เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ ม.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ฟังธรรมเพื่อให้หัวใจมันชื่นบาน ให้หัวใจมันเข้มแข็งให้หัวใจมันมีกำลังใจไง มีกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติถ้าเราไม่มีกำลังใจในการประพฤติปฏิบัตินะ

เวลาหัวใจมันกัดเพชรขาดหลวงตาท่านชมหลวงปู่ขาวมากเวลาหลวงปู่ขาวท่านจะออกประพฤติปฏิบัติญาติพี่น้องอ้อนวอนไว้เลยว่า"อยู่ก็สุขสบายแล้วทำไมต้องออกไปด้วย ทำไมต้องไปทุกข์ไปยาก"

หลวงปู่ขาวท่านตั้งสัจจะในใจเลย "ถ้าก้าวออกจากวัดนี้ไป ถ้าไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์จะไม่เหยียบกลับมาในหมู่บ้านนี้อีกเลย" ท่านคิดอย่างนั้นเลยนะ แล้วท่านธุดงค์ของท่านไปถึงที่สุดท่านถึงต้องกลับไปโปรดญาติโยมของท่านเห็นไหม

เพราะว่าหลวงตาท่านชมบ่อยว่าหัวใจหลวงปู่ขาวท่านเหมือนกับกัดเพชรขาดเลย คำว่า "กัดเพชรขาด" มันเคี้ยวเพชรแหลกเลย เพชรมันแข็งขนาดไหน แต่ถ้าเราเคี้ยวมันแหลกได้ จิตใจเราขนาดนั้น เราจะทำของเรา นี่ฟังธรรมๆเพื่อเหตุนั้น

ถ้าฟังเพื่อเหตุนั้นนะ วันนี้วันพระ สิ่งที่วันพระถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ วันโกนวันพระนี่เราเนสัชชิกเลย เราถือปฏิบัติตลอดวัน ถือปฏิบัติตลอดเต็มที่ มันต้องมีหนักมีเบาไงเราก็ภาวนาของเราอยู่แล้ว วันปกติเราก็ภาวนาอยู่แล้ววันพระก็ภาวนาของเราปกติไง แต่ขณะที่เราออกธุดงค์กันมันเข้มข้นตลอดเวลา ถ้าวันพระ เป็นเรื่องปกติที่คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้นอน คืนนั้นทั้งคืนเร่งความเพียรต่อสู้กับกิเลสของเรา นี่ถ้าเราต่อสู้ของเรานะ เราทำความจริงแบบนี้เพื่อหวังมรรคหวังผลไง

เราไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติไป เขาปฏิบัติกันทางโลกเขาปฏิบัติเพื่อเป็นความสุข ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันของเขา เขาทำเพื่อความสงบระงับของเขา ไอ้นั่นมันก็อำนาจวาสนาของคน คนถ้ามีความคิดอย่างนั้น มีความรู้สึกอย่างนั้นเขาทำของเขาอย่างนั้น เขาก็ได้ประโยชน์ของเขาอย่างนั้น

แล้วบอกว่า"แม้แต่ปฏิบัติธรรมเราเป็นชาวพุทธ ผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติมีแต่ความทุกข์ความยาก เราได้ประพฤติปฏิบัติแล้วเรามีความสุขความสงบระงับในหัวใจของเรา" เขาบอกเขาพอใจของเขา เห็นไหมพระพุทธศาสนาสอนแค่นั้นหรือ

พระพุทธศาสนาสอนมากกว่านั้น สอนเรื่องมรรคเรื่องผลถ้าเรื่องมรรคเรื่องผล คนที่เขาจะเอาจริงเอาจังของเขาเขาต้องทำเข้มข้นของเขา ถ้าเขาทำเข้มข้นของเขา เราก็ต้องสาธุไปกับเขา

แต่เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราทำของเราโดยปกติของเรา เห็นคนเขาเข้มข้นขึ้นไป "ทำไมต้องเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำไมต้องทำให้มันลำบากเปล่า ทำไมต้องทำขนาดนั้น"...นี่เพราะเขาไม่เคยปฏิบัติไง เขาไม่เคยรู้เห็นตามความเป็นจริงไง

ถ้าเขารู้เห็นตามความเป็นจริงนะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรคมันแตกต่างกันอย่างไร มันต้องมีความมุมานะอย่างไร มันถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้อย่างไรถ้ามันถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม

ดูสิ เวลาสัตว์ ดูงูเวลามันจะกินเหยื่อของมันมันขย้อนของมันเข้าไปทั้งตัวเลยมันขย้อนของมันเข้าไปทั้งตัวนะ งูน่ะแล้วเวลาเรากินข้าว เรากินอาหารของเรา อะไรที่มันเป็นกระดูก เราก็กินไม่ได้หรอก เรากินแต่เนื้อของมันเราต้องแยกต้องแยะของเรา เราต้องพิจารณาของเรา

นี่เราปฏิบัติของเรา เราจะเอากำปั้นทุบดิน"ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำอย่างนั้นแล้วเป็นการปฏิบัติธรรม" มันก็สาธุ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม ดีกว่าคนที่เขาไม่ประพฤติปฏิบัติเวลาคนเขาบอกว่า"เราเป็นชาวพุทธๆ" แค่ศีล ๕เขาก็รักษากันไม่ได้แล้ว เวลาเขาเสียสละของเขาก็บอกว่า "ของเราแสวงหามา เราเสียสละไปทำไม เราแสวงหามาก็ต้องเป็นของเราสิ แล้วยิ่งได้มากเท่าไรก็เป็นของของเราทั้งนั้นแหละ เราเสียสละไปมันจะมีประโยชน์สิ่งใด"

แต่ถ้าเขามีศีล เขามีทานของเขา แล้วเขาเริ่มต้นภาวนาของเขา แค่ภาวนานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์"อานนท์ เธอบอกบริษัท ๔ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย เสียสละทานเป็นอามิสบูชา เธอจงปฏิบัติบูชาเถิด"

เราก็ไปภูมิอกภูมิใจกันนะว่าเราได้ปฏิบัติแล้วเราได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทันหมด แล้วก็อยู่แค่นั้นแหละแค่นั้นแล้วมันแค่ไหนล่ะ

ดูนะ ดูทางโลกเขา เวลาเขาทำไร่ทำสวนกันเขามีต้นกล้า ร้านชำที่เขาขายกล้าพันธุ์ เห็นไหม ดูสิยางพารา กล้าพันธุ์ต่างๆ ที่เขาขายเขาร่ำรวยนะ เขาขายกล้าพันธุ์ เขาเพาะขึ้นมาเป็นกล้าพันธุ์ เขาขายจนร่ำจนรวย นี่มันก็ขั้นตอนหนึ่ง ไอ้พวกเราทำไร่ทำสวนเราไปซื้อกล้าพันธุ์ของเขามา เราต้องมาเตรียมดินของเราขึ้นมา ต้องมีพื้นที่ของเรา เราจะทำไร่ทำสวนของเรา แล้วเอามาปลูกแล้วเราต้องมาดูแลรักษากว่ามันจะเติบโตขึ้นมา ถ้ามันเติบโตขึ้นมาแล้วมันจะให้ผลหรือไม่ให้ผลเรายังไม่รู้เลย ไปซื้อกล้าพันธุ์ของเขา"อย่างนี้ ๑๐๐เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้มันจะให้ผลผลิตมาก" เวลาปลูกขึ้นมาแล้ว ถ้าเขาคดเขาโกงมา เขาเอากล้าพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพมา มันมีแต่ต้น มันไม่ออกดอกออกผลให้เรา แล้วเราปลูกของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เรื่องกล้าพันธุ์นี่เราเป็นชาวพุทธเรามีศรัทธาความเชื่อของเรา แล้วความเชื่อของเรากว่ามันจะมาบ่มเพาะ กว่ามันจะเติบโตขึ้นมา เวลาเขาทำไร่ทำสวนของเขา เขาต้องดูแลของเขา เขาต้องรดน้ำพรวนดินของเขา ต้องให้ปุ๋ยของเขา หัวใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีศรัทธาความเชื่อเราจะเอาความมั่นคงในใจของเราเราจะดูแลหัวใจของเราอย่างไร

ถ้าเราดูแลหัวใจของเรานะเรามีสติปัญญาของเรา เราทำขึ้นมาคนที่เขาไปศึกษาเขาไปดูงาน แต่เขายังไม่ได้ทำ เขาจะไม่เหน็ดเหนื่อยขนาดนั้นหรอก แต่เวลาเราดู ฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลงไปเดี๋ยวหน้าแล้งเดี๋ยวหน้าฝน เดี๋ยวหน้าหนาว แล้วผลผลิตของเราล่ะแล้วต้นไม้เรามันจะทนฤดูกาลอย่างไรหน้าแล้งเราจะให้น้ำมากน้อยขนาดไหน เวลาหน้าฝนฝนตก มันต้องระบายน้ำออกเพราะเดี๋ยวน้ำขังมันจะตาย เวลาหน้าหนาวขึ้นมามันแห้ง ลมมันพัดแรงเราจะปกป้องของเราอย่างไร นี่เราทำของเราอยู่ทุกวันๆ เรารู้ของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติเราก็ทำแต่อย่างนั้นล่ะ ทำซ้ำๆซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นล่ะซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น ไม่มีอุบายวิธีการเลยหรือ เราจะเซ่อขนาดนั้นให้กิเลสมันหัวเราะเยาะหรือ มันก็ต้องมีพลิกแพลงของเรามันต้องมีอุบายของเรา เราทำของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเราเห็นไหม ฟังธรรมๆเพื่อเหตุนี้ เหตุนี้เพราะเหตุใด

เหตุนี้เพราะครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมาท่านแค่ก้าวเดินก็รู้แล้วว่าคนนั้นปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ แล้วเวลาก้าวเดินไปแล้วเวลาทำต่อไป ต่อเนื่องขึ้นไป เขาจะมีสติปัญญาขนาดไหน ถ้ามีสติปัญญาขนาดไหนนะ สติ มหาสติ มันรู้ได้เลยล่ะ แล้วเวลารู้ได้ขึ้นมาเวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันจะเป็นความจริงในหัวใจขึ้นมา นี่ถ้าเป็นความจริงในหัวใจ

ถ้ามันจะลงทุนลงแรงอย่างไร ครูบาอาจารย์ท่านเปิดโล่งเลยนะ เปิดโล่งเอาเลย เต็มที่เลยเต็มที่เลย เต็มที่ให้เราได้ความเป็นจริง แล้วเต็มที่แล้วมันมัชฌิมาปฏิปทามัชฌิมาปฏิปทาของใคร มัชฌิมาปฏิปทาของโสดาบัน มัชฌิมาปฏิปทาของสกิทาคามี มัชฌิมาปฏิปทาของอนาคามี มัชฌิมาปฏิปทาของอรหัตตมรรค มันแตกต่างกันทั้งนั้นแหละสติ มหาสติ มันเป็นปัญญาญาณ มันลึกซึ้งอย่างไร แล้วขั้นตอนของมัน มันเปลี่ยนแปลงของมันขึ้นไปอย่างไร

ถ้ามันเปลี่ยนแปลงขึ้นไปเราต้องมีกำลังใจของเรา แล้วเรามีกำลังใจแล้ว เวลาปฏิบัติไปนะ ดูสิคนปฏิบัติ เวลาเราทุกข์เรายาก เราทุกข์จนเข็ญใจ เราก็ว่าเรามีที่พึ่งอาศัยเราก็พอใจของเราพอมีที่พึ่งอาศัยแล้วทุกข์มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นแหละทุกข์มันยังไม่ได้กำจัดไปเลย ถ้าเรามั่งมีศรีสุขขึ้นมาแล้ว ทุกข์มันละเอียดขึ้นไป มันก็แสวงหาขึ้นมา มันทุกข์ไปทั้งนั้นแหละ

เราก็คิดของเราอย่างนั้น เวลาปฏิบัติแล้วถ้าเราทำสมาธิได้ เราทำสิ่งใดแล้วเราจะมีความสุขของเราเราจะพัฒนาการของเราขึ้นไป เวลามีมันก็มีจริงๆ อย่างนั้นแหละ มันก็เป็นความสุขจริงๆอย่างนั้นแหละ แต่พอมีความสุขแล้วสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา มีสมาธิขึ้นมา สมาธิก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดาถ้ารักษาไม่เป็น

ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไปแล้ว ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมา ปัญญามันก้าวเดินไปมันก็แหม! มีความสุขมาก มีความพอใจมาก มีเหตุมีผลเวลาสมาธิมันเสื่อมไป ปัญญามันก็เป็นสัญญา สัญญาขึ้นมามันก็เหมือนกับเอาสีข้างเข้าถูกสีข้างถูอยู่นั่นแหละสีข้างถูไปถูมามันมีแต่เลือดซิบๆ มันไม่มีอะไรเป็นความสุขใจเลย แล้วคนที่อยากได้อยากดีมันก็มีแต่ความขวนขวาย มีแต่ความพยายามไป

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าเอาสีข้างถูอย่างนั้นมันมีแต่บาดแผล ถ้าถอยออกมาซะ มาพิจารณาว่ามันควรทำอย่างไรต่อไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันใช้ปัญญาของมันไปแล้ว ถ้ามันไปไม่ได้ก็กลับมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถอยออกมาซะถอยออกมา ออกมาเพื่อพัฒนา เพื่อความสดชื่น เพื่อความเข้มแข็งของใจ ถ้าใจมีความเข้มแข็งแล้วกลับไป กลับไปนะ ถ้าเรารื้อค้นขุดคุ้ยหากิเลสเจอ พอหากิเลสเจอ เราจับมันมาขังไว้แล้วเราจะพิจารณาเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ถ้าเรายังขุดคุ้ยหากิเลสไม่เจอนะ "พอสงบไปแล้วก็ว่างไปหมดเลย จะพิจารณาอย่างไรก็พิจารณาไม่ได้ จะจับสิ่งใดก็ไม่เห็นมีสิ่งใดชัดเจน"...นี่เพราะมันยังขุดคุ้ยหากิเลสไม่เจอ

ถ้ามันขุดคุ้ยหากิเลสเจอ เห็นไหม เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริงแล้วเวลาเจอแล้วเราได้ขังมันไว้ เราได้จับมันไว้ เราได้พิจารณามันแล้วพอสมาธิมันอ่อนแอลง การใช้ปัญญานั้นมันก็ไม่ก้าวเดิน นี่เราถอยมาซะ เราถอยมาพุทโธๆ เราถอยมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น พอปล่อย มันก็วิ่งเข้าหางานเลย คำว่า "วิ่งเข้าหางาน" คือเราขังมันไว้แล้วนี่ถ้าเราขังไว้แล้วนะ พอปล่อยมันก็ไปทำงานอยู่แล้วแต่นี่ไม่ทันปล่อยมันจะไปก่อนไงเพราะอะไร เพราะจิตใต้สำนึกของเราเห็นไหม

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เวลาทำสมาธิขึ้นมา เมื่อก่อนนี้เราเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ เราก็ใช้ปัญญาของเราเราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นปัญญาแล้ว สิ่งนั้นมันเป็นตรรกะ สิ่งนั้นมันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องอวิชชาอวิชชาไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราตรึกในธรรมๆ มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า"ปัญญาอบรมสมาธิ" คือมันพิจารณาแล้วมันปล่อยมันวางของมัน เห็นไหม รู้ตัวทั่วพร้อมๆ มันก็ปล่อยวางของมัน

ถ้าปล่อยวางมีสติสัมปชัญญะมันก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันขาดสติไป มันบอกว่า "เราใช้ปัญญาแล้ว" นี่ก็เป็นมิจฉา มิจฉาเพราะมันเข้าใจผิดไง พอเข้าใจผิดมันก็บอกว่า "นี่ปล่อยวางแล้ว อย่างนี้มันก็เป็นนิพพาน เป็นความว่าง" แล้วเดี๋ยวกิเลสมันฟูขึ้นมา ทำไมนิพพานมันยังมีกิเลสอยู่ล่ะทำไมนิพพานให้อวิชชามันกระทืบเอาล่ะ

ถ้ามันมีสติปัญญา มันพิจารณาของมันไปถ้ามันสงบระงับเข้ามา มันสงบระงับเข้ามา เรามีความสุข มีความสงบระงับเข้ามา ถ้าเรารื้อค้นไม่ได้ เราขุดคุ้ยหากิเลสไม่เจอมันก็ไม่เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง คำว่า"เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เราปฏิบัติโดยแนวทางสติปัฏฐาน ๔"...มันเป็นความรู้สึกนึกคิดไปทั้งนั้นแหละ มันเป็นเหมือนงูจะกินเหยื่อ มันจะกินหนูมันจะกินไก่ กินอะไรต่างๆ มันกินทั้งตัวไง ทั้งก้าง ทั้งกระดูก ทั้งขน ทั้งอะไร มันกินไปหมดแหละ เหมือนกันถ้าเราจะใช้ปัญญาของเราๆ...ปัญญาตรงไหนล่ะ มันเหมือนงูกินเหยื่อ

แต่ถ้าเราเป็นมนุษย์ใช่ไหมดูสิ แม้แต่สัตว์นะเวลาไก่เขาจะเอามาเป็นอาหาร เขาเชือดแล้วเขาต้องถอนขนมัน เขาต้องผ่าท้อง เขาต้องเอาเครื่องในต่างๆ เขาต้องทำความสะอาดของมันมาแล้วเราค่อยมาปรุงเป็นอาหาร พอปรุงเป็นอาหารเสร็จแล้วเราจะกิน แต่มีกระดูก เรายังต้องปลิ้นกระดูกออกเรากินแต่เนื้อของมัน เราไม่กินกระดูกมัน เพราะกระดูกมันจะไปตำคอ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วมันรื้อมันค้นของมัน ถ้าไปเห็นตามความเป็นจริงเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน๔ ตามความเป็นจริง นี่สติปัฏฐาน ๔จริง จิตมันจริงเพราะจิตมีสัมมาสมาธิ พอจิตมีสัมมาสมาธิ จิตมันตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์ แต่ถ้าจิตมันไม่ตั้งมั่น ดูสิ มันสกปรก มันสกปรกไปหมด ดูความรู้สึกนึกคิดเราก็ว่าว่างๆ ว่างๆ เราก็ตรึกใช้ปัญญาของเราไป เห็นไหมอวิชชา

อวิชชาคืออะไร อวิชชาคือว่าคนเราไม่รู้จักความเป็นจริง ไม่รู้จักตัวตนของเรา มันจะไปทำอะไร คนเรายังไม่รู้จักตัวเราเองเลย แล้วเราอยู่ไหนล่ะ เราทำอะไร เราจะได้อะไร

แต่ในปัจจุบันนี้เราเป็นคน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิตมันเกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ การเกิด กำเนิด ๔ เกิดมาเป็นคน คนก็คิดอย่างนี้ คิดเหมือนคน นี่จริงตามสมมุติ โลก จริงตามสมมุติ

แต่ถ้าเราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราตรึกในธรรมๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นปัญญาๆอย่างนั้น มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นโลกียปัญญา

เราพิจารณาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครพิจารณา? ใจมันพิจารณา พิจารณาแล้วมันสลดสังเวชมันธรรมสังเวช มันปล่อยมันวางขึ้นมามันปล่อยวางความเป็นภาระรุงรังขึ้นมา ปล่อยขันธ์ รูปเวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นี้มันปล่อย มันปล่อยมันก็เป็นสมาธิไง พอเป็นสมาธิ มันมีพลังงานไง

นี่มีพลังงานถ้ามันออก จิตมันสงบ นี่จิตตามความเป็นจริง แล้วมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความจริง นั่นล่ะ! นี่! ถ้าเห็นอย่างนี้มันไม่กินเหยื่อเหมือนงูแล้ว

งูมันกินเหยื่อ มันขย้อนเข้าไปทั้งตัวเลย จะกินสิ่งใดมันก็กินทั้งหมดเลย แต่ของเรา เราเป็นมนุษย์เรามีสติมีปัญญาอะไรที่มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นโลกียปัญญาปัญญาสามัญของเรา นี่เป็นโลกๆเขาเรียก "โลกียปัญญา" โลกียปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ แต่เวลาศึกษาก็ศึกษาจากโลกียปัญญา ศึกษาจากมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ จะมาประพฤติปฏิบัติธรรมไหม มนุษย์ถ้าไม่มีความมั่นคงมันจะมาค้นคว้าในใจเราไหม

ถ้าเราค้นคว้าในใจของเราขึ้นมา เราแยกแยะของเราขึ้นมา มันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่จิตมันจริงไง นี่สมาธิจริงๆ ไง แล้วพอมันไปรู้ไปเห็นขึ้นมามันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนนี่ไง ที่ว่าขุดคุ้ยหากิเลสเจอไง ถ้าหากิเลสเจอนี่มันจับไว้แล้ว มันเอามาขังไว้แล้ว เพราะจิตมันจริง เห็นตามความเป็นจริง

พอเห็นตามความเป็นจริงแล้วพอจิตสงบแล้วถ้ามันพิจารณาของมันบ่อยครั้งเข้าๆสมาธิมันก็อ่อนแอลง กิเลสมันก็ขี่คอเอา ทีนี้ต่อไปก็เป็นสีข้างแล้ว สีข้างเข้าถู เขาเรียกว่าสัญญาแล้ว จากสิ่งต่างๆ ที่เป็นความจริงมันเป็นสัญญาไง มันเป็นความจำได้หมายรู้ เราเคยรู้เคยเห็นมาไง จะเอาให้ได้ๆ...ไม่ได้หรอก

ถ้าเราถอยมาซะ เรามีสติปัญญา เรามากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา เห็นไหมถอยออกมา ถอยออกมา พอจิตมันได้พักของมัน มีกำลังของมัน พอปล่อย มันเข้าหางานเลย เพราะมันขุดคุ้ย มันหาเจอมันเอามาขังไว้ เอาอวิชชา เอาความไม่รู้มาขังไว้ นี่เป็นความจริงอย่างนี้

ถ้าเห็นความจริง มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตทังคปหานปล่อยแล้วปล่อยเล่าๆ ถ้ามีสติปัญญา นี่ก้าวเดินอย่างนี้ ในการปฏิบัติก้าวเดินอย่างนี้ ถ้ามันก้าวเดินไป มันเดินเป็นนะ เราเดินเป็น เราทำงานได้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราถูกต้องตามอริยสัจเราไม่ใช่เอาสีข้างเข้าถู

เอาสีข้างเข้าถูคือสัญญาสีข้างเข้าถู "จะเอาให้ได้ จะเป็นให้ได้จะเอาให้ได้"...มันไม่ได้หรอก ถ้ามันไม่ได้ เราต้องบริหารจัดการให้ได้ สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐานเท้า ๒ เท้าเดินไปด้วยกัน ซ้ายขวาเดินไปพร้อมกันเดินขึ้นไปมันจะก้าวเดินต่อไป สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน มันจะไปด้วยกัน มันจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน

พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถึงที่สุดเวลามันขาด มันต้องขาด คำว่า"ขาด" ถ้าไม่สมุจเฉทปหาน มันไม่ขาด มันก็ฟื้นได้น่ะสิ เวลามันขาดเพราะอะไร เพราะคนที่ภาวนา เวลาตทังคปหาน มันปล่อยวางๆ ปล่อยวางก็รู้ว่าปล่อยวางปล่อยวางแล้วสงสัย ปล่อยวางแล้วไม่มีสิ่งใดตอบสนอง

แต่เวลาพิจารณา มันปล่อยวางบ่อยครั้งๆ ถึงเวลามันสำรอกมันคายออก มันขาดสังโยชน์มันขาดสักกายทิฏฐิวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสมันขาดออกไป สังโยชน์มันขาด ขาดอย่างไร ทำไมมันถึงขาด มันต้องมีเหตุมีผลสิ ถ้ามันขาดไปแล้ว เห็นไหม เพราะอะไรเพราะมันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเพราะเรารู้ของเราเอง นี่ความเป็นปัจจัตตัง "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต" เราปฏิบัติของเราอย่างนี้ ถ้าเราปฏิบัติของเราอย่างนี้ ปฏิบัติให้เป็นความจริง

นี่ฟังธรรมๆตอกย้ำๆ เราปฏิบัติของเราไปเราจะได้มากได้น้อยแค่ไหนมันก็อำนาจวาสนานะเราทำบุญกุศลมาอย่างนี้ ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่ขิปปาภิญญาเขาต้องสร้างกุศลมามาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เราเป็นคนที่อำนาจวาสนาน้อย อายุเราแค่๘๐ ปี เพราะอะไรเพราะสร้างบุญกุศลมา ๔ อสงไขยแต่ที่มากกว่า ๘อสงไขย ๑๖อสงไขย อายุ๘๐๐๐๐ ปี แล้วเวลาตรัสรู้ ตรัสรู้ได้สะดวกสบายกว่านี้

เราอำนาจวาสนาน้อย นี่ขนาดอำนาจวาสนาน้อยนะ ยังได้วางธรรมวินัยไปข้างหน้าอีก ๕๐๐๐ ปี แล้วพวกเรา รื้อสัตว์ขนสัตว์มาขนาดนี้ ขิปปาภิญญาเขาต้องสร้างของเขามากันอย่างนั้น แล้วเราล่ะ เรามีศรัทธามีความเชื่อมันก็มีกุศลแล้ว

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุดการเกิดมาเป็นมนุษย์ในวัฏฏะเกิดแล้วเกิดเล่า เกิดตายอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นอยู่อย่างนี้แล้วในปัจจุบันนี้เกิดมาแล้วมีสติมีปัญญา เกิดมาแล้วขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ มันมีโอกาส แล้วเราหันเหความรู้สึกของเรา หันเหความจริงจังของเรา หันเหหัวใจของเราให้มาค้นคว้าในตัวมัน นี่อำนาจวาสนามาก มีอำนาจวาสนามาก

แล้วมีอำนาจวาสนาแล้วทำไมทุกข์ขนาดนี้มีอำนาจวาสนาแล้ว เวลามาปฏิบัติทำไมมันทุกข์ขนาดนี้

ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เรามีตัณหาความทะยานอยากคือไม่อยากให้ทุกข์อยากจะสุข อยากจะสะดวกอยากจะสบายตั้งแต่ต้น มันก็เลยทุกข์ แต่ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อ เรามั่นคงของเรานะ ไอ้นี่ไม่ใช่ทุกข์ ไอ้นี่เป็นความเพียร เป็นความพอใจ ทุกข์ไม่มีเลยทุกข์มันหายเกลี้ยงเลย หายหน้าไปเลย แต่ถ้าบ่นว่าทุกข์ๆ ทุกข์มันขี่คอเลย มันขี่คอแล้วก็หัวทิ่มดินเลย

แต่ถ้าเราพิจารณาของเรานะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะความอุตสาหะ เราทำแบบนี้เราทำตามครูตามอาจารย์ ตามศาสดาของเรา เราปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ความทุกข์หายหน้าไปเลย พอใจจะทำแล้วยิ่งทำขึ้นมาแล้วเห็นผลขึ้นมามันพอใจ มันอบอุ่นหัวใจ มันทำได้ทำได้นะ

สัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยมันเลือกกินแต่อาหารของมัน กินน้ำที่สะอาดของมัน หัวใจของเรา เราจะเลือกสัจจะ เลือกความจริงให้หัวใจของเรา มันจะเป็นอาชาไนยหรือมันจะอ่อนแอให้กิเลสมันเหยียบหัว เห็นไหม เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง