ใจไม่ป่วย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ควรทำอย่างไรดี”
เพื่อนพี่ชายผม เดิมจบปริญญาเอกเป็นศาสตราจารย์อยู่มหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัย แกมีนิสัยใจเร็ว อีโก้สูง เมื่อ ๓ ปีก่อนแกมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานก็เลยมาคุยธรรมะกับผม
ผมฟังๆ ดู แกมักจะพูดเรื่องดูจิต และเป็นไปแนวทางของพระองค์หนึ่ง ผมเลยบอกแกไปว่า ขอให้ดูจิตตามแบบหลวงปู่ดูลย์เท่านั้น แล้วก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย จนกระทั่งทราบว่าหลังจากที่คุยกันประมาณ ๓ เดือน แกไปบวชที่วัดหลวงปู่ลี ไม่บอกเพื่อนเลย ใจเด็ดมากๆ ผมก็ได้แต่อนุโมทนาพระท่าน
เมื่อวานนี้ท่านได้ติดต่อพี่ชายผมว่ากำลังจะไปธุดงค์ที่อุ้มผางองค์เดียว โดยได้รับอนุญาตจากครูบาอาจารย์ที่วัดแล้ว เพราะเห็นว่าท่านมีความเพียรมาก สมควรไปหาความรู้ด้วยตัวเองได้ แม้ว่าจะเพิ่งบวชได้ ๓ ปี แต่ท่านคุยกับพี่ชายผมว่าจิตเด็กเหมือนจิตพระอรหันต์ ทำให้ผมคาใจว่าหากผมได้พบท่าน ผมควรบอกท่านเรื่องนี้หรือไม่ เพราะฐานะตอนนี้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติจริงจังมาก ผมกลัวว่าถ้าบอกท่านจะทำให้เกิดเป็นสัญญากับท่านหรือไม่ หรือควรปล่อยให้ท่านได้พิจารณาผ่านไปเอง เพราะว่าถ้าบอกไปก็เป็นความจำที่ผมจำหลวงพ่อและหลวงตามา ผมก็อายที่จะบอกท่านว่าจิตเด็กกับจิตพระอรหันต์ไม่เหมือนกัน แต่กลัวท่านจะหลง ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ ผมลุ้นท่านมากตอนนี้
ตอบ : ผมลุ้นท่านมากเพราะว่าเขามีความตั้งใจมาก แล้วเขาบวชมา ๓ ปี แล้วเขาออกประพฤติปฏิบัติ แต่เวลาความเห็นนะ ความเห็นนี่เป็นคำพูด คำพูด ถ้าคำพูดของคน บางทีกลอนมันพาไป คำว่า “มันบอกว่าจิตพระอรหันต์เหมือนไร้เดียงสา จิตพระอรหันต์เหมือนจิตเด็กๆ” นี่มีคนพูดกันไปแบบนั้น ฉะนั้น มีคนพูดไปแบบนั้นเพราะอะไร เพราะมันเป็นทางวิชาการ
ถ้าทางวิชาการ พวกเราจะเห็นว่าจิตเด็กๆ เราเห็นความไร้เดียงสาของเด็กไง พอความไร้เดียงสาของเด็ก มีครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติหลายองค์มากที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์มีชื่อเสียงนะ นั่นไม่ใช่ความเห็นผิด ท่านพูดเองเลยว่าจิตพระอรหันต์เหมือนจิตเด็กไร้เดียงสา เขาพูดอย่างนั้น
ถ้าพูดอย่างนั้นตรงๆ ใช้ไม่ได้เลย ถ้าจิตพระอรหันต์เหมือนจิตเด็กไร้เดียงสา อย่างนั้นถ้าจิตพระอรหันต์เหมือนจิตเด็กไร้เดียงสา จิตเด็กไร้เดียงสาเกิดมาทุกคนก็เป็นพระอรหันต์หมดน่ะสิ เพราะทุกคนผ่านจากเด็กมาก่อน ไม่ใช่ นั่นพูดถึงเวลาพระที่เห็นผิดนะ
แต่ถ้าเขาเป็นแบบกลอนพาไป คือคำพูดมันพาไป เวลาจิตเราว่าความไร้เดียงสาเหมือนจิตพระอรหันต์ ถ้าจิตพระอรหันต์คือว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่นมันไม่มีตัวตน ไม่มีภวาสวะ ไม่มีภพ ไม่มีสถานที่ให้ยึดมั่นถือมั่น
แต่ถ้าจิตไร้เดียงสามันมี มันมีตัวตน มันมีตัวตน แต่มันเป็นเพราะความไร้เดียงสา ความแสดงออกไร้เดียงสา แต่มีตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนมันไม่ร้องไห้หรอก ไม่มีตัวตนมันไม่ตีโพยตีพายจะเอาอะไรหรอก มันมีตัวตนของมัน ถ้ามีตัวตนของมัน ฉะนั้น เพียงแต่ว่ามันเป็นวัย มันผ่านวัยไป
ฉะนั้น พอมันผ่านวัยไป จิตพระอรหันต์กับจิตเด็กไร้เดียงสาไม่เหมือนกัน แต่ความจริงเวลาเขาพูด คนที่เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็พูดทำนองนั้นไงว่า ความไร้เดียงสา ความสะอาดบริสุทธิ์ก็เปรียบเทียบ เป็นธรรมะเปรียบเทียบ ถ้าเปรียบเทียบ เขามีความเห็นแบบนั้น เพราะอะไร เพราะเขาจบปริญญาเอก เขาจบปริญญาเอกด้วย แล้วเขาสอนมหาวิทยาลัยตั้งหลายมหาวิทยาลัย ฉะนั้นแสดงว่าเขาต้องมีความรู้ ถ้าเขามีความรู้แล้วเขาก็มีทิฏฐิ พอมีทิฏฐิแล้ว อย่างที่ว่าอีโก้สูงมาก อีโก้สูงมากก็ต้องให้เขารู้ของเขา เขาปฏิบัติของเขา แล้วกรณีอย่างนี้มันเป็นความเห็นว่าจิตพระอรหันต์เหมือนจิตไร้เดียงสา มันเป็นความเห็น มันยังไม่เป็นความจริง
ถ้าเขาจะติด เขาจะอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเขาทำสมาธิมาได้ ถ้าจิตเขามีสติมีปัญญาไปได้ เขาพิจารณาของเขาไปได้เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เดี๋ยวเขารู้ของเขาเอง ถ้าเขารู้ของเขาเอง เป็นไปได้ แต่ถ้าเราไปคุยตอนนี้ เหมือนเราหญ้าปากคอก เราเริ่มปฏิบัติกันใหม่ แล้วเราก็บอกว่านิพพานจะเป็นอย่างนั้นๆ ทั้งๆ ที่ยังทำอะไรไม่เป็นเลย
ตอนนี้นะ เราเริ่มทำมาหากินกัน เริ่มสมัครงาน เริ่มทำงานได้ ห่วงว่าไม่มีตู้เซฟเก็บสตางค์ไง ไม่ต้องห่วง ทำงานไปก่อน ประเดี๋ยวมีเงินมีทองขึ้นมา ที่เก็บเยอะแยะไป
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอบวชแล้วกลัวเขาติด กลัวเขาอย่างนู้น ไม่ต้องกลัว ปล่อยให้เขาปฏิบัติไป มีสติมีปัญญาขึ้นไป มันจะเลาะ มันจะคอยเลาะ คอยเคลียร์ทิฏฐิมานะความเห็นผิดของเราไปเรื่อยๆ เรามีจุดมุ่งหมาย มีความมุ่งหมาย มีความมุ่งมั่น ว่านิพพานจะเป็นอย่างนั้น พระอรหันต์จะเป็นอย่างนั้น นี่เป็นความมุ่งมั่นของเรา ถ้าความมุ่งมั่นของเรามันมีความเห็นอย่างนี้ มันก็คิดของมันอย่างนี้
แต่เวลาเราปฏิบัติไป ความมุ่งมั่นของเรามันมีประสบการณ์แล้ว คนมีประสบการณ์ทำงาน คนมีประสบการณ์ในหน้าที่การงาน เขาผ่านงานเขามา เขาจะ อ๋อ! เราเข้าใจผิดหมดเลย ใช่ ทางทฤษฎีว่าอย่างนั้น เราต้องทำอย่างนั้นๆๆ แต่เวลาไปหน้างานแล้ว อู้ฮู! มันมีอุปสรรค มันร้อยแปดพันเก้าเลย มันต้องไปแก้ไขเอาที่หน้างานนั้น
เวลาปฏิบัติไปก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป จิตมันจะลงไม่ลง จิตลงแล้วมันภาวนาไม่ได้ มันจะใช้ปัญญาได้หรือไม่ได้ จิตลงแล้วมันไปติด จิตลงแล้วมันไม่มีกำลัง จิตลงแล้ว อู๋ย! ร้อยแปดเลย แล้วออกปัญญาไปก็เตลิดเปิดเปิงไปเลย ไม่ยอมกลับมาทำความสงบของใจเลย มันจะไปไม่มีเขตมีแดนเลย แล้วพอปฏิบัติไปมันก็ล้มลุกคลุกคลานไป จนมันสมดุลของมัน มันเป็นของมันไป นี่ถ้านักปฏิบัติจะเป็นแบบนี้
ฉะนั้นเขาบอกว่า ผมเป็นห่วงมาก ผมเป็นห่วงว่าท่านจะติดของท่าน
เออ! ถ้าเขาปฏิบัติของเขา ถ้าเขาจะติดของเขา ถ้าเขามีอำนาจวาสนาของเขา เขาไปฟังเทศน์ครูบาอาจารย์องค์ใดแล้วไปสะกิดใจเขา เขาจะปล่อยของเขาได้ แต่ถ้าเราจะไปบอกกันตอนนี้มันแบบว่า ธรรมดาวัยรุ่นมองหน้ากัน เดี๋ยวก็ได้เสีย ไอ้นี่จะคุยกัน เดี๋ยวก็ได้เสียเหมือนกัน
ฉะนั้น เพราะเขาจบปริญญาเอก เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยมาแล้วด้วย แล้วบวชมาแล้วถึง ๓ ปี อยู่กับหลวงปู่ลีมา ๓ ปี มีอาจารย์อยู่แล้ว โอ้โฮ! อีโก้มันเต็มที่เลย ทั้งสถานะการศึกษา ทั้งตำแหน่งหน้าที่การงาน ทั้งได้บวชเป็นพระภิกษุ พระนะ พระ พระนี่ประเสริฐมาก ทั้งมีครูบาอาจารย์หนุนหลัง อู้ฮู! กิเลสมันตัวเท่ากับช้าง แต่ถ้าปฏิบัติไปๆ เดี๋ยวเขารู้ของเขาเอง ประสบการณ์ของเขา นี่พูดถึงว่าจะทำอย่างไรดี
ทำอย่างไรดี เราก็ปรารถนาดีอยู่แล้ว อย่างเช่นว่า เราก็อนุโมทนาไปกับความมุมานะของท่าน ท่านได้บวชจริง ท่านทิ้งสถานะของความเป็นอาจารย์มา ท่านทิ้งสถานะที่ท่านได้เรียนมาถึงจบปริญญาเอก แล้วท่านมาบวชของท่าน แล้วท่านมุมานะของท่าน อันนี้เราก็ต้องอนุโมทนาไปกับท่าน แล้วถ้าท่านทำได้จริงขึ้นมา เราก็ยิ่งอนุโมทนาไปกับท่านมากขึ้นไปอีก
ฉะนั้น ให้เขาพิสูจน์ตัวเขา ความสะอาดบริสุทธิ์มันเป็นความรู้เฉพาะตน ไม่มีใครการันตีความสะอาดบริสุทธิ์ให้คนอื่นได้ เขาจบถึงดอกเตอร์ แล้วเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมา แล้วเขาปฏิบัติของเขาเอง เขาผ่านงานมาขนาดนั้น ถ้าเขาจะให้กิเลสเขาหลอก ก็สาธุ หลอกไปเถอะ จบมาขนาดนี้ยังโง่ ก็ให้มันหลอกไป แต่ถ้าเขาทำของเขาประสบความสำเร็จ เราก็อนุโมทนาไปกับเขา นี่พูดถึงจะทำอย่างไรดีไง เพราะป่านนี้เขาก็ธุดงค์ไปแล้ว เราก็นั่งวิตกอยู่ที่บ้าน ก็ดูใจเราก็แล้วกันเนาะ
ถาม : เรื่อง “เมื่อปฏิบัติธรรมถึงระดับพระอริยะแม้ขั้นต้นๆ แล้ว โอกาสที่จะเกิดอาการสมองเสื่อม หลงลืม มีหรือไม่”
กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง กราบขอโอกาสพระอาจารย์ ขออนุญาตถามคำถามเพื่อเป็นความรู้และวิทยาทานแก่ผู้ที่ยังขาดความเข้าใจ เพื่อนำไปเป็นหลักปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นธรรมดังนี้
๑. นักปฏิบัติธรรมมานานพอสมควร ถึงขั้นเป็นพระอริยะในระดับต้นๆ แล้ว โอกาสที่จะเกิดสภาวะสมองเสื่อม หลงลืม ขาดสติควบคุมตนเองไม่ได้ มีหรือไม่ เช่น ในบางครั้งเผลอฆ่ามด แมลง ยุง สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย หรือเกิดอุปาทานมีความรู้สึกว่ามีมดตัวใหญ่มาไต่ตามตัวและขึ้นบนเตียงเต็มไปหมด เป็นต้น
๒. เคยได้ฟังมาว่า คนที่ใกล้ตาย หากมีกรรมมานิมิตให้เห็น เช่น คนที่มีอาชีพเคยฆ่าไก่ ฆ่าหมู ฆ่าวัว ฆ่าควายในโรงงานฆ่าสัตว์เพื่อขาย เมื่อใกล้ตายจะเกิดอุปาทานว่ามีสัตว์เหล่านั้นมาหาหรือมาร้องทวงชีวิต หรือมักจะฝันถึงญาติที่ตายไปนานแล้วบ่อยๆ เช่น พ่อแม่หรือญาติพี่น้องคนใกล้ชิด ดังนี้เป็นต้น อาการเช่นนี้แสดงถึงภพภูมิที่เขาจะไปหรือไม่ ขอความเมตตาจากพระอาจารย์โปรดพิจารณาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยค่ะ หลายๆ คนกำลังฟังคำตอบที่ชัดเจน
๓. เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าผู้ที่อยู่วัดปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมานาน ได้อริยภูมิขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว สิ่งที่จะบ่งบอกว่าเขามีภูมิธรรมจริง ก้าวหน้าในธรรม ผ่านเข้าถึงธรรมขั้นสูงขึ้นแล้ว เราจะมีข้อสังเกตง่ายๆ ได้อย่างไร เพื่อจะได้ระมัดระวังตัวไม่ไปประมาทล่วงเกินให้เกิดบาปกรรมแก่ตนต่อไป
๔. การที่เป็นคนวัดมาทำงานให้วัด รับใช้ครูบาอาจารย์ และมักจะเก็บรวบรวมสะสมสิ่งของและนำของจากวัด เช่น อาหารบ้าง ของใช้ประจำวันบ้าง ไปฝากลูกหลาน ฝากคนในครอบครัวของตน โดยอาจจะขอจากผู้มีหน้าที่ดูแลบ้างหรืออาจจะไม่ได้ขอบ้าง แต่ถือวิสาสะหยิบรวบรวมเอาเอง โดยถือตนว่าเป็นคนวัดคงไม่เป็นไร เช่นนี้เป็นโทษอย่างไรหรือไม่ การทำเช่นนี้ที่ถูกควรปฏิบัติอย่างไร ควรขออนุญาตจากท่านใด เจ้าอาวาสหรือเพียงผู้ดูแลห้องเก็บของอนุญาตก็เพียงพอแล้ว ใคร่ขอวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เกิดบาปแก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้องด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง
๕. กรณีที่เข้าใจว่าตนเองบรรลุธรรมขั้นสูงสุด และได้บอกกล่าวกับพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหายไปแล้วว่าตนหลุดพ้นแล้ว และทุกคนก็พากันชื่นชมอนุโมทนา แต่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นเพียงจิตหลง เช่นนี้จะทำให้ญาติพี่น้องเกิดบาปด้วยหรือไม่ ที่ได้ไปบอกกล่าวหรือโฆษณาว่าญาติตนเองบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงชักชวนเพื่อนฝูงญาติมิตรมาทำบุญ เช่นนี้จะเป็นการหลอกทั้งตัวเองและผู้อื่นหรือไม่ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์อย่างสูง
ตอบ : โอ้! คำถามเยอะเนาะ ไอ้คำถามท้ายๆ มันเป็นปัญหาสังคม แต่คำถามคำแรกๆ เออ! อันนี้มันเป็นเรื่องมรรคผล ที่ว่า “๑. นักปฏิบัติธรรมนานพอสมควร ถึงขั้นเป็นพระอริยะในระดับต้นๆ แล้ว มีโอกาสจะเกิดสภาวะสมองเสื่อม หลงลืม ขาดสติ ควบคุมตนเองไม่ได้ มีหรือไม่ เช่น ในบางครั้งมีมดมีปลวกอะไรมา”
ในการปฏิบัติ มนุษย์เกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ คือร่างกาย ขันธ์ ๕ เป็นความคิด แต่มันมีพลังงานตัวจิตอีกตัวหนึ่ง ฉะนั้น ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตที่ว่าระลึกอดีตชาติๆ กัน เพราะเราเข้าไม่ถึงตัวนี้กัน เราเข้าได้แต่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกเรานี่แหละ นี่ขันธ์
แต่เวลาจิตถ้ามันสงบแล้วมันเข้าไปสู่ปฏิสนธิจิตคือฐีติจิต คือจิตเดิมแท้ ถ้าจิตเดิมแท้ ตัวนั้นน่ะตัวจิตเดิมแท้เป็นตัวซับ ตัวเก็บข้อมูล ถ้าคอมพิวเตอร์นะ มันเป็นโปรแกรม ตัวนี้มันจะเก็บไว้หมดเลย พอเก็บไว้หมดใช่ไหม ถ้าจิตเราสงบเข้าไปถึงจุดนี้ อย่างเช่นว่าฤๅษีชีไพรเวลาเขาทำฌานสมาบัติ เขาทำสมาธิเข้าไป เขาระลึกอดีตชาติได้ นี่เขาระลึกอดีตชาติได้ พอเข้าไปถึงข้อมูลของเขา เขาจะย้อนได้
นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณคือญาณที่ระลึกอดีตชาติ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วพระพุทธเจ้าก็ดึงกลับมา เวลาไปมันไปอนาคต จุตูปปาตญาณไปอนาคต นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ธรรมนะ ฉะนั้น พอดึงกลับมา ถ้าอาสวักขยญาณ อริยสัจ อาสวักขยญาณ อาสวักขัย อาสวักกิเลส เราทำตรงนี้มันถึงจะเข้าถึงมรรคผล
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า ถ้ากายกับใจ คนเราเกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มีกายกับใจ ร่างกายนี้มันแปรสภาพ มันเปลี่ยนแปลง มันชราคร่ำคร่า เจ็บไข้ได้ป่วยได้ ผู้ที่ปฏิบัติเจ็บไข้ได้ป่วยได้ ได้ทั้งนั้นน่ะ เช่นที่ว่าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว เป็นอะไรแล้ว สมองเสื่อมได้ไหม ได้ ได้แน่นอน สมองเสื่อมได้ ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยได้ตลอด เหมือนกัน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหมอชีวกเป็นหมอรักษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจ็บไข้ได้ป่วยหลายที เป็นโรคลม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหมอชีวกเป็นผู้รักษา นี้กรณีหนึ่งนะ นี่พูดถึงกรณีเจ็บไข้ได้ป่วยของกายก่อนนะ
แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ไอ้เรื่องสมองเสื่อมมันเป็นเรื่องสมองเสื่อม แต่จิตมันไม่เสื่อม เป็นพระอริยเจ้าแล้วจิตไม่เสื่อม หลวงตาท่านพูด เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า ดูสิ ดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านอายุ ๙๐ กว่า ท่านจะหลงลืม
พระอรหันต์หลงลืมในอะไร หลงลืมในสมมุติบัญญัติ นี้อยู่ในมิลินทปัญหา พระอรหันต์จะหลงลืม หลงลืมในสมมุติบัญญัติ สมมุติอย่างเช่นถนนสายนี้ชื่อถนน ก แล้วพอถึงคราวหนึ่งเขาก็เปลี่ยนถนน ก เป็นถนน ข แต่เราเคยรับทราบว่าถนนสายนี้ชื่อ ก แล้วทางเทศบัญญัติเขาเปลี่ยนชื่อถนนใหม่ อย่างนี้สมมุติมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่างนี้พระอรหันต์จะหลงลืมเรื่องอย่างนี้ เรื่องสมมุติบัญญัติ
แต่พระอรหันต์ไม่หลงลืมในเรื่องอริยสัจ ไม่หลงลืมในความเป็นพระโสดาบัน ในความเป็นพระสกิทาคามี ในความเป็นพระอนาคามี ในความเป็นพระอรหันต์
ในการเป็นพระอรหันต์คืออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณมันชำระล้างกิเลส อันนี้ตายตัว อกุปปธรรมไม่มีหลง ไม่มี แต่หลงในสมมุติบัญญัติ คือข้อมูลที่เปลี่ยนแปลง เขาเปลี่ยนชื่อ เขาอะไร เราไม่รู้ได้ แต่อริยสัจชัดเจนมาก ไม่มีหลง
หลวงตา ถ้าไปถาม ดูสิ เวลาท่านบอกว่าท่านออกจากกุฏิแล้วกลับกุฏิไม่ได้เลย แต่ใครไปถามเรื่องภาวนาสิ ตอบได้ฉับๆๆ เลย ถ้าเรื่องภาวนา เรื่องของใจ ตอบได้ตลอดเวลา ไม่มีหลง แต่ร่างกายเสื่อมสภาพได้ เสื่อมสภาพได้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้นแล้ว เกิดสภาวะสมองเสื่อม หลงลืมได้ไหม
หลงลืมได้ หลงลืมได้ด้วยสมมุติบัญญัติ หลงลืมได้ด้วยทฤษฎีหลงลืมได้ แต่ความรู้จริงหลงลืมไม่ได้ ความรู้จริงในใจนั้นคงที่ตายตัว ถ้าไม่คงที่ตายตัว มันไม่เป็นอกุปปธรรมไง มันไม่คงที่ตายตัว
เป็นพระโสดาบันคงที่ตายตัว เป็นพระสกิทาคามีคงที่ตายตัว เป็นพระอนาคามีคงที่ตายตัว เป็นพระอรหันต์ยิ่งคงที่ตายตัวใหญ่
แล้วถ้าคงที่ตายตัวไม่เป็นอัตตาหรือ อ้าว! มันก็เป็นอัตตาสิ มันคงที่ตายตัว มันคงที่ตายตัวได้อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนอนัตตา แล้วนี่มันเป็นอัตตาหรือ
อนัตตาคือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่กุปปธรรม อกุปปธรรม ไอ้นั่นกรณีนั้นนะ เพราะมันพูดกรณีที่ว่าสมองเสื่อมแล้วหลงลืม แล้วพระอริยบุคคลชั้นต้นจะหลงลืมได้ไหม มันต้องดูตรงนี้ไง เพราะตรงนี้มันถึงบอกว่าคำถามถามว่า แล้วจะได้ศึกษา แล้วจะได้ปฏิบัติใช้จะได้ไม่ผิดพลาด จะได้ไม่เป็นบาปเป็นกรรม
ทีนี้มันเป็นกรรมๆ ทีนี้ความเห็นของเรา ความเห็นของโลกไง ความเห็นของเราความเห็นเป็นโลก วิทยาศาสตร์เป็นโลก คงที่ตายตัวทางทฤษฎี แต่ถ้าคงที่ตายตัวทางทฤษฎีเขาเอาไว้ทำไม สิ่งที่ทฤษฎี เราศึกษาไว้ทำไม
ศึกษาไว้เพื่อวิชาชีพ ศึกษาไว้เพื่อไปทำงานให้มันสำเร็จขึ้นมา ถ้ามันสำเร็จขึ้นมา ผลงานกับทฤษฎีอันนั้น ผลงานที่เกิดขึ้น อย่างเช่นทางวิศวะเราเขียนแบบเขียนต่างๆ แล้วเราจะสร้างบ้าน นี่ด้วยทฤษฎี แต่เวลาสำเร็จรูปมาแล้วมันเป็นบ้าน ทฤษฎีเป็นทฤษฎี
โลกก็เหมือนกัน คงที่ตายตัวแบบโลกมันเป็นแบบนี้ แต่ถ้าคงที่ตายตัวแบบธรรม เห็นไหม มันสำเร็จเป็นบ้าน สำเร็จเป็นธรรม สำเร็จเป็นความสำเร็จในหัวใจ มันไม่ใช่คงที่ตายตัวแบบทฤษฎี มันคงที่ตายตัวเพราะผลมันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราจะศึกษาเพื่อรู้มันถึงจะรู้ได้ยาก
ฉะนั้นบอกว่า “นักปฏิบัติธรรมพอสมควรแล้ว พอถึงขั้นพระอริยะในระดับต้นๆ เกิดมีอาการสมองเสื่อมได้ไหม”
สมองเสื่อมนี่ได้ สภาวะร่างกายมันเสื่อมสภาพได้ แต่สมองเสื่อม ร่างกายเสื่อม แต่ใจไม่เสื่อม ถ้าเป็นพระอริยะจริงนะ แต่ถ้ามันเป็นไม่จริงน่ะสิ แล้วมันจริงแล้วมันมหัศจรรย์มากด้วย มหัศจรรย์มากนะ
ถ้ามีหลักมีธรรม มีคุณธรรมในหัวใจ ร่างกาย สภาพร่างกายเสื่อมไปแล้ว แต่ยังคงชีวิตอยู่ได้ ธรรมโอสถ ร่างกายเสื่อมสภาพไป มีโรคภัยไข้เจ็บ สามารถเอาจิตฟอกให้ร่างกายนี้กลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ได้ด้วย ถ้าเป็นความจริงนะ มีครูบาอาจารย์ทำได้จริงๆ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านจะนิพพาน ท่านจะออกมาจากหนองผือ เราตายที่นี่ไม่ได้ เราตายที่นี่ไม่ได้ เพราะเราตายที่นี่แล้วสัตว์มันจะตายเพราะเราเป็นต้นเหตุอีกมหาศาลเลย ให้เราตายที่นี่ไม่ได้ เราต้องออกไปตายที่วัดป่าสุทธาวาส เพราะวัดป่าสุทธาวาสมันอยู่ในจังหวัดสกลฯ มันมีตลาดร้านค้าที่นั่น
สัตว์ที่มันจะตายอย่างนั้นเพราะว่าผู้ทำธุรกิจของเขา เขาทำวิชาชีพของเขา เขาฆ่าเป็ดฆ่าไก่ขายก็เรื่องของเขา เราจะไปตายที่นั่น เพราะสิ่งนั้นเขาตายของเขาด้วยโลกอยู่แล้ว แต่ถ้าเราตายที่หนองผือ มันไม่มีตลาด ประชาชนที่นั่นเขาต้องไปขวนขวายหาวัวหาควายมาเพื่อเลี้ยงดูคนที่มางาน เราจะตายที่นี่ไม่ได้เพราะจะเป็นต้นเหตุให้สัตว์อื่นตายกับเราไปด้วย ต้องออกไปตายที่วัดป่าสุทธาวาส
ก็หามกันมา หามกันมาด้วยวุฒิภาวะของลูกศิษย์ไม่เท่าทันครูบาอาจารย์ ก็คิดว่าท่านยังสบายดีอยู่ ท่านยังแข็งแรงอยู่ ก็ยังไม่ให้ท่านไป ก็ไปพักไว้ที่วัดบ้านภู่ หลวงตาท่านเล่าให้ฟังนะ ท่านบอกว่าให้เอาไปเดี๋ยวนี้ๆ
นี่จะบอกว่า คน ถ้าพูดถึงมันตายไปแล้ว แต่ท่านยังรั้งของท่านไว้ แล้วบอกหลวงตาให้ทำเป็นคติเลย เอาเราลุกขึ้นนั่ง เพราะรั้งไว้ไง ถ้านอนมันจะตาย มันจะไปเลย เหมือนเราเป็นลม นอนก็วูบไปเลย
เอาเรานั่งไว้ แล้วหันหน้าเราไปทางวัดป่าสุทธาวาส
ท่านทำถึงขนาดนั้น ทำให้นิมิตหมาย ให้คนรู้ได้ไงว่าเอาเราไปๆ เรารั้งใจเราไว้ เรารั้งไว้ มันจะไปอยู่แล้ว นี่เรารั้งไว้ แต่ก็ไม่มีใครรู้
หลวงตาท่านว่า นี่ถ้าเวลาจิตที่มันดี เห็นไหม จิตที่มันพัฒนาแล้ว จิตที่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แม้แต่จะตายก็ยังรั้งไว้ๆ จนสุดท้ายแล้วก็ด้วยเทวดา ว่าอย่างนั้นเลย ด้วยเทวดาไปดลใจให้โยมที่จังหวัดสกลนคร อยู่ที่สกลฯ เขาก็เอารถมารับเลย มันต้องมีคนไปดลใจมา พอดลใจ หลวงตาท่านสงสัย “อันนี้มากันได้อย่างไรล่ะ”
“ก็นึกอยากมาก็มาอย่างนั้นน่ะ มาก็เอารถมารับ”
หลวงปู่มั่นยังถามเลย “พระเยอะ จะไปได้อย่างไรล่ะ”
“ถ้าพระเยอะจะไปไม่หมดก็จะขนทั้งวันให้จนหมด แล้วอย่างไรก็ต้องเอาหลวงปู่มั่นไปเที่ยวแรก”
พอจะไปเที่ยวแรกปั๊บ ก็ให้หมอฉีดยา ฉีดยาเพื่อให้วางยาสลบ เอาขึ้นรถไป พอไปถึงวัดป่าสุทธาวาส ยามันหมดฤทธิ์ ท่านก็ลืมตาขึ้น มองซ้ายมองขวาว่าที่นี่วัดป่าสุทธาวาสแน่นอน กุฏินี้ เพราะกุฏิของท่านเอง สุดท้ายแล้วท่านก็ปล่อยหมด นอนนิ่ง นิ่ง นิ่ง จนไปเลย นี่จิตที่ดีมันรั้งไว้ได้ จิตที่ดี
ฉะนั้นว่า พระอริยบุคคลแล้วสมองเสื่อม
สมองส่วนสมอง สมองเสื่อมมันก็เรื่องความจำพื้นๆ จากชีวิตประจำวัน แต่เรื่องอริยสัจ ไม่มีทาง เรื่องอริยสัจความจริงคงที่ตายตัว
ฉะนั้นว่า “พระอริยบุคคลชั้นต้นๆ มีโอกาสมองเสื่อมแล้วหลงลืมได้ไหม”
สมองเสื่อมได้ แต่ไม่หลงลืม ตรงนี้ เราจะตอบตรงนี้ ไอ้ที่ว่าลืมก็ลืมในขันธ์ เพราะขันธ์มันไม่ใช่จิต สัญญา สังขารไม่ใช่จิต ไม่ใช่
จิตเป็นภวาสวะ จิตเป็นภพ แล้วมันทำลายแม้แต่ขันธ์ แล้วมันทำลายจิตอีก แล้วมันจะหลงลืมไปไหน แต่มันหลงลืม หลงลืมเรื่องข้างนอก
หลงลืมไหม
ไม่
สมองเสื่อมได้ไหม สภาพร่างกายเสื่อมได้ไหม
เสื่อม เสื่อม พระพุทธเจ้ายังนิพพานเลย ชราภาพแล้วพระพุทธเจ้ายังต้องทิ้งร่างกายนี้ไป เสื่อม แต่หลงลืม หลงลืมในเรื่องโลก หลงลืมในเรื่องสมมุติบัญญัติ แต่ไม่หลงลืมในอริยสัจเด็ดขาด คงที่ตายตัว ไม่มีหลงลืม
“ขาดสติควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น บางครั้งเผลอฆ่ามด แมลง ยุง สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย หรือเกิดอุปาทาน”
ตรงนี้ชัดเจนมากเลย “หรือเกิดอุปาทาน มีความรู้สึกว่ามีมดตัวใหญ่มาไต่ตามตัว” ไอ้นี่อุปาทานแล้ว มีมดนี่แสดงว่าหลุดแล้ว อันนี้พระอรหันต์ของกิเลส กิเลสทำให้เป็นอรหันต์ อรหันต์ของมัน อรหันต์กิเลสมันหลอกไง มันถึงได้มีอุปาทาน มีมดตัวใหญ่ มดตัวใหญ่มาไต่มาตอม จบแล้ว มันไม่มี
สติสมบูรณ์มาก เราไม่อยากจะพูดนะ เวลาหลวงตาท่านพูดถึง ให้ดูตัวท่าน เวลาท่านแสดงธรรมท่านบอกว่าให้ดูตัวท่านสิ อย่างไรก็แล้วแต่ สติของท่านจะสมบูรณ์ ท่านจะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรท่านก็สมบูรณ์ของท่าน แต่ถ้าเป็นการศึกษานะ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านให้เปรียบเทียบเอา ให้ดูไงว่าถ้าเป็น ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค เวลามันชราภาพมันเป็นอย่างนั้น สัญญาคือจำ สัญญาคือวิชาการที่จำมา วิชาการ สัญญา สังขารที่ศึกษามา เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยมันอยู่ข้างนอก มันช่วยเหลือเราแทบไม่ได้เลย
แต่เวลาเราปฏิบัติ อริยสัจมันอยู่ที่จิต จิตมันเป็นเอง จิตมันทำเอง จิตมันเป็นเอง จิตมันทำเอง จิตมันรู้เอง แล้วเวลามันชราคร่ำคร่า จิตมันก็รับรู้ของมันเอง มันก็ควบคุมได้ สติมันสมบูรณ์อย่างนี้ไง แต่ถ้าเป็นการศึกษานะ มันเป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันศึกษามา เวลามันคิดปรุงแต่งเรื่องธรรมพระพุทธเจ้า แต่เวลาเราทุกข์ มันแก้ไขอะไรไม่ได้ เหมือนยาเอาไว้ในตู้ เวลาป่วย กูป่วย กูเป็นทุกข์เป็นยากอยู่นี่ แต่ยาอยู่ในตู้เอามากินไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้าของเรามันเกิดขึ้นมาเองเลย นี่มันเป็นอย่างนี้มันถึงไม่มีอุปาทานไง
คำว่า “อุปาทาน” อย่างนี้ชัดมาก “หรือบางทีมีอุปาทาน มีมดตัวใหญ่มาไต่มาตอม” จบแล้ว ถ้าอย่างนี้จบเลย ฉะนั้น มันไม่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมแล้ว สภาวะสมองเสื่อม เรื่องร่างกายเสื่อมสภาพได้ แต่เรื่องจิตไม่มีทาง จิตคงที่ นี่พูดถึงความคิดว่าพระอริยบุคคลมีคุณสมบัติอย่างไร
“๒. เคยฟังมาว่าเมื่อคนใกล้ตายแล้วมีกรรมนิมิต”
ถ้ามีกรรมนิมิตนะ ส่วนที่มีกรรมนิมิต ถ้ามีภพมีภูมิ เราไม่ต้องไปคิด มันผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ เวลาเกิด เกิดดีเกิดชั่ว เวลาตายไป ไปดีไปชั่ว ฉะนั้น กรณีที่ว่า คนที่เขามีอาชีพอย่างนั้น อย่างอาชีพที่ฆ่าสัตว์ขายนี่มี มีหลายกรณีมาก เพราะแบบว่ามีลูกหลานของเขา เขามาเล่าถึงญาติของเขาให้เราฟัง ก็มีสภาวะแบบนี้เหมือนกัน
บอกว่า แต่เดิมอาชีพเขาอาชีพฆ่าเป็ดฆ่าไก่มาก่อน แต่สุดท้ายแล้วเขาทำธุรกิจของเขามา เขาก็เปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยๆ ลูกหลานมาก็มารองรับ มารับช่วงต่อ แล้วพอปู่ย่าตายายเขาเคยทำมาอย่างนั้น เขาก็คิดถึงปู่ย่าตายายของเขา เขาพยายามจะเอาเทศน์ครูบาอาจารย์เปิดให้ฟัง
เวลาใกล้จะตายเขามีอาการแบบนี้ เขารู้ของเขา เขาเห็นของเขา แต่เวลาคนทั่วไป คนที่ทำไม่มากขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าคนทำแล้วจะเป็นอย่างนี้ทุกคน คนทำ เวลาทำด้วยความมุมานะ ทำด้วยความจริงจัง มันฝังใจมาก แล้วฝังใจมาก เวลามีมันจะมีอย่างนี้ มีสภาพที่ว่าไปรู้ไปเห็นอะไรต่างๆ กรรมนิมิต ถ้ากรรมนิมิตมา เขานิมิตอย่างนั้นปั๊บ เรื่องนี้มันจากอดีต เราแก้อดีตได้ไหม ถ้าเราแก้อดีตไม่ได้ เราก็ต้องแก้ปัจจุบันนี้ เราก็ต้องพยายามทำอย่างดีที่สุดเพื่อจะให้ผ่อนหนักเป็นเบา
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราก็ทำบุญกุศล อุทิศส่วนกุศลให้เวรกรรมมันน้อยลง ให้มันเบาลง เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร แต่ผู้ที่จองเวร ผู้ที่จองเวรจองกรรมเขายึดมั่นของเขา เราก็ต้องใช้กรรมกันไป ถ้าใช้กรรมกันไป เราต้องอุทิศส่วนกุศลไป เพราะกรณีนี้มันอยู่ในสุตตันตปิฎก เห็นไหม ดูสิ ที่ว่าเป็นแม่ไก่ เป็นอะไรที่เอาลูกมากินกัน ไอ้อย่างนี้ พออย่างนี้ปั๊บ มันก็เหมือนกับในโลกปัจจุบันนี้ อย่างเช่นสัตว์นักล่า อาหารของเขา เขาไม่รู้เรื่องหรอก เขาก็แสวงหาอาหารของเขา แต่อาหารของเขาก็ชีวิตชีวิตหนึ่ง ถ้าชีวิตหนึ่ง เขาเป็นสัตว์นักล่า แล้วเขาบอกว่าทำไมเขาต้องเกิดมาเป็นสัตว์นักล่าล่ะ
อ้าว! ก็กรรมอีกแหละ ทำไมเขาต้องไปเกิดเป็นสัตว์อย่างนั้นล่ะ ทำไมเขาไม่เกิดเป็นสัตว์กินพืชล่ะ ทำไมเขาเป็นสัตว์กินเนื้อล่ะ สัตว์กินเนื้อเขาก็ต้องล่าของเขา ทีนี้เราเป็นคน เราเป็นคน เห็นไหม เวลาเรากินอาหารกัน ผู้ที่กินมังสวิรัติเขาก็ไม่กินเนื้อสัตว์ ไอ้พวกกินเนื้อสัตว์ก็อยากกินเนื้อสัตว์ มันมีตลาด มีต่างๆ คนเขาอยากมั่งมี อยากมีอาชีพ อยู่ที่เราเลือกไง สัมมาอาชีวะ ถ้าสัมมาอาชีวะ นี่พูดถึงสัมมาอาชีวะนะ
ถ้าพูดอย่างนี้ “หลวงพ่อ พรุ่งนี้ฉันมังสวิรัตินะ”
หลวงพ่อนี่ฉันได้ทุกอย่างเลย ฉันข้าวเปล่าๆ ก็ได้ มันอยู่ที่คนจะเลือก มันอยู่ที่เลือกนะ เพราะเวลาวันพระ เห็นไหม เขาบอกว่า บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน พระนี่ตัวกินดีเลย พระนี่บาปเต็มตัวเลย พระนี่กินทุกวันเลย แต่ไม่ได้ทำเลย พระนี่ตัวดีเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงเนื้อที่บริสุทธิ์ เนื้อสามส่วน เราไม่ได้เห็นหนึ่ง เราไม่ได้ยินดีหนึ่ง เราไม่ได้สั่งฆ่า เราไม่ได้เห็น เราไม่ได้ยินดี เนื้อที่บริสุทธิ์ เนื้อที่บริสุทธิ์ฉันได้
แต่ถ้าบอกว่า “โยมๆ หลวงพ่ออยากกินแกงไก่”
สั่ง สั่ง สั่งเขา สัตว์นั้นตายเพราะพระองค์นี้สั่ง ฉันไม่ได้ ฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน ฉะนั้น เขาไปนิมนต์พระเขาถึงไม่บอกถึงเรื่องเนื้อสัตว์ เพราะมันมีความสะอาดบริสุทธิ์ เพราะว่าเรื่องเวรเรื่องกรรมมันซับซ้อนมาก เป็นอจินไตย เพราะในสมัยพุทธกาลนะ มีสัตว์ เวลามันโดนล่า โดนคนอื่นล่า แต่สัตว์มันมีวุฒิภาวะ มันไปเข้านิมิตของครูบาอาจารย์ของพระสมัยพุทธกาลเลย บอกว่าเกิดเป็นสัตว์แสนทุกข์แสนยาก ไม่มีอะไรเป็นสมบัติเลย มีก็มีแต่เนื้อหนังมังสา แล้วนี่ก็ตายเสียแล้วเพราะความเผอเรอของเรา แล้วพรุ่งนี้ถ้ามีคนทำอาหาร เอาเนื้อมาถวาย ขอให้ฉันให้หน่อย ขอให้ฉันเนื้อหน่อยหนึ่ง เพราะอยากได้บุญมาก อยากเกิดเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีกฎหมายคุ้มครอง เกิดเป็นสัตว์ไม่มีอะไรคุ้มครองเลย สัตว์มันมีความคิดอย่างนี้ สัตว์มันปรารถนาบุญของมันน่ะ
ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ “พระเห็นแก่ตัว พระอยากกินถึงพูดอย่างนี้”
ไม่ใช่พระอยากกิน จิตวิญญาณของคนที่มันคิดดี จิตวิญญาณของคนที่มีความคิดดีเขาอยากได้ผลดีของเขา แต่จิตวิญญาณของสัตว์ที่มันไม่อยากตายแล้วคนไปฆ่ามัน มันก็ดิ้นรนของมัน มันก็ไม่อยากตายเหมือนกัน ฉะนั้น ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ชีวิตมีค่าเท่ากัน ชีวิตเสมอกัน อย่าทำร้ายกัน อย่าเบียดเบียนกัน
แต่นี้มันเป็นเรื่องผลของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องของสังคม มันมีตลาด มันมีอย่างนั้นอยู่ ฉะนั้น พระอาศัยสังคมอยู่ พระไม่เรื่องมาก พระไม่เรียกร้อง พระไม่ต้องการ ใครจะหาสิ่งใดมา พระรับได้หมด แต่พระไม่ใช่ว่าพระจะไปจ้ำจี้จ้ำไชจะเอาตามใจของพระ
“พระ ฉันไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันแต่มังสวิรัติ” ใครเอาอะไรมาก็ไม่ยอม จะมังสวิรัติๆ อันนี้มันก็เป็นทิฏฐิอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ให้มีทิฏฐินะ
ถ้าพูดอย่างนี้ไป เพราะอะไร เพราะพระได้ เพราะพระฉันเนื้อสัตว์ พระก็ชมแต่เนื้อสัตว์ใหญ่เลย แต่พระเห็นใจความรู้สึกของสัตว์ ความรู้สึกของคน ความรู้สึกอันนั้นมีค่าที่สุด หลวงตาบอกใจของคนสำคัญที่สุด จิตนั้นมันมีความสุขความทุกข์ จิตนั้นมันลำบากลำบน จิตนั้นมันดิ้นรน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลากรรมนิมิตๆ มันไม่เป็นอย่างนี้ทุกคน ไม่ใช่คนทำเสมอกัน คนทำนะ คนทำนี่เหตุการณ์เดียวกัน บาปไม่เหมือนกัน เพราะคนคนหนึ่งทำด้วยอาฆาตมาดร้าย คนคนหนึ่งทำด้วยความจำเป็น คนคนหนึ่งทำด้วยความไม่รู้ ทำในหน้าที่การงานเดียวกัน ผลของเวรของกรรมยังให้ไม่เสมอกันเลย
แล้วเวลาทำอย่างนี้ “ทำแล้วต้องเหมือนกันๆ” วิทยาศาสตร์ไง คิดแบบวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีที่คงที่ตายตัวไง แต่เรื่องเวรเรื่องกรรมมันมีเรื่องทิฏฐิมานะ เรื่องความผูกโกรธ เรื่อง โอ้โฮ! อีกร้อยแปดเลย ฉะนั้น ผลมันแตกต่างกัน
บอกว่า “อาการเช่นนี้แสดงถึงภพภูมิที่เขาจะไปหรือไม่ ขอความเมตตาหลวงพ่อโปรดพิจารณาให้ความกระจ่าง”
ให้ความกระจ่างนะ ให้ความกระจ่าง รักษาใจเรา ให้ความกระจ่าง สิ่งใดทำแต่คุณงามความดี ที่ในวันมาฆบูชา โอวาทปาฏิโมกข์ ไม่ทำความชั่วใดๆ ทั้งสิ้น ทำแต่คุณงามความดี แล้วทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว นี่จุดหลักเลย จุดหลักของเราเลย
แต่ไอ้เรื่องกรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีปลีกย่อย มันเป็นกรณีหรือวัฒนธรรม ภูมิประเทศ สังคมความเป็นอยู่ สิ่งนี้มันเป็นสภาวะแวดล้อม เป็นวัฒนธรรมที่อยู่แถวชายทะเล สิ่งต่างๆ ความเป็นอยู่ของเขาอีกเรื่องหนึ่ง
วัฒนธรรมของชนเผ่าอยู่บนภูเขา เพราะว่าไปธุดงค์ในป่า เวลาเมื่อก่อนชนเผ่าเขาคุยกันนะ “แหม! ถ้าฉันมีฐานะขึ้นมานะ ฉันจะกินปลาทูเค็มทุกวันเลย ปลาทูเค็มนี่ ฉันจะกินปลาทูกับน้ำผึ้งทุกวันเลย”
น้ำผึ้งกับปลาทูเค็มเป็นอาหารที่สุดยอดของชนเผ่าในนั้นนะ เพราะสิ่งนี้กว่าจะไปถึงมันยากมาก เห็นไหม มันอยู่ตรงนี้ด้วยไง อยู่ที่วัฒนธรรม ภูมิประเทศต่างๆ มันมีส่วนประกอบ แล้วเรานี่ เรามีสติปัญญาแค่ไหน เราจะทำอย่างไรของเรา
นี่พูดถึงเรื่องศาสนานะ เรื่องธรรมนะ ไม่ใช่ว่าซื่อบื้อๆ แล้วก็ถือไม้บรรทัดวัดเลยนะ ผิดอย่างนี้ๆ เที่ยวเอาไม้บรรทัดไปวัดคนอื่นนะ แต่ไม่วัดหัวใจตัว ต้องวัดที่หัวใจตัว ทำใจตัวของเราให้ดีขึ้น ทำใจตัวของเราให้มั่นคงขึ้น กรรมนิมิตมันมีต่อเมื่อคนทำอย่างนั้นแล้วผูกมัดอย่างนั้น มันก็เป็นแบบนั้น เราทำแต่เรื่องความดีของเรา ทำคุณงามความดีของเรา จะเป็นคุณงามความดีของเรา
เรื่องกรรมนิมิตมันจะมีนิมิตตามนั้น ไม่ใช่กรรมนิมิตแล้วเราจะต้องเปิดช่อง ๓ ช่อง ๔ ต้องออกมาอย่างนี้เลย แล้วเปิดช่อง ๔ เลย ไอ้นั่นเปิดช่อง ๓ เลย...ไม่ใช่
จิตของคนไม่เหมือนกัน ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน วาสนาคนไม่เหมือนกัน นี่เราถึงบอก เราใช้คำว่า “พันธุกรรมของจิต” จิตของคนไม่เหมือนกัน แม้แต่การภาวนา พระอรหันต์นี่ไม่มีเหมือนกันเลย แต่มีความสะอาดบริสุทธิ์เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่ผลของการปฏิบัติให้เป็นพระอรหันต์ไม่มีเหมือนกันเลย ถ้ามีเหมือนกันนะ ซ้อน วิทยานิพนธ์ซ้อนกัน ก็อปปี้มา ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่มี
พระอรหันต์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนปัจจุบัน พระอรหันต์แต่ละองค์ที่เป็นพระอรหันต์ไม่มีเหมือนกันเลย แต่เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเลยด้วยวิธีการปฏิบัติ ไม่เหมือนกันโดยอำนาจวาสนา ไม่เหมือนกันโดยพันธุกรรมของจิต แต่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว
“๓. จะสังเกตได้อย่างไรว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาอย่างจริงจัง นาน ได้อริยภูมิขั้นนี้ๆ แล้ว สิ่งที่บ่งบอกว่าเขามีภูมิธรรม เจริญก้าวหน้าในธรรม ผ่านมาถึงธรรมขั้นสูงขึ้นแล้ว เราจะมีข้อสังเกตง่ายๆ ได้อย่างไร เพื่อจะให้ระมัดระวังตัวไม่ประมาทล่วงเกินให้เกิดบาปกรรม”
ไม่เกิดบาปกรรม เราก็รักษาใจของเราไว้ ใครปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ได้คุณธรรมก็สาธุ แต่ถ้าประสาเรานะ เราก็ต้องรักษาใจเรา เห็นไหม ที่เขาบอก ที่ว่าล่วงเกินพระอริยเจ้าเป็นบาปเป็นกรรม ถ้าล่วงเกิน คือว่าพอเราสงสัยแล้ว เราเทียบเคียง เราใช้ปัญญา แต่เราใช้ปัญญาโดยที่เราไม่ได้ติเตียน ไม่ผิดหรอก ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นบาปเป็นกรรม แต่เราไม่ได้ติเตียน เราไม่ได้ติเตียน เราอยากรู้ เราอยากรู้นี่พิจารณา เพราะกาลามสูตร พระพุทธเจ้ายังไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อแม้แต่ที่เราเห็นซึ่งๆ หน้าว่าท่านดี เรายังไม่ให้เชื่อ แต่เราฟังที่ท่านพูด ดูที่ท่านทำ แล้วเรามาปฏิบัติตามว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าเราปฏิบัติได้จริงหรือเราทำได้จริง เรารู้ได้จริง
พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อนะ พระพุทธเจ้า กาลามสูตร ไม่ให้เชื่ออะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าเชื่อไป นี่เขาว่าเขาปฏิบัติธรรมแล้วเขามีภูมิธรรม ภูมิธรรมแล้วก็ชักลากกันไป
นี่ไง ที่ว่า คนนู้นได้โสดาบัน คนนี้ได้...ได้อะไร ความสะอาดบริสุทธิ์นี่ชี้ให้หรือ โยมโตขึ้นมา โยมโตขึ้นมาเพราะอะไร โยมโตขึ้นมาเพราะอะไร เพราะกินอาหารใช่ไหม เพราะดำรงชีวิตขึ้นมาใช่ไหม แล้วมันโตเพราะอะไร เพราะปากเรานี่เองไง เพราะอาหารเข้าปากนี่กูถึงโตมา ใครทำให้กูโตได้ถ้ากูไม่กิน
นี่ก็เหมือนกัน ความสงบของใจมันก็เป็นของมันจริง ใครจะการันตีให้ใคร ถ้าเขาเป็นจริงของเขา เขาเป็นจริงของเขา แล้วเราเห็นได้ เขาแสดงออก มันมีเหตุมีผล แต่ถ้าไม่มีเหตุมีผล เชื่อไม่ได้หรอก
มีอริยภูมิขั้นไหน แล้วมีอย่างไร สิ่งที่มี เพราะอะไร เพราะมันใกล้เคียงกัน มันใกล้เคียงกัน แบบว่าฌานโลกีย์ พวกฌานสมาบัติกับเรื่องความเป็นไป ความว่าง ว่างนอก ว่างใน ว่างในตัวมันเอง ว่างนอก ไม่ว่างใน ถ้าว่างนอกแล้วว่างใน แล้ววางหรือเปล่า
หลวงตาพูดบ่อย “ว่างแล้ววาง”
ว่าง อ้าว! ว่าง เราก็ว่าง ใครก็ว่าง อะไรก็ว่างหมด แล้วใครว่างล่ะ ว่างตรงไหนล่ะ แล้วใครเป็นเจ้าของความว่าง ไม่มี เพราะมันไม่ได้วาง
ว่างแล้วต้องวาง วางทุกอย่าง แล้ววางแล้วใครเป็นคนวาง วางแล้วเหลืออะไร ไม่เป็นหรอก เราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ เวลาไปรายงานผล “แล้วเป็นอย่างไร แล้วเหลืออะไร” เราก็จำตำรามานะ “โอ๋ย! มันปล่อยหมดเลย โอ๋ย! มันยอดเยี่ยมเลย”
“แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ”
งง งง
อ้าว! แต่ถ้าเป็นหลวงตาท่านบอกนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตมันรวมลง จิตมันรวมลงนี่สำคัญ จิตมันรวมลงเพราะมันปล่อยไง มันปล่อยกาย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันปล่อยหมด แล้วมันปล่อยมาถึงตัวมัน เพราะมันเป็นคนปล่อย ปล่อยแล้วมันเป็นอย่างไร แล้วมันเหลืออะไร แล้วใครเป็นคนปล่อย นี่มันอย่างนี้
เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้เยอะ เราเห็นมาเยอะ แล้วคนมาถามปัญหานี้เยอะมาก บอกว่า เราจะสังเกตอย่างไร
สังเกตว่า ถ้าคนมีคุณธรรมนะ พูดตรงไปตรงมา พูดนะ ไม่มีเล่ห์มีเหลี่ยม พูดเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด อันเดียวกัน เห็นอย่างไรพูดอย่างนั้น พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างใดพูดอย่างนั้น นี่สัจจะนี้เลย เห็นชัดๆ พอเข้าใกล้มันรู้ได้
คิดดูสิ ไม้หลักปักขี้ควาย หัวใจมันเรรวนขนาดไหน แล้วก็ปักผลัวะ “ฉันมีธรรม” เดี๋ยวก็คลอนไป เดี๋ยวก็แคลนมา มันจะเป็นไปได้อย่างไร ไม้หลักปักขี้ควายอยู่ไหม เดี๋ยวมันก็ล้ม นี่ก็เหมือนกัน ฉันได้อริยภูมินะ แล้วขั้นไหนล่ะ ขั้นหลงนี่ไง ขั้นจะล้มอยู่นี่ วันแรกก็แหม! สติดี ถามปัญหา ตอบชัดเจนมากเลย พอพรุ่งนี้ถามไปถามมาชักงงเว้ย ตอบชักไม่ได้ นี่ไง มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอะไร เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มันไม่ตรงกัน ถ้าเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดตรงกันนี่ใช่ ถ้าเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดไม่ตรงกัน ยาก ยากมาก ฉะนั้น สังเกตอย่างไรล่ะ
มันต้องผู้รู้จริงไง ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูดถึงในสังคมปฏิบัติ ท่านพูดบ่อยเมื่อก่อนนะ เพราะเมื่อก่อนมีคนพูดมากว่านรกสวรรค์ไม่มี สรรพสิ่งไม่มี
ท่านบอกผู้รู้จริงมีนะ ผู้รู้จริงเห็นจริงมี แล้วผู้รู้จริงเห็นจริงเขาเห็นตับไตไส้พุงเราหมดนะ ผู้รู้จริงเห็นจริงมี ไอ้ผู้พูดโกหกมดเท็จ คนรู้จริงเขาทันหมด เพียงแต่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร คือท่านไม่พูดออกมา หลวงตาท่านมองสังคมท่านรู้หมด ท่านไม่พูดออกมา พอไม่พูดออกมา ไอ้คนที่ว่าตัวเองขี่หลังเสือ โอ๋ย! อวดเก่ง ไอ้พวกหมาห่มหนังเสือไง
หมามันห่มหนังเสือ เสือมันคำรามกับหมามันเห่า มันต่างกันไหม เสือมันคำราม ใครๆ ก็กลัวนะ แต่หมามันเห่า มันเอาหนังเสือมาห่ม มันคิดว่าเป็นเสือแล้วก็เห่าออกมา เห่าคือเทศน์ไง มันเห่าออกมามันจะคำรามเหมือนเสือได้ไหม ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้หรอก สังเกตเอา สังเกตอย่างไร
“๔. การที่เป็นคนวัดมาทำงานวัด รับใช้ครูบาอาจารย์ มักจะเก็บรวบรวมสะสมสิ่งของนำจากวัด เช่น อาหารบ้าง ของใช้ประจำวันบ้าง ไปฝากลูกหลาน ฝากคนในครอบครัวตนเอง โดยอาจจะขอจากผู้มีหน้าที่ดูแลบ้าง หรืออาจจะไม่ได้ขอบ้าง แต่ถือวิสาสะหยิบรวบรวมเอาเอง ถือตนว่าเป็นคนวัดคงไม่เป็นไร เช่นนี้เป็นโทษอย่างไร การทำเช่นนี้ที่ถูกควรทำอย่างใด ขออนุญาตจากเจ้าอาวาสหรือใครเนาะ”
ไอ้กรณีอย่างนี้เขาเรียกว่าศาสนสงเคราะห์ เวลาในทางปกครองของสงฆ์เขาจะถามว่า มีการศึกษา เผยแพร่การศึกษา แล้วมีศาสนสงเคราะห์ อย่างเช่นเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเราไปวัดในทั่วๆ ไป เราบอกว่าวัดต้องมีโรงพยาบาลในวัด ส่วนใหญ่เขาจะสร้างโรงพยาบาลกัน เพื่ออะไร เพื่อดูแลประชาชน นี่เขาเรียกว่าศาสนสงเคราะห์ ศาสนานี่สามารถสงเคราะห์บริษัท ๔ ได้ ศาสนา ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมีอำนาจวาสนา ถ้าท่านทำเพื่อสงเคราะห์ ดูสิ พระหลายๆ องค์สร้างโรงพยาบาล ส่วนใหญ่แล้วไปสร้างโรงพยาบาลจากพระองค์นั้นๆ เช่น หลวงปู่แหวนก็สร้างไว้ที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ตึกหลวงปู่แหวน นี่ศาสนสงเคราะห์มันมีได้
ทีนี้ศาสนสงเคราะห์มีได้ เขาทำเพื่อสังคม ฉะนั้น เวลาเราเป็นคนวัด แม้แต่ศาสนสงเคราะห์นี่สงเคราะห์คนอื่นได้ แล้วคนวัดมาทำงานวัด วัดไม่สามารถจะให้อาหารไปกินได้หรือ ในเมื่อเขาเอามาให้วัดนั้นนะ วัดใช้จ่ายในวัด แล้วพระก็ได้ฉันแล้ว ได้แล้ว แล้วคนมาทำงานวัดเขาต้องมีอาชีพใช่ไหม เขาก็ต้องมีอาหารเหมือนกันใช่ไหม ในเมื่อถ้าเราเอาไปโดยที่เป็นศาสนสงเคราะห์ ไม่เสียหาย แต่ถ้าเป็นธุรกิจ นี่เป็นของวัด แล้วก็รวบรวมไป ไปแล้วก็ไปซื้อไปขายกัน อย่างนี้สงเคราะห์ไหม มันอยู่ใกล้ๆ กันไง ถ้าทำเป็นสัมมาทิฏฐิ ทำความเห็นถูกต้องดีงามมันก็ถูก แต่ถ้าอาศัยตรงนี้ด้วยความโลภ ด้วยความเห็นแก่ตัว
ด้วยเอาไป เอาไปก็ไปเลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัว อย่างนี้ถูก เลี้ยงได้ เพราะเขาก็มีอาชีพ เขาก็มีครอบครัวของเขา แล้วเขาเสียสละมาช่วยงานวัด เขาควรจะมีอาหารเพื่อดำรงชีพของเขา นี่ศาสนสงเคราะห์ ถูก แล้วจะขอใครล่ะ ก็ขอเจ้าอาวาส
ถ้าเจ้าอาวาสที่ดี อย่างเช่นหลวงตา ดูสิ รถเขาไปขน ขนเสบียงไปวัดนั้นๆ ท่านก็มีคลังไว้เพื่อศาสนสงเคราะห์ เพื่อสงเคราะห์นักปฏิบัติด้วยกัน คนที่อยู่ป่าอยู่เขา เขาไม่ต้องวิตกกังวล เขาต้องมีอาหารดำรงชีวิตของเขา แล้วให้เขาปฏิบัติของเขา ที่บ้านตาดเขาก็มีคลังไว้ แล้ววัดไหนที่ขาดแคลนก็มาเอา แล้วท่านก็อนุญาต ท่านบอกท่านเปิดโล่งอยู่แล้ว นี่คือว่าท่านอนุญาตอยู่แล้ว คือไม่มีเวรไม่มีกรรม เพราะเจ้าของเขาให้ อย่างเช่นที่ว่า เห็นไหม ว่าคนเราเขาไปในป่าในเขา เขาหิวกระหาย เขาอยากได้ เขาขอ เขาไปขอไว้ เขาขอได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าขออนุญาตแล้วจบนะ
แต่ของของสงฆ์ เวลาไปเอามาโดยที่ไม่ได้ขออนุญาต อันนั้นน่ะที่ว่าของของสงฆ์มันสำคัญนะ ของของสงฆ์คือของสาธารณะ เอาของสาธารณะเป็นของส่วนบุคคล มันมีกรรมอยู่ แต่ถ้าเป็นของของสงฆ์ ของสาธารณะ แต่พวกสาธารณะได้ใช้ได้สอยแล้ว แล้วศาสนสงเคราะห์คือศาสนาสงเคราะห์ สิ่งที่สงเคราะห์ชีวิตเรา เรามาวัดมาวาช่วยทำงานของเรา เราต้องมีอาหาร
อ้าว! รถไปส่งหลวงพ่อหน่อย หลวงพ่อจะไปกรุงเทพฯ แล้วรถไม่มีน้ำมันไปอย่างไรล่ะ หลวงพ่อเข็นรถไปไง หลวงพ่อจะเข็นรถนี้ไปกรุงเทพฯ
ไม่ใช่ อยากให้เอารถมารับไปกรุงเทพฯ ถ้าเอารถไปกรุงเทพฯก็ต้องจ่ายค่าน้ำมันสิ อ้าว! นี่สงเคราะห์ เห็นไหม อ้าว! ถ้าจะมารับเรา เราก็เติมน้ำมันให้ มันก็ไปได้ใช่ไหม
อ้าว! เอารถมารับฉัน แล้วฉันจะไปกรุงเทพฯ แล้วทำอย่างไร เข็นไป เพราะไม่มีน้ำมัน เอาคนมาใช้งาน เอาคนมาใช้งานแล้วจะให้เขากินไหม ถ้าไม่ให้เขากิน เขาจะทำงานอย่างไร นี่พูดถึงถ้ามันเป็นธรรมนะ แต่ถ้ามันไม่เป็นธรรมมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร”
เราก็ขอซะ บอกเขา แล้วบอกนะ บอกเจ้าอาวาสที่ดี บอกพระที่ดี เขาก็จะให้ ถ้าไปเจอเจ้าอาวาสที่ตระหนี่นะ ไม่ให้ๆ เก็บไว้ให้เน่า เก็บกองไว้ ไปดูตามวัดสิ เครื่องสังฆทานเก็บไว้เต็มเลยนะ ไม่แจกใคร ถ้าไปเจออย่างนั้นก็ปวดหัวเหมือนกัน อย่าว่าแต่โยมมาเอาของวัดไปเลย เจ้าอาวาสที่ดี เจ้าอาวาสที่ดูแลวัด ถ้าเขาเป็นธรรมนะ ไม่ต้องใครมาขอ ของที่ได้มามันเก็บไว้ มันหมดอายุ เดี๋ยวมันก็เสีย ถ้ามันยังดีอยู่ ควรให้คนอื่นได้ใช้ได้สอย ถ้าที่ไหนมีประโยชน์ ควรให้
เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราท่านจะไปตามโรงเรียน โรงพยาบาลใช่ไหม เอาของไปแจกๆ ของมันยังกินได้ ยังใช้ได้ ควรให้เขาใช้สอย อย่าตระหนี่เก็บไว้ พอมันเน่าแล้วไม่มีใครเอานะ ให้ใครดี ให้ใครดี มันเน่าแล้ว มันไม่มีใครเอาแล้ว จะให้เขา เพราะตัวเองใช้ไม่ได้แล้วไง แต่ถ้ามันยังดีอยู่นี่ของฉันๆ ไม่ให้ใคร แต่พอมันเน่าแล้วจะให้คนอื่น คนอื่นก็ไม่เอาเหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงว่าจะดูแลอย่างไร ถ้ามันเป็นธรรมๆ นะ กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม วุฒิภาวะของใจ ถ้าใจที่มันสูงส่ง ใจที่มันดีนะ ไม่เป็นปัญหาเลย แต่ถ้าจิตใจที่มันเรรวน จิตใจที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ เรื่องนี้จะเป็นปัญหาไปหมด ฉะนั้น มันก็อยู่ที่ว่าอำนาจวาสนาไปเจอกับใคร ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดี เราก็ดีด้วย ไปเจอครูบาอาจารย์ที่จะพากันเข้ารกเข้าพง มันก็เข้ารกเข้าพงหมดแหละ อันนี้เป็นหลัก สังเกตอย่างไร เพื่อประโยชน์อย่างไร นี่ข้อที่ ๔
“๕. กรณีที่เข้าใจว่าตนเองบรรลุธรรมขั้นสูงสุด แล้วได้บอกกล่าวกับพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหายไปแล้วว่าตนหลุดพ้นแล้ว และคนอื่นก็พากันชื่นชมอนุโมทนา แต่ในความเป็นจริงเป็นเพียงแค่จิตหลง เช่นนี้ทำให้ญาติพี่น้องเกิดบาปหรือไม่ ที่ได้บอกกล่าวและโฆษณาว่าญาติของตนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงได้ชักชวนเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาทำบุญ เช่นนี้จะเป็นการหลอกตนเองและผู้อื่นหรือไม่”
แน่นอน แน่นอนเพราะอะไร เพราะถ้าพูดถึงว่า ถ้าญาติพี่น้องของเราเขาปฏิบัติแล้วเขาบรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วเขามาบอกเรา เราก็รับรู้ได้ เราก็ตื่นเต้นดีใจเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้พอเป็นธรรมดาแล้ว เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเป็นพระอรหันต์หรือไม่อรหันต์ เขาบอกอรหันต์ เราก็อรหันต์ด้วยใช่ไหมล่ะ แต่พออยู่ด้วยกันมันเห็นน่ะ พระอรหันต์อะไรมันขี้โลภ พระอรหันต์อะไรมันด่ากูทุกวันเลย พระอรหันต์ทำไมมันเป็นอย่างนี้
ถ้าเรารู้แล้วใช่ไหม เราก็ต้องบอกเขาสิว่าไม่ใช่ ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้น เราพูดไปนะ เราพูดไปด้วย นี่ไง เขาเรียกว่าการกระทำผิดไม่มีเจตนา เราไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงใคร เราเข้าใจว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เราก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ แต่พอเราเห็นว่าพระอรหันต์มันจะฆ่ากู มันไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว กูบอกว่ามันไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไม่กล้าพูด พอบอกว่าเป็นพระอรหันต์ไปแล้วนะ ไม่กล้าบอกว่าไม่ใช่พระอรหันต์อีกแล้ว
นี่ไง ที่หลวงตาบอก อรหันต์นกหวีด เวลาพระเขาไปธุดงค์ด้วยกัน ตอนกลางคืนเป่านกหวีดปี๊ดๆ เลยนะ วิ่งไปเลย นึกว่ามีเหตุร้าย
“ทำไมล่ะ”
“อ้าว! ก็เป็นพระอรหันต์ เพิ่งสำเร็จ”
“ทำไมถึงสำเร็จล่ะ”
“ก็ภาวนาสำเร็จ”
“แล้วทำไมต้องเป่านกหวีดด้วย”
“อ้าว! ก็มาด้วยกันก็ต้องบอก”
โอ้โฮ! ไอ้คนที่ไปฟังงงเลย พระอรหันต์อะไรมันบ้าอย่างนี้ กลับมาก็มาเดินจงกรมอยู่ ๒-๓ วันนะ เอาอีกแล้ว ปี๊ดๆ อีกแล้ว ไม่อยากไปเลย แต่ด้วยสุภาพบุรุษไง มาด้วยกัน คนเราทุกข์ยากด้วยกัน เป่าปี๊ดๆ เดินคอตกมาเลย วันนี้กูจะเจออะไรก็ไม่รู้ พอขึ้นไปนะ
“อ้าว! วันนี้เป่าทำไมล่ะ”
“อ้าว! ก็เป่าบอกว่าไม่เป็นพระอรหันต์ไง”
“อ้าว! ทำไมต้องเป่าล่ะ”
“อ้าว! ก็เมื่อ ๒ คืนก่อนเป่าปี๊ดๆ มาว่าเป็นพระอรหันต์ก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ ตอนนี้พอมันพิจารณาไป ๒-๓ วันแล้วมันไม่ใช่”
พอมันไม่ใช่มันสำนึกผิดไง มันก็เป่าอีกปี๊ดๆ นี่ก็ไป ๒ คน ไปถึง “เป็นอย่างไรล่ะ ทำไมถึงเป่านกหวีดล่ะ”
“อ้าว! ก็เป่ามาบอกไง”
“บอกว่าอย่างไร”
“บอกว่าไม่เป็นพระอรหันต์”
“โอ๋ย! บอกวันหลังก็ได้ ทำไมต้องเป่านกหวีดกลางคืนล่ะ กลางคืนมันเดินมันลำบาก”
“อ้าว! ก็ต้องเป่าบอกสิ ก็เวลาเป็นพระอรหันต์ยังบอกว่าเป็นพระอรหันต์ นี่ก็บอกว่าไม่เป็นพระอรหันต์”
หลวงตาท่านชมว่า อย่างไรเขาจะเซ่อขนาดไหน แต่เขาก็ยังซื่อตรง
เขาบอกว่าพระนี่เซ่อมาก เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ก็เป่าปี๊ดๆ เก็บไว้ก็ได้ เดี๋ยวบอกพรุ่งนี้เช้าก็ได้ พอบิณฑบาตก็ไปเจอกันอยู่แล้ว ทำไมต้องบอกให้มา พอบอกมาว่าเป็นพระอรหันต์ เขาไม่เชื่ออยู่แล้ว เขาไม่เชื่อหรอก แต่ด้วยความเซ่อของตัวนะ ก็ยังพิจารณาอยู่ ๒-๓ วัน พอพิจารณาอยู่ ๒-๓ วันเสร็จแล้วนะ มันรู้ว่าไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ก็เป่าอีกปี๊ดๆ ปี๊ดมาอีกแล้ว
“อ้าว! เป่าทำไมล่ะ”
“ก็มาบอกว่าไม่ใช่พระอรหันต์”
ด้วยความเซ่อนะ แต่เขาก็ยังถือน้ำใจว่า เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ก็ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ พอเข้าใจตนเองว่าไม่ใช่ก็ประกาศตนเองว่าไม่ใช่ นี่สุภาพบุรุษ เขาซื่อของเขา มันต้องทำอย่างนี้
นี่ก็เหมือนกัน ญาติของตนเป็นพระอรหันต์ โอ้โฮ! บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สาธุ สาธุไปหมดเลย แล้วก็ไปบอกชาวบ้านเขาทั่วไปหมดเลย แล้วพอเข้าใจว่าเขาไม่ใช่แล้วทำอย่างไรล่ะ
ก็บอกเขาสิว่าไม่ใช่ ก็เวลาเอ็งบอกเขาว่าเป็นพระอรหันต์ เอ็งยังกล้าบอกเลย เวลาบอกไม่ใช่พระอรหันต์ ทำไมเอ็งไม่กล้าบอกล่ะ เอ็งก็บอกเขาไปสิว่าไม่ใช่
เวลาเอ็งบอกเขาว่าเป็นพระอรหันต์ แหม! ตีฆ้องร้องป่าวเชียว เวลาจะบอกว่าไม่ใช่นี่ไม่กล้าพูด อย่างนี้มันไม่ซื่อตรง ถ้ามันไม่ซื่อตรง แล้วเป็นบาปไหมล่ะ
“จะเป็นการหลอกตนเองหรือเปล่า”
หลอกแน่นอน ถ้าหลอกอย่างนี้ทุจริต สุจริตชน ถ้ามันทุจริตขึ้นมา ถ้าเราจะเป็นนักปฏิบัติ ศีล ไม่โป้ปดมดเท็จ คนที่โป้ปดมดเท็จพูดโกหกอยู่ จะทำความชั่วอย่างอื่นอีก ทำไม่ได้ ไม่มีเลย ถ้าลองโป้ปดมดเท็จ ความชั่วสิ่งใดๆ ก็ทำได้ ถ้าเราไม่โป้ปดมดเท็จ ทำชั่วอย่างที่มากกว่านี้ เราจะไม่ทำอีกเลย ถ้าอย่างนี้เขารู้ๆ กันอยู่
นี่ถามมาไง แล้วกรณีนี้บรรลุธรรมแล้ว แล้วบอกเขาไปแล้ว แล้วเขาชื่นชมไปหมด แต่มารู้ทีหลัง อ้าว! รู้ทีหลังก็ต้องบอกเขาสิ บอกเขาซะ ไม่ก็หลบหลีกไป ถ้าทำอย่างนี้นะ เพราะอะไรรู้ไหม เรามีบาดแผลนะ ถ้าเราไม่รักษา มันจะเน่าไปเรื่อยๆ นี่ก็เหมือนกัน ไปประกาศตนว่าอย่างนั้น แล้วพฤติกรรมความเป็นอยู่มันจะแสดงออกเรื่อยๆ เขาต้องรู้ต้องเห็นสักวันหนึ่ง เขาต้องรู้ต้องเห็น ถ้าเขาต้องรู้ต้องเห็น เราไปบอกเขาแล้วเราถลำไป เราบอกเขาซะไม่ดีหรือว่ามันไม่ใช่ ให้จบกันไปซะ แล้วผิดถูกอย่างไรเราก็ขออภัยต่อกันก็จบ แต่ถ้าเราปกปิดไว้นะ ไปตลอด แล้วจะเสียหายไปตลอด แล้วเสียหายไปตลอด แล้วไปถึงตอนนั้นแล้วแก้ไขกันเอาเองเนาะ อันนี้พูดถึงว่าคำถาม ๕ ข้อ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เมื่อปฏิบัติธรรมถึงระดับพระอริยะขั้นต้นแล้ว โอกาสที่จะเกิดสมองเสื่อมมีหรือไม่” นี่พูดถึงสมองเสื่อม
ไอ้ข้อต้นๆ มันเป็นเรื่องอรรถเรื่องธรรม เราพูดให้ชัดเจน ให้เห็น ให้แยกให้แยะว่าสิ่งใดเป็นธรรม สิ่งใดไม่เป็นธรรม แล้วสังคมมันอยู่กันแบบนี้ เห็นไหม ไม่มีของจริงก็ไม่มีของปลอม เพราะมีของจริง ของปลอมถึงเกิดขึ้น มีครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติได้จริงจนสังคมเขาเชื่อถือศรัทธา ไอ้ของปลอมมันก็เกิดขึ้น
ทีนี้ของปลอม ของเทียมมันทำดีกว่าของจริงอีก ไปซื้อของเทียมสวยกว่าของจริงอีก ของจริงสู้ของเทียมไม่ได้ แล้วเราจะดูกันด้วยวิธีใด เห็นไหม เราจะดูกันอย่างไร
ฉะนั้น กาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ยับยั้งชั่งใจไว้ก่อน พิจารณาของเราก่อน ให้เห็นความเป็นจริงแล้วเราค่อยเชื่อทีหลัง เอวัง