ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธุดงค์เพื่อ

๑ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

ธุดงค์เพื่อ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “เทียนกับการธุดงค์ของพระ”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ เวลาพระท่านเข้าป่าธุดงค์ ท่านพกเทียนเล่มเล็กหรือเล่มใหญ่ หรือพกตะเกียงไปใช้สำหรับการเดินจงกรมเจ้าคะ และถ้าเทียนหมด แต่ยังต้องธุดงค์หรือเดินจงกรมต่อ แล้วพระท่านจะทำอย่างไรเจ้าคะ

 

ตอบ : เวลาคนมาถามปัญหาส่วนใหญ่จะบอกว่า “หลวงพ่อ เล่าตอนธุดงค์ให้ฟังสิ” ทุกคนชอบไปธุดงค์ ชอบไปมีประสบการณ์ไง “หลวงพ่อเล่าตอนธุดงค์ให้ฟังสิ”

 

เวลาธุดงค์ไปนะ เราบวชใหม่ๆ มันก็ด้วยความอยาก ศึกษามาก่อน ศึกษามาก่อนว่าเราจะไปทางไหน แล้วพอบวชแล้วก็อยากจะไปธุดงค์ อยากจะได้มรรคได้ผล พยายามเที่ยวไป แต่เที่ยวไปด้วยความไม่รู้ เที่ยวไปด้วยความไม่รู้เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกฝนมาแบบสมัยหลวงปู่มั่น

 

สมัยหลวงปู่มั่น ใครจะบวชเอาจริงเอาจัง ท่านจะให้เป็นปะขาวถึง ๓ ปี การเป็นปะขาวถึง ๓ ปี มันจะชำนาญในการสวดมนต์ ต้องได้ปาฏิโมกข์ ตัดเย็บผ้าได้ ท่านถึงให้บวช

 

แต่เราเวลาบวช เราบวชเลย พอบวชเลยมันก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้หรอก แต่ก็ยังสำคัญตนว่าเป็นคนรู้นะ เพราะอ่านประวัติหลวงปู่มั่น อ่านประวัติครูบาอาจารย์มาแล้วก็คิดว่าตัวเองเก่ง เวลาออกไปธุดงค์ ด้วยความไม่รู้ไง มีความจำเป็นไปหมด เตรียมของเต็มไปหมดเลยนะ เวลาไปธุดงค์มันจะเอาสิบล้อทุกไปด้วยไง แบกไปด้วย เอารถสิบล้อทุกไปด้วย ฉันจะไปธุดงค์ มีความจำเป็นไปหมด มีสบู่เอย เทียนเอย ทุกอย่างขนไปหมดเลย จะไปธุดงค์

 

ไปจริงๆ เข้าแล้ว สบู่ก้อนหนึ่งใช้กี่เดือน เทียนเล่มหนึ่งถ้าใช้ประหยัดๆ ใช้ได้นานแค่ไหน แต่เราก็มีความจำเป็น มีความจำเป็น คิดวิตกวิจารณ์ไปหมด แล้วพอเดินไป เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา มันเหนื่อยล้าไปหมด แต่พอบวชมานานๆ เข้า เราอยู่กับวงการพระนะ เวลาเขาไปธุดงค์มีบริขาร ๘ เท่านั้นน่ะ มีบาตร มีผ้า มีสิ่งจำเป็นไปเท่านั้นน่ะ มีธมกรก ธมกรกนี่จำเป็นมาก

 

แล้วเวลาไปแล้วมันมีประสบการณ์ไง พอประสบการณ์แล้วมันดำรงชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องเป็นพะวงว่าจะต้องเอาเทียนไปเท่าไร นี่ขนาดว่าต้องพกตะเกียงไปด้วยไหม แต่มันมีโคมนะ สมัยก่อนโคมนี่ฮิตมาก ต้องทำโคม แล้วก็เอาโคมไปด้วยไง แล้วก็จุดเทียนใส่ในโคมแล้วแขวนไว้ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ค่อยได้ใช้

 

เวลาคนที่เขาไปธุดงค์แล้ว เวลาเขาแบบว่ามันไม่ใช่มือใหม่หัดขับ มีผู้ชำนาญแล้วนะ เวลาเดินจงกรม เดินในที่มืด พอเราอยู่ในที่มืดปั๊บ สายตาเราเห็นทางลางๆ ไม่ต้องใช้หรอก

 

เว้นไว้แต่เวลาไปอยู่วัดนะ อย่างเช่นไปอยู่บ้านตาด เวลาเดินจงกรม เพราะมันอยู่ในโคนต้นไม้ ใบไม้มันจะคลุมหมด แล้วก็จุดเทียน เพราะมันมีให้จุด แต่ถ้ามันไม่มี ไม่ต้องจุดเทียน เขาไม่ได้จุดเทียนหรอก จุดเทียน จุดเทียนไว้เวลาจะเก็บผ้า เวลาเอามุ้งลง เก็บมุ้ง เก็บอะไร จุดเทียน พอเก็บเสร็จแล้วรีบดับพับเลยถ้ามันขาดแคลน

 

แล้วเวลาธุดงค์ไป เวลาบ้านนอกนะ เวลาเขามาถวายจังหัน เขาจะมีเทียนมาด้วย เทียนเล่มเล็กๆ แล้วถ้าที่ไหนมันขาดแคลน เราเคยขาดแคลนขนาดที่ว่าเทียนได้มาห่อหนึ่ง ไป ๒ องค์ก็ต้องแบ่งคนละครึ่ง แม้แต่บางทีนะ เทียนเล่มหนึ่งต้องหารคนละครึ่งถ้ามันไม่มี ถ้ามันไม่มี ไม่มีก็ไม่มีความจำเป็นไง

 

เขาไม่มีความจำเป็น ถ้าธุดงค์แท้ๆ นะ เรื่องที่โยมถามไม่มีความจำเป็นเลย พระธุดงค์ขอแค่มีข้าวตกบาตรพอให้ได้ดำรงชีวิตเท่านั้นน่ะ แล้วพระธุดงค์เขาหาแบบนั้น เขาหาแบบที่ว่าไม่คลุกคลี ไม่ต้องปฏิสันถาร ไม่ต้องโยมมาแล้วคุยกันครึ่งวันค่อนวัน พระธุดงค์อะไรไปคุยกันครึ่งวันค่อนวัน ไม่มีหรอก

 

บิณฑบาตเสร็จแล้วไม่ต้องตามมา เพราะธุดงค์แล้ว ใส่บาตรแล้วก็จบ เรากลับไปที่พักของเราแล้ว เราฉันอาหารเสร็จแล้ว เศษข้าวที่เหลือก็เก็บไว้ให้สัตว์ ไปวางไว้ตามทางสัตว์แล้วล้างบาตร เช็ดบาตร เข้าทางจงกรมเลย แล้วถ้าเราจะเดินทางต่อ ล้างบาตร เช็ดบาตรเสร็จ ผึ่งผ้าให้พอเสร็จแล้วพับ พับเสร็จแล้วเก็บ เก็บบริขารเดินต่อไป

 

ไปธุดงค์ เขาไปธุดงค์เพื่ออะไร ถ้าไปธุดงค์เพื่อกำจัดกิเลส ไปธุดงค์แบบพระกรรมฐาน ครูบาอาจารย์สมัยก่อนนะ เวลาธุดงค์ท่านไปองค์เดียว ถ้าไปองค์เดียว เขาไปธุดงค์ ไปธุดงค์เพื่อคุณธรรม

 

แต่ถ้าในปัจจุบันนี้เขาไปธุดงค์เพื่ออะไร ธุดงค์เพื่อการตลาด ถ้าธุดงค์เพื่อการตลาดนะ คำว่า “ธุดงค์ๆ” มันน่าเห็นใจนะ มือใหม่หัดขับ อย่างเช่นมือใหม่หัดขับ เพราะเราก็เป็นมือใหม่หัดขับมาก่อน การเป็นมือใหม่หัดขับ ออกธุดงค์ไม่เป็น เราวิตกวิจารณ์ มีความจำเป็นไปหมด จะใช้เทียนเล่มเล็กเล่มใหญ่ จะต้องพกเทียนอะไรไป

 

เล่มเล็กก็ยังไม่อยากพกเลย จะไปพกอะไรเล่มใหญ่ ยิ่งตะเกียงไม่ต้องพูดถึง ใช้โคมไฟ โคมเทียนเขาจุดเทียนได้แล้วแขวนไว้ได้ แล้วอย่างเช่นเทียนมันมีความจำเป็นต้องใช้ เวลาจำเป็นต้องใช้ เล็กๆ น้อยๆ แต่เวลาเราไป เราไม่ใช่ไปหาความสว่าง

 

ถ้าหาความสว่าง เราก็อยู่ที่นี่ก็ได้ อยู่ในเมืองแสงไฟสว่างตลอด ยิ่งกลางวันพระอาทิตย์ขึ้น เทียนดวงใหญ่เลย พระอาทิตย์ สว่างไปหมด ถ้าอย่างนั้นแล้วมันไม่มีความวิตกกังวลไง ไปนี่เขาตัดปลิโพธ ความเป็นปลิโพธกังวล เขาตัดทิ้งหมดเวลาไปธุดงค์

 

แต่นี่ไม่อย่างนั้น เวลาไปธุดงค์กลับขนความปลิโพธกังวลไปหมดเลย มีพระบางชุดนะ เวลาธุดงค์ไป เขาเอาครัวไปตั้งไว้ข้างหน้าเลย เอาครัวไปตั้งไว้ก่อน เดินไป พอเดินอย่างนี้ปั๊บ ความปลิโพธกังวล ความวิตกกังวลมันเป็นอะไร มันเป็นเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องขันธ์ เรื่องจิตวิญญาณ เรื่องกิเลส นี่ความวิตกกังวล แล้วเราก็มีความวิตกกังวล แล้วเราก็เอาความวิตกกังวลนั้นมาสนองมัน หาอะไรมาให้พร้อมๆ

 

ธุดงค์เพื่ออะไร ถ้าธุดงค์เพื่อธุดงค์ ธุดงควัตร หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขาทั้งชีวิตเลย แล้วท่านไม่เดือดร้อนเรื่องอย่างนี้

 

เราไปอยู่จนชำนาญ พออยู่จนชำนาญแล้วนะ เรื่องเทียน เทียนเล่มเล็กเล่มใหญ่นี่ไม่ต้อง ยิ่งตะเกียงนี่หมดเลย เขามีแต่โคม

 

แล้วถ้าเทียนหมดจะเดินธุดงค์ต่อไปทำอย่างไร

 

เราจะเดินจงกรมต่อไป ถ้าเดินจงกรมต่อไปนะ เวลาถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์นะ เราเคยเจอพระองค์หนึ่ง ไปอยู่ด้วยกัน ธุดงค์มา พอธุดงค์มาอยู่ด้วยกันเขาบอก โอ้โฮ! เขาภาวนาดีมากเลย แต่เขาอยู่ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเขาไม่ฉันเนื้อสัตว์ ชาวบ้านไม่ใส่บาตรให้เขา เราเห็นแล้วเราเศร้าใจมากนะ เขาไม่ฉันเนื้อสัตว์ ชาวบ้านไม่ใส่อาหารที่ถูกใจเขา เขาอยู่ไม่ได้

 

เราบอกถ้าพูดถึงเราไปถืออย่างนั้น ภิกษุเป็นผู้เลี้ยงง่าย ได้สิ่งใดมา ถ้ามันเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์ มันเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ ฉันได้ทั้งนั้นน่ะ แล้วเราภาวนาดี จิตมันดี พอภาวนาแล้วมันเป็นสมาธิได้ง่าย อยากอยู่ที่นี่ แต่อยู่ไม่ได้ เพราะว่าเรื่องอาหารไม่เป็นสัปปายะ

 

เราฟังเรื่องนี้แล้วมันฝังใจมาตลอด ฝังใจว่าด้วยความเห็นผิด ถ้าความเห็นผิด เราธุดงค์มาเอาเนื้อสัตว์ไม่เอาเนื้อสัตว์หรือ เราบวชมาเพื่อเอาเนื้อสัตว์ไม่เอาเนื้อสัตว์ใช่ไหม เราบวชมา ก็เราบวชมา บวชมาเพื่อธรรมวินัย ถ้าธรรมวินัยแล้วถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาเอาความจริง ยิ่งออกมาธุดงค์ด้วย เราต้องการความสงบของใจ เราต้องเกิดภาวนามยปัญญา เราต้องชำระล้างกิเลส ธุดงค์นี้เป็นแค่พิธีการเท่านั้นเอง

 

ธุดงค์ ธุดงค์เพื่ออะไร ธุดงค์เพื่อแสวงหา ธุดงค์เพื่อความสงบของใจ แล้วถ้าจิตใจของคน มโนกรรม ถ้าจิตใจของคนนะ ใจที่มันเห็นคุณค่าธุดงควัตร เวลามันไปนะ มันไปเพื่อการขัดเกลากิเลส

 

แต่ถ้าคนธุดงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อความประกาศตน บางคนเข้าป่าไปพักหนึ่งออกมา “ฉันเป็นพระธุดงค์ ออกมาจากป่ากำลังขลังเลย” ธุดงค์มาอวดชาวบ้านหรือ

 

การธุดงค์ ธุดงค์เพื่อขัดเกลากิเลสนะ เราธุดงค์เพื่อตัวเรานะ ถ้าเราธุดงค์เพื่อตัวเรา สิ่งใดที่เป็นปัญหาๆ ไม่เป็นปัญหาเลย ไม่เป็นปัญหาเลย ยิ่งอย่างว่าถ้าเป็นมือใหม่หัดขับมันน่าเห็นใจ เพราะเราก็เป็นมือใหม่หัดขับมาก่อน พะรุงพะรังไปหมด มีแต่ความจำเป็นไปหมดเลย แล้วพอออกเดินไปแล้ว น้ำหนักมันมาก มันกดถ่วง จะรู้เลยว่าจะได้ใช้มันหรือเปล่า

 

มันไม่เหมือนกับหลวงปู่ชอบเนาะ หลวงปู่ชอบเวลาท่านไปกับปะขาว แล้วชาวบ้านก็เป็นห่วงหลวงปู่ชอบมาก เขาตัดไม้ไผ่แล้วเอาปลาร้าใส่ไป แล้วให้ปะขาวสะพายไปด้วยว่า ถ้าที่ไหนมันมีความอัตคัดขาดแคลนก็เอานี่ทำให้สุกแล้วถวายหลวงปู่ชอบ เดินไปรอบประเทศไทยเลย กลับมาไม่ได้ใช้ปลาร้าแม้แต่นิดเดียว สะพายไปทั่วประเทศไทยเลย เพราะท่านประหยัดของท่านไง

 

ไอ้โยมก็เป็นห่วง ห่วงว่าหลวงปู่ชอบท่านจะอัตคัดขาดแคลน ก็อุตส่าห์ให้ปะขาวสะพายไปด้วย เผื่อถ้าที่ไหนอัตคัดขาดแคลนจะได้ทำถวายท่าน ก็สะพายไปรอบประเทศไทยเลย กลับมายังเหลือเท่าเก่า ไม่ได้ใช้เลย ไม่รู้แบกไปทำไม แบกรอบประเทศไทย ด้วยความเป็นห่วงของผู้ที่ศรัทธา แต่ตัวของพระเอาไปแล้วมันไม่ได้ใช้สอยเลย

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามือใหม่หัดขับ นู่นก็จำเป็น นี่ก็จำเป็น มีความจำเป็นไปหมด เทียนก็จะเอาไปสัก ๒ ห่อ

 

แค่เล่มสองเล่มก็พอแล้ว ขนกันไปมันไม่มีความจำเป็น แล้วถ้าไปอยู่ตามชนบท เวลาเขามาจังหัน เขาจะมีเทียนมาด้วย เขามีสิ่งนี้มาด้วย พระธุดงค์นะ พระเวลาออกธุดงค์ ออกวิเวก เขาแค่ขอให้มีอาหารตกใส่บาตรเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น แล้วชอบความสงบสงัด เพราะที่ออกธุดงค์ก็ออกธุดงค์เพื่อความสงบสงัด เราอยู่วัดอยู่วามันมีหมู่มีคณะ เวลาปฏิบัติไปแล้วถึงเวลาจะออกวิเวก ออกวิเวกไปก็เพื่อความสงบสงัด ออกวิเวกไปไม่ใช่เพื่อการคลุกคลี แล้วจะไปห่วงอะไร

 

ทีนี้ไอ้พวกเราพวกศรัทธาใช่ไหม เพราะเดี๋ยวนี้โลกมันเจริญไง สาธารณูปโภคมันสมบูรณ์หมด น้ำไฟทุกอย่างเราอยู่สมบูรณ์หมด ถ้าไฟดับนะ อยู่ไม่ได้เลย แล้วมันก็เป็นห่วงพระเนาะ แล้วพระจะอยู่อย่างไร เอ๊ะ! แล้วท่านจะอยู่อย่างไร เพราะเราอยู่สุขอยู่สบายไง เราก็เลยไปห่วงวิตกกังวลแทนท่านไง

 

เพราะท่านจะออกธุดงค์ ท่านทิ้งแล้ว ออกไปป่า ป่ามันจะมีอะไร ป่าไม่มีอะไรหรอก แล้วไปหาที่สงัดที่วิเวกด้วย ไปหาที่มีสัตว์มีเสือ ไปหาสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นอันตรายเพื่อควบคุมใจไม่ให้มันคิดมากไง ถ้ามันกลัวผี มันไม่คิดไปนอกเรื่องนอกราวไง แล้วถ้ามันไปอยู่สิ่งใด เขาอาศัยสิ่งนั้นช่วยควบคุม ไอ้นี่จะขนกันไปนะ

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าธุดงค์เพื่ออะไรนะ ธุดงค์เพื่อขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องหนึ่ง ธุดงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองเป็นเรื่องหนึ่ง ธุดงค์เพื่อหลอกลวงชาวบ้านเป็นเรื่องหนึ่ง

 

ธุดงค์นะ เดี๋ยวนี้มันมีอีกอย่างหนึ่งนะ ธุดงค์คือธุดงค์นะ แต่ธรรมยาตราไม่ใช่ธุดงค์ ธรรมยาตรา เขาเดินธรรมยาตรากัน เดี๋ยวนี้พระเขาไปเดินธรรมยาตรา เราเห็นแล้วเราสลดสังเวชมากนะ ไปเดินธรรมยาตราแล้วก็บอกว่าอย่างนี้เป็นเหมือนธุดงค์ เพราะเขาไป มีโยมเขาไปแล้วมาเล่าให้เราฟัง บอกว่ามันดีไปหมดเลย โอ๋ย! คนเราไม่เคยเดินได้ก็เดินได้

 

ธรรมยาตราเขาเดิน มันมีสิ่งใดขึ้นมาเขาเดินประท้วง เดินเพื่อให้คนสนใจ เขาเดินปลุกระดม การธรรมยาตราเขาเดินปลุกระดมเพื่อให้คนมาสนใจปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เขาปลุกระดมเรื่องอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องของโลกเขา แต่พระไปเดินธรรมยาตรา

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยเป็นศาสดา ต้องให้มีใครมาธรรมยาตรา มันมีของมันจริงอยู่แล้ว แต่ธุดงค์นี้ธุดงค์เพื่อหัวใจ ธุดงค์เพื่อตัวเรา ไม่ใช่ธุดงค์เพื่อประกาศตน ธุดงค์เพื่อประกาศตนก็ธุดงค์เพื่อให้กิเลสมันฟูน่ะสิ

 

ฉะนั้น ถ้าธุดงค์เพื่อกำจัดกิเลสนะ เขาไปในป่าในเขา เขาไม่เดินหรอกบนถนนหนทาง เว้นไว้แต่มือใหม่หัดขับมันก็ลองดูก่อน เดินไปตามทางรถไฟ เดินไปตามทางรถไฟตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปถึงภาคใต้ เดินตามทางรถไฟไป มีก็พักตามข้างทางกันไป เพื่อให้ฝึกหัด

 

แต่พอมันจะเอาจริงเอาจัง เขาเข้าป่าแล้ว เพราะเข้าป่าไปมันมีที่สงบวิเวก มันมีที่สงบวิเวกแล้วมันเป็นการวัดค่าของใจว่าใจเรามีอำนาจวาสนาแค่ไหน ถ้ามีอำนาจวาสนานะ ครูบาอาจารย์ของเราสมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่สีทาที่อยู่กับหลวงปู่มั่นไง เดินจงกรมอยู่ เห็น เอ๊ะ! มันมีอะไรแปลกๆ อยู่ข้างทาง พอหันไป อู้ฮู! เสือตัวใหญ่มาก

 

เสือตัวใหญ่ๆ เสือตัวที่ผิดธรรมชาติของเสือส่วนใหญ่แล้วเป็นเสือเทพ มันจะมีเสือจากเทพ เสือจากสิ่งที่พวกเทพบันดาลให้มาเป็นอุบาย มาเป็นการเสริมบารมี ถ้าอยู่ในป่าในเขามันจะมีอย่างนี้

 

หลวงปู่ฝั้นท่านไปเจอที่ไหนมีแต่เสือนอนอยู่เต็มไปหมดเลย ไปเจออย่างนั้นน่ะ

 

ไอ้พวกเราไม่ต้องเสือหรอก แค่มันเสียงคำราม เราก็ขนหัวตั้งแล้ว ขนหัวตั้งก็เพื่ออะไรล่ะ นี่ไง เขาธุดงค์เพื่อสิ่งนี้ไง ธุดงค์เพื่อให้หัวใจของเราได้สัมผัส ได้กระทบสิ่งต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์ หาประสบการณ์นะ เพราะเราธุดงค์เพื่อชำระล้างกิเลส ธุดงค์เพื่อให้หัวใจเข้มแข็ง ธุดงค์เพื่อให้พระเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ให้เข้มแข็ง แม้แต่ไม่มีใครเลย เราก็อยู่ได้

 

พระที่ธุดงค์ๆ มานะ เคยธุดงค์ผ่านอุปสรรคต่างๆ มา พอมาอยู่วัดอยู่วามันอยู่สะดวกอยู่สบาย อู๋ย! มันพร้อมไปหมด มันเหมือนโรงแรม ๕ ดาวเลย มีทุกอย่างพร้อม บริการเสร็จ แต่ไปอยู่ในป่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีสิ่งใดเลย แล้วเราต้องหาเอง เราต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ เราดำรงชีวิตอย่างนั้นอยู่ได้เพื่อให้เห็นว่า แม้แต่มนุษย์บวชเป็นพระออกมาธุดงค์เพื่อดำรงชีวิต ชีวิตอย่างนี้มันอยู่ได้แล้วเราจะไปต้องการสิ่งใด เห็นไหม มันทำให้ตัณหาความทะยานอยาก มักมาก อยากใหญ่อยากโตมันเบาลง

 

เพราะคนเราอยู่ป่าอยู่เขา เราไม่ใช่อยู่แบบสัตว์นะ สัตว์มันอยู่โดยธรรมชาติของมัน แต่นี้เป็นมนุษย์มีปัญญา แล้วเป็นศากยบุตรด้วย บวชเป็นพระด้วย บวชเป็นผู้ประเสริฐด้วย แล้วเข้ามาอยู่ป่าอยู่เขาเพื่อดำรงชีวิต ถ้ามันดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ได้ มันจะมีอะไรอีก โลกนี้มันยังต้องการอะไรอีก โลกนี้มันขาดอะไรอีก มันก็เลยไม่ต้องขาดอะไรเลย ถ้าไม่ขาดอะไร ไม่ต้องการสิ่งใดเลย มันก็เป็นสุภาพบุรุษ เป็นเอกบุรุษ เป็นอาชาไนย ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร ไม่ต้องอาศัยชาวบ้าน ไม่ต้องให้ใครมาขี่คอ ไม่ต้องให้ใครมามีอำนาจ มันมีคุณธรรมในใจ

 

ถ้าพระที่ผ่านธุดงค์มาแล้วจะเป็นหลัก พระธุดงค์ขึ้นมาแล้วต้องมีธรรมด้วยนะ ไม่ใช่พระธุดงค์เพื่อประกาศตน เดินผ่านป่ามารอบหนึ่ง นี่ฉันพระธุดงค์นะ ออกจากป่ามากำลังจะขลังเลยล่ะ กำลังจะสร้างวัด อู๋ย! ใหญ่โต...นั่นธุดงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเอง

 

แต่ถ้าธุดงค์ พระธุดงค์ด้วยความซื่อสัตย์เป็นสุภาพบุรุษ เขาธุดงค์มาเพื่อให้เห็นการดำรงชีวิต แล้วชีวิตที่มันดำรงมาได้แล้วมันจะไม่ฟูไปกับสังคม ไม่ต้องการสิ่งใดเลย ถ้ามีคุณธรรมจริงนะ นี่เขาธุดงค์เพื่อเหตุนี้

 

ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าเทียนหมดแล้วยังธุดงค์ต่อไปหรือจะเดินจงกรมต่อไป ท่านจะทำอย่างไร”

 

เดี๋ยวนี้มันสะดวกมาก มันสะดวกมากเพราะว่ามันมี สมัยหลวงปู่มั่น สมัยหลวงตาท่านบอกว่าก้าวเท้าออกจากถนนไปก็เป็นป่าหมด สมัยเราเด็กๆ ๑๖ ล้านนะ มนุษย์มี ๑๖ ล้าน คนในเมืองไทยมี ๑๖ ล้าน สมัยเราเรียนน่ะ คน ๑๖ ล้าน แล้วคิดดูสิว่าเขาไม่ต้องทำอาชีพการเกษตร พื้นที่ในประเทศไทยมันจะเป็นป่าเท่าไร

 

สมัยครูบาอาจารย์เราท่านบอกเลยนะ ก้าวขาออกถนนไปมันก็เป็นป่าแล้ว มันไม่มีใครจับจอง มันเป็นป่าหมดเลย แล้วพวกสัตว์เสือมันอยู่ของมันด้วยความสุขสบายของมันเพราะมันมีอาหารของมันอุดมสมบูรณ์ แล้วเราไปวิเวกอย่างนั้นมันวิเวกได้

 

แต่ในปัจจุบันนี้นะ จะไปปักกลดที่ไหนก็ไม่ได้ แล้วเวลาปักกลดไป เมื่อก่อนกรุงเทพฯ เขาออกเทศกิจเลยนะ กรุงเทพฯ นี่พระห้ามปักกลด เมื่อก่อนธุดงค์ที่ไหนก็จะปักใช่ไหม เห็นสนามหญ้าหน้าบ้านใครก็จะปักกลด มันเป็นที่ว่างไง มันปักกลด แล้วปักกลดมันเป็นจริงไหมล่ะ

 

แต่ถ้าเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านจะอยู่ในป่าในเขาลึกๆ แล้วไม่มีใครรู้ใครเห็นกับท่าน คนจะไปหาท่านต้องขวนขวายไป นั่นของจริงเขาเป็นแบบนั้น ฉะนั้น ถ้าธุดงค์เพื่อขัดเกลากิเลสเป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าธุดงค์เพื่อกิเลส เพื่อศักยภาพ

 

ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าเทียนหมดแล้วท่านยังต้องธุดงค์ต่อไป จะทำอย่างไร”

 

ถ้าเทียนหมดแล้วเดี๋ยวก็มีคนมาถวาย ถ้าเทียนหมดแล้วนะ ถ้ามันเป็นศากยบุตรด้วยกัน เป็นภิกษุมาด้วยกัน เป็นบริษัท ๔ ด้วยกัน วัดเยอะแยะไป เรื่องเทียนน่ะ แต่ในสมัยปัจจุบันนี้เขาก็ใช้ไฟฟ้าหมดแล้วเนาะ เทียนก็มีน้อยหน่อยหนึ่ง แต่มันใช้ได้ เขาปรับตัวเขาได้ ไม่มีปัญหาเลย ของอย่างนี้ไม่มีปัญหาเลย

 

แต่มันมีปัญหาแต่ว่า เวลาเราอยู่บ้าน เวลาพระเขาเดินผ่านมาเขาจะบอกว่า “โยม อาตมาจะไปธุดงค์นะ อาตมายังขาดไอ้นี่ ขาดไอ้นั่น” มันเป็นปัญหาอยู่แค่นี้ มีปัญหาเดียว เวลาเขามาหาเรานะ ว่าเขาขาดอะไร

 

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นบอกว่า ถ้าเรายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เราไม่ขาดอะไรเลย

 

ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนี้คืออานาปานสติ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ถ้ายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ เราไม่ขาดอะไรเลย

 

เรากำหนดอานาปานสติก็ได้ เรากำหนดพุทโธก็ได้ เรายังมีโอกาสได้ภาวนา ไม่ขาดอะไรเลย เพียงแต่ว่าที่ขาดๆ กันนั้นน่ะเขาตั้งใจให้ขาด ตั้งใจให้ขาด แล้วพอโฆษณาประชาสัมพันธ์มา พวกโยมก็ตื่นเต้น อู้ฮู! ได้ทำบุญกับพระธุดงค์นะ พระธุดงค์ขาดแคลนมาก อู๋ย! มาขอไอ้นั่น มาขอไอ้นี่ นั่นธุดงค์ออเซาะ ธุดงค์ออเซาะ ธุดงค์ฉอเลาะ มันไม่ใช่ธุดงควัตร

 

ถ้าธุดงควัตร เขาทำความดีเพื่อความดี เขาทำความดีเพื่อตัวของผู้ที่ธุดงค์นั้น เขาทำคุณงามความดีเพื่อชำระล้างกิเลสของเขา เขาทำคุณงามความดีเพื่อธรรมวินัย เขาไม่ใช่ธุดงค์ฉอเลาะ ไม่ใช่ธุดงค์ออเซาะ นี่พูดถึงว่าธุดงค์นะ นี่ถามเรื่องธุดงค์มา

 

ถาม : เรื่อง “หนังสือธรรมะแปลเป็นภาษาอังกฤษ และปัญหาภาวนาครับ”

 

กราบเท้าหลวงพ่อครับ

 

๑. ผมมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติมาถามเกี่ยวกับการทำสมาธิ ผมก็ตอบไปว่าผมท่องพุทโธ เขาก็อยากลองบ้าง แต่เขาเป็นคริสต์ ผมจึงบอกว่าอย่างนั้นก็ให้ท่องชื่อตัวเองจนท่องไม่ได้

 

พอแนะนำเขาไปแล้วมันก็เพิ่งคิดได้ครับ ไอ้เรามันความรู้หางอึ่ง ไปแนะนำเขาได้อย่างไร ผมไม่อยากเป็นพวกซื้อก่อนขายอย่างที่หลวงตาท่านว่าไว้ครับ ผมให้หนังสือเขาไป ๒ เล่ม เล่มหนึ่ง ถามตอบปัญหาเมื่อครั้งที่หลวงตาท่านมาลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อปี ๒๕๑๗ และเล่มสอง “ปัญญาอบรมสมาธิ” ทั้ง ๒ เล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษโดยอาจารย์ปัญญา

 

ให้เขาศึกษาเองจากหนังสือดีกว่า ถึงจะเคลื่อนไปบ้างเพราะการแปลและภูมิของผู้แปล แต่ดีกว่าผมแนะนำเขาเองแน่นอน ผิดถูกอย่างไรขอหลวงพ่อเมตตาด้วยครับ

 

๒. ช่วงนี้ภาวนาค่อนข้างดี ถึงจะไม่ดิ่งลงไป แต่ก็ถึงอาการตัวใหญ่ หน้าหนาทุกครั้ง บางครั้งผมเผลอไปกลืนน้ำลาย หรือคิดเตือนตัวเองว่า เอาให้ดีนะ ใกล้แล้วๆ มันจะถอนอาการเหล่านี้ แต่เมื่อกลับมาพุทโธหรือดูลมชัดๆ ไม่นานอาการก็จะกลับมาอีก ผมลองไล่ข้อกระดูกที่นิ้วมือ พบว่าบางครั้งก็ชัด บางครั้งก็ไม่ชัด ผมพอจะยึดอาการตัวใหญ่ หน้าหนาเป็นเครื่องหมายสำหรับการออกเดินปัญญาได้ไหมครับ หรือควรจะให้ดิ่งลงเป็นสมาธิก่อน ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วย

 

ตอบ : ๑. เรามีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ แล้วถ้าเขาอยากทำสมาธิ เห็นไหม เขาอยากทำสมาธิ แล้วเราบอกให้เขาท่องพุทโธ แล้วเราคิดได้ว่าเขาเป็นคริสต์ ให้เขาท่องแต่ชื่อของเขา นี่พูดถึงเป็นความคิดของเราไง

 

แต่ถ้าเราตั้งสติใหม่ เราตั้งสติใหม่ เขาเป็นคริสต์ใช่ไหม ถ้าเขาเป็นคริสต์ เขามีพระเจ้าของเขา เราเป็นพุทธ เราก็มีศาสดาของเรา ถ้าเรามีศาสดาของเรา เราคิดถึงพุทธานุสติ พุทธานุสติคือพุทโธๆ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ถ้าบอกให้เขาพุทโธ ธัมโม สังโฆ มันก็แบบว่ามันจะขัดแย้งกัน ก็ให้เขากำหนดลมหายใจสิ ให้เขากำหนดลมหายใจก็ได้ ให้เขาทำสิ่งใดก็ได้ให้จิตของเขาไม่เร่ร่อน

 

ถ้าให้จิตของเขาไม่เร่ร่อนโดยที่เราไม่ต้องไปกังวลสิ่งใด เราบอกเขาไปว่าให้เขากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกก็ได้ แล้วท่อง ๑ ๒ หรือท่องอะไรก็ได้ ท่องคำว่า “ก็ได้ๆ” เพราะคำบริกรรม

 

จิตนี้เป็นนามธรรม มันกระจายไปทั่ว มันส่งไปทั่ว มันแผ่ไปเหมือนเรดาร์ เห็นไหม คลื่นวิทยุมันแผ่ไปทั่ว ถ้าเราพยายามกำหนดให้มันเป็นที่เกาะที่หมายไป มันก็จะเป็นโอกาสของเขา แล้วถ้าเขาอยากทดสอบนะ ให้เขากำหนด

 

ฉะนั้นที่ว่าให้หนังสือเขาไป เล่มที่ว่าหลวงตาไปอังกฤษ ปัญญาอบรมสมาธิ ก็ให้เขาศึกษาไปก่อน ถ้าเขาศึกษาไปแล้ว ถ้าเขาจับแนวทางได้ พอศึกษาแล้วเขาจะมีปัญหาแล้ว เพราะเขาศึกษาแล้วเขาก็มีความคิดของเขา พอมีความคิดของเขา เขาก็จะมาถามเราร้อยแปดเลย ไอ้อย่างนี้เป็นอะไร อย่างนี้คืออะไร อย่างนั้นคืออะไร

 

ถ้าอย่างนี้คืออะไร อย่างนี้คืออะไร บอกให้วางไว้ก่อน อันนี้มันเป็นแนวทางการตอบปัญหา ปัญญาอบรมสมาธิก็บอกว่าจิตมันควรจะทำอย่างใด ฉะนั้น ถ้าเขาสงสัย เขาทำสิ่งใดมา บอกเลย บอกว่าให้วางไว้ก่อน อันนั้นเราบอกเป็นภาคทฤษฎี แล้วภาคปฏิบัติ

 

ภาคทฤษฎี ภาคทฤษฎีเราต้องศึกษา การศึกษา เราทำสิ่งใดต้องมีองค์ความรู้ องค์ความรู้เป็นภาคทฤษฎีที่เราศึกษามา แล้วเราจะปฏิบัติขึ้นมา มันจะมีความจริงขึ้นมาหรือไม่มีความจริงขึ้นมา เรารอตรงนี้ไง

 

ฉะนั้นบอกว่า ถ้าศึกษาสิ่งใดมา พอเขารู้แล้วบอกให้วางไว้ก่อน เขาก็บอกว่าจองไว้ก่อน แต่พอเขานั่งสมาธิมันก็วางไม่ได้ มันก็ผุดขึ้นมาหมดเลย

 

ถ้าผุดขึ้นมาหมดเลย ให้กำหนดลมหายใจก็ได้ ทำสิ่งใดก็ได้ ถ้าเขาทำของเขาไป เพราะเขาเป็นคริสต์ ให้เขาพิสูจน์ของเขาเอง แต่เราคิดได้ของเรา

 

มันเป็น ธมฺมสากจฺฉา ธมฺมสากจฺฉา เป็นมงคลชีวิต มงคลชีวิตคือการสนทนาธรรม การปรึกษากัน การสนทนาธรรม ใครประพฤติปฏิบัติได้สิ่งใดมา เราก็มาแชร์กัน มาคุยเผื่อแผ่กัน เผื่อแผ่กันก็เป็นจริตนิสัยของใคร นี่ธมฺมสากจฺฉา ธมฺมสากจฺฉาเพราะมีสติ เห็นไหม นั่นเป็นประสบการณ์ของเขา เป็นความรู้ของเขา เขาอุตส่าห์มาพูดให้เราฟัง เรามีสิ่งใดเราก็พูดให้เขาฟัง ด้วยสติด้วยปัญญา อย่าโต้แย้ง อย่าดูถูก อย่าเหยียดหยาม เราฟังด้วยเหตุด้วยผล ของใครเป็นประโยชน์ เราก็เอามาใช้ ถ้าของไม่เป็นประโยชน์ก็วางไว้ของเขา เพราะเป็นจริตเป็นนิสัยของเขา นี่ธมฺมสากจฺฉาเป็นมงคลชีวิต

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราสนทนากับเขา เขาเป็นคริสต์ เขามีความสนใจ เราสนทนาธรรมกัน แล้วเรามีสิ่งใดเราแนะนำเขา แล้ววางไว้ตามความเป็นจริงของเขา เขาจะมีปัญญารับรู้ได้มากน้อยแค่ไหนมันก็อำนาจวาสนาของเขา แล้วถ้าเป็นไปได้ก็อานาปานสติ

 

ถ้ายังเป็นเพื่อนกัน ยังจะต้องคุยกัน เพราะให้หนังสือไป ๒ เล่ม ก็ยังไม่จบ เดี๋ยวเขาอ่านจบเขามาคุยด้วย เดี๋ยวเขาต้องมาถามอีก ถ้าถามแล้วเราค่อยคุยกับเขา พูดกับเขาอย่างนี้ คือให้เขาวางไว้ก่อน แล้วเรากำหนดลมหายใจก็ได้

 

คำบริกรรม บางคนบอกว่า ถ้ายังบริกรรมอยู่ เราใช้ไม่ได้ ถ้าคนที่ไม่บริกรรมนั่นคือแบบว่าภาวนาไปได้ไกล

 

กลายเป็นขี้ลอยน้ำไง กลายเป็นเรือไม่มีหางเสือ

 

เรือเขามีสมอ ยิ่งเรือลำใหญ่นะ เรือสินค้า เรือรบเขามีสมอนะ เวลาเขาจะไปทอดสมอที่ไหน เขาจอดเรือที่ไหนเขาจะมีสมอยึดเรือของเขา จิตถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ มีครูมีอาจารย์ รัตนตรัย แก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นศาสดาของเรา เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติไป พุทธ ธรรม สงฆ์รวมเป็นหนึ่งเดียว เวลาท่านปฏิบัติท่านยังกำหนดของท่าน ท่านยังดูแลจิตของท่าน วิหารธรรม

 

เขาบอกว่า ไอ้คนที่ยังมีคำบริกรรมอยู่มันต่ำต้อย มันต่ำต้อย มันไร้เดียงสา ฉันปฏิบัติไปไกลแล้วนะ ไกลไหน

 

ไกลขี้ลอยน้ำ วนอยู่นั่นน่ะ ไกล วนกลับมาที่ใจน่ะ มันไม่ไปไหนหรอก ลองไม่มีหลัก ไม่ไปไหนหรอก เรือไม่มีสมอจอดที่ไหนมีแต่เกยตื้น ชนหินโสโครก เรือมันจะไปไหนถ้าไม่มีสมอ เรืออะไรมันก็มีสมอทั้งนั้นน่ะ ยิ่งเรือใหญ่ขนาดไหน สมอเขายิ่ง ๒ ตัว ๓ ตัว ท้ายเรือ หัวเรือเลย สมอของเขา เขาจอดเรือของเขา

 

ฉะนั้น คำบริกรรมมันจะแบบว่า มันจะเป็นคนด้อยค่า มันจะไม่มีราคา มันจะโดนเขาเหยียดหยาม เราทำไปก่อน เดี๋ยวจะรู้ว่าคำบริกรรมมันสำคัญไม่สำคัญ แล้วสำคัญอย่างไร ควรไม่ควร เดี๋ยวจะรู้เอง นี่พูดถึงว่าให้เขาบริกรรมไปก่อน

 

เราได้ยินมา เขาบอกว่า “ไอ้ที่บริกรรมมันไร้สาระ คำบริกรรมคือมันอ่อนด้อย คือไร้เดียงสา ภาวนาไม่เป็นถึงต้องมีคำบริกรรม ฉันนี่นักภาวนาไม่ต้องใช้คำบริกรรม”...โอ้โฮ! เก่ง เก่งมาก

 

“๒. ช่วงนี้ภาวนาค่อนข้างดีครับ ถึงจะไม่ดิ่งลงไป แต่ก็ถึงอาการตัวใหญ่ หน้าหนาทุกครั้ง บางครั้งผมเผลอไปกลืนน้ำลาย หรือคิดเตือนตัวเองว่าเอาให้ดีนะ ใกล้แล้วๆ มันก็ถอนออกมาเหล่านี้ กลับมารวมได้ชัดอีก”

 

ฉะนั้นบอกว่า ถ้าเราภาวนา ถ้าจิตสงบแล้ว จิตสงบนี่เราไว้พัก เอาไว้พักคลายเครียด เวลาคนเราเครียด มันตึงเครียดต่างๆ เราก็มาพัก เรามาพักด้วยการทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบ มันมีกำลังแล้วมันก็เอามาพิจารณาได้

 

เขาถามว่า บางทีพิจารณาไปแล้วอาการมันดีขึ้น แล้วก็มาดูกระดูกที่นิ้วมือ บางครั้งก็ชัด บางครั้งก็ไม่ชัด

 

ดูกระดูกก็ได้ ถ้ามันดูไม่ได้ เราใช้สติปัญญากับชีวิตประจำวันของเรานี่แหละว่าชีวิตนี้มันมาอย่างไร ให้มันสลดสังเวช สลดสังเวชแล้วจิตมันไม่คิดไปนอกเรื่องนอกราว มันจะอยู่กับเรา จิตของเราอยู่ในอำนาจของเรา เราดูแลรักษาง่าย

 

แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญานะ เวลาภาวนาดีนะ ดีก็อยู่กับเรานิ่งเลย เวลาภาวนาไม่ดีมันไปหมดเลยนะ มันดีดดิ้นในใจ มันกระทุ้งกลางหัวใจเลย เพราะอะไร เพราะเราไม่มีปัญญาควบคุม

 

ถ้าเรามีปัญญาควบคุม ชีวิตเราดีก็ได้ ร้ายก็ได้ เดี๋ยวก็ดี ดีก็คือเราดี เวลาร้ายก็กิเลสมันพาร้าย เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย มันมีสติมีปัญญา มันไม่สะเทือนจนเกินไปนัก ถ้าสติปัญญามันมีอยู่ มันรักษาไว้อย่างนี้ไง

 

แล้วพอเราภาวนา ถ้าตัวมันใหญ่ หน้ามันหนาขึ้น ทุกอย่างมันมีอาการขึ้น นี่คือปีติ ถ้าปีติ มันมีปีติ แต่มันจะมาหรือไม่มา ปีติพอมันมี ต่อไปถ้าจิตมันสงบแล้วไม่มีก็ได้ ถ้าไม่มีก็ได้ ก็กลัวอีก ภาวนาแล้วหน้าไม่หนาสักที ตัวไม่พองสักที

 

มันจะพองนี่เป็นอาการ อาการมันรับรู้แล้ววางไว้ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ จิตมันตั้งมั่น พุทโธต่อเนื่องไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิต่อเนื่องไป

 

แล้วเวลาบอกว่า พออาการดีขึ้นเขาก็มาดูที่กระดูกนิ้วมือ นี่ใช้ได้ หัดมาดูกระดูกที่นิ้วมือ

 

กระดูกนิ้วมือ เราดูเพื่อให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นสติปัฏฐาน ๔ แต่เราใช้สติปัญญาแยกแยะก็ได้นะ ในชีวิตประจำวัน เราดูของเรา เราใช้ปัญญาของเรา ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม

 

ฉะนั้น บางคนบอกว่า ถ้าใช้ปัญญาทีแรก ใช้ปัญญาไปแล้วมันล้มลุกคลุกคลาน ถ้าเราใช้ปัญญาจนฟั่นเฝือ เราไม่มีสมาธิ หรือไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ปัญญาที่ใช้ไปแล้ว เหมือนมีด ชักออกมาแล้วเก็บไม่เป็น เอามาทำให้เกิดบาดแผลกับตัวเองทั่วไปหมดเลย นี่ไง ใช้ปัญญาๆ แล้วปัญญานี้ก็พาไปล้มลุกคลุกคลานหมดเลย

 

แต่ถ้าเราฝึกหัดสติ เรามีสมาธิขึ้นมาแล้ว มีดเอามาใช้ก็ใช้ เวลาเก็บก็เก็บเข้าฝัก นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามีสติ มีสมาธิ ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาจะใช้ตอนไหนก็ได้ ถ้าปัญญามันใช้ตอนแรกก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

 

ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมาแล้วใช้ปัญญาไปแล้ว มีดเราใช้แล้วเรารู้จักเก็บ รู้จักใช้ รู้จักรักษา นี่ก็เหมือนกัน พอมันมีปัญญาขึ้นมาแล้ว มันมีปัญญา มันเป็นอาวุธ เราใช้ประโยชน์ได้ เราใช้ประโยชน์ไปแล้วมันก็เข้ามาทำให้ทุกอย่าง ชีวิตนี้ดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น การภาวนาดีขึ้น ทำต่อเนื่องกันไปแบบนี้

 

ทีนี้คนมันมีความน้อยใจ ต้องทำให้สมาธิเกิดนิ่งเลย ดีเลย แล้วเราใช้ปัญญา ถ้าสมาธิยังไม่เกิด ใช้ปัญญาไม่ได้

 

ก่อนที่ใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญาแบบเอามีดออกมาแล้วเก็บไม่เป็น ก็ทำให้ตัวเองมีบาดแผล คือคิดนอกเรื่องนอกราว คิดจนมีความทุกข์ คิดจนแบกหาม คิดจนน้อยเนื้อต่ำใจ คิดจนบอกฉันทำภาวนาไม่ได้ คิดจนไม่ภาวนาเลย

 

ทำปัญญามันเพื่อถากถางให้คนมันเจริญก้าวหน้า แต่นี่ความคิด คิดให้ตัวเองมีแต่อ่อนด้อย คิดให้ตัวเองมีแต่ความทุกข์ คิดให้ตัวเองมีแต่ความน้อยใจ ไอ้นี่มันเป็นปัญญาหรือ มันเป็นสัญญา มันเป็นสิ่งที่กิเลสเอาไปใช้ไง แต่เราทำความสงบของใจ พอมันมีหลักมีเกณฑ์แล้วใช้ปัญญาได้ แต่ให้รู้ว่าปัญญาอย่างนี้ทำเพื่อให้เราปฏิบัติง่ายขึ้น คือมีดชักออกมาใช้ก็ได้ เก็บให้เรียบร้อยก็ได้ ทำทุกอย่างดีขึ้นมา ใช้อย่างนี้ได้

 

ฉะนั้นบอกว่า ถ้าบางทีก็กลับมาดูลมชัดๆ แล้วบางทีทำของเรา พุทโธของเรา ถ้ามันดีขึ้นนะ มันทำแล้วพอมันใกล้ เดี๋ยวใกล้แล้ว ดีแล้ว

 

ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่นิสัยของคนเนาะ ถ้าใกล้แล้ว ดีแล้ว เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ ดูสิ เราทำหน้าที่การงานก็เพื่อหาเลี้ยงชีพ เราภาวนาเพื่อหาเลี้ยงใจ ถ้าใจมันได้ลิ้มรสของธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ถ้ามันได้ลิ้มรสของธรรม มันก็พัฒนาของมันขึ้น

 

ฉะนั้นบอกใกล้แล้ว ดีแล้ว ก็เหมือนจะกินแล้วไม่กินสักที จะกินแล้วๆ เดี๋ยวก็ได้กิน ให้มันได้ตามความเป็นจริงไง ทำของเราไปเรื่อยๆ

 

นี่พูดถึงว่าการภาวนา งานการภาวนาแสนยาก งาน ทำหน้าที่การงานทางโลกนะ งานทางเอกสาร ถ้าทำไม่เสร็จมันก็กองอยู่นั่นน่ะ เห็นชัดๆ แล้วมันทำเสร็จก็จบ ไอ้ภาวนานี่เดี๋ยวก็เจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม แล้วเดี๋ยวก็พลิกแพลงไป เดี๋ยวก็ตั้งใจทำ เดี๋ยวก็ไม่ตั้งใจทำ มันไม่ใช่เอกสาร ทำเสร็จแล้วเอกสารหาย พอมันเสื่อมแล้วไม่มีเหลือเลย พุทโธต้องเริ่มต้นใหม่ การภาวนามันเป็นแบบนี้ มันถึงเป็นงานแสนยาก มันไม่เหมือนงานทางโลก ทำไม่เสร็จ เดี๋ยวมาทำต่อ ไอ้นี่ทำไม่เสร็จแล้วมาเริ่มต้น แล้วเริ่มต้นใหม่ เว้นไว้แต่ผู้ที่ชำนาญ ชำนาญในวสี

 

พอเริ่มต้นกำหนดแล้วมันก็จะเข้าที่ พอชำนาญในวสี ดูแลสมาธิเรามั่นคงขึ้นมาได้ แล้วใช้ปัญญาขึ้นไป ล้มลุกคลุกคลานก็ต่อสู้กันไป แล้วมันจะเห็นเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป

 

พอเห็นเป็นขั้นตอนต่อไป เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ถึงเป็นหลักของในศาสนา เป็นหลักให้พวกเราได้พึ่งพาอาศัย ถ้าปฏิบัติไปมีความติดขัดติดข้องอย่างใด เราก็จะปรึกษาครูบาอาจารย์ของเรา ให้ครูบาอาจารย์ของเราคอยชี้คอยแนะ คอยบอกเรา สิ่งนี้สมควร

 

ฉะนั้น เขาถามว่า “เครื่องหมายสำหรับการออกเดินปัญญา เป็นอย่างนี้ถูกไหมครับ หรือควรจะให้มันดิ่งลงไปเป็นสมาธิก่อน”

 

ดิ่งลงไปเป็นสมาธิก่อน ดิ่งเป็นสมาธิไปพัก แล้วออกมาใช้ปัญญา พอดิ่งเป็นสมาธิพักแล้ว ถ้าเป็นสมาธิแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงหรือไม่ พอดิ่งลงสมาธิแล้ว ออกมาแล้ว ออกมาแล้วมันก็เตลิดเปิดเปิงไปเลย

 

เวลาจิตลงสมาธิลงไปเพื่อพัก ลงไปเพื่อสร้างกำลัง เวลาออกมาแล้วมันก็ต้องมีวาสนา พอออกมานะ รำพึงไปที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม แล้วถ้ารำพึงไปแล้วมันจับต้องได้ พอลงสมาธิแล้ว พอมันคลายตัวออกมามันก็จับเลย

 

คนเรานะ ถ้ามันจับกิเลสได้ มันจับจำเลยได้ มันจับสังโยชน์ได้ เวลาจิตสงบแล้วออกมามันก็จับสิ่งนั้นพิจารณาต่อเนื่องกันไป พอพิจารณาไปแล้วถ้ามันเหนื่อยมันล้านัก มันก็วางงานไว้ กลับมาทำพุทโธๆ ให้มันดิ่งลง ให้ไปพัก พอพักเสร็จแล้วออกมามันก็ใช้ปัญญาต่อเนื่องกันไป ถ้าคนทำเป็นนะ

 

ถ้าคนทำไม่เป็น เวลาเข้าไปพัก พอดิ่งลงไปแล้วก็ดิ่งหายไปเลย ถ้ามันดิ่งลงอัปปนาสมาธิก็สักแต่ว่ารู้ เวลาออกมา ออกมามันก็เตลิดเปิดเปิงไปเลย นี่มันตรงนี้ เห็นไหม สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สมถะยกขึ้นวิปัสสนา ตรงยกขึ้น ตรงยกขึ้นตอนทำเป็นไม่เป็น พอมันทำเป็นแล้ว มันชำนาญแล้วนะ เดี๋ยวมันคล่องตัว พอคล่องตัวไปแล้วมันจะเดินไป

 

คนเรามี ๒ เท้า ในการภาวนาก็มีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มนุษย์ไม่มีเท้าเดียว มนุษย์มี ๒ เท้า ถ้ามนุษย์มีเท้าเดียว เขาต้องมีขาเทียมมาใส่ มนุษย์ต้องมี ๒ เท้า การปฏิบัติภาวนามันก็มีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานเดินไปด้วยกัน จะไปอย่างใดอย่างหนึ่งมันก้าวเดินไปไม่ได้

 

จะบอกว่า “ฉันทำวิปัสสนา วิปัสสนาอย่างเดียว แน่นอน ก้าวไปเลย”...คนมีเท้าเดียว เอ็งจะวิ่งกระสอบใช่ไหม เอากระสอบมาใส่แล้ววิ่งไป

 

โดยธรรมชาติของคน คนก็มี ๒ เท้า เขาเดินของเขา เว้นไว้แต่คนพิการเขาก็มีวีลแชร์นั่ง เขาก็มีอะไร นั้นมันเป็นกรณียกเว้น นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป ถ้ามันจะออกใช้ปัญญาต้องควรให้ดิ่งลงสมาธิไหม

 

ดิ่งลงสมาธิไปพักเป็นครั้งเป็นคราว แล้วมันเป็นจริตเป็นนิสัย มันไม่มีอะไรตายตัว การภาวนาไม่มีสูตรสำเร็จ มันมีจริต มีนิสัย มีคนหยาบ คนหนา มีมรรคหยาบ มรรคละเอียด มีการกระทำ คนเรามันต้องพัฒนาของมันตลอดเวลา การพัฒนามันถึงไม่มีสูตรสำเร็จไง ฉะนั้น เวลาเราทำ ควรจะให้มันลงสมาธิไหม เราจะเดินปัญญาของเราอย่างใด

 

ฝึกหัดไป ถ้าจิตมันลงอย่างนี้ ที่ว่าอาการอย่างนี้เป็นปีติ ปีติแล้วเราก็ภาวนาของเรา ทำของเราต่อเนื่องไป ภาวนาไปให้มีเหตุมีผล แล้วกลับมาถามใหม่เนาะ แล้วก็รอฟังข่าวว่าเพื่อนที่เป็นคริสต์เขาจะว่าอย่างไรต่อ แนะนำกันไปเนาะ

 

เราเป็นสัตว์ร่วมโลก สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลาย เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย เราปรารถนาความดีกับมนุษย์ทั้งนั้น จะลัทธิศาสนาไหนนั้นเป็นความเชื่อของเขา แต่ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ เราเห็นผลประโยชน์ของเรา เรามีเพื่อนมีฝูง เราจะคุยกันได้เป็นธมฺมสากจฺฉา คือการคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเขาไม่ฟัง เขาทิฏฐิมานะในความเห็นของเขา นั่นก็กรรมของสัตว์

 

กรรมของสัตว์ สัตว์มันมีทิฏฐิมีมานะแตกต่างกันไป เราอยู่กับโลก เราทำเพื่อโลก ทำเพื่อประโยชน์ ถ้าทำได้ก็ทำ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าทำแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ มันทำแล้วไม่เป็นคุณงามความดีสิ่งใดขึ้นมา เราก็ปล่อยวาง เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา

 

หน้าที่ของเราได้ทำแล้ว มันเป็นหน้าที่ของเขาที่เขาจะค้นคว้า ที่เขาจะแสวงหาเพื่อประโยชน์กับเขา เราทำเพื่อประโยชน์ ไม่ต้องไปแบกรับภาระ ไม่ต้องไปแบบว่าทำแล้วต้องเป็นความทุกข์ความยาก ทำแล้วต้องไปวิตกกังวล

 

ทำแล้วจบ ทำดีคือดี ทำดีแล้วสุดสิ้นที่ความดีของเรา เท่านี้เป็นคุณงามความดีของเรา ไม่ต้องเดือดร้อน เอวัง