เทศน์บนศาลา

กล่าวตู่ธรรม

๓ พ.ค. ๒๕๔๗

 

กล่าวตู่ธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ได้มาด้วยความยากลำบากมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละองค์เป็นของแสนยาก แสนยากเพราะสิ่งนี้มันสิ่งที่ละเอียดอ่อน สิ่งที่ละเอียดอ่อนมากเป็นความลึกลับซับซ้อน ลึกลับซับซ้อนเพราะมันละเอียดอ่อนยิ่งกว่าความรู้สึกไง

ความรู้สึกของเรานี่เวลามันทุกข์มันร้อนขึ้นมาเป็นนามธรรม ไม่มีใครเห็นมันเลย แต่เวลาเขาพิสูจน์กันทางแพทย์ เพราะอะไร เพราะมันแสดงออกทางร่างกายไง เวลาแสดงออกทางร่างกาย เวลาโกรธ เห็นไหม เวลาโกรธ เวลาพอใจ ยิ่งเป็นเด็ก ยิ่งจะเห็นได้ง่ายมาก ถ้ามีความพอใจเขาจะมีความสุขของเขา เขาแสดงออกของเขาโดยความชัดเจน ถ้ามีความทุกข์ของเขา เขาก็แสดงออกด้วยความร้องไห้ ด้วยความเรียกร้องของเขา เห็นไหม สิ่งที่แสดงออกมา

แต่ถ้ามันละเอียดอ่อน คือภายใจหัวใจ คือสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม เห็นไหม ธรรมะสามารถชำระสิ่งนี้ได้ ถ้าสิ่งนี้มันเกิดนะ ทั้งๆ ที่นามธรรมจะเกิดขึ้นมามันต้องมีที่มาสิ มันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากหัวใจไง หัวใจของเรา หัวใจ ปฏิสนธิวิญญาณ อันนี้ละเอียดอ่อนมาก เวลาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นต่างๆ ในภาวะของเขา เขาก็ต้องดำรงชีวิตของเขาอย่างนั้นไป ถ้าเขาเกิดมาในสถานะไหน นั้นคือกรรมพาเขาเกิดแล้ว

กรรมอันนี้คือสิ่งที่เราสร้างบุญกุศลกัน สิ่งนี้เป็นกรรม กรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีและกรรมชั่วนี้เป็นสิ่งที่ว่าสมบัติของใจ การแสดงออก เห็นไหม เวลาเราคิดของเรา มโนวิญญาณเกิดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น “มโนกรรม” กรรมดีกรรมชั่วของใจก็เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจนี้เป็นความคิด เป็นรากเหง้า เป็นรากเหง้านะ เพราะมันเกิดมาจากจิตปฏิสนธิ จิตปฏิสนธินี่พาเกิดพาตาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาจิตดวงนี้เกิดตายๆ สร้างสมมาเป็นพระโพธิสัตว์ต่างๆ นี่ต้องสร้างบุญญาธิการมามากถึงได้เกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ มีบุญมหาศาลเลย แต่ขณะเวลาที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่นี่มีความสุข เพราะว่าสร้างบุญมามาก เป็นชาติสุดท้ายที่จะออกประพฤติปฏิบัติเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ พระเจ้าสุทโธทนะพยายามปรนเปรอทุกอย่าง เพื่อต้องการให้เจ้าชายสิทธัตถะนี้อยู่ พ่อแม่ก็อยากให้ลูกอยู่เป็นจักรพรรดิ จักรพรรดิสืบราชสมบัติของพระเจ้าสุทโธทนะต่อไป แต่เพราะบุญไง บุญที่สร้างมานี่ ความเห็นของใจที่มันละเอียดอ่อน เห็นยมทูต เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันก็กลัวแล้วนะ “เราต้องเป็นอย่างนี้หรือ เราก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อย่างนี้หรือ”

ผู้ที่มีปัญญา จะพยายามหาสิ่งตรงข้ามไง หาสิ่งตรงข้ามที่ว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งตรงข้ามต้องมี เห็นไหม ถึงออกแสวงหาไง ก่อนออกแสวงหาต้องพยายามหาทางออก สิ่งนั้นเป็นทุกข์ไหม ถ้ามันเกิดนะ ความพลัดพราก ต้องพลัดพรากจากภรรยา ต้องพลัดพรากจากลูก เห็นไหม เพราะลูกเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่พลัดพราก สิ่งไหนไม่เป็นทุกข์เป็นไปได้ไหม

เพราะว่าคนดีนี่ ไม่ใช่พลัดพรากจากความเขามีปัญหากัน แล้วพลัดพรากออกจากกัน สิ่งนั้นมันเป็นคนที่มีปัญหากันแล้วแยกออกจากกัน แต่นี่เป็นคนดี มีความรับผิดชอบสูงมาก แต่ต้องพลัดพรากจากสิ่งนี้ไป มันบีบคั้นใจไหม? ถ้ามันบีบคั้นใจ นี่ผู้ที่สร้างบุญมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้ายังไม่ตรัสรู้ ยังไม่ตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พยายามค้นคว้าเองน่ะ สิ่งนี้ก็มีอยู่ในหัวใจ นี่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคยสมบุกสมบันมาทั้งนั้นล่ะ

ความทุกข์ขนาดไหนก็ทุกข์ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วออกประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ว่าเขาทำกันขนาดไหน ต้องศึกษา ต้องเล่าเรียนกับเขา ๖ ปีนะ พยายามทุกวิถีทางที่จะให้บรรลุธรรมให้ได้ เพราะเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้มันน่ากลัวมาก สิ่งที่จะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่อย่างนั้น พยายามค้นคว้าอยู่ ๖ ปี

สิ่งที่ทำขนาดไหนก็ทำ ที่เขาทำกันอุกฤษฏ์ขนาดไหน ทำทุกวิถีทาง สุดท้ายแล้วนะ สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลกเขา นี่ผู้ที่สร้างสมบุญญาธิการของเขา เขาจะมาเป็นฤๅษีชีไพร เขาจะเป็นนักบวชต่างๆ นั้นเขาก็สร้างบุญของเขาไปข้างหน้า แต่เขาไม่มีบุญญาธิการแบบเจ้าชายสิทธัตถะหรอก เจ้าชายสิทธัตถะสร้างสมมาจนเป็นชาติสุดท้าย จะมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำมาละเอียดอ่อนมากขนาดไหน คนอื่นจะไม่มีทางจะหาสิ่งนี้ได้หรอก

เจ้าชายสิทธัตถะถึงต้องกลับมา กลับมาคิดถึงตัวเองไง อดอาหาร ๔๙ วัน จนขนร่วงหมดเลย ทำทุกรกิริยาทั้งหมด ปิดลมหายใจ กลั้นลมหายใจไม่ให้หายใจเลย เพราะความเข้าใจของโลกใช่ไหม เพราะมีเรา มีสรรพสิ่ง มีวัตถุที่จับต้องได้ ถ้าเราทำ ก็ต้องทำลายสิ่งนี้ สิ่งที่มีวัตถุจับต้องได้เพราะเป็นทางโลก พยายามจะทำลายสิ่งนี้เพื่อให้สิ่งนี้เป็นความว่างไง ให้สิ่งนี้ ให้ฆ่ากิเลสออกไปจากร่างกายของเรา ออกจากร่างกายของเรา ออกจากความจับต้องของเราให้ได้

สิ่งนี้ถึงพยายามทำความอุกฤษฏ์ขนาดไหนมันก็เป็นเรื่องของโลก เพราะธรรมยังไม่เกิด ขนาดทำขนาดไหนมันเป็นเรื่องโลกียะ เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของวัฏฏะ เป็นความคิดของปุถุชน มันก็คิดได้ขนาดนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมาขนาดนี้ ก็คิดทดลองสิ่งนี้มาก่อน

แต่พอตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถึงบอกว่า สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยผิดพลาดมาแล้ว ถึงว่าพยายามปิดกั้นไง ว่าการอดอาหารนี้ ถ้าอดอาหารเฉยๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาต แต่ถ้าอดเป็นอุบายวิธีการ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีประสบการณ์อย่างนี้ มีประสบการณ์ว่า อดอาหารถึงเต็มที่แล้ว จนขนร่วงนะ รากของขนนี่เน่าแล้วร่วงออกหมดเลย

มันไม่ใช่เพราะมันเป็นเรื่องของวัตถุ เรื่องของสิ่งที่ว่าเป็นร่างกาย แต่กิเลสมันอยู่ที่ใจไง ถึงกลับมากำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ความรู้สึกกระทบกับลมหายใจนั้น กระทบสิ่งนี้เข้ามา ละเอียดเข้ามาๆ จนเห็นไง พอจิตมันสงบเข้ามานี่เห็น เพราะคนสร้างบุญญาธิการมาก บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปได้มหาศาลเลย ย้อนสาวไปขนาดไหนก็ได้ สาวไปถึงที่สุด สาวไปๆ มันก็ไม่สุดสักที

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกไว้ในธรรมว่า จิตนี้การเกิดและการตายไม่มีต้นและไม่มีปลาย ยาวไกลมหาศาลมาก สาวไปไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่สาวไปเป็นอดีต สิ่งที่เป็นอดีตไม่สามารถชำระกิเลสได้...ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ฐานของความคิดที่ออกไปรู้อดีตนี้ นี่ย้อนกลับมา ควบคุมใจอันนี้เข้ามา พอจิตสงบเข้ามานี่ออกไปรู้ จิตนี้ถ้าตายเดี๋ยวนี้ก็ไปเกิดในสถานะของบุญกุศลที่สร้างไว้ สถานะของบาปอกุศลที่สร้างไว้

จิตดวงไหนที่เขาเกิดเขาตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็น จุตูปปาตญาณ จิตตายเกิด ตายเกิด มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นอย่างนี้ไป อนาคตจิตที่มันเป็นไป มันมีอยู่โดยดั้งเดิมเพราะความรู้สึกนี้มีอยู่ ความรู้สึกที่จับต้องได้ สิ่งนี้มีอยู่ อดีตก็เป็นส่วนที่ว่ามาถึงในปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ก็ส่งไปอนาคต เพราะเรายังมีอวิชชาอยู่ เรายังมีกิเลสอยู่ เรายังมีสิ่งที่รับผิดชอบอยู่

สิ่งที่ใดที่สร้างสะสมไว้ สะสมไว้ที่ใจนี้ มันจะต้องให้ผลกับใจนี้แน่นอน กรรมนี้ถึงให้ผลกับจิตทุกดวงที่สร้างคุณงามความดีและสร้างบาปอกุศล ก็จะให้กับจิตดวงนี้ไปทุกดวง สิ่งที่เห็นจิตดวงนี้ทุกดวง เพราะอดีตอนาคตก็สาวกันไปอยู่นี้

สิ่งที่ลัทธิต่างๆ เขาก็สอนกันไปอย่างนี้ เขาไม่เห็นในปัจจุบัน ไม่เห็นในปัจจุบันเพราะเขาไม่ย้อนกลับมาดูที่จิต ไม่ย้อนกลับมาดูในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันละเอียดอ่อนมาก ละเอียดอ่อนที่ว่าขนาดอารมณ์ที่เกิดขึ้น รับรู้สิ่งอดีต รับรู้อนาคต มันยังรับรู้แทบไม่ทัน ตามแทบไม่ทันความคิดเห็นอย่างนี้ แล้วจะเห็นปัจจุบันได้อย่างไร

ถ้าเห็นปัจจุบันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงย้อนกลับมา ในปัจจุบันนี้สิ่งต่างๆ รับรู้เพราะจิตดวงนี้ออก มีอวิชชา อวิชชาคือพลังงานของมันไม่รู้ เห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ปฏิจจสมุปบาท คือดวงจิตที่ปฏิสนธิมันมีความเคลื่อนไหวไปได้ปัจจยาการของมันในวงรอบของมันได้ขนาดนั้น มันก็เกี่ยวกับอดีต เกี่ยวกับอนาคต เห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ...สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง วิญญาณในการรับรู้ ปฏิสนธิจิตที่ว่าเป็นฐานของจิตดวงนี้มันเกาะกับอดีตอนาคต มันก็ย้อนออกไปอดีตอนาคต

ถ้าออกไปอดีตมันก็เป็น “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” ถ้าไปอนาคต “จุตูปปาตญาณ” มันก็เป็นญาณหยั่งรู้อดีตอนาคต ย้อนกลับมาให้มันเป็นอิสระในตัวมันเอง “อาสวักขยญาณ” ในความไม่รู้ของใจดวงนั้น พลิกใจดวงนี้ พลิกออกไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวิมุตติสุขอย่างมหาศาลนะ

เป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ ๒๙ ปี ทุกข์ของดวงใจดวงนี้กว่าจะออกแสวงหา มันก็เป็นสิ่งที่ว่ากดถ่วงใจดวงนั้น รับรู้รสชาติต่างๆ ของความเป็นอยู่ของโลกเขา โลกเขามีความสุขขนาดไหนก็รับรู้เพราะเป็นกษัตริย์ ความทุกข์หรือว่าภาระรับผิดชอบของใจดวงนั้นก็รับรู้หมด สิ่งนี้เป็นทุกข์ประจำโลก สิ่งที่เป็นวิมุตติสุขเพราะตัดอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขาดออกไปจากใจ อวิชชาขาดนะ ออกไปจากใจ อยู่แต่วิมุตติสุข

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว สิ่งที่หัวใจดวงนั้นที่มีอยู่ กับร่างกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ๔๕ ปี เผยแผ่ธรรมมาถึงพวกเราจนปัจจุบันนี้ไง สิ่งที่เผยแผ่ธรรมมา ๒,๕๐๐ กว่าปี มันก็มีความคลาดเคลื่อนไปโดยสัจจะของเขา โดยสัจจะนะ สิ่งใดสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด เราก็จะพยายามสงวนรักษา ชาวพุทธเราต้องสงวนรักษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎก ก่อนที่จะได้จดจารึกออกมาต้องมีการสังคายนามาก่อน แล้วท่องจำกันมาถึงจารึกออกมา แล้วก็จดต่อๆ กันมา

“กล่าวตู่ธรรม” เวลาถึงพระสงฆ์เราบวชมาในพุทธศาสนา ถ้ามีความเข้าใจผิดในธรรมนะ เข้าใจผิดในธรรม นี่ถ้าเราเข้าใจผิดในธรรม สงฆ์ส่วนหนึ่งสวดประกาศให้เปลี่ยนความคิดเห็นนั้น ถ้าไม่เปลี่ยนความคิดเห็น เป็นถึงอาบัติสังฆาทิเสสนะ นี่กล่าวตู่ธรรมไง

เราออกประพฤติปฏิบัติ เราก็มีความลังเลสงสัย แล้วก็ในสังคมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ บอกเลยว่า “มรรคผลนิพพานหมดกาลหมดเวลา กึ่งพุทธกาลแล้ว มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว” สิ่งที่ไม่มี นี่กล่าวตู่ธรรมนะ กล่าวตู่จากภายนอก

คนเรามีกิเลสอยู่แล้ว ผู้ที่ออกบวชก็มีกิเลสอยู่เหมือนกัน เพราะบวชเป็นพระนี่เป็นสมมุติสงฆ์ก่อน มันก็มีความลังเลสงสัยในหัวใจเป็นธรรมชาติ สิ่งที่มีอยู่นี่ ธรรมชาตินั้น ธรรมที่เกิดขึ้นมา อกุศลก็เป็นธรรมฝ่ายดำ กุศลก็เป็นธรรมฝ่ายขาว กิเลสมันอยู่ในหัวใจ อวิชชาอยู่ในหัวใจของเรา

เกิดมาเป็นมนุษย์มีอำนาจวาสนา เชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บวชเป็นสมมุติสงฆ์ขึ้นมานี่ ความลังเลสงสัยก็มี เพราะอวิชชามันอยู่ในหัวใจไง สิ่งที่ลังเลสงสัย มรรคผลมีหรือไม่มีหนอ การประพฤติปฏิบัติของเราจะได้ผลหรือไม่ได้ผล นี่กิเลสในหัวใจของเรามันก็มีความลังเลสงสัยอยู่แล้ว แต่เรายังไปกล่าวตู่ธรรมนะ ให้มันมีทางออกไง ให้มีทางออก มีสิ่งที่ว่ารองรับความคิดของเรานะ “กึ่งพุทธกาลแล้วมรรคผลนิพพานไม่มี”

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์ไว้ในพระไตรปิฎก พระอานนท์สงสัยมากว่าถ้าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว มรรคผลมันจะหมดเขตหมดกาลสมัยไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อานนท์ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมนะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พระอรหันต์จะไม่ว่างจากโลกนี้ไปเลย”

แล้วพูดได้อย่างไรว่ากึ่งพุทธกาลแล้วพระอรหันต์ไม่มี นี่มันเข้ากับกิเลสไง กิเลสถ้ามันเชื่ออย่างนั้นมันก็หาทางออกของมันสิ เราไม่เชื่อในเรื่องมรรคผลนิพพาน ถ้าเราไม่เชื่อเพราะมันไม่มีอยู่แล้ว แล้วเราปฏิบัติไปมันจะไปถึงไหนล่ะ

ก็คือเป้าหมายไง ถ้าเรามีเป้าหมายถึงจุดหมายปลายทางที่ใดที่หนึ่ง แล้วเราพยายามเข้าถึงเป้าหมายนั้น เราก็จะมีโอกาส แต่ในเมื่อบอกเป้าหมายของเราไม่มี แต่เราก็ประพฤติปฏิบัติของเราไปอย่างนั้น นี่กล่าวตู่ธรรม สิ่งที่กล่าวตู่ธรรม โลกเป็นสภาวะแบบนั้น กิเลสเป็นอย่างนั้นไง

กิเลสเข้ากับโลก เพราะเรื่องของโลก บุญกุศลพาให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ นี่บุญกุศลมาก กรรมดีนะ สิ่งที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ อย่างน้อยศีล ๕ ต้องมีโดยสมบูรณ์ มีศีล ๕ มีทาน มีศีล มีภาวนา เราถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ในเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ ๑๐๐ ปี หรือมากกว่าเล็กน้อยเท่านั้น โอกาสของเรานี่ แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องพยายามเข้าถึงให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาของธรรม ไม่ใช่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาของกิเลสนะ ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาของกิเลส มันจะเอาแต่ความสะดวกเอาจะเอาแต่ความสบาย อยากสะดวกอยากสบายแล้วได้ผลด้วยนะ การได้ผลอันนั้นคือได้ผลตามกิเลสตู่ธรรมไง

แต่ถ้าเป็นกล่าวตู่ธรรมนี้ กล่าวตู่ธรรมจากพระไตรปิฎก เรากล่าวตู่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก เขาว่าธรรมนี้คลาดเคลื่อนมา คลาดเคลื่อนมา เราเองต่างหากว่าคลาดเคลื่อนมา...สิ่งนั้นสมบูรณ์ สมบูรณ์โดยจริตนิสัย ผู้ที่เป็นชาวนาจะเข้าใจเรื่องของการทำนา ความจำเป็นของการไถคราด การไถหว่าน การไถต่างๆ การวิดน้ำเข้านา สิ่งที่นาสมควรขนาดไหน ผู้ใดเป็นชาวสวนจะเข้าใจในการรักษาสวน รักษาสิ่งต่างๆ รักษาผลไม้ของตัวเอง ผู้ใดเป็นชาวไร่ เห็นไหม สิ่งนั้นเป็นโดยสัจจะ คือจริตนิสัยของแต่ละบุคคล คือความชำนาญการของใจดวงนั้น ชาวนาเขาก็ชำนาญการในการทำนาของเขา ชาวสวนก็ชำนาญในการทำสวนของเขา แล้วเราจะปฏิเสธสิ่งที่ว่าเขากระทำนั้นไม่มีผลได้อย่างไรล่ะ มันจะไม่มีผลต่อเมื่อมันขาดน้ำ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการดำรงชีวิตของพืชผลนั้น พืชผลนั้นถ้ามันขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันก็จะไม่ได้ผลตามความเป็นจริง

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ในการประพฤติปฏิบัติอยู่ ในสมัยพุทธกาล ทุกข์มันเป็นความเผาเร่าร้อนใจของสมัยพุทธกาลนั้น แล้วในปัจจุบันนี้ทุกข์มันไม่เผาใจของสัตว์โลกหรือ ทุกข์เดี๋ยวนี้มันอ่อนตัวลงไปใช่ไหม ทุกข์สมัยพุทธกาลนั้นรุนแรงบีบคั้นใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนเห็นภัย ออกประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ แล้วในปัจจุบันนี้ทุกข์มันอ่อนตัวลงไปแล้วหรืออย่างไร มันถึงบอกว่ามรรคผลนิพพานถึงไม่มีไง

มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อกาลเวลามันไม่มีผลในเรื่องของความทุกข์ ไม่มีผลกับเรื่องของกรรม กรรมมันสร้างไว้ขนาดไหนมันก็อยู่กับใจดวงนั้น เวลาพระอาทิตย์ขึ้นแดดออก มันก็ร้อนโดยธรรมชาติของมัน แต่คนสมัยพุทธกาล กาลเวลาของเขา ความเป็นสังคมสมัยนั้นมันสังคมเกษตร มันก็ใช้เวลาอย่างนั้น แต่ปัจจุบันนี้สังคมเราเจริญขึ้นมา กาลเวลามันเร็วขึ้นมา สิ่งที่เร็วขึ้นมา เห็นไหม วันคืนล่วงไปๆ สิ่งนี้เราก็มีความร้อนอยู่ พระอาทิตย์มันก็คือความร้อนอันนั้น พลังงานอันใดถ้ามันเป็นพลังงานอยู่มันก็ใช้พลังงานอันนั้นได้ พลังงานนั้น สมัยพุทธกาลกับสมัยนี้ต่างกัน ต่างกันเพียงแต่สมัยพุทธกาลไม่เข้าใจ ยังไม่เอาแร่ธาตุต่างๆ ของโลกออกมาใช้ เดี๋ยวนี้เอาแร่ธาตุต่างๆ ของโลกเขามาใช้ กิเลสมันยิ่งซับซ้อน ยิ่งซับซ้อนในหัวใจนะ

ในหัวใจเราปรารถนามาก เพราะวิชาการของเรามี สิ่งต่างๆ วิชาการของเรา คือความรู้ความเข้าใจของเรามี แล้วเราว่าเราฉลาดมาก สมัยพุทธกาลคนไม่ฉลาดเท่าเรา มีความดำรงชีวิตไม่เหมือนเรา เราก็เทียบได้สมัยปัจจุบันเรานี่ ตั้งแต่เราเด็ก ความเป็นไปของสังคมเป็นแบบใด แหล่งน้ำต่างๆ แม่น้ำต่างๆ จะใส จะสะอาดมาก พอเดี๋ยวนี้เป็นสังคมอุตสาหกรรม แหล่งน้ำเป็นอย่างไร ความเป็นอยู่ของเราเป็นอย่างไร ก็เทียบสิ

แล้วเทียบถึงความสุขว่าสมัยพุทธกาลทุกข์กว่าเราหรือ? เขามีความสุขกว่าเรานะ เพราะสังคมสมัยนั้นก็เป็นสังคมสมัยนั้นอยู่อย่างนั้น ใครที่ว่ามีทางออก พยายามจะค้นคว้าหาทางออก เขาก็หาทางออกของเขาได้ เพราะเขาเชื่อ เพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่คอยควบคุมกำกับ ผู้ใดปฏิบัติหรือกล่าวตู่ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสเรียกเข้าพบทันทีนะ แล้วจะชี้แจงให้เห็นว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นผิด

“นรกสวรรค์ไม่มี” สมัยนั้นพุทธกาลเขาก็สงสัยเหมือนกัน มรรคผลนิพพานเขาทำของเขา เขาว่าความว่างของเขาเป็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธทั้งหมด เพราะสิ่งนั้นเป็นความเห็นผิด เห็นไหม กล่าวตู่ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บังคับเข้ามา

แต่ในปัจจุบันนี้ก็ความคิดอันเดียวกัน ความคิดอย่างนี้แหละว่า “มรรคผลนิพพานไม่มี ความเป็นไปของเราไม่มี” มันก็เข้ากับกิเลสสิ มันเข้ากับกิเลส เพราะเราปฏิบัติเพื่อความสะดวก เพื่อความสบาย เพื่อความปฏิบัติให้หัวใจ ให้กิเลสมันพองตัวไง กิเลสมันจะมีอำนาจใหญ่โตมาก ว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราเป็นชาวพุทธที่ว่าเข้มข้น เข้มข้นกว่าคนอื่นไง เข้มข้นกว่าผู้ที่เขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ...ไม่ใช่อย่างนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พิจารณาเข้ามาถึงใจของตัว ให้รักษาใจของตัว แล้วให้ปลดเปลืองความเป็นอัตตานุทิฏฐิในใจของตัวนั้น ถ้าเปลื้องอัตตานุทิฏฐิ เราจะใหญ่ไปกว่าใคร เราจะมีความเมตตาสงสารสัตว์โลก เราก็เป็นสัตว์โลกคนหนึ่ง สิ่งในโลกนี้เป็นเรื่องของมายาทั้งหมด สิ่งนี้เป็นเรื่องของสมมุติ

ถ้าเรื่องของโลกเขา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการเกิดเป็นมนุษย์ ที่ว่ามนุษย์สมบัตินี้ประเสริฐมาก สิ่งนี้สำคัญเพราะมันมีโอกาสในการประพฤติปฏิบัติไง แต่ขณะที่ว่า โลกเขาใช้สิ่งนี้เป็น มนุษย์เป็นทรัพยากรอันหนึ่ง แล้วข้อมูลข่าวสารในปัญญาของมนุษย์นี้ นี่คือการควบคุมมนุษย์อีกชั้นหนึ่งไง นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเขามีสิ่งนี้อยู่ สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับโลก แล้วเราเห็นสิ่งนี้ เรายึดสิ่งนี้ได้ไหม

ข้อมูลข่าวสารสิ่งใดก็แล้วแต่ มันก็แล้วแต่ว่ากาลเวลา ข้อมูลข่าวสารที่ล้าสมัย มันก็ไม่ได้ประโยชน์ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารที่ได้ประโยชน์กับเราเดี๋ยวนี้ มันจะเป็นประโยชน์กับเราเดี๋ยวนี้ นี่ข้อมูลที่เป็นอดีต ข้อมูลที่เป็นอนาคตยังมาไม่ถึงเรา เราจะไปดึงสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์กับเราได้ไหม? มันต้องเป็นปัจจุบัน

สิ่งที่เป็นปัจจุบัน คือความคิดความเห็นของเราในปัจจุบันนี้ มันเป็นสิ่งที่เผาลนเราไหม ถ้าเราเผาลนเรา เราถึงย้อนกลับมาตรงนี้ไง ในปัจจุบันของเรา ในการประพฤติปฏิบัติคือการชำระกิเลสของเรา ชำระความเห็นผิดของเรา ถ้าชำระความเห็นผิดของเรา เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติถึงไม่กล่าวตู่ธรรมไง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติโดยความเห็นของกิเลส เราจะตู่ธรรมนะ ตู่ธรรมว่าสิ่งนี้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญไง

ข้อมูลของเรามันเป็นอดีตอนาคต มันไม่เป็นปัจจุบัน ถ้ามันเป็นอดีตอนาคตมันก็ว่าปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา ปล่อยวางเข้ามาโดยที่ไม่มีสติด้วย เห็นมายาต่างๆ เป็นมายาทั้งหมด มันเป็นมายา แต่มันเป็นอดีต มันไม่เป็นมายาในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นมายาในปัจจุบัน ธรรมจะเกิดในสัจจะในปัจจุบันนั้น เราต้องพยายามทำความสงบของใจเข้ามาให้เป็นโลกุตตรธรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นโลกียธรรม โลกียะคือความเห็นของตัวตนของเรา ถ้ามีเราก็เหมือนมีโลก โลกมีอยู่ ความเป็นไปของโลก ความเปลี่ยนแปลงของโลก โลกเกิดสภาวะอย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่มายาอันหนึ่ง แต่ถ้าความเปลี่ยนแปลงของเราล่ะ ความเปลี่ยนแปลงของเรา เราพอใจสิ่งใด เรายึดสิ่งใด ความยึดมั่นถือมั่นของเรา

เหมือนกับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่นั่นน่ะ ความจริตนิสัยของคน ถ้าเป็นชาวนาเขาก็สงวนรักษาของเขาอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นชาวสวนเขาก็สงวนรักษาของเขาอย่างหนึ่ง วิชาการของเขาอย่างหนึ่ง สิ่งที่วิชาการของเขาอย่างหนึ่ง ถ้ามันมีสิ่งกระทบอันนั้นมันก็มีอารมณ์ความรู้สึกอันนั้นออกมา ความรู้สึกคือว่าความเห็นของเขาที่มันสงวนรักษาสิ่งนั้น

นี้เหมือนกัน ถ้าจิตมันมีสภาวะอย่างนี้เป็นพื้นฐาน มันก็ยึดมั่นถือมั่นโดยธรรมชาติของมัน มันจะยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดล่ะ เราชอบสิ่งใดเราก็สงวนรักษาสิ่งนั้น ถ้ารักษาสิ่งนั้นมันก็เกิดรูป รส กลิ่น เสียง รูป รส กลิ่น เสียงมันเกิดชักชวน ดึงใจนี้ให้ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ ให้รับรู้สิ่งนั้นแล้วก็ยึดสภาวะสิ่งนั้น แล้วมันปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา เห็นไหม ปล่อยวางอะไรเข้ามา ปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียงขึ้นมาเป็นส่วนตัวของมัน

นักกีฬาจะมีเทคนิคการเล่นกีฬาได้เก่งขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าเขาไม่มีกำลังของเขา เขาลงแข่งกีฬาขนาดไหน เขาก็เอาชนะคู่แข่งของเขาไม่ได้หรอก เห็นไหม นักกีฬา นี้เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีพลังงานของเรา เราไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราไม่กล่าวตู่ธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องมีศีลควบคุมใจของเราก่อน ถ้าเรามีศีลควบคุมมันเป็นพื้นฐานนะ ถ้าจิตของเรามีศีล เกิดเป็นสมาธิมันก็จะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเราไม่มีศีลควบคุมใจของเราเข้ามา สมาธิเกิดขึ้นมาเป็นสัมมาก็ได้ เป็นมิจฉาก็ได้ มิจฉาเพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันเกิด มันไปรับรู้สิ่งต่างๆ

เราเห็นสภาวะเป็นนิมิต เป็นความเห็น “เขาว่าถ้าเรากำหนดพุทโธ ผู้ที่กำหนดพุทโธ จะติดในนิมิตหนึ่ง จะติดในสมาธิหนึ่ง”...ขอให้เป็นสมาธิ สิ่งที่ติดนี้เป็นพลังงาน สิ่งที่มีพลังงานคือว่านักกีฬาที่มีกำลัง นักกีฬาที่มีกำลัง เทคนิคของเขา เขาจะแข่งกับคู่ต่อสู้ของเขา คู่แข่งของเขา เขาต้องมีกำลังของเขา มีเทคนิคของเขา แล้วเขาต้องมีคู่แข่งของเขาด้วย เขาถึงจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา

แต่อย่างนี้ผู้ที่กำหนด เรากล่าวตู่ธรรมว่า “สิ่งนี้ไม่มีแล้ว แล้วการประพฤติปฏิบัติไม่ต้องมีสมาธิมากหรอก สมาธิพอสมควรมันก็ใช้วิปัสสนาได้แล้ว”...สิ่งที่เป็นวิปัสสนาไปมันเป็นโลกียะไง มันเป็นความเห็นของเรา

ในเมื่อเรามีความเห็น มีความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวตน คือมีโลก โลกียะ สิ่งที่เป็นโลก ความคิดของโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ตรัสธรรมไว้สิ่งที่ว่าหยาบอย่างนี้หรอก สิ่งนี้เป็นความคิดหยาบๆ นะ ความคิดหยาบๆ เพราะอะไร เพราะฤๅษีชีไพร นักบวชครั้งพุทธกาลเขาก็คิดอย่างนี้ได้ เขาก็ปล่อยอย่างนี้ได้เหมือนกัน แต่ทำไมเขาไม่บรรลุธรรมล่ะ

เพราะเขาก็คิด...อย่างสัญชัย สัญชัยเขาบอกแล้ว “สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ไม่มี ไม่เป็น ไม่ใช่ต่างๆ ไม่มี ไม่เป็น ไม่รับรู้สิ่งต่างๆ” สัญชัยเขาก็พูดอยู่ว่าเขาปล่อยวาง ปล่อยวางเหมือนกัน “ไม่ใช่ ความคิดก็ไม่ใช่เรา สิ่งต่างๆ ก็ไม่ใช่เรา ความคิดเป็นเราก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ทั้งหมด” เขาปล่อยวางทั้งหมด แล้วเขาได้สิ่งใดล่ะ เขาแก้กิเลสของเขาได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราคิดรูป รส กลิ่น เสียง เราปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียงขึ้นมา เห็นไหม นี่ตู่ธรรมนะ เราตู่ความเห็นของเรา เราเข้าใจว่าเป็นธรรม เราเข้าใจว่าเราตู่ธรรม ถ้าเราตู่ธรรม เราจะเข้าไม่ถึงธรรมเลย ถ้าเข้าไม่ถึงธรรมเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่ว่าเป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสติปัญญาจะยกขึ้นวิปัสสนาอยู่ที่ไหน

การแข่งกีฬานะ กีฬาบางชนิดแข่งเล่นคนเดียวแล้วเก็บคะแนน กีฬาบางชนิดเขาต้องมีคู่แข่ง มีฝ่ายตรงข้ามเป็นคู่แข่ง แล้วฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคู่แข่งเขาก็มีเทคนิคของเขา เขาก็มีการเล่นกีฬาของเขา สิ่งนี้ในเมื่อถ้ายกขึ้นวิปัสสนา ธรรมกับกิเลสมันจะต่อสู้กันในหัวใจ ถ้าเราไม่มีธรรมกับกิเลสต่อสู้กันในหัวใจมันจะเป็นการชำระกิเลสไหม? มันก็เป็นความคิดของเรา มันไม่ใช่กีฬาเล่นคนเดียวแล้วเก็บคะแนนนะ

นักกีฬาเวลาเล่นคนเดียวแล้วเก็บคะแนน เราเล่นคนเดียวมันเก็บคะแนนของอย่างนั้นไป แต่นี้กีฬานี่ แต่นี้มันมีกิเลส ถ้าเราเล่นกีฬาเก็บคะแนนคนเดียวได้ ได้คะแนนตลอดไป แล้วเวลากิเลสมันพลิกแพลง มันต่อสู้ มันขับไสเรา

เราเวลาประพฤติปฏิบัติ เราถามตัวเองว่าทุกข์ไหม เวลาประพฤติปฏิบัติ ความต้องการของเราไหม เรามีความกลัวไหม เรามีความวิตกกังวลไหม นี่กิเลสเขาเป็นฝ่ายตรงข้าม เขาแหย่เราตลอด เขาทำลายการประพฤติปฏิบัติของเราตลอด แต่เราไม่เข้าใจ เพราะกิเลสเป็นนามธรรม ธรรมที่ในสิ่งที่ว่าเป็นสภาวธรรมก็เป็นนามธรรม นามธรรมประพฤติปฏิบัติไปจนจะเห็นเป็นรูปธรรม เป็นรูปธรรมต่อเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้สมบูรณ์แบบไง สมบูรณ์แบบคือจักรของธรรมเคลื่อน

ถ้าจักรของธรรมเคลื่อน เวลาเราชำระกิเลสออกไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป สิ่งนี้เป็นอกุปปธรรมมันจับต้องได้ทั้งนั้น มันมีจิตไง จิตที่จับต้องสภาวะสิ่งนี้ สิ่งนี้แล้วปล่อยวางสิ่งนี้มา สิ่งนี้จะรับรู้มาทั้งหมดเลย นี่ถ้าเราไม่กล่าวตู่ธรรม เราประพฤติปฏิบัติของเราเป็นชั้นเป็นตอนนะ สิ่งนี้เป็นธรรมะอย่างหยาบๆ ถ้าธรรมะอย่างละเอียดขึ้นไป มันปล่อยวางสิ่งใดเข้ามา ปล่อยวางสิ่งใด ถึงตัวมันเองก็ต้องปล่อยวางตัวของเขาเองด้วย ถ้าไม่ปล่อยตัวของเขาเองด้วย มันก็ไปกล่าวตู่ธรรมอย่างละเอียดไง

สิ่งนี้เป็นที่ครูบาอาจารย์ผ่านพ้นมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติธรรมมา แล้ววางธรรมไว้ เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก บุคคล ๘ จำพวก หมายถึงจิตดวงเดียวนี่แหละ มันพลิกแพลงไปไง จากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสนี้ไม่เกี่ยวกับ ๘ จำพวกนี้เลย เป็นปุถุชนคนที่หนาด้วยกิเลส เป็นผู้ที่เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนี้

สิ่งที่เวียนตายแล้วเกิดนี้มันก็เหมือนกับผักบุ้งไง เหมือนกับสาหร่าย ให้สัตว์มันกินเป็นอาหารไง มนุษย์เราเกิดมาเกิดตาย เกิดตาย ให้พญามารกินเป็นอาหารนะ เราจะต้องเวียนตายเวียนเกิดไปในภพ ในวัฏฏะนี้ โดยพญามารนี้บังคับขับไสไป เกิดมาเหมือนผักบุ้ง เหมือนกับสาหร่าย ให้เวียนตายเวียนเกิดไปวันๆ หนึ่ง นี้คือปุถุชนคนที่หนาไปด้วยกิเลสไง

แต่ถ้าเรามีความศรัทธา มีความเชื่อไง เราเป็นชาวพุทธ เกิดเป็นชาวพุทธพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอน เห็นไหม วุฒิภาวะของใจคนต่ำๆ เขาก็ได้แค่ทาน เขาก็ได้แค่ทำบุญกุศลของเขา ก็เป็นชาวพุทธก็ยังมีบุญกุศลขับเคลื่อนให้ใจนี้เกิดดีเกิดชั่วตามแต่บุญกุศลพาเกิด แต่ผู้ที่ว่าจะไม่เกิดไม่ตายแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าเห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย แล้วมันยอกใจ มันหาทางออกไง แต่นี้ขณะไม่มีทางออก ท่านยังแสวงหาของท่านจนมีทางออกแล้ววางทางไว้ให้พวกเรา

เราเป็นสาวก สาวกะ ผู้ได้ยินได้ฟัง มันมีแบบมีธรรมอยู่แล้วให้เราก้าวเดิน ทำไมเราไม่ภูมิใจล่ะ? เราควรภูมิใจมาก แต่เพราะกิเลส เพราะสังคม กล่าวตู่ธรรมไง เราถึงคลอนแคลนไปกับเขา แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันขับไสขึ้นมามันก็ทำให้ลังเลสงสัย มันก็อยากจะให้เข้าเป็นสมาชิกของเขาไง เชื่อเขา เชื่อเขาไปอย่างนั้น แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติมันก็ตู่ธรรมจากภายใน ตู่ธรรมจากความเห็นของเรา

มันตู่ไปหมดนะ ตู่มากๆ เข้า จนถึงกับโกหกตัวเองนะ โกหกว่าสิ่งนี้เป็นจริงไง ถ้ามันกล่าวตู่นี้คือมันยังไม่รู้จริง มันก็ตู่ของมันไปเรื่อยว่าเป็นสภาวะแบบนั้น สภาวะแบบนี้ แต่ถ้ามันโกหกนะ มันจะว่าสิ่งนี้เป็นความจริง สิ่งที่เราเห็นนี้เป็นธรรมขึ้นมา แล้วเวลามันเสื่อมน่ะ มันแปรสภาพ...สรรพสิ่งนี้มันเป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดที่เราเกิดขึ้น เราพยายามสร้างสมขึ้นมา มันเป็นทุน เป็นความสุข เป็นความพอใจของเรา เพราะเราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เพราะเราตู่ แล้วเรายึดมั่น เราพยายามรักษาของเรา เวลาเราโกหก เราก็ยิ่งเชื่อ พอเชื่อเราก็อยู่สภาวะแบบนั้น เวลามันเสื่อม มันเสื่อมขึ้นมา มันหมดหัวใจนะ

ตู่ธรรมก็เป็นความผิดพลาดอันหนึ่ง ตู่จนเข้าใจโกหกตัวเองก็เป็นอันหนึ่ง แล้วพอโกหกตัวเองขึ้นมาแล้วทำอย่างไรล่ะ? ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ เราต้องปรึกษาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เหมือนโคนำฝูง จะนำฝูงของโคนั้นให้ขึ้นฝั่งให้ได้ มันถึงว่าสัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์สำคัญที่สุด แล้วหมู่คณะ หมู่คณะเป็นส่วนหนึ่ง อาหารเป็นส่วนหนึ่ง แล้วที่อยู่อาศัย มันเป็นสัปปายะที่จะให้เราออกประพฤติปฏิบัติ ออกให้เราก้าวเดินให้ได้

แล้วเราเกิดมา เราพบสิ่งนี้ไหม ถ้าเราพบสิ่งนี้ สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราใช้ประโยชน์สิ่งนี้ไหม ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์สิ่งนี้ เราก็คิดของเราว่า “ครูบาอาจารย์จะรู้เรื่องของเรา จะรู้เรื่องของเรา”...เรื่องของเราก็มีส่วนที่รู้ ส่วนที่รู้อันหนึ่ง แต่เราเปิดใจไหมล่ะ ถ้าเราเปิดใจนะ สิ่งนี้กระทบขึ้นมา...

ธรรมะมีอยู่โดยทุกกิริยาเคลื่อนไหว ฝนตก มันตกมาจากเพราะอะไร สิ่งที่ตกเพราะถึงเวลาแล้ว มันสมควรกับมัน มันมีเหตุของมัน มันถึงตกของมันออกมา สิ่งที่เราเห็นอยู่ สภาวธรรมนี่ เราเก็บสิ่งนี้มาเป็นผลกับใจไหม ถ้าเราถามตัวเองนะว่าสิ่งเป็นประโยชน์กับเราไหม สิ่งที่เขาทำนี่ถูกไหม เป็นเราจะทำอย่างนี้ไหม สิ่งที่ทำขึ้นมาแล้วมันให้ผลกับเราเป็นอย่างไร สภาวะสิ่งนี้มีหมดไง การกระทำต่างๆ มันจะมีผลไปทั้งนั้น ผลอย่างหยาบ ผลอย่างกลาง ผลอย่างละเอียด ผลอย่างหยาบๆ ก็มีคติเตือนใจ ผลอย่างกลางคือเราจะทำอย่างนั้นไหม ผลอย่างละเอียดมันสะเทือนใจไง นี่ธรรมสังเวช

เวลาธรรมสังเวช เห็นไหม โลกมันเป็นไปอย่างนั้น เวลาเกิดพายุเกิดความเป็นไป เกิดภัยธรรมชาติ ทำไมคนต้องมาอยู่ตรงนั้นล่ะ ทำไมเขาต้องมีเหตุสภาวะแบบนั้น ทำไมเขาต้องมาตาย อย่างนี้ นี่พอเห็นสภาวะ ย้อนกลับมา ธรรมสังเวชไหม

เรามีบุญกุศล เราเกิดในประเทศอันสมควร ๓ ฤดู ให้วนไปในฤดูกาลต่างๆ ให้เรามีโอกาสได้เปลี่ยนแปลง ได้ฤดูหนึ่งมันก็เป็นบรรยากาศอย่างหนึ่ง เราจะตื่นตัวไหม ถ้าเราตื่นตัว ฤดูหนาวเราควรตื่นตัวไหม ฤดูมันเป็นประโยชน์หมดถ้าเราเก็บมาเป็นประโยชน์กับเรา นี่เราเกิดในประเทศอันสมควร แล้วใจของเรามันสมควรไหม ถ้ามันสมควร มันจะไม่ตู่ มันจะพยายามทำของมันโดยสัจจะนะ

สัจจะคือข้อเท็จจริง ประพฤติปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ศีลเราก็เดินตามศีล สมาธิเราก็พยายามสร้างสมของเราขึ้นมา ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้ในการใคร่ครวญรูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิไง

เหมือนนักกีฬาที่เขาซ้อมกัน นักกีฬาเขาซ้อมกัน เขาเล่นกัน เขาก็ต้องพยายามสร้างพลังงานของเขา สิ่งนี้มันเป็นนักกีฬาที่ซ้อมเฉยๆ แล้วถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนาได้ นักกีฬาลงสนามแล้วไปวอร์มในสนามนะ เราเป็นนักฟุตบอล ลงสนามไม่มีคู่แข่ง เราวอร์ม เราเตะ เราซ้อมยิงประตู มันยิงได้เป็นร้อยลูกพันลูก เพราะอะไร เพราะนี่คือการเล่น ไม่มีคู่ต่อสู้ไง แต่ในเมื่อนักกีฬาฝ่ายตรงข้ามลงมา แล้วเกิดการแข่งขัน เขามีฝ่ายป้องกันของเขาตลอด

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเราสงบ จิตของเรามีสัมมาสมาธิ แล้วเราจะยกขึ้นวิปัสสนาไหม ความว่าง รูป รส กลิ่น เสียง มันปล่อยมา มันว่างทั้งนั้นน่ะ ว่างอย่างนี้เป็นว่างเป็นกัลยาณปุถุชน เพราะความเกี่ยวในรูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นบ่วงของมาร ถ้าสติปัญญาเราใคร่ครวญทัน เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิสิ่งนี้ เราอย่าไปตู่ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นเหตุ เป็นธรรมฝ่ายเหตุที่เราจะก้าวเข้าไปหาธรรมอันละเอียดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ค้นคว้าอันนี้ไว้แล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าสิ่งนี้แล้ววางไว้ให้เรา เพียงแต่เราไปกล่าวตู่ตั้งแต่ว่าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าหมดกาลหมดสมัยอันหนึ่ง แล้วเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป เวลาใจของเราสัมผัสไง สัมผัสสมาธิธรรม เห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรมนะ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นไหม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เห็นสภาวะของใจมันปล่อยวางสิ่งนี้นะ

เวลามันปล่อยวางสิ่งนี้มันมีเหตุผลอย่างไร มันยกขึ้นเห็นกาย เห็นจิต เห็นไหม ถ้าเห็นกายเห็นจิต มันก็เห็นนักกีฬามีคู่ต่อสู้ นักกีฬาที่จะต่อสู้ กิเลสกับธรรมมันต้องแข่งขันกัน มันต้องแข่งขันกันด้วยใช้ปัญญา ปัญญาของกิเลส กิเลสเป็นผู้ที่ฉลาดมาก มันจะสร้างสภาวะต่างๆ ให้เราเห็นว่าเราเห็นสภาวะตามความเป็นจริง

เวลาเราพิจารณากาย เห็นไหม พิจารณากายภายนอกๆ กายจากสัตว์โลก เที่ยวป่าช้าเห็นกายภายนอก สิ่งนั้นเป็นกายภายนอก สลดสังเวชเข้ามา แล้วจิตสงบเข้ามา ยกขึ้นมาเห็นกายไหม หลับตาแล้วเห็นกายจากภายใน ถ้าเห็นกายจากภายใน วิปัสสนากาย เห็นสภาวะกายมันแปรสภาพของมันไปถ้ากำลังมันพอ ถ้ากำลังไม่พอ สิ่งนั้นจะอยู่คงที่ของเขาอย่างนั้น เราจะน้อมนึก พยายามใช้ปัญญาขนาดไหนมันก็ไม่ไป นี่กำลังไม่พอ

ถ้าเราวิปัสสนาอย่างนี้เราจะรู้ทันทีว่ากำลังคือสัมมาสมาธิ ถ้ากำลังสัมมาสมาธิมันพอ นี่มัชฌิมาปฏิปทา ความดำริชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ สมาธิชอบ สติชอบ สิ่งนี้มันต้องสมดุลกัน สิ่งที่สมดุลกัน วิปัสสนาไป กายนี้จะแปรสภาพให้เราเห็นสภาวะสิ่งนั้นไป นี่ถ้ากำลังไม่พอ สิ่งนี้ไม่เป็นไป มันก็รู้ทันทีว่าสมาธิสำคัญหรือไม่สำคัญไง

ถ้าสมาธิไม่สำคัญ นี่ผู้ที่ตู่ธรรมนะ เวลาวิปัสสนาไปมันไม่ไปไง พอมันไม่ไปก็ไม่เข้าใจเพราะเราตู่ธรรม แล้วเราก็โกหกตัวเองว่าสิ่งนี้เป็นธรรม นี่จะล้มลุกคลุกคลาน จะปล้ำอยู่อย่างนั้น จะล้มลุกคลุกคลานจะให้กายนี้แปรสภาพให้เราเห็น เพราะเราเคยเห็นสิ่งนี้ มันก็จะไปต่อสู้ พยายามของเขา

พยายามอย่างนั้น พยายามโดยกิเลส พยายามโดยกิเลสเพราะกิเลสอยู่กับเรา กิเลสมันมีอยู่โดยสัจจะความจริง เพราะกิเลสพาเราเกิดมา สิ่งนี้มีอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว เวลาวิปัสสนา กิเลสมันก็หลอก กิเลสมันก็เข้ามา เข้ามาในวงปฏิบัติของเรา กิเลสมันเข้ามาพลิกแพลงวงปฏิบัติของเราให้ล้มลุกคลุกคลานโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย นี่เวลาเราตู่ธรรมแล้ว กิเลสมันสวมเข้ามา เราก็จะติดข้องอยู่อย่างนี้ตลอดไป จนกว่าครูบาอาจารย์จะชี้ออกไง

ปล่อยสิ่งนี้ทั้งหมดแล้วกลับมาใช้คำบริกรรม ถ้าพิจารณากายโดยเจโตวิมุตติ จากสัทธาจริตจะต้องพิจารณากาย จะต้องพิจารณาเข้ามาแล้วให้มันปล่อยว่างเข้ามาให้สมาธิมันมั่นคง สิ่งที่มั่นคง พลังงานมันจะเกิด แล้วกลับไปวิปัสสนากายใหม่ เห็นสภาวะแบบนั้น เวลารำพึงให้มันพอง ให้มันเน่า ให้มันเปื่อย มันจะเป็นสภาวะแบบนั้นไป...ทำไมอย่างนี้ทำได้ล่ะ? อย่างนี้ทำได้เพราะเป็นธรรม

อย่างครั้งก่อนนั้นเพราะเราตู่ธรรม เราตู่ธรรมมันถึงไม่เป็นความเป็นจริง เพราะไม่มัชฌิมาปฏิปทา นี่ทางอันเอก มัคโคนี้ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง แต่เวลาเรากลับมาประพฤติปฏิบัติโดยมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ คอยบอกเรา แล้วเรากลับมากำหนดคำบริกรรม นี่ไม่เสียเวลา

เราว่า “เรากำหนดคำบริกรรมแล้วจะเสียเวลา เพราะขณะนี้เราใช้ปัญญาออกแล้ว ปัญญาก้าวเดินแล้ว กลับมาที่พุทโธนี้จะเสียเวลามาก” สิ่งนี้เป็นความคิดของกิเลส กิเลสจะคิดอย่างนั้น สิ่งที่ว่าเราขับรถไป น้ำมันเราหมด เราไม่เติมน้ำมันได้อย่างไร ในเมื่อน้ำมันเราหมดข้างหน้าถ้าเราเห็นที่เติมน้ำมัน เราไม่เติม เราไปข้างหน้า ถ้าไปหมดข้างหน้าแล้วเราจะเข็นรถต่อไปไหวไหม มันเป็นสิ่งที่ว่ากิเลสมันจะหลอกให้เราผิดพลาดไปตลอดเวลาเลย เราถึงเห็นที่เติมน้ำมัน เราก็ต้องเติมน้ำมันให้รถเราเติมน้ำมันในรถ แล้วเราก็จะพารถของเราก้าวเดินไป

นี้ก็เหมือนกัน เราย้อนกลับมากำหนดคำบริกรรมของเราขึ้นมาให้ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เสียเวลา มันเป็นการเติมน้ำมัน สิ่งที่เติมน้ำมันก็เป็นประโยชน์กับเราข้างหน้านะ เราจะได้ไปยาว ไปไกลกว่านั้น เพราะน้ำมันเราเต็มถัง เราไปได้ยาว ได้ไกล แล้วถ้าไปข้างหน้า ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เราก็ต้องแวะเติมน้ำมันไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนกว่าจะถึงเป้าหมายของเราไง ถ้าไม่ถึงตามเป้าหมายของเรา เราจะต้องเติมน้ำมันของเราตลอดไป ถ้าไม่เติมน้ำมัน น้ำมันหมดแล้ว เราจะไปไหนไม่ได้เลย

นี่คำบริกรรม นี่สัมมาสมาธิ มีความสำคัญอย่างนี้ ถ้าเราใช้ปัญญาวิมุตติ เราพิจารณาของเรา ใช้ปัญญาขึ้นมา มันก็ปัญญาใคร่ครวญเรื่องสภาวธรรมนี่แหละ สภาวธรรม เพราะใจมันเป็นพลังงานอันหนึ่ง เป็นธาตุรู้ มันจะแสดงตัวได้มันต้องอาศัยขันธ์ ๕ เกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ไปทั้งนั้นเลย สิ่งต่างๆ เกาะเกี่ยว คือธรรมชาติของจิต เพราะเราเกิดมามีขันธ์ ๕ เห็นไหม ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ อาการของใจที่มันแสดงออก มันต้องอาศัยขันธ์ ๕ นี้แสดงออกไปแล้วเกาะเกี่ยวเรื่องความคิดความเห็นออกไป นี้เป็นพลังงาน เป็นธรรมชาติของจิตที่แสดงออกอย่างนี้ แล้วถ้าเกิดความพอใจก็เป็นสุข เกิดความไม่พอใจก็เป็นทุกข์ นี่สภาวะของเขาเป็นอย่างนี้ เราเกิดมาได้สถานะอย่างนี้ แล้วเราเอาสิ่งนี้เข้ามาดูไง เราถึงเอาสภาวธรรมเข้ามาจับสิ่งนี้

ถ้าจับสิ่งนี้ เห็นการเคลื่อนไปของจิต เกาะเกี่ยวสิ่งใดก็เป็นโทษ เกาะเกี่ยวสิ่งใดก็สิ่งที่เป็นมายา สิ่งที่เป็นมายาเราเห็นสภาวะ เห็นสภาวะอย่างนั้นมีสติพร้อมตลอดไป นี่ตามความรู้ความเห็นไปอย่างนี้ตลอดไป ถ้าสติทันจะเห็นโทษหมด แล้วจะสลดสังเวช ทำไมเมื่อก่อนไม่เห็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เห็นอย่างนี้ มันก็จะปล่อยสิ่งนี้เข้ามา ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา นี่ธาตุรู้ปล่อยขันธ์

ธาตุรู้ปล่อยขันธ์ เพราะมีกิเลส กิเลสตัวนี้เข้าไปในระหว่างธาตุรู้กับขันธ์นี้ แล้วก็พอใจยึดสิ่งต่างๆ ไม่พอใจผลักไสก็ไม่ออก สิ่งนี้มันให้ผลสุขทุกข์อยู่กับใจตลอดไป แล้วก็ตู่อย่างนี้มาตลอดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมเพราะเข้าใจสิ่งนี้แล้วปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา...ตู่ไง ตู่มันไม่เป็นธรรมจริง เพราะมันเป็นธรรมฝ่ายโลกียะ สิ่งนี้ยังเป็นโลกียะอยู่ไม่โลกุตตระ

ถ้าเป็นโลกียะ เราปล่อยสิ่งที่เป็นโลกียะ ความที่ไปยึด เพราะยึดนี้มีกิเลส กิเลสเข้าไปยึด พอใจมันก็เป็นสุข ไม่พอใจมันก็เป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นสุขเป็นทุกข์นี้คือกิเลส สิ่งที่กิเลสคือยางเหนียว ยางเหนียวเชื่อมไง เชื่อมระหว่างธาตุรู้กับขันธ์เข้าด้วยกัน เราวิปัสสนา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาไล่ต้อนสิ่งนี้เข้ามา มันเห็นโทษมันก็เริ่มปล่อย ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา สิ่งนี้จนปล่อยวางขาด พอขาดออกไป นี่เป็นกัลยาณปุถุชน

สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชน ธาตุกับขันธ์มันขาด มันปล่อยวางกันชั่วคราว สิ่งที่มันปล่อยวางกันชั่วคราว สิ่งที่มันเป็นกิเลสอยู่ มันยังอยู่ในธาตุนั้น สิ่งที่อยู่ในธาตุนั้น ถึงต้องจับขันธ์อันเดิม เพราะตัวธาตุรู้นี้แสดงตัวเองไม่ได้ มันต้องผ่านขันธ์ สิ่งที่ผ่านขันธ์ ถ้าเราจับขันธ์นี้ได้ นักกีฬาที่ลงสนามแล้วมีคู่ต่อสู้ไง นักกีฬาลงสนามแล้วไม่มีคู่ต่อสู้ คู่ต่อสู้ไม่มา เราก็วอร์มในสนามของเรา เราว่าเราเก่งมาก เราทำคะแนนของเราได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีกิเลสคู่ต่อสู้

เพราะมันพิจารณาปัญญาอบรมสมาธิแล้วปล่อยวางเข้ามาๆ ขณะที่ปล่อยวางเข้ามาแล้ว เราจับขันธ์อันใหม่ นี่คือคู่ต่อสู้ไง กิเลสมันอยู่ตรงนี้ กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ มันยึดระหว่างขันธ์กับจิตนี้เป็นทางเดินของเขา ทีนี้พอเราจับขันธ์ได้ใหม่ กิเลสมันก็ต้องพยายามพลิกแพลงเพื่อจะรักษาสถานะของเขาไว้ในหัวใจนี้ ให้สิ่งนี้เป็นทางเดินของเขา ระหว่างอวิชชา ถ้าพลังงานตัวนี้อาศัยผ่านขันธ์นี้ แล้วกิเลสอาศัยสิ่งนี้เป็นทางเดินตลอดไป แล้วเราจับสิ่งนี้วิปัสสนา นั้นคือคู่ต่อสู้ไง

พอมีคู่ต่อสู้ขึ้นมา ถ้ากำลังเราพอ เทคนิคเรามี พลังงานเรามี เป็นนักกีฬาที่มีกำลังแข็งแรง แล้วทักษะของเราดีด้วย เราจะสามารถทำประตูของคู่ต่อสู้ได้ เห็นไหม ถ้าทำประตู คือว่าเราวิปัสสนาไปเห็นสภาวะแบบ เห็นสภาวะความคิดขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ความคิดนี้คืออะไร? ความคิด ความคิดนี้เป็นรูปของจิต สิ่งที่เป็นรูปของจิต รูปนี้ประกอบไปด้วยอะไร? ประกอบไปด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราใช้ปัญญาแยกออกไปอย่างนี้

เพราะว่ากิเลสมันยึดสิ่งนี้เป็นรูป เป็นความรู้สึกทั้งหมด ถ้าปัญญาตีสิ่งนี้แตกออกไป นี่ความคิดอันหนึ่งมันสำเร็จรูปมาแล้วเป็นรูปธรรม ที่ว่าใจนี้เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ จับต้องไม่ได้ เพราะเขาภาวนาไม่เป็นไง ถ้าเขาภาวนาเป็น เขาจับสิ่งนี้ได้ จับรูปของใจ จับรูปนะ จับความรู้สึกเป็นรูปขึ้นมาเลย แล้วจับนี้ตั้งไว้ แล้วแยกออกไป สิ่งใดเป็นเวทนา? คือความพอใจ และความไม่พอใจ แต่เดิมเราเป็นรูป เป็นความคิดขึ้นมา พอใจไม่พอใจเราก็ยึดของเรา แต่ขณะที่เรามีปัญญา ความพอใจนี้ก็เป็นสุขเวทนา ความไม่พอใจก็เป็นทุกขเวทนา เวทนาอย่างนี้เกิดขึ้นมา อะไรพอใจแล้วสิ่งใดรับรู้? คือวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ รับรู้สิ่งนี้ แล้วเกิดสังขารปรุงแต่ง มันก็หมุนไปรอบหนึ่ง รอบหนึ่ง อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

ถ้าเราวิปัสสนา มันจะปล่อยวางสิ่งนี้ขาด ขันธ์ ๕ จะแตกทำลายออกจากกัน สิ่งที่ขันธ์ ๕ แตกทำลายออกจากกัน เราก็ชนะกิเลส เราก็ได้คะแนนขึ้นมา สิ่งที่เป็นคะแนนนะ ถ้าเราตู่ธรรมอย่างนี้ เราไม่ภาวนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเราตู่ไง สิ่งที่ตู่คือสภาวธรรมมันเกิด แต่ไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าไม่ถึงเป้าหมาย เราจะตู่ธรรมไม่ได้ เราจะต้องประพฤติปฏิบัติธรรมตามข้อเท็จจริงแล้วแต่อำนาจวาสนาของจิตผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น

จิตผู้ที่มีบุญญาธิการสร้างอำนาจวาสนามา ขิปปาภิญญา เวลาวิปัสสนาไปทะลุแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาถึงยามสุดท้าย เห็นไหม อาสวักขยญาณทีเดียวกิเลสขาดออกไปจากใจทั้งหมดเลย นี่ขิปปาภิญญาจะไปได้เร็วมาก ถ้าเราประพฤติปฏิบัติมา ถ้าอำนาจวาสนาของเราจะต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำคือวิปัสสนา มันปล่อยก็ปล่อยไป เราไม่ตู่

ถ้าเราตู่ว่า “เรารู้ธรรม สภาวธรรมนี้เกิดขึ้นมากับเราแล้ว จิตว่างหมดเลยนะ ปล่อยวางหมด”...ชั่วคราวไง กิเลสโดนสภาวธรรมประหัตประหาร มันจะหลบซ่อนนะ หาที่หลบที่ซ่อนเข้ามาในหัวใจเรานั่นล่ะ มันไม่หลบซ่อนที่ไหนหรอก เพราะมันเป็นนามธรรมอยู่กับใจ มันจะไม่ไปหลบซ่อนในตึก ในแก้วแหวนเงินทองที่ไหน มันไปไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตอยู่กับใจเรานี้

ในเมื่อมันปล่อยวาง กิเลสมันก็หลบซ่อน มันก็ว่าง ว่าง...ความว่างอย่างนี้กับความว่างในสมถะมันต่างกัน ความว่างอย่างนี้เพราะเราวิปัสสนาเข้ามา นี่คู่ต่อสู้กับกิเลส ซ้ำตามข้อเท็จจริงของใจดวงนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุด ถึงเป้าหมาย เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จะต้องขาดออกจากกัน สิ่งที่ขาดออกจากกัน “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยกิเลส” มันจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริงไง

แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้ามาโดยสมถะ โดยปัญญาอบรมสมาธิ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ก็ใสอยู่อย่างนั้นไง ถ้าใสอยู่อย่างนั้น ในวงการปฏิบัติ จิตที่ใสคือจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์มาเกิดทำไม แต่เวลาเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ใสขนาดไหนเป็นความว่าง เป็นความใสสะอาด ใสสะอาดของเขา ใสสะอาดโดยที่กิเลสมันหลบซ่อนอยู่ในไง

แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติ ขณะจิตที่มันเปลี่ยน “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” การข้ามพ้นกิเลส ขณะจิตที่มันพลิกออกมา นี่จิตเป็นจิต กายเป็นกาย ทุกข์เป็นทุกข์ ปล่อยออกจากกันออกมา สิ่งมีอยู่ สภาวะจิตรับรู้อยู่ สิ่งนี้ปล่อยมา มันจะว่างหมด สิ่งที่ขาด ขาดอันนี้ขาดตามความเป็นจริงไง นี้ไม่ใช่ตู่ธรรม นี้คือสภาวธรรมที่ว่า เอโก ธัมโม ธรรมอันเอก เอกของพระโสดาบันไง

พระโสดาบันปล่อยอย่างนี้ขึ้นมาแล้วเป็นเอกอันนี้ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง แต่ทุกข์อันละเอียดมันก็แสดงตัว เราก็ต้องย้อนกลับ สิ่งที่ย้อนกลับ ยกขึ้นวิปัสสนาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป สิ่งที่ซ้ำเข้าไปเพราะจิตที่ละเอียดขึ้นไป สมาธิต้องละเอียด ปัญญาอย่างหยาบ กิเลสอย่างหยาบ มันหลอกเรามา เราก็ล้มลุกคลุกคลาน ปัญญาอย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างละเอียดสุดในหัวใจ

นี่มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก จากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส เหมือนกับผักบุ้ง เหมือนกับให้สัตว์กินไปชาติหนึ่งๆ เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ต่อไปนี้มันจะเป็นสิ่งที่ว่าไม่เป็นผักบุ้ง ไม่เป็นสิ่งอาหารที่ให้กับเต่ากับปลามันกินอีกแล้ว เห็นไหม จะเกิดจะตายก็อีก ๗ ชาติ แต่มีสติมีสัมปชัญญะ จะต้องล่วงพ้นจากกิเลสชาตินี้ เพราะเราจะตีเหล็ก เหล็กที่มันร้อน มันยังแดงอยู่เราต้องตี ศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อความมั่นคงของเรามีอยู่ เราต้องยกขึ้นวิปัสสนาต่อไป สิ่งที่วิปัสสนาต่อไปนี่ย้อนกลับเข้าไป ก้าวเดินขึ้นตามธรรม

ศีล สมาธิ ปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ตามความเป็นจริงแล้วว่าศีล สมาธิ ปัญญา ให้เราก้าวเดินตามศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราก้าวเดิน ศีล สมาธิ ปัญญา นี่สมาธิอย่างละเอียดขึ้นไป สติอย่างละเอียดขึ้นไป จับกายกับจิตนี้ออกใคร่ครวญ ถ้าจับกายกับจิตนี้ออกใคร่ครวญ...ก็เราใคร่ครวญมาแล้ว เราเข้าใจแล้ว มันก็หมดไปแล้ว สิ่งที่หมดไปแล้ว มันเป็นขั้นตอนหนึ่ง สิ่งที่เราเติมน้ำมัน เวลารถเราวิ่งไป น้ำมันมันพร่องไปในถัง เราก็รู้อยู่ไง อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อสิ่งเราใคร่ครวญ วงรอบหนึ่งๆ มันก็เป็นพลังงานอันหนึ่ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงกับมันปล่อยวางออกมาอย่างนี้ มันถึงเป้าหมายแล้วก็ปล่อยวางออกมา แต่เป้าหมายอันต่อไปมันก็มีเป้าหมาย

ถ้ามีเป้าหมาย มีที่กระทำ เราต้องเห็น เพราะสิ่งนี้อยู่ในใจ สิ่งนี้จะมีความว่างขนาดไหน กิเลสมันก็อยู่ในความว่างนั้น ถ้าความว่างสิ่งนี้มีอยู่ เราก็ต้องให้ความว่างนี้ยกขึ้นวิปัสสนา เห็นคู่ต่อสู้ เห็นการต่อสู้ของกิเลส ธรรมกับกิเลสจะเกิดขึ้นในหัวใจ การต่อสู้ เวลาปัญญามีปัญญามาก มันจะใคร่ครวญสิ่งนี้เข้ามา มันจะใคร่ครวญสิ่งนี้ เราจะเห็นความเป็นไปไง

นี่ถ้าเป็นความสนุกเพลิดเพลิน มันก็เป็นความสนุกเพลิดเพลินเพราะมันเป็นธรรม แต่ถ้าเวลามันทุกข์ยาก เห็นไหม งานการกระทำมันเป็นงาน พลังงานต้องใช้ทั้งนั้นน่ะ ความทุกข์ความยากเกิดแน่นอน ทุกข์ที่จะข้ามพ้นกิเลสนะ ทุกข์ของโลก ทุกข์ประจำโลกเขาก็ต้องอาศัยพลังงานของเขา แต่ทุกข์อันนี้ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่ความจริงอันนี้เป็นความจริงในอริยสัจ เป็นความจริงในมรรคไง มัคคาเกิดขึ้นจากใจนะ

ปัญญามันต้องพลิกแพลง ถ้าไม่พลิกแพลง เวลากิเลสมันน้อยเนื้อต่ำใจนะ ถ้ากิเลสน้อยต่ำใจ มันจะทำให้เราน้อยเนื้อต่ำใจด้วย แต่มันเป็นผลกับมัน มันว่ามันน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะว่ามันทำแล้วเป็นความทุกข์ แต่ความจริงคือว่ามันต้องการให้คลาดไง

ตัวใจ ทุกดวงใจ ตัวใจเป็นตัวกลาง แต่กิเลสมันอยู่ในใจขึ้นมา มันก็หลอกให้เราคิดผิด แต่เราใช้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม สภาวธรรมเวลาคิดขึ้นมา เวลามันทุกข์มันยาก เวลาเกิดเวลาตาย ทุกข์มันมีความหมาย มันมีแสบปวดเจ็บร้อนมากกว่านี้นัก การประพฤติปฏิบัติกับความทุกข์อย่างนี้เพื่อจะพ้นจากทุกข์ มันเป็นความทุกข์ที่ควรกระทำ เป็นความทุกข์ที่เราพอใจทำ ถ้าเราพอใจทำนะ เราก็เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาโดยมีสติสัมปชัญญะ

ถ้าสติสัมปชัญญะเรามี เราจะย้อนกลับมาได้ตลอด ถ้าทวนกระแสเข้ามาจับกิเลสได้ มันก็เห็นกายกับจิต ถ้าเห็นกายกับจิต พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ แต่ความพลิกแพลงของกิเลสมันจะละเอียดอ่อนมาก ละเอียดอ่อนจนว่าเราจะคิดว่าเราเชื่อมันไง ถ้าเราเชื่อมันเราก็ล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานนะ กิเลสชนะหนหนึ่ง การต่อสู้กันในหัวใจของเราระหว่างกิเลสกับธรรมมันต่อสู้กัน เราจะเป็นผู้รับรู้เลย

ถ้าตู่ธรรม เราจะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เราก็พอใจไปพักหนึ่ง พอใจในความปล่อยวางอันนั้นพักหนึ่งๆ แต่สิ่งที่มีอยู่ เหมือนกับโรค ถ้ามีเชื้ออยู่มันก็แสดงตัวของมัน ถ้าวันไหนแสดงตัวของมัน มันเป็นความทุกข์ เราจะเห็นว่าเราผิดพลาดแล้ว ถ้าเราผิดพลาด เราก็เริ่มต้นของเราใหม่ สิ่งนี้ต้องเริ่มต้นของเราใหม่ คนประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ไม่ผิดเลยไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี ผิดพลาดมาขนาดไหน แต่ผิดพลาดมา ๖ ปี เริ่มสุดท้ายก็เพราะอำนาจวาสนา ธรรมมันละเอียด มันไม่มีใครรู้ได้หรอก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรู้เอง แล้วก็วางธรรมให้เราก้าวเดิน

แต่ขณะที่กิเลสมันหลอกเรา เพราะกิเลสมันมีกำลังมากกว่า พอมันหลอกเรา เราก็ล้มลุกคลุกคลานไปกับมันหนหนึ่ง พักหนึ่ง แต่ในเมื่อถ้าเราพลิกกลับมา เราก็มีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนา เพราะว่าสิ่งที่เราเห็นความเห็นผิดพลาด เป็นอกุศล เป็นความผิด เป็นธรรมฝ่ายดำ เราพยายามสร้างธรรมของเราขึ้นมาเป็นธรรมฝ่ายขาว ถ้าเป็นธรรมฝ่ายขาว แล้วก็เทียบธรรมในพระไตรปิฎก

๑. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริงแน่นอนอยู่แล้ว

๒. ความเห็นของเราจากภายในเทียบเข้าไป มันจะซึ้งใจมาก ซึ้งใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เอกมาก หนึ่งไม่มีสอง พูดแล้วหนึ่งไม่มีสอง ต้องเป็นความถูกต้องไปตลอด

แต่กิเลสในใจของเรามันพลิกแพลง มันเปลี่ยนเราล้มลุกคลุกคลาน แล้วเราก็ใช้ธรรมของเรา เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติ ในการที่เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ จะเอากำลังใจมาเพื่อชำระกิเลส กำลังใจของเราถ้ามันเหนือกิเลส กิเลสมันต้องอ่อนตัวลง ถ้ากิเลสอ่อนตัวลง ธรรมมันก็ก้าวเดินได้ง่ายขึ้น ก้าวเดินได้ง่าย ปัญญาก็ออกก้าวเดิน วิปัสสนาไป เห็นไหม ธาตุเป็นธาตุ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ปล่อยกันตามความเป็นจริง พิจารณากายขึ้นมา มันจะปล่อยตามความเป็นจริง ขาดออกไป กายกับจิตนี้ขาดโดยสัจจะความเป็นจริง ว่างหมดเลย ว่างขนาดนี้ว่างมาก เพราะกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใจ ว่าง โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ไม่มีสิ่งใดจะเข้ามาจับเกี่ยวใจดวงนี้เลย มีความสุขอยู่มหาศาลเลย นี่ธรรมอันนี้เกิดขึ้นมาจากใจนะ

ใจของสัตว์โลกผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติรื้อตัวเองได้ ขนตัวเอง เห็นไหม รื้อสัตว์ขนสัตว์ สัตว์เป็นผู้ข้อง คือจิตของเราเป็นผู้ข้องมีกิเลสอยู่ เราใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแผนที่เครื่องดำเนินนะ

แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติคือธรรมของเรา ธรรมในหัวใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเห็นมัคคาที่มันหมุนออกไปจากใจ แล้วมันทำลายกิเลสออกไปจากใจ สิ่งนี้เป็นสัจจะความจริง เป็นข้อเท็จจริงในใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้น สิ่งนี้คือใจที่ไม่กล่าวตู่ธรรม จะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ธรรมอย่างนี้ได้อย่างไร แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นสมบัติของเรานะ สมบัติของเราเพราะมันเป็นอกุปปธรรมไง สิ่งนี้จะอยู่ในดวงใจตลอดไป

แต่ถ้าสูงขึ้น เราก็กล่าวตู่ธรรมอันละเอียด สิ่งอันละเอียดเพราะมันว่าง มันปล่อยวางมาก ความว่างเป็นชั้นเป็นตอน ว่างแบบสมถะส่วนหนึ่ง ว่างแบบสัมมาสมาธิส่วนหนึ่ง ว่างแบบพระโสดาบันส่วนหนึ่ง ว่างแบบพระสกิทาส่วนหนึ่ง ว่างแบบพระอนาคานี้ยิ่งอีกส่วนหนึ่ง ยิ่งลึกลับมาก ลึกลับเพราะพระอนาคามีหลายชั้น ความว่างอันนี้มันจะละเอียดอ่อนเข้าไป กามราคะหมดแล้ว มันก็ยังมีความว่าง เศษส่วนของกาม เศษส่วนของต่างๆ มันจะมีอยู่อย่างนั้นตลอดไป

แล้วความว่างของพระอรหันต์ล่ะ ความว่างมันก็มีชั้นมีตอนนะ เราคิดว่าเรามีความว่าง สิ่งนี้เป็นความว่าง แล้วมันเป็นความจริงไง ตู่ธรรมอย่างละเอียด มันก็ตู่ไปเรื่อยๆ นะ ถ้ามันตู่ธรรมมันก็ว่าเป็นความว่าง ถ้าเป็นความจริงนะ เราต้องสิ่งที่ว่า เรามีความเฉาไหม มีความหมองเศร้าในหัวใจไหม ถ้ามีความหมองเศร้าในหัวใจ นี่ความกระทบอันนี้เกิด สิ่งที่มีจับตรงนี้ไปนี่กามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะนะ ถ้าพิจารณากายสิ่งนี้เป็นอสุภะ มันจะเป็นอสุภะอสุภังเพราะจริตนิสัย

เหมือนว่าชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน แล้วแต่จริตนิสัย ถ้าเป็นชาวนาก็ชำนาญการของการทำแบบชาวนาไป ถ้าเป็นชาวสวนก็ชำนาญการแบบชาวสวนไป จิตที่มันเห็นน่ะ เห็นกาย เห็นจิต พลิกแพลงไป ถ้าเห็นจิต กามราคะเราก็ใคร่ครวญของเราไป ใคร่ครวญนะ กำลังมหาศาล ผู้ที่ทำงานเป็นชาวนา เขาชำนาญของเขา เขาจะคำนวณได้เลยว่าเอาน้ำเข้าได้ขนาดไหน จะหว่านปุ๋ยเมื่อไหร่ จะเก็บเกี่ยวได้อย่างไร ถ้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลของเขาจะได้ผลของเขา โดยที่ว่าเพราะเขาทำมาตั้งแต่เริ่มต้นมีชีวิต ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่

นี่เหมือนกัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปถึงกามราคะ มันก็ผ่านประสบการณ์จากชั้นจากตอนเข้ามา มันก็ต้องพลิกแพลงด้วยปัญญาใคร่ครวญอย่างมหาศาล เพราะมันเป็นมหาสติมหาปัญญา สิ่งนี้เป็นมหาสตินะ สติที่ละเอียดอ่อนมาก รู้ความเคลื่อนไหว จิตพลิกแพลง จิตมีความคิด สติมันจะทันตลอดเลย มันจะทันตลอด ขนาดที่ว่าขนาดอยู่ในหมู่ในคณะมันยังต้องการเวลาเป็นของส่วนตัวนะ เสียงที่หมู่คณะคุยกัน เสียงการพูดที่กระทบกันมันจะไม่พอใจมาก เพราะมันต้องการความสงัด ต้องการความละเอียดอ่อน

เหมือนกับผู้ที่เขาออกสำรวจ เห็นไหม นักสำรวจออกสำรวจ อ่านแผนที่แล้วออกสำรวจ ทางโบราณคดี เวลาเขาขุดค้นไป เขาพยายามต้องค่อยๆ ขุดค้นนะ เพราะสิ่งนั้นมีคุณค่ากับเขามาก สิ่งที่เป็นกระเบื้องชิ้นหนึ่งก็แล้วแต่ อายุของมันเป็นพันๆ ปี เป็นล้านๆ ปี เขาต้องพยายามค่อยๆ รักษาสิ่งนี้ กลัวสิ่งนี้จะชำรุดทรุดโทรมไป นี่เวลาปัญญามันเกิด มันเกิดอย่างนั้นนะ มันแสวงหา มันคิดของมัน มันคิดพลิกแพลงของมัน

แต่ถ้าเป็นพ่อค้านะ พวกโจรพวกขโมยเขาจะไปลักของเก่าขาย เขาขุดของเขาโดยที่เขาไม่สนใจหรอก เขาต้องการสิ่งนี้เอาไปขายเป็นเงินเป็นทองของเขาเท่านั้น นี่เวลากิเลสมันพลิกแพลง ปัญญาของเรามันพลิกแพลงว่าปัญญาอย่างนี้ ใคร่ครวญอย่างนี้ ใคร่ครวญแล้วก็ปล่อย นี่มันเป็นขโมย มันเป็นโจร นี่กล่าวตู่ธรรม แล้วก็โกหกไง โกหกตัวเองว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันก็จะจมนอนเนื่องอย่างอย่างนั้น เวลามันติด มันติดอย่างอย่างนี้นะ

เวลาจิตเวลาที่มันออกวิปัสสนา เราเข้าใจว่าเป็นสภาวธรรม เราใช้สมถะขึ้นมาให้เกิดพลังขึ้นมา ให้กำลังขึ้นมา แล้วเราใช้ปัญญาของเรา คือเทคนิคการเล่นของกีฬาหรือใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ ถ้าเราทำด้วยความไม่รอบคอบ เราทำด้วยความของเราโดยใจของเราไม่รอบคอบ สิ่งนี้มันจะไม่ได้ประโยชน์ของเรา มันจะเป็นการติดข้องไปอย่างนั้น

ถ้าเราใช้ของเราด้วยความรอบคอบ เหมือนกับนักโบราญคดีเขาใคร่ครวญของเขา เขาพยายามรักษาของเขา เพราะเขาอ่านประวัติ เราอ่านประวัติ เราไม่กล่าวตู่ธรรมตั้งแต่ทีแรก เห็นไหม เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เวลามันละเอียดขนาดไหน เราก็ต้องใคร่ครวญของเรา มันจะให้เข้าใจแล้วว่าง ปล่อยแล้วว่าง ว่างขนาดไหน ถ้าว่างอย่างมันติด แล้วเวลามันเสื่อมขึ้นมานะ เราก็ต้องนับหนึ่งใหม่ นับหนึ่งใหม่ สิ่งนี้มันจะสอนตัวเองนะ

ถ้ามันหลง มันเข้าใจผิด มันหลงไป สิ่งอย่างนี้มันสุดวิสัย เพราะกิเลสมันมีอำนาจมากกว่า แต่ถ้าเราลังเลสงสัย เราตู่ของเรา สิ่งนี้ไม่ใช่หลง เป็นความเข้าใจผิดของเรา เราถึงต้องตั้งสติดีๆ ไง เราอย่าไปหลง สิ่งที่ถึงเป้าหมายมันจะมีสัจจะความจริง

วิปัสสนา เห็นไหม อสุภะ พิจารณาอสุภะ กำลังพอมันจะแปรสภาพของมันตลอดไป แล้วมันจะใกล้เข้ามา ดึงเข้ามา จนถึงเข้าถึงดวงใจ มันจะครืน! จากใจนะ วิปัสสนากาม สิ่งที่เป็นกาม มันเป็นกามได้อย่างไรถ้าใจมันไม่คิด ปฏิฆะ คือความพอใจของมัน สิ่งที่มันเป็นความพอใจของมัน สิ่งนี้มันมีอยู่ในหัวใจนะ มันเป็นเชื้อ มันเป็นเชื้ออยู่ในใจ มันถึงเป็นแม่ทัพที่ว่าขับไสให้จิตนี้เคลื่อนไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นสิ่งที่ว่าสัตว์โลกนี้เบื่อหน่ายมาก สิ่งนี้ไม่ควรมีกับเรา นี่ความหลง เราก็ไม่น่าหลง ความโลภ เราจะโลภไปไหน ปัจจัยเครื่องอาศัยเราก็มีอยู่แล้ว เราจะโลภไปหาสิ่งใด แต่มันก็โลภของมันนะ นี่ก็สะสม นั้นก็สะสม

สะสมไว้เป็นของเราหรือสะสมไว้เป็นของสงฆ์เป็นของหมู่คณะ นั้นถ้าเป็นธรรมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าว่าสะสม เราก็จับผิดเขาไปหมดล่ะ คนนั้นก็สะสม คนนี้ก็สะสม สะสมเพื่อใคร? สะสมเพื่อเราหรือ มันไม่ได้สะสมหรอก ผู้มีธรรมน่ะ เพราะอะไร เพราะเขารักองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ได้ลาภมหาศาลนักก็เจือจานกับหมู่คณะ กับสิ่งนั้นเป็นไป

การสะสมจากภายนอก มันคิดนะ กิเลสมันพลิกไปได้ตลอด ถ้ามันเป็นสะสมอย่างนั้น มันเป็นสะสมของเรื่องกิเลส แต่ถ้าของเราล่ะ เราพิจารณาของเรา พิจารณาเข้ามา ปัญญามันใคร่ครวญเข้ามา ใคร่ครวญเข้ามา จนถึงไง ปฏิฆะ เกิดความคิดความพอใจ กามราคะมันก็ตามมา ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เกิดตรงนี้ไง เพราะมันขัดใจมันถึงโกรธมาก แต่ถ้ามันได้มันก็หลงไป มันเกิดจากอะไร? เกิดจากขันธ์อันละเอียด มันวิปัสสนาใคร่ครวญไป ถึงที่สุด มันครืนเหมือนกัน ปล่อยวางเหมือนกัน สัจจะตามข้อเท็จจริงต้องปล่อยวางสิ่งนี้เป็นตามความเป็นจริง นี่ฝึกซ้อมสิ่งนี้เข้าไปมันจะปล่อยวางเข้ามา จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ข้ามพ้นกิเลส นี่มันผ่องใสมาตลอด ผ่องใสๆ มา

เวลาผู้ที่พูดเปรียบเทียบธรรมไง ถ้านิพพานคือเกาะคือดอน จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ข้ามพ้นกิเลส ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ถ้าว่านิพพานเป็นเกาะเป็นดอน ก็มันผ่องใสไง เพราะมีตัวจิตไง...นี่กล่าวตู่ธรรมอันละเอียดมากนะ

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เพราะข้ามพ้นกิเลสแล้ว มันก็ต้องไม่มีเกาะไม่มีดอนสิ ถ้ามันมีเกาะมีดอน นี่แสดงว่าติดไง ติดในธรรมอันละเอียดนั้น ถ้าติดในธรรมอันละเอียดนั้น มันก็ทำให้จิตนี้ต้องเกิดบนพรหมแน่นอน ถ้าไม่เกิดบนพรหมมันต้องย้อนกลับสิ ย้อนกลับเข้ามาดูใจดวงนี้ ถ้าใจดวงนี้ย้อนกลับขึ้นมา นี่มันเป็นความมหัศจรรย์นะ ระหว่างขันธ์กับจิต เรายังค้นคว้าแทบเป็นแทบตายกว่าเราจะก้าวเดินขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน แต่ถึงที่สุดถ้าไปเจอตัวของจิตนะ จิตมันต้องรู้ตัวมันเอง สภาวะสิ่งที่มันเห็นตัวมันเอง ถ้าเห็นสภาวะสิ่งนี้ มันจะตื่นเต้นมาก

ความค้นคว้า การค้นคว้าหา นักโบราญคดีเขารู้ว่าที่ตรงไหน เขามีสิ่งที่ว่ามีคุณมีของมีค่าอยู่ เขาพยายามรักษา พยายามค้นคว้า พยายามรักษาสิ่งนั้นเพราะกลัวสิ่งนั้นมันจะเสียหายไป นี้ก็เหมือนกัน ถ้าไปเจอสิ่งนี้ สิ่งนี้เราเข้ามาเจอตัวเราเอง นี่คือตัวอวิชชา สิ่งนี้คือตัวอวิชชา แล้วมันก็พาตู่ธรรมมา กล่าวตู่ธรรมตั้งแต่ภายนอก เพราะมันเป็นอวิชชา กล่าวตู่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะสะดวกอยากจะสบาย ปฏิเสธสิ่งที่จะเป็นคุณประโยชน์กับเป็นธรรมทั้งหมด แล้วก็ไปยึดสิ่งที่เป็นโทษทั้งหมด แล้วก็ทำให้ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งหมด ประพฤติปฏิบัติเข้าจนมาถึงตัวมันเอง เห็นไหม มันก็มาตู่ตัวมันเองอยู่ข้างใน

นี่ถ้าย้อนกลับเข้ามา พอจับสิ่งนี้ได้ เป็นความมหัศจรรย์ของใจดวงนั้น เพราะใจดวงนั้นเจอตัวพญามาร สิ่งที่พญามารนั้นครอบคลุมจิตดวงนี้ แล้วพาจิตดวงนี้ตายเกิดตายเกิดในวัฏฏะมาตลอด แล้วเราเข้าไปรื้อค้นเข้าไปถึงตัวของพญามาร เห็นไหม โปรแกรมในชีวิตของจิตดวงนี้ เพราะอันนี้มันเป็นตัวโปรแกรม แล้วมันทำให้จิตดวงนี้ต้องออกไปตามอำนาจของกรรม

ถ้าสร้างคุณงามความดีมาขนาดนี้ พิจารณาจนปล่อยวางขันธ์ออกมาทั้งหมดขนาดนี้ เกิดก็ต้องไปเกิดบนพรหม เพราะมันมีโปรแกรมของมันอยู่ มันยังไม่ได้ทำลายสิ่งนี้หมด แล้วถ้าเราจับตรงนี้ได้ แล้วเราพลิกตัวนี้ออก นี่สิ้นกระบวนการทั้งหมด “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” สิ่งที่ข้ามพ้นกิเลส แม่น้ำแต่ละสาย ที่ไหลลงสู่ทะเล แม่น้ำแต่ละสาย ชื่อของมันมีทุกสาย พอลงไปในทะเลไปแล้วไม่มีชื่อ

เห็นไหม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” พอข้ามพ้นกิเลสไปแล้วมันไม่มีชื่อ ไม่มีเกาะไม่มีดอน ไม่มีสิ่งใดเป็นสมมุติที่ออกมาพูดกันได้ เพียงแต่ครูบาอาจารย์ผู้ที่มีธรรมพยายามจะอธิบายว่าสิ่งนี้มีอยู่ มีอยู่เพราะอะไร เพราะจิตดวงที่พ้นจากกิเลสนั้นมันยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ สิ่งที่ดำรงธาตุขันธ์อยู่ มันเป็นวัตถุที่เราเห็นได้เลย เพราะความรู้สึกของใจดวงนั้นอยู่ในร่างกายของครูบาอาจารย์นั้น นี่สิ่งนี้มีอยู่ ถ้าไม่มีอยู่ สิ่งใดเป็นผู้ที่พูดออกมา กิริยาเคลื่อนไหวออกมา เพราะร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้หรอก มันต้องเคลื่อนไหวออกมาจากตัวพลังงานตัวจิตดวงนั้นทำให้มันเคลื่อนไหว

ถึงบอกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานคือฆ่ากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธบอกไว้ในพระไตรปิฎก ทานที่มีอยู่ ๒ คราวที่มีคุณมากในศาสนาพุทธนี้ ทานครั้งหนึ่งคือทานของนางสุชาดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วถึงซึ่งกิเลสนิพพาน แล้วฉันอาหารของนายจุนทะ ถึงซึ่งขันธนิพพาน

“ขันธ์” ขันธ์อันที่ว่าสะอาดๆ นี้มันเป็นเรื่องผลของวัฏฏะ ผลของการเกิดในมนุษย์ สุดท้ายแล้วต้องคืนสู่ธรรมชาติของเขา ผลอันนี้ต้องทิ้งไว้กับโลกนี้ แต่ใจดวงนี้จะไม่ต้องไปเกิดอีก เห็นไหม พ่อแม่กับลูกมีกรรมร่วมกันมา จะต้องมีผลของกรรมนี้สืบต่อกันไป แต่ขณะที่ว่าทิ้งธาตุขันธ์นี้ คือทิ้งสิ่งที่ว่า สิ่งเกาะเกี่ยวทั้งหลายทั้งปวงสิ่งนี้จะทิ้งไว้กับโลก ใจดวงนี้จะพ้นออกไปจากกิเลส ใจดวงนี้จะไม่เวียนตายเวียนเกิด

สภาวธรรมที่ความเป็นจริง สิ่งนี้เป็นผลไง แล้วจะไม่ตู่เพราะมันเป็นความจริง ไม่ตู่ธรรม ไม่กล่าวตู่แม้แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ไม่ตู่ธรรมที่ประพฤติปฏิบัติด้วยตัวเองไง ตัวเองประพฤติปฏิบัติมาแล้วก็ตู่ธรรมไปเรื่อย สุดท้ายแล้วถ้าเชื่อมั่นก็โกหกตัวเอง ตู่จนโกหก แล้วก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าเราพลิกขึ้นมาด้วยปัญญาของเรา เราจะประสบความสำเร็จ ประสบผลของการประพฤติปฏิบัติของเราเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนถ้ามีอำนาจวาสนาจะถึงที่สุดในการประพฤติปฏิบัติ แล้วจะไม่เกิดในโลกนี้อีก เอวัง