ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้เฉพาะเรา

๑ ก.พ. ๒๕๕๗

 

รู้เฉพาะเรา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “ความตายและความฝัน”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมได้ฟังธรรมหลวงพ่อมาสักระยะหนึ่งแล้วครับ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมขอกราบเล่าถวายและเรียนถามเรื่องการภาวนา อาจจะยาวหน่อยครับ ขอความเมตตาท่านหลวงพ่อด้วยครับ

 

๑. ระยะนี้ขณะภาวนามักมีเรื่องเกี่ยวกับคนตาย ความตาย โลงศพบ้าง แว็บเข้ามา ผมจึงจับมาเทียบเคียงกับตัวผมว่า ผมก็ต้องตายเหมือนคนที่แว็บเข้ามาในใจขณะนั้น ผมสังเกตว่า การจับความตายมาคิดทำให้จิตผมสงบเร็ว และละเอียดกว่าวิธีอื่นที่ผมเคยทำมาครับ

 

ผมก็คิดไปคิดมาอยู่ในวงที่ว่าผมเองต้องตาย เนื่องจากคิดแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน จะคิดไปตามเงื่อนที่รู้ ที่สงสัยขึ้นมาในขณะนั้น ปรากฏว่าเมื่อจิตหยุดพิจารณา จิตจะว่างโล่ง ไม่มีอะไร มีแต่รู้เท่านั้นครับ แล้วก็มีความรู้สึกสะเทือนใจ เศร้าๆ หดหู่ๆ ครับ สักครู่ก็มีอาการเหนื่อย ทั้งๆ ที่นั่งอยู่เฉยๆ ผมจึงบริกรรมใหม่ครับ ความว่างที่มีแต่รู้ และความหดหู่นั้นไม่ได้เกิดทุกครั้งนะครับ แต่เกิดหลายครั้งแล้ว

 

๒. แต่ในบางครั้งผมนึกตัดร่างกายและอวัยวะต่างๆ ระยะหลังก็ทำให้จิตสงบเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผมสังเกตว่า ช่วงไหนที่นึกตัดอวัยวะ ช่วงนั้นผมมักฝัน ครั้งแรกฝันว่าเนื้อที่เท้าเป็นรูเล็กๆ มองเข้าไปเห็นเป็นชิ้นเนื้อแดงๆ ขาวๆ ข้างใน และเห็นกระดูก ฝันครั้งหลังแผลนั้นใหญ่ขึ้นแล้วครับ และผมก็กรีดขาตัวเองกว้างและแหวกเข้าไปดู เห็นเนื้อข้างในเป็นชิ้นๆ และเห็นกระดูกขาชัดเจนมากครับ ครั้งล่าสุดฝันเห็นหัวผมเป็นรูครับ ประมาณกำปั้น เนื้อปากแผลนั้นขาดวิ่น เห็นสมองทั้งเนื้อและเนื้อสมองบางส่วนกระเด็นออกมา ความฝันลักษณะนี้ ทุกครั้งขณะฝันจะมีความรู้สึกขยะแขยงร่างกายตัวเองครับ

 

๓. ระยะหลังผมมักจะฝันอย่างต่อเนื่องถึงครูบาอาจารย์ที่ทั้งรู้จักและไม่รู้จัก ทั้งที่ท่านละสังขารไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ ท่านหลวงพ่อสงบ ผมก็เคยฝันครั้งหนึ่งครับ ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้จักท่านครับ บางท่านก็มาสอนครับ อย่างเช่นหลวงปู่แหวน (ผมเกิดไม่ทัน) ท่านหลวงตา ผมก็ฝันถึงหลายครั้ง แต่ครั้งแปลกสุดคือท่านชี้ให้ผมตัดกิ่งไม้ใหญ่ แล้วให้ผมตัดกิ่งไม้เล็กๆ ทีละกิ่ง พอกิ่งเล็กหมด ท่านก็ชี้ให้ผมตัดยอดครับ และก็ฝันว่าได้พระธาตุต่างๆ มากมาย ฝันถึงวัดอยู่บ่อยๆ ครับ ผมก็พิจารณา พยายามไม่ยึดฝันมหัศจรรย์ทั้งหลาย คิดว่าเกิดไปแล้ว ผ่านไปแล้วครับ แต่มีความรู้สึกปลื้มปีติครับ

 

คำถามมีดังนี้ หากเป็นความเห็นผิด ความไม่ถูกต้องประการใด ควรเพิ่มควรลดสิ่งใด ขอความเมตตาท่านอาจารย์ช่วยอบรมสั่งสอนด้วยครับ

 

ตอบ : นี่พูดถึงคำถามทั้งหมดนะ ทีนี้คำถามทั้งหมด เราสรุปก่อน สรุปว่าความฝัน การประพฤติปฏิบัติ โดยความเป็นจริงเวลาประพฤติปฏิบัติ เราประพฤติปฏิบัติโดยมีสติ หลวงตาท่านบอกว่า ถ้ามีสติ ความเพียรนั้นเป็นความเพียรชอบ ถ้าขาดสติ อันนั้นถือว่าความเพียรนั้นเป็นความเพียรที่ไม่ชอบ

 

ฉะนั้น เวลาฝัน คนนอนหลับฝันไปแล้ว สติในปัจจุบันมันไม่มี เพราะมันหลับไป แต่ในฝันมี ในฝัน ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงการปฏิบัติมันเป็นปัจจุบัน คือสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้ารู้เห็นสิ่งใดนั้นเป็นวิปัสสนา เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้วไปเห็นนิมิต แต่เป็นนิมิตแล้วควบคุมไม่ได้ อันนั้นมันเป็นนิมิต แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความจริง อันนั้นถ้าวิปัสสนา นั่นเป็นภาวนามยปัญญา อันนั้นถึงว่าเป็นวิปัสสนา

 

ฉะนั้น เวลาเราศึกษาแล้ว เราศึกษามาเป็นความรู้ แต่เวลาปฏิบัติไป มีคนหลายคนมากเขียนปัญหามาถามว่า เห็นกายอย่างนั้น เห็นกายอย่างนี้

 

แหม! ถามมานะ เราก็ตอบเป็นตุเป็นตะเลยนะว่ามันต้องทำอย่างนั้นๆ พอถามไป เขาถามกลับมาใหม่ ไม่ใช่ครับหลวงพ่อครับ ผมฝันไปครับ ผมฝันไปแล้วหลวงพ่อจะให้ผมทำอย่างนั้นผมทำไม่ได้ เพราะผมฝันไปครับ

 

ความฝันมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ฉะนั้น ความฝันกับการปฏิบัติธรรมคนละเรื่องกัน แต่มันเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเกี่ยวเนื่องกัน มันฝันได้ ถ้าฝันไป อย่างที่ฝัน ฝันไปแล้วมีความสุข มีความปลื้มใจ มันมีความสุขลึกๆ อยู่ในใจ ความฝันอย่างนั้น ถ้าความฝันอย่างนั้นฝันแล้วก็ฝันไป

 

อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วท่านฝัน ฝันว่าท่านได้แบกกลดแบกบาตรผ่านต้นไม้ไป ผ่านกอไผ่ไป ผ่านไปเจอที่โล่งกว้าง ที่โล่งกว้างนั้นก็เป็นทะเล ออกไปมีเกาะอยู่เกาะหนึ่งอยู่ข้างหน้านั้น ก็นึกลงเรือ เรือก็พาไปที่เกาะนั้น พอขึ้นไปเกาะนั้นไปเจอหลวงปู่มั่นอยู่บนเกาะนั้น ท่านไปตำหมากให้หลวงปู่มั่น นี่ก็คือความฝันเหมือนกัน แต่ฝันอย่างนี้มันบอกอนาคตไง

 

นี่ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ปฏิบัติใช่ไหม เวลาปฏิบัติ หลวงตาต้องกลับมาปฏิบัติใหม่ กลับมาปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านเคี่ยวเอาซะเกือบเป็นเกือบตาย อันนี้ถึงเป็นความจริง

 

ไอ้ความฝัน ฝันแล้วท่านก็ตีความไม่ได้ ท่านก็ไปเล่าให้หลวงปู่มั่นฟัง หลวงปู่มั่นบอกฝันนี้เป็นมงคล ความฝันของท่านมันก็บอกถึงแนวทางปฏิบัติของท่าน ครั้งแรกท่านต้องผ่านกอไผ่ไป พอจะมุดผ่านกอไผ่ไป เป็นร่องแค่พอไปได้ สุดท้ายพอผ่านไปแล้วก็ดึงกลด ดึงบาตรออกไป พอไปแล้วก็ห่มผ้า ห่มผ้าก็เดินผ่านไปก็เป็นทุ่งโล่ง

 

ปฏิบัติครั้งแรกท่านจะลำบากมาก เพราะท่านจะต้องมุดผ่านกอไผ่นั้นไป ท่านจะเจออุปสรรคมาก แต่พอผ่านอุปสรรคไปแล้วมันก็จะเป็นทุ่งโล่ง การภาวนาของท่านจะสะดวกสบายขึ้น แล้วพอผ่านไปแล้วจะไปลงทะเล กลางทะเลนั้นมีเกาะจะขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น แล้วพอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ในฝันบอกว่า หลวงปู่มั่นถามว่า “ที่นี่มายากมากนะ ท่านมาได้อย่างไร มหามาได้อย่างไร”

 

“อ้าว! ก็ผมฝันมาครับ ผมฝันว่ามาหาหลวงปู่ครับ”

 

ท่านบอกฝันนี้เป็นมงคล แต่เวลาความจริงกับปฏิบัติ พอเริ่มปฏิบัติ เพราะหลวงปู่มั่นบอกว่าความฝันจะบอกถึงแนวทางการปฏิบัติของท่าน แล้วเวลาท่านปฏิบัติไป เริ่มต้นท่านจะทุกข์ยาก ท่านจะลำบากมาก เพราะกว่าจะผ่านกอไผ่นั้นไปได้ มันมีแต่ขวากแต่หนาม อดอาหารจิตเสื่อม อู๋ย! หลวงตาท่านทรมานมาก ท่านก็สู้ของท่านเต็มที่ พอมันผ่านเป็นชั้นๆๆ เข้าไปนะ มันก็เป็นไปตามนั้นเลย นี่ความฝัน ความฝันมันเป็นมงคล

 

ความฝันมันเป็นการบอกถึงอำนาจวาสนาเรา มันบอกถึงต่างๆ แต่ความฝันมันเป็นความฝัน แต่กิเลสมันเป็นปัจจุบัน กิเลสมันอยู่กับเราปัจจุบัน เวลาความจริง เราต้องสู้กับมันจริงๆ ถ้าสู้กันจริงๆ

 

ฉะนั้น ความฝัน จะบอกว่าไม่มีไม่ได้ แต่ถ้ามีนะ อย่างคำถามที่บอกว่า “มันเป็นความฝันครับ แต่ผมฝันแล้วผมก็ปลื้มใจนะครับ”

 

มันก็ปลื้มใจเพราะเราฝันเอง เรารู้เอง มันเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ถ้ามันรู้ของเรามันเป็นประโยชน์แล้วล่ะ มันเป็นประโยชน์ แต่ที่เป็นประโยชน์ ประโยชน์กับเรานะ ไม่ใช่ฝันร้าย ฝันร้ายฝันถึงหนีนะ หนีสัตว์ร้าย ฝันว่ามีโจรปล้น ฝันว่าไฟไหม้บ้านเรา ฝัน ฝันเป็นความทุกข์ ตื่นขึ้นมากระหืดกระหอบเลยนะ อู๋ย! เหนื่อยมาก ฝันอย่างนั้นฝันเป็นความทุกข์

 

แต่ไอ้นี่มันฝันถึงอริยสัจ ฝันถึงสัจจะความจริง ฝันถึงเรื่องร่างกายของเรา เรื่องพิจารณาขุดคุ้ยหาทรัพย์ไง เหมือนกับเขาปลูกต้นไม้บนดินนั้น เขาขุดดินพรวนดินขึ้นมาแล้วก็ปลูกต้นไม้ ผลหมากรากไม้ มันก็ออกผลหมากรากไม้นั้นเพื่อเป็นอาหารแจกจ่ายชาวบ้านได้ ทำธุรกิจก็ได้

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาฝันถึงเรื่องร่างกาย เห็นร่างกาย เห็นหัวเป็นรูเข้าไป พิจารณาเข้าไปในสมอง เห็นแล้วมันกระอักกระอ่วนในเรื่องของร่างกายเรา มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ เราขุดไปในดินไง เราขุดไปในดิน เราจะปลูกพืชผล เราจะได้อาหาร เราจะได้สมบัติของมันไง

 

นี่ก็เหมือนกัน เราฝันเรื่องร่างกายของเรา เราขุดเข้าไปในเรื่องร่างกายของเรา ขุดเข้าไป เห็นเข้าไป มันเป็นประโยชน์กับหัวใจของเราไง อันนี้มันเป็นประโยชน์ มันเป็นความฝันมันก็เป็นมงคล เป็นความดี

 

แต่ความฝัน ถ้าบอกว่าความฝัน ถ้าบอกมันเป็นความดีงามไปหมดเลย กรรมฐานจะเริ่มเพี้ยนๆ แล้วนะ กรรมฐานจะฝันกันเอาแล้ว กรรมฐานจะไม่ปฏิบัติแล้ว

 

กรรมฐานเราต้องปฏิบัติเอา แต่ความฝันมันเป็นจริตนิสัย บางคนฝัน บางคนไม่ฝัน นี่พูดถึงความฝันนะ เทียบเคียงให้เห็นประเด็นนี้ก่อน ไม่ใช่พอพูดอะไรเป็นอันเดียวกันไปแล้วจะบอกเลยว่าแยกถูกแยกผิดไม่เป็นเลย อะไรเป็นวิปัสสนา อะไรเป็นความฝัน แล้วก็เอามามัดรวมกันอย่างนี้ แล้วปฏิบัติจะทำอย่างไรกัน

 

แต่เวลาเราปฏิบัติไปแล้ว เหมือนคนไข้ไปหาหมอ มันมีเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคอะไร เขาก็แก้ไขตามอาการอย่างนั้น นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปแล้วเราเจออะไร ปฏิบัติไม่ได้เลยก็ล้มลุกคลุกคลาน ปฏิบัติไปแล้วมีความสุขใจ มีความพอใจ แต่หลับไปแล้วยังฝันต่อเนื่องไปอีก เห็นไหม มันเกี่ยวเนื่องกันมา เพราะจิตดวงเดียวกัน

 

หลวงตาบอกว่า ฝันดิบ ฝันสุก ฝันดิบๆ คือความคิดเรานี่ฝันดิบๆ เพราะเราไม่ได้นอน แต่เราคิดเอาเองนี่ฝันดิบๆ ฝันดิบ เวลาไปนอน สุกแล้วล่ะ มันฝันสุก ฝันแท้ๆ เลย ฝันตามความฝันเลย ฝันสุก ฝันดิบ มันเกิดจากจิตเหมือนกัน แต่ทีนี้เวลาปฏิบัติแล้วมันเกี่ยวเนื่องกัน เดี๋ยวจะอธิบายต่อเนื่องไป นี่พูดถึงว่าความฝันกับการปฏิบัติก่อน

 

ฉะนั้น ความฝันกับการปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ มันเกี่ยวเนื่องกัน แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน มันเป็นมงคล มันบอกถึงวิธีการ มันบอกถึงอำนาจวาสนาของคน แต่เวลาปฏิบัติแล้วมันต้องเป็นปัจจุบัน มันต้องเป็นเดี๋ยวนี้ รู้กันเดี๋ยวนี้ รู้กันเฉพาะตรงนี้ ถ้าตรงนี้มันจะเป็นความจริงของเราเนาะ ฉะนั้น เริ่มเข้าคำถาม

 

“๑. ระยะนี้ขณะภาวนามักมีเกี่ยวกับคนตาย ความตาย โลงศพ แว็บเข้ามา ผมจึงจับมาเทียบเคียงกับตัวผมว่าผมก็ต้องตายเหมือนคนที่แว็บเข้ามาในใจนั้น ในขณะนั้น”

 

ไอ้ขณะนี้ที่ว่าเวลาเราปฏิบัติไปแล้ว ขณะภาวนาไปจะเห็นเกี่ยวเนื่องกับคนตาย ความตาย เห็นโลงศพ ถ้าขณะภาวนา ถ้าเห็นแล้วมันเป็นประโยชน์ไง ประโยชน์เพราะอะไร

 

“เพราะผมสังเกตว่าถ้าการจับความตายมาคิด จิตมันสงบเร็ว”

 

เห็นไหม “คิดถึงความตาย จิตสงบเร็ว จิตละเอียดดี ผมทำการภาวนาดีกว่าอย่างอื่นมาก”

 

เห็นไหม เรามาคิดแบบนี้ เอามาคิดแบบนี้คือปัญญาอบรมสมาธิไง ปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะไปเที่ยวสวนเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย “เราต้องเป็นเช่นนั้นหรือ” เพราะเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ยมทูตมาทำนิมิตให้เห็น มันสลดใจไง พอสลดใจ คิดหาหนทางที่จะออกหาความตรงข้ามที่ว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 

นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นคนเกิด คนตาย ถ้าเราเทียบเคียงได้ มันเป็นประโยชน์อยู่แล้ว มันเป็นประโยชน์อยู่แล้ว แล้วเราคิดถึง เวลาเอามาพิจารณาแล้วสังเกตได้ว่าเวลาจับความตาย จิตผมสงบเร็ว

 

สงบเร็วสิ เพราะถ้าเอาของที่มันชอบ คือมันชอบก็ความสังคมโลก สุภะ อสุภะ ชอบสุภะอยู่แล้ว ชอบสวย ชอบงาม ชอบดี ชอบความดีงามของมัน แต่อสุภะ อสุภะมันตรงข้าม ดูสิ ความเป็นอสุภะ ความสกปรกโสโครกมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่มีใครต้องการมันเลย

 

จิตใจมันก็เหมือนกัน ชอบสุภะ ชอบความดีงาม ดีงามของใคร ดีงามของกิเลสมันสร้างให้ แต่มันไม่เป็นความจริง พอเรามาคิด มันมีความตายแว็บเข้ามา ขณะที่ภาวนา ภาวนามักเกี่ยวกับเรื่องความตาย นี่วาสนานะ

 

มันมีคนตาย คนตาย ความตาย มรณานุสติ ถ้ามรณานุสติแล้ว พอพูดถึงความตาย กิเลสมันไปไม่เป็นไง พอระลึกถึงความตาย ระลึกถึงที่สุด กิเลสมันไปไม่เป็นนะ เพราะอะไร เพราะมันเอามาสะสมขนาดไหน มันไม่ใช่ของมัน เพราะมันตายแล้วมันต้องพลัดพรากจากกัน ถ้ากิเลสมันไปไม่เป็นปั๊บ มันก็ง่ายน่ะสิ

 

แต่ถ้ากิเลสมันไปเป็นนะ โอ้โฮ! เดี๋ยวปฏิบัตินะ ออกพรรษาแล้วก็จะไปเที่ยวที่ป่านั้นนะ โอ้โฮ! ฉันปฏิบัติแล้วฉันจะไปเผยแผ่ธรรมที่อเมริกานะ โอ๋ย! ออกพรรษาจะไปยุโรป ฝรั่งมันไม่รู้จริง เราจะไปสอนฝรั่งเลย ฝรั่งมันไม่รู้เรื่องศาสนา ฉันจะไปสอน

 

ถ้าภาวนาอย่างนี้มันจะไปไหนล่ะ จินตนาการไปนู่น จากสิ่งที่ไม่มีเลย พอบอกความตาย ต้องตาย ภาวนาเสร็จแล้วต้องตาย มันบอกถ้าตายแล้วใครจะไปเผยแผ่ธรรมที่อเมริกาล่ะ ใครจะไปเผยแผ่ธรรมที่ยุโรป ฝรั่งมันคงไม่มีใครไปสอนมันแล้วล่ะ ฝรั่งพวกนี้มันไม่มีวาสนาหรอก เพราะเราไม่ได้ไปสอนมัน

 

ถ้ามันภาวนาแล้วคิดแบบนั้นมันก็สงบได้ยาก คิดว่าภาวนาเป็นแล้วจะไปสอนคนนู้น จะไปสอนคนนี้ จะไปช่วยคนนั้น จะไปช่วยคนนี้ ช่วยตัวเองยังไม่ได้เลย แล้วจะไปช่วยใคร

 

พอระลึกถึงความตาย ความตาย ใครก็ตายหมด เราก็ต้องตาย แล้วจะไปช่วยใครล่ะ ตัวเองยังไม่รู้เลย แล้วมันจะตายอยู่แล้วจะไปช่วยใคร มันก็ไม่คิดฟุ้งซ่านไป มันก็สงบง่ายเป็นเรื่องธรรมดา เห็นไหม เป็นเรื่องธรรมดาเพราะว่าสัจจะความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแล้ว กรรมฐาน ๔๐ ห้อง มรณานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ พุทธานุสติ มันมีอยู่แล้ว เหมือนกับครัว เขามีเครื่องทำครัวไว้พร้อมเอาไว้ให้แม่ครัวทำครัว แต่เราใช้เครื่องมือนั้นไม่เป็น มีดก็เกะกะไปหมดเลย ของในครัวไม่มีอะไรเป็นประโยชน์เลย เอามาแขวนไว้รกรุงรัง ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะมันทำครัวไม่เป็น

 

ถ้ามันทำครัวเป็นนะ ของในเครื่องครัวมันเป็นประโยชน์ทุกชิ้นเลย แต่เราใช้ทำอะไรเท่านั้นเอง ใช้เป็นมันจะเห็นคุณค่าเลย กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ลองภาวนาเป็นสิ อู๋ย! กราบแล้วกราบอีก พระพุทธเจ้าสุดยอดขนาดนี้ นี่เครื่องมือทั้งนั้นเลย เครื่องมือทำความสงบ เครื่องมือทำความเป็นจริง เครื่องมือสุดยอดทั้งนั้นเลย

 

ทำไม่ได้ แถกันไป เอาสาวกภาษิต นึกกันไป คำนู้นภาวนาอย่างนั้น ภาวนาอย่างนี้ ภาวนาเพ้อเจ้อ ภาวนาฝันกันไป เพ้อฝันไม่มีความจริงเลย แต่ถ้าเป็นความจริง ขอให้ทำจริงเถอะ พุทโธก็เหมือนกัน พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ขอให้ทำจริงเถอะ ถ้าทำจริงนะ เครื่องครัว ของเป็นจริง ทำได้จริง ทำจริงจะเป็นประโยชน์หมด

 

แม้แต่ ดูสิ เวลาคนเขาไปเดินป่าไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปเลย แสวงหาเอาในป่า มีดหรือ ก็เอาไม้ไผ่ จากคมของไม้ไผ่ เขาดำรงชีวิตในป่าได้ ทั้งๆ ที่ถ้าเขาทำเป็นแล้วนะ แต่ทำไม่เป็น แบกไปเครื่องครัว แบกให้เต็มเลย พระธุดงค์ใหม่ๆ อู้ฮู! บริขารนี้แบกไปหมดเลย กลัวจะจำเป็นไปหมด แล้วทำอะไรก็ไม่ได้ แต่ผู้ชำนาญแล้วนะ มีบาตร มีกลดเท่านั้นน่ะ ไปได้แล้ว มีบริขาร ๘ ไปข้างหน้ามันดำรงชีพได้

 

นี่ก็เหมือนกัน พูดถึงว่าระลึกถึงความตาย นี่มันของจริงทั้งนั้นน่ะ มรณานุสติ ทั้งที่เรากำหนดพุทโธอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าระลึกถึงความตายมันเป็นความจริง มันเป็นความจริงก็เป็นความจริง

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า สิ่งที่ทำนี้ถูกไหม

 

ถูก

 

“เนื่องจากแต่ละครั้งมันจะไม่เหมือนกัน จะคิดไปตามเงื่อนที่รู้ ที่สงสัยขึ้นมาในขณะนั้น”

 

ถูกต้อง ปัจจุบัน ถ้าคิดเหมือนกันมันก็สัญญาไง นี่ถูกทั้งนั้นน่ะ เวลาถูกนะ พูดออกมาจากปรากฏการณ์ตามความเป็นจริง แต่ปรากฏการณ์ตามความเป็นจริงมันเป็นความจริงขึ้นมามันถึงมีผลไง มันถึงมีผลว่า จิตใจเราดีขึ้น ภาวนาได้ง่ายขึ้น จิตใจมีความสงบมากขึ้น แล้วทำอย่างไรต่อไป ทำอย่างไรต่อไป

 

ทำแบบที่มันเป็นอยู่นี่ ทำให้มันเข้มแข็งขึ้น พอเข้มแข็งขึ้น น้อมไป เดี๋ยวสิ่งที่ว่าจากความฝันมันจะเป็นความจริง คือเห็นอสุภะ เห็นกาย เห็นต่างๆ เห็นขณะที่มีสมาธิ เห็นขณะที่มีสติ เห็นขณะที่เป็นปัจจุบัน เห็นอย่างนี้ นี่สติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง

 

แต่ถ้าเห็นเพ้อเจ้อ เห็นโดยสัญญา แต่โดยสัญญา ถ้าผู้ปฏิบัติใหม่ ผู้ปฏิบัติยังไม่ได้ มันก็ต้องใช้สัญญาไปก่อน เห็นไหม เวลาตอบปัญหามันเป็นอย่างนี้ เวลาคนที่ภาวนายังไม่เป็นนะ แล้วทำอะไรไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้ก็ให้นึกเอาก่อน ใช้สัญญาไปก่อน อันนี้ผู้ที่ฝึกหัดเริ่มต้น ถูกต้อง

 

เด็กอนุบาลจะให้มันไปทำอะไรจนเกินกว่าเหตุมันทำไม่ได้หรอก เด็กอนุบาลนะ กินนมแล้วก็นอน มาโรงเรียนๆ ถึงเวลาเล่น เล่นให้เหนื่อยเลย กินนมนะ แล้วนอน นอนเสร็จ เย็นๆ พ่อแม่มารับกลับบ้าน อย่างนี้ดีที่สุดเลย ยอดเยี่ยมๆ

 

นี่เหมือนกัน ใหม่ๆ ก็ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ไอ้ที่จะวิปัสสนา ไอ้สติปัฏฐาน ๔ ใช้ภาวนามยปัญญา เดี๋ยวอนุบาลนะ เรียนให้แข็งแรงก่อน ให้รู้จักสะกดตัวอักษรได้ เดี๋ยวว่ากันทีหลัง

 

ฉะนั้น “เนื่องจากคิดแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน จะคิดไปตามเงื่อนที่รู้ในขณะนั้น”

 

มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ถ้าทำอย่างนี้มันถึงการปฏิบัติตามเนื้อหาสาระไง นี่ตามข้อเท็จจริง ตามข้อเท็จจริงตามเนื้อหาสาระ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ใช่ปฏิบัติด้นเดาคาดหมาย

 

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เรามีเงิน ๕ บาทก็ใช้ ๕ บาท มี ๑๐ บาทก็ใช้ ๑๐ บาท มี ๑๐๐ ก็ใช้ ๑๐๐ ก็สมควรตามความเป็นจริง มี ๕ บาทจะใช้พันหนึ่ง มีพันจะใช้ล้านหนึ่ง เอาที่ไหนล่ะ กู้ พอกู้เสร็จแล้วดอกเบี้ยทบต้น ทบต้นขึ้นมา ภาวนาแล้วก็เสื่อม พอเสื่อมก็ทุกข์แล้ว ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ เพราะรีบๆ ทำ จะใช้ดอกเบี้ยเขาไง

 

ภาวนาต้องให้สงบ คราวนี้นั่งต้องสงบเลย พอนั่งไปแล้วไม่สงบเพราะดอกเบี้ยมันทบต้น โอ๋ย! ยิ่งภาวนาไปยิ่งเดือดร้อน ไปใหญ่เลย ไม่เป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบัน มีเท่าไรใช้เท่านั้น ทำตามความเป็นจริงนั้น

 

“ปรากฏว่าเมื่อจิตหยุดพิจารณา จิตจะว่างโล่ง ไม่มีอะไร มีแต่รู้เท่านั้น แล้วมีความรู้สึกสะเทือนใจ เศร้าๆ หดหู่ สักครู่อาการทั้งเหนื่อย นั่งอยู่เฉยๆ จึงบริกรรมต่อไป”

 

เห็นไหม คำว่า “ทั้งเศร้าและหดหู่ มันเกิดสักครู่ แล้วบางทีมันไม่เกิดนะครับ”

 

ถ้าว่าเศร้าและหดหู่ เพราะเรายังให้ชื่อมันไม่ถูก แต่ถ้าให้ชื่อถูกตามธรรมนะ เศร้าและหดหู่เขาเรียกว่าธรรมสังเวช มันเกิดความสังเวช เห็นไหม เวลาพิจารณากายนะ คนที่เห็นกาย เห็นอสุภะ เวลาเห็นแล้วมันสังเวช มันถอดถอนกิเลส

 

แต่ถ้าเป็นโลกนะ เวลาเราไปเห็น ดูสิ เราไปเจออุบัติเหตุ ไปเจอซากศพ เห็นแล้วมันกระอักกระอ่วน กินอะไรไม่ได้ มันจะอาเจียน นั่นเรื่องโลก เรื่องโลกมันเกิดอารมณ์ มันกระทบ

 

แต่ถ้าเรื่องธรรมนะ มันไม่เกิดอาการกระอักกระอ่วน แต่มันเกิดความสังเวชนะ มันเกิดความสังเวช มันเกิดการสะท้อนใจ หัวใจมันเศร้า แต่เศร้าแล้วมีความสุขนะ ไม่ใช่เศร้าแบบว่าเศร้าเสียใจนะ มันเศร้า เศร้าเพราะอะไรรู้ไหม

 

เศร้าเพราะว่ามันเป็นฟองอากาศหมด มันไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย มันเป็นมายาทั้งนั้น จบสิ้นแล้วก็คืออากาศ อากาศธาตุ มันปล่อยหมดแล้วไปสู่สถานะเดิมของมัน มันเห็นแล้วมันเศร้า มันเศร้า มันสะเทือนใจนะ มันเศร้าเพราะอะไร เพราะมันไม่มีอะไรเลย ทำไมคนมาไขว่คว้าเอาอะไร มันไม่เห็นมีอะไร แต่จะเห็นอย่างนี้ได้มันต้องเห็นด้วยใจนะ ถ้าเห็นโดยสามัญสำนึกมันก็คิดของมันไป ถ้าเห็นด้วยใจนะ เพราะอะไร เพราะมันสอนใจเราเองไง

 

ถ้าพิจารณาไปมันโล่ง “มันโล่งมันเหมือนไม่มีอะไร มันมีแต่รู้เท่านั้น แล้วมีความรู้สึกสะเทือนใจ เศร้าๆ หดหู่ครับ สักครู่มีอาการเหนื่อย”

 

ความเศร้า ความหดหู่ มันเกิดแค่นี้ เกิดแล้วก็เกิดอีก พอมันเกิดแล้ว เราก็ทำของเราต่อเนื่องไป มันจะสังเวช ถ้ามันสังเวชนะ แล้วสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นะ การปฏิบัติต่อไปจะง่าย

 

ง่าย หมายความว่า มันมีสติไง มันสมบูรณ์ว่า นู่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ดี มันเหมือนกับเรามีสติที่เราจะยับยั้งไม่ไปเสวย คือไปจับเต็มไม้เต็มมือ แต่ถ้าขาดสตินะ เหมือนเดิม ของกูๆ มันก็ไปผูกอีก แต่ถ้าเราปฏิบัติบ่อยๆ เข้าจะเป็นอย่างนี้

 

“ความว่างนี้มีแต่รู้ ในความหดหู่นั้นไม่ได้เกิดทุกครั้งนะครับ แต่เกิดหลายครั้ง”

 

ไม่ได้เกิดทุกครั้ง ถ้าเกิดทุกครั้งนั้นมันก็เป็นวัตถุไง เอกสารส่งมาก็เอกสารเดิมนั่นน่ะ เอกสารตอนส่งมาก็เอกสารใบนี้ ส่งมาก็เอกสารใบนี้ แต่ถ้ามันไม่เกิดทุกครั้งใช่ไหม มันเกิดจากเราร่าง เราร่างของเราว่าอะไรถูกต้องดีงาม นี่เหมือนกัน ไม่เกิดทุกครั้งหรอก แต่ถ้ามันสมดุลแล้วมันก็เกิด ไม่เกิดทุกครั้ง

 

แล้วเวลาเกิดไปแล้ว คนจะถามปัญหามาเยอะมาก บอกว่า แต่ก่อนพอพิจารณาไปนะ มันเกิดปีติ มันเกิดต่างๆ โอ๋ย! มีความสุขมากเลย แล้วเดี๋ยวนี้ภาวนาไปแล้วมันไม่เห็นมีอะไรเลย จิตเราไม่ดีขึ้นมาใช่ไหม จิตเราไม่สมบูรณ์แล้วใช่ไหม

 

ไม่ใช่ เราไปเจอครั้งแรก เราไปเจอใหม่ๆ มันจะมีความดูดดื่มมาก พอไปเจอครั้ง ๒ ครั้ง ๓ มันก็มีอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ความดูดดื่มมันน้อยลง มันน้อยลง ถ้ามันเสื่อมนะ มันเสื่อมคือมันเข้าไม่ได้ มันไม่มีความรู้สึกอย่างนี้

 

แต่ถ้ามันไม่เสื่อม มันเจริญขึ้นมา ความรู้สึกอย่างนี้มันน้อยลง น้อยลงเพราะอะไร น้อยลงเพราะมันแก่กล้า ความแก่กล้า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันปีติแล้วมันสุข สุขมันเกิดตั้งมั่น พอคนตั้งมั่น มันเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่แล้ว

 

ความสุขของเด็กๆ เด็กมันเล่นกันก็สนุกประสาเด็ก แต่พอมันโตขึ้นมาแล้ว นั่นมันเป็นความสุขของความเล่น เป็นความสุขของเด็ก ความสุขของเรามันจะมีความสุขมากกว่านั้น ความสุขมากกว่านั้นมันก็วางลง มันก็ปล่อยลง คนก็สงสัย เอ๊! เมื่อก่อนภาวนาแล้วเป็นแบบนี้ เดี๋ยวนี้ทำไมไม่เป็นเลย

 

อ๋อ! เอ็งจะไม่โตเลยเนาะ เอ็งจะเป็นเด็กอยู่อย่างนั้นน่ะ เอ็งจะไม่โตเลยหรือ นี่ไง เวลาคนภาวนาไปมันจะรู้ มันจะเข้าใจของมัน ถึงว่ามันไม่เกิดทุกครั้ง แต่มันเกิดของมัน พอมันเกิดแล้ว เวลามันพัฒนาขึ้นไป มันจะเบาลง แต่ความมั่นคงมีขึ้น เบาลง แต่ชัดเจนขึ้น ชัดเจนคือจิตมันชัดเจนขึ้น ความรู้สึกมันชัดเจนขึ้น ความมั่นคงของใจชัดเจนขึ้น การเลือกเสพอารมณ์ชัดเจนขึ้น

 

เพราะถ้ามันจิตสงบแล้ว เสพอารมณ์หมายถึงอารมณ์มันจรมา นี่เสวย จิตถ้ามันตั้งมั่นมันไม่เสวย มันคัดเลือกของมันเป็น นี่มันพัฒนาขึ้น มันเข้มแข็งขึ้น มันดีขึ้น

 

ไม่ใช่ว่ามันจางลงแล้วมันเลวลง จางลงแต่มันดีขึ้น ดีขึ้น แต่อารมณ์อย่างนั้นมันจางลงๆ นี่ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เข้าไป นี่พูดถึงว่าคนภาวนาเป็นจะรู้ แต่เรายังไม่ต้องรู้ขนาดนี้ เพียงแต่อธิบายไม่ให้สงสัยไง ถ้าไม่อธิบายก็บอก เออ! มันแย่ลง มันไม่ดีขึ้น

 

อธิบายให้รู้เฉยๆ แต่ไม่ต้องไปเข้าใจมัน ถ้าไปค้นคว้าเดี๋ยวงงเข้าไปใหญ่ นี่พูดถึงว่า “ความว่างที่มีแต่รู้ และมีความหดหู่นั้นไม่ได้เกิดทุกครั้ง แต่เกิดหลายครั้งครับ” นี่ข้อที่ ๑

 

“๒. แต่ในบางครั้งผมนึกตัดร่างกายและอวัยวะต่างๆ มาระยะหลังนี้ทำให้จิตสงบเร็วขึ้น เห็นได้ชัดขึ้น สังเกตว่าช่วงไหนที่นึกตัดอวัยวะ ช่วงนั้นผมมักฝัน”

 

ไอ้ที่ว่ามักฝัน ตรงนี้เรามาร์กไว้ว่า คำว่า “มักฝัน” ถ้าเรานั่งสมาธิอยู่ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นจริง มันเหมือนกับแม่ชีแก้ว แม่ชีแก้วนะ เวลาภาวนาไป ก็เตรียมแช่ข้าวเหนียวไว้ เช้าจะนึ่งข้าวเหนียวใส่บาตรหลวงปู่มั่น แล้วนั่งสมาธิไป จิตมันลง จิตมันลงนะ มันไปรู้ไปเห็นหลวงปู่มั่นมา เห็นนิมิตมาฟันร่างกาย มันเผาตัวเอง แล้วหลวงปู่มั่นก็เดินมา เนื้อหนังมังสา ไฟมันก็ไหม้หมดแล้ว ทุกอย่างก็ไหม้หมดแล้ว เหลือแต่หัวใจ หัวใจนี้ไหม้ไม่ได้ ถ้าหัวใจนี้ไหม้ไป เดี๋ยวจิตมันจะเข้าร่างไม่ได้ ในนิมิตไง ในนิมิตมาทำให้แม่ชีแก้วเห็นอย่างนั้น

 

แม่ชีแก้วก็เห็นนิมิตอย่างนั้น แล้วในนิมิตขึ้นมาก็ตกใจไง ตกใจว่า เช้าขึ้นมาจะต้องนึ่งข้าวเหนียวใส่บาตรหลวงปู่มั่น อันนี้ก็นึ่งไม่ทันแล้วล่ะ เราเตรียมไว้ แล้วเหมือนกับคิดว่าตัวเองตาย เพราะมันฝันไง ถ้าตายไปแล้ว เพราะโดนไฟเผา แล้วใครจะนึ่งข้าวเหนียวไปถวายหลวงปู่มั่นล่ะ

 

ทีนี้พอออกจากนิมิตมา มันก็คือฝัน คือนิมิตนั่นแหละ ก็นึ่งข้าวเหนียวไปใส่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเรียกเอาไว้เลยนะ เรียกไว้ก่อน แล้วถามว่าเมื่อคืนเป็นอย่างไร

 

ท่านยังบอกว่าฝันนะ แม่ชีแก้วบอกว่าเมื่อคืนฝันไป แต่ความจริงนั่นนิมิต อันนี้พูดถึงความจริงนะ

 

ทีนี้ไอ้ของเราเหมือนกัน ถ้าเราแยกของเรานะ เราพิจารณาของเรา เราตัดอวัยวะของเรา แล้วมันมักฝัน ถ้าฝันนะ ฝันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เรานั่งภาวนาอยู่นี่นะ เรานั่งภาวนาอยู่นี่ แล้วถ้าจิตมันเป็น อันนี้นิมิตนะ นิมิตว่าฝัน ทีนี้เขาบอกว่าเขามักฝัน แล้วฝันบ่อย ถ้าฝันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ฉะนั้น เราจะบอกว่า ระหว่างภาวนามา ถ้ามันเห็นจริง จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อย่างที่ว่าเห็นเป็นรูป เป็นรูในเท้า เห็นอย่างนั้นน่ะ เห็นเหมือนในฝันนี่ เห็นเหมือนในฝัน แต่มันเป็นปัจจุบัน

 

เรานั่งสมาธิอยู่ จิตมันลง แล้วเราเห็นกายนะ เห็นเป็นโครงกระดูก เห็นเป็นเส้นเลือด เห็นเป็นเนื้อ เห็นเป็นเนื้อด้วยเลือดแดงๆ ถ้าเลือดแดงๆ เห็นเป็นเนื้อที่เน่า เห็นเป็นโครงกระดูก มันอยู่ที่คนเห็นนะ บางคนเห็นเป็นอวัยวะเฉพาะส่วน บางคนเห็นเป็นเส้นผมเส้นเดียว เส้นเอ็นเส้นอะไรเส้นเดียว นี่คือว่าอำนาจวาสนาคนไม่มาก

 

ถ้าอำนาจวาสนาคนที่สมบูรณ์นะ เห็นโครงสร้าง เห็นร่างกายทั้งร่างกายเลย แล้วขยายส่วน มันขยายออก แล้วโน้มให้มันเล็กลง ให้พิจารณาลง โน้มให้มันพุพองไป โอ๋ย! มันไปพับๆๆ ถ้าจิตมันดีนะ นี่พูดถึงถ้าจิตสงบแล้วจะเป็นแบบนี้

 

แต่ถ้าฝัน ฝันก็คือฝัน แต่ว่ามันใกล้กัน นั่งสมาธิ แล้วถ้าจิตมันตกภวังค์แล้วมันไปรู้ไปเห็นอย่างนั้นก็ฝัน แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันไม่ใช่ตกภวังค์ รู้ชัดๆ

 

เหมือนเราพูดอยู่นี่ พูดอย่างนี้จิตมันหยาบ มันเป็นปกติไง แต่ถ้าสงบเข้าไปแล้วมันเป็นเอกเทศของมัน แล้วมันก็รู้เห็นอย่างนี้ คือว่ามันรำพึงได้ มันสั่งได้ มันต้องการทำอะไรได้ มันทำให้เป็นไปได้หมดเลย ถ้าจิตดีนะ ถ้าสมาธิดี

 

ถ้าสมาธิไม่ดี ไม่มีทาง เห็นไม่ได้ แล้วอยากเห็นอย่างไรก็ไม่เห็น อยากนึกอย่างไรก็ไม่เห็น ทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ได้ก็มีวิธีอีกแหละ วิธีเดี๋ยวค่อยว่ากัน

 

นี่พูดถึงว่า “ครั้งแรกผมฝันว่าที่เท้าเป็นรูเล็กๆ มองเข้าไปเห็นเนื้อสีแดง ขาวข้างใน เห็นกระดูก ฝันครั้งหลังแผลนั้นใหญ่ขึ้น”

 

มันต่อเนื่องไง

 

“ฝันครั้งหลังแผลนั้นใหญ่ขึ้น และผมก็กรีดขาตัวเอง”

 

การกรีดขาตัวเอง การแหวกเข้าไปดู นี่เป็นความฝัน แต่ความฝันถ้ามันเป็นความจริงได้นะ โอ๋ย! นี่วิปัสสนาเลย แต่เป็นความฝันก็คือความฝัน ถ้าทำอย่างนั้นมันชัดเจนขึ้น ดูมากขึ้น

 

“ครั้งล่าสุดผมฝันเห็นหัวของตัวเองมีรูประมาณเท่ากำปั้น ปากแผลเห็นเนื้อขาดวิ่น เห็นสมอง เห็นเนื้อบางส่วนกระเด็นออกมา ลักษณะนี้ทุกครั้งที่ฝันจะมีความรู้สึกขยะแขยง”

 

มันขย้อน มันมีอารมณ์ความรู้สึกของมัน นี่ธรรมดา เวลาฝัน ฝันอย่างนั้นก็เป็นประโยชน์ เป็นมงคล อย่างไรก็เป็นมงคล แต่อยากให้ความฝันเป็นความจริง เวลาปฏิบัติเป็นความจริงจะเห็นคล้ายๆ อย่างนี้ จะว่าคล้ายๆ จะเห็นอันเดียวกัน เพราะมันมีสติกับไม่มีสติ แล้วมันเป็นปัจจุบันไม่เป็นปัจจุบัน

 

“๓. ระยะหลังฝันเห็นครูบาอาจารย์”

 

นี่ก็เป็นอำนาจวาสนานะ เขาบอกเขาฝันเห็นครูบาอาจารย์มาต่างๆ การฝันก็การฝัน แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านเป็นความจริง ฉะนั้น เวลาท่านมากรุงเทพฯ ที่พระผู้ใหญ่ถามว่า “ท่านมั่น เราอยู่กับตำรับตำรายังต้องค้นคว้าเลย ท่านอยู่ในป่า ท่านไปศึกษากับใครล่ะ”

 

“ผมฟังธรรมตลอดเวลา”

 

นี่ไง ฟังธรรม ธรรมะมันเกิด แต่ไม่ใช่ฝัน ชัดๆ นี่ ธรรมะเป็นประโยคๆ เช่น เวลาในประวัติหลวงปู่มั่นบอกว่าเทวดามาฟังธรรม เวลาเทศน์ไป เทวดาบอกไม่ใช่ๆ ไม่ต้องการสูตรนี้ ต้องการสูตรอื่น เห็นไหม มันโต้ตอบกันไง

 

เทวดาบอกว่าต้องการฟังเทศน์ หลวงปู่มั่นท่านก็เทศน์ไปเลย เทวดาบอกไม่ใช่ๆ จะฟังอีกกัณฑ์หนึ่ง อีกกัณฑ์หนึ่งกัณฑ์ไหนล่ะ นี่ภาษาใจ นี่ไม่ใช่ฝัน โต้ตอบ

 

จิตเวลามันสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ มันพิจารณาของมันได้ ฉะนั้น บอกว่า หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า ท่านฟังธรรมตลอดเวลาๆ

 

ฉะนั้น เวลาเราฝันถึงครูบาอาจารย์ ฝันถึงว่าหลวงปู่แหวน ฝันถึงครูบาอาจารย์ที่มาสอนเรา ถ้าเป็นความฝันก็เป็นความฝัน เราไม่ได้วิตก วิจาร ไม่ได้นึกเอาขึ้นมาเอง เราจะเอาความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นอย่างนั้นปั๊บ มันก็เป็นมงคล แล้วเวลาเราจะปฏิบัติ เราจะเอาปัจจุบันนี้ เอาปัจจุบันนี้ เอาปัจจุบันให้มันเป็นความจริงได้

 

ฉะนั้น เขาว่าฝันครั้งสุดท้าย “มันแปลกที่ครั้งสุดท้ายท่านชี้ให้ตัดกิ่งไม้เล็ก ตัดกิ่งไม้ใหญ่ กิ่งไม้เล็ก สุดท้ายแล้วให้ตัดที่ยอด”

 

มันก็เหมือนกับเป็นการบอกไง เป็นการบอกว่าเราจะปฏิบัติได้ไหม แล้วมันมีความหมาย เห็นไหม “และก็ฝันว่ามีพระธาตุมากมาย มีพระธาตุต่างๆ มามากมายเลย ฝันถึงวัดอยู่บ่อยๆ”

 

อันนี้มันเป็นมงคลชีวิตกับเรานะ ฉะนั้น คำถามสุดท้าย “หากมีความผิดพลาด ไม่ถูกต้องประการใด ควรเพิ่ม ควรลดสิ่งใดบ้าง”

 

ควรเพิ่ม ควรเพิ่ม เราตั้งสติเวลาปฏิบัติปัจจุบัน เราตั้งสตินี้ เพราะเราต้องการเอาปัจจุบันธรรม เอาปัจจุบันธรรมนะ เราพยายามปฏิบัติถึงที่สุด ถ้ามันสงบได้ มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความจริงได้ เราก็ใช้ปัญญาไป

 

ถ้ามันไม่ได้ เราก็พัก ถ้าพักแล้วเราไปนอน แล้วมันฝัน เวลานั่งมันไม่มา เวลานั่งมันจะปฏิบัติให้มันเป็นจริงเป็นจัง ให้มันเป็นเนื้อหาสาระ นั่งไปแล้วมันทำอะไรไม่ได้ แต่เวลาไปนอนมันฝัน มันได้หมดเลย ไปนอนในฝัน เวลาฝัน ฝันไปได้เลย แล้วเวลานั่งทำไมทำไม่ได้ล่ะ

 

ตรงนี้เราพยายาม เวลานั่ง เราฝืนเอา พยายามทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา ให้เป็นจริงขณะที่เรานั่งปฏิบัติธรรมดา มันก็แก้ไขได้ใช่ไหม เราเจริญปัญญาได้ใช่ไหม ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ เราเจริญได้ เราทำได้ มันเป็นปัจจุบันธรรม มันจะเป็นผลของวิปัสสนา มันเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติ มันจะเป็นผลของอริยทรัพย์ มันเป็นผลของความจริง มันจะสำรอกคายกิเลสออก

 

ฉะนั้น เวลานั่งปฏิบัติมันได้แต่ความสงบ ได้แต่พื้นฐาน แต่เวลาไปนอน เวลามันฝัน มันฝันไปของมันเลย ไปฝันเห็นถึงกะโหลกนะ ผ่ากะโหลก เห็นกะโหลก จนขย้อนออกมา ไอ้นั่นเป็นความฝัน

 

ปฏิบัติมีแนวทางอย่างนั้น แล้วเอาตอนนั่งให้ได้อย่างนั้น เวลาไปพักผ่อน เราก็พักผ่อน พักผ่อนคือพักผ่อนนอนหลับเพื่อให้ร่างกายสดชื่น แล้วไปทำหน้าที่การงานแล้วเรามาปฏิบัติใหม่

 

แต่ถ้ามันเป็นฝันเป็นอย่างนั้นปั๊บ ตรงนั้น ฝันก็คือฝัน เราไปห้ามไม่ได้ แล้วเราจะไปบงการในความฝันนั้นก็ไม่ได้ แต่ความฝันนั้นน่ะมันเป็นการบอกเหตุ มันเป็นแนวทางที่ดี

 

ฉะนั้น “ควรเพิ่ม ควรลดอย่างไร”

 

ควรเพิ่มก็ควรเพิ่มในการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง อย่างปัญหาที่ถามมานี่มันมีแวว มันมีแววคือมันมีความเป็นจริงอยู่ มันไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่อ่านหนังสือแล้วมาถาม หรือว่าไม่ใช่ว่าสงสัย สงสัยถามหลวงพ่อไว้ก่อนเลย แล้วเดี๋ยวหลวงพ่อตอบมา ไม่ต้องไปรื้อค้นที่ไหน

 

แต่นี่ถ้ามันเป็นอย่างนี้ มันมีแววเป็นความเป็นจริง แล้วเวลาเป็นความฝัน ความฝันก็เป็นได้จริงอีกแหละ เออ! แต่ความฝันก็คือความฝันไง ความฝันคือว่าเราบริหารจัดการมันไม่ได้ แต่มันเป็นความฝัน แต่เป็นมงคลชีวิต มันบอกความดีของเราได้

 

ฉะนั้น ควรเพิ่ม เพิ่มในการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เอาปัจจุบัน เอาสิ่งที่แก้ไขที่เป็นปัจจุบันที่เราแก้ไข เราดัดแปลงได้

 

สิ่งที่ลด ลดมันลดไม่ได้ ความฝัน ความฝันก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ความฝันถ้ามันปล่อยไว้อย่างนั้น เขาบอกว่ามันก็มีความสุข มันก็มีความปลื้มใจ มันมีความสุข มันมีความปลื้มใจของมัน

 

อันนี้คำถามแรกนะ เขายังเขียนถามมาซ้ำอีก อันนี้คำถามอันแรก เขียนถามมาซ้ำ

 

ถาม : เรื่อง “เพิ่มเติมความตายและความฝัน”

 

ผมขออนุญาตเพิ่มเติมครับ ผมสังเกตว่าความหดหู่ที่เกิดจากพิจารณาความตายนั้น อาการความหดหู่นั้นเบาบางลงเรื่อยๆ นะครับ จึงกราบเรียนถวายหลวงพ่อเพื่อขอความเมตตาสั่งสอนด้วยครับ

 

ตอบ : ความหดหู่มันเบาบางลงก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เห็นไหม เห็นที่ว่าเวลาวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่มันเกิดปีติ ทีนี้ความหดหู่ ความหดหู่ของเรานะ ถ้าความหดหู่ในการทำ เราให้ชื่อมันว่าธรรมสังเวช ความหดหู่อย่างนี้มันไม่ใช่หดหู่แบบคน โทษนะ อย่างคนตกใจ คนไปเจอสิ่งใด อย่างเช่นเราประกอบธุรกิจ แล้วธุรกิจเราล่มสลาย เราหดหู่ไหม อันนี้เสียใจมากนะ เราประกอบธุรกิจ ธุรกิจเรากำลังเจริญรุ่งเรืองเลย แล้วมันล่มสลายลง โอ้โฮ! โลกนี้แตกสลายหมดเลย โลกของเราแตกสลายไปหมดเลย อันนี้ก็หดหู่ หดหู่อย่างนี้เป็นเรื่องโลกๆ หดหู่อย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ว่าประสบความสำเร็จไม่ประสบความสำเร็จ

 

แต่ขณะที่อาการความหดหู่นั้น อาการหดหู่อย่างนี้มันพิจารณากายไง เราไปเห็นร่างกาย เห็นสมอง เห็นต่างๆ มันกระจายออก แล้วมันมีการหดหู่ มันเกิดเหตุมันแตกต่างกัน เหตุเพราะเกิดจากกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ เกิดจากการพิจารณา เกิดจากจิตที่ทำงานของมัน ผลของธรรม มันเลยเป็นธรรมะและสังเวช

 

พระนะ พระปฏิบัติเวลาจิตดีมาก พิจารณาอสุภะเป็นภายนอก ด้วยการอหังการคิดว่าตัวเองพิจารณาได้อย่างนั้นจริง ก็คิดว่าตัวเองได้อย่างนั้นจริง ก็ถืออาการแบบนั้นไว้ เวลาจิตมันเสื่อม พอจิตมันเสื่อมแล้ว พอไปเจอเหตุการณ์กระทบ มันรักษาใจไม่ได้ มันเสียไปเลยไง

 

มี ในวงการปฏิบัติมี เวลามันพิจารณาของมันไปได้ มันเกิดความอหังการว่ามันจะเป็นอย่างนั้นได้จริง แต่มันเป็นของชั่วคราว มันยังไม่เป็นความจริง เวลาเรายึดมั่นอย่างนั้นแล้ว แล้วอหังการ อหังการคือไม่รักษาใจ แล้วปล่อยใจให้มันกระทบกระเทือนไป เวลาไปเจอสภาพแบบนั้นนะ หลุดไปเลย

 

แต่ถ้ามันมีสติปัญญา เวลามันพิจารณาของมัน มันเข้าใจของมัน มันปล่อยวางของมัน แล้วทำซ้ำๆๆ เข้าไป ซ้ำเข้าไปถึงที่สุดเวลามันขาด เวลามันขาดไปแล้วมันจะไม่มีอาการกระทบอีกแล้ว เพราะมันขาดตามความเป็นจริงไง

 

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันหดหู่ๆ มันเป็นอาการของมันที่มันเป็นไปได้

 

“อาการที่หดหู่นั้นเบาบางลงเรื่อยๆ”

 

เขาจะบอกว่าเขาเคยภาวนาแล้วได้อย่างนี้ เหมือนกับเงินเดือน คราวนี้เงินเดือนได้ ๕,๐๐๐ พอเดือนต่อไปเขาจ่าย ๔,๐๐๐ พอเดือนต่อไปเขาจ่าย ๓,๐๐๐ เอ๊! ทำไมเงินเดือนมันน้อยลง

 

ทั้งๆ ที่ว่าเขาจ่าย ๕,๐๐๐ เงินเดือน กระทบครั้งแรก ธรรมสังเวชครั้งแรกได้ ๕,๐๐๐ พอธรรมสังเวชครั้งที่ ๒ เหลือ ๔,๐๐๐ เพราะอาการซาบซึ้งมันเบาลง พอไปเจออีกทีหนึ่งเหลือ ๒,๐๐๐ พอเดี๋ยวไปเจออีกครั้งเหลือพันเดียว เดือนนี้ให้พันเดียว โอ๋ย! ทำงานทั้งเดือนได้พันนึง ลดเงินเดือนไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะมันชินชา มันเข้าใจของมัน

 

อันนี้ไม่ต้องกังวลไง มันจะหดหู่ มันปีติใช่ไหม แล้วมันจะเกิดสุขข้างหน้า สุข เห็นไหม ที่ว่ามันปล่อยวาง มันเข้าใจของมัน ชีวิตนี้ ชีวิตนี้มันเข้าใจสัจจะของชีวิต มันเข้าใจสิ่งต่างๆ มันดีขึ้น

 

ประสาเรานะ เด็กมันจะโตเป็นผู้ใหญ่ เซลล์ในร่างกายของมนุษย์นี่ ๗ ปี โตขึ้นมา ๗ ปี เซลล์เก่าตายหมด มีแต่เซลล์ใหม่ แล้วเด็กมันโตขึ้นมา นี้จิตใจมันภาวนา จะไม่ให้มันโตหรือ พอมันหดหู่อย่างนั้น มันเศร้าอย่างนั้น มันปีติอย่างนั้นแล้วจะอยู่อย่างนั้นหรือ มันไม่โต

 

มันโต เห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ จิตนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นนะ แล้วจิตเป็นวิปัสสนา เวลามันสำรอกมันคาย เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ มันจะไปอีกไกลเลยล่ะ มันจะดีขึ้นไป มันจะพัฒนาไป

 

ฉะนั้น “อาการที่หดหู่มันเบาลงเรื่อยๆ นะครับ จึงกราบเรียนหลวงพ่อขอความเมตตาสั่งสอนด้วยครับ”

 

ความหดหู่นั้น เราอยู่กับปัจจุบัน ความหดหู่นั้น อาหารได้เคยกิน อาหารได้เคยเป็นแล้ว มันก็เข้าใจแล้ว แล้วมันจะมีละเอียดกว่านี้ มันจะมีละเอียดกว่านี้ เห็นไหม สุขในสมาธิ สุขในวิปัสสนา มันแตกต่างกัน สุขในสมาธิมันมีความสุขของมัน สุขที่มันปล่อยวาง สุขในวิปัสสนา สุขที่ได้ผลตอบแทน สุขที่มันสำรอกคายกิเลสออกไป มันทำได้มากกว่านั้น ถ้าได้มากกว่านั้น มันจะเป็นประโยชน์มากกว่านั้น ถ้ามากกว่านั้น เอาแค่นี้เนาะ เอาแค่นี้

 

สิ่งที่ทำมาถูกต้องแล้ว ทำมานี่ถูกต้องดีงาม เพียงแต่ว่า ถ้าไปถามคนอื่น คนอื่นเขาจะบอกว่าผิดทางนู้น ผิดทางนี้ เพราะอะไร ผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ เพราะถ้าคนที่เคยภาวนามันเคยผ่านเส้นทางสายนี้มา มันจะรู้ว่าเส้นทางสายนี้ปฏิบัติไปแล้ว เดินไปข้างหน้าจะไปเจออะไรบ้าง

 

แต่คนไม่เคยผ่านเส้นทางใดๆ มาทั้งสิ้น แต่คล่องแคล่วในแผนที่ คล่องแคล่วในพระไตรปิฎก มันจะบอกเลยว่า ในแผนที่จะบอกพิกัดไว้เท่านั้น ส่วนสัดเท่านั้น ทุกอย่างเป็นเท่านั้น แล้วเอ็งทำมานี่ไม่ถูกกับพิกัดเลย ไม่ถูกกับส่วนสัดของแผนที่เลย ฉะนั้น เอ็งปฏิบัติผิด

 

ถ้าไปถามพวกที่เป็นทฤษฎีเขาบอกว่า “โอ้โฮ! เอาความฝันมาพูดเพ้อเจ้อกันได้อย่างใด ปฏิบัติไปมันยังไม่มีอะไรเป็นจริงเลย พุทธพจน์ไม่ได้บอกอย่างนี้” เขาจะบอกพิกัดแล้ว ส่วนสัดของแผนที่แล้ว แล้วเราเข้าไปในแผนที่ มันคนละเรื่องกันเลยล่ะ นี่คนเป็นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า คำถามมันส่อแววถึงคนภาวนามีช่องมีทาง มันส่อแววถึงว่าปฏิบัติมันมีเนื้อหาสาระ ถ้าเนื้อหาสาระ พูดให้ฟังเป็นแนวทางแล้วปฏิบัติไป

 

ฉะนั้น ข้อที่ ๒ ก็กังวลถึงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมันเบาบางลง

 

ความที่เบาบางลงคือมันเคยได้สัมผัส มันคุ้นชิน ถ้าคุ้นชิน ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านสอนพระท่านบอกว่า นั่งที่ไหนไม่ให้รากงอก คือไม่ให้คุ้นเคยกับอะไรทั้งสิ้น ให้สดชื่น ให้สดใหม่อยู่ตลอดเวลา การที่สดใหม่อยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติมันจะไม่ได้เสียหายได้ง่าย คนเราที่เสียหายไปเพราะการคุ้นชิน คุ้นเคย คุ้นชิน สนิทชิดเชื้อ แล้วผูกมัดกับสิ่งนั้น มันคุ้นเคยไง

 

คุ้นเคย เห็นไหม ดูสิ เวลาปลูกบ้านที่ไหน ที่ไหนมีโจรชุกชุม เขาต้องจ้างคนเฝ้า เขาต้องติดกล้อง เขาไม่คุ้นชินกับขโมย ขโมยเข้ามามันขโมยหมดทั้งบ้าน ใครจะไปคุ้นชินกับมัน เปิดโล่งเลย เชิญ เชิญเลย

 

อันนี้พอปฏิบัติเป็น ไปคุ้นชินกับมัน นั่นล่ะกิเลส คุ้นชินกับกิเลส ฉะนั้น หลวงตาท่านถึงสอนว่า ไม่ให้คุ้นชินกับสิ่งใด ให้สดใหม่ ให้สดชื่น ติดกล้องวงจรปิดให้ครบ ปิดประตูหน้าต่างให้ดี แล้วรักษาตัวเองดีๆ แล้วปฏิบัติไป ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้ เห็นกิเลสเป็นศัตรู แล้วตั้งใจ ตั้งใจรักษาตัวเอง ไม่ใช่เห็นกิเลสเป็นเพื่อน เห็นกิเลสคุ้นเคยกับมัน แล้วการปฏิบัตินั้นจะยากขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ฉะนั้น เราจะต้องเห็นกิเลสเป็นศัตรู แล้วอย่าไปคุ้นชินกับอะไรทั้งสิ้น ให้คุ้นชินกับธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติบ่อยครั้งเข้า แล้วจะเป็นประโยชน์กับบุคคลผู้ที่ปฏิบัตินั้น เอวัง