เทศน์บนศาลา

โลกียะสมาธิ โลกุตระสมาธิ

๒๙ พ.ย. ๒๕๔o

 

โลกียสมาธิ โลกุตตรสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ภาวนา สมบัติคนอื่นเป็นของคนอื่น เราได้ยินแต่สมบัติของคนอื่นนะ เราต้องหาสมบัติของเรา เกิดเป็นชาวพุทธพบพระพุทธศาสนา พบลายแทงขุมทรัพย์อันมหาศาล กว่าจะหาสมบัติอันนี้ได้ หาลายแทง คือธรรมะ เอามากางไง ของที่ลึกสุดลึก ของที่กว้างแสนกว้างที่ใครจับต้องก็ไม่ได้ เทวดา อินทร์ พรหมก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้ได้ แม้แต่ฤๅษีชีไพรอยู่ในป่าในเขา ประพฤติปฏิบัติกันมาจนชั่วชีวิต ปฏิญาณตนกันว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย พระพุทธเจ้าเข้าไปศึกษาหมดนะ ผู้ที่เป็นศาสดาตั้งสำนักสอนในครั้งพุทธกาล เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษามาหมดทุกสำนักนะ ขนาดอาจารย์ในสำนักต่างๆ บอกเลยว่า “อยู่กับเราเถอะ ความรู้มีเท่านี้ เอาไว้สอนลูกศิษย์ต่อไป” อาจารย์ยังยอมรับลูกศิษย์ว่ามีธรรมเสมออาจารย์

แต่ลูกศิษย์บอกว่าทุกข์มาก เจ้าชายสิทธัตถะยังมีความทุกข์อยู่ในหัวใจ ได้สมาบัติอยู่ มีความสงบ เห็นไหม ความสงบแค่ปล่อยวาง แต่ในหัวใจมันรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ หัวใจมันยังไม่หลุดพ้นไง จึงไม่ยอมอยู่กับเจ้าสำนักนั้น ยังออกไปแสวงหาต่อ หาจนขนาดว่าไปหาใครก็ไม่มีใครจะรู้ได้ สุดท้ายต้องมาทำด้วยตนเอง เป็นสยัมภู รู้ด้วยตนเอง

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เลิศ พระพุทธเจ้าสร้างบารมี สร้างอำนาจวาสนามาด้วย สละมาทั้งหมด สละครอบครัว สละทั้งลูก สละทั้งเมีย สละหมดเลย สละแล้วก็ยังไม่ได้ เห็นไหม สละในชาติหนึ่งมันเจ็บปวดมาก ชาติที่เป็นพระเวสสันดร สละลูกไป ๒ คนให้ชูชกตี คนเรามีกิเลส ตอนที่สละออกไปก็เป็นกษัตริย์ด้วย ทิฏฐิของกษัตริย์ ทิฏฐิของความยึดมั่นถือมั่น ทิฏฐิของความเหนือคน แล้วสละลูกออกไป ทั้งที่ใจเป็นบุญขนาดไหนมันก็เป็นทุกข์

พอมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วไปศึกษาเล่าเรียนในสำนักต่างๆ แล้ว เขาบอกว่าทำสมาบัติได้ คนทำสมาบัติได้ต้องจิตสงบ จิตสงบ กิเลสมันต้องยุบยอบลง คือกิเลสมันไม่เพ่นพ่านในหัวใจ มันก็ยังรู้ว่าตัวเองยังมีทุกข์อยู่ นี่ขนาดชาติที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ แต่ตอนชาติที่เป็นพระเวสสันดรไม่ได้ทำสมาบัติ กิเลสไม่สงบลง กิเลสมันยังเต็มตัวอยู่นั่นน่ะ แต่เป็นผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ เป็นผู้มีวาสนาไง เป็นชาติสุดท้ายที่ต้องสละลูกทั้งสอง สละนางมัทรีให้กับเทวดาที่มาขอ นี่ในธรรมบท สละทั้งลูก สละทั้งเมีย สละทั้งๆ ที่ตัวเองก็กิเลสเต็มตัวนะ แต่ด้วยอำนาจวาสนาที่ได้สะสมมาตลอด เป็นพระเจ้าสุวรรณสาม เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ขนาดที่ว่าหาบไว้เลยล่ะ นี่สละทั้งชีวิต ชีวิตตัวเองก็เคยสละมา กระโดดเข้ากองไฟ เป็นนกกลั้นใจตายให้เขากินเนื้อก็สละมา แต่มันสละแบบเอาตัวเองเข้าสละ ไม่เหมือนกับมาสละลูกและเมีย เพราะอะไร เพราะลูกและเมียมันมัดหัวใจ มันมัดกิเลส มันเจาะจงเข้าถึงกิเลสในความตระหนี่ถี่เหนียวในการยึดมั่นถือมั่น เห็นไหม

โลกทั้งโลกที่เขาฆ่ากันตายเพราะเหตุใด? ก็เพราะว่ามาแย่งกันนั่นล่ะ แย่งหญิงแย่งชายกัน เขาฆ่ากันตาย แล้วเพราะอะไร? มันสะเทือนหัวใจ มันยึดมั่นว่าเป็นของของมัน อันนี้ก็เหมือนกัน มันต้องสละอย่างนั้นมันถึงจะแทงถึงหัวใจกิเลส แล้วมันสละได้ยาก มันถึงเป็นความทุกข์สุดๆ ไง เป็นความทุกข์ของพระเวสสันดร สละออกมาเพื่อจะให้มันเกิดวาสนาบารมีขึ้นไปจนถึงตรัสรู้ธรรมได้ นี่ปรารถนาโพธิญาณไง

พอมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม ขนาดสร้างสมบารมีมาขนาดนั้นนะ ถึงได้เป็นสยัมภู จะเป็นสยัมภูเพราะตรงนี้ไง ตรงที่สละออกทั้งหมด นี่สละแต่เปลือก สละออกมาสร้างวาสนาบารมี สละแต่ห้างร้านไง เขาสร้างตึก เขาต้องทำห้างร้านขึ้นไป สละแต่เปลือกออกมาเพื่อจะให้ใจมันได้เสวยวิมุตติสุข ให้ใจนี้สร้างฐานมาตั้งแต่ชาติต่างๆ มาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกมาแล้วก็ยังแสวงหาผู้สั่งสอน ปกติของกิเลสต้องหวังพึ่งคนอื่นไง

ปกติของมนุษย์ปุถุชน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ว่าตัวเองจะเอาตัวเองรอดไม่ได้ ก็ยังต้องหวังพึ่งคนอื่น เห็นไหม แสวงหาครูหาอาจารย์ไปทั่ว แต่ครูอาจารย์นั้นไม่ถึงกับเป็นผู้ที่สิ้นกิเลส เขาก็สอนด้วยความรู้ของเขา นี่ศาสดาผู้มีกิเลส แล้วเจ้าชายสิทธัตถะสร้างสมบารมีมาขนาดนั้น มันไม่สมกันว่าจะมาสอนได้ไง เพราะว่าเกิดเป็นพระพุทธเจ้าสร้างอำนาจวาสนามาขนาดนั้นใครจะมาสอน เพราะมันไม่มีใครรู้ จะเอาอะไรมาสอน จึงต้องแสวงหาด้วยตนเอง เป็นสยัมภูสร้างมา นี่อำนาจของกรรมดี อำนาจของบุญวาสนาเป็นผู้สร้างมาแบบนั้น ต้องเป็นแบบนั้นไง ถึงจำเป็นต้องแสวงหาเอง

มันไม่มีใครรู้ ๓ โลกธาตุก็ไม่มีใครรู้เรื่องนิพพาน ตอนนั้นเจ้าชายสิทธัตถะเริ่มออกแสวงหาก็ยังไม่รู้ ก็แสวงหาคนอื่นก่อน แสวงหาเพื่อให้แน่ใจไง เพราะในเมื่อหวังพึ่งคนอื่นได้ก็หวังพึ่ง เราคิดถึงเราในปัจจุบัน ปัจจุบันเรามีความทุกข์ในหัวใจไหม ขนาดพระพุทธเจ้าวางธรรมะไว้ วางแนวทางประพฤติธรรมะตั้งแต่ขั้นหยาบขั้นละเอียดไว้ เราเองจะเข้ามาปฏิบัติเรายังลังเลสงสัย เรายังหวังพึ่งคนอื่นเลย แต่ขณะนั้นไม่มี ธรรมะแบบนี้ไม่มี ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน มรรคคือองค์ ๘ ไม่มี ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติจนหลุดพ้นแล้วไม่มี มันเลยไม่มีคนที่จะเป็นผู้สอนได้ไง แล้วจะไปหาใครสอนล่ะ

เพราะว่าท่านเองเป็นผู้ที่ปรารถนา แล้วท่านเองเป็นคนสร้างฐานมาเอง ท่านเองต่างหากจะต้องมาเป็นผู้ตรัสรู้เอง แต่ตอนที่ยังไม่ตรัสรู้ ธรรมดาของความคิด ธรรมดาของคนต้องหาทางออกทั้งนั้น หาทางออกจนมันมายันกันกับความคิดปัจจุบันนี้ว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร ฉะนั้น ศาสนาพุทธเราถึงยอดถึงเยี่ยม เป็นศาสนาของผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว

พระพุทธเจ้าออกแสวงหาโมกขธรรมจนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ปฏิญาณตนกับปัญจวัคคีย์ “เธอเคยได้ยินไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์ เธอเคยได้ยินไหม” เตือนปัญจวัคคีย์ที่ทำสัญญากันว่าจะไม่ต้อนรับ “เธอเคยได้ยินคำพูดคำนี้ไหม”

ผู้ที่เป็นอาชาไนย พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น ต้องรู้จริงถึงจะพูดจริง

ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นก็ไม่ยอมพูดว่ารู้ว่าเห็น จนตัวเองรู้เห็นตามความเป็นจริงก็พูดว่าตัวเองรู้เห็นตามความเป็นจริง ถึงได้พูดออกไปว่า “เคยได้ยินไหม คำพูดนี้เคยได้ยินไหม ให้เงี่ยโสตลงฟัง” ให้เงี่ยหูฟังท่านแสดงธัมมจักฯ ไง

ตรัสกับปัญจวัคคีย์ “เธอเคยได้ยินไหม เราเป็นพระอรหันต์ เราสิ้นแล้ว” นั่นล่ะถึงประกาศธรรมออกมา ประกาศธรรมแล้วเป็นธรรมจริงๆ เพราะมีเหตุมีผล จนเทวดาดีใจว่าธรรมจักรนี้ได้เคลื่อนแล้ว ธรรม-จักร ธรรมจักรไง ธรรมจักรไม่ใช่กงจักร

โลกมันเป็นกงจักร กงจักรมันเข้ามาเชือดคอตัวเอง รู้เท่าไรก็รู้ด้วยกิเลส เราจะปฏิบัติเอากิเลสหรือเราจะปฏิบัติให้พ้นจากกิเลส การประพฤติปฏิบัติก็ยึดว่าแนวทางไหนๆ

แนวทางไหนก็เป็นแนวทางหนึ่ง เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ผู้ที่ปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมาแล้วแต่จริตนิสัย อาจารย์แต่ละองค์สอนก็สอนในแนวทางที่ตัวเองถนัด ตัวเองถนัดหนึ่ง ตัวเองรู้หนึ่ง แล้วภูมิของตัวเองอีกหนึ่ง เห็นไหม ภูมิในหัวใจของผู้ที่รู้มันมีภูมิขนาดไหน

สมาธิธรรม ความสงบของใจ สมาธิจะเกิดขึ้นได้เพราะกิเลสมันยอมถอยก้าวหนึ่ง ถอยออกไปจากความคิดเดิม ไม่อย่างนั้นความคิดกับกิเลสเป็นอันเดียวกัน พอกิเลสยอมถอยก้าวหนึ่งให้จิตนี้เริ่มคลายออกจากความจองจำของกิเลส นั่นน่ะเป็นสมาธิ พอเกิดสมาธิธรรมมันจะเกิดความว่าง เกิดความสุขใจ เกิดความเวิ้งว้าง เกิดความลึกในหัวใจนะ มันจะลึกลงไปในใจ ใจที่สงบลงมันจะวืด วืดลงไป มันจะเวิ้งว้าง ความเวิ้งว้าง เห็นไหม ภูมิของใจ ภูมิของอาจารย์ว่าอันนี้เป็นธรรม หรือว่าอันนี้เป็นแค่บาทฐานของธรรม

สมาธินี้เป็นมรรค เป็นองค์หนึ่งในมรรค ๘

ปกติของมนุษย์ สมาธิมีอยู่ เป็นสมาธิของปุถุชน มีสติมีสมาธิถึงเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่ขาดสติ เป็นคนที่เต็มบาทเต็มเต็งไง แต่ถ้าสมาธิหรือจิตนี้ฟั่นเฝือไปนี่ขาดสติ ฉะนั้น สมาธิของมนุษย์ปุถุชนอย่างหนึ่ง ถึงว่าไม่ใช่มรรคไง

มรรคอริยสัจจัง ปุถุชน แล้วก็ลึกขึ้นเป็นอริยมรรค โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค มรรค ๘ มันต้องมีสมาธิไปด้วยตลอด โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค แล้วสมาธิของโสดาบัน มรรคของโสดาบันก็เป็นสมาธิของโสดาบัน มรรคของสกิทาคามีก็ต้องมีสมาธิของสกิทาคามี เพราะมรรคคือองค์ ๘ ต้องพร้อมสมาธิอันนั้นไปด้วย ถึงว่าเป็นบุรุษ ๘ จำพวก เห็นไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล สมาธิของมรรคทั้ง ๔ และผลทั้ง ๔ ถึงไม่ใช่สมาธิของปุถุชน

สมาธิปุถุชนนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ภูมิของใจปุถุชน ความรู้สมาธินี้มันก็ยึดสมาธินี้ แล้วเข้าใจว่าสมาธินี้เป็นผลไง ถึงว่าไม่ใช่อริยมรรค ไม่ใช่อริยสมาธิ อริยสมาธิ สมาธินี้เป็นขั้นตอนขึ้นมาเพราะเป็นอริยเจ้า แล้วถ้าเป็นโสดาสมาธิ กับ สกิทาคาสมาธิ มันต่างกันตรงไหน

เพราะสมาธิของพระโสดาบันพิจารณาในขั้นของพระโสดาบันจนมรรคอริยสัจจัง มรรคสามัคคี มรรคนี้รวมตัวแล้ว จนสมุจเฉทปหานกิเลสในการติดในสักกายทิฏฐิ จนขาดออกไป ความขาดออกไป เห็นไหม การรวมตัวเหมือนกับพายุทอร์นาโด พายุหมุนมันหมุนเข้าไป มันกว้านเข้าไปเลย พายุหมุนมันจะหมุนเข้าไป มันจะทำลายทั้งหมด สิ่งที่ขวางทางมันนะ มันจะทำลายบ้านเรือน ทำลายวัตถุทั้งหมด มันจะกวาดให้ราบเป็นหน้ากลองเลย กวาดจนหมด จนโล่งจนเตียนไปเลย แล้วพายุนั้นก็สงบตัวลง

มรรคอริยสัจจัง มรรคสามัคคีก็เป็นแบบนั้น ภาวนามยปัญญา ปัญญาของการวิปัสสนามันจะรวมตัว มันจะสามัคคี มันจะหมุนรวมเหมือนพายุทอร์นาโด แล้วมันจะกวาดกว้านเอากิเลสขาดออกไปจนโล่ง จนเตียน จนโถงหมด แล้วมรรคอันนั้นก็หมดไป

สมาธินี้มันใช้ คือว่า มรรคอริยสัจจังมันหมุนตัว สมาธิรวมตัว พายุมันหมุนขึ้นไปรวมตัวแล้วมันก็กวาด เห็นไหม มรรคอริยสัจจังมันหมุน มันสามัคคีเข้า มันก็กวาดกิเลสไง กวาดกิเลส เชือดเฉือนกิเลส ปหานกิเลสจนขาดออกไป มรรคอันนี้ก็ใช้พร้อมกับกิเลส พร้อมกับกิเลสนะ กิเลสขาดออกไปหมดเลย แล้วก็หมดไป เห็นไหม นี่ถึงว่าโสดาปัตติมรรค พอเป็นโสดาปัตติผล เหตุและผลรวมตัวลงแล้วขาดออกไปทั้งหมด มรรคของพระโสดาบันหมดไป เห็นไหม มรรคโสดาบันเป็นพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นแล้วสมุจเฉทปหาน แล้วก็สงบตัวลง กลายเป็นผลของพระโสดาบัน

สมาธิของสกิทาคามีก็เหมือนกัน ต้องขวนขวาย ต้องตั้งฐาน ต้องพยายามต่อสู้ จนเป็นพายุทอร์นาโดของพระสกิทาคามี กวาดต้อนกิเลสในการยึดติดในอุปาทานในกายนั้น นี่จนกวาดต้อนนะ แล้วกว่าเราจะสร้างพายุขึ้นมานะ เดี๋ยวนี้เขามีเครื่องสร้างพายุขึ้นมา ลมดูดกัน ทำกระแสไฟฟ้าขึ้นมา ให้มันเกิดพายุทอร์นาโดขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน เราต้องพยายามก่อตัวขึ้นมา ก่อตัวมรรค มรรคอริยเจ้า เป็นสกิทาคามิมรรค ก่อพายุทอร์นาโดนี้ขึ้นมาแล้วกวาดต้อนการอุปาทานในกายนั่นน่ะ จนรวมตัว กวาดจนเกลี้ยงออกไป นั่นน่ะมันรวมตัวไง

กว่าจะเกิดเป็นพายุได้ พายุนี้เกิดปฏิกิริยาการกวาด การหมุน การควง การไถไปหมดเลย รวมตัวแล้วถอดถอนกิเลสออกทั้งหมด จนขาดออกไป พายุนั้นไปหมด นั่นสมาธิของพระสกิทาคามีในมรรค ในสมาธินั้น พร้อมทั้งการงานชอบ ความเพียรชอบ ความดำริชอบ ปัญญาชอบ ทุกอย่างชอบหมด รวมตัวสามัคคีจนเป็นเกลียวคลื่นของลมพายุ แล้วราบเป็นหน้ากลอง แล้วหลุดออกไปๆ หมดออกไปเลย นั่นเป็นสมาธิของพระอริยเจ้าในชั้นของสกิทาคามี

ยิ่งพระอนาคามีนะ สมาธิของอนาคามิมรรค อันนี้ยิ่งเป็นพายุใหญ่ อันนี้เป็นพายุในจักรวาลเลย เป็นลูกเห็บตก เป็นพายุแบบทอร์นาโดอย่างทั้งจักรวาล เป็นดาวหางเข้ามาชนโลกเลย การก่อตัวของดาวหางนี่กี่ร้อยกี่พันปีมันจะวิ่งเข้ามาชนโลกสักทีหนึ่ง เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจไง กิเลสมันอยู่ที่หัวใจ กิเลสมันอยู่ที่ตัวปฏิสนธิ กิเลสมันอยู่ที่ตัวกำเนิดของภวาสวะ ของอนุสัย การเกิดของใจ นี่เป็นอนาคามิมรรค อนาคามิมรรคถึงเป็นอนาคามิผล บุรุษ ๘ จำพวก นี่มันต้องก่อตัวอย่างรุนแรง

การก่อตัวอันนี้มันจะก่อตัวขึ้นมาไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะว่าเราทำลายจนหมดแล้ว สกิทาคามิมรรคมันทำลายจนอุปาทานอะไรก็ไม่มี มันเวิ้งว้างอยู่แล้วในพื้นฐานของใจ มันถึงไม่ใช่เป็นสมาธิของปุถุชนไง นี่เป็นสมาธิของพระอนาคามี เห็นไหม มันคนละสมาธิ สมาธิต่างกัน ความลึก ความเวิ้งว้างของใจก็ต่างกัน ความลึก ความเวิ้งว้างของใจ ความรู้เท่า สติสัมปชัญญะพร้อม การไม่หลงลืมในสติของตัวเอง การเข้าใจในภวาสวะ ในความรู้สึก ในความเป็นมรรค มันถึงไม่หลงเหมือนกับปุถุชน สมาธิปุถุชน การรวมตัวมันเวิ้งว้าง อันนั้นมันเข้าใจผิด

แต่ความเวิ้งว้างของพระอนาคามี นี่ความเวิ้งว้างนะ เพราะมันไม่ติดในอนาคามิมรรค เพราะมันตัดกายออกมาแล้ว ตัดอุปาทานออกมาแล้วชั้นหนึ่ง ตัดกายชั้นหนึ่งในสักกายทิฏฐิ ตัดอุปาทานในกาย อุปาทานในธาตุขันธ์ ระหว่างธาตุขันธ์ ธาตุกับใจตัดขาดออกมา แต่มันเหลือใจล้วนๆ มันเป็นกามล้วนๆ ไง กามล้วนๆ นี้มันไม่มีตัวต่อ มันไม่มีพื้นฐานให้จับ เพราะกามมันเป็นนามธรรมล้วนๆ แล้วมันจะเกิดพายุได้อย่างไร มันก็ต้องสร้างให้เป็นดาวหางจากข้างนอกมาชนพายุอันนี้ มาชนโลกให้โลกมันแตกออกไป นั่นน่ะสมาธิของพระอนาคามีไง

บุรุษ ๘ จำพวก นี่มันไต่ขึ้นไปถึงบุรุษจำพวกที่ ๕ ใช่ไหม ถ้ามันรวมตัวกันแล้วมันชำระออกไป มันออกไปเลย นี่มันรวมตัวขึ้นมา ดาวหางชนโลก โลกแตก พอโลกแตกก็ไม่มีที่เกิด มันไปเกิดบนพรหมนั่นน่ะ

ถึงว่าอรหัตตมรรค สมาธิของอรหัตตมรรค ไม่ใช่สมาธิของพระอนาคามี เป็นสมาธิของอรหัตตมรรค เห็นไหม จากสติปัญญา เป็นมหาสติ มหาปัญญา เป็นปัญญาอัตโนมัติ โลกก็ไม่มีแล้ว เพราะดาวหางชนแตกไปแล้ว แต่จักรวาลนี้มี ความเวิ้งว้างของจักรวาลนี้มีอยู่ แล้วอะไรจะมาทำลายไอ้จักรวาลนี้ล่ะ กาแล็กซีนี่ อรหัตตมรรคมันละเอียดกว่านั้นอีกนะ มันเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นกระแสแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นอวกาศ แล้วมันจะทำลายกันได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่ไม่มีแรงดึงดูด พายุอะไรเกิดที่นั่น แต่ก็ต้องรวมตัวเป็นพายุขึ้นมาอีก เพราะอันนี้มันเป็นสมาธิของอรหัตตมรรค

อรหัตตมรรคไม่ใช่ของพระอนาคามี พระอนาคามีมันทำลายไปหมดแล้ว มันละเอียดขนาดนั้นนะ ละเอียดแบบน้ำป่า ละเอียดแบบความรุนแรง ละเอียดแบบลูกที่รุนแรงที่สุด แต่อันนี้มันยิ่งละเอียดเข้าไปอีก ถึงว่าต้องเป็นสมาธิของอรหัตตมรรค แล้วสมาธิอันนี้ อรหัตตมรรคมันรวมตัวเข้าไป ต้องสร้างขึ้นมาอีก การสร้างยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะมันทำไม่ได้ มันไม่มีแรงดึงดูด มันเป็นอวกาศ มันไม่มีแรงดึงดูดใดๆ ทั้งสิ้น มันจับต้องไม่ได้ มันจะทำอย่างไร ฉะนั้น มันถึงหาตรงนี้ไม่เจอกันไง ตรงนี้เป็นสิ่งที่หายาก ตรงนี้จับต้องยาก

ดูสิ แค่สมาธิของปุถุชน สมาธิของคนที่ไม่ฟั่นเฟือน การทำใจให้สงบ เห็นไหม ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าตอนที่ไปศึกษาเล่าเรียน อาจารย์บอกว่า “เสมอแล้ว เป็นเราแล้ว ให้อยู่สอนลูกศิษย์” อันนั้นก็ติด แต่อันนี้มันลึกซึ้งมหาศาล การแสวงหามาของพระพุทธเจ้านั้นยอดเยี่ยมมาก ไม่อย่างนั้นตรงนี้จะมาสอนกันได้อย่างไร ในเมื่อตรงนั้นมันไม่มีแรงดึงดูดใดๆ ทั้งสิ้นเลย แล้วมันจะก่อให้เกิดอรหัตตมรรคขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าตรงนี้ไม่มี ไม่ใช่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ หมดสิทธิ์!

มีพระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกเท่านั้น สาวกะน้อยมากที่จะรู้ได้ ที่รู้ได้กันอยู่นี่เพราะมีครูบาอาจารย์ มีหลวงปู่มั่นในสมัยปัจจุบันนี้ แล้วสร้างลูกศิษย์ลูกหามา สร้างครูบาอาจารย์มาอีกมากมายเลย ครูบาอาจารย์ก็สอนกันมา สอนผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่รู้จริง ผู้ที่ทำจริง ผู้ที่ต้องการชำระกิเลส ไม่ใช่ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างกิเลส

เราปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อที่จะสะสมกิเลส ฉะนั้น มันถึงต้องฝืนโลก ฝืนความพอใจของตัว ฝืนความเห็นของตัว ฝืนอะไร? เพราะฝืนใจคือฝืนกิเลสไง กิเลสมันอยู่ที่หัวใจ กิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลส

ถึงว่า เพราะมีครูบาอาจารย์ เพราะมีหลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้บุกเบิกในยุคปัจจุบันนี้ สร้างผู้ชี้นำมาอย่างนี้ ถึงย้อนกลับไปที่ว่า พระพุทธเจ้าว่าอรหัตตมรรคนี่ไง ถ้าไม่อย่างนั้นพวกเราไม่มีโอกาสนะ ไม่มีผู้บอก ไม่มีผู้ชี้แนว เพราะมันเป็นตำรา มันเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าวางไว้ แล้วให้คนที่ฉลาดเข้าไปจับต้อง ให้คนที่ฉลาดเข้าไปพลิกแพลงหาให้เจอสิ่งที่ซ่อนไว้ หรือเทคนิคในคำสอนนั้น คำสอนนั้นก็มีเทคนิคมีวิธีการที่คนจะตีความ

ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่เข้ามาถึงตรงนี้ มีเทคนิคนี้ มีการประสบหรือการเข้าไปสัมผัสอันนั้นถึงได้มาพยายามบอกเทคนิควิธีการที่เราจะเอะใจ เข้าไปหาในสิ่งที่ว่าเวิ้งว้าง สิ่งที่ว่าไม่มีแรงดึงดูด แต่มันมีอยู่ตรงนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะที่ว่า อัตตาหรืออนัตตา อัตตามันก็มีแรงดึงดูด อนัตตาคือความไม่มีอะไรเลย แต่อัตตาหรืออนัตตานั้นมันยังพูดได้ มันยังสัมผัสได้ด้วยนามธรรม ด้วยใจ แต่ใจตัวนี้มันจะไม่ยอมย้อนกลับมา มันจะไม่ยอมย้อนเพราะอะไร เพราะโดยธรรมชาติพลังงานมันขยายตัวออก ไม่มีพลังงานหดตัวเข้าไปกินตัวเอง พลังงานมีแต่แตกตัวออกไปอย่างเดียว หัวใจนี้มันจะแตกตัวออก แต่นี้มันเป็นพลังงานในตัวมันเองที่ขยายออกไป

ทีนี้ อรหัตตมรรคมันก็เป็นความนิ่มนวล คล้ายกับว่าเป็นความละเอียด เป็นอัตโนมัติที่ว่าจะดึงกินตัวเอง การสร้างตัวนี้คือการหาตรงนี้ ถ้าพูดว่าเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้เลย! มันเป็นสิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้เลย มันฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมีแต่การสืบต่อ มีแต่การแตกตัว

แต่อรหัตตมรรคมันเป็นสิ่งที่กลืนตัวเอง สิ่งที่ย้อนตัวเอง สิ่งที่ทำให้ตัวเองช็อก ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองช็อก ตัวเองสะอึก พอเริ่มสะอึก เพราะมันเป็นจุดศูนย์กลาง จุดของการกำเนิดทุกๆ สิ่ง สิ่งใดเกิดขึ้น เกิดจากตรงนี้ พลังงานตัวเริ่มต้น ไออุ่นตัวเริ่มต้น นั่นล่ะมันจะกลับมา เพราะเรื่องโลกธรรม เรื่องนามธรรมทุกอย่างมันไม่มีแล้ว ฉะนั้น ถึงว่าตัวนี้เป็นอรหัตตมรรค เป็นสมาธิของอรหัตตมรรคด้วย นี่สมาธิอันลึกซึ้งมาก

ลึกซึ้งมาก คือว่า สมาธิของอริยเจ้ากับสมาธิของปุถุชนก็ต่างกัน ผลที่รับรู้ก็ต่างกัน วุฒิภาวะของใจที่รับรู้เอามาสื่อก็ต่างกัน แต่เวลาพูดออกมา คนที่จะรับได้ มีสมาธิต่ำๆ ไง เพราะอธิบายแล้วความรู้สึกมันจับต้องได้ เพราะมันเป็นรูป รูปของจิต แต่สมาธิเบื้องบนเป็นสมาธิที่ว่าว่างจากกิเลสแล้วมาเป็นชั้นๆๆๆ

สมาธิคือสมาธิ ความว่างของใจคือความว่างของใจ

เราอยู่เฉยๆ ลมเย็นๆ หรือเรามีความรู้สึกพอใจ มันก็จะเป็นความว่าง เห็นไหม อารมณ์สบายใจมันก็เป็นความว่าง เพราะเป็นสมาธิของปุถุชน เป็นสมาธิของมนุษย์ มนุษย์ที่มีสติอยู่ มนุษย์ที่ไม่ฟั่นเฟือน นี่มีสมาธิของมนุษย์ ฉะนั้น เราถึงมีสมาธิกันดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่มีแบบที่เป็นอำนาจวาสนาของมนุษย์สมบัติ เราเกิดมา ตั้งแต่เด็กๆ มันแนบมากับอำนาจวาสนาของเราอยู่แล้ว

ฉะนั้น พอเราจุดประกายตัวนี้ จิตเราเริ่มสงบตัวลง เราเริ่มรู้ตัว ไอ้ตัวนี้เราว่ามันเป็นแล้ว เพราะมันมีวาสนาตรงที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์นะ เราไปเกิดเป็นสัตว์ สัตว์บางอย่างมีสติ สัตว์บางอย่างจะพลั้งเผลอ สัตว์บางชนิดสติสตังจะดีกว่ามนุษย์อีก อย่างเช่นพวกเสือ พวกอะไรอย่างนี้ แต่สัตว์บางอย่างก็สติไม่ดี ทีนี้สัตว์มีสติหรือไม่มีสติมันก็เป็นอำนาจวาสนาของสัตว์เดรัจฉาน แต่สัตว์เดรัจฉานไม่มีโอกาสได้สร้างมรรคผลอันนี้ไง นี่เพราะกำเนิดของสัตว์

แต่กำเนิดของมนุษย์ กำเนิดของเรามันมีมาพร้อม เพราะมนุษย์แบ่งแยกดีและชั่วได้ มนุษย์รู้จักทุกข์และสุข มนุษย์รู้จักแสวงหา แต่เราทำเราเอง หมายถึงว่า เราเข้าใจ เห็นไหม มนุษย์ส่วนใหญ่จะเห็นตามกิเลสบังคับให้เห็นว่า การมาฝืน มาฝึกปฏิบัติ การแสวงหาธรรมะเป็นของเหนื่อยเปล่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่อดอยากอัตคัดขาดแคลนแล้วจะมีความสุข นี่เขาคิดกันอย่างนั้น สิ่งใดที่ปรนเปรอกิเลส ชุ่มไปด้วยกาม อันนั้นคือความสุขของโลก เห็นไหม มันเอาเหยื่อมาล่อไง

เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราจะต้องมาพิสูจน์กันตรงนี้ ตรงที่ว่าเราเกิดมาแล้ว เรามีสมบัติเดิมอยู่แล้ว แล้วเราจะเข้าตรงไหน ถ้าเราพลิกออกไปทางโลก เรามีสมาธิอยู่แล้ว เรามีปัญญาอยู่แล้ว เพราะเราได้สร้างบุญกุศลมา คนที่สร้างบุญกุศลมาจะมีพลังงานตัวนี้มาก แล้วจะเป็นผู้ที่มีปัญญา แล้วจะใช้ตัวนี้มาเป็นผู้ปกครองโลกไง

แต่ถ้าพลิกตัวนี้ออกมาเป็นฝ่ายธรรม อย่างเช่นพระพุทธเจ้าตอนเกิดมา พราหมณ์ทั้ง ๘ พยากรณ์ “ถ้าไม่ได้บวชจะเป็นจักรพรรดิ จะเป็นมหาราชา แต่ถ้าบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า” เห็นไหม นี่อำนาจวาสนาของผู้ที่สะสมมา ถ้าพลิกไปทางโลกมันก็เป็นทางโลกไป มีอำนาจวาสนาทางโลก ถ้าพลิกมาทางธรรมล่ะ พลิกมาทางธรรมก็มาประพฤติปฏิบัติธรรม จะได้ผลไปเพราะตัวเองมีอำนาจวาสนาที่สร้างมา มีพลังงานของใจที่สะสมมา นี่วุฒิภาวะของใจ

ทีนี้พอเราเลือกตรงนี้ปั๊บ พอปฏิบัติปั๊บ ต้องปฏิบัติแบบให้เข้าถึงด้วย ไม่ใช่ปฏิบัติแบบครูบาอาจารย์ที่ว่าทีแรกนั่นน่ะ ครูบาอาจารย์มีทั้งนั้นเลย เห็นไหม ความถนัดของแต่ละบุคคล ความรู้ภายในของใจ วุฒิภาวะที่รับรู้ เพราะภพ ขั้นตอนไง ใจนั้นรู้ธรรมขนาดไหน พูดออกมามันก็สื่อหมดล่ะ พูดมาระดับไหน ระดับที่ตัวเองรู้ขนาดนี้มันก็สูงสุดแค่นี้ พูดได้เท่าที่ตัวเองรู้ มันก็เป็นอำนาจวาสนาที่เราจะเจอครูบาอาจารย์อย่างไร

ถึงว่าการเกิดท่ามกลางกึ่งพุทธกาล ๕,๐๐๐ ปีนี้ ๒,๕๐๐ ปีเศษๆ อำนาจวาสนาเราเหมือนกับเกิดช่วงพุทธกาลเลย เพราะพุทธกาลก็เป็นแบบนี้ ทุกข์เหมือนกัน อริยสัจพร้อม มนุษย์มีกายกับใจ ธรรมะพระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เพียงแต่ขาดความเพียรของเรา เพียงแต่เราขาดการพลิกจากโลกมาเป็นธรรม

จากโลกมาเป็นธรรม คือว่า สมบัติทางโลก การแสวงหาทางโลกนั้นวางไว้ ขณะออกมาประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องมาเข้าตรงที่ว่าอัตคัดขาดแคลนนี้ไง ถือผ้า ๓ ผืน บาตรใบหนึ่ง ทำไมมีความสุขได้ ถ้าเราออกมาประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อมันเป็นธรรม ในเมื่อจะเข้าไปหาธรรม แต่เราพะรุงพะรังกันมาด้วยโลก มรรคมันจะเปลี่ยนไหม สมาธิของปุถุชนมันจะขึ้นเป็นสมาธิของพระโสดาบันได้ไหม โสดาปัตติมรรคน่ะ

ถ้าเราเห็นคุณค่าของหัวใจ เราเห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ เราเห็นคุณค่าการยกวุฒิภาวะของใจ เราต้องปล่อย การปล่อยที่เราปล่อยความยึดมั่นถือมั่นในสมาธิของมนุษย์ปุถุชน มันจะยกขึ้นจากมรรคอันหยาบ ยกขึ้นไปเป็นสมาธิของโสดาปัตติมรรค เพราะโสดาปัตติมรรคกับปุถุชน สมาธิของใจนี้คนละอัน

สมาธิมีพร้อมอยู่แล้ว ถ้าไม่พร้อมเราต้องเป็นคนที่ขาดสติ เราต้องเป็นคนที่อยู่ในโรงพยาบาล แต่นี่มันไม่ขาด ฉะนั้น ถึงต้องกำหนดสมาธิ เราถึงต้องทำใจให้สงบเข้าไป ให้ผ่านจากสมาธิอันนี้เข้าไป ให้ผ่านจากความระลึกรู้อยู่ของปุถุชนนี้ ถึงต้องพยายามมากำหนดใจ กำหนดขอบเขตของความคิดไว้ก่อน กำหนดภายใน ๑ วัน ภายใน ๒๔ ชั่วโมง เราจะไม่ปล่อยให้ใจนี้คิดตามใจตัวเอง เราจะไม่ปล่อยให้ใจมันวิ่งเต้นเผ่นกระโดดไป เราจะขีดขอบของความคิดไว้

ขีดขอบของความคิด คือเวลานี้เป็นเวลาของการประกอบการงานข้างนอก เราก็ให้ใจออกมารับรู้ แต่รับรู้ในขอบเขตนี้ ถ้าขอบเขตเกินไป เราขีดวงไว้ไม่ให้ความคิดออกไปข้างนอก นั่นคือการจำกัดวงความคิดไว้แล้ว เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติ เราจะกำหนด เพราะถ้าเราไม่กำหนดยกจิตขึ้นไป จิตเราก็จะอยู่ขั้นเดิม จิตเราจะอยู่ปกติ แต่ถ้าเรากำหนดใจ เรากำหนดความเป็นไป เราควบคุมใจเรา มันก็จะละเอียดลง

สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้เพราะเราไปห่วงไง เหมือนกับเราสวมแหวนเพชรไว้ แล้วเราถอดแหวนเพชรปาทิ้ง เรากล้าทำไหม เราสวมแหวนเพชรไว้ที่นิ้ว แล้วเอาแหวนเพชรนี้ปาทิ้งออกไป เราทำไม่ลงหรอก เพราะแหวนเพชรนี้มีราคา อันนี้ก็เหมือนกัน อารมณ์ที่อยู่ในใจเรายึดไว้หมดเลย ความรู้ภายในของเรานี่เรายึดไว้หมดเลย เพราะอะไร เพราะว่าเราว่าเรารู้ไง เพราะว่าเรารู้มันก็กวนใจ

พอจิตมันจะสงบลง กิเลสมันก็ยุแหย่ ยุแหย่ว่าอันนั้นอันนี้ มันจะปล่อยวางมันก็ปล่อยวางไม่ลง นี่เพราะยางเหนียวของกิเลสที่มันอยู่ที่ใจ มันไม่ยอมให้ปล่อย เพราะใจเป็นเรา เราเป็นใจ ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด ทุกอย่างเป็นเราทั้งหมดเลย ความคิดความติดในใจก็เปรียบเหมือนแหวนเพชร เราเห็นว่าแหวนเพชรมีค่าไง แหวนเพชรใส่ไว้ที่นิ้วหนักไหม? มันหนักนิ้วต่างหาก แต่เราว่ามันสวย

ความคิดนี้เป็นเราก็เหมือนกัน เพราะเราว่าความคิดนี้เป็นเรา เปรียบเหมือนแหวนเพชร เราทิ้งไม่ลงไง ลองทิ้งสิ นิ้วก็ว่าง พอทิ้งออกไปมันก็ว่าง แต่ทิ้งไม่ออก ทิ้งไม่ได้ มันติดอยู่กับใจ เห็นไหม นี่แหวนเพชรอยู่ที่นิ้ว มันครอบนิ้วอยู่ มันรัด ดึงไม่ออก แต่ไอ้ความคิดนี้มันซ้อนใจอยู่ ใจนี้เป็นขันธ์ ๕ ใจนี้เป็นอารมณ์ ความคิดนี้เป็นอารมณ์ ความคิดนี้เป็นแขกจรมา อารมณ์เป็นวัตถุอันหนึ่ง จรเข้ามาในหัวใจ เวลาคิดก็มี เวลาไม่คิด ความคิดก็ไม่มี แล้วพอคิดเข้ามามันก็ซ้อนเข้าไปที่จิต มันเป็นการซ้อนที่จิต มันไม่ใช่จิต มันไม่ใช่เรา แต่มันซ้อนออกมาพร้อมกับพลังงานของเรา

มันก็เปรียบเหมือนแหวนเพชรสวมอยู่ที่นิ้ว ความคิดสวมอยู่ที่อาการของใจ สละไม่ออก พอสละไม่ออกมันก็ปั่นป่วน ปั่นป่วนนะ ไม่ใช่พายุทอร์นาโดอันที่ว่าเป็นมรรคด้วย อันนี้มันเป็นน้ำเน่าไหลมา เหม็นมา อารมณ์พร้อมกับกิเลสมันจะเป็นทอร์นาโดได้อย่างไร มันไม่มรรคอริยสัจจังด้วย มันเป็นอารมณ์ของเรา มันปั่นป่วน มันทำให้เราเสียหายไป

เพราะเราจะพลิกมาทางธรรม เราไม่พลิกไปทางโลก เวลาพลิกไปทางโลกนั้นเป็นเวลาที่เราประกอบสัมมาอาชีวะ แต่ขณะปฏิบัตินี้เราจะพลิกมาทางธรรม เราจะพลิกมาทางนี้ มันต้องปล่อยให้หมด ปล่อยวางให้หมด ปล่อยวางให้หมดจนเกิดเป็นโสดาปัตติมรรค เป็นสมาธิของโสดาบัน เห็นไหม มันมีมรรคหยาบ เราไปเกาะกุมไว้ เราไปดึงไว้ เราไปหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ไว้ เราไปหน่วงเหนี่ยวศักยภาพของความคิดของเราเองไว้ มันเลยไม่ลงถึงความคิดอันละเอียด มันถึงไม่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

เพราะความคิดอันนี้เราว่าเป็นเรา เรายึดมั่นถือมั่นอยู่ มันไม่ยอมสละออก มันไม่ยอมปล่อยวาง มันเลยละเอียดขึ้นไปไม่ได้ นี่เห็นโทษของเราหรือยัง เห็นโทษของความคิดที่อยู่ที่เราหรือยัง ถ้าเห็นโทษก็ต้องหมุนกลับมา จะเห็นโทษนี้เป็นปัญญานะ ปัญญาอันนี้มันจะเกิดมาจากที่เราใคร่ครวญ

อันที่ครูบาอาจารย์พูดนี้เป็นการบอกแนะชี้ทาง ถึงว่านี่ชุบมือเปิบ คนที่ผ่านการประพฤติปฏิบัติมามันรู้วิธีการมาแล้วก็เอามาบอกต่อ เอามาแนะวิธีการ แล้วเราหยิบไปทั้งดุ้น มันก็หยิบมาทั้งดุ้น ทำไมมันไม่เหมือน ทำไมเราไม่มีความรู้สึกอย่างนั้นล่ะ...ก็อันนี้เป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า แต่มันเป็นการจุดประกายไง

ปัญญาไม่มีขอบเขต ขอบเขตของปัญญาไม่มี เราจะใช้ปัญญาของเราได้ขนาดไหน แต่นี่คือวิธีการที่ถูกต้องที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนมา นี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้า ความคิดของเราถึงเป็นโทษไง ถ้าปฏิบัติธรรม ถ้าเราใช้ปัญญา เราชำระชะล้าง เราต้องใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม เกิดจากจิตที่มันสงบขึ้นไป จิตที่ว่าเป็นสมาธิของปุถุชนนั่นล่ะ มันใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป เพราะมันจะใคร่ครวญ ตัดรูป รส กลิ่น เสียงออกไป รูป รส กลิ่น เสียงที่ทำให้หัวใจฟู หัวใจเกาะเกี่ยว ที่ว่าอารมณ์แหวนเพชร ถ้ามันสละออกได้ มันจะตัดรูป รส กลิ่น เสียง สมาธินี้จะแน่นขึ้น

จากสมาธิของปุถุชนที่เข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง มันจะแน่นขึ้นๆ สะสมขึ้นๆ จนเป็นฐานไง แม้แต่พูดกันสมาธิก็มี แม้แต่คุยกัน แม้แต่ในการงานนะ มันจะมีใจตัวหนึ่ง เหมือนช้างกับควาญช้าง ควาญช้างเขาจะมีปฏัก ช้างไม่เชื่อฟังเขาใช้ปฏักสับหัวช้าง ถ้าจิตนี้มันยกขึ้นเป็นสมาธิของโสดาปัตติมรรค จิตนี้มั่นคง สมาธินี้แน่นหนา ความคิดที่เราคิดออกมาที่เมื่อกี้ว่าความคิดเป็นเรา มันจะเป็นอันหนึ่งกับความคิดเรา มันจะมีความคิดหนุนออกมา กับมีเราคอยตามดูสมาธิตัวนี้อยู่ มันต่างกันตรงนั้นน่ะ เพราะอะไร

เพราะอย่างที่ว่าเราสละอารมณ์ได้ อารมณ์ที่มันอยู่ที่ใจ พอจิตตั้งมั่น อารมณ์ตัวนี้จะหายไป พอเราปล่อยปั๊บ อารมณ์กับจิตนี้จะเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม ถึงว่า อารมณ์เป็นวัตถุอันหนึ่ง อารมณ์นี้จรมาไง นี่ตัวนี้ที่ว่าตัดรูป รส กลิ่น เสียงที่เข้ามาวนเวียนอยู่กับใจ การตัดรูป รส กลิ่น เสียง เป็นกัลยาณปุถุชน

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร บ่วงที่ดึงไป บ่วงที่รัดคอเรา บ่วงที่เราไม่ยอมพ้นจากมัน ถ้าเราพ้นจากมันมา สมาธิของปุถุชนกับสมาธิของโสดาปัตติมรรค เป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่เริ่มหมุนเวียนออกมาจากความคิดของเรา นี่เป็นธรรม เป็นธรรมจักรไง ไม่ใช่เราแล้ว เห็นไหม ออกจากความคิดของเราไป

เกิดขึ้นมาจากเราเข็น เราเข็นจากสมาธิดั้งเดิมที่เรามีวาสนาอยู่ ถ้าสมาธิเป็นเรา เราไปหน่วงเหนี่ยวธรรมจักรอยู่นี้ จักรนี้เป็นกงจักร มันยังเบี้ยวอยู่ แต่เราหมุนไป เราทำไป เราเริ่มสร้างพายุทอร์นาโดขึ้นมาแล้วนะ เพราะเราตัดรูป รส กลิ่น เสียงแล้ว ที่ว่าเราเป็นสมาธิของเราแล้ว มันจะแน่นขึ้นๆ แน่นขึ้นจนความคิดกับเราเป็นคนละอัน นั่นน่ะสมาธิของโสดาปัตติมรรคกับสมาธิของปุถุชน มันต่างกันตรงนี้ ต่างกันที่การทันกัน การบังคับกัน บังคับมาให้เป็นมรรค บังคับมาให้ใคร่ครวญในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในการงานชอบไง

งานของปุถุชน งานของมนุษย์ บังคับใจเราให้เป็นสมาธิ แล้วก็ทำมาจนตัดรูป รส กลิ่น เสียงได้ งานอันนี้เป็นงานใคร่ครวญในกายกับใจไง ในกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม งานชอบ ความเพียรชอบ ยกฐานะขึ้นมา ยกฐานะจากสมาธิที่ว่าเป็นสมาธิเวิ้งว้างเป็นสมาธิของโสดาปัตติมรรค เห็นไหม การงานชอบ ชอบจากกระเถิบยกฐานะวุฒิภาวะของใจเพิ่มขึ้น ภูมิจิตภูมิธรรมสูงขึ้น นี่ถึงว่าเป็นมรรคที่ละเอียดขึ้นไป เป็นขั้นตอนที่เสริมขึ้นไป เสริมขึ้นไปจนเป็นการงานชอบ นี่ชอบของโสดาปัตติมรรค กับงานชอบของมนุษย์ปุถุชน นี่งานชอบขยับขึ้นไป มันจะละเอียดขึ้นไปๆ จากการไส จากการลองผิดลองถูกนะ จากการที่ทำผิดและถูกมา นี่ขั้นตอนการอัดขึ้นไป อัดขึ้นไปให้วุฒิภาวะของจิตสูงขึ้นไป มันต้องละเอียดเข้าไป

เราถึงว่า ต้องอย่าให้มีเรา ถึงบอกว่าแหวนเพชรก็ต้องจับเขวี้ยงทิ้ง ไม่ให้มีเรา ไม่ให้มีความผูกพันของใจไปติดไว้ ถ้าความผูกพันของใจติดไว้ มันขยับขึ้นไม่ได้ ให้เห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของความคิดของเรา เห็นโทษของความยึดติดของเรา และจะยกใจสูงขึ้นไป สูงขึ้นไปจนหมุนเป็นภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากธรรมจักร ไม่ใช่ปัญญาของเรา มันเกิดขึ้นจากเรา เราเป็นตัวจุดประกาย เราเป็นคนส่งเสริมขึ้นไป แต่เวลามันจะขาดออกไปนี้มันต้องเป็นธรรมจักร เป็นจักรของธรรม เป็นจักรธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงกราบธรรมๆ

ธรรมะจะเกิดขึ้น อาการของธรรม มันสมุจเฉทปหาน มันแนบกับใจ ใจเลยเป็นธรรม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” ลองได้เข้าไปเสพ เข้าไปจับต้อง เข้าไปสัมผัสธรรมอันนี้นะ วิจิกิจฉาไม่มี สีลัพพตปรามาสไม่มี

ความยึดมั่นมันแนบแน่นกับใจ แต่ใจได้สัมผัสธรรมแล้ว นี่อจลศรัทธา ศรัทธาแน่นอนเลย ไม่เคว้งคว้าง ไม่อะไร อันนี้แน่นอน อันนี้เข้าทาง เข้ากระแสของพระนิพพาน ถ้าเข้ากระแสของพระนิพพานแล้วถึงไว้ใจได้ พอไว้ใจได้ ทางเดินก็ง่ายขึ้น นายช่างผู้ฝึกงานจนเป็นงานแล้ว สักวันหนึ่งเขาต้องประกอบอาชีพของเขาได้แน่นอน นี่ผู้ปฏิบัติไง เราเป็นช่างก่อฐานธรรมะในหัวใจ ในเมื่อใจนี้สัมผัสธรรมแล้ว แต่ธรรมนี้ยังไม่บริสุทธิ์ ถึงว่าเป็น เอโก ธมฺโม มันต้องขวนขวายขึ้นมา

เราได้ทองคำมา แต่ทองคำมีส่วนผสมของกิเลส มันยังไม่ใช่ทองคำธรรมแท้ๆ ฉะนั้น ในเมื่อเข้าถึงตลาด เข้าถึงสภาวะของธรรม เราก็ต้องมีการเปรียบเทียบว่าทองคำอันไหนจะเป็นทองคำบริสุทธิ์มากกว่ากัน ทองคำอันไหนมีส่วนผสมมากกว่ากัน ในเมื่อเรามีทองคำแล้วเราก็ต้องทำทองคำของเราให้ละเอียดสุขุมขึ้น ให้มันมีคุณค่ามากขึ้น มีคุณค่ามากขึ้นก็มีความสุขมากขึ้น มีความสุขมากขึ้นเพราะกิเลสมันตายไปๆ กิเลสมันจะหลุดออกไปจากใจเรื่อยๆ นี่กิเลสหลุดออกไปจากใจ เห็นไหม

จากกิเลส จากสักกายทิฏฐิหลุดออกไปมันก็เบาแล้ว เบามากเลย มันต่างจากความเห็นทั่วไป ความเห็นจะฝืน ไม่เหมือนเขาแล้ว ความเห็นไม่เหมือนโลกแล้ว เพราะความเห็นของธรรม ความเห็นของผู้ที่จะพ้นจากกิเลสมันจะขวนขวาย มันจะเจาะจง เจาะจงแสวงหาสิ่งที่จะทำให้ทองคำของตัวมีความบริสุทธิ์มากขึ้น การเจาะจงหา แล้วหากับใคร

ไม่หากับโลก ไม่หากับสังคมทั่วไป มันหากับหัวใจ มันเป็นระหว่างเรากับกิเลส เป็นการต่อสู้กัน ทำสงครามธาตุขันธ์ สงครามใหญ่ สงครามจะชนะตนเอง เป็นสงครามระหว่างเรากับกิเลส มันเป็นการต่อสู้ที่เหมาะสมมาก เหมาะสมเพราะเราเป็นคนทำ เหมาะสมเพราะว่ามีสนามคือกลางหัวใจ เหมาะสมเพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเริ่มเข้ามาในหัวใจเราแล้ว เหมาะสมเพราะว่าเราเป็นคนที่มีพลัง คือมีความเชื่อมั่น เป็นบุคคลที่มีความเชื่อมั่น เป็นบุคคลที่มีพลังในหัวใจที่สุดๆ มันถึงจะต่อสู้กับกิเลสได้

ความยั่วยวน ความยั่วเย้า ทุกๆ อย่างจะทำให้เราเขว นี่เป็นเรื่องของโลก แต่ธรรมะมันไม่ใช่ ธรรมกับโลกมันคนละอัน แม้แต่การเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม อาการของกาย เจ็บไข้ได้ป่วยนี่ทุกข์ร้อนมากนะ ต้องไปแสวงหาการรักษา อาการของใจก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติมันรุนแรงจนความคิดบางทีคิดไม่ออก คิดมากเข้าไปจนฟั่นเฝือ ถึงกับต้องพักเลย

การพักของธรรมกับการพักของโลกต่างกัน การพักของธรรมนี่พักในสมาธิ พักในการปล่อยวาง พอปล่อยวางขึ้นมามันจะเกิดพลังงานใหม่ขึ้นมา เกิดความกระชุ่มกระชวยขึ้นมา เพราะจิตนี้ได้พักไง เหมือนงานที่ทำมาก เราจะอ่อนเพลียมากเลย การใช้ปัญญา การหมุนปัญญา การพิจารณามันใช้พลังงานมาก มันจะเพลียมาก นี่ขันธ์ เห็นไหม ขันธ์คือความคิด ขันธ์ ๕ อาการของใจ ใช้มากมันก็มีอาการเหนื่อยล้า ยังล้ายังเมื่อย นี่ร่างกายก็เหมือนกัน นี่พูดถึงว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยของโลกเขาก็ต้องไปรักษากันจนเต็มที่

แต่ธรรมไม่เป็นอย่างนั้น ธรรม ถ้าธาตุมันมาก ธาตุคือร่างกาย ร่างกายถ้าปรนเปรอมากเกินไปมันจะทับขันธ์ ทับขันธ์ หมายถึงว่า หัวใจ ความคิดไม่ปลอดโปร่ง ความคิดมันจะอั้นตู้ เพราะว่ามันพะรุงพะรังมากเกินไป แต่ถ้าร่างกายไม่มีพลังงานมากจนธาตุไม่ทับขันธ์ ขันธ์จะปลอดโปร่ง

ฉะนั้น การรักษาของโลกคือต้องไปบำรุงร่างกาย หรือบำรุงให้แข็งแรง แต่ถ้าในทางธรรมจะบังคับไม่ให้ได้มากเกินกว่านั้น บังคับแค่ว่าให้ร่างกายนี้มีสภาพตามความเป็นไปเท่านั้น ให้หัวใจเด่นกว่ากาย ให้หัวใจ ให้ขันธ์หมุนได้คล่องตัวกว่า ความคิดหมุนได้คล่องตัวกว่า เห็นไหม ทั้งๆ ที่ความคิดนั้นก็มีกิเลส แต่การหมุนคล่องตัวกว่ากับการหมุนของโลกต่างกัน

ธรรมคือผู้ที่ฉลาดจะเอาตัวพ้นจากกิเลส นี่จะเริ่มต้น ขั้นตอนที่จะสูงขึ้นไปมันจะเห็นผลของตรงนี้ว่าเราจะรักษาธรรมหรือจะรักษาโลก ถ้ารักษาธรรม ร่างกายก็ไม่เสีย เพราะอะไร เพราะว่าจิตมันสูงขึ้นๆ ร่างกายนี้จะบริสุทธิ์มากขึ้น แต่เพราะความลังเล ความกังวลของเราเองต่างหาก ความกังวล ความไม่เห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ

ถ้าเห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ จะกินน้อย จะนอนน้อย จะเข้าทางจงกรมและนั่งสมาธิเท่านั้นเลย เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าจะออกจากกิเลส

ปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นจากกิเลส ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเอากิเลส

ปฏิบัติธรรมเอากิเลส เอาเวลา นั่งเอานาฬิกา นั่ง ๕ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง นั่งสมาธิแต่ได้เลขที่นาฬิกา จิตสงบหรือไม่สงบไม่รู้ เห็นไหม ไปวัด ไปปฏิบัติธรรม เอาว่า “ฉันเป็นผู้มีธรรม ฉันเป็นผู้ปฏิบัติ” แต่ผลของการประพฤติปฏิบัติได้หรือไม่ได้ นี่ปฏิบัติเอากิเลสหรือปฏิบัติเอาธรรม

ถ้าปฏิบัติเอาธรรมต้องเข้าใจหลักการ ต้องเข้าใจตัวเอง ต้องชนะตน

ไม่ให้สิ่งนี้ออกหน้า ไม่ให้สิ่งที่จะเป็นกิเลสแย่งเอาไปกิน นี่ในการประพฤติปฏิบัติ ท่ามกลางการประพฤติปฏิบัติ ท่ามกลางการต่อสู้นี่แหละ เพราะว่าแหวนเพชร เพราะว่าเราคิดเอง เราเชื่อใจเราไม่ได้ ถึงว่าต้องเอาตัวนี้เขวี้ยงทิ้ง เอาความเห็นนี้เขวี้ยงทิ้ง เอาแหวนเพชรเขวี้ยงออกจากนิ้วให้นิ้วโล่ง นิ้วว่าง มันทำงานได้ ไม่ติดกับแหวนเพชรอันนั้น

หัวใจก็เหมือนกัน ความคิดที่เข้าข้างตัวเอง มัชฌิมาปฏิปทา ความคิดปฏิบัติ เห็นไหม ปฏิบัติธรรม มัชฌิมาปฏิปทา อัตตกิลมถานุโยค เพราะกลัวจะอัตตกิลมถานุโยคทำให้เราลำบากเปล่า อย่างเช่นเรายกของขึ้นไปจะไว้ในที่สูง เรายกขึ้นไปไม่ถึง สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เรายกขึ้นไป ๒๕ เซนติเมตร แล้วเราก็วาง วางได้ไหม เพราะอะไร เพราะความสูงนั้นมัน ๕๐ เซนติเมตร เราต้องยกขึ้นไปประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ๗๐ เซนติเมตรใช่ไหม แล้วเลื่อนเข้าไป วางเข้าไป

ทีนี้ความสูงนั้น ๕๐ เซนติเมตร จะยกขึ้นไป ๕๐ เซนติเมตร แล้วเสือกเข้าไปได้อย่างไร มันเสือกได้หรือไม่ได้เป็นบางโอกาสใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติมันก็จะว่าประพฤติปฏิบัติ ๕๐ เซนติเมตร จะได้มัชฌิมา...มันต้องยกให้ลอยขึ้นไป ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติมันต้องให้เข้มกว่า

มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงว่า มันจะรวมตัวแล้วลงเอง ผลของมันที่เกิดขึ้นจะท่ามกลางพอดี จะสามัคคีเข้าเป็นมรรค เป็นพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นพอดีเลย นั่นคือมัชฌิมาปฏิปทา แต่เราไปกลัวก่อนไง เราต้องสร้างเหตุให้เกิดพายุที่เข้มกว่า แล้วพายุเกิดพอดีแล้วมันจะกระเถิบมาพอดีพายุ มัชฌิมาปฏิปทามันต้องเป็นแบบนั้น ต้องให้เข้มข้นไว้ก่อนแล้วมันจะกระเถิบมาพอดีเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทั้งมัชฌิมาปฏิปทาในภาคของมรรค และมัชฌิมาปฏิปทาในภาคของผล

ในโสดาปัตติมรรค ในโสดาปัตติผล ในภาคของมรรค มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม ในภาคของมรรค เราต้องทำให้เข้มกว่านั้น ให้เข้มกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเลย แล้วพอ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ วางเข้าไปพอดีเลย ความเข้มอันนี้ถึงไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค มันจะพอดีมัชฌิมาเอง ไม่ต้องไปกลัวกามสุขัลลิกานุโยค นี่เราไปห่วงตรงนั้น ห่วงจะให้พอดี เลยกลายเป็นมัชฌิมาของกิเลส

ว่ามัชฌิมาปฏิปทา เอาความคิดของเราไปเทียบว่าแค่นี้จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะใจเรามีกิเลสอยู่แล้ว กิเลสกับใจเราเป็นเนื้อเดียวกัน ความคิดของกิเลส ความคิดของใจเรา กิเลสมันเอาไปกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ มัชฌิมาเราทำไปแล้วเลยเหลือแค่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ มันเลยไม่มัชฌิมา มันขาดไปครึ่งหนึ่ง เพราะ ๕๐ นี่กิเลสเอาไปครึ่งหนึ่ง ๒๕ แล้วเราสร้างขึ้นมาได้แค่ ๒๕ เอง แต่มัชฌิมามัน ๕๐ อยู่แล้ว แล้วเราจะถึงได้ไหม ถึงว่า ต้องเสริมขึ้นไป ต้องทุ่มเข้าไป

ความเป็นจริงของมัชฌิมาอย่างหนึ่ง แต่ความคิดของเราว่ามัชฌิมาของเราอย่างหนึ่ง มันเลยไม่ได้ผล การปฏิบัติถึงไม่ลงท่ามกลางของสมาธิธรรม

สมาธิธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม อุตสาหธรรม งาน เป็นธรรมทั้งหมด แต่เราเข้าใจว่าๆ ขยับหน่อยก็ว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค ขยับหน่อยก็ว่าความเพียรหนักไป ทำเกินไป อะไรก็เกินไป...กิเลสหัวเราะเยาะ กิเลสมันนั่งหัวเราะเลยนะ เพราะกิเลสมันนั่งอยู่บนหัวใจ เราขยับหัวใจออกจากมัน มันแบ่งไปกินแล้วครึ่งหนึ่งตลอด ให้คิดได้เลยว่า เราทำอะไรอยู่ก็แล้วแต่ กิเลสมันแบ่งไปครึ่งหนึ่ง ผลงานของเรามีเหลืออยู่ครึ่งเดียวเอง ฉะนั้น เราต้องโหมผลงานเราเข้าไป

ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายมี แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วโหมกันหมด พระโสณะเท้าแตก พระจักขุบาลตาแตก เรื่องกรรมของอดีตไม่ต้องพูดกัน ถ้าจะอ้างก็อ้างได้เลยนะ เพราะอ่านพระไตรปิฎกจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเคยได้เป็นหมอตา เคยได้แกล้งเขาไว้ อันนั้นเป็นกรรมอดีต มีผล เราไม่เถียง แต่ถ้าเราไปคิดอย่างนั้น อ่านแล้วทำให้ความเข้มข้นของธรรมอ่อนลงไป ความเข้มข้นของธรรม ความเข้มข้นของความอุตสาหะของพระจักขุบาล หมอบอกว่า “ถ้าไม่หลับ ถ้าไม่นอน ตาจะแตกนะ”

“แตก ให้มันแตก”

พอตาแตก กิเลสก็ตายพร้อมกับตา เห็นไหม ตาแตกคือว่าตาบอด กิเลสก็ขาดพร้อมกันตอนนั้นเลย

ทีนี้พอในธรรมบทก็บอกว่าอดีตของท่าน ท่านเคยทำอย่างนั้นๆ...ถูกต้อง เราไม่ปฏิเสธนะ เราไม่ปฏิเสธตรงนั้น เพียงแต่ว่าเราจะเอาประโยชน์ตรงไหน เอาประโยชน์ของเนื้อธรรม ประโยชน์ของการเอามาให้เราศึกษาแล้วชุ่มชื่นใจ ให้เรามีความมุมานะไง ถ้าสาวกันไปหมด รู้กันไปหมด มันก็จะทำให้อ่อนลง ในการที่จะให้มันเข้มข้นให้เรามีกำลังใจก็อ่อนลง

ฉะนั้น ถึงว่า เราต้องเข้มข้น เราต้องเข้มข้น เพราะครูบาอาจารย์มี เพราะว่ากาลเวลามันพร้อม เพราะหัวใจตอนนี้มันเปิดช่อง หัวใจเปิดช่องคือเรามาประพฤติปฏิบัติ มันให้โอกาสเรานะ โอกาสนี้พร้อมมากเลย สักวันหนึ่งมันจะปิด สักวันหนึ่งเดี๋ยวมันจะปิด เราปฏิบัติมากี่ปี เราพยายามทำมากันแล้ว เราจะไม่มีโอกาส เราวาสนาน้อย นี่เราทั้งนั้น เห็นไหม

เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิบัติมา จะเข้ามามันก็แบ่งไปกินครึ่งหนึ่ง พอปฏิบัติไปแล้วยังไม่ถึงจุดที่จะเป็นผลขึ้นมา มันก็เอาออกไปกินครึ่งหนึ่ง ถึงบอก โอ้โฮ! กิเลสนี้ร้ายมาก กิเลสในใจเรานี้ร้ายมาก เราเกิดมานี้วาสนามากสุดๆ แล้วนะ พร้อมทุกอย่าง เอื้ออำนวยหมดเลย สัปปายะไหม แต่เวลามันถอย มันถอยกรูดๆ เลยนะ นี่ให้เห็นโทษของใจ เห็นโทษของกิเลสที่ใจ

เวลาอาจารย์ท่านว่า เวลาท่านดุท่านว่า ท่านบอก ท่านไม่เคยดุคนคนนั้นนะ ท่านดุกิเลสของคนคนนั้นต่างหาก เพราะกิเลสนั้นมันไม่รู้เท่าไง

เราเคยอยู่กับอาจารย์ อาจารย์เคยว่า “ก็ลูกศิษย์เรา” เอ็ด โดนเอ็ดมาก เอ็ดจนคิด พอโดนเอ็ดนะ ท่านดุมาก หลายวันเข้าๆ ชักน้อยใจ ท่านพูดกลับนะ “อ้าว! ก็ลูกศิษย์เรา ก็ลูกศิษย์เรานี่ เราไม่สอนลูกศิษย์ เราไม่ว่าลูกศิษย์ เราจะไปว่าใคร” ลูกศิษย์เรา เห็นไหม การดุการว่านั่นน่ะท่านว่ากิเลส เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้เท่ากิเลส ดูสิ คิดสิ นี่เหมือนกันไหม เรารู้เท่ากิเลสเราไหม เรารู้เท่าความคิดเราไหม เราว่าความคิดเป็นเราๆ แต่ความคิดนั้นอะไรมันยุให้คิด ความคิดนั้นเป็นกลางพอไหม นี่ให้เห็นโทษมัน เห็นโทษของมันคือเห็นโทษของเรา

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราจะเอาชนะใจเรานะ การประพฤติปฏิบัตินี้เป็นการชนะกิเลสท่ามกลางหัวใจของเรา ชนะกิเลส กิเลสจะยุบยอบตัวลงให้จิตใจนี้ตั้งมั่น จิตใจนี้ตั้งมั่นแล้วต้องรีบขวนขวายในการแสวงหาทางออก เพราะจิตตั้งมั่นแล้ว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด การนึกคิดนี้ก็เป็นอนิจจัง คิดได้เร็วมาก ความคิดนี้เร็ว รวดเร็ว แล้วคิดวันละร้อยแปด เห็นไหม มันไม่คงที่เลย น่ากลัวมาก เพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอด แต่เราไม่เห็นคุณค่าในความเปลี่ยนแปลงของมันไง

การเห็นคุณค่าในการเปลี่ยนแปลงคือเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วเราต้องรีบมุมานะ ให้หาเหตุหาผลให้ลงตัว พอลงตัวแล้วให้มันมั่นคง ให้เป็นอจลศรัทธา ให้มั่นคง

พอมั่นคงแล้วความเปลี่ยนแปลงนี้ก็มีแต่น้อย ความเปลี่ยนแปลงจะน้อยลงๆ จนเนื้อทอง เนื้อสมาธิเราสะอาด เห็นไหม สะอาดคือว่าไม่มีกิเลสเข้ามายื้อแย่ง มันจะสะอาดขึ้นๆ ธรรมะจะสะอาดขึ้น จิตที่เสวยธรรมสะอาดขึ้น จิตที่เข้าไปแนบกับธรรมจะใกล้ชิดขึ้นมา เห็นไหม เห็นเงาพระพุทธเจ้าจนเห็นตัว จนเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน นี่เป็นเนื้อเดียวกันนะ

พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าสอนพระสารีบุตรมาก่อน พอพระสารีบุตรสำเร็จแล้ว มีพระถามพระสารีบุตรว่า “เชื่อพระพุทธเจ้าไหม”

“ไม่เชื่อ”

จนพระไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกพระสารีบุตรเข้ามาถาม “ทำไมไม่เชื่อ”

“เมื่อก่อนเชื่อ เมื่อก่อนฟังพระพุทธเจ้า เมื่อก่อนนี้เกาะเหนี่ยวพระพุทธเจ้าเลย แต่พอรู้ธรรม ใจมั่นคง ใจเป็นเนื้อเดียวกัน” เห็นไหม พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ เพราะพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมจนหัวใจเป็นอย่างนั้น ความเห็นของพระสารีบุตร ความประพฤติปฏิบัติของพระสารีบุตร ความสัมผัส ความต่อสู้กิเลสในใจของพระสารีบุตร พระสารีบุตรเชื่อความเห็นภายในใจ เชื่อการต่อสู้ เชื่อที่กิเลสออกจากใจ เห็นตามความเป็นจริง เชื่อการประพฤติปฏิบัติของตัว

คำพูดพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนธรรมะจริง เมื่อก่อนเชื่อพระพุทธเจ้ามาก แต่ความที่สัมผัสจริงอันนั้นมันเป็นประสบการณ์ตรงของตัวที่แน่นอนกว่า ไม่ได้หลู่อันนั้น แต่ก็เชื่อ ความเชื่อของใจมันเชื่อมั่นจริง เพราะอะไร เพราะสมุจเฉทปหานท่ามกลางหัวใจ กิเลสหลุดออกจากใจ เห็นไหม พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ ถึงว่าเป็นพยานต่อกันได้

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติ ใจต้องให้เป็นทองคำ เป็นเนื้อธรรมที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงว่า ต้องเห็นโทษของความอนิจจังในความคิด แต่กิเลสมันชอบอนิจจัง เพราะอะไร เพราะความเป็นอนิจจังนี้มันเกิดดับๆ ใช่ไหม เวลาเกิดขึ้นมากิเลสก็หัวเราะเยาะ เห็นไหม เวลาเห็ดเกิดขึ้นมาแล้วมันจะบาน พอเกิดขึ้นมา กิเลสมันอยู่บนหัวเห็ดแล้ว พอเกิดขึ้นมาแล้วก็บาน แล้วก็โรยไป กิเลสก็ชอบใจสิ ความคิดเกิดขึ้นมาแล้วก็บานไป กิเลสมันเกิดพร้อมความคิด แล้วมันก็หลอกด้วย พอความคิดหมดไป เกิดใหม่ มันหัวเราะเยาะ เพราะอะไร เพราะเกิดท่ามกลางการครอบงำของมันไง มันบอกว่า “โอ๋ย! คนคนนี้ หัวใจดวงนี้ ภวาสวะนี้ ภพอันนี้เป็นที่อยู่ของเรา ไม่มีทางจะกำจัดเราได้”

แต่พระพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารไง “มารเอย เราเห็นตัวเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจากความดำริของเราเอง”

เห็นไหม เห็ดมันเกิด กิเลสมันเกิดพร้อมกับเห็ด

“มารเอย เราเห็นเธอเกิด เห็นเธอแล้ว เธอเกิดจากการดำริของเรา เธอจะเกิดไม่ได้อีกเลย” มารจะเกิดจากความคิดของพระพุทธเจ้าไม่ได้อีกเลย เพราะพระพุทธเจ้าเห็นมันครอบอยู่กับความคิดนั้น เห็นความดำรินั้น เยาะเย้ยมารจนมารนี้ไม่มีทางออก ก้มหน้าเลย ซบหน้าเลย แพ้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากำจัดออกไปจากหัวใจ ออกจากที่อยู่ไง “มารเอย เธอเกิดจากความดำริ...” ความคิดที่เริ่มต้นจากเห็ดขึ้นมานั่นน่ะ “...บัดนี้เราเห็นแล้ว เธอจะเกิดอีกไม่ได้” นี่พระพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารเลย “เธอจะเกิดอีกไม่ได้เลย เกิดบนภวาสวะ เกิดบนใจของเราไม่ได้ เพราะใจเราเป็นธรรมล้วนๆ”

มันไม่มีเชื้อเห็ดแล้ว เห็ดนั้นไม่มีเชื้อ มันเกิดอีกไม่ได้ เป็นธรรมล้วนๆ ธรรมทั้งแท่ง เอโก ธมฺโม นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระสารีบุตรก็ตรัสรู้ธรรม เลยเป็นธรรมอันเดียวกัน ฉะนั้น เราถึงพยายามจะเข้าตรงนั้น เราถึงไว้ใจกิเลสเราไม่ได้ เราอย่าเชื่อใจ เราไว้ใจกิเลสเราไม่ได้ เห็นไหม ถึงว่า ต้องพยายามเห็นความเป็นอนิจจังในหัวใจเราด้วย เห็นความเป็นอนิจจัง เห็นความแปรปรวนไง

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)