ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เห็นแต่ไม่รู้

๒๒ มี.ค. ๒๕๕๗

เห็นแต่ไม่รู้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องนิมิตหรือไม่ใช่นิมิต

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

หลวงพ่อ : แล้วเขาจะเล่าถวายนะ

ถาม : . ในครั้งแรกที่เห็นนิมิต

หลวงพ่อ : นี่ข้อ ๑ นะ แต่มันยาวมาก ไม่อ่าน เพราะนิมิตมีร้อยแปด

ถาม :  . ภาวนาไปโดยคิดเกี่ยวกับความตาย

. ภาวนาไปแล้วเห็นแขนของตัวเอง

. ขณะภาวนาเห็นภาพแว็บเข้ามา

คำถามมีดังนี้

ข้อที่ ๑ นั้นผมมั่นใจว่าเป็นนิมิตภาวนา แต่ผมปัญญาน้อย จึงปฏิบัติต่อนิมิตได้เพียงเท่าที่เล่าถวายท่านอาจารย์ครับ ขอความเมตตาท่านอาจารย์ในการปฏิบัติต่อนิมิตครับ

ข้อ ๒ ตามที่เล่าในข้อที่ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ นั้น ขณะภาวนาผมคิดว่าอาจจะเกิดจากจินตนาการของจิต จึงไม่ได้สนใจ แต่พอออกจากภาวนาทุกครั้ง ผมมานั่งพิจารณาว่า ภาพที่เกิดขึ้นจากจินตนาการกับภาพที่เกิดขณะที่ผมภาวนานั้นลักษณะการเกิดแตกต่างกันหลายๆ อย่าง

ข้อแรก การจินตนาการคือการตั้งใจจึงเกิดภาพ แต่ขณะผมภาวนานั้นผมสนใจแต่คำบริกรรมและความรู้สึกตัวในขณะนั้น แต่ปรากฏภาพแว็บเข้ามาในใจขณะนั้นดังนี้ ด้วยผมปัญญาน้อย ทำให้เกิดความไม่แน่ใจในสภาวะที่เกิดว่าใช่หรือไม่ใช่นิมิต จึงขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ชี้แนะทางเดิน สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ควรเดินอย่างใด เพื่อผมจะได้ไม่เดินออกนอกทางเดินไปมากกว่านี้ ขอบพระคุณครับ

ตอบ : ข้อ ๑ ๒ ๓ ๔ พูดถึงภาพภาวนาแล้วเขาเห็นนิมิตไปร้อยแปด เห็นภาพซ้อนแล้วซ้อนกันไปหลายๆ ภาพ แล้วพอปฏิบัติไป เวลาอธิบายมา เห็นไหม คำว่านิมิตใช่นิมิตหรือไม่ใช่นิมิต

นิมิตก็คือนิมิต แต่ในการปฏิบัติเราต้องการความสงบ ทีนี้ความสงบ การทำความสงบของใจ เริ่มต้นในการปฏิบัติทุกคนปรารถนาความสงบ ฉะนั้น พอสงบแล้วถ้ามันเห็นนิมิต ถ้าเกิดนิมิตขึ้นมา การเกิดนิมิตขึ้นมามันอยู่ที่คุณภาพของจิต ถ้าจิตของคนมันมีหลักมีเกณฑ์นะ เวลาเจอนิมิตขึ้นไปมันจะไม่หวั่นไหว มันเห็นนิมิตแล้วมันก็จะวางได้ เห็นนิมิตแล้วไม่ตื่นเต้นกับใครไป หรือเห็นนิมิตแล้วมันจะมีสติว่านิมิตนี้ถูกต้องหรือเปล่า ดีงามหรือเปล่า ข้อเท็จจริงเป็นแบบใด ถ้าคนมีสติเขาจะมีอย่างนี้

แต่ถ้าคนที่จิตใจไม่ปกติ ไม่ต้องเห็นนิมิตหรอก เพราะจิตไม่ปกติมันหูแว่ว หูมันจะรับรู้สิ่งต่างๆ ไปแล้ว ยังไม่ภาวนามันก็เกิดภาพอยู่แล้ว แล้วพอเกิดภาพ ภาพมันจะเกิดซ้อนๆๆ เข้าไป นั่นคือว่าจิตใจของคนที่มันอ่อนแอ จิตใจคนที่ไม่เข้มแข็ง

ฉะนั้น ถามว่านิมิตหรือไม่ใช่นิมิต

นิมิตก็คือนิมิต สิ่งที่รู้นิมิตคือนิมิตหมาย เครื่องหมาย เครื่องหมายบอกเหตุ เครื่องหมายที่รับรู้ นี่พูดถึงนิมิต โดยพื้นฐานถ้าจิตมันจะเป็นนิมิตนะ จิตที่มันจะรู้มันจะเห็น มันจะเห็นของมัน แต่เห็นทำไมล่ะ เห็นเพื่ออะไรล่ะ

เห็นแล้วก็วางไว้ เพียงแต่การเห็นมันบอกถึงกำลังของใจได้ อย่างเช่นโดยปกติ โดยสามัญสำนึกที่จิตเราปกตินะ เราจะรู้เห็นด้วยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น เรากระทบแล้วเราถึงจะรับรู้ชัดเจนใช่ไหม นี่โดยความปกติ ถ้าปกติมันจะรู้เห็นอย่างนี้ นี่ถ้าเป็นปกติ

แต่ถ้าใจเรากำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม มันรู้โดยใจ รู้โดยธาตุรู้ ถ้ารู้โดยธาตุรู้มันไม่อาศัยอายตนะ

ที่ว่ามันจะมีประโยชน์ ประโยชน์ตรงนี้ไง ประโยชน์ที่ว่า คุณภาพของจิต จิตนี้ปกติมันก็รับรู้โดยอายตนะ รับรู้โดยสามัญสำนึก ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันรับรู้ด้วยอย่างนี้ รับรู้แค่นี้ ถ้าเป็นอย่างอื่นไปแสดงว่าจิตหลอน จิตเราไม่ปกติมันถึงได้เห็นภาพเชิงซ้อน ภาพลวงตา นี่ถ้าโดยวิทยาศาสตร์

แต่ถ้ามันจะวัดคุณภาพของจิต ถ้าเราพุทโธไป จิตมันสงบเข้ามา มันรู้โดยไม่ผ่านอายตนะ เห็นไหม มันรู้โดยไม่ผ่านอายตนะ นี่โดยความเป็นปกตินะ มันจะรู้ มันจะวัดคุณภาพของใจได้ว่าถ้าใจมันแตกต่างแล้วมันจะสงบลงได้ แล้วมันจะรู้ของมันได้

แต่ถ้ารู้ได้ จิตที่มีกำลังเขาก็จะรู้อีก เห็นไหม เห็นอะไร เห็นแล้วจริงหรือไม่จริง เห็นแล้วเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เห็นแล้วควรวางหรือควรเดินต่อเนื่องกันไป ถ้าจิตเป็นปกติมันจะเป็นแบบนี้

แต่ถ้าจิตของคนมันไม่ปกติ จิตของคนมันไม่มีหลักเกณฑ์ พอรู้แล้วก็วูบวาบ รู้แล้วก็เลือดสูบฉีดไปเต็มที่เลย แล้วมันจะรู้ไปทำไมล่ะ

เห็นแต่ไม่รู้ เราไม่รู้ เราไม่มีสติปัญญา เราก็วางของเราไว้ เราวางของเราไว้

ทีนี้เขาบอกว่า การปฏิบัติแล้ว พุทโธเป็นสมถะ แล้วมันจะเกิดนิมิต มันจะเกิดความเสียหาย

เราจะพูดประจำว่า จิตของคนที่มันจะเป็นนะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เวรกรรมมันเกิดขึ้นกับพันธุกรรมของจิต จิตที่มันสร้างมา จิตของคนมันได้ทำคุณงามความดี มันได้สร้างสมบารมีมาแตกต่างกัน จิตมันไม่เหมือนกันหรอก ในการปฏิบัติ พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์ ก็ ๑๐๐ อย่าง อริยสัจหนึ่งเดียว การเป็นพระอรหันต์เหมือนกันทั้งหมด แต่จริตนิสัย อำนาจวาสนาของบุคคลแตกต่างกัน อำนาจวาสนาของบุคคลแตกต่างกัน

อย่างเช่นคนที่มีความชำนาญในการทำอาหาร เขาทำอาหารทุกจานๆ ทำอาหารทุกจานเลย คุณภาพเสมอกันไหม มันจะเท่ากันเปี๊ยะโดยที่ไม่มีการแตกต่างเลย เป็นไปได้ไหม เพราะ ๑ จานก็ ๑ เตา ๑ จานก็ ๑ กระทะ ๑ กระทะนั้น เขาทำกระทะเสร็จแล้วเขาก็ไป ๑ จาน แล้วเขาก็ทำกระทะใหม่ก็เป็นจานใหม่ ทั้งๆ ที่เป็นอาหารชนิดเดียวกัน รสชาติเดียวกัน แต่ขณะเขาทำแต่ละจานๆ มันก็คนละจานไม่เหมือนกัน

จิตพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ ความเป็นพระอรหันต์คือจิตดวงนั้นเป็น ความแตกต่างกัน พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ก็ไม่เหมือนกันสักองค์หนึ่ง ไม่เหมือนกัน ต่างองค์ต่างเป็น ฉะนั้น ต่างองค์ต่างเป็น

นี่พูดถึงคุณภาพของจิต ฉะนั้น คุณภาพของจิต จิตที่เวรกรรมที่สร้างมา ใครสร้างมา ถ้ามันจะเห็นนิมิต จะภาวนาพุทโธก็เห็นนิมิต แต่ถ้าไปกำหนดนามรูป กำหนดอภิธรรมว่าไม่เป็นนิมิตๆ ใช้ปัญญาก็เป็นนิมิต เพราะพวกอภิธรรมมาถามเราเยอะแยะเรื่องนิมิต อภิธรรมนี่มาถามเราเยอะมาก กำหนดอภิธรรม บอกว่านิมิตเป็นสมถะ เกิดนิมิต อภิธรรมมาถามเราเยอะแยะ

ในเมื่อจิตมันจะเป็น เอ็งทำอะไรก็เป็น ทำอย่างไรก็เป็น แต่เป็นแล้วจะแก้อย่างใด มันเหมือนกับเรา เราเป็นโรคชนิดนี้ เราก็ต้องแก้ตามโรคของเราขึ้นไป คนไม่เป็นโรคนี้ก็เป็นโรคอื่น ก็แก้ตามโรคอื่นไป เหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้าว่านิมิตก็คือนิมิต เพราะคำว่านิมิตเขาจะโจมตีมาก เขาจะโจมตีว่า พวกพุทโธจะเกิดนิมิต เกิดนิมิตแล้วเดี๋ยวก็จะเป็นบ้า เดี๋ยวก็จะหลงใหลกันไป นี่เขาโจมตีกันมาก แล้วจะทำอย่างไรถึงไม่เป็นล่ะ ก็กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม สต๊าฟจิตเอาไว้เลย มันก็ไม่ไปรู้อะไรเลย มันก็ตรึกในธรรมไง ตรึกในธรรม เราก็ อู้ฮู! จิตนี้ผ่องแผ้ว จิตนี้เข้าใจไปหมดเลย เมื่อก่อนเป็นคนโกรธมาก เดี๋ยวนี้หายโกรธหมดเลย เมื่อก่อนกินเหล้าเมายา เดี๋ยวนี้ไม่กินเลย

ต้นไม้มันก็ไม่กิน ต้นไม้ใบหญ้ามันก็ไม่กินเหล้า บ้านเรือนมันก็ไม่กินเหล้า มันก็ไม่โกรธใครด้วย เวลาไฟไหม้บ้านเรือนมันไหม้ทั้งหลังเลย มันไม่เห็นร้องว่ามันเจ็บปวด มันก็ไม่เห็นโกรธใครเลย เห็นไหม มันไม่มีชีวิต แต่จิตมีชีวิต ชีวะ มันมีการสืบต่อ มีการกระทำต่อเนื่องกันไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ถ้ามันจะเกิดนิมิต เราจะบอกว่านิมิต อย่าไปโทษ อย่าไปโทษ เพราะอย่างนั้นถึงเกิดนิมิต นิมิตก็คือนิมิต แต่พอเกิดนิมิตขึ้นมาแล้ว เราเกิดนิมิตแล้วเราจะบริหารอย่างไร เราจะแก้ไขอย่างไร

คนที่ไม่มีนะ บางคนอยากมี เพราะคนบอกมีนิมิตรู้เห็นแตกต่างแปลกประหลาด ไอ้คนที่ภาวนาด้วยกันนะ ทำไมเราไม่เห็นสักที ทั้งๆ ที่จิตเขาสงบนะ จิตเขาร่มเย็นของเขานะ เขาก็เดือดร้อนน่ะ เดือดร้อนเพราะเขาไม่มีนิมิตอย่างนั้นไง คือเขาอยากมี เห็นไหม มันไม่เหมือนกัน ไอ้คนที่ไม่เคยมีมันก็แปลกใจนะ เอ๊! ทำไมนิมิตมึงเกิดบ่อยวะ ไอ้เราทำเกือบตายไม่เห็นเกิดสักที

ไอ้คนที่มีนิมิตก็ทุกข์นะ เพราะมีนิมิตแล้วมันเกิดอารมณ์ เกิดความผูกพัน เกิดความกระเทือนใจ ก็อยากจะร่มเย็นเป็นสุข ไอ้คนที่ไม่มีนิมิต พอไอ้คนที่เป็นนิมิตมาเล่าให้ฟังก็อยากมีอยากเป็นไปกับเขา ทั้งๆ ที่ตัวเองดีอยู่แล้วมันก็อยากมีอยากเป็นไปกับเขา อยากจะเดือดร้อน ไอ้คนที่เขาเดือดร้อนอยู่เขาอยากร่มเย็นเป็นสุข เขาก็อยากจะสงบ อยากจะให้นิมิตมันหายไป นี่มันเดือดร้อนทั้งคู่เลย ไอ้คนไม่มีก็เดือดร้อนอยากมี ไอ้คนมีไม่อยากให้มีมันก็เดือดร้อนว่าทำไมมันถึงมี แต่มันก็มีของมันอย่างนั้นน่ะ เห็นไหม นี่คือนิมิต

ถ้านิมิตเกิดขึ้นมาแล้วเรากำหนดพุทโธชัดๆ เราตั้งสติชัดๆ นิมิตนี้จะหายไป นิมิตจะหายไป

นี่ข้อที่ ๑ นะว่า มันใช่นิมิตหรือไม่ใช่นิมิต

ฉะนั้น ถ้าเราบอกว่า นิมิตต้องเป็นอย่างนั้น ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ เขาก็บอกไอ้นี่บ้านิมิต

ไอ้บอกว่านิมิตไม่ถูก ไอ้นิมิตใช้ไม่ได้เลย ไปปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ ไอ้คนบอกว่านิมิตมันดีไปหมดก็คือบ้า ไอ้บอกว่าห้ามมีนิมิต เราปฏิเสธเวรกรรมไม่ได้ เราไปปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ไม่ได้ ของมันมีอยู่มันต้องมีอย่างนั้น แต่ของที่มีอยู่แล้วเราจะแก้ไขอย่างใดต่างหากล่ะ เราแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ให้มันพัฒนาขึ้นไป ให้มันดีขึ้นไป ให้มันเป็นการวิปัสสนาให้จิตใจมันสูงขึ้นไป ทำอย่างนี้ถึงถูกต้อง

ถ้าไม่มี ไม่มีก็คือไม่มี ถ้ามี มีก็ต้องจัดการที่มี ฉะนั้น เขาบอกว่าเขามี ข้อที่ ๑ อู๋ย! เขียนมานี่ ไปเห็นอย่างนู้นต่อเนื่องแล้วก็สงสัย ถามไปต่อเนื่อง ถามในใจมันก็ไปเรื่อยเลย ข้อที่ ๑ จบ เรื่องที่เขารู้เขาเห็นนี่วางไว้ เพราะเดี๋ยวบอกว่าเราไม่เคยมี เราจะเดือดร้อนนะ เราจะอิจฉาคนมี นิมิตเขาเกิดเยอะเลย เรายังไม่มีนิมิตเลย ฉะนั้น แสดงว่าเรานี่ไม่มีวาสนา ข้อที่ ๑ นิมิต เราจะทำอย่างไร ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔

ทีนี้คำถามข้อที่ ๑ ผมมั่นใจว่าเป็นนิมิตภาวนา แต่ปัญญาผมน้อย จึงปฏิบัติต่อนิมิตได้เพียงเท่านี้ เล่าถวายท่านอาจารย์ครับ ขอเมตตาท่านอาจารย์แนะนำด้วย

นิมิตที่มันเกิดขึ้น ถ้านิมิตที่มันเกิดขึ้นนะ ถ้ามันเกิดขึ้น เราวาง เราวางให้หมด เราวางทุกๆ อย่าง มันยังไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์นะ เราสร้างบุญกุศลของเรามา บุญกุศลมันเป็นนามธรรม ใครมันจะแย่งชิงไม่ได้ สิ่งที่ว่าเป็นทิพย์สมบัติๆ ไง บุญกุศลนี่เป็นทิพย์สมบัติ ของของเราจะอยู่กับเราตลอดไป มันไม่ใช่เพชรนิลจินดาที่ใครจะมาหยิบฉวยไปแล้วไปซื้อไปขายได้ แต่บุญของเรา จิตใจดวงใดก็จะมาแย่งบุญกุศลเราจะไปซื้อไปขายไม่ได้ ฉะนั้น บุญกุศลของเราก็คือบุญกุศลของเรา

ถ้าจิตของเราเป็นนิมิต พอเราพิจารณาไปแล้วเห็นนิมิตแล้วเราวางไว้ก่อน เราวางไว้ จะไม่มีใครมาแย่งชิงไป บุญจะอยู่กับเราตลอดไป อำนาจวาสนาของจิตจะอยู่กับจิตดวงนี้ตลอดไป ไม่มีใครที่ไหนมาแย่งชิงสิ่งนี้ได้ แต่เพราะเราใช้มันไม่เป็น เราบริหารไม่เป็น พอเราไปเจอแล้วเราคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นสมบัติของเรา

มันเป็นสมบัติหยาบๆ มันเป็นนิมิตหมายที่ให้จิตรู้ แล้วถ้าจิตวางไว้ จิตจะเป็นอิสระ พอจิตเป็นอิสระแล้วจิตพิจารณานะ จิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันวิปัสสนาของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าเป็นชั้นเข้าไปนะ สิ่งที่เป็นอำนาจวาสนามันจะมาเสริมๆ

ครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นกิเลสไปแล้ว จิตที่กว้างขวาง จิตที่มีกำลัง จิตที่เป็นประโยชน์ ท่านจะสร้างประโยชน์กับศาสนา กับสัตว์โลกได้มหาศาลเลย แต่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เวลาสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วไปสอนพระปุณณมันตานีบุตรที่เป็นหลานองค์เดียว แล้วไปอยู่ในป่าในเขาตลอดไปเลย

พระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เป็นเสนาบดีทางธรรม ท่านออกมาช่วยเหลือ เป็นมือขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม นี่พระอรหันต์เหมือนกัน บุญญาธิการยังไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันมีนิมิตแล้ว ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราจะทำประโยชน์มากกว่านี้ เราวางไว้ก่อน เราวางแล้วผ่านเข้าไป จิตมันสงบเข้าไป ระงับเข้าไป อย่าไปรู้จักนิมิต นิมิตนี้วางไว้ทั้งหมด ไม่เป็นประโยชน์อะไรทั้งสิ้น นิมิตเป็นเครื่องหมายบอกเท่านั้นเองว่าจิตเรามันสงบแล้วมันไปรู้ไปเห็น ไปรู้ไปเห็นนั่นน่ะคือใช้จ่าย นั่นน่ะคือฟุ่มเฟือย เพราะจิตมันรู้ จิตมันก็ต้องเป็นพลังงาน พลังงานมันใช้ไปแล้วมันก็เสื่อม เพราะจิตมันไปเห็น พลังงานต้องใช้ไหม เครื่องยนต์ที่มันติดอยู่ต้องมีน้ำมันไหม ไม่มีน้ำมัน เครื่องจะติดได้ไหม จิตไม่สงบจะเห็นนิมิตไหม แล้วก็ไปรู้ตามนิมิต มันก็ใช้กำลังไปหมดแล้วมันจะเอากำลังไปทำอะไรต่อ มันก็ไม่มีไง

แต่ถ้าวางไว้ รถยนต์เติมน้ำมันเต็มถังแล้วไม่ติดเครื่องเลย น้ำมันไม่พร่องเลย เวลาจะเดินทาง พอจะใช้สอย ติดเครื่อง ไปได้แล้ว

นี่รถติดเครื่องไว้ เวลาเติมน้ำมัน ติดเครื่องไว้ ให้มันติดเครื่องไว้ทั้งวันทั้งคืนเลย พอจะมาอีกทีน้ำมันเกือบหมดถังแล้ว นี่ก็เหมือนกัน พอรู้นิมิต ไปรู้นู่นรู้นี่ น้ำมันมันใช้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราดับเครื่อง ไม่ต้องติดเครื่อง ทำความสงบของใจ น้ำมันจะอยู่เต็มถังอยู่อย่างนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกันผมมั่นใจว่ามันเป็นนิมิตภาวนา

ใช่ มันเกิดจากนิมิตภาวนา เกิดจากนิมิตภาวนาแล้วทำอย่างไรต่อ เห็นไหม เห็นภาพอย่างนั้น พอภาพนั้นจบไปจะเห็นภาพอย่างนั้นต่อ จริงหรือไม่จริงก็ได้ นี่เห็นแต่ไม่รู้ เห็นแต่ไม่รู้

แต่ถ้าเห็นแล้วรู้นะ อ๋อ! นิมิตใช่ไหม จิตเราเป็นคนรู้ อย่างเช่นเรามีการศึกษา ปัญญาที่เราศึกษามาเป็นของใคร แล้วปัญญาอยู่ที่ไหน แล้วคนจะรู้ไหมเรามีปัญญามากปัญญาน้อย เว้นไว้แต่เอาประกาศมาแขวนไว้ กูมี ๕ ใบ แล้วมีความรู้จริงหรือเปล่าไม่รู้ กูซื้อมาก็ได้ เดี๋ยวนี้กูไปซื้อในเว็บไซต์ กูจะเอากี่ใบก็ได้ กูจะจบอะไรก็ได้เดี๋ยวนี้ ดอกเตอร์กูก็จบได้ กูแขวนไว้บ้านกูเต็มเลยดอกเตอร์ กูซื้อมาจากเว็บไซต์ แล้วปัญญามีจริงหรือเปล่า

นี่ก็เหมือนกัน เราวางไว้ เรารู้สิ่งใดเราก็วางไว้ เรารู้ของเราเอง แล้วเราทำความสงบของใจเข้ามา

นี่ข้อที่ ๑ ไงจะปฏิบัติต่อนิมิตอย่างไร

จะปฏิบัติต่อนิมิตนะ นิมิตก็คือนิมิต รู้แล้วเราก็เก็บไว้ในใจ ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว ดูสิ ดูหลวงตานะ หลวงตาเวลาท่านจะออกปฏิบัติ เวลาท่านทำความสงบของใจเข้ามา มีปะขาวเดินเข้ามาต่อหน้า แล้วก็มานับข้อให้ดูนะ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ แล้วพยักหน้า ๙ พรรษาแล้วจะสำเร็จ ปฏิบัติไป ๙ ปีจะเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกท่านเก็บไว้ในใจ ไม่บอกใครเลย เก็บไว้ลึกๆ เก็บไว้ข้างในลึกๆ ไม่บอกใครเลย รู้ของท่านเอง ท่านรู้นิมิต ท่านเก็บไว้ ท่านไม่บอกใครเลย

แล้วภาวนาไปกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็เคี่ยวเข็ญมาโดยตลอด ติดสมาธิอยู่ ๕ ปี ออกจากสมาธิมาก็มาพิจารณา ติดสมาธิเพราะคิดว่าสมาธิเป็นนิพพานไง ติดว่านี่เป็นนิพพาน เพราะสิ่งที่คิดว่าสมาธิเป็นนิพพาน หลวงปู่มั่นก็ลากออกมาแล้วปฏิบัติต่อเนื่องไป พอหลวงปู่มั่นเสียไปแล้ว ๙ พรรษา ออกพรรษาที่ ๙ ยังไม่จบ ไปถามหลวงปู่ ไปคุยปรึกษากับหลวงปู่กงมาไง บอกว่า นี่นิมิตมันหลอกผม ผมมั่นใจมาตลอดนะว่า ๙ ปี ออกพรรษา ก็คิดว่าก่อนออกพรรษาจะได้เป็นพระอรหันต์ นี่ก็ออกพรรษาแล้วยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะรู้อยู่ เพราะรู้ว่ากิเลสยังมีอยู่ ไปปรึกษาหลวงปู่กงมา ไม่พูดกับใครเลย เพราะว่านิมิตมันโกหกผมแล้วล่ะ

หลวงปู่กงมาท่านแก้ พรรษาที่ ๙ ยังไม่สิ้นปีที่ ๙ สิ้นปีที่ ๙ คือสิ้น พ.. ที่ ๙ ออกพรรษาแล้วมันยังอีกตั้งหลายเดือน มันยังไม่จบปีที่ ๙ ท่านจะมาพูดอย่างไรว่านิมิตมันหลอก

พอหลวงปู่กงมาท่านให้คติอย่างนั้น โอ๋ย! มันฟื้นขึ้นมาเลยนะ จิตใจมันคึกคักขึ้นมาเลยนะ ท่านก็พยายามปฏิบัติของท่านต่อเนื่องไป จบปีที่ ๙ จริงๆ

แต่ขณะนิมิต นิมิตของเราเก็บไว้ลึกๆ ท่านบอกท่านเก็บไว้ลึกๆ ท่านไม่พูดให้ใครฟังเลย แต่บางทีท่านพูด ท่านเล่าออกมาให้ฟัง เวลาท่านสงสัยขึ้นมา ไปถามหลวงปู่กงมานะว่า นิมิตมันหลอกผม นิมิตบอกว่าออกปฏิบัติพรรษาที่ ๙ จะสำเร็จ นี่ก็ออกพรรษาแล้ว ๙ ปีแล้ว หัวใจห่อเหี่ยวเลย มันยังไม่สำเร็จ

หลวงปู่กงมาท่านแก้ให้นะ พรรษาที่ ๙ กับปีที่ ๙ พรรษาที่ ๙ มันออกพรรษา มันยังไม่สิ้นปีที่ ๙ ถ้าสิ้นปีที่ ๙ ให้ปฏิบัติต่อเนื่องไป พอปฏิบัติต่อเนื่องไป ออกพรรษาที่ ๙ แล้วปฏิบัติต่อเนื่องไป ท่านก็สำเร็จจริงๆ ตามพรรษาที่ ๙

นิมิต เห็นไหม เขาบอกนิมิตมันจะผิด นิมิตจะไม่เป็นประโยชน์ นิมิตจะอะไร

นิมิตก็คือนิมิต แต่นิมิตแล้วเราต้องทำของเรา เห็นไหม ปะขาวเขามาบอก ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ พยักหน้าเลยนะ ๙ ปีจะสำเร็จ ๙ ปีจะสำเร็จ ไม่ทำอะไรเลยนะ ให้ปะขาวเอาพระอรหันต์มาให้ไหม นอนเฉยๆ ปะขาวจะเอาพระอรหันต์ยัดเข้าไปในใจเลย

นิมิตก็บอกถึง ๙ ปี แต่หลวงตาท่านเกือบตาย อดอาหารจนท้องเสีย ต่อสู้จนสุดกำลัง สละตายแล้วสละตายอีก ๙ ปีสมบุกสมบันเต็มที่เลย เห็นไหม นิมิตบอกไว้ ๙ ปี แต่หลวงตาปฏิบัติเกือบตาย ๙ ปีสำเร็จเหมือนกัน

นิมิตวางไว้

จะปฏิบัติกับนิมิตอย่างไร

นิมิตวางไว้ เรารู้เราเห็นของเรา ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับใคร แล้วไม่ต้องไปถาม นี่เขาเขียนมานะ ไปถามอาจารย์เขา อาจารย์เขาว่าอย่างนู้น คนนี้ว่าอย่างนี้

เราไม่พูดเลย เป็นสมบัติส่วนตน แล้วเราเก็บไว้ เราจะปฏิบัติต่อนิมิต เว้นไว้แต่จิตสงบแล้วเห็นกาย พิจารณา นิมิตอย่างนี้ต้องเอามาแยกมาแยะให้มันเป็นไตรลักษณ์ ถ้านิมิตเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องความรู้ต่างๆ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าเห็นกายก็นิมิตเหมือนกัน แต่นิมิตเกิดจากจิตสงบแล้วเห็น แยกแยะให้เป็นไตรลักษณ์ ให้แปรสภาพให้เราดู กรณีอย่างนี้ใช้ได้ แล้วปฏิบัติต่อไป แล้วถ้าต่อเนื่องไปๆ จิตพอพ้นจากกิเลสแล้ว นิมิตนั้นจะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นิมิตมันจะบอกสิ่งที่เราควรทำประโยชน์อย่างไร อนาคตกาลจะมีเรื่องสิ่งใด จะเข้ามาในจิตให้จิตรับรู้ได้ อันนั้นมันเป็นเพราะไม่มีอวิชชาแล้ว ไม่มีสิ่งใดมายุมาแหย่ สิ่งนั้นมันเป็นสัจธรรม สัจจะจะรู้ได้

แต่ตอนนี้อวิชชาในหัวใจเราเต็มหัวใจ สิ่งใดเข้ามา มารมันก็ครอบงำเราอยู่แล้ว สิ่งที่เข้ามารู้มาเห็นมันก็มากระตุ้นให้มารมันฟูขึ้น เป็นผู้วิเศษ เป็นคนเก่ง เป็นผู้รู้ เป็นผู้จะสร้างโลก เป็นผู้จะช่วยเหลือโลก นี่มันไปกระตุ้น ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ตัวเองยังกิเลสเต็มหัวเลย จะไปช่วยใคร วางไว้ๆ ไง

นี่จะปฏิบัติต่อนิมิตอย่างไร เราปฏิบัติของเราไป นิมิตเราต้องมีความเข้าใจของเราเอง ถ้ามันรู้มันเห็นขึ้นมามันจะเป็นของมัน นี่เห็นแต่ไม่รู้ มันก็เป็นอย่างนี้

. ตามที่เล่าข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ และข้อที่ ๔ ขณะภาวนานั้นผมคิดว่าอาจจะเกิดจากจินตนาการของจิต จึงไม่ได้สนใจ แต่พอออกจากภาวนาทุกครั้งผมมานั่งพิจารณา ภาพที่เกิดขึ้นจากจินตนาการกับภาพที่เกิดในขณะภาวนา ลักษณะหลายๆ อย่างไม่เหมือนกัน จากจินตนาการข้อแรก

อันนี้เราคิด เห็นไหม ถ้าอย่างนั้นเกิดนิมิตแล้ว นี่เวลาเป็นธรรมเกิดว่าธรรมเกิด พอธรรมเกิดแล้ว หลวงตาบอกกิเลสเกิด พอธรรมมันเกิดคือสิ่งที่รู้เห็นมันมาเตือน เป็นการเตือน เป็นการสอนใจเรา แต่เพราะเราไปผูกพัน เห็นไหมมันเป็นภาพที่จริง มันเป็นภาพที่ดี มันเป็นความจริง ไม่ใช่กิเลสหลอกหรอกนี่กิเลสเกิดแล้ว

กิเลสเกิดคือทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ กิเลสเกิดคือเราต้องการให้ได้อย่างนั้น กิเลสเกิดคือเราต้องการให้ภาพที่รู้ที่เห็นคงที่อยู่กับเรา กิเลสเกิดคือเรารู้เห็นสิ่งใดต้องเป็นความจริงตลอดไป นี่กิเลสเกิด ทั้งๆ ที่ธรรมเกิด ธรรมมาเตือนเรา แต่เราจะบริหารจัดการกับนิมิตอย่างไร แต่พอมันมาเกิด ธรรมเกิดแล้วให้กิเลสมันมาครอบงำ ครอบงำ มันก็จะว่าเป็นอย่างนู้นเป็นอย่างนั้นไป

สัจธรรมบอกว่าธรรมเกิด แต่หลวงตาบอกว่ากิเลสมันเกิด กิเลสเกิดเพราะใจเรามีกิเลส มันถึงกิเลสเกิด นี่พูดถึงว่า ถ้าความรู้ความเห็นนะ เขาบอกภาพที่เขาเห็นเป็นคำบริกรรม

มั่นใจอย่างนั้นก็ใช่ ถ้าเป็นนิมิตใช่ไหม ใช่ แต่นิมิต ถ้าจิตเรามันยังไม่มั่นคง จิตเรายังไม่มีกำลังพอที่จะบริหารจัดการ นิมิตทำให้เสียได้ นิมิตทำให้

. เสียเวลา หนึ่งนะ เสียเวลา ทำให้เรามั่วอยู่นั่นน่ะ เราคลุกคลีอยู่กับนิมิตนั่นน่ะ ไม่ก้าวหน้า นี่เสียเวลา

. ถ้าเกิดนิมิต เกิดความรู้ความเห็นยึดมั่นถือมั่นขึ้นไป จะทำให้เราออกนอกทางแล้ว เราจะยึดมั่นถือมั่นว่าความรู้ความเห็นนั้นจะเป็นความจริง

ฉะนั้น ทุกคนมันนอน มันฝันก็ต้องเป็นความจริงหมดสิ

ฝันจริงก็มี ฝันปลอมก็มี มันมีของมันทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นสิ่งใดแล้ววางไว้ เราปฏิบัติเพื่อความสงบของใจ ให้ใจมันมีความสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น บางคนจะรู้จะเห็น แล้วถ้าเขาเห็นโทษแล้วแก้ไขได้นะ เจริญก้าวหน้ามาก

บางคนไปรู้ไปเห็นแล้วไม่เห็นโทษ เห็นเป็นคุณ เห็นเป็นคุณไง แต่มันเป็นโทษ เห็นเป็นคุณแล้วยึดมั่นถือมั่น พอความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังหมด ถ้าเป็นอนิจจัง เราจะไปยึดของที่เป็นอนิจจังให้เป็นความจริงได้ไหม เราไปยึดสิ่งที่แปรปรวนให้เป็นความจริงกับเราได้ไหม เพราะมันไม่ได้ เราก็บ้าน่ะสิ คือเราไปเอาเงา ภาพเงาให้เป็นภาพจริง แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นจะให้มันเป็นแบบนั้น เราทุกข์ตายเลย

เราไปเห็นภาพเงา ภาพเงานี้มันเป็นคติ มันเป็นคติ มันเป็นเครื่องบอกว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร เราจะทำได้หรือไม่ได้ อันนี้เรารู้ของเราแล้วเราก็วางไว้ แล้วเราก็มาทำจริงจังของเรา แบบที่หลวงตาท่านบอก ปะขาวบอก ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ พอออกพรรษาที่ ๙ นิมิตหลอกแล้ว

แต่เวลาไปถึงหลวงปู่กงมา หลวงปู่กงมาบอกไม่ ยังไม่พ้นปีที่ ๙ ถ้าพ้นปีที่ ๙ ไปแล้วถึงจะบอกว่านิมิตหลอก ขยันหมั่นเพียรต่อไป จบในปีที่ ๙ จริงๆ เห็นไหม นี่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ แล้วหลวงตาท่านบอกท่านเก็บไว้ลึกๆ ไม่บอกใครเลย ถ้าบอกใครไปแล้ว นี่ในการปฏิบัติเขาทำกันอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน นิมิตหรือไม่นิมิตวางไว้ วางไว้ เห็นแต่ไม่รู้ เอาความจริงของเราดีกว่า

ถาม : เรื่องพิจารณาไม่เป็น

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมากๆ ที่เมตตาตอบคำถามปัญหาการนอน และมันคืออะไร ให้ลูกได้เอาไปคิดทบทวนนะคะ ลูกเข้าใจความหมายในสิ่งที่หลวงพ่อสอนค่ะ ลูกมีกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างลูกสร้างขึ้นมาเอง ลูกยอมรับโดยดีค่ะ ถ้าลูกได้พบพระธรรมตั้งแต่เด็กๆ ลูกคงบวชไปนานแล้วค่ะ แต่นี่เพิ่งตาสว่างมาเห็นความไม่เที่ยงของชีวิตก็อายุ ๒๘ แล้วค่ะ

หัดนั่งสมาธิเอง ผิดๆ ถูกๆ เมื่อได้พบความสงบใจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในชาตินี้ จึงได้คิดออกแสวงหาครูบาอาจารย์ เพื่อนปฏิบัติธรรมทางอินเทอร์เน็ตแนะนำมาทางนี้ค่ะ จึงได้มาถามหลวงพ่อในข้อสงสัยต่างๆ นะคะ นับว่าเป็นบุญของลูกที่อย่างน้อยลูกก็เกิดมาได้พบพระธรรม ได้มาพบครูบาอาจารย์นะคะ

ลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อพูดหรอกนะคะ เกี่ยวกับการพิจารณากาย กายนอก กายใน กายในกาย หรืออสุภะ เพราะแต่ก่อนเวลานั่งสมาธิ ลูกก็ไปติดอยู่ที่จิตเสมอ ลูกพิจารณาต่อไปไม่เป็นค่ะ แต่กายมันไม่รู้สึกอะไรนะคะ ก็เลยไม่รู้จะพิจารณาอย่างไร ลูกอยากจะเข้าใจนะคะ อยากศึกษาให้รู้ ปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงทั้งหมด แต่ลูกไม่มีบุญมากพอที่จะทำให้เห็นอย่างนั้น เพราะตอนนี้ลูกพยายามหันมานั่งสมาธิ แต่ลูกก็พบว่าจิตไม่เป็นสมาธิเหมือนแต่ก่อนค่ะ ลูกหมายถึงไม่มีสภาวะสุขสงบใจเหมือนตอนที่เริ่มนั่งสมาธิใหม่ๆ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าลูกไม่ได้นั่งสมาธิมาระยะหนึ่งกระมัง

ปัจจุบัน ลูกพยายามตามรู้ลมหายใจ ตอนที่เดินไปกลับขึ้นรถไฟฟ้าตามที่หลวงพ่อบอก ลูกก็เห็นสภาวะที่ท้องมันโป่งพองดันออกมา เหมือนทางเดินหายใจมันปิด เหมือนตอนที่นั่งสมาธิ บางครั้งแค่นึกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิดหน่อย หรือให้เงินกับขอทานนิดหน่อย ก็อาการเหมือนกันนะคะ แต่ก่อนขณะนั่งสมาธิ บางครั้งลูกจะผ่านระยะนี้ไปได้บ้างค่ะ

ระยะสุดท้ายก่อนลูกจะหยุดนั่งสมาธิ ลูกเห็นตอนที่จิตมันผุดขึ้นมาเอง เป็นคำสวดมนต์บ้างว่ามันไม่ใช่ตัวที่ลูกรู้สึก แต่ลูกก็ยังไม่เข้าใจกระจ่างดีในเรื่องของจิตค่ะ

มาตอนนี้ลูกไม่ได้นั่งสมาธิเหมือนเดิม แต่บางครั้งลูกก็รู้ได้ว่าจิตที่ผุดขึ้นมานั้นมันไม่ใช่ตัวที่ลูกรู้สึก จิตมันบอกให้ลูกไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้โดยที่ลูกไม่ได้คิดสิ่งนั้นเลย มันผุดของมันเอง ลูกคิดว่าลูกเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วค่ะว่าจิตมันเป็นเหมือนเทปที่จะรีเพลย์อีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าดีหรือไม่ดี มันก็ทำหน้าที่ของมันไปอย่างนั้นจริงไหมคะ มันเป็นเหตุผลที่เราต้องสำรวมทั้งกายและใจใช่ไหมคะ เพราะไม่ว่าอะไรมากระทบ มันก็จะลงที่จิตทั้งดีและไม่ดี มันเป็นที่มาของคำว่ากายวิเวกและจิตวิเวกใช่ไหมคะ

ในการปล่อยคืออะไรคะ มันคือการเห็นตามความเป็นจริงว่ามันเกิดมันดับ มีสิ่งนี้มากระทบก่อน สิ่งที่เกิดตามมา แล้วเราก็ปล่อยมัน ไม่ใช่การไปเพ่ง การบังคับไม่ให้มันดับใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ ลูกคิดว่า การทำจิตสงบกดทับจิตไว้คือทางออก แต่ดูแล้วลูกเข้าใจผิดค่ะ ลูกควรปล่อยมันหมดเลยหรือไม่คะ ทั้งกุศลและอกุศล หรือเราควรที่จะยึดกุศลไว้คะ และทำกุศลให้มากๆ เข้าไว้ แต่ถ้าตามจิตนั้นไปทำกุศล ถ้าทำไม่ได้ก็ทุกข์อยู่ดีอีกตามเคย

คำถามลูกมาถูกทางไหมคะ กรุณาตอบด้วย

ตอบ : อันนี้ก็อารัมภบทมาตั้งแต่ครั้งที่แล้ว ครั้งที่แล้วที่ถามมาว่าไม่มีโอกาสได้ภาวนา ก็ตอบไปไงว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมเพราะเราสร้างเวรสร้างกรรมของเรามาเอง คราวนี้เขาเขียนมา เขียนมามีอยู่ ๒ ประเด็น

ประเด็นหนึ่ง ลูกไม่เข้าใจหลวงพ่อพูดเลยค่ะ ลูกไม่เข้าใจหลวงพ่อพูดเลย ถ้าไม่เข้าใจหลวงพ่อพูดเลย แล้วเขียนมานี่เอาอะไรเขียนมา

ไม่เข้าใจก็วางไว้ เวลาพูดไป เวลาหลวงตาท่านสอนนะ เวลาฟังเทศน์ เราตั้งสติไว้กับจิต แล้วเสียงนั้นจะมากระทบเราเอง เอาคำเดียว เอาคำที่สะเทือนใจ พอฟังแล้วขนลุกขนพองสยองเกล้า เอาคำนั้นน่ะ

ฟังเทศน์เพื่อสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปแก้ความสงสัยของเรา ถึงที่สุดจิตใจมันผ่องแผ้ว คือเข้าใจแล้วมันวางหมด มันโล่งหมด นี่อานิสงส์ของการฟังธรรม

แต่นี่มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักศึกษาไง เวลาฟังธรรมก็เหมือนเทปเลยนะ ตั้งแต่คำแรกจนคำสุดท้ายจำได้หมดไง จะจำให้หมดเลย หลวงพ่อพูดมาดีมาก จะจำตั้งแต่คำแรกยันคำสุดท้ายเลย ก็เลยไม่ได้เรื่องเลย คือจำไปจำมาเลยงง จำไปจำมาเลยจำไม่ได้สักคำ

ไม่ต้อง การฟังเทศน์นะ ตั้งสติไว้ที่จิต แล้วเวลาครูบาอาจารย์เทศน์ ให้ท่านเทศน์ไป นั่นคือสัจธรรม แล้วเรานั่งจิตสงบ อะไรที่มันสะเทือนใจ อะไรที่มันทิ่มกลางหัวใจ คำเดียว คำนั้น เอาคำนั้นมาคิดบ่อยๆ คำนั้นน่ะเวลาถ้ามันกระเทือนหัวใจนะ ขนพองสยองเกล้าเลย

ฉะนั้น ที่หลวงพ่อพูดไป โยมไม่เข้าใจที่หลวงพ่อพูดเลยค่ะ

ก็ไม่เข้าใจเลย เพราะหลวงพ่อพูดร้อยแปด พูดทุกเรื่องเลย ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

การจะเทศน์นะ มันต้องเทศน์ตั้งแต่การเคลียร์พื้นที่ของใจก่อน เวลาฟังเทศน์นะ เทศน์ต้องเทศน์วิธีการทำความสงบของใจ คือปรับพื้นที่ ถ้าใจมันสงบแล้วออกวิปัสสนาอย่างไร นี่เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป

การตอบคำถามก็เหมือนกัน ตอบคำถาม วันนั้นโยมถามมา เราตอบไปเป็นพะเรอเกวียนเลย เพราะเราเห็นว่าโยมถามมาว่า โยมอยากภาวนาก็ไม่มีเวลาภาวนา สามีอยากภาวนาก็ไม่มีเวลาภาวนา ลูกเล็กๆ มันก็ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย เพราะอะไร เพราะว่า หนึ่ง โยมก็สะเทือนใจ เพราะลูก ๒ คน แล้วสามีก็บอกว่าเห็นภรรยาภาวนา สามีก็อยากภาวนาเหมือนกัน แสดงว่าภรรยาเอาเปรียบสามี สามีออกไปหาเงินหาทองมาเลี้ยงครอบครัว แล้วภรรยาไม่ต้องออกหาเงินหาทองมาเลี้ยงครอบครัว อยู่สุขอยู่สบายแล้วยังไปเอาเปรียบเขาอีกไง เราถึงได้พูดออกไปอย่างนั้น ได้พูดออกไปว่าการครองเรือนมันแสนยาก พูดตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ แล้วโยมจะจำทุกคำมันจำไม่ได้หรอก เลยสุดท้ายว่า หลวงพ่อพูดอะไร หนูไม่รู้เรื่องเลย

ไม่รู้เรื่อง เห็นไหม เรื่องกายนอก กายใน กายในกาย เวลาพิจารณาไปมันเป็นขั้นเป็นตอน เอาสิ่งที่โยมเข้าใจได้ รู้ได้พอ สิ่งใดที่โยมเข้าใจไม่ได้ รู้ไม่ได้ วางไว้ก่อน จิตใจที่สูงกว่าเขาจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่า โยมอยู่ใต้ถุนบ้าน ไอ้เราอยู่บนหลังคา เราอยู่บนหลังคาแล้วหย่อนเชือกลงมา โยมเห็นเชือกไหม เวลาอยู่ใต้ถุนเห็นเชือกลงมา เห็นแต่เชือกใช่ไหม แต่ไม่เห็นคนหย่อนลงมาใช่ไหม แล้วโยมจะบอกว่าเห็นเชือกด้วย ต้องเห็นหลวงพ่อด้วย ถ้าหลวงพ่อไม่หย่อนมา เชือกคนอื่น หนูไม่เอา จะเอาแต่เชือกหลวงพ่อ เห็นไหม

จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้น ฉะนั้น จิตที่ต่ำกว่าจะเข้าใจว่าจิตที่สูงกว่าพูดแล้วจะเข้าใจหมด เอาที่ไหน เว้นไว้แต่สมมุติกับสมมุติมันสอนกัน สมมุติคือปรัชญา ตรรกะ คนที่พูดตรรกะเขาก็เข้าใจได้ซาบซึ้ง ไอ้คนฟังก็ซาบซึ้ง นี่ไง ที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ฟังธรรมที่เป็นสมมุติ โอ๋ย! ฟังแล้วซาบซึ้งเป็นนิยาย นิยายธรรมะฟังแล้ว แหม! พระเรวตะเข้าป่า พระเรวตะไปช่วย โอ๋ย! ฟังแล้วซาบซึ้งๆ แต่ไม่รู้ว่าพระเรวตะคือใคร

พระเรวตะเป็นน้องพระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์ เป็นเอกในทางอยู่ธุดงควัตร ฉะนั้น เขาเอามาเขียนเป็นนิยายธรรมะ โอ๋ย! อ่านแล้วซาบซึ้งมากเลย แต่พอมาฟังเทศน์เรื่องอริยสัจ งงนะ ฟังไม่เข้าใจ

เราเห็นเรื่องอย่างนี้มาก โดยทั่วไปโยมฟังนิยายธรรมะนี่ชอบ นิยายธรรมะซาบซึ้งน้ำตาไหลเลยแหละ แต่พอฟังเทศน์อริยสัจ เฮ้ย! พูดอะไรกันวะ เฮ้ย! พระพวกนี้พูดแปลกๆ เฮ้ย! พระพวกนี้ใช้ไม่ได้ มันไม่สนุก พระพวกนี้ใช้ไม่ได้...ฟังเทศน์ไม่เป็น

ฟังเทศน์เป็นนะ มันจะฟังเลย สิ่งใดที่สะเทือนใจ สิ่งใดที่ทิ่มเข้าไปกลางใจดำ คือกิเลสอยู่ที่ไหน ทิ่มเข้าไปตรงนั้นน่ะ ถ้าอย่างนั้นเขาจะหาครูบาอาจารย์อย่างนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติ

ฉะนั้น หลวงพ่อพูดอะไร หนูไม่เข้าใจเลย

ยกไว้ โอ๋ย! ถ้าเป็นคนอื่นนะ ร้องไห้เลย โอ๋ย! สอนเกือบตาย ไม่เข้าใจ โอ้โฮ! เทศน์ขนาดนี้ไม่เข้าใจ โอ๋ย! เสียเวลาเปล่า คนสอนนี่ร้องไห้เลย ไม่มีความสามารถ สอนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ เสียใจอย่างหนักเลย

แต่ตอนนี้ไม่เสียใจเพราะเข้าใจว่า สมมุติจะเข้าใจเรื่องอริยสัจไม่ได้ สมมุติจะรู้เรื่องวิมุตติไม่ได้ ถ้ารู้ เขาไม่สงสัย เขาไม่ถามมา ฉะนั้น สมมุติก็อยู่ในวงของสมมุติ วงของสมมุติ นิยายธรรมะอยู่ในวงของนิยายธรรมะ วงของอริยสัจอยู่ในวงของอริยสัจ วงของที่พ้นไป นี่วางทั้งดีและชั่ว พ้นออกไปดีและชั่วทั้งสมมุติบัญญัตินั้นเป็นอีกวงหนึ่ง ในวงของสงฆ์ ในวงของกรรมฐาน ในวงของบุรุษ ๔ คู่ มันเป็นวงเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

ฉะนั้น เราพูดอย่างนี้โยมอย่าคิดมากนะ พอพูดไปอย่างนี้ เดี๋ยวพอโยมฟังแล้วโยมจะบอกว่า หลวงพ่อเอาอีกแล้ว พูดอะไรมาไม่รู้เรื่องอีกแล้ว พูดแต่เรื่องไม่รู้เลย เรื่องที่รู้ไม่บอก บอกแต่เรื่องที่ไม่รู้

เพราะถามมาเองว่า ลูกไม่เข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อพูดเลยค่ะ เกี่ยวกับเรื่องการพิจารณากายนอก กายใน กายในกาย หรืออสุภะ ลูกไม่เข้าใจเลยค่ะ

ไม่ต้องไปเข้าใจ ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องเข้าใจ แต่ที่เวลาเราพูดไป เราพูดถึงสเต็ป พูดถึงการปฏิบัติ มันเป็นวิวัฒนาการ การพัฒนาการของจิตมันจะเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาแบบนี้

นี่ไง อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ก็ ๑,๐๐๐ อย่าง แต่อริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่งเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแบบนี้ พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์จะมาตรัสรู้ท่ามกลางอริยสัจ

จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ อาสวะสิ้นไป อาสเวหิ จิตฺตานิ ทำลายจิต จิตฺตานิ เป็นผู้วิมุตติ วิมุตติหลุดพ้นไป ถ้าหลุดพ้นไป ถึงตอนนั้นแล้วเราจะเข้าใจ ค่อยเข้าใจตอนนั้น

ฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจ วางไว้ อย่าไปพยายามจะทำความเข้าใจ แล้วเราถือว่าเราเข้าใจ ไอ้นี่เป็นสมมุติทั้งนั้นน่ะ เทียบเคียง เทียบเคียงเอาว่ารู้ เทียบเคียงเอาว่าเข้าใจ ก็เทียบเคียงไปก่อน นี่คือสุตมยปัญญา คือการฟัง นี่สุตมยปัญญา แล้วภาวนาไปจะมีจินตมยปัญญา แล้วถึงภาวนามยปัญญาจะเข้าใจตอนนั้นเป็นชั้นเป็นตอนไป อันนี้พูดถึงว่าความเข้าใจและไม่เข้าใจ

ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องวิตก โอ๋ย! หลวงพ่อสอนดีๆ อยากจะจำให้หมดเลย อยากจะรู้ให้หมดเลย...ไม่มีทางรู้ จะรู้ได้ต่อเมื่อพุทโธ รู้ได้ต่อเมื่อปัญญาอบรมสมาธิ รู้ได้ต่อเมื่อจิตมันเป็น ถ้าจิตไม่เป็น ไม่มีทางรู้ ไม่มีทาง

ฉะนั้น สิ่งที่ตามมา เห็นไหมตอนนี้ลูกพยายามหัดนั่งสมาธิ แต่ลูกก็พบว่าจิตมันไม่เป็นสมาธิเหมือนแต่ก่อนค่ะ ลูกไม่มีสภาวะความสุขใจ

ความสุขอย่างนั้นเกิดขึ้นมา เราทำของเราตอนนั้น ถ้าตอนนี้เรากลับมานั่งสมาธิ อย่างเช่นว่าขึ้นรถไฟฟ้าต่างๆ หลวงปู่ฝั้นท่านสอนเอง เวลานั่งรถไปทำงาน หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ รักษาหัวใจเราไว้ โคเราผูกไว้ อย่าปล่อยมันเร่ร่อน แล้วเวลามีสติปัญญาทำสิ่งใดมันจะดีขึ้น ทำอย่างนี้ถูก เราไม่ต้องกำหนดลมหายใจหรือภาวนาแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในวันนี้เลย ไม่ใช่

การภาวนานี่ธรรมโอสถเพื่อเอามาปลุกปลอบหัวใจ ธรรมโอสถเพื่อให้หัวใจได้ลิ้มรส เพื่อให้หัวใจร่มเย็น อย่าเร่าร้อนเกินไปนัก อย่าทุกข์ยากนัก อย่าเร่ร่อน อยู่แต่ท่ามกลางความเดือดร้อน แล้วมันเดือดร้อนนัก หาพุทโธไว้ หาสิ่งความสงบร่มเย็นไว้ให้หัวใจได้เกาะเกี่ยว แค่นี้ก็พอ ภาวนาให้จิตสงบก็พอ ทำงานให้จิตใจมันไม่เร่าร้อนจนเกินไป เอาแค่นี้ก่อน แล้วพอจิตมันพัฒนาแล้ว มันดีแล้ว เดี๋ยวคนมีปัญญาแล้วมันหาทางออกได้ จะปฏิบัติให้เป็นพระอรหันต์ไปเลยข้างหน้า เดี๋ยวทำได้ ทำของเราไป ถ้าจิตมันพร้อมแล้วเดี๋ยวมันทำได้ แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ ไม่ต้องไปกังวลไง

โอ๋ย! ฟังเทศน์ทีเดียวจะเป็นพระอรหันต์เลย ไม่ใช่พาหิยะ เขาทำบุญมามาก เขาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าแล้วเป็นพระอรหันต์เลย อันนี้ฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วไม่เข้าใจเลย

โอ๋ย! ถ้าเราเป็นคนขี้น้อยใจนะ เราน้อยใจตายเลย โอ๋ย! เทศน์เกือบตาย ไม่มีใครรู้เรื่องเลย โอ๋ย! รู้อยู่คนเดียว อันนี้การทำความสงบของใจนะ ข้อ ๒

. การปล่อยวางคืออะไรคะ

การปล่อยวาง อยากรู้การปล่อยวาง คิดว่าพิจารณาไปแล้ว การปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าการปล่อยวาง เราคิดจะปล่อยวาง ไม่ได้นะ เราคิดจะปล่อยวาง เหมือนเราขับรถไป เราขับรถไปแล้วเราก็จะปล่อยมือเลยนะ ให้รถวิ่งไปเอง ไม่ได้

การปล่อยวาง นี่เราต้องขับรถนะ แล้วรถเราต้องเอาเข้าที่จอดรถ ที่จอดรถ เราจอดรถเสร็จแล้ว นั่นคือการปล่อยวาง การปล่อยวางคือเอารถเราเข้าเทียบที่ เข้าโรงจอดเรียบร้อย นั่นคือการปล่อยวาง คือจอดเสร็จแล้ว

แต่นี่การปล่อยวางคืออะไรคะ ขับรถมานะ การปล่อยวางคืออะไรคะ ก็ปล่อยพวงมาลัยใช่ไหมคะ แล้วเหยียบคันเร่งแรงๆ ใช่ไหมคะ ก็ลงข้างถนนสิคะ

การปล่อยวาง เพราะยังไม่รู้จักการปล่อยวาง แล้วจะไปตอบเรื่องอะไรล่ะ การปล่อยวางก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ยังไม่ต้องเข้าใจ การปล่อยวางคือถ้าจิตมันมีสติปัญญาแล้วมันจะปล่อยวาง การปล่อยวางมันวางด้วยสติ วางด้วยปัญญา วางด้วยการรู้เท่า วางด้วยสติพร้อม ถ้าสติพร้อม การปล่อยวางอย่างนี้มันถึงการปล่อยวางแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่การปล่อยวางแบบหลับ การปล่อยวางแบบไม่รู้ การปล่อยวางแบบกดทับไว้ การปล่อยวางแบบปฏิเสธ การปล่อยวางอย่างนั้นไม่ใช่

ฉะนั้น การปล่อยวางคือรู้เท่าแล้วปล่อยวาง อย่างเช่นนิมิตต่างๆ เราก็ปล่อยวางเข้ามาๆ ปล่อยวางคือมีสติควบคุมความรู้สึก มันจะปล่อยของมัน มันจะเข้าใจของมัน มันจะปล่อยวางเข้ามา ถ้าปล่อยวางเข้ามา อย่างนี้มันจะเป็นไป

การพิจารณาที่ว่า กายนอก กายใน ที่ไม่เข้าใจ ถ้าพิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยวาง แต่ที่เขาว่ามันปล่อยวางอย่างไรคะ มันเป็นการเพ่งหรือเปล่า

อยู่เฉยๆ พุทโธไว้ พุทโธไว้ แล้วปัญญาอบรมสมาธิไว้ ยังไม่ต้องทำสิ่งใดมากไปกว่านี้ ให้จิตใจเรามีสติปัญญา ให้มีสติสัมปชัญญะรู้พร้อม ไม่มีสิ่งใดเข้ามายุมาแหย่หัวใจของเรา แล้วเดี๋ยวจะเข้าใจไปเรื่อยๆ

ตอนนี้นะ เรากระหาย เราทุกข์ยาก เราก็อยากจะรู้อยากจะเห็น เราขวนขวายไป มันจับพลัดจับผลูแล้วมันไม่ชัดเจน ถ้าเรายืนนิ่ง เรามีสิ่งใดที่ว่าขาดตกบกพร่อง เราหามาเสริมจนเต็มแล้ว สิ่งใดที่ขาดตกบกพร่อง เราจะพิจารณาของเราว่าอะไรควรไม่ควร นั่นน่ะเดี๋ยวมันจะเข้าใจเรื่องการปล่อยวาง ยังไม่ต้องไปรีบร้อนว่ามันจะปล่อยวางอย่างไร

ลูกควรจะปล่อยมัน คือปล่อยให้หมดใช่ไหมคะ กุศล อกุศล

ไม่ใช่นะคะ ถ้าปล่อยทั้งกุศลแล้วปล่อยทั้งอกุศลด้วย มันก็เลยไม่มีอะไรเป็นถนนหนทางเลย

เราปล่อยวาง ปล่อยวางที่ความยึดมั่นถือมั่น แต่คุณงามความดี เราก็ทำของเราไป กุศล เราก็ทำของเราไป แม้แต่การที่เรากำหนดพุทโธ เรากำหนดอานาปานสติ นี่ก็คือกุศลนะ กำหนดลมหายใจ มีสติ ถ้ามีสติ การกระทำนั้นเป็นกุศล แต่ถ้าเราขาดสติ การกระทำนั้นเป็นอกุศล อกุศล มันทำสิ่งใดแล้วมันไปกระทบกระเทือนใครก็ไม่รู้ไง ฉะนั้น เราต้องตั้งสติไว้

กุศล ทำบุญกุศลไม่ใช่ต้องไปทำบุญที่วัด จะต้องไป ไม่ใช่ ทำบุญกุศล เวลาเรานั่งหลับตา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ นี่กุศล กุศลคือปฏิบัติบูชา เรายกตัวเราถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราทำบุญกุศล เราก็หาวัตถุทานไปถวายอามิสต่างๆ ไปถวายพระ แต่ตอนนี้เรากิริยา บุญกิริยาวัตถุ กิริยาคือคนเรามีอิสรภาพจะทำอะไรก็ได้ เราเสียสละนั่งสมาธิเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เราเอาร่างกายเราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ บุญกุศลนี้มันมหาศาลไหม

แต่คนเราไม่คิดอย่างนั้นน่ะ จะทำบุญกุศลก็ต้องหาของไปวัด ต้องไปทำบุญอย่างนั้น ต้องถวายสตางค์ ต้องถวาย...บ้า

เวลาทำบุญกุศล นั่งหลับตานี่ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ บุญกิริยาวัตถุนี่ เราถวายทุกอย่างพระพุทธเจ้าเลย แล้วปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด เพราะปฏิบัติบูชา เดี๋ยวปัญญามันจะเกิดไง ปัญญามันเกิดเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ อ๋อ! จิตสงบเป็นอย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าสอนให้จิตสงบ พอเราสงบแล้วเราก็รู้ เรารู้แล้วมันก็เห็นชัดเจน แล้วพอเรารู้แล้วถ้ามันเกิดปัญญา อ๋อ! ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้ เราก็รู้ ถ้าภาวนาไปต่อเนื่องกันไป พอถึงที่สุดแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้ารู้อย่างนี้ เราก็รู้อย่างนี้

ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา สาวกสาวกะเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ได้เป็นศาสดา เป็นสาวกสาวกะ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา เพราะสร้างบุญกุศลมา ครูบาอาจารย์ของเราเวลาสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่ศาสดา สาวกได้ยินได้ฟัง มีองค์ศาสดาเป็นอาจารย์สอน นี่ไง ถ้าเราทำของเราไป เดี๋ยวเรารู้ได้ เราเข้าใจได้ กุศลเป็นอย่างนี้ มันจะมีกุศล มีปัญญารู้ตัวทั่วพร้อม รู้ไปหมดเลยถ้าเราทำได้ แล้วจะมีสิ่งเป็นประโยชน์กับเราไง จะมีปัญญา จะมีธรรมเป็นที่พึ่งตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย

ตอนนี้เขาอยู่ไกล อยู่เมืองนอก ถ้าอยู่ไกลนะ เราก็ทำมาหากินของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา เวลาจิตเราสงบเข้ามาแล้วเราจะมีธรรมเป็นที่พึ่ง จะอยู่ใกล้อยู่ไกลขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้เอง จะอยู่ไกลเราขนาดไหน ถ้าปฏิบัติเหมือนเรา กำหนดพุทโธเหมือนเรา กำหนดอานาปานสติเหมือนเรา เหมือนจับชายจีวรเราไว้ จับชายจีวรเราไว้ แต่ไม่ทำอะไรเลย เหมือนอยู่ไกลแสนไกล

แต่เราจะอยู่ใกล้อยู่ไกลขนาดไหน เราปฏิบัติธรรม เรากำหนดพุทโธ กำหนดลมหายใจเข้าออก เรามีสติสัมปชัญญะอยู่ เท่ากับจับชายจีวรพระพุทธเจ้าไว้ จะอยู่ใกล้อยู่ไกล ปฏิบัติธรรมตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เหมือนอยู่ใกล้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง