ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปัญญาพุทธะ

๒๓ ก.พ. ๒๕๕๗

 

ปัญญาพุทธะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “เสียงของหัวใจ”

 

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ขอความเมตตาจากอาจารย์ดังนี้

 

๑. ระยะนี้ขณะนั่งภาวนา มักจะได้ยินเสียงหรือรับรู้การสะเทือนจากการเต้นของหัวใจทุกครั้ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมาประมาณ ๒-๓ เดือนแล้วครับ บางครั้งได้ยินชัด บางครั้งได้ยินไม่ชัด ผมก็รู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นและบริกรรมต่อไป บางครั้งก็ยังได้ยินอยู่ บางครั้งก็ดับไป เกิดๆ ดับๆ

 

และในเวลานอน ผมจะกำหนดสติดูลมหายใจจนหลับไปทุกครั้ง ในหลายๆ ครั้ง พอเริ่มนอนก็จะได้ยินเสียงหัวใจเต้น บางครั้งก็สะเทือนที่ริมฝีปากตามจังหวะของการเต้นของหัวใจ บางครั้งสะเทือนที่ผนังหน้าอกจนรับรู้ได้ชัด ทั้งหมดนี้เป็นทั้งเวลานั่งภาวนาและนอนภาวนาครับ

 

คำถามมีดังนี้ ที่ผ่านมาหากอาการนั้นๆ เกิดขึ้น ผมก็จะบริกรรมหรือดูลมไปโดยไม่สนใจกับเสียงและอาการนั้นๆ แต่อยากจะทราบว่า อาการต่างๆ ที่กล่าวมานั้นจะสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในการภาวนา เจริญสมาธิ เจริญปัญญาได้หรือไม่ อย่างไรครับ

 

๒. ตามที่เคยกราบเล่าถวายพระอาจารย์ในเรื่องความตาย ความฝันมาแล้วนั้น ผมได้น้อมกายใจรับคำสั่งสอนและตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านอาจารย์ครับ แต่ผมก็ฝันอีก ซึ่งในครั้งนี้ผมคาดคิดเองว่าน่าจะเป็นการเตือน หรืออุบายการภาวนาจากครูบาอาจารย์ครับ แต่แปลความหมายไม่ออก จึงกราบเรียนขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ครับ

 

ตอบ : แล้วเขาก็เล่าเรื่องความฝันมา ๒ เรื่อง ๓ เรื่องน่ะ เรื่องครูบาอาจารย์ไปพบไปเห็นอะไรต่างๆ แต่อันนี้เราขอยกไว้ เพราะมันมีชื่อของครูบาอาจารย์ด้วย มันจะสะเทือนกัน ฉะนั้น อันนี้เป็นอันรับรู้กันระหว่างผู้ถามกับผู้ตอบ แต่เดี๋ยวเราจะตอบเป็นข้อๆ ไป

 

ข้อ ๑ “การนั่งภาวนาแล้วได้ยินเสียงและรับรู้การสั่นสะเทือนการเต้นของหัวใจทุกครั้ง”

 

มันจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท อาการหนึ่งคืออาการที่ว่า ถ้าจิตใจมันดีขึ้น มันละเอียดขึ้น มันก็ได้ยินการเต้นเพราะจิตมันละเอียด ถ้าจิตมันละเอียดนะ ดูสิ พวกเรานักภาวนาอยู่ในป่า เรานั่งภาวนาอยู่ ใบไม้มันหลุดจากขั้วแล้วมันตกมาดังแป๊ะ! เสียงได้ยินหมดล่ะ ถ้าหูดีๆ นะ เสียงมันจะได้ยินเลย เพราะจิตเราดี เขาเรียกชวนดี

 

คนที่ภาวนาแล้ว คนที่ภาวนาเขาจะมีความหงุดหงิด เขาพูดเรื่องเสียงกระทบ เรื่องการนั่งอยู่ใกล้กันแล้วส่งเสียงกระทบ เพราะอะไร เพราะชวน คือสิ่งที่เขาปฏิบัติ จิตใจเขาผ่องใส พอจิตเขาผ่องใส อายตนะมันดีไปหมด ถ้าทางโลกเขาเรียกว่าหูหาเรื่อง มันจะหาเรื่องไปหมดล่ะ หูหาเรื่อง ใครทำอะไรสะกิดแล้วมันสะเทือน

 

แล้วคนภาวนาใหม่ๆ เพราะเราเคยเป็นมานะ มันนั่งน้อยใจ โอ้โฮ! ทำดีขนาดนี้ทำไมเขาไม่เห็นความดีเราเลย ทำไมไม่มีใครส่งเสริมให้เราทำความดีเลย มันคิดน้อยใจ

 

แต่ไอ้คนที่เขาส่งเสียงมาเขาไม่รู้หรอก เขาคิดว่าเสียงเบาๆ แหม! ก็มีความจำเป็นน่ะ คนมีความจำเป็น คนเคลื่อนไหวก็ต้องมีเสียง มันก็คิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลกไง สิทธิเสรีภาพของเขา

 

ไอ้คนนั่งภาวนามันก็เสียใจนะ โอ้โฮ! เราภาวนานะ กว่าจิตเราจะเป็นสมาธิได้เกือบเป็นเกือบตาย ทำไมคนข้างเคียงเขาไม่เมตตาเลยเนาะ ทำไมเขาไม่คิดถึงหัวอกเราเลยเนาะ ทำไมเขาทำเสียงกระทบเรานะ เราภาวนาใหม่ๆ เรามีความคิดอย่างนี้ เวลาเราภาวนา

 

ฉะนั้น เวลาถ้าจิตมันดีๆ จิตถ้ามันภาวนาดี ไอ้เรื่องเสียงที่ได้ยิน เสียงที่มากระทบต่างๆ มันจะชัดมาก สิ่งนี้มันจะชัด

 

ถ้าภาวนาแล้วได้ยินเสียงด้วยความสั่นสะเทือน ด้วยความเต้นของหัวใจ มันเป็นไปได้ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งถ้าจิตเราดี จิตเราพัฒนาขึ้น นี่พูดถึงคนที่ภาวนาดี

 

แต่โดยธรรมชาตินะ โดยทางโลก ความรู้สึกของคนไง โดยความรู้สึกของคน ปฏิภาณของคน แบบว่าวิสัยทัศน์ของคน ทัศนคติของคน มันเด่นชัดทางไหนล่ะ มันเด่นชัดทางไหน บางคนชอบทางไหนมันจะเด่นชัดทางนั้น นี่พูดถึงเรื่องโลก ถ้าเรื่องโลก พอเราภาวนาไป ใครมีจริตนิสัยอย่างใด เวลาภาวนาไป จิตมันจะเป็นแบบนั้น ถ้าจิตเป็นอย่างนั้นนะ อันนี้กิเลส กิเลสหมายความว่าอย่างไร

 

กิเลสหมายความว่า สิ่งที่มันเป็นนิสัยของเรา มันเป็นความถนัดของเรา พอเราทำสิ่งใดไป สิ่งนั้นจะเด่นชัดขึ้นมา พอเด่นชัดขึ้นมา มันเด่นชัด พอเด่นชัดขึ้นมา คำว่า “เด่นชัด” มันทำให้จิตมันรับรู้ไง จิตมันไม่ปล่อยวางเข้ามาไง ถ้าจิตมันปล่อยวาง แล้วทำไมถ้าจิตมันดี ชวนมันดี เสียงมันดี นั่นคือการภาวนา

 

ภาวนานะ มันเป็นโดยข้อเท็จจริง มันเป็นสัจจะ สัจจะ ถ้าหูตาเราพร่ามัว เราจะเห็นภาพนั้นไม่ชัดเจน ถ้าใครหูตาดี ภาพนั้นจะชัดเจนมาก จิต ถ้ามันรับรู้สิ่งใดๆ โดยธรรมชาติของมัน มันก็พร่ามัวของมัน แต่ถ้าจิตมันดีมันก็ชัดเจนของมัน ชัดเจนคือชวนมันดี นี่ชัดเจน นี่คือการภาวนา

 

แต่ถ้ามันเป็นจริตนิสัย นิสัยเราเป็นอย่างนี้ เรารับรู้สิ่งนี้ได้ชัดเจน พอชัดเจน มันก็รับรู้อยู่อย่างนั้น เห็นไหม อารมณ์สอง โดยธาตุรู้คือธรรมชาติที่รู้ ความคิด ความรู้สึกนึกคิด คิดแล้วเกิดอารมณ์ขึ้นมา กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์นะ

 

ถ้าเรามีสัญญาอารมณ์มันไม่ใช่ธรรมารมณ์ มันเป็นสัญญาอารมณ์ แต่ถ้าจิตมันสงบ จิตเราสงบแล้วเราจับอารมณ์ของเราได้ นี่ธรรมารมณ์ จิตจับอารมณ์ได้ จิตจับกาย จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

 

จิตเห็นกายเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา แล้วจับเวทนา ถ้าเวทนาเป็นเราล่ะ เวลาภาวนาไปแล้วเวทนาเป็นเรา นั่งไปเจ็บปวดไปหมดเลย โอ๋ย! ปวดๆ ถ้าเวทนากับจิตมันเป็นอันเดียวกัน มันรับรู้กัน มันเสวยอารมณ์ มันคลุกเคล้ากัน

 

แต่ถ้าจิตเราสงบ เราปล่อยเข้ามา เวทนา เราต่อสู้กับเวทนาจนปล่อยเวทนามา พอปล่อยเวทนา จิตมันก็ปล่อยวางเป็นเอกเทศของมัน นี่จิต จิตเห็นเวทนา พอจิตมันจับเวทนา เห็นไหม เหมือนกับโรงหลอม เวลาเขาหลอมเหล็ก ภาชนะเขาตักเหล็ก หลอมเหล็ก เขาจะหลอมเป็นรูปเหล็กอะไร นี่ด้วยอุณหภูมิของมัน

 

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันปล่อยแล้วมันมีอุปกรณ์ไปจับเวทนา พอจับเวทนา มันจับเวทนา มันพิจารณาเวทนาได้ อ้าว! เวทนาไม่ใช่เรา ไอ้นั่นเวทนา ไอ้นี่เรา

 

แต่ถ้าโดยสามัญสำนึก โดยธรรมชาติของมัน พอเวทนาเป็นเราใช่ไหม มันเจ็บมันปวดไปหมด มันวิตกกังวล มันทุกข์มันยากไปทั้งนั้นน่ะ เพราะมันเป็นเรา แต่พอเราปล่อย เพราะเป็นสมาธิ พอมันปล่อยมันถึงเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ จิต เห็นไหม จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก

 

อารมณ์ความรู้สึก ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นอารมณ์ความรู้สึก นี่สติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันจับของมันได้ มันพิจารณาของมันได้ ถ้าพิจารณาได้ มันไปของมันได้ ถ้ามันไปของมันได้ มันคนละระดับกัน

 

แต่ถ้าเริ่มต้น เพราะจิตเราได้ยินเสียง เวลานั่งไปแล้วมักจะได้ยินเสียงการสั่นสะเทือน รู้ต่างๆ ตามคำถามนี้ถูกต้อง คำว่า “ถูกต้อง” หมายความว่า เขาบอกเขาก็รู้ของเขา เขารู้ของเขา เขาพยายามกำหนดพุทโธของเขา

 

เราพยายามกำหนดพุทโธของเรา พุทโธของเราไปเรื่อย พุทโธๆ คำว่า “พุทโธ” มันเป็นเอกภาพ คำว่า “เอกภาพ” จิตทั้งหมด ความรู้สึกทั้งหมดระลึกถึงพุทโธ

 

จิตทั้งหมด ความรู้สึกทั้งหมดเรากำหนดพุทโธ เห็นไหม เริ่มต้นใหม่ๆ มันไม่เป็นเอกภาพ มันรู้พุทโธ นึกพุทโธนะ ยังไม่ได้ปิดไฟเลย นึกพุทโธนะ โอ๋ย! บ้านยังไม่ได้กวาด นึกพุทโธนะ มันไม่เป็นเอกภาพ มันนึกพุทโธด้วย มันแว็บไปคิดอย่างอื่นด้วย นี้เราก็ต้องบังคับ

 

หลวงตา ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นท่านบอกว่าต้องบังคับ บังคับเลย ห้าม ห้ามคิดเรื่องอื่น ให้คิดพุทโธอย่างเดียว ให้เป็นเอกภาพ พุทโธๆ ทีแรกมันแตกกระจายไปหมดเลย ยึดไปหมดเลย แล้วพอมันเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว พุทโธไปก่อน พุทโธ เออ! พุทโธชัด พุทโธดี พุทโธไป ดีคือว่ามันเริ่มเป็นเอกภาพ พุทโธๆๆ จนคำว่า “พุทโธ” กับ “ตัวเองเป็นพุทโธ” คนละเรื่องกัน

 

พุทโธ เรานึกพุทโธ เห็นไหม เรานึกพุทโธ สิ่งที่พอมันส่งออกคือมันรับรู้โดยอายตนะ รับรู้ทั้งหมด รับรู้ มันแผ่กระจายออกไป เราตั้งสติรับรู้ รับรู้พุทโธอย่างเดียว

 

ที่ว่าพุทโธชัดเจนๆ ชัดเจนเพราะสติมันบังคับ สติมันพร้อมมันก็ระลึกหนึ่งเดียว พุทโธๆ มันเป็นเอกภาพ มันเริ่มไม่รับรู้สิ่งอื่น มันเริ่มไม่คลอนแคลน เริ่มไม่ห่วงว่ายังไม่ได้ทำนู่น ยังไม่ได้ทำนี่ เดี๋ยวภาวนาเสร็จแล้วค่อยไปทำก็ได้ เดี๋ยวภาวนาเลิกแล้วค่อยไปทำ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา อย่าไปคิดมัน พุทโธไปเรื่อยๆ

 

กรณีนี้แหละที่หลวงตาท่านจะบอกว่า ต้องบังคับ

 

แต่พวกเราบอกบังคับมันหยาบ บังคับไม่ได้

 

เด็ก เริ่มต้นจะฝึกให้เป็นเด็กดี พ่อแม่บางอย่างต้องบังคับ ต้องบอกด้วยเหตุด้วยผล บางอย่างเด็กไม่พอใจ เด็กไม่อยากทำ ต้องบังคับ แต่บังคับ พอเด็กมันทำของมันไปแล้ว พออนาคตต่อไปมันจะรู้เลยว่า อ๋อ! เราดีมาได้เพราะพ่อแม่บังคับ ถ้าพ่อแม่ไม่บังคับอาจจะเลวไปแล้ว

 

จิต มีสติบังคับมัน ต้องบังคับ แต่ถ้าจิตมันดีแล้วไม่ต้องบังคับ เด็กมันดี ไม่ต้องไปบังคับมัน เด็กมันดี เด็กเขาอยู่ในโอวาท เด็กเขาดีแล้ว บังคับทำไม เด็กเขาดีอยู่แล้วบังคับให้มันมีปัญหาขึ้นมาหรือ เด็กเขาดีแล้วก็อยู่โดยความดีของเขา เด็กถ้าดื้อ เด็กถ้าดื้อต้องบังคับ บังคับให้เด็กพยายามฝึกหัดให้เห็นโทษของมัน

 

พุทโธไปเรื่อย นี่เราระลึกพุทโธ เราระลึกพุทโธเป็นสอง อารมณ์ความรู้สึกเรา อารมณ์ที่เรารู้สึกกับความรู้สึก มันคนละอันกัน เขาเรียกอารมณ์สอง มันเป็นสอง

 

ทีนี้เราพุทโธๆ เรากำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ นี่อารมณ์สอง ถ้ามันพุทโธๆๆ จนมันละเอียดเข้ามา เราอยู่กับพุทโธ มันก็อยู่ในอารมณ์สองอยู่ มันเริ่มละเอียดเข้ามา ถ้ามันพุทโธจนพุทโธไม่ได้ เห็นไหม หนึ่ง ไม่ใช่สอง เพราะมันไม่ส่งออกไปที่พุทโธ ตัวมันเป็นพุทโธ ถ้าตัวมันเป็นพุทโธ เห็นไหม อัปปนาสมาธิ แต่ถ้าเป็นอุปจาระมันก็เป็นสมาธิอยู่ แต่มันยังรับรู้ได้ ยังวิปัสสนาได้ นี่ถ้าสมาธิเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงว่าถ้ามันเป็นหนึ่ง

 

แล้วบอกว่าบังคับให้มันอยู่กับพุทโธ แล้วเสียง ความเต้นของหัวใจ สิ่งต่างๆ เขาถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมา เขาก็ดูลมมา เขาก็เข้าใจแล้วแหละ เข้าใจแล้ว แต่ที่อยากถาม เขาถามว่า “มันสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในการภาวนาในการทำสมาธิ เจริญปัญญาได้หรือไม่ครับ

 

ถ้ามีสติปัญญา เราพยายามฝึกหัดไป มันทำได้ ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ มีสติ มันต้องฝึกหัดไปทั้งนั้นน่ะ เขาเรียกว่าปัจจัตตัง ปัจจัตตังคือรู้จำเพาะตน รู้ในหัวใจของตน ถ้าเรารู้ได้มากรู้ได้น้อย

 

ทีนี้เพียงแต่ว่าที่เราพยายามจะแยกแยะให้เห็นว่า ความได้ยินเสียงมันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ถ้าจิตมันละเอียดเข้ามา สิ่งนี้มันเป็นเครื่องยืนยัน เราจะเปรียบบ่อยมากว่าเวลารถมันวิ่ง เข็มไมล์ของรถมันจะขยับ ความเร็วของรถ เข็มไมล์มาตรวัดมันก็จะว่า วิ่งได้ระยะความเร็วเท่าไร

 

จิตใจของคนนะ ถ้ามันเป็นสมาธิ ถ้ามันออกรับรู้ มันเป็นมาตรวัดอันหนึ่งได้ เป็นมาตรวัดอันหนึ่งได้ว่า จิตของเรา โดยสามัญสำนึก โดยเราเห็นด้วยตา เว้นไว้แต่เราสติไม่ดี ถ้าเราสติไม่ดีนะ เราไปรู้สิ่งใด เราไปเห็นสิ่งใด สติเราไม่ดี เราก็จะเกิดอุปาทาน แต่ถ้าสติเราดี เรารับรู้สิ่งใดมันจะเห็นสิ่งนั้น เห็นสิ่งนั้นเป็นความดีสิ่งนั้น

 

ฉะนั้น ถ้าสติเราดี มันจะเป็นประโยชน์กับภาวนาไหม มันจะเป็นประโยชน์ ภาวนาเราจะดีขึ้นๆ ถ้าเราดีขึ้นของเราไป ถ้ามันดีขึ้นนะ สิ่งที่เสียงที่กระทบ เขาว่าเวลานั่งไปมันจะมีเสียงการเต้น มีความรู้ต่างๆ มันจะกระทบของมัน

 

อันนี้เราวางไว้ เราฝึกหัดของเราเพื่อความสงบของใจ นี่ข้อที่ ๑

 

ข้อที่ ๒ ตามที่เคยเล่าถวายท่านอาจารย์ เขาบอกว่าเขาเคยถามมาเรื่อง “ความตายกับความฝัน”

 

เขาบอกความฝัน เราอธิบายไปว่า ความฝันกับการปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าความฝันนะ เราใช้คำว่า “ฝันเป็นมงคล” ฝันเป็นมงคลคือว่าเราฝัน ฝันถึงว่าการดำรงชีวิตของเรา ฝันว่าเราจะได้รู้สิ่งใด ฝันเป็นมงคลก็มี

 

ทีนี้ความฝัน แต่การปฏิบัติมันไม่ใช่ความฝัน การปฏิบัติมันไม่ใช่ความฝัน มันเป็นความจริง มันสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราตั้งสติสมบูรณ์จนจิตเราเป็นสมาธิ

 

พอเป็นสมาธิแล้ว ตัวจิตของเราถ้าออกใช้วิปัสสนาไม่เป็น ถ้าเราใช้ปัญญาไม่เป็น มันอยู่แค่นั้นน่ะ แต่ถ้ามันใช้ปัญญาของมันเป็น ถ้าใช้ปัญญาเป็นมันจะเป็นภาวนามยปัญญา มันจะเริ่มเลาะเข้ามา มันจะรู้ของมันตามความเป็นจริง มันไม่ใช่ความฝัน ฉะนั้น มันไม่ใช่ความฝัน

 

ฉะนั้น สิ่งที่เราเคยบอกไป เขาก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นบรรทัดฐาน แต่ในปัจจุบันนี้ฝันอีกเหมือนกัน ฝันเห็นว่ามีพระมาสอน มีการสนทนาธรรม มีต่างๆ สิ่งนี้ถ้ามันเป็นโดยปกติ โดยปกติถ้าธรรมมันเกิด ธรรมมันเกิด สิ่งที่เป็นความฝัน ความฝันมันก็เป็นมงคล เป็นมงคลก็เอามาเป็นคติธรรม เอามาเป็นการเตือนตัวเอง เอามาเป็นสิ่งนี้ได้

 

ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาสังเกต ความสังเกตว่า “ความฝันทั้ง ๒ ครั้ง เป็นครูบาอาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน เจตนาในการปฏิบัติดังกล่าวให้ผมเห็น สงสัยเป็นอุบายหรือคำเตือนดังที่เล่ามาในใจหรือเปล่า”

 

มันเป็นกิเลสของคน ถ้ากิเลสของคน ดูสิ โทสจริต คนมีแต่ความโกรธเป็นตัวนำ มีสิ่งใดมีแต่ความโกรธไปหมด ฉะนั้น เวลาความฝันจะฝันว่าให้เราทำสิ่งใด ฉะนั้น ถ้าฝันอย่างนี้ จิตใจเราหมกมุ่นอย่างนี้หรือเปล่า จิตใจเราหมกมุ่นแต่เรื่องอย่างนี้

 

ถ้าเป็นการฝันว่า สิ่งนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติของคน แล้วถ้าเราเห็นว่า คนที่ภาวนาถึงที่สุดแล้วมันไม่เป็นโทษ

 

เขาบอกว่า ฝันเห็นว่ามันเป็นเรื่องเจตนา เป็นการแสดงธรรม เป็นสิ่งต่างๆ

 

การฝันมันเป็นการบอก เป็นคติ เป็นคติธรรมกับเราได้ แล้วมันอยู่ที่จริตนิสัยของคน คำเตือนเตือนแล้วมันจะเป็นอย่างไร มันเป็นประโยชน์กับใครล่ะ

 

ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ สิ่งนั้นวางไว้ เพราะวางไว้ คำว่า “วางไว้” คือว่ามันเป็นอดีตอนาคต สิ่งนี้มันผ่านมาแล้ว เวลามันผ่านมาแล้ว ฝันสิ่งใดแล้วก็วางไว้ แม้แต่ความฝันนะ ความฝันกับนิมิต

 

เวลานิมิต นิมิตถ้ามันขาดสติ นิมิตมันจะบอกสิ่งใดเรา แต่ถ้าเรามีสติปัญญา พอเกิดนิมิต ถามนิมิตเลย นี่คืออะไร มาเพื่อเหตุใด นั่นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นอริยสัจไม่ใช่เป็นอย่างนี้

 

เวลาเป็นอริยสัจนะ พอจิตสงบแล้วเห็นกาย พอเห็นกาย พิจารณาไป กายมันจะแปรสภาพ เห็นไหม นี่เป็นไตรลักษณ์ นิมิตนั้น ภาพที่เห็นอย่างนั้นมันแปรสภาพ มันแปรสภาพของมันไป มันแปรสภาพไปพร้อมกับสติสัมปชัญญะ เห็นๆ อยู่อย่างนี้ เอ๊อะ! มันแปรให้เห็นๆ นะ พอไปเห็น มันเกิดธรรมสังเวช เกิดธรรมสังเวชนะ เกิดสภาวะที่สั่งสอนตัวเอง พอสั่งสอนตัวเอง มันสำรอก

 

มันสำรอก สำรอกอะไร สำรอกความเห็นผิดไง มันสำรอกความเห็นผิด มันจะมีสติปัญญาอีกมหาศาลเลย ถ้าสติปัญญาอย่างนั้นมันไปอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าสติปัญญาอย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

 

นี่พูดถึงว่าความฝัน ถ้าพูดถึงความฝัน ความฝันถึงครูบาอาจารย์ท่านมาสั่งมาสอน คำว่า “มาสั่งมาสอน” เราฟังบ่อย อย่างเช่นเวลาบอกว่าหลวงปู่มั่นมาสอนๆ หลวงปู่มั่นมาสอนมันอยู่ที่วุฒิภาวะ เช่น หลวงปู่ขาว

 

หลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟังนะ เวลาท่านออกวิเวกไป หรือเวลาอยู่ในป่าในเขา ทำสิ่งใด ข้อวัตร ถ้าวางบาตรผิดนะ คืนนั้นฝันเลย หลวงปู่มั่นมาเลยนะ “ต่อไปข้างหน้าจะเป็นพระผู้ใหญ่ ต่อไปข้างหน้าจะเป็นแบบอย่าง แล้วทำอย่างนี้แล้วจะไปสอนใครได้”

 

ใน “ปฏิปทาฯ” มันจะเป็นเรื่องของหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่ชอบเป็นส่วนใหญ่ แล้วหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่ชอบ ครูบาอาจารย์ท่านภาวนาของท่าน ดูชื่อเสียง ดูเกียรติศัพท์เกียรติคุณของหลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ หลวงปู่แหวน ครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ของเราสิ ท่านมีคุณธรรมของท่าน พอท่านมีคุณธรรมของท่าน มันจะเป็นคติแก่สังคม ถ้าเป็นคติแก่สังคม หลวงปู่มั่นท่านมา ท่านมาคอยบอก คอยชี้ คอยแนะเลยว่า ไม่ควรทำอย่างนี้ ควรทำอย่างนี้ สิ่งที่ควรทำ ควรทำอย่างนี้ สิ่งนี้ไม่ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำๆ เพราะอะไรไม่ควรทำ เพราะมันไม่มีโทษกับบุคคลคนนั้น

 

เพราะบุคคลคนนั้นเวลาภาวนาไป เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นคนการันตีไว้เอง บอกกับครูบาอาจารย์ไว้ทุกๆ คนบอกว่า “จำชื่อของท่านหลวงปู่ขาวไว้นะ เพราะหลวงปู่ขาวได้สนทนาธรรมกับเราแล้ว หลวงปู่ขาวท่านเป็นหลักชัยไปข้างหน้า”

 

เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่ขาวจนรู้ตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ้นกิเลสไปหมดแล้วแหละ ทีนี้คำว่า “สิ้นกิเลสไปหมดแล้ว” เป็นพระอรหันต์ ต้องมาสอนกันไหม ไม่ต้องมาสอนหรอก ต้องมาสอนอะไรกับพระอรหันต์อีก แต่เป็นคติธรรมกับบุคคลอื่น บุคคลที่มาดูการดำรงชีวิตของพระอรหันต์ว่าควรทำอย่างไรๆ

 

หลวงปู่ขาวท่านบอกว่า เวลากลับกุฏิแล้วเวลาเอาบาตรเข้าไป ถ้าวางผิดตำแหน่ง คืนนั้นได้เสีย

 

“ไม่ควรทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ไม่ได้”

 

นี่พูดถึงความฝันนะ แต่ความฝันว่าถ้าหลวงปู่มั่นมาสอน สอนใคร แต่ถ้าอย่างเรา อย่างเรายังสัพเพเหระอยู่เลย กินซะเต็มท้องเลย เต็มที่เลย พอเดี๋ยวนอนนะ ฝันแล้ว กินอิ่มนอนอุ่นมันก็ฝันดีไง พอฝันมา เป็นหมู หมูมันนอนหลับ หมูมันนอนหลับมันก็ฝัน พอฝัน อ้าว! หลวงปู่มั่นมาสอนแล้ว “เกิดเป็นคนนะ แล้วบวชเป็นพระแล้วด้วย ยังมากินแบบหมูได้อย่างไร ถ้ากินแบบหมูมันไม่สมควรกับความเป็นพระหรอก”

 

เห็นไหม สอนใครล่ะ สอนสัพเพเหระแบบเรา ถ้าเราเป็นคนสัพเพเหระ เวลาเราฝัน เราฝันว่าหลวงปู่มั่นเหมือนกัน แต่มาสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องความกิน ความเป็น ความอยู่ กินเหมือนหมูเลย กินเสร็จแล้วก็นอนเหมือนหมูเลย ไม่เห็นภาวนาเลย ถ้าภาวนามันถึงจะเป็นคนดี

 

วุฒิภาวะของใจมันคนละระดับกัน ฉะนั้น เวลาว่าหลวงปู่มั่นมาสอน เวลาใครถามปัญหามาว่าครูบาอาจารย์มา ฝันว่าครูบาอาจารย์มาสอนอย่างนั้น เราก็ฟัง มันเป็นคติธรรม มันเป็นคุณประโยชน์กับผู้ฝันนั้น เราได้ฝันถึงครูบาอาจารย์ เราได้ฝันถึงพระ มันก็ประเสริฐแล้วล่ะ

 

เราได้ฝันถึงพระ ดีกว่าเราไปฝันเห็นโจร เห็นภัย เห็นสิ่งต่างๆ มาทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง เราฝันเห็นครูบาอาจารย์ของเรามันก็เป็นมงคลแล้วแหละ แต่ว่าวุฒิภาวะของเรา เรามีคุณสมบัติมากน้อยแค่ไหน

 

ถ้าเรามีคุณสมบัติที่ดี อย่างเช่นเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านเทศน์อนุปุพพิกถา เทศน์ให้เราทำทานก่อน พอเราทำทานแล้ว จิตใจเราเป็นสาธารณะแล้ว พวกที่ทำบุญกุศลจะไปเกิดบนสวรรค์ พอไปบนสวรรค์แล้วมันก็เป็นทิพย์ เป็นทิพย์ก็อย่าให้เพลิดเพลิน ให้ถือเนกขัมมะ เวลาจิตใจสมควรแล้วท่านถึงเทศน์อริยสัจ

 

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอน สอนให้เราเสียสละก่อน สอนให้เราเตรียมความพร้อมของตัวเองก่อน พอเราเตรียมความพร้อมของตัวเองแล้ว ถ้าจิตใจเราพร้อมแล้วท่านถึงจะหัดให้เราพิจารณาอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้เราพิจารณาให้จิตใจเรามันก้าวเดินไป เหมือนคนเจ็บคนป่วย คนเจ็บคนป่วยเขาจะรักษา เขาต้องฟื้นฟูร่างกายก่อน ให้ร่างกายแข็งแรงก่อน เพื่อหมอจะรักษาได้ง่าย คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วมันก็ทุกข์ยากอยู่อย่างนี้ แล้วจะฟื้นฟูกันอย่างไร

 

มันอยู่ที่วุฒิภาวะ เห็นไหม ความฝัน ฉะนั้น เขาบอกว่า สิ่งที่เขาฝันมันเป็นประโยชน์ไหม แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถึงที่สุดแล้ว มันฝันแล้วมันก็ฝันแล้วฝันอีก คนมันจริตนิสัยแบบนี้ ถ้าเราฝันแล้วเราก็วางไว้ แต่นี้เวลาฝันแล้วเราไปกระทบเอง เราไปเห็นเอง มันก็ต้องทำจิตใจให้เราฟูเป็นธรรมดา ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลยมันก็เป็นเรื่องปกติใช่ไหม ถ้าไปรู้ไปเห็นมันแล้ว อ้าว! รู้เห็นแล้ว จิตใจมันก็รับรู้แล้ว แล้วรับรู้ที่ไหน รับรู้ที่หัวใจของเรา

 

ฉะนั้น เวลาไปถามหลวงปู่ดูลย์ เห็นนิมิต ฝันนี้จริงไหม

 

จริง เห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง

 

ถ้าฝันของเรา เรายังมีกิเลสอยู่ เรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ ความฝัน ฝันได้แล้ววางไว้ อย่าให้ฟู อย่าไปตื่นเต้นกับมัน วางไว้ มันไม่จริง มันไม่จริงเพราะอะไร ไม่จริงเพราะมารในหัวใจของเรา ไม่จริงเพราะมีความไม่รู้ อวิชชาในใจของเรา สิ่งนี้เรายังไม่เข้าใจ เราวางไว้ ไม่จำเป็นจะต้องรู้ ไม่จำเป็นจะต้องเคลียร์ ไม่จำเป็น วางไว้ วางไว้แล้วกลับมาพุทโธ

 

เขาบอก ผมนะ พุทโธ สิ่งที่รู้ที่เห็นมันเป็นทั้งเวลานั่งภาวนาด้วย และนอนภาวนาด้วย เขาบอกว่าเขาพุทโธอยู่แล้ว

 

พุทโธอยู่แล้วให้พุทโธชัดๆ พุทโธให้จิตสงบเข้ามา พอพุทโธแล้วนะ มันจะได้ยินข้างนอก ได้ยินข้างใน เราอยู่กับพุทโธไว้ให้เป็นเอกภาพ อย่าออกไปรับรู้แตกต่าง จิตเราก็พุทโธไป แล้วก็ไปรับรู้สิ่งนั้นๆ มันไม่เป็นเอกภาพ

 

ให้เป็นเอกภาพไว้ แล้วถ้ามันพุทโธจนตัวเองเป็นพุทโธ มันวางพุทโธขึ้นมา นั่นชัดเจนของมัน แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาไปนะ เราเห็นอริยสัจ เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงมันจะมาเปรียบเทียบกับความฝันที่เราฝันเลย อ๋อ! ฝันนี้ควบคุมไม่ได้ ฝันนี้ขณะที่ฝันไม่มีสติ ถ้ามีสติมันไม่ฝัน ถ้าขณะที่ฝันมันขาดสติ แล้วมันเป็นของมันเป็นอย่างนี้

 

แต่ขณะที่เราทำ ถ้าเราทำได้ ถ้าทำไม่ได้นะ มันก็จะล้มลุกคลุกคลาน ถ้าจิตสงบแล้วทำได้ มันเห็นของมันจริงๆ เห็นภาพจริงๆ เห็นกายนี่เห็นเลยถ้าเป็นเจโตวิมุตติ

 

เห็นกายแล้วถ้ากำลังพอ รำพึงให้มันแปรสภาพให้ดู รำพึงให้มันย่อยสลายไป รำพึงให้มันเน่า ให้มันพุพองไป พอรำพึง เพราะจิตกำลังมันพอ รำพึงคือนึก รำพึงคือนึกในสมาธิ นึก ผลัวะ! ผลัวะ! ผลัวะ! ถ้าสมาธิดีนะ มันจะเป็นอย่างที่เราตั้งประเด็น คือเรารำพึงไป แต่มันจะเป็นโดยสัจจะ มันจะเป็นโดยข้อเท็จจริง

 

เพราะว่าถ้ารำพึงแล้วมันจะเป็นอย่างที่เรานึก อย่างที่เราให้เป็น นั่นมันเป็นสัญญา พอเรารำพึงไปมันจะแปรสภาพให้เราดู นั่นล่ะคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คืออะไร ไตรลักษณ์คือการแปรสภาพ

 

สิ่งที่รู้ที่เห็นมันเป็นทิพย์ มันเป็นสมบัติ มันเป็นนามธรรมอยู่แล้ว ถ้ามันแปรสภาพให้เราดูอีก นามธรรมกับนามธรรมมันแก้กัน พอแก้กัน พอมันเห็น มันสำรอกมันคายของมัน โอ๋ย! มันชัดเจนมากนะ ถ้ามันชัดเจนอย่างนั้นมันเป็นประโยชน์แล้ว

 

นี่พูดถึงว่า ถ้าจิตสงบแล้วถ้าทำอย่างนี้ปั๊บ เราจะมาเทียบเคียงได้ ผู้ที่เป็นปัจจัตตังเทียบเคียงเองไงว่า สิ่งที่มันเป็นจริงเป็นอย่างไร แล้วสิ่งที่เป็นความฝัน ความฝันเป็นอย่างไร

 

ฉะนั้น ฝัน เพราะเป็นความฝันแล้วแบบว่ามันก็ยึดเนาะ สงสัยเป็นอุบายคำเตือน คำเตือนเราเอง

 

พอมันฝันแล้วมันยิ่งทำให้เรางง

 

๑. เรางง

 

๒. ก็นี่คือการภาวนา

 

ถ้าภาวนาแล้ว เหมือนคนเจ็บไข้ได้ป่วย ใจเราป่วย แล้วเราพยายามจะรักษาใจ เราจะแก้ไขใจให้มันเป็นปกติ แล้วเราจะแก้อย่างไรล่ะ

 

คนเรานะ ทุกคนเกิดมามีอวิชชาคือป่วยทุกคน จิตใจของคนมันมีโรคประจำตัวอยู่ในหัวใจ แล้วถ้าคนคนหนึ่งมีสามัญสำนึกแล้วพยายามจะรักษาหัวใจของเรา แล้วเวลาทำไปแล้วมันล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ มันงงไปหมด เราจะทำอย่างไร มันจะทำอย่างไร ถ้าทำอย่างไรแล้ว เราพยายามฟื้นฟูใจของเรา

 

ถ้ามันป่วยหมายความว่า มันไปรู้ไปเห็น ไม่ภาวนาก็ไม่รู้อะไรเลย ภาวนาไปมันมีปัญหาไปหมดเลย มีปัญหาแล้วเราจะทำอย่างไร

 

เพราะมันเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายนอก หน้าที่การงานเขาตรวจสอบกันได้ มันเป็นผลประโยชน์ได้ แต่การภาวนามันเป็นปัจจัตตัง แต่นี้ถ้ามันจะแก้ มันก็มีครูบาอาจารย์เป็นคนคอยแก้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ใครจะแก้ให้

 

ถ้ามีครูบาอาจารย์ ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะแก้ ครูบาอาจารย์ต้องจิตที่สูงกว่า จิตที่สูงกว่าถ้าบอกตรงๆ นะ

 

“มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ ก็เห็นชัดๆ อยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่ได้อย่างไร”

 

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดตรงๆ หรอก ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านต้องบอกว่า สิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นรู้ไว้ แล้วเราพยายามทำใจของเรา ปฏิบัติให้มันเป็นความจริง แล้วมาเทียบเคียงกันเอง

 

คือคนที่หลงนั่นล่ะมันจะต้องพัฒนาจนรู้เอง คนที่ผิดพลาดนั่นน่ะ ผิดพลาดไปแล้ว สิ่งที่เป็นความผิดพลาด เราบอกว่านี่คือผิดพลาด แล้วเวลามันจะไป มันจะทิ้งจากผิดพลาดมาถูกได้อย่างไร

 

แต่ถ้าผิดพลาดแล้ววางไว้ก่อน แล้วเราพยายามทำของเราให้มันเป็นอริยสัจ ให้มันเป็นความจริง ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันถูกแล้วนะ เดี๋ยว อ๋อ! ความถูกมันเป็นแบบนี้ ความผิดเป็นอย่างนี้ มันทิ้งมาเอง มันทิ้งมาเอง

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจะฝัน เพราะมันห้ามไม่ได้ มันจะฝัน ฝันแล้ววางไว้ ไม่เอาความฝันเป็นประเด็น ไม่เอาความฝันเป็นหลัก เราจะเอาการภาวนาของเราเป็นหลัก เราจะเอาความจริงของเราเป็นหลัก

 

ถ้ามันฝัน ฝันก็คือฝัน วางไว้ก่อน แล้วเรามาปฏิบัติของเรา มาทำความจริงของเราให้มันเกิดปัญญาความจริงของเรา เห็นไหม พุทธปัญญา พุทธิปัญญา ปัญญาของพุทธะ ปัญญาของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่ไปจำของใครมา ถ้าเป็นพุทธปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันจะแยกแยะ ถ้าปัญญามันรู้จริง

 

เวลาพูด คนพูดมันรู้ อธิบายใหญ่เลย แต่ไอ้คนฟังยิ่งฟังแล้วยิ่งงงใหญ่เลย “หลวงพ่อเอาตรงๆ สิ ถามมาหลายทีแล้ว หลวงพ่อตอบเลี่ยงไปเลี่ยงมา ไม่ตรงสักที”

 

ไม่ตรงอะไร ไม่ตรงกับความเห็นของตัว ไม่ตรงกับกิเลสที่มันหลอกล่อไว้ เห็นไหม กิเลสมันฉ้อฉล กิเลสมันไม่ให้ใครภาวนาแล้วประสบความสำเร็จหรอก

 

ไอ้เวลาภาวนา ทุกคนภาวนา “แหม! ภาวนาทีไรทำไมมันยากขนาดนั้น มันปฏิบัติธรรมทำไมมันยุ่งยากขนาดนี้”

 

ธรรมะไม่ยุ่งยาก “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับบริษัท ๔ เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่ง อย่ามีสถานที่เป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งใดเป็นที่พึ่งเลย

 

“แล้วเราปฏิบัติธรรมทำไมมันยุ่งยากขนาดนี้”

 

ไม่ กิเลสต่างหากมันยุ่งยาก ความลังเลสงสัยของเรา ความไม่รู้จริงของเรา กิเลสต่างหากมันทำให้ยุ่งยาก มันยุ่งยากเพราะว่าสงสัย มันยุ่งยากเพราะล้มลุกคลุกคลาน มันยุ่งยากเพราะมันฉ้อฉล มันยุ่งยาก นี่ปัญญาของกิเลส แล้วพอปัญญาของกิเลสมันก็สร้างปัญหาให้เราตลอดเวลา

 

ทีนี้พุทธปัญญา ปัญญาของพุทธะ ทำความสงบของใจเข้ามา พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ปัญญาพุทธะ ถ้าปัญญาพุทธะออกมา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เห็นไหม สติ แล้วเวลาภาวนาขึ้นไปจนสูงขึ้นไปมันจะเป็นมหาสติ มหาสติ สติใหญ่มาก

 

สติยังล้มลุกคลุกคลานเลย เพราะมีสติมีปัญญามันถึงจะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วเวลาพัฒนาขึ้นไป บุคคลคู่ที่ ๑ บุคคลคู่ที่ ๒ บุคคลจะขึ้นคู่ที่ ๓ ต้องเป็นมหาสติแล้ว ถ้าไม่เป็นมหาสติ กิเลสขนาดนั้นนะ กิเลสที่ละเอียดกว่านั้นเราตามไม่ทันหรอก

 

ถ้ากิเลสละเอียดขนาดนั้นเป็นมหาสติ แล้วมันก็จะเป็นมหาปัญญา ปัญญาใหญ่ ปัญญาโต ปัญญากว้างขวางเลย นี่ปัญญาข้างหน้า นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติไปข้างหน้ามันยังละเอียดกว่านี้ มันจะมีปัญหามากกว่านี้ ถ้าละเอียด ปัญหามากกว่านี้ นั้นเป็นพุทธปัญญา เป็นปัญญาของพุทธะ เป็นปัญญาของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

 

แต่ขณะที่งงๆ อยู่นี่ “ถามหลวงพ่อมา ผมงงๆ หลวงพ่อตอบแล้วผมยิ่งงงใหญ่เลย งง”

 

เขาเรียกว่าตรรกะ ปัญญาของโลก จินตนาการไป มันไปของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่ภาวนามยปัญญามีหนึ่งเดียว เห็นไหม แสงเลเซอร์เวลามันรวมตัวแล้วมันยิงเข้าไปถึงตรงไหนนะ ตรงนั้นต้องหลุด ต้องขาดไปเลย เวลาเราใช้ปัญญาของเราไปแล้ว เวลาเป็นอริยสัจนะ มรรคสามัคคี

 

ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรมของมัน แล้วสามัคคี สามัคคีรวมลงแล้วสมุจเฉทปหาน เวลาภาวนาเป็นอย่างนั้น

 

ว่ามัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุล ความพอดี ฉะนั้น กิเลสของคนมันมีกิเลสหยาบ กิเลสหนา กิเลสปานกลาง กิเลสของคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ความสมดุลของใจดวงนั้น ความสมดุลของกิเลสที่ว่าธรรมะที่มันมีกำลังขึ้นมาจะชำระล้างกิเลสในใจดวงนั้นพอดีของมัน เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของมัน นี่ปัญญาพุทธะ ถ้าปัญญาพุทธะมันอันเดียวกันไง อันเดียวกันคืออริยสัจมันมีหนึ่งเดียวไง

 

แต่จริตนิสัยของคนมันแตกต่างกันไง ความหยาบละเอียดแตกต่างกัน ทีนี้การปฏิบัติมันถึงล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ไง แต่ขณะที่ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ เวลาปฏิบัติขึ้นมามันก็ยังเป็นการยืนยัน ยืนยันว่าเราได้ปฏิบัติ ยืนยันว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่เสียชาติเกิด

 

เกิดมาเป็นมนุษย์มีหน้าที่การงานเป็นเรื่องปกติ หน้าที่การงานของคนทุกคนต้องมีอยู่แล้ว แต่เวลาประพฤติปฏิบัติเป็นสมบัติส่วนตน เป็นสมบัติของใจ เห็นไหม คนจะมีสติปัญญาคือฝึกหัดภาวนา การทำศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้เราฉลาด ทำให้เรามีสติปัญญา

 

แต่ถ้าทางโลก มีสติปัญญาแบบนั้นมันเป็นสติปัญญาที่เขาใช้ตรรกะของเขา ใช้ปัญญาของเขาไตร่ตรองของเขา ใช้การวิจัยของเขา อันนั้นเป็นปัญญาของโลก แล้วก็มีที่ปรึกษา มีบริษัทต่างๆ ส่งต่อเนื่องกันมา แล้วเราเป็นผู้บริหารผู้จัดการเท่านั้น

 

ฉะนั้น เวลาทำของเราขึ้นมาให้มันเป็นแบบนี้ เขาถามเรื่องความฝัน แล้วความฝันจะเป็นประโยชน์ไหม ความฝัน ถ้าฝันเป็นมงคลมันเป็นประโยชน์

 

ทีนี้ที่เราห่วง เราห่วงว่า เอาความฝันกับความจริง เราอยากได้อริยสัจ แล้วมันจะปล่อยวางตรงนี้ เว้นไว้แต่ถ้าจริตนิสัยเราเป็นแบบนี้ จริตนิสัยหมายความว่าจิตคึกคะนอง จิตมันมีอำนาจวาสนานะ ถ้าจิตมันมีอำนาจวาสนา สิ่งที่รู้ที่เห็น เวลาเราภาวนาไปแล้วถ้ามันรู้จริงขึ้นมาแล้ว อันนี้มันจะเป็นบารมีธรรม เป็นเครื่องมือของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นนะ มันมีกำลัง มีปัญญา มันจะเป็นประโยชน์ไง มันจะรู้มันจะเห็นอะไรมหัศจรรย์ของมันไป แต่ขณะที่ปฏิบัติเริ่มต้น สิ่งนี้มันเป็นตัวรั้ง เพราะมันรู้มากเกินไป แล้วจิตกำลังไม่พอ มันแบกรับภาระ การภาวนาเลยไม่ก้าวหน้า

 

สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเมื่อภาวนาจบสิ้นแล้วมันจะเป็นประโยชน์มาก แต่ขณะที่ภาวนา สิ่งที่เป็นประโยชน์จะเป็นตัวรั้ง จะเป็นตัวที่เหนี่ยวรั้งให้เราล้มลุกคลุกคลาน เพราะมันต้องแก้ปัญหาเยอะไง

 

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า คนบ้านใหญ่ คนบ้านใหญ่ต้องเช็ดถูทำความสะอาดบ้านหลังใหญ่ เหนื่อยมาก คนบ้านหลังเล็ก ยิ่งเรามีกระต๊อบหลังเดียว โอ๋ย! เราดูแลรักษาง่ายเลย เพราะมีแต่กระต๊อบ อยากนอนก็กางที่นอน เก็บก็จบแล้ว แต่ถ้าบ้านหลังใหญ่มันต้องเช็ดล้างมาก ต้องเหนื่อยยากมาก ต้องลำบากมาก แต่บ้านหลังใหญ่ เสร็จแล้วคนอาศัยได้เยอะ

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นจริตอย่างนี้ การภาวนามันบ้านหลังใหญ่ มันก็เป็นตัวถ่วงตัวหน่วงให้เราต้องดูแลทำความสะอาดมาก ถ้ามันเป็นจริงนะ มันถึงยุ่งยาก แต่ถ้าบ้านหลังเล็ก เรามีแต่กระต๊อบ โอ๋ย! ยิ่งสบายเลย กวาดๆๆ เสร็จหมดแล้ว แค่กระต๊อบ ดูแลรักษาง่าย แต่เวลาจบแล้วก็อยู่คนเดียวนะ กระต๊อบมันแคบ คนอื่นมาอาศัยด้วยไม่ได้ นี่พูดถึงวาสนาของคน เราทำของเราไป

 

นี่พูดถึงความฝัน เสียงของหัวใจ

 

พุทโธไว้ พุทโธไว้ จะบ้านหลังเล็ก บ้านหลังใหญ่ เราพุทโธของเราไว้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไว้ รักษาใจของเรา ถ้าจิตเป็นสมาธิ มันไม่แบกหาม ไม่ทุกข์ยากจนเกินไป

 

จิตเป็นสมาธิแล้วพยายามหาหนทางของเราไป คือพาจิตออกใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาได้เป็นปัญญาพุทธะ แล้วเราจะปฏิบัติได้สมกับความปรารถนาของเรา ถ้าเรามั่นคง เราพยายามของเรา เราจะทำได้ของเราเพื่อประโยชน์กับตัวของเราเอง เอวัง