้ เวลามันพิจารณาไปมันมีปัญญาแยกแยะไง เวทนาคืออะไร เวทนาคืออาการรู้ อาการที่รู้เวทนา เวลามันปล่อยเวทนาแล้ว ปล่อยไปแล้วมันรู้อะไร รู้ว่าตัวมันเองมันปล่อย แล้วเวทนามันก็เก้อๆ เขินๆ อยู่ข้างนอก เวทนาเก้อๆ เขินๆ อยู่นู่น แต่ตัวจิตมันเป็นแบบนี้ ถ้าตัวจิตเป็นแบบนี้ มันปล่อยเข้ามา มันปล่อยเข้ามามันปล่อยด้วยอะไร
ถ้ามันไม่มีปัญญามันปล่อยไม่ได้ เพราะจิต อาการของจิต จิตกับรูป เวทนา รูป เวทนาเป็นอันเดียวกัน เพราะมันเสวยอารมณ์มันเป็นอันเดียวกัน แต่เวลาเราใช้ปัญญา ถ้าเราจับของเราได้ จิตเห็นอาการของจิตแล้วพิจารณาไป แล้วมันปล่อย มันปล่อย เวทนาอยู่ข้างนอกนั่น เวทนา เวลาปล่อยกาย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ปล่อยขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้ามันปล่อยอย่างนี้มันปล่อยด้วยปัญญา มันต้องมีปัญญา มันมีปัญญา มันมีงานชอบ เพียรชอบ มันปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วมันเก้อๆ เขินๆ
เหมือนเรากับเงา ถ้าเด็กๆ มันเห็นเงา โอ๋ย! มันดีใจ มันเห็นเงา ผู้ใหญ่รู้ทันหมด ผู้ใหญ่ถ้าเข้าที่ร่มก็ไม่มีเงา ถ้าออกไปที่แสงก็มีเงา แสงมันเกิดจากอะไร เกิดจากจิต อ้าว! อาการทุกอย่างก็เกิดจากจิต ถ้าปัญญามันรู้เท่าทันหมดแล้ว มันปล่อยวางหมดแล้ว มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ถ้าอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ถึงเป็นการปล่อยวางชั่วคราว
แต่ที่มันบอกว่าเหมือนที่ถังน้ำพรั่งพรูออกมา เวทนามันสลายตัวไป มันปล่อยไง ที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิมันปล่อยความเกิดดับ มันเป็นอิสระโดยตัวของมัน มันปล่อยเข้ามาเป็นอิสระโดยตัวมันแล้ว เราตั้งใจดูเรา เราตั้งใจ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิได้ก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วถ้าจิตสงบแล้วอาการมันเกิด เวลาเราปฏิบัติมาเกือบเป็นเกือบตาย อันนั้นเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอเราทำได้จริง อาการมันเป็นอย่างนี้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติต้องมีองค์ความรู้อย่างนี้ มีการปฏิบัติอย่างนี้ แล้วองค์ความรู้อย่างนี้ ที่จิตพิจารณาจนจบแล้วมันเป็นอาการแบบนี้ แล้วถ้าเรามีอำนาจวาสนานะ มีอำนาจวาสนาแล้วทำต่อเนื่องไป
คำว่า “มีอำนาจวาสนา” เพราะขณะทำแบบนี้ กว่าจะได้อย่างนี้ทำเกือบเป็นเกือบตาย แล้วก็สิ่งนี้เป็นผลของการปฏิบัติ เป็นผลของธรรม เราตบะธรรมที่มันให้จิตใจนี้ได้รับผล แล้วจะทำต่อไป
“อู้ฮู! ทำขนาดนี้ก็เหนื่อยขนาดนี้แล้ว ต้องมากกว่านี้อีกหรือ”
เวลาพระปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไป สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา มันจะมีความเข้มข้นมากกว่านี้ ถ้ามีความเข้มข้นมากกว่านี้ เขาจะแยกตัวของเขาออกไป เขาจะออกวิเวกของเขาออกไป ไปอยู่คนเดียว ไปปฏิบัติคนเดียว จะคร่ำเคร่งคร่ำเครียดกับการปฏิบัติมาก
ถ้าคร่ำเคร่งกับการปฏิบัติ ถ้าคร่ำเคร่งกับการปฏิบัติมันก็ตกไปสู่อัตตกิลมถานุโยค ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมาก็คร่ำเคร่งในการปฏิบัติ แต่วางใจเป็นกลาง ถ้าวางใจเป็นกลางมันก็มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามันขี้เกียจขี้คร้าน นี่กามสุขัลลิกานุโยค คิดว่าได้ผลแล้ว มันก็ทำให้เหลวไหลไป ฉะนั้น ปฏิบัติขึ้นไปมันจะต้องละเอียดลึกซึ้ง แล้วใช้ปัญญาแยกแยะให้มันรอบคอบ ถ้ารอบคอบขึ้นไป ทำขึ้นไป
ฉะนั้น “อย่างนี้ใช่การปล่อยวางชั่วคราวหรือเปล่า”
ถ้าว่าการปล่อยวางชั่วคราวจะเป็นสมถะ จะใช้คำนี้ก็ได้ ใช้คำว่า “ปล่อยวางชั่วคราว” ฉะนั้น การปล่อยวางชั่วคราว สิ่งที่ว่าเป็น เวลาใช้ปัญญาไปแล้ว อันนั้นมันเป็นตทังคปหาน กับสมุจเฉทปหาน แต่ถ้ามันเป็นสมถะ สมถะคือว่ามันปล่อยวางเป็นสมาธิ ถ้ามันไม่ปล่อยวางมันก็เป็นปุถุชน มันเป็นโลก เป็นโลก สถานะของมนุษย์ สถานะของโลกมันรับไว้ สถานะของโลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้มันก็เป็นแบบนี้ นี่พูดถึงการปฏิบัติ
กำลังของใจ ถ้ากำลังของใจมันมี อย่างการปฏิบัติเริ่มต้น คำถามแรก ถ้าเราฝึกหัด เรามีกำลังใจ เราทำสิ่งใดได้เราก็ทำให้ชีวิตของเรามันไม่ทุกข์ยากจนเกินไป แล้วถ้าจะออกปฏิบัติแล้ว กำลังของใจ กำลังของสติ กำลังของสมาธิ ถ้ากำลังไม่มีเลยมันทำสิ่งใดไม่ได้ แต่ถ้ากำลังมันเข้มข้นเกินไป มันก็ไม่ลงสู่มัชฌิมา ไม่ลงสู่ปัญญาที่สมดุล
ถ้าสมดุลขึ้นมา มันต้องฝึกหัดอย่างนี้ ฝึกหัดให้เป็นความสมดุลของคน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน การปฏิบัติถึงไม่เหมือนกัน ถ้าใครตั้งใจทำแล้วได้ผลประโยชน์ มันจะเป็นปัจจัตตัง แล้วก้าวเดินตามนั้นไปจนถึงที่สุดได้ จนถึงที่สุดได้ บุคคล ๔ คู่ถ้าปฏิบัติไป
แต่ถ้ายังไม่ได้ก้าวเดินเลย มันก็มีแต่ชื่อมีแต่นาม มีแต่ตำรับตำรา ได้อ่านได้ค้นคว้าจากตำรับตำรามา แต่ไม่มีองค์ความรู้จริง ไม่มีข้อเท็จจริงในใจ
ถ้าปฏิบัติมีข้อเท็จจริงในใจ ปฏิบัติแล้วถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับการปฏิบัติสิ้นสุดแห่งทุกข์ ไม่มีการขัดแย้งกัน ถ้ามีการขัดแย้งกันต้องมีฝ่ายเราผิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีผิดอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเราผิดแล้วเราปฏิบัติ เราตรวจสอบของเรา ถ้าทำถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง