ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้ให้จริง

๕ ม.ค. ๒๕๕๗

 

รู้ให้จริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “จิตทำได้หลายอย่าง”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ หนูหัดฝึกนั่งสมาธิมาตั้งแต่เรียนหนังสือ เพราะโรงเรียนอยู่ข้างวัด ต้องนั่งทุกครั้งในวิชาพระพุทธศาสนา ทำบ้าง หยุดบ้าง จนได้มาฟังเทศน์หลวงพ่อจึงรู้ว่า ที่เขาสอนกันผิดวิธี ทำไมเราถึงต้องมาปรับแก้ใหม่ เริ่มต้นใหม่

 

ร่างกายเรานั้นถ้าไม่มีจิตก็เป็นแค่ร่างคนตาย แล้วนี่จิตทำไมทำได้หลายอย่าง ทั้งบังคับให้เรานั่ง ให้เราเดินจงกรมพร้อมกันกับการรับรู้ลมหายใจเข้าออก ซ้ำด้วยคำบริกรรมพุทโธอีก ทำไมจิตมันทำได้หลายอย่าง แต่ด้วยปัญญามีน้อยเลยพิจารณาต่อไม่ได้ จึงได้แต่พยายามพุทโธต่อ เพราะคิดว่าวันหนึ่งสมาธิจะทำให้เราเกิดปัญญา แต่คำถามนี้กลับมาใหม่เสมอ ควรทำอย่างไรดีคะ

 

ตอบ : นี่คำถามเนาะ เริ่มต้นจากอารัมภบทก่อน เขาบอกว่า “หนูหัดนั่งสมาธิมาตั้งแต่เรียนหนังสือ เพราะโรงเรียนอยู่ข้างวัด ทุกครั้งในวิชาพระพุทธศาสนา ทำบ้าง หยุดบ้าง แต่พอมาฟังเทศน์หลวงพ่อถึงรู้ว่าเขาสอนผิดวิธี”

 

นี่พูดถึงว่าความคิดของเขาไง ทีนี้ว่าคำสอนๆ โดยทั่วไปหลักคำสอน เวลาในโรงเรียน วิชาพระพุทธศาสนา เขาพยายามจะฝึกพระ ทางฝ่ายปริยัติ ทางฝ่ายทางการศึกษาเขาพยายามจะฝึกพระมาก ให้พระไปสอนตามโรงเรียน ให้พระสอนตามโรงเรียนว่าให้เรื่องศีลธรรม เอาพระไปสอน พระก็ยังไปสอนกัน ไปฝึกกันเพื่อจะไปเป็นครูสอนนักเรียน

 

ฉะนั้นว่า เขาอยู่ในโรงเรียน แล้วฝึกนั่งสมาธิมาตั้งแต่อยู่โรงเรียน พอฝึกนั่งสมาธิตั้งแต่อยู่โรงเรียน เขาฝึกมาตั้งแต่เริ่มต้น ธรรมดาของเด็ก ในเมื่อครูสอน อาจารย์สอนก็ต้องว่าอาจารย์สอนถูก ก็ทำกันมา พอทำกันมา เห็นไหม “พอมาฟังเทศน์หลวงพ่อถึงรู้ว่าเขาสอนผิด”

 

แล้วรู้ได้อย่างไรล่ะ แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาสอนผิด เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้อง การสอนต่างๆ การสอนเด็ก การสอนเด็กก็สอนเด็กให้มีสมาธิ ให้เด็กมีสมาธิ พอเด็กมีสมาธิขึ้นมา เด็กมีสมาธิคือจิตใจเข้มแข็ง จิตใจไม่เอาแต่ใจของตัว ถ้าจิตใจอ่อนแอ เอาแต่ใจของตัวต่างๆ เขาก็ให้ฝึกทำความสงบของใจ ให้ฝึกหัดทำสมาธิ ถ้าฝึกหัดทำสมาธิ ทำไปแล้ว มันทำสิ่งใดก็ทำได้ถ้าเป็นสมาธิ

 

เป็นสมาธิ เห็นไหม ดูสิ ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาก็สอนทำสมาธิเหมือนกัน ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาบอกว่าเขามีสมาธิ เขาทำสมาธิเหมือนกัน เขาไปเฝ้าพระเจ้า เขาเชื่อฟังพระเจ้า อะไรของเขา นี่ก็ว่าของเขาไป แต่เขาก็ทำสมาธิเหมือนกัน ทีนี้การทำสมาธิก็ทำเพื่อให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นมา ให้เป็นเด็กขึ้นมาแล้วให้เป็นเด็กที่ว่ามีสมาธิ ถ้ามีสมาธิ เรียนหนังสือก็เข้าใจได้ง่าย ทำสิ่งต่างๆ ไอ้นี่พื้นฐานก็เป็นเท่านั้น

 

ฉะนั้น เราฝึกหัดมา เราทำมา มันก็ทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง เด็กมันเล่นกับเพื่อน เด็กติดเพื่อน เด็กมันก็เป็นไป อันนั้นมันก็เป็นวิธีการสอนอันหนึ่งในทางโรงเรียนของเขา แต่มาฟังหลวงพ่อเทศน์ถึงรู้ว่าเขาสอนผิด

 

คำว่า “สอนผิด” พอมาฟังหลวงพ่อแล้วหลวงพ่อพูดอย่างไรล่ะ หลวงพ่อพูดเยอะแยะ พูดมากมาย พูดกว้างขวางมาก กว้างขวางมากเพราะอะไร เพราะจิตใจของคนมันไม่เหมือนกัน จิตใจของคน เห็นไหม ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาถึงสอนเปิดกว้างมาก ให้สิทธิเสรีภาพทุกๆ คนเลย ให้สิทธิเสรีภาพ จะเชื่อพระพุทธศาสนาก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ไม่ปรับโทษ

 

แต่เวลาจะปฏิบัติสิ เวลาเราเชื่อแล้วเราต้องมีกติกา ต้องมีศีล ต้องมีสติ ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา ตรงนี้มันจะทำให้ต้องบังคับตัวเราเองแล้ว ถ้าบังคับตัวเราเอง เพราะบังคับเพื่ออะไร เพื่อเข้าสู่ความจริง เข้าสู่ความดี ถ้าเข้าสู่ความดี มาฟังหลวงพ่อเทศน์ๆ หลวงพ่อเทศน์หลวงพ่อก็บอกวิธีการ

 

ทีนี้บอกวิธีการ ถ้าทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบก่อน พยายามทำความสงบของใจ เน้นตรงว่า “ทำความสงบของใจ” เพราะตรงใจสงบและใจไม่สงบมันเป็นทางสองแพร่ง แพร่งหนึ่งคือเป็นทางโลก ทางแพร่งหนึ่งเป็นทางโลก ทางโลกเขามีความตึงเครียด เขามีความทุกข์ในหัวใจ ถ้าเขาปล่อยวางได้ชั่วครั้งชั่วคราว เขาก็ภูมิใจ เขาก็มีความสุข เขาก็เห็นคุณของศาสนา นี่แพร่งหนึ่งไปทางโลกนะ ทางโลกคือความรู้สึกนึกคิดของเรา ทางโลกคือวิทยาศาสตร์ ทางโลกคือทางทฤษฎี ทางโลกคือความคิดที่สื่อสารกันได้

 

อีกแพร่งหนึ่งเป็นทางธรรม ทางธรรม เห็นไหม ถ้าเราเป็นกรรมฐาน เราเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติได้จริง ทางธรรมมันต้องทำความสงบของใจ ความสงบมันจะมาแบ่งเป็นทางสองแพร่งของจิต จิตแพร่งหนึ่งมันไปสู่ทางโลก ทางโลกพูดถึงธรรมะ พูดถึงปรัชญา พูดถึงตรรกะ พูดถึงหลักธรรม โอ๋ย! เข้าใจได้ ซาบซึ้งได้ นี่ทางโลก เรียกว่าโลกียปัญญา เป็นทางสองแพร่ง

 

แล้วถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา นี่เป็นอีกทางหนึ่ง ทางนี้เป็นทางธรรม ถ้าทางธรรม อันนี้ถ้าถูกผิดตรงนี้ ใช่ เพราะว่าในการทำความสงบของใจ บ้านของใครก็แล้วแต่อยู่ในซอยใด เราจะเข้าบ้านของเรา ถ้าเราเข้าปากซอยผิด เราจะเข้าบ้านเราไม่ถูกหรอก ถ้าเราจะเข้าบ้านเรา เราเข้าปากซอยที่ถูกต้อง ซอยนี้ สุดซอยนี้คือบ้านของเรา ถ้าเราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบนี่ปากทาง ปากซอยที่มันจะเข้า เห็นไหม ทางสองแพร่ง แพร่งหนึ่งคือทางโลก

 

ทีนี้ทางโลกคือสามัญสำนึกของมนุษย์ สัญชาตญาณของมนุษย์ สิ่งนี้เราพูดกันได้ ตรรกะเวลาพูดเราซาบซึ้งได้ เราเข้าใจได้ นี่ทางโลก แล้วทางธรรมล่ะ ทางธรรมไม่มีใครพูด พูดไม่เป็น พูดไม่ได้ เพราะมันไม่เข้าสู่ทางธรรม ถ้าทางธรรมที่พูดได้คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำได้จริง แล้วทำได้จริง ตรงนี้สังเกตได้ สังเกตได้ว่าหลวงตา ครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านจะบอกเลย ให้พุทโธก่อน ให้ทำความสงบของใจก่อน นี่มันจะกรองระหว่างโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา

 

ถ้าโลกียปัญญานะ เพราะเขาพูดว่า “จนมาฟังเทศน์หลวงพ่อถึงรู้ว่าเขาสอนผิด”

 

พอมาฟังเทศน์หลวงพ่อ อย่างนี้แสดงว่าเราก็ขวางโลกไปคนเดียวเลยน่ะสิ ถ้าเราบอกว่าเราไม่ได้ขวางโลก เราถึงได้พูด บอกว่า ถ้าเป็นการฝึกหัดเด็กเล็กเด็กน้อย เป็นการฝึกหัดแบบว่าพวกเราทำให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ทำให้เรามีความสงบระงับอย่างนี้ อย่างนี้มันเป็นเรื่องฝึกหัดสมาธิ ใช้ได้

 

แต่ถ้าเป็นพระพุทธศาสนา ภาวนามยปัญญา อันนี้ต้องเข้าหลักเกณฑ์ พอเข้าหลักเกณฑ์ขึ้นมาต้องเข้าไปทางถูกต้อง ถูกต้องตามความเป็นธรรม ตามความเป็นจริงของมัน มันถึงจะเข้าได้ ถ้าเข้าได้

 

ทำไมต้องมีการเข้า การออกด้วยหรือ อะไรจะเข้า อะไรจะออก

 

มันไม่มีการเข้าและไม่มีการออก มันเป็นการฝึกหัดหัวใจ ฝึกหัดหัวใจให้หัวใจเป็นผู้ที่ฉลาด ฝึกหัดหัวใจให้หัวใจมันสำรอกมันคายของมันออก ถ้ามันได้คายของมันออก นั่นน่ะศาสนทายาทจะเกิดกับใจเรานี้

 

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นไหม หลวงตาท่านพูดบ่อยว่า ในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ มีศาสดาองค์เดียวในโลกนี้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ในลัทธิศาสนาอื่นไม่มีศาสดาคนใดปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเขาไม่กล้าปฏิญาณ เพราะถ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ อะไรทำให้เป็นพระอรหันต์ อะไรทำให้เป็นพระอรหันต์ ทำอย่างใดถึงเป็นพระอรหันต์

 

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เวลาท่านสอนสาวกสาวกะท่านถึงได้บอกถึงวิธีการ บอกวิธีการ บอกการปฏิบัติ ชักนำขึ้นมา แล้วพอเข้ามา เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมา “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” นี่มีพยานแล้ว เวลาเทศน์ต่อไป ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นี่มันมีพยานแล้ว พยานอย่างนั้นมันถึงเป็นความจริงไง

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าไม่มีศาสดาใดปฏิญาณตนว่าเป็น แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้

 

นี่พูดถึงว่าเทศน์ถูกเทศน์ผิดนะ นี่พูดถึงอารัมภบทก่อน ถ้าอารัมภบทแล้วมันจะเข้าสู่คำถาม คำถามที่ว่าหลวงพ่อเทศน์ถูกเทศน์ผิด เห็นไหม คำถาม ฟังนะ

 

“ร่างกายเรานั้นถ้าไม่มีจิตก็แค่ร่างคนตาย แล้วนี่จิตทำไมมันทำได้หลายอย่าง ทั้งบังคับให้เรานั่ง ให้เราเดินจงกรมพร้อมกันกับการรับรู้ลมหายใจเข้าออก ซ้ำด้วยคำบริกรรมพุทโธอีก ทำไมจิตมันทำได้หลายอย่าง แต่ด้วยปัญญาที่น้อยเลยพิจารณาต่อไม่ได้ จึงได้แต่พยายามพุทโธต่อไป เพราะคิดว่าวันหนึ่งสมาธิจะทำให้เราเกิดปัญญา แต่คำถามนี้กลับมาใหม่เสมอ”

 

คือคำถามจะวนกลับมา คือสงสัย ฉะนั้น เวลาคำถาม คำถามที่ว่า “ร่างกายเรานี้ถ้าไม่มีจิตมันก็แค่ร่างคนตาย แล้วจิตนี้ทำอะไรได้หลายอย่าง”

 

ความคิดอย่างนี้ นี่คือปัญญา นี่ปัญญาโลกๆ เห็นไหม ปัญญาโลกๆ เราเทียบเคียงได้ไง คนเรามีหัวใจใช่ไหม ถ้าจิตนี้ออกจากร่างไปมันก็แค่คนตาย ถ้าจิตออกจากร่างก็แค่คนตาย แล้วพอเรากลับมาดูจิตของเรา พอดูจิต จิตนี้ทำไมทำได้หลายอย่าง ให้เดินจงกรมก็ได้ ให้นั่งสมาธิก็ได้ รับรู้ลมหายใจก็ได้ ยังต้องพุทโธซ้ำไปอีก ทำไมมันเป็นอย่างนี้

 

มันเป็นอย่างนี้แล้ว แต่ปัญญาน้อยเลยพิจารณาต่อไม่ได้ เห็นไหม อย่างนี้ ถ้าในการปฏิบัติของหลวงตา คำที่ท่านใช้ว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราใช้ปัญญา เราตรึกเอาไง เราใช้ปัญญาไตร่ตรองไง พอเราใช้ปัญญาไตร่ตรอง ฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วพิจารณาตาม ถ้าร่างกายนี้ จิตออกจากร่างนี้ก็แค่คนตาย แล้วพอกลับมาดูที่หัวใจ หัวใจมันมีความเห็นใจของเรา ทำไมมันทำให้เรานั่งสมาธิ ทำไมมันให้เราเดินจงกรม ทำไมมันให้เราดูลมหายใจ

 

ถ้ามีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ ถ้ามันอยู่ อาศัยธรรมเป็นเครื่องอยู่ คืออาศัยสัจจะความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ อาศัยสัจจะความจริงที่ครูบาอาจารย์ท่านพิจารณาของท่านมาแล้ว แล้วท่านเทศนาว่าการอย่างนี้ไว้ มันเป็นทฤษฎี มันเป็นธรรมของท่าน แล้วเราศึกษา เราเอามาไตร่ตรอง มันมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ จิตใจมันเทียบเคียงกับความเป็นจริงอย่างนี้มันก็ เออ! ก็มหัศจรรย์ มหัศจรรย์มันก็รู้ได้ นี่โลกียปัญญา คือปัญญาเรารู้โดยสามัญสำนึกไง

 

แต่ถ้าเราทำสมาธิเข้าไป ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันจะรู้อย่างนี้นะ มันจะมหัศจรรย์กว่านี้อีก มันจะมหัศจรรย์กว่านี้เพราะอะไร เพราะมันเป็นปัญญาจริงๆ ไง มันเป็นปัญญาที่เกิดจากเราเองไง มันเป็นปัญญาที่เราค้นคว้าจากใจของเราไง

 

ถ้ามันเป็นปัญญาที่ค้นคว้าจากใจของเรานะ ถ้ามันเป็นปัจจุบัน ถ้ามันจะมาซ้ำสิ่งที่เราได้ตรึกมาแล้วมันก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรเพราะว่าอะไร เพราะปัญญาก็คือปัญญา เงิน ๑ บาทของเรา กับเงิน ๑ บาทของคนอื่นใช่ไหม ถ้าเงิน ๑ บาทของคนอื่นมันก็ค่า ๑ บาทเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ ค่า ๑ บาทเหมือนกัน ถ้าเงินของเรา ๑ บาทเหมือนกัน แต่เงินของเรา เราได้ใช้ประโยชน์ได้

 

ปัญญามันเหมือนกัน ถ้ามันเหมือนกับของครูบาอาจารย์เรา แต่มันเป็นปัจจุบันกับเราไง มันเกิดขึ้นกับเราเดี๋ยวนี้ไง ก็เป็นเงิน ๑ บาทของเราไง เราจะใช้ได้ทันทีเลย เห็นไหม ถ้ามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้

 

พอเราฟังจากครูบาอาจารย์มาแล้วเราเอามาตรึก เอามาตรึก เอามาพิจารณาของเรา แต่มันยังไม่เกิดเป็นความจริงขึ้นมา เราทำความสงบของใจของเราเข้ามา อย่างที่ว่ามันให้เราพุทโธก็ได้ ให้เรากำหนดลมหายใจก็ได้ นี่ปัญญาที่เกิดขึ้น

 

นี่พูดถึงพอทำสมาธิมันก็ความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา แต่ถ้ามันสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนี้แล้วมันเป็นภาวนามยปัญญาหรือยัง เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป เวลาเราใช้ปัญญาแล้วมันแยกแยะ แยกแยะหมายความว่ามันมีความเข้าใจมากขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้นปั๊บ กลับไปทำพุทโธ กลับไปทำกำหนดลมหายใจ มันจะแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึงว่า เหมือนกับเด็กทำงาน เด็กทำงานมันก็ทำสักแต่ว่าทำ ทำให้มันเสร็จๆ งานไป แต่ถ้าผู้ใหญ่ทำงาน งานของเรา เราจะรอบคอบ เราจะดูแลของเราให้ชัด ดูแลของเราไม่ให้มีความผิดพลาด

 

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันใช้ปัญญาแล้วมันเหมือนผู้ใหญ่ เพราะมันรู้ รู้ว่างานของเรา รู้ว่ามันจะเป็นประโยชน์อะไรกับเรา การกลับไปพุทโธ กลับไปทำปัญญาอบรมสมาธิ มันจะทำได้ง่ายขึ้น มันจะดีขึ้น นี่ปัญญามันมีผลอย่างนี้ แต่ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริงนะ อย่างเช่นว่าต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน มันเป็นทางสองแพร่ง แพร่งหนึ่งคือโลกียปัญญา แพร่งหนึ่งเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าเราสงบแล้วเรารำพึงให้มันเป็นโลกุตตรปัญญา มันจะเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา นั่นน่ะสติปัฏฐาน ๔

 

จิตสงบ จิตจริง จิตจริงคือจิตเป็นสัมมาสมาธิจริง เวลาพิจารณาไปมันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง คือเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง

 

แต่ถ้าเขาบอกว่า “พิจารณาตามสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔” มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นการจินตนาการ มันเป็นการใช้ทางวิชาการสร้างภาพกันไป มันไม่มีความจริงหรอก ไม่มีความจริงมันถึงไม่รู้จริง ไม่มีความจริงแล้วมันอยู่กันแค่นั้น ถ้าไม่มีความจริงนะ เพราะว่าคำถามต่อไป เห็นไหม

 

“เพราะคิดว่า...” นี่เวลาเขาคิด เห็นไหม

 

“เพราะคิดว่าวันหนึ่งสมาธิจะทำให้เราเกิดปัญญา”

 

สมาธิก็คือสมาธิ เราทำสมาธิ เราทำความสงบของใจเข้ามาเป็นทางสองแพร่ง แต่ถ้ามันจะเกิดปัญญา ปัญญาเราต้องฝึกฝน ถ้าเราฝึกฝนนะ ถ้าปัญญามันยังไม่เกิดขึ้น ปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญาไม่เกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้น เราวางไว้ เพราะถ้าใช้ปัญญาไปบ่อยๆ ครั้งเข้ามันจะเหนื่อยล้า เวลามันเหนื่อยล้า มันเหนื่อยล้า เห็นไหม ดูความคิดปกติเราคิดแล้วเราก็เหนื่อย คนเรานักบริหารจัดการเวลาคิดคิดจนแบบว่าวิตกกังวล ทำให้ตึงเครียดมาก ถ้าเราปล่อยวางได้ ให้มันสงบก่อนแล้วกลับมาคิดใหม่ ปัญญาเราจะมีช่องทางออกไปมหาศาลเลย

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญาที่เราใช้ปัญญาแล้ว จิตนี้มันเป็นได้หลายอย่าง จิตนี้มันรอบรู้มากนัก เราก็คิดว่าถ้าเราทำสมาธิมากขึ้นแล้วมันจะเกิดปัญญา

 

ถ้าสมาธิ ทำสมาธิมากขึ้นมันต้องฝึกหัดใช้ปัญญาเหมือนกัน แต่เวลาเราใช้ปัญญาอย่างนี้แล้วแบบว่าสมาธิมันเสื่อมลง สมาธิมันใช้มากไปมันก็ฟั่นเฝือ ฟั่นเฝือพอเรามาคิดมันก็ตึงเครียด

 

ปล่อย ปล่อยแล้วกลับไปกำหนดพุทโธ พุทโธให้มันสงบเข้ามา วันไหนถ้าจิตมันสงบ จิตมันโล่งโถง พอเรามาใช้ปัญญามันจะชัดเจน พิจารณาไปมันจะแจ่มแจ้งของมัน มันจะมีคุณงามความดีของมัน ถ้าพิจารณาอย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเราแล้ว เป็นประโยชน์กับเราก็หมายถึงว่ามันจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาตามความเป็นจริง

 

ตามที่เขาบอกว่าพอฟังหลวงพ่อพูดแล้วถึงได้รู้ว่าเขาสอนผิดไง

 

ถ้าเขาสอนผิดสอนถูก คำว่า “สอนผิดสอนถูก” คำสอนนะ หลวงตาท่านสอนว่า คนเราถ้ามันยังไม่ปฏิบัติรู้ตามความเป็นจริงขึ้นมาจะไปสอนใคร เพราะเราไม่รู้จริง เราก็ต้องสอน เวลาเขาสอนไปเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ก็ต้องสอน พอสอนแล้วถามว่าทำไมสอนอย่างนั้น ก็บอกว่า อ้าว! ก็สอนตามตำรา เขาจะยกไปที่พระไตรปิฎก ยกไปที่ตำรับตำรา

 

ถ้าตำรับตำรามันก็เหมือนกับเราปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติ เราสงสัยเราก็เปิดตำราดู แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ท่านเคยผ่านวิธีการอย่างนี้มา ท่านเคยผ่านอุปสรรคอย่างนี้มา ท่านจะรู้เลยว่า ถ้าทำอย่างนี้ ต่อไปข้างหน้ามันจะเกิดอุปสรรคอย่างใด ถ้าทำอย่างนี้ ต่อไปข้างหน้ามันจะมีขวากหนามสิ่งใดกั้นเราอยู่

 

แต่ถ้าเราพื้นฐาน เหมือนกับการศึกษา ถ้าการศึกษาเด็กของเรา พื้นฐาน เราวางพื้นฐานไว้แข็งแรง เวลาเรียนต่อไปเขาจะเรียนได้คล่องแคล่วมากเลย แต่พื้นฐานอ่อนแอขึ้นไปมันไปได้ไหม ได้ แต่ไปข้างหน้าแล้วนะ มีอุปสรรคมหาศาลเลย เขาจะไปรอดไม่รอด จะไปต่างๆ มันยังมีอีกมหาศาล แต่ถ้าพื้นฐานเขาดี เราวางพื้นฐานให้เขาดี พอเขาไปเจอสิ่งใดเขาจะเอาตัวรอดของเขาได้

 

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ถ้าพื้นฐานของเราดี พื้นฐานของเราดี เริ่มต้นมันชัดเจนของเราไง ถ้าจิตเราโดยสามัญสำนึก โดยความรู้สึกนึกคิด ตรรกะมันคิดไปได้ แต่ถ้ามันคิดไปได้มันก็คิดว่ามันจะไปแล้ว แต่มันไม่มีพื้นฐาน คือจิตมันรักษาใจไม่เป็น รักษาจิตตัวเองไม่เป็น

 

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ ถ้ารักษาจิตเป็นนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คือทำสมาธิแล้ว ทำความสงบของใจ พอใจสงบขึ้นมา ใจมันสงบแล้ว ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนานะ คิดว่าความสงบนี้เป็นนิพพานเลยล่ะ

 

ถ้าใจสงบมันยังมหัศจรรย์ขนาดนั้น แล้วเวลาใจมันสงบแล้ว สิ่งใดถ้ามันมีความสงบ มีความเจริญขึ้นมามันก็เสื่อมเป็นธรรมดา ถ้าจิตสงบแล้วเดี๋ยวมันก็คลายตัวของมันเป็นธรรมดา ถ้าคลายตัวธรรมดาแล้ว เราจะทำจิตให้สงบต่อเนื่องไปได้อย่างไร ถ้าเราทำจิตให้สงบต่อเนื่องไปมันต้องมีการรักษา ถ้ามีการรักษามันก็แบบว่าชำนาญในวสี ชำนาญในการทำความสงบของใจ พอมันสงบขึ้นมาเราก็ทำต่อได้มากขึ้น ถ้าเราทำของเราได้ มันมั่นคงขึ้นมา เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น

 

พอจิตตั้งมั่นแล้ว เวลาเราออกไป เวลาเราออกฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นไป พื้นฐานมันดี พื้นฐานมันดีว่าเราชำนาญในวสี เราชำนาญในวสีมีพื้นฐาน เวลาเราออกไปใช้ปัญญาขึ้นมา ถ้าเราใช้ปัญญาไปแล้ว ถ้ามันเหนื่อยล้ามันก็กลับมาพักได้ กลับมาพักได้เพราะอะไร เพราะมันมีพื้นฐาน มันมีความชำนาญไง

 

แต่ถ้ามันไม่มีพื้นฐานนะ เวลาเป็นสมาธิก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วเวลามันฟลุก เราใช้คำว่า “ส้มหล่น” เวลามันฟลุก มันไปรู้ไปเห็นเข้ามันก็ตื่นเต้น พอตื่นเต้น ใช้ปัญญาไปรอบหนึ่ง พอรอบหนึ่งแล้วมันไม่สมุจเฉทฯ ไง มันตทังคะ มันปล่อยวางชั่วคราว จะกลับไปทำอีก ทีนี้ล้มลุกคลุกคลานเลย จะกลับมาสมาธิก็ละล้าละลัง แล้วจะทำให้มันดีขึ้นมันก็ทำไม่ได้ จะไปปัญญาหรือก็ไปไม่รอด จะฝึกหัดมันก็ไปไม่ได้ ข้างหน้าก็ไปไม่ได้ ถอยก็ถอยไม่ได้ เห็นไหม เพราะพื้นฐานไม่มั่นคง

 

ทีนี้ถ้าพื้นฐานมั่นคง ครูบาอาจารย์ท่านถึงได้เน้นกันตรงนี้ไง เน้นกันตรงนี้เพราะว่า ถ้าเราปฏิบัติ เริ่มปฏิบัติไปแล้ว เราปฏิบัติแล้วมันจะตลอดรอดฝั่ง มันจะทำให้เราเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำแล้ว ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ทางลัด เราทำแล้วมันทำไมต้องไปทุกข์ไปยาก

 

ทุกคนอยากสะดวก ทุกคนอยากสบาย ถ้าทุกคนอยากสะดวก ทุกคนอยากสบาย มันก็ไปเข้าทางกิเลส เข้าทางมาร มารมันต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะมารมันอาศัยหัวใจของสัตว์โลกเป็นที่อยู่อาศัย แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราจะไปฆ่า ไปทำลายมัน มันก็พลิกแพลง เห็นไหม พลิกแพลง กิเลสซ้อนกิเลส ธรรมชาติของเรามีกิเลสอยู่แล้ว ตัณหา ความรู้สึกนึกคิด จิตใต้สำนึกเรามีอยู่แล้ว แล้วยังมีตัณหามาซ้อนเข้าไป ตัณหาซ้อนตัณหาก็เลยไปกันใหญ่เลย ฉะนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติ กลับมาที่นี่

 

นี่คำถามของเขา ใช้ปัญญา ที่ว่าถ้าจิตออกจากร่างไปแล้วมันก็แค่ร่างคนตาย แล้วทำไมจิตนี้มันบังคับได้ล่ะ

 

บังคับได้เพราะเรามีสตินะ บังคับได้เพราะเรายังมีสติ เรายังมีสัมมาสมาธิ ยังเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าวันใด วันใดปฏิบัติมาแล้ว ทำมาต่อเนื่องแล้ว แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจ น้อยเนื้อต่ำใจนะ พอน้อยเนื้อต่ำใจ พอกิเลสมันได้ช่องนะ วันนั้นไอ้ที่ว่า “ทำไมจิตมันทำได้หลายอย่าง ทำไมมันมีปัญญาอย่างนี้” มันจะไม่เหลือเลยนะ พอมันไม่เหลือเลย ทีนี้มันมีแต่ความเร่าร้อน นี่เขาเรียกจิตเสื่อม มันจะมีแต่ความเร่าร้อน แต่ถ้าเรามีพื้นฐานที่ดี มันเป็นเรื่องธรรมดา

 

สิ่งใด สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้ทุกอย่างเป็นอนิจจังคือไม่คงที่ สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เห็นไหม สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง มันไม่คงที่หรอก พอมันเปลี่ยนแปลง หัวใจเราไม่มั่นคง พอหัวใจเราไม่มั่นคง เราหวั่นไหวไปกับมัน

 

แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง แต่เรามั่นคงของเรานะ เรามั่นคงของเรา สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ความทุกข์นั้นเป็นอนัตตา ความทุกข์นั้นมันแปรปรวน ความทุกข์มันแปรปรวน ความทุกข์ไม่อยู่กับเราตลอดไปหรอก ทุกข์ขนาดไหน ถ้าเรามีสติ แค่ทนไว้ ทุกข์นั้นก็จางคลายไป ถ้าเรามีปัญญาด้วย เราแยกแยะได้เลย เห็นไหม มันเป็นอนัตตา มันไม่อยู่กับเราหรอก

 

แต่ถ้าจิตมันเสื่อม มันไม่รู้สึกนึกคิดอะไรเลย มันย้ำคิดย้ำทำ ทั้งทุกข์ ทั้งทุกข์ทั้งลำบากลำบน แล้วถึงตอนนั้นเราจะเห็นโทษของมันเลย แต่ถ้าจิตมันดีอยู่ เราชนะมัน ถ้าชนะมันก็เป็นอย่างนี้ แล้วที่เราห่วง ห่วงตรงนี้ไง ห่วงที่ว่า “เพราะคิดว่าวันหนึ่งสมาธิจะทำให้เราเกิดปัญญา”

 

ถ้าฟังธรรมเข้าใจอย่างนี้ ถ้าไม่มีสมาธิ ถ้าเราทำความสงบของใจไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นโลกียปัญญา เพราะสมาธิมันทำให้กิเลสสงบตัวลง ถ้ากิเลสสงบตัวลงไม่ได้ มันก็ไม่เกิดสมาธิ

 

พอกิเลสมันสงบตัวลง คือตัณหาความทะยานอยากมันเบาตัวลง มันมีโอกาสให้ได้ใช้ปัญญา ปัญญาที่เป็นอริยสัจ ปัญญาที่ไม่เกิดจากอวิชชา ปัญญาที่ไม่เกิดจากการคาดการหมาย ไม่เกิดจากการอุปาทาน ถ้าปัญญามันออกฝึกหัด มันได้ออกใช้ปัญญาเป็นภาวนามยปัญญาชั่วครั้งชั่วคราว ฝึกหัดให้ชำนาญขึ้น แล้วพอมันไม่คล่องตัวก็กลับมาทำความสงบของใจต่อเนื่อง นี้คือการฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้ ปัญญามันจะเกิดกับสัมมาสมาธิ

 

ถ้าไม่มีสมาธิมันก็เป็นโลกียปัญญา ถ้ามีสมาธิมันจะเกิดภาวนามยปัญญา แต่ภาวนามยปัญญามันเกิดสมาธิที่สมดุล สัมมาสมาธิ เห็นไหม สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาปัญญา ปัญญามันเกิดอย่างนี้ มันฝึกหัดใช้ มันต้องฝึกหัด มันต้องฝึกหัด มันต้องมีการกระทำ ว่าอย่างนั้นเถอะ

 

ว่าทำสมาธิแล้วมันจะเกิดปัญญา เรารอไง โดยจิตใต้สำนึกของคนคิดว่าถ้ามันมีสมาธิแล้วเดี๋ยวปัญญามันก็จะเกิด พอทำสมาธิแล้วก็นั่งรอว่าปัญญาจะมาเมื่อไหร่ โดยทั่วไปคนมีความเข้าใจอย่างนี้ เขาว่าทำสมาธิแล้ว

 

คือเหมือนฝนมันจะตก เราก็จะมีภาชนะมารองน้ำฝน ฟ้าร้องตลอดเลย แต่ไม่มีฝนสักเม็ด ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เราก็เตรียมนะ เตรียมภาชนะไว้ใส่น้ำฝน ไม่มีฝนตกเลย ก็ทำสมาธิไง ทำสมาธิเราก็รอ ทำสมาธิแล้วเมื่อไหร่ปัญญามันจะเกิด นั่งรอเลยนะ เดี๋ยวสมาธิมันจะมา เตรียมโอ่งเตรียมไหไว้เต็มเลยนะ ไม่มีหรอก มันไม่มาสักที

 

แต่ถ้ามันจะเป็น ฝนมันจะตก ทำไมฝนมันตกล่ะ ฝนมันตกเพราะว่าเมฆมันรวมตัว เวลาเมฆมันมีน้ำหนักขึ้น เวลาเป็นหยดน้ำ มันก็ตกลงมา

 

นี่ก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิเราทำของเรา แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา เวลามันตกลงมา ฝนตกนะ มันได้ความชุ่มชื้น มันได้ทุกๆ อย่างเลย นี่ถ้าปัญญามันเกิด ถ้าปัญญามันเกิดอย่างนั้น ปัญญามันไม่เกิดลอยมาจากฟ้า ฉะนั้น สิ่งที่ว่ารอให้ปัญญามันเกิด

 

แล้วคำถามนี้ เขาบอกว่าคำถามนี้มันจะกลับมาใหม่เสมอ

 

คือสิ่งนี้คือจิตใต้สำนึกของเราคิดว่าทำสมาธิแล้วเดี๋ยวปัญญามันจะมา เหมือนกับผู้ที่ปฏิบัติ เราทำสมาธิแล้ว เราทำทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว แล้วก็นั่งรอๆ

 

นั่งรอมันไม่มาหรอก ถ้านั่งรอนะ รอวันเสื่อมอย่างเดียว มันมีเท่านี้แหละ มันถึงที่สุดแล้ว สูงสุดอยู่แค่นี้ แล้วก็มีแต่ถอย แล้วก็ทำให้มันสูงสุดอยู่แค่นี้ แล้วก็ถอย เพราะเราไม่ทำให้มันทะลุไปไง ทะลุคือน้อมไปเลย น้อมจิตไปเลย ถ้าจิตมันสงบ น้อมจิตให้ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต ให้มันตามความจริงขึ้นมา

 

สิ่งที่คำถามว่าเขาเห็นกายอย่างนี้แล้ว นี่มันเป็นโลกียปัญญาไง นี่คือปัญญาอบรมสมาธิไง ปัญญาอย่างนี้เราคิดขึ้นมา เราเทียบเคียงขึ้นมา แต่ถ้าเป็นปัญญาตามความเป็นจริงนะ มันจะพูดเป็นอีกอย่างหนึ่ง ปัญญาตามความเป็นจริง พอจิตมันเห็นกายมันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนกิเลสมาก

 

เวลาจิต ดูสิ เวลาเรานั่งสมาธิไปเกิดเวทนาเจ็บปวดมาก แต่ถ้าเราทำจิตสงบแล้วนะ พอจิตมันสงบ พอมันเกิดเวทนาขึ้นมา จิตที่สงบมันจับเวทนา จับเวทนา เช่น ความปวดเกิดที่เข่า มันก็จับเวทนาตรงนั้น นี่จับเวทนา แต่ถ้าจิตมันไม่มีสมาธินะ เวลาเวทนามันเกิดมันปวด ๒ เท่า ๓ เท่า มันปวดจนเราทนไม่ได้เลย

 

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันเกิดความปวดขึ้นมา เห็นไหม จิตสงบแล้วจิตจับเวทนา นี่จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง จิตสงบแล้วมันเห็นเวทนา มันจับเวทนาได้ เวทนาที่เป็นนามธรรม สิ่งที่ว่าเจ็บปวดนี่มันจับได้

 

จับแล้ว ความเจ็บปวดนี้อะไรมันเจ็บปวด ผิวหนังเจ็บปวด เนื้อเจ็บปวด เอ็นเจ็บปวด กระดูกเจ็บปวด เส้นเลือดเจ็บปวด เป็นไปได้ไหม ไม่ได้ แล้วความเจ็บปวดมันทำไมถึงปวดล่ะ ทำไมถึงปวด แล้วความปวดถ้ามันอยู่กับเรานะ เวลาเราลุกจากนั่งสมาธิไปแล้ว ความปวดก็ต้องอยู่หัวเข่าตลอดไป มันก็ไม่มี ก่อนที่จะนั่งมันก็ไม่มีเวทนา แล้วเวลาตอนนี้เวทนามันมาจากไหน

 

เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับเวทนา มันใช้แยกแยะ มันใช้ปัญญา ถ้าจิตสงบแล้วมันจับได้ ถ้าจิตไม่สงบนะ เวทนามันเกิดนะ โอ้โฮ! เวทนามันปวดมาก ทำไมมันปวดอย่างนี้ล่ะ มันปวดเป็น ๒ เท่า อู๋ย! ยิ่งปวดใหญ่เลย ปวดเป็น ๓ เท่า อู๋ย! ยิ่งปวดใหญ่ เลิกดีกว่า ลุกหนีเลย นี่เวทนาเป็นเรา เวทนาเป็นเราเพราะจิตเราไม่สงบ เวทนาเป็นเรา คือความเจ็บปวดเป็นเรา เราเจ็บปวด ความเจ็บปวดเป็นเรา เรามีในเจ็บปวด เจ็บปวดมีในเรา มันเป็นอันเดียวกัน

 

แต่พอจิตมันสงบแล้ว จิตมันสงบ จิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนาแล้ว แต่มันไม่เห็นไง พอจิตสงบแล้วไม่มีเวทนา ทุกอย่างไม่มีเลย โลกนี้ไม่มี ว่างหมด ปล่อยหมด เพราะสมาธิมันปล่อยเข้ามา พอสมาธิมันปล่อยเข้ามาแล้ว มันก็แค่นี้ไง เป็นสมาธิแล้วก็รอให้เกิดปัญญาไง ก็เป็นสมาธิอยู่นั่นแหละ

 

แต่ถ้าเรารำพึงไปนะ ถ้าสักนั่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง เวทนามันเกิดแล้ว จิตมันสงบมันก็จับเวทนา จับได้ ถ้าจิตสงบแล้วจับได้ จับเวทนา พอจับเวทนาได้ มันแยกแยะเวทนาได้ คือมันมีช่องว่าง มีระหว่างที่ให้เราใช้ปัญญาไง พอเราใช้ปัญญาไปแล้ว เวทนานี้เป็นนามธรรม เวทนานี้มันเป็นความหลง ถ้าจิตมันหลงใหล มันหลงไปคิดว่าเวทนา มันหลงใหลไปคิดเวทนา หลง เห็นไหม หลงแล้วไปคิดว่าเวทนาเป็นเรา มันก็ปวด หลงไปคิดว่าสิ่งนั้นเป็นความดี สิ่งนั้นเป็นความชอบ มันหลงในอารมณ์ มันหลงทุกอย่างเลย

 

แต่ถ้ามันมีสติแล้ว มันมีสมาธิ พอมันจับได้ แยกแยะแล้ว เวทนาจริงตามเวทนานะ มันมีของมัน อารมณ์ก็จริงตามอารมณ์ แต่เพราะมันมีความหลงมันถึงให้ค่าแล้วไปชอบมัน กระดูกก็เหมือนกัน ทุกอย่างมันมีของมัน มันเป็นความจริงของมัน แต่จิตของเราก็เป็นความจริงของจิต แล้วมันเกิดปัญญา มันพิจารณาของมัน มันแยกแยะของมัน มันปล่อยวางของมัน ถ้ามันสมดุลของมัน มันก็ปล่อยของมัน พอปล่อยมันก็ตทังคปหาน ปล่อยชั่วคราว

 

ปล่อยแล้วมีอะไรต่อ พอปล่อยแล้วมันก็ว่าง มันก็มีความสุขต่อ นั่งต่อไปอีก ๓-๔ ชั่วโมง เวทนามาอีกแล้ว เวทนามาอีกแล้วจับได้อีก พิจารณาไปอีก แยกไปอีกๆ พอพิจารณาแยกไปอีก ความหลงใหล ใครเป็นคนหลงใหล ใครหลงใหล จิตมันเห็นว่าความหลงใหลคือตัวจิต อ๋อ! พออ๋อ! ปล่อย ถ้ามันถึงที่สุดพิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป เวลามันขาด พิจารณาจนถึงมันขาดนะ ปัญญาจะเป็นแบบนี้ไง

 

เพราะเราห่วงตรงนี้ ห่วงที่บอกว่า ตอนนี้วันหนึ่งนั่งสมาธิจะทำให้มันเกิดปัญญา

 

รอวันหนึ่งไง รอสมาธิไปเรื่อยๆ แล้วปัญญามันจะเกิดต่อเนื่องไป แล้วคำถามนี้ก็วนมาตลอด คำถามนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ แล้วจะทำอย่างไรดี คำถามว่าจะทำอย่างไรดี

 

ทำแบบนี้ ทำแบบนี้หมายความว่า ขณะที่เราฝึกหัดมา เราฝึกหัดตอนที่ว่าปฏิบัติมานาน หนูหัดนั่งสมาธิมานานตามแต่ที่ครูบาอาจารย์สอน เขาก็สอนให้นั่งสมาธิ เขาก็สอนเด็กนักเรียนให้มีสมาธิ ให้มีการศึกษา สอนเพื่อเป็นคนดี แต่ถ้าในพระพุทธศาสนาสอนให้คนพ้นจากทุกข์

 

สอนให้เป็นคนดี ถ้าเราทำได้อย่างนั้นเราก็เป็นคนดีของสังคม ถ้าเราเป็นคนดีของสังคมมันก็เป็นว่าเป็นคนดี สังคมต้องการคนดี แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระกรรมฐาน ท่านพยายามปฏิบัติของท่านให้ท่านมีความรู้จริงในใจของท่าน ท่านถึงได้มาสอนลูกศิษย์ลูกหา

 

ในวงกรรมฐาน ในครอบครัวกรรมฐาน ถ้าใจของผู้ที่ปฏิบัติแล้ว ท่านมีความจริงของท่าน ท่านจะเอาความจริงของท่าน เอาประสบการณ์ของท่านมาสอนเราๆ

 

ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในประวัติครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา นั้นเป็นสมบัติของท่าน สมบัติของท่าน ท่านทำอย่างนั้นมา ดูสิ อาจารย์สอนนักเรียน ใครสอนวิชาใดเขาต้องเรียนตามวิชานั้นมา

 

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ครูบาอาจารย์ปฏิบัติมา ใครมีความชำนาญอย่างใดมา ท่านก็เอาความชำนาญของท่านสอนเรา เอาความชำนาญของท่านเทศนาว่าการ มันก็พิมพ์ออกมาเป็นตำรับตำรา เราก็ไปศึกษาตำรับตำรานั้นมา นั่นเป็นสมบัติของท่าน แล้วเราศึกษามาแล้วมันเป็นคติธรรม คติเป็นตัวอย่าง คติแบบอย่าง แล้วเราปฏิบัติเราต้องปฏิบัติตามความจริงของเรา ถ้าความจริงของเรา เราปฏิบัติของเรา เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเกิดขึ้นกับเรา เขาเรียกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมาตามความจริง เป็นจริงขึ้นมามันถึงจะรู้จริง ถ้ารู้จริง สิ่งที่เราสงสัยๆ มามันก็ปล่อยวางมาๆ มันเป็นความจริงเข้ามาในหัวใจ

 

หัวใจ ภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปริยัติก็ต้องมีการศึกษา ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา การศึกษานั้นเพราะศึกษาแล้วเป็นวิทยาศาสตร์ เราดูแผนที่เลย แล้วเราเดินทางในแผนที่นั้น เราจะไม่ยอมทิ้งแผนที่นั้นเลย ไม่ยอมทิ้งแผนที่นั้น ถ้าเราอ่านแผนที่แล้วแผนที่ที่เขียนถูกต้อง เราอ่านตามนั้น ธรรมและวินัยเป็นแบบนั้น มันตามอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าหัวใจเราล่ะ หัวใจเรา มันอยากให้สั้น อยากให้ระยะทางใกล้ขึ้น ยาวขึ้น นี่เราคิดเองๆ

 

ทีนี้เวลาเราปฏิบัติ แผนที่เครื่องดำเนินมันถูก ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันถูก แล้วเวลาเราจะปฏิบัติ เรามีกิเลส กิเลสมันจะให้ค่า มันจะพลิกแพลง แล้วถ้าเราวางไว้ก่อน แผนที่เป็นแผนที่ เราดูแล้วเข้าใจแล้ว แล้วเวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมาเลย ถ้าเป็นจริงขึ้นมา ความจริงขึ้นมา เป็นอย่างนี้ขึ้นมาปั๊บ อันเดียวกัน อันเดียวกันอย่างไร อันเดียวกันมันต้องเป็นความจริงขึ้นมานะ

 

นี่พูดถึงว่า สิ่งที่ว่าทำไมจิตมันเป็นได้หลากหลาย จิตมันเป็นได้หลายอย่าง ถ้าคนมีสติมีปัญญานะ มันจะเห็นความสำคัญตรงนี้มาก คำถามมันสะเทือนตรงนี้ “ทำไมจิตเราเป็นได้หลายอย่าง ให้นั่งก็ได้ ให้เดินก็ได้ กำหนดลมหายใจเข้าออก”

 

เอาอย่างใดอย่างหนึ่งขณะปฏิบัติเนาะ แต่ว่ามันทำได้หลายอย่างจริงๆ จิตนี้มหัศจรรย์มาก เป็นได้ ดีก็ได้ ร้ายก็ได้ ดีนี่ดีได้สุดๆ เลย เวลาคนดี เราเห็นคนดีนะ โอ้โฮ! มันดีได้ขนาดนั้นนะ เวลาเห็นคนที่ร้าย โอ้โฮ! ร้ายสุดๆ เลย จิตนี้มันเป็นได้ขนาดนั้น

 

เวลาดีนี่เทวดาสู้ไม่ได้ เวลาร้ายนี่เปรตก็สู้ไม่ได้ ร้ายนัก แล้วเวลามันเป็นในใจเราล่ะ ใจเราจริงๆ ใจเรานี่แหละ มันก็เป็นทั้งดีและร้ายได้ ขณะที่มันดี เราควรจะส่งเสริมทำให้ดีขึ้นต่อเนื่องๆ แล้วทำให้ดีถึงดีที่สุดเลย ถ้าดีที่สุด ภาวนาไป ถ้าปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างนี้ ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างนี้แสดงว่ามันมีประสบการณ์ ทำได้จริงมันก็เป็นประโยชน์กับเราแล้วล่ะ

 

จิตนี้เป็นได้หลายอย่างจริงๆ แต่มันรู้ยังไม่จริงไง รู้ยังไม่จริงหมายถึงว่า สิ่งที่ว่าหลวงพ่อเทศน์อย่างนี้ แล้วตรรกะ คือเอาสิ่งที่เป็นธรรมมาพิจารณาๆ เอาสิ่งที่เป็นธรรมมาพิจารณา คำว่า “เอามาพิจารณา” มันยังไม่ใช่เรา

 

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา ถ้ามันเป็นเรานะ มันเป็นเรา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นไหม เราจะฟังธรรมของใครมาก็แล้วแต่ เวลาเราปฏิบัติของเราไป ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เพราะธรรมอันนั้น พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

 

พุทธะ เห็นไหม เราพุทโธๆ เราได้แต่ชื่อมา แต่เวลาพุทโธจนละเอียดขึ้นไป พอไปเห็นพุทธะจริง โอ้โฮ! เราทึ่งเลยนะ เราทึ่ง แล้วเราใช้ปัญญาไป ใช้ปัญญาไปมันแยกแยะไป

 

เวลาหลวงตาท่านพิจารณาไป เวลากิเลสมันขาด กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่าๆ มันซาบซึ้งมาก มันซาบซึ้งในหัวใจนี้สุดๆ เลย

 

ฉะนั้น ถ้าจิตใจของเรามันเป็นขาขึ้น มันเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติได้จริง ทำได้สะดวกจริง ให้ทำต่อเนื่องไป สิ่งที่เราทำมาแล้ว ทำมาแล้วนี่ประสบการณ์ของจิต ถ้าประสบการณ์ของใคร ปฏิบัติไปยังไม่รู้ว่าสิ่งใดถูก เราก็ปฏิบัติของเราไป ถ้าปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเราไปถึงแนวทางที่ถูกต้อง เราจะทิ้ง ทิ้งสิ่งที่เราเคยปฏิบัติมาที่เราว่ามันไม่ใช่ทาง มันไม่ถูกต้อง เราก็วางไว้ แล้วเราปฏิบัติต่อเนื่องให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไป เราทำของเราต่อเนื่องไป ไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ต้องไปคิดถึงสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว สิ่งที่ทำมาแล้ว ทุกคนทำความผิดมาก่อน คนที่ทำงานไม่เคยผิดพลาดมาเลยไม่มี

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มีครูมีอาจารย์สอน แต่เขาสอนในทางที่ผิดก็เชื่อเขา ปฏิบัติไปล้มลุกคลุกคลานอยู่ ๖ ปี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาตรัสรู้โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

 

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราปฏิบัติ มันยังมีวาสนา วาสนาหมายความว่า เราเกิดเป็นชาวพุทธ เรายังมีจิตใจฝักใฝ่กับเนื้อหาสาระในพระพุทธศาสนา เนื้อหาสาระคือสัจธรรม ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คือเนื้อหาสาระของศาสนา

 

สิ่งที่เป็นศาสนวัตถุ วัดวาอาราม สิ่งที่เป็นวัฒนธรรม สิ่งที่เป็นศิลปวัฒนธรรม นั้นมันเป็นศาสนวัตถุ ศาสนพิธี นั้นเป็นเครื่องประกอบของศาสนา

 

ตัวศาสนาจริงๆ คือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงไปแล้ว ดูสิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือสัจธรรม สัจจะอันนั้นสัจจะโดยทางทฤษฎี เราปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมามันเป็นเนื้อหาสาระ เป็นความจริงของเราขึ้นมา เห็นไหม

 

เราถึงเป็นคนมีวาสนาที่เราจะปฏิบัติตามความเป็นจริง ได้ธรรมแท้ๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเป็นจริงอันนี้ นี่พูดถึงการปฏิบัติเนาะ

 

จิตเป็นได้หลายอย่าง จิตเป็นได้หลายอย่างมาก แต่กิเลสมันยังปิดบังไว้ ปิดบังไว้ เห็นไหม เรานั่งสมาธิต่อไปให้เกิดปัญญาขึ้นไป เพราะปัญญาที่มันเกิดขึ้นมากไปกว่านี้ เขาอยากจะมีความรู้มากกว่านี้ไง อยากจะมีความรู้มากกว่านี้ เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา

 

ใครเห็นภาวนามยปัญญานะ ภาวนามยปัญญาตามความเป็นจริงแล้ว อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบัน ปัญญาแท้ๆ เกิดตรงนั้น ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา แล้วถ้ามันสมบูรณ์ของมัน พอสมบูรณ์ของมันก็สมุจเฉทปหาน เห็นไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่อีก

 

ถ้าบุคคล ๔ คู่ ปัญญา ๔ คู่ ถ้าปัญญา ๔ คู่เกิดขึ้นมากับเราจริงนะ สิ่งที่ถามมามันเป็นหญ้าปากคอก เป็นการเริ่มต้นปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติไปตามความเป็นจริงแล้วมันจะเกิดปัญญา ๔ คู่

 

อย่างที่ว่าพิจารณาเวทนานั่นน่ะ ถ้าพิจารณาเวทนาตามความเป็นจริง พอเวลามันสมุจเฉทปหานนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ มีเวทนา ก็เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา สักกายทิฏฐิ ๒๐ เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ๑๐ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ๒๐ ถ้าสักกายทิฏฐิอย่างนี้มันขาด สมุจเฉทปหาน ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ปัญญาแท้ๆ มันเป็นปัญญาอย่างนี้

 

แต่เขาบอกว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่พูดกันไป พูดกันแต่ปาก แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วมันเป็นความจริงจากภายใน มันเป็นอกุปปธรรม มันเป็นธรรมแท้ๆ ธรรมแท้ๆ ธรรมความเป็นจริงจากการปฏิบัติ เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของจิตยิ่งมากกว่านี้

 

เขาบอกจิตมหัศจรรย์มาก เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

 

แต่ถ้ามันเป็นบุคคล ๔ คู่ มันเปลี่ยนแปลงขณะจิตอีกมหาศาลเลย แล้วถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วนะ พอบอกที่สุดแห่งทุกข์ๆ พอคนฟังบอก อื้อฮือ! มันแบบว่ามันสูงส่งเกินไป มันสุดมือเอื้อม มันสุดขอบฟ้าที่เราจะมีโอกาสเป็น แต่ไม่รู้หรอกว่าใจของเรา ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป ความทุกข์ในใจถ้ามันสลัดคายออก นั่นน่ะความจริงอยู่ตรงนี้

 

มันเป็นไปได้ไง มันเป็นไปได้ที่ใครทำได้จริง มันเป็นไปได้จริง เพราะมันมีเหตุมีปัจจัยจริงๆ มันมีหัวใจจริงๆ มันมีทุกข์จริงๆ แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจก็มีจริงๆ แล้วเราทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าทำได้จริง เราจะสมประโยชน์ตามความเป็นจริงของเรา เอวัง