ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

โทสจริต

๒๕ ม.ค. ๒๕๕๗

 

โทสจริต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “การพิจารณาความโกรธ”

 

อยากให้หลวงพ่ออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องวิธีการพิจารณาความโกรธค่ะ ขอบพระคุณ

 

ตอบ : เพราะเขาถามมาบ่อย

 

การพิจารณาความโกรธเนาะ โทสจริต โกรธนะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ารวมแล้วเป็นกิเลส เวลากิเลสคืออวิชชา อวิชชาเป็นเรือนยอดของกิเลส อวิชชาคือความไม่รู้ เวลาเคลื่อนออกมาเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่คือแม่ทัพนายกอง ความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหม แล้วก็เรื่องความอิจฉาริษยา เรื่องต่างๆ มันจรมา สิ่งที่มันจรมา

 

ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเป็นพื้นฐาน แต่สิ่งที่ความขัดข้องหมองใจมันจรมา ถ้ามันจรมา นี่เขาเรียกว่ากิเลส ถ้าเรียกว่ากิเลสปั๊บ กิเลส ใครไปแบ่งแยกเป็นกิเลสล่ะ

 

คนขยันขันแข็ง คนทำมาหากิน เขาว่าอย่างนี้ไม่ใช่กิเลส นี่เป็นความเพียรชอบ ถ้าความเพียรชอบ ความเพียรชอบทางโลกก็ได้ ความเพียรชอบทางธรรมก็ได้

 

ความเพียรชอบในทางโลก เห็นไหม ทางโลก ความขยันขันแข็ง การทำมาหากิน นี่เป็นความเพียรชอบของเขา

 

พระเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา การเสียสละ ใครเสียสละได้มากขนาดไหน ใครทำความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตลอดเวลา นั่งตลอดรุ่ง นั่งทีหนึ่งเป็นวันเป็นคืน เขาบอกอย่างนี้ทำไม่ได้ มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันเป็นการทำเกินกว่าเหตุ

 

ความเกินกว่าเหตุ มันเกินกว่าเหตุของใครล่ะ ความเกินกว่าเหตุของใคร ถ้ามันยังอย่างหยาบๆ มันก็พอได้ แต่อย่างละเอียดลึกซึ้งของเขา เพราะความเพียรของเขาความเพียรชอบ นี่พูดถึงว่าการพิจารณาความโลภ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

 

ให้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในการพิจารณาความโกรธ

 

ความโกรธคือโทสจริตนะ แล้วโทสะมันเกิดจากใครล่ะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกขันติบารมี คนที่อ่อนแอกว่าเรา คนที่อ่อนด้อยกว่าเราติเตียนเราได้ เราทนได้ นี่ขันติอย่างประเสริฐ คนที่เสมอเราติเตียนเราได้ คือคนเสมอเราทำอะไรกระทบกระเทือนเรา เราทนได้ อันนี้ขันติอย่างกลาง คนที่มีอำนาจเหนือกว่า คนที่เป็นผู้บังคับบัญชาเขาติเตียนเราได้ เราทนได้ นี่ขันติอย่างหยาบๆ

 

ขันติอย่างหยาบๆ คนที่มีอำนาจเหนือกว่าติเตียนเรา ทำกระทบกระเทือนต่อเรา ทนได้ ขันติอย่างหยาบๆ คนที่เสมอกัน เราทนได้ คนที่ต่ำต้อยกว่า คนที่ด้อยศักยภาพกว่า แต่ติเตียนเราได้ อันนี้ขันติอย่างประเสริฐ เห็นไหม ขันติธรรม ความอดทนได้ ความทนได้

 

คำว่า “กิเลสๆ” กิเลสมันคืออะไร ถ้ากิเลสมันคืออะไร คำว่า “กิเลส” กิเลสมันมีตั้งแต่เรือนยอดของมันคือพญามาร พญามารมันมีไพร่พลของมัน มันมีแม่ทัพของมัน ถ้ามันมีแม่ทัพของมัน ถ้าเราไม่ไปเผชิญตัวของมัน เราได้แต่ชื่อ

 

ได้แต่ชื่อ เห็นไหม ศึกษา นั่นก็กิเลส นี่ก็กิเลส ทุกอย่างเป็นกิเลสหมดเลย แต่ไม่เคยเห็นตัวมันเลย เห็นแต่เวลามันขับถ่ายเอาไว้ เวลามันคิดขึ้นมา มันต้องการของมัน มันแสวงหาผลประโยชน์ของมัน มันพอใจมันแล้วมันก็สบายแล้ว มันสบาย กิเลสมันอิ่มหนำสำราญ มันก็ไปแล้ว มันไปเพลิดเพลินของมันแล้ว มันทิ้งเอาไว้แต่ความโศกเศร้า ทิ้งไว้แต่ความทุกข์ใจกับเราไง มันทิ้งเอาไว้เรายังไม่เห็นนะ ยังไม่เห็น ยังว่า “ชีวิตนี้เกิดมามันทุกข์มันยาก เราก็ทำบุญกุศลทำไมเราทุกข์ยากขนาดนี้ ชีวิตเราทำไมไม่ประสบความสำเร็จ” มันยังคิดอยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะเราศึกษาธรรมะ เราได้แต่ชื่อมัน

 

ศึกษาก็ศึกษา สุตตันตปิฎกคือนิยาย สุตตันตะคือนิทาน นิทาน เห็นไหม เวลาเราศึกษาวินัย วินัยเป็นข้อกฎหมาย แต่สุตตันตะคือนิทาน นิทานคือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเล่าเรื่องอดีตชาติ เรื่องความเป็นไปของมนุษย์ เรื่องกรรม เรื่องความพยาบาทอาฆาตของสัตว์โลก นี่สุตตันตปิฎก เป็นนิทาน เราศึกษามา เราศึกษา เราได้แต่นิทาน เราได้แต่สิ่งที่เป็นคติ แต่เรายังไม่ได้ตัวมันไง ถ้าเราได้ตัวมัน

 

เขาบอกว่า อธิบายให้ละเอียดเรื่องพิจารณาความโกรธ

 

ความโกรธ สิ่งที่เราว่าเราโกรธๆ นั่นน่ะกิเลสมันขับถ่าย มันอิ่มหนำสำราญ มันไปนอนตีพุงสบายอยู่แล้ว เรายังทุกข์ยากอยู่เลย เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นมันไง

 

แต่ถ้าเราจะพิจารณา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราจะปฏิบัติ โทสจริต เราเป็นคนขี้โกรธ อะไรกระทบกระเทือนไม่ได้ เราก็ต้องมีสติปัญญาของเราแล้ว เรามีสติรู้ตัวอยู่กับเรานะ เรารู้ตัวอยู่กับเรา

 

คนเราเกิดมา เรามองคนในแง่บวก คนเกิดมา คนทุกคนเกิดมามีความทุกข์เหมือนกัน คนปรารถนาดีเหมือนกัน ทุกคนปรารถนาอยากมีความสุข ทุกคนปรารถนาดี แต่ทุกคนก็ทนแรงเร้า สิ่งเร้ากิเลสของตัวเองไม่ได้

 

โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนใฝ่ดีหมดแหละ แต่ใฝ่ดีแล้ว สิ่งที่ใฝ่ดี ขณะใฝ่ดีแล้วเราก็ต้องมีการกระทำ เราก็ต้องแสวงหาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย เพื่อหน้าที่การงานของเรา คนที่มีจิตใจที่เขาเป็นธรรมนะ เขาทำแต่เรื่องความสุจริต ความถูกต้องดีงามของเขา เขาทำอย่างนั้นเขาก็ไม่กระทบกระเทือนใคร

 

แต่คนที่เขามีกิเลส คนที่เขาเห็นแก่ตัว เขาก็ปรารถนาดีเหมือนกัน แต่ความดีของเขาเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เอารัดเอาเปรียบคนอื่น แก่งแย่งชิงดีคนอื่น เขาทำของเขาอย่างนั้นน่ะ

 

ถ้าเรามีสติปัญญาพิจารณาความโกรธ

 

เราจะบอกว่า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกว่า มันมีเหตุมีปัจจัย มีที่มาทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่ว่าที่มาที่ไป มันมีเหตุถึงมีปัจจัย มันมีผลกระทบ มีความขัดข้องหมองใจมันถึงมีความโกรธ

 

ทีนี้ความโกรธ เราบอกว่าเวลามีความโกรธมันก็โกรธแล้ว เพราะมีเหตุมีปัจจัย มีการกระทบกระเทือนมาในหัวใจ มันถึงมีความโกรธ พอมันโกรธจบแล้วเราถึงว่า โอ้โฮ! โกรธแล้ว ไม่ทันความโกรธสักที เราสู้มันไม่ได้สักที เห็นไหม นี่เพราะเราขาดการฝึกฝน

 

เราศึกษามา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้แต่ชื่อมา สุตตันตปิฎกก็ได้นิทาน นิทานคือตัวอย่าง คือแบบแผนเป็นคติธรรม ท่านบอกให้เห็นเลยว่า คนเรามันมาอย่างนี้ มีเวรมีกรรมต่อกันอย่างนี้ แล้วมันเกิดกันมามันถึงมาไฟท์กันอยู่อย่างนี้ มีความทุกข์ยากอย่างนี้

 

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดนะ “เวรย่อมระงับด้วยความไม่จองเวร” เขาจองเวรจองกรรมเรานะ คำว่า “จองเวรจองกรรม” เขามีสิ่งใด สิ่งใดพอเราเห็นแล้วมันขัดอกขัดใจไปทั้งนั้นเลย เขาจองเวรจองกรรม

 

เวรย่อมระงับด้วยความไม่จองเวร เราไม่จองเวรจองกรรมกับใคร เราให้อภัยตั้งแต่ต้น สิ่งที่มันสร้างมามันเป็นอดีต นิทาน สุตตันตปิฎก เราเกิดมามันมีความบาดหมางขึ้นมา มันมีเวรมีกรรมกันมา เราอุทิศให้เขาไป เราให้อภัยให้หมด แล้วเราก็มาดูหัวใจเรา

 

คนเกิดมาเขาก็คิดดีทั้งนั้นน่ะ อย่างที่ว่า เขาก็คิดดี ปรารถนาดี แต่เพราะสิ่งที่จิตใจของเขาหยาบ เขาจะเอาความเลวของเขา อยากรวย อยากประสบความสำเร็จโดยฉับพลัน เขาก็ต้องแข่งดี เขาก็ต้องเอารัดเอาเปรียบ มันก็กระทบกระเทือนเราแล้ว แล้วพอกระทบกระเทือนแล้ว เราจะกระทบกระเทือนเขาไหมล่ะ

 

ถ้าเขากระทบกระเทือนเราแล้ว ถ้าเราขาดสติ โทสจริตมาแล้ว โทสะมันเกิด เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ไม่มีสิ่งใดเลย เขากระทบกระเทือนเราหมดเลย เราโกรธด้วยความชอบธรรม จะบอกว่าเราโกรธด้วยความชอบธรรม เพราะเขาทำเรา เราโกรธด้วยความชอบธรรม เราโกรธนี่ถูกต้องหมด เพราะว่ามันมีเหตุมีผล เพราะมันกระทบกระเทือน เราถึงได้โกรธ

 

ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์ถูก แต่พูดทางธรรมผิด ผิดเพราะอะไร เพราะเราโกรธ เราจุดไฟเผาตัวเอง เราชอบธรรมตรงไหนล่ะ ชอบธรรม เราทำร้ายตัวเองนี่ชอบธรรมหรือ เราทำร้ายตัวเองนี่เราชอบธรรมไหม เขาทำร้ายเราเพราะกิเลสของเขา เขาแก่งแย่งชิงดีเพราะว่าความเห็นแก่ตัวของเขา ถ้าเราเป็นนักธรรมะ เรามีสติปัญญา นั่นน่ะกิเลส นั่นน่ะมนต์ดำ นั่นคือทำความผิด แล้วเขาทำกับคนอื่นทั่วๆ ไป แล้วเขาก็ทำกับเราด้วย ถ้าทำกับเราด้วย เรามีสติปัญญา เรามีสติ นั่นน่ะผลของมาร วิธีของกิเลส วิธีของมารกระทำอย่างนั้น แล้วเราเป็นมารด้วยหรือเปล่า

 

แต่ถ้าเราจะเป็นธรรมะ เราจะเป็นฝ่ายธรรม ฝ่ายเทพ ฝ่ายเทพ เราต้องให้อภัยเขา ทีนี้มันให้อภัยไม่ได้เพราะอะไรล่ะ เพราะจิตใจอ่อนแอ ถ้าจิตใจที่เข้มแข็งนะ เรามองเด็กสิ ดูเด็กไร้เดียงสาน่ารักไหม เด็กทำอะไรก็น่ารักไปหมดแหละ เรามองเขาเหมือนเด็กไร้เดียงสา เพราะเขาขาดสติ เพราะเขาไม่มีสติควบคุมเขา เรามองด้วยสายตา ด้วยสังเวชนะ ถ้าเรามีสตินะ ถ้าเราขาดสติ เราโง่กว่าเขา

 

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ใครโกรธใส่เรา เราโกรธตอบ เราโง่กว่าเขา”

 

เขาโกรธ เขามีโทสะ เขามีความโลภ ความโกรธ ความหลง เขาโดนกิเลสครอบงำแล้ว เขาต้องแสดงอาการอย่างนั้นกับเรา ถ้าเรามีสติ เรามองเด็กๆ มันไร้เดียงสา เรามีสติ เราจะมองแล้วสงสารเขาเลย

 

แต่ถ้าเราขาดสติ ก็เขาทำเรา เขาทำเรา เขากระทบกระเทือนเรา สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค เขากระทบกระเทือนเรา เราก็ต้องตอบโต้ได้เป็นธรรมดา เห็นไหม เราโง่กว่าเขา เราโง่เพราะอะไร เพราะเราโกรธตอบไง

 

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนี้จริงๆ บอกว่า ถ้ามีใครโกรธเราแล้วเราโกรธตอบเขา เราโง่กว่าเขา เพราะเวลาเขาโกรธใส่เรา เขาทำกิริยากับเรา เราเห็น แต่ถ้าเราควบคุมสติได้ เราจะเห็นเลยว่ามันน่าสังเวช มันน่าสังเวชมากนะ เขาหาเวรหากรรมใส่ตัวเขา แต่ถ้าเราโกรธตอบ เราโง่กว่าเขา

 

แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราเห็นแล้วเราสังเวชเลยล่ะ ถ้าสังเวช เราจะภูมิใจตัวเราเลย ถ้าเราภูมิใจตัวเรา รายละเอียด นี่พูดถึงรายละเอียดข้างนอกนะ รายละเอียดข้างนอกหมายความว่าความกระทบกระเทือนกันทางสังคม แต่ถ้าเป็นรายละเอียดในใจมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

 

รายละเอียดในใจนะ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจเราสงบแล้ว ถ้าใจไม่สงบเพราะอะไร เพราะโดยธรรมดาน้ำเดือด น้ำเดือดทุกอย่างมันเร่าร้อนไปหมด โดยธรรมชาติของเรา จิตใจมันเสวยอารมณ์ จิตของเรามันคิด มันปั่นป่วนไปหมดในใจเรานี่ ในหัวใจเรามันเหมือนโป๊ะแตก เขาต้มโป๊ะแตก ทุกอย่างต้มยำพร้อมไปหมดเลย มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ ความคิดเราก็เป็นอย่างนั้นน่ะ

 

แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ เราทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม น้ำใส ไม่ใช่โป๊ะแตก โป๊ะแตกมันมีเครื่องแกง มันมีกุ้งหอยปูปลาต้มเดือดเลย นี่ความจริงเป็นแบบนั้น

 

ถ้าจิตเราสงบเข้ามา ถ้ามันสงบเข้ามา น้ำ น้ำที่ใสสะอาดกับน้ำที่ทำเป็นอาหารมันแตกต่างกัน จิตใจของคนธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น ถ้าจิตสงบเข้ามามันเป็นเอกเทศเข้ามา ถ้าเอกเทศเข้ามาแล้ว ปุถุชน กัลยาณปุถุชน

 

ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนนะ เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นในการพิจารณากาย ถ้าการพิจารณาปล่อยสักกายทิฏฐิ ถ้ามันพิจารณาบ่อยครั้งเข้า มันสำรอกมันคายออก สักกายทิฏฐิความเห็นผิด สังโยชน์มันขาดไป

 

พิจารณาซ้ำเข้าไปนะ ถ้าจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ตามความเป็นจริง มันจะเห็นของมันตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาไปถึงที่สุดแล้วมันจะกลับสู่สถานะเดิมของมัน มันจะเป็นธาตุ กายกับใจแยกออกจากกันตามความเป็นจริง

 

ถ้าจิตสงบมากขึ้นไปเป็นมหาสติ มหาปัญญา จะไปเห็นอสุภะ ถ้าเห็นอสุภะ ปฏิฆะ โกรธมันอยู่ตรงนี้ ความโกรธมันอยู่ที่ปฏิฆะ นี่ปฏิฆะ กามราคะ

 

ถ้ามีกามราคะ ถ้าไม่ถูกสเปก เราจะชอบไหม ถ้าไม่ถูกสเปกเรา เราไม่ชอบหรอก แต่ถ้าสเปกของเรา คือว่าข้อมูลของเรา ใครกระทบกระเทือนไม่ได้ โกรธมาก โกรธมาก ความโกรธมันอยู่ตรงนี้ไง ความโกรธคือเหมือนกับงู เขาตีหางงู งูมันจะดิ้นมากเลย ตีขดหางงู งูมันจะย้อนมากัด

 

หัวใจของเรา ถ้ามีอะไรไปกระเทือนมัน ปฏิฆะ คือสิ่งนี้มันถนอมรักษาของมัน เห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชาคือพญามาร ความโลภ ความโกรธ ความหลงคือกามราคะ สิ่งที่กามราคะ แม่ทัพมันอยู่ตรงนี้ ถ้าอยู่ตรงนี้ นี่ไง

 

เราจะบอกว่า ถ้าความโกรธจากภายใน คนจะละความโกรธได้ นักปฏิบัติทั่วๆ ไป คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ จะพูดอย่างนี้บ่อยมาก “แต่ก่อนนั้นผมเป็นคนที่โกรธมาก ผมเป็นคนที่โมโหมาก เมื่อก่อนนั้นผมเป็นคนกินเหล้าเมายามาก เดี๋ยวนี้ผมปฏิบัติธรรม ผมเลิกหมดเลย ผมเก่งหมดเลย”

 

นั่นน่ะมันยังไม่โดนสิ่งใดไปกระทบกระเทือนใจดำ ถ้ากระทบกระเทือนใจดำ ไอ้ที่ว่าหายโกรธแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่โกรธแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นคนดีแล้ว มันก็แสดงออก คือความโกรธนี้ซุกไว้ใต้พรมไง เราเอาความโกรธนี้เก็บไว้โดยมารยาทสังคม

 

โทสจริต เราเป็นคนโทสจริต เราก็มีจริต สิ่งใดกระทบ เราจะโกรธง่าย ความโกรธนั้นมันจะแผดเผาเรา ด้วยการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม มันมีมารยาททางสังคม เราก็เก็บกันไว้ เราฝึกหัดกันไว้ ฝึกหัดกันไว้มันก็เป็นมารยาทสังคม มันเป็นจริตเป็นนิสัยเท่านั้นน่ะ แต่ถ้าพูดถึงว่าโทสจริต ความโกรธที่จะฆ่ามัน จะทำลายจริงๆ มันต้องไปทำลายขั้นที่อสุภะ

 

ปฏิฆะ กามราคะ ปฏิฆะคือข้อมูลของใจ ปฏิฆะคือจิตใจที่มันชอบ มันไม่ชอบ คือสิ่งที่มันเก็บของมันไว้นั่นน่ะ ถ้ามันขัดใจมัน มันก็เกิดกามราคะ มันก็เกิดโทสะ ถ้ามันถูกใจ มันหลงไป มันก็เกิดกามฉันทะ มันเป็นรายละเอียดภายใน

 

ฉะนั้น เราจะบอกว่า เราปฏิบัติแล้ว เราเป็นชาวพุทธแล้ว ความโกรธมันจะหายไป มันไม่ใช่ซักผ้า ซักผ้า ผ้าเอามาซักมันก็สะอาด เราจะซักฟอกหัวใจมันสะอาดจริงได้อย่างนั้นไหมล่ะ ถ้ามันสะอาดได้จริงอย่างนั้น ถ้ามันเป็นได้จริงอย่างนั้น มันทำได้จริงนะ มันจะรู้จริง ถ้ารู้จริงแล้วมันจะเข้าใจเรื่องนี้หมดเลย เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ นะ เราจะไม่จุดไฟเผาตัวเราเอง เราจะไม่ทำร้ายเรา

 

ถ้าเราทำร้ายเรา ทำร้ายตรงไหน

 

ถ้าจิตใจเราฟุ้งซ่าน เราก็มีแต่ความทุกข์ความยาก ถ้าจิตใจเราปล่อยวาง เราก็มีความสุขของเรา แล้วถ้ามันปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ปล่อยสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันเข้าใจตามหมดแล้ว สักแต่ว่า มันรู้มันเห็นตามความเป็นจริงของมัน แล้วถ้ามันรู้ของมัน ดูสิ กามราคะปฏิฆะอ่อนลง แล้วถ้ามันไปเห็นอสุภะ ถ้ามันทำลายที่นั่น มันยิ่งสังเวชใหญ่ มันสังเวชแล้วมันจะรักษาใจของตัวเอง

 

ถ้าใจของตัวเอง ถ้ารักษาใจตัวเอง เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส รักษาแล้วมันจะผ่องใสของมัน ผ่องใสคืออวิชชา ผ่องใสคือส่งออก ผ่องใสคือพลังงานที่มันคลายตัว มันคลายตัวออกไป มันก็ออกไปเป็นธรรมชาติของมัน ถ้าเข้าไปตามความเป็นจริงแล้วมันจะเห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น

 

ฉะนั้น ความโกรธมันจะละได้ต่อเมื่อทำลายกามราคะปฏิฆะ ถ้ามันยังทำลายปฏิฆะกามราคะไม่ได้ มันจะมีของมัน ถ้ามีของมัน

 

ทีนี้เราเป็นโทสจริต โทสะของเรา เราจะมีความโกรธง่าย มีสิ่งต่างๆ ง่าย วิธีการแก้ นี่เขาบอกให้บอกรายละเอียด

 

วิธีการแก้ เราก็สรรพสัตว์ ทุกคนรักตัวเอง เขาก็รักตัวของเขา เราก็รักตัวของเรา ถ้าตัวของเรา เรารักตัวของเรา ถ้าเรารักตัวของเรานะ มันมี ๒ ประเด็น ประเด็นคือรักกันทางสังคม สังคมก็เสมอภาค แต่ถ้าประเด็นทางธรรม เรารักเราจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้าเรารักเราจริง เราต้องดูแลรักษาใจของเรา ถ้าเรารักษาใจจริง เพราะใจมันมีคุณค่าที่สุด

 

ทรัพย์สมบัติเราหามาเป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานมันไป ถ้าเราได้ใช้ได้สอยก็เป็นประโยชน์กับเรา นี่เป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สินทางโลกที่เราหามา แต่บุญกุศลคุณงามความดีของเรา ถ้าคุณงามความดีของเรา เรารักษาใจของเรา คำว่า “รักตัวเองจริง”

 

ถ้ารักตัวเองไม่จริงมันรักแต่ปาก รักโดยกิเลส รักโดยโทสจริตมันหลอก ถ้าโทสจริตมันหลอกนะ “เรารักตัวเอง เราต้องประสบความสำเร็จทุกๆ อย่าง” ประสบความสำเร็จมันตะครุบเงา ไอ้นี่มันเป็นสมบัติของโลก เป็นสมบัติสาธารณะ ไม่เป็นสมบัติของใครเลย มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทาสรรเสริญ เป็นโลกธรรม ๘ มันมีสภาวะไหนมันก็เสื่อมเป็นธรรมดา มันไม่มีอะไรเป็นของจริงเลย

 

แล้วคิดดูสิ ถ้าเรารักตัวเราเอง เราเอาของปลอมไหม ได้แบงก์ก็อยากได้แบงก์จริง ถ้ามีเพชรนิลจินดาก็อยากได้เพชรจริง ไม่อยากได้เพชรเก๊ ทุกคนอยากได้ของจริงหมดเลย แต่เวลาบอกว่ารักตัวเอง แต่ไปเอาสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติของโลก ไม่ใช่สมบัติของเรา

 

สมบัติของเรา นี่ไง สติปัญญานี่ไง สติปัญญาถ้ามันทัน สิ่งที่ว่าโทสจริตจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าเรามีสติปัญญาเท่าทันตลอดเวลา โทสะจะเกิดได้อย่างไร จะมีสิ่งใดกระทบก็รู้เท่าหมด สิ่งนี้กระทบเพราะเขาทำๆๆ เขาทำ ไม่ใช่เราทำ เขาทำ ถ้าเขา มันอยู่ห่างไกลมาก ไม่ใช่เราใช่ไหม เห็นไหม ถ้ามีสติปัญญา

 

เราจะบอกว่า เราจะดีขนาดไหนนะ สิ่งที่การกระทบกระเทือนกันที่จะไม่มีเลย ไม่มี จะดีขนาดไหน จะเป็นเทวดา จะสะอาดบริสุทธิ์ขนาดไหน อยู่กับสังคม โดนอยู่แล้ว สิ่งกระทบที่ไม่กระทบเลย ไม่มี

 

ฉะนั้น ถ้ามันจะกระทบใช่ไหม เรามีสติใช่ไหม เขา เขาทำ เขากระทบ เรามีสติปัญญาพร้อม มันไม่ถึงเราไง มันตกอยู่เท่านั้นน่ะ มันไม่ถึงเรา

 

แต่ถ้าเราขาดสติ เขาไม่ได้กระทบหรอก เราไปเอามาเอง ทำไมวันนี้ไม่มีใครด่าเราเลย ทำไมวันนี้ไม่มีใครนินทาเราเลย อู๋ย! มันไปกว้านมาเอง เห็นไหม แต่ถ้ามีสติ เขาทำ ไม่ใช่เราทำ เขาทำ มันอยู่ข้างนอกนั้น เขาทำ ถ้าเขาทำ

 

หลวงตาท่านสอนว่า ในโลกนี้คนโง่มากกว่าคนฉลาด

 

ทีนี้คนโง่เขาทำอะไรโดยขาดสติ เขาทำอะไรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนโง่ทำอะไร เพราะคนโง่ทำ ไม่มีประโยชน์อะไรกับเราหรอก

 

แต่ถ้าคนฉลาด คนฉลาดคือคนที่มีปัญญา คนฉลาดคือคุณลักษณะของผู้นำ เขาเห็นถูกเห็นผิด เราถูกผิดได้ ถ้าคนฉลาดเขาบอกว่าเราถูกเราผิด เราควรพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้ว สิ่งใดถ้ามันเป็นความจริง เราผิดพลาดจริง เราก็แก้ไข นี่คนมีปัญญาพูด ถ้าเรามีสติปัญญา เราเอาสิ่งที่คนมีปัญญามาเป็นคติธรรม เป็นสิ่งที่เราจะแก้ไขตามนั้น คนฉลาดพูดต้องฟัง

 

เขาทำๆ นี่คนโง่ คนโง่เขาทำก็เรื่องของเขา ติฉินนินทา โลกธรรม ๘ แต่ถ้าคนฉลาด ทำไมเราใช้ชีวิตแบบนี้ ทำไมเราปล่อยให้วันเวลาผ่านไปโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ต่อไปก็จะเป็นไม้ใกล้ฝั่ง รอแต่ที่มันจะพังทลายลงสู่แม่น้ำนั้นเท่านั้น

 

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราให้วันเวลาผ่านไปๆ โดยบอกว่า เรามีหน้าที่การงาน เราต้องรับผิดชอบ เราต้องมีทุกอย่าง

 

มี มีทั้งนั้นน่ะ แต่เราหายใจอยู่หรือเปล่า ถ้าเราหายใจอยู่ เรามีสติสัมปชัญญะพร้อมกับลมหายใจเข้าออกของเรา จิตใจเราก็มีที่พึ่ง งานก็ส่วนงาน จิตก็ส่วนจิต เราทำหน้าที่การงานไป แต่เราก็มีสติปัญญาดูแลหัวใจของเราไป ถ้าเรามีสติปัญญาดูแลหัวใจ ทำงานก็ไม่เหนื่อยด้วย ทำงานไป หัวใจมันไม่เหนื่อยไง

 

ร่างกายอ่อนเพลีย นอนก็หาย พักผ่อนก็หาย แต่เวลาหัวใจมันทุกข์ยากขึ้นมา มันพักผ่อนอย่างไรมันก็ไม่หาย แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา มันหายได้ นี่ทรัพย์สมบัติมันอยู่ที่นี่ ถ้าเราว่าเรารักตัวเราจริงไง รักตัวเราจริง เราเกิดมาจากไหน มาทำไม แล้วตายแล้วไปไหน

 

เวลาเกิดมา เห็นไหม เกิดก็มีพ่อมีแม่นี่ไง เราก็มีความกตัญญูกตเวที ก็รักษาดูแลพ่อแม่นี่ไง ให้ชีวิตนี้มาไง ให้ชีวิตนี้มาเพื่อชีวิตนี้มาค้นคว้าความจริงของเราไง ถ้าเราค้นคว้าความจริง ชีวิตเราก็ได้ด้วย แล้วเรายังมีสมบัติของคนดี กตัญญูกตเวทีเป็นสมบัติของคนดี นี่เป็นเครื่องหมายบอกถึงความเป็นคนดี

 

คนดี พ่อแม่ให้ชีวิตมา ทำไมไม่กตัญญู ครูบาอาจารย์ให้ความรู้มา ทำไมไม่กตัญญู อยู่กับสังคม สังคมเขาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เรา ทำไมเราไม่กตัญญู แต่ถ้าคนเขาเบียดเบียนเราล่ะ เบียดเบียนเรา เราก็มีสติปัญญารักษาใจเรา เราจะเอาแต่ความดี ไม่มีหรอก ในโลกนี้ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ถ้าเราทำแค่นี้ได้ มันก็เป็นความดีกับเรา

 

นี่เขาว่าการพิจารณาความโกรธไง นี่โทสจริต

 

ถ้าโมหจริต มันก็ลุ่มหลงไป โลภะมีแต่จะโลภ จะเอา อยากได้ อยากดี อยากเด่น มันเป็นจริตของคน ทีนี้ว่าถ้าเป็นโทสจริต โทสจริตนี่ธาตุไฟ พูดถึงธาตุไฟ เดี๋ยวจะไปข้างหน้า

 

ธาตุไฟ ธาตุดิน คนแข็งแรงนี่ธาตุดิน ธาตุไฟนะ คนจะคิดได้เร็ว แต่ความคิด พลังงานมันแผดเผาตัวเราเอง คนที่ฉลาดๆ ส่วนใหญ่แล้วมีแต่ความร้อน เพราะมันฉลาดมาก ธาตุไฟ โทสจริต โมหจริต ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของธาตุนะ

 

เรื่องธาตุมันก็พันธุกรรมของเรานี่แหละ พันธุกรรมของจิต จิตมันได้พัฒนาของมันมา มันเป็นอย่างนี้มา จิตมันเวียนว่ายตายเกิด ความสะสมของวัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิด ทีนี้เวียนว่ายตายเกิด ทำดีขนาดไหน ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว

 

เวลาเราเกิดมา เกิดมาแล้วแต่สถานะ แม้แต่ชีวิตหนึ่งยังลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ชีวิตเป็นแบบนี้ จิตก็เหมือนกัน จิตมันเป็นมากกว่านี้ แม้แต่ชีวิตหนึ่ง ๑๐๐ ปี มันหมุนเวียนขนาดไหน แล้วในวัฏฏะไม่มีต้นไม่มีปลาย มันหมุนในวัฏฏะมันถึงพัฒนามาแบบนี้ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ธรรมโอสถทำให้เรามีที่พึ่ง

 

คนเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปโรงพยาบาล ไปหาหมอ รักษาเพื่อหายเจ็บไข้ได้ป่วย จิตใจเราป่วย จิตใจเรามีกิเลสตัณหา เพราะกิเลสพาให้เกิด เรามีธรรมโอสถคอยรักษาคอยดูแล อันนี้เรามีสติ เห็นไหม ถ้าเรารักตน เอาตรงนี้

 

ทางโลกบอกว่า “ไม่ได้ เราเกิดมาเป็นคน หน้าที่การงานเราต้องทำให้ประสบความสำเร็จ มันจะมีเกียรติศัพท์เกียรติคุณไป”

 

โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ดูสิ สิ่งที่แล้วแต่มุมมองของใครเขาจะชื่นชมใครว่าใครเป็นรัฐบุรุษของเขา ใครเป็นฆาตกร เขาว่าของเขากันไป ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของโลก แต่เรารู้ของเรา

 

นี่พูดถึงว่าโทสจริตเนาะ แก้อย่างไร แก้อย่างไรก็แก้อย่างที่พูดมานี่ ฉะนั้น อันนี้จบ

 

ถาม : เรื่อง “กระบวนธาตุ”

 

หลวงพ่อ : คำถามนี้เขายกเลิก เขายกเลิกแล้วนะ ยกเลิกเพราะอะไร เพราะเขาถามมา พูดถึงธาตุ ยกเลิกด้วยคำถามนี้

 

ถาม : เรื่อง “ยกเลิกคำถามที่แล้ว”

 

เข้าใจแล้วค่ะ จากแพทย์แผนไทย ขอบคุณค่ะ

 

ตอบ : คือเขาไปศึกษาไง ศึกษาเรื่องธาตุ เห็นไหม เรื่องธาตุไฟ ธาตุลม เรื่องธาตุ ๔ เรื่องของแพทย์แผนไทยมันก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

ฉะนั้น ถ้าเรื่องของเรานะ เรื่องโทสะ เรื่องโมหะ นั่นเรื่องของเรา ถ้าเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นเรื่องของเรา ถ้าเรื่องธาตุมันก็เป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยเขาดูแลรักษาของเขา นี่ก็เป็นวิชาชีพอันหนึ่ง แต่เวลาเราปฏิบัติของเรา ในพระพุทธศาสนา ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

 

ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าดิน น้ำ ลม ไฟ มันเป็นวิทยาศาสตร์ ร่างกายของมนุษย์เป็นวิทยาศาสตร์เลย แล้วธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงกายกับใจ

 

ถ้ากายกับใจ เห็นไหม เวลาร่างกาย เราก็รักษาไปตามทางการแพทย์ ถ้าจิตใจของเรา จิตใจเรารักษาโดยธรรมโอสถ ถ้าจิตใจเรารักษาโดยธรรมโอสถ นี่ไง เราเกิดเป็นชาวพุทธ ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้

 

แต่ถ้าเป็นไสยศาสตร์ล่ะ เป็นการถือผีล่ะ เป็นการนับถือในลัทธิศาสนาอื่น ความเชื่อแตกต่างหลากหลาย ถ้าความเชื่อแตกต่างหลากหลาย เราเกิดมา ดูสิ พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาในสุวรรณภูมิ ในสุวรรณภูมิเขาถือผีอยู่แล้ว ในสุวรรณภูมิบางพื้นที่มีพราหมณ์เข้ามาก่อน พราหมณ์คือฮินดู ฮินดูเขามีมาตั้ง ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี มีก่อนพระพุทธศาสนา มันมีพราหมณ์ พราหมณ์มีอยู่แล้ว ดูสิ โล้ชิงช้า พราหมณ์ทั้งนั้นน่ะ

 

แต่เวลาพระพุทธศาสนาเข้ามามันก็มีพระพุทธศาสนาผสมกับพราหมณ์ พระพุทธศาสนาเข้าไป มหายาน พระพุทธศาสนาไปในทางทิเบต นั่นเขามีมหายานของเขา เขามีผีของเขา นี่พระพุทธศาสนาเข้าไปเขามีศาสนาดั้งเดิม

 

นี่ก็เหมือนกัน ในเมืองไทย เราบอกว่า ทางธาตุ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยมันก็มีมาแต่โบราณ ทีนี้แพทย์แผนไทยมันก็พูดถึงทางการแพทย์

 

แต่ถ้าในพระพุทธศาสนา เราจะบอกว่า ถ้าพระพุทธศาสนานะ พระพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ พุทธศาสตร์ ไอ้นั่นวิทยาศาสตร์ แล้วทางโลกล่ะ โลกก็เป็นสมมุตินะ โลกสมมุติ สมมุติของโลก โลกเป็นไปของโลก แล้วเราเกิดมากับโลก พอเราเกิดมากับโลก เราเป็นชาวพุทธ พอเราเป็นชาวพุทธ เราจะศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่เข้าถึงสัจจะ ไม่เข้าถึงสัจจะความจริง

 

แม้แต่ในปัจจุบันนี้ พูดไปแล้วมันสะเทือนเนาะ เวลาพระหมอดู พระเป็นหมอ พระเป็นอะไรอย่างนี้ เพราะในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องติรัจฉานวิชา วิชาทำให้เนิ่นช้า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจ ให้เข้าสู่สัจจะความจริง

 

แต่ถ้าพูดถึงติรัจฉานวิชา มันเป็นวิชาทำให้เนิ่นช้า วิชาอย่างนั้นมันเป็นประโยชน์ไหม มันเป็นประโยชน์เพราะอะไร เพราะมันเป็นการเกื้อกูลกัน ทางการแพทย์ ทางการดูฤกษ์ดูยาม ทางโลกเขาถือว่าสิ่งนั้นเป็นการช่วยเหลือสังคม

 

แต่ถ้าเป็นทางพระพุทธศาสนา ถ้าพูดถึงศาสนา กรรมฐานเลยนะ ติรัจฉานวิชา ดูฤกษ์ดูยามต่างๆ กรรมฐานถือว่าไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลย ถือว่าอยู่วงนอกเลย นี้พูดถึงขนาดถือฤกษ์ถือยามนะ แต่นี้เราไปถึงแพทย์แผนไทยเลย

 

เราจะพูดว่า ถ้าเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเป็นชาวพุทธตามประเพณี ไปวัดทั่วไปก็ต้องทำตามประเพณี แม้แต่ประเพณีแต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน เพราะว่าพระพุทธศาสนาเข้าไปในที่ใด ในที่ลุ่ม การคมนาคมทางน้ำก็อย่างหนึ่ง ในป่า ในเขา ในที่ดอน ดูพระสิ ความเป็นอยู่ของพระก็แตกต่างกันไป มันอยู่ที่การคมนาคม อยู่ที่ความเป็นไปของพื้นที่ อันนั้นถ้าเรามองตรงนั้น มองตรงนั้นนี่เป็นสิ่งปลีกย่อย แต่ถ้าเราเอาความจริง อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เขาทำจริงหรือเปล่า เขามีมรรคหรือเปล่า เป็นจริงหรือเปล่า

 

ดูสิ สุภัททะที่ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพานไง เขามีปัญญามาก เขาศึกษาทางลัทธิต่างๆ มามาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน เขาถือตัวถือตนว่าเขามีปัญญามาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพานคืนนั้น ข่าวมันมา ถ้าวันนี้เราไม่ไปพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่ได้พบอีกแล้ว เขาถึงไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์ไม่ให้เข้า กันไว้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้เข้ามา ปล่อยเข้ามา

 

พอปล่อยเข้ามา เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีปัญญามาก ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังจะนิพพานนะ ถามเลยว่า ในลัทธิศาสนาต่างๆ คือว่าในศาสนาในสมัยพุทธกาลที่เขาเผยแผ่อยู่ เขาว่าอันนั้นสุดยอดๆๆ ทั้งนั้นเลย แล้วไปถามพระพุทธเจ้าว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความเห็นว่าอย่างไร

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ศาสนาไหนไม่มีเหตุ ศาสนานั้นไม่มีผล”

 

ศาสนาไหนไม่มีมรรค มรรคคืออะไร มรรค เห็นไหม งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ ระลึกชอบ งานชอบ ความชอบธรรมไม่มี ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล

 

ฉะนั้น เขามีปัญญามาก เขาโต้ตอบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเราเวลาน้อย จะตายอยู่แล้ว ให้พระอานนท์บวชคืนนั้น เพราะเขามีปัญญามาก แล้วให้ดำเนินการตามที่มรรค ๘ คืนนั้นเขาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สอนเอง

 

นี่ไง ถ้าพูดถึงว่า ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล แม้แต่สมัยพุทธกาลก็มีแบบนี้ นี้เราเกิดมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ฉะนั้น ว่าตอนนี้ศาสนสัมพันธ์ เขาบอกว่า ต้องเคารพความเห็น ศาสนาไหนก็ต้องเคารพความเห็น

 

ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี ใช่ ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี แต่ดีกับโลกไง ดีกับความเป็นมนุษย์ไง แต่พระพุทธศาสนาสอนให้เป็นคนดีด้วย สอนให้จิตใจนี้หลุดพ้นจากกิเลสด้วย สอนให้จิตใจพ้น จิตใจถ้ามันมีสติมีปัญญา มันจะพ้นจากอวิชชาความไม่รู้ในหัวใจ พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ ถ้าสอนที่นี่ขึ้นมาแล้ว แพทย์แผนไทย ดูฤกษ์ดูยาม มันเป็นการดำรงชีวิต มันเป็นเรื่องเปลือกๆ มันเป็นเรื่องของสังคม มันเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ มันไม่ใช่เรื่องของจิตวิญญาณเลย

 

ถ้าเรื่องของจิตวิญญาณ เกิด เกิดมาอย่างไร ทุกคนก็สงสัยใช่ไหม ทุกคนถามเลย “หลวงพ่อ เมื่อชาติที่แล้วผมเป็นอะไร แล้วตอนนี้ผมเป็นอะไร”

 

ก็เป็นมึงอยู่นี่ มึงไม่รู้จักตัวมึงหรือ แล้วตายแล้วมึงจะไปไหนล่ะ

 

“แล้วตายผมจะไปไหนล่ะ”

 

อ้าว! ก็ทำดีทำชั่วไง

 

แต่ถ้าเอ็งภาวนาไปแล้วนะ พอจิตสงบมันก็ทึ่งแล้ว พอจิตมันสงบ โอ้โฮ! จิตมันสงบนะ เราเป็นอย่างนี้เอง ความสุขเป็นอย่างนี้เอง แล้วถ้าจิตเวลามันออกใช้ปัญญา ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับสุภัททะไง “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

 

เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นมรรค พอมรรคมันเดิน ธรรมจักรมันเคลื่อน

 

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล แต่ของพวกเรา ถ้ายังจิตสงบไม่เป็น ไม่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันก็ไม่มีมรรคเหมือนกัน มันจะมีมรรคต่อเมื่อจิตเราสงบ เราไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นน่ะมรรคมันเคลื่อน นั่นน่ะปัญญามันเกิด นี่ภาวนามยปัญญา

 

ที่บอกว่าภาวนามยปัญญา ที่เขาบอกว่า “สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างไรไม่รู้ มันมาอย่างไรก็ไม่รู้ มันไม่น่ามีอยู่จริง มันควรจะแบบว่ามันเพิ่มเติมเข้ามาโดยภายหลัง”

 

แต่ความจริงตัวนี้แหละตัวหลักเลย ตัวนี้ ภาวนามยปัญญามันจะเป็นความจริงเลย ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริง เห็นไหม เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มรรคมันเป็นความจริงของมัน ถ้าความจริงของมัน มันพิจารณาของมัน มันแยกแยะของมันตามความเป็นจริงของมัน มันก็เกิดผล ถ้ามันเกิดผล

 

นี่ไง ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ถ้าศาสนาไหนมีมรรค มรรค พุทธศาสน์มันต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าพุทธศาสน์เป็นอย่างนี้ปั๊บ ไอ้สิ่งที่เราเห็นมันเป็นที่ว่าศาสนานี้เข้ามาในสุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิมันมีความเชื่อ ลัทธิความเชื่ออยู่ดั้งเดิม ถ้าลัทธิความเชื่ออยู่ดั้งเดิม ศาสนาเข้ามาแล้วมันก็บวกเข้าไป แล้วเราจะเอาความจริง

 

ความเชื่อดั้งเดิมมันก็มีอยู่แล้ว ศาสนาแรกของโลกคือศาสนาถือผี ถือจิตวิญญาณ อะไรก็แล้วแต่ ถือจิตวิญญาณ แล้วมีลัทธิต่างๆ ขึ้นมาก็เพิ่มเติมขึ้นมาๆ

 

แต่พระพุทธศาสนา ถ้ามีครูมีอาจารย์อยู่ตามความเป็นจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางอริยสัจตามความเป็นจริง เราก็เข้าสู่สัจธรรม มีคนชี้นำได้ แต่ถ้าต่อไปแล้วมันเป็นจินตนาการ เป็นการจินตนาการ เป็นการคาดหมาย มันจะเข้าถึงใกล้ๆ ผีแล้วล่ะ ใกล้ๆ การคาดเดา มันก็เป็นไปเรื่อย นี่พูดถึงความเป็นไปนะ

 

แต่ทีนี้คำถามนี้เราเห็นว่า ทั้งๆ ที่ศาสนามันก็มั่นคง ทั้งๆ ที่ในการปฏิบัติมันก็มี แต่เราไปเห็นเอง เราก็เลยมีความคิดไปเอง มันเป็นเรื่องของแพทย์แผนไทย คำพูดมันคำเดียวกัน ธาตุเหมือนกัน ธาตุ ๔ เหมือนกัน แต่เวลาธาตุ ๔ เขารักษาธาตุ เขาดูแลธาตุ

 

แต่เวลาพระพุทธศาสนาเขาให้เห็นธาตุ ๔ ตามความเป็นจริง มันเป็นไตรลักษณ์ มันมีการทำลายให้จิตใจมันพิจารณาปล่อยวางของมัน

 

เห็นไหม ธาตุเหมือนกัน แต่เห็นจากความเป็นจริงจากภายใน เห็นกายมันแปรสภาพ มันเน่ามันเปื่อย มันพุมันพองไป มันทำลายกันโดยมรรค โดยมรรคหมายถึงว่าโดยความเห็นจากภายใน นี่มันแตกต่างกัน พอมันแตกต่างกัน มันก็เข้าใจได้ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

 

แต่ถ้าเรายังเข้าใจไม่ได้ เราก็คิดว่ามันจะเป็นธาตุ ๔ เหมือนกัน คือคำพูดเหมือนกัน อย่างเช่นลัทธิศาสนาอื่นเขามีศีลเหมือนกัน เขาก็มีศีล ทุกศาสนาบอกว่าสอนทำสมาธิ ทุกศาสนาเขาก็มีภาวนา ทุกศาสนาเขามีทั้งนั้นน่ะ แต่ความดีของเขาเป็นความดีโลก ความดีอยู่กับโลก

 

แต่พระพุทธศาสนาพูดถึงความดีโลกด้วย ความดีโลกหมายถึงว่า บริษัท ๔ สอนให้เสียสละทาน สอนให้มีความสามัคคีกัน สอนให้อยู่ร่วมกัน นี่ทางโลก

 

แล้วถ้าใครมีจิต พอเทศน์ไปแล้ว อนุปุพพิกถา ให้เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา เรื่องศีล เรื่องทาน เรื่องเนกขัมมะ แล้วพอจิตสมควรแก่การงาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เทศน์อริยสัจ จิตใจที่มันมีวุฒิภาวะแล้ว มันเข้าใจได้แล้ว พอพูดแล้วมันเข้าใจได้ แล้วมันพิจารณาต่อเนื่องกันไป มันภาวนาขึ้นไป เราถึงเป็นอริยบุคคลไง ปุถุชน กัลยาณปุถุชน แล้วมันเป็นอริยบุคคล แล้วจิตใจมันพ้นไป มันพ้นไปทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์นี่ พ้นไปทั้งที่รู้อยู่นี่ ถ้าพ้นอย่างนี้ นี่ถ้ามันเกิดสัจจะเกิดความจริงมันเป็นแบบนี้ ฉะนั้น ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเราจะเข้าใจ แล้วก็ไม่เผลอเขียนมาไง

 

พอเขียนเสร็จแล้วก็นึกได้ มันเป็นแพทย์แผนไทย มันไม่ใช่เรื่องศาสนา แล้วก็ยกเลิกคำถาม เอวัง