ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้ตามฐานะ

๘ ก.พ. ๒๕๕๗

 

รู้ตามฐานะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “ขอกราบเรียนเรื่องได้ยินเสียงพุทโธครับ”

 

กราบนมัสการครับ มีขณะหนึ่ง ผมนั่งสมาธิ ปกติแล้วผมมักนั่งสมาธิในช่วงสั้นๆ ที่จะนั่งสมาธิจริงๆ จังๆ ไม่ค่อยทำ มีอยู่เหตุการณ์ครั้งหนึ่งอยากเข้าสมาธิที่มากกว่าชั่วโมง เมื่อกราบพระจึงอธิษฐานว่า “ขอเข้าสมาธิไม่น้อยกว่าชั่วโมง”

 

ผมก็พุทโธไปเรื่อยๆ จับแต่พุทโธ เวลารู้สึกอะไร ผมปัดออก ผมจับแต่พุทโธอย่างเดียว ขณะนั้นจับได้ว่า เบา นิ่ง สงบ ไม่มีช่วงเวลาสั้นยาว มีแค่นี้ และก็พุทโธ แต่พอมันมีอาการชา อาการปวดตรงขาปรากฏขึ้น ตอนแรกก็ไม่มาก ผมก็พุทโธไปเรื่อย ความปวดมันไปคู่ขนานกัน เหมือนความสงบ พุทโธไปด้วยกัน แต่ความปวดนี้ไม่ใช่พวก มันขนานออกมา ผมไม่ชอบความทุกข์เช่นนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปแล้วเท่าไร แต่เจอปวดแล้วก็พยายามออกจากสมาธิ จึงจะออกสมาธิ คือจะออก แต่เหมือนถูกขังไว้ในภาชนะที่ถูกปิด ถอนออกจากสมาธิไม่ได้ครับ แล้วก็เกิดนิมิต เห็นมือใหญ่ๆ ๒-๓ คน ที่เห็นเข้าใจว่าเทวดา เขากดผมที่นั่งหลับตาจมน้ำ จมลงมหาสมุทร ในนิมิตเห็นตัวเองนั่งสมาธิหลับตา จมลงก้นมหาสมุทร แต่ไม่ตาย

 

พอนิมิตที่เห็นหายไป ผมก็จับมาที่พุทโธ ได้ยินเสียงชัดๆ ตรงที่เราพุทโธ ได้ยินว่า ผ่านปวดนี้ไปได้จะนั่งสบาย วงกรรมฐานจะได้อีกรอบหนึ่ง

 

ได้ยินชัดในพุทโธ ผมก็พุทโธไปด้วย ปวดไปด้วย คู่กันไป จนจับความรู้สึกที่ขาได้ว่ามันเปลี่ยนจากปวดเป็นชายิบๆ แล้วขามันเบา มันเบาจริงๆ ผมก็พุทโธไปความจริง แต่มีเหตุที่ปรากฏในหนหลังอีก แต่ผมสงสัยในหนแรกครับ พอถอนจากสมาธิ นั่งได้ราวชั่วโมงกว่าๆ ครับ จึงขอเรียนถามเพื่อแก้สงสัย

 

เหตุใดจึงถอนสมาธิไม่ได้ เหตุใดในสมาธิเรากะเกณฑ์เวลาไม่ได้ แต่พอถอนจากสมาธิจึงเห็นเวลาปรากฏขึ้นมาครับ

 

เสียงที่ได้ยินในพุทโธเป็นความคิดหรือเปล่า พอทำตามผ่านมาได้ มันเบาจริง แต่ก็แค่ปวดรอบเดียว ผ่านมาได้รอบเดียว ผมก็ถอนสมาธิ

 

วงกรรมฐานที่ได้ยินในพุทโธคืออะไรครับ อะไรคือวงกรรมฐานรอบหนึ่ง

 

เพราะเหตุใดความเจ็บปวดไม่เข้าพวกกับความสงบ รู้สึกมันขนานกันไป

 

นิมิตที่เห็นจะมีเหตุร้ายอันใดไหมครับ

 

ขอกราบเรียนถามคลายสงสัย กราบขอบพระคุณล่วงหน้า

 

ตอบ : เวลาไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่ได้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นไป ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ผล เวลาเราควรปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วไม่มีผล ปฏิบัติไปแล้วคว้าน้ำเหลว มันก็มีแต่ความท้อแท้ มันก็มีความแบบว่าไม่เข้มแข็ง แต่พอปฏิบัติไป ล้มลุกคลุกคลานปฏิบัติไป

 

ในทางโลกปฏิบัติ ฟังเทศน์ๆ ฟังเทศน์เอาบุญ เวลาไปวัดเขาฟังเทศน์ ฟังเทศน์ทำไม ฟังเทศน์เอาบุญ เวลาพระเทศน์เขานั่งสัปหงกกัน นั่งหลับ พอพระเทศน์จบก็สาธุ ได้บุญ ไม่รู้เรื่องอะไร เห็นไหม นี่ฟังเทศน์เอาบุญๆ

 

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อเอาบุญ ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ปฏิบัติแล้วล้มลุกคลุกคลาน ปฏิบัติแล้วไม่ได้สิ่งใด เราก็ปฏิบัติเพื่อเอาบุญ เรารู้ว่าการปฏิบัติบูชา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ เวลาพระองค์จะนิพพาน กษัตริย์ กุฎุมพีต่างๆ เอาดอกไม้บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายมหาศาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน บอกพระอานนท์ สั่งพระอานนท์ไว้ “อานนท์ เธอบอกบริษัท ๔ นะ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย ให้ปฏิบัติบูชา”

 

เราก็ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะการปฏิบัติธรรมทำให้คนเป็นคนดีได้ คนที่มีความลุ่มหลง คนที่มีนิสัยไม่ดี คนที่นิสัยมีแต่ความทุกข์ความยาก ปฏิบัติธรรมไปแล้วกลายเป็นคนดีขึ้นมา ปฏิบัติธรรมไปแล้วจิตใจที่มีความทุกข์ความยากมันละวางได้ จิตใจของคนที่เป็นปุถุชน ปฏิบัติไปแล้วเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาได้ ปฏิบัติไปแล้วพ้นจากทุกข์ได้ ในการปฏิบัติบูชามันจะมีคุณประโยชน์มาก เราก็จะปฏิบัติบูชากัน

 

ทีนี้พอปฏิบัติแล้ว ในการปฏิบัติถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านนะ เพราะไม่มีครูมีอาจารย์ของท่าน ท่านต้องปฏิบัติของท่าน แล้วท่านก็พยายามศึกษาค้นคว้าในทางทฤษฎี ค้นคว้าจากตำรับตำราไง

 

แต่ค้นคว้าจากตำรับตำรา ค้นคว้ามาแล้วไม่มีคนคอยแนะนำสั่งสอน เพราะเราค้นคว้ามาด้วยความรู้ความเห็นของเรา เราค้นคว้ามาด้วยความเข้าใจของเรา เพราะเรามีความสงสัยขนาดไหน เรามีประสบการณ์ขนาดไหน เราค้นคว้ามา เราค้นคว้าโดยการตีความของเรา เราก็เข้าใจเองว่าเราเข้าใจถูก แต่ปฏิบัติไปแล้ว ความเห็นของเรา พอความเห็นขึ้นมา เหมือนกับคนถาม เวลาปฏิบัติแล้วมันจะมีประสบการณ์ มันจะมีความรู้ความเห็นของมัน

 

ความรู้ความเห็น หลวงปู่ดูลย์บอกว่า เห็นจริงไหม จริง เห็นจริงๆ นั่นแหละ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ความเห็นนั้นไม่จริงหรอก เพราะเรายังมีความไม่เข้าใจ เรายังมีความไม่รู้ เรายังมีความสงสัย พอมันรู้มันเห็นขึ้นมาก็รู้ด้วยความสงสัย รู้ด้วยความไม่เข้าใจ รู้ต่างๆ มันก็ยิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่

 

ฉะนั้น ไม่มีครูบาอาจารย์ การปฏิบัติไม่มีครูบาอาจารย์นี่แสนทุกข์แสนยาก หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่มีครูบาอาจารย์มาก่อน แต่ท่านก็พยายามปฏิบัติค้นคว้าของท่านมาถึงที่สุด ท่านพยายามประคองจิตใจของท่าน แล้วท่านปฏิบัติไป ท่านก็พิสูจน์ของท่านไป พยายามถนอมรักษาใจของเรา ถ้ามันออกนอกลู่นอกทางก็ยับยั้งไว้ก่อน แล้วก็หาเหตุหาผล พยายามใช้ปัญญาใคร่ครวญจนผ่านไปทีละเปลาะๆ กว่าท่านจะผ่านของท่านไปได้เป็นชั้นเป็นตอน แสนทุกข์แสนยาก

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีครูบาอาจารย์เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เพราะสัจธรรมยังไม่มี แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติ กึ่งพุทธกาล ธรรมะมีอยู่แล้ว พระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวัดเลย ทุกวัดมีตู้พระไตรปิฎกเก็บไว้ ใส่กุญแจไว้ ขังมันไว้ ไม่มีใครค้นคว้ามันเลย

 

แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่าน พระไตรปิฎกก็มี ครูบาอาจารย์ก็ไม่มีใครสั่งสอน ท่านก็ค้นคว้าเอาจากตู้พระไตรปิฎก ค้นคว้ามาแล้วค้นคว้ามาจากความเข้าใจของตัว ปฏิบัติไปเห็นจริงไหม จริง เห็นจริงๆ เห็นแล้วไปถามหลวงปู่เสาร์ว่าจิตของผมเป็นอย่างนี้ๆ

 

หลวงปู่เสาร์บอกว่า ท่านปัญญามาก ผมแก้ท่านไม่ได้หรอก ท่านต้องใช้ปัญญาของท่านเอง

 

หลวงปู่มั่นท่านก็ต้องดูแลใจของท่าน ทฤษฎีทางตำราก็ว่าไว้อย่างนั้น ความเห็นก็เป็นอย่างนี้ แล้วก็มาเทียบเคียงเอา ใช้สติปัญญารักษาเอา

 

เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะนิพพานนะ หลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติอยู่ ท่านสั่ง หลวงตาท่านขึ้นไปถามปัญหามาก เพราะตอนหลวงปู่มั่นท่านเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงปู่มั่นท่านเพียบในทางธาตุขันธ์ หลวงตาท่านบอกว่าท่านเพียบในทางหัวใจ เพราะหัวใจท่านกำลังค้นคว้า หัวใจท่านใช้ปัญญามาก

 

แล้วหลวงปู่มั่นท่านเป็นคนสั่งสอนเอง หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนที่ค้นคว้าเอง หลวงปู่มั่นท่านมีประสบการณ์ของท่านมา ท่านทุกข์ยากมาขนาดไหน แล้วพอเวลาหลวงตาขึ้นไปถามปัญหา ท่านเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ ท่านรู้เลยว่าหลวงตาท่านอยู่ระดับไหน

 

หลวงปู่มั่นท่านเพียบทางธาตุขันธ์ หลวงตาท่านเพียบทางหัวใจ หัวใจที่มันกำลังค้นคว้า หัวใจที่มันกำลังหมุนติ้วๆ ที่ปัญญามันหมุนอยู่นี้ มันต้องมีครูบาอาจารย์ขนาดไหน ท่านถึงเป็นห่วง เป็นอาลัยอาวรณ์ต่อกัน เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านต้องนิพพานไป หลวงตาท่านก็ต้องพยายามค้นคว้าหัวใจของท่านไป

 

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเพียบของท่าน ท่านถึงได้สั่งหลวงตาไว้ว่า “เวลาปฏิบัตินะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ”

 

ผู้รู้คือหัวใจของเรา หัวใจของเราจะไปรู้เห็นสิ่งใด ความเห็นนั้นจริงไหม จริง ความเห็นนั้นจริงๆ เห็นจริงๆ ที่เรารู้เห็น เห็นจริงไหม เห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง เห็นไหม เวลาหัวใจมันเพียบขึ้นมา มันรู้มันเห็นของมัน มันพิจารณาของมันไป เพราะหลวงปู่มั่นท่านผ่านของท่านมาก่อน ท่านรู้ว่าเวลามันไปรู้ไปเห็นมันรู้มันเห็นอย่างไร แล้วรู้เห็น เพราะท่านผ่านมา คือว่าท่านรู้ถูกรู้ผิดมาท่านถึงผ่านมาได้ ถ้าคนไม่ผ่านความผิดความถูกมา ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกหรือผิดเป็นอย่างไร ท่านผ่านของท่านมา คนที่ผ่านมามันแสนทุกข์แสนยากขนาดไหน

 

ฉะนั้น หลวงตาท่านเพียบในหัวใจ ท่านถึงได้สั่งไว้ว่า “ถ้าปฏิบัติไปนะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งหัวใจ อย่าทิ้งผู้ที่ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ อย่าทิ้งมัน”

 

ถ้าเราไปรับรู้สิ่งต่างๆ เรารู้อะไรเสร็จเราก็ไปอยู่ที่ความรู้นั้น ไปรู้ความเห็น เห็นมหัศจรรย์ ไปอยู่ที่ความมหัศจรรย์ ทิ้งตัวเองไปไง แล้วมันก็จะเหลวไหลไปทั่ว

 

“อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” นี่ท่านสั่งไว้

 

หลวงตาท่านถึงบอกว่า เวลาปฏิบัติไป เพราะหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไปแล้ว หลวงตาท่านไปเห็นจุดและต่อม ท่านบอกว่า ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ ท่านจะไม่เสียเวลาอีก ๘ เดือน ท่านจะผ่านไปเลย ถ้าไปถามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นต้องชี้กลับมาเลยว่าไอ้ตรงนั้นน่ะ

 

แต่เวลาท่านไปรู้ไปเห็นของท่าน หลวงปู่มั่นก็นิพพานไปแล้ว แล้วนี่มันคืออะไรล่ะ ท่านบอกว่าขนาดธรรมะมาเตือน ธรรมะมาบอกนะ แสงสว่าง ความมหัศจรรย์ของใจทั้งหมดมันเกิดจากจุดและต่อม มันเกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ เกิดจากผู้รู้ แล้วถ้าเกิดจากผู้รู้ แล้วผู้รู้เป็นอย่างไรล่ะ ก็ยังค้นคว้า เห็นไหม

 

หลวงปู่มั่นท่านค้นคว้าของท่านเอง เพราะท่านค้นคว้าทางตำรับตำรามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีตำรับตำรา ไม่มีทฤษฎี ไม่มีธรรมะ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ หลวงปู่มั่นท่านค้นคว้ามาจากทฤษฎี มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสร้างบุญกุศลของท่านมา ท่านค้นคว้าจนผ่านของท่านไป

 

หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านนิพพานไปแล้ว หลวงตาท่านค้นคว้าของท่าน ท่านพยายามหาของท่าน ท่านค้นคว้าของท่าน หลวงปู่มั่นท่านนิพพานไปแล้ว ดูแลรักษาอย่างไร จนสุดท้ายมันก็ย้อนกลับมาจุดและต่อม ย้อนกลับมาภวาสวะ ย้อนกลับมาทำลายภพ ทำลายที่นั่น ทำลายแล้วมันก็จบไป

 

นี่พูดถึงว่า ความเห็น เห็นจริงไหม เห็นจริงๆ รู้เห็นจริงๆ นั่นน่ะ แต่ไม่จริงสักอย่าง แล้วไม่จริงอย่างไรล่ะ ทำไมถึงจริง ทำไมถึงไม่จริง มันจริงอย่างไร มันไม่จริงอย่างไร มันต้องมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามีเหตุมีผลของมัน นี่ไง ที่ว่า “เธอจงปฏิบัติบูชาเถิด” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอบอกเขานะ พวกอามิสบูชา ใครก็ทำได้ ให้ปฏิบัติบูชาเถิด”

 

เพราะการปฏิบัติบูชา เห็นจริงไหม จริง ให้รู้ให้เห็น มันจะหลงผิด มันจะไม่เข้าใจ ก็ให้มันเห็นเถอะ แล้วถ้ามันเห็นแล้ว ถ้ามันแก้ได้ไม่ได้ ถ้ามันแก้ได้มันก็พ้นไป ถ้าแก้ไม่ได้มันก็ติดอยู่นั่น มันก็ยังดี ได้ประพฤติปฏิบัติ นั่นไง ท่านถึงบอกให้ปฏิบัติบูชาเถิด

 

ฉะนั้น เราถึงว่า ชาวพุทธเราถึงได้ปฏิบัติบูชากัน เราถึงปฏิบัติบูชา ทีนี้พอปฏิบัติบูชาลุ่มๆ ดอนๆ ปฏิบัติบูชาแล้วก็ไม่ได้ผล มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ทีนี้ปฏิบัติบูชา ถ้ามีผล เพราะมีผลอย่างนี้เราถึงเทียบได้ เราไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์พูดอย่างไรเราก็เชื่อเนาะ โอ้! อาจารย์องค์นี้ดังน่าดูเลย พอพูดอะไร ใหม่ๆ มันก็น่าเชื่อถือ แต่ความจริงไม่ใช่อะไรเลย ไม่มีความจริงข้อเท็จจริงเลย

 

แต่ถ้าของเรานะ เราปฏิบัติของเรา จิตเป็นสมาธิ จิตเกิดปัญญา เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดมา เราเทียบได้เลยว่า เออ! จริงหรือเปล่า เออ! ก็เราเห็นมา เราก็เห็นน่ะ แบงก์บาทกับแบงก์บาทมาเทียบกัน ของใครของจริงของเทียม

 

ไอ้เราไม่มีแบงก์บาทเลยเนาะ ใครควักมา ไอ้แบงก์กาโม่ แบงก์กงเต๊ก เออ! นั่นก็แบงก์เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าแบงก์ใครถูกใครผิด แต่ถ้าควักมา เขาแบงก์กาโม่ แบงก์การ์ตูน แบงก์เด็กเล่น กับแบงก์กงเต๊ก เราควักแบงก์บาทมา เออ! แบงก์บาทเราถูกเว้ย ถ้าเขาควักแบงก์บาทมาปั๊บ เราก็ควักแบงก์บาทของเรา เออ! แบงก์บาทเหมือนกันเว้ย นี่ไง เปรียบเทียบไง ถ้าเราปฏิบัติบูชา เราจะมีตรงนี้ไง เรามีสมาธิ เรามีปัญญา

 

ไอ้พระที่ดังขนาดไหน คนไปหามากมายขนาดไหน ถ้าเขาควักออกมาเป็นแบงก์กาโม่อย่างนี้มันก็ไม่ใช่ ถ้าเขาพูดออกมา สมาธิพูดไม่ถูก มันจะถูกได้อย่างไร ไม่รู้จักสมาธิ พูดสมาธิได้อย่างไร ไม่รู้จักภาวนามยปัญญา จะพูดอะไร สัญญาทั้งนั้น คอมพิวเตอร์ดีกว่ามึงอีก กรอกคอมพิวเตอร์มันออกหมด พระไตรปิฎกไปกดสิ มันไหลออกมาเลย ดีกว่ามึงอีก

 

ถ้าเราทำของเรา มันจะได้จริงของเรา นี่ปฏิบัติบูชา เราปฏิบัติบูชามันจะได้จริงขึ้นมา ถ้าปฏิบัติไม่ได้จริง เราก็ไม่ได้สิ่งใดเลย เห็นไหม ถ้าปฏิบัติเข้าไปแล้วไปรู้ไปเห็น เราก็เอาความรู้ความเห็นมาเทียบเคียง คนเราปฏิบัติก็ต้องเป็นอย่างนี้ คนจะทำไร่ไถนา ถ้าไม่เคยถากหญ้าเลย ไม่เคยไถหว่านไถคราดเลย มันจะปลูกข้าวได้อย่างไร ในนาก็มีแต่หญ้าทั้งนั้นน่ะ หว่านข้าวลงไปมันก็ไม่ขึ้นหรอก

 

เออ! ถ้ามันได้ไถคราด ได้ไถหว่าน ถ้ามันได้ไถของมันนะ ได้ไถแล้วมันทำขึ้นมา เราหว่านข้าวมันก็จะขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติแล้วมีเหตุมีผลขึ้นมามันก็เป็นจริงขึ้นมา

 

ถ้าไม่มีเหตุมีผลเลย “โอ้! อาจารย์องค์นี้ดังมาก อู๋ย! คนไปหาเยอะมากเลย” ควักออกมาแบงก์กงเต๊กทั้งนั้นน่ะ ไม่มีความจริงสักนิดหนึ่ง

 

แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราจะมีเหตุมีผล ควักมาจะมีเหรียญบาท แบงก์บาท เอามาเถอะ มันมีค่า ถ้ามีค่ามันก็เป็นความจริง นี่ปฏิบัติบูชาอย่างนี้ แล้วเวลาเราไปหาครูบาอาจารย์ เอาประสบการณ์ของเรา เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นจริงหรือยัง ถ้าความเห็นไม่จริง เราก็มาเคลียร์กัน เห็นไหม ครูบาอาจารย์แก้จิต เขาแก้กันอย่างนี้ แก้จิตเพื่อประโยชน์ไง

 

ทีนี้ย้อนกลับมาที่คำถาม คำถามถามมายาวเหยียดเลย ฉะนั้น สิ่งที่ถามมาเป็นคำถาม ตอบทีละคำถาม คำถามว่า “เหตุใดจึงถอนจากสมาธิไม่ได้”

 

ถอนจากสมาธิ ทำไมจะถอนไม่ได้ สมาธิเวลาเข้า เข้าอย่างใด ถ้าเข้าสมาธิ เวลาพุทโธๆ จิตมันสงบลง หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันก็เข้าสมาธิโดยสติปัญญา มันก็เข้าโดยสัจจะความจริง

 

ถ้าเข้าแล้วคนทำไม่เป็น ดูสิ เราก่อกองทราย เวลาเราก่อกองทราย เราขนทรายมากองไว้ เราขนมาได้เลย เวลาคลื่นมันซัดมา ทรายมันหายไปหมด มันเป็นอย่างไร

 

นี่ก็เหมือนกัน เราทำสมาธิ เวลาเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา เออ! เป็นสมาธิ แล้วมันเสื่อมไปเป็นอย่างไร เวลาเป็นสมาธิ ทำเกือบตาย เวลาเสื่อมมันเสื่อมหายไปหมดเลย อ้าว! แล้วสมาธิเป็นอย่างไรล่ะ

 

เวลาก่อกองทรายขึ้นมา ก่อขึ้นมาได้ เวลาคลื่นมันพัดกองทรายหายไป เอ๊ะ! มันหายไปได้อย่างไร งงนะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำสมาธิทำขึ้นมาเกือบตาย เวลาเสื่อม เสื่อมไม่รู้ ถ้าเสื่อมไม่รู้ มันจะถอนอย่างไรล่ะ มันจะเป็นอย่างไร

 

แล้วถ้ามันมีความชำนาญ เราก่อกองทรายขึ้นมา เวลาเราทำเสร็จแล้วเราจะรื้อกองทรายทิ้ง เราก็เกลี่ยกองทรายออก อ้าว! เราเป็นคนก่อขึ้นมาเอง แล้วเราก็เกลี่ยมันเอง เราก็ทำให้มันกลับไปสู่สภาพเดิมเอง แล้วเราเห็นว่า เออ! เราก็ทำได้ เราก็ก่อกองทรายขึ้นมาใหม่ แล้วเราก็ทำกองทรายกลับให้เป็นสภาพเดิมอีก เราก็ก่อกองทรายขึ้นมาใหม่ แล้วเราก็ทำกองทรายขึ้นมาสภาพเดิมอีก เห็นไหม ชำนาญในวสีไง เข้าสมาธิก็ได้ ออกสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิอีกก็ได้ ออกสมาธิอีกก็ได้ เข้าสมาธิอีกก็ได้ ออกสมาธิอีกก็ได้ เพราะมีความชำนาญอย่างนี้ ต้องมีความชำนาญอย่างนี้ สมาธิมันก็อยู่กับเรา

 

ไอ้นี่สมาธินะ ก่อกองทราย ไม่ได้ก่อกองทราย เดินไปแถวชายทะเล เห็นปูมันขนมาไง เห็นปูเสฉวนมันทำเป็นกองของมัน โอ๋ย! นี่เจดีย์ ไม่รู้เรื่อง ไอ้นั่นมันสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มันอยู่ของมันก็ธรรมชาติของมัน

 

นี่ก็เหมือนกัน อยู่ดีๆ เดี๋ยวใจมันก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวใจมันก็ปล่อยวาง อ๋อ! อย่างนี้เป็นสมาธิ โอ๋ย! อย่างนี้...มันบ้า มันไม่จริงหรอก แต่ถ้ามันจริงนะ มันจริงมันต้องเป็นจริงของมัน

 

เวลาเข้าสมาธิก็เข้าสมาธิได้ เวลาออกจากสมาธิก็ออกเป็น แต่เริ่มต้นเป็นแบบนี้ เริ่มต้น เห็นไหม เราทำไมถอนออกจากสมาธิไม่ได้

 

ถอนไม่ได้เพราะเวลาเข้าสมาธิ เราเข้าของเรา แต่ยังไม่มีความชำนาญ พอไม่มีความชำนาญ จะออก ออกไม่เป็น

 

ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำความสงบของใจด้วยความมั่นคงนะ เพราะคนที่ทำความสงบของใจ เริ่มต้นคนหัดทำใหม่ๆ คนเรานะ ใครทำธุรกิจประสบความสำเร็จแล้ว เขาบอกทำธุรกิจของเขา เขาทำได้ง่าย เพราะเขาทำแล้วเขาประสบความสำเร็จ ไอ้พวกเราอยากมีธุรกิจ ทำสิ่งใดก็ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จสักที ทำอย่างไรก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอด ฉะนั้น คนที่เขาทำธุรกิจประสบความสำเร็จแล้วเขาจะมีเมตตา เขาจะส่งประสบการณ์ให้ เขาจะสั่งสอน เขาถึงบอก

 

ครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านจะสอนว่า การทำสมาธิ ถ้าจิตมันสงบแล้วอย่าไปกวนมัน อย่าไปขืนมัน อย่าไปออกพรวดพราด

 

เวลาเข้าสมาธิมันแสนทุกข์แสนยาก เกือบเป็นเกือบตาย แล้วถ้าเข้าไปแล้วถ้ามันสงบ ให้อยู่อย่างนั้น ให้มีสติอยู่กับสมาธิอย่างนั้น แล้วถ้ามันจะคลายตัวให้มันคลายตัวของมันออกมา มีสติพร้อมออกมา แล้วคราวต่อไปเข้าสมาธิจะเข้าได้ง่าย

 

ถ้าเข้าถึงสมาธิ เราเข้าไปถึง เห็นไหม เราจะทำธุรกิจ มีคนมาซื้อของมากมายเลย ไล่มันไปเลย บอกกูไม่ขาย นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบขึ้นมา เวลาอยากออกสมาธิก็พรวดพราดออกเลย พอไล่เขากลับแล้ว เขามาซื้อของ เขาจะมาซื้อสินค้าเรา เราบอกไม่ขาย ไล่มันไป แล้วพอทำสินค้าแล้วจะขายให้ใครล่ะ ก็ไล่เขาไปแล้วจะขายใคร นี่ก็เหมือนกัน พอเข้าสมาธิปั๊บ ออกพรวดพราดเลย แล้วต่อไปจะเข้าก็เข้ายากแล้ว ไล่เขาไปหมดแล้ว ประสบการณ์มันไม่มีไง

 

ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำของท่านเป็นนะ ทำสมาธิ เราพยายามฝึกฝนของเรา พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป ถ้ามันสงบแล้วให้มีสติพร้อม แล้วถ้ามันคลายตัวออกมา ปล่อยให้มันคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมาแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ มันก็มีความสุข มีความสบายของมันอยู่พักหนึ่ง เพราะจิตเข้าสมาธิแล้วออกมามันจะมีรากฐานของมัน มันจะมีแต่ความอิ่มอกอิ่มใจอยู่พักหนึ่ง พักเดียว เดี๋ยวมันก็ไปกินเหยื่อเหมือนเดิม พอกินเหยื่อ มันทุกข์อีกแล้ว

 

เข้าสมาธิ เข้าอย่างไร

 

นี่ไง เขาบอกเวลาเข้าสมาธิแล้วทำไมถึงออกจากสมาธิไม่ได้

 

มันไปคาอยู่ไง บางทีสมาธิ เวลาเราทำสมาธิ เวลาจิตเราสงบเข้าไปแล้ว แล้วพอไปว่างๆ อยู่ มันแบบว่ามันขาดสติใช่ไหม มันว่างๆ แล้วจะออกอย่างไร ออกไม่ได้

 

ทำไมจะออกไม่ได้ ตั้งสติออกมามันก็ออกแล้วแหละ คนที่มันเข้าก็ได้ ออกก็ได้ ได้ทั้งนั้นน่ะ แต่คนทำใหม่ๆ เป็นอย่างนี้แหละ เข้าก็เข้ายาก เข้าไปแล้วก็ไปคาอยู่ ติดหุ้นไง ติดบนยอดต้นตาลเลย ลงไม่ได้ ติดหุ้น ขายก็ไม่กล้าขาย มันขาดทุน แล้วก็ไม่ยอมขาย นี่ติดหุ้น

 

“เข้าไปสมาธิแล้วก็ว่างๆ ออกไม่ได้ๆ”

 

ก็ขายทิ้งสิ ติดก็ขายขาดทุน ไม่เป็นไรหรอก ขายเลย ขายแล้วเอาเงินสดซะ นี่ก็เหมือนกัน ออกก็ตั้งสติ ออกมาก็ออก แต่เพราะคนทำไม่เป็นหรือคนยังไม่มั่นใจ “เข้าสมาธิแล้วออกไม่ได้ ช่วยออกที”

 

ก็เอ็งพูดอยู่นั่นก็ออกมาแล้วแหละ ที่เอ็งบอกว่าอยากออก มันออกมาแล้ว เพราะจิตมันคิดมันก็ออกแล้วแหละ แต่เรายังคิดว่าเราอยู่ในสมาธิอยู่ ฉะนั้น ตรงนี้มันเป็นอุปาทาน มันเป็นความเข้าใจผิดของเราเอง ความจริงเข้าได้ ออกได้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่มันยังไม่ชำนาญในวสี

 

ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าให้ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออก ถ้าชำนาญในการเข้าและการออก เราจะรักษาจิตเราได้ ถ้าเราเข้าก็เข้าได้เป็น ออกก็ออกเป็น พอเราเข้าสมาธิได้ใช่ไหม เราเข้าได้ ออกได้ เดี๋ยวเราก็ใช้ปัญญาได้

 

อันนี้เข้าสมาธิก็ยังครึ่งๆ กลางๆ เข้าได้ ออกไม่ได้ เข้าบ้าง ไม่เข้าบ้าง แล้วจะใช้ปัญญาอย่างไรล่ะ ในเมื่อเรายังไม่มีเงิน เราไม่มีเงินทุน เราจะไปทำสินค้าอะไร เราจะไปซื้ออะไร แต่ถ้าเราจะไปซื้อสิ่งใด เราต้องมีเงินทุนของเราพอ เราจะซื้อสิ่งใด จำนวนเงินเราพอ เราจะซื้อสิ่งใดก็ได้

 

จิตของเราทำความสงบของใจเข้ามาให้มันมั่นคงของมัน แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา มันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง นี่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าเห็นตามความเป็นจริงแล้วมันแยกแยะของมันโดยใช้ปัญญาของเรา มันก็เป็นวิปัสสนา

 

วิปัสสนา คนทำเป็น เห็นไหม หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำของท่านมา กว่าจะทำได้ กว่าจะฝึกหัดได้ ฝึกหัดได้แล้ว พอฝึกหัดเป็นแล้ว พอเทียบจิตใจแล้ว ที่หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น บอก “มหา มหาเรียนถึงเป็นมหานะ...” เรียนถึงเป็นมหามันต้องแปลบาลีได้เก่งมาก “...สิ่งที่เรียนมาสุดยอด เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าเพิ่งเอามาคิด แล้วให้ปฏิบัติไป”

 

ถ้าปฏิบัติพร้อมกันไป มันจะเตะมันจะถีบ คือมันจะเทียบเคียงเอา มันจะสร้างภาพ อย่าเพิ่งมาใช้มัน เอาความรู้ความเห็นใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ แล้วปฏิบัติไป ถ้าปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว ถ้ารู้จริงแล้ว มันจะเป็นอันเดียวกันเลย คือมันจะจูนกัน เหมือนกันเลย

 

คือธรรมะของพระพุทธเจ้าอันนี้จริง ที่ศึกษามาเป็นมหานี่จริง จริงตามการศึกษา จริงตามทฤษฎี แต่เรายังปฏิบัติไม่ได้ เราเอาทฤษฎีมาอ้างมาอิง มันก็เป็นการเตะการถีบ คือสร้างภาพ แต่ถ้าเราลั่นกุญแจไว้ก่อน ทฤษฎีเราเก็บไว้ ไม่เอา เก็บไว้เลย ศึกษามาแล้วก็ไม่เอา แล้วปฏิบัติของเราให้จริง พอความจริงเราเป็นความจริง มันอันเดียวกัน

 

นี่เหมือนกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา ท่านปฏิบัติไป ท่านศึกษาของท่านมา เวลาท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ อันเดียวกันเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้ากับที่เราปฏิบัติมาอันเดียวกันเลย

 

แต่นี้ของเราเวลาปฏิบัติบูชาก็ปฏิบัติบูชาโดยล้มลุกคลุกคลาน ปฏิบัติบูชา พอได้เห็นร่องเห็นรอยขึ้นมา เข้าสมาธิแล้วมันถอนไม่ได้ มันถอนไม่ได้ มันถอนไม่ออก สมาธิมันเข้าแล้วมันออกไม่ได้

 

ทำไมมันจะไม่ได้ เดี๋ยวก็ได้ ฝึกไปเถอะ ทำได้

 

เขาถามว่า “๑. เหตุใดถึงถอนจากสมาธิไม่ได้”

 

ถ้าเข้าสมาธิจริงนะ ใครมีสตางค์ก็ไปเข้าธนาคาร ถ้าเงินนี้บริสุทธิ์นะ เงินนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ธนาคารจะรีบรับฝากเลย ธนาคารเขาจะหาลูกค้า เพราะเขาต้องเอาเงินของเราไปเป็นสินค้าของเขา เพราะเขาใช้เงินเพื่อเป็นทุนเป็นธุรกิจของเขา เขาค้าเงินกัน

 

แต่ถ้าสมมุติเรานะ เราไปธนาคารใช่ไหม เอาแบงก์กงเต๊กไป เอาแบงก์กาโม่ไปธนาคาร เขาไม่รับฝาก ไปฝากธนาคาร ธนาคารเขาไล่มาเลย เอาแบงก์ปลอมไปธนาคาร เขาไม่รับหรอก

 

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเข้าสมาธิ สมาธิจริงหรือเปล่า ถ้าสมาธิจริง ธนาคารมันรับฝากอยู่แล้ว รับฝากแล้วให้ดอกเบี้ยด้วย แล้วจะถอนเมื่อไหร่ก็ถอนได้ด้วย เพราะเงินของเรา

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเข้าสมาธิชำนาญแล้ว สบายมาก มาเถอะ ธนาคารหาลูกค้าอยู่แล้ว มาเลยๆ ให้ดอกเบี้ยด้วย แล้วจะถอนก็ได้ด้วย สมาธิเข้าได้ ออกได้โดยสัจจะ โดยความจริงของมัน

 

แต่เขาบอกว่าเราเข้าสมาธิแล้วมันออกไม่ได้ นี้คำถามว่าเวลาเข้าสมาธิแล้วมันออกไม่ได้ นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ

 

ออกได้

 

“๒. ในสมาธิกะเกณฑ์เวลาไม่ได้ แต่พอถอนจากสมาธิจึงเห็นเวลาปรากฏขึ้นมา”

 

ในสมาธินะ เราเข้าสมาธิ สมาธิคือสมาธิ ดูสิ เขาเข้าฌานสมาบัติ ๗ วัน ๗ คืน นั่งเฉยเลย เวลาเข้าอัปปนาสมาธิเข้าไป ๓-๔ ชั่วโมง เข้าไปทีหนึ่ง ๘ ชั่วโมง เข้าไปแล้วแต่ บางทีเข้าไป ๑๐ นาที สมาธิก็ส่วนสมาธิ ใครเข้าได้มากได้น้อยขนาดไหน นี่เข้าสมาธิ

 

แล้วในเวลา เวลาของการเข้าสมาธินะ สมาธิคือสมาธิ แต่เวลาเขาเข้าสมาบัติ จะเข้าสมาบัติ ๗ วัน พระปัจเจกพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลเข้าสมาบัติอยู่ อยู่ในกองฟาง ในสมัยพุทธกาล เข้าไปอยู่ในกองฟางนั้น พวกนางสนมนั้นเขาไปอาบน้ำกัน พออาบน้ำเสร็จขึ้นมาเขาหนาว เขาก็จุดกองฟางนั้น เผากองฟางนั้นเพื่อความอบอุ่นไง

 

พอเผาไป พอไฟไหม้กองฟาง ไปเจอพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งอยู่ ตกใจ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของกษัตริย์ เราเป็นนางสนมไง ก็จะทำลายหลักฐาน ก็ไปหาฟืน เอาฟืนมากองๆ คือจะทำลายหลักฐาน เผาเท่าไรก็ไม่ไหม้ จนจบไป สุดท้ายไม่ไหม้ก็กลับ ฉะนั้น ถึงเวลาครบ ๗ วัน ก็ออกจากสมาบัติมาก็ปกติ ออกมาก็ออกมาปกติ ไม่เป็นไรเลย นี่เวลาเข้าฌานสมาบัติ เรื่องนี้เรื่องจริง แต่เราทำได้จริงหรือไม่จริง

 

ตอนนี้มีฌานสมาบัติแบบว่าแบงก์กงเต๊กเยอะมาก หลอกกินกันแถวภาคเหนือ ขึ้นคัทเอาท์นะ จะเข้าฌานสมาบัตินะ จะเข้า โอ๋ย!

 

เข้าฌานสมาบัติ ทำไมต้องขึ้นคัทเอาท์ด้วยวะ เข้าฌานสมาบัติ ทำไมต้องหลอกเอาสตางค์เขาด้วย ฌานสมาบัติมันมีค่าน้อยกว่าสตางค์เนาะ

 

ฉะนั้น สิ่งที่เขาไปเผาอย่างนั้นปั๊บ สุดท้ายแล้วเวรกรรมมันถึงมี นี่พูดถึงเวลาว่าเข้าฌานสมาบัติ ๗ วัน พูดถึงคำว่า “๗ วัน”

 

บอกว่า ในฌานสมาบัติกะเวลาไม่ได้

 

มันต้องอยู่ที่ความชำนาญ ผู้ที่เขามีความชำนาญของเขา ๗ วัน เข้ากี่ชั่วโมงเขาเข้าได้ กำหนดได้ เขาทำได้ รู้ แต่เวลาเราเข้า ผู้ที่ไม่มีความชำนาญ เข้าไปแล้ว สมาธิก็คือสมาธิ เข้าไปได้มากได้น้อยขนาดไหนอยู่ที่เราตั้งสัจจะ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านถือเนสัชชิกอย่างนี้ ๓ เดือน ปีหนึ่ง เขาตั้งของเขาได้ เวลาเขาทำความสงบของใจจะอยู่ขนาดไหน เพราะในหมู่กรรมฐาน เวลาปฏิบัติจริงจังขึ้นมา เขาทำของเขาจริงจัง แล้วพระที่อยู่ด้วยกันเขาจะส่งเสริมกัน เขาจะช่วยกัน

 

ทีนี้ของเรามันไม่รู้เรื่องไง บอกปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาเพื่ออะไรล่ะ ฉะนั้นว่า “เหตุใดในสมาธิถึงกะเกณฑ์เวลาไม่ได้ แต่ถอนสมาธิไปแล้วจึงเห็นเวลาปรากฏขึ้นมา”

 

ก็เห็นเวลาปรากฏขึ้นมามันเรื่องโลกๆ เราไปติดกันเรื่องวิทยาศาสตร์ไง เวลาก็เข็มนาฬิกานี่แหละ อ้าว! นั่งนะ จะเข้าครึ่งชั่วโมง พอครึ่งชั่วโมง หลับตาก็ไม่เห็นครึ่งชั่วโมง ออกมา อ๋อ! ๑๐ นาที ยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ขาดไป ๒๐ นาที นี่ออกมาก็เห็นไง ก็เห็นด้วยตา

 

เราจะบอกว่า ถ้าเราเป็นคนรุ่นใหม่ เรายึดมั่นถือมั่นโดยวิทยาศาสตร์ โดยข้อเท็จจริง เวลาก็คือเข็มนาฬิกา ฉะนั้น เข็มนาฬิกา มันจะเห็นได้ก็ด้วยแก้วตา ด้วยดวงตา อายตนะกระทบ แต่หลับตาแล้วมันไม่รู้ไม่เห็น แต่ความจริงอันนั้นมันก็เป็นเวลาเหมือนกัน

 

ฉะนั้น เวลาเหมือนกัน สิ่งอันนั้นมันมีของมัน ฉะนั้น เราจะเอาสิ่งที่ละเอียด คือความรู้จากภายใน ความรู้จากความรู้สึก มาเทียบกับความรู้จากสายตา เห็นไหม หยาบ ละเอียด อู้ฮู! มันยังอีกเยอะนะ

 

เรื่องข้างนอก เรื่องข้างใน เห็นไหม เวลาปล่อย ปล่อยวางจากข้างนอก แต่ข้างในไม่ปล่อย ทุกอย่างให้อภัยหมดเลย แต่นั่งแค้นเขาอยู่นี่ ให้อภัยนะ ให้อภัยนะ แต่เดี๋ยวกูจะไปล่อมึงอยู่นี่ ยังแค้นอยู่นี่ คือปล่อยวางข้างนอกได้ แต่ข้างในมันไม่ปล่อยไง ข้างในมันยังเจ็บแค้นอยู่ไง นี่ก็เหมือนกัน “ทำไมเรากะเกณฑ์เวลาในสมาธิไม่ได้ เวลาถอนออกมาแล้วทำไมเราเห็นได้”

 

ข้างนอกกับข้างใน แล้วทำไมต้องไปผูกกันไว้ล่ะ ทำไมไปเอาเรื่องความรู้สึกภายในกับความรู้สึกภายนอกมาผูกกันไว้ เห็นไหม คนยังภาวนาหยาบๆ จะเป็นอย่างนี้ ถ้าคนภาวนาละเอียดขึ้นไปจะรู้ว่า เรื่องภายนอกเราก็รับรู้ได้ เราก็ปล่อยวางได้ แต่เรื่องภายในของเรา เราจะละเอียดเข้ามารู้เรื่องภายใน ถ้าเรื่องภายใน

 

อันนี้มันจะยึดไว้น่ะ หลับตาแล้วก็วินาทีเข็มกระดิกจะรู้หมด อู๋ย! นี่ ๔ ชั่วโมงแล้ว อย่างนี้มันไม่เป็นสมาธิหรอก เพราะอะไร เพราะภายในมันไปเกาะเกี่ยวภายนอกไง กลัวเดี๋ยวไม่รู้ว่านั่งแล้วได้กี่ชั่วโมง ออกไปจะโม้ไม่ได้ไง พอนั่งเสร็จแล้วจะไปโม้กับเขาไม่ได้ “เฮ้ย! กูนั่งเวลา ๒ ชั่วโมงเชียวนะมึง”

 

กะเวลาไม่ถูก ออกสมาธิแล้วไปโม้กับเขาไม่ได้ กลัวจะโม้ไม่ได้ สมาธิก็เลยไม่ได้ ถ้าสมาธิได้ เดี๋ยวไปโม้กับเขาได้ “เฮ้ย! เมื่อคืนกูนั่ง ๕ ชั่วโมง” แต่กลัวโม้ไม่ได้ก็เลยไปมัดไว้ก่อน

 

เราเอาภายนอกกับภายในมาผูกรวมกัน มันก็เลยเป็นประเด็นขึ้นมาถาม อันนี้พูดถึงว่า “เหตุใดสมาธิเรากะเกณฑ์เวลาไม่ได้ ถอนออกจากสมาธิแล้วจึงเห็นเวลาที่ปรากฏขึ้น”

 

นี่เวลาภายนอก ภายใน

 

“เสียงที่ได้ยินพุทโธเป็นความคิดหรือเปล่า พอทำตามผ่านมาได้ มันเบาจริงๆ แต่มีแค่ปวดรอบเดียว ผ่านไปแล้วรอบเดียวถอนจากสมาธิ”

 

นี่พูดถึงว่าได้ยินพุทโธ กำหนดพุทโธๆๆ หยาบๆ นะ คำว่า “หยาบๆ” พอจิตมันละเอียด หัวใจมันเต้นตุบๆ ยังได้ยินเลย พุทโธๆๆ พุทโธจนใจมันท่อง บางทีปากเราท่อง เราท่องก่อน ถ้าไม่ท่องปั๊บ มันจะไปคิดเรื่องนู่นเรื่องนี้ เราก็ท่องไว้

 

คำบริกรรมสำคัญมาก สำคัญ จิตมันยิ่งกว่ายางเหนียว มันเกาะติดเขาไปทั่ว ฉะนั้น เวลามันเกาะติดเขาไปทั่ว เราพยายามแยกออก แยกธาตุรู้คือพลังงาน พลังงานกับความคิด ความคิด ถ้ามีความคิดมันจึงรู้ว่ามีพลังงาน อย่างเช่นเราคิดอะไรอยู่ เรารู้ว่าเราคิด แต่ถ้าเราเผลอไป เอ๊ะ! เอ๊ะ! กูลืมอะไรไปวะ เอ๊ะๆๆ นี่ไง มันโดยธรรมชาติของมัน

 

แต่ทีนี้เราจะแยกความคิดกับพลังงานออกจากกัน พลังงานคือสัมมาสมาธิ ฉะนั้น แยกออก มันแยกได้ยาก เราถึงแยกคำบริกรรมไว้ เอาพลังงานไปเกาะที่พุทโธไว้ พุทโธๆๆ เราเกาะที่พุทโธไว้

 

ทีนี้เราเกาะที่พุทโธไว้ เกาะแล้ว โดยธรรมชาติของมัน ความคิดกับพลังงานมันอยู่ด้วยกัน ถ้ามีความคิด พลังงานมันก็แสดงตัว ก็ชัดเจน ถ้าไม่มีความคิด เอ๊ะ! เราไม่มี เอ๊ะ! เราไม่มี เราไม่รู้ เอ๊ะ! เราไม่มี นี่มันเร่ร่อนของมัน

 

เราต้องพุทโธไว้ คำบริกรรมเกาะไว้ จิตนี้เกาะไว้เหมือนเด็กฝึกหัดเดิน เด็กฝึกเดินเขาให้เกาะอะไรไปก่อน ถ้ามันเดินได้แล้วเดี๋ยวมันเดินของมันไปเอง จิต จิตถ้ามันเป็นอิสระของมัน มันเกาะพุทโธๆๆ จนมันพุทโธไม่ได้ เห็นไหม พุทโธไม่ได้

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันได้ยินพุทโธ เราท่องด้วยสามัญสำนึก ท่องด้วยความคิด พุทโธๆๆ จนความคิดมันเบาลง กลายเป็นจิตมันระลึกรู้ นี่ไง เสียงจากภายใน จิตมันท่องเอง แอ๊ะๆๆ ท่องจนมันท่องไม่ได้ ท่องจนมันท่องไม่ได้ พลังงานมันไม่เสวยความคิด มันเป็นเอกเทศเลย พอเป็นเอกเทศ นี่อัปปนาสมาธิ คือสักแต่ว่า ไม่อาศัยความรับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ทรงตัวของมันเองอยู่ได้

 

จิตนี้ โดยพุทธานุสติ ฝึกหัดไปจนจิตมันทรงตัวของมันเองได้ แต่โดยธรรมชาติมันทรงไม่ได้ มันต้องเกาะความคิดไว้ พอเกาะความคิดไว้ก็เป็นอารมณ์เราไง เป็นความคิดเราไง คิดเรื่องนู้น คิดเรื่องนี้ คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ นี่มันอยู่ มันมาเกาะทำไม มันเอียงไปเกาะคนนู้นเกาะคนนี้ ยิ่งไปเกาะความโกรธ โกรธฉิบหายเลย เกาะความโลภ จะมักใหญ่ใฝ่สูงไง ไปเกาะความหลง มึงไม่ต้องหลอกกูหรอก กูหลงกับมึงแล้ว มึงไม่ต้องหลอกกูหรอก กูไปกับมึงแล้วแหละ มันไปเกาะเขาเอง มันไปเกาะเขาเอง

 

แต่ถ้าพุทโธๆ จนมันเป็นอิสระ มันไม่เกาะความโลภ ความโกรธ ความหลง มันอยู่ของตัวมันเอง ถ้าตัวมันเอง นี่มันเป็นระยะผ่านไง

 

“เสียงที่ได้ยินพุทโธมันเป็นความคิดหรือเปล่า”

 

เป็นความคิดหรือเปล่า มันเป็นความคิดละเอียดเข้าไป มีสติไว้ชัดๆ มันจะละเอียดๆ ละเอียดจนมันปล่อยวางมา จนมันทรงตัวมันได้ นี่พูดถึงทรงตัว นี่พูดถึงคำบริกรรมนะ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ปัญญาพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางของมัน มันปล่อยวางได้ มันปล่อยวางของมัน นี่สัมมาสมาธิ

 

ฝึกหัดไป การปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชา ทีนี้เราปฏิบัติแล้วเราได้ความจริงของเรา เราปฏิบัติแล้วเรามีประสบการณ์ของเรา มันรู้ตามฐานะ ใครมีความรู้สึกขนาดไหนมันก็รู้ได้แค่นั้นน่ะ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันก็รู้ตามสถานะ

 

นี่ยังดีนะ ปฏิบัติแล้วพอรู้ได้ นี่เขาบอกว่า “ผมไม่ค่อยชอบปฏิบัติ ผมนั่งแป๊บๆ ทีนี้ผมนั่ง ๑ ชั่วโมง”

 

พอนั่ง ๑ ชั่วโมงนะ โอ้โฮ! ถามมาเยอะเลย พอนั่งไปแล้วมันไปรู้ไปเห็นอะไรมันก็ถามมาเยอะแยะไปหมดเลย ฉะนั้น สิ่งที่ว่าคำถามนะ “เสียงที่ได้ยินในพุทโธมันคืออะไร วงกรรมฐานที่ได้ยินในพุทโธคืออะไร”

 

เพราะเขาได้ยินเสียงไง บอกว่า นี่เป็นวงกรรมฐาน ถ้านั่งปฏิบัติไปมันปวด มันชา มันดีขึ้น เป็นวงกรรมฐาน เราก็จะได้ยินวงกรรมฐาน

 

มันเป็นความคิดรอบหนึ่ง มันก็เป็นความคิดผุดขึ้นมา ความคิด มันได้ยินเสียงไง มันเป็นวงกรรมฐานวงหนึ่ง เสียงพุทโธ ได้ยินเสียงพุทโธ ฉะนั้น พุทโธก็พุทโธ ได้ยินเสียงก็เป็นเสียง ไอ้ความคิด ธรรมมันเกิดแว็บขึ้นมา ความคิดมันแว็บขึ้นมาจากจิต มันไม่ได้คิดขึ้นมาโดยเรามีข้อมูล มันคิดขึ้นมาโดยที่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจ พอมันคิดขึ้นมาเราก็งง เอ๊ะ! เอ๊ะ! คิดได้อย่างไร เอ๊อะ! เอ๊อะ! มันมีได้อย่างไร

 

อ้าว! ก็มันมี มันมี แต่เอ็งไม่รู้ไง มันมีของมัน แต่เอ็งไม่รู้ ไม่รู้ก็เลยงง

 

ที่ว่า วงกรรมฐานที่ได้ยินมันคืออะไร ถ้าวงกรรมฐานมันคืออะไร รอบหนึ่งมันคืออะไร

 

อันนี้มันก็เป็นเรื่องหนึ่งใช่ไหม ไอ้นี่มันเป็นความรู้สึก มันเป็นธรรมได้ เวลาหมออธิบายให้คนไข้ คนไข้ไปถาม หมอ หมออธิบายมานี่จริงหรือเปล่า

 

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ตอบปัญหาๆ จนไอ้คนถามปัญหาว่าหลวงพ่อตอบมากเกินไปแล้ว หลวงพ่อตอบจนผมงง หลวงพ่อตอบจนผมจับต้นชนปลายไม่ถูก หมออธิบายมากเกินไป อธิบายถึงอาการไข้มากเกินไป ไอ้คนไข้เลยงงใหญ่เลย เอ๊ะ! ผมไม่ได้เป็นโรคอย่างนี้ มาหาหมอก็ไม่ต้องให้หมอตอบขนาดนี้หรอก โอ๋ย! ตอบจนคนไข้ก็ยังงงเลย

 

นี่ไง แต่มันเป็นอย่างนั้นน่ะ เพราะเราไม่ใช่หมอ

 

ฉะนั้น “เพราะเหตุใดความเจ็บปวดจึงไม่เข้ากับความสงบนั้น ความรู้สึกขนานกันไป”

 

ไอ้ความเจ็บปวด ถ้าพุทโธๆๆ เวลาเราพุทโธของเราไป ถ้าพุทโธ เวลามันเจ็บมากๆ ขึ้นมา เราทนไม่ได้เลย ถ้าพุทโธๆ ไป เวลามันเป็นระดับหนึ่งมันจะชา ความชามันสักแต่ว่า

 

โดยธรรมชาติ พลังงานกับความคิด พลังงานเป็นความคิด เราก็คิดเต็มที่เลย พลังงานก็เป็นอันเดียวกัน เราคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ เราคิดเรื่องอะไรไป พลังงานกับความคิดเป็นอันเดียวกัน แต่พลังงานกับความคิดมันเริ่มไม่สนิทกัน คือมันไม่แนบสนิทกันเกินไป เอ๊ะ! ความคิดกับเรามันชักแปลกๆ แล้วเนาะ แต่ถ้าเราพิจารณาของเราจนพลังงานกับความคิดมันแยกออกจากกันเลย ความคิดมันหาย พลังงานเด่นชัด

 

นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่าเวลาเวทนามันชา มันชา มันสักแต่ว่าเวทนา เวทนามันมีของมัน แต่มันไม่เสวยเต็มตัว มันก็เลยชาๆ แต่ถ้ามันเสวยนะ อู๋ย! ปวด ยิ่งอยากหายยิ่งปวดสองเท่า

 

ทีนี้ถ้าความปวดมันขนานกันไป พอจิต ความคิด คิดเรื่องอะไรล่ะ ความคิดนะ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ถ้ามันคิดเรื่องอะไรล่ะ คิดเรื่องสุข สุขก็ส่วนสุข

 

“ภาวนาแล้วเดี๋ยวจะไปโม้ให้อาจารย์ฟัง” นี่มันคิดแล้ว “เดี๋ยวภาวนาเสร็จแล้วเราจะรีบเอาปัญหานี้ไปถามอาจารย์เลย” นี่มันคิดไปก่อนแล้ว มันคิดของมันไว้แล้ว นี้มันยังไม่ถึงเวลา มันก็คิดของมันไป

 

แต่ถ้ามันภาวนาของมันไป ถ้ามันปล่อยจริงล่ะ

 

“เฮ้ย! ปล่อยจริงไม่ได้ เดี๋ยวกูไปโม้ให้อาจารย์ฟังไม่ถูก” มันก็เลยไม่สงบ มันจะสงบมันก็ไม่สงบ กลัวตัวเองไม่ชัดเจน แต่ถ้าความจริงนะ ปฏิบัติตามข้อเท็จจริงไปเลย พอมันรู้จริงขึ้นมา เดี๋ยวมันไปพูดได้หมดแหละ แต่เพราะกลัวจะไม่รู้นี่แหละ

 

นี่ก็เหมือนกัน “ทำไมความเจ็บปวดทำไมมันขนานกันไป”

 

อ้าว! ก็กลัวมันจะไม่รู้ไง กลัวไม่รู้ว่าเวทนามันเป็นอย่างไร มันเลยขนาน มันไม่ปล่อยสักที แต่พุทโธชัดๆ เดี๋ยวมันปล่อยของมัน ถ้ามันปล่อยแล้วมันจะเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์กับเรานะ ฝึกหัดไป มันรู้ตามฐานะ ฐานะคนปฏิบัติอย่างไรมันได้อย่างนั้นน่ะ ฐานะเราปฏิบัติไม่ได้มันก็ยังไม่ได้

 

“นิมิตที่เห็นจะมีเหตุร้ายอันใดไหมครับ”

 

นี่ข้อสุดท้ายนะ เขาบอกว่าเวลาภาวนาไปแล้วเหมือนกับว่าถูกขังอยู่ในสมาธินั้น แล้วเกิดนิมิตเป็นมือใหญ่ของคน ๒-๓ คนกดเขาให้จมลงไปในน้ำ กดเขาลงไปในมหาสมุทร กดเขาลงไปเลย ในนิมิตนั้นเหมือนนั่งหลับตา กดลงไปจนจมก้นมหาสมุทร แต่ไม่ตาย แต่ไม่ตายนะ เพราะอะไร เพราะเราไปคิดทางวิทยาศาสตร์ไง คนเราถ้ามันโดนกดจมน้ำ มันต้องตาย แต่นี้ทำไมมันไม่ตายล่ะ มันไม่ตาย พอมันไม่ตายขึ้นมา เขาตกใจ เห็นไหม “นิมิตนี้จะมีเหตุร้ายอะไรไหมครับ”

 

ขนาดมันไม่ตายมันยังกลัวเลย เห็นไหม ในนิมิตมันไม่ตายอยู่แล้ว แต่ออกมาแล้วถามว่าแล้วมันมีเหตุร้ายหรือเปล่า

 

ในนิมิตก็คือนิมิตนะ เราจะบอกว่า นิมิตเวลาเห็นแล้วก็คือจบ เห็นแล้วนะ นิมิต ถ้าคนไปเห็นแล้วถ้ามันตื่นเต้นตกใจ ออกจากสมาธิมานี่หอบเลยล่ะ แต่ถ้านิมิตมันดี นิมิตไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นิมิตมีครูบาอาจารย์มาสั่งสอน ออกจากสมาธิมา แหม! มันรื่นเริง มันอาจหาญ มันภูมิใจๆ

 

นิมิตมันก็คือนิมิต นิมิตมันก็เป็นลางบอกเหตุ เป็นสิ่งบอกเหตุได้ เห็นไหม ที่เราตอบไปเมื่อสองวันนี้ว่า ความฝันที่เป็นมงคล ความฝันเป็นมงคลก็ได้ เป็นอัปมงคลก็ได้

 

ความฝันที่ฝันแล้วมันทำลายเราเลยนะ เราไปฝันเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราก็เก็บฝังใจไว้ พอเก็บฝังใจไว้ ชีวิตเราได้แตกแยกไปจากความเป็นจริงเลย เพราะไอ้ความฝันนั้นมันคอยมาหลอกหลอน แต่ถ้าความฝันนั้นเป็นความดี เป็นมงคล เรามีเป้าหมาย เราทำให้เป็นมงคลกับเรา

 

นิมิตก็เหมือนกัน นิมิตเราห้ามมันไม่ได้หรอก เพราะอะไรรู้ไหม มันเป็นจริตนิสัย มันเป็นจิตอย่างนั้น จิตประเภทนั้นจะมีแบบนั้น เห็นไหม จิตประเภทที่ไม่เคยมีนิมิต จิตคนที่ไม่ได้สร้างบุญกุศลไว้ มันก็ปกติธรรมดา บางคนภาวนาทั้งชีวิตเลย ไม่เคยเห็นอะไรเลย มีแต่ความสงบของใจ เวลาไปเห็นก็เห็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วปฏิบัติของเขาไปได้ อันนั้นเขาก็สร้างกุศลของเขามาอย่างหนึ่ง

 

ถ้าคนที่เขาพิจารณาของเขาไปแล้วเขารู้เขาเห็นอะไรแปลกๆ อันนั้นของเขา เขาก็สร้างของเขามาอย่างหนึ่ง แล้วจิตที่มันคึกจิตที่มันคะนอง จิตที่มันไปรู้ไปเห็นอะไรมหัศจรรย์ มันก็ต้องมีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความเห็นที่สามารถจะสั่งสอนได้ สามารถจะควบคุมได้

 

อย่างเช่นพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มีเดชมาก มีฤทธิ์มีเดชรององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาปั้นจนเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เวลาจะทรมาน เวลาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ คนไหนที่ดื้อด้าน เอาพระโมคคัลลานะไปทรมาน

 

พระโมคคัลลานะ ในธรรมบทมีนะ เศรษฐีขี้เหนียวไปเห็นเขาทอดโรตี อยากกินโรตีมาก แต่ขี้เหนียว ไม่กล้าทำ กลับมาบ้านนอนไข้เลย เป็นไข้เพราะอยากกินโรตีแล้วไม่ได้กิน เป็นไข้

 

ภรรยาก็ถามว่าทำไมป่วยล่ะ

 

อู๋ย! อยากกินโรตีแต่มันไม่ได้กิน

 

อ้าว! เงินเราเยอะแยะ เงินเราเยอะแยะก็ซื้อแป้งมาทำ ทำไมไม่ได้ล่ะ

 

ไม่ได้ เดี๋ยวคนมันมาขอส่วนแบ่ง มันมาขอกิน

 

อ้าว! อย่างนี้วางแผน วางแผนขึ้นไปทำบนชั้น ๘ บนปราสาท

 

รวยนะ ขึ้นไปทำโรตีบนปราสาท กลัวคนมาเห็นจะมาขอแบ่ง ไม่ให้ใครกิน เศรษฐีขี้เหนียว ไม่ให้ใครกิน พอไม่ให้ใครกินก็ไปทำอยู่บนชั้น ๘ นี่อยู่ในธรรมบทนะ

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนาคตังสญาณว่าเศรษฐีคนนี้มีอำนาจวาสนาจะได้มีดวงตาเห็นธรรม ให้พระโมคคัลลานะไปทรมาน พระโมคคัลลานะก็ทรมาน

 

เศรษฐีกำลังทำโรตี กำลังทอดโรตีเลย บนชั้น ๘ ไม่ให้ใครเห็นเลย แอบทำ กลัวคนขอ พระโมคคัลลานะมาเหาะอยู่บนหน้าต่าง พระโมคคัลลานะเหาะมาเลยนะ มาขอโรตี

 

ไม่ให้

 

โอ๋ย! ไม่ให้ได้อย่างไร สมณะ เศรษฐีไม่ให้พระนี่บาปกรรม

 

อ๋อ! อย่างนั้นก็ได้ ให้

 

ก็ให้นิดเดียว ทำโรตีแผ่นเล็กๆ ตักนิดเดียวนะ คำเดียว พอทอดเสร็จแล้วให้เล็กๆ พอทอดลงกระทะมันขยายเป็นแผ่นเบ้อเร่อเลย

 

ไม่ได้ๆ เดี๋ยวได้มากเกินไป ตัดออก

 

ด้วยฤทธิ์ของพระโมคคัลลานะ ปรารถนาให้เล็กน้อยมันก็เป็นของใหญ่ ปรารถนาให้ชิ้นเดียวมันก็ติดโรตีทั้งที่ทอดหมด ไปหมดเลย เศรษฐีทรมานมาก ขี้เหนียว สุดท้ายแล้วพระโมคคัลลานะทรมานจนเศรษฐีชักมีจิตใจคิดดีงามขึ้น พอจิตใจคิดดีงามขึ้น พระโมคคัลลานะเทศนาว่าการ เกิดศรัทธาขึ้นมาจะถวายโรตีนั้น

 

พระโมคคัลลานะบอกเรารับไม่ได้ ถ้าจะถวายโรตีเรา ต้องไปถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เศรษฐีนั้นเอาโรตีทั้งหมดไปถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการเป็นพระโสดาบัน

 

เวลามีฤทธิ์ เวลาผู้มีฤทธิ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปั้นขึ้นมานะ แล้วเวลาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ จะทรมานไอ้พวกขี้เหนียว ไอ้พวกที่เห็นแก่ตัว เอาพระโมคคัลลานะไปแสดงฤทธิ์แสดงเดชที่เหนือกว่า พระโมคคัลลานะ ถ้าเป็นประโยชน์แล้ว มีอภิญญา มีฌานโลกีย์ต่างๆ เขาเป็นประโยชน์ เขาเป็นประโยชน์อย่างนี้ เป็นประโยชน์เพื่อมาทำประโยชน์กับโลก เป็นประโยชน์มาทรมานจิตใจของคนให้เขาเสียสละ ให้เขาเห็นคุณงามความดี

 

ไม่ใช่ว่า ฉันจะเข้าฌานสมาบัติวันนั้นๆ ขึ้นคัทเอาท์ไว้เลย เสร็จแล้วก็ไปนอนอยู่ในโลงศพนะ ไปนอนติดแอร์อยู่ในโลงศพ แล้วไอ้พวกเข้าสมาบัติก็เอาสตางค์มาหยอด เอาสตางค์มาหยอด

 

เฮ้ย! ฌานสมาบัติมันมีค่าน้อยกว่าเศษสตางค์หรือ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามันมีค่าน้อยกว่าไอ้โลกธรรม ๘ หรือ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีค่าเท่านี้เองหรือ มันมีค่าเท่ากับกลัวเขาไม่รู้จัก กลัวเขาไม่ศรัทธา แค่นี้เองหรือ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีแค่นี้หรือ มันน่าเศร้า มันน่าเศร้า คนที่เขาทำได้จริงเขาไม่มาโม้หรอก เพราะมันมีคุณค่าในหัวใจของท่าน

 

ฉะนั้น คำถามนี้ รู้ตามฐานะ เราอ่านแล้วมันตลก มันตลกนะ เวลาปฏิบัติไม่ได้เรื่องก็ไม่ได้เรื่อง ไอ้นี่พอปฏิบัติเข้าไป อู้ฮู! เขียนมาถามใหญ่เลยนะ หมอก็เลยบอกอาการจนคนไข้งง คนไข้กลับไป ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ หลวงพ่อตอบเกินไปแล้ว หลวงพ่อตอบมากเกินไป เพราะผมก็ไม่เคยภาวนาเลย ก็เพิ่งภาวนานี่แหละ พอภาวนา เขียนมา แหม! หมอนี่ก็อวดจะไม่รู้ ตอบซะ

 

อันนี้มันเป็นที่ว่า รู้ตามฐานะเนาะ เอวัง