มือใหม่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “พิจารณาความโกรธในใจอย่างไรครับ”
หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นปัญหาที่ซ้อนๆ กันมา
ถาม : เรื่อง “พิจารณาความโกรธอย่างไรครับ”
เรื่อง “อาการจิตแบบนี้คืออะไรครับ”
เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อครับ และเรียนถามอาการของจิตครับ”
เรื่อง “วิปัสสนาหรืออุปาทานครับ”
หลวงพ่อ : คำถาม ๔ คำถาม คำถามทั้งหมดทั้งคำถามที่แล้ว คำถามครั้งที่แล้วคือ
ถาม : เรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิหรือไม่ พิจารณาความโกรธในใจอย่างไรครับ”
ตอบ : มันเป็นผู้ถามคนเดียวกัน ผู้ถามคนเดียวกันเป็นพระบวชใหม่ ถ้าพระบวชใหม่ถามมา ๔-๕ คำถามเรียงติดมาเลย แล้วคราวที่แล้วตอบเรื่องปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเคยถามมาข้างหน้าแล้ว เรื่องพิจารณาความตาย ฉะนั้น เป็นพระบวชใหม่ พระบวชใหม่คำถามถามเรียงๆ กันมาเลย แล้วถามเรียงๆ กันมา คำถามจะยาวมาก เดี๋ยวเราจะอ่านเฉพาะข้อสงสัยเลย แต่อารัมภบทที่อาการของการปฏิบัติ เราจะข้ามมาๆ ข้ามมาเพราะมันเยอะมาก มันเยอะมากหมายความว่า คนที่ปฏิบัติใหม่ไปรู้ไปเห็น ไปเห็นสิ่งต่างๆ มันก็มีความกังวลใจไปหมด คืออยากจะถาม
เราจะบอกว่า มือใหม่หัดขับ ถ้ามือใหม่หัดขับนะ การมือใหม่หัดขับ เวลาเขาขับรถใหม่ เขาจะเขียนไปเลยว่ามือใหม่หัดขับ อย่ามาใกล้ๆ นะ เพราะเดี๋ยวอาจจะเบรกกะทันหัน อาจจะโดนชนท้าย หรือว่าจะไปชนท้ายเขา มือใหม่หัดขับมันอันตราย เขาไม่ให้คนเข้าไปใกล้พวกที่หัดขับรถใหม่ เพราะเดี๋ยวอาการตกใจ เขาควบคุมสติเขาไม่ได้ เขาตัดสินใจอะไรไม่ถูกต้อง มันจะไปเกิดอุบัติเหตุ นี่มือใหม่หัดขับ
ถ้ามือใหม่หัดขับปั๊บ มันมือใหม่หัดขับทางโลกหมายความว่า ขับรถไป มือใหม่หัดขับ เราขับอย่างไร ถ้าเราตั้งสติ เราฝึกฝนไป เดี๋ยวมันจะมีความชำนาญมันก็จะพอขับไปได้ พอขับไปได้ อาศัยประสบการณ์ อาศัยความชำนาญ อาศัยการตัดสินใจบ่อยๆ ครั้ง อาศัยสิ่งต่างๆ ขึ้นมา อันนี้มันอยู่บนสมมุติฐานของความเป็นจริงคือบนถนน
ถ้าเรามือใหม่หัดขับ เริ่มต้นเราจะขับ เราก็ไปขับที่สนามซ้อมขับรถ เราจะไปขับของเราโดยที่ส่วนบุคคล ที่เฉพาะของเรา แล้วพอเรามีความชำนาญแล้วเราขึ้นมาบนถนนหลวง เรามีความชำนาญแล้วเราค่อยเข้าไปในเมือง ฉะนั้น ถ้าขับอย่างนี้ มือใหม่หัดขับมันยังฝึกขับไปแล้วมันมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ในการปฏิบัติไง ถ้ามือใหม่หัดขับ พอมีปัญหาขึ้นมา มันมีปัญหามาก
ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า “แก้จิตแก้ยากมากนะ แก้จิตนี้แก้ยากมากนะ การแก้จิตแก้ยาก ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ”
ผู้เฒ่าคือตัวหลวงปู่มั่นเอง
“ถ้าเดี๋ยวผู้เฒ่าตายไปแล้วหาคนแก้ไม่ได้นะ หาคนแก้ไม่ได้นะ”
เวลาคนแก้นะ เห็นไหม เพราะคนมันไม่มีประสบการณ์ เวลาเด็กๆ ขึ้นมา เราอยากให้เด็กมันหัดขับรถเป็น เราก็จะมีสนามฝึกซ้อม มีสนามเด็กเล่น สนามต่างๆ ให้เด็กมันฝึกหัดขึ้นมา ฝึกหัดขึ้นมามันก็มีประสบการณ์ของมันขึ้นมา
แต่การแก้จิตนี้แก้ยากนะ จิตนี้เป็นนามธรรม มันไม่มีสนามฝึกซ้อม มันไม่มีที่ฝึกซ้อม มันไม่มีที่เราจะมาฝึกหัดกัน ใครจะฝึกหัดก็ต้องฝึกหัดของจิตดวงนั้นขึ้นมา แล้วคนที่จะฝึกหัดก็ไม่ยอมฝึกหัดอีก พอฝึกหัด ว่าศาสนานี้มันไม่มี ภพชาติไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี ทุกอย่างไม่มี
สนามตัวเองเขายังหาไม่เจอนะ ยังปฏิเสธพิมพ์เขียว ไปปฏิเสธทุกอย่างหมดเลย แล้วปฏิเสธขึ้นมา คิดว่าปฏิเสธแล้วตัวเองจะมีความสำคัญ ตัวเองจะมีที่พึ่งอาศัย กลับไม่มีอะไรเลย ฉะนั้น ถ้ามือใหม่หัดขับมันจะมีปัญหามาก
ทีนี้เวลามีปัญหาขึ้นมา หลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านเรียนจบถึงมหา ในตำรับตำรา นิพพานก็เรียนจบหมดแล้ว แต่เวลาจะปฏิบัติจริงๆ เห็นไหม มือใหม่หัดขับเริ่มต้น ท่านบอกมีความสงสัยว่ามรรคผลยังมีจริงอยู่หรือเปล่า
ทั้งๆ ที่ศึกษามาแล้ว แล้วมีความตั้งใจด้วย มีความตั้งใจ มีแรงปรารถนา มีความพร้อมมา เพราะว่าท่านสร้างบารมีมา เพราะแม่ชีแก้วบอก แม่ชีแก้วพยากรณ์ไว้ว่าหลวงตาท่านก็เคยปรารถนาพระโพธิสัตว์เหมือนกัน
หลวงตาท่านบอกว่า เราไม่เคยบอกใคร แม่ชีแก้วรู้ได้อย่างไร
เพราะว่าข้อมูลใต้จิตสำนึก ข้อมูลในหัวใจมันเป็นข้อมูลที่คนที่เขารู้ได้เขาพอรู้ได้ ถ้าคนรู้ได้เขาเก็บไว้ในใจลึกๆ เขาไม่ยอมบอกใคร เห็นไหม มันพร้อมมาหมดแล้วยังมีความสงสัยขนาดนั้น ฉะนั้น ถ้ามีใครชี้ทางให้เราได้ เราจะถืออาจารย์องค์นั้นเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นครูบาอาจารย์ของเรา
เข้าไปหาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นบอกเลย “ท่านต้องการนิพพานใช่ไหม นิพพานไม่ได้อยู่บนอากาศ นิพพานไม่ได้อยู่บนแร่ธาตุ นิพพานไม่ได้อยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ในตำรับตำรา ไม่ได้อยู่ในทฤษฎี นิพพานมันอยู่ในหัวใจ”
นิพพานมันอยู่กับหัวใจ นี่ผู้ปฏิบัติ เห็นไหม นี่แก้จิต แล้วแก้อย่างไรล่ะ ขนาดอย่างนั้นยังต้องสมบุกสมบันมา นี่พูดถึงว่าคนที่ปฏิบัติ คนที่ปรารถนาสิ้นสุดแห่งทุกข์ คนที่ปรารถนาแนวทางที่ถูกต้อง มันต้องหาครูบาอาจารย์ที่ลงใจไง
แม้แต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นของจริง แต่ถ้าเราไม่ลงใจ คำว่า “ไม่ลงใจ” คือมันค้านในใจ พูดอะไรมามันก็ค้าน พูดอะไรมามันก็แฉลบ ใจเรานี่มันจะแฉลบ ไม่ยอมรับหรอก นี่เวลาจะหาครูบาอาจารย์ที่เรายอมรับได้นะ แล้วครูบาอาจารย์ที่ยอมรับได้ ครูบาอาจารย์ต้องมีเหตุผล
เวลากรรมฐานเขาคุยกันนะ ต้อง ต้อง ต้อง ต้องเป็นอย่างนี้เลย ภาวนาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นอย่างอื่นผิด
แต่เวลาเราปฏิบัติบอกนี่มันเผด็จการนะ นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย นี่เป็นเผด็จการ
เราเองเราก็คิดกันอย่างนั้นน่ะ คำว่า “ต้อง” อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว คนที่รู้จริงเขารู้อยู่แล้ว แล้วจะปฏิบัติแนวทางใดก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วมันต้องมาลงทางนี้ มัคโค ทางอันเอกมีทางเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว
จะวิธีการแตกต่างหลากหลาย จริตนิสัยแตกต่างหลากหลาย อำนาจวาสนาของคนแตกต่างหลากหลาย เห็นไหม เราบอกพันธุกรรมของจิตๆ ลายนิ้วมือไม่เหมือนกันสักคนหนึ่ง จิตของคนไม่เหมือนกันหมดเลย แต่นิพพานมีหนึ่งเดียว การเข้าสู่นิพพานก็มีทางเดียว มีทางเดียว ทางเดียวคือทางมัคโค ทางอริยสัจที่มันเป็นความจริง
ฉะนั้น ถ้ามือใหม่หัดขับมันก็ต้องล้มลุกคลุกคลานหน่อย แต่ถ้าเวลาเราจะภาวนานะ ยิ่งล้มลุกคลุกคลานยิ่งกว่ามือใหม่อีก เพราะว่ามือใหม่อย่างไรก็แล้วแต่ มันมีสนามฝึกซ้อม มันมีถนนหนทาง มันมีกฎจราจร มันมีสิ่งต่างๆ ว่า ขับตามๆ กันไป เขาขับไปข้างหน้า ขับตามเขาไป อยู่ห่างๆ ไว้ เดี๋ยวถ้าถึงไฟแดง เขาเบรก เราก็เบรก
มือใหม่หัดขับมันยังพอไปได้นะ แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติใหม่เวลามันมีปัญหาขึ้นมา เห็นไหม นี่คำถาม คำถามว่า “พิจารณาความโกรธในใจอย่างไรครับ”
อารัมภบทมา ๒ หน้า
“๑. ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของเราโดยตรง แต่อะไรเป็นตัวผูกความโกรธในใจเราไว้”
เห็นไหม ไม่ใช่เรื่องของเรา แล้วเราไปโกรธทำไมล่ะ ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราไปรู้ไปเห็นเข้า เราก็ไปโกรธ รูป รส กลิ่น เสียง อายตนะกระทบภายนอกภายใน มันเป็นเรื่องข้างนอก ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องข้างนอก
แต่เรื่องข้างนอก เราเห็นเขาเอารัดเอาเปรียบกัน เห็นเขากดขี่ข่มเหงกัน เราก็มีความไม่พอใจแล้ว ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เรารู้นี่ รู้ถูกรู้ผิด แต่ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเราคิดแล้วว่าไม่ใช่เรื่องของเรา แล้วทำไมมันผูกโกรธล่ะ ทำไมมันผูกโกรธล่ะ เพราะเราโง่ไง เพราะจิตใจของเรา เห็นไหม
เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านไปแล้วอยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก โดยไม่ติดโลก มันเป็นเวรเป็นกรรมกัน อย่างเช่น ดูสิ เวลาโจรผู้ร้ายมันจะฉกชิงวิ่งราว มันไปกระชากสร้อยเขาแล้วมีปัญหากัน ทีนี้คนเขาจะเข้าไปช่วย “นี่เรื่องของสามีภรรยานะ”
อ้าว! เรารู้ได้อย่างไร เป็นเรื่องอะไรของเขา เขาว่าเป็นเรื่องสามีภรรยากันน่ะ ทั้งๆ ที่มันเป็นการฉกชิงทองกันอย่างนี้ แต่เขาบอกเป็นเรื่องสามีภรรยา เราก็ไม่มีสิทธิ์แล้ว
เราจะบอกว่า แม้แต่เรื่อง เราจะเข้าไปช่วยเหลือเจือจานเขา เรายังมีโอกาสผิดพลาดได้เลย เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ถ้าเป็นเรื่องของเรา เรื่องของเราถ้ามันเป็นเขามาฉกชิงวิ่งทองของเราล่ะ เขามาฉกชิงทองของเรา นี่เรื่องของเราแล้ว เขาฉกชิงของเรามันเรื่องจริง นี่มันเป็นภายใน ภายนอก ภายใน
เขาบอกว่า “ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของเราโดยตรง แต่อะไรที่เป็นตัวผูกความโกรธไว้กับเรา”
ก็เราขาดสติ เพราะกิเลสของเรา เราไม่รู้เท่า ถ้าเรารู้เท่านะ พรหมวิหาร ๔ เรามีเมตตา มีกรุณา เรามีทุกอย่าง ถึงที่สุดแล้วต้องอุเบกขา มันเป็นกรรมของสัตว์ พูดถึงว่า กรรมของอุเบกขา พรหมวิหาร ๔ เราต้องมีพรหมวิหารธรรม
ถ้าเราไม่มีพรหมวิหารธรรมนะ เราทุกข์ตายเลย เราเห็นคนเขากดขี่ข่มเหงกัน เราเห็นคนที่เอารัดเอาเปรียบกัน เราทุกข์ตายเลยนะ แต่เราก็จะช่วยเหลือเขาถ้าเราช่วยเหลือได้ ถ้าช่วยเหลือไม่ได้ มันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มันยอมจำนน มันยอมจำยอมต่อกัน เขามีกรรมมีเวรต่อกัน เขาถึงมาเป็นอย่างนั้น มันเป็นกรรมของสัตว์ ถ้ากรรมของสัตว์ เรามีอุเบกขา มันวาง พอวางเข้า ความโกรธมันก็เบาลง ความโกรธไม่ใช่เรื่องของเราเลย แต่เราไปเห็นการเอารัดเอาเปรียบกัน ไปเห็นคนที่เขากดขี่ข่มเหงกัน เราก็ทุกข์
แต่เราบอกว่า ถ้าเราทุกข์แล้วถ้าเราไม่ทำสิ่งใดเลย แสดงว่าเราก็นิ่งเฉยมึนชาให้สังคมมันเลวร้ายไปใช่ไหม ไหนพระพุทธเจ้าบอกจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วทำไมเวลาสัตว์เอารัดเอาเปรียบ ทำไมไม่ช่วยเหลือเขา
ช่วยเหลือเขามันต้องไม่เป็นโทษ ช่วยเหลือเขา ถ้าเราไม่โกรธ เราไม่โกรธ เราไม่ลำเอียง เราเข้าไปในเหตุการณ์ใดเราก็เคลียร์ได้โดยที่ว่าเราไม่ไปเป็นเหยื่อของใคร ถ้าเราเป็นเหยื่อของใครนะ เราเข้าไปเป็นบุคคลที่ ๓ ยุ่งตายเลย
นี่ว่าข้อที่ ๑ เขาถามว่าพิจารณาความโกรธอย่างไรครับ
ข้อที่ ๒ “ผมเห็นความขุ่นเคืองค่อยๆ หายไปก็จริง แต่ก็ยังรู้สึกว่าเวทนากับผมเป็นอันเดียวกันอยู่ นึกถึงคำพูดที่ว่าเวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นจริงตามนั้น จึงอยากขอทราบวิธี”
เห็นไหม เวลาความโกรธ ทุกขเวทนา บอกทุกขเวทนา เวทนากับผมมันเป็นอันเดียวกัน
เพราะมันเป็นอันเดียวกัน พอเสวยอารมณ์ มันเป็นอันเดียวกัน จะบอกว่านี้ฟังเทศน์บ่อย เวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน คือความโกรธไม่ใช่เรา ถ้าความโกรธไม่ใช่เรา ถ้าเราไม่ฝึกหัดมา นี่มือใหม่ มือใหม่รู้วิธีการ เวลาคุยกัน ขับรถจะเอายี่ห้อนั้น โอ๋ย! จะเอารถอย่างดีเลยนะ แต่ยังขับรถไม่เป็น
นี่ก็เหมือนกัน ฟังเทศน์ว่าเวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน
อ้าว! ก็รู้อยู่ กฎจราจร ระเบียบจราจรรู้อยู่ เวลาขับไป เดี๋ยวจราจรมันจับ โดนปรับทันที เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ฝึก เราไม่มีความชำนาญ เรากะระยะไม่ถูก เห็นไหม เรากะระยะไม่ถูก เราจะเข้าที่ห้ามจอด ที่เข้าเลนเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาต่างๆ
นี่ก็เหมือนกัน จิตกับเวทนาไม่ใช่อันเดียวกัน ไม่ใช่อันเดียวกันต่อเมื่อครูบาอาจารย์ท่านฝึกปฏิบัติแล้วท่านรู้เท่าของท่าน เวลามันจะเกิดมันไม่กล้าเกิดหรอก เวทนา แอ๊ะๆๆ มันจะเกิด รู้เท่า รู้เท่า มันวางหมด มันอาย มันอายเลย เราโง่ขนาดนี้เชียวหรือ เราจะไปแบกรับขึ้นมาให้มันทุกข์หัวใจหรือ ถ้าสตินะ สติ มหาสติ มันรู้ทัน มันจะปล่อยวางได้ แต่คนที่เวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกันต้องคนที่ฝึกหัดแล้ว เข้าใจแล้ว ปล่อยวางได้จริงแล้ว
เข้าใจแล้วมันปล่อยวางไม่ได้มันก็เผลอ พอเผลอ มันโกรธจนหน้าดำหน้าแดงแล้ว พอมันรู้สึกตัว โอ้โฮ! เราผิดไปแล้ว เราพลาดไปแล้ว เราโกรธเต็มที่ไปแล้ว นั่นน่ะเพราะมันใช้เราจนหนำใจแล้ว พอสติเรากลับมา เรารู้เท่า
ฉะนั้น เวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นจริงตามนั้น ไม่เห็นจริงตามนั้นก็วางไว้ก่อน อันนี้มันเป็นสมบัติของเศรษฐีธรรม ครูบาอาจารย์ท่านเป็นเศรษฐีธรรม คนที่เป็นเศรษฐี เศษเงินเล็กๆ น้อยๆ ท่านเจือจานใครก็ได้หมด
แต่ของเรา เราคิดว่าเรารู้ไง จะเป็นเศรษฐีธรรมด้วย แต่เงินทองเล็กๆ น้อยๆ เราไม่มีจะใช้ เราทุกข์ตายเลย ฉะนั้น เราทุกข์ตาย วางไว้ เศรษฐีธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจจะความจริงเป็นแบบนั้น
แต่เรายังเห็นตามความเป็นจริงแบบนั้นไม่ได้ มือใหม่หัดขับ มือใหม่หัดขับแล้วก็จะบอกว่าขับสูตร ๑ เลย จะลงแข่งขันสูตร ๑ เป็นไปไม่ได้ เขาต้องขึ้นมาเป็นสเต็ปๆ ขึ้นมาจนจะขับสูตร ๑ ได้ นี่ก็เหมือนกัน ค่อยๆ ทำไป
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน ถูกต้องแน่นอน เวทนาเป็นอาการ จิตนี้คงที่ตายตัว จิตมันมีอยู่แล้ว เวทนามันเกิด มันจรมาชั่วคราวๆ เดี๋ยวก็สุขเวทนาก็มา เดี๋ยวก็ทุกขเวทนาก็มา นี่มันจรมา ของที่จรมามันไม่ใช่ตัวจริง
เวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกันอยู่แล้วแน่นอน แต่ขณะที่เรามือใหม่ เวทนากับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน เพราะดีใจ เสียใจ ทุกข์ใจ มันอันเดียวกันหมดล่ะ ทั้งๆ ที่ไปเห็นข้างนอก เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา เรายังไปเดือดร้อนแทนเขา แล้วเรื่องของเรา รถของเรายังไม่ได้ชนเลย เห็นเขาชนกันก็เดือดร้อนแทนเขา กลัวสิ กลัวตัวเองจะไปชนบ้าง
นี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องของเรา เรายังทุกข์เลย แล้วถ้ามันเป็นเรื่องของเราล่ะ พอเรื่องของเรา เวทนากับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน แต่ผมก็ยังแก้ไม่ได้ นี่มือใหม่หัดขับ ค่อยๆ ฝึกหัดฝึกฝนไป
ถาม : เรื่อง “อาการจิตแบบนี้คืออะไรครับ”
หลวงพ่อ : อารัมภบทมา ๒-๓ หน้า ข้ามหมด มือใหม่มันวิตกกังวล มันกลัวมาก
ถาม : แล้วก็อยากรบกวนให้หลวงพ่ออธิบายอาการของจิตตรงนี้หน่อยครับว่ามันคืออะไร เรียนหลวงพ่ออีกนิดหนึ่งว่า หลังจากขณะนั้นแล้วรู้สึกว่าบริกรรมพุทโธมันชัดเจนมาก ชัดกว่าหลายๆ ที พร้อมกับความตื้นตัน แต่ก็ได้แค่สักพักแหละครับ แล้วก็กลับมาเป็นปกติ ขอกราบเรียน
ตอบ : อาการจิตไง อาการของจิตเขาก็รำพึงรำพันของเขาไปว่า เขาบวชแล้วเขาก็มีความคิดอยากจะทำงานของเขา นี่เขาพูดของเขานะ คิดไปคิดมา พอคิดถึงสุดท้ายแล้วเขาบอกว่า ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดของโลก พระพุทธเจ้าคิดให้พ้นทุกข์ต่างหาก พอคิดได้อย่างนี้ปั๊บมันก็ปล่อย พอมันปล่อยปั๊บ เขาบอกว่าอาการแบบนี้มันก็ชัดเจนขึ้น พุทโธก็ชัดเจนขึ้น จิตใจก็ดีขึ้น
จิตใจดีขึ้นเพราะก่อนหน้านั้นเราไปคิดไง ว่าปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ใช้ปัญญาของเราไปเรื่อย แต่ปัญญาอบรมสมาธิแล้วคิดๆ ไป คิดไปถ้ามันเป็นโลกมันก็เป็นโลก คิดเป็นโลก เห็นไหม แต่พอพิจารณาไป สติ สมาธิ มันทันขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นมามันก็อย่างว่า มันเป็นภายใน พอเป็นภายในขึ้นมา พอเป็นภายในมันก็เป็นอิสระ พอภายในจะไปกำหนดพุทโธมันก็ชัดขึ้น ภายในจะทำอะไรก็ได้ไง
จิตกับเวทนา เวทนามันเป็นภายนอก เวทนามันเป็นขันธ์ จิตมันเป็นพลังงาน ถ้าเราใช้ปัญญาไป ปัญญาถ้าเราพิจารณาของเราไปมันเป็นเรื่องโลกๆ มันก็เป็นภายนอก มันเป็นภายนอกมันก็คิดแบบสัญชาตญาณที่เราคิด พอคิดโดยสัญชาตญาณนะ แต่ถ้าคิดเป็นเรา มันเสวยอารมณ์ มันยึดมั่นถือมั่น ถ้าเป็นสัญชาตญาณก็คิดโดยสัญชาตญาณ สัญชาตญาณถ้ามีสติปัญญา ด้วยสัญชาตญาณมันก็ปล่อย มันเป็นอิสระ พอเป็นอิสระขึ้นมามันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นสมาธิ มันเป็นอิสระ พอเป็นอิสระ มันพุทโธมันก็ชัดของมัน
ถ้ามันชัดของมัน มันชัดของมัน มันรู้จริงของมัน มันปล่อยวาง มันไม่เสวยอารมณ์ มันไม่เป็นอัตตา มันไม่ยึดมั่นถือมั่นของมัน พอบอกว่า นี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ พอเราเคยใช้ปัญญาแล้วมันปล่อยวางขึ้นมา ฉะนั้น พอเราใช้ปัญญาอย่างนี้ เราก็จะให้มันเป็นอีก เป็นอัตตา เป็นการยึดว่าจะเป็นของเรา จะเป็นความจริงอย่างนั้น มันก็ไม่จริง พอไม่จริงขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นมา มันปล่อยวางได้ก็เป็นได้ นี่พูดถึงอารมณ์อารมณ์หนึ่ง อารมณ์อารมณ์หนึ่งมันใช้ปัญญามา ถ้าปัญญามันเป็นอย่างนี้แล้ว
“อาการจิตแบบนี้คืออะไรครับ”
เวลาขับรถไป เวลาเหตุการณ์เฉพาะหน้ามันยังเกิดอีกเยอะมาก ฉะนั้น ถามมาเป็นตั้งเลยล่ะ แล้วอย่างว่า เขาไม่ได้ถามมาตอนนี้นะ ข้างหน้ายังถามต่อมา คำถามยังมีอยู่ข้างหน้าอีก คำถามว่า ที่ตอบปัญญาอบรมสมาธิไปแล้วซาบซึ้งมาก เขาว่าของเขาอย่างนั้น
อันนี้พูดถึงว่ามันเป็นปัญญา เพราะมือใหม่หัดขับ พอมือใหม่ขึ้นมา พอจิตเข้าไปมันมีอาการแบบนี้เยอะมาก แต่ดี ดีที่บอกว่ายังมีที่พึ่งไง ยังมีเว็บไซต์นี้เป็นที่พึ่ง ยังถามเข้ามา ทีนี้พอถามเข้ามา คนเรามันถามเข้ามา ความคิดภายในมันเยอะมาก พอความคิดภายในเยอะมาก เขียนมาด้วยนะ แล้วก็บอกขอโทษมาด้วย มันเขียนติดๆๆ กัน ขอโทษมาด้วย แต่มันก็ยังมีที่พึ่งที่อาศัย ยังมีที่เกาะ
ถาม : กราบขอบพระคุณหลวงพ่อครับ และเรียนถามอาการของจิตครับ
หลวงพ่อ : นี่ก็ถามไปอีกหลายหน้าเลย เราถึงบอกว่าเราไม่กล้าอ่านไง เพราะอ่านไปเลยกลายเป็นว่ามือใหม่หัดขับ ไอ้คนสอนนี่ไม่ใช่มือใหม่ ขับไม่เป็นเลย คนขับไม่เป็นแล้วไปสอนมือใหม่ยิ่งยุ่งใหญ่เลย เพราะคำถามมันยาวมาก ฉะนั้น ถึงบอกว่าไอ้คนถามถ้าพูดไปด้วยกลายเป็นว่าติงต๊องสอนติงต๊อง ฉะนั้น ไม่ใช่ติงต๊อง
ฉะนั้น คำถามเนาะ
ถาม : ๑. ตอนนี้เวลาจิตสงบ ตอนเดินจงกรม ผมพอรู้สึกว่าหัวพองบ้างนิดหน่อย ถ้าคนอื่นเขาเรียกกันอย่างนั้นนะครับ แต่ที่รู้สึกชัดเจนคือความอัดอั้น ความตื้นตัน มันจะมากน้อยตามช่วงที่เราจับพุทโธไว้อยู่ บางครั้งเวลาเราเผลอปล่อย ความอิ่มเอิบตรงนั้นคงติดค้างอยู่ ไม่ได้พรวดหายไปทีเดียว ส่วนความสงบของจิตยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าเงียบสงบมากนัก เพราะบางช่วงตอนบริกรรม ความคิดชอบแว็บเข้ามา ถ้ามันสั้นๆ แล้วเรารู้ทัน แล้วเราตัดได้ แต่ไปไม่ไกล ก็ยังดึงกลับมาได้ แต่มันก็ยังมีอาการท่องพุทโธ และคิดไปพร้อมๆ กันอยู่ในบางขณะ อาการอย่างนี้ถึงขั้นขณิกสมาธิหรือเปล่าครับ แล้วอัปปนาสมาธิกับอุปจาระมีอาการอย่างไรครับ
๒. เราจะรู้ได้เมื่อไหร่ครับว่า สมาธิขณะนี้ อารมณ์ขณะนี้ออกใช้ปัญญาได้แล้ว และจะต้องเฟ้นหาเรื่องขึ้นมาพิจารณาหรือเปล่าครับ หรือรักษาความสงบไว้ รอจนเรามีเรื่องผุดขึ้นมาเอง แล้วจึงหยิบมาเป็นโจทย์
๓. เวลาอ่านหนังสือหรือฟังเทศน์ เราควรจะรักษาสติของเราอย่างไรดีครับ กราบขอความเมตตา
ตอบ : เอาข้อที่ ๑ ก่อน ๑. ตอนที่ว่าเราเดินจงกรมอยู่ จิตมันสงบ รู้สึกว่าหัวมันพองขึ้นมาบ้างนิดหน่อย คนอื่นเขาเรียกกันอย่างนั้นนะครับ แต่คือว่าความเห็นของเรา ความเห็นของผู้ถาม “แต่ที่รู้สึกชัดเจนคือความอัดอั้น ความตื้นตัน มันจะมากน้อยตามช่วงที่จับพุทโธไว้อยู่ บางครั้งอาการเราเผลอปล่อย ความอิ่มเอิบตรงนั้นคงค้างอยู่ที่จิต ความสงบของจิตยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าจิตสงบมากนัก เพราะบางช่วงมันชอบแว็บ อาการแบบนี้เป็นสมาธิขั้นไหน”
อาการสิ่งนี้เป็นสมาธิ คำว่า “สมาธิ” คือจิตมันสงบ ทีนี้อาการที่หัวมันพองโต ร่างกายนี้มันพองโต ร่างกายมีความฟุ้งซ่าน ร่างกายมีการซาบซ่านต่างๆ เขาเรียกปีติ ปีตินี้มันเป็นได้หลากหลาย คำว่า “ปีติ” นี้คือชื่อ แล้วขยายความไปได้มากมาย อยู่ที่วาสนาของคน
บางคนวาสนามาก แค่ปีติมันรับรู้อะไรแปลกประหลาดมากเลย พอจิตมันสงบแล้วมันรู้ได้ แค่นี้ พอจิตมันสงบ จิตมันสงบแล้วมันออกรับรู้ รับรู้โดยจิต โดยจิตมันไม่ผ่านอายตนะ ไม่ผ่านโดยวิทยาศาสตร์ ไม่ผ่านโดยสามัญสำนึก ไม่ผ่าน มันจะรู้ของมันเอง
ทีนี้ความรู้ของมันเองมันอยู่ที่ถ้าใครสร้างผลบุญมามาก ใครทำอะไรมามาก มันจะรู้แปลกๆ แต่ถ้าใครสร้างมาพอประมาณมันก็แค่นี้ แค่รู้เฉพาะตัวพองขึ้น แค่รู้ตัวขยายใหญ่ขึ้น นี่เขาเรียกปีติ
ถ้าปีติมันเกิดขึ้น ปีติมันเกิดจากอะไร เกิดเพราะจิตมันสงบ อย่างเช่น รถถ้ามันขยับ รถมันหมุน เข็มไมล์มันก็จะกระดิก ถ้ารถจอดนิ่งๆ เข็มไมล์จะไม่กระดิก โดยสามัญสำนึกของเรา เราเป็นปกติ เราก็รับรู้ได้แค่นี้ อย่างเช่นเราเห็นพยับแดดเป็นม่านควัน เป็นอะไร เราก็ว่า เอ๊! แปลกเนาะ ขยี้ตาใหญ่เลย นี่เราเสียสติหรือเปล่า อันนี้เพราะมันรู้โดยธรรมชาติ รู้โดยอายตนะ แต่ถ้าจิตมันปล่อยวางเข้ามา มันสงบเข้ามา ที่มันรู้สิ่งต่างๆ ขึ้นมา นี่เกิดปีติได้ ถ้าเกิดปีติของจิต มันเป็นอาการแบบนั้น ถ้าเกิดปีติของจิต เราวางไว้
ปีติมันเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะจิตมันวาง มันวางสิ่งกระทบ มันวาง จิตมันต้องรู้ผ่านทางตา ผ่านทางหู ผ่านทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เห็นไหม มันต้องผ่าน
แต่ถ้าจิตสงบ จิตมันรู้โดยตรง รู้โดยตรง มันเกิดอาการตัวพอง อาการต่างๆ มันรู้โดยจิตมันสงบ ถ้าจิตสงบแล้วมันถึงเกิดปีติ แล้วพอเกิดปีติ แล้วพอมันรับรู้แล้วมันก็อยากรู้ต่อ รู้ต่อมันก็ออกมาเป็นอารมณ์ปกติ อารมณ์สามัญสำนึก มันก็รู้ไม่ได้ รู้ไม่ได้ก็งงไง พองง แล้วอย่างที่ว่า “อาการแบบนี้มันเป็นขณิกสมาธิหรือเปล่า แล้วเป็นอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ อาการเป็นแบบใด”
ขณิกสมาธิมันเป็นได้ ทีนี้คำว่า “สมาธิ” ในสมาธิ ในขณิกสมาธิ ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนา ในขณิกสมาธิเขาก็รู้ได้แปลกๆ แล้ว แล้วคนที่ปานกลางล่ะ แล้วคนที่อำนาจวาสนาน้อยล่ะ ขณิกสมาธิกว่าจะสงบได้ก็เกือบเป็นเกือบตาย เห็นไหม ในอุปจาระมันก็มีอย่างหยาบ มีอย่างกลาง มีอย่างละเอียด แล้วแต่อำนาจวาสนาของคน
ในอัปปนาก็เหมือนกัน ในอัปปนานะ เวลาจิตมันสักแต่ว่ารู้ คนที่มีอำนาจวาสนาอยู่ได้ ๗-๘ ชั่วโมง อยู่ได้นานมาก แล้วมันอิ่มเอิบมาก อิ่มเอิบ สักแต่ว่ารู้ แต่มันชัดเจนของมัน แล้วคลายตัวออกมาจากเป็นอัปปนาเป็นอุปจาระ บางคนเข้าไป เข้าไปชั่วโมงหนึ่ง บางคนกว่าจะเข้าได้ การเข้าอัปปนา คนที่ไม่มีความชำนาญเข้าได้ยาก แต่คนที่มีความชำนาญจะเข้าได้บ่อย เข้าได้บ่อยก็มีความชำนาญมาก ความชำนาญมากปั๊บ จิตมันก็มีกำลังมาก มันจะรับรู้สิ่งต่างๆ มาก อันนี้มันเป็นเรื่องอำนาจวาสนาของจิต มันไม่ใช่เรื่องอริยสัจ มันไม่ใช่เรื่องของมรรค เรื่องของมรรค จิตแค่สงบ พอจิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเป็นภาวนามยปัญญา
สมาธิเป็นสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิก็คือสมาธิ แต่สมาธิ สมาธิที่เรามีกำลังมีฐานดีแล้วเราออกฝึกทำงาน นั้นมันเป็นอีกกรณีหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่ง แล้วอย่างนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นอุปจาระ
แล้วทำไมเราต้องไปรู้ล่ะ
อย่างเช่นเราทำงานใช่ไหม เงินเดือนเราเดือนละ ๕,๐๐๐ เราต้องรู้สิ ๕,๐๐๐ ขนาดไหน ถ้าบอกว่าไม่ต้องรับรู้เลย ๕,๐๐๐ นี้ เขาให้ ๕๐๐ ก็ว่า ๕,๐๐๐ ไม่ใช่
๕,๐๐๐ ก็คือ ๕,๐๐๐ ทีนี้ ๕,๐๐๐ แล้วเราจะใช้อย่างไร เราจะใช้ ๕,๐๐๐ นี้อย่างไร เราใช้ประโยชน์อะไร ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ตัวเลขการนับ ๕,๐๐๐ หรือ ๕๐๐ หรือ ๕ บาท มันเป็นจำนวนที่นับได้ แต่ถ้าเป็นสมาธิล่ะ สมาธิ เวลาความสงบ เงินที่เราพอใจ มันอยู่ที่ว่าเราพอใจแค่ไหน เราพอใจหมายความว่า เรามี ๕ บาท เราไม่ต้องการใช้เงินเลย ๕ บาท เราก็พอแล้ว แต่เราจำเป็นต้องใช้มากขึ้น ๕๐๐ พอไหม ๕,๐๐๐ พอไหม
คำว่า “จำนวนเงิน” จำนวนเงินคือจำนวนเงิน แต่จำนวนของสมาธิ สมาธิผู้ที่ใช้สมาธิ ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ การใช้สมาธิมากน้อยแค่ไหน อันนี้มันเป็นเวลาใช้ประโยชน์ ฉะนั้น มันจะรับรู้ได้ รับรู้ได้ที่คนที่เขามีความคล่อง มีความชำนาญ
ฉะนั้นจะบอกว่าจะแค่นั้นๆ เพราะกรณีอย่างนี้มันเป็นผู้ที่ฝึกหัดใหม่ พวกนักวิทยาศาสตร์ พวกที่เป็นปัญญาชนเขาจะบอกว่า มรรคสามัคคีต้องใช้สติเท่าไร สติจำนวนน้ำหนักเท่าไร จำนวนเท่าไร ปริมาตรเท่าไร แล้วก็ความเพียรชอบ ความเพียรชอบใช้จำนวนเท่าไร แล้วสมาธิชอบ แล้วงานชอบ เขาจะคำนวณไง คำนวณแล้วก็พยายามจะสร้างจำนวนขึ้นมาให้มันสมดุล มันจะได้เป็นมรรคสามัคคี มันจะได้เป็นมรรค สมุจเฉทปหาน จะฆ่ากิเลสไง จะฆ่ากิเลส จะกลับไปชั่งจำนวนของมรรค ๘ นี่ความคิดวิทยาศาสตร์เป็นแบบนี้
แต่ถ้าเป็นทางธรรม เราทำความสงบของใจเข้ามาแล้วฝึกหัดใช้ เราต้องฝึกหัดฝึกฝน ไม่ใช่มือใหม่หัดขับ แล้วไม่ใช่นักปฏิบัติใหม่ นักปฏิบัติที่ปฏิบัติจนคล่อง มีความชำนาญของเขาขึ้นไป อันนี้จะเป็นประโยชน์ของผู้ที่ปฏิบัติ
ฉะนั้น คำถามมันถามว่า “แล้วอาการแบบนี้เป็นขณิกสมาธิหรือเปล่า แล้วอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ อาการเป็นอย่างไร”
เดี๋ยวเราขับให้ชำนาญก่อน เดี๋ยวจะมีแมวมองมามองว่าคนนี้มีความชำนาญแล้วเขาจะดั๊มป์ตัวขึ้นไปเป็นนักขับรถแข่ง ขอให้มีความชำนาญก่อน ไม่ต้องไปห่วงข้างหน้า อันนี้วางไว้
“๒. เราจะรู้ได้เมื่อไหร่ว่าสมาธิที่มีอารมณ์ขณะนี้ออกใช้ปัญญาได้แล้ว แล้วจะต้องเฟ้นหาเรื่องขึ้นมาพิจารณาหรือเปล่าครับ”
เราทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วมีความสงบมีความระงับ แล้วมีความอิ่มเอิบ ถ้าเราคลายตัวออกมาเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาในเรื่องอะไร ในเรื่องที่ว่า เรานั่งสมาธิ เราเกิดมาเป็นลูก พ่อแม่มีบุญคุณขนาดไหน เราเกิดมาเป็นคนมีอำนาจวาสนาขนาดไหน เราเกิดมาเป็นคนแล้วเรามีสติปัญญา เราไม่หลงไปทางโลก เรายังเห็นคุณค่าของเรา เรายังมาปฏิบัติ นี่เราคิดแบบนี้ ถ้าจิตสงบแล้วคิดอย่างนี้มันยิ่งซาบซึ้ง
แต่ถ้าจิตไม่สงบนะ เราคิดแบบนี้บอกไม่ได้ เกิดมาเป็นคนต้องทำงาน ถ้าเราไม่ทำงาน เราจะไม่เทียมหน้าเทียมตาโลก เดี๋ยวเราจะไม่ทันโลกเขา โลกเขา บิล เกตส์ มันเป็นเศรษฐีโลกแล้ว เราต้องตามให้ทัน นี่ถ้ามันไม่มีตรงนี้มันจะคิดไปแบบนั้น
แต่ถ้าพอมีสมาธิขึ้นมาแล้ว พอออกฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา เราคิดของเราอย่างนี้ แล้วพอคิดอย่างนี้อีกอย่างหนึ่ง แล้วว่า “เราต้องเฟ้นหาเรื่องขึ้นมาพิจารณาหรือเปล่า แล้วมันจะต้องรอให้ผุดขึ้นมาเองไหม”
ถ้ารอผุดขึ้นมาเอง มันฝึกหัด เวลาผุดขึ้นมาเอง ผุดขึ้นมา มันต้องผุดอยู่แล้ว ธรรมชาติมันผุดอยู่แล้ว ความคิดมันเกิดตลอดเวลา แต่เรามีสติปัญญาเห็นมันหรือเปล่า จิตเราสงบพอไหม จิตเราสงบ เพราะอะไร เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าเห็นจริงแล้วจับได้ นี่วิปัสสนาเกิดตรงนั้น เวลามันผุดขึ้นมานะ ผุดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ผุดเลยก็ไม่มี ผุด รอให้มันผุด มันเอาที่ไหนมาผุด ถ้ามีความชำนาญแล้ว พอมันจับได้แล้วมันพิจารณาของมันได้
ฉะนั้น กรณีนี้ว่า มือใหม่หัดขับ จะเป็นอย่างนั้นๆ เดี๋ยวมันจะเป็นจริงถ้าเราฝึกของเราไป จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาแล้ว ถ้ามันใช้ปัญญาจนฟั่นเฝือแล้วกลับมาทำความสงบของใจ พอใช้ปัญญาไปแล้ว ใช้กำลังไปแล้ว ขับรถ นั่งขับรถทั้งวันไม่ได้หรอก ต้องลงจากรถพักผ่อนบ้าง คนจะนั่งอยู่ในรถแล้วตะบี้ตะบันขับทั้งวัน คนนั้นตาย ผู้ที่เขามีอาชีพขับรถนะ เขายังขับรถกี่ชั่วโมง เขาต้องให้เปลี่ยน ๒ มือเปลี่ยนกัน ถึงเวลาพักผ่อนของเขา
จิตก็เหมือนกัน ทำความสงบของใจ พอออกฝึกหัดใช้ปัญญา เราต้องกลับมาทำความสงบของใจ พักผ่อน กลับมาพักผ่อน พักผ่อนเสร็จแล้วออกทำงาน นี่ไง ถ้าจิตสงบแล้วออกทำงาน
ถ้าจิตเราไม่เคยสงบเลย เราบอกว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ใช้ปัญญาอะไร นั่นปัญญาของโลก ก็เหมือนเราเล่นเกม กดได้เก่งมากเลย พอไปเจอรถจริงๆ ขับไม่เป็น ในเกมแข่งรถแข่ง เราคะแนนที่หนึ่ง กดนี่แหม! เก่งมาก
นี่ก็เหมือนกัน คิดว่าเราจะใช้ปัญญาอย่างนั้นๆ...ไม่ใช่หรอก แต่ต้องทำจิตสงบก่อน จิตสงบก็มีตัวตน มีผู้ขับรถ มีรถ มีผู้ขับรถคือจิต ถ้าไม่มีรถคือยังไม่เห็นกาย ไม่เห็นเวทนา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นธรรม ก็ยังไม่มีรถ
ถ้าจิตมันสงบแล้ว ผุดขึ้นมาคืออาการธรรมารมณ์ คืออาการของจิต ถ้าจับได้ก็มีรถ มีคนขับ มีรถ เดี๋ยวไปได้แล้ว นี่แก้จิตๆ เขาแก้กันอย่างนี้ ฉะนั้น แก้อย่างนี้ ต้องอย่างไรๆ ต้องให้มันเป็นตามจริงแล้วมันถึงจะได้
“๓. เวลาอ่านหนังสือหรือฟังเทศน์ จะรักษาสติของเราอย่างไร”
มีสติอ่านหนังสือก็มีสติอ่านหนังสือก็จบ ฟังเทศน์มีสติระลึกรู้สึกตัวอยู่ เสียงเทศน์มาแล้วเราศึกษาอย่างนั้น เราเข้าใจอย่างนั้นมันก็ได้ ถ้ามันได้อย่างนั้นมันก็เป็นความจริงแบบนั้น จบ
ถาม : เรื่อง“วิปัสสนาหรืออุปาทาน”
หลวงพ่อ : อีก ๒-๓ หน้า ผ่านไป อีก ๒-๓ หน้าเลยล่ะ
ถาม : ๑. อาการอย่างนี้เป็นวิปัสสนาจริงหรืออุปาทานครับ เพราะหลวงพ่อเคยบอกว่าวิปัสสนาต้องอาศัยฐานคือสมถะช่วย ไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่
๒. อาการของผมไม่ใช่อัปปนาสมาธิแน่ๆ แต่เท่าที่ผมจำได้ ขั้นตอนสมาธิสูงขึ้นไป จะละวิตก วิจาร เป็นอย่างแรก แต่นี่คำบริกรรมยังอยู่ แต่อารมณ์ปีติสุขหายไป ผมเลยคิดว่าเราอาจจะเลี้ยวผิดหรือเปล่า แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่าเราได้เห็นอย่างนั้นจริงๆ ภาวะตอนนั้นมันไม่ใช่เราชัดเจน คำบริกรรมก็ชัดเจน สิ่งที่เห็น สิ่งที่รู้ก็ชัดเจน
๓. แต่ถ้ามันผิด รบกวนตบหน้าผมแรงๆ ให้ตื่นหน่อยครับ จะได้ไม่หลงไปกับมัน กราบขอบพระคุณ
ตอบ : ตบแรงๆ เลยเนาะ อันนี้เขาบอกเขาใช้ปัญญาของเขามา ใช้ปัญญาของเขามา พอใช้ปัญญา มันท่องพุทโธมาเรื่อย แล้วก็คิดถึงความตายเป็นธรรมดา แล้วก็สติมันรู้เท่า ฉะนั้น อาการแบบนี้เป็นวิปัสสนาหรือเปล่า
ถ้าอาการแบบนี้เป็นวิปัสสนาหรือเปล่า ไม่เป็นแน่นอน เพราะกรณีอย่างนี้ที่เวลาหลวงตาท่านพิจารณาของท่าน เวลาจิตของท่านสูงมาก แล้วจิตเวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อย เอ๊ะ! อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ ท่านบอกว่า เอ๊ะ! อย่างนี้ท่านไม่เอาเลย เพราะเอ๊ะ! มันสงสัย
นี่ก็เหมือนกัน อาการแบบนี้แสดงว่า เอ๊ะ! อาการแบบนี้เรายังสงสัย “อาการแบบนี้เป็นวิปัสสนาหรือเปล่า” ไอ้นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ
“อาการเป็นวิปัสสนาจริงหรือเปล่า เป็นอุปาทานหรือเปล่า”
ถ้าเราเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราอบรมสมาธิเข้ามา เป็นสมาธิขึ้นมาแล้วเราก็รักษาของเรา ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมามันก็ปล่อยวางใช่ไหม พอปล่อยวาง เวลามันคิดอีก พอจิตสงบแล้วมันคิดขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญา จับแล้วใช้ปัญญาต่อเนื่องไปเลย นั่นน่ะเป็นวิปัสสนา ถ้ามันวิปัสสนาไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาอย่างนี้ มันจะปล่อยเข้ามา
ระหว่างสมถะกับวิปัสสนา ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ เพราะในสมถะ ถ้าไม่มีปัญญา มันจะเป็นสมถะไม่ได้ ปัญญาอบรมสมาธินี่เป็นปัญญา แต่ปัญญาเป็นโลกียปัญญา ใช้ปัญญาแล้วเวลาปัญญามันรู้เท่า พอรู้เท่าปั๊บ มันปล่อย มันปล่อยเป็นสมถะ พอเป็นสมถะแล้ว พอเป็นสมถะแล้วถ้ามันออกรู้ เป็นสมถะ จิตสงบแล้วมันจับ มันชัดเจน
เพราะคำถามแรกๆ บอกว่า เวลามันปล่อยแล้วมันปลอดโปร่ง มันโล่ง มันมีความสุข มันมีความมั่นใจ มันปลอดโปร่ง มันกำหนดพุทโธได้ชัดเจน
นั่นน่ะสมถะ พอสมถะแล้วถ้ามันจับได้ มันเห็นของมัน นั่นน่ะวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไปแล้วมันฟั่นเฝือ เราก็ปล่อยกลับมาทำสมถะอีก เห็นไหม ในสมถะก็วิปัสสนา ในวิปัสสนามีสมถะ แต่ต้องเป็นปัจจุบัน มีสติปัญญาอยู่ในปัจจุบัน ถ้ารู้เท่าทันปัจจุบัน เราปฏิบัติไปมันจะเป็นปัจจุบัน
แต่ถ้ายังไม่เป็นปัจจุบัน นี่มือใหม่หัดขับ มันพะว้าพะวัง มันละล้าละลัง มันจับพลัดจับผลู ต้องฝึกไป ต้องมีปัญญาไป พอฝึกหัดใช้ปัญญาไปมันจะรู้เท่าทันของมัน ถ้ารู้เท่าทันของมัน มันก็จะเป็นประโยชน์กับมัน
ฉะนั้น “อาการอย่างนี้เป็นวิปัสสนาจริงๆ หรือเป็นอุปาทานครับ”
อาการอย่างนี้ถ้าเราสงสัย เราเอ๊ะ! หรือไม่แน่ใจ มันไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่มันก็ไม่ผิด เพราะไม่ใช่ เราก็ทำใช่ไหม ไม่ใช่เพราะเราต้องทำความสงบ พักขึ้นมา แม้แต่เราจะปฏิบัติสูงส่งขนาดไหนมันต้องใช้กำลังไปตลอด ใช้กำลัง เพราะกำลังคือสมาธิ
ฉะนั้น ถ้าจิตของเรามันยังลังเล มันยังจับจดอยู่ กลับมาทำสมาธิไม่ผิดหรอก กลับมาทำสมถะ ไม่มีอะไรเสียหายนี่นะ
ทีนี้คนเรามันวิตกกังวล อย่างนี้เป็นวิปัสสนาหรือเป็นสมถะ กลัวว่าเป็นสมถะแล้วจะไม่ได้ผลงานไง อยากจะได้วิปัสสนาตลอดไป ไม่ต้องการสมถะ เพราะสมถะมันเป็นสมาธิ มันเป็นที่พัก มันไม่ใช่ผลงาน ถ้าเป็นวิปัสสนามันจะได้ผลลัพธ์ มันอยากได้ผลงาน
ฉะนั้น เวลาเราทำไป มันต้องอาศัยกัน มันต้องเกื้อกัน ถ้ามันไม่มีสมถะ มันไม่มีกำลัง มันจะเป็นวิปัสสนาได้อย่างไร ถ้ามันวิปัสสนาไป ถ้าไม่มีสมถะ มันจะวิปัสสนาไม่ได้ ถ้าเป็นสมถะอย่างเดียว เราก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ถ้าเจริญก้าวหน้า เราต้องใช้วิปัสสนา มันต้องเกื้อหนุนกันน่ะ ฉะนั้น เราไม่ต้องวิตกกังวลตรงนี้ แล้วไม่ต้องไปว่ามันจะเป็นสมถะหรือมันเป็นวิปัสสนา จับ ใช้ปัญญาปล่อยเข้ามา แล้วถ้ามันชัดเจนขึ้นมามันก็ดีอยู่แล้ว เพราะมันบอกว่า เวลาภาวนาไปแล้ว ข้อ ๒ บอกว่า “อาการของผมไม่ใช่อัปปนาแน่ๆ แต่เท่าที่ผมจำได้”
เห็นไหม มันไม่ใช่แน่ๆ แต่มันก็มีผลไง มันไม่ใช่อัปปนาแน่ๆ แต่มันก็มีผลใช่ไหม มีผลว่า “มันชัดเจนขึ้นมา สมาธิสูงขึ้น วิตก วิจาร มันปล่อยวางได้ แต่คำบริกรรมก็ยังอยู่ แต่อารมณ์ปีติ สุขหายไป ผมคิดว่าผมอาจจะเลี้ยวผิด”
ก็ลูกศรชี้ ลูกศรชี้ห้ามเลี้ยวซ้าย ห้ามเลี้ยวขวา เราก็ไม่เข้า ถ้าห้ามเลี้ยวซ้าย เข้าไปก็โดนปรับ ผิดกฎจราจร ไอ้นี่เขาพูดเองว่าเขาเข้าใจว่าเขาเลี้ยวผิด เข้าใจว่าเลี้ยวผิดคือว่าทำไปแล้วมันสงสัย มันไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม เราวาง
การปฏิบัตินะ ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นน่ะ หลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านเล่าว่า หลวงปู่มั่นเวลาท่านพูด เวลาท่านตกทุกข์ได้ยาก ตกทุกข์ได้ยาก คนเราปฏิบัตินะ ไม่ใช่เจริญก้าวหน้าอย่างเดียวหรอก มันต้องมีการเสื่อม มันมีการเสื่อม มีการถอย มีการท้อแท้ แล้วพอท้อแท้แล้วก็ต้องปลุกปลอบใจของตัวเองขึ้นมาให้ต่อสู้
เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดถึงเวลาท่านจิตเสื่อม เวลาท่านภาวนาไป ไปอยู่ในที่กันดาร เวลาท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาต้องเบือนหน้าเข้าข้างกุฏิ น้ำตาไหล ยังสงสารท่านเลย
เวลาปฏิบัติไปมันก็มีอุปสรรค มันมีทุกๆ อย่าง แล้วเวลามีอุปสรรค เราก็วางไว้ แล้วเราพยายามทำของเรา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาเราเลี้ยวผิด คือเราจะไม่ให้เราผิดเลย ไม่ให้เราผิดเลย เราก็กดดันตัวเอง
เวลานักปฏิบัติจะกดดันตัวเองมาก ต้องได้อย่างนั้นๆ จะต้องได้อย่างนี้ มันก็ไปกดดันตัวเอง ถ้ามันไปกดดันตัวเอง มันก็กลัว กลัวเลี้ยวผิด กลัวเสียเวลา ถ้ากลัวเสียเวลา พอมันผิดไปก็ยิ่งเสียใจใหญ่
เรากลัวเลี้ยวผิด ถ้าเราผิดไปแล้วนะ ถ้าเราผิดไป เรามีสติปัญญาเท่าทัน เราก็ถอยกลับซะ วาง แล้วเริ่มต้นใหม่ วาง เริ่มต้นใหม่ อย่าไปฝังใจ
เราจับพลัดจับผลู เราไม่รู้หรอกว่าเราจับถูกหรือจับผิด แต่ว่าอาการมันเป็น เห็นไหม ที่หลวงปู่ดูลย์บอก สิ่งที่เห็น เห็นจริงไหม เห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง
เราเห็นจริงๆ ก็มันเกิดขึ้นมา การภาวนามันเกิดขึ้นมา มันรู้เห็นขึ้นมา เราก็รู้เห็นขึ้นมา เราก็ต้องพิจารณาแยกแยะ มันถูกหรือผิด พอมันรู้เห็นขึ้นมา เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ไม่จริงเพราะเรายังมีกิเลสอยู่ ไม่จริงเพราะเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์
นี่ก็เหมือนกัน “ผมเข้าใจว่ามันอาจจะเลี้ยวผิด”
เลี้ยวผิด เราก็ถอยออกมา แล้วทำของเราขึ้นไปใหม่ ทำอย่างนี้ต่อเนื่องไป ทำของเราต่อเนื่องไป ถ้าทำต่อเนื่องไป มันจะเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมาเอง
นี่พูดถึงว่า “ผมเข้าใจว่าผมอาจจะเลี้ยวผิด แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่าเราเห็นอย่างนั้นจริงๆ ภาวะตอนนั้นมันไม่ใช่เราชัดเจน คำบริกรรมก็ชัดเจน สิ่งที่เห็น สิ่งที่รู้ก็ชัดเจน”
สิ่งที่ชัดเจน ถ้ามันชัดเจน ถ้าเป็นธรรมเขาเรียกว่าปัจจัตตัง ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน รู้ชัดๆ รู้จริงๆ เกิดสันทิฏฐิโก นี่ถ้าเป็นความจริงนะ
แต่นี่บอกว่าเรารู้ชัดเจน ชัดเจนขนาดนั้น เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นยังไม่จริง เห็นไม่จริงเพราะอะไร ไม่จริงเพราะว่า มันเป็นวิปัสสนาหรือเปล่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า
ก็เรายังสงสัย สงสัยถึงถามมา ถ้าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แสดงว่าเราสงสัย ถ้าสงสัยนี่มันไม่จริง ทั้งๆ ที่ว่าเราชัดเจน ชัดเจนก็ชัดเจน นี่คือประสบการณ์ แล้วเราทำของเราต่อเนื่องไป
“๓. แต่ถ้ามันผิด รบกวนหลวงพ่อตบผมแรงๆ ให้ผมตื่นหน่อย จะได้ไม่หลงใหลไปกับมัน”
การตบแรงๆ ตบแรงๆ ต่อเมื่อละล้าละลัง ต่อเมื่อเวลาถามปัญหาขึ้นมาแล้วปัญหาจะเป็นอย่างนั้นๆ แล้วเราเข้าใจ อย่างนี้มันเป็นการละล้าละลัง เป็นการที่ว่ายังตัดสินใจไปไม่ได้ทางใดทางหนึ่ง แล้วคิดว่าตัวเองถูก นั่นน่ะเราจะแรง
แต่ถ้าพูดถึงว่า ถ้าเรามีสติมีปัญญา มีสติหมายความว่า เรายอมรับผิด เรารู้สึกสำนึกตน อย่างนี้มันน่าสงสาร เราบอกทางกัน
การตบแรงๆ คือคนทิฏฐิมานะไปทางที่ผิดแล้วยังดันทุรังไป อย่างนี้แรงๆ ถ้าผิดแล้วยังดันทุรังว่าฉันถูก ฉันถูกต้อง ฉันดีงาม อย่างนี้ต้องลงปฏัก แต่ถ้าพูดถึงว่าเราจะไปข้างหน้าผิดหรือถูกเรายังไม่แน่ใจ ลงแรงไปแล้วจะไปทางไหนล่ะ
ถ้าลงแรงไป ลงแรงไป เราถูกหรือผิด เรายังละล้าละลัง ยังอยู่ เรายังไปไม่ได้ เราก็กลับมา กลับมาทำความสงบของใจให้มั่นคง ให้ร่มเย็นเป็นสุข ให้จิตใจร่มเย็นเป็นสุข ให้จิตใจองอาจกล้าหาญ ให้จิตใจมั่นคง มันกล้าเดิน มันกล้าเดิน มันกล้าบุกเบิก มันกล้าทำไป ผิด เดี๋ยวรู้เอง บุกเข้าไป ทำเข้าไป ถ้ามันผิด อ้าว! ผิด ถอยกลับมาทำใหม่ ถูก ลุยเข้าไปเลย ทำเข้าไปเลย
ในการปฏิบัติ เห็นไหม แก้จิตนี้แก้ยาก แก้ยากเพราะอะไร เพราะมันเป็นความรู้เฉพาะตน ความสะอาดบริสุทธิ์รู้จำเพาะตน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ต่อเมื่อท่านได้ฟัง พยากรณ์ว่าถูกหรือผิด
แต่ความถูกความผิดเป็นความเห็นเฉพาะตน ความเห็นเฉพาะจิตผู้ที่กระทำ ความเห็นจิตเฉพาะผู้รู้ แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำมาแล้วนะ อาการอย่างนี้ท่านผ่านมาหมด บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แน่นอน ชัดเจน
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาแล้วนะ ไม่เคยหวั่นไหว ไม่เคยวิตกกังวล ไม่มีอะไรสิ่งใดจะทำให้โยกคลอนได้ เพียงแต่ว่าความจริงรู้จำเพาะตนในใจดวงนั้น
แต่ใจของเรายังโลเลอยู่ ใจของเรายังประพฤติปฏิบัติอยู่ แต่เราก็หวังพึ่งกันเนาะ หวังพึ่งครูบาอาจารย์เป็นคนคอยชี้แนะ ไม่ให้เราเดือดร้อนจนเกินไปนัก เพราะเวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านล้มลุกคลุกคลานมา ท่านเห็นใจมากนะ เราอาบเหงื่อต่างน้ำแล้วคว้าสิ่งใดไม่ติดมือเลย เราก็ท้อแท้นะ แต่การอาบเหงื่อต่างน้ำยังมีผลประโยชน์ติดไม้ติดมือนะ เห็นไหม วิดทะเลทั้งทะเลเลย ได้ปลาสร้อยตัวหนึ่งก็ยังดี วิดทะเลทั้งทะเลเลย ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือมาเลย โอ๋ย! มันท้อแท้นะ
คนที่ปฏิบัติมา ท่านเคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา ท่านเห็นใจมาก ครูบาอาจารย์ท่านจะเห็นใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมากนะ เวลาท่านพูด ท่านพูดเพื่ออะไร เพื่อให้เราเข้มแข็ง เพื่อให้เราองอาจ เพื่อให้เรากล้าหาญต่อสู้กับกิเลสในหัวใจของเรา ต่อสู้กับความเห็นผิดในใจของเราเพื่อประโยชน์ของเรา เอวัง