สติที่งาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
ณ
วัดป่าสันติพุทธาราม
(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง
อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม
: เรื่อง
“พุทโธกับการทำงาน”
กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมขอถามปัญหาเรื่องการภาวนาครับ
คือเวลาเราทำงานอยู่ในชีวิตประจำวัน เราต้องใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา
ทั้งการวางแผนและแก้ไขปัญหา และเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน กับการเอาพุทโธเข้ามาบริกรรมกำกับไว้ที่ใจ
ผมมีความรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสอดคล้องกันเท่าไรเลยครับ เพราะเมื่อผมภาวนาพุทโธๆ ความรู้สึกใช้ความคิดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
แต่ขอกราบเรียนหลวงพ่อว่า ผมชอบภาวนาพุทโธครับ แต่ต้องเป็นช่วงเวลาที่สงวนไว้เพื่อการภาวนาครับ
อย่างนี้ผมควรทำอย่างไรดีครับ จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือทำสองอย่างไปด้วยกันดีครับ และถ้าทำควบคู่กันไป ทำอย่างไรหรือครับ
เคยฟังที่หลวงตาเทศน์ก่อนที่ท่านจะได้สมาธิ ท่านเอาพุทโธมาแนบติดไว้ มาแนบไม่ให้พุทโธหายเลย แต่คนที่ต้องมีภาระ
มีเรื่องต้องคิด ต้องจัดการ มีโอกาสจะได้สัมผัสสมาธิเหมือนอย่างท่านหรือเปล่าครับ
ตอบ
: นี่กรณีว่า เวลาภาวนาพุทโธ เราอยากภาวนา แต่คนภาวนาแล้วก็มีหน้าที่การงานประจำวัน
ถ้าเรามีหน้าที่การงานประจำวันอย่างนี้ เราจะภาวนาอย่างไร
ฉะนั้น เวลาเขาปฏิบัติกันเขาถึงบอกว่า การปฏิบัติเพื่อชีวิตประจำวันๆ การเคลื่อนไหว
การเหยียดคู้ ให้รู้สึกตัวตลอดเวลา เขาถึงว่ารู้สึกตัวตลอดเวลา อย่างนั้นเขาเข้าใจว่าอันนั้นเป็นวิปัสสนาคือการใช้ปัญญา
การเคลื่อนไหว การรู้สึกตัวทั่วพร้อมต่างๆ เขาบอกว่านั่นน่ะคือการใช้ปัญญา
แต่ถ้ากำหนดพุทโธๆ อย่างที่เรากำหนดพุทโธ
เราพุทโธนี่เป็นสมถะ ถ้าเป็นสมถะ
มันต้องการทำความสงบ แต่ทำความสงบแล้วเราต้องใช้ชีวิตประจำวัน เราต้องใช้ความคิดตลอดเวลา
ต้องมีการวางแผน ต้องมีการแก้ไขปัญหา ต้องมีเรื่องราวต่างๆ เข้ามาในชีวิตประจำวัน แล้วเราต้องมาพุทโธด้วย เหมือนกับทำงานสองอย่าง ถ้าทำงานสองอย่าง
เราจะทำอย่างไร แล้วทำอย่างไร
ทีนี้ในการปฏิบัติ อย่างที่เขาบอกว่ารู้ตัวทั่วพร้อม หลวงปู่มั่นท่านก็สอนนะ
สอนในมุตโตทัย การดื่ม การกิน การเหยียด การคู้ การรู้สึกตัว ให้รู้สึกตัวตลอดเวลา
การรู้สึกตัวแบบนี้มันรู้สึกตัวได้ ทีนี้การพุทโธๆ เราก็พุทโธได้ แต่เวลาพุทโธแล้ว
เวลาเราบอกเราต้องใช้ชีวิตประจำวัน ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา ต้องใช้การวางแผน ต้องมีการแก้ไขปัญหา
เวลาเราแก้ไขปัญหา เราใช้ความคิด เราอยู่กับความคิดนั้น เพราะความคิดนั้นก็คืองาน
เห็นไหม งานทางโลก งานในชีวิตประจำวัน ในชีวิตประจำวันถ้าเรามีหน้าที่การงานอยู่ เรามีงานประจำวันอยู่
แล้วเราก็ทำงานอยู่ในประจำวันนั้น มันก็เป็นสติที่งาน ให้สติอยู่กับงานตลอดเวลา ถ้าสติอยู่ที่งานตลอดเวลามันก็ไม่คิดแส่ส่ายไป
แต่เวลาเราทำงานนะ ทำงานที่เราเห็นผลประโยชน์ เราเห็นประโยชน์
เรามีสติปัญญา เราหวังผลประโยชน์ เราอยู่กับงานนั้น แต่เวลาคิดมันก็คิดแฉลบๆ ไป ถ้าเราตั้งสติแล้วมันอยู่กับงานนั้น
นั่นก็เป็นการฝึกหัดภาวนาอ่อนๆ การฝึกหัดภาวนาอ่อนๆ
เราทำของเราได้ ฉะนั้น เวลาเราทำงานของเรา
เราก็ทำงาน มีสติอยู่กับงาน นั้นก็เป็นการหัดภาวนา
ถ้าหัดภาวนานะ เพราะว่าการภาวนา อย่างที่หลวงตาท่านสอน
มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิๆ ถ้าเราเข้าใจว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญา
เห็นไหม ปัญญาสามัญสำนึก ปัญญาที่เราคิดนี่มันเป็นปัญญา ทีนี้ถ้ามันเป็นปัญญา ปัญญาอย่างไร
ปัญญาทางโลก โลกียปัญญา ปัญญาจากวิชาชีพ ปัญญา เรามีชีวิตประจำวัน
เราต้องทำงาน ต้องใช้ความคิด ต้องแก้ไขปัญหา ต้องมีการวางแผน นี่ก็คือปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้
ถ้ามีสติปัญญา มีสติอยู่กับงานๆ มันก็จะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ
มันไม่ใช่เป็นปัญญาวิปัสสนา
ถ้ามันจะเป็นปัญญาวิปัสสนา ถ้าเป็นปัญญาวิปัสสนา เราก็ต้องกำหนดพุทโธ
ทำสมถะขึ้นมาให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา สติอยู่ที่งาน งานในคำบริกรรม คำบริกรรมพุทโธ
ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีสติอยู่ที่งาน งานนั้นก็เป็นเนื้องานโดยสมบูรณ์ ถ้าเป็นเนื้องานโดยสมบูรณ์นะ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ
ถ้าเหตุมันสมบูรณ์มันจะเกิดผล ผลของมัน
ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสติอยู่กับงาน งานนั้นน่ะมันจะกรอง กรองจิตมันสงบเข้ามาได้
ถ้าจิตสงบเข้ามาได้ ถ้ามีสติปัญญา มีสติ ถ้ามันสงบเข้ามาได้มันก็เป็นสัมมาสมาธิ
แต่ถ้าโดยความเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่านี่มันเป็นวิปัสสนา
เราใช้ปัญญา รู้ตัวทั่วพร้อม
ทุกอย่างเคลื่อนไหวพร้อมหมดเลย แล้วเวลามันทันแล้วมันก็ไปสต๊าฟไว้ มันไม่ไปไหนต่อเพราะเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะความเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่านี่คือปัญญา นี่คือวิปัสสนา พอมันใช้ปัญญาไปแล้ว
พอถึงที่สุดแล้วมิจฉาเพราะอะไร เพราะมันเข้าใจผิดไง
คำว่า “มิจฉา” คือฝั่งตรงข้าม มิจฉา เห็นไหม พอรู้ตัวทั่วพร้อมแล้วทำอย่างไรต่อ ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ไปไหนหรอก เพราะอะไร
เพราะมันอยู่ในขอบเขตงานที่เป็นเรื่องโลกๆ ไง โลกียปัญญา งานของโลก งานที่อยู่กับโลก
เราเกิดมากับโลก เราปฏิเสธโลกไม่ได้หรอก
ดูเด็ก ความไร้เดียงสาของเด็ก เวลามันหิวนะ มันเอานิ้วหัวแม่มือเข้าปากแล้วดูด
เพราะความหิวของเด็ก โดยสัญชาตญาณของเด็ก โดยสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตมันต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อเอาชีวิตรอด นี่สัญชาตญาณของมัน นี่คือโลก
โดยสัญชาตญาณของมัน ด้วยความรู้สึกนึกคิดของมัน
เวลามันเข้าใจแล้วมันก็ปล่อย มันปล่อย นี่โดยสัญชาตญาณ นี่โลกียปัญญา นี่เรื่องปัญญาของโลกไง
สติอยู่ที่งาน แล้วงานอะไร งานอย่างนี้มันเป็นการฝึกหัดการภาวนา
การฝึกหัดภาวนา ถ้าเรามีสติ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ การเคลื่อนไหวถ้ามีปัญญาก็คือปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันก็คือสมถะไง ผลของมันก็คือสมถะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นจริง
ที่หลวงปู่มั่นบอกแก้จิตแก้ยาก แก้จิตแก้ยาก
แก้จิตแก้ยาก ยากแต่ว่าหญ้าปากคอก คนฝึกหัดภาวนาใหม่ต้องหัดภาวนามาอย่างนี้ แล้วมันพัฒนาเป็นสมาธิแล้ว พอเป็นสมาธิแล้ว
ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเป็นภาวนามยปัญญา
จะวิปัสสนาไปข้างหน้า วิปัสสนาเกิดจากอะไร
มันเกิดจากการภาวนา เกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากจิต ไม่ใช่เกิดจากสัญชาตญาณ สัญชาตญาณเป็นแบบนั้นน่ะ
นี่เรื่องโลกๆ ถ้าเรื่องโลก
ฉะนั้น เขาบอกว่า รู้ตัวทั่วพร้อม
เพราะความเข้าใจผิด เพราะความเข้าใจผิดบอกใช้ปัญญาแบบนี้คือการภาวนา การภาวนาเสร็จแล้ว ภาวนาแล้วมันจะได้มรรคได้ผลไป
แล้วพอจะได้มรรคได้ผลไป แต่มันไม่ได้ พอมันไม่ได้ปั๊บก็บอกว่า “ภาวนาไป
รู้ตัวทั่วพร้อมเป็นวิปัสสนา”
แล้วผลของมันล่ะ ผลของมัน “พูดถึงผลไม่ได้นะ
พูดถึงผล ผลมันสูงส่งมาก พูดถึงไม่ได้”
แล้วภาวนา มรรคผลเป็นอย่างไรล่ะ
มรรคผลต้องไปเอาข้างหน้า ชาติหน้า ชาตินู้นไป แต่ถ้ากรรมฐานไม่ใช่
กรรมฐานเอาเดี๋ยวนี้ วิปัสสนาเอาเดี๋ยวนี้
สู้กันเดี๋ยวนี้ เวลามันสมุจเฉทปหานรู้กันซึ่งๆ
หน้าเลย เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก
จะทำอย่างไรล่ะ
ทำอย่างไรก็ต้องบอกว่า ถ้าเราฝึกหัดภาวนาอ่อนๆ
การอยู่กับโลกในชีวิตประจำวัน เห็นไหม บอกว่า ในชีวิตประจำวัน เราต้องมีการวางแผน
มีการแก้ไขปัญหา ต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหา
มีเรื่องราวต่างๆ เข้ามามากมายมหาศาล
แล้วเราต้องมากำหนดพุทโธด้วย มันทำเหมือนกับว่ามันไม่สอดคล้องกัน
มันสอดคล้อง สอดคล้องตอนที่ว่า เพราะคำนี้มันมีคนถามหลวงปู่ฝั้นว่า
วันๆ หนึ่งเราจะหัดภาวนาอย่างไร
ท่านบอกว่า เวลาหายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ การทิ้งลมหายใจ นั่งรถเมล์ เวลาไปทำงานนั่งรถเมล์
เราอยู่ในการขับรถ เราก็พุทโธของเราได้ ถ้าเราพุทโธๆ ถ้าจิตมันสงบ เวลาจิตมันสงบเข้าไป
เราจะควบคุมพวงมาลัยอย่างไร เราไปห่วงว่าจิตมันจะสงบไง แต่ความจริงมันไม่สงบ มันสงบได้ยาก
การทำความสงบ แต่เราควบคุมดูแลหัวใจของเราไม่ให้มันคิดไปตามอิสระของมัน
ไม่ให้มันคิดฟุ้งซ่านไป เราให้คิดอยู่ในพุทโธ เหตุการณ์เฉพาะหน้า
เราแก้ไขของเราได้ แก้ไขได้ เราจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา รถหน้า รถหลัง เรามีสติปัญญา
มันกลับชัดเจนขึ้นมาเพราะเราไม่คิดประมาท คิดโดยขาดสติ ความประมาทคือการขาดสติ
แล้วคิดโดยอุปาทานให้วิตกกังวลไป แต่เราคิดในเรื่องพุทโธไง
เราจะบอกว่า เขาบอกว่า พุทโธกับการทำงาน แล้ววันๆ หนึ่งเราต้องทำงาน
เรากำหนดอย่างไร
เราก็อยู่ที่งาน ถ้าเรากำหนดพุทโธนะ
เราว่าง เราว่างหมายความว่า เราเดินระหว่างที่ทำงานไป
หรือเราต้องการไปทำกิจส่วนตัว เราก็พุทโธของเราได้ แต่เวลาเราเข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เราใช้การวางแผน การประชุมวางแผน มันต้องใช้ปัญญา เราจะพุทโธอยู่ไม่ได้หรอก อยู่กับงานนั้นน่ะ
สติอยู่ที่งาน
งานหยาบๆ หน้าที่การงานนั้นถ้าเรามีสติอยู่กับมัน งาน เราอยู่กับงานก็เป็นปัจจุบัน
แต่ถ้าพองานนั้นเราไม่ได้ใช้สมอง เราไม่ได้ใช้อะไร เราพุทโธได้ เราพุทโธได้ ถ้าเราพุทโธได้
เราพุทโธอย่างนี้
ถ้ามันละเอียด พุทโธๆ จนพุทโธมันละเอียดนะ
แบบว่า ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิยังพอพุทโธได้
ละเอียดเข้ามาจนเป็นอัปปนา มันสักแต่ว่า มันพุทโธไม่ได้ แม้แต่พุทโธเขายังวางเลย สติอยู่ที่งาน
งานหยาบ งานปานกลาง งานละเอียด
แล้วเวลาออกใช้ปัญญาไปแล้ว สติกับปัญญามันไปพร้อมกันแล้ว
ถ้าไปพร้อมกัน ปัญญาออกทำงานแล้ว เวลาทำความสงบของใจ
จิตเข้ามาสงบ เข้ามาพักผ่อน โอ๋ย! มีความสุขมาก มีความรื่นเริงมาก เวลาออกใช้ปัญญา
โอ้โฮ!
มันเหนื่อยมาก มันเหนื่อยนะ ออกใช้ปัญญา ดูนักบริหารสิ เวลาบริหารจัดการรับผิดชอบ
มันรับภาระมาก
จิตเหมือนกัน จิตสงบแล้ว พอจิตสงบมีความร่มเย็นเป็นสุข เวลาสงบแล้ว
เวลาออกใช้ปัญญานะ ออกใช้ปัญญามันใช้ภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาจากสมอง มันปัญญาโดยปัจจุบัน ปัญญาในมรรค ปัญญาในอริยสัจ ความจริงมันเข้าไป
มันแยกมันแยะ มันไปเห็น
ถ้าสมาธิมีกำลังดี มันจะใช้ปัญญาไป
มันจะปล่อย มันจะเข้าใจ จับต้องสิ่งใดพิจารณาไปมันโล่งมันโถง
โอ๋ย! มันสุดยอดเลย แต่เพราะมันใช้กำลังมาก
พอใช้กำลัง มันเหนื่อยมาก สมาธิมันอ่อนลง ทีนี้พอจับต้องสิ่งใดไป มันคิดแล้ว
คิดก็เหมือนเราคิด เราก็รู้ เออ!
เราก็เคยคิดแล้ว ความคิดอย่างนี้เราก็รู้เท่าแล้ว
ความคิดอย่างนี้เราก็เคยคิดแล้ว นี่สัญญาแล้ว นี่คือสัญญา ไม่ใช่ปัญญาหรอก เพราะเราเคยทำได้ แล้วเราทำซ้ำ พอทำซ้ำ แต่ปัญญามันไม่มีสมาธิ เราก็เคยคิดแล้ว เราก็เคยรู้แล้ว
แล้วต้องทำอะไรอีก นี่คือสัญญา ทิ้งเลย กลับมาทำความสงบของใจ
ถ้าใจสงบแล้วนะ พอจิตสงบแล้ว พอมาจับอีกนะ พอมาจับ มันไม่บอกว่าเราคิดแล้วหรอก
พอจับปั๊บ มันมีเหตุมีผลมันก็ปล่อย มันทะลุทะลวงเลย
เห็นไหม ถ้ามันเป็นวิปัสสนามันเป็นแบบนี้ นี่ถ้าดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมเป็นอย่างนี้
งานชอบ ระลึกชอบ แต่ถ้าระลึกไม่ชอบไง ระลึกไม่ชอบ
แต่ไม่ชอบ นี่พูดถึงว่าผลของการปฏิบัติ
แต่ทีนี้คำถามว่า แล้วพุทโธทำงานทำอย่างไร
เริ่มต้นยังไปไม่ได้ นี้ปฏิบัติ ยกให้เห็นว่าความจริงมันเป็นแบบใด แล้วเราเริ่มทำอย่างใด ถ้าเราเริ่มทำ เรายังไม่เข้าใจสิ่งนี้
ถ้าเรามีเวลาว่าง เหมือนเวลาที่เราไม่ได้ใช้ความคิด ไม่ใช่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่ใช่การวางแผน
เราพุทโธได้ เราพุทโธของเราไป เพราะพุทโธมันจะทำให้จิตสงบ พุทโธมันเป็นการรักษาใจไว้ไม่ให้เร่ร่อน
ถ้าจิตสงบมีสมถะ มีสมถะแล้ว เราฝึกหัดใช้ปัญญาไปแล้ว
เราจะก้าวเดินตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา
ไม่ใช่ว่าเรารู้ตัวทั่วพร้อมอย่างที่เขาว่ากัน นั่นเขาว่า
พอเขาว่า เรามีความเชื่อ เชื่อตามๆ กันไป แล้วทำแล้วมันดี อ้าว! ดีสิ
การหัดภาวนาอ่อนๆ การหัดภาวนาอ่อนๆ เวลาจิตมันฟุ้งซ่านมันก็ทุกข์ มันไปกว้านเอาทุกอย่างมาทับถมใจ
แต่เรามีสติปัญญาแยกแยะคัดแยก พอคัดแยกแล้วมันก็โล่งโถง ก็ดีน่ะสิ ก็ดีแค่นี้ นี่ผู้หัดภาวนาอ่อนๆ
มันก็มีผลอย่างนี้ แต่ผลต่อเนื่องไปมันไม่มี ไม่มีเพราะอะไร ไม่มีเพราะพื้นฐานมันไม่มี
ไม่มีเพราะมันไม่มีสัมมาสมาธิ มันไม่มีสัมมาสมาธินะ
สัมมาสมาธิ สมาธิชอบ มันต้องมีสมาธิชอบ
งานชอบ เพียรชอบ ถ้าไม่มีสมาธิชอบ
เขาบอกว่า ใช้ปัญญาไปเลย เดี๋ยวสมาธิมันเกิดเอง
สมาธิมันเกิดเอง มันเป็นมิจฉาก็ได้
เป็นสัมมาก็ได้ ถ้าเป็นมิจฉา เห็นไหม
คนที่เขาใช้ทางไสยศาสตร์เขาต้องใช้สมาธิเหมือนกัน เวลาคนเขาจะคิดวางแผนโจรกรรม เขาก็ใช้สมาธิเหมือนกัน สมาธิมันเป็นกลางๆ มันเป็นมิจฉาก็ได้
เป็นสัมมาก็ได้ แต่เราทำของเรา เราทำสมาธิของเราให้เป็นสัมมา
เพราะสัมมามันก็ปล่อยวางเข้ามา เป็นการหัดภาวนาอ่อนๆ การหัดภาวนาเริ่มต้น เริ่มต้นภาวนามา
เราหัดภาวนาของเราไป ฉะนั้น สิ่งที่ทำขึ้นไปมันทำได้ ทำได้
“เพราะเมื่อผมภาวนาพุทโธๆ
ผมรู้สึกใช้ความคิดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่ขอกราบเรียนหลวงพ่อว่าผมก็ชอบภาวนาพุทโธนะครับ
แต่ต้องในช่วงเวลาที่สงวนไว้เพื่อการภาวนา”
ถูกต้อง เราสงวนไว้เวลาภาวนา ภาวนาเราก็ทำเต็มที่ เพราะทำเต็มที่มันทำเต็มไม้เต็มมือ
แต่ขณะที่เราทำงาน เราก็รักษาไว้ หลวงตาท่านพูดไว้เป็นวรรคเป็นตอน
ท่านบอกว่า จิตของคนเหมือนกับโค เหมือนกับวัว เหมือนกับควาย
วัวควายนี่นะ ถ้าคนบ้านนอก เราเคยธุดงค์อยู่ในป่า
คนบ้านนอกนะ เวลาเขาเลี้ยงโคเลี้ยงควาย ถึงเวลาหมดหน้าใช้งาน เขาจะปล่อยทิ้งไว้ในป่า
เขาเลี้ยงปล่อย เลี้ยงปล่อยนะ แล้วถึงเวลาสักอาทิตย์หนึ่ง
สองอาทิตย์ เขาจะไปดูของเขาที เขาจะเอาเกลือไป เอาอะไรไป ไปให้มันกิน เขาจะรักษาไว้ ถึงเวลาใช้งานเขาก็ไปต้อนวัวเขากลับบ้าน นี่เขาเรียกว่าวัวปล่อย
แต่ถ้าเป็นวัวผูกไว้ ดูสิ เราชาวภาคกลาง เราเลี้ยงวัว เราจะปักหลักไว้ เราผูกไว้
มันจะหากินหญ้าในวงของเชือกนั่นน่ะ
หลวงตาท่านพูดไว้เป็นวรรคเป็นตอนว่า
จิต จิตถ้าเรากำหนดพุทโธ เรารักษาไว้
เราทำงานอยู่ เราก็ทำงานของเราไป เวลาว่างเราก็พุทโธไป นี่วัวควายของเรา เราเลี้ยงผูกไว้
เวลาจะใช้งาน เราไปจับเชือก เราก็ได้วัวควายมาเลย จริงไหม แต่ถ้าวัวปล่อย เวลาเราต้องการวัวควายนั่น
เราต้องไปต้อนเอาในป่าใช่ไหม
จิตใจของเรา ถ้าเราพุทโธของเราไว้ เรารักษาของเราไว้ เราผูกเชือกไว้ เรารักษาใจของเราไว้ เวลาเราจะภาวนาใช่ไหม
เวลาทำหน้าที่การงานเสร็จ ถึงเวลาหัวค่ำ เราสวดมนต์เสร็จ เราจะภาวนาต่อ เราก็ต่อเนื่องเลย
นี่เป็นวรรคเป็นตอน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราทำงานของเรา เราก็ทำงานของเราไป พอว่างขึ้นมา
เราก็พุทโธไว้ รักษาไว้ เอาเชือกผูกไว้ไม่ให้มันไปไกล เวลาภาวนามันก็ภาวนาง่าย ก็มีเท่านี้
การมีสติระลึกรู้อยู่มันก็มีเท่านี้เพื่อรักษาใจของตัว
แล้วเขาบอกว่า
“ถ้าจะควบคุม ทำอย่างไรครับ ผมฟังเทศน์หลวงตาท่านเอาพุทโธไว้แนบติดกับใจ พุทโธจนพุทโธหาย แต่ต้องมีภาระที่ต้องคิด”
แต่คนที่มีภาระ เห็นไหม คนที่มีภาระ เราก็มีภาระ มีภาระ เวลาทำงาน
เราก็ทำงาน เวลาภาวนาเราก็มุมานะภาวนาของเราเป็นชั้นเป็นตอนของเรา เพราะว่าทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ
คับแคบเพราะเรามีหน้าที่การงาน
ทางที่กว้างขวางก็ทางของนักบวช นักบวชก็ ๒๔ ชั่วโมง แล้วถ้าไปอยู่ในหมู่คณะที่ดี
สัปปายะไง หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาจารย์เป็นสัปปายะ ท่านจะเปิดถนนหนทางโล่งโถงให้เราได้ปฏิบัติเลย
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไม่เป็น อ้าว! พูดจริงๆ
เลยนะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไม่เป็น เวลาเอ็งมาปฏิบัติท่านก็จะพาเอ็งล้มลุกคลุกคลานไปอย่างนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวเอ็งปฏิบัติเกินหน้าเกินตาไปแล้วเดี๋ยวกูไม่รู้ ครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นนะ
ท่านจะไม่พาเราปฏิบัติ หรือพาปฏิบัติ ท่านพาปฏิบัติในทางที่ผิด เพราะท่านไม่เคยปฏิบัติ
นี่สัปปายะ ฉะนั้น เวลาเราแสวงหาครูบาอาจารย์ เราแสวงหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง รู้จริงด้วยอะไร รู้จริงด้วยปฏิภาณไง
เวลาเราถามปัญหาท่าน ท่านตอบเราได้หรือไม่ได้
ถ้าตอบเราไม่ได้ ท่านไม่รู้หรอก
ถ้าตอบเราได้นะ ถ้าตอบเราได้เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านต้องการสร้างสัทธิวิหาริก
ต้องการสร้างศาสนทายาท ใครที่มีเชาวน์มีปัญญา มีแววนะ ครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะดูแลรักษาเพื่อให้เป็นศาสนทายาทต่อไป เราส่งต่อกัน ส่งต่อศาสนากันเป็นช่วงๆ ไป ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านเป็นความจริง
แล้วเราปฏิบัติจริง เราอยากรู้จริง ท่านดูแลเราเต็มที่เลย
นี่เราต้องแสวงหาแบบนั้น
ฉะนั้นบอกว่า สติอยู่ที่งาน
เขาบอกว่า การภาวนา พุทโธๆ มันต้องมีหน้าที่การงาน
เราต้องมีความรับผิดชอบ
การงานของเราต้องใช้ปัญญาทั้งวัน ต้องมีการวางแผน มีการแก้ไข มีเรื่องต่างๆ เข้ามาในชีวิตประจำวัน
ขณะที่ว่างจากการวางแผน ว่างจากการแก้ไขปัญหา ว่างจากเรื่องราวต่างๆ
เราก็พุทโธของเราไป แต่ถ้าต้องการวางแผน เราวางแผนเต็มที่เลย สติอยู่ที่งาน นั้นก็เป็นการภาวนาเหมือนกัน ปัญญาอบรมสมาธิ นั่นเป็นงานเหมือนกัน
แล้วถ้ามีสมาธิแล้ว การวางแผนเราจะชัดเจน การแก้ไขปัญหา เราจะหาทางออกได้ เรื่องราวต่างๆ
ในชีวิตประจำวันเราจะแก้ไขได้ตกหมดเลย เพราะอะไร
เพราะมันมีสติ มันมีสมาธิ แบบว่ามันมีความอบอุ่น มันเป็นเอกภาพ จิตใจมันแก้ไขปัญหาได้
แต่ถ้าเราไม่ได้ภาวนาเลย เวลามีปัญหาขึ้นมา มันล้า มันเหนื่อย มันว้าเหว่ มันทุกข์ยาก
เห็นไหม รสของธรรม ธรรมที่มีสมบัติที่จะเชิดชูหัวใจของเรามีประโยชน์ตรงนี้
แล้วประโยชน์ที่ว่าจะใช้วิปัสสนา อันนั้นต้องเข้าสมาธิ ต้องทำสมาธิให้มั่นคง เอกัคคตารมณ์
จิตตั้งมั่น แล้วค่อยใช้วิปัสสนาไปข้างหน้า
ไม่ใช่ว่า การภาวนาในชีวิตประจำวัน
ทำงานก็ประสบความสำเร็จ ทำธุรกิจเงินทองก็ไหลมาเทมา
แหม! ครอบครัวดีงามไปหมดเลย
มนุษย์นะ ผลของวัฏฏะนะ จิตมันมีเวรมีกรรมของมันในวัฏฏะ การเวียนว่ายตายเกิดทุกคนมีกรรมดีกรรมชั่ว
กรรมดีของเราก็ส่งเสริมให้จิตใจเราชื่นบาน จิตใจเรามีการขวนขวาย เวลาภาวนาไปแล้ว กิเลส
กรรม เวลามันให้ผล เมฆหมอก เวลามันมา มันบังแสงอาทิตย์
มันให้แต่ความครึ้ม มันให้แต่ความชื้น มันไม่สะดวกสบายไปหมดเลย
การปฏิบัติ ถึงเวลาแล้วมันจะมีอุปสรรค
มีอะไรต่างๆ แต่เมฆหมอกที่ฤดูกาลมันตามดวงอาทิตย์มา
เดี๋ยวฤดูกาลมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ในวันเดียว
ใน ๑ วันมันมีตั้ง ๓-๔ ฤดู มันมีทุกอย่างเกิดในวันนั้น นี่ก็เหมือนกัน การภาวนามันมีเหตุมีผลอย่างนั้น
นี่พูดถึงจริตนิสัย แต่ถ้ามันเป็นบารมีนะ
มีบารมี สิ่งต่างๆ ไม่เป็นอุปสรรคเลย เราแก้ไขได้หมด
ฉะนั้นจะบอกว่า ให้มีสติอยู่ที่พุทโธ พุทโธนี้ก็เป็นงานอันหนึ่ง
งานคำบริกรรม หน้าที่การงานของเรา นั่นก็เป็นงานอันหนึ่ง
งานของโลก งานที่เราพุทโธ งานที่เราใช้สติปัญญา มันก็เป็นงานของโลกเหมือนกัน
เป็นงานของการหัดภาวนาอ่อนๆ มันเป็นเรื่องของโลก คือเป็นเรื่องของโลกียปัญญาอยู่ ไม่มีปัญหา
ไม่มีปัญหา
แต่นี้พอเราเลือกปั๊บ เราก็บอกว่า
อันนี้เราไม่ต้องการ เราต้องการภาวนามยปัญญาเลย
เราต้องการโลกุตตรธรรม เราต้องการธรรมที่มันสะอาดบริสุทธิ์เลย
มันต้องเป็นการพัฒนาขึ้นไป จิตเราต้องพัฒนาขึ้นไป จิตเรา
พอเราต้องการกระทำ มันก็ทำให้เรามีโอกาสแล้ว แล้วถ้ามีโอกาส เราทำของเราไป มันพัฒนาไป
มันต้องเป็นชั้นเป็นตอนอย่างนี้
ฉะนั้น ถ้ามันอยู่กับงาน เรามีความจำเป็นต้องทำงานก็ทำงาน
มีสติอยู่กับงาน ว่างจากงานแล้วพุทโธเลย พุทโธแล้วรักษาใจของเราไว้ ถ้าอยู่กับงาน ใช้สติปัญญา
เพราะเดี๋ยวมันรู้เอง
เราทำอาหารเสร็จแล้วเราใส่ภาชนะ เราจะเอาไว้กิน
เราจะรู้เลยว่าในจานของเรามีอาหารหรือไม่มีอาหาร
นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนา จิตของเรามันปล่อยวางไหม มันสงบระงับไหม มันมีความชุ่มชื่นไหม
เรารู้ทันทีเลย ถ้าเรารู้นี่ถูก
แต่ถ้าเราทำอาหารแล้ว ในภาชนะไม่มีน้ำสักหยด ไม่มีอาหารสักเม็ด
เอ๊! ทำแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ ทำแล้วเรายังทำไม่ถูกทาง เราก็หาทาง
หาช่องทางของเรา เราฝึกหัดของเรา เราทำของเราไป
ให้สติอยู่กับงาน แล้วถ้ามันสงบแล้ว
เดี๋ยวเราจะรู้ของเราขึ้นไป แล้วเราทำของเราไปได้
ทำได้ก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่พูดถึง
“พุทโธกับการทำงาน” เนาะ
ให้มีสติอยู่ที่งาน
ถาม
: เรื่อง
“กราบขอบพระคุณหลวงพ่อครับ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ได้ฟังเทศน์ของหลวงพ่อออนไลน์ที่เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ซาบซึ้งมากครับ
สาธุครับ สาธุเป็นพันๆ ครั้งเลยครับ ไม่เคยฟังเทศน์ที่ไหนจับใจขนาดนี้ ไม่เคยฟังเทศน์ที่ไหนซาบซึ้งจนน้ำตาไหลขนาดนี้
ก่อนฟังเพิ่งผ่านจิตตกและจิตเสื่อมมา
ทุกข์ยากมากครับ ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะกู้สถานการณ์ได้
ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อแทงหัวใจดวงนี้ที่สุดครับ จะนำไปปฏิบัติครับ
เป็นคำเทศน์ที่มีค่ามาก กราบขอบพระคุณครับ
ตอบ
: เป็นคำเทศน์ที่มีค่ามากต่อเมื่อเราเห็นคุณค่า เพราะมันเป็นที่ว่า
จิตที่แบบว่ามันรับ จิตที่มันรับมันสะเทือนหัวใจ มันก็เป็นประโยชน์
แต่เทศน์เหมือนกัน แต่จริตนิสัยไม่ตรงกัน ฟังแล้วมันขัดแย้ง
ฟังแล้วมันไม่ลงใจ สิ่งนั้นมันเป็นกรรมของสัตว์ แต่ทีนี้ที่ว่าผู้ที่ถามมาเขาถามปัญหาเข้ามาเอง
เรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิใช่หรือไม่ใช่”
ทีนี้ “ปัญญาอบรมสมาธิใช่หรือไม่ใช่” เราปฏิบัติเอง เราไม่เข้าใจเอง แต่ขณะที่ถามมาแล้วอธิบายไป เพราะจิตมันตกอยู่ไง
เหมือนคนหิวกระหาย คนที่หิวกระหายมาก แล้วมันได้ดื่มน้ำ ได้อาหารสักมื้อหนึ่ง
มันเพื่อให้เราพ้นจากการหิวกระหาย
อันนั้นมันจะซาบซึ้งมาก ฉะนั้น ถ้ามันฟังแล้วเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์
มันเป็นกรรมของสัตว์ เวลาเทศน์ออกไป คนฟังแล้วเข้าใจก็ได้
ใครฟังแล้ว อืม!
มันไม่เข้าใจ
เพราะถ้าเราศึกษาทฤษฎีมามาก ศึกษาทางปริยัติมามาก เวลามาฟังเทศน์ปฏิบัติ เทศน์ปฏิบัติเขาเอาความรู้สึก เอาผลกระทบของจิต เอาความเป็นจริง
ฉะนั้น ความเป็นจริงมันออกมาจากหัวใจ ออกมาจากหัวใจ เวลาสื่อออกมา สมมุติมันอาจแตกต่างกัน แต่เราไปรู้ทฤษฎีไว้ก่อน
รู้สมมุติไว้ก่อน ฉะนั้น เวลาพูดมาต้องให้ตรงเปี๊ยะๆๆ นี่คนที่เขาศึกษามาแล้ว เขาฟังแล้วเขาขัดหูของเขา เขาฟังแล้วเขาไม่สะดวกใจของเขา
แต่ถ้าเขาฝึกหัดปฏิบัติ เขาปฏิบัติเป็นนะ เขาจะเข้าใจ อ๋อ! นั่นเป็นปริยัติ นั่นเป็นทฤษฎี แต่ความจริงมันเป็นอย่างนี้
รสชาติเป็นอย่างนี้ เหมือนน้ำ เขียน น หนู สระอำ ไม้โท น้ำ แต่ถ้าเราได้ดื่มน้ำ มันแตกต่างกัน นี่พูดถึงว่าเขาได้ประโยชน์แล้วก็คือได้ประโยชน์ไป กราบขอบพระคุณก็จบ
ถาม
: เรื่อง
“จำคำสอนถึงชาติหน้า”
กราบเท้าหลวงพ่อครับ กระผมอาราธนาศีล ๕ ด้วยตัวเอง และก็นั่งสมาธิเช้ามืดและก่อนนอนตามโอกาส ตามคำสอนของหลวงพ่อว่า
ไม่บีบให้ตึงเกินไป บริกรรมชัดๆ ให้ทำความสงบของใจและใช้ปัญญาขับรถหรือทำงานก็ตามโอกาสสมควร (รักษาวัวที่ระลึกขึ้นได้)
กระผมขอกราบถามหลวงพ่อว่า ถ้าความเห็นนี้ถูก จะจำไปใช้ต่อชาติหน้า
ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ สัญญานี้จะเกิดกับเราไหมครับ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : เวลาเราคิดถึงผลคุณงามความดีตั้งแต่ชาตินี้
ขนาดคิดว่าชาตินี้นะ แล้วเป็นคุณงามความดีที่มันฝังใจ
อยากจะให้ความคิดนี้ไปถึงชาติหน้า อยากให้ชาติหน้าคิดอย่างนี้อีก
ถ้าชาติหน้ามันคิดอย่างนี้อีกมันคิดได้นะ เพราะภพชาติมันจะเกิดขึ้น
เกิดขึ้นจากการกระทำ พันธุกรรมของจิตๆ ถ้ามีความคิดอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้ไม่ต้องชาติหน้าหรอก
ให้ชาตินี้ ตอนปัจจุบันนี้นะ เรามีความคิดที่ดี เพราะเหมือนเราสร้างศิลปะเอง เราทำของเราเอง
แล้วให้บริกรรมชัดๆ ของเราเอง แล้วมันรักษาใจของเรา
แล้วความเห็นนี้ถูก แล้วจำไปชาติหน้าได้ไหม
เพราะเขาเห็นว่าอย่างนี้มันดี
เวลาเกิดเป็นมนุษย์ ต่อไปมันจะเป็นอย่างนี้อีกไหม
ถ้าเราเห็นว่าดี เราจะเห็นดีมากกว่านี้อีก ถ้าเราเห็นมากกว่านี้
เวลาเราปฏิบัติไป เราไปรู้จริงของเราขึ้นมา อันนั้นน่ะมันฝังใจเลย
มันฝังใจอยู่กับใจ เวลาตทังคปหาน เราพิจารณาของเรา
มันปล่อยวางๆ นี่มันชั่วคราว เวลามันสมุจเฉท
เหมือนดังตัดแขนขาด คือมันตัดกิเลสขาดออกไป พอตัดกิเลสขาดออกไป เป็นกุปปธรรม
อกุปปธรรม
กุปปธรรมคือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่กุปปธรรม กุปปธรรมคือมันแปรสภาพ มันยังเปลี่ยนแปลงของมันอยู่ ถ้ามันอกุปปธรรม
นี่มันฝังใจไปเลย มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย อย่างนี้เด็ดขาด แต่ถ้ามันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อนัตตาคือแปรสภาพ มันยังเปลี่ยนแปลงของมันอยู่ แล้วชาติหน้า
ความคิดอย่างนี้มันยังจำไปได้ไหม
จำแน่นอน เพียงแต่จำแน่นอนแล้ว กรรมเป็นอจินไตย คำว่า “กรรมเป็นอจินไตย” คนเรามันทำบาปมาก็เคยทำมา
ไม่รู้ภพชาติใดเคยทำมา ทำคุณงามความดีก็เคยทำมา
แล้วมันให้ผลวาระใดล่ะ วาระใดมันให้ผลก่อน ถ้าให้ผลก่อน สิ่งนั้นมันจะเกิดก่อน
แต่ความดีของเรามันก็อยู่ที่นั่นน่ะ มันยังไม่ถึงวาระที่มันจะให้ผล นี่กรรมเป็นอจินไตย
อจินไตยตรงนี้ เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา อ้าว! บอกมาสิ
มันเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะอะไร
มันเป็นเพราะกรรมแน่นอน แต่เป็นภพชาติใด แล้วนั่นเป็นกรรมเก่านะ
แล้วกรรมใหม่ล่ะ กรรมใหม่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ขาดพระอรหันต์เลย”
“เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาท” ด้วยความไม่ประมาท
ถ้าเราไม่มีความประมาทนะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันเบาบางลง ถ้าเป็นกรรมเก่า กรรมเก่าก็คือกรรมเก่า แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราแยกแยะขึ้นไป
สิ่งนี้มันจะให้ผลกระทบไม่มาก ให้ผลกระทบไม่มาก แล้วถ้ามีผลกระทบ จิตใจของเรามันก็ปล่อยวางได้
ถ้าจิตใจเราไม่ปล่อยวางได้ จะเกิดพระโสดาบันไม่ได้
เกิดพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์เกิดไม่ได้ ไม่ได้เพราะกรรมมันตายตัวไง
คนเกิดมามีอวิชชา คนเกิดมามีกรรมอยู่แล้ว แล้วทำไมเรามาลบล้างกรรมได้ล่ะ
ทำไมเรามาเป็นโสดาบันได้ ทำไมเป็นสกิทาคามีได้ เป็นอนาคามีได้
ทำไมเป็นพระอรหันต์ได้ล่ะ เพราะมันลบล้างกรรมหมดเลย ลบล้างกรรมในหัวใจ ลบล้างในปัจจุบันนี้
ลบล้าง ดูสิ พระโมคคัลลานะเคยได้ทำโทษ ได้ฆ่าแม่ไว้ ตกนรกอเวจี ตกนรกอเวจีแล้วก็สร้างบุญกุศลต่อเนื่องมาๆ จนได้มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะ เวลาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา มีฤทธิ์มีเดชมาก
ฉะนั้น เวลาเขาจะทำลายศาสนาพุทธ พวกลัทธิอื่นๆ
เขาอิจฉาว่า พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการไป คนศรัทธามากเลย อยากจะกีดกัน อยากจะทำลาย ทำลายก็บอกว่า ถ้าจะทำลายต้องทำลายพระโมคคัลลานะก่อน
พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก เพราะมีฤทธิ์ ไปเที่ยวสวรรค์ต่างๆ ก็มาพยากรณ์ต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกรุงราชคฤห์
บอกว่า วันนั้นคนนั้นตายแล้วไปเกิดบนชั้นนั้น คนนั้นตายแล้วตกนรกอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าถูกๆๆ ตลอด ฉะนั้น
คนก็ศรัทธามาก เพราะว่าเผยแผ่ธรรม
ลัทธิศาสนาอื่นเขาจะทำลายต้องทำลายพระโมคคัลลานะก่อน ก็จ้างคนมาทำร้าย จ้างคนมาทำร้ายก็เหาะหนีๆ
เพราะรู้ แต่ถึงสุดท้ายแล้วมาระลึกว่าเป็นเพราะเหตุใด อ๋อ! กรรมเก่า
นี่กรรมเก่า
เราจะบอกว่า ในปัจจุบันพระโมคคัลลานะท่านได้ใช้มรรคญาณ
ได้ใช้มรรค ได้ใช้อริยสัจสัจจะความจริงชำระล้างกรรมในหัวใจของพระโมคคัลลานะหมดสิ้นจนเป็นพระอรหันต์
ไม่มีสิ่งใด ไม่มีเศษกรรมติดอยู่ในใจของพระโมคคัลลานะเลย สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เศษเหลือทิ้ง นี่ไง กรรมเก่า
กรรมเก่ามันตามได้แต่เนื้อหนังมังสา มันตามได้แต่ขันธ์ ๕
ไง แต่มันตามใจที่พ้น มันตามใจภวาสวะ ภพที่ทำลายอวิชชาแล้ว
มันทำลาย นี่กรรมปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันพระโมคคัลลานะชำระล้างจนเป็นพระอรหันต์แล้ว
เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้ที่มีฤทธิ์มีเดช เหาะหนีก็ได้ ทำสิ่งใดก็ได้ ไม่ให้เขาฆ่าก็ได้ แต่มาระลึกถึง เพราะว่าพระอรหันต์ไม่หนักหน่วงไปทางใดทางหนึ่ง
มันอยู่โดยสัจธรรม
สัจธรรมนะ เขาจะมาฆ่า เหาะหนีก็ได้
รู้ด้วยว่าใครจะมาทำ หนี หนีตลอด
แต่ถึงเวลาแล้วมันเศษกรรมที่ได้เคยทำไว้ แล้วได้ใช้มาแล้ว ใช้ได้หมด ถ้าไม่ได้ใช้ ไม่ได้ชดใช้ ไม่ได้ทำสิ่งใด จะมาตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร
จะมีจิตใจที่ทำคุณงามความดีมาตลอดได้อย่างไร นี่พูดถึงว่า กรรมเก่า กรรมใหม่
กรรมเก่า เศษกรรมอันนั้นได้ชดใช้แล้ว
ได้ชดใช้แล้ว ได้บำเพ็ญความดีขึ้นมาแล้วถึงได้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
แล้วมีฤทธิ์มีเดชด้วย ด้วยสิ่งที่เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายก็ด้วยกรรมปัจจุบัน
ด้วยที่ไปอยู่กับสัญชัย ทิ้งสัญชัยมา มาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วเวลาปฏิบัติจนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
นี่เกิดขึ้นมาจากภาวนามยปัญญา เกิดขึ้นมาจากสัจธรรม
เกิดขึ้นมาโดยกรรมปัจจุบัน
กรรมปัจจุบันมันชำระล้างทำลายอวิชชาในใจหมดสิ้น ทำลายจนหมดสิ้นถึงเป็นพระอรหันต์ นี่พูดถึงกรรมปัจจุบัน
ฉะนั้น สิ่งที่ถามว่า “ความเห็นถูกนี้จะจำไปต่อชาติหน้า
ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ สัญญานี้จะเกิดกับเราไหมครับ”
แน่นอน เกิดกับเรา เพียงแต่เกิดกับเราแล้วเราก็บอกเกิดกับเรา
แล้วก็ต้องชัดเจนอย่างนี้ เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง คิดแบบเถรตรงไง
แต่การเวียนว่ายตายเกิด ผลของวัฏฏะ เห็นไหม มันมีปัญหาสังคม สภาวะแวดล้อม สิ่งต่างๆ
ที่เกิดขึ้น เพราะอนาคตกาล พอความเชื่อ ความมั่นคงของจิตใจของมนุษย์ต่อเนื่องกันไป
จะเสื่อมทรามไปเรื่อยๆ เสื่อมทรามไปจนหมดอายุขัยของศาสนา พอหมดอายุขัยของศาสนาแล้ว
จนไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนา พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้า นี่พูดถึงพุทธภาษิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่เราพูดถึงทางวิทยาศาสตร์ โลกนี้กี่ร้อยล้านปี กี่พันล้านปี
กว่าที่มันจะพัฒนามาจากมหาทวีป แยกออกมาเป็นแต่ละทวีป ความเคลื่อนไปของแผ่นดินมันแยกตัวตลอดเวลา
นี้ทางวิทยาศาสตร์
แต่ทางเรื่องธรรมะล่ะ เวลามันเป็นของมันไป
สิ่งนี้มันเป็นสัจจะที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พุทธภาษิต พุทธพยากรณ์ ได้พยากรณ์สิ่งนี้ไว้ เราทำของเรา เราทำของเรา สิทธิ์ของเรา
เราจะบอกว่า สิ่งที่เป็นสัญญาอันละเอียด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เรื่องภพ เรื่องชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาจิตสงบเข้าไปแล้วจะไปเจอตรงนั้น
มีอยู่แน่นอน เพราะมันมีเหตุมีผล มีการกระทำ มันต้องมีของมัน
เพียงแต่ว่าถ้ามีของมันแล้ว มันถึงเวลาแล้วมันก็ต้องทำสมความปรารถนาของเราขึ้นมา
๑ ๒ ๓ ๔ ต้องถึงที่สุด
แต่ ๑ ๒ ๓ ๔ ทีนี้ ๑ ๒ ๓ ๔ ในปัจจุบันที่เราระลึกได้สิ แล้วของเก่าล่ะ
ของเก่าล่ะ แล้วของอนาคตที่เราจะทำต่อไป เราคิดว่าเราจะทำดีตลอดไปหรือ ถ้าความรู้สึกนึกคิดนี้มันเสื่อมลงล่ะ
แม้แต่ในปัจจุบันนี้ อารมณ์ความรู้สึกเรา เรายังรักษาไว้ได้ยากเลย
เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย มันมีปกติของมันตลอดไป
นี่เราพูดถึงว่า เพราะเขาถามว่า ถ้าจะบอกว่าชาติหน้าไม่ได้
อะไรไม่ได้ มันก็เหมือนกับศาสนาพุทธสอนเรื่องนรกสวรรค์ สอนเรื่องผลของวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิด
แล้วไม่มีภพชาติ เราก็มี ถ้ามีภพชาติ เราก็ต้องตายตัวอย่างนี้ตลอดไปเป็นวิทยาศาสตร์เลย
ก็ไม่ใช่ มันเป็นอจินไตย มันเป็นบาปกรรม
เจตนามาก เจตนาน้อย การกระทำในปัจจุบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บอกไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”
ถ้าเราไม่มีความประมาท ไม่มีความพลั้งเผลอ
เราจะรักษาอารมณ์ของเราได้
เราจะรักษาความรู้สึกดีๆ ของเราได้ เราจะดูแลชีวิตของเราให้ประสบความสำเร็จ ให้อยู่ในร่องในรอย ให้สมความปรารถนาของเราได้
ฉะนั้น คำถามว่า “จำคำสอนถึงชาติหน้าหรือไม่”
มันละเอียดลึกซึ้งอยู่ในใต้จิตสำนึกจนเราจะรู้ได้หรือไม่ได้ต่างหากล่ะ
ตัวเรานี่แหละ เราเองเราจะไม่รู้หรอกว่าเรารู้ได้หรือไม่ได้
แต่ถ้าคนที่ภาวนานะ เวลาจิตสงบเข้าไปแล้วระลึกอดีตชาติย้อนกลับไปกี่ร้อยกี่พันชาติ
บางคนระลึกได้ ๕ ชาติ บางคนระลึกได้ ๑๐ ชาติ ๒๐ ชาติ อยู่ที่บารมีของคนที่สร้างมามากมาน้อย
ถ้าระลึกได้อย่างนั้นจำได้แน่นอน เพราะมันระลึกได้
มันรู้เลยว่าภพชาติใด รู้หมด ทำไมจะระลึกไม่ได้
แต่ถ้าโดยปกติ โดยสามัญสำนึก ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอวิชชามันครอบงำไว้
มันครอบงำ เราไม่รู้ว่าชาติหน้าเป็นอะไร แล้วเคยได้สร้างกรรมอะไรมา เรารู้แต่ปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นคน
แล้วเราศรัทธาในพระพุทธศาสนา
แต่ถ้าเราทำของเราไปสิ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก จะรู้เองเห็นเองในใจหมด
มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ เพียงแต่เราทำได้หรือไม่ได้ต่างหาก ข้อเท็จจริง สัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมและวินัยไว้ อย่างนี้ชัดเจนมากเลย เพียงแต่เราทำได้หรือทำไม่ได้
เรามีความสามารถถึงหรือความสามารถไม่ถึงเท่านั้นเอง
ถ้าความสามารถถึงไปแล้ว ก็อย่างที่ว่า
พอความสามารถถึงแล้ว คนที่มีอำนาจวาสนามากก็ได้ ๕ ชาติ ได้ ๑๐ ชาติ แต่ถ้าคนที่แบบว่าปกติ
ไม่สงสัยในภพชาติ เขาก็ไม่ต้องไประลึกหรอก เพราะปัจจุบันนี้
เพราะมันสิ้นสุดกันที่ปัจจุบันนี้
ทีนี้เพียงแต่ถามว่า ความคิดดีๆ อย่างนี้มันไปถึงชาติหน้าไหม
ความคิดดีๆ มันซับลงที่จิตหมด จิตนี้รับไว้หมด ความดีความชั่วที่ทำไว้
ความลับไม่มีในโลก จิตนี้เป็นคนทำ แล้วมันอยู่กับจิตนี้ ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว แล้วเวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติ
สัจธรรม ภาวนามยปัญญาลบล้างข้ามพ้นดีและชั่ว ข้ามพ้นทั้งหมด วางหมด ดีก็วาง ชั่วก็วาง
ปล่อยละวางหมดเลย เข้าไปสู่สัจจะความจริง เข้าไปสู่วิมุตติสุข
เข้าไปสู่ความจริงอันนั้น ทำอย่างนี้ถึงจะเป็นความจริง
แล้วจะประสบความสำเร็จกับชีวิต เอวัง