ผลสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “การปฏิบัติครับ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมสงสัยเรื่องการทำสมาธิครับ ผมนอนสมาธิครับ ผมเป็นคนขี้เกียจ ผมได้นอนสมาธิ ผมภาวนาพุทโธ ลมหายใจเข้าออกครับ ผมภาวนาได้สักพักเริ่มไม่มีความรู้สึกรับรู้ร่างกายครับ เหมือนร่างกายจะหายไป แต่เสียงได้ยินนะครับ ได้ยินเสียงและความคิดครับ ถึงตรงนี้ผมเลยออกสมาธิ ผมกลัวว่าจะปฏิบัติผิดไป ผมรู้สึกสติไม่ค่อยอยู่กับตัว ผมเลยออกสมาธิมาถามหลวงพ่อก่อนครับ
ตอบ : นี่การนั่งสมาธิ เห็นไหม การนั่งสมาธิ การทำความสงบของใจ ถ้าการทำความสงบของใจ ถ้าพูดถึงว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ก็ใช่ ถ้าจะบอกว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ก็ใช่
ถ้าเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ เพราะอะไร เพราะสมาธิมันเกิดจากไหนล่ะ ขอนไม้หรือแร่ธาตุต่างๆ มันทำสมาธิไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีธาตุรู้ มันไม่มีความรู้สึก มันเป็นสมาธิได้อย่างไร เขาบอกเลยนะ ก้อนหินก็มีสมาธิ ทุกอย่างก็มีสมาธิ
โอ๋ย! มันจะเพี้ยนไปแล้วแหละ มันไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ มันมีสมาธิได้อย่างไร อ้าว! สมาธิมันก็เกิดจากจิต ถ้าสมาธิมันเกิดจากจิต โดยพื้นฐานว่าสมาธิเป็นเรื่องพื้นฐานก็ใช่ ก็ใช่เพราะอะไร เพราะจิตใจของคนเดี๋ยวมันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันทุกข์ยาก ถ้ามันมีสมาธิ มันสงบระงับ มันก็เกิดจากจิต มันก็เป็นเรื่องพื้นฐานของจิตนี่แหละ ถ้าเป็นพื้นฐานของจิตแล้ว แล้วถ้ามันเป็นเรื่องความมหัศจรรย์ล่ะ
ถ้าเป็นความมหัศจรรย์ก็ใช่ ความมหัศจรรย์ก็ใช่เพราะอะไร ความมหัศจรรย์ก็ใช่เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอจินไตย ๔ พุทธวิสัยเป็นอจินไตย คือปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย เรื่องโลกเป็นเรื่องอจินไตย เรื่องโลกเพราะมันแปรสภาพของมัน มันเป็นอจินไตย แล้วก็เรื่องกรรม กรรมเป็นอจินไตย สุดท้ายอจินไตยที่ ๔ คือฌานไง เรื่องสมาธิ อจินไตย ๔ โลก พุทธวิสัย กรรม โลก ฌาน อจินไตย ๔
คำว่า “อจินไตย ๔” ฌาน ถ้าฌานมันก็เป็นฌานใช่ไหม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเรื่องสมาธิ ถ้าเราทำสมาธิ เราไม่ทำฌาน เพราะฌานก็คือฌาน ฌานมันเป็นพื้นฐาน คำว่า “พื้นฐานของจิต” เพราะจิตของคนถ้ามันฟุ้งซ่าน คนมันทุกข์มันยาก มันเครียดของมัน นี่มันเสวยอารมณ์ มันทุกข์ยากของมัน ถ้ามันปล่อยวางๆ ปล่อยวางเป็นสมาธิไหม
นี่เพราะเป็นพื้นฐาน ปล่อยวาง ปล่อยวางเป็นสมาธิไหม พอเป็นสมาธิ แต่มันยังไม่มีครูบาอาจารย์ คือไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะยังไม่เกิดใช่ไหม คนเราก็ทำฌานสมาบัติกัน ฌานสมาบัติมันมีมาก่อนไง ฤๅษีชีไพร อภิญญา โลกียปัญญา เรื่องโลก เพราะโลก โลกคืออะไร โลกคือหมู่สัตว์ เพราะอะไร เพราะคนเกิดไง ปฏิสนธิจิต โลกทัศน์โลกหนึ่ง บุคคลคนหนึ่งก็โลกหนึ่ง จักรวาลหนึ่ง ถ้ามีจิตหนึ่ง จิตหนึ่งมันก็เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะหนึ่ง จิตมันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ จิตหนึ่งมันก็โลกหนึ่ง โลกหนึ่ง สิ่งที่เป็นโลกหนึ่ง ถ้าโลกหนึ่งถ้ามันสงบระงับเข้ามาล่ะ มันสงบระงับเข้ามามันก็เป็นเรื่องโลกๆ
โลกหนึ่ง จิตนี้เป็นโลกทัศน์ จิตนี้เป็นภวาสวะ จิตนี้เป็นภพ มันเวียนว่ายตายเกิดตามภพ บุญกุศลทำสิ่งใดมา เราเกิดมาเป็นคนที่ดีมันก็ผ่อนคลาย มันก็ไม่ตึงเครียด มันก็สงบระงับเข้ามา นี่มันเป็นพื้นฐานของจิตไง
สมาธิว่าเป็นพื้นฐานของจิต ไอ้เรื่องความสงบระงับ เรื่องความฟุ้งซ่านมันเป็นพื้นฐานของโลกก็ใช่ แต่ถ้ามันเป็นความมหัศจรรย์ก็ใช่ ก็ใช่เพราะเป็นอจินไตย เพราะมันแตกต่างหลากหลาย มันลึกลับมาก มันทำได้มาก แล้วใครเอากระบวนการของมันมาเรียงไว้ วางเป็นธรรมและวินัยไว้ให้เราปฏิบัติล่ะ ใครเป็นคนวางไว้ล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา สัมมาสมาธิ ใครเป็นคนเอามาเรียงลำดับวางไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติล่ะ ก็องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นผู้ทดสอบ ไปเข้าฌานสมาบัติกับอาฬารดาบส อุทกดาบสมาแล้ว สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ก็เข้ามาแล้ว ทำทุกอย่างมาแล้ว แล้วก็จบ แล้วก็มีคนถามนะ เขาถามเหมือนกันบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีศีล ฌาน ปัญญา เขาบอกอย่างนั้นพระพุทธเจ้ามาเข้าฌานทำไม อ้าว! เข้าฌานทำไม
ก็บอกมันเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องพื้นฐานของโลก พวกเจ้าลัทธิต่างๆ เขาทำของเขาเป็นพื้นฐาน พอเป็นพื้นฐานของเขา มันเป็นพื้นฐานของโลก เป็นพื้นฐานของจิต พื้นฐานของจิต ฤๅษีชีไพร พอเขาทำสิ่งนั้นได้แล้วเขาว่าสิ่งนั้นเป็นสมบัติของเขา เขายึดติดของเขา อภิญญา ๖ ใครรู้สิ่งใดก็หลงตัวเองว่าเป็นผู้วิเศษ หลงตัวเองว่าเป็นศาสดา เพราะเขาทำสิ่งนั้นได้ แต่เพราะว่าเขาไม่มีมรรค คือเขาไม่ใช่พระพุทธศาสนา เขาไม่ใช่พุทธศาสน์ เขาไม่มีมรรค พอไม่มีมรรคปั๊บ เขาก็ไม่ได้แก้กิเลสของเขา ถ้าไม่ได้แก้กิเลสของเขา
นี่มันเป็นพื้นฐาน เพราะจิตของเขา เขาฝึกหัด เขาทำอย่างนั้นได้ เขาเข้าฌานสมาบัติได้ เขามีอภิญญา ๖ ได้ แต่เขามีกิเลส พอเขามีกิเลสขึ้นมามันก็เสื่อม เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เขาต้องรักษาของเขาด้วยความทุกข์ความยากของเขา
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ้นกิเลส สิ้นกิเลสสิ้นอวิชชา สิ้นอวิชชาความไม่รู้ในใจ พอสิ้นกิเลสความไม่รู้ในใจ มันเป็นเรื่องธรรมธาตุ เรื่องสัจธรรม นี่ต่างอันต่างจริง จิตก็เป็นจริงของจิต ธรรมก็เป็นจริงของธรรม ธรรมธาตุก็เป็นจริงของธรรมธาตุ ความจริงมันก็เป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกาะเกี่ยว ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลย ทีนี้ไม่เกาะเกี่ยว ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลยถึงเหนือโลก ถึงเป็นศาสดาสั่งสอน ๓ โลกธาตุ
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ นี่เข้าฌานสมาบัติ แล้วขึ้นลงๆ แล้วมาอยู่ระหว่าง รูปฌาน อรูปฌาน มาอยู่ระหว่างปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ มาอยู่ระหว่างกลาง แล้วนิพพานตรงนี้
แล้วเขาบอกว่า พระพุทธเจ้าทำทำไม พระพุทธเจ้าทำทำไม ในเมื่อเป็นฌานสมาบัติ มันไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
เราบอกว่าเป็นพื้นฐานใช่ไหม มันเป็นพื้นฐานของโลก เป็นพื้นฐานของจิตใช่ไหม พอพื้นฐานของโลก ใครก็รู้ได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ พระอรหันต์นั่งล้อมรอบเลย จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าฌานสมาบัติอยู่ จนพระอานนท์ถามขึ้นมาไง ถามขึ้นมาว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วไม่ใช่หรือ ปรินิพพานหรือยัง นอนนิ่งอยู่นี่
พระอนุรุทธะเป็นเอตทัคคะทางรู้วาระจิตบอกว่า ยัง ตอนนี้กำลังเข้าฌานสมาบัติ อย่างที่ว่านี่ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ระหว่าง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานตรงนั้น บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานแล้ว จบแล้ว
นี่พูดถึงถ้าฌานสมาบัติมันไม่มีประโยชน์ มันไม่มีสิ่งใด แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเข้าทำไม
มาเข้าเพื่อให้เห็นว่าโลกเขารู้ได้ คือว่าให้เห็นว่า สิ่งที่ธรรมธาตุในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีไง มันมี แบบว่าพระอนุรุทธะรู้เห็นไง แล้วเวลาพูดถึงฌานสมาบัติ พวกฤๅษีชีไพร พวกเจ้าลัทธิต่างๆ เขารู้ได้ไง เพราะเขาก็ทำได้ แต่เขาทำแล้วเขามีกิเลสไง เขามีกิเลสคือว่าใจของเขาเป็นอันหนึ่ง เขามีกิเลสในใจของเขา แต่เขาไปเข้าฌานสมาบัติ แล้วเอาฌานสมาบัตินั้นเป็นสมบัติ นี่เป็นอภิญญา เป็นสิ่งที่รู้ เขาไปยึดของเขาไง เขามีสมบัติ เขายึดว่ามันเป็นสมบัติของเขา เป็นความจริงของเขา แต่มันไม่เป็น เพราะมันเจริญแล้วเสื่อม
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เข้ามาพิจารณาจบสิ้น อาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชาหมดแล้ว มันเป็นจริงตามของมันเป็นอย่างนั้นน่ะ แบบวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีวิทยาศาสตร์มันก็เป็นจริงของมันอย่างนั้นใช่ไหม ถ้าเราพิสูจน์ เราตรวจสอบ เราวิจัย เราก็ทำอย่างนั้นขึ้นมามันก็เป็นพวกสารเคมี สสารที่เราพิสูจน์ขึ้นมา มันก็แปรสภาพของมันไปอย่างนั้นถูกต้องไหม มันก็ถูกต้อง นี่มันมีของมันอย่างนั้นไง แต่มันมีอยู่อย่างนั้นแล้วใครเป็นเจ้าของมันล่ะ
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเข้าฌานสมาบัติให้เห็นว่าผู้เข้ามีไง ผู้เข้า ผู้ทำให้เห็นมีไง ผู้จะปรินิพพานอยู่เดี๋ยวนี้มีไง แล้วปรินิพพานท่ามกลางระหว่างรูปฌาน อรูปฌานนี่ไง นี่จบสิ้นไป
นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเข้าฌานสมาบัติ เขาบอกว่า ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ศีล ฌาน ปัญญา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเข้าทำไม
บอกว่า มันเป็นของโลก เป็นเรื่องพื้นฐานของโลก พื้นฐานที่โลกเขาเข้าใจได้ เหมือนกับวิทยาศาสตร์ นักศึกษามาเรียนเอกวิทย์นี่รู้หมด ถ้าเรียนเอกวิทย์มันก็เรียนสายวิทย์ มันก็เข้าใจเรื่องนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เอ็งทำประโยชน์ส่วนตนเอ็งได้หรือยังล่ะ เอ็งเอาสิ่งที่เอ็งเรียนรู้มาสร้างประโยชน์ให้เป็นประโยชน์กับเอ็งได้หรือยังล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน พูดถึงว่าพื้นฐาน คำว่า “พื้นฐาน” ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเป็นพื้นฐานแล้ว เวลาเราทำสมาธิ เวลาเราเข้าสมาธิ เราเข้าสมาธิกันเพื่ออะไร
ถ้าเราไม่เข้าสมาธินะ โดยสามัญสำนึก โดยปุถุชน ความรู้สึกนึกคิดของเราเป็นแบบนี้ แล้วเราไปตรึกในธรรม เวลาคนตรึกในธรรม พอตรึกในธรรม ตรึกในธรรมคือศึกษาธรรมนี่แหละ พอศึกษาธรรมแล้วเราไปซาบซึ้งในธรรมะ มันก็สังเวช มันก็ปล่อยวาง พอมันปล่อยวางขึ้นมานี่ “โอ๋ย! บรรลุธรรม โอ๋ย! สิ้นกิเลส โอ้โฮ!” มันว่าของมันไปโดยจินตนาการ นี่ไง โดยจินตนาการ
พอจินตนาการ พอเข้าใจมันก็ซาบซึ้ง พอไปกระทบไง พอออกไปแล้วไปกระทบ ไปรับรู้สิ่งใดหรือไปโดนสิ่งใดกระทบกระเทือนหัวใจ ไอ้ธรรมะที่มีอยู่ในใจหายเกลี้ยงเลย ทุกข์อีกแล้ว ไปแบกหามอีกแล้ว อ้าว! ก็ไหนว่าเมื่อกี้ว่าตรึกมันสังเวชแล้ว ทำไมมันเป็นอีกล่ะ นี่ไง มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าวัฏฏะ คือว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง มันไม่มีอะไรคงที่ไง
แต่ถ้ามันจะเป็นคงที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนตรงนี้ไง สอนว่าให้ทำสมาธิก่อน ให้พุทโธ พุทธานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจมันสงบแล้วนี่จิตจริง เพราะสมาธิ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิจริง จิตมันก็จริงของมัน จริงตรงไหน
เพราะถ้าเป็นสมาธิได้ มันมีคำบริกรรมจนมันละวาง ละวางรูป รส กลิ่น เสียง บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร มันละวางสิ่งนั้นเข้ามา ใครเป็นคนละวาง ตัณหาความทะยานอยาก ความอยากรู้อยากเห็นมันละวาง มันละวางความอยากรู้อยากเห็น ความยึดมั่นว่าเรารู้ เราเก่ง เราดี เราเป็น มันละวาง พอละวางขึ้นมามันก็สงบ สงบมันก็จิตจริงๆ จิตเพียวๆ ไม่มีตัณหาความทะยานอยากมาคอยกระตุ้น ถ้าไม่มีตัณหาความทะยานอยาก เหตุผลของสมาธิอยู่ตรงนี้
พอมันเป็นสมาธิขึ้นมา เพราะอะไร เพราะมันละวางตัณหาความทะยานอยากที่ไปรับรู้เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง เรื่องรูป เรื่องรส มันอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากดี อยากใหญ่ พอมันละมามันก็เป็นอิสรภาพ มันก็เป็นอิสระของตัวมันเอง แล้วตัวมันเอง นี่คือตัวสมาธิ พอเป็นสมาธิแล้วมันไม่มีตัณหาความทะยานอยากที่กระตุ้นให้รับรู้ต่างๆ ทีนี้พอมันเป็นสมาธิแล้วมันก็เป็นสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ สมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาไม่ได้ สมาธิต้องฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วปัญญาเกิดอย่างไรล่ะ
ปัญญาเกิดตรงนี้ เห็นไหม ที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิให้จิตสงบเข้ามาๆ จิตสงบเข้ามาแล้ว จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตมันถึงจะเป็นมรรค มรรคที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณคือมรรค
บุพเพนิวาสานุสติญาณ นี้คืออำนาจวาสนาบารมี นี้คือกำลังของสมาธิ จุตูปปาตญาณ สมาธิที่มันลึกขึ้นไป ข้อมูลที่มันเป็นไป นั่นก็เป็นผลของกำลังของใจ แต่เวลาอาสวักขยญาณนั่นน่ะคือมรรค มรรคที่มันเกิดขึ้นมา ถ้ามันชำระล้างอย่างนั้น สิ่งนั้นย้อนกลับมาๆ
ฉะนั้น เราทำสมาธิแล้ว สมาธิก็เป็นสมาธิ ก็กำลังของจิตไง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ ที่มันรู้ของมัน มันมีกำลังของมัน รู้ของมัน สมาธิก็เหมือนกัน ถ้ากำหนดเข้ามามันก็เข้าเป็นตัวตนของมัน มันไม่มีตัณหา ไม่มีแรงกระตุ้น มันก็เป็นสมาธิของมัน สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มรรคก็ไม่มี
ศึกษาธรรมมาขนาดไหน รับรู้มาขนาดไหน รูป รส กลิ่น เสียง ตัณหาความทะยานอยากมันกระตุ้น แล้วไปศึกษาธรรมะมันก็กระตุ้น อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น มันก็กระตุ้นของมัน ถ้ามันเป็นสมาธิมันปล่อยวางตรงนั้นเข้ามา พอปล่อยวางเข้ามามันไม่เป็นปัญญา เพราะมันคนละมิติกัน มิติของโลก มิติของธรรม โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา
ถ้าโลกุตตรปัญญา จิตสงบไปแล้ว จิตจริง ถ้ามันน้อมไป รำพึงไป ถ้ามันมีอำนาจวาสนามันจะเห็นอริยสัจ เห็นอริยสัจคือว่าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่เริ่มต้นวิปัสสนาตรงนั้น ถ้าเริ่มต้นวิปัสสนาตรงนั้น มันเข้าไปแยกแยะตรงนั้น นี่ไง ถ้ามันเข้าไปแยกแยะตรงนั้น เห็นไหม นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญามันเกิดตรงนั้น
แล้วภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ไม่ใช่จินตนาการ ไม่ใช่สุตมยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาจากสมอง ไม่ใช่ปัญญาจากโลก ไม่ใช่ปัญญาของพระพุทธเจ้ายื่นให้ ไม่ใช่ปัญญาของครูบาอาจารย์ยื่นให้
ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ แต่เราฟังเทศน์ของท่าน แล้วเราเอาสติปัญญานั้นมาควบคุมใจของตัวจนใจมันสงบเข้ามา พอใจสงบ ใจมันทำของมันเอง เหมือนต้นไม้ ต้นไม้มันจะแตกกิ่งก้านสาขา มันจะแตกกิ่งก้านสาขาจากต้นของมัน ต้นไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ดอกไม้มันเกิดจากลำต้นนั้น ถ้าลำต้นนั้นมันเจริญเติบโตขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ภวาสวะคือตัวภพ ภวาสวะคือตัวตนของจิต ปฏิสนธิวิญญาณ ถ้า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺาณํ มันเกิดวิชชา
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชามันถึงเคลื่อนออกไปเป็นทุกข์ ถ้าเป็นวิชชาล่ะ วิชชามันเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคขึ้นมามันจะแยกแยะของมันเข้ามา ถ้าแยกแยะของมัน มันก็ต้นไม้นั้น ต้นไม้ นี่ไง มันแตก พอแตกกิ่งก้าน เห็นไหม สติชอบ สมาธิชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรมมันเกิดขึ้นของมัน จักรมันเคลื่อน จักรมันหมุน ปัญญามันหมุน ภาวนามยปัญญามันหมุน ถ้าหมุนเข้ามา มันเข้ามาชำระล้างอย่างนี้ เพราะมันต้องมีสมาธิไง ถ้าไม่มีสมาธิ มันไม่เข้าถึงต้นของจิต ถ้าไม่เข้าสมาธิ มันไม่เข้าถึงตัวตนของมัน ถ้าไม่เข้าสมาธิ มันแก้ไขมันไม่ได้ ฉะนั้น ถึงต้องมีสมาธิไง
เขาว่า ทำไมต้องทำสมาธิไง
นี่พูดถึงสมาธินะ นี่พูดถึงสมาธิที่เป็นพื้นฐาน ถ้าบอกเป็นพื้นฐานของจิตก็ได้ แต่ถ้ามันเป็นความมหัศจรรย์ล่ะ ถ้ามันเป็นความมหัศจรรย์ เห็นไหม ดูสิ สติ มหาสติ ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิแบบตั้งแต่บุคคล ๔ คู่ สมาธิของพระโสดาบัน สมาธิของพระสกิทาคามี สมาธิของพระอนาคามี สมาธิของอรหัตตมรรค แล้วถ้ามันสิ้นกระบวนการไปแล้วมันพ้นไปอย่างไร
นี่ไง ให้เห็นว่า ถ้าไม่พูดอย่างนี้ เวลาคนในปัจจุบันนี้ทุกคนมาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างสูงสุดเป็นสมถะ อย่างสูงสุดมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิไง แต่ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความหลงผิดไปไง มาตรึกในธรรมกันแล้วก็บอกว่า อู๋ย! บรรลุธรรม อู๋ย! มันขบธรรม อู๋ย! มันแตก อู๋ย! มัน โอ๋ย!
เพราะว่าสมาธิมันเป็นสามัญสำนึก เป็นพื้นฐานของโลก และสมาธิเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ของโลก มหัศจรรย์ของโลกมันจะเป็นพื้นฐานของมัน นี้พูดถึงเคลียร์พื้นฐานตรงนี้เพื่อจะไม่ให้เห็นว่า เอ๊ะ! ทำไมเดี๋ยวหลวงพ่อก็ว่าถูก เดี๋ยวทำไมหลวงพ่อก็ว่าผิด เวลาใครมาก็บอกว่า โอ๋ย! มันถูกต้องดีงามไปหมด แล้วพอเดี๋ยวมา หลวงพ่อใส่เขาเละไปเลย
ถูกต้องดีงามหมายความว่า คนเรานี่นะ ฝึกหัดเดิน ฝึกหัดเคลื่อนไหว ฝึกหัด ถ้าเขาได้ขยับออกมาจากพื้นฐาน จากจุดเดิมของเขา นั่นถูกแล้วล่ะ ถ้าเราไม่ฝึกหัดเดิน เราไม่ขยับเลย เราจะเดินได้ไหม ถ้าเราจะฝึกหัดทำงาน เราไม่ขยับการทำงานเลย เราฝึกหัดงานได้ไหม เราก็ต้องฝึกหัดใช่ไหม แต่พอเราฝึกหัด พอทำงานแล้วมันผิด มันผิดหมายความว่า มันไม่พัฒนาของมัน มันไม่ก้าวหน้าของมัน
ฝึกหัดเดิน เวลาไม่ทำอะไรก็อยู่กับที่ เวลาขยับหน่อยก็ขยับอยู่อย่างนั้นน่ะ เวลาขยับหน่อยก็ขยับอยู่อย่างนั้นน่ะ ขยับแล้วทำไมไม่ก้าวเดินต่อไปล่ะ ถ้ามันก้าวเดินไปมันก็ถูกใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนทำงานมันก็เป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น การภาวนามันถึงขยับเคลื่อนขึ้นไป
ฉะนั้น กลับมาที่ว่าคำถาม “หลวงพ่อครับ ผมสงสัยเรื่องการทำสมาธิครับ เพราะผมนอนทำสมาธิ”
ฉะนั้น การว่านอนทำสมาธินี่นะ การทำสมาธิมันมีอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน นั่งก็ทำสมาธิได้ เดินก็ทำสมาธิได้ ยืนก็ทำสมาธิได้ นอนก็ทำสมาธิได้ แต่นอนแล้วมันหลับ นอนแล้วมันขี้เกียจ แต่ถ้าคนจริตนิสัยของเขานะ เขานอนทำสมาธิได้ นอนแล้วมันไม่หลับ ลงสมาธิไป
หลับกับสมาธิไม่เหมือนกัน หลับคือมันขาดสติมันถึงหลับ สติมันหายไป มันหลับไป แต่ถ้าคนมีสติชัดเจนไม่มีวันหลับ ถ้าไม่มีวันหลับ แล้วลงสมาธิล่ะ ลงสมาธิมันพักผ่อนดีกว่าหลับอีก ดีกว่าการนอนหลับ
ฉะนั้น เวลานอนสมาธิ ถ้ามันนอนสมาธิได้ มันก็ทำได้ แต่ถ้านอนสมาธิไม่ได้ หมายความว่า เวลานอนแล้วพอมันสะดวกมันสบายขึ้นไปแล้วสติมันก็ผ่อนคลาย พอผ่อนคลายแล้วมันก็หายไปเลย มันก็หลับไป ถ้ามันหลับไป ถ้ามันไม่หลับมันก็เป็นอย่างนี้ เห็นไหม ไม่หลับมันก็มีอาการแล้ว มีอาการรับรู้ไป
“ผมเป็นคนขี้เกียจครับ ผมได้นอนสมาธิ ผมภาวนาพุทโธไป ลมหายใจเข้าออก ภาวนาอีกสักพักมีความรู้สึกรับรู้ร่างกายครับ เหมือนร่างกายจะหายไป ไม่มีความรู้สึกรับรู้ในร่างกาย”
ไม่มีความรู้สึกรับรู้ร่างกายนี่จิตมันเด่น แล้วจิตมันเด่นนะ เพราะการทำสมาธิ เห็นไหม คำว่า “สมาธิเป็นพื้นฐานก็ได้ สมาธิเป็นความมหัศจรรย์ก็ได้” ถ้าสมาธิเป็นพื้นฐาน โดยพื้นฐานโดยทั่วไป ดูสิ ชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม นี่ก็เหมือนกัน จิตส่วนใหญ่ที่เวียนว่ายตายเกิดมันเป็นจิตชั้นกลางๆ มันก็ทำสมาธิได้อย่างนี้
แต่ถ้าเวลาคนเกิดมา คนที่มีอำนาจวาสนาเกิดมานะ เกิดมาจะเป็นผู้นำ เกิดมาจะเป็นรัฐบุรุษ การเกิดของเขามันจะมีสิ่งบอกเหตุ การเกิดของเขาจะมีความมหัศจรรย์ นี่ก็เหมือนกัน คนที่จิตมันสูงส่ง เวลาเกิดขึ้นมาแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเกิดขึ้นมาเดินได้ ๗ ก้าว เปล่งวาจาได้ คนเกิดมาพูดได้เลย “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” ก็แค่นั้น พูดแค่นั้นน่ะ แล้วต่อไปพ่อแม่ก็เลี้ยงดูมาเหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าโดยธรรมชาติ เวลาชนชั้นกลาง เรื่องของสมาธิ มันก็สงบไปโดยธรรมดาของมัน โดยความเป็นปกติของจิต จิตมันก็เป็นอย่างนั้น คนที่แบบว่าเกิดมาแล้ว เกิดมาเป็นผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ว่ามันมีความทุกข์ความยากขึ้นมา ภาวนาก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ถ้าเป็นรัฐบุรุษ คนที่เกิดมามีอำนาจวาสนา เด็กๆ มีหลายคนมาก บอกเด็กๆ เขาอยู่เฉยๆ จิตเขาจะลง เป็นเด็กๆ นี่นะ เด็กๆ บางคนเกิดขึ้นมาไม่ยอมทำสิ่งผิดกฎหมายเลย เด็กบางคนนะ ไม่ยอมเล่นอะไรที่มันเป็นเรื่องที่เด็กๆ เล่นกันเลย เขาจะเล่นแต่สิ่งที่ว่าเป็นวาสนาของเขา เวลาพอถ้าเขามาทำสมาธิ พอเขาทำสมาธิ พอจิตเขาจะลง เขาว่ามันใหญ่ อำนาจวาสนามันใหญ่ มันจะรับรู้อะไรแปลกๆ
จิตมันลงแล้ว อย่างหลวงปู่มั่น ถ้าจิตท่านเป็นสมาธิปั๊บ ถ้ากำหนดขึ้นนะ เห็นตัวเองไปเดินจงกรมอยู่บนก้อนเมฆ พอดึงจิตกลับมามันก็ลงบาดาลไปเลย ลงนรกเลย แล้วดึงอย่างไรล่ะ
นี่ไง ที่ว่าโดยพื้นฐานโดยปกติก็มี โดยความมหัศจรรย์ จิตที่เป็นมหัศจรรย์ก็มี ถ้าจิตที่มหัศจรรย์ กรณีอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่จะเป็นอย่างนี้ได้มันต้องมีที่มาที่ไป มันไม่มีอะไรหรอก เห็นไหม พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนว่าลอยมาจากฟ้า สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่เป็นจริตเป็นนิสัย เป็นอะไรของคน มันเกิดจากพันธุกรรมของจิตที่มันได้ตัดแต่ง ตัดแต่งคือการเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติ มันจะตัดแต่งของมัน เกิดมาชาตินี้เป็นคนดี เกิดมาในสังคมที่ดี จิตใจมันก็ฝังแต่คุณงามความดีไป พอเกิดชาติต่อไปมันก็พัฒนาของมันไปเรื่อย ตัดแต่งของมันไปเรื่อย
พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การเวียนว่ายตายเกิดมันสร้างสมสร้างภพมา เวลาพอบารมีมันใหญ่ เวลาเกิดมา ดูสิ ขนาดนั่ง เวลามันเป็นของมันไป นี่สมาธิที่เป็นความมหัศจรรย์ สมาธิที่เป็นความมหัศจรรย์นี่เป็นสมาธินะ
แต่ถ้าเป็นฌานสมาบัติมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน คำว่า “เข้าฌาน” เข้าฌานดูสิ กสิณมันเพ่งต่างๆ มันมีกำลังของมัน นี่กำลังของมันนะ
ในพระไตรปิฎก มีลูกศิษย์ของพระสารีบุตรมาบวชกับพระสารีบุตรแล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาได้ฌานสมาบัติ แล้วก็สึกไป พอสึกไป เขาไปเป็นโจร เป็นโจรเขาไปปล้นไปชิงแล้วโดนเจ้าหน้าที่เขาจับ พอเจ้าหน้าที่เขาจับ เขาจับใส่โซ่ไว้ มัดใส่โซ่ไว้
พระสารีบุตรรู้ว่าลูกศิษย์โดนจับ พอโดนจับขึ้นมา ไปช่วยอะไรได้ล่ะ ไปช่วยอะไรไม่ได้ พระสารีบุตรไปเทศน์ให้ฟังไง ไปเทศน์ให้ฟังให้จิตเขาระลึกถึงที่เขาเคยทำได้ พอคนเคยทำได้ เขากำลังจะโดนประหารชีวิตนะ พอเขาจะโดนประหารชีวิต เขากลับมาทำฌานสมาบัติของเขา พอทำฌานสมาบัติของเขา เขาสามารถเหาะออกไปจากโซ่ตรวนนั้นหมดเลย เขาทำของเขาได้ อันนี้อยู่ในสุตตันตปิฎก
เวลาพระสารีบุตรไปสอน เขาเองก็เคยทำได้ แล้วก็เสื่อมไป เขาเคยบวชเป็นพระไง ลูกศิษย์พระสารีบุตร อยู่ในสุตตันตปิฎก เราจำบทไม่ได้ เวลาเสร็จแล้ว พอสึกไปแล้วเขาก็เป็นโจรไปปล้น ไปทำผิดกฎหมาย แล้วเขาก็โดนทางเจ้าหน้าที่จับ จับแล้วก็มัดไว้ กำลังจะประหาร
นี่มันมีของมัน นี่พูดถึงฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติมันเป็นเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช ทีนี้เรื่องฤทธิ์เรื่องเดชมันเป็นดาบสองคม เป็นประโยชน์ก็ได้ ทำโทษก็ได้ แล้วเวลาถ้าคนขาดสติมันควบคุมสิ่งนี้ได้ยาก เพราะเวลาเป็นฌานสมาบัติ เวลาเข้าฌานสมาบัติปั๊บ ที่ว่าเหาะเหินเดินฟ้าต่างๆ มันทำได้ทั้งนั้นน่ะ ทำได้ ทำได้แล้วต้องมีกำลังพอ แล้วควบคุมพอ
นี่ไง ที่บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเข้าฌานสมาบัติทำไม ระหว่างปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เพราะโลกมันมี ถ้าคุยกันเรื่องอย่างนี้มันเป็นสามัญสำนึก เป็นเรื่องพื้นฐานของจิต จิตที่ลัทธิศาสนาอื่นเขาทำสมาธิ ทุกลัทธิ ทุกศาสนาทำสมาธิทั้งนั้นน่ะ ว่าทำฌานสมาบัติ ทำทั้งนั้นน่ะ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดจากจิต แต่มันจะเป็นสัมมาไหมล่ะ มันจะเป็นมรรคไหมล่ะ มันจะเป็นความจริงไหมล่ะ
ถ้ามันเป็นความจริง นี่เป็นความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ตรงไหน มหัศจรรย์ที่ว่า ขณะที่ว่าเรากำหนดพุทโธๆ จิตมันละเอียดเข้ามา เรากำหนดพุทโธๆๆ สิ่งที่มันละเอียด คำว่า “ละเอียด” เพราะว่าผู้ใหญ่พูดคำว่า “ละเอียด” หยาบ กลาง ละเอียด ผู้ใหญ่จะแบ่งแยกได้ชัดเจนเลย นี่หยาบ กลาง ละเอียด ทีนี้ถ้าพูดถึงเด็กล่ะ เด็กมันก็บอกหยาบ กลาง ละเอียด แต่ความหมายของมันเหมือนกันไหม
นี่ก็เหมือนกัน เวลาพุทโธๆ จิตละเอียดขึ้นมา ละเอียด คำว่า “ละเอียด” มันชัดของมัน ละเอียดนะ พุทโธๆ ชัดเจนของพุทโธ ชัดเจนของอานาปานสติ ชัดเจนคือลมหายใจชัดเจนมาก ชัดเจนมาก มันละเอียด ละเอียดหมายความว่า มันละเอียดลึกซึ้ง มันชัดเจนของมัน
แต่ถ้าเป็นเด็กนะ ละเอียดใช่ไหม ละเอียดมันก็เหมือนอากาศไง ละเอียดมันก็เหมือนควัน ควันมันละเอียด พอละเอียดไปแล้วเดี๋ยวมันก็หลับ
ตรงนี้ตรงที่ละเอียดโดยความเป็นจริง กับความคาดหมายว่าละเอียดน่าจะเป็นแบบนี้ อย่างนี้คือเป็นละเอียด แต่ว่าถ้าอย่างนี้เป็นละเอียด เวลาเป็นสมาธินี่นะ เวลาทำสมาธิ เพราะทำเพื่อให้สะสางตัณหาความทะยานอยาก มันอยากในรูป รส กลิ่น เสียง แล้วลม จับลมเป็นรูปไหม รูป พุทโธเราระลึกรู้ เป็นความรับรู้ไหม เป็น ถ้ามันละเอียด ละเอียดอย่างไร
ฉะนั้น มันจะหยาบละเอียด เริ่มต้นถ้าเรายังไม่ชำนาญ เราอย่าประมาท ตรงนี้สำคัญมากเลย เราอย่าประมาท เราต้องให้มันชัดเจนไว้ คำว่า “ชัดเจน” ถ้ามันชัดเจนมันก็ละเอียดโดยชัดเจน ถ้ามันหยาบมันก็หยาบชัดเจนด้วยความหยาบ เพราะคำว่า “ชัดเจน” นี่คือสติพร้อม
การทำภาวนา ถ้าขณะทำภาวนาอยู่ ถ้ามีสติอยู่ อันนั้นถือว่าเป็นความเพียร ถ้าขาดสติแล้วนะ นั่นถือว่าความเพียรนั้นไม่สมบูรณ์แล้ว ฉะนั้น ถ้ามีสติ คนที่มีสติทำอะไรมันชัดเจนไหม ถ้ามีสติกำหนดลมหายใจ ลมหายใจก็ชัดเจน ถ้าระลึกพุทโธ พุทโธก็ชัดเจน
คำว่า “ชัดเจน” ถ้ามันละเอียด มันก็ละเอียดแบบชัดเจน ละเอียดลึกซึ้ง พุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้เลย พุทโธๆ ไปจนลมหายใจมันจะขาด ลมหายใจขาดมันเพราะอะไร เพราะธรรมดาถ้ามันจะเข้าอัปปนาสมาธิ อุปจาระคือจิตสงบแล้วมันรับรู้ได้ รับรู้ เห็นไหม อุปจาระรอบความรู้สึกของจิตมันรับรู้ได้ เพราะการรับรู้ได้อย่างนี้มันถึงวิปัสสนาได้ วิปัสสนาหมายถึงว่ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะจิตมันสงบแล้วมันปลอดจากแรงกระตุ้นของตัณหาความทะยานอยาก
ตัณหาความทะยานอยากมันกระตุ้น กระตุ้นให้อยากรับรู้รส อยากรับรู้กลิ่น อยากรับรู้เสียง มันกระตุ้น พอจิตมันสงบแล้วมันพ้นจากแรงกระตุ้น พอพ้นจากแรงกระตุ้น พอจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วถ้าเรารำพึงไป ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริง สิ่งที่เวลามันละเอียดแล้ว เราควบคุมให้มันออกรับรู้ ถ้ามันออกรับรู้นี่อุปจาระ ขณิกสมาธิ ถ้าอุปจารสมาธิ สมาธิที่มันรับรู้ได้ พอรับรู้ได้ ขั้นของอุปจาระ ที่ทำงานวิปัสสนาเขาทำกันตรงนี้
แล้วถ้าเราพุทโธต่อเนื่อง เพราะเราพุทโธยังได้ รับรู้อารมณ์ยังได้ รับรู้ได้หมด แล้วมันเป็นสมาธิตรงไหนล่ะ แล้วทำไมมันไม่ปล่อยล่ะ มันไม่ปล่อย ถ้าเราพุทโธต่อเนื่อง พุทโธต่อเนื่องหรือกำหนดลมต่อเนื่องไป มันจะละเอียดเข้าไป ถ้าละเอียดเข้าไปๆ พอละเอียดเข้าไป ลมหายใจ มันจะเริ่มปล่อยวางลมหายใจ มันจะปล่อยวางลมหายใจเพราะเหตุใด มันจะปล่อยวางลมหายใจเพราะมันจะปล่อยกาย อัปปนาสมาธิ จิตเราที่อยู่กลางหัวอก มันปล่อยความรับรู้สึกถึงร่างกาย
ตอนนี้นะ เรานั่งสมาธิกันอยู่นี่ ลมพัดมาเรามีความเย็นไหม อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากระทบผิวหนังเรารับรู้ไหม รับรู้ รับรู้ ใครเป็นคนรับรู้ จิตเป็นคนรับรู้ จิตมันยังรับรู้กายอยู่ ถ้าจิตมันยังรับรู้กาย จิตมีความสงบ จิตไม่ฟุ้งซ่าน แต่จิตยังรับรู้เรื่องกายอยู่ นี่มันยังรับรู้ กายกับใจยังรับรู้กันอยู่
แต่ถ้ามันพุทโธต่อเนื่องกันไป มันเริ่มที่มันจะปล่อยลมหายใจ ปล่อยลมหายใจเพราะผิวหนังใช่ไหม ลมพัดถึงผิวหนัง เราก็รับรู้ได้ถึงอุณหภูมิการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม ถ้าลมหายใจเข้าออก จิตมันยังรับรู้อยู่ มันก็ยังรับรู้อยู่เรื่องของกายใช่ไหม เวลาถ้ามันละเอียดเข้าไป มันปล่อยเข้าไปจากอุปจาระ เพราะมันรับรู้อยู่นี่เป็นอุปจาระไง มันถึงรับรู้ มันถึงทำงานได้ มันถึงเคลื่อนไหวได้ แต่ถ้ามันละเอียดเข้าไป มันปล่อย
ทีนี้ก่อนจะปล่อย ลมหายใจ มันต้องปล่อยลมหายใจไปด้วย พอมันจะปล่อยลมหายใจไปด้วย พอการจะปล่อยลมหายใจ เราก็ตกใจไง “ถ้าลมหายใจขาด เราไม่ตายหรือ ถ้าลมหายใจขาดไปมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วนะ ถ้าลมหายใจขาดมันเป็นเรื่องความลึกลับมหัศจรรย์แล้วนะ” มันตื่นเต้น ลงไม่ได้หรอก
คนที่จะเข้าอัปปนาสมาธิมันจะไปตื่นเต้น มันจะไปหวั่นไหว มันจะไปกลัวเป็นกลัวตาย กลัวกระทบ มันกลัวไปหมด มันกลัวเพราะอะไร มันกลัวเพราะอวิชชาไง มันกลัวเพราะไม่เคยทำไง มันกลัวเพราะมันไม่รู้ไง
แต่ถ้าคนเคยทำเคยเป็นขึ้นมาแล้ว พอมันจะละเอียดเข้าไปมันจะละเอียดอย่างไร แล้วมันปล่อยวางเข้ามาอย่างไร แล้วมันมีอิสระอย่างไร พอมันรู้สักหนหนึ่งนะ อ๋อ! ต่อไปมันอยากได้อย่างนี้อีกแล้ว มันจะเข้า มันจะเป็น นี่คือทางเข้าทางออกไง นี่ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าการออกสมาธิไง ถ้าคนมีความชำนาญ มีการเข้าการออก สมาธิมันจะเสื่อมไปตรงไหน
แต่ถ้าคนไม่เคยเป็น ไม่เคยทำ มันมีแต่ทฤษฎี มีแต่ความเชื่อ มีแต่ความไม่รับรู้ของมัน มันจะทำสมาธิของมันอย่างไร มันจะควบคุมของมันอย่างไร แล้วสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มรรคไม่มี มรรคไม่มี มันเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องโกหกหมด สิ่งที่เขาทำๆ กันอยู่นี่ ถ้าไม่มีสมาธิ มรรคไม่มี เว้นไว้แต่ปัญญาอบรมสมาธิ นั่นก็คือสมถะไง นั่นก็คือการเข้าสมาธิไง
แต่คนเวลาไปตรึกกันอย่างนั้น ไปรับรู้อย่างนั้น แล้วบอกนั่นคือมรรค แล้วพอตรึกอย่างนั้นปั๊บมันก็ปล่อย ปล่อยเพราะอะไร เพราะเป็นสมถะ มันปล่อยก็บอกนั่นพระอรหันต์ เพราะมันขาดผู้นำ มันขาดครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ถ้ามีผู้นำ มีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง มันจะทำต่อเนื่องก้าวเดินต่อไปได้ ถ้ามันก้าวเดินต่อไปได้ นี่พูดถึงถ้ามันเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิไง แล้วถ้าสมาธิ ถ้ามันเป็นสมาธินี่เป็นอย่างไร แล้วถ้าเป็นฌานเป็นอย่างไร
เป็นฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌาน ๔ รูปฌาน มันมีรูปของมัน แล้วยกขึ้นอากาสานัญจายตนะ อากาศธาตุ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันเป็นอย่างไร แล้วมันเข้าออกอย่างไร ทำไมมันถึงมีสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ล่ะ
เพราะสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ จิตแต่ละขั้น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ๔ ขั้น แล้วมันขึ้นอากาสานัญจายตนะ มันขึ้นไป แล้วมันถอยกลับ ขึ้นไป ถอยกลับ ขึ้นไป ถอยกลับ มันมีกำลัง ที่มันจะไปมันไปอย่างไร นี่ไง มันถึงไม่ใช่ศีล ฌาน ปัญญา มันมีแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นสมาธิมันถึงเป็นความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์มาก
ที่บอกว่าเขานอนทำไง เขานอนพุทโธจนร่างกายมันหายไป ร่างกายมันจะหายไป แต่เสียงยังได้ยินครับ ได้ยินเสียงและความคิดครับ ถึงตรงนี้ผมเลยออกจากสมาธิ เพราะผมกลัวปฏิบัติผิด รู้สึกว่าสติไม่ค่อยสมบูรณ์ เลยออกจากสมาธิมาถามหลวงพ่อก่อน
ถามก็คือถาม พอถามแล้ว เวลาถามนะ จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติเป็นท่านจะมีประสบการณ์ในใจของท่าน ท่านมีประสบการณ์ในใจของท่าน ท่านพูดออกมา ท่านถอดออกมาจากใจของท่านมาสู่ใจของเรา แล้วใจของเรา เราทำได้จริงหรือเปล่า
นี่ไง ออกมาถาม ถามก็ตอบ นี้เพราะอะไร เพราะเราตอบ ตอบเพราะอะไร ตอบเพราะว่าการที่จะหาบุคคลที่จะภาวนานี่แสนยาก ฉะนั้น คนภาวนาแล้วนะ พอภาวนาแล้วเราก็มีความสงสัยหมด เพราะอะไร เพราะในปัจจุบันนี้ตาบอดคลำช้าง ผู้สอนตาบอดทั้งนั้น ถ้าผู้สอนตาบอด เราก็เอาทฤษฎีมาสอนกัน พอสอนกันแล้ว พอปฏิบัติไปแล้วตอบไม่ถูก แล้วพอตอบไม่ถูกแล้ว พอผู้ที่ปฏิบัติมันมีผลของการปฏิบัติ นี่ไง นอนภาวนาแล้วมันไม่รับรู้กาย มันไม่รับรู้สิ่งใด มันเกิดผลของมัน ผลของมันนี่วิบากกรรม
ทำสิ่งใดได้ผลสิ่งนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าภาวนามันก็มีผลของมัน ถ้ามีผลของมัน นี่ผลของการปฏิบัติ แล้วเวลาไปถามพวกตาบอด ตาบอดมันก็ยกกลับไปที่พระไตรปิฎก “อ้าว! พระไตรปิฎกก็ว่าอย่างนั้น บอกว่าอย่างนั้นเลย พูดถึงนี้เป็นสมถะ มันไม่เกิดปัญญา” แล้วปัญญาอย่างไรล่ะ
ปัญญาที่เอ็งศึกษากันมานั่นคือสัญญา นั่นคือเอ็งไปจำตำรามา แล้วพอเวลาคนที่ปฏิบัติมามีผลของมันขึ้นมา เอ็งก็ย้อนกลับไปที่สัญญานั้น แล้วเวลาเอ็งปฏิบัติ มันปฏิบัติเป็นปรากฏการณ์ตามจริงของใจ มันไม่ใช่สัญญา สิ่งที่ปรากฏขึ้นจริง เอ็งเอาปรากฏความเป็นจริงในใจเอ็งมาตอบสิ เอ็งเอาประสบการณ์ของใจที่มันเป็นจริงขึ้นมาเอามาบอกสิว่าประสบการณ์ของใจที่มันปฏิบัติแล้วมันมีผลอย่างนี้ๆ แล้วเวลาถามปัญหาไป เขาก็ย้อนกลับไปที่สัญญา กลับไปที่ทฤษฎี เอาทฤษฎีมาตอบ มันก็เลยสับสนไง
แล้วตอนนี้ผู้ที่สอนมันตาบอดหมด ตาบอดหมด ถ้าไม่ตาบอด แบบหลวงตา แบบครูบาอาจารย์ท่านไม่ตาบอด เวลาถามนี่ท่านยิ้มๆ เลย ยิ้มๆ ตรงไหนรู้ไหม ยิ้มๆ หมายความว่า สิ่งที่เรารู้ เหมือนกับลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เวลาจะไปหาหลวงปู่มั่น ไปหาหลวงปู่มั่น แล้วพอไปหาหลวงปู่มั่น ตัวเองแบกรับภาระ แบกหามปัญหามาทั้งนั้นเลย เวลาไปหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านล้วงหัวใจของเรามาตีแผ่เลย มันเป็นอย่างนี้ๆๆ เอาความรู้สึกของเราออกมามาตีแผ่ให้เห็นเลยว่าเราถูกต้องดีงามอย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัติ เวลาเราเอาความสงสัยเราถามท่าน ท่านก็ต้องตอบมาสิว่ามันเป็นอย่างไร แต่นี่ยกกลับไปเลย กลับไปที่สัญญา “ปฏิบัติอย่างนี้มันไม่ถูก เพราะปฏิบัติอย่างนี้มันแบบว่ามันหลงอารมณ์ตัวเอง อย่างนี้คิดเอาเองหรือเปล่า สงสัยปฏิบัติอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะคิดเอาเอง มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีอยู่จริง ถ้ามันมีอยู่จริงมันก็ต้องตามพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนี้” นี่ไอ้พวกตาบอดมันตอบอย่างนี้
แล้วไอ้คนที่ปฏิบัติก็งงนะ “อืม! ก็จริงนะ เพราะนั่นเป็นพระไตรปิฎก เป็นธรรมและวินัย เป็นศาสดา เราก็ต้องเคารพศาสดาเป็นเรื่องความจริง”
ใช่ เราต้องเคารพศาสดา แต่ศาสดาท่านสอนไว้อย่างนั้นน่ะ แต่เวลาปฏิบัติ ข้อเท็จจริงที่มันจะเกิดขึ้นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านเรียนจบถึงมหา พอไปหาหลวงปู่มั่น พอจบมหาแล้วอยากออกปฏิบัติ พออยากออกปฏิบัติ นิพพานมันมีอยู่จริงหรือเปล่า ไปปฏิบัติแล้วมันจะได้ผลจริงหรือเปล่า ถ้ามีใครแก้ข้อสงสัยในใจนี้ได้ เราจะถือองค์นั้นเป็นอาจารย์ของเรา
ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นใส่เลย “มหา มหามาหานิพพานใช่ไหม นิพพานไม่ได้อยู่บนอากาศ ไม่ได้อยู่บนแร่ธาตุอะไรทั้งสิ้น นิพพานมันอยู่ที่ใจ”
แล้วทำอย่างไร บอกอีกต่างหาก เห็นไหม
หลวงตาท่านถึงบอกเลย ตอนนี้ตอนที่ยังไม่ปฏิบัติก็สงสัย เรียนจนถึงเป็นมหา นิพพานก็เอามาวิเคราะห์วิจัยได้หมดแล้ว อธิบายได้หมดเลย ก็ยังสงสัยว่ามันมีอยู่หรือเปล่า เราก็อยากหาผู้ชี้บอก บัดนี้หลวงปู่มั่นเป็นคนชี้บอกแล้ว เป็นคนเคลียร์ปัญหาในหัวใจของเราแล้ว เชื่อหรือไม่เชื่อ เอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็เอาชีวิตนี้เข้าแลกเลย เอาชีวิตนี้เข้าแลกเลย
แล้วเวลาปฏิบัติไป หลวงปู่มั่นท่านบอกเลยนะ มหา สิ่งที่ศึกษามาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทิดใส่ศีรษะไว้ เทิดคือยกไว้ ไม่ได้ย่ำยี ไม่ได้ดูถูก ไม่ได้เหยียดหยาม ศาสดาของเรา เราเหยียดหยามได้อย่างไร เราเคารพบูชาขนาดไหน แต่เอาใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้นะ อย่าให้มันออกมา ถ้าออกมานะ เวลาเราปฏิบัติไปพร้อมกับสัญญา พร้อมกับทฤษฎี พร้อมกับความคาดหมาย ความคาดหมายนั้นมันจะทำให้ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นของเราไขว้เขวหมดเลย
จริงๆ มันจะเกิดกับเรานะ พอมันจะเป็นสมาธินะ “เออ! มันจะเป็นสมาธิแล้วล่ะ อ๋อ! นี่ขณิกสมาธิ อ๋อ! นี่อุปจาระ อู๋ย! มันจะลง มันจะลงอัปปนาแล้ว โอ๋ย! อย่างนี้อัปปนาแน่ๆ เลย” มันจะมาเตะ มันจะมาถีบกัน
เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมาก่อน ท่านรู้ ท่านรู้ท่านถึงบอกแนวทางไว้ แต่คนที่ไม่ปฏิบัติก็บอกว่า “ครูบาอาจารย์พระป่าไม่เคารพพระพุทธเจ้า ไม่ยอมศึกษา”
ศึกษา ศึกษาทั้งนั้นน่ะ ไม่ศึกษามันจะมีปัญญาเปรียบเทียบหรือ เพราะเราศึกษา เรามีปัญญาเปรียบเทียบ แล้วมีปัญญาเปรียบเทียบแล้ว อันนั้นเป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ อันนั้นเป็นสมบัติจริง นี่เป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ก็เข้าใจทั้งนั้นน่ะ แต่เราก็ต้องมาสร้างการทดสอบทดลองให้มันเห็นจริงของเราขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมของพระพุทธเจ้าเราก็ศึกษามาแล้วล่ะ เราศึกษามาแล้วก็วางไว้ หลวงปู่มั่นท่านบอกวางไว้ๆ นั่นเป็นทฤษฎี วางไว้ก่อน แล้วเรามาค้นคว้า เรามาปฏิบัติ ประสบการณ์จริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา พอเป็นจริงขึ้นมาแล้วท่านจะบอก
หลวงปู่มั่นท่านบอกเลย ถ้าปฏิบัติเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะ มันจะเป็นอันเดียวกัน ในพระไตรปิฎก ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับในหัวใจที่เราปฏิบัติมันเป็นอันเดียวกัน มันเป็นอันเดียวกันเลย มันไม่แตกต่างกันเลย
แต่ขณะที่อวิชชาความไม่รู้ของเราเต็มหัวใจนี่มันขัดมันแย้ง โอ๊ะๆๆ ตลอดเลย โอ๊ะๆ ทีก็หลุดไปที จิตมันจะเป็นแล้วนะ มันเข้าด้ายเข้าเข็มนะ โอ๊ะๆ อีกแล้ว หลุดไป หลุดไปก็ตะครุบเงาวิ่งหามันอีก พอวิ่งหามันจะได้เสีย จะได้จะเสียนะ เอ๊อะๆๆ อีกแล้วๆ มันไปอีกแล้ว
ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาท่านรู้ ท่านรู้ว่ากิเลสพญามารในใจของคนมันโหดร้ายแค่ไหน พญามารในจิตของมนุษย์มันโหดร้ายแค่ไหน มันทั้งหลอกมันทั้งลวง มันทั้งยึดมั่น ยึดหัวใจของเราเป็นที่ถ่ายที่เป็นส้วมเป็นถานให้ขับถ่ายของมัน พญามารมันเอาหัวใจของเราเป็นที่อยู่ที่อาศัย แล้วบีบบี้หัวใจเรามันมาขนาดไหน ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาท่านรู้ท่านเห็นอย่างนั้น
ไอ้พวกเราไม่รู้ไม่เห็น ทะนงตน ถือตัว ยกหาง ว่าตัวเองมีความรู้ แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติจริงของท่าน ท่านวางหมด แล้วท่านปฏิบัติจริงของท่าน แล้วพอเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ความจริงในหัวใจของเรากับในตู้พระไตรปิฎกมันต่างกันตรงไหน มันไม่ต่างกันเลย
นี่ไง หลวงปู่มั่นท่านสั่งประจำ เอาความรู้ความเห็นที่ศึกษา เวลาศึกษาเราต้องศึกษา ศึกษานี้เป็นทฤษฎี เป็นภาคปริยัติ เป็นแนวทาง ศึกษาเสร็จแล้ว พอศึกษาเราก็วางไว้ใช่ไหม แต่เวลาปฏิบัติเราให้เป็นจริงขึ้นมาสิ ไม่ใช่ศึกษามาแล้วก็มาสุมไว้บนสมอง แล้วเวลาปฏิบัติก็เอาสมองจุดไฟขึ้นมา มันจะต้มน้ำไง ตบะธรรมมันจะแผดเผาไง ศึกษามาสุมไว้ในสมอง เวลาปฏิบัติมันก็เผาๆ เผาหัวใจซะ แล้วพอเผาเสร็จแล้วมันก็มีแต่ความเร่าร้อน แล้วมันก็ไม่มีความจริงขึ้นมาเลย
ศึกษาขึ้นมาแล้วก็วางไว้ก่อน ศึกษานี่ธรรมของพระพุทธเจ้า ศึกษาเป็นทางวิชาการ ไม่ต้องเอามาสุมไฟ ไม่ต้องเผาตัวเอง วางไว้ แล้วปฏิบัติ พอมันเป็นจริงขึ้นมานะ โอ้โฮ!
นี่ไง สิ่งที่สมาธิเป็นพื้นฐาน เป็นสามัญสำนึกของจิตของมนุษย์ สัมมาสมาธิเป็นความมหัศจรรย์ลึกลับซับซ้อน ความว่าง ว่างของสมาธิ ความว่างของธรรม อกุปปธรรม เวลามันพิจารณาไปเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ความว่างของมันเป็นชั้นเป็นตอนของมัน
เวลามันสิ้นสุดไปแล้วนะ สิ่งที่มันพ้นไปเลย มันลึกลับ มันเหนือโลก ถ้ามันไม่เหนือโลกมันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดกับโลกนี้ เพราะมันหลุดออกไปจากวัฏฏะเป็นวิวัฏฏะ ออกไปจากโลกเลย มันถึงเป็นความมหัศจรรย์ไง
ศีล สมาธิ ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราฝึกหัด ฝึกหัดขึ้นมา แล้วถ้าเป็นจริงของเราขึ้นมามันจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง