ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจเป็นศีล

๒๔ พ.ย. ๒๕๕๖

 

ใจเป็นศีล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “ชีวิตนี้เกิดมาทำไม”

 

รู้แล้วค่ะ แต่ไม่รู้ถูกหรือไม่ ชีวิตเกิดมาเพื่อใช้กรรมทางความคิด มิน่าพ่อแม่ครูอาจารย์ถึงให้พุทโธเพื่อหยุดความคิด

 

ตอบ : นี่คำถามไง เพราะเขาถามมาบ่อย แล้วเขาปฏิบัติอยู่ แล้วปฏิบัติไปแล้วมันก็ใช้ปัญญาไปแล้ว ถ้าปัญญาหยาบๆ มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง ปัญญาหยาบๆ หมายถึงโลกียปัญญา ปัญญาของเราเอง ปัญญาที่เราศึกษามา ปัญญาที่เรามีข้อมูลมา นี้คือปัญญา โลกียะคือโลก โลกคือปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณนั้นคือโลก เพราะมีปฏิสนธิ มีที่อยู่ มีสถานที่ มีภพ ฉะนั้น ปัญญาเกิดที่นั่น

 

นี่บอกว่า ถ้าใช้ความคิด ใช้ต่างๆ มันก็เป็นโลกียปัญญา แต่ถ้ามันเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มันเกิดขึ้น มันจะรู้มันจะเห็นของมัน มันจะดีขึ้นของมัน ถ้าดีขึ้นของมัน มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

 

ทีนี้เขาบอกว่า คำถามถามว่า “ชีวิตนี้เกิดมาทำไม รู้แล้วค่ะ แต่ไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ ชีวิตเกิดมาเพื่อใช้กรรมทางความคิด มิน่าพ่อแม่ครูอาจารย์ถึงให้พุทโธเพื่อหยุดความคิด”

 

ถ้าเพื่อหยุดความคิดมันก็เข้าไปสู่สัมมาสมาธิ ถ้ามันหยุดได้ เพราะหยุดความคิด หยุดความคิดแล้วยังเหลือจิตอยู่ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ว่าเป็นมิจฉา เวลาบอกว่าทำทุกอย่างให้ว่างหมด มันหยุดความคิดแล้วก็ไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่มีสติ ไม่มีผู้รับรู้ ไม่มีเจ้าของ อันนั้นเป็นมิจฉา มิจฉาคือว่าว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ แบบปฏิเสธ ว่างๆ แบบไม่มีสิ่งใดเลย นี่ดูให้มันหายไป ทำอย่างไรก็ได้ให้มันหายไป พอหายไปก็ไม่มีใครเลย ไม่มีสิ่งใดเลย มันก็เป็นมิจฉา แต่ถ้าเป็นสัมมานะ

 

“มิน่าพ่อแม่ครูอาจารย์ถึงให้พุทโธเพื่อหยุดความคิด”

 

หยุดความคิดนี้เราเป็นคนหยุด เราเป็นคนหยุดความคิด แต่ยังมีเราอยู่ มีคนหยุดความคิด แต่มีสติ มีธาตุรู้ ธาตุรู้ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้ามีอย่างนี้อยู่ สิ่งนี้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิมันก็เป็นประโยชน์ถ้ารู้จักออกใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาไปมันจะเกิดภาวนามยปัญญา

 

ฉะนั้น สิ่งที่เขาว่า “รู้แล้วค่ะ” คือว่าเขารู้ด้วยวุฒิภาวะ รู้ด้วยความเห็นของตัว “แต่ไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ ชีวิตเกิดมาเพื่อใช้กรรมทางความคิด”

 

ชีวิตเกิดมาทำไม ชีวิตเกิดมาทำไม คำถามอย่างนี้มันก็เหมือน มรณานุสติ คิดถึงความตายๆ คนคิดถึงความตายมันจะย้อนกลับมาที่ตัวเราเพราะเราต้องตาย พอเราต้องตาย เราต้องเคลื่อนไป จิตนี้ต้องเสวยภพเสวยชาติ ถ้าเราจะตาย เราจะตายดีตายชั่ว เพราะเราคิดถึงมรณานุสติ ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้เกิดมาทำไม ถ้าชีวิตนี้เกิดมาทำไม มันจะเห็นคุณค่าเรื่องจิตไง

 

หลวงตาบอกว่า ท่านไปไหนท่านเห็นน้ำใจของคนๆ สิ่งที่ว่าชีวิตนี้คืออะไร ถ้ามันเข้ามาสู่ใจ น้ำใจมันสำคัญที่สุด ถ้าน้ำใจสำคัญที่สุด ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้ก็คือธาตุรู้ ธาตุของเรา จิตวิญญาณของเรา ชีวิตนี้คือนี่ ชีวิตนี้คือว่าจิต ธาตุรู้ตั้งอยู่บนไออุ่น ไออุ่นตั้งอยู่บนกาลเวลา มันตั้งอยู่บนกาลเวลา เวลามันสืบต่อไปมันก็เป็นชีวิต นี่ถ้ามีชีวิตอยู่ แล้วมีไว้ทำไมล่ะ ถ้ามีไว้ทำไม มีไว้ทำมาหากินไง มีไว้เพื่อประโยชน์กับโลกไง มีไว้อย่างนั้น

 

แต่ถ้าเรามีสตินะ ชีวิตนี้มาจากไหน ปฏิสนธิเวลาเกิด เกิดอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ มันเกิดอย่างไร เกิดมาแล้วเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ ชีวิตนี้เกิดมาทำไม เกิดมาทำไม

 

ถ้ามีสติปัญญา มันก็เหมือนมรณานุสติให้ระลึกถึงตัวเรา ให้ระลึกถึงสิ่งที่มีค่าที่สุดคือตัวใจของเรา ถ้าใจ ธาตุรู้ของเรามีค่าที่สุด เพราะธาตุรู้ของเรามีค่าที่สุด ถ้าเราทำสัมมาสมาธิขึ้นมาเข้าสู่ตัวมัน เข้าสู่ตัวธาตุรู้นี้ เข้าสู่ฐีติจิต เข้าสู่บ้านของเรา แล้วเรามาแก้ไขทำบ้านของเราให้ดีขึ้น ถ้าทำบ้านของเราให้ดีขึ้น

 

ถ้าสัมมาสมาธิ ถ้าจิตเราตั้งมั่น ถ้ามันดับที่นี่มันก็ไปเกิดบนพรหม แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา พอเข้ามาถึงบ้านของเรา เราทำความสะอาดของเรา มันละสังโยชน์ ๓ ไป มันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมก็ไม่เวียนตายเวียนเกิดไปไม่มีต้นไม่มีปลายแล้ว มันก็เกิดอีก ๗ ชาติ แล้วถ้าพิจารณาทำความสะอาดในบ้านของเราให้ดีขึ้นมันก็เกิดชาติเดียว เกิดบนพรหม แล้วถ้าพิจารณาถึงสิ้น สิ้นหมดเลย ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้เกิดมาทำไม มันจะรู้มันจะเห็นของมัน รู้เห็นของมันเป็นความจริงของมัน เห็นไหม ชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออย่างนี้

 

ไม่ใช่ว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อใช้กรรมค่ะ แล้วกรรมดีหรือกรรมชั่วล่ะ เขาว่าเขารู้แล้ว ชีวิตนี้เกิดมาใช้กรรม ใช้กรรมคือใช้กรรมทางความคิด

 

ความคิด คิดดีๆ คิดดีๆ ก็เข้าสู่ศีลธรรม ถ้ามีสัมมาสมาธิ ใช้ปัญญาดีๆ ปัญญาดีๆ มันก็ชำระล้างกิเลสด้วยปัญญา ปัญญานั้น บ้านของเรา ทำสะสางบ้านของเราให้สะอาด ทำสะสางบ้านของเราให้ดี ถ้าทำสะสางบ้านของเราให้ดี เห็นไหม นี่ก็เป็นความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดมีสัมมาสมาธิรองรับ เพราะความคิดเป็นสังขาร

 

สังขาร ความคิดเป็นสังขาร พอความคิดเป็นสังขาร ปัญญามันก็เป็นความคิดนี่แหละ ความคิดนี่ปัญญาอย่างหยาบ ปัญญาอย่างกลาง ปัญญาอย่างละเอียด ถ้าปัญญาอย่างละเอียดสุดเป็นความคิดไม่ได้เลย เป็นปัญญาญาณ มันมหัศจรรย์กว่านี้เยอะ

 

นี่ความคิด ความคิดของคน เห็นไหม เขาบอกอยู่คนเดียวให้ระวังความคิด ความคิดของเรา ถ้าเรามีพุทโธๆ ไม่ให้มันคิดของมันไป ให้มันอยู่กับพุทโธ ถ้าอยู่กับพุทโธมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

 

ฉะนั้นเขาบอกว่า “ชีวิตเกิดมาเพื่อใช้กรรมทางความคิด” ถ้าคิดได้แค่นี้มันก็เป็นปัญญาของเรา ถ้าถามเราให้เราตอบว่าถูกไหมหลวงพ่อ

 

เราก็จะตอบว่าถูก ถูกแล้วทำอย่างไรต่อ ถ้าตอบว่าถูกนะ ถูกแล้วเราคิดได้แค่นี้เราก็ดีแล้วไง แต่ถ้าให้เป็นความจริง ชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร ถ้าใช้กรรมๆ เราชดใช้กรรม เราก็ไหลไปตามน้ำ แต่ถ้าเราจะทวนน้ำล่ะ

 

ชีวิตนี้เป็นของเรา ชีวิตนี้อยู่ในกำมือของเรา แล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างไร เราจะทำใจของเราให้เป็นประโยชน์ได้มากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่มีแผนที่เครื่องดำเนิน คือไม่มีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ใช้ชีวิตของเราไปตามประสาของเรา

 

แต่ถ้าเรามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรม ธรรมเป็นถนนหนทางที่จะให้เราก้าวเดินไป เราก้าวเดินไปในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของเรายังไม่มี แต่พอเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา นี่จะเป็นหนทางของเรา จิตก้าวเดินไปตามมรรคอย่างนี้ จิตมันก้าวเดินไปตามมรรค ก้าวเดินในอริยสัจ แล้วพอมันชำระล้างเป็นชั้นเป็นตอน เป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคืออฐานะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะเป็นสมบัติของเรา แล้วเราจะรู้เลย

 

ใช้กรรม แต่ถ้าใช้กรรมทางความคิด ถ้าเราคิดอย่างนี้ปั๊บ คิดอย่างนี้มันก็เป็นประโยชน์ แต่พอเป็นประโยชน์ปั๊บ พอคิดแล้วสติมันก็อ่อนลง เดี๋ยวพอกิเลสมันมีกำลังมากขึ้นมันก็ไหลแล้ว ใช้ความคิด ความคิดก็อยากทำไอ้นู่น ความคิดก็อยากทำไอ้นี่ เราตามความคิดไป เราก็เสียหาย

 

แต่ถ้าเราดับทั้งหมด เห็นไหม “พ่อแม่ครูอาจารย์ถึงให้พุทโธเพื่อหยุดคิด” พอหยุดคิดแล้ว หยุดคิดนั่นน่ะถ้ามีสติมีปัญญา เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าออกใช้ปัญญาแล้วมันจะเป็นปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา

 

ชีวิตทางโลกเขาก็ใช้ชีวิตแบบของเขาอย่างนั้น คนเราอำนาจวาสนาบารมีได้แค่ไหน แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ ในสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด

 

ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า เกิดมาเขาใช้ชีวิตของเขาอย่างใด ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า แล้วเราก็เป็นสัตว์ ๒ เท้า เราจะใช้ชีวิตของเราอย่างใด ถ้าเราใช้ชีวิตของเราในทางโลกมันก็ได้ผลประโยชน์ตอบสนองทางโลก ถ้าเราใช้ชีวิตทางธรรม แล้วทำใจของเราให้เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด แล้วเราจะเดินตามใคร ถ้าเดินตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติ เราก็ได้ประโยชน์กับเรา

 

ถาม : เรื่อง “แก้นิมิตอย่างไร”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ หนูเป็นคนเดียวกับที่ส่งปัญหาเรื่อง “โปรแกรมของจิต” ค่ะ กาย ใจ สติกลับมาปกติแล้วค่ะ แต่มีปัญหาว่ามันยังติดเห็นนิมิตที่แขนข้างขวาและแผ่นหลังค่ะ หนูขอเรียกนิมิตไปก่อนค่ะ ตรงแขนรู้สึกกล้ามเนื้อตึงค่ะ แต่มันจะเหมือนมองเห็นด้วยว่าตรงตำแหน่งที่ตึงมีรูปร่างของความตึง มีน้ำหนัก บางครั้งที่หลังรู้สึกยุบยับ เห็นรูปร่างของความรู้สึกยุบยับ เดี๋ยวตึงที่แขน เดี๋ยวยุบยับที่หลัง บางครั้งเกิดปวดหลังค่ะ ก็เห็นรูปร่างความปวดค่ะ หนูจะแก้นิมิตนี้อย่างไรคะ มันจะเป็นมากเวลาหนูนิ่งค่ะ หนูเลยนั่งสมาธิไม่ได้ รู้สึกกล้ามเนื้อมันตึงไหล่และหลังค่ะ กราบนมัสการค่ะ

 

ตอบ : ถ้าเคยถามปัญหามา เราก็ตอบปัญหามาตลอด เห็นไหม เวลาคนเขาไปหาหมอใช่ไหม หมอรักษาอาการนั้นหายจากเจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็กลับบ้านเขาไป เวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็ไปหาหมออีก ถ้าหาหมออีก หมอก็รักษาไปตามอาการนั้น

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาถามปัญหามา ตอบปัญหาไปแล้วถ้าจิตใจมันดีขึ้น “กายกับจิตกลับมาเป็นปกติแล้วค่ะ” ถ้าเป็นปกติแล้วค่ะ แสดงว่าจิตใจของเรากลับมาเป็นปกติ ถ้าเวลาเป็นปกติแล้วค่ะ แต่มันเกิดอาการยุบยับๆ ทั้งหมด เวลามันทำ เวลายิ่งนิ่งมันยิ่งเกิดอาการมากขึ้น ถ้ายิ่งนิ่งยิ่งเกิดอาการมากขึ้น หนูเลยนั่งสมาธิไม่ได้ค่ะ

 

ถ้าหนูนั่งสมาธิไม่ได้นะ เราก็ไม่ต้องนั่งสมาธิ เราทำจิตใจของเราให้ปลอดโปร่ง เดินจงกรมก็ได้ ใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละ ใช้ชีวิตประจำวัน มีสติอยู่กับชีวิตประจำวัน ถ้าเราพุทโธได้ เรากำหนดลมหายใจได้ คือให้กายกับใจของเรามันเป็นปกติ ถ้าเป็นปกติ หนูก็สบายใช่ไหมคะ

 

แต่ถ้าจิตเราไม่ปกติ เราก็เจ็บไข้ได้ป่วย พอเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว อาการที่เกิดขึ้น เพราะว่าเวลามันตึงมันเครียดต่างๆ เราก็ไม่ชอบ พอไม่ชอบขึ้นมา แต่จิตใจของเรามันมีสัญญา สัญญามันมีตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันอยู่ ถ้าตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันอยู่ เวลามันมีสิ่งใดรู้สึกเกิดขึ้น เช่น ตึงหลัง เช่น หลังมันตึง เวลาแขนกล้ามเนื้อมันตึง นี่ความฝังใจ ความฝังใจว่าตรงไหนก็แล้วแต่ที่มันเป็นจุดเด่น พอเป็นจุดเด่น จิตมันก็ซับสิ่งนั้นไว้ พอจิตซับสิ่งนั้นไว้ เวลาเราจะทำสิ่งใด หัวใจมันคอยคิดแต่เรื่องอย่างนั้นไง เวลาคิดแต่เรื่องอย่างนั้นมันก็เลยเกิดเป็นนิมิตขึ้นมา เกิดเป็นนิมิตขึ้นมา เกิดเป็นกล้ามเนื้อขึ้นมา มองเห็นอาการปวดขึ้นมา ต่างๆ ขึ้นมา

 

แต่ถ้าเราวางให้หมด เราวางให้หมดใช่ไหม เราต้องให้กายใจของเรากลับมาเป็นปกติ พอกายใจเราเป็นปกติ กาย กล้ามเนื้อแขน แผ่นหลัง กล้ามเนื้อสิ่งใดก็แล้วแต่ มันเป็นกาย อาการของกาย ถ้ากายเป็นปกติแล้วมันก็เป็นปกติ มันก็ไม่มีอาการตึง ไม่มีอาการต่างๆ แต่จิตของใจของเรามันมีความรับรู้อยู่ มันอยากรู้อยากเห็น มันสงสัยไง มันเคยตึงที่แขน ทั้งๆ ที่กายกับใจเราเป็นปกติ แต่เวลาจะทำอะไรปั๊บ จิตนิ่งๆ นิ่งๆ คือมันไม่คิดอะไรไง ถ้ามันคิดเรื่องอื่นอยู่ ถ้ามันทำงานอยู่ มันก็มาคิดเรื่องแผ่นหลังแล้ว มันก็ไม่ต้องคิดเรื่องกล้ามเนื้อ แต่ถ้ามันนิ่งๆ มันก็จะกลับมาคิดเรื่องกล้ามเนื้อ พอกล้ามเนื้อ ก็เลยปวดขึ้นมา เห็นไหม จิตเราไปเกาะไปเกี่ยวมันเองไง

 

เห็นไหม บอกว่า “กายกับจิตกลับมาเป็นปกติแล้วค่ะ”

 

ถ้าเป็นปกติมันไม่เกิดนิมิตหรอก มันไม่เกิดอาการตึง อาการปวดนี้หรอก อาการตึงมันไม่ปกติ มันไปรับรู้ มันจะปกติได้อย่างไรล่ะ

 

แต่ถ้ามันเป็นปกติ มันก็ทรงตัวมันโดยเอกเทศ จิตที่เป็นปกติเขาอยู่ของเขาโดยเอกเทศ โดยมีสติ มีคำบริกรรม มีปัญญาอบรมสมาธิ นี่เป็นปกติ จิตเป็นปกติ ถ้าจิตเป็นปกติ มันก็ทรงตัวด้วยความสงบ ด้วยสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี กายก็เป็นปกติ ใจก็เป็นปกติ มันก็เป็นเรื่องปกติ

 

ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันเป็นศีลนะ ศีลเป็นความปกติของใจ ถ้าใจปกติ แต่ถ้าใจมันทุศีล ศีลมันเป็นศีลขาด ศีลด่างพร้อย ศีลทะลุ แต่มันไม่ได้ขาด ศีลไม่ได้ขาด แต่มันด่างมันพร้อย มันด่างมันพร้อยมันก็ไปคิด ไปฝังใจ

 

แต่ถ้าเราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้ใจเป็นศีล ใจเป็นศีลคือใจเป็นปกติ ถ้าใจเป็นปกติ มันก็ไม่ไปเสวยอารมณ์ ไม่ไปรับรู้ ไม่รับรู้อาการตึงที่แขน ไม่รับรู้ มันวางหมดไง แขนมันตึงก็ได้ ไม่ตึงก็ได้ เวลาเรานั่งอยู่ มดกัด ผึ้งต่อย บวมเป่งเลย มันตึงเลยน่ะ ไอ้นั่นมันเป็นเพราะพิษของแมลง แต่ไอ้นี่มันไม่มีอะไร มันไม่มีอะไรแล้วทำไมมันไปตึงล่ะ

 

ไปตึงเพราะจิตมันไปฝังใจ ถ้าจิตฝังใจ เรามาพุทโธ เรามาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อยู่กับพุทโธ อยู่กับสมาธิให้จิตเป็นปกติ จิตเป็นศีล พอจิตเป็นศีล เรื่องนี้มันจะเบาลงๆ แล้วมันจะผ่อนคลายไป มันจะเบาไปไง พอมันเบาไปมันก็กลับมาเป็นปกติตามความเป็นจริง ถ้าเป็นความเป็นจริงมันก็กลับมาเป็นปกติ ถ้ากลับเป็นปกตินะ ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นนะ มันเป็นไปแล้ว เรากลับมาที่เราดีกว่า ธรรมโอสถ

 

ถ้าเราผิดปกติ ร่างกายเรามันเป็นปกติ มันเป็นไข้เป็นอะไร เราต้องหาหมอ หาหมอให้หมอให้ยามา ให้ยาเพื่ออะไร เพื่อความเป็นปกติของกาย แล้วถ้าใจของเรา เรากินยาของเราให้เป็นปกติของเรา พอเป็นปกติแล้ว

 

พอมันเป็นปกติ “มันนิ่งๆ แล้วทำสมาธิไม่ได้ เวลาอยู่นิ่งๆ มันยิ่งเป็น” ถ้าอยู่นิ่งๆ ยิ่งเป็น ทำไมถึงเป็นล่ะ ถ้าทำไมมันถึงเป็น เพราะใจเราไม่ปกติ ถ้าใจเราเป็นปกติมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้

 

เราจะตั้งสติของเราไว้ แล้วพอตั้งสติของเราไว้ เด็กน้อย เวลาเรามีเด็กน้อย มีลูกของเรา ถ้าเราไม่มีเวลาดูแลเขา เราต้องจ้างพี่เลี้ยงดูแลเขา เราต้องจ้างพี่เลี้ยง จ้างคนดูแลลูกเรา เพราะเราต้องมีหน้าที่การงานรัดตัว เราต้องมีคนดูแล พอโตขึ้นมา เราจะดูแลเองก็ได้ หรือเราดูแลเอง เรารักษาของเราเอง

 

ใจของเรา เราฝึกหัดใหม่ ถ้ามันผิดปกติ มันดูแลตัวเองไม่ได้ พอดูแลตัวเองไม่ได้ เราจะให้ใครดูแล เราอาศัยยา อาศัยหมอเป็นผู้ดูแล ถ้าเราดูแลไม่ได้ แต่เพราะหมอ พี่เลี้ยงดูแลร่างกายจิตใจเราเป็นปกติ ถ้าเป็นปกติแล้ว หมอเป็นคนข้างนอก พี่เลี้ยงเป็นคนข้างนอก ฉะนั้น พอเป็นคนข้างนอก พอเราทรงตัวได้ พอโตขึ้นมา เราจะรักษาเราเอง

 

ใจของเรา ใครจะดูแลให้เรา ใจของเรา เราต้องดูแลของเราเอง ถ้าเราไม่เป็นปกติ เรามีอาการต่างๆ เราก็ไปหาหมอ ถ้าหาหมอด้วยยา ด้วยกายภาพบำบัด ด้วยความที่หมอให้ฟื้นฟูร่างกายมา เราทำงานเป็นปกติ พอเป็นปกติแล้ว สิ่งที่มันจะเป็นความจริงมันเป็นความจริงในใจของเรา เวลาทุกข์ เราเป็นคนทุกข์เอง หมอไม่ทุกข์กับเราหรอก ไปหาหมอ หมอได้สตางค์แล้วก็จบ พอไปหาหมอ พอวางบิลแล้ว แล้วเราก็ต้องกลับบ้านแล้ว เราก็ต้องมาดูแลตัวเราเองแล้ว แต่ถ้าเราช่วยตัวเองไม่ได้ เราก็ไปหาเขา

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพุทโธๆ ก็เหมือนกัน พุทโธ คำบริกรรม พุทธานุสติเป็นพี่เลี้ยงดูแลใจของเรา แต่ถ้ามันพุทโธๆ จนจิตสงบ พุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตตั้งมั่นได้ เป็นปกติ ถ้าเป็นปกติแล้วอาการอย่างที่เกิดขึ้นมันจะไม่มี ยิ่งนิ่งๆ ยิ่งนิ่งมันยิ่งมีความสุขนะ นิ่งๆ ถ้าพุทโธได้ พุทโธไปเรื่อยๆ

 

เขาบอกว่า แต่ถ้านิ่งๆ พอยิ่งนิ่งมันยิ่งคิด พอนั่งสมาธิมันยิ่งเจ็บยิ่งปวด ยิ่งนั่งสมาธิไม่ได้เลย

 

เราต้องค่อยๆ แก้ไขไป นี่ไง ย้อนกลับมาเรื่องทำบุญ คนที่ทำบุญมาก คนที่ได้สร้างมา ในพระไตรปิฎกบอกว่า พระที่มีคนนับหน้าถือตา ที่มีลาภสักการะมากที่สุดคือพระสีวลี แล้วเวลาประวัติพระสีวลี ในอดีตชาติท่านทำมามหาศาลเลย ใครทำสิ่งใดมามันได้สิ่งนั้นน่ะ

 

ฉะนั้น ถ้าจิตใจของเรามันผิดปกติมาสิ่งใด เราทำของเรามาทั้งนั้นน่ะ เราไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจว่าคนโน้นดีกว่าเรา คนนี้ดีกว่าเรา

 

ดีกว่าเราก็เขาดี เขาทำมาดี เขาก็ได้ดี คนนั้นเลวกว่าเราๆ เขาทำมาเลวกว่าเรา เขาก็ได้เลวกว่าเรา แต่เราทำมาครึ่งๆ กลางๆ มันก็เลยเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ อยู่นี่ ครึ่งๆ กลางๆ ก็ครึ่งๆ กลางๆ ของเรา ถ้าครึ่งๆ กลางๆ ของเรา เราก็ต้องฝืนทน เราก็ต้องทำความดีของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ให้ใจมันเป็นปกติ ถ้าใจเป็นปกติแล้วมันก็จะดีขึ้นนะ ถ้าดีขึ้น มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

 

นี่พูดถึงว่า แก้นิมิตไง นิมิตจะแก้อย่างไร

 

นิมิตจะแก้ก็วางนะ ถ้านิมิตมันจะเกิดขึ้น ถ้านิมิตเกิดขึ้น นิมิตจะไม่เกิดเลย บางคนที่เขาไม่เกิดเขาก็ไม่มีเลย แต่ถ้านิมิตของเรามีนะ เรามีสิ่งใดเรากลับมาที่พุทโธ เพราะนิมิต ภาพสิ่งใด นิมิตคือสัญลักษณ์ แล้วเราไปรู้ไปเห็นเข้า มันก็เป็นนิมิตขึ้นมา

 

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราวางได้ เราวางได้ เราวางขึ้นมาให้จิตสงบมากขึ้น แล้วใช้ปัญญาของเราไป แต่ถ้านิมิตเห็นกายขึ้นมา ถ้าเห็นกายขึ้นมามันเห็นจริง เห็นจริงขึ้นมา เราแยกแยะของเราเพื่อประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา อันนี้เป็นประโยชน์กับเรา

 

คนจะมีก็ต้องมี คนไม่มีจะให้มี มันไม่มี คนไม่เคยมี แต่เห็นเขามี ก็สงสัยว่านั่นเป็นอย่างใด ไอ้คนที่มี ทำไมเรามีจนวุ่นวายไปหมดเลย นี่มันเป็นจริตนิสัย มันเป็นการสร้างสมมา มันเป็นเวรเป็นกรรมของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นมีเวรมีกรรมมาอย่างใด มันมีของมันอย่างนั้น

 

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วแน่นอน ใครสร้างสิ่งใดมา พันธุกรรมของจิตมันเป็นแบบนั้น แต่อริยสัจสัจจะความจริงเป็นเครื่องกรอง ก้าวออกมาจากอริยสัจ จิตนี้มันก้าวออกจากอริยสัจ ทำของเราขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา แก้ไขไปให้มันเป็นปกติ ให้ใจมันเป็นศีล

 

ถาม : เรื่อง “สงสัย”

 

กระผมมีความสงสัยด้านวินัย มีพระท่านบอกว่า ถ้าพระอาจารย์เตือนเราเกิน ๓ หนจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ข้อภิกษุว่ายากสอนยากโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องให้สงฆ์สวดครบ ๓ หน ขอโอกาสหลวงพ่ออธิบายด้วยครับผม

 

ตอบ : อันนี้มันเป็นปัญหาของสังคมพุทธเนาะ สังคมพุทธ เวลาพ่อแม่ พ่อแม่มีลูกชายก็อยากให้ลูกชายได้บวช ถ้าลูกชายได้บวชแล้วพ่อแม่ได้พึ่งชายจีวร พ่อแม่ได้พึ่งร่มกาสาวพัสตร์ เพราะลูกชายเราบวชให้ ลูกชายเราไปบวชในศาสนาพุทธ ไปค้ำจุนศาสนา เพราะตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานมา มีพระสงฆ์บวชสืบต่อเนื่องมา เพราะเวลาจะบวชพระ อย่างน้อยชนบทประเทศต้องมีพระ ๕ องค์ขึ้น หรือ ๑๐ องค์ขึ้นไปถึงจะบวชพระได้ นี่การบวชพระ การบวชพระคือการสืบต่อพระพุทธศาสนา

 

ทีนี้การบวชพระคือการสืบต่อพระพุทธศาสนา สังคมชาวพุทธถ้าใครมีลูกชายก็อยากให้ลูกชายบวช เพราะพ่อแม่อยากได้บุญกับลูกชายนั้นด้วย ลูกชายไปบวช ลูกชายไปบวชแล้วพ่อแม่ก็ได้บุญด้วย ได้แทนคุณพ่อแม่ แต่เวลาบวชไปแล้ว เวลาศึกษาปฏิบัติธรรมขึ้นมา ถ้าได้รสของธรรมจะเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส

 

เวลาเป็นศากยบุตร เราบวชมานี่เป็นสมมุติสงฆ์ เวลาบวชมาแล้วประพฤติปฏิบัติเข้าไปตามความเป็นจริงจะได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี พระอรหันต์ จนสิ้นกิเลสไป แล้วเป็นศาสนทายาท ได้สืบต่อพระพุทธศาสนา สั่งสอนเป็นเนื้อนาบุญของสังคม เป็นประโยชน์กับชาวพุทธ

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ “มารเอย เมื่อใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน”

 

จนถึงวันมาฆบูชา เห็นไหม “มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา...” ของเรา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “...ของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

 

นี่มันเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธไง ฉะนั้น เวลาเราบวชเข้ามา ถ้าบวชเป็นตามประเพณีขึ้นมา บวชขึ้นมาแล้วเรายังจับต้นชนปลายไม่ได้ เราบวชไปแล้วเราก็ยังสงสัยไง

 

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ เวลาพูดสิ่งใดมา ครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างไรไม่รู้ แต่เราฟังมา เราฟังมา เราเข้าใจอย่างนี้ ก็เลยเป็นคำถามมา คำถามว่า “มีพระท่านบอกว่าถ้าพระอาจารย์เตือนเรา ๓ หน จะเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ข้อภิกษุว่ายากสอนยาก”

 

ไม่มี ไม่มีหรอก ในวินัยไม่ได้บอกไว้ว่าอย่างนี้ ในสังฆาทิเสสมันมีแต่ว่า ภิกษุหัวดื้อ มีความเห็นผิด กล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่พุทธพจน์คือเข้าใจพระพุทธศาสนาผิด แล้วเอาไปสั่งสอน แล้วยืนยันคำสอนของตัว ยืนยันไง คือยืนยันความเห็นในพระพุทธศาสนาผิดเพี้ยนไป แล้วมีพระตักเตือน ตักเตือนถึง ๓ หน ถ้าตักเตือนถึง ๓ หน เขายังไม่เชื่อฟัง แล้วพระต้องตั้งญัตติสวด สวดญัตติว่าได้เตือนพระองค์นี้ถึง ๓ ครั้งแล้วว่าพระองค์นี้มีความเห็นผิด กล่าวตู่คือไปเพิ่มเนื้อความในพระพุทธศาสนา หรือไปตัดทอนคำพูดของพระพุทธเจ้าในศาสนา ให้เขากลับความเห็นของเขาซะ ถ้าเขาไม่กลับความเห็นของเขา สิ้นสุดของการสวดญัตตินั้น พระองค์นั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสส

 

พระที่ว่าพระหัวดื้อ แต่เขาหัวดื้อเรื่องอะไรล่ะ หัวดื้อเรื่องอะไร แต่นี้ว่าภิกษุว่ายากสอนยาก

 

ภิกษุว่ายากสอนยาก ในพระไตรปิฎกบอกว่า ภิกษุบวชเมื่อเฒ่าเป็นผู้ที่ว่ากล่าวง่ายไม่มี ภิกษุบวชเมื่อเฒ่า คนที่มีอายุมาก คนผู้เฒ่าบวชแล้วว่ายากสอนยากเพราะว่าเขาถือทิฏฐิมานะของเขา

 

ภิกษุบวชใหม่ โทษของภิกษุบวชใหม่คือบวชใหม่ เราเป็นฆราวาสใช่ไหม ยิ่งในปัจจุบันนี้เรามีการศึกษามาใช่ไหม เรามีปัญญามาก เราว่าเรามีความรู้มาก แล้วพระนี่ไม่เคยไปไหนเลย อยู่แต่ในวัดจะรู้ได้อย่างไร นี่ทิฏฐิมันมี โดยธรรมชาติเลย โทษของภิกษุบวชใหม่คือภิกษุบวชใหม่ทนคำสอนไม่ได้ อยู่ในนวโกวาท นักธรรมตรี ใครบวชมาแล้วต้องเรียน

 

ภิกษุบวชใหม่ โทษของภิกษุบวชใหม่คือทนคำสอนไม่ได้ พอทนคำสอน พอคำสอน นู่นเรื่องอะไร นี่เรื่องอะไร โอ๋ย! ภิกษุยืนดื่มน้ำก็ไม่ได้ ภิกษุจะฉันต้องนั่ง ภิกษุฉันอาหาร ถ้าไม่รับประเคน อู๋ย! มันยุ่งยาก มันวุ่นวายมาก จนพระในสมัยพุทธกาลบอกว่าสึก สึก ไปลาพระพุทธเจ้าสึกเลย

 

พระพุทธเจ้าถาม “ทำไมล่ะ”

 

“โอ้โฮ! มันยุ่งไปหมดเลย ทำอะไรก็ไม่ได้ เป็นอาบัติๆๆ”

 

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถือวินัยข้อเดียวได้ไหม”

 

“ได้ ถ้าถือวินัยข้อเดียวนะ ถ้าถือวินัยข้อเดียว ได้ อย่างนั้นบวชต่อ ไม่สึก” แล้วถามว่า “วินัยข้อเดียวคืออะไรล่ะ”

 

“รักษาใจ”

 

เจตนาการทำความชั่ว ถ้าเราไม่มีเจตนาทำความชั่ว แล้วเราศึกษา เราพยายามไม่ทำความชั่ว ถ้าเราไม่ทำความชั่ว สิ่งที่ข้อห้าม วินัยคือข้อห้าม ถ้าเราไม่ทำความผิดพ้นจากข้อห้ามนั้น มันจะเป็นอาบัติไหมล่ะ มันไม่เป็นอาบัติหรอก

 

ทีนี้มันไม่เป็นอาบัติแล้ว เวลาเราบวชมาแล้วเราก็ต้องศึกษา คำว่า “ศึกษา” ภิกษุห้ามทำอะไรบ้างล่ะ น้ำมีตัวสัตว์ก็ห้ามใช้ ภิกษุห้ามพรากของเขียว

 

ของเขียว ดูฆราวาสเขาไปไหน สิ่งที่สกปรกนะ เขาแก้ ภิกษุพรากใบไม้หลุดจากขั้ว เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุพูดความเท็จ ภิกษุพูดเรื่องไม่จริง ภิกษุฟังมา ฟังมาแล้วไม่รู้ ไปพูดต่อ เป็นอาบัติทั้งนั้นน่ะ แล้วเป็นอาบัติ ทีนี้พอเรารู้แล้วเราก็ไม่ต้องทำสิ เราไม่ทำ เราก็อยู่ของเรา เราอยู่ของเรา เราศึกษาของเรา มันจะมีความผิดอะไร มันไม่มีความผิดอะไรหรอก มันไม่มีความผิดอะไร

 

ฉะนั้น สิ่งที่พูดมา มันอยู่ที่ฟังมาไง การฟังมา ถ้าฟังมาอย่างนี้นะ แล้วถ้าพูดไปอย่างนี้นะ พระในประเทศไทยไม่มีเหลือเลยล่ะ เพราะอะไร ถ้าให้อาจารย์บอกถึง ๓ หนนะ มันเป็นร้อยหนเป็นพันหน หลวงปู่มั่นจิ้มเอาๆ ไม่รู้กี่รอบ ไล่ออกจากวัดด้วย ถ้าบอกว่า อาจารย์ว่าถึง ๓ หนเป็นสังฆาทิเสสนะ โอ๋ย! พระประเทศไทยไม่เหลือ เกลี้ยงเลย

 

เพราะเวลาปฏิบัตินะ คนไม่ปฏิบัติจะไม่เข้าใจ เวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้วจิตใจมันเกิดทิฏฐิ หลวงปู่ดูลย์บอกว่า เวลาเราเห็นอะไรเห็นจริงไหม เห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง

 

ทีนี้ความเห็นจริง เราเห็นของเรา นิมิต เราสงบ เราเห็นจริง เราเห็นจริงนะ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ถ้าความเห็นไม่จริง คนมาบอกว่าความเห็นเราไม่จริง เราเชื่อไหม คนยังไม่เคยเห็นก็ไม่รู้หรอกว่าความเห็นนั้นเป็นอย่างไร เราไปเห็นมา ตาเราเห็นชัดๆ เลย แล้วอาจารย์บอกว่าไม่ใช่ เชื่อไหม ไม่เชื่อหรอก

 

ถ้าไม่เชื่อขึ้นมาแล้ว อุบายของอาจารย์จะชี้นำอย่างไรให้ลูกศิษย์เห็นว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นความผิด ถ้าเป็นความผิดก็ต้องมีอุบาย ต้องมีอุบายนะ ต้องมีอุบายเทียบเคียง ต้องมีอุบายเสนอเหตุการณ์เพื่อให้พระนั้นได้พิจารณาว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด ถ้าสิ่งนั้นถูกหรือผิด นี้คือวิธีการแก้ไง ถ้าวิธีการแก้

 

แล้วบอกว่า เตือนเกิน ๓ หน...อู๋ย! เขาเตือนกันเป็นพันๆ หน เขาเตือนกันจนกว่ามันจะแก้ใจมันได้ เตือนจนกว่ามันจะพลิกมา ถ้าไม่พลิกมา ยังเตือนอยู่ๆ ฉะนั้นบอกว่า ถ้าเตือนเกิน ๓ หน...อืม! ความเห็นนี้มันแปลกเนาะ

 

ฉะนั้น ภิกษุว่ายากสอนยาก อันนี้ก็เห็นด้วยนะ ถ้ามันว่ายากสอนยาก เป็นคนหัวดื้อ เป็นคนอะไร ถ้าเป็นคนหัวดื้อ คนเชื่อง่ายมันก็เป็นคนหลงง่าย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการนะ อนุปุพพิกถา เทศน์เรื่องทาน ให้คนทำทาน ทำทานเสร็จแล้วได้ไปสวรรค์ พอสวรรค์แล้วให้เนกขัมมะ ให้เนกขัมมะให้ถือพรหมจรรย์ พอพรหมจรรย์ จิตพร้อมแล้วถึงเทศน์อริยสัจ เห็นไหม เขาต้องวางพื้นฐานไง

 

แล้วของเรา เดี๋ยวนี้นะ พระพุทธศาสนา นี่ยังดีนะ เพราะเดี๋ยวนี้กลับมาเรียนกันใหม่ เมื่อก่อนเรียนพระพุทธศาสนา บอกว่าไม่จำเป็น ต้องเรียนวิชาการเพื่อให้เด็กฉลาด พอเด็กฉลาดไปแล้วเด็กมันไม่มีศีลธรรม เด็กมันก้าวร้าว ตอนนี้ก็มาฟื้นฟูเรียนพระพุทธศาสนาใหม่ ถ้าเรียนพระพุทธศาสนาใหม่ เห็นไหม ศึกษามานี่ ชาวพุทธ แล้วเรียนมามันก็ยังรู้ว่า เรื่องอริยสัจท่องได้ ศีล ๕ ท่องได้ แต่พอบวชพระขึ้นมา มันก็เกิดว่าความเห็นของเราเป็นอย่างหนึ่ง

 

แล้วเวลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เพราะเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ท่านบอกว่าสังฆะ สงฆ์ สงฆ์คือพระทั้งกลุ่มเหมือนร่างกายเดียวกัน เหมือนร่างกายเดียวกัน ร่างกายร่างกายหนึ่งจะเดินไปพร้อมกัน สงฆ์ในวัดเขาจะอยู่ด้วยกัน แล้วถ้าใครไปกีดขวาง มันก็เหมือนถ้าร่างกายเรา อย่างเช่นเท้ามันไปเหยียบหนาม การเดินเราผิดปกติแล้ว แล้วถ้าร่างกายของเราถ้ามีสิ่งใดที่มันพิกลพิการ เราจะเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว

 

สงฆ์ทั้งวัด การปฏิบัติ เห็นไหม เช้าขึ้นมาออกบิณฑบาตพร้อมกัน มาทำข้อวัตรพร้อมกัน ทำสิ่งใดพร้อมกัน แล้วเวลาทำเสร็จแล้วกลับไปภาวนา ก็ต่างคนต่างภาวนาด้วยความสงบด้วยความสงัด มันเห็นน้ำใจต่อกัน ทุกคนต้องการวิเวก แล้วมีบุคคลคนหนึ่งมากีดมาขวาง สิ่งนั้นมันจะสะเทือนไปหมดเลย ถ้ามันสะเทือนไปหมด

 

สังฆะ สงฆ์เหมือนร่างกายเดียวกัน ถ้าร่างกายเดียวกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านปกครองดูแลอยู่ ท่านจะให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ถ้าขับเคลื่อนไปด้วยกัน มีพวกหัวดื้อเข้ามา แล้วไปทำกีดขวาง ไปทำให้ร่างกายนั้นพิกลพิการ ครูบาอาจารย์ท่านจะต้องจัดการให้กลับมาราบเรียบเหมือนเดิม ถ้ากลับมาราบเรียบเหมือนเดิม นี่ไง ภิกษุว่ายากสอนยากไง ว่ายากสอนยากมันก็ต้องลงปฏักไง ถ้าลงปฏักไปแล้ว

 

ฉะนั้น เพียงแต่ว่าอันนี้จะเป็นอุบายหรือเปล่าไม่รู้เนาะ อาจจะเป็นอุบายขู่ว่าถ้าบอกถึง ๓ หนไม่เชื่อจะเป็นสังฆาทิเสส

 

ไอ้คนได้ยินมาฟังไม่ได้ศัพท์ไง ก็จับเอามาถามเราไง พอจับมาถามเรา เขาใช้ขึ้นต้นว่า “สงสัย” สงสัยก็ยังดี อย่าเพิ่งเชื่อไปก่อนนะ ถ้าเชื่อไปก่อน เหมือนคนบวชใหม่ พอบวชเข้ามาใหม่ ๗ วัน ๑๕ วัน ไปเจอพระทำอย่างใดแล้วก็เชื่อสิ่งนั้นฝังใจไปทั้งชีวิตเลย ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าเลยว่าสิ่งนั้นจริงหรือเปล่า เพราะเวลาครูบาอาจารย์ถ้าท่านสอน ท่านมีอุบายไง พูดทีเล่นทีจริงก็ได้ พูดจริงๆ ก็ได้

 

พูดทีเล่นทีจริงเพราะอะไร เพราะว่าเรามันดื้อ เราไม่ศึกษา แล้วเรากีดขวาง เราไม่ค้นคว้าว่าเหตุผลมันเป็นอย่างใด เขาก็ใช้อุบายพูดให้เราเห็นโทษไง ถ้าพูดให้เห็นโทษ มันจะเป็นสังฆาทิเสสหรือเปล่าล่ะ

 

ถ้าเป็นสังฆาทิเสส มันมีแต่ภิกษุกล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่คือตัดตอน ตัดทอน หรือเพิ่มเติมธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุเตือนถึง ๓ ครั้ง ถ้าเตือน ๓ ครั้งแล้วเขายังไม่แก้ไข เขายังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขา ภิกษุให้ประชุมสงฆ์ แล้วสวดญัตติตั้งขึ้นว่าภิกษุนี้ได้เตือนแล้ว ได้บอกแล้ว ถ้าความเห็นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง สิ้นคำสวดนั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสส

 

อาบัติสังฆาทิเสสคือห้ามเข้าร่วมอยู่กับหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์กีดกันพระองค์นี้ให้อยู่ร่วมนอกสังฆกรรมนั้น ถ้าอยู่ร่วมนอกสังฆกรรมนั้น ห้ามทำสามีจิกรรม ถ้าเขาจะกลับเข้ามาทำสามีจิกรรมในหมู่สงฆ์นั้น เขาต้องอยู่กรรม จนอยู่กรรมเสร็จแล้วต้องอยู่มานัต อยู่มานัตแล้วต้องมาขออัพภาน ขออัพภานคือยกสงฆ์นั้นกลับเข้ามาสู่สงฆ์อย่างเดิม

 

ภิกษุไม่ใช่ปกตัตตะภิกษุ คือภิกษุไม่ปกติ ถ้ามีความเห็นถูกต้องแล้ว เป็นภิกษุปกติแล้ว ยกสงฆ์ที่ไม่ปกตินั้นกลับเข้ามาสู่ความเป็นปกติของสงฆ์ ถ้าสู่ความเป็นปกติของสงฆ์ จะทำสามีจิกรรม คือร่วมสังฆกรรม ร่วมอุโบสถได้

 

ถ้าเป็นสังฆาทิเสส ห้ามร่วมสังฆกรรมกับสงฆ์ ถ้าเข้ามาอยู่ในหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์นั้นทำสังฆกรรมแล้วเป็นโมฆียะ เป็นโมฆะ ทำสิ่งใดแล้วไม่เป็นอันว่าทำ ถ้าเป็นสังฆาทิเสสนะ ฉะนั้น สังฆาทิเสสเป็นอาบัติหนัก

 

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า อาจารย์สอนถึง ๓ หนแล้วไม่เชื่อ เป็นสังฆาทิเสส แค่ไม่เชื่อนะ มุสาเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเป็นปาจิตตีย์ เป็นทุกกฏ เป็นปาจิตตีย์ สิ่งต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

 

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ส่วนใหญ่แล้วเนื่องจากวัตถุ ต้องมีวัตถุ ต้องสละวัตถุนั้น แต่ถ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นสิ่งที่เราทำผิด ทำผิดทำพลาดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าทำอย่างนี้มันก็เป็นอาบัติ

 

ฉะนั้น สงสัยก็ตอบแค่สงสัยเนาะ เพราะว่า หนึ่ง อาจารย์ที่ไม่รู้สอนให้ผิดพลาดก็มี พระที่ศึกษาไม่เข้าใจคำที่อาจารย์สอน มีความเข้าใจผิดก็มี ถ้ามีความเข้าใจผิด นี่ไง ในสังคมของสงฆ์ สังคมของชาวพุทธเขาถึงบอกว่าเราต้องศึกษาไง โลกจะเจริญได้ด้วยปัญญา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็ต้องมีปัญญา

 

ถ้ามีปัญญา ปัญญาของโลกเขาเรียกโลกียปัญญา แต่โลกียปัญญา โลกียปัญญาศึกษามา ศึกษาทางปริยัตินี่โลกียปัญญา ถ้าศึกษาแล้วถ้าจะปฏิบัติ มันจะเกิดภาวนามยปัญญา ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา เพราะพื้นฐานของศีล พื้นฐานของสมาธิมันจะเกิดปัญญา

 

ถ้าจิตมันสงบระงับ เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจวิธีการทั้งหมด แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติให้มันเกิดความสงบของใจเข้ามา มันก็เป็นสัมมาสมาธิ แล้วพอมันเกิดปัญญาเข้ามา ปัญญาแบบที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด เพราะเวลามันจะชำระล้างกิเลสมันต้องเป็นปัญญาของจิตดวงนั้น

 

จิตดวงนั้น เกิดจากฐีติจิตดวงนั้น ออกไปเป็นจิตดวงนั้น ทวนกระแสกลับเข้าไปทำลายอวิชชา กิเลสในจิตดวงนั้น ทำให้จิตดวงนั้นสะอาดบริสุทธิ์เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จนถึงที่สุดมันพ้นจากกิเลสไปทั้งหมด เห็นไหม นั่นน่ะ สัจจะความจริงอันนั้นมันถึงเป็นอันเดียวกัน มันถึงเข้ากันได้ไง ถ้าเข้ากันได้

 

ฉะนั้น เวลาเราศึกษามา ศึกษาด้วยปัญญาๆ ศึกษาแล้วอย่าเพิ่งติด คำว่า “ติด” เพราะในกาลามสูตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เอง อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้มันเป็นจริงของเราขึ้นมาก่อน อย่าเพิ่งเชื่อ กาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อ

 

ถ้าอย่าเพิ่งเชื่อ มันอยู่ที่วุฒิภาวะ ถ้าวุฒิภาวะคนอ่อนๆ นะ แม้แต่สมาธิยังทำไม่ได้เลย แค่เวิ้งว้าง เวิ้งว้างด้วยความเหม่อลอย เขาว่านี่นิพพานแล้ว คือคนมันทุกข์ คนมันทุกข์มาก ถ้าพอมันวางความทุกข์ได้ มันบอกว่านี่นิพพานๆ...ยังอีกไกล ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ยังไม่ได้ทำอะไรเลย

 

แต่พอถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา มันสงบด้วย รู้ตัวด้วย เห็นสงบด้วย เห็นเสื่อมด้วย เดี๋ยวจิตเป็นสมาธิ เดี๋ยวเสื่อมจากสมาธิ เวลาเข้าไปสมาธิดีมากเลย เวลาเสื่อมทุกข์ร้อนมาก เผาลนใจมาก คนมีแล้วกลับไปทุกข์ แล้วพยายามรักษาให้มั่นคง ให้เอกัคคตารมณ์ตั้งมั่นได้ พอตั้งมั่นได้ พอเริ่มใช้ปัญญาไป ใช้ปัญญาไป พอมันตทังคปหาน มันเห็นมันปล่อยวาง อู๋ย! ก็ตื่นเต้นอีก อู๋ย! ปล่อยวาง นี่เป็นพระอรหันต์ ปล่อยวางเป็นพระอรหันต์ พอมันเสื่อมไป หมดอีกแล้ว ถ้ามีอำนาจวาสนามันก็จะทำขึ้นมาให้ถึงจุดนี้ได้

 

แล้วพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตทังคปหานมันปล่อยวางขนาดไหน อย่าประมาท อย่าเลินเล่อ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาด มันจะเห็นไงว่าตทังคปหานเวลามันขาด ขาดชั่วคราวเป็นอย่างไร เวลามันสมุจเฉทปหาน เวลามันขาด ขาดจริงเป็นอย่างไร เวลามันขาดจริง สังโยชน์ขาดไป สิ่งที่เป็นกิเลสขาดไป มันขาดอย่างใด พอมันขาดไปแล้วมันเป็นอกุปปธรรม อฐานะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

ดูสิ สิ่งที่เป็นของนุ่มนวล ของที่ไม่คงทน แป๊บเดียวมันก็เสื่อมสภาพแล้ว อย่างฟองสบู่ ฟองอากาศ โป๊ะ! แตกแล้ว เพชรนิลจินดากว่ามันจะเปลี่ยนสภาพมันนานมากนะ เพราะมันคงทน

 

นี่ก็เหมือนกัน กุปปธรรม อกุปปธรรม สิ่งที่มันเป็นเหมือนฟองอากาศ ปั๊บๆๆ มันเป็นอย่างไร แล้วสิ่งที่คงที่ อกุปปธรรม ธรรมะจริงๆ ธรรมะคงที่มันเป็นอย่างใด โอ๋ย! มันชัดมันเจนขึ้นไป ถ้าทำอย่างนี้ขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้นน่ะ มันทำเป็นชั้นเป็นตอนๆ มันจะเห็นจริงไง

 

ฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกาลามสูตร เพราะเราเห็นปัญหานี้แล้วมันคิดนะ มันคิดว่า สังคมสงฆ์อ่อนแอ หรือสังคมผู้เข้ามาปฏิบัติอ่อนแอ ถึงไม่เข้าใจเรื่องการปกครอง เรื่องการดูแลกัน ฉะนั้น เวลาถามมามันถึงบอก อืม! สังคมใครล่ะ

 

ฉะนั้น สังคมกรรมฐาน สังคมครูบาอาจารย์เรา ท่านพยายามทำจริงทำจังขึ้นมาเพื่อประโยชน์นะ ทำจริงทำจังเพื่อประโยชน์ ประโยชน์กับสงฆ์ด้วย ประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วย ถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นความจริงขึ้นมา

 

นี้เขาว่าสงสัย ก็เลยตอบคำสงสัย เอวัง