ไม่ขัดไม่แย้ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “มันคืออะไร”
หลวงพ่อ : นี่เขาถาม “มันคืออะไร” เนาะ เขาเคยถามมาแล้ว แล้วมันจบไป “มันคืออะไร”
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ ลูกขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อนะคะ สำหรับคำตอบ คำถามคือ “ปัญหาการนอน” ค่ะ หลวงพ่อตอบเรื่องว่า “ใจผลัดใบ” นะคะ นับตั้งแต่นั้นมาลูกก็ไม่ได้นั่งสมาธินะคะหลวงพ่อ เพราะเหมือนลูกเห็นแก่ตัวเกินไปนะคะ ที่นั่งสมาธิคนเดียว แล้วสามีต้องทำมาหากิน (เขาว่าเขาก็อยากนั่งสมาธิเหมือนกัน แต่เขาก็ต้องทำงานเพื่อครอบครัวนะคะ) แต่ลูกก็ไม่ลืมเรื่องการปฏิบัติธรรมหรอกนะคะ ลูกพยายามจะระลึกถึงเสมอในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ยากสักหน่อยค่ะ เพราะเวลาที่สติไม่ดี เผลอทีไรแล้วกิเลสก็ไหลมาเทมา ความโกรธ ความโลภ มั่วกันไปหมดค่ะ
ลูกก็พยายามฟังเทปพระเทศนาบางครั้งบ้างค่ะ ก็ช่วยเตือนสติได้บ้างเหมือนกัน แต่ตอนนี้ลูกก็คิดจะนั่งสมาธิเหมือนเดิม แต่จะพยายามแบ่งเวลาให้ลงตัว จะทำงานต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ จะได้ไม่มีปัญหาอะไร การอยู่ครองเรือนนี้คับแคบจริงๆ นะคะหลวงพ่อ ลูกได้เห็นข้อเสียแล้วค่ะ แต่จะทำอะไรไม่ได้ค่ะ เพราะตอนนี้ลูกเล็กๆ ๒ คน ต้องเลี้ยงดูลูก
มีคำถามกับการมองเห็นนะคะ ไม่แน่ใจว่ามันจะเกี่ยวกันไหม มันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรหรอก แค่สงสัย เป็นมานานแล้ว ประมาณครึ่งปีแล้ว คือว่า ทั่วไปไม่ได้นั่งสมาธิ เวลาที่ลูกมองออกไปข้างนอกตรงที่มีแสงสว่างหรือที่มืดมากๆ ก็ตาม ลูกรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนมีแสงระยิบระยับ ทั้งใส่แว่นและไม่ใส่แว่นนะคะ มันปกติไหมคะ ลูกใส่แว่นอยู่ค่ะ ตรวจตา หมอบอกว่าทุกอย่างปกติ
ตอบ : อันนี้มันเริ่มภาวนามา พอภาวนาขึ้นมาแล้ว เคยถามปัญหามาแล้วเราตอบไป พอตอบไปแล้วมันได้คิด พอได้คิดขึ้นมา เห็นไหม ชีวิตประจำวัน ชีวิตแบบโลก ความรับผิดชอบ เรามีหน้าที่การงาน เราต้องทำหน้าที่การงานของเรา เราจะมัวมานั่งสมาธิภาวนาได้อย่างไร ถ้าเรานั่งสมาธิภาวนา เรามัวแต่นั่งสมาธิภาวนาแล้วครอบครัวเราจะอยู่กันอย่างไร ลูกของเราเล็กๆ อยู่นี่ เราส่งเสียลูกเราให้เรียนอย่างไร มันเป็นความวิตกกังวลไปหมดล่ะ อันนี้เป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาที่เรามีครอบครัว
ปัญหาครอบครัว แบบว่าการครองเรือนเป็นเรื่องแสนยาก แสนยากตรงไหน แสนยากเพราะมันต้องดูแลหัวใจ หัวใจเรา หัวใจสามี ภรรยา และหัวใจของลูกๆ การบริหารหัวใจเป็นการบริหารที่ยากมาก ถ้าการบริหารที่ยากมาก เห็นไหม
อภิชาตบุตร บุตรที่เกิดมาเชื่อฟังพ่อแม่ อยู่ในครอบครัวแล้วส่งเสริมกัน แต่เวลาบุตรเสมอพ่อแม่ บุตรที่เอาใจให้หนักหน่วงพ่อแม่ กรณีนี้มันมีของมันอยู่ นี่สายบุญสายกรรม ผลของวัฏฏะเวียนว่ายตายเกิด
ฉะนั้น เวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาแล้ว พอเราเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมา เรามีหน้าที่การงาน เรามีปัญหาในครอบครัว แล้วเราศึกษาธรรมะ หรือเราเห็นความทุกข์ยากในครอบครัวมันบีบคั้นขึ้นมา เราอยากจะมีคุณธรรมในหัวใจ ถ้าอยากมีคุณธรรมในหัวใจ ถ้าเรามีศีลมีธรรม เราแค่ศึกษาธรรม เอาเรื่องศีลธรรมจริยธรรมในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นคติเตือนใจ
คติเตือนใจ เห็นไหม อย่างเช่นในเมื่อเรามีลูกเล็กๆ ๒ คน ลูกเล็กๆ ธรรมชาติของเด็กมันก็เป็นแบบนี้ ธรรมชาติของเด็กเป็นแบบนี้ ถ้าเราเป็นแม่ เราให้กำเนิดเขามาเอง นี่ความรับผิดชอบของเรา เราต้องดูแลของเรา ความดูแลของเรา เราจะดูแลอย่างไร ถ้าเรามีธรรมะอย่างนี้มันก็แค่อุ่นใจ แค่สบายใจแล้ว คำว่า “สบายใจ” มันเป็นความรับผิดชอบไง
กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ความรับผิดชอบ หน้าที่รับผิดชอบ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบ เรารับผิดชอบหน้าที่ของเรา เราเป็นคนดี คนดีคือเป็นมนุษย์ที่ดีไง ถ้ามนุษย์ที่ดี เราก็ต้องดูแลครอบครัวของเรา เราต้องรับผิดชอบในเรื่องชาติตระกูลของเรา ถ้าเราทำของเรา ถ้าชาติตระกูลเราร่มเย็นเป็นสุข ชาติตระกูลของเราอบอุ่นแล้วเราจะหัดภาวนา เออ! มันมีโอกาสแล้ว เราจะภาวนาบ้าง
ทีนี้การภาวนามันก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปนั่งสมาธิภาวนาตลอดไป การภาวนา เรามีสติ หลวงปู่ฝั้นท่านสอนประจำ
เขาบอกว่า ในชีวิตประจำวันทำอย่างไร
ท่านบอกว่า เวลานั่งรถเมล์ไปทำงาน เราต้องหายใจไหม
ต้องหายใจ
ท่านบอกว่า หายใจเข้าก็นึกพุท หายใจออกก็นึกโธ เราไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ การหายใจเข้าและหายใจออก เราไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ
เวลาหายใจเข้า เราก็นึกพุท หายใจออก เราก็นึกโธ ถ้าเรานั่งรถเมล์ไปทำงาน ถ้าเรามีเวลาว่าง เราก็นึกพุทโธของเราไป แต่เวลาเราทำงานที่ต้องรับผิดชอบ เราก็อยู่กับงานของเราไป เราทำของเราไปอย่างนี้ เราก็ฝึกหัดภาวนาได้ ถ้ามันคิดได้อย่างนี้แล้วนะ มันก็ภาวนาได้ไง
แต่นี่ไม่คิดอย่างนั้นน่ะสิ เวลาภาวนาก็ต้องนั่งหลับหูหลับตาเลย ลูกก็ขังมันไว้ จะร้องไห้อย่างไรก็ช่างหัวมัน เราจะนั่งภาวนา มันไปคิดเอาเองไง ไปคิดเอาเองว่าถ้าภาวนาต้องทำอย่างนี้ เราไปตั้งกรอบไว้เอง เราไปตั้งกรอบไว้เองแล้วเราก็มาบีบคั้นตัวเอง พอบีบคั้นตัวเอง เราทำไม่ได้อย่างที่เราตั้งกรอบไว้ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์แล้ว เพราะเราตั้งกรอบไว้
แต่เราไม่ได้ตั้งกรอบไว้ เราไม่ได้ตั้งกรอบของเราไว้ มีเวลาว่างเมื่อไหร่เราจะภาวนาทันที มีเวลาว่างเมื่อไหร่ พอเวลาหายใจ เรามีสติพร้อมลมหายใจเข้า นั่นก็คือการภาวนา ถ้าการภาวนา เราภาวนาของเราอย่างนี้ เราไม่ต้องไปเคร่งครัดกับชีวิตจนเกินไป เราต้องเคร่งครัดกับสติปัญญาของเรา
แต่เราไม่ต้องเคร่งครัดเพราะอะไร หนึ่ง เกรงใจสามี สามีต้องทำหน้าที่การงาน สามีก็อยากภาวนาเหมือนกัน แล้วถ้าเรามาภาวนา เราก็เห็นแก่ตัวเกินไป เห็นไหม เวลาอย่างนี้เราก็คิดได้
ฉะนั้น เราก็ทำงานประจำของเรานี่แหละ เราก็ภาวนาของเราไป แล้วคนฉลาดนะ เขาจะภาวนาไม่ให้ใครรู้ หลวงตาท่านบอก ตอนที่เรียนหนังสือ แล้วท่านแอบไปภาวนา พระเขาเดินมาเจอ
“ทำอะไรน่ะ”
“โอ๋ย! เดินจงกรม”
“โอ๋ย! จะไปนิพพานหรือ จะไปนิพพานหรือ”
ตั้งแต่นั้นมาท่านบอกเลยนะ เวลาท่านไปเดินจงกรมนะ ใครเดินผ่านมา “ทำอะไรเนี่ย”
“อ๋อ! มายืดเส้นยืดสาย นั่งดูหนังสือมากมันเมื่อย”
การภาวนา เราไม่ต้องบอกให้ใครรู้ ถ้าบอกให้ใครรู้แล้วนะ ธรรมดาคนคุ้นเคยกัน เขาก็ต้องแซว เขาต้องพูดเล่นพูดอะไร การพูดเล่น พูดหยอกกันบางทีทำให้เราเสียใจ บางทีทำให้เราได้คิดนะ เขาพูดเล่น คนคุ้นเคยกันเขาก็พูดเล่นต่อกัน นี้คำว่า “คนคุ้นเคยพูดเล่นต่อกัน” เขาก็พูดไป ไอ้คนที่ทำอะไรอยู่นี่มันสะเทือนใจ
ฉะนั้น การภาวนาของเราไม่ต้องบอกใครหรอก ไม่ต้องบอกใคร เว้นไว้แต่มีปัญหาจะถามครูบาอาจารย์นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่ต้องไปบอกใคร นี่ก็เหมือนกัน สามีก็คือสามี เราก็รักสามี เราก็รับผิดชอบสามี เราก็รับผิดชอบลูกของเรา เราก็ดูแลไม่ขาดตกบกพร่อง
แต่เวลาส่วนตัว ความคิดเป็นเรื่องส่วนตัว ความรู้สึกภายในเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนตัว เราภาวนาได้ แล้วภาวนา เราก็ไม่ต้องบอกใครด้วย ถ้าบอกไปแล้วเราจะไม่ได้ภาวนา
เขาบอกว่า โอ๋ย! จะภาวนาเลย จะเอาตัวรอดคนเดียว รักกันมาก ไม่ให้ไปไหน จะกอดคอกันไว้อยู่นี่ จะไม่ปล่อยให้ใครไปหรอก จะต้องอยู่ด้วยกัน
เราไม่ต้องบอกใคร ถ้าภาวนาไปแล้ว แล้วเราได้มรรคได้ผล เราจะมาบอกเขาได้ ถ้าเราได้มรรคได้ผล คนที่มีปัญญาเหนือกว่า คนที่มีปัญญาสูงกว่า เขาจะบริหารกิจการในครอบครัวนั้น ครอบครัวนั้นมีการกระทบกระเทือนกัน คนที่มีจิตใจสูงกว่า เขาจะให้อภัย คนที่จิตใจสูงกว่า เขาจะคอนโทรลอารมณ์ที่กระทบกันให้ราบรื่น ให้เป็นไปด้วยดี คนที่เขามีสติปัญญาที่สูงกว่า ไม่ต้องไปบอกเขาหรอก
ถ้าจะบอกเขานะ ลูก ๒ คน ลูกเล็กๆ มันจะไม่รู้หรอกว่าภาวนาคืออะไร คุยกับมันอีกปีนึงก็ไม่รู้เรื่องหรอก แล้วคุยมาอีก ๒ ปี ๓ ปีแล้วค่อยมาภาวนา เสียเวลาเปล่า เราดูแลเขา รับผิดชอบเขา ให้ความเป็นอยู่ที่ดีกับเขา แล้วเราก็ภาวนาของเราไป ถ้าเขาโตขึ้นมา เขาสนใจเรื่องศาสนา เขาถึงจะเข้าใจเรื่องภาวนา ถ้าเขาไม่สนใจศาสนาเลย เขาสนใจแต่เรื่องโลก เขาก็จะอยู่กับโลกไปอย่างนั้นน่ะ คนที่จะให้จิตใจ ให้มีความรู้สึกของเขาเห็นตรงกับเรานี่หาได้ยาก ทีนี้การหาได้ยาก เราไม่ต้องเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นไง เอาเรื่องนี้วางไว้ มันเป็นผลของวัฏฏะ เป็นเรื่องเป็นเวรเป็นกรรม
เขาบอกว่า “หลวงพ่อ เห็นแล้วล่ะ นี่เป็นทางที่คับแคบ ซาบซึ้งใจมาก”
คนพูดอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า คนในก็อยากออกมา คนที่มีลูก ๒-๓ คน นี่คนในอยากออก ไอ้คนนอกก็สงสัย มันอยากจะเข้าไป พอเข้าไปแล้วนะ มันก็ไปทุกข์อย่างนี้ นี่มันเป็นเรื่องอดีตอนาคตที่เราจะคิดของเราไป นี่พูดถึงปัญหาครอบครัวนะ
ฉะนั้น ปัญหาที่ว่า เวลานั่งไปมันจะเห็นแสงระยิบระยับ ถ้ามองไปในที่มืดแล้วมันจะรู้ มันจะเห็นแสงเห็นอะไร
ถ้าเราเปิดตาเรา เราก็จะเห็นภาพ เราหลับตา เราก็จะไม่เห็นภาพ จะเห็นแสงสิ่งใด ตั้งสติไว้ นั่นคืออะไร มันจบเอง ไม่ต้องไปสนใจสิ่งใด จะเห็นแสง เห็นสี เห็นต่างๆ เราปฏิบัติเพื่อความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว ถ้ามันออกไปรู้เห็นนิมิตต่างๆ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่รู้ไม่เห็นสิ่งใดเลยก็ไม่เป็นไร เพราะเราภาวนาเพื่อความสงบ เราไม่ได้ภาวนาเพื่อจะรู้เห็นสิ่งต่างๆ
แล้วถ้ารู้เห็นสิ่งต่างๆ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันทำได้มากกว่า ดูสิ แสงเลเซอร์มันยิงภาพขึ้นไปข้างบนฟ้าเลย แสงเลเซอร์มันยิงต่างๆ ไป เราไปรู้ไปเห็น เราสู้มันไม่ได้หรอก เราสู้เทคโนโลยีไม่ได้เดี๋ยวนี้ เทคโนโลยีมันทำได้ดีกว่าอีก แล้วเทคโนโลยีมันได้อะไรล่ะ มันก็ได้พลังงาน มันมีพลังงานมันถึงใช้งานได้ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีพลังงาน มันใช้อะไรไม่ได้หรอก แล้วมันก็ไม่มีชีวิตด้วย แล้วมันก็ไม่มีความสุขความทุกข์ด้วย มนุษย์สร้างมันขึ้นมา แล้วมนุษย์ใช้งานมัน
แต่นี้หัวใจของเรา เราเป็นมนุษย์ เรามีหัวใจ เราจะดูแลหัวใจของเรา เราดูแลหัวใจของเรา ถ้าจิตใจเราสงบขึ้นมา แสงสีเสียงมันเกิดจากจิตรู้ ถ้าเกิดจากจิตรู้ ถ้าจิตสงบแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร
ทีนี้จิตของเราปล่อยให้เร่ร่อน ปล่อยให้วิตกกังวล แล้วไม่รู้จะทำสิ่งใด ห่วงหน้าพะวงหลัง เดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ติดไปหมดเลย
วางให้หมด หน้าที่ความรับผิดชอบในครอบครัว ถ้ามีงานทำ เราก็ทำงานของเรา เสร็จงานของเราแล้วเราก็ภาวนาของเรา ถ้าเรามีเวลา ขณะทำงานอยู่ งานที่ไม่ต้องใช้สติปัญญามาก เราก็กำหนดสติของเราได้ แต่ถ้าความจำเป็น เราต้องดูแล เพราะงานของเราต้องใช้สติใช้ปัญญามากพอสมควร เราก็อยู่กับงานนั้นซะ จบงานนั้นแล้วเราก็หัดภาวนาของเรา
ภาวนามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นเรื่องภายในของเรา ไม่มีใครรู้กับเราหรอก ไม่มีใครรู้ ถ้ามีจริงๆ ก็มีครูบาอาจารย์ที่มีอนาคตังสญาณ จะรู้ของเราได้ ถ้ารู้ได้ ท่านก็ส่งเสริม ท่านจะเชิดชู ท่านเห็นดีเห็นงามไปกับเรา เราปฏิบัติ ทำดีต้องได้ดี ความดีกับความดีมันเข้ากัน คนเราเข้ากันด้วยธาตุ ถ้าเข้ากันด้วยธาตุ เราทำของเราอย่างนี้
ฉะนั้น ถ้าเราดูแลหน้าที่รับผิดชอบของเรา แล้วเราก็ภาวนาไป เห็นไหม เมื่อก่อนทิ้งเลย เดี๋ยวนี้คิดได้แล้วจะภาวนาใหม่
เราทำของเรา ภาระรับผิดชอบของโยมทั้งหมด โยมสร้างขึ้นมาเอง เราสร้างขึ้นมาเอง เราจะไม่ไปตีโพยตีพาย จะไม่ยกความรับผิดชอบให้ใครทั้งสิ้น เราสร้างของเรามาเอง แล้วเราก็จะแก้ของเราเอง เราจะแก้ของเราเอง ถ้าเราแก้ของเราได้ เราแก้ความเป็นปมในใจของเราได้ แล้วเราจะปลอดโปร่งในใจของเราเอง ไม่มีใครรู้หรอก ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ถ้ารู้จำเพาะตนนะ เราทำของเราไปอย่างนี้
ฉะนั้น เรื่องที่ว่ามันมีแสงนี่นะ แม้จะนั่งภาวนา ไม่นั่งภาวนา มองไปในที่มืดต่างๆ จะเห็นแสงระยิบระยับ
เวลาคนมันเดินทางบนถนน เวลาความร้อนบนถนน เงาแดดมันจะเห็นของมัน แสงระยิบระยับ นั่นเขาก็เห็น ถ้าเห็นอย่างนั้นมันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา เวลาภาวนา เราไปรู้ไปเห็นอะไร จะไปตื่นเต้นอะไรอย่างนั้นน่ะ เราจะเอาสติ เรามีสติมีปัญญา เอาใจของเราให้สงบเข้ามา
ถ้าใจสงบแล้วนะ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้าจิตของเราสงบแล้วนะ เราจะมีความสุข ความสงบ ความระงับในใจ เราต้องการตรงนี้ เราไม่ต้องการไปรู้ไปเห็นสิ่งใดทั้งสิ้น แต่ต้องมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวตลอดเวลา
ไม่ใช่ว่า อย่างนั้นไม่เอาอะไรเลย ก็ทิ้งหมดเลย ทิ้งหมดเลยก็หายไปหมดเลย ก็ตกภวังค์เลย ก็ผิดอีก ไปทางซ้ายก็ผิด ไปทางขวาก็ผิด มัชฌิมาปฏิปทา ไปตามสัจจะความจริงนี่ถูก ตั้งสติอย่างนี้ ทำแบบนี้
ฉะนั้น ถ้ามันมีปัญหาทางสายตา เราก็ไปหาหมอแล้ว ถ้าใครมีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาทางสายตา มีปัญหาต่างๆ เราต้องไปหาหมอให้หมอตรวจร่างกายก่อน ถ้าร่างกายปกติแล้วนะ ตอนนี้เป็นเรื่องของเราแล้ว เรื่องของหัวใจแล้ว หัวใจมันวิตกกังวลไปเอง หัวใจมันสร้างภาพไปเอง หัวใจมันอุปาทานไปเอง เราจะต้องปราบกันด้วยสติด้วยปัญญาแล้ว แล้วถ้าปราบกันอย่างนี้ได้นะ เราปราบกิเลสเราได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้น สิ่งที่ทำให้ทำแบบนี้ นี่เขาถามว่า “นี่คืออะไร”
ทีนี้ปัญหาต่อไป
ถาม : เรื่อง “เรียนถามข้อสงสัยในธรรมครับ”
กราบนมัสการพระอาจารย์ ผมขอเรียนถามดังนี้ครับ
พระไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง เหตุใดจึงมีพระธรรมคำสอนได้ครับ เมื่อสัจจะที่เป็นจริงคือไม่เที่ยง ธรรมะที่แท้ๆ ตัวมันเองย่อมไม่เที่ยง ด้วยเหตุใดจึงมีคำสอนที่เที่ยง เช่น
๑. การทำนายว่าใครจะบรรลุธรรมเมื่อไหร่ อย่างไร หรือพุทธทำนายครับ
๒. ลักษณะการบรรลุธรรม เช่น พระโสดาบันตัดสังโยชน์ ๓ และมีอะไรบ้าง มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น เมื่อไม่เที่ยง ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่แน่ เหตุใดจึงต้องมีมรรค ๘ ในทุกดวงจิตครับ
ผมมิได้สงสัยในธรรมคำสอนแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงผู้เดินตาม ก็ด้วยมองอย่างเถรตรงพบว่าสัจจะขัดแย้งกันเอง จึงมีความสงสัย จึงเรียนถามด้วยจริงใจครับ สาธุ กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูง
ตอบ : “ผมไม่มีความสงสัยในคำสอนแต่อย่างใด”
“ผมไม่มีความสงสัย” นั้นคือสงสัย ถ้าผมไม่มีความสงสัย มันก็ต้องไม่มีคำถาม “ผมไม่เคยสงสัยเลยครับ” นั้นคือสงสัย
หลวงตาท่านบอก ท่านบวชแล้วท่านอยากปฏิบัติ แต่ในใจก็กลัวจะผิดพลาด ท่านก็ไปเรียนเป็นมหาก่อน ขณะที่ไปเรียน ตั้งใจจะปฏิบัติ คำว่า “ตั้งใจเฉยๆ” แต่เวลาไปศึกษา ไปอ่านธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ่านถึงเรื่องสวรรค์ อยากไปสวรรค์ อ่านเรื่องพรหม อยากไปพรหม อ่านถึงนิพพาน อยากไปนิพพาน
พออ่านถึงสวรรค์ สวรรค์ก็มีขอบเขตเท่านั้น ศึกษาแล้ว ในพระไตรปิฎกเขาจะบอกเรื่องภพเรื่องชาติ ศึกษาแล้วว่าภพของสวรรค์ต้องดีกว่ามนุษย์ ก็อยากไปสวรรค์ พอศึกษาต่อไป ภพของพรหมมันใหญ่กว่าสวรรค์ อายุยืนกว่า มีความสุขมากกว่า เออ! อย่างนั้นไปพรหมดีกว่า เอ๊ะ! พรหมก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ศึกษาถึงนิพพาน โอ๋ย! นิพพานไปแล้วไม่กลับมาเลย นิพพานไปแล้ววิมุตติไปเลย อยากไปนิพพาน เอานิพพานดีกว่า
นี่เวลาศึกษา ศึกษาไปแล้ว พอศึกษาไปแล้วมันเข้าใจ มันเพิ่มลิมิต เพิ่มความต้องการของเราสูงขึ้นๆ เพราะมันอยากได้ที่ดีขึ้น สูงขึ้น ใหญ่ขึ้น มาตรฐานดีขึ้น แต่ก็มั่นใจว่าจะปฏิบัติ ก็ตั้งใจว่าศึกษาถึงจบมหาแล้วจะออกปฏิบัติ เวลาจะออกปฏิบัติขึ้นมาจริงๆ ศึกษาหมดแล้ว เข้าใจหมดแล้ว แต่จะออกปฏิบัติจริงๆ มรรคผลจะมีจริงหรือเปล่า เอ๊! ศึกษาหมดแล้ว เอ๊! ตั้งประเด็นเลยนะ ต้องมีครูบาอาจารย์ ถ้ามีครูบาอาจารย์องค์ใดมาแก้ปมในใจของเราได้
คือความสงสัยเรานี่ เราคิดเอง แล้วเราก็สงสัยเอง เห็นไหม จิตมันหลอก จิตมันสร้างเหตุผลเอง สร้างเหตุเอง แล้วมันก็หลงไปในเหตุที่ตัวเองสร้างขึ้นมา พอหลงในเหตุที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แล้วมันก็หาทางออกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเชื่อมั่นด้วย แต่มันก็ยังมีกิเลสอยู่ มันก็สงสัยอยู่
พอสงสัยอยู่ก็ตั้งว่า ถ้ามีครูบาอาจารย์องค์ใดบอกทางเราได้ เราจะมอบชีวิต ถวายชีวิตกับอาจารย์องค์นั้นเลย แล้วก็ตั้งไว้ในใจด้วย เพราะชื่อเสียงเกียรติศัพท์เกียรติคุณของหลวงปู่มั่นร่ำลือมาก ฉะนั้น ต้องเข้าไปหาหลวงปู่มั่น ไปหาหลวงปู่มั่น ไปถึงท่านก็รู้
มีคนรู้หรือไม่มีคนรู้ ธรรมะเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง แล้วมันจะรู้ได้อย่างไร
พอไปถึง หลวงปู่มั่นท่านเดินจงกรมอยู่ ธรรมะจัดสรร หลวงปู่มั่นท่านก็เดินจงกรมของท่านอยู่ หลวงตาท่านพยายามจะไปหาหลวงปู่มั่น ท่านก็เดินเข้าไปพอดี พอเข้าไป ต่างคนต่างมา แต่มีความคิดคนละอย่างนะ หลวงปู่มั่นท่านสิ้นสุดแห่งทุกข์ของท่าน ท่านเดินจงกรมด้วยวิหารธรรม วิหารธรรมคืออยู่กับธรรมด้วยความเป็นสุข วิหารธรรม อยู่กับธรรมะ มีความสุขมาก พ้นทุกข์ไปแล้ว
แต่หลวงตาท่านศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเต็มที่เลย อยากจะไปนิพพานเต็มที่เลย แล้วจะหาคนชี้คนบอก เห็นไหม ธรรมะจัดสรร จัดสรรให้มาเจอกันพอดี หลวงตาเดินเข้าไป หลวงปู่มั่นเดินจงกรมอยู่น่ะ
“นั่นใครน่ะ นั่นใคร”
“ผมครับ”
“ผมน่ะใคร” เพราะทุกคนก็มีผม
“ผมมหาบัวครับ”
พอมหาบัว เออ! อย่างนี้มหาบัว ก็ขึ้นไปบนศาลาเทศน์แล้ว “ท่านมาหามรรคผลนิพพานใช่ไหม มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่บนดินฟ้าอากาศ มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ในแร่ธาตุ มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ในที่ใดทั้งสิ้น มรรคผลนิพพานอยู่ในหัวใจของคน” เพราะคนนิพพาน จิต ความรู้สึกนี้สัมผัสได้
คนหนึ่งศึกษาเต็มที่เลย ว่าไม่สงสัยๆ ศึกษาถึงเป็นมหา ศึกษามาจะเอาสวรรค์ ศึกษามาจะไปเอาพรหม ศึกษาจะไปเอานิพพาน แล้วจะเอาจริงๆ ขึ้นมาก็สงสัย ความสงสัยเพราะอะไร สงสัยแน่นอน ทุกคนสงสัย ทีนี้เพียงแต่ว่า เราไม่ได้พูดปรักปรำนะ นี่พูดให้เข้าใจเฉยๆ เอง
“ผมมิได้สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนแต่อย่างใด”
ผมไม่สงสัยเลย แต่สงสัย สงสัยเพราะอะไร สงสัยเพราะเรามีกิเลส คนมีกิเลสสงสัยทุกคน คนที่ไม่สงสัยคือพระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์พ้นจากอวิชชา พ้นจากการครอบงำของมารแล้ว คนผู้นั้นถึงจะพ้นจากความสงสัย ถ้ายังติดข้องอยู่ พระอนาคามีก็สงสัย พระอนาคามีที่หลงก็คิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ว่างหมด ว่างหมด แล้วว่างหมดแล้วจริงๆ เป็นอย่างไรล่ะ จริงๆ ก็ยังงงๆ อยู่นี่ แต่ว่างหมด พระอนาคามีก็ยังสงสัย สงสัยนิพพานไง ฉะนั้น คำว่า “สงสัย” พระอรหันต์เท่านั้นถึงหายสิ้นความสงสัย แต่ถ้ายังเป็นพระอนาคามีลงมา สงสัยหมด
มีคุณธรรมในหัวใจส่วนหนึ่ง โสดาบันมีส่วนหนึ่ง สกิทาคามีมี ๒ ส่วน อนาคามีมี ๓ ส่วน ๓ ใน ๔ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ๔ ส่วน บุคคล ๔ คู่ จบ
เรื่องความสงสัยมันเป็นเรื่องปกติ ทีนี้เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นถึงว่า ให้เรามีศรัทธามีความเชื่อไว้ ฉะนั้นบอกว่า ที่ถามมาด้วยความไม่สงสัย เพียงแต่พูดด้วยมารยาทไง ว่าเราถามด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เราไม่ได้ถามด้วยความโต้แย้ง เพราะเราเชื่อ เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ แต่ก็สงสัยเป็นธรรมดา สงสัย ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ สงสัยแน่นอน
ทีนี้คำว่า “สงสัย” มันเข้าปัญหา อารัมภบท เห็นไหม “พระไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง เหตุใดคำสอนที่เมื่อเป็นสัจจะเป็นความจริงที่ไม่เที่ยง ธรรมะที่แท้ ตัวมันเองย่อมไม่เที่ยง เพราะเหตุใดจึงมีคำสอนที่เที่ยง”
เที่ยงกับไม่เที่ยง กุปปธรรม อกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ที่โต้แย้งกันอยู่นี่ ว่าสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นอนัตตา สรรพสิ่งเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา คือความแปรสภาพ มันแปรปรวน นี่คือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำสอนมันเป็นอนัตตา สภาวะความแปรปรวน การพัฒนาไง อย่างเช่นอนุบาลก็ขึ้นประถม ขึ้นมัธยม มันก็ต้องพัฒนาของมันขึ้นไป จิตก็เหมือนกัน จิตเริ่มต้นมันก็ต้องมีวิวัฒนาการของมัน คำว่า “วิวัฒนาการของมัน” จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี่วิวัฒนาการของมัน วิวัฒนาการคืออนัตตาไง การแปรสภาพ การเปลี่ยนแปลง การวิวัฒนาการไง นี้คือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฉะนั้น เวลาคนศึกษาแล้ว อย่างเช่นหลวงตา สาธุ หลวงตาท่านเป็นอาจารย์ของเรา เราพูดด้วยความเชิดชู เราพูดเป็นคติธรรม นั้นเป็นคติธรรมนะ สิ่งที่เป็นคติธรรม การศึกษา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงตาท่านเป็นมหา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบแล้ว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ถ้าหลวงตาท่านไม่ได้ปฏิบัติจนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ ท่านก็จะยอมรับอนัตตาไปกับกระแสสังคมที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แล้วผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติที่ไม่รู้จริงก็ “ธรรมะเป็นอัตตา เป็นเที่ยงธรรม เป็นอัตตา”
แต่หลวงตาท่านบอกว่าไม่ใช่ทั้ง ๒ ฝ่าย อัตตาคือทิฏฐิมานะ อัตตาคือตัวตน อัตตาคือความถือมั่นของเรา อัตตา อัตตาที่เป็นพราหมณ์ พวกพรหม พวกพราหมณ์ นี่อัตตา ไปอยู่กับพรหม ต้องอาตมัน คงที่ตายตัว เราต้องเวียนว่ายตายเกิดแบบนี้ พระเจ้าสั่งให้เกิดแบบนี้ เกิดภพชาติแบบนี้ แปลงร่างเปลี่ยนร่างออกมาเกิดภพชาตินี้ นี่อัตตา พวกนี้พวกพราหมณ์ พวกอัตตา อัตตาคงที่ตายตัว ต้องเกิดอย่างนี้ตลอดไป นี่อัตตา นี่ผิด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอนัตตา สอนวิวัฒนาการของความเป็นไปในตัวมันเอง ความเป็นไปของตัวมันเอง ทีนี้ความเป็นไปของตัวมันเองมันจะเกิดขึ้นที่ไหนล่ะ ความเป็นไปของตัวมันเอง
นี่ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าไม่เที่ยงๆ ไม่เที่ยงแล้วใครรู้ว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง เป็นอย่างไรไม่เที่ยง แล้วทำไมถึงไม่เที่ยง แล้วอะไรมันเที่ยง อะไรมันไม่เที่ยง แล้วมันอยู่ที่ไหนมันถึงเป็นเที่ยงหรือไม่เที่ยง นี่สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมรรค ๔ ผล ๔
ฉะนั้น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เป็นหลักในพระพุทธศาสนานี่ถูก สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แต่มันเป็นกิริยา เป็นกิริยา เป็นกระแส เป็นปัญญา เป็นมรรคญาณที่มันวิวัฒนาการ มันเป็นของมันไป นี่คือคำสอน คือวิธีการ วิธีการ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
แต่เวลาปฏิบัติเข้าไป ถ้ามันถูกต้องตามความเป็นจริง เวลามันขาด กุปปธรรม อกุปปธรรม อกุปปธรรมคงที่ตายตัวแบบธรรม ไม่ใช่คงที่ตายตัวแบบอัตตา
อัตตาคือทิฏฐิมานะ คือความคงที่ตายตัวแบบพราหมณ์ แต่ถ้ามันเป็นอกุปปธรรม ธรรมะที่มันเป็นผลของธรรม เห็นไหม มันพ้นจาก สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
ที่ว่า ของมันไม่เที่ยง ทำไมมันถึงมีธรรมแท้ ทำไมมีธรรมเที่ยง
มันมีของที่ไม่เที่ยง ของที่ไม่เที่ยงคือสัจจะคือความจริงที่มันไม่เที่ยง ที่เป็นกระแสสังคม กระแสโลก โลกียปัญญา แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไป เราเกิดภาวนามยปัญญา เกิดความจริงขึ้นมา ถ้าเกิดความจริงขึ้นมา เวลาถึงที่สุดแล้ว เวลาสมุจเฉทปหานแล้วทำไมเป็นความจริงขึ้นมา นี่ธรรมแท้ไง ธรรมแท้มันอยู่ตรงนี้ไง ถ้าธรรมแท้อยู่ตรงนี้ ถ้าคนปฏิบัติจริงมันจะรู้จริง ถ้าคนปฏิบัติไม่จริงมันก็ไม่จริง
รู้จำมันก็เป็นอย่างหนึ่ง รู้จำยังดีนะ เพราะว่าเวลาเขาสอนกันอยู่นี่ เขาจะบอกว่า พระเราถ้าไม่มีหลักเกณฑ์มันจะสอนแบบพราหมณ์ แบบมีผลของวัฏฏะ วัฏฏะแล้วก็ต้องมีเวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายเกิด พระพรหมสร้าง พระพรหมดลบันดาล ทุกอย่างต้องเป็นไปตามพระเจ้าตัดสิน
ไม่มี พระพุทธศาสนาไม่สอนอย่างนั้น พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราทำอย่างใดได้อย่างนั้น ถ้าทำอย่างใดได้อย่างนั้น ทีนี้กรรมเป็นอจินไตยเข้าไปอีก อจินไตยหมายความว่า จิตนี้เวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย เวรกรรมชาติไหนภพใดมันจะมาส่งผลขณะนั้น ถ้ามันส่งผลขณะนั้น นี่มันเวียนว่ายตายเกิด
ทีนี้การแก้กรรมในพระพุทธศาสนา แก้กรรมกันด้วยภาวนา มันชำระล้างเลย มันถอดมันถอนเลย วิมุตติไปเลย ไม่มาอีกเลย จบสิ้นเลย นี่พระพุทธศาสนาสอน
ฉะนั้น พระเราถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ เขาว่า ถ้าสอนแล้วมันจะเข้าไปสู่พราหมณ์ เข้าไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดคงที่ตายตัวโดยการที่พระเจ้าดลบันดาล
แต่พระพุทธศาสนาสอนเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องการกระทำ เรื่องข้อเท็จจริง เรื่องพุทธศาสตร์ ศาสตร์ที่เป็นจริง ศาสตร์ที่เป็นจริง ทีนี้ศาสตร์ที่เป็นจริง ของที่มีอยู่ มีอยู่ แต่ไม่มีใครรู้จริง ไม่มีใครเห็นจริง ก็ไม่มีใครเข้าใจ
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปตรัสรู้ธรรมแล้วเอาสิ่งนี้มาเป็นหลักการ เป็นธรรมวินัย เป็นสัจธรรมให้เราฝึกหัดปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามาศึกษา ศึกษาก็เป็นรู้จำ มันก็ไม่จริง พอไม่จริงมันก็มีปัญหาอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ว่า “ผมไม่สงสัยเลย” แต่สงสัย
ฉะนั้น ทำไมสิ่งที่ว่าไม่เที่ยง ทำไมมันมีธรรมแท้ มีธรรมเที่ยงล่ะ
สิ่งที่ไม่เที่ยงคือกิริยา คือวิธีการที่มันจะมีวิวัฒนาการ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่ระหว่าง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อย่างนี้ไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยงขึ้นมา อย่างการสอบ อ้าว! สอบตก สอบได้ แล้วก็คงที่ตายตัว สอบตกก็ต้องตกตลอดไปหรือ เอ็งไม่ซ่อมหรือ เอ็งไม่เรียนซ้ำชั้นหรือ แล้วปีหน้าไม่สอบใหม่ใช่ไหม ถ้าปีหน้าสอบใหม่ นี่ไง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา วิวัฒนาการของมัน มันต้องมีของมัน ฉะนั้น มีของมันก็คือการฝึกหัดปฏิบัติ มันฝึกหัดปฏิบัติของมันขึ้นมา
ถ้ามันขึ้นมา ถ้าถึงที่สุดนะ ถ้ามันสอบได้ สอบได้ สอบได้ผ่าน ทุกอย่างผ่านหมด พอผ่านแล้วมันจะตกอีกไหม นี่อกุปปธรรม ธรรมแท้ คือเรามีวุฒิภาวะแค่นี้ เราเรียนจบที่ไหนมา เราก็มีวุฒิภาวะแค่นั้น ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นความจริง ถ้าความจริง ความจริงที่มันเกิดขึ้นมันต้องปฏิบัติขึ้นมามันถึงเข้าใจ
ทีนี้เรารู้จำกับรู้จริง เราเอามาบวกกัน ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์ แล้วทำไมมันมีธรรมแท้ล่ะ มันมีธรรมแท้ได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อมันไม่เที่ยงอยู่แล้ว เหตุใดมันถึงจะมาเป็นของเที่ยงได้ล่ะ
ของเที่ยงมันไม่ใช่เที่ยงแบบอาตมัน มันไม่ใช่เที่ยงแบบคงที่ตายตัว ถ้าคงที่ตายตัวมันเป็นเรื่องพระเจ้าสร้าง พระเจ้าบันดาล พระพรหมเป็นผู้สร้าง ใช่พระพรหมไหม พระพรหมเนาะ พระนารายณ์ มันมีผู้สร้าง มีผู้ทำลาย ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็นคงที่ตายตัวแบบผู้สร้าง ผู้ทำลาย นี่คืออาตมัน ต้องมีอาตมัน
แต่นี่ไม่ใช่ ของมันคงที่ตายตัว จิตเรามีอยู่ๆ แต่ไม่คงที่ตายตัว ถ้าคงที่ตายตัวเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ถ้าคงที่ตายตัว ชำระล้างกิเลสไม่ได้ นี่ไง ตรงนี้ที่ว่ารู้จริงกับรู้จำมันแตกต่างกัน ทีนี้มันแตกต่างมันถึงโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา นี่มันถึงสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา แล้วปัญญาอย่างไรมันถึงชำระล้าง
นี่พูดถึงว่าเหตุผลของเขาก่อน ทีนี้คำถาม “๑. การทำนายว่าใครจะบรรลุธรรมเมื่อไหร่ อย่างไร หรือพุทธทำนายต่างๆ ครับ”
นี่เขาจะบอกว่า ถ้าไม่เที่ยงมันมีอย่างนี้ได้อย่างไร
มันไม่เที่ยงอยู่แล้ว มันไม่เที่ยงคือว่ามันแปรสภาพ เพียงแต่ว่า การที่ว่าทำนายว่าจะบรรลุธรรมได้เมื่อไหร่ สิ่งนี้อนาคตังสญาณคือรู้อนาคตไง รู้อนาคตสิ่งที่ว่าคนนี้ทำอย่างนี้มาๆ มันต้องเป็นแบบนี้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เวลาพระพุทธเจ้าที่พยากรณ์ พยากรณ์พระโพธิสัตว์ ว่าต่อไปอนาคตกาลจะเป็นศาสดา อย่างนั้นพอพยากรณ์ ถ้ายังไม่พยากรณ์ เขาก็ทำ เขาก็สร้างสม เพราะคนที่ปรารถนาเป็นพุทธภูมิเยอะมาก เยอะมากเพราะอะไร การปรารถนาทุกคนก็อยากจะปรารถนาให้มันสูง ให้มันใหญ่โตไว้ก่อน แล้วก็ทำไป
แต่ทำไป พอมันเกิดปัญญาขึ้นๆ เห็นแล้ว เห็นว่า ถ้าความสะอาดบริสุทธิ์ของใจก็เป็นแบบนี้ พระอรหันต์ก็มีความสะอาดบริสุทธิ์ของใจเหมือนกับพระอรหันต์ พระศาสดาก็เหมือนกับพระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์เหมือนกัน ความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาบารมีที่แตกต่างกันคือการสร้างสมที่มากกว่า ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติจนสามารถที่เราจะรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมได้ เราก็ลาโพธิสัตว์ซะ เราจะสิ้นที่นี่แหละ คือจะไม่ไปอีกแล้ว คือจะต้องแบกภาระมันหนักหน่วงเกินไป ถ้าเอาตัวรอดได้ก็จะเอาตัวรอดแล้ว ก็ลาโพธิสัตว์ มันก็มาเป็นสาวก มาเป็นพระอรหันต์
แต่ถ้าต่อไปจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไปแล้ว พยากรณ์คือว่าสร้างมามากมายจนถึงจะเต็ม บารมีจะเต็มไปข้างหน้า อย่างนี้กลับไม่ได้ ต้องไปข้างหน้า
ฉะนั้น ในสัมพุทเธ หลวงตาท่านพูดอยู่ ในสัมพุทเธ พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเม็ดหินเม็ดทราย คือมีพระพุทธเจ้าอีกมหาศาล แล้วพระพุทธเจ้าจะมีองค์เดียว ว่าเหมือนกับมันขัดแย้ง องค์เดียว องค์เดียวหมายถึงว่า เพราะสร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น เวลายุคของท่าน เวลาที่ว่าพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วจะเป็นพระพุทธเจ้าไปข้างหน้า แต่ถ้ายังไม่พยากรณ์ แต่ทีนี้ว่าการทำนาย มันก็เหมือนที่หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้เอง ตั้งแต่หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง ตั้งแต่อยู่ที่วัดเจดีย์หลวง “มันจะมีพระหนุ่มๆ องค์หนึ่งเข้ามาหาเรา”
หลวงปู่เจี๊ยะก็จำไว้เลย “พระหนุ่มๆ มาหาเรา” แล้วก็บอกว่า “มันมาแล้ว แต่มันยังไม่เข้ามา”
ก็ตอนที่วัดเจดีย์หลวง หลวงตาแอบดูท่านทางหน้าต่าง
“มันมาแล้วแหละ แต่มันยังไม่เข้ามาหาเรา”
แล้วหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็เล่า เพราะเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังประจำ หลวงปู่เจี๊ยะท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ ๒ ปีก่อนที่หลวงตาจะเข้าไป เวลามีพระหนุ่มๆ เข้ามา หลวงปู่เจี๊ยะไปถามหลวงปู่มั่นเลย “ใช่องค์นี้ไหม” หลวงปู่มั่นบอก “ไม่ใช่” พอมีพระองค์ไหนเข้ามาที่หนุ่มๆ นะ แล้วมีแวว คือว่าท่าทางจะภาวนาดี หลวงปู่เจี๊ยะจะถามหลวงปู่มั่นเลย “ใช่องค์นี้ไหม”
“ไม่ใช่”
แล้วมีอยู่วันที่หลวงตาเข้าไป หลวงปู่เจี๊ยะก็ไปถามหลวงปู่มั่นอีก “ใช่องค์นี้ไหม”
ไม่ตอบ หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังเอง ไม่ตอบ ไม่รับ เฉยๆ เงียบๆ แต่ถ้าเป็นองค์อื่นมานะ หลวงปู่เจี๊ยะจะไปถามว่าใช่องค์นี้ไหม เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านจะนวดหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เจี๊ยะท่านรักกันเหมือนพ่อกับลูก เหมือนกับหลวงตากับหลวงปู่มั่นเหมือนกัน ไปถามว่าใช่องค์นี้ไหม ถ้าไม่ใช่ท่านจะบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ แต่วันที่หลวงตาเข้าไป แล้วพอหลวงปู่เจี๊ยะท่านว่าน่าจะมีแวว ท่านก็เข้าไปถามอีก เข้าไปถามก็โดนเขกหัวเลย ท่านบอกว่าจะไปถามอะไรก็ต้องป๊อกหนึ่งก่อน ถามว่าใช่องค์นี้ไหม
ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่ปฏิเสธ แล้วก็ไม่รับ เฉยๆ แต่ถ้าเป็นองค์อื่นนะ ปฏิเสธเลย ไม่ใช่ๆๆ แต่ท่านพยากรณ์ไว้ก่อนหน้านั้นว่าจะมีพระหนุ่มๆ องค์หนึ่งเข้ามาหาเรา พระองค์นี้จะเป็นหลักของกรรมฐานทั้งทางโลกและทางธรรม ทางธรรมคือท่านจะได้ทรงธรรมทรงวินัยของหลวงปู่มั่นต่อเนื่องมา ทางโลก โครงการช่วยชาติ ทางโลก ท่านได้สร้างสม
เขาถามว่า การทำนายว่าใครจะบรรลุธรรมเมื่อไหร่ อย่างไร หรือพุทธทำนาย ถ้ามันไม่เที่ยง ทำนายได้อย่างไรล่ะ มันไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าสอนไม่เที่ยง
ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงคือกิริยา ไม่เที่ยงคือวิธีการ แต่บุญญาธิการ ถ้าคนที่สร้างมา บุญญาธิการที่หลวงตาท่านได้สร้างอดีตชาติของท่านมา แล้วหลวงปู่มั่นท่านสอนเทวดา ท่านสอนอินทร์ สอนพรหม ท่านรู้ผลของวัฏฏะ ท่านรู้ว่าจิตดวงใดสร้างมาและไม่สร้างมา ดวงใดสร้างความเลวมา พระที่มาอยู่กับท่าน ท่านบอกว่าองค์นี้ดื้อมาก องค์นี้ใช้ไม่ได้ องค์นี้ดีๆ ท่านมองถึงอดีตชาติเลย แต่ท่านไม่พูดออกมา ถ้าพูดออกมาแล้วมันก็อวดอุตตริมนุสสธรรม ทั้งๆ ที่ท่านมีจริง แต่ท่านไม่พูด ไม่พูดเพราะอะไร
ไม่พูดเพราะกลัวไอ้พวกพระขี้เท่อมันจะจำขี้ปากท่านไปหากิน ไอ้พระที่เข้ามาอยู่กับท่าน ที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ได้ไปคิดเรื่องจะไปชำระล้างกิเลส ไม่ได้คิดเรื่องทำคุณธรรม จะไปอยู่กับท่าน จะไปชุบตัว ชุบตัวแล้วก็จะไปฟังว่าท่านพูดอะไร แล้วก็จะเอาคำที่ท่านพูดนั่นน่ะเอามาเป็นยี่ห้อของตัว แล้วก็เที่ยวไปโฆษณาหากินน่ะ ท่านถึงไม่พูดออกมาเป็นสาธารณะ แต่ท่านพูดกับหลวงตา พูดกับหลวงปู่เจี๊ยะ เพราะองค์ที่อุปัฏฐากคือท่านไว้ใจ องค์ที่อุปัฏฐากคือได้คุ้นเคยกับท่าน แล้วคุ้นเคย มันไว้เนื้อเชื่อใจได้ มันก็พูดได้ใช่ไหม ถ้ามันไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้ ใครจะกล้าพูดด้วย คนที่เขาจะพูดด้วย เขาพูดคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เขาถึงพูดให้ฟัง แล้วสิ่งที่หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านได้เก็บสะสมนี้มา ท่านเก็บของท่านมา
ฉะนั้น คำว่า “การทำนายว่าใครจะบรรลุธรรมเมื่อไหร่ อย่างไร พุทธทำนายมันมีได้อย่างไร”
มันมีได้ต่อคนที่เขามีคุณธรรม มันมีได้ต่อคนที่เขาทำได้ มันมีได้กับคนที่เขามีอำนาจวาสนาบารมี มันมีไม่ได้สำหรับพวกเรานี่ ไอ้พวกโง่ๆ นี่ ไอ้พวกยังสงสัยอยู่นี่
ไอ้พวกที่บอกว่าไม่สงสัยเลย รู้แจ้งหมด ไอ้พวกนี้ไม่รู้เรื่อง แต่คนที่เขารู้นะ เขาเก็บไว้ข้างใน เขาไม่พูดหรอก เขาพูดแต่คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้
คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้ พูดออกไปมันเป็นดาบสองคม มันเป็นโทษของศาสนา คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้ เขาสติบกพร่อง เขาไม่มีความรอบคอบ แล้วเขาก็ไปพูดเป็นสับปลับ พูดสัพเพเหระทั่วๆ ไป กลายเป็นเรื่องการเข้าผีทรงเจ้าไปเลย มันเลยกลายเป็นเรื่องของพราหมณ์ กลายเป็นเรื่องของอัตตา กลายเป็นเรื่องของเทพบันดาล ต้องเป็นอย่างนั้นไปเลย
ไม่ใช่ มันเป็นไปตามสัจจะ มันเป็นไปตามอำนาจวาสนา มันเป็นไปตามจิตใจที่ได้สร้างสมบุญญาธิการมา แล้วผู้ที่เขารู้อนาคตังสญาณ เขารู้อดีตอนาคต เขารู้สิ่งที่ไปที่มา มันไม่เที่ยงอยู่แล้ว มันไม่เที่ยง แต่เขาสร้างของเขามา บารมีมันเต็มอย่างนั้นมา
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะมาจากสัญชัย จะไปขอบวช “นั่นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาของเรามาแล้ว” นี่ยังไม่ได้บวชเลยนะ
แล้วพอพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งขึ้นมาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระติเตียนกันหมดเลย บอกพระพุทธเจ้าลำเอียง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ลำเอียง พระพุทธเจ้าต้องตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรก ต้องเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา
พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ เราไม่ได้ลำเอียง มันเป็นสมบัติของเขา พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา เขาปรารถนาเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาของเขามา เขาสร้างบารมีของเขามา เป็นสมบัติของเขา เขาแค่เดินมาแล้วเอาสมบัติของเขาเท่านั้นเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถเอาสมบัติของใครไปให้คนอื่นได้ มันเป็นสมบัติของเขา เขาสร้างของเขามาเอง นี้อยู่ในพระไตรปิฎก
นี่เหมือนกัน ถ้าคนเข้าใจแล้ว รู้จริงแล้ว มันจะไม่รู้จำ เพราะรู้จำมันก็ไม่รู้จริง ถ้าไม่รู้จริงมันก็เลยงงๆ ทั้งๆ ที่ว่าไม่สงสัย
เราดีใจอยู่อันหนึ่งที่ว่า ผมไม่สงสัย ผมเป็นเพียงผู้เดินตาม แล้วยังเป็นผู้ที่มีจิตใจที่มั่นคง
เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส มันเป็นเรื่องของอวิชชาความไม่รู้ทำให้สงสัย แล้วถ้าเรื่องนี้มันไม่เข้ามาบั่นทอนหัวใจของเรา เราพอใจแค่นี้ เราไม่ต้องการให้สิ่งที่มันเกิดความสงสัยนี้มาบั่นทอนความวิริยะ ความอุตสาหะของจิตใจของเรา เพียงแต่นี้เราอธิบายให้ฟังว่ามันมีอย่างนี้ๆ เพื่อจะได้ไม่ให้มันมาบั่นทอนความมุมานะ ความหมั่นเพียรของใจเรา ไม่ต้องการตรงนี้ เราไม่ต้องการบั่นทอนตรงนั้น แต่เราจะพูดให้เข้าใจเฉยๆ
“๒. ลักษณะการบรรลุธรรม เช่น พระโสดาบันตัดสังโยชน์ ๓ และมีอะไรบ้าง มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น เมื่อไม่เที่ยง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่แน่ เหตุใดจึงต้องมีมรรค ๘”
อริยสัจไง มรรค ๘ อริยสัจอยู่ในธัมมจักฯ คำว่า “มรรค ๘” มรรค ๘ หมายถึงว่าสัจจะที่ว่า ธรรมะมีอยู่แล้วๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาด้วยอาสวักขยญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยวิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ชำระล้างกิเลสไปแล้ว นี่คือมรรค ๘ มรรค ๘ ในอาสวักขยญาณ นี่มรรค ๘
ฉะนั้น สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาด้วยมรรค ๘ พระศรีอริยเมตไตรยอนาคตก็จะมาตรัสรู้ด้วยมรรค ๘ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าตั้งแต่ ๓ องค์มา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ ก็ตรัสรู้ด้วยมรรค ๘ เหมือนกัน
แล้วมรรค ๘ เราก็ไปคิดกันด้วยปัญญา ด้วยทางโลก เห็นไหม ด้วยปัญญา ด้วยการศึกษา ด้วยทางวิชาการว่ามรรค ๘ ต้องเป็นอย่างนั้น ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ งานก็คืองานอย่างนั้น ใครมีหน้าที่การงานอย่างไรที่สะอาดบริสุทธิ์ก็นี่คือมรรค ๘ คือวิชาชีพ คือสัมมาอาชีวะ แล้วก็จะไปเถียงกันนะ วิชาชีพอะไร ก็จะเถียงกันแล้ว วิชาชีพกูบริสุทธิ์ เออ! จะเถียงกันเลย วิชาชีพมึงไม่บริสุทธิ์ วิชาชีพกูบริสุทธิ์ เออ! กูจะเป็นมรรค ๘ มึงไม่เป็นมรรค นี่มันวิชาชีพทางโลก
แต่ถ้ามันเป็นสัมมาอาชีวะ มันเป็นวิชาชีพด้วยมรรค ด้วยมรรคมันเป็นเรื่องใจ เรื่องใจก็เข้ามาที่มรรค ๘ นี่ไง ถ้ามันไม่เข้าตรงนี้ ถ้าไม่เข้ามรรค มันไม่เข้าสู่มรรคญาณ ไม่เข้าสู่มรรคญาณ มันไม่เกิดภาวนามยปัญญา ไม่เกิดปัญญาญาณ ถ้าไม่เกิดปัญญาญาณ มันชำระล้างกิเลสไม่ได้ ถ้ามันชำระกิเลสไม่ได้ มันก็ตัดสังโยชน์ไม่ได้ ถ้ามันจะตัดสังโยชน์ได้ มันก็ต้องตัดสังโยชน์ได้ด้วยมรรค มรรคคือภาวนามยปัญญา แล้วปัญญามันจะเกิดอย่างไรล่ะ
แน่นอน มันชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ไอ้นี่เขาบอกว่า ถ้ามันเป็นของไม่เที่ยง มันไม่มี
เราจะคิดอย่างนั้นก็ได้ ไม่เที่ยงคือไม่แน่นอน ทฤษฎีไม่แน่นอน ทฤษฎีไม่จริง ทฤษฎีอนิจจัง
อ้าว! แล้วมันเกิดความแน่นอนได้อย่างไรล่ะ มันเกิดธรรมะแท้ได้อย่างไรล่ะ
นี่ไง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา กุปปธรรม อกุปปธรรม ถ้าอกุปปธรรมมันจะเป็นความจริง
ลักษณะ เขาถามว่า “ลักษณะของการบรรลุธรรม เช่น พระโสดาบันตัดสังโยชน์ ๓ มันไม่มีอะไร แล้วมันมีมรรค ๘ ขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันไม่แน่ ไม่แน่ ทำไมต้องมีมรรค” นี่คำถามนะ
คำถาม จะบอกว่า คำถามนี่คนถามยังงงนะ คนถามปฏิบัติแล้วตัวเองก็งงในความเห็นของตัว เพราะเราไปเอาเรื่องโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา เรื่องวิทยาศาสตร์
เราพูด เราเน้นย้ำประจำเลย วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ วิทยาศาสตร์เป็นความคิดของโลก ทฤษฎี เป็นความจริง ความจริงของโลก วิทยาศาสตร์ เป็นผลทางวิทยาศาสตร์จริงๆ นะ แต่กิเลสนี้เป็นนามธรรม กิเลสมันปลิ้นปล้อน กิเลสมันเห็นแก่ตัว กิเลสมันเจ้าเล่ห์ วิทยาศาสตร์ก็คือวิทยาศาสตร์ใช่ไหม แล้วกูก็พลิกวิทยาศาสตร์เป็นของกูเลยนะ พลิกวิทยาศาสตร์มาเลย พลิกวิทยาศาสตร์มา กิเลสเอามาใช้ไง
วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้ วิทยาศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นทฤษฎี กิเลสมันยิ้มเลย มันหลบเลี่ยงเข้าไป หลบในทางทฤษฎี หลบไปหลบมา บังหน้าบังหลังอยู่กับวิทยาศาสตร์ แล้วมันบอกเป็นพระอรหันต์
วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ แต่มรรคญาณนะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกนะ เวลาญาณมันเกิด ชำระล้างกิเลส มันสะอาดบริสุทธิ์ มันไม่มีที่อยู่ที่อาศัย กิเลสไม่สามารถอาศัยอยู่ในจิตดวงนั้นได้ ภวาสวะนั้นโดนทำลายหมด ไม่มีอณูใดๆ เลยที่มีความสกปรก ไม่มีอณูใดๆ เลยที่พญามารอาศัยอยู่ได้ ถ้ามันทำลายภวาสวะ ทำลายภพทั้งหมด พอเป็นธรรมแท้ๆ ขึ้นมา ท่านบอกว่า มันละเอียดลึกซึ้งเข้าได้กับเม็ดหินเม็ดทราย เข้าได้กับทุกๆ สิ่งในวัฏฏะมันกว้างขวางขนาดนั้นน่ะ ฉะนั้น มันกว้างขวางขนาดนั้น เวลามันทำได้มันถึงต้องเป็นมรรค ๘ ไง
มรรค ๘ จะบอกว่า เป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค อรหัตตมรรคเป็นญาณหยั่งรู้ ละเอียดลึกซึ้งที่เป็นปัญญาไม่ได้ ที่เป็นความคิดที่กระดุกกระดิก ที่จะเป็นสิ่งที่เป็นวัตถุ เป็นสิ่งที่จับต้อง ไม่ได้ มันจะละเอียดซึมซับ ชำระล้าง ไม่มีแม้แต่อณูใดเลยที่ปล่อยให้มีอวิชชาหลบซ่อนได้ ทำได้ชัดเจนขนาดนั้น ฉะนั้น สิ่งที่มันทำได้ขนาดนั้นมันถึงจะเป็นความจริงไง
ฉะนั้น “ลักษณะของการบรรลุธรรม” นี่เขาว่า
อธิบายอย่างไรก็สงสัย แล้วอธิบายไป เอ็งก็สงสัย กูก็สงสัย เดี๋ยวเอ็งกับกูมาทะเลาะกัน ต่างคนต่างสงสัย เอ็งก็สงสัย ข้าก็สงสัย แล้วก็ตาบอดคลำช้าง แล้วก็คลำไปคลำมา เดี๋ยวก็กลายเป็นพราหมณ์ไปเลย กลายเป็นทรงเจ้า จะเข้าแล้วนะ สั่นเลยนะ พอมาถึงนะ พ่วง! พระโสดาบัน เข้ามาเลย พ่วง! โสดาบันเลย เห็นไหม จากที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์มันก็จะไหลไปแบบนั้นน่ะ เพราะใจไม่มีหลักมีเกณฑ์ ใจไม่มีหลักมันก็อาศัยสิ่งที่ว่าโลกเขาเชื่อถือกัน แล้วก็เอาสิ่งนั้นเป็นหลักเกณฑ์ แล้วไหลไปนะ ศาสนามันถึงจะไม่เหลือไง ศาสนาพุทธเลยกลายเป็นทรงเจ้าเข้าผีไปไง
การทรงเจ้าเข้าผีนี่ถือมงคลตื่นข่าว ขาดจากไตรสรณคมน์ ขาดจากการเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือไตรสรณคมน์ เป็นพุทธมามกะ แล้วประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นไป ถ้าตามความเป็นจริงขึ้นไป ถ้ามีครูบาอาจารย์ขึ้นไป สิ่งที่ถามมามันจบไง ข้อสงสัยก็คือสงสัย เราตอบแล้ว
“ผมไม่ได้สงสัยในธรรมคำสอนแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงผู้เดินตาม ก็ด้วยมองอย่างเถรตรง พบว่าสัจจะนั้นมันขัดกันเอง จึงมีความสงสัย จึงเรียนถามด้วยใจจริงครับ สาธุ”
สัจจะเป็นสัจจะ มันเป็นโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา ไม่มีการขัดกันเอง ถ้าขัดกันเองนั้นคือธรรมปลอม ธรรมแท้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไหลลื่น จะวิวัฒนาการ จะปรับปรุง จะพัฒนาการของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีขัดแย้ง
มีการขัดการแย้งก็ขัดรัฐธรรมนูญไง เถียงกันอยู่นี่ มึงก็ว่ามึงขัด กูก็ว่ากูขัด มีขัดมีแย้งกับรัฐธรรมนูญ ใช้ไม่ได้ มีการขัดและการแย้งกับสัจธรรม ไม่เป็นธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีขัดไม่มีแย้ง มันจะมีวิวัฒนาการ พัฒนาการของมันขึ้นไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ เอวัง