สะดุดใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์พระ วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราตั้งสติ เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปแล้ว เอาเรื่องปัจจุบัน ปัจจุบันคือมีร่างกายกับจิตใจเราในปัจจุบันนี้ ตั้งสติแล้วฟังธรรม สัจธรรมนะ สัจธรรมใครพูดเมื่อไหร่ พูดที่ไหน มันก็เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมนะ แต่ถ้าเป็นกิเลสพูดที่ไหน พูดเมื่อไหร่ พูดเพื่อเห็นแก่ตัว พูดเพื่อเอาชนะคะคานกัน พูดเพื่อให้คนอื่นยอมรับ
แต่ถ้าเป็นธรรมนะ สัจธรรม ดูสิ ดูเสียงจักจั่นเรไร มันเป็นธรรมชาติของมัน มันทำเพราะสัญชาตญาณของมัน แต่เสียงของมันจะเป็นฤดูกาล มันไม่ได้ทำเพื่อใคร มันทำด้วยสัญชาตญาณของมันเท่านั้น นี่คือสัจจะของมัน แต่สัจจะของมันเป็นฤดูกาล เป็นเรื่องของสัตว์ เป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เป็นเรื่องของเวรของกรรม ของเวรของกรรมเพราะอะไร เพราะมันเกิดไง จักจั่นมันเกิดเป็นสัตว์
ถ้ามันเป็นคุณงามความดี มันเป็นอริยสัจ มันเป็นความจริง ทำไมมันต้องเกิดเป็นสัตว์ล่ะ ทำไมไม่เกิดเป็นมนุษย์ ทำไมไม่เกิดเป็นคนแล้วมีบุญญาวาสนาทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ไป นี้พูดถึงว่าถ้าเป็นสัจธรรม นี่มันเป็นสัจธรรมของโลกไง มันเป็นสมมุติอันหนึ่ง มันเป็นผลของวัฏฏะไง
สัจธรรมๆ มันทำของมันโดยสัญชาตญาณของมัน มันไม่ได้ทำเพื่ออวดใคร มันไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์กับใคร มันทำแล้วเป็นโทษของมันด้วย เป็นโทษของมันนะ ดูสิ พื้นถิ่นที่เขาเอามาเป็นอาหาร ถ้ามันมีอยู่ที่ไหนเขามาจับมันไปทอด มันเป็นอาหารของเขาหมด เพราะอะไร? เพราะมันส่งเสียงให้เขารู้ว่ามันอยู่ที่ไหน เห็นไหม มันกลับเป็นโทษกับมัน แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเป็นเรื่องสัญชาตญาณ มันเป็นเรื่องสัจธรรมของมันนะ นี่สัจธรรม สัจธรรมของโลกไง
ถ้าสัจธรรมของโลก เราก็ว่าเราเป็นคน เรามีการศึกษาไง มีการศึกษาเห็นไหม จนลืมตัวตนของตัว ถือทิฏฐิมานะว่าตัวเองมีความรู้ความเห็น ว่าตัวเองมีปัญญา แล้วเอาปัญญามาจากไหน ปัญญาอย่างนั้น ดูสิ สัญชาตญาณของสัตว์มันยังเป็นโทษกับมันได้ แต่ถ้าเราว่าเรามีสติมีปัญญา ปัญญามากน้อยขนาดไหน ปัญญาจนลืมตัวไง จนลืมตัวเพราะมันส่งออกหมดไง มันส่งออกหมด มันเป็นอะไรน่ะ
ศึกษาไม่มีวันจบ วิชาชีพของทางโลกศึกษาเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจบ ปัญญาทางโลกไม่มีวันจบ แต่ถ้ามันย้อนกลับมา ทวนกระแสกลับมา เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กลับมาที่นี่ มันจะจบในใจของเรา ถ้ามันจบในใจของเราเพราะมันมีหัวใจใช่ไหม ถ้าเรามีหัวใจเรามีความสำนึก เรามีความสำนึก เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงได้มาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระเพราะเหตุใด?
บวชเป็นพระเพราะพระเป็นนักรบ รบกับอะไร รบกับความรู้สึกนึกคิดของตัว รบกับความเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว เพราะเรามีบุญกุศลเราถึงเห็นโทษในวัฏสงสาร เราถึงได้ทิ้งสถานะของความเป็นฆราวาสแล้วมาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระเป็นผู้ที่ประเสริฐ พระคืออะไร เห็นไหม พระคืออะไร พระ นี่สมณสารูป
สมณสารูป เห็นไหม บวชมาอุปัชฌาย์ยกเข้าหมู่มาแล้ว ยกเข้าหมู่มาโดยญัตติจตุตถกรรม ญัตติคือประกาศตน ขอบวช ขอกับอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ทดสอบมาโดยกรรมวาจาจารย์ ทดสอบว่าเป็นบุคคลที่ถูกต้องไหม เป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีพิษมีภัยไหม ยกเข้าหมู่มา นี่ที่ว่าเป็นมนุษย์แล้วก็บวชเป็นพระมา บวชเป็นพระมามันมีธรรมและวินัย
ดูสิ กรณียกิจ ๔ อกรณียกิจ ๔ สิ่งนี้ทำได้หรือสิ่งนี้ทำไม่ได้ สิ่งนี้ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะว่ามันขาดจากความเป็นพระไง ขาดจากความเป็นพระ เห็นไหม ตาลยอดด้วน แต่ถ้าไม่ขาดจากความเป็นพระล่ะ ไม่ขาดจากความเป็นพระ สิ่งที่ว่าเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวช ถ้าเราบวชมาแล้วเพราะเรามีสำนึก มีความสำนึกเห็นไหมบวชมา คนที่บวชมาเพื่อศึกษาอยากค้นคว้า บวชมาเพราะจิตมันยังไม่ลงใจ เพราะมันไม่ลงใจมันถึงหาหัวใจของตัวเองไม่เจอ
แต่ถ้าเรามีสามัญสำนึก เราลงใจ เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสารเราถึงมาบวช บวชขึ้นมาเพื่อจะมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะมาต่อสู้กับตัวเอง เอาอะไรมาต่อสู้ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสติจะเอาอะไรไปต่อสู้กับมัน จะไปต่อสู้กับใคร ถ้าเรายังมีสามัญสำนึกเพราะมีสามัญสำนึก เห็นไหม ดูสิ คนเขามีสามัญสำนึกเขาลงใจ เขาจะทำงานสิ่งใดเขามีทุ่มเทกับงานของเขา ทุ่มเทกับงานของเขาเพราะอะไร? เพราะเขาคิดว่างานนั้นเป็นประโยชน์กับเขา งานนั้นเป็นวิชาชีพ เป็นสิ่งที่เขาสร้างอำนาจวาสนาบารมีของเขา เขาทำงานของเขา นั่นเป็นหน้าที่ของเขา
แต่เพราะเรามีสามัญสำนึกใช่ไหม เราสำนึกว่าเราจะประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติที่ไหน ประพฤติปฏิบัติที่หัวใจ ถ้าเรามีหัวใจใช่ไหม เรามีสามัญสำนึก เราจะมีหัวใจ เราจะหาหัวใจของเรา ถ้าหาหัวใจของเราๆ ตั้งสติแล้ว เห็นไหม สติ สมาธิ ปัญญา เป็นสมบัติเป็นอาวุธของเราที่เราจะต่อสู้กับใจของเรา ต่อสู้กับกิเลสในหัวใจของเรา ถ้าในหัวใจของเรามีกิเลส เห็นไหม ถ้าเรามีสติมีปัญญาเราจะกำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราจะทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบมันมีหัวใจ เห็นไหม
ถ้ามันมีหัวใจมันจะสะดุดใจ คำว่า สะดุดใจ มันสะดุดความคิดเรา ถ้าเราไม่สะดุดใจเลย เราไม่มีใจเลย แล้วส่งออกหมดเลย สรรพสิ่งในโลกนี้เราเข้าใจหมด เรารู้หมด เรารู้เราเข้าใจหมด เรามีปัญญา ของอย่างนี้ใครจะศึกษาไม่ได้ เราก็ศึกษาได้ เราเป็นปัญญาชน มันชนดะ ชนดะไปไหน ชนดะกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ไม่เจอธรรม มันไม่สะดุดใจ ไม่สะดุดใจมันก็ไม่มีสามัญสำนึก ใจมันไม่ย้อนกลับมาสู่ตัว มันส่งออก มันส่งออกไปรับรู้ไง มีการศึกษา มีความเข้าใจ ผ่านโลกมาเยอะแยะ โลกเข้าใจไปหมด แล้วโลกมันมีอะไรล่ะ
ดูสิ ดูจักจั่นสิ มันก็เป็นสัตว์โลก ถึงฤดูกาลของมัน เห็นไหม มันเอาปีกของมันสีกัน เสียงมันลั่นระงมไปหมดเลย มันก็เก่ง มันก็มีความสามารถ เราได้ยินเสียงมัน มันเป็นเรื่องความไพเราะเพราะพริ้งไปเลย สัตว์มันยังทำได้ มันก็ว่ามันยอดสัตว์ มันก็ทำของมัน
แล้วเราล่ะ บวชเป็นพระแล้ว มีความรู้มาก มีความเข้าใจมาก เก่งมาก แล้วมีอะไรต่อ ก็งงไง ยิ่งมีความรู้มากถือทิฏฐิมาก มีปัญญามาก มีความเข้าใจมาก เข้าใจมากกิเลสมันก็ไสมึงออกไปไง กิเลสมันก็เอาปัญญามึงเป็นอาวุธแล้วกลับมาทำลายตัวเองไง กลับมาทำลายตัวเองตรงไหน ทำลายทำให้เกิดความสงสัยไง ทำลายให้เกิดวิตกกังวลไง ทำลายให้เราไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ไง กลืนไม่เข้า คายไม่ออก จะภาวนาไปข้างหน้าก็ไปไม่ได้ จะถอยหลังเหรอ ก็เป็นมนุษย์บวชเป็นพระก็อยากจะปฏิบัติ นี่มันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก นี่ปัญญา!
ปัญญาของกิเลสแล้วไปศึกษามานี่โลกียปัญญา ปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกเขาแข่งขันกัน มีการศึกษา มีความรู้ แล้วมาอวดกันไง มาคุยกันด้วยขวานไง ปากไง ถากถางกันไง ถากถางคนนู้น ถากถางคนนี้ ด้วยว่ากูมีปัญญาไง กูผ่านโลกมาเยอะ พวกเอ็งมันคนโง่ ไม่รู้สิ่งใดเลย แต่ถ้าเขามีสติเขามีปัญญา เขาฉลาดกว่าเอ็ง เขาฉลาดที่ไหน เขาฉลาดที่เขาทันหัวใจของเขา เขาควบคุมหัวใจของเขา แม้แต่โดนแรงเสียดสีจิตใจของเขาก็ไม่ฟูไม่แฟบไปกับคำพูดของเอ็ง คำพูดของเอ็งน่ะ
ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาสนทนาธรรมเพื่อประโยชน์กับหัวใจ แต่สนทนาธรรมด้วยหมากัดกัน ด้วยความเอาชนะคะคานกัน มันได้ประโยชน์อะไร ว่ามีความรู้ๆ ความรู้ของใคร หนังสือใครก็อ่านได้ ยิ่งทางการวิจัยเขาทำกันได้มากกว่านี้อีก ถ้าทางวิชาการเขาทำแล้วเอาศาสตราจารย์เขาทำออกมา เขาทำมาทำไม ทำมาเอากระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วตัวเองได้อะไรมา ก็ได้งงๆ อยู่นั้นน่ะ ยังได้ว่าโลกนี้มีจริงหรือเปล่า นรกสวรรค์มีจริงหรือเปล่า ตายแล้วไปไหน ก็ยังงงๆ อยู่นั่นน่ะ
เกิดมาเป็นมนุษย์ เหยียบแผ่นดินพระพุทธศาสนา แล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ นี่เหยียบแผ่นดินผิด เกิดมาชาติหนึ่งเกิดมาผิด เกิดมาแล้วไม่ได้ประโยชน์ตามความเป็นจริงของสัจธรรม
สัจธรรมมันคืออะไร สัจธรรมคือที่เราเห็นนี่เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร เรามีความรู้สึกนึกคิด มันสะดุดใจ ถ้าสะดุดใจมันเกิดความฉงนสนเท่ห์ ให้อยากได้คิด ให้ได้คิด ให้ได้ค้นคว้า ให้ได้หาสัจจะความจริง ว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม เกิดมาแล้วเกิดมาทำมาหากิน เกิดในชาติในตระกูลเกิดมาเพื่อให้ตระกูลของเราเข้มแข็ง ตระกูลของเราเข้มแข็งก็ตระกูลของเรา
แล้วเราล่ะ ชาติตระกูลมันเป็นชาติตระกูลจากทางโลก จากสายบุญสายกรรม แต่ตัวของเราล่ะ เวลาเรามาบวชเป็นพระ เห็นไหม เราบวชพระที่ไหน เวลาบวชพระนี่เถรวาท เราบวชพระมหายาน เห็นไหม ชาติตระกูลไง เราบวชพระในนิกายใด ในหมู่คณะใด เราจะได้ชาติตระกูลใด เรามาบวชเถรวาท เราบวชของเรา เราบวชกับอุปัชฌาย์ แล้วเราประกาศตนว่าเราอยากจะประพฤติปฏิบัติ เราเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นเป็นพระป่า เป็นสายปฏิบัติ ถ้าสายปฏิบัติ เห็นไหม ชาติตระกูล เอ้ ชาติตระกูลก็เป็นชาติตระกูล
ดูสิ เวลาเขาเคารพศรัทธา พระปฏิบัติสายหลวงปู่มั่นเป็นพระป่าเคร่งครัดน่าเลื่อมใสศรัทธา ศรัทธาแล้วเขาทำบุญกุศลเขาได้ของเขาไปแล้ว เขาศรัทธาเพราะจิตใจเขาเบิกบาน เขามาทำบุญกุศลของเขา เขาอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ของเขา ไอ้เราเป็นผู้รับไทยทานจากเขา เราเป็นพระภิกษุ เขามาทำบุญกุศลกับเรา ถ้ามาทำบุญกับเราแล้วนี่ เราได้พิจารณาปฏิสังขาโยแล้วฉันแล้ว ฉันเสร็จแล้วล้างบาตรทุกอย่างเก็บหมดแล้ว แล้วหัวใจล่ะ ฉันแล้วมันมีสิ่งใดขึ้นมาล่ะ หัวใจของเรามันเป็นอย่างไรล่ะ เราเป็นนักปฏิบัติ เราจะค้นคว้าในหัวใจของเรา
ลูกศิษย์ของสายหลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่เคร่งครัด พอเป็นผู้ที่เคร่งครัดแล้วมันจะกำจัดกิเลสได้หรือเปล่าล่ะ กิเลสของเรา ถ้าสายหลวงปู่มั่นเคร่งครัดกำจัดกิเลสหมดเลย กิเลสในหัวใจต้องหมดไปเลย เราก็ต้องมีความสุขมีความสงบมีสติปัญญาในหัวใจของเรา แล้วมันมีจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันมีมันสะดุดใจบ้างไหม มันสะดุดตัวเองบ้างไหม มันสะดุดสิ่งที่กระทำอยู่ ทำแล้วได้ประโยชน์กับตัวเองได้อะไรบ้างไหม ถ้ามันได้อะไรมันจะสะดุดนี่ไง
ถ้าใจมันมี มันมีเพราะอะไร มีเพราะมันมีสามัญสำนึก มีสติมีปัญญา มีสติมีปัญญา เห็นไหม มันเริ่มค้นคว้ากลับมาในหัวใจ ค้นคว้าคือทวนกระแส ถ้ามีสติมีปัญญามันจะทวนกระแส ถ้าไม่มีสติปัญญามันจะไหลออกไป มันจะส่งออก ส่งไปที่ไหน ส่งไปที่ตำรับตำรา ส่งไปที่ทางวิชาการ ส่งไปที่โลกเขารู้ กลัวว่าจะตกข่าว กลัวว่าเราจะไม่มีปัญญารอบรู้ไปกับโลกเขา แล้วโลกเขามีความรู้เขาทำอะไร มีความรู้แล้วทำอะไร
ความรู้เป็นวิชาชีพของเขา แล้วเขารู้จักตัวของเขาไหม เขารู้จักหัวใจของเขาไหม เขารู้วิธีการดับทุกข์ไหม เขารู้จักการทำสมาธิภาวนาไหม เขารู้อะไร เขารู้น่ะ เขาศึกษามา ศึกษาในสายปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิเราบวชมาเป็นเถรวาท ในเถรวาทเขาก็มีแนวทางการปฏิบัติไปหลายๆ แนวทาง เขาก็ศึกษาตามแนวทางของเขา เขาบอกเขาก็รู้ (หัวเราะ) ก็รู้ทำไมจะไม่รู้ เอ้า ก็วิธีปฏิบัตินี่สติปัฏฐาน ๔ ทำไมจะไม่รู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนไว้หมดแล้ว ทำไมจะไม่รู้ แล้วฉันก็ปฏิบัติมาแล้วทั้งนั้น ฉันมีความรู้ ฉันปฏิบัติเป็นด้วย แล้วเป็นไงต่อ ก็ว่างๆ ไง แล้วพูดถึงมรรคผล มรรคผลพูดได้ที่ไหน มรรคผลมันก็ต้องไปเอาข้างหน้า พูดถึงมรรคผลมันเป็นการอวดอุตรินะ พูดอย่างนี้มันเป็นการแสดงตนเป็นอวดอุตริ
ถ้าพูดถึงปฏิบัติไง มีความรู้มากไง ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ความรู้ท่วมหัวน่ะ แต่สติจริงๆ ก็ไม่รู้จักมัน สมาธิก็ไม่รู้จักมัน แล้วภาวนามยปัญญาไม่ต้องไปพูดถึงเลย สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งนั้น มันเป็นสัญญา มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นจินตนาการขึ้นมา แล้วสิ่งที่จินตนาการขึ้นมานี่จุดไฟเผาตัวเองไง ศึกษามาก็เอาไฟเข้ามาแล้วก็มาสุมไว้ในหัวใจ แล้วก็เผามันเข้าไป พอเผามันเสร็จแล้วว่าฉันรู้ รู้เพราะอะไร รู้เพราะมันว่างๆ แล้วทำไงต่อล่ะ
ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถ้ามีสัจธรรมนะ สนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง ถ้าเป็นมงคลกับชีวิต มันเป็นอย่างนั้นเหรอ มงคลชีวิต เห็นไหม ถ้ามันมีใจ มันมีใจก่อนมีสามัญสำนึก ถ้ามีสามัญสำนึกของเรา ถ้าคนมีสามัญสำนึกนะ แล้วเราเป็นสมณสารูป เราจะขวนขวาย ขวนขวายอะไร
หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงตาอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ๘ ปี อยู่ตั้งแต่บ้านโคกหนองผือ ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นนะ เก็บหอมรอมริบ ของสิ่งต่างๆ เก็บหอมรอมริบ ผิดเล็กผิดน้อยท่านจะไม่ทำทั้งๆ ที่เป็นสติวินัย
คำว่า สติวินัย มีสติพร้อม ความผิดพลาดนั้นมันเป็นสัญชาตญาณนั้น เขายกไว้สติวินัย เดี๋ยวจะสวดปาฏิโมกข์ เห็นไหม สมฺมุขาวินโย ทาตพฺโพ สติวินโย ทาตพฺโพ สมณะ ๗ สิ่งนี้ถือว่าไม่เป็นอาบัติ ท่านเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเก็บหอมรอมริบ คือสิ่งที่ผิดสิ่งที่ต่างๆ ท่านไม่ทำ แม้แต่เจ็บไข้ได้ป่วย หลวงตาท่านพูดแล้วน่าสะเทือนใจมาก ท่านเป็นวัณโรค แล้วท่านฉันอาหารไม่ได้ ถึงฉันอาหารไม่ได้นะ อยู่ในเพล หลวงตาท่านให้เณรตัดมะพร้าว เอาน้ำมะพร้าวไปถวายท่าน ให้ท่านได้บรรเทาทุกข์บรรเทาธาตุขันธ์ เวลาเอาไปให้ท่านดื่มในเพล ท่านบอกว่า ฉันไม่ได้ หลวงตาก็ถาม ทำไมจะไม่ได้ ก็ว่าหลวงปู่มั่นท่านอายุ ๘๐ แล้วป่วย เจ็บไข้ได้ป่วย ไอ้นี่มันแค่น้ำมะพร้าว น้ำเพื่อให้ธาตุขันธ์มันได้บรรเทา ฉันไม่ได้ ทำไมไม่ได้ล่ะ
ดูสิ ไอ้พวกนั้นตาดำๆ ตาดำๆ คือพวกพระที่อยู่ด้วยกัน ตาดำๆ ก็มีตาคู่หนึ่งพระบวชใหม่ยังหนุ่มยังน้อยตาดำๆ ตาดำๆ มันมองอยู่ เห็นไหม เพราะว่าคนที่ไปอยู่อาศัยกับท่านก็หวังพึ่งจากท่านใช่ไหม ถ้าท่านทำสิ่งใดที่เราลงใจ เราก็เคารพบูชา แล้วทุกคนก็หวังไง พระอรหันต์ต้องถูกต้องดีงามทุกอย่างไปหมด ท่านก็ทำของท่านนะ ท่านเก็บหอมรอมริบ สิ่งใดที่ผิดเล็กผิดน้อยท่านจะไม่ทำเลย ท่านเป็นบุคคลเป็นตัวอย่าง
แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาหลวงตาท่านพูดเอง ท่านเป็นคนอุปัฏฐาก ท่านเอาน้ำมะพร้าวอ่อนจะเข้าไปให้ท่านดื่มก่อนเพล เพราะถือว่าเป็นน้ำ ถ้าเป็นในสัตตาหกาลิกว่าเป็นมหาผล แต่สิ่งจริงๆ ว่านี้เป็นน้ำมะพร้าวให้ท่านบรรเทาทุกข์ ทุกข์จากธาตุขันธ์ พระอรหันต์ไม่มีทุกข์ในใจ เพราะผู้ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติเขารู้กัน ท่านบอกฉันไม่ได้ ไอ้พวกนั้นตาดำๆ มันมองอยู่ มันไม่มีประโยชน์ ถ้าใครมันจะเอาโทษอย่างนี้ให้มันเอาไป ถ้าใครมันจะมาจับผิด ถ้าใครมันจะมาดูอย่างนั้นให้มันเอาไป คือว่าท่านก็พยายามอ้อนวอน ท่านพยายามหาเหตุหาผลให้หลวงปู่มั่นท่านได้ดื่มเพื่อบรรเทาธาตุขันธ์ของท่าน หลวงปู่มั่นท่านไม่ทำ ท่านไม่ทำ ท่านไม่เอา
นี่ไง สิ่งที่ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านมีสติปัญญาขนาดนั้น ท่านเก็บหอมรอมริบ นี่หลวงตาท่านพูดให้ฟัง ท่านเล่าให้ฟังประจำ เพราะอย่างนี้พวกเราถึงเคารพบูชา บูชาเพราะอะไร เพราะท่านพูดได้แล้วทำได้ ท่านพูดได้ตามศีลตามธรรม พูดได้ตามนั้นจริงๆ แล้วท่านทำได้ด้วย พูดได้และทำได้
แต่เดี๋ยวนี้ เห็นไหม ไอ้พวกที่พูดพล่อยๆ แล้วทำไม่ได้ เวลาพูดๆ ไปสักแต่ว่าพูด แต่มันทำไม่ได้ เวลาผู้ปฏิบัติไปแล้ว พูดได้ทำได้ หนึ่ง พูดได้ทำไม่ได้ หนึ่ง ทั้งพูดก็ไม่ได้ทำก็ไม่ได้ หนึ่ง เห็นไหม มันมี ๔ อย่าง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกประเภทของนักปฏิบัติไว้ทั้งนั้นน่ะ
แต่หลวงปู่มั่นท่านพูดได้ แล้วท่านทำ แล้วท่านเป็นคติตัวอย่างกับเรามาตลอด หลวงตาท่านอุปัฏฐากมาท่านทำเป็นอย่างนั้น เห็นไหม นี่ไง ถ้าอย่างนั้นพวกเราก็ลงใจ ถ้าลงใจมันก็มีกำลังใจ พอมีกำลังใจขึ้นมาหลวงปู่มั่นท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านให้พวกเราพยายามประพฤติปฏิบัติ ให้ทำความสงบของใจเข้ามา
ถ้ามันมีสามัญสำนึกมันก็จะทำความสงบ ถ้ามันมีความสงบขึ้นมา พอมันมีสิ่งใดที่เป็นสัจธรรมเข้าไปสะกิด มันจะสะดุดๆ สะดุดใจนะ ถ้าสะดุดใจ เห็นไหม ดูสิ ถ้าเราคิดอะไรไม่ได้ นี่อวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมันไม่รู้เลย นี่คืออวิชชา แล้วเวลาถ้ามันสะดุด เห็นไหม สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฟังธรรมๆ แล้วมันสะดุดที่หัวใจ ใจมันสะดุด ถ้ามันสะดุดขึ้นมามันก็ เออะ! คนเราถ้ามันเออะนี่มันเปลี่ยนโปรแกรมความรู้สึกนึกคิดจากภายใน ถ้ามันมีความสะดุดใจบ้าง เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เห็นไหม ท่านบอกว่า ถ้าใครฟังแล้วขนพองสยองเกล้า คือมันสะกิดหัวใจ นี่มันแทงใจดำ
ถ้ามันแทงใจดำมันสะดุดใจ ถ้าสะดุดใจน่ะ เราจะทำไหม ที่ทำกันอยู่เพราะอะไร เพราะมันพอใจ มันพอใจ มันอยากทำ มันทำไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้ามันสะดุดใจมันหยุดเลย เหมือนกับเด็กมันทำความผิดพลาดสิ่งใด เวลาพ่อแม่มันบอกหรือผู้ใหญ่บอก มันรู้ว่าถูกหรือผิด มันก็ไม่ทำ มันก็หยุดของมันได้
นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันเสวย มันสวาปามของมัน มันสวาปามความรู้สึกนึกคิด มันสวาปามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันสวาปามเต็มปากเต็มคำของมัน มันไม่สะดุดเลย มันตามไปหมด แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ถ้ามันสะดุดใจๆ นี่ให้มันสะดุดใจ เราฟังเทศน์ เราใช้ปัญญาของเรา ถ้ามันสะดุดใจๆ มันทำให้สิ่งที่เราทำอยู่มันวางได้ไง มันวางได้ มันไม่ทำได้
แต่ถ้ามันไม่สะดุดใจนะ มันไม่ใช่ไม่สะดุดใจมาตั้งแต่ต้น มันไม่เชื่อเลย พอว่าไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อนรกสวรรค์มี ไม่เชื่อมรรคผลมี ไม่เชื่อสิ่งใดมีเลย มันไม่มีสามัญสำนึกไม่มีอะไรสะดุดหรอก มันเป็นอากาศธาตุ โยนของขึ้นไปบนอากาศ มันขึ้นไปเดี๋ยวมันก็ตก ไม่มีสิ่งใดเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่มีสิ่งใดเลย สติปัญญาของเราเป็นแบบนั้น มันไม่มีอะไรเป็นสาระ
บอกว่ามีความรู้มาก มีประสบการณ์มาก มีปัญญามาก รู้มาก ไร้สาระ! ไร้สาระ! มันเป็นเรื่องอากาศธาตุ มันไม่เป็นสาระอะไรเลย แต่ถ้ามันเป็นสาระนะ มันมีสามัญสำนึก เพราะปฏิสนธิจิต กำเนิด ๔ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ จิตดวงนี้เป็นผู้พาเกิดในวัฏฏะ แล้วเห็นภัยในวัฏสงสาร วัฏสงสารเห็นเพราะอะไร เห็นภัยเพราะว่ามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ศึกษาได้ค้นคว้า แล้วเห็นโทษเห็นภัย
แต่คนที่เขามีประเพณีวัฒนธรรมเป็นชาวพุทธ เขาสักแต่ว่าทำพอเป็นพิธี เขาไม่ได้สำนึกหรอก เขาไม่สำนึก เขาถึงไม่ค้นคว้าไม่ขวนขวายเหมือนพวกเรา พวกเราเพราะมีสำนึก เราถึงได้สละความเป็นฆราวาส ความเป็นฆราวาส เห็นไหม ปากกัดตีนถีบ ทำหน้าที่การงานเพื่อประสบความสำเร็จทางโลก ประสบความสำเร็จทางโลก เขาเยินยอกัน สรรเสริญเยินยอกันว่าใครทำแล้วประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเกียรติศักดิ์เกียรติคุณทางโลก แต่เวลาเขาจะตายเขาคอตกทั้งนั้นเลยล่ะ
แต่เราเห็นโทษ เห็นไหม เห็นโทษเราจะมาฝึกหัดตั้งแต่ยังหนุ่มยังน้อย ยังหนุ่มน้อย เราบวชมา ร่างกายของเรายังเคลื่อนไหวได้สะดวก เราจะค้นคว้าหาสัจจะความจริงของเราเพราะเรามีสามัญสำนึก เพราะเรามีสามัญสำนึกเราถึงมีการกระทำ ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา นั่นล่ะเราจะเจอใจของเรา เราจะเจอสัจจะความจริงคือธาตุรู้ คือธรรมธาตุที่รู้ในใจของเรา เวลาปฏิสนธิจิตมันกำเนิด ๔ เกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ เกิดในครรภ์ การกำเนิดเกิดในวัฏฏะมันก็เวียนไปตามเกิด ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นความรู้สึกทางโลก เขาเรียกโลกียะ ไอ้ที่เราคุยกันอยู่นี่ มันเป็นพวกวิทยาศาสตร์ โลกียปัญญาทั้งนั้น
โลกียปัญญาคือสูตรสำเร็จ คือสิ่งที่มี สิ่งที่มีแร่ธาตุสสารในโลกนี้ อย่างที่ค้นคว้าไปทางวิทยาศาสตร์เขายังค้นคว้ากันอยู่ มันมีของมันอยู่ เพียงแต่เราเข้าไปทดสอบพิสูจน์ว่ามันมีอยู่เท่านั้น ของมันมีของมันอยู่แล้ว พูดถึงโลกียะเรื่องศึกษากันทางโลกเท่านั้นนะ แล้วไม่จบสิ้นด้วย ไปเถอะไม่จบไม่สิ้น
แต่เพราะว่าเรามีสามัญสำนึก เราถึงมีความเชื่อถือศรัทธา เราถึงได้ค้นคว้าถึงได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม จิตมันสงบ จิตมันสงบขึ้นมาเรารู้ตัวตนของเรา เราเห็นตัวตนของเรา เราเห็นสิ่งความเป็นจริงของเรา ถ้าเราเห็นสิ่งความเป็นจริงของเรา เห็นไหม แล้วมันฟังธรรม มันศึกษาธรรม มันสะดุดใจ ถ้ามันสะดุดใจมันจะฝังใจ สิ่งนี้เราจะวาง สิ่งนี้เราจะไม่กระทำ สิ่งที่เราเคยทำเราจะไม่ทำ แล้วเราพยายามทำสิ่งที่เป็นความจริง
สิ่งที่เป็นคำบริกรรม สิ่งที่เป็นอบรมสมาธิ ทำให้มันเข้มข้นขึ้น ทำให้มันมีความชำนาญมากขึ้น ปฏิบัติบางคราวก็มีความสงบขึ้นมาได้ ปฏิบัติบางคราวมันไม่สงบ ปฏิบัติบางคราวไม่สงบแล้วไม่สงบเปล่านะ กิเลสมันรู้ทันแล้วมันต่อต้าน มันต่อต้าน มันพลิกแพง มันขุดหลุมพราง มันบอกว่าทำอย่างนี้จะสงบ ไอ้คนที่เขาทำอย่างนั้นน่ะไม่ใช่ ไอ้คนที่ทำอย่างนั้นไม่ถูก ไอ้ถูกหรือไม่ถูกมันเป็นผลของเขา ไม่ใช่ผลของเรา
ไอ้ผลของเรามันคือพันธุกรรม คือจริต ถ้าจริตของเรามันตรง ตรงกับความเป็นจริงอันนั้นมันก็สงบลงได้ สงบลงได้ถ้ามันตรงกับอันนั้น แต่กิเลสมันรู้เท่า เห็นไหม เราต้องทำให้เข้มข้นขึ้น กิเลสมันเป็นตัวสอดแทรก สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ไม่ใช่สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คุณธรรมอันนั้น จะมาทำสิ่งที่เหนือการที่เราจะหยิบฉวยเอาได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นเรื่องของกิเลสต่างหาก กิเลสต่างหากมันบิดเบือน กิเลสต่างหากทำให้ไขว้เขว กิเลสต่างหากทำให้เราจินตนาการ กิเลสต่างหากทำให้เราคาดหมายเอา มันไม่เป็นความจริงหรอก
แต่ถ้ามันเป็นความจริง เห็นไหม ดูสิ มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุล ความสมดุลของมัน ถ้ามันสมดุลของมัน มันต้องเป็นความจริงของมัน เรากำหนดพุทโธของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราให้มันเป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว เหตุที่ใครจะคัดค้าน เหตุที่ใครจะมาอ้างอิงว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก อันนั้นมันเป็นกิริยา มันเป็นคำพูดของเขา ไม่เป็นความจริง เพราะหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงตาท่านพูดประจำ แต่ท่านพูดเป็นเอกเทศในใจของท่าน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงหน้าก็ไม่ถาม ถ้ามันเป็นสัจธรรมมันเป็นความจริง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงหน้าก็ไม่ถามเรื่องธรรมะเลย เพราะสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ เราก็ต้องรู้ในใจของเราอย่างนั้นเหมือนกัน
ถ้าไม่รู้อย่างนั้นเหมือนกันมันมีความสงสัย ถ้ามันมีความสงสัยในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราพูดสิ่งใดไปมันขัดมันแย้งกัน ไม่กล้าพูด ไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดง ไม่กล้าแยกแยะว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ไฟมันก็ให้ความร้อน น้ำมันก็ให้ความเย็น ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันจะสงบร่มเย็น ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิขึ้นมามันสงบเข้ามาแต่มันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร มิจฉาเพราะขาดสติ มิจฉาเพราะไม่รู้สึกตัวเอง เห็นไหม ตกภวังค์ไป หายไป มันเป็นสมาธิชนิดหนึ่งแต่เป็นความจริงไหมล่ะ แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิเพราะมันมีสติมีปัญญาบริหารจัดการมันตลอด ของของเราอยู่กับมือเรา เราจับอยู่ จะไปถามใคร หลวงพ่อนี่อะไร หลวงพ่อนี่อะไร แล้วอะไรอยู่ในมือมึง มึงจับอยู่คืออะไร
แต่ถ้าเป็นสัมมาใช่ไหม ชัดเจน เรารู้ เราเห็น เราเป็นคนเริ่มต้นมา เราเป็นคนบริกรรมขึ้นมาเอง เราบริกรรม จิตธรรมชาติมันส่งออกไปไม่มีสามัญสำนึก ไม่รู้สิ่งใดเลย เพราะธรรมชาติของมัน แต่รู้นะ รู้สีรู้แสงรู้เรื่องต่างๆ ไปรู้ข้างนอก รู้นั้นคือสิ่งที่เป็นสัญญา สิ่งที่เป็นอารมณ์ไง แต่ธรรมชาติตัวธาตุรู้ไม่รู้ ไม่รู้ รู้แต่เขาด่า รู้แต่เขาสรรเสริญ รู้โลกธรรม ๘ รู้โดยอายตนะ รู้โดยธรรมชาติของมนุษย์มันรู้อย่างนี้ แล้วก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ
แต่เวลากำหนดพุทโธใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันสงบเข้ามามันปล่อยหมด รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร อยู่นู้น อยู่นู้น จิตอยู่นี่ จิตสงบนี่แล้วมันสงบอย่างไร ถ้ากูไม่พุทโธเข้ามามันจะสงบไหม ถ้ากูไม่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิจะสงบไหม แล้วสงบเป็นสัมมาด้วย สัมมาเพราะอะไร เพราะกูทำเอง กูบริกรรมเอง เวลาละเอียดเราก็รู้ว่ามันละเอียด เวลามันละเอียดจนมันพุทโธไม่ได้เราก็รู้ อ้อ.. ถ้ามันพุทโธไม่ได้ก็คือจิตมันไม่เสวย คือจิตมันไม่รู้ตามรูป รส กลิ่น เสียง จิตไม่รู้เลย จิตมัน เห็นไหม
หลวงตาท่านบอกว่า เวลามันรวมใหญ่มันสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่า แม้แต่จิต กายกับใจอยู่ด้วยกัน ใจมันไม่รับรู้ร่างกาย มันอาศัยกายนี้อยู่แต่มันไม่รับรู้ร่างกายนี้เลย สักแต่ว่า สักแต่ว่าเพราะมันจะไม่ได้ยิน อายตนะมันไม่สัมผัสเลย ผิวหนังไม่รับรู้สิ่งใดเลย สักแต่ว่ารู้ ไม่ได้ยินเสียง ตะโกนอยู่กลางหูก็ไม่ได้ยิน ฟ้าผ่าลงมาก็ไม่ได้ยิน ฟ้าเป็นสมมุติ ฟ้าเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของวัฏฏะ
จิตเป็นจิตต่างหาก อยู่ของมันโดยอิสรภาพ โดยเป็นอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิแค่สมาธิไม่มีอะไรเลย แค่สมาธิ นี่คือสมาธิ ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่มรรค มันเป็นมรรคก็เป็นมรรคเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิอันหนึ่งของมรรค แต่ยังไม่เกิดดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันไม่ชอบธรรมในมรรค แต่มันชอบธรรมในของสมถะ มันชอบธรรมในสมาธิ ถ้ามันทำของมัน มันสงบเข้ามามันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ใครเป็นคนทำ เราทำเอง เห็นไหม เราทำเอง เราทำเองเรารู้เอง เราจะสะดุดไหม มันราบรื่น มันราบรื่น เห็นไหม ศีล สมาธิ แล้วมีครูบาอาจารย์ท่านออกฝึกหัดใช้ปัญญา เพราะเป็นสมาธิแล้วสมาธิสูงสุดมันเป็นอย่างนี้ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นี่คืออัปปนาสมาธิ นี่รวมใหญ่ มันเป็นแบบนี้ รวมใหญ่ของสมาธินะ แต่ไม่ใช่รวมใหญ่แบบสกิทาคามี
สกิทาคามีเวลาใช้ปัญญาไปแล้ว เวลามันพิจารณาไปแล้วมันขาดหมด! โลกนี้ราบหมดเลย! ไม่มีสิ่งใดเลย นั่นก็รวมใหญ่อีกเหมือนกัน แต่รวมใหญ่พร้อมกับคลาย กามราคะปฏิฆะอ่อนลง สังโยชน์ ๓ ตัวได้สละทิ้งไปแล้ว พิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง เห็นไหม มันแตกต่างกันขั้นของสมาธินี่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ความว่างของโสดาบัน ความว่างของสกิทา ความว่างของพระอนาคา แล้วความว่างของพระอรหันต์ล่ะ ความว่างที่แตกต่างมันแตกต่างอย่างไร รู้ได้อย่างไร ถ้ารู้ได้อย่างไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
เรามีครูบาอาจารย์ หลวงเสาร์หลวงปู่มั่นท่านคุยกันมันตรวจสอบกัน แล้วหลวงปู่มั่นเวลาท่านพูด พูดกับหลวงตามานะ หมู่คณะจำไว้นะ หลวงปู่ขาวได้สนทนาธรรมกับเราแล้ว หลวงปู่คำดีได้สนทนาธรรมกับเราแล้ว หลวงปู่พรหม ธมฺมสากจฺฉา ลองได้คุยกัน ลองได้วัดคุณธรรมกันในหัวใจ มันจะรู้ คนที่คุณธรรมที่มันแตกต่างกัน มันต้องขัดแย้งกันแน่นอน คนที่คุณธรรมมันเสมอกันมันรู้เท่ากัน มันจะขัดแย้งกันได้อย่างไร
เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ทั้งทางวิชาการทั้งพระไตรปิฎกก็เรื่องหนึ่ง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว ธมฺมสากจฺฉา ได้ตรวจสอบกันก็อีกเรื่องหนึ่ง เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ เวลาคนที่ปฏิบัติยังไม่ได้ อย่างเราปฏิบัติยังไม่เป็นขึ้นมา เราก็มีความสงสัย เราก็มีปัญญาทางโลกทั้งนั้น เราสนทนากับท่านเราก็มีความคลางแคลงใจทั้งนั้น แต่พอเราปฏิบัติไปแล้วเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว เราคลางแคลงใจเพราะเรายังปฏิบัติไม่รู้จริง เพราะมันไม่รู้จริงมันถึงสงสัย พอเราปฏิบัติได้จริง ความจริงกับคลางแคลงใจนั้นก็ต้องทิ้งไป เพราะเราปฏิบัติได้จริงแล้วความจริงมันเป็นแบบนี้ รสชาติเป็นแบบนี้ รสของธรรมชนะรสทั้งปวง มันเป็นแบบนี้ รสความสงสัย สิ่งที่มันวิตกกังวลที่สงสัยเราก็ต้องสลัดทิ้งไปเป็นธรรมดา ถ้าธรรมดาสิ่งที่ความสงสัยกับความจริงในใจเรามันก็จะแจ้งในหัวใจแล้ว แล้ว ธมฺมสากจฺฉา กับครูบาอาจารย์อีก เทียบชั้นกันอีก โอ้ มันชัดเจน มันชัดเจนเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้วท่านรู้จริงเหมือนกัน เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
แต่ไม่ใช่หมากัดกัน หมากัดกันมันอวดว่ามันมีความรู้ มันอวดว่ามันศึกษามาก มันอวดว่ามันรู้มาก แล้วมันก็ยังสงสัย มันสงสัยในใจของมันแล้ว นี่ความสงสัย นี่หมามันกัดกันในใจแล้วนะ แล้วไปกัดคนอื่นอีก ออกจะไปกัดคนนู้น ออกจะไปกัดคนนี้ มันไม่ใช่สัจจะความจริง ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะมีคุณธรรมในหัวใจนั้น
เราออกมาประพฤติปฏิบัติกัน เราก็มีเป้าหมายเอาความจริง ความจริงที่เราแสวงหานี้มันอยู่ที่ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ถ้าความเพียรความวิริยะความอุตสาหะมันมาจากข้อวัตร มาจากสิ่งที่เราอาศัยมัน เห็นไหม นกยังมีรวงมีรัง เราก็ต้องมีวัดมีอารามเป็นที่อาศัย สิ่งที่อาศัยจะมีข้อวัตร มีปฏิบัติ มีการรับผิดชอบ มีการดูแล เขาดูกันตรงนั้น
นี่คุณภาพของคน ความรับผิดชอบ ถ้าจิตมันมีความรับผิดชอบมีคุณภาพ มันจะเข้ามาสู่ใจของมันไง ถ้าจิตมันไม่มีความรับผิดชอบมันทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วเอ็งจะภาวนาเหรอ คนอย่างนี้นักภาวนาเนาะ สติอย่างนี้เอ็งจะเอาใจเอ็งไว้อยู่เนาะ มันเป็นไปไม่ได้! เอวัง