เทศน์บนศาลา

ธรรมเมา

๑๖ มิ.ย. ๒๕๔๗

 

ธรรมเมา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ “ธรรมะ” ฟังธรรม ธรรมเป็นธรรมโอสถ ธรรมโอสถนี่ชำระเรื่องของกิเลสได้ กิเลสมันอยู่ในหัวใจของสัตว์โลกนะ เราเกิดมาทุกคน เจ้าชายสิทธัตถะเกิดมาก็มีกิเลสพาเกิด แต่เกิดแล้วท่านชำระกิเลสของท่านได้ ท่านถึงได้วางธรรมไง

ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะนี้ลึกลับมาก มหัศจรรย์มาก

เพราะอาหารของใจ อาหารของใจทางโลกมันเป็นธรรมเมานะ มันเมาในอารมณ์โลกไง เราคิดของเรา เราต้องการของเรา นั่นเป็นอาหารของใจของเรา อาหารของใจของทางโลกคือ “ความคิด ความปรุง ความแต่ง” เราคิดปรุงขนาดไหน มันก็เป็นสิ่งที่เป็นเรื่องของโลกไง ให้เราเมาในอารมณ์ของเราเองตลอดไป แล้วว่าเป็น “อาหาร” อาหารนั้นเป็นพิษก็ได้ อาหารนั้นเป็นคุณก็ได้ สิ่งที่เป็นคุณ เห็นไหม เป็นคุณก็เป็นประโยชน์ สร้างบุญกุศลไป เราก็เกิดไปในวัฏฏะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ตั้งปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่เป็นพระโพธิสัตว์นี้ทำแต่คุณงามความดี สิ่งที่เป็นคุณงามความดีมันยังเป็นธรรมเมา เพราะเมาอยู่ในโลกไง สิ่งที่เป็นโลกเป็นคุณงามความดีนะ แล้วถ้าเป็นบาปอกุศลล่ะ สิ่งนี้เป็นพิษไง

นี่อาหารของใจ อาหารของใจเป็น “ความคิด ความปรุง ความแต่ง” สิ่งนี้เราคิดว่าอันนี้เป็นอาหารของใจ ความสุขความทุกข์อันนี้มันก็ทำให้เราเกิดเราตายในวัฏสงสารนี้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาสร้างสมจากสิ่งนี้ขึ้นมา นั้นคือสิ่งที่เป็นอำนาจวาสนา เวียนมาเพื่อเกิด เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไง

แต่เรานี่มันทุกข์ ทุกข์อยู่ขนาดนี้ เราถึงต้องเอาตัวเองพ้นจากทุกข์ให้ได้

มดแดงมันไต่บนมะม่วงนะ มันไม่รู้รสชาติของมะม่วง มันก็ไต่ของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ ไต่อยู่อย่างนั้น วนไปเวียนมา วนไปเวียนมา เห็นไหม เหมือนกัน ชีวิตการเกิดและการตาย เวียนไปเวียนมาอย่างนี้ตลอด แต่เราก็ลังเลสงสัย เกิดมาในภพชาติหนึ่ง ภพชาติหนึ่ง วันคืนล่วงไปๆ วันคืนมันก็เวียนไปๆ เหมือนกัน เราใช้ชีวิตแบบปุถุชน แบบความเป็นอยู่ของโลก สิ่งนี้มันก็เวียนไปตลอดมา สิ่งนี้เวียนอยู่

เวลาคนทุกข์นะ เวลาคนทุกข์คนจนเข็ญใจ เขาก็ทุกข์ของเขา แต่เขาก็ต้องใช้ความพยายามของเขาเพื่อดำรงชีวิตของเขาไป เพราะเขาทำกรรมของเขามาอย่างนั้น คนเราเกิดมามีอำนาจวาสนา เกิดมานะ บางคนเกิดมานี่สบายทั้งชีวิตเลย แต่ก็เมา เมาในชีวิตไง ชีวิตนี้มัวเมาไปกับความเป็นอยู่ไป

นี่เราว่าเราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธที่ไหนล่ะ

ถ้าชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนอะไร

เราไม่ศึกษากัน เรามัวเมาในชีวิต สิ่งที่มัวเมาในชีวิตนะ มันก็เวียนไป เอาแต่ความทุกข์มาใส่หัวใจนะ นี่ถ้าเราให้คุยกันเรื่องความทุกข์ ระบายความทุกข์ออกมา จะไม่มีที่เก็บเลย เพราะว่าสิ่งที่กระทบกระเทือนใจบางอย่าง เห็นไหม มุมมองของแต่ละบุคคล สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ แต่มุมมองของอีกคนหนึ่ง สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ขัดเคืองใจมาก สิ่งที่ขัดเคืองใจก็อยู่ที่กิเลสของแต่ละบุคคล “หยาบหรือละเอียดต่างกัน”

ถ้า “ความหยาบ” มันก็จะโพล่งออกมา

“ความละเอียด” มันก็เก็บเอาไว้ในหัวใจ

แต่ถ้าให้ระบายออกมา มันจะไม่มีที่เก็บเลย สิ่งนี้มันเป็นเกิดจากอะไร เพราะอะไร

เพราะใจนี้เป็นนามธรรม มันซับสิ่งอารมณ์ต่างๆ มันสะสมไว้ได้มหาศาล

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนไปในบุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นไหม ภพชาติไม่มีที่สิ้นสุด มันยาวไกลมหาศาล สิ่งที่ยาวไกลมหาศาลนี่มันซับสมสิ่งนี้เข้ามาในหัวใจ มันเก็บสิ่งนี้ไว้นะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ใจดวงนี้มันไปได้กว้างขวางมาก มันไปใน ๓ แดนโลกธาตุนี้ นี่มันกว้างไปหมดเลย ใจนี้ว่างไปหมด ปล่อยวางสิ่งนี้ไปหมด สิ่งใดก็เข้าไปกระทบกับใจดวงนี้ไม่ได้ ใจดวงนี้กว้างขวางมหาศาล

แต่เวลามันอัดอั้นตันใจสิ เวลามันมีกิเลสในหัวใจสิ สิ่งนี้กระทบกระเทือนไปหมด สิ่งที่กระทบกระเทือนมันจริตมันนิสัยต่างกัน ความขัดข้องความขัดใจมันถึงต่างกัน ความระบายออกมาก็ต่างกัน

เราเป็นชาวพุทธ ถ้าเรามีอำนาจวาสนา คบมิตรดีไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรม คบมิตรดีที่สุด คือคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ จะสอนไปแต่ทางดีไง

ผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครองนะ เราปฏิบัติธรรม เราเป็นชาวพุทธ เราชาวพุทธมีความศรัทธา มีความเชื่อ เราได้สละทาน การสละทานออกไปเป็นการฝึกฝนแบบหยาบๆ เห็นไหม โลกสังคมเขาจะอยู่โดยความเป็นสุข แล้วมีการสละ มีการจาคะเพื่อความช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน สิ่งการที่ช่วยเหลือเผื่อแผ่กันนี้เป็นสังคมโลก ใครเป็นผู้สละออก ใครเป็นผู้ที่จุนเจือสังคม คนนั้น เขาจะไว้ใจคนนั้น คนนั้นจะเป็นคนที่ว่าสังคมยอมรับคนนั้น สิ่งนี้เป็นเรื่องของทาน

ถ้าเรื่องของทาน ทำสิ่งนั้นมา มันก็เป็นผลไง “ผล” เรื่องของอามิส สิ่งที่เป็นอามิส เห็นไหม บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยอามิส สิ่งที่ได้มาก็ได้เป็นบุญกุศล แล้วถ้าเกิดปฏิบัติบูชาล่ะ

ถ้าเราศึกษา เรามีเรื่องการทาน เราฝึกฝนของเราขึ้นมา มันมีสิ่งใดที่จะประเสริฐกว่านี้ล่ะ นี่คุณงามความดีที่ละเอียดขึ้นไป มันมีเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าใจคนมันใฝ่ดี มันจะค้นคว้า สิ่งที่ค้นคว้า สิ่งที่พยายามหาสมบัติ สมบัติของเรานะ

“สมบัติของโลก” เขามันเป็นแก้วแหวนเงินทอง

“สมบัติของใจ” คือปัญญา

ผู้ใดมีปัญญา สิ่งใดที่กระเทือนใจ สิ่งใดที่กระทบเข้ามาจากใจ เราจะเก็บสิ่งนั้นมาเป็นประเด็น เก็บสิ่งนั้นขึ้นมาตั้งเป็นโจทย์ ถามตัวเองว่า “สิ่งนี้คืออะไร” ถ้าคนที่มีปัญญา มันจะจับสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์ จับสิ่งนี้เป็นประโยชน์ มันจะคิดเลยว่า “คนเราเกิดมาทำไม สิ่งที่เกิดมาทำไม ชีวิตนี้คืออะไร” ถ้าคนเขาไม่ศึกษาธรรมะ เขาจะไม่รู้สิ่งนี้นะ

นี้เราฟังธรรมกันทุกวันไง เราอยู่กับธรรม เราฟังธรรมของเราทุกวัน เราศึกษาธรรมขึ้นมา เราถึงมีสิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจเรา ถ้ามีสิ่งที่เป็นเครื่องเตือนใจเรา เราก็ไม่เป็นมดแดงไต่มะม่วงไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเหมือนกับผลมะม่วงนั้น แต่เราไม่สามารถเข้าไปกินผลมะม่วงนั้นได้ จะไม่ได้ลิ้มรสผลของผลมะม่วงนั้นเลย แต่ผู้ที่มีปัญญา เขาสอยมะม่วงนั้นไป เขาปอกมะม่วงนั้น เขาได้กินมะม่วงนั้น มดแดงมันก็ยังไม่ได้กินของมันอยู่อย่างนั้น นั่นคนที่ไม่มีปัญญา

ถ้าคนที่มีปัญญา นี่ปัญญาของเรา สมบัติของเราจะเป็นปัญญาของเรา ถ้าเป็นปัญญาของเรา เราจะเริ่มถามตัวเองไง ถ้าถามตัวเอง เราจะไม่ตื่นไปกับโลก ถ้าไม่ถามตัวเองนะ มันก็จะตื่นไปกับโลกอย่างนั้น โลกเขาเป็นอยู่แบบนี้ การแข่งขันของโลกเขาต้องเป็นแบบนั้น เราจะต้องแข่งขันกับเขาเพราะอะไร เพราะเราอยู่ในโลก โลกเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะของเรา หน้าที่การงานต้องทำ เราก็ทำ

คนเราเกิดมา ตั้งแต่เด็กออก เห็นไหม คลอดออกจากครรภ์ของมารดา อยู่ในครรภ์ของมารดาก็ยังไม่ได้หายใจด้วยตัวเองนะ หายใจจากลมหายใจของแม่ แต่ถ้าคลอดออกมาต้องมีลมหายใจของตัวเอง เขาจะดูเด็กว่าเด็กนั้นหายใจหรือยัง ถ้าเด็กนั้นมันเริ่มหายใจ จะมีการเรียกร้อง มีความต้องการตั้งแต่บัดนั้นจนถึงวันตาย จนถึงวันตาย ชีวิตต้องดำเนินต่อไป เพราะเกิดมาแล้ว ต้องจุนเจือชีวิตนี้ ชีวิตนี้ต้องมีลมหายใจตลอดไป ขาดลมหายใจแม้แต่ ๕ นาที ๑๐ นาที สมองก็ไม่ทำงานแล้ว สิ่งนี้มันต้องจุนเจือกันไป

แต่เราไปมองแต่สิ่งที่ว่าปัจจัยเครื่องอาศัยภายนอกไง เราไม่คิดถึงกรรมของเรา

เราทำคุณงามความดีมา เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะเรามีมนุษย์สมบัติ “มนุษย์สมบัติ” มันจะมีคุณประโยชน์มาก ต่อเมื่อผู้นั้นมีเชาวน์มีปัญญา ถ้าเชาวน์ปัญญานี้ ย้อนกลับเรามาไง ชีวิตนี้เกิดมาแล้วเราเกิดมาในโลกเขา เราก็ทำหน้าที่ของเราไปโลกเขา เราไม่ตื่นไปกับเขาไง เรามีเวลาสละออก ถ้าเราไม่มีเวลาสละออก เราจะไม่มีเวลาตลอดไปตั้งแต่เกิดและจนตาย

ความคิดมันไม่เคยดับ ยิ่งแสวงหาขนาดไหน มันยิ่งเติมเชื้อไฟเข้าไปให้มันสว่างโพลงลุกโพลงไปสภาวะแบบนั้น เวลามันดับ มันดับก็เพราะความมันเหนื่อยยาก มันปล่อยวาง ดับชั่วคราว เดี๋ยวมันก็คิดอีก เพราะเราไม่มีปัญญายับยั้งไง

ถ้าเรามีปัญญายับยั้ง เราจะคิดว่า ชีวิตนี้มันก็เกิดมาสภาวะแบบนี้ เรามีกรรมดีแล้ว แต่สิ่งนี้เป็นสมบัติที่ว่าสมบัติของโลกเขา เราเกิดมา เราแสวงหา มันก็เป็นสมบัติของโลก เขามีอยู่แล้ว ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราก็ได้ปกครองชั่วคราว แล้วเราก็ต้องส่งคืนให้กับโลกเขาไป แต่คุณงามความดีที่เราจะฝังใจของเราไป เป็นสมบัติของใจตลอดไปข้างหน้า มันเกิดมาจากไหน นี่คนที่มีปัญญาเขาถึงสละของเขาออกได้ไง

ถ้าความสละออกได้ เรามีความคิดกันถึงออกประพฤติปฏิบัติ พระออกมาจากไหน? พระก็ออกมาจากโยมนั่นล่ะ ออกมาบวช บวชเพื่ออะไร? บวชเพื่อจะชำระกิเลสไง เพราะอะไร เพราะมีศรัทธา มีความเชื่อ จะไม่เป็นมดแดงไต่ขอบมะม่วง จะต้องศึกษาธรรม จะต้องประพฤติปฏิบัติ จะเอาตัวนี้รอดให้ได้

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สิ่งที่เป็นภัยที่สุด คือการเกิดและการตาย”

ถ้าเราทำลายการเกิดและการตายสิ่งนี้ เกิด ถ้าทำการตาย ก็คือกิเลสตาย คือการเกิดคือจะไม่ไปเกิดอีกไง จะไม่ไปเกิดอีกในวัฏฏะนี้ จะไม่ไปเกิดในกำเนิด ๔ กำเนิดโอปปาติกะ กำเนิดในไข่ กำเนิดในครรภ์ นี่กำเนิดสิ่งนี้ กำเนิดในน้ำคร่ำ

“เราจะไม่เกิดอีกเลย”

“จะไม่เกิด” เห็นไหม แต่ต้องตาย ต้องตายไปในข้างหน้าเพราะอะไร เพราะว่าเราเกิดมาได้มนุษย์สมบัติอันนี้ เราถึงได้เอามนุษย์สมบัตินี้มาค้นคว้าหาเราไง

บวชมาแล้วมาศึกษาธรรม ถ้าเราศึกษาธรรมด้วยกิเลสของเรา นี่มันเมาไง เหมือนเห็ดนะ ถ้าเห็ดนี้มันไม่มีเห็ด เราจะไม่มีเห็ด ไม่ใช่หน้าฝน ไม่ใช่หน้าโดยธรรมชาติของเขา เห็ดมันจะเกิดจากความชื้น เกิดจากสิ่งนี้ นี่เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดชั่วคราว เกิดมา ๕,๐๐๐ ปี ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้แล้ว มันเหมือนมีไง นี่มีเห็ดอยู่ แต่เห็ดนั้นเวลากินไป เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ทั้งหมด แต่เห็ดมันเป็นเห็ดพิษก็ได้ ถ้าเป็นเห็ดพิษ เราก็จะเมาไปอีก เมาในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

“ธรรมเมา” เมาในความไปศึกษาการเล่าเรียน ยึดมั่นความเป็น-เห็นของเรา สิ่งนี้เป็นปริยัติ สิ่งที่เป็นปริยัติ คือการศึกษาแผนที่ดำเนินที่สมควร สมควรการศึกษาแผนที่ดำเนิน แต่ถ้าเราศึกษามา ผู้ที่อยู่ในฝ่ายปกครอง เขาก็ต้องศึกษา ศึกษาอย่างนี้เพื่อสื่อความหมาย เผยแผ่ธรรมว่าธรรมะเผยแผ่ ธรรมทูตเผยแผ่ธรรม

แต่ธรรมของผู้ที่ปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม ปริยัติคือการศึกษา แล้วเผยแผ่ธรรมคือเป็นโวหาร สิ่งที่สื่อกันเหมือนสุตมยปัญญาไง “สุตมยปัญญา” ในการลงเรียน ในชั้นโรงเรียนขนาดไหนก็แล้วแต่ ในสถานศึกษามันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ศึกษาสุตมยปัญญากัน นี่ปริยัติก็ศึกษาสุตมยปัญญา สิ่งนี้เป็นเปลือก

ถ้าเรายึดของเรา เมาไปในความเป็นไปนะ เมาไปในชีวิต

เราเป็นชีวิตคฤหัสถ์ เราก็เมาของเราอยู่แล้ว เมาเพื่อจะต้องการให้การค้นคว้าหาตัวเอง เราถึงเรียนปริยัติ พอเรียนปริยัติก็ไปเมา เมาในความเห็นไง ความคิดความเห็นของเรา “จะเมา” เพราะศึกษาขนาดไหน ศึกษาได้แต่ตำรา ศึกษาได้แต่ชื่อมา สิ่งที่ได้ชื่อมานะ

ถ้าเรามีความเห็นผิด มันจะเป็นเหมือนกับเห็ดพิษนะ

“เห็ด” ถ้าเป็นเห็ดพิษ เรากินนะ ถึงกับตายได้ เป็นเมาก็ได้ ถ้าเห็ดมันมีพิษน้อยใช่ไหม แต่ถ้าเป็นเห็ดที่เป็นประโยชน์ล่ะ สิ่งที่เป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ ธรรมะนี่เป็นประโยชน์ พระไตรปิฎกเป็นความจริง เป็นความถูกต้องแน่นอน แต่ความเห็นของเราสิ ในใจของเรา ในเมื่อมันมีกิเลสอยู่ ความที่เป็นกิเลส

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ธรรมะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะของครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา นี่ทองคำบริสุทธิ์ไง แต่ถ้าธรรมะสถิตในปุถุชน ในใจของเรา ถ้าใจของเรามีกิเลส เราไม่เข้าใจสภาวะแบบนั้น”

นี่ มันจะเป็นพิษ เพราะใจของเราเองที่เป็นพิษ

“สิ่งที่เป็นพิษ” เรายึดมากก็ยึดมั่นมาก ถ้าเป็นพิษมาก มันก็ทำลายเรามาก ถ้าเรายึดมั่นน้อย ถ้าในการประพฤติปฏิบัติ มันจะเกิดตามความเป็นจริงของสถานะนั้น มันเป็นปัจจัตตังไง ถ้าเป็นปัจจัตตังนี้ สิ่งนี้มันเป็นตรงต่อธรรม ตรงต่อหลักความจริง สิ่งที่เป็นหลักความจริง แล้วมันก็จะพัฒนาของมันขึ้นไป

สิ่งที่พัฒนาใจดวงนี้ขึ้นมา เห็นไหม มันจะไม่เมาไปความรู้สึก สิ่งที่เมาไปความรู้สึกนะ แล้วถ้าเกิดเราไปพบครูบาอาจารย์ที่ชี้นำในทางที่ผิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “โคนำฝูง” ถ้าโคนั้นฉลาด จะนำฝูงโคนั้นขึ้นฝั่งนะ ถ้าโคนั้นไม่ฉลาด จะนำฝูงโคนั้นไปในวังน้ำวน จะจมน้ำตายไปกันหมดเลย นี่จมน้ำตาย

นี่เหมือนกัน ถ้าเรากินเห็ดพิษ เราก็ต้องตายก่อน ถ้าให้เราตายก่อน ถึงตายหรือถ้าเรารักษาทัน เห็ดนั้นไม่มีพิษมาก นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ยึดสิ่งนั้นมาก เราไม่ยึดสิ่งว่าเป็นสมบัติไง

“ธรรมะนี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนี้เป็นธรรมชาติ” จริงอยู่ “ธรรมนี้เป็นธรรมชาติ” สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ร่างกายเราก็เป็นธรรมชาติ ความเกิดความตายนี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง แต่ทำไมไม่สะเทือนใจเราล่ะ ถ้ามันสะเทือนใจเรานะ สภาวธรรม สิ่งที่เป็นธรรมชาติ แต่ใจมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่ละเอียดเข้ามามากกว่าร่างกายของเรา

ร่างกายของเราเกิดมามันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากนะ เวลาหมอเขาศึกษาเรื่องร่างกายของมนุษย์ สิ่งนี้เป็นความลึกลับมหัศจรรย์มาก ค้นคว้ากัน เพิ่งจะขยายความด้วยความเป็นไปของมนุษย์ สิ่งต่างๆ เพื่อขยายความๆ ออกมา แต่ก็ไม่เข้าใจนะ เพราะขยายสิ่งต่างๆ สิ่งต่างๆ ในวิทยาศาสตร์ สิ่งต่างๆ ขยายออกมา มันเป็นเรื่องของธาตุ

แล้วขันธ์ล่ะ ขันธ์ ความคิด ความคิด ความปรุง ความแต่งของใจอยู่ที่ไหนล่ะ สิ่งนี้เป็นความคิด ความปรุง ความแต่งของใจ เพราะสถานะมันเกิดมาอย่างนี้ เวลามันดับ มันดับไปไหน เวลามันเกิด มันเกิดมาจากไหน สิ่งนี้มันให้ความสุข-ความทุกข์ นี่เรื่องเป็นนามธรรมไง สิ่งที่เป็นนามธรรม ความที่เป็นนามธรรมฝังอยู่ในหัวใจ หัวใจนี่เป็นภวาสวะ เป็นภพ เป็นสถานที่อันหนึ่ง แต่นามธรรมฝังจริต ฝังนิสัย ฝังความเชื่อ ฝังความศรัทธาของเรา ถ้าเรามีความเชื่อ ความศรัทธาของเรา เราจะย้อนกลับ ย้อนกลับ อยู่กำหนด “พุทโธๆ”

ถ้าเรากำหนดพุทโธเพราะอะไร เพราะเราต้องอาศัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ เราเคารพ เราศรัทธา เราเชื่อมั่นในปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเรามีศรัทธา เราถึงกำหนด “พุทโธๆ” เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พุทธานุสติ” ตั้งสตินี้ให้ได้ สิ่งนี้เคลื่อนไป ความคิดเคลื่อนไปตามความเห็น ความเห็น ปัญญาของใจดวงนั้น

ถ้าว่าปัญญาของโลก เราคิดว่าเรามีปัญญา คนนั้นเป็นคนที่มีปัญญามากคนนั้น “ปัญญาของโลก” ถ้ามีกิเลสนะ มันปัญญาในการเห็นแก่ตัว ปัญญาในการเบียดเบียนตนนะ “เบียดเบียนตน” เพราะชีวิตนี้มันต้องไปสุดสู่ความตายแน่นอน เบียดเบียนตนเพราะว่าทำให้ตนมัวเมาในชีวิต หลงไปในชีวิตไง

คนเราเกิดมาแล้ว เมื่อมันยังมีวันมีเวลาอยู่ ความตายยังอยู่อีกตั้งห่างตั้งไกล เห็นไหม ผัดวันประกันพรุ่ง การศึกษาก็ศึกษาผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ออกประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติก็ไม่จริงไม่จังไง ความไม่จริงไม่จังของเรา นี่มีปัญญาของเรา

“ปัญญาของเรา” การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทำเกิน เราทำหนักเกินไปก็ว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค นี่กิเลสมันพาใช้นะ กิเลสมันใช้ปัญญาของเรา หลอกเราอีกทีหนึ่ง เราไม่เข้าใจเลยว่าเราหลอกเราได้อย่างไร นี่เราโดนเราเองนี่แหละ หลอกตนเอง หลอกว่าทำอย่างนี้ๆ นี่เมา เมาในธรรมจะเป็นแบบนี้ เมาในธรรมมันไม่เป็นความจริงไง

ถ้าเราไม่เมาในธรรม เราพยายามทำใจของเราให้สงบให้ได้ ถ้าใจของเราสงบขึ้นมา มันจะไม่เมาในธรรมนะ มันจะเป็นกลาง เป็นกลางเพราะเป็นสัมมาสมาธิไง ถ้าจิตของเราสงบขึ้นมา มันปัญญาที่เกิดขึ้นจากต่อเนื่องจากสมาธินี้ มันต้องฝึกฝนไง

ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นเอง สิ่งที่ว่าเราทำความสงบแล้วมันมีปัญญาเกิดขึ้นเอง ครูบาอาจารย์ของเราไม่ติดในสมาธิ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นสมาธิ แล้วมันจะเป็นปัญญาไปโดยอัตโนมัติ มันจะไม่ติดในสมาธิหรอก แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรม อาฬารดาบสก็ทำได้สมาบัติ เขาได้สมาบัติ มันเป็นสมาธิไหม? เป็น แล้วถ้ามันเป็นปัญญาโดยอัตโนมัติ มันทำไมไม่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาล่ะ ทำไมมันไม่ให้เขาให้พ้นจากกิเลสมาได้ล่ะ? มันไม่เกิดหรอก เพราะปัญญายังไม่มี มรรคาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เกิดไง

ถ้ามรรคาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด เกิดที่ไหน?

เกิดที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเราเมาในธรรมนะ เราอยู่ทางโลก เราประกอบสัมมาอาชีวะชอบ เราทำคุณงามความดี เราถือศีล เรามีศีลมีธรรม เราปฏิบัติตามว่าอยู่ในตามเป็นสัมมาในโลกเขา เราว่าอันนั้นเป็นมรรค มรรคหยาบๆ มรรคของโลกียะ มรรคของโลกีย์เขา ปัญญาโลกีย์

สิ่งที่เป็นปัญญาโลกีย์ เราใช้ขึ้นมา ปัญญาเราฉลาด ฉลาดแหลมคมขนาดไหน ถ้ามันเป็นประโยชน์นี่มันจะเตือนตน แล้วพยายามทำของเราเข้ามา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ใช้ปัญญาใคร่ครวญออกมา ความคิดอันนี้คิดออกไป นี่มีความรู้มาก สิ่งต่างๆ มีความรู้มาก ถึงที่สุดแล้วนะ มันก็ต้องปลดเกษียณ

ถึงที่สุดแล้วเรา “ชีวิต” ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ เราก็ต้องส่งมอบให้คนให้ลูกให้หลานเราต่อไป นี่มันต้องเป็นแบบนั้นโดยสัจจะโดยความจริงไง แต่ถ้าคนไม่มีลูกไม่มีหลานนะ ตามกฎหมายเขาก็ยึดเป็นของแผ่นดิน สิ่งที่เป็นของแผ่นดินนี้ ถ้าไม่มีสมบัติเป็นเจ้าของก็เป็นของแผ่นดิน แล้วเราจะไปเอา เรียกร้องเอามาจากใครล่ะ เพราะเราก็ตายไปแล้ว

นี่สิ่งที่ตายไปแล้ว สิ่งที่ตายนะ ตายจากภพชาตินี้ แต่หัวใจไม่เคยตาย หัวใจนี้ตายไม่ได้ หัวใจนี้มันมีเป็นผู้รู้อยู่ ธาตุรู้อยู่โดยธรรมชาติของเขา แต่มันมียางเหนียว มันมีความเป็นไป มันมีเหตุมีผล มีพลังงานขับเคลื่อนไง สิ่งที่ทำคุณงามความดีไว้มันสะสมลงที่นั่น สิ่งที่เราทำคุณงามความดีนั้น ใครเป็นคนทำ? เราเป็นคนทำ เราจะทำได้อย่างไร ถ้าเราไม่คิด ถ้าเราไม่คิดกระทำ

ดูสิ ดูอย่างคนรอบข้างเรา เราพยายามชักจูงให้เขาทำคุณงามความดี ทำไมเขาไม่ทำล่ะ แล้วเขาไม่ทำ เขาต่อต้านด้วยนะ สิ่งที่ถ้าเขาต่อต้านขึ้นมา นั้นเป็นความเห็นต่าง สิ่งที่เป็นความเห็นต่างว่า “เป็นประชาธิปไตย ต้องมีความเห็นต่าง” สิ่งที่เห็นต่าง เราอยู่ด้วยกันได้ สิ่งที่อยู่ด้วยกันได้ นี่ใจมันถึงเป็นสภาวะแบบนั้น

เราต้องยอมรับ ยอมรับว่า คนเรามันมีความคิดเป็นไปเหมือนกันไม่ได้ ถ้าคนเรามีความเห็น มีความคิดตรงกันหมด มันก็การประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องรื้อสัตว์ขนสัตว์ ขนไปหมดสิ...รื้อสัตว์ขนสัตว์ไปไม่ได้ ถ้าวุฒิภาวะของเขาไม่มี วุฒิภาวะของเขา เขาจะว่า “ทำไมต้องทำให้ตนลำบากล่ะ ทำไมเราไม่อยู่สุขอยู่สบายของเขาล่ะ ”

“ความอยู่สุขอยู่สบายของเขา” นั่นคือคนจนตรอกไง อยู่สุขอยู่สบายเพื่อจะหมดเวล่ำเวลาของเรา จนเราหมดเวลา เราตายไป มันก็ต้องไปตามอำนาจสิ่งที่ว่าเราไม่ได้ทำสิ่งใดไว้ ถ้าไม่ได้ทำสิ่งใดไว้ สิ่งที่พลังงานขับเคลื่อนตัวนี้ มันเข้าไปในตัวจิตไง เข้าไปตัวจิต สิ่งนี้สะสมเข้ามาในหัวใจ สิ่งที่พลังงานขับเคลื่อนอันนี้มันยังขับเคลื่อนให้ใจดวงนี้เคลื่อนไหวไปตลอด มันถึงไม่เคยตาย

ถ้ามันไม่เคยตาย เราว่า “เราอยู่ภพชาตินี้หมดสิ้นแล้วจะหมดสิ้นกัน” เมาในชีวิตขนาดนี้นะ เมาไปทุกอย่าง ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอเกิดสมาธิขึ้นมาก็เมาในสมาธิของเราขึ้นมานะ ความเมาของเราไง คิดว่าอันนี้เป็นผล ถ้าเรายังเมาอยู่นี่ มันไม่ใช่ธรรมะ

ถ้ามันเป็นธรรมนะ เป็นธรรมโดยความเป็นจริง กำหนดพุทโธๆ ขึ้นมา “เหตุ” กำหนด “พุทโธ” สติต้องสัมปชัญญะเราต้องพร้อม ถ้ามีสติพร้อมขึ้นมา กำหนดพุทโธๆ เข้าไป ถ้าเป็นความเมา เวลากำหนดพุทโธๆ ไป พอมันว่าง มันมีความสบายใจขึ้นมา เราก็ปล่อยแล้ว ปล่อยว่า นี่มันเป็นความว่าง สิ่งนี้เป็นธรรม เพราะเราศึกษามา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาว่า พุทโธนี้เป็นสัญญาอารมณ์ เป็นเพราะเรานึกพุทโธขึ้นมา แล้วพอถึงเนื้อของใจ พุทโธนี้จะหายเป็นเนื้อของใจ นั้นเป็นความรู้สึก นั้นเป็นปัจจัตตังไง

ธรรมะเป็นความจริงจะประกาศจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีสติเข้ามาตลอด มันจะลึกลับขนาดไหน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน จะตกจากที่สูงก็ได้ จะตกเหวตกบ่อก็ได้ สงบโดยธรรมดาก็ว่าได้ หรือว่าจิตสงบขึ้นมาเห็นจิตของเราออกไปคึกคะนองขนาดไหน มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของใจดวงนั้น สิ่งนี้เป็นสัจจะเป็นความจริงของใจดวงนั้น มันแสดงออกตามสภาวะแบบนั้นไง

แล้วแต่ธาตุ น้ำก็คือน้ำ น้ำมันก็คือน้ำมัน ความเป็นไปของใจก็เหมือนกัน แล้วแต่ใจดวงนี้จะสะสมอำนาจวาสนามาขนาดไหน ความเป็นไปอย่างนั้นเราก็มีสติ ถ้าเรามีสติ เราก็ไม่เมาไปกับอาการของใจแบบนี้ นี้คืออาการของใจที่มันแสดงออกขึ้นมา เพราะจิตเราสงบเข้าไปถึงเนื้อของใจ อาการของใจแสดงออกมา ถ้าเราติดไป เมาก็เมา เมาสิ่งนี้ไป

“ความเมา” คนเรากินสุรา เวลาสร่าง มันยังสร่างเมาได้นะ แต่ถ้าใจมันเมา เมาสิ่งต่างๆ ที่ว่าเราเห็นเรารู้ มันเมา กิเลสมันพาไปนะ ติดสภาวะแบบนั้น ความเห็นอย่างนั้นเป็นธรรม เมาไปความเห็นต่างๆ มันเป็นธรรม ธรรมส่วนหนึ่ง “ธรรม” เพราะเราทำสงบใจเข้ามา แต่มันไม่เป็นธรรมะไง ธรรมะของเราคือนี่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา อาการแบบนี้เห็นมาทั้งนั้น สิ่งที่เห็นมา ระลึกชาติได้กี่ชาติก็แล้วแต่ สิ่งนี้มันก็มีการเห็นได้ ปุถุชนก็ทำได้ แต่ปุถุชนเขาอยู่ในสมาบัติ อยู่ในศีลของเขา นี่ใจมันมีหลักฐานอันนี้ มันก็ทำได้ แต่สภาวธรรมที่เป็นอริยสัจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ให้เป็นธรรมะไง ธรรมะเกิดอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ให้เราก้าวเดินอย่างนี้

ถ้าเราศึกษาขึ้นมา อาการของใจของเรานี่แหละ อำนาจวาสนาของเรานี่แหละ มันเบี่ยงเบนไปเป็นความเห็นเข้าไป เพราะมันไม่เข้ามัชฌิมาปฏิปทาไง เราถึงต้องมีสติกำหนด “พุทโธๆ” ถ้ายังกำหนดพุทโธได้ กำหนด “พุทโธๆ” เข้าไป จิตมันสงบเข้ามาขนาดไหน กำหนด “พุทโธๆ” เรื่องของเราคือคำบริกรรม หน้าที่ของเขา เขาจะเป็นของเขาเอง นี่เพราะใจ ความสงบของใจจะเป็นเอง

แต่นี้เราเอาปัญญาของเรา เอาความเห็นของเราเข้าไปคาดหมายไง พอมันว่างๆ อย่างนี้ คำว่า “ว่างๆ” อย่างนี้ คือเรามีผู้รู้อยู่ ผู้รู้มันก็รู้ว่าว่าง สิ่งที่เป็นว่างนี่มันขับเคลื่อนไปไม่ได้ ถ้ามันจะขับเคลื่อนไปได้ เปรียบเหมือนเครื่องยนต์ ถ้ามันขาดสิ่งใดอันหนึ่ง ขาดน้ำมันก็ติดเครื่องไม่ได้ ขาดไฟมันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเครื่องนั้นมันไม่สมประกอบนะ ขาดน้ำมัน ขาดไฟ ขาดอะไรต่างๆ มันต้องพร้อมตลอดไง สิ่งที่พร้อมตลอด สมบูรณ์ตลอด เครื่องนั้นมันถึงจะขับเคลื่อนได้ มันถึงจะติดเครื่องขึ้นมาได้

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อหัวใจมันว่างๆ อยู่อย่างนี้ มันไม่เป็นไปไง ความเป็นไปของมันไม่มี มันถึงว่ายกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ สิ่งที่ยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ มันก็เป็นธรรมเมา เราก็เมา แล้วน้อยเนื้อต่ำใจนะ สิ่งที่ว่า “เราประพฤติปฏิบัติ ทำไมเราไม่ได้ผล การประพฤติปฏิบัติของเรา เราไม่มีอำนาจวาสนา” ถึงกับฆ่านะ ฆ่าความเพียรของเราไง “เลิกเถอะ เราเป็นคนไม่มีอำนาจวาสนา เราออกทำบุญกุศลของเรา เราก็เป็นชาวพุทธแล้ว การประพฤติปฏิบัติเป็นหน้าที่ของพระไง หน้าที่ของพระ หน้าที่ของนักรบ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา”

แล้วเราบวชเข้ามา เราบวชมาเพื่ออะไร? เราบวชเข้ามาจะฆ่ากิเลส ถ้าเราท้อถอยอย่างนี้ กิเลสมันก็ฆ่าเราไง ฆ่าความเพียร ฆ่าความสัจจะ ฆ่าเวลาของเรา แล้วเราก็ต้องเกิดต้องตาย เวลามีศรัทธานะ ฮึกเหิมมาก เราจะต้องออกประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องฆ่ากิเลสให้ได้ เราจะออกแสวงหาความจริงของเราขึ้นมา เราจะค้นคว้าหาตัวเองให้ได้ จะค้นคว้าหาใจของเราให้ได้ ถ้าเจอใจของเรา นี่ถ้าเราเจอใจของเรา เราจะมีพื้นที่ทำงาน

คนที่เขามีพื้นที่ทำงาน เวลาเหมือนเขาประชุมในวาระประชุมต่างๆ ถ้าเขามีวาระประชุม เขาจะประชุมสิ่งนี้ได้ นี้ก็เหมือนกัน พื้นที่หรือวาระที่มันจะเกิดขึ้นมา มันต้องหาความสงบของใจเข้ามาให้ได้ ถ้ามีความสงบของใจเข้ามา อริยสัจเกิดตรงนี้ไง อริยสัจเกิดขึ้นมาเพราะจิตสงบเข้ามา แล้วยกขึ้นย้อนดู ดูอะไร? ดูทุกข์

สิ่งนี้เกิดขึ้นมา เวลาเกิดเป็นมนุษย์สมบัติ เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้ เป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้ที่ค้นคว้าสัจธรรมความจริงได้ นี่ผู้ที่เกิดในสถานะต่างๆ เขาเกิดสถานะอย่างของเขาแล้ว เขาจะไม่มีโอกาสอย่างนี้ เพราะมนุษย์นี้เป็นภพของกลางไง มันสิ่งที่ประเสริฐ แล้วทำไมเป็นทุกข์ล่ะ เพราะทุกข์นี้เป็นอริยสัจไง

แต่คนที่มัวเมาในชีวิตเขาไม่เห็นทางออกอย่างนี้ เขาก็ยอมจำนน เวลาเขาลำบากลำบนของเขา เขาก็ยอมจำนนของเขาออกไป จำนนของเขาอย่างนั้นโดยที่เขาไม่มีทางออก แต่เรามีทางออกของเรา ออกขึ้นมาแล้วค้นคว้าหา ถึงจะกำหนดทุกข์ได้ ถ้าเราเจอทุกข์ เรากำหนดทุกข์ได้ เราจะเริ่มมีปัญญา เราจะเริ่มยกขึ้นวิปัสสนา

สิ่งที่วิปัสสนา เพราะใจมันสงบเข้ามาโดยตามความเป็นจริง โดยเป็นสัจธรรม สัจธรรมไม่ใช่ธรรมเมา ถ้ามันเป็นธรรมเมา เมาในธรรมไง เมาในความเห็นไง “เป็นธรรม” เพราะเราศึกษาธรรม แล้วเราประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมามันก็เป็นความว่าง ว่างอย่างนั้น ว่างอย่างนั้น ทำไมเราไม่รำพึงยกขึ้นวิปัสสนาล่ะ ถ้ามันยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ มันก็ไม่เป็นสัมมาสมาธิ

สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ นี่เป็นสัมมาสมาธิเพราะมีศีล ถ้าไม่มีศีลขึ้นมา เวลาคนผิดศีล ความผิดของความคิด ความผิดของมโนกรรมเกิดขึ้น “ศีล สมาธิ ปัญญา” เรามีศีลของเรา พอมีศีลของเรา เราควบคุมใจของเราได้ พอควบคุมใจของเราได้ จิตมันสงบเข้ามา ไม่ออกไปไง ความคิดผิดอันนั้นเราไม่ออกไป นี่เป็นสัมมาสมาธิ

ถ้ากำลังมันพอ มันจะมีความรำพึง ถ้าเรารำพึงไปถึงกาย

ถ้าเราจะดูจิต เราก็ดูว่า ความคิด พอมันสงบ มันคายตัวออกมานี่มันกระทบสิ่งใด ถ้ากระทบสิ่งใด กระทบสิ่งนั้น นั้นคือขันธ์กับจิตไง จิตกับขันธ์ไม่ใช่อันเดียวกัน ขันธ์เกิดดับ แต่พลังงานของจิตมีอยู่ตลอดเวลา

เรานะ เวลาเรานอนหลับ หลับเราฝันไป มันก็ทำงานของมัน ถ้ามันไม่ฝันไป มันก็หลับอยู่ มันมีความรู้สึกอยู่ เพราะคนเรามีกระแส มีความรู้สึก “มี” คือใจ ใจนี่ตื่นได้หลับได้ แต่ถ้าคนตาย จิตนี้ออกจากร่างไปแล้ว คนตายแล้วฟื้นไม่ได้ไง แต่คนนอนหลับ ฟื้น ฟื้นเพราะมีตัวใจตัวนี้ ใจตัวนี้ถึงเป็นพื้นฐาน แต่คนนอนหลับสนิท มันไม่มีความรู้สึก มันไม่มีความฝัน

แต่ขณะที่เราปฏิบัติธรรม เรากำหนดพุทโธๆ เข้ามา มันไม่ใช่หลัก มันมีสติ มันมีความรู้สึกอยู่ แล้วมันปล่อยวางต่างๆ ทั้งหมด สิ่งที่ปล่อยวางต่างๆ ทั้งหมด “ความรู้สึก” สิ่งที่ออกไปรับรู้ขันธ์กับจิตนี้มันปล่อยวางเข้ามา มันถึงเป็นความสงบไง สิ่งที่จิตนี้สงบเข้ามานี่มีสติสัมปชัญญะพร้อม รู้สึกตลอดไป นี้เป็นความมหัศจรรย์

แม้แต่เห็นสัมมาสมาธิ สมาธินี้มันก็เป็นความลึกลับเป็นความมหัศจรรย์ของผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ แล้ว ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ เห็นจิตสงบเข้ามา มันจะมีความตื่นเต้นมาก มีความสุขมาก มหัศจรรย์มาก นี่ความมหัศจรรย์ของใจ มันมหัศจรรย์ขนาดนี้นะ ขนาดที่ว่ามันทิ้งภาระต่างๆ เข้ามา นี่ธรรมะ

“สัมมาสมาธิ” เห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ “พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” จิตคนสงบถึงฐาน เห็นแต่ความใสความสว่างของใจ “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” สิ่งนี้มีอยู่ในหัวใจ แต่มันเหมือนกับสิ่งที่ว่าเหมือนสิ่งมีกิเลสอยู่ ปกคลุมอยู่ แต่มันสงบตัวตนลง สิ่งนี้ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา ย้อนได้เลย ยกขึ้นไป น้อมไปหากายจะเห็นสภาวะของกาย ถ้าไม่มี มันสิ่งที่ว่าไม่มีอำนาจวาสนา พยายามรำพึงขึ้นมา รำพึงว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วรักษาจิตอันนี้

ถ้าจิตอันนี้มีพลังอันนี้ พลังอันนี้ทุกอย่างสมบูรณ์ มันต้องเป็นไป มันต้องเป็นไปตามอำนาจวาสนา สิ่งที่เป็นไป เพียงแต่ว่า เป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต หรือในธรรม เท่านั้น ถ้าเกิดในธรรม สภาวธรรมต่างๆ เกิดขึ้นมา “ธรรมารมณ์” อารมณ์ต่างๆ กระทบใจตลอด กระทบกับใจ ใจรับรู้ต่างๆ ถ้ามีสติ มีสมาธิ สิ่งนี้จะเป็นปัญญา สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ นี่ความคิดใคร่ครวญออกมา เรื่องของเราลึกๆ นะ

เวลาเรื่องของโลก เวลาจิตมันคิดออกไป คิดออกไปข้างนอก คิดไปเรื่องวัตถุสิ่งของข้าวของต่างๆ มันไปยึดข้างนอกเข้ามา ขณะนี้มันปล่อยเข้ามา แล้วจิตนี้คิดกระทบกับขันธ์ สิ่งที่ขันธ์ เป็นความเห็นจากภายใน นี่เรื่องจากภายใน เรื่องของเรา เรื่องของเราทั้งนั้น เรานี้เป็นจิตดวงนี้ เป็นผู้เกิดผู้ตาย เราจะไม่สามารถไปแก้จิตดวงอื่นได้ เราจะต้องแก้จิตของเรา

การเกิดและการตาย คือเกิดจากจิตของเรานี้ ถ้าเกิดจากจิตของเรานี้ ยกกระทบสิ่งนี้ เราก็ใคร่ครวญสิ่งนี้ ปัญญามันจะเกิดไง ปัญญาหยั่งสิ่งที่เกิดนี้ มันจะเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ มหัศจรรย์กับใจดวงนี้นะ มหัศจรรย์กับความประพฤติปฏิบัติ แล้วมันจะมีการทำงานกันระหว่างธรรมกับกิเลสนะ ถ้ากิเลสมันต่อต้าน กิเลสมีความขัดแย้งกับใจดวงนี้ มันจะล้มลุกคลุกคลานไง วิปัสสนาไปมันจะไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่เห็นตามความเป็นจริงมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางนะ เพราะมันใคร่ครวญสิ่งนี้ ปล่อยวางเพราะธรรมเมา ปล่อยวางเพราะกิเลสมันทำให้มัวเมาไปกับมันไง “สิ่งนี้เราทำแล้ว เราเข้าใจแล้ว” นี่มันเป็นความสุกเอาเผากิน ถ้ามีความสุกเอาเผากิน มันจะไม่เป็นสัจจะความจริง

หน้าที่ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สภาวธรรมนี้ธรรมชาติ เราจะกำหนดให้พระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกตามใจเราได้ไหม พระอาทิตย์นี่มันจะขึ้นหรือจะตกตามแต่ฤดูกาลของเขา จะเอียงไปทางไหนก็แล้วแต่ แล้วแต่ฤดูกาลของโลกกับอาทิตย์มันโคจรกันไป

นี่สภาวธรรมก็เหมือนกัน “สิ่งที่เป็นธรรม” ธรรมในหัวใจของเรา มันจะเกิดดับขนาดไหนมันก็เป็นหน้าที่ของความเป็นไปของเขา หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือใช้ปัญญาแล้วใคร่ครวญ ใคร่ครวญออกไป ไม่เมา ไม่สุกเอาเผากิน

ถ้าสุกเอาเผากิน มันเข้าใจแล้วมันปล่อยมา ปล่อยมา “เข้าใจ” เพราะมีสมาธิส่วนหนึ่ง มีปัญญาส่วนหนึ่ง การกระทำส่วนหนึ่ง แต่ตัวตนของเรา สิ่งที่เป็นสารพิษ สิ่งที่เป็นพิษในหัวใจ มันจะมีการโต้แย้ง มีการขัดขวาง มีการทำลายการประพฤติปฏิบัติของเราทั้งนั้น นี่ถ้ายังไม่เป็นความจริง มันก็ยังเป็นเมาอยู่ เมาอย่างหยาบๆ นะ เมาอย่างหยาบๆ

ถ้าเมาอย่างละเอียดขึ้นไป มันจะเมาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เพราะจิตนี้มันเหมือนกับสิ่งที่มีพิษในหัวใจไง หัวใจนี้เปรียบเหมือนกับกลอย ถ้ากลอยนี่เขาเอามากินโดยที่ว่าไม่ได้แช่ให้สารให้พิษมันจางไปก่อน กินเข้าไปมันจะมีความแพ้ไง นี่ถ้าใจของเรารักษา จากหัวกลอย ถ้าเราแช่หัวกลอยนี้ พิษนั้นจะคลายออกไป คลายออกไป

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราจะทำลายกิเลสให้มันจางลงๆ ไง ถ้าเราวิปัสสนากาย วิปัสสนากายด้วยสัมมาสมาธินะ กำหนดเพ่งไป ดูไป ดูสิ่งนี้ให้มันแปรสภาพ สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังของมันรวดเร็วมาก ถ้าจิตเราสงบ มันจะเป็นไปโดยความรวดเร็ว แต่ถ้าจิตเรากำลังไม่พอนะ มันจะชนกันอยู่อย่างนั้นน่ะ

กายนี้ จิตเห็นสภาวะกาย แล้วกำหนดให้แปรสภาพ มันจะขืนอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็พยายามใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันไม่เป็นไป นี้คือสมาธิไม่พอไง นี่เครื่องยนต์ ถ้ามันขาดไง ไฟไม่สะดวกมันก็ติดๆ ดับๆ มันไปได้อยู่ เครื่องยนต์มันติดอยู่ แต่มันไม่สะดวก มันสะดุดตลอดไป นี่ก็เหมือนกัน “วิปัสสนา” ถ้ากำลังไม่พอ มันไม่สะดวก เครื่องยนต์มันเดินไม่สะดวก เครื่องยนต์ไม่สะดวก หน้าที่ของเราก็ต้องดูว่าสิ่งใดไม่สมบูรณ์ล่ะ น้ำมันไม่คล่องตัว หรือว่าสิ่งนี้ไฟมันไม่คล่องตัว อากาศเป็นอย่างไร ไฟเป็นอย่างไร ดูอย่างนั้น รักษาอย่างนั้น

นี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันวิปัสสนา มันไม่เป็นไป เราต้องกลับมาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจเพื่อเพิ่มสัมมาสมาธิ นี่เพิ่มน้ำมัน เพิ่มพลังงานของตัวเองขึ้นมา ถ้าตัวเอง พลังงานของตัวเองขึ้นมา ย้อนกลับไปใหม่ สติดีไหม งานชอบไหม วางหัวใจอย่างไร เห็นสภาวะร่างกายอย่างไร แล้วรำพึงไป ปล่อย รำพึงไป ใช้ปัญญาใคร่ครวญไป มันจะเป็นสภาวะ จะเน่า จะขึ้นอืด จะพองตัวขนาดไหน นี่มองไปสภาวะแบบนั้น

ถ้ากำลังมันพอ มันจะเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วกายเป็นดินเป็นน้ำ ปั๊บ ไปทันทีนะ นี่ใจจะปล่อยวางอย่างนั้น พอเห็นแล้วปล่อยวางเข้ามา นี่สัจจะความจริงมันจะเป็นแบบนี้ ถ้าเจอสภาวะแบบอย่างนี้ เราจะเห็นสภาวะแบบนี้

“สอนใจตัวเองไง” ใจตัวเองมันยึดมั่นถือมั่น “อุปาทาน” จิตใต้สำนึกมันยึดมั่นถือมั่นโดยสัจจะความจริงของเขา

ธรรมะจากภายนอก “ปริยัติ” เราศึกษาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็รู้ แล้วชาวพุทธก็จะพูดแต่ปาก เห็นไหม สิ่งที่พูดแต่ปาก เวลาเขาคุยกัน ลมปากอย่างหนึ่ง ความจริงอย่างหนึ่ง นี่ขนาดเราประพฤติปฏิบัติของเรา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ธรรมะที่เกิดขึ้นในความวิปัสสนาของเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งคือว่า มันลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่าความเป็นไปที่เราศึกษามามาก ขณะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็คิดว่า “มันทำไมลึกซึ้งขนาดนี้ ลึกซึ้งขนาดนี้” ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ นี่มันสะเทือนใจมาก มีความเข้าใจมาก มีความสุขมาก นั้นแค่การศึกษาเล่าเรียนนะ

แต่ในการประพฤติปฏิบัติเข้าไป มันเห็นความเป็นจริง แล้วมันจะคายพิษของใจออกบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า ปัญญาเกิดขึ้นมาสภาวะแบบนั้นนะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องหมั่นคราดหมั่นไถ จนถึงที่สุด “อริยสัจ” สัจจะความจริงอันหนึ่ง ธรรมะที่เป็นธรรมเมา เมากับชีวิต เมากับความเป็นไปอันหนึ่ง ธรรมะกับศึกษาธรรมของครูบาอาจารย์มาก็เมาไปทำผิดทำถูก สุกเอาเผากินนั้นก็เป็นเมาอันหนึ่ง แต่ขณะที่มันสมุจเฉทปหาน เห็นสภาวะของกาย

ใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำเล่า กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันจะแยกออกจากกันนะ สิ่งที่แยกออกจากกัน สังโยชน์จะขาดตรงนี้ สิ่งที่ขาดตรงนี้ นี่ธรรมแท้ๆ เกิดขึ้นมาจากใจ

“ดวงตาเห็นธรรม” ถ้าใจของเราเห็นสภาวธรรม เราเห็นกาย เราก็เห็นสภาวธรรม สภาวธรรมนี้ เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรม เห็นไหม ธรรมเราเกิด เราสร้างสมขึ้นมา “สมาธิ” เราก็สร้างขึ้นมา “สติ” เราก็ฝึกฝนของเราเข้ามา ในการประพฤติปฏิบัติ “งานชอบ” เราก็ใคร่ครวญในกายของเรา ใคร่ครวญในจิตของเรา นี่คืองานชอบ “เลี้ยงชีวิตชอบ” เลี้ยงใจให้ใจนี้ใคร่ครวญอยู่ในกายในจิตนี้ นี่เลี้ยงชีวิตชอบ

เพราะชีวิต จิตนี้ ชีวิตนี้มันหลงผิดมา มันเมามากับในชีวิตของมัน ชีวิตมันเมาในอารมณ์ เมาในความยึดมั่นถือมั่น เมาในว่าตัวตนของตัวเอง จิตใต้สำนึกยึดว่า สรรพสิ่งนี้ กายนี้เป็นของเรา จิตนี้เป็นของเรา เราเกิดมาแล้วต้องเป็นของเรา สิ่งนี้เป็นเราทั้งหมดเลย

แต่นี้เราใช้ใคร่ครวญโดยปัญญาของเราเข้าไป สิ่งนี้เลี้ยงชีวิตชอบไง ให้ชีวิตนี้เข้าใจตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงในอริยสัจ ถ้าตามความเป็นจริงในสมมุติ ชีวิตมันก็เกิดตายอย่างนี้ เกิดเป็นมนุษย์นี้ก็จริงตามสมมุติว่าเป็นมนุษย์ นี่สมมุติเป็นแบบนี้ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว จากเด็ก จากผู้ใหญ่ บวชแล้ว พรรษา ๑ พรรษา ๒ พรรษามาก พรรษา อาวุโส ภันเต เห็นไหม ผู้ที่อาวุโสกว่า ผู้ที่ภันเตกว่า นี่มันเป็นแบบนี้ จริงตามสมมุติ สมมุติมันจริงอย่างนี้

แต่จริงตามธรรมไง “สภาวธรรม” สิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา สิ่งนี้เป็นสภาวะกรรมอันหนึ่ง เป็นผลของวัฏฏะ เพราะจิตนี้เกิดในวัฏฏะ ถึงได้สมบัติของมนุษย์ขึ้นมา สิ่งที่ได้สมบัติของมนุษย์ขึ้นมา แล้วเราพบพระพุทธศาสนา เราได้ออกบวชออกประพฤติปฏิบัติ จากสมมุติสงฆ์ไง คือสงฆ์ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา”

สภาวะของกายที่เห็นจากการวิปัสสนานี้ก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วดับไปเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดาของผู้เห็น เป็นธรรมดาของผู้ที่เห็นธรรม เป็นธรรมดาของผู้ที่ใช้จิตนี้ค้นคว้า แต่จะไม่เป็นธรรมดาของธรรมเมาเลย เพราะธรรมเมามันคาบสิ่งนี้ขึ้นมา มันจะเป็นธรรมดาไปไหน มันเกิดขึ้นมาจากกิเลส เกิดขึ้นมาจากความเป็นไป มันยึดของมันโดยสัจจะ เพราะมันเป็นยางเหนียว สิ่งที่เป็นยางเหนียว เป็นกาว เราไปอยู่ที่ไหนมันก็ติด อะไรตกไปในกาวมันจะติดอย่างนั้นโดยแน่นอน เพราะกาวนี้เป็นสิ่งที่ว่าเขาใช้ติดสิ่งของต่างๆ สิ่งที่วัตถุตกไปในกาว มันต้องติด ถ้าในเมื่อใจเรามันยังมีกิเลสอยู่ มันก็เป็นกาว มันเป็นสารพิษอยู่ในใจไง ถ้าอย่างนี้ สิ่งใดตกไปมันก็ยึดโดยธรรมชาติของมัน มันยึดโดยธรรมชาติของมัน

แต่เพราะเราสร้างสมธรรมอันนี้ เราสร้างสมสัมมาสมาธิเข้ามา แล้วเราไม่เมาไปกับความเห็นต่างๆ เราจะปล่อยสิ่งนี้เข้ามา สละทุกอย่างที่เห็น ถ้าสละทุกอย่างที่เห็น จิตจะสงบเข้ามาเป็นพื้นฐาน สิ่งที่สงบเข้ามาเป็นพื้นฐานแล้วยกขึ้นวิปัสสนาในสัจจะความจริง ให้มรรคาเกิดขึ้นจากใจดวงนี้ ถ้ามรรคาเกิดขึ้นจากใจดวงนี้ ปัญญาเกิดอย่างนี้ นี่คือภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นกับผู้ที่นั่งสมาธิ เดินจงกรม หรืออิริยาบท ๔ นี้ ด้วยการพิจารณาจากจิตเข้ามา นี่จิตเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา ปัญญาอันนี้เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นจากใจดวงนั้น แล้วชำระใจดวงนั้นให้คายพิษออกจากใจดวงนั้น ถ้าคายพิษออกจากใจดวงนั้น นี่สภาวธรรมเกิดขึ้น นี้เป็นอริยสัจไง

“ดวงตาเห็นธรรม” สิ่งที่ดวงตาเห็นธรรม เกิดขึ้นมาจากเราไม่มัวเมากับสิ่งต่างๆ จะต้องมีสติสัมปชัญญะตลอด แล้วใคร่ครวญเป็นสัมมาสติ ใคร่ครวญกับจิตดวงนี้ ย้อนกลับจิตดวงนี้ขึ้นมา มันจะมีความสุขนะ มีความสุขมีความพอใจว่าเราเป็นชาวพุทธ แล้วมีธรรมในหัวใจอย่างนี้ นี่สภาวะธรรมะในหัวใจ ไม่ใช่สภาวธรรมเมา จะเห็นความเป็นธรรมเมาว่า ล้มลุกคลุกคลานมานี้เพราะเมามาตลอด ล้มลุกคลุกคลานมาเพราะกิเลสมันเป็นสารพิษในหัวใจ แล้วบดบี้สีไฟกับใจดวงนี้

ในการประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันเป็นงานไหม? เป็นงาน

มันต้องใช้พลังงานไหม? ต้องใช้

มันเป็นความน่าเบื่อหน่ายไหม? ถ้าจำเจเบื่อหน่าย นั้นเป็นเรื่องของธรรมเมา เป็นเรื่องของกิเลส มันต้องพลิกแพลงไง

หน้าที่ของเรา งานอันประเสริฐ งานในการชำระตนนี้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ในการแสวงหาต่างๆ สมบัติต่างๆ นั้นเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องการเครื่องอยู่อาศัยนะ แต่ในเมื่อเราเกิดมา แล้วเราบวชมาเป็นพระเป็นเจ้า เราก็ต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งที่ข้อวัตรปฏิบัติ เพราะแบบว่า นกยังมีรวงยังมีรังของมันในการอาศัยสิ่งนี้เป็นไป นี่ข้อวัตรปฏิบัตินี้เป็นเครื่องดำเนิน เพราะดำเนินข้อวัตรปฏิบัติ มันเป็นสิ่งที่ว่าขัดเกลาใจของเราขึ้นมา อย่างธุดงควัตร สิ่งที่ธุดงควัตรคือเครื่องขัดเกลากิเลส ขัดเกลากิเลสนะ บวชแล้ว ศีล ๒๒๗ มันก็ว่าเป็นสิ่งที่ว่ามากมายแล้วเราต้องถนอมรักษา

“รักษาศีล” รักษาศีลเพื่อให้ความบริสุทธิ์ เพื่อให้เรามั่นใจ เพื่อเป็นการองอาจกล้าหาญนะ ผู้มีศีลบริสุทธิ์จะเข้าสังคมไหนก็เข้าด้วยความองอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลบริสุทธิ์จะเข้าผจญกับกิเลสของตัวเองก็มีความองอาจกล้าหาญ

ถ้าพวกเราทุศีล จะเข้าเผชิญกับกิเลสของตัวเอง กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ หัวเราะเยาะว่า “เมื่อกี้ก็ยังเอาเปรียบสังคมมา เอาเปรียบหมู่คณะมา สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์อะไร” เราว่าเราเป็นผู้ที่ฉลาดไง หาเวลาออกประพฤติปฏิบัติ เขาทำงานทำข้อวัตรกัน เราหลบเราหลีก นี่กิเลสมันรู้ทั้งนั้นน่ะ แต่อันนี้มันเมาออกไป

แต่ถ้าเป็นความสัจจะความจริงของเรา เราใคร่ครวญของเรา หน้าที่ของเรา เราทำเพื่อดัดแปลงกิเลสของเรา เราทำนี่เราเตือนกิเลสของเรา เราดัดแปลงไม่ให้กิเลสมันเข้มแข็งขึ้นมา สิ่งนี้ก็หลบหลีกไป แล้วจะเข้ามาองอาจกล้าหาญกับตัวเอง มันจะเข้าไปองอาจกล้าหาญกับตัวเองตรงไหน ในเมื่อตัวเองเป็นคนไม่จริง

“สิ่งที่เป็นพิษ” ใจมันก็เป็นพิษอยู่แล้ว แล้วยังเอาสิ่งที่ว่าไปเบียดเบียนเขา มาให้เป็นพิษกับใจเราอีก ซ้ำ ๒ ซ้ำ ๓ เข้าไป สะสมสิ่งที่เป็นพิษตลอด มันจะเป็นธรรมมาจากไหน มันก็มัวเมาไปกับสารพิษอันนั้น

แต่ถ้ามันเป็นความซื่อตรงกับเรา นี่จะดัดแปลงตน ปัญญาอย่างนี้มันต้องดัดแปลงตน เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา ไม่ต้องให้มีใครเตือน ถ้ามีคนอื่นเตือนนะ มันจะเหมือนกับว่า “เขากับเรา” เขาเตือนเรา เขามีอคติกับเราไหม มันต้องคิดอย่างนั้นเด็ดขาด แต่ถ้ามันเตือนตนเองได้นะ เราต่างหากเตือนตนเราได้ นี่ตั้งประเด็นถามตัวเอง ถ้าผู้มีเชาวน์มีปัญญาจะถามตัวเอง “เป้าหมายของเราคือต้องการทำลายกิเลส เป้าหมายของเราจะไม่เกิดอีก แล้วงานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ มรรค ๔ ผล ๔ มันมีวางไว้ให้เราก้าวเดิน”

สิ่งนี้เราได้มา ได้เพราะความมุมานะของเรา ได้มาเพราะความจริงของเรา ความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา กดความเห็นของตัวตนว่า ถ้าจิตนี้เป็นสงบได้ ตัวตนนั้นต้องเบาเข้ามา ถ้าจิตนี้สงบไม่ได้ เป็นโลกียะ เป็นฌานโลกีย์ เป็นความเห็นของโลก ปัญญาก็เป็นปัญญาโลก สิ่งที่เป็นปัญญาโลก แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ปัญญาที่เกิดขึ้น เกิดจากการฝึกฝน เกิดจากการค้นคว้า ปัญญาจะไม่เกิดลอยๆ เป็นไปไม่ได้ ปัญญาเกิดเป็นลอยๆ มันมาจากไหน ปัญญาลอยๆ อย่างนี้ก็เป็นธรรมเมาสิ

แต่ถ้าเป็นปัญญาของเรา การใคร่ครวญของเรา คิดมา ใคร่ครวญมาทุกอย่างที่เป็นสิ่งที่กระทบกับใจ จิตนี้สงบเข้ามา จิตนี้พิจารณากายแล้วปล่อยวางกายโดยสัจจะความจริงแล้ว แล้วจิตนี้มันอยู่ที่ไหน? จิตนี้ก็อยู่ที่ความรู้สึกอันนี้ไง สิ่งที่ความรู้สึก สิ่งที่ยังรับรู้อยู่ นี่คือตัวจิต สิ่งที่ตัวจิตคือสิ่งที่ทำความสงบเข้ามา กำหนดพุทโธเข้ามา เข้ามา ให้มันสงบเข้ามา แล้วยกขึ้นต่อไปให้เห็นความเป็นธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

“อุปาทาน” สิ่งอันละเอียด มันจะฝังอยู่ในหัวใจตัวนี้ ถ้าฝังอยู่ใจตัวนี้ มันมีสังโยชน์อยู่ เป็นเครื่องร้อยรัด นี่กิเลสมันมีสะพานเดินไง กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้เดิน กิเลสคืออวิชชา เจ้าวัฏจักร คือตัวอวิชชา คือตัวภวาสวะ คือตัวภพตัวนั้น นี่มันเป็นสารพิษอยู่ในใจของเราอย่างนั้น มันถึงออกมารับรู้ ออกมาโดยการแสวงหาของเขา พลังงานของเขาออกมาในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี่ธาตุออกคิด ขันธ์คิดอย่างไรก็อาศัยสิ่งนั้นออกมา นี่ตัวตนอย่างนี้ แล้วถ้าทำความสงบอย่างนี้เข้าไป ย้อนกลับเข้าไป ย้อนกลับเข้าไปจับเรื่องของธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี้

วิปัสสนา คือใคร่ครวญด้วยปัญญา ด้วยสภาวธรรมตามความเป็นจริง สิ่งที่สภาวะตามความเป็นจริง ถ้ากิเลสมันต่อสู้ มันคัดค้าน มันต้านทาน สิ่งที่ต้านทานนั้นเป็นผลของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา กิเลสเท่านั้นทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราล้มลุกคลุกคลาน แม้แต่เห็นกายแล้วยกขึ้นวิปัสสนา มันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน ความเมาต่างๆ สร้างให้เราเห็นคลาดเคลื่อน สร้างความเห็นคลาดเคลื่อน เราก็ต้องหลงไปตามความคลาดเคลื่อนนั้น การปล่อยวางแบบความคลาดเคลื่อน คือปล่อยวางแบบเขาสร้างภาพ

การสร้างภาพของใจนี้ สร้างภาพสภาวธรรม เราศึกษาธรรมมาขนาดไหน เราสร้าง เราศึกษา มีข้อมูลของใจ คือกรอบของใจมันมีอยู่แล้ว มันก็สร้างภาพของมันได้ มันมีข้อมูลของมันอยู่แล้ว มันก็สร้างภาพของมันได้ สิ่งที่สร้างภาพ คราวนี้ถ้าเราไม่ทัน สติเราไม่ทัน เราก็เห็นสภาวะแบบนั้นไป มันก็ว่าง มันก็ปล่อยวางเหมือนกัน ถ้าปล่อยวางอย่างนี้ ปล่อยวางแบบกิเลสพาปล่อยวาง ไม่ใช่ธรรมพาปล่อยวาง

ถ้าธรรมพาปล่อยวาง จะต้องเห็นสภาวะกาย แล้วกำหนดกายให้มันตามความเป็นจริง มันจะคืนความเป็นธรรมชาติของเขา เป็นน้ำ เป็นลม เป็นดิน เป็นไฟ ออกไปตามสภาพของเขา เห็นสภาวะแบบนี้ทีหนึ่ง จิตมันก็ตื่นเต้น จิตมันก็เห็นความเป็นจริงของมัน มันก็ปล่อยสภาวะแบบนั้นเข้ามา มันต้องเป็นสัจจะของใจดวงนั้น เห็นสภาวะแบบนั้น ปล่อยขึ้นมา นี่ฝึกฝนใจดวงนี้ให้เห็นสภาวะอย่างนั้นขึ้นมา จับต้องอย่างนี้ แล้วใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดมันต้องปล่อยวางตามความเป็นจริง ปฏิฆะ-กามราคะอ่อนลง กายกับจิตแยกออกจากสัจจะความเป็นจริง นี่สภาวธรรม ธรรมะเกิดจากใจดวงนั้นอีกขั้นตอนหนึ่ง ขั้นตอนของใจดวงนี้มีธรรมที่ละเอียดขึ้นมา

“ธรรมอย่างหยาบ-ธรรมละเอียด” เห็นไหม ผู้ที่มีธรรมอย่างหยาบจะไปรู้ธรรมของผู้ละเอียดกว่าเป็นไปได้อย่างไร สมบัติของเรามีน้อยกว่าเขา แล้วเราจะไปเทียบเคียงกับสมบัติของเศรษฐี มหาเศรษฐี มันจะเป็นไปได้อย่างไร สมบัติเรามีร้อยมีพันเท่านั้น เขามีเป็นล้านๆ หลายๆ ล้าน สภาวะเงินของเราจะไปเทียบกับเขาได้อย่างไร แล้วเราก็คาดหมายไง

เงินพันๆ ล้านก็มีเท่ากับเราที่เป็นล้านๆ นี่แหละ เราก็นับของเรา หลายๆ ครั้งเข้ามันก็เป็นพันล้านเหมือนกัน นี่สมบัติของผู้ที่เหนือกว่า ความทุกข์ที่เหนือกว่า แล้วความที่เหนือกว่า กิเลสมันก็เหนือกว่าด้วย กิเลสสภาวะแบบนั้นอยู่ที่เหนือกว่า มันก็สภาวะนี้ หลอกให้เราจมอยู่ตรงนี้ได้นะว่า สิ่งนี้เป็นความว่าง จิตนี้ทำลายออกไปแล้ว นี่ว่างหมด สภาวะว่าง อย่างนี้มันเป็นผลที่ว่าเป็นพันๆ ล้านแล้ว เห็นไหม เราก็นับเทียบเคียงออกไป ออกไป

นี่เมาอย่างละเอียดนะ เมากับความรู้เห็น สิ่งที่ว่าเรามีธรรมในหัวใจ เรายังไปเมากับสิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่กิเลสเหนือกว่า คือกามราคะ จะซุกตัวอยู่ จะไม่ให้เราเห็นสภาวะความเป็นจริงของมันเลย นี่พวกผู้ที่ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมแล้วกามราคะอ่อนลง ความเป็นไปของเราไม่มี นี่เมาทั้งนั้นเลย เมาเพราะอะไร เมาเพราะกดไว้ไง “หินทับหญ้า” หินทับหญ้าไว้ว่าเราละกิเลสได้ เราปล่อยวางความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลงของเราจางออกไปจากใจ นี่เมาไปได้อย่างไร

ถ้าครูบาอาจารย์มีนะ...

(เทปขัดข้อง)

...เมาเพราะเรารู้สัจจะ รู้ความจริง เห็นสภาวะของกายกับจิตใช่ไหม ถ้าเราเห็นสภาวะกายกับจิตที่มันปล่อยวางกัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สิ่งนี้ถึงจะเบา เบาเพราะมันต้องมีเหตุให้เบา ไม่ใช่เบาเพราะเราเอาหินทับหญ้าไว้ สิ่งที่เอาหินทับหญ้าไว้ มันเป็นธรรมเมาไง

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราขึ้นมาติดสภาวะแบบนี้ เราก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ความเห็นของกิเลสอันละเอียดมันหลอกให้เราสภาวะติดอยู่ตรงนี้ไง เราถึงต้องค้นคว้า เราต้องขุดค้น เราต้องเทียบเคียง นี่การประพฤติปฏิบัติของเราเราเทียบเคียงกับธรรม เราถึงว่า ไม่ใช่มดแดงไต่บนมะม่วง เฝ้ากอบัวอยู่อย่างนั้น เฝ้าผลมะม่วงอยู่อย่างนั้น

นี่เหมือนกัน สภาวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนามธรรมๆ การประพฤติปฏิบัติเป็นนามธรรมๆ

แล้วมันนามธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ?

นามธรรม คือความรู้สึก คือใจของเรา เรากำหนดพุทโธเข้ามา เราทำความสงบของเราเข้ามา มันจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา จิตนี้ปล่อยกาย กายกับจิตนี้ปล่อยกันออกมาแล้ว มันจะละเอียดเข้ามา มันจะเป็นขันธ์อันละเอียดอยู่ภายใน ถ้าสติเราย้อนกลับเข้าไป มันจะเป็นมหาสติ เพราะจิตนี้มันละเอียดเข้ามา ความสงบอย่างนี้มันเป็นความสงบที่ละเอียดขึ้นไป สิ่งที่ละเอียดขึ้นไป มันจะย้อนกลับขึ้นไปจับสิ่งที่ละเอียดกว่า สิ่งที่ละเอียดกว่ามันจะกางกั้น จะขุดค้น จะค้นคว้า ถ้าค้นคว้าเข้าไป เห็นสภาวะกายอีกทีหนึ่งมันจะเป็นอสุภะ

ถ้ามันเป็นอสุภะ พิจารณาอสุภะซ้ำแล้วซ้ำเล่า พิจารณานะ ถ้าจิตนี้สมาธิมันไม่พอ มันก็ต้องกลับมาทำความสงบของใจ แล้วค่อยไปพิจารณาอสุภะไง สิ่งใดอสุภะ มันสวยตรงไหน กามราคะ ความยึดมั่นถือมั่นของใจมันดีตรงไหน สิ่งที่มันดี เราก็ว่าสิ่งนี้มันดี เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องของการเกิดและการตาย เป็นกามโอฆะไง สิ่งที่เป็นกามโอฆะ คือการดำรงเผ่าพันธุ์ สิ่งที่ดำรงเผ่าพันธุ์นะ เผ่าพันธุ์จะเกิดขึ้นมา ดำรงเผ่าพันธุ์อย่างนั้น

ดูสิ เขาอนุรักษ์สัตว์ป่า เขาว่าสัตว์ป่ามันจะสูญพันธุ์ เขาต้องอนุรักษ์ไว้เพื่อไม่ให้มันสูญพันธุ์ สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของเขา แต่ความเป็นมนุษย์ของเรา เมื่อก่อนมีแค่ ๑๖ ล้านคน เดี๋ยวนี้ ๖๐ ล้านคนมาที่ไหน มันมาที่ไหน? มันมาเพราะกามราคะนี้ไง สิ่งที่กามราคะนี้มันฝังอยู่ที่ใจ สิ่งที่ฝังอยู่ที่ใจมันเป็นไปโดยสัจจะ โดยความพอใจ โดยธรรม โดยธรรมคือความเป็นไปของโลกไง

แต่ถ้าเราโดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เราจะทำลายสิ่งนี้ไง ถ้าเราทำลายสิ่งนี้ เราจะย้อนกลับขึ้นไป มันจะจับอสุภะตัวนี้ได้ เห็นความเป็นอสุภะ มันจะใคร่ครวญเป็นความอสุภะไง สิ่งที่เป็นอสุภะ มันสกปรกโสมม...

(เทปขัดข้อง)

...เพราะจิตนี้สงบ จิตนี้สงบ จิตนี้มีพื้นฐาน จิตนี้เป็นมหาสติ-มหาปัญญา สิ่งที่มหาสติ-มหาปัญญา ย้อนกลับไปที่กาย เห็นสภาวะของกาย เพราะมันไม่มีมิติ ตั้งสภาวะกายออกไป มันจะเป็นความอสุภะ เป็นความเยิ้มไปด้วยน้ำเลือดน้ำหนอง ด้วยต่างๆ มันเยิ้มไปต่างๆ เราพิจารณาสภาวะแบบนี้ นี่มันไม่มีความสวยความงามมาจากไหน ร่างกายของคนมันจะสวยความงามมาจากไหน สิ่งนี้รักษากันไว้โดยสัจจะความจริงเท่านั้น ถ้าจิตมันมีธรรมนะ มันเห็นสภาวะแบบนั้น

แต่เวลามันผ่านโดยสัจจะของโลกเขา...

(เทปขัดข้อง)

...มันถอยไง “เมา” เมากับความประพฤติปฏิบัติ เมากับสติ ทั้งๆ ที่เป็นมหาสติ-มหาปัญญานะ เวลากิเลสมันแสดงตัวทีเดียว ล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้นะ เราต่อสู้กับกิเลส เราจะทำลายกิเลสอยู่อย่างนี้ เวลามันแสดงตัวขึ้นมา มันใช้อำนาจของมัน เรายังล้มลุกคลุกคลาน เมาไปความเห็นของกิเลสมันเบี่ยงเบนออกมาให้เราถอยร่นออกมา นี่ล้มลุกคลุกคลานไปก็สู้ใหม่ ต้องสู้นะ

ถ้าเราสร้างสมขึ้นมา กำลังไม่พอ กลับมาสร้างสม กลับมาพุทโธๆ กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิใคร่ครวญขนาดไหนเข้าไป สร้างสมสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วย้อนกลับขึ้นไป ย้อนกลับขึ้นไปทำใหม่ อสุภะก็เกิด สภาวะอสุภะก็เกิด มันจะปล่อย ถ้ากำลังมันพอ ปล่อยแล้วปล่อยเล่า จนว่างออกมา ปล่อยวางออกมา เราก็หลงผิดได้เหมือนกัน

ความเป็นหลงผิดเพราะมันปล่อยวางแล้ว ว่างอย่างนี้มันเป็นความมหัศจรรย์มาก ขนาดจิตที่เป็นสมาธิมันยังมหัศจรรย์ แล้วมันปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนก็มหัศจรรย์ แล้วมันปล่อยวางสิ่งที่ละเอียดนะ ปล่อยวางกามราคะ ปล่อยวางแต่มันไม่สมุจเฉทปหาน มันคืนตัวได้ทั้งนั้นล่ะ ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล เราติดสภาวะแบบนั้น เดี๋ยวมันก็จางออกมาคลายออกมา แล้วเราก็ต้องต่อสู้ใหม่ ต้องตั้งต้นตั้งตัวใหม่

สิ่งที่ตั้งตัวใหม่ ก่องานแต่ละชั้นนะ เวลาเราสร้างตึกสูงๆ เขาต้องมีนั่งร้านขึ้นไปตลอด นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราสร้างนั่งร้านขึ้นมา เรากำลังก่อร่างสร้างตึกของเราขึ้นมา “ศีล สมาธิ ปัญญา” มันก่อร่างสร้างขึ้นมา แล้วถ้ากิเลสมันล้มสิ่งนี้ออกไป มันก็เท่ากับไม่มี เราก็ต้องก่อร่างสร้างขึ้นมาใหม่ นี่เวลามันถอย มันถอยอย่างนี้ มันเสื่อม มันเสื่อมอย่างนี้ มันมีความเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ในการต่อสู้กัน ในนักกีฬาเขาเล่นกัน มันยังมีเวลาแพ้ มีเวลาชนะมาตลอด เวลาธรรมกับกิเลสมันต่อสู้กันในหัวใจ มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น ถ้ามันเป็นการเจริญแล้วเสื่อม การต่อสู้กัน มันต่อสู้กัน แพ้ก็สู้ใหม่ๆ อย่างนี้ยังเป็นการต่อสู้นะ

แต่ถ้าเราเมากับมัน เราเข้าใจว่า “นี่เป็นธรรม” กามราคะขาดออกไปจากใจ เพราะมันว่าง มันไม่มีสิ่งใดจับต้องได้ นี่เมา ไม่ได้ก่อร่าง นี้คือไปจำนนกับกิเลสที่มันให้เราไปจำนนกับความเป็นไปของมันที่มันจะครอบคลุมใจดวงนี้ไว้ต่างหากล่ะ พอเรามีสติ เราใคร่ครวญของเราขึ้นมา “นี้มันโดนกิเลสหลอกอีกแล้ว” ถ้าโดนกิเลสหลอกอีกแล้ว เริ่มต้นใหม่ ก่อร่างสร้างตัว สร้างร้านขึ้นไปใหม่ ทำสภาวะอย่างนี้

ในการต่อสู้กับกามราคะ ในการประพฤติปฏิบัติ การต่อสู้กับกามราคะนี้เป็นงานที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ที่สุดในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่จะต่อสู้กับสิ่งนี้ เราถึงต้อง...เห็นไหม ถ้าครูบาอาจารย์อยู่ในหมู่คณะจะออก จะปลีกตัวออกวิเวก จะปลีกตัวออกกาลเวลา มันเกิดกับใจตลอดนะ เวลาคนเขา เรื่องของโลกเขา เขาเป็นครั้งเป็นคราวนะ แต่ถ้าจิตมันอยู่กับสภาวะแบบนั้นมันแสดงตัวตลอด แล้วสิ่งนี้มันแสดงตัวตลอดเวลา เรื่องกามราคะมันแสดงตัวในใจนี้ตลอดเวลา แล้วเราจะเอาเวลาที่ไหนไปยับยั้งมัน ไปต่อสู้มัน เหมือนกับกองไฟ เรายืนอยู่กองไฟห่างๆ ความร้อนของไฟนั้นก็มีเล็กน้อย เราเข้าไปใกล้กองไฟขนาดไหน ไฟนั้นก็แรงขนาดนั้น

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรากำลังพิจารณาอสุภะอยู่ พิจารณากามราคะอยู่กับในหัวใจ แล้วสติเราเข้าไป ปัญญาเราใคร่ครวญ นี่มันรุนแรงขนาดไหน มันรุนแรงขนาดนั้น เราก็ต้องพลิกแพลงกับมัน พลิกแพลง มันรุนแรงขนาดไหน มหาสติ-มหาปัญญาก็ต้องรุนแรงอย่างนั้น มหาสติ-มหาปัญญาก็ต้องมีความเป็นไป มีความมุมานะ มีการต่อสู้ แพ้หรือชนะก็ต้องต่อสู้กัน เจริญแล้วเสื่อมขนาดไหนก็ต่อสู้ ต่อสู้ด้วยปัญญาของเรา แยกแยะใคร่ครวญ ใคร่ครวญนะ เวลาเป็นอสุภะ ใคร่ครวญตรงไหน? ใคร่ครวญที่ว่ามันพลิกแพลงให้เราเห็นสภาวะแบบนี้ แล้วมันปล่อยวางๆ ไง ปล่อยวางเราก็ว่างหมด ว่างสภาวะแบบนั้น ว่างแล้วเราก็เข้าใจว่าว่าง

ทำไมเราไม่สร้างขึ้นมาใหม่ล่ะ ทำไมเราไม่ตั้งอสุภะขึ้นมาให้เราเห็นโดยชัดเจนล่ะ? มันละเอียดอ่อน มันไวมาก แล้วมันปล่อยพั๊บๆๆ ถ้ามันเร็วขึ้นๆ เร็วขึ้นขนาดไหน ใจมันก็ว่างขนาดนั้น จนเป็นว่าเราเข้าใจตามความเป็นจริงไง

แต่ถ้าเข้าใจตามความเป็นจริงโดยสมุจเฉทปหาน มันจะกลืนเข้ามาที่ใจ แล้วมันจะครืน! มันจะทำลายกันที่ใจดวงนั้น ถ้ากามราคะออกไปจากใจ ทำลายกามราคะแล้วนะ จิตนี้จะว่างออกมาแล้วจะฝึกซ้อมความเศษส่วนของมัน ฝึกซ้อมแล้วฝึกซ้อมเล่า จนปล่อยวางเข้าเป็นชั้นเป็นตอน…

(เทปขัดข้อง)

...จนถึงกับว่าประพฤติปฏิบัติ จากที่ว่าหัวกลอยมีเป็นความพิษ เป็นพิษ เราทำลายหัวกลอยที่เป็นพิษออกหมดเลย หัวกลอยนะ เราจับต้องได้ ใจก็เหมือนกัน เราทำลายพิษออกมา ทำลายกิเลส สังโยชน์ที่มันติดเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอน จนพิษนี้ไม่มี เห็นไหม เป็นความว่างหมดเลย “ความว่าง” หัวกลอยมันมีใช่ไหม เราจับต้องหัวกลอยนั้นได้ใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ความว่างมีขนาดไหน ผู้รู้ว่าว่าง ใครเป็นคนรู้ว่าว่าง จิตนี้มันเป็นความว่าง ว่างหมดเลย เราก็เข้าใจว่านี้คือที่หมายไง นี้คือตัวบท นี้คือตัวความประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดไง นี่เมาในธรรมนะ

ครูบาอาจารย์ไปติดไปเมากันอย่างนี้ เพราะมีความเมาอันละเอียดไง ละเอียดมาก “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” มองไปทะลุภูเขาเลากา ไม่มีสิ่งใดจะปิดบังใจดวงนี้ได้ ใจดวงนี้จะมีอำนาจมาก ใจดวงนี้จะมีกำลังมาก จะแสวงหา จะรับรู้สิ่งใด จะส่งใจดวงนี้ไปเห็นทั้งหมดเลย นี่มันก็เป็นความมหัศจรรย์ของใจดวงนี้สิ ใจดวงนี้ทำไมมันรู้ไปหมด รู้ความเป็นไปทั้งหมด เราก็ไปติดในความรู้นั้น นี่เมาอย่างละเอียด เมาตรงนี้

ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนะ เราจะย้อนกลับ ย้อนกลับเข้าไป ย้อนกลับคือทำอรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นอรหัตตมรรค สมาธิเห็นไหม จากมหาสติ-มหาปัญญา สมาธิอย่างละเอียด ย้อนกลับขึ้นไป จนมันเป็นญาณอันละเอียดย้อนกลับ ถ้าย้อนกลับได้ นี่ถึงตัวอวิชชา ตอของจิตอยู่ตรงนี้ ตัวของจิตรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วพยายามใคร่ครวญเข้ามา นี่ไม่เมาในตัวมันเอง

จากตัวที่มันเป็นอวิชชานะ ออกไปจากข้างนอก ไปเมา เมาจากเห็ดพิษกับเห็ดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปล่อยสิ่งนั้นต่างๆ เข้ามา ปล่อยเข้ามาจนถึงตัวมันเอง มันก็มาใคร่ครวญไปเมาในตัวมันเอง นี่ความละเอียดอ่อนของใจดวงนี้ย้อนกลับเข้ามาถึงตัวมันเอง จับตัวจิตของเราได้

ถ้าใช้ปัญญาเป็นอุทธัจจะ อุทธัจจะเป็นสังโยชน์ตัวหนึ่งในสังโยชน์เบื้องบน “รูปราคา อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา” ความใช้ปัญญาอย่างที่เราใช้ปัญญาการใคร่ครวญมา เป็นอุทธัจจะ เป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง ถ้าเราใช้ปัญญาอย่างนี้จะฆ่ากิเลสไม่ได้เลย เพราะมันเป็นสังโยชน์ เป็นเครื่องร้อยรัด มันเป็นเครื่องร้อยรัดตัวมันเองอยู่แล้ว มันเป็นตัวของมันเอง แล้วเราใช้ตัวมันเองเป็นอย่างนั้น มันจะทำลายมันได้อย่างไร สิ่งที่เป็นปัญญา มันก็เป็นกิเลสอยู่อย่างนั้น ล้มลุกคลุกคลานนะ ความละเอียดอ่อนของมันจะเป็นขนาดนั้น

ถึงต้องปล่อย ใช้ความใคร่ครวญของมัน ใช้ความมีมหาสติ ใช้สติอัตโนมัติอย่างนั้น ให้เฝ้าดูมันอย่างนั้น ย้อนกลับไปทำลายตัวมันเองนะ “เฝ้าดู” เห็นไหม เหมือนกับสิ่งที่มัน กลืนตัวมันเอง ทำลายตัวมันเอง พอมันทำลายตัวมันเอง สิ่งที่เป็นภวาสวะ สิ่งที่เป็นตัวภพ สิ่งที่เป็นตัวฐาน โดนทำลายหมดแล้ว สิ่งนี้เป็นธรรมล้วนๆ ไง

เอโกธัมโม ธรรมอันเอก หนึ่งเดียว ไม่มีสอง

โลกนี้เป็นโลกคู่ มืดคู่กับสว่าง สุขคู่กับทุกข์ “จิตนี้เดิมแท้ผ่องใส” ผ่องใสขนาดไหน ว่างขนาดไหน มันก็ฝั่งตรงข้าม “ผ่องใส” มันก็เข้ากับ “เศร้าหมอง” สิ่งที่ว่าว่าง “ว่าง” มันก็มีความขัดเคืองใจ เพราะมันมีอาลัยอาวรณ์อยู่ในนั้น มันมีความอาลัยอาวรณ์ มีความสุขอันละเอียด มีความทุกข์อันละเอียด เศร้าหมอง-ผ่องใสอยู่ตรงนั้น นี่ทำลายตรงนี้ออกไปแล้ว แล้วใครมันจะไปเมาล่ะ สิ่งที่เป็นพื้นฐานของความเมาไม่มี สิ่งที่เป็นพื้นฐานของความยึดมั่นถือมั่นของใจไม่มี ทำลายสิ่งต่างๆ ออกไปทั้งหมด แต่สิ่งนี้มีความรู้อยู่ เพราะมันเป็นวิมุตติสุขไง

สิ่งที่เป็นวิมุตติสุข จบสิ้นกระบวนการของการประพฤติปฏิบัติ พอพ้นจากการประพฤติ กระบวนการของการประพฤติปฏิบัติจบสิ้น นี่ปฏิเวธ

“ปริยัติ” เป็นการศึกษา เป็นวาระอันหนึ่ง

“ปฏิบัติ” เป็นวาระที่การต่อสู้ การต่อสู้สร้างสมใจดวงนี้ขึ้นมาด้วยภาคปฏิบัติ สิ่งที่ปฏิบัตินี้ถึงเป็นความมหัศจรรย์ สิ่งที่เป็นการปฏิบัตินี้ถึงจะเป็นการจรรโลงศาสนา ผู้ที่จะจรรโลงศาสนาออกมาจากการประพฤติปฏิบัติ จะเป็นปฏิเวธไง

สิ่งที่เป็น “ปฏิเวธ” ไม่เมาในอารมณ์ ไม่เมาในธรรม ไม่เมาสิ่งต่างๆ

สิ่งที่ไม่เมา เห็นไหม แล้วพาใครเมาล่ะ

ถึงผู้รู้จริงไง ครูบาอาจารย์ของเรา จริงจากหัวใจดวงนี้นะ จากใจดวงนี้ แล้วก็ส่งให้ใจสกปรกโสมมอย่างพวกเรา พวกเราเมาในอารมณ์ เมาในความคิด เมาในสมาธิ เวลาธรรมเกิดขึ้นมาก็อยากได้อีก มีแต่ความมัวเมา ถ้าเรายังเมาอยู่ ถ้าเราไม่เข้าใจอยู่ เราก็ฟังครูฟังอาจารย์ ครูอาจารย์ที่หูตาสว่างจะชักนำเราไม่พาไปสู่ความมัวเมาอันนั้น

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เข้าถึงจิตเดิม ถึงกับเอโกธัมโมอันนี้ ตัวเองก็สงสัยในตัวเอง ตัวเองก็ไม่เข้าใจในตัวเอง เวลาจิตสงบเข้ามาขนาดนี้ ปล่อยวางขนาดนี้ มันอยู่ในวังวนไง อยู่ในเห็ดพิษ อยู่ในเห็ดที่เป็นประโยชน์ไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกต้องทั้งนั้น...

(เทปขัดข้อง)

...ที่ไม่รู้ก็พากันเมา ถ้าพากันเมาอยู่อย่างนั้น จากใจดวงหนึ่งให้กับใจดวงหนึ่ง ใจดวงที่มัวเมาก็พาสิ่งที่มัวเมา เหมือนกับโคพาฝูงนั้นลงไปน้ำวนนั้น พากันตายไปหมด

แต่ถ้าโคที่ฉลาด ใจดวงนี้ไม่เมา ใจดวงนี้เป็นเอโกธัมโม ใจดวงนี้จะพาฝูงโคขึ้นฝั่ง ขึ้นฝั่งนั่นเป็นบุคลาธิษฐาน แต่นี้ขึ้นถึงวิมุตติสุข ถ้าขึ้นวิมุตติสุข สิ่งนี้จะเข้าใจกัน จะรู้ตามความเป็นจริง ธรรมนี้อยู่ในใจของดวงใด การแสดงออก การสื่อออกมามันปิดไม่อยู่หรอก ปิดธรรมดวงนี้ไม่ได้ เพราะธรรมดวงนี้มันเป็นสิ่งที่ความเข้าใจดวงนี้ การสื่อความหมายก็สื่อความหมายจากใจดวงนี้ให้กับใจของเราก้าวเดินไปด้วยความฆ่ากิเลส ฆ่ากิเลสไง

สิ่งที่ฆ่ากิเลสมาเพื่อความสว่างไสวของใจ สิ่งที่ฆ่ากิเลส เห็นไหม นี่สภาวธรรมที่เราฟังธรรมกันอยู่นี่ ธรรมนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอันนี้แล้ววางธรรมอันนี้ให้เราก้าวเดินขึ้นมา แล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อจะค้นคว้าธรรมอันนี้ แล้วอย่าน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเรามีภาชนะไง คนที่มีภาชนะ คือคนที่มีหัวใจ คนที่มีจิต

คนตายแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม อยากสอนมาก “อาฬารดาบส เสียดายนัก ตายไปเสียแล้ว” เพราะอะไร เพราะได้สมาบัตินี่สมาธิพร้อมอยู่แล้ว ถ้าไปแสดงธรรม คือปัญญา มีสมาธิ ไม่มีปัญญา เพราะฝึกปัญญาไม่เป็น ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอาฬารดาบส ก็เหมือนกับสอนปัญจวัคคีย์ จะเร็วกว่าด้วย เพราะเขาเข้าสมาบัติอย่างนั้น นี่มีสมาธิ แต่ไม่เกิดปัญญา

ถ้ามีสมาธิแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนปัญญาอันนี้ ปัญญาอันนี้จะฆ่ากิเลส ถ้าฆ่ากิเลสแล้ว ตายจากกิเลส ตายจากใจแล้ว จะไม่ต้องตายแล้วเกิดอีก จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า การเกิดและการตายเป็นสิ่งที่เป็นภัยที่สุดกับใจทุกๆ ดวง แล้วถ้าฆ่ากิเลสจนถึงที่สุด ฆ่าตอของกิเลส ทำลายตอของกิเลส ทำลายภวาสวะทำลายภพอันนั้น ทำลายอวิชชา ทำลาย รู้เหมือนไม่รู้ ไม่รู้เหมือนรู้นี้ จนเป็นเอโกธัมโม” จะรู้ก็ไม่ใช่ จะไม่รู้ก็ไม่ใช่ แต่ความเป็นจริงอันนั้นเป็นธรรมทั้งแท่งอยู่กับใจดวงนั้นไง

ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนผู้มีชีวิตไง “มีชีวิตคือมีใจ” เรามีใจ เรามีความรู้สึก เรามีจิตของเรา เรายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เราถึงเป็นผู้มีโอกาสคนหนึ่ง คนตายไปแล้วหมดโอกาสนะ เรายังมีชีวิตอยู่ เราถึงจะไม่มัวเมาไปในชีวิต ไม่มัวเมาไปในเพศ เพศหญิง เพศชาย เพศพระ เพศนักบวช เราจะไม่มัวเมา ไม่เมาทั้งนั้น ตั้งสติอยู่ตลอดเวลา แล้วก็พยายามฝึกฝน พยายามก้าวเดินของเราให้ถึงที่สุดได้เป็นธรรมอันเอก “เอโกธัมโม” เอวัง