พุทธานุสติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “บริกรรมพุทโธมีอาการอื่นแทรก”
กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมได้ปฏิบัติสมาธิมาช่วงหนึ่งแล้ว โดยบริกรรมพุทโธ เอาพุทโธตั้งไว้ที่ตรงจมูก ทำไปเรื่อยๆ แล้วนึกพุทโธไม่ออก ส่วนมากจะเป็นตอนเดินครับ จะเลือนรางไป มีอาการตึงตามหน้า ตามคอ หูอื้อ
การที่นึกพุทโธไม่ออกเพราะสติอ่อนหรือไม่ครับ แต่จิตก็ยังไม่สงบ ขอคำแนะนำด้วยครับ ติดอารมณ์นี้มา ๒ ปีแล้วครับ พอมีอาการ ผมก็หยุดทำสมาธิ เพราะเคยทำต่อแล้วไปดูที่อาการจะเบลอๆ ครับ
ตอบ : เวลาปฏิบัติมา ๒ ปี บอกว่ากำหนดพุทโธ แล้วมีอาการอื่นแทรกซ้อน ถ้ามีอาการอื่นแทรกซ้อน เห็นไหม
โดยธรรมชาติของครูบาอาจารย์ โดยธรรมชาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระเจ้าสุทโธทนะต้องการให้เป็นจักรพรรดิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด เอาพราหมณ์มาพยากรณ์ พราหมณ์พยากรณ์ไว้ว่า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อยู่เป็นกษัตริย์จะได้เป็นจักรพรรดิ
เป็นจักรพรรดิในสมัยโบราณเป็นแว่นแคว้น แคว้นมคธ แคว้นต่างๆ ในอินเดียไม่ใช่ประเทศเดียวกัน เป็นแว่นแคว้น ถ้าใครรวบรวมแว่นแคว้นเป็นประเทศขึ้นมาได้จะเป็นจักรพรรดิ
พระเจ้าสุทโธทนะก็มีความปรารถนา เพราะตัวเองเป็นกษัตริย์ใช่ไหม ก็อยากให้ลูกเป็นกษัตริย์รวบรวมแว่นแคว้นให้ได้ ฉะนั้น ถึงเตรียมความพร้อมไว้ให้เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษา นี่ว่าการศึกษา ไปศึกษาเตรียมพร้อมว่าจะเป็นจักรพรรดิ
ทีนี้พอเป็นจักรพรรดิ นี่คือการศึกษา การศึกษา เราจะบอกว่า การศึกษานี้เป็นเรื่องทางโลกไง ทางโลก เห็นไหม การศึกษามา ศึกษามาเตรียมความพร้อม ต้องมีประสบการณ์เพื่อจะเป็นกษัตริย์ เพื่อเป็นกษัตริย์แล้วจะได้เป็นจักรพรรดิ นี่คือความปรารถนาของพ่อ ฉะนั้น พ่อจะส่งเสริมทางนี้มาก
ฉะนั้น ด้วยอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก เวลาด้วยอำนาจวาสนาเพราะว่าได้สร้างบุญญาธิการมา เกิดที่สวนลุมพินี “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”
คำว่า “เกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” เด็กเกิดมาเดิน ๗ ก้าว เปล่งวาจาครั้งแรก “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” เด็กเกิดมาได้ทำอะไรมา ยังไม่ได้ทำอะไรมาเลย แต่เราจะบอกว่าสิ่งที่ทำได้อย่างนี้เพราะอำนาจวาสนาที่ได้สร้างสม ได้สร้างสมมามาก บ่มเพาะมามาก นี่ด้วยบุญญาธิการทำได้แบบนั้น
พอทำได้แบบนั้น พอเปล่งวาจาอย่างนั้นแล้ว พระนางสิริมหามายาเสียชีวิตไป อยู่กับพระโคตมีเลี้ยงมา ก็ศึกษามา ดูแลมา เตรียมพร้อมมาเพื่อเป็นจักรพรรดิ เพราะพราหมณ์พยากรณ์ไว้ว่าจะเป็นจักรพรรดิ ถ้าอยู่ทางโลกจะเป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะเป็นศาสดา ออกบวชจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่คือความปรารถนาของพ่อ ความปรารถนาของพ่อก็อยากให้เป็นจักรพรรดิ แต่ด้วยบุญญาธิการ บุญอันนั้น บุญญาธิการที่สร้างสมมา บารมีอันนั้น เห็นไหม เวลาจะเป็นจักรพรรดิจะได้สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ ไปเที่ยวสวนไง ไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ ถ้าเป็นจักรพรรดิแล้วเราต้องตายมันก็ตายเปล่า
ความคิด เราจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่บ่มเพาะ สิ่งที่ว่าทางโลกที่พยายามจะอบรมบ่มเพาะให้เป็นไปทางนั้น แต่ด้วยอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สร้างมาอย่างนั้นเอง มันจะมีสิ่งใดที่ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฉุกคิด ได้หาทางออกไปตลอด
ทีนี้หาทางออกไปตลอดนะ แล้วเวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปี เรื่องโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ เรื่องโลกๆ การสอนทางวิชาการ การปฏิบัติในสมัยโบราณเขาก็ปฏิญาณตนว่าเป็นศาสดาทั้งนั้นน่ะ เป็นศาสดาคือเป็นพระอรหันต์ คือว่าเป็นศาสดา เป็นเจ้าลัทธิ ไปศึกษากับเขา ศึกษาแล้วด้วยบุญญาธิการ ด้วยบุญญาธิการอย่างนั้น ใครจะส่งเสริม ใครจะเยินยอขนาดไหน ใครจะดึงไว้รั้งไว้ให้อยู่ในสำนักนั้น หนีมาตลอด หนีมาตลอดเพราะมันเป็นเรื่องโลก มันไม่เป็นความจริง
เวลาถึงที่สุดแล้ว รื้อค้นมาถึงที่สุดมันไม่มีทางไป ไม่มีทางไปแล้วก็ระลึกถึงโคนต้นหว้าตั้งแต่เป็นราชกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะพาไปแรกนาขวัญ ให้อยู่โคนต้นหว้า กำหนดลมหายใจเข้าออก
เด็กๆ ราชกุมาร ยังระลึกได้ กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี่ระลึกถึงตรงนั้น จิตมันสงบได้ แม้แต่พระอาทิตย์คล้อยไปแล้ว ร่มหว้ามันไม่ไปตามนั้นน่ะ
แต่ร่มหว้าส่วนร่มหว้าสิ แต่ไอ้ความสัมผัสของใจ ใจที่ได้สัมผัสนั้นมันฝังใจ เพราะมันสงบของมัน เห็นไหม พอสงบอันนั้น แต่ก็ด้วยตอนนั้นยังเป็นราชกุมาร เวลาเขาทำแรกนาขวัญเสร็จกลับมาเห็นร่มเงาของหว้ามันไม่ไป มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ เห็นไหม ความมหัศจรรย์ นี่บารมี สุดท้ายแล้วก็ยังเจริญเติบโตมาถึงที่สุด ก็ศึกษามาจะได้เป็นกษัตริย์ แต่เวลาออกปฏิบัติ ๖ ปี ค้นคว้ามาจนทั่ว ระลึกถึงตรงนี้ได้ กลับมาระลึกถึงตรงนี้
อดอาหารมา ๔๙ วัน ทำทุกอย่างมาเต็มที่แล้ว ทำทุกรกิริยามาทั้งหมดเลยที่เขาทำกัน ในสมัยปัจจุบันนี้ใครไปเที่ยวอินเดีย ที่เห็นเขาทำๆ กัน พระพุทธเจ้าทำมาหมดแล้ว ทดสอบอย่างนั้นน่ะ ทำมาหมดแล้ว แล้วทำมากกว่าด้วย ทำเต็มที่เลย เพราะคนที่มีวาสนามากทดสอบสิ่งใดต้องทดสอบให้ถึงที่สุด
เราจะไปทดสอบในวิชาการของเขา แล้วทำครึ่งๆ กลางๆ แล้วบอกเขาไม่ใช่ มันไม่ใช่สุภาพบุรุษ มันต้องทดสอบจนถึงที่สุด มีคำสอนอย่างใด มีการกระทำอย่างไร ทำถึงที่สุดเลย แล้วมันไม่มีมรรคมีผล
ระลึกถึงต้นหว้านะ ฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วกำหนด ถ้าเรานั่งคืนนี้แล้ว ถ้าไม่สำเร็จจะนั่งตายเลย สุดท้ายแล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ นี่วิชชา ๓ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ
ตรัสรู้เองโดยชอบ ความชอบธรรม โดยชอบธรรม เวลาความชอบธรรม เราจะยกให้เห็นว่า สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนวางแนวทางไว้แล้วปฏิบัติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ พระอรหันต์เยอะแยะเลย พระอรหันต์เกือบทั้งหมดเลย เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย เพราะอะไร เพราะผู้สอนสอนด้วยความจริง มีความจริงในหัวใจ มีความจริงเข้มข้นในใจแล้วสอน
แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “จะสอนใครได้หนอ สอนใครได้หนอ” สอนใครได้หนอก็อำนาจวาสนาใครจะมีมากน้อยได้ขนาดไหน
ฉะนั้น คนที่เป็นความจริงอย่างนั้น ประสบการณ์ทำมาอย่างนั้น อำนาจวาสนามาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาสั่งสอนขึ้นมาก็สั่งสอนด้วยความเป็นจริง ในสมัยปัจจุบันนี้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำของท่านตามความเป็นจริงของท่านขึ้นมา
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านจะสอนสิ่งใด ท่านจะทำสิ่งใด ท่านจะเริ่มต้นด้วยว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน คือพุทโธนี่ไง คือพุทโธก่อน ให้ทำพุทโธก่อน ถ้าทำพุทโธแล้วถ้ามันสงบเข้ามา ถ้ามันสงบได้แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา นั้นจะเป็นพระพุทธศาสนา
แล้วพุทโธๆ เป็นคำบริกรรม ถ้าคำบริกรรม บริกรรมเพื่ออะไร บริกรรมเพื่อให้จิตสงบ แล้วจิตสงบมาทำไม ทำความสงบมาทำไม ก็บริกรรมมันสงบเป็นพื้นฐานไง
เพราะโดยปัจจุบันนี้พวกเรามีความทุกข์ความยากกัน มีความวิตกกังวลไปหมด คิดอย่างไรก็แล้วแต่ ตรรกะ ปรัชญาของเรามันต้องมีความกังวล มีความรับผิดชอบ มันมีความกังวล มีความรับผิดชอบไปหมด ทำสิ่งใดจิตใต้สำนึกไม่มีใครควบคุมมันได้ เห็นไหม อภิธรรมเขาบอกว่า ผู้ที่ปฏิบัติโดยความอยากนี่ผิด ปฏิบัติต้องไม่มีความอยากเลย
ไม่มีความอยากก็ขอนไม้น่ะสิ โดยธรรมชาติของคนมันมีความอยากทั้งนั้นน่ะ แต่ความอยากนี้เป็นความอยากที่สุดวิสัยที่ควบคุมได้ ฉะนั้น หลวงตาท่านถึงบอกว่าความอยากที่เป็นมรรคมี ความอยากดี อยากทำ อยากเป็นคนดี ความอยากอย่างนี้ไม่ผิด ความอยากดี เห็นไหม ความอยากดีมันเป็นฉันทะ ถ้าความอยากอย่างนี้เราอยาก แต่เวลาอยากดี พออยากดี ติดดี ติดดีแล้วทำความดี ใครมาแตะไม่ได้นะ จะทำอะไร ใครมาขวางไม่ได้เลย จะหันไปทำลายเขาทั้งหมดเลย
ไอ้ความอยากดี เราก็อยากดีของเรา แต่ไม่ใช่อยากดีจนใครแตะไม่ได้ อยากดีจนเราขยับสิ่งอื่นไม่ได้ อยากดีมันก็เป็นอยากดีของเราอยู่ ทำสิ่งอื่นเราก็ทำเพื่อดำรงชีวิต
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะปฏิบัติ สิ่งที่ว่ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ มันเป็นเรื่องสุดวิสัย มันเป็นเรื่องสุดวิสัยที่เราจะไปควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ ความวิตกกังวล ความเศร้า ความเหงา ความหงอย จิตใจที่มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ อย่างนี้เราควบคุมได้ แล้วเราควบคุมได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านประพฤติปฏิบัติมา อ่านพุทธประวัติ แล้วถ้าคนปฏิบัติเป็น เราทำแล้วเราจะเห็น เพราะว่าพุทธประวัติเป็นประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาใครปฏิบัติ จิตใจที่มันฟุ้งซ่าน มันเป็นอย่างไร จิตใจที่สงบมันเป็นอย่างไร
จิตใจที่มันฟุ้งซ่าน จิตใจที่มันวิตกกังวลมันก็คิดแบบโลก ถ้าจิตใจสงบแล้ว ถ้าสงบแล้วคิดไม่เป็น มันก็ไม่เป็นประโยชน์ คิดไม่เป็น จิตใจเวลามันฟุ้งซ่าน ความคิดมันทำให้มันทุกข์มันยาก แต่พอจิตมันสงบแล้วคิดไม่เป็นก็ใช้ปัญญาไม่เป็น
แล้วใช้ปัญญาไม่เป็น มันต้องศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสมาธิ ปัญญาถ้ามีศีล มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เวลาเกิด เวลามันดำเนินการต่อไปมันจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้อง นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนั้น ทีนี้ปัญญาอย่างนั้น เขาถามเรื่องพุทโธ แล้วเราพูดนี่พูดเรื่องอะไร
เราจะพูดให้เห็นว่า พื้นฐานของมันทำไมต้องพุทโธ แล้วพุทโธทำไม แล้วพุทโธไปแล้วมันมีอาการมาแทรกไปหมดเลย ก็คำบริกรรมพุทโธ พุทโธคือพุทธานุสติ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเลย กรรมฐาน ๔๐ ห้อง อับดับหนึ่งเลย พุทธานุสติ พุทธะ พุทธานุสติ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกพุทโธๆๆ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ฉะนั้น เป็นวิธีการทำความสงบ แต่จิตใจเรายังไม่สงบ จิตใจเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จิตใจเรามันมีทุกอย่างอยู่ในใจหมดเลย แล้วเอาพุทโธมาครอบงำไว้แล้วมันจะลงไหม พอมันไม่ลงมันก็มีอาการแทรกนี่ไง มันมีอาการแทรก มันมีอาการหน่วงรั้ง มันมีอาการทำให้เราภาวนาไม่ได้ พอเริ่มจะพุทโธ โอ๋ย! ไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องทำงาน ไม่ได้ พุทโธไม่ได้
อ้าว! ก็นึกพุทโธแล้วต้องดีสิ พุทธานุสติระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องสุดยอดสิ แน่นอน เวลาคนเรานี่นะ ไม่จากพ่อจากแม่ไปก็ไม่ได้คิดถึงพ่อแม่หรอก แต่ถ้าใครได้จากพ่อจากแม่ไปจะคิดถึงพ่อแม่มาก ยิ่งเราส่งลูกๆ ไปเรียนเมืองนอก มันจะคิดถึงพ่อถึงแม่ บางคนไม่อยากไป ร้องไห้ใจแทบจะขาด แต่เราก็ต้องส่งไปเรียนเพื่อเอาวิชาการ เพราะการพลัดพรากจากกันมันจะคิดถึงกัน
นี่ก็เหมือนกัน ระลึกพุทโธๆ เห็นไหม แม้แต่พ่อแม่เรายังคิดถึงได้ เวลาเราพลัดพรากไป คิดถึงพ่อถึงแม่นี่อบอุ่นมาก ถ้าคิดถึงพ่อถึงแม่ ความรักที่สะอาดบริสุทธิ์คือความรักของพ่อแม่ ฉะนั้น เวลาศาสดาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเมตตาธรรม มีเมตตา พุทธคุณ ปัญญาคุณ เมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหลือล้นไปหมดเลย แล้วระลึกถึงพุทโธ ระลึกถึงศาสดา มันสุดยอดตรงนี้ไง ระลึกแล้วมันก็เป็นประโยชน์กับเราแล้ว
เราระลึกถึงพุทธะ เห็นไหม ดูสิ เวลาคนเขาทำอะไรไป เวลาเขาตกใจเขาจะพุทโธๆ เราระลึกถึงศาสดาของเรา ระลึกถึงตัวตนของเรา แค่นึกพุทโธมันก็เป็นกุศลแล้ว มันมหาศาลแล้ว เพราะคนที่ระลึกพุทโธได้ ทำได้ จะทำความผิด ทำความเหลวไหล ไม่มีหรอก เพราะมันระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงศาสดา ศาสดาสอนอย่างใด
นี่ก็เหมือนกัน คนเวลาไปอยู่ต่างประเทศ เวลาเหงา เราคิดถึงพ่อแม่ เวลามีสิ่งใดเราก็คิดถึงพ่อแม่ เราคิดถึงพ่อแม่มันก็อบอุ่น นี่ก็เหมือนกัน นี่คิดถึงอบอุ่นนะ แต่เรายังเรียนไม่จบ เรายังไม่มีหน้าที่การงานทำ เราเรียนจบแล้ว เราทำงานแล้ว เรามีเงินมีทองขึ้นมาแล้วจะเป็นประโยชน์กับเราแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ เพราะเหตุนี้ พอพุทโธ พุทธานุสติ พุทโธ ระลึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ ทำไมต้องนึก ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่เกิดสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นมันเป็นโลกียปัญญาโดยข้อเท็จจริง แต่คนที่ปฏิบัติไม่เป็น ไม่มีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันเกิดจินตมยปัญญา
จินตมยปัญญานะ เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาธรรมวินัย มันซาบซึ้งมาก แล้วเวลาปฏิบัติไปมันเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา เกิดความรู้ความเห็น จินตมยปัญญาคือไม่มีเหตุไม่มีผล มันเกิดมาโดยที่มันระลึกขึ้นมา มันเหมือนกับว่ามันไม่มีพื้นฐาน เกิดปัญญาเกิดจริงๆ ซาบซึ้งจริงๆ แต่ทำอย่างไรล่ะ มันเกิดอย่างไรล่ะ เอ๊! เอ๊! เห็นไหม มันเกิดจินตมยปัญญา ฉะนั้น ถ้ามันเกิดจินตมยปัญญา ปัญญาโลกๆ มันได้แค่นี้ ทีนี้จินตมยปัญญาฆ่ากิเลสไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่เจอตัวกิเลส มันไม่เห็นกิเลสจะฆ่ากิเลสได้อย่างไร
เราทำของหาย เราหาของนั้นไม่เจอ ของนั้นเราจะเจอได้อย่างไร นี้เราทำหัวใจเราหาย ทั้งๆ ที่หัวใจเป็นของเรานี่แหละ เวลาเกิดมาปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิเกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดมาเป็นเรานี่ เป็นเรานี่เราชื่ออะไร พ่อแม่ตั้งให้ก็มีชื่อนั้นน่ะ แล้วจริงๆ อยู่ไหน
เราทำใจเราหาย พุทโธๆ จะหามันให้เจอ ถ้าใครหาตัวเองเจอ หาใจตัวเองเจอ แล้วเอาใจนั้นมาพิจารณา เห็นไหม พิจารณากาย เวทนา จิต เวลาจิต พิจารณาจิต จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นธรรม ถ้ามันเจอของมัน มันจะพิจารณาของมันได้
ฉะนั้น ไอ้ว่าพุทโธ พุทธานุสติ คำว่า “พุทโธๆ” ในวงกรรมฐานท่านสอน มันมีคุณค่ามาก มีคุณค่ามากๆ เลย ทีนี้มีคุณค่ามาก เพียงแต่ผู้ที่ปฏิบัติเป็นวิทยาศาสตร์ พวกเราเป็นปัญญาชนใช่ไหม เรามีปัญญามากเลย พอบอกพุทโธ อู๋ย! น่าเบื่อ อะไรก็พุทโธ แล้วก็เอาหัวทิ่มภูเขาเลย พุทโธไปแล้วมันทำอะไรไม่ได้เลย เพราะจิตใจของเรามันไม่แน่นอน
ถ้าจิตใจเราแน่นอนเข้มแข็งนะ มันจะทำของมันได้ ถ้าทำของมันได้ สิ่งใดที่เกิดขึ้นมันจะย้อนได้ว่าเราบริกรรมพุทโธ เราทำสมาธิมาช่วงหนึ่ง แล้วบริกรรมพุทโธตั้งไว้ที่ตรงปลายจมูก ทำไปเรื่อยๆ แล้วนึกพุทโธไม่ออก
“นึกพุทโธไม่ออก ส่วนมากเป็นตอนเดินครับ”
จะตอนเดิน ตอนนั่ง เรานึกไม่ออก แล้วเรานึกไม่ออก เรามีสิ่งใด ถ้ามันนึกไม่ออก มันขาดอะไรมันถึงนึกไม่ออก แล้วถ้ามันนึกออก เรานึกของเรา พุทโธ ถ้านึกไม่ออกนะ ตั้งสติ แล้วนึกไม่ออกนะ เราต้องหาเหตุหาผล หาปัญญาขึ้นมา ทำไมมันทำไม่ได้ ถ้ามันขาด เพราะอะไร เพราะอุณหภูมิเวลาต้มน้ำ หรืออุณหภูมิถ้าเราทำอะไร อุณหภูมิมันลดหรือมันเพิ่ม มันก็เป็นไปตามขั้นตอนของมัน อุณหภูมิมันจะกระโดดข้ามไปโดยที่มันไม่เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธๆ ไป พุทโธไม่ออก คำว่า “ไม่ออก” จิตมันไม่เกาะเกี่ยวไง ไฟฟ้า เรามีสื่อนำไฟฟ้าไป ไฟฟ้ามันต้องสมบูรณ์ของมัน ถ้าไฟฟ้ามันขาดช่วงขาดตอน เครื่องใช้ไฟฟ้ามันจะสมบูรณ์ไหม มันก็กระตุกแน่นอน
จิตพุทโธๆ ถ้ามันขาดช่วงไป เหมือนไฟฟ้าที่มันเดินไปตามสื่อ สื่อสายไฟเอาไฟฟ้าไปมันต้องสมบูรณ์ของมันใช่ไหม ไฟฟ้าครบไหม ไฟตก ไฟเพิ่มไหม นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราเวลามันโกรธ โอ้โฮ! ไฟมันเพิ่มนะ มันโกรธรุนแรงเลย เวลามันเผลอ มันลืม หายไปเลย นี่ไฟตก
ไฟตก ไฟเกิน ไฟต่างๆ มันทำให้ร่างกายของคน เวลาเราโกรธขึ้นมา ดูสิ เลือดมันสูบฉีด มันเห็นของมันโดยธรรมชาติของมัน แล้วเวลามันนึกไม่ออกล่ะ มันก็เหมือนกัน นึกไม่ออกมันก็เหมือนไฟดับ ทีนี้ไฟดับ ไฟไม่มา แต่นี่เวลามันนึกไม่ออกแล้วมันเหมือนไฟดับ แต่ทำไมเรายังมีอยู่ล่ะ เรามีอยู่ ให้หาเหตุผลแบบนี้ คือบอกว่า เวลานึกพุทโธไม่ออก แล้วเดินไปมันมีอาการตึง อาการต่างๆ
อาการตึงตามคอ หูอื้อต่างๆ เราพุทโธไว้ เพราะนี่แหละกิเลสมันมาแหย่ กิเลสมันมาแหย่ว่า เวลามันหูอื้อ เวลาทำอะไร เราก็ไปติดที่หูอื้อ ทำไมเราไม่ติดที่พุทโธล่ะ
มันจะหูอื้อ มันจะเป็นตามคอ ตามหน้านะ จิตใจให้มั่นคง สติให้ระลึกถึงพุทโธไว้ จิตรู้ได้หนึ่งเดียว ถ้ามันรู้พุทโธได้ มันก็ไม่ไปรู้อาการที่ตึง อาการตามหน้า ตามคอ มันไม่ได้รับรู้ตรงนั้น แต่เวลามันปล่อยพุทโธมา มันรับรู้อาการที่ตึงต่างๆ นี่มันปล่อยพุทโธมาแล้ว มันมารับรู้อาการนี้แล้ว พอรับรู้อาการนี้ เราก็ไปสงสัย ทำไมมันเป็นแบบนั้น
มันเป็นแบบนั้นเพราะเราโง่ไง เราเป็นแบบนั้นเพราะกิเลสมันเอาสิ่งนี้มาหลอกไง แล้วเราก็ไปรับรู้ตรงนั้น แต่ถ้าเราไม่ไปตามมัน เราพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ อาการแบบนี้มันจะหายไป
อาการแบบนี้ ถ้ามันตึง มันหูอื้อตลอดเวลา ทำไมเราออกจากพุทโธมาแล้วทำไมเหมือนมันหายล่ะ
สิ่งที่มันเป็นอย่างนี้เพราะกิเลสมันพยายามพลิกแพลง มันพยายามพลิกแพลง มันจะทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราล้มลุกคลุกคลาน มันจะทำให้การปฏิบัติของเราไม่ก้าวหน้า
การปฏิบัติเป็นก้าวหน้ามันเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แล้วพยายามทำความชำนาญ พอมีความชำนาญเข้าออก เขาเรียกชำนาญในวสี ถ้าชำนาญในวสี ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าคนที่ชำนาญการแล้ว ผลงานที่จะทำ เราจะไม่หวั่นไหวสิ่งใดเลย
แต่เราไม่ชำนาญการ พอทำสิ่งใด อันนี้ทำประสบความสำเร็จด้วยส้มหล่น ทำแล้วมันประสบความสำเร็จดีมาก อยากให้เป็นอย่างนี้อีก ทำไม่ได้อย่างนี้ ทำแล้วมันต่ำกว่านี้ คุณภาพต่ำกว่านี้ คุณภาพไม่ดีเท่านี้ นี่เราทำไม่ได้
เราพยายามหาความชำนาญ เขาเรียกชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออก การเข้ามันเข้าอย่างไร พุทโธๆๆ สนิทไปแล้วมันวางอย่างไร พอมันวางแล้ว มันคลายตัวออกมาก็พุทโธต่อเนื่องไป คราวนี้สงบได้แค่นี้ คราวหน้าต่อไปเราพุทโธให้ละเอียดขึ้น มีความกระชับมากขึ้น จิตใจมันจะละเอียดมากกว่านั้น มันจะปล่อยวางได้มากกว่านั้น เดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา ธรรมชาติของมัน สิ่งใดเข้าไปแล้วมันต้องคลายตัวออกมา เราพิจารณาต่อเนื่อง เราใช้ปัญญาต่อเนื่องไป เราชำนาญในวสี
อาการหูอื้อๆ ต่าง
อันนี้ไม่ พออาการหูอื้อ หูอื้อมันคืออะไร มันออกไปทางนู้นหมดไง แล้วมันถึงเป็นไง เห็นไหม มีอาการแทรก อาการแทรกเพราะเราไม่เข้าใจ มันถึงมีอาการแทรก ถ้ามีอาการแทรก เราจะเข้าใจของเรา ถ้าเราเข้าใจมันก็จบ นี่ถ้าจบ
“การนึกพุทโธไม่ออกเพราะสติอ่อนไปหรือไม่ครับ แต่จิตยังไม่สงบ”
สติมันอ่อน สติส่วนสตินะ สติถ้าระลึกรู้ สติ ถ้าพุทโธครั้งแรก สติจะชัดเจนมาก พุทโธใหม่ๆ จะชัดเจนมากเลย พุทโธๆ ไป ชักบางลง จางลงๆ เห็นไหม ถ้าจางลง ถ้าเรายังทำต่อเนื่องได้ พุทโธได้ เราพุทโธไป
ถ้าบอกสติมันอ่อนนะ เราพุทโธให้ชัดๆ ชัดๆ อย่างนั้นถูก สติมันชัดเจนของมัน พอมันชัดแล้วมันไม่คิดออกนอกเรื่องนอกราว มันก็อยู่กับพุทโธ พุทธานุสติ ทำของเราไป ถ้าพุทธานุสติ ถ้าไม่ให้กิเลสมันออกหน้า
การทำ เราระลึกถึงหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่า ในการปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้นและคราวสุดท้าย ท่านพูดบ่อยมากเลย
คราวเริ่มต้นก็นี่ไง คราวเริ่มต้นก็พยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนคือชำนาญในการเข้าสมาธิออกสมาธิ นี่กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนคือรักษาใจได้มั่นคง รักษาใจได้ดีงามมาก แล้วใจเป็นเอกัคคตารมณ์ ทีนี้ยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค คือถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นไหม ยกขึ้นสู่ เริ่มต้นมันยาก มันยากตรงนี้ ยากตรงที่ว่าจิตสงบแล้วค้นหากิเลสให้เจอ
ถ้าค้นหากิเลสให้เจอ เหมือนค้นหาเหตุหาประเด็นของใจให้มันเจอ ถ้าเจอแล้ว ประเด็นอะไร ใจนี้มันเกาะเกี่ยวอะไร พิจารณาประเด็นที่มันวิตกกังวล ประเด็นที่มันคาหัวใจ ประเด็นที่มันเกิดมาทำไม ประเด็นอย่างนี้ถ้ามันจับได้ มันพิจารณาได้ มันจะสาวต่อเนื่องไป ถ้าสาวต่อเนื่องไป มันคายของมันออก ปัญญาอย่างนี้ภาวนามยปัญญา เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ เราทำให้จิตสงบแล้ว ความวิตกกังวล ความคิดแบบโลก โลกียปัญญามันวางลง
แล้วถ้าเราชำนาญขึ้น รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร บ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียง มันหลอกอย่างนี้ เดี๋ยวตึง เดี๋ยวเหนื่อย นี่รูป รส กลิ่น เสียง ตึงก็เป็นอาการรับรู้ ตึงตามคอ ตามหน้า นี่รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
เป็นบ่วงมันก็ล่อ เป็นพวงดอกไม้นะ ภาวนาแล้วภาวนาดี ภาวนาเป็นคนดี มันพวงดอกไม้คือมันก็เยินยอ เวลาเป็นบ่วง บ่วงมันก็รัดคอ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา พิจารณาใช้ปัญญา ว่าปัญญาโลกียปัญญาใช้ไม่ได้ มันต้องโลกุตตรปัญญา ต้องเป็นภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เราพิจารณาอยู่นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเรามีความกังวล เราใช้ปัญญาหาเหตุหาผล ถ้าปัญญาหาเหตุหาผล มันใช้ปัญญาแล้วมันก็ปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้เราก็พุทโธต่อเนื่องๆ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญานี้มันจะมาคลายความสงสัย ปัญญานี้มันจะมาคลายว่านี่อะไร นี่ทำอย่างไร มันจะมีอย่างนี้ กิเลสมันเอาอย่างนี้มาเป็นข้ออ้าง
แล้วเรามีปัญญาขึ้นมา เอ็งจะเอาอะไรมาอ้าง กิเลสมันจะเอาอะไรมาอ้าง เราปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อความสงบ เราไม่ได้ไปปฏิบัติเป็นเทวดา ปฏิบัติเป็นคนอื่น ไม่ใช่ เราปฏิบัติเพื่อความสงบของใจ ถ้ามีปัญญาไล่กันอย่างนี้ปั๊บ กิเลสมันหลอกไม่ได้ เราก็พุทโธต่อเนื่องได้ อาการตึงอาการต่างๆ จะหายหมด
แต่นี้พอกิเลสมันเอาอาการต่างๆ มาหลอกเรา นี่รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าพิจารณาต่อเนื่องๆ ไป มันขาดนะ คำว่า “ขาด” คือมันไม่มีอุปาทานในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียงเลย ถ้าไม่มีอุปาทานในรูป รส กลิ่น เสียง เราควบคุมได้ง่ายแล้ว นี่กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนคือรู้เท่าทันพวกนี้ รู้เท่าทันพวกนี้แล้วมันก็เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิเฉยๆ แล้วจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะเป็นความจริง
สติอ่อน สติแก่ ก็ว่า นี้สติอ่อนไปหรือเปล่า
ถ้าบอกสติอ่อน เราก็จะสร้างสติ สติ ถ้าสมาธิเข้ม สมาธิแก่กล้า มันก็ไม่ขึ้นวิปัสสนาเหมือนกัน สมาธิที่อ่อน สมาธิที่ไม่มีกำลัง มันก็วิปัสสนาไม่ได้เหมือนกัน
สติ สติที่ว่าสติมันต้องเข้มแข็ง สติชัดๆ อย่างนั้นแล้วมันก็ไม่ลงสักที สติคาอยู่อย่างนั้น
สติ ทำสิ่งใดต้องมีสติสมบูรณ์นะ สติ แล้วสติสัมปชัญญะ มีสติแล้วสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ในสัมปชัญญะ รู้เท่ารู้ทัน แล้วกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้ามันขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อัปปนาจะตื่นเต้นมาก
ทีนี้เขาบอกว่า “เวลากำหนดพุทโธไปแล้วจิตมันไม่สงบ ขอคำแนะนำ ติดอาการนี้มา ๒ ปีแล้วครับ พอมีอาการก็หยุดทำสมาธิ แล้วก็ดูอาการมันเบลอๆ”
คำว่า “เบลอๆ” โดยธรรมชาติถ้าจิตใจของเรามีความวิตกกังวลสิ่งใด เราวางสิ่งนั้น เวลาข้าวของเงินทองเราหาย เรารู้ได้ว่าสิ่งที่เป็นวัตถุของเราหายไป มันถึงหาย คุณงามความดี สามัญสำนึกของเรามันหายไปจากตัวเรา อันนี้สำคัญมาก สิ่งที่เป็นสามัญสำนึก เป็นคุณงามความดีของเรา ถ้ามันหลุดหายไป หายไปคือว่าเร่งความเพียร อยากปฏิบัติ อยากทำคุณงามความดี แล้วมันหายไป เดี๋ยวก็ทิ้งขว้างมันไป สิ่งนี้ถ้าเราเติมเต็มของเรา เราไม่ให้สิ่งนี้มันหายไป ไม่ให้ความมุมานะ ความเข้มแข็งของเรามันหายไป ถ้าความเข้มแข็งเราไม่หายไป เราไม่หายไป เรื่องสติ เรื่องปัญญา มันพิจารณาของมันได้ แล้วทำคุณงามความดีของเรา
จิตมันไม่สงบ เขาบอกว่า “จิตมันอ่อนไปใช่ไหมครับ”
ที่ทำมาแบบนี้จิตยังไม่สงบ ไม่สงบ เราปฏิบัติเพื่อดำรงชีวิตเรา เราปฏิบัติเพื่อเรา ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ว่าอาการมันเบลอๆ เบลอๆ มันปล่อยวางไป ไม่ต้องเอาสิ่งใดมาเป็นข้อต่อรองกับตัวเราเอง ทั้งๆ ที่ในการปฏิบัติมันก็มีอุปสรรคพอสมควรอยู่แล้ว แล้วเราเองเรายังสงสัย เรายังเอาตั้งประเด็นขึ้นมาให้เป็นข้อให้หัวใจเราแบกรับภาระจนเกินไป
ถ้ามันมีสิ่งใด ในปัจจุบันนี้ความขาดตกบกพร่องของจิตมันมีบ้าง ถ้าใครมีอุปสรรคทางร่างกาย คือมีโรคภัยไข้เจ็บก็ไปหาหมอ ให้หมอเช็คร่างกายของเราให้ดี เพราะเวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว นั่งนู่นก็เจ็บ ทำอะไรมันไม่สะดวกสักอย่างหนึ่ง อ้าว! หมอเช็ค ถ้าหมอเช็คแล้วมันไม่มีอะไรแล้ว ทีนี้มันก็เป็นเรื่องหัวใจเราอย่างเดียวแล้ว
โรค โรคกรรม เรื่องการเสื่อมสภาพตามความเป็นจริง โรคอุปาทาน ฉะนั้น จิตใจเราไม่ให้มันมีอุปาทาน ไม่ให้มันไปยึดมั่นสิ่งใด เรามีความจริงใจของเรา อาการเบลอๆ อาการต่างๆ มันก็วาง ไม่ต้องไปสนใจมัน แต่ถ้าเรายังไม่มีสิ่งใด มันก็มีสิ่งนี้
แล้วถ้าอาการเบลอๆ เราเช็คร่างกายเรียบร้อย ทุกอย่าง ความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มี แล้วตัดทิ้งเลย พอตัดทิ้งขึ้นไป ตั้งสติของเรา ตั้งสติของเราแล้วกำหนดพุทโธ
แล้วถ้าพุทโธไม่ได้ โดยธรรมชาตินะ บางทีเรากำหนดพุทโธ ธัมโม สังโฆ ถ้าไม่ได้ นึกมรณานุสติก็ได้ แล้วถ้าไม่ได้จริงๆ เพราะว่าจิตใจของคนนะ บางคนนึกพุทโธ เพราะพุทโธต้องสัทธาจริต คือเรามีความเชื่อมั่น มีความมั่นคง แล้วบริกรรมพุทโธๆๆ
หลวงตาท่านสอนว่า ถ้าระลึกพุทโธนะ โลกนี้จะมีอะไรก็ไม่ใช่เรื่องของเรา มีเรากับพุทโธเท่านั้น ถ้าเราจะพุทโธนะ ฟ้าจะผ่า แผ่นดิน ไม่รู้ พุทโธอย่างเดียว ชัดๆ ชัดๆ พุทโธอย่างนี้ นี้คือสัทธาจริตทำอย่างนี้ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วพุทธจริตทำได้ยาก
พุทธจริตมันชอบคิด “มันน่าจะเป็นอย่างนี้ มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ากาลามสูตร ไม่ให้เชื่อ แล้วนี่จะมาพุทโธอย่างเดียว เราจะเป็นคนโง่หรือเปล่า เขาบอกพุทโธมันไม่มีปัญญา จริงไม่จริง” พวกนี้พุทธจริต จริตของพุทธะไง พวกปัญญามาก พวกรู้มาก รู้มากจนทำให้เราไปไม่ถูก
ถ้าอย่างนี้หลวงตาท่านใช้คำว่า “ให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ” สงสัยอะไร ตั้งประเด็นแล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญแสวงหาให้จบเป็นเรื่องๆ ไป มีอะไรเกิดขึ้นมาแล้วปัญญาไล่เลย ตั้งประเด็นขึ้นมา มันจริงไม่จริง มันอยู่ที่ไหน เรารู้ได้อย่างไร เราได้พิสูจน์หรือยัง ไล่เข้าไปเรื่อยๆ ไล่เข้าไปเรื่อยๆ ปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ พอมันไล่เข้าไป ไล่เข้าไปหมายความว่า ใช้ปัญญาต่อรอง ปัญญาแยกแยะกับความคิดอันนั้นน่ะ เอามาพิสูจน์กัน ถึงที่สุดแล้วนะ ถ้ามีสติปัญญา ความคิดนี้มันจนด้วยเหตุผล เหตุผลจากปัญญา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่เราคิด มันใช้ปัญญาใคร่ครวญกับประเด็นในใจ พอมันใช้ปัญญาแยกแยะไปตลอด ถึงที่สุดแล้วมันด้วยเหตุด้วยผล มันจบ จบ หยุดนี่คือสมาธิ แต่เดี๋ยวคิดต่อ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิอย่างนี้ แต่ถ้ามันหยุดได้ แล้วมีสติเราจะเข้าใจ
พอบอกว่าพุทโธเป็นพุทธานุสติ
เราจะบอกว่า ถ้ามันทำไม่ได้จริงๆ ไม่ได้จริงๆ เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วพอใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ส่วนใหญ่คนที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไปแล้ว พอมันไล่แล้วเหนื่อยมากนะ ไอ้คนที่ทำงานว่าเหนื่อยๆ ลองใช้ปัญญาอบรมสมาธิดู เหนื่อยมาก ปัญญามันคิดใคร่ครวญไปเหนื่อยมาก หอบเลยล่ะ สุดท้ายแล้วก็จบ พอจบแล้วมันก็คิดต่อ คิดต่อ ถ้ามีสติก็ไล่ต่อ ถ้ามันชำนาญขึ้นมันจะหยุดบ่อยครั้งๆ แล้วไอ้ระยะที่มันหยุดมันจะยาวขึ้น คือเป็นสมาธิได้มากขึ้น
ถ้ามีสมาธิมากขึ้น มันเกิดความรู้แจ้ง เกิดความรู้แจ้งว่าความคิดนี้เอาชนะเราไม่ได้ ความคิดนี้หลอกลวงเราไม่ได้ ความคิดที่สงสัย อันนู้นดี อันนี้ดี อันนั้นไม่ดี หลอกลวงเราไม่ได้ เพราะเราได้พิสูจน์แล้วด้วยปัญญาของเรา ปัญญาของเรามันจะไล่พิสูจน์กับความคิดเรา ไล่เข้าไปๆ ด้วยเหตุด้วยผลแล้วมันยอมจำนนกัน พอยอมจำนนแล้วจะเอาอะไรมาหลอกอีก มันหลอกอีกไม่ได้ พอหลอกอีกไม่ได้มันก็หยุด หยุดแล้วทำอย่างไรต่อ ก็พุทโธสิครับ พุทโธ
เมื่อก่อนมันพุทโธไม่ได้ เวลามันหยุดแล้วคนจะทำอะไรไม่ถูกนะ หยุดแล้ว ไปอย่างไรต่อๆ เพราะมันหยุดแล้วมันมีสติพร้อม สมาธิคือมันรู้ตัวทั่วพร้อม เอ๊อะ! เอ๊อะ! แล้วทำอย่างไรต่อ ก็พุทโธสิ พุทโธต่อเนื่องไป พุทโธต่อเนื่องไปให้จิตมันมีที่เกาะ
จิตนี้เปรียบเหมือนน้ำใสอยู่ในแก้วน้ำ เราไม่รู้ว่าในแก้วน้ำมีน้ำหรือไม่มีน้ำ แต่แก้วน้ำนั้นเราเติมสีลงไป มันจะเห็นสีแสงว่า อ๋อ! ในแก้วนั้นมีน้ำ
จิตนี้เป็นนามธรรม ธาตุรู้มันมีของมันอยู่ แต่ให้มันทรงตัว มันจะทรงตัวอย่างไร จิตนี้จะรู้ได้ต่อเมื่อเราคิด พอเราคิดขึ้นมา เราทุกข์เรายาก เรามีความสุขความทุกข์ อ๋อ! มันเป็นแบบนี้ จิตมันเป็นแบบนี้...ไม่ใช่ ไอ้นี่มันเสวยอารมณ์แล้ว ไอ้นี่มันสุข มันทุกข์ ทุกขเวทนา สุขเวทนาแล้ว มันเป็นการแสดงออกของจิต เราก็คิดว่าจิตเป็นแบบนั้น จิตเป็นความคิดก็ดูจิตกันก็ดูความคิด ไม่ใช่ ดูความคิดนี่ดูอาการของมัน ดูสิ่งที่มันเสวยแล้ว
พุทโธก็เป็นความคิด ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นความคิด แต่เราใช้ปัญญา ปัญญาของเราไล่ต้อนเข้าไปให้มันปล่อยความคิด พอปล่อยความคิดมันก็เป็นตัวมัน เห็นไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปมันก็ เออ! ทำอย่างไรต่อ ก็พุทโธต่อสิ พุทโธต่อเนื่องไป นี้พูดถึงว่าเริ่มต้นของการปฏิบัติ นี่พูดถึงว่า เขาบอกว่าเวลาเขาพุทโธแล้วมีอาการแทรก
ทีนี้เราอารัมภบทมาตั้งแต่ต้น ให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ทำแบบนี้มันก็เป็นเรื่องตรรกะ เรื่องปรัชญา เรื่องสูงสุดของความคิดนี้เป็นจินตมยปัญญา จินตมยปัญญาเราศึกษา เราเป็นชาวพุทธ เราศึกษาพระพุทธศาสนา แล้วเราใช้ปรัชญา ตรรกะของหลักศาสนา แล้วมาใช้ปัญญากัน ใช้ปัญญากันมันก็ได้แค่นี้
แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกถึงตั้งแต่โคนต้นหว้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ได้ชำระล้างกิเลสไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถึงรู้ว่าการทำที่มันเหลวไหล การทำที่เป็นความจริงมันแตกต่างกันอย่างใด
แล้วในสมัยปัจจุบัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านได้ปฏิบัติตามความเป็นจริงของท่าน แล้วท่านเป็นหลักชัยของกรรมฐานเรา ท่านเป็นคนสั่งสอนวางข้อวัตรนี้ไว้ ฉะนั้น เวลาทำขึ้นมา ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นความจริงท่านถึงบอกว่า ให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน คือให้กำหนดพุทโธๆ ธัมโม สังโฆ สิ่งใดก็ได้ ขอให้จิตมันสงบเข้ามา เพื่อตัดภาระรุงรัง ตัดไอ้ความวิตกกังวล นิวรณธรรมในใจของเราให้หลุดออกจากใจของเรา ให้เหลือใจเพียวๆ ให้เหลือสมาธิ ให้เหลือสัจธรรมเพียวๆ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญามันเข้าไปอีก เพื่อพิจารณาเป็นภาวนามยปัญญา เป็นธรรมจักร เป็นจักรในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น มันถึงต้องพยายามทำกันไง เราพยายามทำกัน เราปูพื้นฐาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน
คนเราจะทำงาน ไม่รู้ว่าจะทำงานกันตรงไหน แล้วก็บอกว่าทำงานแล้วไม่ได้ผลงาน ก็เอ็งไม่ทำงานให้กับหัวใจของเอ็ง แล้วเอ็งจะเอาผลงานอะไรล่ะ เอ็งทำงานให้กับมารน่ะ ทำงานให้กับมาร ทำงานให้กับกิเลส ทำงานให้กับความคิดไง จิตมันเสวยอารมณ์มันเป็นตัณหา แล้วเราเอาตัณหานั้นไปทำงาน มันก็เอาผลงานมาให้กับมาร มาให้กับกิเลส แล้วเราก็ไม่ได้ผลงาน แล้วเราก็บอกว่าปฏิบัติแล้วไม่ได้อะไร ปฏิบัติแล้วไม่รู้อะไร
ก็เอ็งทำงานให้กับมาร เอ็งไม่ทำงานให้ธรรมจักร ให้จักรมันเคลื่อนมา ทำงานให้กับจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันถึงตัวของมัน ถึงต้องมีพุทโธไง
พูดยาวมาก เพราะเราอ่านคำถามแล้ว ว่าบริกรรมพุทโธแล้วมีอาการอื่นแทรก แล้วพอมีอาการอื่นแทรก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เราก็บอกว่า เออ! ถ้ามีอาการอื่นแทรก เราก็ไม่ทำ โยนทิ้งไปเลย เราไปทำอย่างอื่นดีกว่า ก็ไปทำงานให้กับมารอีกไง
เวลาทำงานให้กับมารนะ ให้กับกิเลสนี่ชอบ มันมันดี มันทำแล้วมันจับต้องได้ง่าย ถ้าทำงานให้กิเลส อู๋ย! สุดยอดๆ เวลาจะทำงานให้กับตัวเอง ให้กับจิต ทำงานให้เป็นสัจธรรม หึ! ยาก ปฏิบัติไม่รู้เรื่อง ทำแล้วไม่ได้ประโยชน์
ทำงานให้กับตัวเอง ทำงานให้กับจิตเป็นของดี กลับบอกไม่รู้เรื่อง ทำงานให้กับมาร ให้กับตัณหาความทะยานอยาก อู้ฮู! สุดยอดๆ อู้ฮู! ยอดเยี่ยม นี่ความเข้าใจผิดของสังคม
ฉะนั้น ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เราจะแยกไม่ออกว่า พุทโธทำไม พุทโธเพื่ออะไร พุทโธแล้วได้อะไร พุทโธ ถ้าพูดถึงก็ทำความสะอาด ทำให้เราสะอาด ให้เรามีกำลัง ให้เราสดชื่น แล้วเราก็ไปวิปัสสนา
แต่ถ้าเราไม่ทำความสะอาดของเราเลย ตัวเราสกปรกโสมมเลย แล้วบอกให้ทำงานเลย เหมือนคนไข้ไม่ต้องเตรียมความพร้อม เข้าห้องผ่าตัดได้เลย เครื่องมือการแพทย์ก็ไม่ต้องอบ ไม่ต้องทำความสะอาด ใช้ได้ตลอดเวลา เป็นอย่างนั้นไหม ไม่เป็น
เครื่องมือทางการแพทย์ต้องฆ่าเชื้อ คนจะทำการผ่าตัดเขาต้องเตรียมความพร้อม เขาต้องให้ร่างกายแข็งแรง เขาต้องให้ทุกอย่าง เหมือนกัน พุทโธๆ ฆ่าเชื้อ ฆ่าความฟุ้งซ่าน ฆ่าทุกๆ อย่าง แล้วมันพร้อมแล้ว แล้วเราจะไปวิปัสสนากัน เอวัง