ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ความเห็นทางโลก

๕ เม.ย. ๒๕๕๗

ความเห็นทางโลก

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องตะขิดตะขวงใจ

แต่ละชาติที่ผ่านมา เพราะมีกายที่สร้างกรรม และผลกรรมที่สนองเราก็สนองเราที่กายเรานี้เอง หาใช่สนองที่ใจเราไม่ ตัดอะไรในกายเสียได้ ใจเราย่อมเป็นสุข กราบนมัสการหลวงพ่อชี้แจงครับ แต่ละชาติที่ผ่านมาเพราะมีกายที่สร้างกรรม และผลกรรมที่สนองเราก็สนองเราที่กายนี้ หาใช่ที่จิตไม่

ตอบ : นี่พูดถึงวิทยาศาสตร์ไง นี่พูดถึงมุมมองทางโลกไง ในเมื่อเราเกิดมาเราก็คิดได้ กรณีอย่างนี้มันคิดแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่ยังไม่ตรัสรู้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมามาก เวลาเกิดที่สวนลุมพินีเราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแสดงว่าท่านก็มั่นใจมากว่าท่านได้สร้างบุญบารมีมาเต็มแล้ว

เพราะเจ้าชายสิทธัตถะจะมาเกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเกิดมาเปล่งวาจาแรกเลย ตั้งแต่เกิดมาพูดได้เลย เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแค่นั้นน่ะ แล้วก็กลับมาเป็นทารก แล้วก็เติบโตขึ้นมาเป็นธรรมชาติ

แล้วเวลาออกไปประพฤติปฏิบัติ เวลาออกไป ออกไปก็ไปทรมาน เห็นไหม ทุกรกิริยาก็คือทรมานร่างกายนี้ไง การทำทุกรกิริยาคือการทรมานร่างกาย การทรมานกิเลส ก็เข้าใจว่ากิเลสมันอยู่ที่ร่างกายนี้

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ไง มนุษย์ก็มีร่างกายเรานี่ ทุกคน มนุษย์ก็สิทธิของเรานี่ สิทธิเสรีภาพนี่ ทุกข์ร้อนก็เพราะร่างกายนี้ เวลาสร้างบ้านก็สร้างบ้านสวยๆ ๔๐๐-๕๐๐ ล้านเพื่อจะบำรุงร่างกายนี้ แล้วมันก็นอนแค่ที่มันนอนน่ะ มันก็บำรุงบำเรอที่กายนี้ เวลาทุกข์ก็ทุกข์ที่กายนี้ ก็คิดได้แค่นี้ไง ก็คิดได้แค่นี้ คิดแบบโลกไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีแรกมุมมองของโลกก็เป็นแบบนี้

คิดว่าในแต่ละชาติ การที่เกิดมาเพราะมีกายสร้างกรรม และผลของกรรมที่สนองเราก็สนองเราที่กายนี้เอง หาใช่สนองที่ใจเราไม่

ถ้าหาใช่สนองที่ใจเราไม่ เวลาตายไปแล้วมันก็ต้องเอาร่างกายนี้ไปด้วย แล้วเวลาไปเกิดใหม่มันก็เอากายนี้ไปเกิด มันไม่มีหรอก

เวลาตายแล้วจิตนี้ออกจากร่างเป็นนามธรรม ร่างกายนี้ไปเชิงตะกอน ไปเผามันทิ้ง ร่างกายนี้ แต่เวลาเจ็บช้ำ เวลาเจ็บช้ำน้ำใจ เวลาเจ็บช้ำมันก็เจ็บช้ำที่หัวใจ ฉะนั้น เวลามุมมองทางโลกก็มองได้แค่นี้ มองว่าแต่ละชาติที่เกิดมามันก็เพราะมีกายที่สร้างกรรม และผลของกรรมที่สนองเราก็สนองที่กายนี้

จริงหรือ สนองที่กายนี้จริงหรือ เวลาเราไปเจออุบัติเหตุ แต่เราไม่เห็นบาดแผล เราไม่เจ็บนะ แต่พอใครชี้มา นี่แผลนะ โอ้โฮ! โอดครวญเลย

ถ้าพูดถึงว่าถ้ามันสนองที่กายนี้ เวลามันเกิดบาดแผลมันก็ต้องเจ็บสิ แต่ถ้าจิตใจมันไม่รับรู้ เราเกิดบาดแผล เราไปโดนอะไรขีดข่วน เราไม่รู้หรอก แต่พอมาเห็นเข้านะ อู้ฮู! เจ็บทันทีเลย เห็นไหม เพราะจิตมันมารับ

ถ้าจิตไม่มารับนะ ร่างกายมันไม่รู้เรื่องหรอก ธาตุไม่รู้เรื่องหรอก แต่ธาตุนี้โดยธรรมชาติมันมีเส้นประสาท มันมีระบบควบคุม มีประสาทควบคุม สมองไปควบคุมร่างกายนี้ พอควบคุม เส้นประสาทควบคุมร่างกายนี้เท่านั้น แต่สมองจะทำงานได้ไม่ทำงานได้มันต้องมีพลังงาน พลังงานก็คือจิต ถ้าจิต ทุกอย่างมันก็ไปลงสู่ที่จิต ถ้าจิตมันเป็นของมันไป

ฉะนั้น สิ่งที่เรามาพูด เวลาทางโลก เวลาไปศึกษาธรรมะแล้วมันสับสน สับสนเพราะอะไร สับสนเพราะเวลาเราพิจารณา เป็นพระอริยบุคคลคือละสักกายทิฏฐิ กายไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ละสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิในเรื่องของกายนี้ ก็เลยว่า ถ้าเราละกายนี้ไป เราก็จะไม่เป็นทุกข์ มันก็ย่อมมีแต่ความสุข

การคิดแบบนี้นะ ตอนเราบวชใหม่ๆ มันมีนักศึกษาคนหนึ่งเขาเป็นเจ้าลัทธิ เจ้าลัทธิที่ว่าทุกข์มีเพราะมีเรา ทุกข์มีเพราะมีเรา ฉะนั้น จะต้องกำจัดเราซะ เขามีลัทธิการฆ่าตัวตาย แล้วเขาประกาศด้วย

เราบวชใหม่ๆ ประมาณสักเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว เป็นนักศึกษาฝึกหัดมหาวิทยาลัย จำไม่ได้แล้ว เขาแสดงทางวิชาการแล้วเขายึดมั่น เขาประกาศ แล้วเขาประกาศด้วยว่าเขาจะฆ่าตัวตายวันไหนๆ โอ๋ย! สังคมนี่ฮือฮามาก ทุกข์มีเพราะมีเรา ถ้าทำลายเราก็พระอรหันต์ไง แล้วเขาว่าทำลายเราก็คือการฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายคือการกำจัดชีวิตนี้ไป มันก็ไม่มี ไม่มีก็ไม่มีทุกข์ ความคิดแบบนี้มันเคยมีมา ในสมัยพุทธกาลก็มี ในสมัยพุทธกาลที่ความคิดไอ้พวกทิฏฐิต่างๆ มีเยอะมากมาย

ฉะนั้น เวลาเราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกว่า ถ้าเราละกายนี้ซะมันก็จบ ทุกอย่างมันสนองลงที่กาย

มันไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่ เพราะคนเราเกิดมามีกายกับใจๆ ถ้ามีกายกับใจ เวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์เรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สติปัฏฐาน ๔ มีกาย มีเวทนา มีจิต กาย เวทนา จิต ธรรม เวลาพิจารณาไป การพิจารณากาย ใครพิจารณา ถ้าจิตไม่พิจารณา ใครเป็นคนพิจารณา

อย่างที่เขาบอกว่าเขาจะละกายของเขา เขาบอกทุกข์มีเพราะมีเรา ก็จะกำจัดเราทิ้งเลย ฆ่าตัวตายแล้วก็จบ

ฆ่าตัวตายไปนะ มันทำลายชีวิตนี้ ทำลายภพชาตินี้ แต่จิตมันไม่ตาย มันก็ไปเกิดใหม่ แล้วมันจะละที่ไหนล่ะ มันละไม่ได้หรอก มันละไม่ได้เพราะความเห็นทางโลก ความเห็นทางโลก เห็นทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มีความเห็นได้อย่างนี้ พิสูจน์กัน ทดสอบกัน วิจัยกันได้แค่นี้เอง แต่มันไม่สามารถทดสอบวิชาทางจิตได้ ฉะนั้น ไม่สามารถทดสอบทางจิตได้ มันก็แก้ไขสิ่งใดไม่ได้ เวลามีความเชื่ออย่างนี้มันก็เป็นทิฏฐิที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิที่ผิดไปเลย

ถ้าทิฏฐิที่ผิดไปเลย ให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะ ถ้าอาราธนาหลวงพ่อชี้แนะ

ชี้แนะมันก็บอกว่าเราเห็นผิดหมดแหละ แต่ละชาติที่พาเกิดพาตาย จิตพาเกิดทั้งนั้น เพราะพาเกิดนะ เพราะไข่ของแม่ สเปิร์มของพ่อ จิตปฏิสนธิ ปฏิสนธิขึ้นมา แล้วสิ่งนั้น สิ่งที่เป็นเซลล์นั่นน่ะ สิ่งนั้นมันขยายตัว มันแบ่งตัวขึ้นมา พอแบ่งตัวขึ้นมามันก็เป็นตัวอ่อน เป็นตัวอ่อนมันก็เป็นเด็กขึ้นมา แล้วมันแบ่งตัวตลอด มันถึงเป็นมนุษย์ขึ้นมา ถ้าเป็นมนุษย์ขึ้นมา มันก็แค่สสารในโลกนี้ มันมีที่มาที่ไปไง มันมีที่มาที่ไปจากสืบพันธุกรรมจากพ่อจากแม่ แต่จิต จิตนั้นเป็นของเรา เวลาการเกิด การเกิดแบบนี้ นี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์อีกล่ะ

แต่เวลาจิต จิตอยู่ไหนล่ะ เวลาเราเกิดมาแล้ว ถ้าเราเชื่อหรือไม่เชื่อล่ะ ถ้าเราเชื่อขึ้นมา เราก็จะมาศึกษา เราก็จะมาปฏิบัติ แล้วเราจะปฏิบัติขึ้นมา เราก็ปฏิบัติทางโลกๆ ความเห็นของโลกคิดอย่างนี้ ความเห็นของโลก เห็นเรื่องสสาร เห็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เห็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ แต่มันพิสูจน์ไม่ได้เพราะมันทำสมาธิไม่เป็น

ถ้าทำสมาธิเป็น มันก็เห็นแล้วล่ะว่า ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านเป็นอย่างนี้ จิตที่สงบมันเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา ปัญญามันจะเกิดอย่างไร มันจะเห็นของมัน แล้วเวลาจะไปละสักกายทิฏฐิ ละตัวตนขึ้นมา มันละที่ไหน

ถ้ามันละขึ้นมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ตัดป่าทั้งป่าเลย ตัดป่านี่ตัดทั้งหมดเลย ไม่ได้ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ตัดป่าทั้งหมดเลย ป่ารกชัฏในใจไง ถ้าตัดป่ารกชัฏในใจหมด มันตัดทั้งหมดเลย แต่ต้นไม้อยู่ครบทุกอย่าง ไม่มีอะไรบุบสลายไปเลย อยู่ครบหมดเลย แต่ตัดหมดเลย ตัดทิฏฐิมานะ ตัดกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นนามธรรมทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นนามธรรมขึ้นมา มันถึงบอกว่ามันเป็นเรื่องมรรค เรื่องกิริยาของใจ กิริยา เหตุปัจจัยของมรรค มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

แต่ถ้ามันเป็นโลกๆ ก็เป็นแบบนี้ มันเป็นความเห็นผิดไง ความเห็นผิดว่า เวรกรรมมันลงอยู่ที่กาย ทุกอย่างลงที่กาย ถ้ามันไม่ตอบสนองที่ใจเลย ถ้าไม่ได้ตอบสนองที่ใจเลยนะ มีแต่เรื่องกาย มันก็เหมือนกับสายพานการผลิต สายพานการผลิตทางโลก สายพานการผลิตทุกอย่าง ออกมา สายพานการผลิต ในเมื่อมันเป็นล็อตเดียวกัน การผลิตในรุ่นเดียวกัน ออกมาเหมือนกันเปี๊ยบเลย แต่พ่อแม่ สายการผลิต พ่อกับแม่คนเดียวกัน ลูกออกมานิสัยไม่เหมือนกันสักคน ไม่เคยเหมือนกันเลย เวรกรรมมันอยู่ที่นั่น

ถ้าพูดถึงนะ ถ้ามันสนองกาย กายคือวัตถุ ธาตุ ๔ แล้วจิตล่ะ ขันธ์ ๕ แล้วจิตล่ะ ตัวจิต ตัวปฏิสนธิ จิตคือเรา แต่การที่ได้ร่างกายมา พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะเราเกิดจากพ่อจากแม่ เราเกิดจากพ่อจากแม่ขึ้นมาแล้ว นี่สายบุญสายกรรม แต่จิตของเราคือเรา

ถ้าเราทำดีขึ้นมา พ่อแม่ชื่นชมมาก พ่อแม่มีความสุขมาก เพราะลูกของเราเป็นคนดี ลูกเราประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าเราเกิดมานะ เราเกเรเกตุง พ่อแม่ก็ทุกข์มาก เราเองก็ทุกข์ตัวเราเอง เพราะเราได้สร้างเวรสร้างกรรมของเราเอง

เวลาเกิดมา พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เราได้สิ่งนี้มา แต่จิตของเรามันไม่ใช่ จิตของเราคือของเรานี่แหละ แต่เพราะสายบุญสายกรรม มีเวรมีกรรมต่อกัน เราเกิดร่วมกันมา ถ้าเกิดร่วมกันมา นี่ไง เขาบอกว่ามันสนองแต่ที่กาย ไม่สนองที่ใจ หาใช่สนองที่ใจไม่

ใจนี่ตัวสำคัญ ใจเรานี่ตัวซึมซับ ใจเรานี่ อย่างนี้มันก็เหมือนพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แต่ละภพแต่ละชาติ แต่ละภพแต่ละชาติของพระโพธิสัตว์สร้างคุณงามความดี ใครเป็นคนทำ เราทำดีทำชั่ว ใครเป็นคนทำ จิตใจมันมีเจตนา มันทำของมัน แล้วมันก็ซับลงที่ใจ

ถ้าพระโพธิสัตว์สร้างคุณงามความดี คุณงามความดีมันก็ซับลงที่ใจๆ ซับแล้วมันก็มีอำนาจวาสนา จน ๑๐ ชาติสุดท้าย เห็นไหม ๑๐ ชาติสุดท้ายสร้างเวรสร้างกรรม พระเวสสันดรนี่สละจนหมดเลย สละทุกอย่างเลย ชาติสุดท้ายเลย พอบารมีเต็มขึ้นมาก็จะมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันซับลงที่ไหนน่ะ มันซับลงที่ใจทั้งนั้นน่ะ

ใจเป็นคนทำๆ แต่ทำแต่ละภพแต่ละชาติ ภพชาติ ถ้าภพชาติแล้วมันก็เป็นประวัติศาสตร์ทางโลก จิตดวงนี้เคยเกิดเป็นคนนี้ แล้วได้ทำคุณงามความดีกับโลกนี้ไว้ มีประวัติศาสตร์มาก แล้วเขาก็ตายไป เขาก็ไปเกิดใหม่

พอไปเกิดใหม่ขึ้นมา ประวัติศาสตร์ที่เขาได้สร้างไว้แต่ละภพชาติ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำนี้นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเราเคยเป็นพระเวสสันดร เราเคยเป็น เพราะจิตที่เป็นพระเวสสันดรเกิดภพชาตินี้ เราทำคุณงามความดีภพชาตินี้ แล้วเราตายไป สมบัติ สิ่งที่เป็นวัตถุคือสิ่งที่คุณงามความดี สิ่งที่เราได้สร้างสมบัติทางโลกไว้ มันก็ตกอยู่กับโลกนี้ ประวัติศาสตร์มันก็จารึกไว้อย่างนั้นน่ะ แต่จิตไปเกิดใหม่แล้ว เกิดใหม่เป็นคนใหม่อยู่ในดินแดนนั้นน่ะ เขาก็มาสร้างของเขา จิตของเขา เขาก็เป็นปัจจุบันในชาติใหม่นั้น แต่เขาก็อยู่ในดินแดนนั้น เขาก็เพิ่มคุณงามความดีของเขา ถ้าเขาทำชั่วของเขาก็เป็นความชั่วของเขา

พระโพธิสัตว์เวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ มันซับลงที่จิต มันซับลงที่ใจ ไม่ใช่ที่กายหรอก ที่กายนี้มันเป็นมิติ เป็นภพชาติที่ให้เราเห็น จิตเวลามันเกิด เกิดเป็นเทวดา มันก็ไปภพเทวดา มันกายทิพย์ แต่ก็จิตนี้ไปเกิด เวลาจิตตายจากเทวดาไป มาเกิดเป็นอะไรล่ะ

เวรกรรมมันซับลงที่ใจ สังขาร สัญญา ความจำ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญา สัญญาคือศึกษาทางโลก สุตมยปัญญา ทางวิชาการที่เราศึกษามานี่สัญญาทั้งนั้นน่ะ มันจำของมัน มันจะมีสมอง มันวิจัยขนาดไหน มันทำได้ขนาดไหน มันก็อยู่ในสมองมันนั่นน่ะ นี่ขันธ์ ๕ สัญญาในชาติปัจจุบัน

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ปัจจยาการอันละเอียดในจิตนั่นน่ะ นั่นน่ะสัญญาอันละเอียด สัญญา มันมีสัญญาของขันธ์ ๕ สัญญาของภพชาติปัจจุบันนี้ กับสัญญาจิตใต้สำนึก อันนี้ที่ว่าเวรกรรมมันไม่ได้สนองกายๆ มันสนองอันนี้ มันสนองใจลึกๆ อันนี้ เพราะมันสนองใจลึกๆ อันนี้

เวลากรรมนี้เป็นอจินไตย อจินไตย เวลาเราเกิดมาแล้ว ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เราก็ทำความดีทั้งชีวิตเลย บางคนบอกว่าเราทำความดีตั้งแต่เกิด คิดไม่ได้เลย เราไม่ทำความชั่วอะไร ทำไมชีวิตนี้เราไม่มีบุญ ทำไมเราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเลย

กรรมที่เป็นอจินไตย มันอจินไตยชาติไหนล่ะ สิ่งที่มันทำไว้ตอนไหนแล้วมันให้ผลในปัจจุบันนี้ ให้ผลในปัจจุบันนี้ เราเกิดมา เกิดมาเป็นคนดี จิตใจ ความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นคนดีหมดเลย แต่ทำอะไรขาดตกบกพร่องไปหมดเลย เป็นเพราะอะไร นี่คำว่าอจินไตย

เขาแก้กรรม แก้กรรมแก้อย่างไร แก้กรรมก็เอาเงินไปให้เขาไง เอาเงินไปให้เขา แล้วเขาก็พ่นน้ำลายใส่หัวทีหนึ่ง แล้วก็แก้กรรม แก้กรรมอย่างนั้นหรือ แก้กรรมอย่างนั้นมันแก้อย่างไร

แต่ถ้ามันจะแก้ นั่งสมาธินี่แก้กรรม นั่งสมาธิจิตสงบไปแล้วถ้ามีปัญญาไปรื้อไปค้น ไปรื้อค้นสิ่งที่ตกผลึกในจิตในปกตินี้ เวลาละเอียดเข้าไปนะ มันจิตใต้สำนึกเลย จิตก่อนสำนึกเลย ภวาสวะ ตัวภพเลย ตัวจิตเลย ตัวจิตเดิมแท้เลย มันจะสำรอกมันจะคายมาเป็นชั้นเป็นตอน เวลาจะได้ผลนะ เป็นพระอริยบุคคลนะ มันเป็นที่นี่

ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาตะขิดตะขวงใจ

ตะขิดตะขวงใจเพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ ไง เพราะมองไปแล้วคิดเรื่องโลก แล้วพิสูจน์กันอย่างไรล่ะ จะหลับตา เราก็ไม่กล้า พอหลับตาขึ้นไปแล้วไปเห็นภูตผีปีศาจขึ้นมา ไปเห็นจิตวิญญาณขึ้นมาก็ไม่กล้าพูดอีก เพราะอะไร เพราะถ้าพูดไปแล้ว ความเชื่อถือทางสังคมหมดเลย โอ้โฮ! ไปเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ

ไอ้ภูตผีปีศาจมันไม่ใช่ แต่เวลาจิตไปเห็นนิมิต เห็นต่างๆ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ถ้าจิตเห็นนิมิต จิตไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะมีของมัน ถ้ามีของมัน

พอมีไปแล้ว สิ่งที่เรามีจริงนะ ถ้าใครมีการศึกษา มีวุฒิภาวะทางโลกมาก เวลาตัวเองไปรู้ไปเห็นสิ่งใดๆ มา มันเอามาอธิบายได้ชัดเจน นักวิทยาศาสตร์เถียงไม่ขึ้นหรอก เถียงอย่างไรก็เถียงไม่ได้ เพียงแต่ว่าเวลาพูดไป รู้จำเพาะตน จะควักหัวใจออกมาให้ใครดู จะควักความเห็นของตัวเองออกมาตีแผ่ให้ใครดู แต่หัวใจที่มันรู้มันอธิบายได้หมด อธิบายอย่างไรก็ได้ แต่อธิบายไปแล้ว คนที่เขามีทิฏฐิมานะ คนที่เขาไม่มี เขาไม่เชื่อ เพราะเขาไม่เชื่อแล้วให้ทำอย่างไร จะควักหัวใจให้เขาดูหรือ มันก็เป็นไปไม่ได้ นี่ที่โลกคนละมิติ ความเห็นต่างนี่ไง

ฉะนั้น การศึกษาทางปัญญา เรามีสุตมยปัญญาคือการศึกษา จินตมยปัญญา จินตนาการของใครจะเพริศแพร้วกว่ากัน เวลาภาวนามยปัญญามีอันเดียวเท่านั้นน่ะ เหมือนกันหมด จะเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จะวิมุตติทางไหนก็แล้วแต่ มันอริยสัจอันเดียวกันทั้งนั้นน่ะ พูดนี่เข้าใจได้หมดเลย ถ้าพูดเข้าใจได้มันถึงเป็นความจริงได้ ถ้าพูดเข้าใจไม่ได้ มันจะเอาอะไรมาเข้าใจได้ ฉะนั้น นี่เป็นทิฏฐิของเขาไง เราใช้ว่าเป็นความเห็นทางโลก

ความเห็นทางโลก เห็นไหม คำถามแต่ละชาติที่ผ่านมาเพราะมีกายที่สร้างกรรม และผลกรรมที่สนองเราก็สนองที่กายเรานี่เอง หาใช่สนองที่ใจเราไม่ ตัดอะไรในกายเสียได้ ใจเราย่อมเป็นสุข

ถ้าตัดอะไรได้ แล้วทำอย่างไรล่ะ วางยาสลบสิ พอสลบไปแล้วมันไม่รับรู้ร่างกาย มันก็เป็นสุข เอาอย่างนั้นหรือ นี่คิดทางนั้นไง

แต่เวลาในทางธรรมนะ ทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ก่อน พอใจสงบแล้วใช้ปัญญาแยกแยะของมัน เวลามันตัดสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิเห็นผิดในเรื่องร่างกายนี้ วิจิกิจฉาคือความสงสัยในกายนี้ สีลัพพตปรามาสคือการลูบคลำในกายนี้ ถ้ามันรู้แจ้งหมด มันตัดสังโยชน์ออกไปแล้วมันจะเหลืออะไรล่ะ กายก็เป็นกายจริงๆ จิตก็เป็นจิตจริงๆ ต่างคนต่างอยู่ อยู่ด้วยกัน แต่ต่างคนต่างอยู่

แต่ในปัจจุบันนี้กายกับใจนี้อยู่ด้วยกัน แล้วก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน เมื่อย พอมันเบื่อ เมื่อย จิตก็โทษกาย ก็เอ็งนั่งนานเอ็งก็เมื่อย เวลาหงุดหงิดใจ ร่างกายก็บอกนี่อยู่ในห้องแอร์เย๊นเย็นเลย ทำไมเอ็งหงุดหงิดล่ะ ร่างกายมันทะเลาะกับจิตใจ เวลาปกติจิตใจกับร่างกายมันอยู่ด้วยกันนะ มันก็ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ทุกวันน่ะ มันขัดแย้งกันตลอดเวลาเลย แล้วผลของมันนะ ก็เราทุกข์ไง โอ๋ย! ทุกข์ๆๆ เลย

แต่ถ้าจิตมันมีสติปัญญา มันพิจารณาตามความเป็นจริง จิตมันก็จิตเป็นจริงของมัน จิตก็เป็นจริงของมัน จิตคือนามธรรม คือรับรู้ ร่างกายที่ตกผลึกได้ร่างกายนี้มา มันก็เป็นร่างกายนี้ นี่ไง ก็อยู่ด้วยกันไง อยู่ด้วยกัน เข้าใจกัน

จิตพอมันมีปัญหาขึ้นมา อ้าว! ร่างกายนี้มันนั่งนาน เลือดลมไม่เดิน มันก็ขบเมื่อยเป็นธรรมดา มันก็ขยับ เออ! ถ้ามันหงุดหงิดในหัวใจนะ ถ้าหงุดหงิดในหัวใจ ร่างกายมันก็รู้ไง อ้าว! ก็หงุดหงิด ก็เอ็งไม่พอใจไง เอ็งไม่พอใจ ลูกของมาร เอ็งรู้เท่าทันมัน พ่อของมาร ปู่ของมาร เอ็งยังไม่รู้ไม่เห็นมัน เอ็งก็โดนมันกระเซ้าเย้าแหย่เป็นเรื่องธรรมดา อ้าว! มันก็หงุดหงิด หงุดหงิดเพราะอะไรล่ะ หงุดหงิดก็ไม่ได้ดั่งใจไง ร่างกายมันก็ไม่เดือดร้อน ร่างกายกับจิตใจมันก็ไม่ทะเลาะกันไง ไม่ทะเลาะกันมันก็อยู่ด้วยกัน เห็นไหม เวลากายกับใจ ถ้าจิตมันจริงของมัน กายมันจริงของมัน ก็อยู่ของมันจริงๆ

แต่ตอนนี้จิตก็ปลอม ตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำ กายก็ปลอม เพราะอะไร เพราะมันจะอยู่ค้ำฟ้า มันจะไม่เสื่อมสภาพ มันจะไม่ปวดไม่เมื่อย มันจะอยู่กับมันตลอดไป มันปลอมกับปลอมอยู่ด้วยกันมันก็ทะเลาะกัน มันก็ขัดแย้งกันไปตลอด แต่ลองใช้ปัญญาแยกแยะในทางธรรมนะ

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าเวรกรรมมันจะลงเฉพาะที่กายนี่ผิด กายนี้เป็นผลของวัฏฏะ การเกิดมา เกิดมาด้วยบุญ เกิดมาด้วยบุญนะ มีรูปสมบัติที่สวยงาม มีสิ่งต่างๆ ที่สวยงาม เกิดมา ร่างกายเกิดมาด้วยบาปอกุศล เกิดมาอัปลักษณ์ เกิดมาแล้วขาดตกบกพร่อง เกิดมาพิกลพิการ เวลาเกิดมา เห็นไหม

ในร่างกายนี้นะ ในเรื่องร่างกายที่สมดุลที่สุดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธลักษณะ มีพุทธลักษณะ กับมีพระนันทะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรวจเยี่ยม ไปตรวจวัด เขาเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา เขาจะปูอาสนะไว้เลย บางทีพระนันทะเดินมา เขาคิดว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะประกายเปล่งปลั่งมาตลอด

เรื่องรูปสมบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด นี่มันมาจากไหนล่ะ มันก็มาจากบุญกุศลไง มีบุญกุศล บุญกุศล บุญบาปมันต่างกัน พอมันต่างกัน รูปร่างของคน รูปลักษณะคนจะไม่มีเหมือนกัน ต้องมีการแตกต่างกัน เพราะคนทำบุญเสมอกัน มีอารมณ์เดียวกัน ใกล้เคียงกัน หาน้อยมาก มันจะแตกต่างกันตรงนี้ ถ้ามันแตกต่างตรงนี้ มันก็มีเหตุมีผลของมันแล้ว

แต่ของเรา เราก็บอกว่ามันจะเสมอกัน ถ้าทุกอย่างมันตอบสนองลงที่กาย มันก็จะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ไป ถ้าวิทยาศาสตร์ไป เพียงแต่ในปัจจุบันนี้เขาก็คิดของเขาไปอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเขาตะขิดตะขวงใจเพราะมีความเห็นผิด

แต่ถ้าความเห็นถูก เมื่อไหร่จะถูกล่ะ ถ้าความเห็นถูก มันต้องภาวนาเป็น ถ้าภาวนาเป็นขึ้นมานะ มันจะเห็นเลย ปุถุชน ปุถุชนคนหนามั่วไปหมดเลย กัลยาณปุถุชนทำจิตสงบง่ายขึ้น นี่กัลยาณปุถุชน ยกขึ้นโสดาปัตติมรรค ถ้ายกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรคมันจะ อ๋อ! กัลยาณปุถุชนเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ถ้ายกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค จิตนี้ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะใช้ปัญญาของมัน นี่โสดาปัตติมรรค บุคคลคู่ที่ ๑

ถ้ามันพิจารณาจนถึงที่สุดมันเป็นโสดาปัตติผล แล้วถ้ายกขึ้นสู่สกิทาคามิมรรค มันก็ไปสู่สกิทาคามิผล ถ้ายกขึ้นอนาคามิมรรค มันก็ไปสู่อนาคามิผล ยกขึ้นสู่อรหัตตมรรค มันก็ไปสู่อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แล้วมันจะเข้าใจเรื่องนี้หมดเลย

แต่ถ้ายังไม่สิ้นสุด ยังไม่สิ้นสุดคือมันยังติดอยู่ ยังติดอยู่ตรงที่ใดที่หนึ่ง มันก็รู้ได้แค่นั้นไง รู้ได้แค่นั้น สิ่งที่เหนือกว่ารู้ไม่ได้ ถ้ารู้ไม่ได้มันก็จบไม่ได้ จบไม่ได้ว่าจิตนี้มาจากไหน เวลาถ้ามันจะจบ มันจะจบที่จิตเดิมแท้ จบที่อวิชชา จบที่ภวาสวะ จบที่ภพ จบที่ปฏิสนธิจิต ถ้ามันไม่จบ มันจะไปเกิดบนพรหม อนาคามีไปเกิดบนพรหม ถ้าไปเกิดบนพรหม เพราะอวิชชามันพาเกิด เพราะไม่รู้ถึงพาเกิด แต่ถ้ารู้แล้วก็จบหมด

ฉะนั้น ถ้าจะรู้แจ้ง มันก็ต้องพิจารณาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันจะเข้าใจเรื่องนี้หมดเลย แต่ถ้ายังพิจารณายังไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์มันก็อย่างนี้ แบ่งกายกับแบ่งจิต ทุกอย่างก็ตกลงที่กาย เพราะร่างกายนี้เป็นวัตถุรับดีรับชั่วได้

ร่างกายเป็นนามธรรม รับอะไรไม่ได้ มันไม่ถึงใจหรอก มันรับอะไรไม่ได้ นั่นล่ะตัวรับแท้ ตัวรับแท้ ตัวยึดมั่นถือมั่น ตัวนั้นน่ะตัวทุกข์แท้ ไอ้นี่มันตัวทุกข์เทียมๆ ไอ้นี่พูดถึงว่ากายกับใจนะ นี่ความเห็นผิดไง ความเห็นทางโลก ถ้าความเห็นทางธรรม อย่างที่เราอธิบายนี้

ถาม : เรื่องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อและสอบถามภาวนา

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาตอบคำถาม ให้กำลังใจ และช่วยแก้ปัญหาทางใจของผมมาตลอด โดยเฉพาะหลวงพ่อสอนให้ผมรู้จักสำนึกรู้ในหน้าที่ที่กำลังทำอยู่ และอย่าแบกโลก ให้จดจ่อกับหน้าที่การเรียนของตนเอง

ตอนนี้ผมสำเร็จการศึกษาแล้ว และกลับมาใช้ทุนได้ประมาณ ๑ เดือนแล้ว ต้องปรับตัวกับที่ไทยพอสมควร เพราะที่ต่างประเทศค่อนข้างเงียบ แม้งานจะมาก แต่ก็ไม่คลุกคลีกับบุคคลอื่นๆ มากเหมือนที่ไทย ทำให้เวลาภาวนาในแต่ละวันน้อยลง ทำใจสงบได้ยากขึ้น บางวันก็ไม่สามารถภาวนาได้ และต้องไปงานสังคมตอนเย็น ปัญหาเก่าของผมก็คงมีอยู่ โลกธรรม ๘ ก็เข้ามาทดสอบเป็นระยะๆ โจทย์ก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม ต้องใช้สติและปัญญาอย่างมากในการแก้ปัญหา

กลางอาทิตย์ก่อนได้ภาวนาโดยใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอหยุดคิดก็กลับมาดูลมหายใจกลับไปกลับมา ได้ความสงบพอประมาณ แล้วมันมีเสียงออกมาบอกว่าจงทำตามหน้าที่โดยที่ไม่มีความอยากแล้วใจก็เบาและนิ่งสงบ รู้สึกเย็นเล็กๆ พอออกจากสมาธิ อาการสงบก็ยังคงอยู่ต่ออีกหลายวัน เวลาปัญหาเข้ามาก็แก้ไป ไม่กระวนกระวายใจเหมือนก่อน แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป ทำเท่าที่ทำได้ เราทุกข์เพราะเราอยากให้มันเป็นอย่างที่ใจเราต้องการนั่นเอง เราแยกความจริงกับความอยากไม่ออก

จนถึงวันนี้ ใจก็ยังสงบอยู่ แต่กลัวมันจะกลับไปฟุ้งมากเหมือนก่อน ความสงบต่อเนื่องอันนี้เป็นผลของธรรมเกิดใช่ไหมครับ ผมเคยฟังหลวงพ่อบอกว่าธรรมเกิดไม่ใช่มรรค ควรปฏิบัติอย่างไรต่อไปให้เป็นมรรคครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากราบขอบพระคุณ ไอ้เรื่องที่ว่าหลวงพ่อสอนให้รู้จักในหน้าที่ เพราะก่อนนั้นถามมาก็ถามแต่ว่าไปเรียนอยู่แล้วมันไปแบกโลก มันก็เลยมีแต่ความวิตกกังวลไปหมดเลย

ฉะนั้น ถ้าเราทำหน้าที่ของเราให้จบ จบเป็นวรรคเป็นตอน เด็กก็คือเด็ก เด็กก็มีการศึกษา เด็กก็ต้องทำหน้าที่ของเด็กให้สมบูรณ์ โตขึ้นมาก็มีความรับผิดชอบ จะโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ผู้ใหญ่ที่ดีก็ทำหน้าที่ของผู้ใหญ่ให้สมบูรณ์ ต่อไปเราจะชราภาพ เราจะมอบหน้าที่การงานให้รุ่นต่อไป แล้วเรามีสมบัติสิ่งใดติดตัวไปล่ะ เราจะมีสมบัติสิ่งใดเป็นสมบัติของเรา ถ้ามีสมบัติของเรา เราจะรักษาใจเรา ถ้าใจเรามีความร่มเย็นเป็นสุข ใจของเรา เห็นไหม

เพราะคนเกิดมา เกิดมาเวียนว่ายตายเกิด การเกิด ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ คนเราต้องตายหมด จะตายวันตายพรุ่ง

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราหาที่พึ่งของเรา เราก็ต้องตายเหมือนกัน เราต้องตายเหมือนกัน เราก็ต้องเตรียมตัวของเรา แต่ถ้าใครมีความคิดที่มั่นคง ใครมีความคิดที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็พยายามของตัวเองให้มันจบกันที่นี่เลย ให้มันจบ ให้มันเห็นกัน

ชีวิตนี้ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราจะสร้างคุณงามความดี เราจะสร้างสิ่งใดก็แล้วแต่ มันก็จะตกอยู่สมบัติของโลกสมบัติสาธารณะ สมบัติของเรา เราจะหาของเราไป

ฉะนั้น คนเราเกิดมา คนเรามีปัจจัยเครื่องอาศัยก็ต้องหาอยู่หากินเป็นธรรมดา หาอยู่หากิน เห็นไหม ดูสิ มนุษย์ต่างจากสัตว์ เพราะมนุษย์มันมีศีลธรรมจริยธรรม สัตว์มันก็มีของมัน มันก็มีความรับผิดชอบในประสาสัตว์ ถ้าประสาสัตว์ มันก็ภพชาติหนึ่งเหมือนกัน แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีคุณค่ากว่า เราทำสมบัติ ทำประโยชน์ของเราให้ได้มากกว่า สมบัติทางโลกเราก็ทำ เราทำหน้าที่ของเรา แต่สมบัติทางใจล่ะ

ฉะนั้น จะบอกว่า เรากลับมาแล้วมันต้องมาปรับตัวกันในเมืองไทย เรากลับมาแล้วเราจะต้องเข้างานสังคม

ก็เลือกเอา เราไม่ใช่เด็กแล้ว เราเลือกเอา แล้วคนเรานะ เวลาจิตใจถ้ามันติดกระแสสังคม มันก็อยู่กับเขาพักหนึ่ง แต่ถ้าวันใดได้สติ มันคิดได้นะ พอคิดได้มันก็อยากจะหาสมบัติของตัว เป็นอย่างนี้ คนเราเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ปั๊บ เราก็มีสติของเรา

ถ้าคบบัณฑิต บัณฑิตชักจูงกันไปในทางที่ดี เราก็ได้สติปัญญาไปพักหนึ่ง พอคบไปคบมาทำสิ่งใดไม่ได้ เราก็คบเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าไว้แก่ๆ ค่อยปฏิบัติก็ได้ ตอนนี้เรายังหนุ่มๆ อยู่ เราก็ไปอยู่สังคมก่อน เออ! หาความรู้ทางสังคมก่อน มันก็ไปอยู่พักหนึ่ง พอมันคิดได้เดี๋ยวก็กลับมาอีก มันเป็นอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น เราทำของเรา ได้สติแล้วเราก็ปฏิบัติของเรา ปฏิบัติมา เห็นไหมกลางอาทิตย์นี้เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วได้รับความสงบใจพอสมควร

ธรรมะนี้มันเป็นที่พึ่งอาศัย เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด พอจิตสงบแล้วมันก็ได้ความสงบพอสมควร พอมีความสงบแล้ว จิตใจเรามันมีความสงบ ความสงบนี่นะ หาซื้อไม่ได้ เวลาคนทุกข์คนยาก คนเครียด เวลาเครียดกับชีวิต เวลาแบกหามชีวิต มันเป็นความทุกข์อย่างนี้ ใครๆ ก็หาได้

ถ้ามันหาไม่ได้ ไปฟังเรื่องคนอื่นเยอะๆ สิ ถ้าเรายังไม่มีเรื่องนะ ไปฟังเรื่องคนอื่นเยอะๆ เดี๋ยวคนนู้นก็มาเล่าเรื่องทุกข์ๆ ให้ฟัง เดี๋ยวคนนู้นก็มาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เดี๋ยวมันก็จะเครียดแล้ว ถ้าเอ็งไม่รู้จักนะ ไม่รู้จักจะแบกโลกนะ เอ็งไปฟังคนอื่นนินทาให้ฟังเยอะๆ เดี๋ยวคนนู้นเรื่องนั้น เดี๋ยวคนนั้นเรื่องนี้นะ เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวมันก็รู้เองว่า อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง

แต่ความสงบหายาก แล้วความสงบไปหาที่ไหนล่ะ ไปหาจากเรื่องฟังคนนินทา ไปฟังเรื่องคนอื่น มันจะสงบได้ไหม ไม่ได้

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้กำหนดพุทโธๆ ไง เราไม่ต้องการเรื่องสิ่งใด เราต้องการพุทธานุสติ เราต้องการพุทโธของเรา พอพุทโธแล้วมันก็สงบ ถ้ามันสงบแล้วมันก็มีที่พึ่ง มีที่พึ่ง มีที่ร่มเย็น

เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ใครทำสมาธิได้คือมีบ้านมีเรือนหลังหนึ่งเอาไว้หลบแดดหลบฝน คนที่ทำสมาธิไม่ได้เหมือนคนอนาถาอยู่บนที่โล่งแจ้ง ฝนตกแดดออก จะทุกข์อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ก็ไม่ตาย

คนเรานะ โดยร่างกายมันจะมีบ้านมีเรือนที่อาศัย ไม่มีบ้านก็เช่าเขาอยู่ ถ้าไม่มีก็ไปอยู่ศาลาริมทางก็ได้ เขาปลูกไว้เป็นที่สาธารณะ มันก็มีที่หลบแดดหลบฝน แต่จิตมันไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่มีที่พึ่งอาศัยเลย

แต่ถ้าใครมีพุทโธ มีปัญญาอบรมสมาธิ มันจะมีบ้านมีเรือน มีที่พึ่งที่อาศัย จิตสงบ เราก็มีพอของเราแล้ว ฉะนั้น ทำแบบนี้ ถ้ามันไม่เจริญก้าวหน้ามันก็ยังมีที่พึ่งอาศัย คนเรานะ ถ้าไม่มีจุดยืนเลยนะ เวลามันเครียดวิตกกังวลขึ้นมา ไปหาจิตแพทย์ ต้องไปหาจิตแพทย์ ตัวเองช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปหาจิตแพทย์ให้จิตแพทย์ขุดให้

แต่ของเรา เราไม่ต้องหา เรามีธรรม เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งอาศัย เรามองข้ามกันไง เราไปมองข้ามว่าเงินจะเป็นที่พึ่ง ทรัพย์สมบัติจะเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งจะเป็นวัตถุที่จะหามา เพชรนิลจินดาจะเป็นที่พึ่ง มีสมบัติเยอะๆๆ จะเป็นที่พึ่ง เราไปมองที่นั่น เราไม่มองพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

พระธรรม สัจธรรมไง ความจริงแท้เป็นที่พึ่ง ถ้าเป็นที่พึ่ง เรามาปฏิบัติของเรา มันก็มีความร่มเย็นของเรา ร่มเย็นนี่มันมีที่พึ่ง แค่นี้ เราเปรียบเทียบได้เลย แล้วสิ่งที่ความร่มเย็น เงินซื้อได้ไหม เงินเดือนออกมันจะร่มเย็นอย่างนี้ไหม เงินเดือนออก มันจะพากันไปกินเลี้ยงไง เงินเดือนออก มันจะพาไปเที่ยวไง แต่ถ้าจิตเราร่มเย็น แล้วใครให้ได้ เราให้เราได้ นี่พูดถึงว่ามีธรรมเป็นที่พึ่ง เวลาที่มีปัญหากระวนกระวายใจ เราก็ทำของเราได้

แล้วเขาถามว่าความสงบอันต่อเนื่องนี้เป็นผลของธรรมเกิดใช่ไหม เคยฟังหลวงพ่อบอกว่าธรรมเกิดไม่ใช่มรรค ควรปฏิบัติอย่างไรต่อไปให้เป็นมรรคครับ

สิ่งที่ว่าเป็นมรรคกับไม่เป็นมรรค ความจริงถ้าเป็นมรรคของฆราวาสมันได้ ศีลธรรมจริยธรรม ความดีเป็นมรรค มรรคหยาบๆ แต่คำว่าธรรมเกิดไม่ใช่มรรคของเราเพราะอะไร เพราะว่าคนปฏิบัติแล้วมันจะเอามรรคเอาผลโดยให้กิเลสหลอกไง

ถ้าพูดถึง ถ้ามันจะเป็นมรรค เวลาสุภัททะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่าศาสนาไหนก็ว่าดี แนวทางปฏิบัติไหนก็ว่าดี ทุกอย่างก็ว่าดีหมด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าถ้าศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นจะไม่มีผล

คำว่าผลนี้คือโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหัตตผล ถ้ามันเป็นผล มันต้องมีมรรค

ทีนี้เวลาที่ว่าธรรมเกิดๆ นักปฏิบัติใหม่ๆ มันเข้าใจผิด เวลาปฏิบัติไป พิจารณาไปแล้วมันรู้มันเห็นไง อย่างเช่นมีความรู้สึกเกิดขึ้น มีปรัชญาเกิดขึ้น มีความเห็นเกิดขึ้น สงสัยสิ่งใดมีคำตอบเกิดขึ้น มีความขุ่นข้องหมองใจ เวลาพิจารณาไปแล้วมันมีธรรมสนองมา ธรรมตอบเกิดขึ้น นี่มันเป็นธรรมเกิด ธรรมเกิดเพราะธรรมอันนี้มันเข้าไปชำระล้าง เข้าไปให้ได้ความชุ่มฉ่ำ ความชุ่มฉ่ำอย่างนี้มันเป็นธรรมเกิดๆ

ธรรมเกิดนะ หลวงตาท่านบอกว่ากิเลสเกิด กิเลสเกิดเพราะอะไร เพราะมันมีความชุ่มฉ่ำ มันมีความดีแล้วมันอยากได้ ความอยากได้ก็คือกิเลส เพราะมันไม่ใช่มรรค

แต่ถ้ามันเป็นมรรค มรรคคืออะไร มรรคคือมัคโค มัคโคคือทางอันเอก ทางอันเอกคืออะไร คืองานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ความชอบธรรม ถ้ามรรค มรรคมันก็เหมือนที่ว่าธรรมจักรๆ มรรคมันเป็นกงล้อ เห็นไหม กงล้อนี้มันเคลื่อนไป เห็นไหม มันหมุนของมันไป เห็นไหม

ถ้าศาสนาไหนมันมีมรรค มันมีวงล้อ มีธรรมจักร จักรนั้นมันเคลื่อนไป พอเคลื่อนไป ปัญญามันก็เคลื่อนไป พอเคลื่อนไปมันก็หมุนของมันไป พอหมุนของมันไป มันก็สำรอก มันผ่อนถ่ายสิ่งนี้ออก ถ้ามันผ่อนถ่ายสิ่งนี้ออก มันเป็นธรรมๆ ถ้ามันเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรค มันจะเป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ถ้ามันมีมรรค มันก็มีผล

ฉะนั้นว่าธรรมมันเกิดๆ สิ่งที่ว่าหลวงพ่อพูดอย่างนั้น นี่อธิบายอย่างนี้ จะอธิบายว่า เวลาสิ่งใด ใครปฏิบัติแล้วพอมาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า นี่ส้มหล่น ธรรมเกิด มันไม่เป็นผลสักที

เป็นผลต้องเป็นโสดาบัน เป็นผลนะ ถ้ามันเป็นผล เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ฉะนั้น โดยทั่วไปเขาก็ให้ค่ากัน ให้ผลกัน ใครมีปัญญาขบปัญหาแตกเป็นโสดาบัน แล้วเดี๋ยวโสดาบันก็เสื่อม แล้วพอโสดาบันเสื่อมขึ้นมาแล้ว อาจารย์การันตี อาจารย์ก็ต้องผิด เพราะอะไร เพราะคนมันปฏิบัติไม่รู้จริง ไม่มีคุณธรรมจริงในหัวใจ มันจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ไม่ได้

พอเข้าใจเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ทีนี้พอการปฏิบัติมันกว้างขวางไง พอกว้างขวาง แนวทางปฏิบัติมันเยอะมากไง แล้วก็ให้ค่ากัน หลับตา ๒ ทีเป็นพระอรหันต์แล้ว หายใจเข้าหายใจออกทีเป็นพระโสดาบันแล้ว แล้วมันเป็นอะไรกันล่ะ เราถึงบอกมันไม่ใช่มรรค ไม่ใช่มรรค

ถ้ามรรค ๘ มันต้องสมดุลของมัน มันมีมรรค ๘ สติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ งานชอบๆ งานคืองานทำพอดี งานอะไร งานโลกก็งานหาเงินหาทอง งานบริหารจัดการก็ต้องคิดวิธีการบริหารจัดการ แล้วงานอะไรล่ะ งานชอบ

งานรื้อภพรื้อชาติคืองานชอบ งานชอบ สติชอบ ความชอบธรรม ถ้าความชอบธรรมมันเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคมันจะรู้ได้ ฉะนั้น คำว่ารู้ได้เราจะบอกว่า สิ่งใดที่มันเป็นธรรมเกิด มันปฏิเสธไม่ได้หรอก มันเป็นแนวทางไง จากในการปฏิบัติ เราเป็นปุถุชน เราเป็นคนหนา เราก็ทำของเราให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้ายกขึ้นโสดาปัตติมรรค มันก็ตทังคปหาน คือปล่อยชั่วคราวๆ แต่ถ้ามันถึงที่สุดแล้วมันสมุจเฉทปหาน มันปล่อยจริง อันนั้นก็เป็นโสดาบัน ฉะนั้น สิ่งที่เป็นโสดาบัน

เวลาสิ่งที่อาการเกิดกับใจแต่ละคน สิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าสิ่งที่เกิดกับเรา เราให้ชื่อมันไม่ได้ มันบอกไม่ได้ว่านี่คืออะไร เราถึงบอกว่านี่คือธรรมเกิด ธรรมมันมีไง ธรรม สัจธรรม ที่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมเกิดก็คือธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติคือการแปรปรวน ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงจากทุกข์มาเป็นสุข มันเปลี่ยนแปลง มันยังเปลี่ยนแปลงอยู่

ธรรมเกิดๆ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลง แต่อกุปปธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง คงที่ตายตัวที่ไม่เปลี่ยนแปลง มันคืออะไร แล้วมันเกิดอย่างไร แล้วมันมีอยู่อย่างไร ถ้ามันมีอยู่จริง นั่นน่ะผล ผลอันนั้นมันจะเกิดขึ้น ถ้าผลอันนั้นเกิดขึ้น คนที่เกิดขึ้น คนที่ได้เอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เขารู้เลย เขารู้ชัดเจนในใจของเขาเลย

แต่ทีนี้ส่วนใหญ่มันไม่รู้ พอมันไม่รู้ขึ้นมามันก็เลยเป็นเหยื่อไง ไปปฏิบัติกับใครเขาก็ให้โสดาบันไง ให้นู่นให้นี่ ตัวเองก็ไปชื่นชอบไง

เราจะบอกว่านั่นมันธรรมเกิด เพราะให้มา คนที่มีปฏิกิริยาในใจมันมีอยู่ มันเกิดจริง แล้วเขาให้รางวัล เราก็คิดว่าใช่เลย นั้นคือการติด นั้นคือการหลง ฉะนั้น ธรรมเกิดถึงไม่ใช่มรรค ไม่ใช่มรรคคือว่ามันไม่มีมรรค ๘

มรรค ๘ มันจะมีการบริหารจัดการของมันไป พอมันมีของมันไป ถ้ามันใช้กำลังของมันเต็มที่แล้ว การใช้กำลัง สมาธิก็ต้องอ่อนด้อยลง สมาธิมันก็เบาลง เบาลงก็ต้องทำสมาธิให้มากขึ้น ฉะนั้น เวลาวิธีการ เขาบอกว่า ควรทำอย่างไรต่อไป

ก็ภาวนาต่อไป ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิได้ผล เราก็ใช้ของเราไป ถ้ามันจับได้ก็พิจารณาไป พอพิจารณาไป ถ้ากำลังไปไม่ได้ เราก็กลับมาทำสมาธิ ทำสมาธิได้ก็กลับมาพิจารณาต่อเนื่องไป สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานต้องไปด้วยกัน พอไปด้วยกัน พิจารณาไป ไอ้ที่ว่าปฏิบัติอย่างไรต่อไปมันถึงจะเป็นมรรค

เป็นมรรค ผลไม้เก็บแล้วต้องบ่ม บ่มให้สุก การที่เราเอามาบ่ม เราบ่ม ถ้าเราบ่มดีมันก็จะสุก ในการปฏิบัติ ถ้าจิตใจเราบ่มเพาะดี เราทำปัญญาอบรมสมาธิ เรามีผลไม้ เรามีมรรคมีผล จะบ่มเพาะหัวใจ

ถ้ามันไม่มีเลย เราไม่มีผลไม้ เราไม่มีอะไรจะมาบ่ม แต่เรารู้วิธีการบ่ม แต่เราไม่มีผลไม้ให้บ่ม มันจะมีอะไรสุกขึ้นมาล่ะ นี่ก็เหมือนกัน เรามีใจของเราใช่ไหม เราฝึกหัดของเราใช่ไหม มันมีความสงบใช่ไหม มันมี มีใจเป็นผลไม้ มีวิธีการคือสมาธิ คือปัญญา มันจะบ่มเพาะของมัน ถ้าบ่มเพาะของมัน มันต่อเนื่องไปมันก็จะเป็นมรรคไง

ปฏิบัติอย่างไรมันถึงจะเป็นมรรค มรรคจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้มันจะมีมรรคขึ้นมา

มี เราค่อยๆ ทำ เราค่อยๆ ปฏิบัติ เราค่อยๆ ฝึกหัดขึ้นไป นั่นล่ะคือมรรค ถ้ามันเป็นมรรคขึ้นมา มรรคมันก็มีมรรคอย่างหยาบ มรรคอย่างกลาง มรรคอย่างละเอียด เวลาเป็นมรรคแล้วเราก็ฝึกหัดของเราบ่อยครั้งขึ้น พยายามทำของเราขึ้นมา มันจะรู้ชัดเจนขึ้นไป รู้ชัดเจนขึ้นไปเพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจัตตังไง มันเป็นสันทิฏฐิโกไง กาลามสูตรไง ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์บอก ไม่ให้เชื่อแม้แต่คนการันตีว่านี่คือมรรค นี่คือผล ไม่เชื่อ ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น แต่เราปฏิบัติไป มรรคมาบ่มเพาะเราเอง เรารู้ เรารู้ พอเรารู้จริง ไม่ต้องบอก ไม่เชื่อ

หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกเลย แม้แต่นั่งอยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ ก็ไม่ทูลถามท่าน เพราะมันเป็นความจริง ถ้าถามก็อันเดียวกัน ถ้าเป็นความจริงจะเป็นอย่างนี้ ไม่ถามใครเลย ไม่ถามใคร ไม่อะไร แล้วเป็นความจริงด้วย แล้วอหังการด้วย

แต่ตอนนี้ถ้ามันเป็นธรรมนะ ไม่ถามใครเลย อหังการด้วย แต่วิธีการบอกไม่ถูก บอกไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่มรรค

ธรรมเกิดมันเหมือนฟลุก เหมือนส้มหล่น มันมาเองไปเอง เราไม่ได้บริหารจัดการมัน แต่ถ้าเป็นมรรคนะ เราจะบริหารจัดการมัน พิจารณามัน แยกแยะมัน ถ้าตทังคปหาน มันปล่อยของมัน ถ้าเวลามันขาด มันขาดเห็นๆ เลย

แต่ถ้าเป็นธรรม เหมือนฝันน่ะ มันมา มาเอง อยู่กับเราชั่วคราว แล้วก็หายไปเอง เออ! เห็นไหม มันมาเองไปเอง อะไรเอง เราไม่ได้บริหารจัดการอะไรเลย นี่ธรรมเกิด

แต่ถ้ามรรคนะ เราดูเราแล เราจัดการ เราพิจารณา เราแยกเราแยะ มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นั่นน่ะเดี๋ยวจะรู้จะเห็น นี้ถึงจะเป็นมรรค นี้ทำอย่างไรให้เป็นมรรค

ฝึกหัดไป แล้วมันจะเป็นมรรค เอวัง