ภาวนากับฝัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “สงสัยครับ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ
๑. กระผมมีเรื่องสงสัยว่า เราสามารถได้ยินเสียงตนเองกรนขณะหลับได้หรือไม่ครับ ถ้าได้ ดีหรือไม่ดีครับ
๒. กระผมฝันว่าภรรยานอกใจ เกิดความทุกข์มาก แต่ระลึกได้ในฝันว่าเขาเป็นภรรยาของเราเพียงชาตินี้เท่านั้น ความทุกข์นั้นก็ดับลง
อยากถามพระอาจารย์ว่า การระลึกรู้สึกตัวในฝันเกิดขึ้นได้ไหมครับ ต้องรบกวนอาจารย์ด้วยครับ
ตอบ : คำถามเนาะ ระหว่างฝันกับความรู้สึก ความเข้าใจ ฝัน กับสิ่งที่ว่าเราสงสัย ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเรื่องของใจก่อน ถ้าใจของคน เห็นไหม ใจของคน ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ อันนี้ไม่ใช่ฝัน อันนี้เป็นความจริง เป็นความจริงเพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติ จิตมันสงบลง นั้นข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงหมายความว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าท่านเคยเป็นๆ ท่านใช้คำว่า “เคยเป็น” เพราะปัจจุบันนี้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะตอนนั้นกำลังภาวนาอยู่ เวลาจิตกำหนดอานาปานสติ จิตสงบตัวลง มันเข้าไปถึงจิตเดิมแท้ จิตของตัวเอง แล้วด้วยกำลังของอานาปานสติ ด้วยกำลังของสมาธิ มันย้อนกลับไปสิ่งนั้น เห็นสิ่งนั้นเป็นข้อมูล อันนี้ไม่ใช่ฝัน วิชชา ๓ มันมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้สมบูรณ์
คำว่า “รู้สมบูรณ์” ย้อนไปอดีตชาติไม่มีต้นไม่มีปลาย จนบอกว่าอันนี้ถ้ามันไปมันจะไปจบลงที่ไหน ก็มีสติยับยั้งแล้วดึงกลับมา ดึงกลับมา ระลึกกลับมา กลับมาก็กำหนดอานาปานสติให้ละเอียดขึ้นไปๆ ออกรู้อีก ออกรู้โดยว่าถ้ามันตายที่นี้มันไปเกิดที่ไหน จุตูปปาตญาณ มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด จิตทุกดวงจิต ทั้งจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตของใครถ้ามันตายแล้วมันไปเกิดอย่างไร มันเป็นอย่างไร ไปรู้ไปเห็นอีก อันนี้ก็ไม่ใช่
ย้อนกลับมาอาสวักขยญาณ ญาณที่ชำระล้างอาสวักขัย ญาณชำระล้างอวิชชา ญาณชำระล้างกิเลส ญาณชำระล้างมาร ญาณชำระล้างความไม่รู้ สิ่งนี้ถ้าจบสิ้นกระบวนการ นี้เรียกว่าบำเพ็ญเพียร นี่คือตบะธรรม
ความเห็นอย่างนั้นจิตมันเป็น ขณะที่เป็น เป็นโดยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เพราะถ้าภาวนาไปแล้ว มีสติ มันถึงเป็นสมาธิ เพราะมีสติ มันถึงเกิดปัญญา เพราะมีสติ มันถึงเกิดมรรค
เกิดมรรค เวลาถ้าละเอียดเข้าไป มันเป็นมหาสติ มันก็เกิดเป็นมหาปัญญา มหาปัญญามันก็เกิดที่ชำระล้างขึ้นไป อันนี้เป็นการบำเพ็ญเพียร เป็นการภาวนา เป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมจะเป็นแบบนี้
แต่ถ้าฝันล่ะ ถ้าฝัน ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านเล็งญาณ เล็งญาณมันก็เป็นความจริงได้ แล้วถ้าท่านนอนแล้วฝันไหม
พระอรหันต์ไม่ฝันๆ ฝันไม่ได้ พระอรหันต์ฝันไม่ได้ ฝันไม่ได้ แต่มันมีความคิดไหม มีความคิด มันมีความคิด มีความเห็นต่างๆ ฝันก็คือฝัน ฝันไม่ใช่ภาวนา ไม่ใช่ความรู้จริง แต่เป็นความฝัน แต่มันเป็นนิมิตได้ เป็นเครื่องหมายของใจได้ ถ้าเครื่องหมายของใจได้ อันนั้นเป็นความฝัน
ฉะนั้น ความฝัน ขณะที่ความฝันนั้นคือผลไง คือเรานอนแล้วเราฝัน เรานอนแล้วเราพักผ่อนของเรา มันรู้บ้างไม่รู้บ้าง อันนี้เป็นอันหนึ่ง แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านนั่งสมาธิของท่าน ท่านกำหนดของท่าน อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธกิจ ๕ เช้าท่านเล็งญาณของท่าน นั่นไม่ใช่ฝันหรอก นั่นเป็นความจริง เห็นไหม
เราจะบอกว่าความจริงเป็นความจริงอันหนึ่ง ภาวนา การภาวนาเป็นสัจจะความจริง กับความฝัน ถ้าความฝัน ถ้าความฝันเป็นความจริง เวลาคนนอนหลับไป ทุกคนก็มีกายกับใจทุกคน ทุกคนก็ต้องฝันสิ ทำไมบางคนฝัน บางคนไม่ฝันล่ะ บางทีฝันถึงเรื่องที่ชอบใจแล้วบอกอยากจะฝันต่อ มันก็ไม่ฝัน เวลาฝันเรื่องที่ไม่ชอบใจ จะผลักไสมันก็ยังฝันซ้ำฝันซาก เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นเพราะใจมันรับรู้ได้ พอใจมันรับรู้ได้ ใจรับรู้ได้อย่างไร ใจนี้เป็นธาตุรู้
เวลาคนนอนหลับนะ บางคนนอนไม่หลับ มีความทุกข์ความยาก เขาต้องกินยา ต้องพยายามจะพักผ่อนให้ได้ แต่บางคนถ้าอย่างนั้นปั๊บ เขาก็ต้องแบบว่าหา หาสติ มีสติทำความสงบของใจเข้ามา ให้พักผ่อน ให้หลับนอนลงได้ ถ้าคนหลับ คนพักผ่อนได้ มันหลับลงได้ เขาหลับไปแล้วเขาก็หลับโดยความปกติของเขา แต่คนถ้าเขามีความฝันนะ ความฝันมันก็เป็นความฝัน ความฝันอันนั้น คนนอนฝันและคนนอนไม่ฝัน มันเป็นสิ่งที่จิตใจของเขาได้สร้างบุญกุศลมาแบบนั้น
ฉะนั้น จิตใจแบบนี้ เวลามาภาวนา เวลาคนภาวนา บางคนภาวนาไปแล้วจิตมันสงบไปเฉยๆ สงบไปละเอียดไป ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปโดยที่ไม่รู้เห็นสิ่งใด อันนี้จิตมันก็เหมือนคนนอนหลับแล้วไม่ฝัน แต่ถ้าคนนอนหลับมันฝันนะ ทำอย่างไรมันก็ฝัน แล้วฝัน บางคนฝันร้าย บางคนฝันดี ฝันต่างๆ ฝันนั้นมันแก้ได้ไหม
ถ้ามีสติ ก่อนนอนเราก็ตั้งสติให้ดี ถ้ามันฝัน ฝันเบาบางลง เจือจางลงไป ฝันจนหายไปก็ได้ แล้วถ้าคนที่ฝัน เวลาจิตใจที่เขามีจริตนิสัยอย่างนี้เขามาภาวนา ถ้าเขาภาวนาจิตเขาสงบนะ เขาเกิดนิมิตได้
คนที่ว่าเวลาภาวนาไปแล้วมันจะเป็นนิมิต นิมิตมันจะเป็นความเสียหาย เราพูดบ่อย เราเป็นปกติ แขนเราปกติมันก็ปล่อยวางโดยปกติ เราเป็นคนแขนคอก เราวางอย่างไรแขนเราก็คอก เพราะแขนเราคอก เราวางอย่างไรแขนมันก็คอก เพราะอะไร เพราะแขนมันเป็นแบบนี้ จิตใจของคน พันธุกรรมของจิตๆ มันเป็นของมันแบบนั้น แต่ถ้าเราแขนคอก ตอนนี้เราไปหาหมอกระดูก เขาสามารถทำให้เราตรงได้ไหม ได้ ถ้าแขนคอก ตอนนี้ใครพิการอย่างไร เขาไปทำศัลยกรรม จะตบแต่งให้สวยงามอย่างไรก็ได้
จิต จิตถ้ามันมีนิมิตของมัน มันมีนิมิตแล้วเราไม่ต้องการให้มี เราพยายามจะดัดแปลงให้มันไม่มีได้ไหม ได้ ได้ แต่ได้ ได้แล้วทำเพื่ออะไรล่ะ ทำแล้วเพื่ออะไร ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร
แต่ถ้าเรารู้เท่า เรารู้เท่าของเรา เรายอมรับสภาพของเรา เราแขนคอก ไปไหน อ้าว! ก็เราแขนคอก เขาบอก เอ้ย! ไอ้หงบแขนคอก อ้าว! ก็แขนเขาคอก เป็นอะไร เขาก็คอก เป็นอะไร
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเห็นนิมิต นิมิตก็คือนิมิต ถ้าเราไม่ไปตื่นเต้น เราไม่มีผลเสียหายกับมัน มันจะเป็นอะไร มันก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่เขาก็ไปว่ากัน บอกว่าถ้ากำหนดพุทโธมันจะเป็นนิมิต มันจะเป็นสมถะ มันจะเสียหาย ถ้าใช้ปัญญาไปเลยมันจะไม่เกิดนิมิต
ไอ้พวกใช้ปัญญาไปเลยเกิดนิมิตมาหาเราเยอะแยะ บอกใช้ปัญญาไปเลย แต่หลวงพ่อ มันเห็นนู่นเห็นนี่ มาหาเราเยอะแยะ
โดยข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ แต่โดยความเชื่อ เราไปวางรูปแบบกันขึ้นมา วิธีการ การปฏิบัติคือวิธีการ วิธีการ อุบายวิธีการของการปฏิบัติมันแตกต่างหลากหลาย มันมีอุบายมากมายมหาศาล แล้วเราก็ไปวางเป็นวิธีการ เป็นอุบายมา แล้วก็บอกว่าสิ่งนี้ถูกต้องๆ พอถูกต้องขึ้นมามันก็เป็นกรอบ แล้วเราต้องเดินตามนั้นหรือ
ดูสิ การทำคุณงามความดี มันทำคุณงามความดีได้หลากหลาย คนทำคุณงามความดี ความดีของใคร วิชาชีพของใคร ใครถนัดสิ่งใด เขามีเจตนาดี เขาเป็นคนจิตใจเป็นสาธารณะ เขาทำคุณงามความดี นั่นก็เป็นความดีของเขา ในการปฏิบัติขอให้มันมีสติ ขอให้มีความสงบของใจเป็นสมาธิ แล้วขอให้เกิดปัญญา ภาวนามยปัญญาตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเกิดจินตนาการ เกิดปัญญาที่เราคิดขึ้นมาอย่างนั้น
นี่พูดถึงว่า เราจะพูดให้เห็นก่อนว่าการภาวนามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความฝันมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่มันเกิดมาจากจิตเหมือนกัน พอมันเกิดจากจิตเหมือนกัน ฉะนั้น จะตอบคำถามนี่ไง ถ้าตอบคำถามไปก็บอกว่า โอ้โฮ! พระกรรมฐานเขามีอุดมคติกันอย่างนี้เนาะ พระกรรมฐานเขาคิดว่าความฝันมันก็เป็นแนวทางภาวนาอันหนึ่งเนาะ
แต่มันมี จิตมันเป็นไปได้ แต่จิตที่มันไม่ฝันมันก็มี แล้วมีมันเป็นแบบใดล่ะ นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นความจริงท่านจะแก้ไปเฉพาะบุคคล เหมือนคนที่ป่วยไข้ไปหาหมอ หมอจะรักษาตามที่เขาป่วยไข้ การแก้จิตๆ มันก็แก้ตามนั้นน่ะ จิตของคนภาวนาไปแล้วรู้เห็นสิ่งใด ภาวนาแล้วไม่ก้าวหน้า ภาวนาแล้วมีความติดขัด ภาวนาไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน ภาวนาไปแล้วก็ไปนั่งน้อยใจว่าภาวนาไม่ได้ นี่จิตใจของคนมันติดแตกต่างหลากหลาย
แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็แก้เฉพาะๆ ถ้าพูดถึงว่ามีโอกาสเฉพาะนะ แต่ถ้าไม่มีโอกาสเฉพาะท่านก็พูดเป็นธรรมะไป เหมือนกับฝนตกทั่วฟ้า แล้วบ้านใด บ้านเรือนใดเขามีตุ่ม มีโอ่ง มีไห เขาจะเก็บน้ำของเขา นั่นก็เป็นเรื่องของเขา
ถ้าบ้านใดเขาเฉื่อยชา ฝนตกก็ปล่อยให้มันตกกระจายไป ให้มันซึมไปในดิน แล้วก็บอกว่าฟังเทศน์แล้วก็ไม่เห็นรู้เรื่องอะไรเลย ฟังเทศน์แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
บางบ้านเขาก็มีรองน้ำ เขาเก็บใส่ตุ่มใส่ไหของเขา เขาได้วันละเล็กวันละน้อย หลวงพ่อพูดอะไร ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ว่าอย่างไร ก็ไปคิดไปอะไร มันก็ได้ประโยชน์ของเขาไป
เวลาจิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลายแบบนั้น ฉะนั้น ถึงพูดไว้ก่อนว่าการภาวนามันเป็นเรื่องจริงๆ มีสติ มหาสติ คนที่มีมหาสติมันจะลูบๆ คลำๆ มันจะทำโดยลวกๆ ทำโดยไม่มีสติปัญญา มันเป็นไปได้อย่างไร ขนาดคนมีสติยังระลึกรู้ได้ ยังเป็นคนดีได้ แล้วที่มีมหาสติ มีมหาปัญญาเข้าไปแก้ไขกิเลสเป็นชั้นๆ นั้นคือการภาวนา ไม่ใช่ฝัน
แต่ถ้ามันเป็นความฝันล่ะ ความฝันมันเป็นพื้นฐานของใจ ถ้าใจของคนมันยังไม่ภาวนาไปมันก็มีคำถามมาแบบนี้
“๑. กระผมมีเรื่องสงสัยว่าเราสามารถได้ยินเสียงตัวเองกรนขณะหลับได้หรือไม่ครับ ถ้าได้ ดีหรือไม่ดี”
ได้ คำว่า “ได้” เขาเรียกว่ามันเป็นโดยธรรมชาติของคน ถ้าคนหลับไปแล้วก็หลับไม่ได้ยินตัวเองกรนหรอก แต่ถ้ากรนนี่นะ แบบว่ามันครึ่งหลับครึ่งตื่นหรือมันมีสติสมบูรณ์ มันอาจจะเอ๊! เรากรนหรือเปล่า เราได้ยินเสียงกรนหรือเปล่า เป็นไปได้ไหม ได้ นานๆ หนหนึ่ง มันไม่เป็นอย่างนี้ตลอดไปหรอก
จิตของคนเรามันแบบว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์ของคน เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์แปรปรวน อารมณ์ของเราไม่แน่นอน เวลาเรานอนหลับ บางคนเป็นเด็กนอนหลับแล้วมีใครไปทำให้ตกใจ มีใครทำให้สะดุ้งตื่น มันจะฝังใจไป พอไปนอนที่ไหนแล้วมันก็จะสะดุ้งของมัน มันก็จะระวังตัวของมัน แล้วก็ค่อยๆ ปลอบ ค่อยๆ โยนกัน เขาก็พอจะแก้ไขไปได้ อันนั้นบอกว่า จิตเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเสื่อม เดี๋ยวเจริญ
ฉะนั้น ที่ว่า “นอนหลับแล้วเราจะได้ยินเสียงกรนตัวเราเองได้หรือไม่ครับ”
ได้ ถ้าได้ปั๊บ ไปบอกหมอ หมอบอกว่าไม่ได้ เพราะอะไร เพราะคนหลับแล้วมันก็คือหลับ ขาดสติไปแล้วจะได้ยินเสียงกรนได้อย่างไร เห็นไหม ถ้าวิทยาศาสตร์ก็ต้องคุยกันทางวิทยาศาสตร์นะ แต่เราคุยกันถึงความรู้สึกของใจ ถ้าใจคนมันดีๆ นะ ใจของคนดีๆ มันรับรู้ได้ แต่เฉพาะเป็นชั่วคราว มันไม่เป็นอย่างนี้ตลอดไปหรอก ใจของคนเดี๋ยวมันสูงเดี๋ยวมันต่ำ เดี๋ยวใจคนราบเรียบ ใจของคนมันเป็นแบบนี้
ฉะนั้น ถ้ามันได้ยินเสียงกรนตัวเองได้ไหม
ได้ แต่เป็นครั้งคราว
แล้วมันดีหรือไม่ดี
ไม่ดี อ้าว! มันจะดีตรงไหนล่ะ คนเราเวลานอนใช่ไหม จะนอนหลับ เราก็หลับไป หลับเพื่อพักผ่อน ตื่นขึ้นมาก็สดชื่น ถ้านอนหลับแล้วได้ยินเสียงกรน ถ้าดีนะ ดีเดี๋ยวมันนอนแล้วหลับๆ ตื่นๆ แล้ว มันจะคอยฟังเสียงกรนมันไง เออ! หลับหรือยัง หลับแล้วได้กรนหรือยัง ถ้ากรนแล้วก็ถือว่าหลับ เห็นไหม ไม่ดี แล้วดีได้อย่างไรล่ะ เพราะเราจะนอนหลับ เราจะได้ยินเสียงกรนทำไม แต่ได้ยินได้ไหม อ้าว! ได้ แต่เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ใช่ได้ยินตลอดไป ไม่ใช่พอได้ยินแล้วจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ไม่ใช่
ได้ยินได้เป็นครั้งเป็นคราวได้หรือไม่
ได้
แล้วดีหรือไม่ดี
ไม่ดี ไม่ดี เพราะขณะที่เรานอนหลับ เราพักผ่อน เราไม่ใช่นอนหลับมาเพื่อฟังเสียงกรนของตัวเอง แล้วอีกอย่างหนึ่งเวลานอนหลับ ดูนะ เวลาภาวนาถ้าเป็นสมาธิ เวลาจิตของเราดีๆ แม้แต่นะ แม้แต่หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านนั่งสมาธิไปนะ เสียงเต้นของหัวใจเราตุบตับๆๆ ถ้าจิตมันสงบมันได้ยินแม้แต่ความเคลื่อนไหวนะ มันได้ยินแม้แต่หัวใจ แม้แต่ความเคลื่อนไหว เสียงเบาๆ มันสะเทือนมาก คนภาวนาไปแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วเขาจะมีความรู้อย่างนั้น ถ้าความรู้อย่างนั้น นี่ถ้าภาวนานะ
อย่างที่ว่า พอนอนหลับแล้วได้ยินเสียงกรนหรือไม่ ดีหรือไม่ดี
ไอ้นี่เรานอนหลับแล้วเราไปประสบเข้า พอประสบเข้า เราเองก็ว่ามันดีหรือไม่ดี มันจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัตินะ เวลาท่านนอนหลับ ภาวนาเต็มที่เลย พอถึงเวลาจะพักผ่อน นอน นอน
เห็นไหม เวลาพระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน ได้ฟังธรรมต่อมาจากพระสารีบุตรได้เป็นพระโสดาบัน แล้วไปขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาไปขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอหิภิกขุ ให้บวชมาแล้ว บวชเสร็จแล้วให้เร่งภาวนา จะให้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา
ทีนี้พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน เวลาภาวนาไปมันสัปหงกโงกง่วง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วยฤทธิ์เลย บอกว่า ให้เธอตรึกในธรรมเพื่อแก้ง่วงนอนอันนี้ ถ้ามันไม่หายให้เอาน้ำลูบหน้า ถ้ามันไม่ได้ ให้แหงนมองดูดาว แล้วให้ตรึกในธรรม แล้วถ้ามันไม่ได้ ให้นอนซะ นอนไปเลย นอนให้มันหายง่วงแล้วค่อยภาวนา นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายที่มีฤทธิ์มาก
ฉะนั้น ถ้าเราสู้ของเราเต็มที่ เราภาวนาของเราเต็มที่ เราพยายามของเราเต็มที่ แล้วถ้ามันเหน็ดเหนื่อย มันล้านัก นอนซะ นอน นอนเลย พักผ่อนซะ แล้วตื่นแล้วค่อยภาวนาใหม่ ฉะนั้น เวลาพักก็คือพัก เวลาเราพักเราก็พัก เวลาภาวนาแล้ว เราภาวนามาจนเหนื่อยล้าแล้วเราก็พักผ่อนของเรา แต่พักผ่อนเสร็จแล้ว พอตื่นขึ้นมาแล้วเราก็รีบขวนขวายมาภาวนา ไม่ใช่นอนแล้วนะ ขออีกหน่อยหนึ่งๆๆ อ้าว! เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยภาวนา อ้าว! เดี๋ยวขออีกหน่อยหนึ่ง เดี๋ยวภาวนาเอามะรืนนี้ อย่างนี้แล้วมันก็เหลวไหล คนเราต้องมีกติกากับตัวเอง ถ้ามีกติกากับตัวเอง เป็นคนดี ฉะนั้น กรณีอย่างนี้เป็นกรณีแบบว่าหญ้าปากคอก
หลวงตาท่านบอกว่า การภาวนามียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น คราวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแสวงหากับเขามาทั่ว นี่คราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่งคราวที่สิ้นสุด ฉะนั้น สิ่งที่ถามมานี่คราวเริ่มต้น
เรานี่นะ กำลังจะหาทางเข้าบ้านของตัวเอง จะหาทางเข้าหัวใจของตัวเอง ล้มลุกคลุกคลานกันอยู่นี่เพราะหาทางเข้าบ้านตัวเองไม่เจอ ใครมา “หลวงพ่อ ผมจะปฏิบัติอย่างไร ผมจะทำอย่างไรดี” ต่างคนต่างมาขอถนนคนละเส้น มัคโค ทางอันเอก แต่ทางของใจดวงนี้ ใจของใครต้องมีมัคโคกับใจดวงนั้น
เวลาไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงมรรค มรรค ๘ หลวงปู่อ่อนท่านเทศน์ ท่านบอกว่ามรรค ๘ มันมืด ๘ ด้าน มรรค ๘ มันปิด ๘ ทิศ
เราไปศึกษามรรค ๘ มา มัคโค ทางอันเอก แต่ศึกษามาแล้วงงไง มรรค ๘ ก็มืด ๘ ด้าน ศึกษามาแล้วก็มืดบอด เพราะนั่นเป็นทฤษฎี นั่นมันเป็นปริยัติ ศึกษามาแล้วเรามาปฏิบัติ เรามาหาทางของเรา
ฉะนั้น เวลาเริ่มต้นมันสับสนอย่างนี้ มันสับสนหญ้าปากคอก แต่เราพยายามของเรา หาหนทางของเรา ถ้าหาหนทางของเรานะ พุทธานุสติก็ได้ ธัมมานุสติก็ได้ สังฆานุสติก็ได้ มรณานุสติก็ได้ เทวตานุสติก็ได้ แล้วถ้ามันไม่ได้ อานาปานสติ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เราทำของเรา เราหาหนทางของเรา เราทำของเราด้วยความสงบระงับของเรา ถ้าสงบระงับเข้ามา เราจะมีความสุข เราจะมีความสงบมีความระงับของเรา ถ้าเกิดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญาที่เกิดจากธรรมะ ไม่ใช่ปัญญาเกิดขึ้นมาจากสัญญาที่ไปจำมา ไปค้นคว้ามา
ปัญญาที่เกิดจากธรรมะ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาเหมือนต้นไม้ ต้นไม้ เมล็ดพันธุ์มันแทงหน่อขึ้นมาจากดิน เราเห็นมัน หน่ออ่อนมันเกิดขึ้นมา โอ้โฮ! มันสวยงาม มันน่ารื่นรมย์ นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาเกิดจากใจของเรา โอ๋ย! มันน่ารื่นรมย์
ปัญญาเกิดจากสัญญาคือไปค้นคว้ามา ไปศึกษามา นั่นเป็นทฤษฎีมา มันเป็นปริยัติ เห็นไหม เป็นปฏิบัติไง ถ้าเป็นปฏิบัติมันจะเป็นปัญญาที่แทงออกมาจากหัวใจของเรา มันเกิดมาจากใจของเรา มันมีหยั่งรากเข้าไปในภวาสวะ หยั่งรากเข้าไปในภพ ในใจของเรา มันรู้ของมันนะ นี่ภาวนามยปัญญา นี่พูดถึงการภาวนา นี่ข้อที่ ๑
“๒. กระผมฝันว่าภรรยานอกใจ เกิดความทุกข์มาก แต่ระลึกได้ในฝันว่าเขาเป็นภรรยาเราเพียงชาตินี้เท่านั้น ความทุกข์นั้นก็ดับลง อยากถามท่านอาจารย์ว่าการระลึกรู้สึกตัวในฝันเกิดขึ้นได้หรือไม่ครับ”
ก็ฝันว่าภรรยานอกใจ อู๋ย! มันทุกข์มาก พอมันระลึกได้ว่าเขาแค่เป็นภรรยาในชาติเดียว ความทุกข์มันดับลงเลย นี่ก็เกิดอยู่กับตัว แล้วมาถามเราว่ามันระลึกได้หรือเปล่า เออ! ก็แปลกอยู่เนาะ
ไอ้คำว่า “ระลึกได้ ไม่ระลึกได้” เขาอยากจะรู้ ถ้าคำถามนี้เราตีความของเราเองไง เขาจะถามว่า ไอ้ที่ระลึกได้ในฝันมันเป็นปัญญาหรือเปล่า มันเป็นธรรมะหรือเปล่า
เวลาคนฝันแล้วก็จะมาคิดเลยว่า ความฝันเราจะมาซอยแยกย่อยเลยว่ามันเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง มันเป็นเรื่องโลกหรือเป็นเรื่องธรรม มันเป็นประโยชน์กับเราไม่เป็นประโยชน์กับเรา นี่พอฝันแล้วมันก็งงอย่างนี้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาฝันไป มันสร้างเหตุ สร้างเรื่อง ภรรยานอกใจเรา ภรรยาของเราแล้วนอกใจเรา เขาเรียกว่าสวมเขาให้เรา โอ๋ย! โกรธมาก ทุกข์มากเลย แต่พอมาระลึกได้ด้วยเขาเป็นภรรยาเราชาติเดียว ไม่ได้คิดว่าเขาไม่ได้นอกใจเรานะ เขาเป็นภรรยาเราชาติเดียว นี่ปัญญามันเกิด คำว่า “ปัญญามันเกิด” ในฝันก็เป็นไปได้ ฉะนั้น ผู้ถามมันเป็นต้นแบบ
เพราะบางคนนะ เวลาตัวเองฝันแล้วตัวเองมีความรู้ความเห็นก็เขียนมาถามเลยว่า “ผมภาวนาเป็นอย่างนั้นๆ” เราก็ตอบเป็นตุเป็นตะเลยนะ พอเขาสรุปบอก “หลวงพ่อ ผมฝันนะ ผมไม่ได้ภาวนา” โอ๋ย! หน้าแตกเลย
เขาฝันใช่ไหม เหมือนกับว่าเขาภาวนามา ไปรู้ไปเห็นไง ก็ถามเป็นตุเป็นตะเลยนะ ไอ้เราก็ตอบเป็นตุเป็นตะเลย พอสรุปแล้วมันเป็นฝันนะ มันไม่ได้ภาวนานะ โอ๋ย! จบเลย อันนั้นเป็นความฝัน
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราฝัน เราฝันคือว่ามันเป็นสังขาร สังขาร ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิต จิตคือตัวพลังงาน พลังงานมันพักผ่อน เวลามันเสวยอารมณ์มันก็มีขันธ์ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด หลวงตาบอกฝันดิบ ฝันสุก
ฝันดิบๆ คือปกติเราคิดนี่คือฝัน แต่เวลานอนหลับไปแล้วมันปล่อยหมดมันถึงหลับได้ แต่หลับไปแล้วนะ มันก็มีสายใย สายใยมันถึงไปถึงสังขาร ไปถึงความคิดอันละเอียดนั้น พอความคิดอันละเอียดมันก็เกิดเป็นความฝันขึ้น
พอความฝันขึ้นมา ฝันว่าภรรยานอกใจ ทั้งๆ ที่ว่าเป็นของของเรา ภรรยาของเรานั่นน่ะ แต่ในความฝันมันก็เกิดความทุกข์ความยาก แล้วความฝัน สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันก็มีความปรุงขึ้นมาว่า เขาเป็นภรรยาเราชาติเดียว ระลึกได้ว่าเขาเป็นชาติเดียว ชาติเดียวเราก็ต้องพลัดพรากจากกัน คือไม่มีใครเป็นเจ้าของใครจริง มันก็เกิดความทุกข์มันก็ดับลง นี่ในความฝันมันก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ได้ แต่นี้เป็นความฝัน
ความฝันกับความจริง ความจริงเวลาภาวนา ภาวนามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น มันมีสติสัมปชัญญะ นี่มันเป็นมรรค มันเป็นมรรคคือว่า กิเลสของเรา เราเป็นคนขุดคุ้ยขึ้นมา แล้วเราชำระล้างมัน แต่เวลาความฝัน ความฝันมันเป็นจริตนิสัย มันเป็นสัญชาตญาณ เวลามันเกิดขึ้นมันละเอียด เราควบคุมไม่ได้ไง มันถึงเป็นมรรคไม่ได้
แต่นี้มันเกิดปัญญาได้ไหม มันระลึกรู้ได้ไหม
มันก็ได้ แต่ได้ในละเอียด อย่างเช่นบางคนฝัน ฝันว่าเราจะได้ไปที่ไหน เราจะรู้เห็นสิ่งใด เห็นไหม เซนส์ ความรับรู้มันรู้ไว้ก่อน สัมผัสที่ ๖ มันมีได้ จิตนี้มันมหัศจรรย์ จิตนี้มหัศจรรย์มาก แต่ความมหัศจรรย์นี้เป็นนามธรรม ถ้าเป็นนามธรรม ทุกข์ก็เป็นนามธรรม เวลาเราดีใจก็เป็นนามธรรม สุขก็เป็นนามธรรม
คำว่า “เป็นนามธรรม” นามธรรมคือความสุขความทุกข์ของใจ แต่เวลาถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ มันจะสุขมันจะทุกข์มันต้องได้เงินเยอะๆ หาเงินเยอะๆ แล้วมันก็สุขของมัน เหนื่อยสายตัวแทบขาด หาเงินหาทองมาได้สมความปรารถนาแล้วก็สุข พอใจ แล้วมันก็อยากให้ได้มากขึ้นๆ นี่เราไปแสวงหากันทางโลก ไปแสวงหากันเรื่องสิ่งที่โลกมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย
แต่ถ้าเป็นธรรมะๆ สิ่งที่เป็นนามธรรม แต่นามธรรม เวลาใครทำให้สะเทือนใจนะ แค้นจนตายเลย นามธรรมฝังใจจนตายเลย อ้าว! นี่ก็นามธรรม ทำไมไม่ปล่อยล่ะ อ้าว! ทำไมไม่ปล่อยนามธรรมล่ะ นามธรรมทำไมปล่อยไม่ได้ล่ะ
มันปล่อยไม่ได้เพราะมันเคียดแค้นไง เคียดแค้นเพราะอะไร เพราะมันผูกโกรธ ผูกโกรธเพราะอะไร เพราะมันมีสังโยชน์ มันมีปฏิฆะ มันมีความยึดของมัน แล้วเวลาถ้าเรามีสติสัมปชัญญะขึ้นมา เรามีปัญญา จิตสงบแล้วมันจับตรงนี้ขึ้นมาแล้วแยกแยะมัน พิจารณามัน มันก็ปล่อยได้ชั่วคราว เออ! อภัยต่อกันเนาะ เดี๋ยวโกรธอีกแล้ว อภัยต่อกันเนาะ เออ! อภัยต่อกัน เดี๋ยวพอสมาธิมันจางลงๆ อภัยต่อกันไปโกรธเขาอีกแล้ว เห็นไหม มันปล่อยวางชั่วคราวๆๆ
แต่ถ้ามันจิตสงบเข้าไปแล้วมันเข้าไปถึงข้อมูลของมัน เข้าไปถึงความลึกซึ้ง เวลามันขาดมันไปขาดที่สังโยชน์ สังโยชน์ เครื่องร้อยรัด ถ้าเครื่องร้อยรัดนั้นขาด นี่คือการภาวนา ถ้าการภาวนา เขาทำที่นี่ แต่มันก็เป็นนามธรรมเหมือนกัน
เห็นไหม ว่าภาวนากับฝัน ฝันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ การภาวนาก็เป็นเรื่องหนึ่ง
“อยากถามท่านอาจารย์ว่า การระลึกรู้สึกตัวในฝันเกิดขึ้นได้หรือไม่ครับ รบกวนอาจารย์ด้วย”
การระลึกรู้สึกตัวในฝัน ฝันมันก็เป็นความฝัน ความรู้สึกระลึกได้ก็ระลึกได้ด้วยความฝัน ระลึกด้วยความฝัน แต่มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่จิตปกติอย่างนี้ ถ้าจิตที่ปกติอย่างนี้คือเป็นการภาวนา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
การภาวนานะ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ก็ตกภวังค์ด้วย การตกภวังค์ไปเหมือนหลับ อันนั้นไม่ใช่ฝัน หายไปเลย แต่ขณะที่ว่าพอจิตมันสงบแล้วเห็นนิมิต หรือว่าเห็นต่างๆ ความเห็นนั้นเห็นโดยสติสมบูรณ์ พอเห็นนิมิต นิมิตจริงก็ได้ นิมิตปลอมก็ได้
ทีนี้นิมิตจริงหรือนิมิตปลอม เขาให้พิสูจน์อย่างไร พิสูจน์ ถ้ามันเห็นสิ่งใดให้ถามกลับมาที่จิตของเรา เพราะอะไร เพราะจิตมันออกรู้ แล้วถ้านิมิต นิมิตจริงหรือไม่จริง แล้วถ้ามันเห็นกาย กายจริงหรือกายไม่จริง ถ้ากายจริงหรือไม่จริง ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ามันเห็นจริงของมัน มันพิสูจน์อย่างไร
ถ้าพิสูจน์แล้วถ้ามันเป็นจริง คำว่า “จริง” จริงหมายความว่า เหมือนไฟฟ้า ไฟฟ้าถ้ามันมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มันมีกระแสไฟฟ้าออกไป แต่ถ้าเป็นนิมิต ถ้าเป็นเรื่องกาย เรื่องกิเลส ถ้ามันเป็นจริงนะ พอมันจับนิมิตนี้ได้มันสะเทือนหัวใจไง มันมีความสัมพันธ์ไปสู่หัวใจ มันมีความสัมพันธ์ไปสู่จิต ถ้ามันสะเทือน มันสะเทือนจิต เวลามันสำรอก มันสำรอกที่จิตไง มันสำรอกคายความร้อยรัดของใจไง มันพิสูจน์ได้
แล้วพิสูจน์ได้ ทีนี้เพียงแต่ว่ามันต้องเป็นสุภาพบุรุษ พิสูจน์แล้วต้องทดสอบ ทดสอบว่าเป็นจริงหรือไม่จริง แล้วเทียบถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านทำของท่านมา
แต่ถ้าเป็นอย่างเรา อย่างเรานี่ไอ้คนโลภมาก ไอ้โลภมากอยากได้ พอมันพิสูจน์แล้ว ใช่ อันนี้กิเลสแน่ๆ เลย ใช่ พิสูจน์แล้วใช่อย่างเดียวเลย เห็นไหม มันเข้าข้างตัวเองไง
แต่ถ้าเป็นคนที่ปฏิบัติเขาต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้ามันจริงแล้วมันสำรอกไหม มันคายไหม ถ้ามันสำรอก มันคาย แล้วถ้าจริงแล้ว เวลาธรรมดาของพระกรรมฐานนะ เวลาไปหาครูบาอาจารย์ท่านจะแบบว่า เขาเรียกว่าพยายามรายงานผล ถามเพื่อความมั่นใจ ถ้าถูกไม่ถูก อาจารย์จะเคลียร์ให้เลยๆ ถ้าถูกก็ถูกเลย เพราะอะไร เพราะดูสิ เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น “จิตพิจารณาแล้วปล่อยวางหมดเลย แล้วอยากได้อย่างนี้ อยากได้อย่างนี้อีก”
“มันจะได้อย่างนี้ได้อย่างไร มันก็ได้หนเดียวเท่านั้นล่ะ เราเคยเป็นอย่างนี้มา” เพราะท่านรู้แล้ว ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาท่านรู้หมดแล้ว เพียงแต่ว่าครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ท่านจะไม่บอกเราหมด ถ้าบอกเราหมดนะ มันจะเป็นโทษกับผู้ฟัง
เหมือนเรานี่นะ เรารู้ข้อสอบทุกอย่างเลย แล้วเราจะตอบข้อสอบนั้นให้ถูกหมดเลย นั้นถูกโดยจำมา พอถูกโดยจำมา กิเลส เรารู้ข้อสอบ กิเลสมันก็รู้กับเราด้วย กิเลสมันยิ่งละเอียดเข้าไป ยิ่งแก้ยากเข้าไปใหญ่ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะชี้แนวทาง ท่านให้อุบาย แล้วเวลาเราขึ้นไปรายงานนะ ถ้าพูดมาถูก ถูกแน่นอนเลย
ฉะนั้น เวลาหลวงตาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านจะบอกเลยนะ เวลารายงานท่านเสร็จ ที่ว่าพิจารณาเวทนาถึงที่สุดแล้วก็ก้มฟังว่าท่านจะว่าอย่างไร
“เออ! มันต้องเป็นอย่างนี้สิ จิตมันไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย มันก็ตายหนเดียวเท่านั้นแหละ อ้าว! ได้หลักแล้ว เอาเลย” ไม่เห็นพูดอะไรเลย ถูกก็คือถูก แต่ท่านรู้ของท่านแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าของเรานะ ถ้าเราถูกต้อง เราพิจารณาของเรา เป็นสุภาพบุรุษต้องตรวจสอบของเรา นั้นสิ่งที่ว่ามันระลึก ความระลึก ความรู้สึกตัวในฝัน ในฝันคนละเอียดมันเข้าใจได้ มันเข้าใจได้ แต่ไม่เป็นอย่างนี้บ่อยๆ หรอก เพราะฝัน เห็นไหม ดูสิ เวลาเราเล่นว่าว ว่าวอยู่บนอากาศ เรามีเชือก เรายังควบคุม เวลาเชือกมันขาดนะ ว่าวมันตกที่ไหนล่ะ
ความฝัน ความฝันมันไม่เป็นปกติของเรา มันเป็นความฝัน มันเป็นเรื่องนามธรรมล้วนๆ แต่มันมีได้ไหม ได้ แต่มีได้มันก็เหมือนว่าเป็นการชี้บอก เป็นการชี้บอก เป็นการทดสอบ เป็นการบอกแนวทางได้ แต่ถ้าเป็นความจริง ไม่ใช่
เพราะถ้าการภาวนาจะแก้กิเลสมันต้องสติสมบูรณ์ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม การเคลื่อน การไหวรู้ตลอด จิตละเอียดขนาดไหน อย่างหยาบ แม้แต่ความสงบของใจ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิหยาบละเอียดเขายังรู้ได้ ยิ่งเข้าฌานสมาบัติ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เห็นไหม รูปฌาน อรูปฌาน เข้าฌานสมาบัติ เขาจะรู้เลยว่าขึ้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เพราะมันขยับขึ้น แล้วอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่แม้แต่สมาธิยังรู้ได้ แล้วถ้าเป็นปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่มันพร้อมสมาธิ ละเอียดกว่านี้
เวลามรรค มัคโค ทางอันเอก โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันละเอียดกว่านี้ เขารู้ของเขาได้ ฉะนั้น เขารู้ได้อย่างนี้
นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ทอดธุระเลย จะสอนได้อย่างไร เขาจะรู้ได้อย่างไร เวลาหลวงตาท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ของท่านที่ดอยธรรมเจดีย์ ก้มกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเต็มที่เลยนะ กราบแล้วกราบเล่า มันซาบซึ้งมาก แล้วไม่มีใครรู้ได้อย่างเราหรอก ไม่มีทางที่จะสอนใครได้ ทอดธุระเหมือนกัน เวลาคนปฏิบัติไปนะ มันละเอียดลึกซึ้ง มันมหัศจรรย์มาก ว่าอย่างนั้นเถอะ
แต่ถึงที่สุดแล้วนะ เราเป็นใครล่ะ เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็มีความพากความเพียรของเรา ความพากความเพียรจนสติเป็นมหาสติ สติอัตโนมัติ มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป แล้วลึกซึ้ง ลึกซึ้งที่ไหน ลึกซึ้งในใจ ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติเขาจะเคร่งขรึมของเขามากนะ แต่เคร่งขรึมของคนที่มีสติปัญญานะ ไม่ใช่เคร่งขรึมเหมือนคนที่มันกำลังจะเสียสติ
เวลาคนบ้ามันเคร่งขรึมมากนะ มันมองหน้านี่ตาขวางเลยนะ เวลามันตาขวาง ไอ้เคร่งขรึมอย่างนั้นไม่ใช่ อันนั้นส่งโรงพยาบาล แต่ไอ้เข้มข้นของผู้ปฏิบัติเขาจะเข้มของเขา สติสัมปชัญญะเขาสมบูรณ์ เขาจะสงบเสงี่ยมของเขา แต่ในหัวใจของเขามันยิ่งกว่าน้ำป่า มันยิ่งกว่าสึนามิ มันหมุนของมันนะ เวลาเต็มที่ของมัน มหาปัญญา มันปั่นป่วนในหัวใจ มันปั่นป่วนรุนแรงมาก แต่กิริยาภายนอกเข้ม เงียบๆ แต่ภายในมันจะปั่นป่วนมหาศาลเลย นี่เวลาน้ำป่าที่มันรุนแรง ที่มันจะชำระล้างกามราคะมันจะรุนแรงมาก นี่พูดถึงว่ามันเป็นไปไง
นี้ย้อนกลับมา มันจะไปไกลเกินไป ย้อนกลับมาที่ว่า “การระลึกนี้รู้สึกตัวในฝันได้หรือไม่”
เราจะบอกว่าได้ แต่ของแบบนี้มันเป็นอนิจจัง มันชั่วคราว จิตของคนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เราเวลาอารมณ์เราดีขึ้นมา สภาวะแวดล้อมที่ดี ถึงคราวบุญมันก็มีความสุขความสงบระงับพักหนึ่ง คนเรามันมีลุ่มๆ ดอนๆ จิตใจของคน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนะ ที่ไปอยู่กับพราหมณ์ พราหมณ์นิมนต์ไว้แล้วเกิดข้าวยากหมากแพง ลืมใส่บาตร เห็นไหม แม้แต่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วบังเอิญมันมีพวกพ่อค้าโคต่างเข้ามา เขามาขายม้า เขาเอาข้าวกล้องให้ม้าเขากินวันละลิตร เขาก็เลยให้พระวันละลิตร พระไปบิณฑบาต ไม่มีใครใส่บาตร ไม่มีใครมีหรอก ก็ไปบิณฑบาตกับคอกม้า แล้วพอได้มาแล้ว พระอานนท์ก็เอาข้าวมาบดให้เป็นแป้ง มาบดให้เป็นแป้งแล้วเอาน้ำพรมๆ ถวายพระพุทธเจ้า จนออกพรรษา ออกพรรษาแล้วพราหมณ์ที่นิมนต์ไว้ พระพุทธเจ้าไปลา พราหมณ์ตกใจเลย เพราะนิมนต์พระพุทธเจ้าไว้แล้วลืมใส่บาตร
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่พรรษาหนึ่งทุกข์ยากมากเพราะไม่มีใครใส่บาตร เพราะเขาทุกข์จนเข็ญใจ แต่มันก็ไปมีพ่อค้าโคต่าง แล้วขนาดพระโมคคัลลานะอยู่ด้วย จะพาพระไปบิณฑบาตทวีปนู้น จะพาพระ อู๋ย! พระโมคคัลลานะก็พระอรหันต์เหมือนกัน อัครสาวกเบื้องซ้าย พยายามจะแก้ไขสถานการณ์นั้น
พระพุทธเจ้าบอกไม่ได้ๆๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ พอออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าบอกพวกเธอชนะแล้ว ชนะความทุกข์ยากอันนั้นไง ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นนะ
ชีวิตคนมันไม่เสมอต้น ไม่ราบเรียบไปอย่างนั้น ไม่มีหรอก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะ แต่เวลาโดยปกติ อู้ฮู! ใครๆ ก็ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอยากได้บุญมาก เห็นไหม ชีวิตคนเรามันไม่ราบเรียบขนาดนั้นหรอก
แล้วจิตของเรา ฉะนั้น ว่าการระลึกในหัวใจต่างๆ เวลามันเป็นไปได้ก็เป็นไปได้ คำถามถามไว้นะ แล้วคนถามจำให้ดีๆ นะ เดี๋ยวพอมันเปลี่ยนแปลงขึ้นไป พอมันไม่เป็น งงอีกนะ
ฉะนั้น สิ่งที่ฝันก็คือฝัน ฝันก็มาจากจิต การภาวนาก็มาจากจิต ฉะนั้น เราจะบอกว่า การภาวนาด้วยความเป็นจริง แต่ความฝันมันเป็นแบบแผนที่เครื่องดำเนินว่าเราจะเป็นอย่างนั้น เราจะได้อย่างนั้น ความฝัน ฝันก็ฝันไป แต่ฝันแก้กิเลสไม่ได้
แต่ถ้าฝันร้ายสิไม่ดี ฝันร้ายแล้วทำให้ชีวิตนี้ปั่นป่วนหมดเลย จะทำอะไรก็ไม่กล้าไปทำอะไรทั้งสิ้น ฝันก็คือฝัน ถ้ามันฝันร้ายฝันอะไร ทางโลกเขาบอกว่าฝันร้ายกลายเป็นดีไง ถ้าฝันร้ายก็ไม่ต้องไปทุกข์จนเข็ญใจนัก ฝันร้ายจะกลายเป็นดี แต่ฝันดี ฝันดียิ่งบอกเราดีไปใหญ่เลย
เพราะในปัจจุบันนี้การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก การเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนดี แล้วเราตั้งใจทำคุณงามความดีไปแล้ว ชีวิตเราต้องแสวงหาสิ่งที่ดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราพยายามทำความดีของเรา
ดีของโลก เราแสวงหาบุญกุศลเป็นความดีของโลก แล้วถ้าเรานั่งสมาธิ เจ็บแข้งเจ็บขา เราแสวงหาความดีของใจ ความดีมันมีหลายชั้น ความดีภายนอก ความดีภายใน แล้วความดี ความดีถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราแสวงหากันตรงนั้น
เข้มแข็ง มันเข้มแข็งที่สติปัญญาของเรา เข้มแข็งแล้วพยายามขวนขวายหาแต่คุณงามความดีให้กับหัวใจของเรา เอวัง