เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ทำไมต้องฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อสอนหัวใจตัวเอง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหานะ แสวงหามาจนเป็นธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ เราสาวกสาวกะผู้ได้ยินได้ฟังไง นี่ผู้ได้ยินได้ฟัง

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ เห็นไหม เวลาเทศน์ธัมมจักฯ เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ไปนะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เป็นพยานต่อกัน เป็นพยานต่อกันเพราะจิตใจที่เป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขึ้นมา...กับเรา ที่เราแสวงหากันอยู่นี้ เราเป็นชาวพุทธ เรามีแก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา แก้วสารพัดนึกนะ ใครนึกได้อย่างใดล่ะ

คนทำบุญกุศลเพื่อบุญกุศลของเขา เขาก็นึกความสุขความร่มเย็นของเขาในชีวิตของเขา ถ้าความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิตของเขา เห็นไหม คนทำบุญกุศล กลิ่นของศีลหอมทวนลม คนทำดีไง มีศีล ๕ คนไม่โกหกมดเท็จ ถ้าคนมีแต่การพูดปดพูดโกหกอยู่ เขาจะไม่มีเครดิตเลย จะไม่มีใครเชื่อถือเขาเลย

แต่ถ้าเขามีศีลของเขา นี่ศีลธรรม ทำบุญกุศลๆ เพื่อบุญกุศล เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขในใจของตัว ทำคุณงามความดี ความดี กลิ่นของศีลหอมทวนลม กลิ่นของคุณงามความดีของเรา เราไม่ต้องไปตีโพยตีพายต้องแสวงหาสิ่งใดหรอก ความดีอันนั้นมันสนองเราเอง ความดีอันนั้นต้องสนองเราแน่นอน ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว

แต่เวลาทำคุณงามความดี ทุกคนบอกทำดีๆ ทำดีแล้วทำไมมันไม่ได้ดี ทำดีแล้วทำไมมีความทุกข์ยากล่ะ

อันนี้มันเป็นอริยสัจ อันนี้มันเป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงคือ ในเมื่อทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ทุกข์เป็นอริยสัจ มันเป็นอริยสัจ ความขัดข้องหมองใจ ความตึงเครียด ความไม่พอใจต่างๆ มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทุกข์หยาบ ทุกข์ละเอียด แต่เรามีความทุกข์นี้กดทับไว้ในหัวใจ แต่มันก็บอกว่าไม่สมความปรารถนา เป็นทุกข์ อยากได้อย่างนั้น เป็นทุกข์ แต่ไม่ดูว่ากิเลสในหัวใจเป็นทุกข์ ไม่ได้มองตรงนี้ไง ถ้ามองตรงนี้ นี่มันแก้ไขไม่ได้ เห็นไหม

ทำบุญกุศล เวลาทำบุญกุศลเพื่อ กลิ่นของศีลหอมทวนลม กลิ่นของคุณงามความดีหอมทวนลม เราแสวงหาของเรา เราทำบุญกุศลของเราเพื่อหัวใจของเรา ทีนี้ทำบุญกุศลเพื่อหัวใจของเรา สิ่งที่เราเกิดมาเรามีแก้วสารพัดนึก เราจะมานึกสิ่งใดล่ะ

นึกถึงว่า ความเป็นอยู่ ความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต นึกถึงการทำบุญกุศลของเรา ถ้าเราเชื่อในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาบอกว่า การเวียนว่ายตายเกิด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์เวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิด จิตนี้ไม่เคยตาย มันเวียนว่ายตายเกิดไปของมัน

ประโยชน์ในปัจจุบันคือการทำบุญกุศลของเรา ประโยชน์ปัจจุบันคือทำความดีของเรา ประโยชน์ในอนาคต ในเมื่อทำคุณงามความดีของเรา จิต พันธุกรรมของมันได้สร้างคุณงามความดีของมัน เห็นไหม สิ่งที่ปัจจุบันนี้เป็นสมบัติทางโลก เวลาเวียนว่ายตายเกิดไป วิญญาณาหาร ที่ว่าเป็นทิพย์สมบัติๆ ที่มันจะไปอนาคตนั้น นี่ถ้าพูดถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในเบื้องหน้า

ถ้าประโยชน์เบื้องหน้าแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อนุปุพพิกถากับผู้ที่เป็นฆราวาส ให้เขาได้เสียสละทานของเขา เขาได้บุญกุศลของเขา เขาจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมของเขา แล้วให้เขาถือเนกขัมมะ ถือพรหมจรรย์ พอถือพรหมจรรย์ จิตใจเราเวียนว่ายตายเกิด จิตนี้ไม่เคยตายก็เวียนว่ายตายเกิดไปอย่างนี้

แล้วสิ่งที่เราเคยทุกข์เคยยากมา เราเคยได้ประสบของเรามา ใครประสบความสำเร็จ ใครมั่งมีศรีสุข เราก็ได้บุญกุศลของเรามา เราก็มีความสุขของเรามา สิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง สิ่งนี้ก็เวียนว่ายตายเกิด สิ่งนี้ก็ผลัดเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้าคนมีสติมีปัญญา เห็นไหม เราจะหาสัจจะความจริง สัจจะความจริงคือวิมุตติสุข วิมุตติสุขนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ ที่เราแสวงหากัน แสวงหากันก็เพื่อเหตุนี้

เราแสวงหา เห็นไหม ทำบุญกุศลเพื่อที่พึ่งอาศัย เราเชื่อมั่นที่ไหน เราทำบุญกุศลเราต้องขวนขวายของเรา มีที่พึ่ง เหมือนลูก ลูกเกิดมาก็มีพ่อมีแม่เป็นคนคอยดูแลรักษา พอลูกโตขึ้นมาแล้วก็อยากเป็นอิสระ พออิสระแล้วก็อยากมีครอบครัว มีครอบครัวก็ต้องมีลูกมีเต้าต่อไปข้างหน้า ก็ดูแลกันไป เห็นไหม นี่ผลของวัฏฏะ

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรา เรามีที่พึ่งอาศัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่พึ่งอาศัยใครเลย หวังจะไปพึ่งอาศัย แสวงหาอยู่ ๖ ปี หวังพึ่งอาศัยจากเจ้าลัทธิต่างๆ ไปถึงแล้วพึ่งอาศัยไม่ได้ เพราะว่าเขาก็สอนอยู่ในวัฏฏะ สอนอยู่ในเรื่องของสมมุติ เรื่องของฌานโลกีย์ เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดนี่แหละ แต่เวลาจิตเขาไปสงบเข้า เขาก็บอกว่าสิ่งนั้นเป็นนิพพานๆ แต่มันเป็นอนิจจัง เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขาแล้ว ด้วยวุฒิภาวะก็ไม่เชื่อเขาอยู่แล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเอง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ การเวียนว่ายตายเกิดนี่รู้เห็นไปหมดเลย มันก็ยังไม่จบ

อาสวักขยญาณ ทำอวิชชาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบสิ้นไปแล้ว วิมุตติสุขมันเป็นอย่างนี้ เป็นความจริงอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นขึ้นมาเอง แล้ววิมุตติสุขมันอยู่ที่ไหนล่ะ? วิมุตติสุขมันอยู่ที่หัวใจ เห็นไหม นี่สิ่งที่สัมผัสธรรม

หลวงตาท่านพูดประจำ สิ่งที่สัมผัสธรรมได้ๆ เราศึกษาธรรมะ เราศึกษาด้วยสายตา เราอ่านตัวอักษร เห็นไหม ที่พึ่งอาศัย นั่นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ่อแม่เลี้ยงลูก นี่คือทฤษฎีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นผู้คอยควบคุมดูแลเรา จิตใจเราไปศึกษาแล้วมันก็ยังเป็นเรื่องข้างนอกอยู่

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ วิมุตติสุขอันนี้มันสุขที่ใจๆ นี่ความเป็นจริงในหัวใจไง

เพราะจิตใจนี้มันเวียนว่ายตายเกิด จิตใจนี้ อารมณ์ความคิด ความฟุ้งซ่านเกิดดับๆ ในใจของเรา เวลาเกิดดับ มันตายจากชีวิตนี้ จิตออกจากร่างนี้ไปมันก็ไม่จบ มันก็ยังคิดของมันอยู่อย่างนั้น มันก็ไปของมัน เห็นไหม ไปตามคุณงามความดี ความดีที่ทำไว้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

บอกว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว...ตอนนั้นมันจะรู้ของมันตามความเป็นจริง รู้ตามความเป็นจริงเพราะมันโกหกกันไม่ได้ เพราะเราเป็นคนรู้เองไง ถ้าเราไม่ได้ทำ ไม่ได้รู้ เราจะรู้มาจากไหน ถ้าเราได้ทำสิ่งใดไว้เราก็รู้ใช่ไหม ความลับไม่มีในโลกใช่ไหม จิตใจมันทำของมันเองใช่ไหม พอจิตออกจากร่างไปมันก็เวียนว่ายตายเกิดไปตามเวรตามกรรมของใจดวงนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาสวักขยญาณ ทำลายตรงนี้ ทำลายอวิชชาความไม่รู้ รู้ดีรู้ชั่ว ทำลายตรงนี้ขึ้นมา เห็นไหม พอทำลายตรงนี้ วิมุตติสุขมันอยู่ที่นี่ไง ถึงไม่หาความสุขจากข้างนอกไง

ฉะนั้น เวลาเราศึกษาธรรมๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เหมือนพ่อแม่เลี้ยงดูลูกมา นี่เป็นศาสดาของเรา แก้วสารพัดนึก นึกอะไรล่ะ นึกเรื่องบุญกุศลก็ได้บุญกุศล เรื่องคุณงามความดี คุณงามความดีเวลาทำแล้วมันต้องแข่งขันกับกิเลส แข่งขันกับมารในหัวใจ

มารในหัวใจบอก “ทำไปทำไม ทำแล้วไม่มีประโยชน์ เราแสวงหามาเพื่อเรา ทำคุณงามความดีไปทำทำไม” เวลาทำต่อไป ที่มันทุกข์มันยากอยู่นี่เพราะธรรมกับกิเลสมันแข่งขันกัน คุณงามความดีที่ทำกันมันต้องแข่งขันกับใจ มันก็มีการขัดแย้งกัน “ทำทำไม ทำทำไม” กิเลสมันก็ว่า “ทำทำไม”

แล้วถ้าเราเชื่อของเรา แก้วสารพัดนึก เรามีที่มั่นของเรา เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปักหมุดในใจของเรา เราพยายามทำของเรา ทำของเราขึ้นมาให้ได้ ถ้าทำของเรา เห็นไหม ความดีความชั่วมันแข่งขันกัน

เวลามันตาย เวลาจิตออกจากร่างไปมันจะรู้ของมันเองโดยสัจธรรม เพราะไม่มีใครหลอกเรา ไม่มีใครชักจูงเรา ไม่มีใครทำอะไร มันเป็นไปตามค่าของมันที่ทำดีทำชั่วนั่นน่ะ ถ้าทำดีทำชั่ว เห็นไหม ทีนี้ทำดีทำชั่วแล้วมันก็มี นี่กรรมเป็นอจินไตย ความดีจากอดีต ความดีปัจจุบันนี้ ใครเสวยก่อน อารมณ์มันคิดถึงสิ่งใดก่อน อารมณ์มันเกาะเกี่ยวสิ่งใดก่อน มันไปตามนั้นแหละ

แล้วถ้าเราจะเอาความจริงของเราล่ะ เห็นไหม พ่อแม่เลี้ยงดูเรามา นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ศึกษาด้วยสายตาของเรามา ศึกษาโดยสัญญามา ถ้าเราปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงขึ้นมา มีสติ สติมันก็ยับยั้งได้ พอยับยั้ง ยับยั้งความรู้สึกนึกคิดอันนี้ให้มันสงบระงับเข้ามา

ถ้าระงับเข้ามา พอจิตมันสงบแล้วมันก็มีความสุขของมัน ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเพราะอะไร เพราะมันเสวยอารมณ์ มันไปแบกไปหาม สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ก็ไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นพิษอะไรเป็นภัย ก็กินไปหมด

เหมือนเด็กทารก พ่อแม่ต้องดูแลลูก เห็นไหม “สิ่งนี้ไม่ดีนะ อย่าทำนะ สิ่งนี้ดี ทำนะ” นี่พ่อแม่คอยเตือนลูก พอลูกมันโตขึ้นมามันจะรู้มันเอง นี่โดนเพื่อนหลอก โดนเพื่อนพาไปอีลุ่ยฉุยแฉก ก็รู้ว่า อ๋อ! เพื่อนมาหลอกเรา

แต่ถ้าเราคบของเรา เราทำของเราเอง อ๋อ! นี่เราเห็น ถ้าเสียหายไปแล้ว นี่เพื่อนหลอกเรา แล้วเพื่อนพาทำคุณงามความดี เรากลับมาบ้านแล้วมันก็ปลอดโปร่ง มันไม่มีสิ่งใดขัดข้องหมองใจ ถ้าจิตใจมันศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันก็มีสติปัญญาคัดเลือกคัดแยกเอา

ถ้ามันเสวยอารมณ์ คิดโดยตัณหาความทะยานอยาก อันนี้มันเป็นทุกข์ ถ้าคิดโดยธรรม เสียสละ เสียสละนี่กิเลสมันไม่พอใจ มันไม่พอใจเพราะอะไร เพราะสิ่งที่แสวงหามา ความตระหนี่ถี่เหนียวมันก็ยึดมั่นถือมั่นของมัน นี่ความคิดของเรา ปัญญาของเรา มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง

พอมีปัญญาขึ้นมาก็ว่า ฉันรู้ ฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันรอบรู้ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เลยไม่ปล่อยวางเข้ามา ถ้ามันบอกว่า สิ่งนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงของเรายังไม่เกิดขึ้นมา

มีสติปัญญารู้เท่าทันตัวเอง ถ้ารู้เท่าทันตัวเองมันก็ไม่เสวย เห็นไหม มันไม่เสวย พอไม่เสวย นี่ธรรมชาติ ธาตุรู้ ธาตุรู้มันเสวยอารมณ์ ธาตุรู้เสวยความคิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเสวยแล้วมันก็เป็นเนื้อเดียวกัน เห็นไหม สรรพสิ่งเป็นเรา เราเป็นสิ่งนั้น ทุกข์เป็นเรา เราเป็นทุกข์ สมบัติเป็นของเรา เราเป็นสมบัตินั้น ทุกอย่างมีเราในสมบัติ สมบัติมีในเรา มันยึดมั่นถือมั่นไปหมดเลย

มีสติปัญญา สมบัติก็สมบัติของเราจริงๆ นี่แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้ทำลายอะไรทิ้งหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ได้หามาแล้วอย่าเก็บไว้ อย่ารักษาไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนเลย

เวลาสอนนะ ชาติตระกูลใดรู้จักเก็บรักษา รู้จักซ่อมบำรุง ชาติตระกูลนั้นจะมั่นคง ถ้าชาติตระกูลใดใช้จ่ายด้วยความฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักถนอมรักษา ตระกูลนั้นจะไม่มั่นคง นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนหมด

เวลาเป็นพระ เราได้มา ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการแล้วก็จะทำลายทิ้ง...ไม่ใช่

ทำลายความยึดมั่นถือมั่น ทำลายความวิตกกังวล

อารมณ์อย่างนี้ สมบัติก็เป็นสมบัติของเราอยู่อย่างนั้นแหละ แต่จิตใจมันก็ไม่ไปยึดไปมั่น มันก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อนของมัน ถ้าไม่ทุกข์ไม่ร้อนของมัน เราหาสมบัตินั้นมาเป็นสมบัติของเราไว้ใช้ประโยชน์กับเรา เราไม่ใช่หาสมบัตินั้นมาเพื่อกดถ่วงหัวใจ หาสมบัตินั้นมาเพื่อเป็นความทุกข์ของเรา ถ้ามีสติปัญญามันรู้เท่าอย่างนี้มันก็วาง วาง เห็นไหม สมบัติก็เป็นสมบัติของเราอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่หายไปไหนหรอก

แต่ถ้ามันมีความวิตกกังวล สมบัติก็สมบัติอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าไปแบกไปหามมันก็ไปทุกข์ไปยาก ถ้ามันมีสติปัญญา มีสติปัญญาแยกแยะ สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว เวลาเด็กมันทำผิดทำถูก พ่อแม่ยังสอนมัน จิตใจเรามันคิดผิดคิดถูก นี่ไม่มีสติปัญญาสอนมัน ถ้ามีสติปัญญาสอนมัน มันก็หดสั้นเข้ามา เห็นไหม นี่มันหดสั้นเข้ามา

แก้วสารพัดนึก นึกอะไรล่ะ นึกบุญกุศลก็เอาบุญกุศล นึกสิ่งที่แสวงหา เราก็แสวงหาของเรา นึกธรรมะ นึกแล้วมันไม่ได้ จินตมยปัญญา นึกแล้วมันก็ไม่มี ธรรมะอยากนึก อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะวิมุตติสุข อยากจะให้จิตนี้มันละมารให้หมด สิ่งที่เป็นมารในหัวใจจะไม่มี แล้วมันละอย่างไรล่ะ มันละไม่ได้ มันละไม่ได้

นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ฤๅษีชีไพรทำฌานสมาบัติมาแล้วก็ว่าง เวลาเกิดอภิญญารู้วาระจิต “รู้นู่น รู้นี่ นี่สุดยอด นี่เป็นธรรม”

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษาแล้วนะ รู้แล้ว พอผ่านจากการรู้ไปนะ เราก็เท่าเดิม เวลาผ่านจากความรู้ไปแล้วเราทุกข์กว่าเก่าอีก เพราะไปรู้ว่าคนนู้นทุกข์ คนนี้คิดอย่างนู้น คนนี้คิดอย่างนี้ ไปแบกรับภาระเขามาอีก

มันเป็นความคิดของเขาในใจของเขา ในใจของเราก็ทุกข์ยากพอแรงอยู่แล้ว เวลาไปรู้ในใจของเขา ในใจของเรามันก็กดถ่วงอยู่แล้วนะ ยังไปเอาของเขามากดถ่วงอีก เวลาไปรู้ไปเห็นมา พอออกจากฌานสมาบัติมาแล้วทุกข์มากเลย เราก็ทุกข์ คนนั้นก็ทุกข์ คนนี้ก็ทุกข์ คนนั้นก็หา นี่ไง แล้วมันเป็นมรรคตรงไหนล่ะ แล้วมันเป็นธรรมตรงไหนล่ะ

นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา มันก็เป็นแบบนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แล้วมาศึกษาค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ถึงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

ไอ้เราสาวกสาวกะ เราจะเข้าถึงธรรมได้ เราก็ศึกษาทั้งนั้นแหละ เป็นแนวทาง แล้วพยายามจะฝึกหัดให้เราเข้าไป พอไปศึกษาเป็นแนวทางขึ้นมา ก็ขี้ขโมย ก็บอกว่า “ของเรา เรารู้ อู๋ย! ว่างอย่างนั้นๆ เรารู้” ไปขโมยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายังไม่รู้ว่าตัวเองขโมยมา สมบัติตัวเองยังไม่มีเลย ถ้าสมบัติตัวเองไม่มีจะทำอย่างไร

ถ้าสมบัติตัวเองไม่มีนะ เวลาศึกษามา แหม! มีสติปัญญาก็ แหม! ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดมากเลย พอเดี๋ยวสติมันฟั่นเฝือไป เดี๋ยวกิเลสมันกระตุ้นมา มารมันมาแหย่เข้า “อู๋ย! ทุกข์อีกแล้ว อ้าว! ไหนเมื่อกี้มันดีไง ทำไมตอนนี้มันไม่ดี”...เพราะไปจำมา ไปจำมามันก็เป็นแนวทางไง

แต่ถ้าจะเอาจริงเอาจังขึ้นมานะ เราจะนึกอะไร แก้วสารพัดนึก เราจะนึกอะไร เราอยากได้อะไร เราจะทำอะไร ถ้าเราจะทำอะไรนะ บุญกุศลเราก็ได้ทำมาแล้ว ทำมาเพื่อให้จิตใจเป็นสาธารณะ ทำมาเพื่อให้จิตใจเป็นอำนาจวาสนาบารมี ทำมาเพื่อฟังเหตุฟังผล ไม่ใช่คิดของเราคนเดียว ยึดมั่นถือมั่นของเราคนเดียว นี่ยึดมั่นถือมั่นคนเดียว เราก็ให้ใครไม่ได้เลย

สิ่งที่เราให้เขาๆ ให้เขาก็เพื่อความตระหนี่ถี่เหนียว พอจิตใจมันตระหนี่ถี่เหนียว มันเปิดให้เป็นสาธารณะ มันก็จะฟังเหตุผลต่าง ความเห็นต่าง ความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วเรามีความเห็นอย่างนี้ มันจริงหรือไม่จริง พิจารณาของเราไป

พอพิจารณาของเราไป พอจิตใจมันแยกแยะเห็นผิดเห็นถูก จิตใจเป็นสาธารณะมันก็ฟังธรรม พอฟังธรรม ฟังธรรมคืออะไร? ฟังธรรมคือสัจธรรม สัจธรรมว่าธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่แล้ว

ธรรมะมีอยู่แล้ว แต่หัวใจมันมีแต่กิเลส หัวใจมันไปยึดมั่นถือมั่น ไปโกงเขามา ไปขโมยมา แล้วบอกว่ามีอยู่แล้วๆ

มีอะไรล่ะ ถ้ามีก็ไม่มาเกิดแล้วไง มี มันก็ต้องรู้ธรรมไปแล้วสิ นี้มันไม่มี ไม่มีเพราะอะไร ไม่มีเพราะมันจินตนาการทั้งนั้นแหละ

ถ้ามันจะเอาให้จริง เห็นไหม ตั้งสติ พอตั้งสติ คำบริกรรมก็ได้ ระลึกพุทโธเข้าไป หรือว่าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ต้องทำ ถ้าจิตใจสงบเข้ามามันจะเห็นเลยว่าสิ่งที่เรารู้เห็นอยู่นี้มันเสวยอารมณ์ “สมบัติเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเราๆๆ” เป็นเราก็ทุกข์ๆๆ มันทุกข์เพราะอะไร เป็นเราเพราะมันเสวยไง

ถ้ามันปล่อยเข้ามา พอมันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าปล่อยเข้ามา มันไม่ใช่ฌานสมาบัติ ฌานสมาบัตินะ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันพัฒนา มันเข้าออก มันเดินหน้าถอยหลัง เพื่อพัฒนาหัวใจ เหมือนสายพานการผลิต ละเอียดหยาบ นี่เป็นฌานโลกีย์ นี่เป็นสมาบัติ

แต่สัมมาสมาธิ พุทโธๆๆ มันเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ รักษาไว้ ถ้าทำได้จริงนะ โอ้โฮ! มันจะมหัศจรรย์

สิ่งที่ทรัพย์สมบัติแสวงหามาว่ามีบุญกุศล มีความสุขมากมหาศาล ว่าเป็นของเราๆ เวลาจิตมันสงบเข้ามามันแตกต่างมากเลย แตกต่างมากเพราะอะไร เพราะเงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้ ใครทำให้เราก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะทำให้ก็ไม่ได้ ครูบาอาจารย์จะบอกได้แต่แนวทาง แต่ทำให้ก็ไม่ได้ เราทำของเราเอง มันเป็นความจริงของเราเอง แล้วความจริงนี้มันละเอียดด้วย

ทรัพย์สมบัติไปใส่เซฟไว้มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ เงินฝากธนาคารไว้ ตัวเลขก็อยู่อย่างนั้นแหละ สมาธิเป็นเดี๋ยวมันก็เสื่อม เป็นแล้วเดี๋ยวมันก็หาย สงบแล้วเดี๋ยวมันก็ฟุ้งซ่าน แล้วทำอย่างไรล่ะ นี่ไง นึกเอาสิ นึกเอาก็ไม่ได้ เห็นไหม มันต้องอยู่ที่การปฏิบัติเอา อยู่ที่สัจจะความจริง

ถ้ามันกำหนดพุทโธๆ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเรามีสติปัญญาอยู่กับพุทโธ เหตุ เห็นไหม กินข้าวเท่าไร เข้าปากกี่คำ มันก็ลงไปกระเพาะเท่านั้น พุทโธ ถ้าจิตมันเป็นได้มันก็เป็นไป ถ้าเกิดสมาธิ มีความสุขความสงบมาก ความสุขสงบมาก แล้วก็เสียดาย อยากได้อีก

เงินยังอยากได้เลย แล้วเป็นสมาธิทำไมไม่อยากได้ ยิ่งอยากได้ยิ่งอด ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้ ไม่ได้ก็วางเลย วางแล้ว ทำขนาดนี้ไม่ได้ก็วางแล้ว เรากลับไปที่พุทโธดีกว่า เพราะพุทโธนั่นเป็นเหตุ พอเป็นเหตุ ไปดูที่ไฟ เราจะตั้งน้ำ ดูที่ไฟ เราก็รักษาไฟเรา ถ้าไฟมันแรงขึ้นมาเดี๋ยวน้ำก็เดือด นี่พุทโธๆๆ ไป ปัญญาอบรมสมาธิไป เดี๋ยวจิตก็สงบ

แต่ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านนะ อยากให้น้ำเดือด อยากให้น้ำเดือด น้ำเคยเดือดแล้วอยากให้น้ำเดือด อีกร้อยปีมันก็ไม่เดือด เพราะไม่จุดไฟ ไม่ดูแลรักษาไฟ นี่ไง มันอยากได้ ถ้ามันอยากได้ ทิ้งเลย ดูแลไฟ พัดไฟ ดูแลไฟ เดี๋ยวมา พุทโธไว้ พุทโธไว้ เดี๋ยวมันมา พอมาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไปเรื่อย นี่ไง แก้วสารพัดนึก

พ่อแม่เลี้ยงลูกมา ธรรมะจะเลี้ยงหัวใจเรามา สติปัญญาจะเลี้ยงหัวใจให้เราโตขึ้น พอโตขึ้นมาแล้วนะ เราจะเห็นเลยว่าสรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นเช่นนี้เอง แต่ถ้าจิตใจเราไม่เป็นธรรมนะ มันไม่เป็นเช่นนี้เองหรอก มันจะให้เป็นตามความปรารถนาของเราเอง

แต่ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นเช่นนี้เอง เพราะไม่มีใครบังคับใครได้ มันจะเป็นไปตามสัจธรรมของมัน มันจะเป็นไปตามปัญญาของคน มันจะเป็นไปตามจริตนิสัยของคน ถ้ามันรู้เช่นเห็นชาติ รู้เช่นเห็นจริงแล้วมันจะไปเดือดร้อนอะไรกับใคร นี่ไง ถ้าเราจะปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างนี้ พัฒนาใจเราอย่างนี้ เพื่อประโยชน์กับใจอย่างนี้

นี่ฟังธรรมๆ “ทำไมต้องฟังธรรม ทำไมต้องฟังธรรม ฉันมีปัญญามาก ปัญญาฉันจดฟ้า ฟังทำไม ธรรมต้องไปฟังของใคร”...จดฟ้านั่นกิเลสทั้งนั้น ปัญญาของกิเลสทั้งนั้น

แต่ถ้ามันรู้เท่า มันรู้จริง นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาอยากให้สาวกสาวกะเกิดขึ้นมา ให้เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เกิดจากปัญญาของตัว เพื่อประโยชน์กับใจของเรา เอวัง