เทศน์บนศาลา

หลงจึงลืมตัว

๑๘ เม.ย. ๒๕๔๗

 

หลงจึงลืมตัว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๗
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ตั้งใจนะ สิ่งที่ประเสริฐที่สุด สภาวธรรมประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่สุดเพราะธรรมนี้สามารถชำระความทุกข์ไง ทุกคนมีความทุกข์ในหัวใจ ทุกคนนะ เพราะเราเกิดมาอวิชชาพาเกิด สิ่งที่เป็นอวิชชานี้ ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจำแนกไว้ เราก็ไม่รู้อะไรเป็นอะไรหรอก ขนาดว่ามีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำแนกเอาไว้แล้ว เราก็ยังไม่เข้าใจ

ชีวิตนี้คืออะไร จิตนี้คืออะไร สมาธินี้เป็นอย่างไร เราก็ได้แต่ชื่อไง ถ้าได้แต่ชื่อนะ สิ่งนั้นเป็นชื่อ แต่ผลจะเกิดจากใจของเรา ใจของเรานี้เป็นความสัมผัสของใจ ถ้าใจไปสัมผัสสภาวะแบบนั้น มันจะเป็นความสุขของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะสัมผัสสิ่งนี้เป็นความจริงไง

“หลงถึงลืมตัว” หลงถึงลืมตัวไง ความลืมตัวของเรา เราเกิด เราลืมตัวลืมตน ถ้าเราลืมตัวลืมตน เพราะสิ่งที่ว่าธรรมจำแนกไว้ มนุษย์สมบัตินี้สำคัญมาก ความเกิดเป็นมนุษย์สำคัญสุดๆ เพราะวัฏวนเห็นไหม แจ๊คพอต เราปาแจ๊คพอตช่องเล็กนิดเดียว สิ่งที่ปาแจ๊คพอตได้ การเกิดของมนุษย์ก็เหมือนกัน ช่องเล็กๆ นะ ถ้าไม่เกิดเป็นมนุษย์ ในวัฏวนนี้ มหาศาลที่จิตนี้จะพาตายพาเกิด กรรมอกุศลพาเกิดในที่ต่ำ บุญกุศลทำให้เกิดในที่ที่สุขสบาย

แต่ที่สุขสบายขนาดไหน มันก็เหมือนเรา เหมือนที่ว่าเราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว แล้วเรามีความรู้สึกอย่างไรในหัวใจ หัวใจของเรานะ ถ้าเกิดมาเป็นเด็ก เราก็มีความสุขของเรา เพราะมีพ่อแม่คอยเลี้ยงดู สิ่งที่เลี้ยงดู ความรับผิดชอบเราไม่มีไง ชีวิตนี้ดำเนินไปอย่างนั้น จะมีความสุขมาก ชีวิตของมนุษย์นี่ตอนเป็นเด็กจะมีความสุข ความสุขเพราะว่าเรามีหน้าที่การศึกษาหาความรู้ไง เพื่อจะยืนอยู่ในสังคมให้ได้ พ่อแม่ก็หวังอย่างนั้น พ่อแม่มีความสุขมากถ้าลูกของเราประสบความสำเร็จนะ ลูกของเราประสบความสำเร็จ เราประสบความสำเร็จทางโลก

“อวิชชา” สิ่งที่ไม่รู้ ไม่รู้เรื่องของชีวิตไง สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของโลก แล้วเราก็พอใจ โลกคิดกันอย่างนั้น ถ้าทำความประสบความสำเร็จทางโลก จะมีความสุข มีความพอใจ มีคนนับหน้าถือตาไง จะมีใครนับหน้าถือตา จะมีคนไม่นับหน้าถือตาขนาดไหน จิตนี้ก็ต้องเวียนตายเวียนเกิดธรรมชาติอย่างนี้ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่ว่า “จิตนี้พาเกิดพาตาย” เราจะเมาในชีวิตนะ ถ้าเราไม่มีธรรมะมาเตือนสติเรานะ

“หลงจึงลืมตัว” หลงจึงลืมตัวไง ความลืมตัวลืมตนของเรา ลืมจนลืมชีวิตนะ เมาในชีวิต ลืมตัวลืมตนก็มัวเมา สิ่งที่มัวเมา คนเขาเมาเหล้านะ ถ้าเขาเมาเหล้า เวลามันขับถ่ายออกไป คนเขาก็มีสติขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราเมาในชีวิตนะ เราเมาในชีวิตว่าชีวิตนี้ยังอีกยาวไกล เรามัวเมาในชีวิต แล้วเราก็ใช้ชีวิตของเราไปตามกระแสโลก สิ่งที่ตามกระแสโลก เห็นไหม เขาโคมี ๒ เขา ขนโคมีทั้งตัวเลย นี้ก็เหมือนกัน ความเป็นไปของโลก เห็นไหม เขาโคมี ๒ เขา คนอยากออกประพฤติปฏิบัติ คนมีความเข้าใจในหลักธรรมตามความเป็นจริงจะมีแค่เหมือนเขาโค สิ่งที่มีเขาโคมีน้อยมาก แต่ขนโคมีมหาศาลเลย

จิตในโลก ชีวิตเขาก็เป็นแบบนั้น เขาติดอยู่ในโลก ความคิดของเขาในโลก เขามัวเมาในโลก มัวเมานะ มัวเมาในอารมณ์ของตัวเอง มัวเมาในชีวิตว่าชีวิตนี้มันเกิดมาแล้ว สิ่งที่ว่าไม่ศึกษาเลยก็ไม่เข้าใจ ยอมรับความจำนนไง ยอมจำนนกับชีวิตว่าชีวิตนี้เป็นแบบนี้ แล้วเราก็ใช้ชีวิตไปเพื่อความประสบความสำเร็จทางโลก ประสบความสำเร็จทางโลกนะ เราคิด เรามั่นหมาย แต่กิเลสตัณหานี้ไม่มีเมืองพอ จะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนมันก็ต้องการ ตัณหานี้ล้นฝั่งตลอด สิ่งที่ล้นฝั่งตลอด มันก็ต้องทำให้เราต้องแสวงหาสิ่งนั้นตลอดไป แล้วเมื่อไรมันจะมีความสุขล่ะ แล้วเมื่อไรมันจะมีวันพอล่ะ

มันจะเป็นความพอไปไม่ได้ถ้าเราไม่ชักฟืนออกจากไฟ ถ้าเราชักฟืนออกจากไฟ ไฟนั้นสงบตัวลงได้ การชักฟืนออกจากไฟเห็นไหม เราต้องไม่ลืมตน ถ้าเราลืมตน เราจะเริ่มต้นจากเราไม่ได้เลย สิ่งต่างๆ ก็เป็นความจำเป็นไปทั้งหมด โลกนี้เกิดมามีความจำเป็น เราต้องหาที่ยืนในสังคมให้ได้ เราต้องหาสิ่งที่ว่าเป็นเกียรติยศกิตติศัพท์ของเราให้ได้ นี่โลกเขาถือกันเรื่องยศเรื่องเกียรติไง นั้นเป็นเรื่องของกิเลสนะ

เวลาเราบวชพระขึ้นมา ออกมาจากคฤหัสถ์ต่างๆ บวชพระขึ้นมาแล้วนี่เสมอกันโดยศีล ศีล ๒๒๗ เสมอกัน ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ว่าความเป็นอยู่จะมีความสุขพอสมควร ความสุขพอสมควรนะ เพราะเราบวชมาแต่ร่างกายไง แต่หัวใจเรายังไม่ได้บวชไง ถ้าเราไม่บวชในหัวใจนะ ก็เมาในเพศไง ถ้าเราเมาในเพศ เราก็ว่าเราเป็นพระเป็นเจ้า เราต้องมีความสุขสิ ต้องถามหัวใจของเราว่ามันเป็นความสุขจริงไหม ถ้ามันเป็นความสุขจริง เราต้องมีความร่มเย็นในหัวใจ สิ่งที่จะมีความร่มเย็นในหัวใจ เราต้องไม่มัวเมา เราต้องไม่ให้กิเลสมันหลอก

หลงในกิเลสของตัวเองนะ หลงในกิเลสของตัวเอง แล้วเราก็จะมัวเมากับชีวิตของเรานะ เราจะหลงลืมตัวลืมตน ถ้าลืมตัวลืมตนเห็นไหม จุดเริ่มต้น จุดที่เริ่มสตาร์ทอยู่ที่ไหน ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราจะไม่ลืมตัวลืมตน ถ้าเราไม่ลืมตัวลืมตนเราจะยืนอยู่ได้ไง ยืนอยู่ได้ มีความสุขพอสมควร สติสัมปชัญญะมันจะอยู่กับตัวตนของเรา ถ้าสติสัมปชัญญะไม่อยู่กับตัวของเรา ความคิดมันฟุ้งซ่านไปตลอด มันเกาะเกี่ยวไปทั้งนั้นน่ะ

ความคิดเห็นไหมว่าเวลาเราเกิดขึ้นมาตั้งแต่เด็กแล้วเจริญเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แก่หง่อมไปโดยธรรมชาติของมัน นี่สภาวะร่างกาย ธรรมชาติของมันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่หัวใจสิ หัวใจที่เป็นเด็กขึ้นมามันก็อยากเป็นผู้ใหญ่ มันอยากเป็นอิสรภาพ อยากต้องการมีชีวิตโดยเสรีภาพของมัน เวลามันจะแก่ขึ้นมา มันก็ไม่อยากแก่ มันอยากจะมีชีวิตของมันตลอดไป...มันฝืนธรรมชาติไปหมด มันต่อต้านกับหลักความจริงไปทั้งนั้น

นี้ถ้ามันเมาในอารมณ์ของตัวเอง มันจะมีการต่อต้านไป ความต่อต้าน ความขัดข้องของใจ มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ล่ะ ถ้ามันเป็นความทุกข์ในหัวใจ สิ่งนี้มันเป็นพื้นฐานไง “โลกนี้มีเพราะมีเรา” ถ้าเรามีพื้นฐานอย่างนี้ การแสวงหาทางโลกนั้นเป็นปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะอย่างนี้ เราจะใช้ชีวิตของเราด้วยความประเสริฐมาก

“พระเป็นผู้ประเสริฐ” ประเสริฐเพราะอะไร เพราะพระนี้เข้าใจตามความเป็นจริงทั้งหมดไง เราเป็นพระผู้ประเสริฐจากภายนอก แล้วตัวใจของเราจะเป็นพระขึ้นมาจากหัวใจ เป็นผู้ประเสริฐ ถ้าไม่เป็นผู้ประเสริฐมันก็มัวเมา สิ่งที่มัวเมาเห็นไหม มัวเมาในอารมณ์ต่างๆ มัวเมาไปหมดนะ

ถ้ามัวเมาไปหมด นี่ “หลงในกิเลส แล้วก็ลืมตน แล้วจะทำลายตนนะ” ทำลายตนก่อนแล้วจะไปเบียดเบียนผู้อื่น ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะมันเป็นธรรม นี่มันจะไม่ทำลายตน มันจะก่อตัวก่อตนขึ้นมา ถ้าก่อตัวก่อนตนขึ้นมา จิตมันมีเป้าหมายไง จิตมันมีสติสัมปชัญญะ แล้วมันก็ควบคุมตัวของมันเอง สิ่งที่ควบคุมตัวของมันเอง “คน” เอาตัวของตัวไว้ได้ไง เอาใจของใจอยู่ในอำนาจของเราเป็นผู้ที่ประเสริฐนะ

สิ่งที่โลกนี้เป็นการแข่งขันทั้งหมด สิ่งที่เป็นการแข่งขันมันต้องมีกลอุบายวิธีการของเขา เพื่อจะให้ได้ชัยชนะของเขามาทั้งนั้น แต่ถ้าเราเอาชนะตัวเราเอง มันไปแข่งขันกับใครล่ะ เราไม่ต้องการพึ่งสิ่งภายนอกเลย การประพฤติปฏิบัตินะ มีกายกับใจ ถ้ามีกายกับใจเห็นไหม มันเป็นความมุมานะของเรา ถ้าเรามีความมุมานะของเรา เราแข่งกับตัวเราเองนะ เวลานี้โลกเขาพูดกันไง เขาไม่รู้จะแข่งกับใคร เพราะไม่มีคู่แข่ง เขาต้องแข่งกับตัวเขาเอง เห็นไหม เวลาเขาพูด พูดเป็นโวหารเฉยๆ

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เขามีแต่ความทุกข์นะ จะแข่งกับตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองยังประกอบเรื่องของสังคมอยู่อย่างนั้น มันก็ต้องเป็นเรื่องการแข่งขัน แต่พูดเป็นโวหารไง แต่ของเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราเข้าป่าเข้าเขานี่เราอยู่กับใคร เราอยู่กับตัวของเราเอง ถ้าเรา การประพฤติปฏิบัติจะ ๒๔ ชั่วโมงนะ จะ ๗ วัน ๘ วันก็แล้วแต่ เดินจงกรมของเรา เราอยู่กับเราเท่านั้น ถ้าเราอยู่กับเราเท่านั้น เราไม่ต้องอาศัยสิ่งใด จะต้องมาให้กำลังใจ จะต้องมาบั่นทอนกำลังใจของเรา...จะให้กำลังใจหรือบั่นทอนกำลังใจ อันนั้นมันเป็นเรื่องจากภายนอก

แต่ถ้าใจเรามีกำลังของเราขึ้นมา สัจจะความจริงมันจะมี ถ้าเรามีสัจจะ เรามีความจริงกับหัวใจของเรา การประพฤติปฏิบัติของเราจะก้าวเดิน เราจะได้สัจจะได้ความจริงของเราขึ้นมาก่อน สัจจะความจริงนี้มันจะเปิดโอกาสของใจขึ้นมา นี่ไม่ลืมตัว ถ้าไม่ลืมตัวมันจะย้ำอยู่กับเรา

คนเราเดินซอยเท้าอยู่กับที่นี่มันน่าเบื่อหน่ายมาก ถ้าเราเดินแล้วเราก้าวเดินไป เราจะพอใจว่าเราก้าวเดินแล้วถึงเป้าหมาย แต่การซอยเท้าอยู่กับที่นี้ เป็นโอกาสไง ถ้าเราไม่เคยซอยเท้าอยู่กับที่...เคยเห็นเด็กมันหัดเดินไหม ถ้ามันไม่ก้าวเท้าออกไปมันก็เดินไม่ได้ มันก็ยืนของมันไม่ได้ การซอยเท้าอยู่กับที่มันเป็นสัจจะความจริงอันหนึ่งที่ทำให้เราพยายามจะว่ามีเวลาในการว่าถือเนสัชชิก ถือการอดอาหาร อดนอนผ่อนอาหาร สิ่งนี้มันเป็นเรื่องเปิดโอกาสให้ใจของเราจะก้าวเดินออกไป

จิตของเรามันโดนอวิชชามันครอบงำไว้ไง พญามารนี้มีความร้ายกาจมาก นี่เจ้าแห่งวัฏฏะ ปกครองสัตว์โลกอยู่ตลอดเวลา เราทำคุณงามความดีขนาดไหน มันก็ตกอยู่ในใต้ของพญามาร เพราะพญามารนี้มันเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในใจมาตลอด เราสร้างคุณงามความดีนะ มนุษย์สมบัตินี่ถึงไม่ให้ลืมตนไง มนุษย์สมบัตินี้สำคัญมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์นะ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วออกประพฤติปฏิบัติมา เพราะมันมีความสุข-ความทุกข์ในร่างกายของเรา มีความสุขความทุกข์...ทุกข์กาย ทุกข์ใจ

หัวใจมันอิ่มเต็มขนาดไหน แต่ถ้ามันมีร่างกายอ่อนแอ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นความทุกข์ยาก ถ้าคนเกิดมามีอำนาจวาสนาร่างกายก็แข็งแรง จิตใจก็เข้มแข็ง แต่ถ้ามันมีกรรมมา แล้วแต่ว่าจะเจอประสบสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอำนาจของกรรมไง อำนาจของกรรมทำให้เป็นไป ถ้าเราทำคุณงามความดี เราก็ผ่อนคลายสิ่งนี้มา ผ่อนคลายนะ คนที่สร้างบุญกุศลขึ้นมา มันจะมีช่องทางให้ใจนี้พอผ่อนคลายออกไป สิ่งที่ใจผ่อนคลายออกไปมันก็เบาใจเบากายเข้ามาใช่ไหม

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เห็นไหม พระเจ้าพิมพิสารถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ควรทำบุญในที่ใด?”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ควรทำบุญในที่เธอพอใจ”

นี้ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดที่มันตรงกับจริต ตรงกับนิสัยของเรา สิ่งใดเราตั้งใจอย่างไร สิ่งที่ว่าเราควรเปิดใจของเราให้มีความต้องการก่อน แล้วพระเจ้าพิมพิสารยังถามต่อไปนะ

“แล้วถ้าเกิดอยากได้มรรค อยากได้ผล ผลที่มากล่ะ”

“อย่างนี้ต้องถือว่าเนื้อนาบุญไง”

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรื่องของทำความสงบของใจให้ตรงกับจริต ให้ตรงกับนิสัยของเรา แล้วเราพยายามของเราขึ้นมา เห็นไหม อะไรก็ได้ ทำของเราเพื่อให้มีพื้นฐานของใจ แต่ถ้าจะเอาผลกันล่ะ สิ่งที่จะเอาผลกัน มันต้องเข้าถึงมรรคะ-มรรคาไง มรรคคือทางอันเอก “ทางอันเอก” ทางนี้มีทางเดียว จะประพฤติปฏิบัติขนาดไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่ว่าเป็นความสะดวก เป็นความพอใจของเรา นั่นน่ะ มันเป็นความพอใจ เป็นความสะดวกเพื่อทำให้เรามีพื้นฐานขึ้นมาไง

สิ่งที่มีพื้นฐานขึ้นมาในหัวใจเห็นไหม เวลาสุขเวลาทุกข์ ใครเป็นคนสุขคนทุกข์ล่ะ ใจของเราเป็นผู้สุข-ผู้ทุกข์ เวลาสุขนั้นมันเป็นความพอใจ นี่ในอามิส สิ่งที่กระทบกับใจแล้วมีความสุขพอสมควร มีความสุขนะ เพราะตรงกับกิเลสไง กิเลสคือความอยากได้ ความต้องการสิ่งต่างๆ แล้วเราหาสิ่งนั้นมาปรนเปรอมันได้ นี้สุขโดยอามิสไง โลกเขาอยู่กันแค่นี้แหละ

เวลาพักผ่อนเห็นไหม ไปพักผ่อนกัน ผ่อนคลายเพื่อมีความสุขของเขา เขาก็แสวงหาของเขานะ พยายามจะหาสิ่งต่างๆ ขึ้นมาปรนเปรอให้ตัวเองมีความสุข แต่สิ่งนั้นมันปรนเปรอไม่ได้ น้ำไหลลงทะเล ทะเลนี้ไม่เคยอิ่มเต็ม ขนาดไหนก็ไหลลงทะเล รับได้หมด ในหัวใจของเราก็เหมือนกัน ถมไม่เต็มหรอก เราจะเอาสิ่งใดถมเข้าไป ไม่เคยเต็ม จะไม่มีวันพอเลย ใจนี้พอไม่เป็น

ถ้าพอเป็น เราต้องมีสติ ไม่ให้ลืมตน ถ้าลืมตนมันต้องแสวงหาสิ่งนั้นตลอดไป ถ้าเรามีสติ เราเริ่มกำหนดพุทโธๆ เพื่อให้ใจนี้สงบ ใจนี้อิ่มเต็ม ถ้าใจนี้สงบใจนี้อิ่มเต็มนะ เราจะไม่ต้องดิ้นรนไปตามอำนาจของกิเลสมากนัก ไม่อย่างนั้นกิเลสมีอำนาจมากในหัวใจดวงนี้ สิ่งใดผ่านมาในคลองของตา ในคลองของหู ในคลองต่างๆ สิ่งนี้มันจะยึดของมันตลอดไป มันยึดนะ มันต้องการ ถ้ามันสิ่งที่ว่าเป็นความพอใจของมันเห็นไหม

สิ่งที่ไม่เป็นความพอใจ มันก็จะผลักไส ยิ่งผลักไสจิตมันก็ยิ่งรู้ เพราะมันไม่พอใจ สิ่งที่ไม่พอใจมันจะกระทบรุนแรงมากกับหัวใจของเรา แล้วจะทำให้สิ่งนี้ดิ้นรน ดิ้นรนนะ ถ้าสิ่งใดยิ่งไม่พอใจยิ่งจะผลักไส มันจะยิ่งดิ้นรน เพราะเราคิดประสาเราไง เราคิดว่าถ้าเราผลักไสมันจะออกไป สิ่งนั้นไม่คิดว่าตัณหาความทะยานอยาก เรื่องอวิชชาในหัวใจมันเป็นยางเหนียว ยิ่งผลักไสเพราะมันเจ็บแสบในหัวใจ มันยิ่งทำให้เจ็บแสบ ในหัวใจจะเจ็บแสบมาก

แต่ถ้าเราปล่อย เราปล่อยสิ่งนั้น โดยกลับมาพุทโธๆ ไม่สนใจกับสิ่งนั้น เห็นไหม วิธีการแก้ไขเราก็ไม่เข้าใจ นี่เราถึงบอก “ควรทำบุญกับสิ่งใด ควรทำกับสิ่งใด ควรภาวนากับสิ่งใด” เราก็คิดว่าเราจะทำภาวนา...เราคิดของเราเองไง ถ้าเราคิดของเราเอง เราก็ลืมตน ลืมตนเพราะเราคิดของเรา อวิชชามันหลอก ถ้าหลอกนะ เราเชื่ออวิชชา อวิชชาต้องหลอก ต้องทำให้เราผสม กิเลสต้องการให้สัตว์โลกนี้อยู่ในอำนาจของมัน มันจะสร้างเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้เราหลงงมงายไปในอำนาจของมัน

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราเข้าใจว่าเราเป็นการประพฤติปฏิบัติ ก็ให้กิเลสมันหลอกไป สิ่งที่กิเลสมันหลอกไป มันสร้างภาพต่างๆ ขึ้นมาให้เราติดพันไปตลอดเลย สิ่งที่ติดพันไปตลอด มันเป็นคติธรรมนะ ถ้าเรื่องของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคติธรรมนี่เราต้องจับไว้ที่ในหัวใจ แล้วเปรียบเทียบสิ เราเทียบกับสิ่งต่างๆ ถ้าเราทำประพฤติปฏิบัติมามันเข้ากับหลักการไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในกาลามสูตร “ไม่ให้เชื่อนะ ไม่ให้เชื่อเพราะครูบาอาจารย์ ไม่ให้เชื่อสิ่งที่ว่าเขาทำตามๆ กันมา ไม่ให้เชื่อทั้งนั้น ให้พิสูจน์ขึ้นมาจากใจ” แต่ต้องมีศรัทธา ศรัทธาในหลักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราศรัทธา แต่ความเชื่อ ความเห็นของใจ การกระทบของใจ ถ้าเราเชื่อ เรางมงายไปมันก็ลืมตน แต่ถ้าเราพิสูจน์ของเราขึ้นมา เรากำหนดพุทโธๆ เราควบคุมใจของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา เราควบคุมใจของเราเข้ามา อันนี้มันเป็นการเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติของเรา

“ใจ” ประสบการณ์ทางโลก คนที่มีการผ่านงานทางโลกมาไปสมัครงาน เขาถึงบอกว่าต้องการคนที่ผ่านประสบการณ์ ๕ ปี ๑๐ ปี เพราะอะไร เพราะประสบการณ์อันนั้น เขาได้การทำงานมา เขามีประสบการณ์ของเขาในการทำงาน มันจะเข้าใจเรื่องของงาน การประพฤติปฏิบัติเราก็เหมือนกัน ประสบการณ์ของใจ ประสบการณ์ของใจ กำหนดพุทโธ จิตร่มเย็นไหม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิดึงใจไว้ได้ไหม เราใช้อุบายวิธีการอย่างใด ทำควบคุมจิตของเราให้ได้

“เอาตนของตนไว้ในอำนาจของตน” เอาตนนะ เอาตนของตน

“ตน” คือเรา

แล้ว “ของ” ทำไมไม่เป็นของเราอีกล่ะ ?

“แล้วไว้ในอำนาจของเรา” นี่ “เอาไว้” สิ่งนี้มีสติควบคุมสิ่งนี้ได้ ถ้าเอาไว้ เอาตนของตนไว้ในอำนาจของตน นี้คือจิตตั้งมั่นนะ ถ้าจิตตั้งมั่นเห็นไหม จิตอิ่มเต็ม จิตไม่บกพร่อง สิ่งที่ไม่บกพร่อง ไม่ต้องการแสวงหาสิ่งใด มันอิ่มเต็มไป อิ่มเต็มของมัน นี่สัมมาสมาธิ ทำจิตของเราให้สงบตั้งมั่นได้ สิ่งที่สงบตั้งมั่นได้แล้วจะออก ควรออก จะทำงานอย่างใดล่ะ

ในเมื่อเราควบคุมตนได้ เราไม่หลงในตนของเราเอง เราไม่มัวเมาไปในชีวิต เราไม่มัวเมาไปในโลก สิ่งที่ว่าควบคุม ควบคุมที่ว่าให้ตั้งมั่นขึ้นได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา...ออกไปเห็นไหม ยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สิ่งนี้จะเป็นการงานของเรา ของมรรคอริยสัจจัง “มรรคโค” ทางอันเอกไง ทางนี้จะออกรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ จะทำลายความมัวเมา ความเศร้าหมองของจิต สิ่งที่จิตนี้มัวเมาเศร้าหมองเพราะสิ่งนี้เป็นฐาน แล้วออกไปยึดมั่นถือมั่นต่างๆ สิ่งนี้ออกไปยึดมั่นถือมั่นนะ

ชีวิตของเรา เราเกิดมาด้วยบุญกุศล ถ้าไม่มีบุญกุศลเกิดมา มันจะต้องไปตามอำนาจของจิตนี้ ดูอย่างทางโลกเขา เวลาคนตาย คติธรรมเขาก็มีอยู่ เวลาตราสังข์ สังข์ข้อมือ ข้อเท้า ข้อมือ ห่วงบุตร ห่วงภรรยา สิ่งห่วงต่างๆ อย่างนี้ เอ็งต้องตายต้องเกิดในสภาวะแบบนี้อยู่แล้ว มันเป็นความเป็นห่วงอยู่ เวลาวนเมรุ ๓ รอบ กามภพ รูปภพ อรูปภพ นี่จิตมันต้องไปตามสภาวะแบบนั้นแน่นอน วัฏฏะมีเท่านี้ แล้ววงเวียนไปในอำนาจของวัฏฏะนี้ จิตมันจะตายเกิดๆ ตามสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะรื้อสัตว์ รื้อไง

เราเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง สัตตะ คือเป็นผู้ข้อง ใจนี้เป็นผู้ข้อง ใจนี้ก็ต้องเวียนไปในวัฏฏะ สิ่งที่เวียนไปในวัฏฏะตามอำนาจของกรรม ถ้าเราทำคุณงามความดี เราตั้ง มีสติสัมปชัญญะ ทำคุณงามความดีสะสมมา แต่กิเลสในหัวใจมันก็ต้องมีอำนาจ คนเราเกิดมาทั้งชีวิต มันมีความพลั้งเผลอ ความผิดพลาด แล้วสิ่งที่ผิดพลาดอันนั้นน่ะ มันจะฝังใจมาก จะคอยคุ้ยเขี่ยให้ใจนั้นเลือดออกตลอดเวลา แผลของใจ แล้วมันจะคอยเขี่ยให้แผลใจนั้นมีความเจ็บปวดในหัวใจตลอด สิ่งนี้จะฝังใจ ถ้าฝังใจ เวลาถ้าเราตายไป สิ่งนี้มันจะทำให้เราเสวยก่อน ถ้าเราเสวยก่อน เราก็เวียนไปในวัฏฏะ ทั้งๆ ที่เราทำคุณงามความดีนะ

คุณงามความดีแบบนี้ คุณงามความดีแบบโลก โลกหมุนไปตามสภาวะแบบนั้น เราถึงต้องประมาทไม่ได้ไง ถ้าเราประมาทสิ่งนี้ ชีวิตก็ต้องเวียนไปเป็นอำนาจของวัฏฏะ สิ่งที่เป็นอำนาจวัฏฏะ นี่พญามารควบคุมทั้งหมดเลย แล้วเรากำลังต่อสู้กับพญามาร พญามารอยู่ในหัวใจ แล้วก็ควบคุมใจของเราให้อยู่ในอำนาจของมัน อยู่ในอำนาจนะ เราถึงเอาตนของตนไว้ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งนี้มันรุนแรงและมันดิ้นรนไปตามอำนาจของมัน

นี่เราถึงฟังธรรมไง จากใจดวงหนึ่งของครูบาอาจารย์นะ ให้กับใจของเรา ประสบการณ์ตรงของเรา เราต้องฝึกฝนขึ้นมา ฝึกฝนต้องคติธรรมเตือนตัวเองตลอด ถ้าเราเตือนตัวเองตลอดด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วพยายามทำความเพียรของเรา ความมุ่งมั่นของเรา

เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานี้เป็นธรรมโอสถ ยาอย่างประเสริฐ “ธรรมโอสถ” ถ้าเราแก้กิเลสของเราได้ เรามีโอสถที่จะแก้ใจของเราได้ เราจะทำสิ่งนี้ได้ แต่ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา ในสมัยพุทธกาลนะ กาฬเทวิลเขาทำสมาบัติได้ เขาระลึกชาติได้ ๔๐ ชาติ ระลึกอนาคตได้ แต่เขาก็ยังไม่มีโอกาสเลย ทั้งๆ ที่ว่าเขาพร้อมนะ คนสภาวะแบบนี้ มีฐานะแบบนี้ พร้อมมาก ถ้ามีคนชี้นำจะออกทันทีเลย แต่เมื่อไม่พบพระพุทธศาสนา เขาก็ต้องตายไปชาติหนึ่ง

แล้วเราเกิดมากึ่งกลางพระพุทธศาสนา “มรรคอริยสัจจัง” สิ่งนี้มีอยู่ ถ้าเรามีสัมมาสมาธิที่ว่าพยายามสร้างสัมมาสมาธินี้ขึ้นมา เราจะเจอสิ่งนี้ได้ เราจะยกขึ้นของเราได้ ยิ่งมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เห็นไหม ผู้ที่อยู่สูงกว่า คนที่เราตกน้ำอยู่ คนอยู่บนบกจะช่วยเรา ดึงให้เราขึ้นสู่บก พ้นจากน้ำได้ นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติ เรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำเราอยู่ เหมือนกับดึงเราขึ้นไปไง ถ้าดึงเราขึ้นไป แต่ความรู้สึก ความกดถ่วงของใจ สิ่งนี้มันเป็นน้ำหนักไง หนักในหัวใจมาก ติดพันความเห็นของตัว เวลาศึกษาธรรมเห็นไหม ศึกษาธรรมก็คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น

นี่ประสบการณ์ของเรา ประสบการณ์ของเราทำงานในชั้นประสบการณ์ในน้ำ กับประสบการณ์บนบกต่างกัน เวลาเต่าอยู่บนบกแล้วลงไปในน้ำคุยกับปลา คุยกันได้อย่างไร ปลาจะรู้เรื่องบนบก เรื่องสภาวะเป็นแบบใด จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันชุ่มไปด้วยกาม มันชุ่มไปด้วยความเห็นของมัน มันจะติดพันความเห็นของมัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เหมือนปลานั่นน่ะ มันจะฟังเต่าพูดว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วมันก็จะจินตนาการ เพราะมันอยู่ในน้ำไง มันไม่เคยขึ้นไปบนบก มันจะรู้ว่าบนบกจะมีอะไรบ้าง นี่บนบกเขาอยู่กันอย่างไร

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อใจของเราชุ่มไปด้วยกิเลสของเรา เราก็ต้องตีความไปของเรา นี่ประสบการณ์ของเรา ใช้ประสบการณ์ของเรา มันถึงไม่ใช่สัจธรรมความจริงไง สัจธรรมความจริงมันเป็นถึงเรื่องของอริยสัจที่จะเกิดขึ้นโดยสภาวธรรมอันนั้น เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา เพื่อจะไม่ให้เราคาดเราหมายสิ่งต่างๆ แล้วเราทำประสบการณ์ของเราให้เข้าถึงสภาวธรรมอันนั้น ถ้าเราเข้าถึงสภาวธรรมอันนั้น นี่สัจธรรมจะเกิดขึ้นมาจากใจของเรา ถ้าสัจธรรมเกิดขึ้นมาจากใจของเรา ความไม่รู้ นี่อวิชชามันจะจางลงๆ ไง

ถ้าเราพิจารณากายของเรานะ ความยึดมั่นถือมั่นโดยธรรมชาติ “สรรพสิ่งในโลกนี้มีเพราะมีเรา” เจ้าทฤษฎี เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีบอกว่า “โลกนี้มีเพราะมีเรา” ถึงต้องตั้งทฤษฎีว่า “จะต้องทำลายเรา” เขาเป็นคนคิดเรื่องการทำลายตนนะ การฆ่าตัวตาย “โลกนี้มีเพราะมีเรา” ถึงกำหนดแล้ว ถึงประกาศฆ่าตัวตาย จะทำลายเรา เขาเข้าใจของเขาว่าอย่างนั้น เห็นไหม นี่กิเลสเวลามันพาคิด คิดอย่างนั้นไง “โลกนี้มีเพราะมีเรา” จะทำลาย ต้องทำลาย ต้องฆ่าตัวตายเสีย เพื่อจะหนีโลกนั้น

มันฆ่าได้ที่ร่างกายนี้ หัวใจอยู่ในร่างกายนี้ อาศัยร่างกายนี้ อาหารนี้เลี้ยงร่างกาย หัวใจอาศัยสิ่งนี้สืบต่อชีวิตกันมา แล้วทำลายแต่ร่างกาย แล้วหัวใจมันทำลายได้ไหม นี่กิเลสในใจนี้ไม่ทำลาย ถ้าไม่ได้ทำลายเรื่องกิเลสในหัวใจ เขาก็ต้องเกิดในวัฏฏะโดยธรรมชาติไง

แต่เพราะเขาเป็นปลา เขาอยู่ในน้ำ เขาถึงคาดการณ์เรื่องของบนบกไม่ถูก ถ้าเขาคาดการณ์เรื่องของบนบกไม่ถูก เขาก็คาดหมายไปโดยอวิชชาของเขา นี่กิเลสหลอก แล้วก็ลืมตน ลืมตัว มัวเมาไปในธรรมไง ธรรมที่ตัวเองเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสัจธรรม เป็นความภูมิอกภูมิใจนะว่าเราเป็นผู้รู้ เรามีความเป็นผู้ที่องอาจกล้าหาญมาก เราเห็นเราเชื่อในเรื่องของกิเลสมันหลอก แล้วเราก็ประกาศฆ่าตัวตาย สิ่งที่เขาฆ่าตัวตายเป็นไหม แต่เวลาเราทุกข์ร้อนขึ้นมา คนเราทุกข์ร้อนขึ้นมาจะหนีสภาวะแบบนี้ ก็ใช้สภาวะแบบนี้เป็นทางออกเหมือนกัน ถึงทำลายตัวเองนี้ก็เป็นสภาวะของทางออก

ดูสิ เวลาทุกข์มันบีบคั้นไง แล้วกิเลสมันมารับมาแบ่งปันความผิดพลาดอันนี้ไปจากเราบ้างไหม เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมานี่เกิดขึ้นมาจากใจ แล้วก็ให้ใจหลงผิดไป แล้วก็ทำลายตนออกไป นี่การทำลายชีวิตของเราที่เป็นสมบัติอันประเสริฐมาก ชีวิตนี้ไง เราต้องการใช้ชีวิตนี้เพื่อการดำรงชีวิต เพื่อการประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำลายอวิชชาจากหัวใจของเรา เราฆ่าอวิชชาต่างหาก ฆ่าความเห็นผิด เราไม่ได้ทำลายร่างกายและไม่ได้ทำลายหัวใจเลย

แต่เวลาเราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิ เราเป็นการทรมาน ทรมานกิเลสไง ทรมานสิ่งที่ว่ามันต้องการแสดงตัว ต้องการสิ่งที่มีอำนาจในหัวใจไง มันต้องการแสดงอำนาจของมัน แล้วก็ขับไสให้เราสร้างกรรม ทำตามความพอใจของมัน มันพอใจสิ่งใด มันก็พยายามสั่งให้เราทำสภาวะแบบนั้น ด้วยเหตุด้วยผลของกิเลสที่มันปั้นแต่งขึ้นมา แล้วเราก็เชื่อความคิดของเรา เพราะว่าเราเป็นคนคิดเอง ทั้งๆ กิเลสพาคิดไง

นี่ลืมตัวลืมตนนะ แล้วก็เบียดเบียนเบียนตน ทำลายโอกาสของตน แล้วก็ไปทำลายโอกาสของคนอื่นด้วยว่าทำแบบเรานี้จะถูกต้อง ทำแบบเรานะ แต่เวลาฆ่าตัวตายไปแล้วไปเจอสภาวะว่ามันไม่ได้ตาย เพราะอะไร เพราะธาตุรู้นะ ชีวิตนี้คือไออุ่น สิ่งที่เป็นสสารของธาตุรู้นี้ มันจะต้องไปเกิดในสภาวะต่างๆ ก็เรานี่ไปทุกข์ แต่เวลาไปทุกข์เราจะมาบอกให้ใครฟังได้ล่ะ เพราะมันเป็นคนละมิติ เป็นคนละสถานะ เป็นสภาวะของจิตที่มันเคลื่อนออกไปจากมนุษย์แล้ว มันก็ต้องไปตามสภาวะกรรมที่เราทำ เราสร้างกรรมอันนี้ขึ้นมา มันก็ต้องไปเสวยกรรมของมันที่มันสร้างผลของมันขึ้นมา แล้วเราจะไปชักนำใครล่ะ

เราทำตัวของเราเองให้ผิดพลาด แล้วเราสอนให้คนอื่นผิดพลาด เห็นไหม กรรมมันจะสร้างสมขึ้นมา “การลืมตนไง” ลืมตนทำลายตนแล้วยังชักนำให้คนอื่นหลงทางไปกับตนอีก สิ่งนี้มันถึงเป็นความผิดพลาด ถ้าเป็นความผิดพลาดเราถึงต้องหาที่พึ่ง หาสิ่งที่เราลงใจไง เราลงใจที่ไหน เราก็ต้องหาครูหาอาจารย์ที่นั้น เพื่อเป็นที่ว่าเป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้คอยดึงเราขึ้นบก ถ้าดึงเราขึ้นบกได้นะ เราจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริง น้ำเราก็รู้ เพราะเราเคยอยู่ในน้ำ ทุกหัวใจเกิดในกิเลส กิเลสในหัวใจใครจะไม่รู้

ความทุกข์ เวลาให้รำพึงรำพันกันนะ พูดไม่มีวันจบหรอก เพราะทุกดวงใจมันมีทุกข์อยู่แล้ว สิ่งนี้เหมือนกับเราอยู่ในน้ำ เหมือนปลาอยู่ในน้ำที่มันรู้สิ่งนี้โดยธรรมชาติ แต่ถ้าเราขึ้นไปบนบกสิ สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งความมหัศจรรย์ของใจดวงนี้ที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้เป็นธรรมในหัวใจ ถ้าสิ่งนี้เป็นธรรมในหัวใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจ หัวใจนะ “ธรรมเกิด” ภาชนะที่จะใส่ธรรมคือหัวใจของสัตว์โลก

เทวดาในสมัยพุทธกาลฟังธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมก็มี เพราะมีอะไร เพราะมีหัวใจ มีธาตุรู้ ถ้ามีธาตุรู้อยู่นี้ แต่อวิชชาขับปิดบังอยู่มันจะไม่รู้สภาวะแบบนั้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เห็นไหม มันส่งต่อ มันสืบเนื่องกัน มันมีกำลังขับไสออกไปสภาวะแบบนั้น แล้วก็ออกมาทางตา ทางหู ทางจมูก ถึงทางลิ้น ทางกาย ตัวใจนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา นี่ถึงต้องยับยั้งไง ยับยั้งไม่ให้กิเลสมันขับไสเราจนไม่มีเหตุไม่มีผลจนสุดโต่งไป

ผู้ที่ปฏิบัติจะเอามรรคเอาผลมันต้องเข้ามาตามทางไง จะปฏิบัติมาทางไหนก็แล้วแต่ ถึงที่สุดแล้วต้องเหมือนกันหมด ต้องเข้าถึงมรรคโคอันนี้หมด มรรคะต้องสามัคคีรวมกัน สิ่งที่จะรวมกันได้ เราต้องสร้างเหตุสร้างผลของเราขึ้นมา เหตุผลนะ ความสงบของใจเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามานะ ความสงบนะ “ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ” ความตั้งมั่นของใจ มันอิ่มเต็มในความพอใจของเรา ถ้าจิตนี้ตั้งมั่นขึ้นมาเราจะมีความสุข

ความสุขอันนี้เกิดขึ้นมาจากไหน เกิดขึ้นมาจากใจที่ไม่เป็นอามิส ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดมาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอให้มันพอใจ ไม่ต้องสนองตัณหา ไม่ต้องสนองสมุทัยความต้องการของมัน เราเพียงแต่เอาธรรมเข้ามาไง คำบริกรรมต่างๆ หรือมีปัญญาอบรมสมาธิ สติสัมปชัญญะนี้ใคร่ครวญกับความปล่อยวางเข้ามา จิตมันจะปล่อยวางเข้ามา มันไม่ออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ...ลิ้น กาย ใจนะ เพราะสิ่งที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย มันไปสะสมที่ใจ

คนนั่งอยู่เฉยๆ มันก็คิดได้ คนตาบอดไม่มีตาที่กระทบสิ่งใด ทำไมเขาคิดของเขาได้ล่ะ ใจมันปรุงได้ มันแต่งได้ของมัน สภาวะมันก็สร้างของมันขึ้นมาได้ ถ้าเราใช้คำบริกรรมเข้ามาบ่อยครั้งเข้าๆ นี่มันจะตัดบ่วงของมารไง “รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร” มารนี้ออกไปยึดรูป รส กลิ่น เสียงขึ้นมา ยึดนะ ยึดแล้วต้องการให้ไปตามอำนาจของเรา เราพอใจสิ่งใด เราก็อยากสิ่งนั้นอยู่กับเรา ไม่สมดังความปรารถนาของตนเท่านั้น ปรารถนาอยากแล้วไม่สมความอยาก จะเป็นทุกข์ตลอดไป เป็นความทุกข์ตลอดไป แล้วก็เผาลนใจตลอดไป

นี่ใช้คำบริกรรมเข้ามา ควบคุมสิ่งนี้เข้ามา ปล่อยวางเข้ามาบ่อยครั้งเข้าๆ จนสิ่งนี้ขาดออกไปจากใจ ควบคุมขาดออกไปจากใจ เพราะอะไร สิ่งนี้เป็นอุปาทานไปยึดมั่นถือมั่นมัน ตัณหาความทะยานอยากไปชอบในรูป รส กลิ่น เสียงทั้งหมด สิ่งที่รูป รส กลิ่น เสียงเป็นสิ่งที่ใจไปเกาะเกี่ยว แล้วสติสัมปชัญญะเข้ามาทันสิ่งนี้ตลอด แล้วเห็นความเป็นไปของมันด้วยปัญญา ด้วยปัญญาอบรมสมาธิ เห็นสภาวะแบบนั้นน่ะ เห็นโทษของมันไง ปล่อยวาง ขาดออกไปจากใจ สิ่งนี้มันผูกพัน เพราะอุปาทานไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราควบคุมทัน อุปาทานมันจะปล่อยสิ่งนี้ นี่เสียงก็คือเสียง รูปก็คือรูป รสก็คือรส กลิ่นก็คือกลิ่น แต่ใจเราก็เป็นใจของเรา ไม่ไปรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างนั้น

สิ่งนั้นกระทบเข้ามา เราก็ได้ยิน เราก็รู้ สื่อความหมายกันได้ แต่ไม่ไปติดมัน สิ่งที่ไม่ติดมัน ควบคุมสิ่งนี้ได้ ถ้าเราควบคุมสิ่งนี้ เราจะมีพื้นฐาน ถ้าเรามีพื้นฐาน จิตนี้ยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาคือเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าเห็นเวทนา เห็นกาย เห็นจิต เห็นธรรมแล้วใช้ปัญญาญาณแยกแยะออกไป ถ้าเป็นปัญญาญาณคือการฝึกซ้อม ถ้าจิตมันฝึกซ้อม ปัญญาจะเกิดขึ้นมาจากการบริหารงาน ปัญญาจะเกิดขึ้นมาจากการเราทำงาน นี้คือประสบการณ์ตรงไง

ถ้าจิตมันเข้าประสบการณ์ตรง “กายนี้เป็นเราไหม ร่างกายนี้เป็นของเราไหม” โดยสมมุติเป็นของเรา เพราะมนุษย์สมบัติเราเกิดมาโดยสมมุติ ขณะปัจจุบันนี้เราต้องการให้หัวใจของเราเห็นสภาวะร่างกายนี้มันเป็นอาการอยู่ชั่วคราวไง เป็นการอาศัยกันอยู่ชั่วคราว สิ่งที่อยู่ชั่วคราว เพราะสิ่งที่ว่ามันถึงที่สุดแล้วมันต้องเป็นไปตามสภาวะของมัน คือว่า “เกิดมาเพื่อจะไม่เกิด” ถ้าเกิดมาเพื่อจะไม่เกิดเราต้องเห็นสภาวะแบบนี้ แล้วแยกแยะสิ่งนี้ให้เห็นตามความเป็นจริงไง ให้เห็นตามความเป็นจริงนะ

สภาวธรรมที่เกิดขึ้นมาจากใจ เวลาเห็นกายขึ้นมาโดยที่มันไม่มีมิติของมัน ถ้าสภาวธรรมกำลังของใจนั้นพอ จะเห็นร่างกายนี้แปรสภาพไปโดยความเป็นจริง สิ่งที่ตามความเป็นจริง สิ่งนั้นเป็นสภาวธรรมไง สภาวธรรมเกิดขึ้นจากสัจจะความจริงอันนั้น สัจจะความจริงอันนี้ไง

ผู้ที่ต้องการผล ต้องการผล ต้องเนื้อนาบุญ การทำนั้นต้องมีการเจาะจง การเจาะจง คือการเจาะจงลงไปในการเห็นกายนั้น ถ้าเราเห็นกายนั้น แล้วกายนั้นสภาวะสิ่งที่มันแปรสภาพไป นี่ผลมันจะเกิดตรงนี้ ตรงที่ถ้าเราเห็นสภาวะกาย กายจะแปรสภาพไปตามอำนาจของธรรมนั้น ถ้าอำนาจของธรรมคือกำลังของเราไม่พอ เราต้องปล่อยวางสิ่งนั้นกลับมากำหนดพลังงาน กำหนดคำบริกรรมให้จิตนี้มันตั้งมั่นขึ้นมา

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิก็ย้อนกลับมา วิปัสสนาเข้ามา วิปัสสนา...เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปล่อยวางจากสิ่งต่างๆ เข้ามาให้มีกำลัง แล้วย้อนกลับไปวิปัสสนาใหม่ วิปัสสนาในจิต ในจิตเป็นขันธ์ ๕ เป็นรูป รูปของความรู้สึก สิ่งที่เป็นความรู้สึกนี่เป็นรูป จับรูปนี้ตั้งไว้ จับความรู้สึกนี้ตั้งไว้ ถ้าจับความรู้สึกตั้งไว้ ความรู้สึกนี้ประกอบไปด้วยอะไร ความรู้สึกอันนี้มันมีส่วนประกอบอะไร

มีสัญญาคือความจำได้หมายรู้ ถ้าสัญญาความจำได้หมายรู้มันจะรู้รูปอะไร เสียงอะไร ความพอใจอะไร สัญญาจะมีเป็นความหมายตลอดไป สังขารจะปรุงจะแต่ง ปรุงแต่งไปตามอำนาจของมัน สังขารปรุง สังขารแต่ง ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธินี้ มันจะเป็นเรื่องของโลกล้วนๆ เลย เป็นเรื่องของโลกก็คือพญามารใช้สิ่งนี้ไง

แต่ถ้าเรามีสติ เรามีปัญญาขึ้นมา สังขารเหมือนกัน ความคิดเหมือนกัน แต่เป็นปัญญาปัญญา เพราะเราไม่มีตัวตนของเรา เราไม่มีความเห็นแก่ตัวของเรา สิ่งนี้จะเกิดขึ้นโดยสัจจะความจริง ความจริงของเขา เพราะมันเป็นสภาวะแบบนั้น สิ่งนี้มีอยู่ไง มันถึงว่าเป็นความละเอียดอ่อนมาก

ของที่มีอยู่โดยธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรม สิ่งนี้มันก็เคลื่อนไปโดยสภาวธรรมอันนี้เหมือนกัน นี่เกิดมาอยู่กับธรรม กินอยู่กับธรรม นอนอยู่กับธรรม แล้วก็ตายไปอยู่กับธรรม โดยไม่เห็นธรรมไง แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเกิดมากับธรรม คือขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ กายกับใจ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวธรรมทั้งหมด แต่เราไม่เคยสนใจไง เราไม่เคยสนใจสิ่งนี้ว่าเป็นประโยชน์อะไรกับเราเลย เราไม่เคยสนใจสิ่งนี้ ให้สิ่งนี้สะเทือนใจของเรา เหมือนคติธรรมที่สะเทือนใจของเรา

แต่ขณะที่เราปัจจุบัน เรามาเห็นสภาวธรรมแบบนี้เห็นไหม เราเกิดอยู่กับธรรม ตายอยู่กับธรรม แล้วเราพิจารณาของเราขึ้นมา ตรงนี้เป็นผลงานไง เป็นประสบการณ์ของเราที่วิปัสสนาธรรมอยู่ สิ่งที่วิปัสสนาธรรมอยู่ สิ่งสภาวะแบบนี้มันจะเคลื่อนไป เพราะอำนาจของมรรคามันก้าวเดินออกไปแล้ว ถ้าจักรธรรมนี้ได้เคลื่อนออกไป สภาวะเห็นกาย มันจะเห็นกายจากสภาวะ แล้วมันสลดหดหู่นะ ความเห็นเป็นอย่างนี้หรือ ชีวิตของเรามีเท่านี้หรือ

ชีวิตของคนมีเท่านี้แหละ เกิดขึ้นมา ๑๐๐ ปีทำงานของมันไป ทำงานของเราไปนะ อยู่กับโลก สภาวะโลกของเราไป นั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าเราใช้ชีวิตของเราไป ขณะวิปัสสนา มันเห็นสภาวะแบบนั้นน่ะ ชีวิตของเรามีเท่านี้หรือ มันสลดเพราะอะไร เพราะ “ใจ” เพราะใจมันสงบ ใจมันตั้งมั่น แล้วมันวิปัสสนาสิ่งนี้ สิ่งนี้สอนมันไง เหมือนกับเราศึกษาวิชาการต่างๆ เราทำงานวิจัยต่างๆ เราเข้าไปศึกษางานวิจัย เราจะต้องไปสัมภาษณ์ เราจะต้องไปหาข้อมูลของเรามา วิจัยสิ่งนั้นมา แล้วเราก็วิเคราะห์ขึ้นมา แล้วเราก็ใช้ความเห็นของเราว่าสรุปแล้วเป็นอย่างไร นั้นเป็นงานวิจัยใช่ไหม

นี้มันเป็นสภาวธรรมที่มันเกิดขึ้นมาจากหัวใจไง มันเกิดขึ้นมา ถ้าสภาวธรรมมันไม่มีอยู่แล้ว แล้วเราสร้างสมขึ้นใหม่อยู่แล้ว สภาวะอย่างนี้เราทำขึ้นมา เราวิปัสสนาของเราขึ้นมา มันเป็นสภาวะที่มันจะเป็นไปตามความเป็นจริง ถ้างานวิจัย เราวิจัย เราสรุปของเรา อันนั้นอวิชชาหลอกตัวเอง แล้วก็สร้างภาพสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เราจะวิเคราะห์สิ่งนั้น เราจะบวกสิ่งนั้นไม่ได้ ถ้าเราบวกสิ่งนั้นขึ้นไป สภาวธรรมแบบนี้เป็นธรรมะปฏิรูป เพราะอะไร เพราะเราสร้างของเราขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา

นี่ถ้าลืมตน การประพฤติปฏิบัติมันก็จะทำให้ทุกข์ยากไปนะ สิ่งนี้จะสร้างสภาวะให้เราหลง ให้เราเข้าใจตามความว่าเป็นอย่างนี้เป็นสภาวธรรม แล้วผลมันไม่เกิด ไม่เกิดก็เกิดความลังเลสงสัย วิจิกิจฉาจะมีในหัวใจตลอดไป ถ้าเราเกิดวิจิกิจฉา เราก็ตั้งต้น ตั้งต้น ตั้งสติของเราขึ้นมา แล้วยกขึ้นมาวิปัสสนาใหม่ สิ่งที่วิปัสสนา ซ้ำแต่ร่างกาย ให้มันซ้ำเรื่องร่างกาย สิ่งนี้พอมันแปรสภาพไป ใจนี่หลุดออกมา มันปล่อยวางสิ่งนั้นออกมา ปล่อยวางออกมา มันจะมีความร่มเย็นจากการที่เราพยายามต่อสู้กับพญามารนะ การต่อสู้กับพญามาร ทำความสงบของใจ การต่อสู้กันด้วยความเผชิญหน้า

แต่ในการที่ว่าเราวิปัสสนา เรากำลังห้ำหั่นกับกิเลส กิเลสมันจะต้องตายออกไปจากใจ ตายออกไปจากใจเพราะอะไร เพราะกิเลสกลัวธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ฆ่ากิเลสมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จนพญามารนะ วิตกวิจารณ์ เสียใจมาก จนลูกสาว ๓ คนไปเห็นพ่อเสียใจนะ เป็นเพราะเหตุใด พ่อบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะหลุดมือจากมือของพ่อไปนะ ลูกสาว ๓ คนไปฟ้อนไง ฟ้อนจะหลอกลวงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นไปไม่ได้ แม้แต่พ่อก็ยังเข้าใจ เห็นสภาวะตามความเป็นจริง ฆ่าแล้ว แล้วลูกสาวจะมาลวงเอาได้อย่างไร

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าในหัวใจของเรา กิเลสเห็นไหม กิเลสอย่างหยาบๆ มันยังมีสภาวะแบบนี้ ถ้าเราใคร่ครวญสิ่งนี้ไง นี่มารมันหลอก หลอกไปทุกๆ อย่าง เราต่อสู้มา เราต่อสู้มาด้วยการทำสัมมาสมาธิ ต่อสู้กันด้วยซึ่งๆ หน้า ขณะที่เราวิปัสสนานี้กำลังของเราตัดทอนออกไปตลอด ความว่างของใจมันถึงต่างกัน ความว่างของใจนะ มันว่างออกมาพร้อมกับกิเลสเริ่มเขย่า เริ่มคลายตัวออก เริ่มคลายตัวออก วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำ ซ้ำในการวิปัสสนากาย วิปัสสนาจิต อุบายวิธีการ เราพลิกแพลงตลอดไป อุบายต้องใหม่ตลอดนะ

ถ้าเราใช้ความเห็น-ความคิดของเรา อันนั้นอุบายวิธีการนี้กิเลสมันจะอาศัยเราไปด้วย ถ้ากิเลสอาศัยนะ ความเป็นตัวตนของเราก็อาศัยเข้าไป การวิปัสสนาไปจะล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานเพราะมันสร้างสภาวะอะไรให้เราก้าวเดินไปไม่สะดวก เราถึงต้อง...ถ้าสิ่งที่ทำแล้วมันก้าวเดินไม่ได้ เราต้องวางสิ่งนั้น กลับมาทำความสงบของใจ กลับมาสร้างฐานของเราใหม่ แล้วทำของเราใหม่ การฝึกฝนมันต้องสภาวะแบบนี้ แบบที่ว่าใจของเราประสบการณ์สิ่งใด สิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรม เราแก้เดี๋ยวนี้ไง

ถ้าเราแก้ปัจจุบันธรรมได้นะ อดีต-อนาคตสิ่งนี้มันส่งเสริมให้เป็นปัจจุบันขึ้นมา เพราะสัมมาสมาธิ เพราะการวิปัสสนานี้ก็มาจากที่เราสร้างสมขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งนะ เราวิปัสสนาไปบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้ามันสมดุลกัน มรรคโครวมกัน “ทางอันเอก” มันจะเข้าชำระสิ่งนี้ พลิกซ้าย พลิกขวา พิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สภาวะอยู่แบบนี้

พิจารณาจิตก็ปล่อย พิจารณาขันธ์ให้มันปล่อยวางแล้วปล่อยวางเล่า จะปล่อยวางอย่างใดก็แล้วแต่ เหตุผลไม่ถึงที่สุด หน้าที่ของเราคือการวิปัสสนาซ้ำไปๆ จนถึงที่สุดนะ มันจะขาดออกไปจากใจ สิ่งที่ขาดออกไปจากใจ พิจารณาจิต เห็นไหม ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกัน เห็นสภาวะตามความเป็นจริง ความลังเลสงสัยมันไม่เกิด สิ่งนี้จะเกิดอีกไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันได้ตายไปแล้ว กิเลสสิ่งนี้ตายไปนะ “อกุปปธรรม”

พิจารณากาย มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง ตรงถึงจุด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เหมือนกัน เห็นไหม สิ่งที่วิปัสสนาแล้ว เห็นความรู้จริงนี้ สัจธรรมแสดงตัวแล้ว จะต้องเหมือนกัน

ในการทำบุญที่ไหนก็ทำได้ ในการประพฤติปฏิบัติจะทำอย่างใดก็ได้ แต่ถ้าหวังผล ถ้าหวังผลต้องเข้ามาสิ่งที่เป็นอริยสัจนี้ หวังผลต้องเข้ามาจนมรรคะทางอันเอกนี้ ถ้าถึงทางอันเอกนี้ วิปัสสนาเข้ามาถึงจุดนี้ สิ่งนี้เป็นความจริง ความรู้แจ้งของใจ จะปล่อยวางสิ่งนั้น นี่ความลังเลสงสัยของใจไม่มีไง สิ่งนี้มันถึงว่าไม่ลืมตน สติสัมปชัญญะจะมีกับจิตดวงนี้ตลอดไป จิตดวงนี้จะก้าวเดินขึ้นไปจนฝึกฝนของเราขึ้นไป จนเข้าไปสู่ความละเอียดของใจ ความละเอียดของกิเลส สิ่งที่ละเอียดอยู่ในใจมันจะพลิกแพลง จะสร้างสิ่งขวากหนาม สร้างไว้ในหัวใจ เราก็ก้าวเดินสิ่งนั้นเข้าไป สิ่งที่เราจะไม่ลืมตัวไง

ความลืมตัวลืมตนนะ สิ่งที่ลืมตัวลืมตนอย่างหยาบมันก็ทำความทุกข์ยากให้กับเรา แล้วก็ทำความลำบากลำบนให้กับผู้อื่นที่อยู่อาศัยข้างเคียงไป เพราะกิเลสมันเบียดเบียนเราแล้ว มันก็จะเบียดเบียนคนอื่นไป กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจมันก็เบียดเบียน มันก็ย่ำยีเราตลอดนะ

ในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ละเอียดขึ้นไป เราว่าเราจะมีความสุขตลอด มีความสุขขึ้นไปๆ ความสุขถึงที่สุด วิมุตติสุขนี้สุขอย่างประเสริฐ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในการทำงานอยู่ อาบเหงื่อต่างน้ำในการทำงานอยู่ ถ้าเราทำงานเสร็จแล้ว ชำระล้างร่างกายเรียบร้อยแล้วเราไปพักผ่อนนั้นคือการสำเร็จ ขณะที่เราทำงานอยู่นี้มันยังมีกิเลสอยู่ในหัวใจ สิ่งที่กิเลสอยู่ในหัวใจมันก็ต้องสร้างสถานะของมันขึ้นมา สร้างสถานะเพราะเพื่อป้องกันตัวของเขาเองไง กิเลสมันต้องป้องกันตัวของมันอยู่แล้ว

กิเลสนี้มันฉลาดมาก เพราะมันอยู่หลังความคิดนะ เราจะมีความคิด เราจะศึกษามาขนาดไหน เราจะมีปัญญาขนาดไหน กิเลสมันอยู่หลังความคิดเรา มันก็ต้องสร้างสถานะให้เราเชื่อมันๆ ไง สิ่งที่เราเชื่อมัน เห็นไหม กิเลสอย่างละเอียดมันก็จะหลอกเราให้เราเชื่อสภาวะแบบนั้น ถ้าเราไม่เชื่อ เราทำความสงบของใจของเราเข้ามา แล้วพยายามขุดคุ้ยขุดค้นเข้าไปไง

อุปาทานของใจ อุปาทานของใจที่เกาะเกี่ยวกับร่างกายนี้ สิ่งนี้เราปล่อย กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กายโดยธรรมชาติ แต่ความอุปาทานของมันที่มันเกาะเกี่ยวสิ่งนี้ มันยังเกาะเกี่ยวสิ่งนี้อยู่ มันเป็นสิ่งที่เราจับต้องได้ ถ้าเราจับต้องได้นะ เราวิปัสสนาของเราเข้าไป

ขันธ์อันละเอียด สิ่งนี้อาศัยสิ่งใดตั้งอยู่ สิ่งนี้อาศัยสิ่งใดเป็นที่เครื่องอยู่อาศัย มันอาศัยหัวใจของเรา แล้วก็อาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องมือออกดำเนินไง ถ้ายังมีเชื้ออยู่ที่ไหน สิ่งนั้นจะทำให้ก่อให้เกิดผลของมันตลอดไป ถ้ามีเชื้ออยู่ที่ไหน มันจะต้องให้เกิดผลของมันแน่นอน ถ้ามันเกิดผลของมันแน่นอน มันก็เป็นความไม่รู้ เป็นความไม่เข้าใจ เป็นอวิชชาในหัวใจนั้น ถ้าเราจับสิ่งนี้ตั้งไว้ ที่มีเชื้ออยู่ที่ไหน มีจุดมีต่อมที่ไหน เราจับสิ่งนั้นวิปัสสนาเข้าไป นี้เพราะมันเป็นเชื้อ เราจับเชื้อได้ เราก็พิสูจน์ว่าเราเพาะเชื้อว่านั่นเป็นเชื้ออะไร

วิปัสสนาจิต มันก็เป็นสิ่งที่ว่าขันธ์อันอย่างกลาง วิปัสสนากาย มันก็เป็นกายอันอย่างกลาง ถ้าเป็นกายอย่างกลาง วิปัสสนาซ้ำไป กำลังมันจะเกิดขึ้นมานะ นี่คืนตัวของมัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต...ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันปล่อยกันนะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่สภาวะแบบนั้น มันปล่อยขาดเลยนะ กายกับจิตแยกออกจากกัน โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง

นี่ความฝึกฝนเพราะความมั่นคงของใจ ใจมีสติแล้วมันไม่ลืมตัวของมันขึ้นมา มันจะเข้าหางานอันละเอียด ถ้าเข้าหางานอันละเอียด มันจะวิปัสสนาของมันเข้ามาตามอำนาจวาสนาของใจ ๑ ตามความเพียรของเรา ๑ ถ้าเรามีความเพียร เรามีความตั้งมั่นของเรา มีความจงใจของเรา ถ้าเรามีความจงใจของเรา สิ่งนี้เป็นความเพียรชอบ ความเพียรนะ ถ้าความเพียรเราอ่อนแอ ความตั้งมั่นของเราอ่อนแอ กิเลสมันก็หัวเราะเยาะนะ กิเลสมันก็เอาเราอยู่ในอำนาจของมัน

ถ้าเรามีความเข้มแข็ง เรามีความจงใจของเราขึ้นมา นี่ธรรมจะอยู่กับคนจริงไง ความจริงอยู่กับของจริง ถ้าเราอยากได้ของจริง เราก็ต้องพยายามสร้างความจริงของเราขึ้นมาจากใจ ถ้าใจของเราจริงขึ้นมานะ เทียบออกไปเวลาคนเขาทำงานทางโลกสิ ทางโลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำมาขนาดไหน เขาก็ต้องสละสิ่งนี้ไว้เป็นสมบัติของโลกใช่ไหม แต่ถ้าเราทำความเพียรของเรา เวลาสิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากใจแล้วมันเป็นสมบัติของใจ ไม่มีใครจะมาแบ่งปันผลอันนี้ไปจากใจของเราได้ แล้วถ้าเราตายไป เราก็ได้สิ่งนี้แนบไปกับใจ มันเป็นสิ่งชิ้นเดียวกัน มันต้องไปกับเรา เราไม่ได้เอาสมบัตินี้ฝากโลกไว้หรอก เราเอาสมบัตินี้เป็นสมบัติของเราไปกับเรา นี้ถ้ามันมีธรรมในสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเราชำระของเราขึ้นไป ธรรมอันนี้มันจะทำให้เราไม่ต้องเกิดอีกเลย ไม่ต้องตายอีกเลย เพราะมันทำลายเชื้อนี้ออกไปจากใจทั้งหมด ถ้ามันทำลายเชื้อนี้ออกไปจากใจทั้งหมด มันไม่มีสิ่งที่ขับเคลื่อน...พลังงานที่ไม่มีขับเคลื่อน มันจะไปไหนล่ะ พลังงานที่ไม่ขับเคลื่อน แล้วเราจะทำลายสิ่งที่เป็นพลังตัวขับเคลื่อนนั้นน่ะ เราถึงต้องใช้ความสงบของใจ แล้ววิเคราะห์เข้ามา มันถึงจะภูมิใจไง งานของโลกเขาทำไว้เพื่อเป็นสมบัติโลก เขายังพอใจทำ เขายังหลงใหล เขายังทำของเขา แต่งานของเรา เราทำเพื่อเป็นสมบัติของเรา แล้วเราไม่ทิ้งไว้กับโลกนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา วางธรรมไว้แล้ว นี้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกะ-สาวกผู้ประพฤติปฏิบัติ ธรรมเป็นธรรมของเรา เราสาวกะผู้ที่ได้ยินได้ฟัง แล้วประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา หน้าที่ของเราคือเอาตนของตนเอาไว้ให้ได้ แล้วทำลายเชื้ออันนี้ออกไปจากใจ ถ้าเชื้อนี้ออกไปจากใจ นี่ธรรมแท้ไง ธรรมแท้คือความรู้สึกจากภายใน ธรรมที่ว่าเราศึกษาเล่าเรียนมา สุตมยปัญญา

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ธรรมของครูบาอาจารย์ ๑ นี่สภาวธรรมเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น เป็นประสบการณ์ของใจดวงนั้น ฝึกฝนสิ่งนั้นมา แล้วได้สภาวธรรมดวงนั้น แล้วยื่นจากใจดวงนั้นให้ใจของเรา ใจของเราเป็นใจที่มีกิเลส ใจของเรามันมีสิ่งที่มัวหมอง มีเศร้าหมองอยู่ในหัวใจ ครูบาอาจารย์เป็นหัวใจที่สว่างไสว นี่แสดงธรรมออกมา ธรรมอันนี้จะสะเทือนใจเรามาก เพราะออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ใจที่สว่างไสว ออกมาจากความเป็นจริงไง

แต่ใจของเรามันเศร้าหมอง ใจของเราเศร้าหมอง มันมีสิ่งหมักหมมอยู่ เวลามันสะเทือนหัวใจ มันกระทบกับสิ่งนั้น มันทำให้กระเทือนหัวใจอันนั้น ถ้ามันสะเทือนหัวใจอันนั้น เราต้องดูสภาวะแบบนี้ จับตรงนี้ตั้ง จับตรงนี้วิปัสสนา จับตรงนี้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นความสะอาด ความบริสุทธิ์ มันต้องไม่กระทบสิ่งนี้สิ นี่ธรรมคือธรรม ธรรมจะเหมือนกันไง ธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับธรรมของครูบาอาจารย์มันเสมอกัน มันถึงเหมือนกัน ถึงไม่มีสิ่งที่กระทบแล้ว ไม่มีสิ่งที่ความเศร้าหมอง สิ่งที่กระเทือนใจ

สิ่งที่สะเทือนใจน่ะ ธรรมไม่สะเทือนใจหรอก แต่กิเลสมันสะเทือนใจ กิเลสของเราอยู่ในหัวใจของเรา แล้วมันสะเทือนใจเรา เราถึงจับสิ่งนี้ จับตรงนี้ จับกิเลส เพราะเราจะฆ่ากิเลส จะฆ่ากิเลส เราต้องเห็นกิเลส กิเลสอยู่อาศัยอะไร กิเลสอาศัยกายกับใจอยู่ เราก็จับสิ่งที่มันสะเทือนใจ แล้วชำระวิปัสสนา วิปัสสนาสิ่งที่ทำลายมันไง ทำลายมัน “กาย” วิปัสสนากายให้กายเป็นไตรลักษณะ สิ่งที่ไตรลักษณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในธรรมนะ ถ้าจิตนี้สงบจะเห็นสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เพราะมันทำลายตัวของมันเองไง นั่นคือไตรลักษณะ

สิ่งที่เห็นไตรลักษณะ เห็นตามความจริง มันก็ปล่อยไง ปล่อย ปล่อย นั้นคือการฝึกฝน นั้นคือการหมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นคราดหมั่นไถสิ่งนี้ สภาวะแบบนั้นถึงที่สุดแล้ว สภาวธรรมของใจดวงนั้นจะปล่อยวาง กายกับจิตขาดออกจากกันโดยตามความเป็นจริง โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง นี้เป็นผลจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะได้ธรรมสิ่งนี้ฝังไปในใจดวงนั้นไง สิ่งที่ฝังจากใจดวงนั้นเพราะใจดวงนั้นเป็นผู้ที่วิปัสสนา ใจดวงนั้นเป็นผู้ที่ทำงาน

ใจของใครเป็นผู้ที่ทำงานล่ะ เราประพฤติปฏิบัติกัน นั่งอยู่กันมากมหาศาลเลย แล้วใจของเรา เวลาสงบเสมอกันไหม เวลาวิปัสสนาเสมอกันไหม วุฒิภาวะของใจเสมอกันไหม วุฒิภาวะของใจ เริ่มแต่ครูบาอาจารย์เทศน์มา ตั้งแต่ความสงบของใจเข้ามา เราก็ฟังสิ่งนี้เพื่อเป็นกำลังใจ ถ้าเป็นกำลังใจ เราทำสิ่งนี้เข้ามา เราก็มีความเข้มแข็งของเราขึ้นมา เราก็ทำความสงบของเราได้

แต่ถ้าเราเคยประพฤติปฏิบัติ เราปล่อยกายเข้ามาแล้ว เราก็ทำจิตของเราให้สงบไว้ รอว่าสิ่งนั้นจะมากระทบเมื่อไร นี่เวลามันสูงขึ้นมา ขั้นตอนของใจ วุฒิภาวะของใจมันคนละชั้นคนละตอนขึ้นไป สิ่งนี้จะเจริญขึ้น เจริญขึ้นไป ถ้าเราปฏิบัติเดี๋ยวนี้ มันก็รู้สภาวะแบบนี้เดี๋ยวนี้ ถ้าจิตมันขาดเดี๋ยวนี้ ใจของเราก็ถึงธรรมเดี๋ยวนี้ไง นี้คือปัจจุบันธรรม

สิ่งที่การฟังธรรมนี้มันถึงว่าเป็นการชี้นำ เหมือนกับไฟส่องทางไง เราเป็นคนมืดคนบอด ถ้ามีไฟส่องทางเราจะเดินได้ แต่ถ้าเทศน์จบ เห็นไหม ดับไฟมืดหมด ใจเราจะทำอย่างไร เราถึงต้องพยายามทำความสว่างของใจเราขึ้นมา ถ้าจิตสงบ จิตมีความตั้งมั่น มันจะมีความพอใจของมัน ปล่อยวางมาขนาดนี้ มันก็ว่างหมด สบายใจ ความว่าง ความอะไร สามารถให้ติดได้ ติดเพราะความเข้าใจ นี่หลงจึงลืมตน “หลงจึงลืมตน” ลืมตนอยู่ในสภาวะแบบนี้ แม้แต่เราปฏิบัติแล้วมีธรรมในหัวใจ เราก็ยังหลงกิเลสอันละเอียดไง ลืมตนก็ต้องให้ตนอยู่ในอำนาจของกิเลสสภาวะแบบนั้น นอนจมอยู่อย่างนี้นะ

ครูบาอาจารย์ถึงต้องให้เราออกไง ให้ออกวิปัสสนาต่อไป จะวิปัสสนา เอาอะไรวิปัสสนาล่ะ?...เอาความสงบของใจ ถ้าใจสงบตรงนี้ขึ้นมาเป็นมหาสติ-มหาปัญญา สิ่งที่เป็นมหาสติ-มหาปัญญานี่สมาธิต้องตั้งมั่นมาก ทำความสงบของใจ เพราะจะค้นคว้าไง จะเข้าถึงปากซอยได้ ถ้าเราเจอปากซอย เราจะเข้าไป เราจะขุดแร่ธาตุต่างๆ เราจะต้องขุดลงไปในดินเพื่อหาแร่ธาตุนั้น

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสอันละเอียดมันอยู่ในหัวใจ ความสงบของใจ เครื่องมือจะเข้าไปจับจิตนี้ คือความสงบของมัน จิตจับจิต ความรู้สึกจับความรู้สึก ความรู้สึกของเราคือที่มันส่งออกมาเป็นความว่างอยู่เฉยๆ มันส่งออก ต้องย้อนกลับไง สิ่งที่ย้อนกลับได้ต้องเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิจะย้อนกลับเข้าไป ถ้าย้อนกลับเข้าไปจับสิ่งนี้ได้นะ นี่อสุภะ-อสุภังในหัวใจมหาศาลเลย

สิ่งที่เป็นอสุภะ-อสุภังในใจนะ ใจนี้เป็นกามราคะ ใจนี้เป็นความอิ่มชุ่มเย็นไปด้วยเรื่องของกาม สิ่งที่เป็นกามนะ มันเป็นเรื่องสัจจะความจริง ใจของสัตว์โลกทุกดวงเป็นสภาวะแบบนั้น เหมือนกับขั้วของไฟฟ้าบวกกับลบ มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วทำงานกันไปสภาวะแบบนั้น ในเมื่อมันมีอวิชชาไง มีกามราคะในหัวใจกับมีตัวจิตมันกระทบกันตลอด สิ่งที่กระทบกันไปตลอด มันก็มีพลังงานของมันไปตลอด พลังงานของกิเลสไง พลังงานของการสร้างโลกไง สิ่งนี้ยังสร้างโลกอยู่ ถ้าเกิดเป็นเทวดา มันเกิดเป็นเทวดาสิ่งนี้ก็ยังเป็นเทวดาอยู่ ถ้าทำลายสิ่งนี้มันก็ยังเกิดเป็นพรหมอยู่ ถ้าเกิดเป็นพรหม นี่จิตที่ไม่มีขั้วบวก-ขั้วลบมันก็เป็นสภาวะของมันตลอดไป

ถ้าจิตที่มีขั้วบวก-ขั้วลบอยู่ในหัวใจ เห็นไหม “ปฏิฆะ-กามราคะ” ความที่เป็นปฏิฆะ คือข้อมูลของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมีข้อมูลของมัน มีความพอใจ “กามฉันทะ” ถ้ามีความพอใจของใจ ใจพอใจสิ่งใดมันก็พอใจกับสิ่งนั้น ถ้ามันขัดใจ สิ่งที่ขัดใจมันก็เป็นความโกรธ สิ่งที่พอใจมันก็เป็นความหลง สิ่งที่หลงสภาวะแบบนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันอยู่ในขั้นตอนของใจตรงนี้

ถ้าจิตมันเข้าไปทำลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เป็นสิ่งที่มีอำนาจมหาศาล มันเหมือนแม่ทัพ แม่ทัพในการควบคุมกองทัพทั้งหมดอยู่ที่แม่ทัพนี้ แม่ทัพนี้จะขับเคลื่อนไปตามอำนาจของจริตนิสัย นี่ถ้าเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ สิ่งนี้เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นอสุภะ สิ่งที่อสุภะมันจะเห็นแต่ความเป็นจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมัน มันจะทำลายตัวมันเอง ทำลายตัวมันเองนะ ทำลายตัวมันเองเป็นสภาวะแบบนั้น เราจะสลดสังเวชมาก จะปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามา มันก็สภาวะแบบนั้น มันต้องซ้ำอีกๆ ปล่อยวางเข้ามาแต่กิเลส

กามราคะเป็นสิ่งที่เป็นแม่ทัพ เขาจะต้องมีกลอุบายวิธีการของเขา เขาจะไม่ปล่อย ไม่ให้เราชนะเขาหรอก เพียงแต่กลอุบายวิธีการ เวลาเขาสงบตัวลง เราก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม นี่ถ้าหลงไง ถ้าลืมตนมันจะหลงตัวมันเอง เราจะต้องไม่ลืมตน เราจะต้องตั้งสติของเราขึ้นมา ตั้งตนของเราให้มั่นคง แล้วอาการแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่หลอกลวงขึ้นมา เราก็จับสิ่งนี้ตั้ง แล้ววิปัสสนาของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุด มันจะเข้ามาถึงตัวมัน กลืนเข้ามาถึงตัวมัน แล้วทำลายตัวของมันนะ นี้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นกามราคะ เป็นจริต

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ว่าเป็นเรื่องของพุทธจริต สิ่งที่พิจารณาจิต จิตนี้มันเป็นความจริง จิตนี้มันมีความรู้สึก สิ่งที่เป็นความรู้สึกเป็นขันธ์ สิ่งที่เป็นขันธ์ ขันธ์อันละเอียดไง สิ่งที่เป็นละเอียด ความพอใจของใจ มันก็มีความสัมพันธ์กันในหัวใจ ใจมันตอบโต้กันในหัวใจ เพราะขันธ์อันละเอียดกับจิตนี้กระทบกันตลอดไป นี่ถึงว่าเป็นความพอใจและเป็นข้อมูลของใจ ใจกระทบกระเทือนกัน สิ่งที่กระทบกระเทือนกัน เราต้องใช้ปัญญาแยกแยะไง แยกแยะสิ่งนี้ตามความเป็นจริง มันก็ว่าง มันก็ปล่อยวาง

ความว่างไง ว่างขนาดไหนเดี๋ยวมันก็สมานกัน สิ่งที่สมานกัน เพราะสิ่งนี้ยังไม่ขาดออกไปจากใจ มันจะมีสภาวะแบบนี้อยู่ เราก็ทำของเรา สภาวะแบบนั้นเราก็เข้าใจว่าสภาวะเป็นธรรม เพราะธรรมทุกคนไม่เคยเห็น ทุกคนไม่เคยสัมผัสสภาวธรรมความเป็นจริง มันถึงมีสิ่งที่คาดหมาย สิ่งที่ว่างขนาดนี้ ละเอียดขนาดนี้ มันจะต้องเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมถ้ามีเชื้ออยู่นะ เวลาปล่อยวาง มันก็ปล่อยวางได้ แต่เชื้อที่มีอยู่นั้นเดี๋ยวมันก็เจริญงอกงามขึ้นมา มันก็กระเทือนใจอยู่วันยังค่ำนั่นล่ะ

สิ่งที่สะเทือนใจวันยังค่ำ มันก็มีความพอใจ นี่กามฉันทะ มีความพอใจก็มีตัวตน สิ่งที่มีตัวตนมันก็คลาดเคลื่อนออกไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ ยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ ในหัวใจนะ สิ่งที่เป็นภายนอกมันหดสั้นเข้ามาแล้ว มันเข้ามาถึงใจของตัวเอง มันจะวนเข้ามาใจของตัวเอง ตนที่เอาตนของตนไว้ในอำนาจของตน ผู้นั้นผู้ที่ประเสริฐ สิ่งนี้มันจะกระเทือนหัวใจมาก มันเหมือนน้ำป่า สิ่งที่เป็นน้ำป่าเพราะมันสะเทือนใจ มันเป็นความพอใจ

เวลาคนเราโกรธขึ้นมานี่หน้าแดงหมดเลย เพราะเลือดมันสูบฉีด นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันอยู่ในหัวใจ แล้วมันขับเคลื่อนไปในหัวใจ มันจะเหมือนกับน้ำป่า มันเหมือนกับทะเลบ้า เรานั่งสงบๆ นี่แหละ เรามีความนิ่มนวลอย่างนี้ แต่หัวใจมันไม่นิ่มนวล มันเผ่น มันกระโจน มันเผ่นกระโดดในหัวใจของเรา มันจะเคลื่อนอยู่อย่างนั้น นี่ถ้ามันย้อนกลับเข้ามาวิปัสสนาสิ่งนี้เห็นไหม นี่เป็นอาการของใจ นี้เป็นความหมายจากภายใน จะเอาตนของตนไว้อย่างนี้อยู่

วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุด ขันธ์นี้จะขาดออกไปจากใจ ขาดออก ครืน! ออกไปจากใจ ใจนี้หลุดออกไป ขันธ์กับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน นี่ว่างหมดเลย สิ่งนี้เป็นความว่าง แล้วมันมีเศษส่วนของมัน ซ้ำเข้าไป พิจารณาซ้ำ มันจะปล่อยวางเป็นเศษส่วน อันนี้ปล่อยวางเข้าไป นี่พระอนาคา ๕ ชั้น เพราะสิ่งที่ปล่อยวางแล้ว เป็นพระอนาคาจริงอยู่ แต่สิ่งที่ว่ามันมีเศษส่วน เราพิจารณาไป มันจะปล่อยวางเข้าไป กระเถิบขึ้นไปถึงที่สุด นี่ถึงจิตล้วนๆ เลย

จิตนี้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ มาทั้งหมด สิ่งต่างๆ ที่ปล่อยมาทั้งหมด แล้วมันก็ต้องมาหลงตัวมันเองไง “หลงจึงลืมตน” ถ้าหลงจนลืมตนก็ว่าสิ่งนี้คือเป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติ หลงตนเองเพราะมีสิ่งที่เป็นเครื่องแบกภาระคือขันธ์ กายกับใจแบกภาระกันมา วิปัสสนาสิ่งต่างๆ ปล่อยเขาเข้ามาทั้งหมดเลย จิตนี้เป็นผู้ปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา ปล่อยเศษส่วน ปล่อยถึงที่สุดเข้ามา แล้วมันก็เป็นความว่าง นี่มันหาสิ่งนี้ไม่เจอไง ถ้าสิ่งนี้ไม่เจอ

ถ้าเราไม่หลงล่ะ เราไม่หลง เราเชื่อสภาวธรรม สภาวธรรม สิ่งต่างๆ ใครเป็นผู้รับรู้ ความว่าง อวกาศ วัตถุต่างๆ มันไม่รู้ตัวมันเองหรอก แต่อวิชชานี่มันรู้สึกตัวมันเอง มันถึงได้บอกว่าตัวมันว่างไง มันถึงได้บอกสภาวธรรมนี้เป็นความว่าง มันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามาแล้วมันเป็นความว่าง เพราะความว่างนี้เป็นอัตตา “อัตตานุทิฏฐิ” โลกนี้เป็นความว่าง แล้วคนที่ว่าโลกนี้เป็นความว่างเป็นใคร นี่มันถึงมีตัวตนอันละเอียดยิบอยู่ในใจ แต่ไม่มีใครรู้ว่านี่เป็นตัวตนไง ถ้าไม่มีใครรู้ว่าเป็นตัวตน มันก็ติดอย่างนี้ ตายไปนี้ก็เกิดบนพรหม สิ่งที่เกิดบนพรหม แล้วก็จะไปถึงที่สุด

แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราจะไม่หลงตัวตน ไม่หลงตัวตน เราก็ต้องย้อนกลับมา สติสัมปชัญญะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ย้อนกลับเข้ามาจับตอของจิต นี้คือตัวอวิชชา นี้คือตัวของจิต ตอของมัน นี้คือสิ่งที่เป็นฐานของความคิดต่างๆ ทั้งหมด ฐานของความคิดนี้ แต่เดิมมันเป็นความสกปรก มันเป็นอวิชชา แล้วมีขันธ์สืบต่อ เราถึงมองไม่เห็นมัน

แต่เวลาเราทำลายความคิดคือเครื่องมือที่มันอาศัย เราทำลายขันธ์เข้ามาตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ขันธ์ไม่มี แล้วฐานความคิดนี้มันไม่มีเครื่องมือสืบต่อ มันก็เลยว่างอยู่เฉยๆ ไง มันว่างอยู่เฉยๆ เพราะมันแสดงตัวไม่ได้ มันแสดงตัวไม่ได้เพราะเราใช้สติสัมปชัญญะ มีมหาสติ-มหาปัญญาไล่ต้อนเข้ามา มันก็ถึงหลุดเข้าไปเป็นตัวของมันเอง มันเป็นตัวของมันเอง แล้วมันไม่มีเครื่องสืบต่อ แต่มันเป็นอวิชชา ถ้าเราทำลายฐานตรงนี้หมดสิ้นไป เราจะไม่มีฐานด้วย แล้วเราจะไม่มีเครื่องมือที่ว่าให้กิเลสมันออกไปใช้ด้วย จนทำลายสิ่งนี้ พ้นออกไป ทำลายสิ่งนี้ทั้งหมด มันถึงเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ไง

สิ่งที่ทำความสิ่งนี้สะอาดบริสุทธิ์แล้ว ถึงบอกว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์ทั้งหลาย ถึงเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์ไปด้วยไง ไม่ใช่ขันธมาร สิ่งที่ว่าปุถุชนเรานี่เป็นขันธมาร เป็นขันธ์ด้วย เป็นมารด้วย มันถึงได้เบียดเบียนไง มันถึงว่าไม่สมดุล มันบีบบี้สีไฟ คือมันขบเหลี่ยมกันอยู่ในความรู้สึกน่ะ สิ่งที่เป็นความรู้สึกมันขบแล้วมันก็ทำความเจ็บปวดแสบร้อนให้กับใจไปตลอดเลย

แต่ถ้าเราทำลายสิ่งที่ว่าเป็นอวิชชานะคือฐานของมัน ฐานก็สะอาด สิ่งที่ใช้ออกไปเป็นประโยชน์ข้างนอก มันก็สะอาด เห็นไหม ถึงว่าไม่ขบเหลี่ยมกัน มันเป็นประโยชน์กับสัตว์โลก สัตว์โลกจะได้สิ่งนี้เป็นสิ่งเครื่องอยู่อาศัยนะ เป็นสิ่งที่ชี้นำเรา นี่ร่มโพธิ์ร่มไทร สิ่งที่ร่มโพธิ์ร่มไทร นกกาก็ไปอาศัยสิ่งนี้ อาศัยสิ่งนี้ให้ชี้นำสิ่งนี้เข้ามาไง ชี้นำสิ่งที่เราไม่เคยเห็น สิ่งที่เราไม่เคยเห็น สิ่งที่เราไม่เคยเจอ เราต้องคาดต้องหมาย ถ้าเราคาดเราหมาย เราหลงอวิชชา แล้วก็ลืมตน สิ่งที่ลืมตน นี่ทำลายทั้งสังคมนะ เพราะต้องการให้มีอำนาจวาสนา ต้องการมีอำนาจมาก สิ่งที่มีอำนาจมาก มันก็มีสิ่งต่างๆ มีเล่ห์เหลี่ยมของมันที่จะทำลายทุกๆ อย่าง ทำลายเพื่อตัวมันเองไง ทำลายทุกคนเพราะต้องการอยู่เหนือเขา

แต่ธรรมของเราไม่ใช่อย่างนั้น ทำลายตนเองก่อน ถ้าทำลายตัวมันเองก่อน ความดีหรือความชั่วต้องให้เป็นผู้อื่นเขาให้ค่าล่ะ ถ้าเราว่าเราเป็นคนดี เราเป็นคนดีตลอดไป เราว่าของเรา กิเลสมันก็พูดได้ กิเลสมันก็ว่าเราดี เราเป็นคนดีทั้งหมด เราเป็นคนที่เมตตา เราเป็นคนที่จะช่วยเหลือเจือจุนคนอื่น ช่วยเหลือเจือจุนคนอื่น เพราะเรารักเรา เราพอใจเรา เราต้องการให้คนเขารักเรา เราก็ทำเพื่อให้คนเขามาเยินยอเรา เห็นไหม ถ้ากิเลสมันเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เราไม่มี สิ่งนี้เป็นประโยชน์ของโลก เวลาทำทานแบบผู้บริสุทธิ์ ทิ้งของลงเหว ไม่ต้องการสิ่งใดเลย โยนลงเหว ไม่มีสิ่งที่ตอบสนอง หายไปๆ นี่ความเมตตาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเมตตาอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ แต่ขณะที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบารมีมาเพื่อจะเป็นผู้รื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน นี่ฆ่ากิเลสตายแล้วนะ แทบจะไม่อยากสอนใคร เพราะมันเป็นสิ่งที่ลี้ลับ มันเป็นสิ่งที่ลี้ลับนะ เพราะว่าการกระทำแบบนี้ใครจะทำได้หนอ แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องทำได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สร้างสมบารมีมาเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไง แล้วสัตว์ที่สร้างสมบารมีมาจากที่พ้นไป ตั้งแต่พระอนุรุทธะลงมา “สหชาติ” ผู้ที่ได้สร้างสหชาติ สร้างสมบุญญาธิการมาด้วยกัน ถึงที่สุดก็ผ่านพ้นไปได้

นี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นว่าครูบาอาจารย์จะชี้นำเข้ามาถึงใจของเรา ถ้าเรายอมรับสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ลึกลับสิ่งที่มหัศจรรย์ เราถึงต้องหาสิ่งนี้เป็นที่เครื่องอาศัย เครื่องอาศัยเป็นผู้ชี้นำเห็นไหม จิตสูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้นจากที่ต่ำได้ ถ้าจิตเสมอกันมันก็เป็นสิ่งที่เป็นหมู่คณะกันไป แต่สิ่งที่สูงกว่าจะดึงขึ้นไป

แล้วเราจะหาสิ่งนี้ได้จากไหนล่ะ? ถ้าเราหาสิ่งนี้ได้จากตำรับตำรานะ เราไม่มีครูมีอาจารย์นะ เราก็ต้องรื้อค้นของเรา แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ๑. ไม่เสียเวลา แล้วสิ่งนี้นะ เป็นสิ่งที่ว่าโต้ตอบได้ ตำรานี้โต้ตอบไม่ได้ แต่เราพอใจนะ พอใจเพราะกิเลสมันเป็นใหญ่ ถ้ากิเลสเป็นใหญ่ เราอ่านตำรับตำราแล้วเราตีความเอา เราก็พอใจของเรา นี่หลงกิเลสแล้วก็ลืมตน

“ลืมตน” ก็วนเวียนอยู่กับในอำนาจของกิเลส อยู่ในอำนาจของกิเลสนะ การประพฤติปฏิบัติก็คาดก็หมาย ทุกคนอยากสะดวก ทุกคนอยากสบาย อยากพอหายใจได้ ถ้าอยากพอหายใจได้ กิเลสก็ยิ้มแล้ว “สิ่งนี้ มาๆ ทำอย่างนี้แล้วจะประสบความสำเร็จๆ” เราก็คาดหมายไป เราก็ทำของเราไป...เราจะต้องทำแบบไม่คาดหมาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นให้เป็นสภาวะสัจจะความจริงมันแสดงตัว เราหน้าที่ของเรา ตั้งสติแล้วทำไปเป็นความเพียร ถ้าขาดสติ ความเพียรนั้นเป็นความเพียรสักแต่ว่า ถ้าทำความเพียรสักแต่ว่ามันจะเอาผลมาจากไหน

เหมือนกับการประพฤติปฏิบัติ บอกต้องไม่มีความอยาก ไม่มีความอยากแล้วเราทำของเราไปเป็นสภาวธรรมอย่างนั้น ความอยาก-ไม่อยากอันนี้เรากดไว้ เพราะสภาวะของจิตมันรับรู้ทั้งหมด ผิดมันก็รับรู้ ถูกมันก็รับรู้ แต่ขณะที่ว่าเราพลิกออกมาเป็นมรรคไง สิ่งที่เป็นมรรคเราสร้างความเพียรของเรา แล้วสิ่งนี้มันจะรับผลของมันไปเอง รับผลไปเองเพราะเรารู้สิ่งสภาวะแบบนี้ แต่ถ้าเราไปกดไว้ไง ว่าเราไม่ต้องการสิ่งใด สักแต่ว่า เหมือนกับเราไม่มีสติ แล้วทำความเพียรไป มันก็เป็นสักแต่ว่า ไม่เป็นผล

แต่ถ้าเรามีสติ ความเพียรก็เป็นความเพียร ผลที่เกิดขึ้นเราก็รับรู้ สติสัมปชัญญะพร้อมไปหมดเลย รู้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ประสบการณ์ของเรา นี่ประสบการณ์ตรงของเราขนาดไหน ถ้าเราเคยขณะจิตที่มันพลิกชั้นหนึ่ง เราก็จะรู้ของเราชั้นหนึ่ง ถ้าจิตมันพลิกขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เราจะรู้เลยว่าจิตที่มันพลิกแต่ละชั้นแต่ละตอน ขณะจิตที่มันเปลี่ยนไป สภาวะแบบนี้นี่จะต้องเหมือนกันหมดเลย

กลั่นมาออกจากอริยสัจ จิตที่กลั่นมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ขณะที่มันเกิด มันเกิดสภาวะแบบใด ขณะที่เราไปเกิด เราไปพบอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สิ่งที่เป็นปัจจยาการที่เราเข้าใจว่ามันสืบต่อเป็นสายยาวออกไป เราไปเห็นตามความเป็นจริง มันจะสืบสายยาวเป็นสภาวะแบบนั้นไหม

สภาวะแบบนั้นคือพุทธวิสัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรยายเห็นสภาวะอย่างนั้น เราก็เห็นเหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นสภาวะแบบนั้น เราจะไม่เห็นอวิชชาของเรา เราจะไม่เห็นตัวตนของเรา เราจะไม่เห็นสภาวะ ไม่เห็นพื้นฐานของใจขั้นสุดท้ายไง พื้นฐานของใจขั้นสุดท้ายมันรองรับสิ่งสภาวะแบบนี้ เราเห็นสภาวะแบบนี้มันเกิดไวมาก เกิดเร็วมาก นี้เป็นอำนาจวาสนาของใจดวงนั้นนะ ถ้าใจดวงนั้นเข้าถึงสภาวะของภวาสวะอันนี้ แล้วสภาวะอันนี้พลิกคว่ำออกไป

นี่มันถึงเข้าใจว่า “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”

“ปฏิเวธ” ความรู้ของใจ ถึงว่าการประพฤติปฏิบัติสำคัญมาก จากการชี้นำของครูบาอาจารย์ เพราะปฏิเวธ สิ่งที่จะเกิดสภาวะแบบนี้ ใครบ้างที่มันจะไม่หลง ใครบ้างมันจะไม่ลังเลสงสัย เราไม่ต้องปฏิบัติ เราก็ลังเลสงสัยตั้งแต่ว่าภพชาติมี-ไม่มี เราก็สงสัยมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แล้วปฏิบัติขึ้นไปมันปล่อยวางสิ่งนี้ขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันลึกลับซับซ้อนจากภายใน ลึกลับซับซ้อนจากเรื่องของใจ แล้วมันก็ทำลายได้โดยสภาวธรรมที่เราเกิดขึ้นมาจากเรา มันถึงเป็นผลงานของเรา มันถึงเป็นประสบการณ์ตรงในหัวใจของเรา แล้วมันก็จะเป็นธรรมของเรา แล้วเราก็จะไม่หลงตน เราจะไม่ลืมตัว เอวัง