เทศน์บนศาลา

ธรรมคือธรรม

๒o มี.ค. ๒๕๔๗

 

ธรรมคือธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรม ฟังธรรมะนะ ธรรมคือสภาวธรรม สภาวธรรมที่ว่ามีอยู่โดยดั้งเดิม แต่ไม่มีใครเคยเห็น เพราะมันสุดวิสัยของมนุษย์ สุดวิสัยขณะที่ไม่มีธรรมนะ มันมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เหมือนสุดวิสัย เว้นไว้แต่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าก็สามารถจะรู้ธรรมอย่างนี้ได้ แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องสร้างสมบารมีมามหาศาลถึงจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องสร้างบารมีอย่างน้อย ๔ อสงไขยแสนมหากัป นี่การเกิดการตายนับไม่ได้ถึง ๔ รอบ

แล้วว่าการเวียนการเกิดการตายมันจะไม่มีไง เราว่าเกิดตายมาชาติเดียว ชาตินี้ชาติสุดท้าย ไม่มี ไม่เกิดอีกแล้ว ตายแล้วก็ตายสูญ...สูญของความคิดไง กิเลสมันเป็นสภาวะแบบนั้น กิเลสเกิดขึ้นมาแล้วลืมตัว เราลืมตัวตลอด เกิดมาแล้วก็ว่ามีปัจจุบันนี้ เราก็มีความเพลิดเพลินในปัจจุบันนี้ นี่ลืมตัวนะ แม้กระทั่งทุกข์ เวลามีความทุกข์มาบีบคั้นก็ไม่รู้จะมีทางออกอย่างไร มีแต่ความเศร้าเสียใจ มีความเสียใจอยู่ในหัวใจของตัวเอง แต่ก็ไม่มีทางออกไง นี่สภาวธรรมถึงจะเป็นเครื่องจรรโลงใจ

เวลาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติธรรมนะ มีธรรมในหัวใจ เวลาสนทนาธรรม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลอย่างยิ่ง มงคลของครูบาอาจารย์ที่มีธรรมในหัวใจ รื่นเริงไง รื่นเริงในธรรม แต่สภาวะหัวใจของเรามันมีสภาวะหัวใจเหมือนกัน แต่ทำไมมันเศร้ามันทุกข์ยากล่ะ? มันทุกข์ยากเพราะเราไปแสวงหาสิ่งอื่นไง แสวงหาสิ่งอื่นว่ามันเป็นที่พึ่งที่จะให้อยู่อาศัยได้ แต่เราไม่เคยเห็นสภาวธรรมในใจของเรา

ธรรมเป็นธรรม ถ้าธรรมเป็นธรรม ธรรมนี้มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ธรรมเป็นโลก ๑. ธรรมเป็นโลก ๒. ธรรมเป็นกิเลส เห็นไหม สภาวธรรมมีอยู่โดยดั้งเดิม ละเอียดอ่อนมาก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาวางไว้ตรงหน้าเรานะ เอาไว้ตรงหน้าเลย เพราะพระไตรปิฎกอยู่ในตู้พระไตรปิฎกเราจะค้นคว้าขนาดไหนก็ได้ นี่เอาไว้ตรงหน้าเราเลย แต่ธรรมเป็นกิเลส เพราะเราเอากิเลสของเราเข้าไปจับต้องธรรมนั้น เอากิเลสของเราเข้าไป นี่สภาวะของกิเลส เราคาดเราอ่านแล้วเรามีความรู้สึกขนาดไหน นี่ธรรมเป็นกิเลส ธรรมไม่เป็นธรรม

ถ้าธรรมเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมา วางไว้เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน ถ้าใจของเราเป็นธรรม เราต้องศึกษามาเป็นเพื่อแนวทางของเราให้เราก้าวเดินเข้าไปหาสภาวธรรมอันนั้น ธรรมก็จะเป็น คือธรรมไง ธรรมเป็นธรรม แต่อันของเรานี่กิเลสเข้าไปจับ นี้สภาวะส่วนหนึ่ง

แม้แต่สมัยพระพุทธกาลนะ องค์สมเด็จสัมมาพระพุทธเจ้ากำลังเผยแผ่ธรรมอยู่ มีคหบดีในสมัยพระพุทธกาลไม่เชื่อไง ไม่เชื่อว่าธรรมนี้มีจริง แล้วมีความลังเลสงสัย เราจะทำอย่างไรถึงจะไปรอดได้นะ แต่เพราะเขาเป็นคหบดี เขามีทรัพย์สมบัติมาก เข้าใช้ไม้แก่นจันทร์ ไม้จันทร์นี่เอามาทำเป็นบาตร แล้วเอาไม้ไผ่ต่อขึ้นไปหลายๆ ลำ แล้วผูกไว้ข้างบน ว่าถ้ามีพระอรหันต์จริง ขอให้พระอรหันต์เหาะมาเอาแก่นจันทร์นี้ ให้บาตรไม้จันทร์นี้เพื่อให้ยืนยันว่าพระอรหันต์มีจริงไง

นี่ความรู้ของคหบดีเขาเป็นทางโลกนะ เขาคิดได้เท่านี้ไง คิดว่าสิ่งที่ว่าผู้เหาะเหินเดินฟ้าได้จะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ประกาศ...เงียบ ไม่มีใครสามารถมาเอาได้...เงียบ

“เอ! โลกนี้หรือหมดสิ้นพระอรหันต์แล้ว”

หมดสิ้นธรรมไง หมดสิ้นพระอรหันต์ก็คือหมดสิ้นธรรม ประกาศอยู่ตั้งนานก็ไม่มี นี้อยู่ในธรรมบทนะ จนลัทธินักบวชในศาสนาอื่นเขามาไง เขาวางแผนกัน เขาบอกว่าเขาจะไปที่บ้านนั้น แล้วหัวหน้าจะแสดงตัวว่าจะเหาะขึ้นไปเอา แล้วก็ให้ลูกศิษย์ดึงไว้ ดึงไว้ ว่าอย่าเหาะเลย มันเป็นเรื่องเล็กน้อยให้เขาเอามาให้ดีกว่า นี่ไปตกลงที่บ้านเขานะว่า ทำท่าว่าเราเป็นพระอรหันต์ เรานี่เหาะได้ แต่การเหาะมันมีค่าไม่เท่ากัน ให้เอาลงมา...นี่อยากให้เขานับถือไง อยากให้เขานับถือหน้าถือตา ทั้งๆ ที่ตัวเองทำอะไรก็ไม่ได้ แต่วางแผนหลอกลวงไว้เพื่อไปแสดงตัวว่าทำท่าว่าจะเหาะนะ แล้วลูกศิษย์ก็ดึงไว้อย่างนั้น เสร็จแล้วคหบดีนั้นเขาไม่ไว้ใจ เขาไม่เชื่อใจ เขาไม่สนใจ ถ้าเป็นจริงก็ให้เหาะขึ้นไปเอาไง แล้วนักบวชในลัทธิในศาสนาในครั้งพุทธกาลก็ทำไม่ได้ สิ่งที่ทำไม่ได้เขายิ่งมั่นใจใหญ่เลยว่าธรรมนี้ไม่มีแล้ว ศาสนานี้ไม่มี พระอรหันต์ไม่มี ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้ากำลังเผยแผ่ธรรมอยู่นะ

แล้วพระโมคคัลลานะกับลูกศิษย์บิณฑบาตผ่านไป เขาก็ประกาศอยู่อย่างนั้น นี่ผู้ที่มีธรรมในหัวใจไง พระโมคคัลลานะก็บอกกับลูกศิษย์ว่าต้องให้ลูกศิษย์เหาะขึ้นไป ลูกศิษย์ก็เกี่ยงว่าให้พระโมคคัลลานะเหาะขึ้นไป เหาะขึ้นไปเอาบาตรใบนั้นไง ผู้ที่ทำได้นะไม่อยากทำ แต่เวลามันสลดใจไง เพราะสลดใจว่าพระอรหันต์ไม่มี ธรรมไม่มี เกี่ยงกันอยู่อย่างนั้นอยู่นาน สุดท้ายแล้วลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะเหาะขึ้นไปเอาบาตรนั้นลงมา นี่มันเป็นการยืนยันว่าสิ่งนี้มีจริงไง พอเหาะลงมาคนเขาก็ฮือฮามากว่ามีจริง เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้แก่นจันทร์แล้วลงมา ประชาชนนั้นเลื่อมใสมาก มีความศรัทธามาก แล้วก็ไปหาลูกศิษย์พระโมคคัลลานะให้เหาะบ่อยๆ จนข่าวไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกพวกนี้มาแล้วก็ติเตียน ติเตียนว่าสิ่งนี้มันเป็นไม้แก่นจันทร์ การเหาะขึ้นไปเอามันจะเป็นการไม่จรรโลงศาสนา เพราะอะไร เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีจริตมีนิสัย คนที่เหาะได้ก็มี เห็นไหม ดูอย่างพระจักขุบาล พระจักขุบาลเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เป็นพระอรหันต์โดยที่ว่าไม่มีฤทธิ์ไง ทำอย่างนี้ไม่ได้ แล้วอย่างนั้นแล้วเขาจะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ล่ะ นี่ติไง ติลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ

พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ ๕๐๐ นี้ฤทธิ์ทั้งนั้น เหาะเหินเดินฟ้าทำอย่างนี้ได้หมด เข้ากันโดยธาตุ ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรนี้เป็นปัญญาทั้งหมด นี่ธาตุความตรงกับจริต ครูบาอาจารย์มีนิสัยอย่างไร ลูกศิษย์มีนิสัยอย่างนั้นตรงกันแล้วจะเป็นการสั่งสอนกันโดยง่าย ถึงติเตียนแล้วให้ทำลายบาตรแก่นจันทร์นั้น แล้วไม่ให้เหาะ ถึงได้บัญญัติไว้ว่าไม่ให้อวดอุตตริมนุสสธรรม ไม่ให้อวดต่างๆ ถึงมีจริงก็ไม่ให้อวด นี่เพราะอะไร

เพราะธรรมอยู่ที่ในหัวใจ ธรรมคือสภาวธรรมความเป็นจริงนี้มันเป็นเรื่องของอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี้มันเป็นเนื้อของธรรม การเหาะเดินฟ้านี้มันเป็นเรื่องของฌานโลกีย์ สิ่งที่เป็นฌานโลกีย์ แต่พวกฤๅษีชีไพรเขาเหาะของเขาได้ พวกฤๅษีก็เหาะได้ แต่การเหาะของเขาเป็นโลกียปัญญา เป็นฌานโลกีย์ สิ่งที่เป็นฌานโลกีย์เขาควบคุมสิ่งนี้ไม่ได้

แต่พระโมคคัลลานะกับลูกศิษย์พระโมคคัลลานะนี้เป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ การอย่างนี้จะอยู่กับใจดวงนี้ตลอดไป เพราะใจดวงนี้ไม่มีกิเลสไง สิ่งที่ไม่มีกิเลสทำให้สิ่งสภาวะนั้นไม่มีความเปลี่ยนไป เพราะใจดวงนี้เป็นอกุปปธรรม ธรรมอันนี้เป็นอยู่ในใจดวงนั้น มีอยู่โดยธรรมชาติอย่างนั้น เพราะตัวเองก็มีอย่างนั้น เพียงแต่ว่าสลดสังเวชว่าเขาบอกพระอรหันต์ไม่มี ธรรมนี้ไม่มีแล้ว สิ่งนี้ในนี้สมัยพระพุทธกาลนะ

แล้วในปัจจุบันนี้กึ่งพุทธกาล สิ่งที่กึ่งพุทธกาล เราก็ว่าครูบาอาจารย์การประพฤติปฏิบัติ มันจะมีเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ไหม ธรรมในหัวใจจะเป็นไปได้ไหม...เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ กาลเวลาจะกี่พันปีก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องของกาลเวลา โลกหมุนไปรอบตัวหนึ่งก็เป็น ๑ วัน โลกหมุนไปรอบดวงอาทิตย์ก็เป็น ๑ ปี สิ่งที่เป็น ๑ ปี เป็น ๑ วันนี้มันเป็นธรรมชาติของเขาอยู่อย่างนั้น ชีวิตของเรานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเหมือนพยับแดด สิ่งที่เป็นพยับแดดมันไม่มีสิ่งใดเลย เหมือนก้อนน้ำแข็ง เวลามันด้วยความเย็นขึ้นมารวมตัวกันเป็นน้ำแข็ง แล้วมันก็ละลายไป ชีวิตของเรามีเท่านี้ สิ่งที่ว่ามีเท่านี้มันไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสารเลย นี่วันเวลามันเป็นสภาวะแบบนั้น วันเวลาไม่สามารถมาปิดกั้นสิ่งที่ว่าเป็นมรรคผลนิพพานได้

สิ่งนี้มีอยู่ดั้งเดิมธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมไง สิ่งที่เป็นธรรมหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาธรรมในภาคปริยัติมาวางไว้ตรงหน้าเราหนึ่ง ถ้าเราศึกษาในภาคปริยัติ ภิกษุเวลาบวชอุปัชฌาย์ต้องบอก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้คือภาคปริยัติ ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ค่อยชี้นำนะ ชี้นำว่าถ้าเราดูเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แต่ภายนอก มันจะสลดสังเวชเข้ามา ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะควบคุมอย่างนี้ตลอดเข้ามา มันจะละเอียดเข้ามาจากเป็นภายใน เห็นเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จากตาของใจ ถ้าตาของใจเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ มันจะเป็นปัญญาทำลายสิ่งนี้ นี้ภาคปริยัตินะ

ธรรมที่วางต่อหน้า ต่อหน้าเรา แล้วเราจะศึกษา เราจะใคร่ครวญของเราให้เป็นธรรมสมบัติของเราไหม ถ้าไม่เป็นธรรมสมบัติของเรานะ เราศึกษาธรรม เราก็เอากิเลสศึกษา แล้วเราก็ยึดมั่นความรู้ของเรา ความรู้ของเรานะ สิ่งที่เป็นความรู้ของเราอันนี้มันเป็นธรรม ธรรมมันเจือด้วยกิเลส สิ่งที่เจือด้วยกิเลสนี้มันไม่คงที่อยู่แล้ว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี้ต้องแปรต้องเป็นอนัตตาโดยธรรมชาติของเขา

สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของเขา อารมณ์ความทุกข์ความยึดมั่นถือมั่นของเรามันก็เหมือนกัน มันเกิดดับ แต่มันไม่เป็นอนัตตาสิ มันไม่เป็นอนัตตาเพราะอะไร เพราะมันเกิดดับ มันมีจริง สิ่งที่มีจริงมันไม่สลัด มันไม่สามารถหลุดออกไปจากใจของเราได้

สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตาเพราะมันเกิดดับ สภาวธรรมนี้เป็นความจริง กิเลสนี้มันมีพญามารร้อยรัดไว้กับใจ สิ่งที่มีกิเลสร้อยรัดไว้กับใจ นี้เป็นธรรมที่เจือไปด้วยกิเลส ถ้าเป็นธรรมเจือไปด้วยกิเลสมันยิ่งทำให้ทำลายหัวใจของเรา ยิ่งเบียดเบียนตน แล้วจะเบียดเบียนคนอื่นมาก

สัตว์เวลาเขาทำลายกันนะ มันทำลายกันด้วยเขี้ยวด้วยเล็บของมันเท่านั้น แต่ถ้ามนุษย์ทำลายกัน สิ่งที่เป็นมนุษย์ทำลายกันเพราะมนุษย์นี้มีปัญญามาก สามารถ เห็นไหม ผู้ที่ว่ายึดครองโลก เขายึดครองโลกได้นะ ด้วยปัญญาของเขา จะยึดครองด้วยวิธีการของเขา เขาก็ยึดครองของเขา เขาทำลายขนาดนั้นนะ ทุกคนต้องอยู่ใต้อำนาจของเขา นี่กิเลสในหัวใจ

อาศัยธรรมเพราะมีปัญญาไง ถ้ามีปัญญาขึ้นมา กิเลสอยู่ในหัวใจของเรา กิเลสนี้มันจะบิดเบือนไป นี้กิเลสโดยธรรมเจือไป ถ้าเจืออย่างนี้ไป มันจะเบียดเบียน เบียดเบียนทุกๆ คนไป พระเทวทัตเวลาที่ว่าต้องการมีอำนาจ นี่ต้องการมีอำนาจไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นสภาวะที่ว่าเป็นธรรมไง ขอให้พระเหล่านี้ต้องบิณฑบาตเป็นวัตร ต้องฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ต้องไม่ฉันเนื้อสัตว์เป็นวัตร ต้องถือผ้าบังสุกุล

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นธรรมมาก เห็นไหม ไม่อนุญาตพระเทวทัต แต่บัญญัติธุดงควัตร ธุดงควัตรมี ๑๓ ถือผ้าบังสุกุล ฉันมื้อเดียวเหมือนกัน แต่ให้ตรงกับจริตตรงกับนิสัยของผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติ ไม่บังคับไง สิ่งที่เป็นธรรมคือวางไว้เป็นธรรม ผู้ที่มีจริตนิสัย ผู้ที่ทำแล้วมันขัดเกลากิเลส ธุดงควัตรนี้เป็นศีลในศีล ศีล ๒๒๗ นี้บัญญัติไว้ให้พระประพฤติปฏิบัติแล้ว อันนี้ต้องประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ผิดพลาดไปนี้เป็นอาบัติ แต่ธุดงควัตรนี้ถ้าเราไม่ถือไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเราถือเป็นข้อใดกฎใดขึ้นมาเพื่อขัดเกลากิเลส ให้ตรงจริตตรงกับนิสัย

พระเทวทัตป่าวประกาศไปว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู้เราไม่ได้ เราขอมาเพื่อการประพฤติปฏิบัติ เพื่อขัดเกลากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคัดค้าน ถ้าคัดค้านนี้สู้เราไม่ได้...ผู้ที่กิเลสเต็มหัวนะว่าตัวเองดีกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ธรรมที่มีกิเลสเจือไปด้วย

ธรรมนี้เกิดจากใคร? ธรรมนี้เกิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเทวทัตเป็นใคร? พระเทวทัตนี้เป็นพระอนุชา บวชในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เอาสิ่งนี้ เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ขึ้นมาเพื่อทำลายสังคมของสงฆ์ไง สิ่งที่ทำเพื่อทำลายสังคมของสงฆ์เพราะอะไร เพราะกิเลสเจือไปด้วยในธรรม

สิ่งที่ปัญญาของคน ถ้าคนมีปัญญาแล้วกิเลสมันบิดเบือน มันทำลายตัวเอง เห็นไหม สิ่งที่ทำลายตัวเอง ทำลาย ผลของมันคืออะไร? คือจิตที่เคยเหาะเหินเดินฟ้านั้นเสื่อมหมด สิ่งนี้เสื่อมหมด เป็นปุถุชนอยู่แล้ว เพราะยังไม่เป็นอกุปปธรรม จิตนี้ยังไม่คงที่ไง สภาวธรรมอย่างนี้ในหัวใจนี้ เพียงแต่ว่าทำความสงบของใจได้ แล้วมีอำนาจวาสนาเหาะเหินได้เหมือนกัน แปลงกายได้เหมือนกัน

แต่เพราะต้องการด้วยปัญญา ด้วยธรรม เห็นไหม สิ่งที่ธรรม ธรรมไม่เป็นธรรม ธรรมไม่เป็นธรรมถึงว่ามันเอากิเลสนี้เจือไปในหัวใจ แล้วเบียดเบียนคนอื่น ต้องการอำนาจบาตรใหญ่ ต้องการการปกครอง ต้องการมีอำนาจเหนือคน นี่กิเลสมันจะยึดครองโลก แต่มันยึดครองไม่ได้หรอก โลกนี้เป็นวัฏฏะ สิ่งที่เป็นวัฏฏะเวียนไปตามธรรมชาติอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถยึดครองสิ่งนี้ได้ ยึดครองสิ่งนี้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันแปรสภาพไป มันไม่เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะยึดครอง

แต่ถ้าเราทำลายหัวใจของเราได้ ทำลายหัวใจของกิเลสได้ วัฏฏะนี้โดนทำลายได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติจากภายใน ถ้าผู้ที่เข้าใจจากวัฏฏะ ใจเป็นธรรมโดยสมบูรณ์แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมองโลกได้ทะลุไง โลกวิทู รู้แจ้งโลก โลกนอก โลกใน โลกนอกคือหมู่สัตว์ คือความเป็นไปของจริตนิสัยของสัตว์โลก โลกในคือโลกของตัวเราเอง โลกในคือเรื่องของอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สิ่งนี้เป็นแกนของโลก สิ่งนี้เป็นแกนที่ว่ายึดเป็นแกนตั้งมั่นอยู่ จิตนี้มีตัวนี้อยู่ มีตัวใจอยู่ สิ่งนี้อวิชชาอาศัยสิ่งนี้อยู่ นี่โลกในไง ถ้าเราจะทำลายโลกใน ถ้าเราทำลาย รู้โลกในของเรา ทำลายโลกในของเรา สภาวธรรมเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วสิ่งที่ว่าโลกนอกเราจะมีปัญญาใคร่ครวญขนาดไหน อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง เป็นอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล

ขณะนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ แล้วส่งต่อกันมา ส่งต่อกันมา ครูบาอาจารย์เราก็ประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสร้างบุญกุศลมาด้วยกัน สร้างบุญกุศลนะ พยายามสร้างบุญกุศลมา แล้วบุญกุศลอันนี้เป็นอำนาจวาสนา สิ่งที่อำนาจวาสนาเกิดขึ้นมาพบพระพุทธศาสนาแล้วประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ ใจดวงนั้นผ่องแผ้ว ถ้าใจดวงนั้นแล้ววางไว้

หลวงปู่มั่นถือธุดงควัตรมาโดยตลอด หลวงปู่มั่นถือผ้าบังสุกุลมาตลอด จนขนาดว่าญาติโยมนี้รู้ว่าหลวงปู่มั่นถือผ้าบังสุกุลไง ตั้งตลอดชีวิตนะ เวลาท่านมาอยู่หนองผือ คนจะเอาผ้าขาวไปทอดให้ท่านชักบังสุกุล แต่ขณะที่ว่าท่านประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นขึ้นมานี่ไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน สิ่งที่มาจากไหน เห็นไหม

การขัดเกลากิเลส ขณะประพฤติปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่นะ นักกีฬาที่ไม่มีชื่อเสียงจะไม่มีใครสนใจหรอก นักกีฬาคนไหนที่มีชื่อเสียงจะมีคนสนใจมาก เขาทำอะไรก็จะให้ความสะดวกกับเขา พระก็เหมือนกัน เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติต้องพยายาม ต้องแสวงหาของตัวเอง ทำของตัวเอง แล้วกิเลสมันก็มีอำนาจมาก มันครอบใจดวงนั้นอยู่ นี่ครูบาอาจารย์ผ่านพ้นสิ่งนี้มา ครูบาอาจารย์วางสิ่งนี้ไว้ให้เราก้าวเดิน สิ่งนี้คืออะไร? คือธรรมวินัย ธรรมวินัยนี้มันจะเป็นทางให้เราก้าวเดินไป ถ้าธรรมวินัยโดนบิดเบือน เราจะก้าวเดินตามธรรมวินัยไปจากไหน? มันก็ก้าวเดินจากกิเลสของเราไง กิเลสของเราจะตีความสภาวะอย่างนั้น ธรรมถึงเจือไปด้วยกิเลส ถ้าธรรมเจือไปด้วยกิเลส ทำแล้วมันก็จะไม่เข้าหลักการ ไม่เข้าหลักการเพราะอะไร

เพราะขณะที่มันเกิดกับเรา เวลาสัมมาสมาธิเกิดขึ้น จิตมีความสงบขึ้นมาแล้วมันเกิดสภาวะที่มันเห็นต่างๆ ขึ้นมา มันจะเป็นความมหัศจรรย์มาก เพราะเราไม่เคยเห็นไง เวลาจิตมันเห็นสภาวะต่างๆ มันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม พอสิ่งนั้นเป็นธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะอย่างนี้มันต้องเสื่อมไปโดยธรรมดา สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ความรู้ของเราก็เป็นอนิจจัง เพราะมันเป็นสัญญาความจำ สิ่งที่เป็นสัญญาความจำเราต้องฟื้นฟูตลอด เราต้องจำตลอด เพราะเรามันจำแล้วมันหายมันลืมไป แล้วเราก็ต้องจำขึ้นมา มันก็เป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังนี้เกิดจากไหนล่ะ? เกิดจากหัวใจที่มันมีกิเลสครอบคลุมอยู่ไง ถ้ากิเลสมันมีครอบคลุมหัวใจ นี่เจ้าวัฏจักร

เราไปมองกันแต่เรื่องโลกภายนอก เรื่องโลกภายนอกมันก็ร้อนเป็นไฟอย่างนี้ ชีวิตนี้เป็นแบบนี้ ชีวิตนี้เริ่มต้นมาเป็นแบบนี้ เริ่มต้นเพราะเราเกิดมาบนโลก ถ้าเราเกิดมาสมัยพุทธกาล เราก็ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ คหบดีนั้นเขาก็ยังไม่เชื่อ แล้วเราเกิดในกึ่งพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎกแล้ว เห็นไหม กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่ง นี่กึ่งพุทธกาลไง หลวงปู่มั่นดับขันธ์ไปตั้งแต่ปี ๒๔๙๒ ผ่านมานี่ตั้งแต่หลวงปู่มั่นเกิดมานี่ ๑๐๐ กว่าปี นี่แค่ ๑๐๐ กว่าปีนะ ความเป็นไปยังขนาดนี้ แล้วเรายังจะนิ่งนอนใจได้ไหม ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์ สิ่งที่ไม่มีครูไม่อาจารย์การประพฤติปฏิบัติเรา เราต้องพยายามดิ้นรนค้นคว้าเอา แล้วบารมีของเราขนาดไหน

เพราะองค์หลวงตาบอกว่า หลวงปู่มั่นปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นี่การปรารถนามันได้สร้างสมบุญญาธิการอย่างนั้นมามาก ถึงค้นคว้าไง ค้นคว้า กึ่งพุทธกาลมีธรรมะอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มีธรรมะอยู่แล้วค้นคว้า นี้มีธรรมะอยู่แล้วค้นคว้า แต่ท่านก็สร้างสมของท่านมา ท่านถึงสามารถวางแนวทางให้เราก้าวเดินได้ สามารถรู้จริตรู้นิสัยของสัตว์ไง รู้จริตนิสัยของสัตว์ แล้วเราประพฤติปฏิบัติตามครูบาอาจารย์มา สิ่งนั้นชี้เข้ามา ชี้เข้ามาถึงความละเอียดอ่อน

กิเลสนี้ลึกลับมาก มีอำนาจเหนือใจดวงนั้น แล้วเวลาคิดขึ้นมานี่กิเลสมันอยู่หลังความคิดของเราทุกขั้นตอนไป ถ้าเราคิดสิ่งใดกิเลสมันก็มีสิ่งนั้นคิดออกไป นั้นถ้าเราคิดถึงธรรม เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม เพราะเราเป็นคนคิด เราเป็นคนทำ มันออกมาจากความรู้สึกของเรา ออกมาจากความรู้สึก ใครจะไม่รักเรา รักตัวเรามากที่สุด เราก็ต้องรักตัวเรา เราก็ต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อเรา เพื่อเรานะ แต่กิเลสมันก็มีสภาวะแบบนั้น ลึกกว่านั้น เพื่อเรานั้นคือเพื่อกิเลส

ทำไมต้องมีธุดงควัตรล่ะ ธุดงควัตรมาเพื่อดัดแปลงตนไง เพื่อดัดแปลง เพื่อต่อต้านกับกิเลส สิ่งที่ต่อต้านกิเลสเราก็ว่าอันนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค อันนี้มันเป็นการประพฤติปฏิบัติที่มันจะรุนแรงเกินไป เราควรจะมีช่องทางที่สะดวกที่สบาย แล้วเขาก็เสนอสิ่งที่ช่องทางที่สะดวกที่สบายเพื่อจะให้เราประพฤติปฏิบัติ ให้เรามีทางเลือกไง เห็นไหม ทางเลือกอันหนึ่งคือทางเลือกที่ประพฤติสะดวกสบาย ก็ประพฤติเข้ากับกิเลสไง

แต่พระป่าเราประพฤติปฏิบัติต้องพยายามดัดแปลงตน ต้องทรมานตนให้ได้ ต้องฝืนกับกิเลสให้ได้ เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นการที่ว่าทำให้มันรุนแรงเกินไป แล้วทำไมครูบาอาจารย์ผ่านมาได้ล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้ามีความเมตตามาก ต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ รื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปล่อยให้พวกเรานั่งอยู่นี่ ทำไมไม่รื้อไปหมดล่ะ เพราะอะไร เพราะจริตนิสัยของสัตว์แต่ละดวงไม่เหมือนกัน จริตนิสัย เห็นไหม

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราพยายามประพฤติปฏิบัติ เราต้องดัดแปลงของเราขึ้นมา มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของเรา อยู่ที่จริตนิสัยของเรา เราต้องดัดแปลงตนของเราขึ้นมา ถ้าเรามีความจงใจ มีความตั้งใจ มีสติ ถ้าเรามีความจงใจมีความตั้งใจ สติอันนี้เกิดขึ้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะ การประพฤติปฏิบัตินี้ถึงจะเป็นการชำระกิเลส ถ้าเราสักแต่ว่าทำเราสักแต่ว่า มันก็ผลสักแต่ว่า ถ้าผลสักแต่ว่าแล้วมันจะแก้กิเลสตรงไหนล่ะ

การประพฤติปฏิบัติมันถึงเป็นว่าการปฏิบัติบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ ให้เราชาวพุทธนี้ปฏิบัติบูชา ทาน ศีล ภาวนา ทานสำหรับผู้ที่เริ่มต้นขึ้นมาให้สละทาน ให้สละทานเพื่อให้หัวใจนี้อ่อน อ่อนกับการกิเลสที่มันแข็งกระด้าง ที่มันตระหนี้ถี่เหนียวในหัวใจ ทานทุกๆ อย่างในหัวใจของเราออกไป แล้วมีศีลมีภาวนา ถ้าเป็นภาวนาขึ้นมาแล้วกิเลสมันแข็งตัว กิเลสมันไม่อ่อนข้อให้เรา เราปฏิบัติแล้วสติก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แล้วอย่างนี้ประพฤติปฏิบัติเพื่ออะไร

นี้ก็ปฏิบัติบูชาไง บูชาเพราะว่าเราเกิดมาแล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติ เราพยายามแหวกจอกแหนให้ได้ จอกแหนคือสภาวะความคิด ความคิดมันปกปิดใจอยู่ ปกปิดความสงบนะ ถ้าจิตนี้มันปล่อยวางความคิดนี้ มันจะเป็นความสงบเข้ามา เราถึงต้องมีศรัทธา มีความเชื่อ แล้วพยายามกำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้าศรัทธาจริต ศรัทธาจริตต้องกำหนดพุทโธ พุทโธนี้พุทธานุสติ เป็นชื่อของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ตรงกับผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ผู้รู้คือใจ ถ้าผู้รู้คือใจ เราจะแสวงหาใจของเราได้อย่างไร ใจนี้เป็นนามธรรม ว่าจับต้องไม่ได้ แต่ผู้ที่ทำสัมมาสมาธิที่มีสติสัมปชัญญะพร้อม จะเห็นว่าจิตนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ เอกัคเป็นหนึ่งเดียว จิตนี้เป็นหนึ่งเดียว ควบคุมสิ่งนี้ได้ นี่ถ้าสติมีพร้อมอยู่ แหวกจอกแหนคือแหวกความคิดของเราออกไง ถ้าแหวกความคิดของเราออกจะใช้อะไรแหวกล่ะ? พุทโธ พุทโธ พุทธานุสตินี่แหวกออก ถ้าแหวกออกไป กำหนดพุทโธ พุทโธเข้ามาเรื่อย จิตมันจะเกาะสิ่งนี้ไป แล้วมันจะปล่อยว่างขนาดไหน มันจะมีความว่างอย่างไร ถ้าเรานึกพุทโธได้ เราต้องนึกพุทโธทันทีนะ ถ้าเราคิดว่ามันว่าง พอพุทโธ พุทโธไป จิตมันก็สบาย มันปล่อยว่าง แล้วมันจะเข้าถึงผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

มันจะเข้าถึงผู้รู้ มันต้องเข้าโดยสัจจะความจริงของเขา เขาจะเข้าไปน่ะ มันจะตกจากที่สูง จะเข้าจะตกจากเหวอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งนั้นมันเป็นธรรมชาติของเขา เราต้องมีสติควบคุมไป พอเริ่มไหวตัว เริ่มจะสงบ เราจะมีความตื่นเต้นของเรา จะมีความกลัวต่างๆ ว่าสิ่งนี้มันจะตก ใจมันจะขาด ความรู้มันเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าใจมันจะขาด เราก็กลัว เราก็ออกมาเป็นอารมณ์ภายนอกไง

อารมณ์กลัว กลัวคือขันธ์ ๕ กลัวคือเวทนา กลัวไม่ใช่สภาวะรู้ สภาวะรู้คือจิตมันสงบเข้ามา สิ่งที่สงบเข้ามา ถึงต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ เกาะนี้เข้าไป เราเข้าใจว่าพอมันว่าง สิ่งนี้มันจะเป็นผู้รู้ไง ผู้รู้อันนี้มันหยาบเกินไป มันจะมีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น

ความคิดแค่นี้ ความแม้แต่เราจะเปิดแหวกจอกแหนให้เห็นน้ำนะ ถ้าเราแหวกจอกแหน เราเห็นน้ำ เราจะมั่นใจมาก แล้วเราจะมีน้ำดื่มกินไง จิตนี้มันจะเข้าถึงพุทโธ จิตนี้จะเข้าถึงสัมมาสมาธิ จิตนี้จะเข้าถึงความตั้งมั่นของตัวเอง ถ้ามันตั้งมั่นของตัวเอง นี่เราแค่มีสัมมาสมาธิ พระเทวทัตก็มีสมาธิอย่างนี้แล้วไม่ย้อนกลับเข้ามาไง นี่ส่งออกไป ส่งออกไปเรื่องของฌานโลกีย์ เรื่องของว่าเหาะเหินเดินฟ้า

สิ่งที่เหาะเหินเดินฟ้าอันนั้น มันถึงที่สุดแล้วถ้าเป็นสมบัติของเรามันจะมีกับเรา ถ้าจิตของเราสงบเข้ามา จะเห็นสภาวะแบบใด ปล่อยวางไว้ ไม่สนใจ วางแล้วพยายามหันกลับมาความสงบของใจอันนี้ สร้างฐานอันนี้ให้ได้ ถ้าเราสร้างฐานอันนี้ได้มันจะมีความสุข

จิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่แบกสัมภาระไว้จะเป็นความหนักหน่วงของใจมาก จิตที่ปล่อยสัมภาระหมดออกจากความฟุ้งซ่าน จะมีความสุขมาก ความสุขอันนี้ทำให้ติดได้ เห็นไหม ความที่ติดในสมาธิ เวลาพระปฏิบัติติดในสมาธิ มันก็ให้ติดไปก่อน ขอให้มีสมาธิติดไปก่อน ถ้ามีสมาธิติด มันมีเครื่องอยู่เครื่องอาศัยไง มันพออยู่พอกิน เรามีความสุขพออยู่พอกิน

ความทุกข์ความยากนี่ไม่ต้องบอกกัน ทุกคนรู้ถึงความทุกข์ แต่ความสุขอันนี้ทุกคนจะหาได้อย่างไร ถ้าเราหาสิ่งนี้ได้ นี้เป็นพื้นฐานไง สมถกรรมฐาน พระป่าเราต้องมีสมถกรรมฐาน เพื่อหาพื้นที่ฐานของการที่จิตนี้ตั้งมั่น ถ้าจิตนี้ตั้งมั่นแล้วจิตนี้ยกขึ้นวิปัสสนาได้ สิ่งที่วิปัสสนาก็ในเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่อุปัชฌาย์สอนเรามานั่นน่ะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

ถ้าจิตนี้สงบขึ้นมา จับเกสา สิ่งที่เป็นเกสาคือผม ผมนี่เราขยายส่วนเป็นวิภาคะ มันจะแยกขยายส่วนที่โตขึ้นได้ ใหญ่ขึ้นได้ เราจะเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะตื้นเต้น มันจะทำให้เราแปลกประหลาดมหัศจรรย์ สิ่งที่ไม่เคยเห็นไง

เราฟังครูบาอาจารย์ว่าจิตนี้เวลาวิปัสสนาจะเป็นอย่างนั้น นี่เป็นสัญญานะ มันเหมือนกับเราฟังเขาเล่าไง นี่เล่านิทาน เล่าต่างๆ เราฟังทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราจะเห็นของเราเอง สิ่งที่เห็นของเราเอง สิ่งที่เห็นเราเองนี่มันจะสะเทือนหัวใจมาก สิ่งที่การสะเทือนหัวใจนั้นเป็นปัญญา ปัญญาอย่างนี้ฝึกอบรมสอนใจไง ปัญญาอย่างนี้เป็นธรรม สภาวธรรมแบบนี้เกิดขึ้น เราต้องถนอมรักษานะ การประพฤติปฏิบัติอยู่กับครูอาจารย์ จิตเป็นอย่างไร ถ้าจิตมันวิปัสสนาแล้วมันไม่ก้าวเดินไป เราก็ต้องวางงานสิ่งนั้นแล้วย้อนกลับมาทำสมถกรรมฐาน

ถ้ามีสมถกรรมฐาน ใจจะมีพลังงาน แล้วเราย้อนออกไปวิปัสสนาใหม่ งานจะก้าวเดินต่อไป แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เราเห็นความที่ว่าเกสานี้มันขยายตัว มันมีความตื่นเต้น มีมหัศจรรย์ มันมีความดูดดื่มมาก มันเป็นความสุขมาก สุขเพราะว่าเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญเป็นวิปัสสนาแล้ว เราจะอยากให้ทำงานอย่างนั้นให้ได้เห็นผลงานขึ้นมา เราก็จะรีบทำงานอย่างนั้น พอทำไปออกแรงมากขนาดไหน พลังงานมันเสื่อมลง เสื่อมลง การวิปัสสนาของเรามันก็จะไม่เป็นผล มันจะเป็นการล้มลุกคลุกคลาน นี่การกระทำของเราจะเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ ธรรมชาติของกิเลส ไม่ใช่ธรรมชาติของธรรม

ธรรมชาติของกิเลสคือการอยากได้ คือตัณหาความทะยานอยาก คือความมักมาก คือความอยากใหญ่ อยากสำเร็จ อยากเป็นผล อยากทุกอย่าง แล้วความอันนั้นกิเลสอันนี้มันเป็นเราอยู่แล้ว มันก็จะสร้างสถานะ ถ้ากิเลสมันหลอกนะ มันจะหลอกว่ามันจะปล่อยวางอย่างนั้น มันจะมีความสุขอย่างนั้น พยายามรักษาใจอย่างนี้ไว้ นี่รักษาไว้ขนาดไหน สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังมันต้องเสื่อมไปโดยธรรมชาติ จนกว่ามันจะเสื่อมไปโดยธรรมชาติจนหมดความสุขอันนั้นแล้ว ถึงได้ทุกข์ใจ ทุกข์ใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้ นี่การขาดครูอาจารย์เป็นอย่างนี้

๑. ทำให้เสียเวลา

๒. ทำให้ถึงกับหมดกำลังใจ หมดกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติเลย

ทำไมทุกข์ยากขนาดนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติทำไมทุกข์ยากขนาดนี้

“ทุกข์” การวิปัสสนาการประพฤติปฏิบัตินี้ทุกข์ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์นะ ละราชวังออกมา แล้วออกมาประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ทุกข์ไหม? ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เพราะทุกข์อันนี้มันเป็นความประเสริฐมาก เพราะทุกข์โดยคนที่มีสติสัมปชัญญะ ทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์ไง ไม่ใช่ทุกข์วนเวียนอยู่ในทุกข์ การประพฤติปฏิบัติถึงต้องใช้กำลังความมั่นคงของใจนี้อย่างมาก

นักรบนะ ทหารเขาออกกองทัพ เขารบกัน เขาฆ่าข้าศึกกันเพื่อผลชัยชนะของเขา แต่ของเรา เรารบกับ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เรารบกับความยึดมั่นของใจ ถ้าเราทำลายอวิชชาออกจากใจได้ เราจะชนะในวัฏจักร เห็นไหม กองทัพเขารบกันเขาชนะชั่วคราว แม้แต่ประเทศ แม้แต่สิ่งที่ว่าเป็นรัฐมันยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดไป สิ่งนั้นไม่มั่นคงหรอก แต่การรบของเรามันรบเพื่อจะเอาชนะนะ ถ้าชนะเป็นอกุปปธรรม อยากน้อยเกินอีก ๗ ชาติถ้าเป็นพระโสดาบัน แล้วจะรบขึ้นไปตลอดไปจนถึงทำลายอวิชชาได้ สิ่งนี้เป็นการรบที่มหัศจรรย์มาก การบอย่างนี้ถึงเป็นอาชาไนย ผู้ที่เป็นอาชาไนยต้องเลือกรบ เลือกสิ่งที่ว่าเป็นคุณประโยชน์กับใจดวงนั้น แล้วใจของเราเป็นอาชาไนย เพราะเราต้องการรบกับสิ่งนี้

ถ้าเราไม่เป็นอาชาไนย เราจะไม่สามารถรบกับความคิดของเราได้ นี่มันถึงต้องทุ่มไง ทุ่มทั้งความรู้สึกทั้งหมด ทุ่มถึงสติปัญญาทั้งหมด ทุ่มเข้ามาไง การรบอย่างนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ มันถึงต้องทุกข์ไง สิ่งที่ทุกข์เราก็ยอมแลกนะ เพราะเราเชื่อ

เห็นไหม คหบดีในสมัยพุทธกาลว่ามรรคผลมีไหม พระอรหันต์มีไหม เอาบาตรไม้จันทร์ขึ้นมาแขวนเพื่อจะพิสูจน์กัน แล้วมันก็พิสูจน์ พระโมคคัลลานะก็ทำให้เห็นสิ่งนั้นได้ ในกึ่งพุทธกาลนี้ครูบาอาจารย์ของเราก็เป็นผู้ชี้นำให้เรารบกับตัวเราเองไง มันถึงจะทุกข์ สิ่งที่ทุกข์เพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์พาประพฤติปฏิบัติมาน่ะท่านทุกข์ไหม? ท่านทุกข์มาก ขนาดท่านสร้างสมนะ ท่านสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้ากับสร้างบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านยังค้นคว้าได้ขนาดนั้น แล้วสาวกะสาวกของเรามันจะไม่ทุกข์ไปไหนล่ะ ถ้ามันไม่ทุกข์ มันเป็นสิ่งที่ง่ายดาย มันก็เป็นของที่ไม่ประเสริฐสิ

สิ่งนี้เป็นของที่ประเสริฐแล้วทุกคนต้องการมาก ฉะนั้น ความทุกข์อันนี้มันถึงเป็นความว่าพอใจจะทุกข์ ถ้าเราพอใจทุกข์นะ ทุกข์ไหน ทุกข์ขนาดไหน สิ่งที่ว่าจะมาประพฤติปฏิบัติ เราก็จะประพฤติปฏิบัติ เราจะทำของเราเพราะอะไร เพราะเราเป็นนักรบ สิ่งที่เป็นนักรบ เป็นผู้ที่พอใจทำสิ่งนั้น ถึงมีกำลังใจขึ้นมา มันจะเสื่อมไปขนาดไหนเราก็เริ่มต้นใหม่ ครูบาอาจารย์จะให้กำลังใจเรา เพราะครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่ทุกข์มาก่อน สิ่งที่ทุกข์มาก่อนเหมือนพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ต้องการให้ลูกลำบากหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ต้องการให้สาวกสาวกะมีความลำบาก

แต่สิ่งนี้มันเป็นความจริงอย่างนี้ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจอย่างนี้ มรรคมันจะเกิดมันต้องเกิดจากใจดวงนั้นไง เหมือนเชื้อโรคเกิดจากบุรุษผู้ใด เกิดจากใคร เวลารักษาก็ต้องรักษาคนนั้น เหมือนกับเราเป็นโรคนะ เรานอนอยู่ เราไม่ไปโรงพยาบาล แล้วให้เอาคนอื่นไปรักษา รักษาคนนั้นเราจะหายได้ไหม ถ้าเราป่วยไข้เราก็ต้องไปหาหมอ หมอก็ต้องรักษาเรา

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อใจของเรามันมีอวิชชา ใจของเราโดนกิเลสปักเสียบไว้ ใจของเราโดนกิเลสควบคุมไว้ แล้วกิเลสนี้หมุนไปตลอด แล้วจะเอาใครไปรักษาล่ะ? มันก็ต้องเอาใจดวงนั้นรักษาใจดวงนั้น เห็นไหม เราถึงพบครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เคยทุกข์มาก่อน ความทุกข์อย่างนี้เป็นความทุกข์เด็กๆ เป็นความทุกข์เด็กๆ เพราะเราเริ่มปฏิบัติใหม่ แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราได้ผลของเรานะ

วิปัสสนา เราเห็นสภาวะแบบไหน ครูบาอาจารย์ให้กำลังใจแล้วเรายกขึ้นวิปัสสนา เดี๋ยวเวลาเราไปข้างหน้านะ ไปสิ่งที่กิเลสมันละเอียดกว่านั้น เราต้องใช้ความประณีต ใช้ความบรรจง การค้นคว้าหากิเลสที่มันละเอียดเข้าไป เราจะทำสิ่งนั้นไป มันจะละเอียดกว่านี้ มันจะเห็นว่าอย่างนี้เป็นความทุกข์หยาบๆ ไง สิ่งที่เป็นความทุกข์หยาบๆ เป็นความเพียรเด็กๆ มันจะเห็น เพราะอะไร เพราะถึงเวลามันเข้าได้เข้าเข็มนะ มันเหมือนกับสิ่งที่อยู่ใกล้มือเราสามารถจะหยิบได้ มันจะมีกำลังใจ แล้วมันจะทำได้ทุกอย่าง มันมหัศจรรย์นะ

ถ้าเราไม่หวังผล เราไม่มีสิ่งใดเป็นเป้าหมาย การกระทำของเรามันจะไม่ดูดดื่ม แต่นี่เราหวังผล แล้วผลนั้นมันอยู่ต่อหน้าเรานะ อยู่ต่อหน้าเราให้เราตามไปหยิบ ตามไปก้าวเดิน เราจะทุ่มทั้งชีวิตเลย นั้นถึงเป็นความเพียรที่อุกฤษฏ์ไง สิ่งที่เป็นความเพียรที่อุกฤษฏ์นี้ เราจะอยู่กับหมู่คณะมันก็เป็นการเนิ่นช้า ต้องปลีกต้องหาเวลาเป็นเรื่องของส่วนตัว ส่วนตัวตลอดไป เห็นไหม

๑. เป็นส่วนตัว

๒. อยู่ในหัวใจที่ละเอียดลึกลับเข้าไปในหัวใจ

นี่มันถึงมีกำลังใจแล้วลุกขึ้นมาเริ่มต้นทำสมถกรรมฐาน สิ่งที่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา มันถึงจะเป็นพร้อมไป มรรคนี้ก็ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคแบ่งได้เป็นศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมา ความเรื่องของมรรคที่มันจะฟื้นตัวขึ้นมาจะฟื้นตัวได้อย่างไรในเมื่อมันเสื่อมไปแล้ว สิ่งที่เสื่อมไปแล้วมันก็เป็นสติสัมปชัญญะโดยปกติ เห็นไหม ต้องมีสติ มีศีล มีสมาธิโดยสมบูรณ์ขึ้นมามันถึงจะเริ่มต้นใหม่ วางฐานใหม่ นี่สมถกรรมฐาน วางฐานอย่างนี้ขึ้นไปแล้วก็จับต้อง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้ขึ้นมาวิปัสสนาใคร่ครวญสิ่งนี้ สภาวะสิ่งนี้ จิตเห็นสภาวะแบบนี้มันก็ปล่อย ปล่อยวางสิ่งนั้น พอปล่อยวางนี่มันมีความว่าง มีความเวิ้งว้างมาก อย่าเผลอ อย่าชะล่าใจ อย่าให้กิเลส หลอกซ้ำหลอกซาก กิเลสมันจะหลอกเราแล้วหลอกเราอีก เพื่อต้องการยึดใจดวงนี้เป็นที่อยู่อาศัย

กิเลสนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี้อาศัยภวาสวะ ภพของจิต จิตนี้ว่าเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนอยู่แล้วนะ ทำไมมีภวาสวะเป็นสถานะที่ให้กิเลสมันอยู่ได้ล่ะ? ถ้าเราวิปัสสนาเข้ามา เราทำลายตรงนี้ ถ้าทำลายตรงนี้กิเลสมันจะไปไหน? กิเลสมันต้องตายไป

เราว่าเราจะทำลายกิเลส กิเลสนี้ชอบสิ่งใด สงวนสิ่งใด รักสิ่งใด เราก็พยายามระงับสิ่งนั้น นั้นเป็นเรื่องภายนอก เป็นเรื่องการส่งออกไปรับรู้ ชาวพุทธคิดอย่างนั้นนะ เราจะฆ่ากิเลส โกรธก็ระงับความโกรธไว้ เวลาทุกข์ก็ระงับความทุกข์ไว้ สิ่งนั้นระงับเฉยๆ ถ้ามันจะชำระกิเลสมันต้องวิปัสสนาเข้ามา ถ้าวิปัสสนาเข้ามาก็กาย เวทนา จิต ธรรมนี้เท่านั้น กาย เวทนา จิต ธรรม จะวิปัสสนาด้วยอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพราะสิ่งใดเวลาพิจารณากายมันก็มีความทุกข์อยู่ที่นั่น

ความทุกข์ เห็นไหม พิจารณากาย อะไรพิจารณากาย? ก็ใจ เวลาพิจารณากาย สิ่งที่พิจารณาความรับรู้ ความสุขความทุกข์คืออะไร? คือเวทนา สิ่งที่รับรู้นั่นคืออะไร? นั่นคือธรรม จะกายหรือจิต เอาอันเดียว สิ่งนั้นจับต้องสิ่งเดียว ไม่อยากกังวลว่างานเราข้างหน้ายังรอเราอยู่ เราต้องวิปัสสนากาย แล้วเราจะรีบไปพิจารณาเวทนา รีบไปวิปัสสนาจิต วิปัสสนาธรรม นั้นเป็นความคิดที่กิเลสหลอก นี่กิเลสหลอกอย่างนี้

ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำอย่างนี้ ครูบาอาจารย์เป็นผู้กระทำมาอย่างนี้ เว้นไว้แต่เวลาเราพิจารณากายเห็นกาย แล้วพิจารณากาย ความรู้สึกเกิดขึ้นเราจับความรู้สึกได้ อันนั้นมันเป็นงานอันหนึ่ง เป็นงานคนละส่วนกัน สิ่งที่เป็นงานคนละส่วนกัน แต่มันก็ทำลายสติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน สิ่งนี้ใช้ได้ ไม่ใช่ว่าพิจารณากายแล้วความรู้สึกที่มันจับถึงจิตได้ เราจะไปจิตไม่ได้...ไปอะไรก็ได้ขอให้เป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะขณะว่ามันกระเทือนถึงกันหมด รู้เข้าใจสิ่งใดจะวางเหมือนกันหมดเลย เหมือนกับเราเรียนหนังสือ เราจะผ่านชั้นนี่มันมีกี่วิชาล่ะ ถ้าวิชาใดเราผ่าน มันก็ผ่านทุกวิชาเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เราจะผ่านสิ่งใด มันจะผ่านเหมือนกันหมด ผ่านกาย ผ่านเวทนา ผ่านจิต ผ่านธรรม ถ้ามันผ่านขึ้นไป การผ่านของเขาคือการวิปัสสนาซ้ำ ต้องวิปัสสนาซ้ำๆ เพราะการผ่านนี้คือจิตผ่าน จิตจะผ่านได้ จิตมันจะรู้โดยสัจจะ โดยสัจจะที่ขณะของจิตที่มันพลิกไง ขณะของจิตที่มันขาดออกมา นี่สังโยชน์จะขาดออกไป สิ่งที่ขาดออกไป เห็นชัดเจนโดยเป็นปัจจัตตังจากใจดวงนั้น นี้คือสภาวธรรม

ธรรมคือธรรมเกิดขึ้นจากใจดวงนี้แล้ว ธรรมคือธรรม แล้วเมื่อกิเลสมันจะอ่อนตัวลง อ่อนตัวลง ความมักมาก ความต้องการอยากใหญ่ มันจะน้อยลง น้อยลงไง สิ่งที่น้อยลงเราก็วิปัสสนาซ้ำไป วิปัสสนาซ้ำเข้าไป ซ้ำขึ้นไป ต้องทำจิตสงบของเราขึ้นมา แล้วย้อนขึ้นไป เพราะกิเลสอย่างละเอียดมันยังมีอยู่ สิ่งที่กิเลสอย่างละเอียดนะ

ขิปปาภิญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาย้อนกลับเข้าไป อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ทีเดียวขาดไป ถ้าขิปปาภิญญาเวลากิเลสขาด ขาดหมด แต่ในเวไนยสัตว์ พวกเรากึ่งพุทธกาล เวไนยสัตว์มันต้องเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ถึงจะก้าวเดินสิ่งนี้ขึ้นไป นี่จะทำละเอียดเข้าไปๆ จนเป็นธรรมล้วนๆ นะ สิ่งที่เป็นธรรมล้วนๆ คือเป็นความสุขล้วนๆ นะ วิมุตติสุขรอเราอยู่ข้างหน้า เพราะสิ่งที่เราวิปัสสนา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเป็นเครื่องยืนยัน

ถ้าเป็นเครื่องยืนยัน เหมือนกับเราประกอบธุรกิจต่างๆ แล้วเราประสบความสำเร็จ เราได้ผลงานของเรามาก นี่เหมือนกัน ถ้าจิตวิปัสสนาจนเข้าใจ จนความเห็นจนเข้าใจ จนปัญญาชำระกิเลสขาด มันจะมีความมั่นคงมาก

ที่ว่าพระโสดาบันไม่ถือมงคลตื่นข่าว พระโสดาบันไม่เชื่อในลัทธิศาสนาอื่นๆ จะมั่นคงในศาสนามาก มั่นคงเพราะใจนี้เป็นสงฆ์ไง ใจนี้เป็นพระอริยะเจ้าแล้ว ใจนี่ พระอัญญาโกณฑัญญะฟังธัมมจักฯ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปธรรมดา”

นี่มันไม่ธรรมดาเพราะจิตเราไปเกี่ยวข้อง จิตเราไปยึด ขณะที่เราวิปัสสนาจนถึงที่สุด มันปล่อยวางกลับไปเป็นธรรมดาของมัน สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติทั้งหมด มันปล่อยวางทั้งหมด จิตนี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ทุกข์มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันแยกออกจากกัน ต่างอันต่างจริง อยู่กันอยู่อย่างนั้น เก้อๆ เขินๆ จะรวมกันอีกไม่ได้เลย เพราะมันทำลายออกไปแล้ว สิ่งนี้มันถึงฝังไปในหัวใจ ใจนี้เป็นธรรม

นางวิสาขาไม่ได้ปฏิบัติต่อ เป็นพระโสดาบันมันก็ติดกับใจดวงนี้ไป ไม่ใช่ว่าพอตายไปแล้วมันจะเสื่อม มันต้องไปเกิดใหม่...ตายไปก็พระโสดาบันตายไป พระโสดาบันก็ต้องไปเกิดในสถานะของพระโสดาบัน เพราะว่าจิตดวงนั้นเป็น จิตดวงนั้นเป็นธรรม ถึงเป็นอกุปปธรรมไง สิ่งนี้เป็นอกุปปธรรมกับจิตดวงนั้น แต่ถ้ากิเลสอย่างละเอียดขึ้นไป เราจะทำอย่างไรต่อไป? เราก็ต้องทำความสงบของใจ

สมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานฐานอันนี้สำคัญมาก ถ้าเป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานจะเกิด ถ้าสมถกรรมฐานไม่พอ การขุดคุยการค้นคว้าหาไง หากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม กายในกาย จิตในจิต สิ่งที่ละเอียดเข้าไปจะเป็นอยู่ในหัวใจนั้น จิตนี้ก็ต้องใคร่ครวญต้องค้นคว้า สิ่งที่ค้นคว้าคือการขุดคุยหาสิ่งที่ว่ากิเลสอยู่ที่ไหน กิเลสอาศัยสิ่งใดออกไปหาเหยื่อ กิเลสอาศัยสิ่งใดเหยียบย่ำสิ่งใด แล้วมีความสุขของเขา มีความพอใจของเขา ทำให้ใจดวงนั้นเร่าร้อน ทำไมมันเป็นเร่าร้อนล่ะ

นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน แต่เวลาหลานตายนี่ร้องไห้มาหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “วิสาขาเธอร้องไห้มาทำไม”

“หลานตาย”

“แล้วถ้าในโลกนี้เขาเป็นหลานเธอทั้งหมด เธอจะไม่ร้องไห้ทุกวันหรือ”

เพราะคนตายมันเป็นธรรมชาติ คนตายเป็นเรื่องธรรมดา พระโสดาบันน่ะ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะกิดที่เดียวได้สติ นี่ทุกข์หลุดทันที ทุกข์หลุดทันทีเพราะทุกข์อันละเอียด ความยึดอันละเอียด ว่าไม่ต้องการสิ่งนั้น ไม่ต้องการสภาวะสิ่งที่ว่ามันเป็นของเรา ไม่ต้องการให้พลัดพรากไง นี่หลานไม่อยากให้ตาย มันจะไปฝืนธรรมชาติอย่างไร ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเพราะหลานของเขา เขามีกรรมมาอย่างนั้น มันก็เป็นธรรมชาติอย่างนั้น นี่สภาวะมันยึดอย่างนั้น

สิ่งนี้อยู่กับใจ ต้องพยายามทำความสงบของเราเข้ามา ค้นขึ้นไปสิ่งที่เหนือกว่า กายในกาย จิตในจิต ทุกข์ในทุกข์ อันนั้นขึ้นมาวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาขึ้นมา งานเคยทำมันจะแยกออกเป็นชั้นเป็นตอนๆ แล้วการผิดการพลาดมันก็มีอยู่ แต่กิเลสสิ่งที่ละเอียดมันจะสร้างภาพไง สร้างว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นสภาวธรรม ให้เราติดอยู่อย่างนั้น มันถึงต้องซ้ำต้องซาก ต้องแยกต้องแยะ ต้องฝืนตลอดไป

กิเลสละเอียดมันก็มีการหลอกลวงอันละเอียด สิ่งที่หลอกลวง เห็นไหม ถ้ามักง่าย สิ่งที่ความมักง่าย ความไม่มีความเฉลียวใจ มันจะสร้างภาพให้สภาวะแบบนั้น มันถึงล้มลุกคลุกคลาน การประพฤติปฏิบัติจะล้มลุกคลุกคลานไปทุกขั้นตอนของการประพฤติปฏิบัติ เพราะธรรมเป็นกิเลส

ธรรมทำไมไม่เป็นธรรม ทำไมธรรมเป็นกิเลสล่ะ เพราะกิเลสมันอยู่อย่างนั้นมันก็อาศัยธรรมไง สภาวธรรมมันอยู่ในตำราใครก็จำได้ใครก็รู้ ยิ่งถ้าศึกษามามันคล่องปากอยู่แล้ว มันอ้างสิ่งนั้นเลย สภาวะแบบนั้น เห็นไหม กิเลสบังเงา เอาธรรมมาบังให้เราหลงไปในความรู้สึกอันนั้น ว่าง เวิ้งว้าง เพราะใจเป็นนามธรรม มันสบายใจมันก็ว่างอยู่แล้ว แล้วกิเลสมันสงบตัวลง มันซุกอยู่อย่างนี้ มันให้เราว่าง ว่าง เราก็ว่างอยู่ ถ้ามันว่างอยู่มันมีเหตุผลไหม ถ้ามันไม่มีเหตุผล มันไม่มีสิ่งที่ว่าเป็นขณะจิตที่เป็นไป ไว้ใจไม่ได้เลย ถ้าไว้ใจไม่ได้ ก็หมั่นคาดหมั่นไถ หมั่นวิปัสสนาไป

กาย เวทนา จิต ธรรม ผู้เห็นกายมันก็เป็นสภาวะ ถ้ามีกำลังพอนะ น้ำเป็นน้ำ ดินเป็นดิน ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันจะแยกสภาวะคืนไง คืนสภาวะธรรมชาติของมันออกไป จิตมันก็ปล่อยมา ปล่อยออกมา นี่มันทำได้บ้างถ้ากำลังพอ ถ้าทำไม่ได้เราก็ต้องวางไว้แล้วกลับมาพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิใคร่ครวญเข้ามา ใคร่ครวญสภาวะ ใคร่ครวญสิ่งที่จิตมันไปยึด ยึดสิ่งใด วันนี้ติดข้องในสิ่งใด ไล่เลย สิ่งนี้มันเป็นความจริงไหม? มันเป็นสิ่งที่สมมุติทั้งหมด ถ้าเรายึดมันก็เป็นความเกาะเกี่ยวของจิต ถ้าเราไม่ยึด สิ่งนั้นไม่มีคุณค่าเลย

โลกธรรม ๘ นินทากาเล การสรรเสริญของคนมันเป็นเรื่องของโลกธรรม เพราะเรายึด เราถึงมีความรู้สึกเจ็บแสบปวดร้อนในใจ ถ้าเราไม่ยึดมันก็สักแต่ว่า มันไม่มีสิ่งใดเลย เพราะกิเลสมันยึด นี่ปัญญาใคร่ครวญสิ่งนี้เข้าไปมันก็ปล่อย พอปล่อยขึ้นมามันก็มีพลังงาน แล้วเรากลับไปวิปัสสนา

ปัญญาอบรมสมาธิคือการใคร่ครวญในผลกระทบจากภายนอก วิปัสสนาคือกายกับจิต ถ้ามันเห็นผลจากกระทบภายนอกมันปล่อยเข้ามา มันก็เหมือนกับฝึกซ้อม นักกีฬา นักมวยเขาต่อยกระสอบทราย เขาต่อยเพื่ออะไรล่ะ เขาไม่ใช่คนเสียสตินะ ไปต่อยทำไมกระสอบทราย? ต่อยกระสอบทรายก็เพื่อจะให้มีกำลังขึ้นมา เพื่อฝึกซ้อมตัวเองขึ้นมาไง

นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณาจิต ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เหมือนกับนักมวยเขาต่อยกระสอบทราย มันก็ฝึกซ้อมที่จิตไง จิตไปเกาะเกี่ยวเขา จิตไปยึดเขา จิตถึงฟุ้งซ่านออก จิตใคร่ครวญเข้ามามันก็เหมือนกับจิตกับจิตทำงานกัน มันก็ปล่อยเข้ามา พลังงานมันก็เกิด ถ้าพลังงานนั้นเกิด ย้อนกลับไปวิปัสสนา วิปัสสนาสิ่งนั้น รำพึงให้แปรสภาวะไป สิ่งนั้นแปรสภาวะไป มันคืนตัวมัน เห็นไหม

พอคืนตัวสิ่งนั้นไป ขาดนะ สภาวะที่มันจะขาดออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิตนะ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเลย ถ้าวิปัสสนากายมันจะปล่อยว่างเวิ้งว้างมาก โลกนี้ราบหมด เพราะจิตมันถอนความยึดมั่นถือมั่น ถอนความเห็นของมัน กามราคะปฏิฆะนี้เบาบางลง ว่างหมดเลย นี่ติดในความว่าง ความว่างนี้เป็นความสุขมาก สุขอย่างนี้เกิดจากวิปัสสนา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจว่าสุขเกิดจากสมาธิอย่างหนึ่ง สุขจากสมาธิคือการใช้ปัญญาใคร่ครวญกับสิ่งที่มันเกาะเกี่ยว กับว่าจิตแก้จิต คือนักมวยซ้อมกระสอบทรายนี่พลังงานเกิดขึ้น ความสุขอย่างนี้เป็นความสุขของสมาธิ

แต่ถ้าเป็นความสุขของวิปัสสนา วิปัสสนาเหมือนกับเราเป็นเจ้าหนี้ แล้วเราไปเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตมันเกาะเกี่ยวกัน มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ จิตนี้เป็นหนี้เพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น เราเป็นหนี้ เราต้องใช้หนี้ของเรา พอเราใช้หนี้ของเรามันปล่อยสิ่งนี้เข้ามา มันก็เหมือนคืน คืนออกไป ความคืนออกไปมันว่างๆ ว่างแบบผู้ที่ใช้หนี้ไง ว่างแบบที่เราไปเก็บหนี้ได้ เราไปเก็บหนี้ได้เพราะเราเป็นผู้วิปัสสนา แต่ในหลักความจริงคือตัวเองเป็นหนี้ แล้วตัวเองใช้ปัญญาใคร่ครวญทำความสะอาดของตัวเอง

นี่มันก็เหมือนกัน ถ้าเปรียบโลกมันก็ต้องเปรียบให้เห็นภาพของโลกจากภายนอกเป็นผู้ได้ แต่ถ้าเปรียบวิปัสสนามันเป็นผู้ละ สิ่งที่ละคือละกิเลสออกไปจากใจ เห็นไหม ว่าวิปัสสนา ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์อยู่ในป่าในเขาไม่เห็นได้อะไรเลย เข้าป่าก็มีบริขาร ๘ เข้าป่าไป ออกจากป่ามาก็เหมือนกับมีบริขาร ๘ ออกมา แต่ผู้ละผู้ได้อยู่นี้ในหัวใจนี่ไม่มีใครเห็นไง ธรรมในหัวใจของครูบาอาจารย์เป็นสภาวะแบบนั้น

ถ้าเราเจอครูเจออาจารย์ กึ่งพุทธกาลเราเกิดมาเจอครูเจออาจารย์นะ เราต้องพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้ามันเป็นสภาวะแบบใด เราใคร่ครวญสิ่งใดเข้ามา มันจะเข้ามาเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เราจะก้าวเดินของเราได้ ก้าวเดินของเราได้ขึ้นไป การก้าวเดินของใจคือก้าวเดินเข้าไปหาอวิชชา เพราะอวิชชาอยู่ในดวงจิต อวิชชานี้ซุกอยู่ในหัวใจ ความสุขอันนี้สุขขึ้นมาจากการเราประพฤติปฏิบัติ เราเป็นปัจจัตตัง เป็นความเห็นจากภายใน ธรรมอันนี้ถึงว่าเป็นอริยทรัพย์ เป็นอยู่กับใจดวงนั้น จะไม่มีใครสามารถเข้ามาแบ่งปันสิ่งนี้ไปได้เลย เว้นไว้แต่ใจดวงนี้จะทำกุศล จะเป็นผู้ชี้นำผู้ที่อยู่ต่ำกว่าไง แต่กิเลสสิ่งที่เหนือกว่าเรา เราก็ยังไม่เจอมัน มันจะเป็นความว่างอย่างนี้ จนสามารถให้เกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ได้

แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์มีวาสนานะ ความว่างอย่างนี้มันว่างอยู่ แต่ความที่ว่ามีกิเลสอันละเอียดอยู่มันจะซ่อนตัวอยู่นะ มันจะไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้เหมือนกับไม่มีสิ่งใดเลย เหมือนกับไม่มีภัยไง เหมือนกับเราอยู่ในที่ปลอดภัย ที่ปลอดภัยมันจะนอนใจไง มันจะนอนใจเพราะไม่มีสิ่งใดเลย แต่ถ้าเราทำความสงบแล้วเราย้อนขึ้นมรรค ๔ ผล ๔ มันจะย้อนขึ้นไปเห็นกามราคะ

สิ่งที่ว่าเป็นความปลอดภัยมันถึงติดในความว่างได้ไง การติดนะมันติดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เพราะสิ่งที่กิเลสละเอียดมันพยายามปิดบังตัวเองไม่ให้เห็นมัน ถ้าเราเห็นกิเลสนั้นคือมีการต่อสู้นะ เราเห็นศัตรูที่เป็นศัตรูกับเรา เราต้องพยายามทำลายสิ่งนั้น แต่ถ้าเราไม่เห็นเราก็มีศัตรูเรา เราก็นอนใจว่าเราไม่มีศัตรูไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่สามารถทำความสงบของใจ แล้วย้อนเข้าไปหากามราคะได้ เราจะว่าสิ่งนี้เป็นความปลอดภัย แล้วเราจะติดอยู่ตรงนี้ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ จิตมันละเอียดขึ้นไปแล้วเราย้อนขึ้นไปหานะ กาย เวทนา จิต ธรรม อันละเอียด

สิ่งที่อันละเอียด พอจับสิ่งนี้ได้มันจะสะเทือนหัวใจมากเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะนี้เป็นสัญชาตญาณของจิตนะ มันเป็นจิตใต้สำนึก สิ่งนี้เป็นสัญชาตญาณของมัน เพราะสัตว์โลกนะ สัตว์ป่าอยู่ในป่าไม่มีใครฝึกสอนเขาหรอก เรื่องการผสมพันธุ์มันเป็นไปโดยธรรมชาติ สัตว์ทุกตัวการดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน มันจะเป็นธรรมชาติของมัน สิ่งที่เป็นธรรมชาตินี้คือมันเป็นเรื่องของจิตไง สิ่งที่เป็นเรื่องของจิตนี่จิตใต้สำนึก ถ้าเราไปจับสิ่งนี้ได้มันจะสะเทือนหัวใจมาก

สิ่งที่สะเทือนหัวใจ เพราะสัตว์โลกติดกันอยู่ตรงนี้ ถ้าติดอยู่ตรงนี้ ถ้าติดอยู่ตรงนี้แล้วหาความสิ่งต่างๆ เข้ามาเพื่อมัน เพื่อมันไง เพราะติดตรงนี้แล้วถึงต้องการยึดโลกทั้งโลกให้อยู่ในอำนาจของมัน เพราะมันต้องการแสวงหามาเพื่อมันๆ เพราะมันคิดว่ามันเสพได้ทั้งหมด มันพอใจทั้งหมดกับสิ่งที่เป็นโลก สิ่งที่อยู่ใต้อำนาจของมัน มันถึงแสวงหาของมัน ทั้งๆ ที่คนคนเดียวนะ จะทำจะกินอยู่อาศัยก็แค่ปากแค่ท้อง ทำไมมันมีอำนาจวาสนา ทำไมมันยึดมั่นถือมั่น มันจะไปข่มขี่คนอื่นได้ทั้งหมดเลย สิ่งที่ทั้งหมดมันถึงเห็นภัย เราถึงต้องทำลายตรงนี้ไง

ธรรมคือการชนะตนเอง สิ่งที่ชนะตนเอง ชนะวัฏจักร สิ่งที่ชนะทางโลกจะไม่เป็นผลดีกับใครเลย เพราะอะไร เพราะการต่อสู้กัน การทำลายกัน มันต้องสร้างกรรมสร้างเวรกันไปตลอด การฆ่าที่ประเสริฐที่สุดคือการฆ่ากิเลส ที่จะไม่เป็นเวรเป็นภัยต่อกัน การทำลายกัน การยึดมั่นถือมั่น การแสวงหาสิ่งที่เป็นโลก มันจะเป็นเวรเป็นกรรม จะมีกรรมตลอดไป

คนเราเกิดมาจากกรรม อยู่ด้วยกรรม แล้วก็จะทำกรรมต่อไป แล้วกรรมนี้ก็จะให้ผลไปข้างหน้า แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราทำลายกิเลส ทำลายสภาวะอันนี้ ทำลายกรรมตัวนี้ เพราะกรรมดีไง เราสร้าง การกระทำเหล่านี้ก็เป็นกรรมอันหนึ่ง แต่กรรมอันนี้ กรรมที่ว่าเราเชื่อมั่น เราเป็นสัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยถึงทำงานที่ว่าโลกเขาไม่สนใจกัน โลกเขาไม่สนใจงานนี้ เพราะงานของเขา เขาทำแล้วเขาได้ผลประโยชน์ของเขา เขานับเป็นเงินเป็นทองของเขาขึ้นมาได้ แต่การประพฤติปฏิบัติของเรามันไม่เป็นการนับเป็นเงินทองขึ้นมาได้เลย แต่มันเป็นสภาวธรรมที่เหนือเงินเหนือทอง เหนือสิ่งต่างๆ ในโลกนี้

โลกนี้ขนาดว่ามีเงินทองขนาดไหนก็ซื้อแสวงหาสิ่งนี้ไม่ได้ ใช้ชีวิตทั้งชีวิตแสวงหามาเพื่อตน เพื่อตน เสร็จแล้วสมบัตินั้นก็ทิ้งไว้กับโลก จิตนี้ตายไป ถ้าเป็นคนดีก็ได้เป็นบุญกุศล ถ้าเป็นคนชั่วก็ต้องตายไปเกิดในนรกแน่นอน

เพราะขณะที่วิปัสสนากามราคะมันจะย้อนเข้ามาตรงนี้ ถ้าทำลายกามราคะออก มันจะเห็นความสภาวะ นี่ไงย้อนกลับไง จิตนี้เกิดมาจากไหน สภาวะที่ว่าอดีตชาติเคยเห็น เห็นตรงนี้ ถ้าจิตทำลายตรงนี้แล้วมันจะมีกำลังมาก สิ่งที่มีกำลังมากจะรู้สิ่งต่างๆ มหาศาลเลย มันก็จะติดตรงนี้ไป แต่ถ้ายังทำลายไม่ได้มันก็จะต้องไง สิ่งนี้จะต้องทำลายให้ได้ ถ้าทำลายให้ได้ต้องทำงานให้มาก

มหาสติ มหาปัญญา สิ่งที่เป็นมหาสติ มหาปัญญา ขณะที่มันออกทำงานมันจับสิ่งนี้ได้สะเทือนหัวใจ มันจะทำงานหน้าเดียว ทำงานแต่การใช้ปัญญา ปัญญาออกไปจากชำระกิเลส แล้วเวลาทำงานมันจะล้มลุกคลุกคลานไง เพราะเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสที่ละเอียดมันจะมีความแหลมคมมาก ขนาดความแหลมคมของมันมันจะสร้างแง่สร้างมุมของเราให้เราล้มลุกคลุกคลาน เป็นแง่มุมนะ เราพ้นจากมุมใดมุมหนึ่งออกไปอีกมุมหนึ่งมันก็เวิ้งว้าง พอพ้นจากมุมหนึ่ง ความเวิ้งว้างเราไล่เข้าไป สิ่งนี้ก็มืดดำ สิ่งที่มืดดำทะลุเข้าไปมันก็ผ่านไปอีกชั้นตอน เหมือนเข้าไปในถ้ำ จากปากถ้ำเข้าไปเวิ้งว้างหมด เวิ้งว้างมันก็มีถ้ำแยกออกไป แยกออกไป กิเลสมันอยู่อย่างนั้นในหัวใจเรา

ในหัวใจของกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะจะต้องให้สัตว์โลกจะต้องนอนจมกับอำนาจของนางตัณหา นางอรดี สิ่งที่เป็นแม่ทัพที่ขับเคลื่อนโลกอยู่มันอยู่ตรงนี้ไง แม้แต่พระโสดาบันอย่างนางวิสาขาก็ยังมีครอบครัวได้ เพราะสิ่งนี้มีอำนาจเหนือกว่าใจของเพราะโสดาบัน แต่ถ้าเราเห็นโทษ เรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า เราจะไม่ตกอยู่ในอำนาจของกามราคะอันนี้ไง ถ้าไม่ตกอยู่ในอำนาจของกามราคะ ยกขึ้นมาเห็นกายจะเป็นอสุภะ

สิ่งที่เป็นอสุภะนะ มันจะเศร้าหมอง มันจะเป็นความกระอักกระอ่วนของใจดวงนั้น ถ้าเห็นสภาวะแบบนั้นนะ ความกระอักกระอ่วนของใจดวงนั้นถ้ามันเป็นกิเลส แต่ถ้ามันเป็นธรรมมันจะไม่เป็นการกระอักกระอ่วนของใจดวงนั้น สิ่งนี้เป็นสภาวะ เป็นความจริง เห็น เข้าใจทันทีแล้ว มันปล่อย สิ่งที่ปล่อย เห็นไหม สมดุลกัน มันจะปล่อยสิ่งนี้ ถ้ามันเป็นการกระอักกระอ่วนนั่นน่ะกิเลสมันสร้างกำลังต่อต้าน

แต่ถ้าเราวิปัสสนาของเราเข้าไปบ่อยครั้งเข้า ถ้าวิปัสสนาได้ กำลังพอ มันจะเป็นอสุภะ สิ่งที่อสุภะมันจะเปื่อย มันจะทำลายตัวมันเอง สิ่งที่ทำลายตัวมันเอง พอทำลายตัวเองทีหนึ่ง จิตมันก็ปล่อยว่างทีหนึ่ง พอปล่อยเข้ามามันจะมีความเวิ้งว้างว่างมาก พอว่าง นึกว่าอันนี้เป็นธรรมนะ ถ้านึกว่าอันนี้เป็นธรรม พอมันเสื่อมสภาพลงมามันก็จับต้องได้อีก มันก็สภาวะอีก เพราะมันมีอยู่w’

สิ่งที่เราวิปัสสนาแล้วปล่อยวางครั้งเดียวมันจะไม่เป็นผลหรอก สิ่งที่ไม่เป็นผลเพราะกิเลสมันเข้มแข็งมาก กิเลสนี้เป็นแก่นของกิเลส วัฏฏะ การเกิดและการตายไม่มีต้นไม่มีปลาย จิตนี้เกิดตายมาตั้งแต่ไม่มีอดีตมีอนาคต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไว้อย่างนั้นนะ แล้วเราทำลายหนเดียวมันจะเป็นไป มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันถึงว่ามันว่าง มันปล่อยวางนะ

ธรรมเจือด้วยกิเลส ถ้ากิเลสมีอยู่ในหัวใจนะ มันจะมีแง่มุมของมัน แง่มุมที่มันอ้างเล่ห์ไง มันอ้างเล่ห์ว่าเป็นสภาวธรรม มันปล่อยวางแบบกิเลส กิเลสสร้างภาพให้เป็นปล่อยวางกิเลส อย่างนี้ก็มี การประพฤติปฏิบัติมันจะมีเรื่องอย่างนี้ ผ่านประสบการณ์อย่างนี้ ประสบการณ์ ล้มลุกคลุกคลาน ประสบการณ์ของกิเลสมันหลอก มันหลอกใจทุกดวงใจ เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติมันก็หลอกว่าสิ่งนี้ไม่มี ขณะที่เราต่อสู้ไปกับมัน มันก็เอาสภาวธรรม เอาสภาวะที่เป็นนามธรรมอันนี้มาหลอกเรา หลอกอย่างนั้นนะ แล้วเราก็เชื่อ เพราะเราไม่เคยเห็น

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ลึกลับ เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก จนถึงกับว่าต้องทุ่มกันทั้งชีวิต ทุ่มสิ่งนี้เต็มที่เลย สิ่งนี้มันฝังอยู่ที่ใจ แล้วเราเข้าไปจับต้องสิ่งนี้กำลังต่อสู้กัน กำลังพันตูกัน ต้องตั้งสติ ถึงเป็นมหาสติ มหาปัญญา ละเอียดอ่อนมาก สติอย่างนี้จะละเอียดอ่อนมาก ต้องใช้เวลาของเราสร้างฐานของใจ แล้ววิปัสสนาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันมีอยู่ มันจะปล่อยขนาดไหนมันก็ต้องค้นคว้าได้หาได้ เพราะของมี ของที่เป็นแง่มุมของกิเลสอยู่ในหัวใจ มันมีอยู่ เราจับได้ วิปัสสนา เพียงแต่กำลังเราทำลายมัน มันก็ปล่อยชั่วคราวๆ ทำลายถึงที่สุดนะ

เวลาทำลายถึงที่สุดนี่มันจะสะเทือนหัวใจมาก จะสั่นสะเทือนในหัวใจ ครืน! ในหัวใจนะ ขันธ์อันละเอียดเพิ่งทำลายไป ใจนี้จะเป็นใจล้วนๆ เลยนะ ใจล้วนๆ แต่เศษส่วนของความรู้สึกอันนั้นมันจะตามไป เราถึงต้องฝึกซ้อมไง ฝึกซ้อมสิ่งนี้เข้าไป ทำลายสิ่งนี้เข้าไป ปล่อยเข้ามาเป็นชั้นเข้าไป

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ปัจจยาการของใจ สัญญาอันละเอียด เห็นไหม ถ้าจิตเข้าไปตรงนี้ อดีตชาติของแต่ละบุคคล ข้อมูลเดิม จิตที่เกิดตายๆ มันเป็นขันธ์อันหยาบๆ ขันธ์ ๕ นี่หยาบมาก แล้วเราทำลายขันธ์เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จนถึงละเอียด ขันธ์นี้เปิดหมด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ กี่ภพกี่ชาติมันก็สะสมอยู่ที่นี่ล่ะ ถ้ามีอำนาจวาสนามันจะฝืนออกมา ภพชาติเห็นหมด รู้เข้าใจหมด แล้วสลดสังเวชมาก เคยติดไหน เคยเป็นใด เคยเห็นสิ่งใด มันจะสลดสังเวชมาก สลดสังเวชแล้วเข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรม เห็นไหม มันขนาดว่าเข้าไปถึงตัวมัน มันก็ยังหลอกได้ขนาดนั้น สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของอดีตแล้ว มันไม่เป็นไป นี่จะต้องทำให้เป็นปัญญาญาณ

ถ้าเป็นปัญญาญาณ ตัวนี้จะย้อนกลับนะ ถ้าย้อนกลับเข้าไปจับอวิชชาได้ นี่มันจะเป็นอดีตอนาคต ไม่ออกไปปัจจุบัน ปัจจุบันมีอยู่มันก็สาวไปหาอดีต ถ้าชักปัจจุบัน ทำลายปัจจุบัน ถอนรากถอนโคนจากรากแก้วของอวิชชา รากแก้วของอวิชชาปักเสียบอยู่ที่นี่นะ แม้แต่ตัวที่ว่าเป็นอวิชชาอยู่แล้วมันยังมีรากแก้ว เพราะอะไร เพราะว่ามันจะปกป้องตัวมันเอง

นี่ว่างหมด สภาวะนี้ว่าง ไม่มีสิ่งใดเลย เวิ้งว้างมาก...จะเวิ้งว้างขนาดไหน พลังงานตัวใดก็แล้วแต่ มันต้องเศร้าหมอง มันต้องผ่องใส “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” ถ้าจิตเดิมแท้แบบปุถุชน เวลาทำความสงบของใจ อัปปนาสมาธิเข้ามา จะเข้าถึงฐีติจิต ฐีติจิตอยู่ตรงนี้ ภวาสวะอยู่ตรงนี้ ภพอยู่ตรงนี้ ภพชาติอยู่ตรงนี้ รากแก้วอยู่ตรงนี้ ถ้าตรงนี้มีอยู่ นี่กิเลสมันมีที่อยู่ที่อาศัย ถ้าทำลายตรงนี้ กิเลสมันต้องตายไป

สิ่งถ้ากิเลสตายไปมันจะเหลือแต่ใจล้วนๆ ใจที่เป็นธรรม ใจที่เป็นธรรมจะเป็นธรรมทั้งหมด สิ่งที่เป็นธรรมต้องย้อนกลับ ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบ สมบูรณ์มาก ความละเอียดอ่อนของใจจะย้อนกลับมาตรงนี้ จับตรงนี้

ไหนว่าว่างไง ความว่างเกิดจากสิ่งใด

ในอวกาศนะ อวกาศเขาไม่รู้ตัวเขาเอง เพราะอะไร เพราะเขาเป็นอวกาศ เขาไม่มีชีวิต ธาตุรู้ไง สิ่งที่เป็นธาตุรู้ เป็นอวิชชา มันมีชีวิต มันมีใจ ใจนี้ถึงมหัศจรรย์มาก เพราะใจนี้มีชีวิต ธาตุรู้นี้มีชีวิต ธาตุรู้นี่สักแต่ว่าธาตุก็จริงอยู่ ถ้าอวิชชาโปะอยู่นี่ สักแต่ว่าธาตุ ธาตุคือธาตุ ธาตุรู้มันก็คือธาตุรู้ ออกไป ถ้าดับจากนี้ไป ขนาดที่ว่าเราทำลายเศษส่วนเข้ามาแล้ว ดับตรงนี้ก็เกิดเป็นพรหม เกิดเป็นพรหมแล้วก็หลุดออกไป ถึงที่สุดไป เพราะเป็นธาตุแล้ว ไม่ใช่เป็นขันธ์

ถ้าเป็นขันธ์นี้เป็นกามมาราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะเกิดบนเทวดา แต่ถ้าสิ่งที่เป็นสักแต่ว่า ธาตุนี้ หนึ่งเดียว เกิดบนพรหมอยู่แล้ว แต่เราทำลายส่วนเข้ามามันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป จับตรงนี้ได้แล้วทำลายสิ่งนี้ ทำลายสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีความรับรู้ รับรู้ รับรู้รับรู้จากอะไร? รับรู้ความว่าง รับรู้สิ่งต่างๆ นี่ย้อนกลับเข้ามา แล้วพลิกตรงนี้คว่ำหมด นี้คือธรรม

ธรรมคือธรรม ไม่ใช่ธรรมเจือด้วยกิเลส ถ้าธรรมเจือไปด้วยกิเลสจะมีปัญหามาก

อาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดขึ้นมาจากธรรม อาศัยชีวิตในธรรม แล้วก็ทำลายไง เข้าใจว่าเป็นการส่งเสริมการจรรโลงศาสนา การจรรโลงศาสนาในเรื่องของโลก ในเรื่องของสิ่งต่างๆ ในเรื่องของวัตถุ ในเรื่องต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องของหยาบๆ สิ่งที่หยาบๆ แล้วเราเอาหลักความจริงของใจที่ประเสริฐอย่างนี้ให้มาทำงานหยาบ ถ้าเราติดเรื่องทำงานหยาบ นี่ความกังวลมันเกิดขึ้น

ถ้ามีการก่อสร้าง มีสิ่งใดดังๆ เกิดขึ้นมา จิตมันต้องคิด จิตมันต้องพะวง สิ่งที่จิตกังวล นิวรณธรรมเกิดแล้ว สิ่งที่เป็นนิวรณธรรมเกิด นี่กิเลสมันเกิดจากใจดวงนั้น แล้วเราก็ทำกันนะ ทำสิ่งนั้นเพื่อเป็นศักยภาพ เพื่อมีผลงาน แล้วก็จะต้องให้พระออกไปทำงานอย่างนั้น

แต่ถ้าธรรมวินัยมันเกี่ยวกับเรื่องสภาวธรรม พระป่าถึงอยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่ว่าโลกเขาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า สิ่งที่ไม่มีคุณค่าของโลก แต่มันมีคุณค่าของใจ เพราะใจนี้เข้ากับธรรมชาติ ใจนี้เข้ากับความเป็นจริง แต่ถ้าเราไม่มีสภาวธรรมที่มีกิเลสเจือปน อาศัยแอบอิงแล้วก็อาศัยสิ่งนั้นเพื่อเป็นฐานออกไป แต่ไปทำงานสิ่งที่แย่งโลกเขาทำงาน เดี๋ยวนี้เขามีช่างรับเหมา เขามีการก่อสร้าง เรามีปัจจัย เราจะใช้เขาได้หมดเลย สิ่งนี้ใครทำก็ได้ แต่หัวใจไม่มีใครทำให้ได้ เป็นไปไม่ได้ จะเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีขนาดไหน จะซื้อจะแสวงหาสิ่งนี้ไม่ได้ ถ้าคนคนนั้นไม่ทำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ทางเราเป็นผู้ชี้ทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยให้เราก้าวเดิน แล้วเราเกิดขึ้นมาเรามีหัวใจ เรามีร่างกาย เรามีชีวิต ทำไมเราไม่ค้นคว้าสิ่งนี้ ทำไมเราไม่ทำสิ่งนี้ ถ้าเราทำสิ่งนี้เป็นงานอันประเสริฐ เห็นไหม เทวดายังอนุโมทนากับเรา หลวงปู่มั่นเวลาประพฤติปฏิบัติใจนี้เป็นธรรมทั้งหมด เทศน์สอนเทวดา ในประวัติหลวงปู่มั่น เทศน์สอนเทวดา เทศน์สอนหมู่สัตว์ เทศน์ทุกอย่างเพื่อเป็นประโยชน์กับโลก เป็นประโยชน์กับวัฏจักร

เราทำกันเราก็ทำกันได้แค่โลก เป็นประโยชน์กับโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ สอนเทวดา สอนใน ๓ โลกธาตุ สิ่งนี้จะปิดบังใจดวงนี้ไม่ได้เลย เพราะโลกวิทู รู้แจ้งโลกภายนอก รู้แจ้งโลกภายใน แต่ของเราสาวกะสาวกนี่พยายามทำลายโลกภายในนี้ให้ได้ ถ้าทำลายโลกภายในให้ได้ มันจะเป็นสภาวธรรมคือธรรมในใจของเรา

ถ้าธรรมคือธรรมในใจของเรา วิมุตติสุขจะเกิดขึ้นจากเรา แล้วจะเข้าใจว่าวิมุตติสุขกับสุขของโลกเขาต่างกันตรงไหน สุขของโลกเขาเป็นขันธ์ สุขขันธ์ สุขคือสุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่สุขของเรานี้ไม่อาศัยด้วยขันธ์ เพราะขันธ์เราทำลายมาแล้ว แม้แต่ดวงใจเราก็ทำลาย แล้วดวงใจดวงนี้จะไม่เศร้าหมองจะไม่ผ่องใส เพราะมันเป็นสภาวธรรม มันไม่ใช่สภาวะของอวิชชา ถ้าเป็นสภาวะของอวิชชา มันจะเศร้าหมอง มันจะผ่องใส

จิตเดิมแท้นี้เศร้าหมอง มันจะเศร้าหมองอยู่ในสภาวะแบบนั้น แล้วมันก็เศร้าหมองอมซับหนองอยู่ในใจดวงนั้น แต่ถ้าทำลายสิ่งนี้แล้วมันไม่มีเชื้อของความเศร้าหมอง มันไม่มีสิ่งที่ว่าความเป็นอวิชชา มันเป็นวิชชาทั้งหมด มันเป็นสิ่งที่ว่าระหว่างอรหัตตมรรคกับอรหัตตผลคือวิชชา พ้นไปแล้วจะเป็นวิชชาก็ไม่ใช่ มันเป็นเอโก ธัมโม มันเป็นหนึ่ง มันเป็นธรรมล้วนๆ จากใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมี

เวลาที่ประพฤติปฏิบัติ การก่อสร้างนี้เป็นงานอย่างหยาบๆ นี้คือความดีส่วนหนึ่ง ถ้าการศึกษาการเล่าเรียนนี้เป็นความดีอีกส่วนหนึ่ง เห็นไหม ในครั้งพุทธกาลก็เหมือนกัน เวลาในครั้งพุทธกาลเขาไม่เชื่อ เพราะเขาไม่เชื่อว่ามรรคผลมี แต่ผู้ที่เข้ามาเชื่อ ดูอย่างพระเทวทัตต้องการปกครองสงฆ์ แต่พระสารีบุตรเป็นเสนาบดี เป็นเสนาบดีของสงฆ์ไม่เคยปกครองสงฆ์ พระเทวทัตเสนอกฎ ๕ ข้อแล้วเอาพระตามไป เอาพระที่ไม่มีความเข้าใจ ก็เชื่อว่าพระเทวทัตนี้เป็นผู้ที่ว่าสร้างกฎที่ดีกว่า สิ่งที่ว่าเหนือกว่าแล้วตามไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังให้พระสารีบุตรนี้ไปเอาคืนมา

นี่สภาวธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรก็เป็นพระอรหันต์ ทำไมไม่ปล่อยวางล่ะ พระเทวทัตดึงสงฆ์บวชใหม่ไป ๕๐๐ องค์ ก็ปล่อยไปเรื่องของเขาสิ เรื่องของกรรม สภาวะกรรมเป็นอย่างนั้น ก็ปล่อยเป็นเรื่องของกรรมของเขา ทำไมพระสารีบุตรไปเทศน์สอนเอากลับมาได้หมดเลย เอากลับมาเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอากลับเข้ามาอยู่ในสภาวธรรมที่ดำเนินไปได้ ไม่ใช่สิ่งที่ว่าเป็นทิฏฐิมานะ สิ่งที่เป็นทิฏฐิมานะถือว่าสูงกว่าเขา ถือว่าดีกว่าเขา นั่นเป็นเรื่องของกิเลสพาดำเนิน เห็นไหม

สิ่งที่เป็นกลาง ธุดงควัตรเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ผู้ที่มีจริตนิสัยก็ให้ถือเอา ผู้ไม่มีจริตนิสัย เห็นไหม พระยสะฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ ทีในคืนนั้นสำเสร็จหมดเลย นี่สำเสร็จได้เพราะจริตนิสัยสร้างมาอย่างนั้น สร้างมาแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ผู้ที่รู้ง่ายก็ถือว่าเป็นผู้ที่รู้ง่าย ผู้ที่รู้ยาก ผู้ที่รู้ปานกลาง ก็แล้วแต่ว่าจริตนิสัยของสัตว์โลกที่มาเป็นไป

แต่เพราะว่าเรามีศรัทธา เพราะเรามีความเชื่อ เห็นไหม สมัยพุทธกาล คหบดีเขาก็ไม่เชื่อเรื่องศาสนา แม้แต่พระพุทธเจ้าอยู่ก็ว่าไม่มีแล้วมรรคผล แล้วนี่กึ่งพุทธกาลนะ ครูบาอาจารย์เรามา สร้างสมสิ่งนี้มา แล้วก็จะมีปัญหากันว่าครูบาอาจารย์ของเราไม่เป็นความจริง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าพวกเราเป็นผู้ที่หลงใหลกันไปเอง นี่ความเห็นของโลกเขามันเป็นเหมือนกัน คนละยุคคนละสมัย แต่ความเห็นก็เป็นแบบนั้น

แต่ส่วนที่ว่าเขาโคกับขนโค เราเป็นเขาโค จะเป็นชนส่วนน้อยของสังคมก็แล้วแต่ แต่เราเชื่อพระครูบาอาจารย์ของเรา เราถึงมีความประพฤติปฏิบัติ เราถึงมีความตั้งใจ เราเป็นขนโค ถ้าสิ่งนี้ไม่เป็นความจริง ทำไมมันมียืนยันมา ๒,๕๐๐ ปี ศาสนาทำไมจรรโลงมาถึงขนาดนี้ได้ ถ้าศาสนาจรรโลงมาขนาดนี้ได้ต้องมีแก่น

สิ่งที่มีแก่น เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราเป็นแก่น แก่นคือแก่นของใจ ธรรมนี้ภาชนะที่จะรับได้คือหัวใจของสัตว์โลก พระไตรปิฎกหนังสือนั้นเป็นสิ่งที่จดจารึกกันมา เขาไม่มีชีวิต เขาไม่รับรู้ หนังสือเขาไม่มีสุขไม่มีทุกข์กับเรา แต่หัวใจไปอ่านหนังสือถึงมีทุกข์มีสุขกับเรา แล้วมาดัดแปลงประพฤติปฏิบัติ หัวใจนี้ถึงสะเทือนใจมาก ธรรมนั้นถึงอยู่กับใจ ถึงธรรมเป็นธรรม เอวัง