ไม่ทิ้งผู้รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “วันพระ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ วันนี้คำถามไม่ค่อยเกี่ยวกับปัญหาการภาวนาของผมสักเท่าไรครับ คำถามมีดังนี้
๑. ผมสังเกตว่าครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านบรรลุธรรมในวันพระ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรครับ
๒. หลายๆ ครั้งที่ผมภาวนา หากเป็นวันพระ (ไม่ได้เน้นภาวนาเฉพาะวันพระ) ก็มักเหมือนจะภาวนาดีกว่าวันปกติ ทั้งขณะนั่งภาวนาและเวลาฝันครับ
ดังนี้ความเห็นส่วนตัวผมเท่าที่ได้สัมผัสในวันพระนั้นมักมีความมหัศจรรย์ใจมาก จึงขอความเมตตาจากท่านอาจารย์เป็นความรู้เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ตั้งใจภาวนาทั่วๆ ไปด้วยครับ
ตอบ : ฉะนั้น พูดถึงวันพระๆ ถ้าบอกว่า ถ้าวันพระเป็นวันสำคัญ มันสำคัญจริงๆ นะ แต่ถ้าบอกว่ามันเป็นความสำคัญผิดในใจเรา บอกว่าถ้าวันพระเป็นวันที่ภาวนาง่าย ทุกอย่างมันสะดวกสบายไปหมด เราก็รอวันพระ แล้ววันพระมันจะเป็นจริงไหมล่ะ วันพระก็มีคนเกิดคนตายเหมือนกัน วันพระก็มีอุบัติเหตุ วันพระก็มีผู้ที่ทำบุญกุศล วันพระก็คือวันพระ
วันน่ะ เห็นไหม วันคืนล่วงไปๆ วันคืนมันก็คือวัน ตะวันขึ้น ตะวันตก มันก็เป็นวันวันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นทางโลก ทางพรหมศาสตร์ เขาจะบอกว่าฤกษ์ผานาที ฉะนั้น ถ้าฤกษ์ผานาทีมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเขา ไอ้นี่เป็นเรื่องของพรหมศาสตร์ต่างๆ
แต่ถ้าเป็นพระพุทธศาสนานะ เรื่องอย่างนี้ท่านถือให้เป็นเรื่องปกติ ความปกติของใจ ความปกติต่างๆ วันพระก็คือวันพระ วันก็คือวัน แต่ถ้าพูดถึงประเพณีวัฒนธรรม วันพระสำคัญไหม สำคัญแล้ว วันพระนี่สำคัญมาก วันพระสำคัญมากเพราะอะไร
เพราะวันพระนะ ในพระไตรปิฎก วันพระ เวลาวันพระเล็ก ถ้าเราจำศีล เราถือศีล ๘ คำว่า “ศีล ๘” ศีล ๘ ก็คือศีล ๘ นะ แต่ศีลอุโบสถล่ะ ศีลอุโบสถก็คือศีล ๘ เหมือนกัน แต่ทำไมเราถือศีลอุโบสถมันมีบุญกุศลมากกว่าศีล ๘ ล่ะ
ศีล ๘ เห็นไหม อุโบสถศีลก็คือศีล ๘ นี่แหละ อุโบสถศีลน่ะ แล้วศีล ๘ ก็คือศีล ๘ นี่แหละ แต่ถือศีล ๘ ก็คือถือศีล ๘ ถ้าถือศีลอุโบสถมันมีบุญกุศล ได้อำนาจวาสนาบารมีมากกว่าศีล ๘ อ้าว! ก็ศีล ๘ เหมือนกัน เพราะเราถืออุโบสถศีล
เวลาเราอาราธนาศีล ศีล ๘ เราก็อาราธนาศีล ๘ แต่เวลาศีลอุโบสถ เราเริ่มต้นอาราธนาอุโบสถศีลเลย นี่อุโบสถไง อุโบสถก็วันพระไง อุโบสถศีล ศีล ๘ ศีล ๘ ก็คือศีล ๘ แต่ศีลอุโบสถมันมีบุญกุศลที่หนักแน่นกว่า หนักแน่นกว่า เห็นไหม
เพราะอยู่ในธรรมบท เพราะในพระไตรปิฎก แล้วเขาขยายความมาเป็นธรรมบท ถ้าวันปกติ วันศีล ๘ เป็นวันพระเล็ก เทวดา นี่พูดถึงเป็นบุคลาธิษฐานด้วย เป็นเรื่องจริงด้วย เทวดาเขามาจดชื่อผู้ที่ถือศีลวันพระ พระเล็กก็แบบว่าเทวดาก็มาจดชื่อ นี่ในธรรมบทนะ แต่ถ้าเป็นอุโบสถศีล พระอินทร์มาเอง พระอินทร์มาจดชื่อเลย ใครถือศีล ๘ บ้าง อุโบสถศีล นี่พูดถึงวันพระไง
ทีนี้วันพระๆ วันพระวันสำคัญไหม วันพระเป็นวันสำคัญ สำคัญในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าในการปฏิบัติมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าวันพระเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สำคัญมาก สำคัญมากเพราะว่าเราบวชใหม่ๆ เราไปธุดงค์กับครูบาอาจารย์ ปกติเราก็ภาวนากัน แต่วันพระ เนสัชชิกทุกวันพระ ถ้าวันพระนะ เป็นเรื่องปกตินะ นักภาวนา พอวันพระปั๊บ ไม่นอน นั่งสว่างเลย วันพระ วันพระเล็ก พระใหญ่ ถ้าวันพระเป็นวันที่เรามุมานะเต็มที่
แล้วดูสิ เวลาหลวงตาท่านไปลาหลวงปู่มั่นออกวิเวก พอดีมันตรงกับวันมาฆะ แล้วหลวงตาท่านก็บอกหลวงปู่มั่นว่า วันมาฆะคือวันพระใหญ่ วันมาฆะกลับมาทำมาฆะกับหลวงปู่มั่นที่วัดหนองผือไม่ได้
หลวงปู่มั่นบอกว่า ถ้าเข้าป่าเข้าเขาไปนะ ก็ให้ทำมาฆะองค์เดียว ให้ถือศีลอยู่ในป่า วันมาฆบูชาก็ให้ปฏิบัติเต็มที่
วันพระเป็นวันสำคัญ วันสำคัญในประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมนะ เพราะเรื่องผลของวัฏฏะ อย่างเช่นเรา เราเกิดมาจากไหน เราเกิดมาจากพ่อแม่เรานี่แหละ แต่ถ้าเราตายไปแล้วล่ะ เราตายไปแล้ว
เราเกิดมาแล้ว เกิดมา เราบวชพระ บวชพระ เราว่าเราก็มีบุญ เพราะเรารักษาศีลอยู่ในเพศของสมณะ แล้วเราตายไป เราตายไป เรามีบุญกุศลไหม มีบุญกุศล เราก็ไปเกิด ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ไปเกิดเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทีนี้ความสัมพันธ์มันมีไง เวลาความสัมพันธ์มันมี พอวันพระมันก็ระลึกถึง เห็นไหม ระลึกถึง
เราจะบอกว่า วันพระ จิตวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เขาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ถ้าเขาเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธ วันพระ วันโกนเขาไปทำบุญกุศลกัน ถ้าวันพระปั๊บ ตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหมลงมายันนรกอเวจีเลย เขาเปิดหมดนะ วันพระนี่ วันพระ รู้กันว่าวันพระเป็นวันทำบุญ วันพระ ชาวพุทธจะทำบุญกุศล พวกสัมภเวสี พวกผีเปรต พวกผีที่ไม่มีญาติ พวกผีที่ต้องการบุญกุศล วันพระจะได้เศษบุญที่ใครจะอุทิศมาให้บ้าง วันพระนี่
เราทุกข์ทั้งชีวิตเลย เราทุกข์ตลอดเลย พอวันพระ เราปลื้มใจ เหมือนเราหิวกระหายเต็มที่เลย วันนี้จะได้ดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง วันนี้ใครถวาย ใครอุทิศส่วนกุศลมา เราจะได้พึ่งพาอาศัย มีอาหารตกกระเพาะสักหน่อยหนึ่ง เห็นไหม ที่ว่าสำคัญ สำคัญแบบนี้ไง สำคัญเพราะมันเป็นกลาง เป็นวันสากลของวัฏฏะ ตั้งแต่พรหมลงมาเลย รู้กัน รู้กันว่าวันนี้เป็นวันทำบุญกุศล แม้แต่พวกสัมภเวสี แม้แต่ผีที่ไร้ญาติ ผีที่ไม่มีใครดูแล วันพระเป็นวันที่ชาวพุทธเขาจะทำบุญกุศลกัน
แล้วเวลาพระให้พร เขาจะอุทิศส่วนบุญกุศลมาเพื่อเจ้ากรรมนายเวร เพื่อสัมภเวสี เพื่อสัตว์โลก เห็นไหม สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลาย เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เธอจงเป็นสุขๆ เถิด เราทำบุญกุศล อุทิศส่วนกุศลมาให้ ไอ้คนที่ไม่มีทางออกมันก็ได้ส่วนบุญกุศลวันนี้ไง
วันนี้วันพระ วันพระสำคัญไหม
ถ้าสำคัญตามประเพณีวัฒนธรรม สำคัญมาก วันพระนี้สำคัญมาก สำคัญเป็นสัญลักษณ์ เป็นต่างๆ แล้วผู้บวช นี่ประเพณีวัฒนธรรมนะ เพราะโลกมันเจริญขึ้น เมื่อก่อนเราหยุดวันพระกัน แล้วอย่างว่าแหละ เขากลัวจะไม่เจริญเท่าโลกไง ก็เลยเปลี่ยนเป็นหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่เมื่อก่อนวันพระ แม้แต่เรายังหยุดวันโกน วันพระเลย แล้วเราก็เปลี่ยนให้เป็นสากลซะ ตอนนี้ในลังกาเขายังตกลงกันไม่ได้ว่าจะหยุดวันไหน เขายังหยุดวันพระอยู่ เขาก็บอกจะทันโลกเหมือนกัน จะหยุดเสาร์อาทิตย์
ตอนนี้มันเป็นที่ว่า วันพระสำคัญไหม
ถ้าบอกสำคัญนี่สำคัญ สำคัญมาก ทีนี้สำคัญเพราะอะไร สำคัญเพราะว่ามันไม่ใช่วันพระเฉพาะเรานี่ ถ้าวันพระ ประเพณี ทีนี้มันก็อย่างที่ว่า เช่น วันสงกรานต์ต่างๆ แต่ละประเพณีเขาก็เลื่อน วันเขาคาบเกี่ยวกัน เขาจะไม่ตรงวันเดียวกัน แต่ถ้าเป็นจันทรคติมันจะตรงกัน ถ้าตรงกัน มันตรงกันทั้งหมด ถ้ามันตรงกันทั้งหมด มันได้ผลตรงนี้ ถ้าได้ผลตรงนี้ปั๊บ
ดูสิ ในธรรมบทอีกเหมือนกัน เวลาเราภาวนาไป จิตเราฟุ้งซ่านก็จิตฟุ้งซ่าน พอจิตเราเริ่มสงบ ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เทวดา อินทร์ พรหมเขาจะเข้ามาช่วยคุ้มครองช่วยดูแล คุ้มครองดูแลเพื่ออะไร เพื่ออยากให้จิตเราสงบ ถ้าจิตเราสงบ พอจิตสงบนี่เห็นพุทธะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าจิตสงบนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าอัปปนาสมาธิ จิตสงบ เราได้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้บุญ ผู้ที่เขามาคุ้มครองดูแลเขาก็ได้บุญไปด้วย นี่เวลาปฏิบัตินะ
แต่พวกเรามันปฏิบัติแบบคนไร้ญาติ คนขี้ทูดกุดถัง คือคนไม่มีบุญน่ะ ปฏิบัติก็แสนยาก แล้วไม่มีเทวดาช่วยสักที จิตไม่สงบสักที แล้วเทวดาก็ไม่เห็นช่วยเลย มีแต่ความทุกข์...ก็เราสร้างบุญมาแบบนี้ เราทำของเรามาแบบนี้ เราทำแบบนี้ แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำของท่าน ท่านรู้ท่านเห็นของท่าน นั่นเป็นจริง
นี่เราพูดถึงวันพระ จะบอกว่าวันพระสำคัญไม่สำคัญก่อนไง ถ้าบอกว่าวันพระไม่สำคัญเลย เราเป็นพระ ถ้าจะว่าเราเป็นผู้นำของชาวพุทธก็ได้ แล้วจะบอกว่าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามันจะไม่สำคัญเลย มันจะไม่ดูถูกดูแคลนประเพณีวัฒนธรรมจนเกินไปหรือ
ทีนี้วันพระสำคัญไหม
สำคัญที่อธิบายให้ฟังอยู่นี่
ทีนี้พอถึงเรื่องการภาวนา “ผมสังเกตว่าครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านบรรลุธรรมในวันพระ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใด”
ถ้าวันพระมันเป็นวันภาวนาอยู่แล้ว วันพระนี่ เพราะวันปกติเราก็ภาวนากันอยู่แล้ว เราพูดบ่อยมากจนคนเขียนคำถามเอาคำพูดเราถามกลับมาบอกว่า ทางคับแคบ ทางกว้างขวาง
เพราะอันนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก ทางของสมณะ ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารบวชมาเป็นนักรบ บวชมาเป็นพระ นี่ทางกว้างขวาง ทางกว้างขวางหมายถึงว่า ๒๔ ชั่วโมง เราภาวนา ๒๔ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงนี้ พระฉันเสร็จแล้วไปแล้ว เขาได้ภาวนา ๒๔ ชั่วโมงเลย แล้วพระเรา วันนี้ไม่มาฉัน ๓-๔ องค์ ๓-๔ องค์นี้ ๒๔ ชั่วโมง เขาภาวนาได้ตลอดเวลาเลย ทางกว้างขวางคือภาวนาได้ ๒๔ ชั่วโมง
ทางคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ ทางคับแคบเพราะเราต้องทำมาหากิน หน้าที่การงานของเรามันดึงเวลาเราไปแล้วส่วนหนึ่ง แล้วถ้าใครมีครอบครัว การดูแลครอบครัวก็ดึงเวลาไปส่วนหนึ่ง เวลาที่จะปฏิบัติก็เวลาเราทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ก่อนนอนเราสวดมนต์ เราได้ภาวนาตอนนั้นน่ะ ไม่อย่างนั้นเราก็ตื่นนอนแต่เช้า ตื่นนอนก่อน แล้วภาวนาตอนนั้นน่ะ แล้วกลางวันเราจะทำภาวนา มันก็ต้องมีภาระรับผิดชอบไป เว้นไว้แต่ใครที่เห็นโทษ เห็นโทษก็ไปจำศีลที่วัด ไปภาวนา เราจะหลีกเร้นไปได้เป็นครั้งเป็นคราว เห็นไหม นี่ทางคับแคบ ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ
เราบอกว่าทางคับแคบ ก็บอกว่า “อู้ฮู! พระนี่เห็นแก่ตัว แหม! เวลาพระนี่ทางกว้างขวาง เวลาคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ”
ไม่มีใครเห็นแก่ตัวหรอก มันเป็นหน้าที่ มันเป็นความรับผิดชอบในหน้าที่การเกิดมานั่นน่ะ มันเป็นไปโดยสัจจะ มันไม่ได้เป็นที่ว่าใครไปทำให้มันคับแคบ ใครทำให้กว้างขวางหรอก ถ้าเราเห็นว่าเราเป็นคฤหัสถ์ เราอยากกว้างขวาง เราก็บวชสิ บวชมาเป็นพระ
แล้วบวชเป็นพระแล้วก็เลือกเอาด้วย เลือกเอาวัดที่ไหนที่ปฏิบัติ วัดที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม ถ้าวัดที่ครูบาอาจารย์เป็นธรรม ท่านจะคุ้มครองเรา ท่านจะดูแลเรา ท่านจะพยายามคุ้มครอง ท่านจะให้เวลาเราปฏิบัติ
ถ้าไปบวชที่วัดที่เขาไม่คุ้มครองดูแล เราไปแล้วเราตกนรกทั้งเป็นน่ะ ไปแล้วมันไม่มีเวลาภาวนา นึกว่าบวชมาเป็นพระแล้วจะภาวนา บวชเป็นพระแล้วก็มาอาบเหงื่อต่างน้ำ จะมาสร้างวัตถุก่อสร้างอยู่อย่างนั้น โอ๋ย! อย่างนี้กูเป็นกรรมกรก่อสร้างดีกว่า กูไปก่อสร้างกูยังได้รายวันเลย
นี่พูดถึงนะ ถ้าเราบวชแล้วเราก็เลือก เลือกเอา ถ้าบวชแล้ว ถ้าเราบอกเราทางคับแคบ ก็คับแคบ เรามีโอกาสไง สิทธิเสรีภาพเสมอกัน เกิดมาอยู่ที่เราเลือก ก็เลือกสิ ละทิ้งมาทางโลก ทางโลกวางมันซะ แล้วไปบวช
“บวชแล้วใครจะดูแลล่ะ บวชแล้วไม่มีใครดูแล มันทุกข์ยากเอา”
ยังไม่ทันบวชเลย มันคิดไปก่อนแล้ว ยังไม่ทันบวชเลย มันห่วงว่ามันจะไม่มีจะกินแล้ว
หลวงตาท่านพูดบ่อย หลวงตาท่านพูดให้กำลังใจพระนะ “เราอยากเห็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย เราอยากเห็นนัก”
หลวงตาท่านพูดบ่อย อยากเห็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย อยากเห็นนัก อยากเห็นนัก ขอให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเถิด คนที่เขาส่งเสริมนี่มหาศาล
แต่นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ พอจะบวชก็ อู๋ย! ห่วงนู่น ห่วงนี่ ห่วงนั่น นี่ขนาดไม่ได้บวชเลย ขนาดหามาตุนไว้นะ มันยังไม่พอใช้ แล้วบวชไปมันจะพอใช้ได้อย่างไร ก็นั่นกิเลสมันใช้ ไม่ใช่ชีวิตมันใช้
ถ้าชีวิตมันใช้นะ พระวันนี้ไม่มาฉันตั้งกี่องค์ สิทธิของเขา เขาไม่บิณฑบาต เขาไม่ฉัน เขาให้ร่างกายเขาเบา เพราะไม่มีอาหารตกในกระเพาะ เขาจะได้ภาวนาของเขา ถ้าใครยังกำลังไม่พอ เราก็บิณฑบาตมาขบฉัน ขบฉันเท่าที่ร่างกายมันพอจำเป็นต้องใช้ อย่าฉันจนมากเกินไป ฉันให้ไปนั่งสัปหงกโงกง่วง
การไม่ฉันอาหาร เวลานั่งแล้วมันไม่สัปหงกโงกง่วง แต่หิวไหม หิว มันธรรมดา มันหิวธรรมดา หิว หิวที่กระเพาะมันหิว แต่หัวใจมันเบิกบาน ถ้าหัวใจมันเบิกบาน หัวใจมันไม่หิวกระหายไป ความหิวนั้นก็เบาบางลง
แต่ถ้าหัวใจมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ พอมันหิวนะ โอ้โฮ! หิวน่าดูเลย หิว ๒ เท่า ๓ เท่า หิวมันบวกเข้าไปเลย แล้วบอกว่า อู้ฮู! ไหนว่าอดอาหารแล้วมันดี อดอาหารแล้วมันทุกข์ขนาดนี้
อ้าว! ก็เอ็งอดอาหารเอาทุกข์ แต่ถ้าเอ็งอดอาหารเอาเพื่อให้ร่างกายเบา ไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต ให้จิตใจ ดูสิ เรากำหนดพุทโธๆ ให้มันลอยตัวขึ้นมา ให้เป็นอิสระขึ้นมา แล้วมันมีธาตุขันธ์ไปทับมัน ปัญญาเราด้อย เราก็ใช้ผ่อนเอา แล้วเรากำหนดพุทโธของเราไป พอจิตมันลอยตัวขึ้นมา มันพ้นจากธาตุจากขันธ์ พ้นจากการยึดเหนี่ยว โอ้โฮ! มีคุณค่าขนาดนี้ แหม! ถ้ารู้อย่างนี้อดมาตั้งนานแล้วล่ะ แหม! รู้มาช้าเกินไป นี่เวลามันทำได้นะ
มันมีทำได้กับทำไม่ได้ มันอยู่ที่ตัณหาความทะยานอยากของเรา ถ้าตัณหาความทะยานอยากไม่ครอบคลุม มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่าทางคฤหัสถ์ที่คับแคบกับทางสมณะที่กว้างขวาง ถ้ากว้างขวาง เราทำของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา
นี่พูดถึงวันพระนะ วันพระ เราก็ดูจากภายนอกมา ดูจากภายนอก ภายนอกประเพณีวัฒนธรรม สัญลักษณ์สำคัญไหม สำคัญ สำคัญเพราะเป็นผลของวัฏฏะ ของวัฏฏะตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหมลงมา นี่สื่อ เป็นสากลรู้กันหมดเลย รู้กันหมด ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปถึงกันหมด ถ้าพูดถึงบุญกุศลที่มันเกี่ยวเนื่องต่อกัน ถ้าเขามีบุญดีแล้วก็เรื่องของเขา นี่พูดถึงวันพระ
“สังเกตว่าครูบาอาจารย์ท่านบรรลุธรรมวันพระ”
วันพระเป็นวันภาวนาของท่าน ถ้าท่านภาวนาของท่านแล้ว ถ้าท่านปฏิบัติของท่าน ท่านจะได้เวลาที่พิเศษขึ้นมา แต่ถ้าจะบรรลุธรรมไม่บรรลุธรรม มันอยู่ที่มรรค มันอยู่ที่เหตุ มันไม่ได้อยู่ที่วันพระ มันอยู่ที่ว่า สมาธิชอบ อยู่ที่สติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ การปฏิบัติที่ชอบธรรมจะเกิดมรรคญาณ มรรคญาณคือธรรมจักร จักรอันนี้มันได้เคลื่อนออกไป ถ้าจักรอันนี้เคลื่อนออกไปคือภาวนามยปัญญามันได้เคลื่อนออกไป แล้วกลับมาชำระล้างความเห็นผิด ความไม่รู้ในใจของเรา
จิตใจของเราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเก่งนัก นักปราชญ์ รู้ไปหมด แต่ไม่รู้จักตัวเอง พอจิตมันสงบเข้ามา จะวันพระหรือวันปกติก็แล้วแต่ ถ้าจิตสงบแล้ว ใครฝึกหัดให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วฝึกหัดออกใช้ปัญญา
ถ้าจิตมันไม่สงบ จิตไม่มีหลักมีเกณฑ์ จิตปลอม จิตปลอมคือมีอวิชชา คือมีตัณหาความทะยานอยากเข้ามา สมุทัยเข้ามาเจือปน ความสมุทัย ความคาดความหมาย ความต้องการ ความเพ้อเจ้อ มันเข้ามาเจือปนกับความรู้สึกนึกคิดของเรา ความรู้สึกนึกคิดนี้ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้สะอาดบริสุทธิ์ แต่ไอ้กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความคาดความหมาย ความต้องการความทะยานอยากอันนี้มันเข้าไปเจือปน เจือปนว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างที่เราคิด ต้องเป็น ศึกษาแล้วมันเข้าใจ ศึกษาแล้วมันซาบซึ้ง นี่สมุทัยมันเข้าไปปน พอสมุทัยเข้าไปปนก็เลยจิตปลอมไง จิตปลอม อริยสัจก็ปลอมไง
ตอนนี้ภาวนาในทางอริยสัจ ในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ปลอมๆ น่ะ สติปัฏฐาน ๔ นึกเอาน่ะ สติปัฏฐาน ๔ คาดหมายเอาน่ะ สติปัฏฐาน ๔ จินตนาการเอาน่ะ สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นไปที่ไม่มีสติควบคุมน่ะ นั่นน่ะสติปัฏฐาน ๔ จอมปลอม
ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง พุทโธ ทำจิตให้สงบเข้ามา
“อ้าว! จิตสงบมันไม่ใช่ใช้ปัญญา มันไม่ใช้ปัญญา”
ทำเถอะ ทำตามครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา
“อ้าว! ก็บอกว่ากาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใคร แล้วจะไปเชื่อใคร”
ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านได้ผิดมาก่อน คำพูดนี้เป็นคำพูดที่เด็กๆ เบื่อมากเลยบอกว่าพ่อแม่อาบน้ำร้อนมาก่อน เด็กๆ มันเบื่อมาก เด็กๆ มันรับไม่ได้เลยนะ “เฮ้ย! ผู้เฒ่าผู้แก่อาบน้ำร้อนมาก่อนนะ ต้องเชื่อนะ” มันรับไม่ได้ มันรับไม่ได้
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราท่านผิดมาก่อน ถ้าคนไม่ผิดมา ท่านจะแยกแยะไม่ถูกหรอกว่า สติปัฏฐาน ๔ จริง กับสติปัฏฐาน ๔ ปลอม มันปลอมมาก่อน แต่ถ้ามันปลอมมาก่อน จะเอาจริงเลยมันก็ไม่มี ถ้าปลอมมาก่อน ก็จับความปลอมนั้น แต่พิจารณาไปแล้วถ้ารู้จริงมันจะทิ้งความปลอมนั้นเข้าสู่ความจริง ฉะนั้น คนที่ผิดมาก่อนเขาจะบอกเรา ครูบาอาจารย์ที่ผิดมาก่อน
เห็นไหม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครๆ ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ ไม่ให้เชื่อ
ก็เราก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เราทำเราก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่แล้ว เราก็ลองดูสักหน่อยได้ไหม ท่านพูดมา ถ้าไม่เชื่อ เราก็ลองพิสูจน์ไง เพราะเราก็ทำมาแล้ว เราก็ทำมาแล้วก็ไปไม่ได้อยู่นี่ เราทำมาแล้วก็ทุกข์อยู่นี่ เราทำมาแล้วเราก็ไม่ได้ประโยชน์อยู่นี่ แล้วทำไมเราไม่พลิกล่ะ ไม่มีอุบายเปลี่ยนแปลงเลยหรือ
กิเลสมันบอกเลย นักปฏิบัติโง่ขนาดนี้เนาะ ซื่อตรง ซื่อบื้อ ทำเข้ามา เข้าไปจำนนกับกิเลสทุกทีเลย ภาวนาไปแล้วก็ไปคารวะกิเลส ภาวนาไปแล้วก็ไปยอมจำนนกับมัน อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ กิเลสมันจะบอก มันจะกระซิบที่หูนะ “ทำไมเอ็งโง่นักวะ ทำไมเอ็งไม่เปลี่ยนแปลงบ้างเลย”
นี่ก็เหมือนกัน เราก็ทำมาจนป่านนี้ เราไม่ได้ แล้วครูบาอาจารย์ท่านบอกทำพุทโธก่อน แต่เราไม่เชื่อ เราไม่เห็นว่าเป็นความจริง ทำไมไม่ลองดูล่ะ ถ้าลองดูแล้ว ถ้าลองแล้ว พิจารณาไปแล้ว พอไปรู้จริงเข้า โอ้โฮ! เห็นไหม ถ้าทำจริงอย่างนี้มันก็เป็นจริงขึ้นมา
ถ้าจิตสงบแล้ว ความคาดความหมาย ความต้องการ ความจินตนาการมันไม่มี เพราะมันเป็นความจริง จิตสงบจริงๆ แล้วเวลาจะรำพึงไปที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม นี่สติปัฏฐาน ๔ จริง เพราะจิตมันจริง ถ้าจิตมันจริง มันเห็นจริงนะ มันสะเทือนกิเลส สะเทือนหัวใจมาก
แต่ในปัจจุบันนี้เราเห็นสติปัฏฐาน ๔ นี่เห็น ก็เหมือนไปโรงเรียน เห็นเขาเขียนโปสเตอร์ไว้ เห็นเขาเขียนเป็นปฏิจจสมุปบาท เห็นก็เห็น เห็นเฉยๆ เห็นก็เห็น นิมิตหมายเห็นก็เห็น แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็น แตกต่างมาก
นี่พูดถึงว่า ทำไมท่านบรรลุธรรม
ถ้ามันจะบรรลุธรรม บรรลุธรรมที่นี่ บรรลุธรรมตั้งแต่มันมีศีล สมาธิ ปัญญาตามความเป็นจริง ได้ความฝึกฝน ได้ความหมั่นเพียร ได้ความวิริยะ ความอุตสาหะ แล้วพอวันพระขึ้นมา มันก็มีความมุมานะมากขึ้น มันก็มีสิ่งที่สะดวกมากขึ้น พอทำความเป็นจริงมากขึ้น มันจะบรรลุธรรม บรรลุธรรมที่นี่ บรรลุธรรมที่มรรค
ในธัมมจักฯ เห็นไหม เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ ทางสองส่วน อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงไหนล่ะ มัชฌิมาปฏิปทาก็ทางสายกลาง ทางสายกลางของกิเลสสิ
มัชฌิมาปฏิปทาก็ความสมดุล ความสมดุลของการปฏิบัติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันก็เป็นสมดุลของมันอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันก็เป็นสมดุลอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเจโตวิมุตติก็ทำความสงบของใจ ทำสมาธิเป็นหลัก แล้วออกไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา พอจิตมันปล่อยวางเข้ามาแล้ว ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนา
นี่สมถะแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา เวลาจิตสงบแล้ว เวลาจะยกขึ้นวิปัสสนา ตรงนี้สำคัญมาก ส่วนใหญ่แล้วมันไม่ยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคก็สู่โสดาปัตติผล
ตั้งแต่ปุถุชนคนหนา คนที่ทำสมาธิได้ยาก ถ้าเรามีสติปัญญา เราทำสมาธิได้จนเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้ากัลยาณปุถุชน จิตมันสงบได้ง่าย มันตั้งมั่นได้ง่าย ถ้ามันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง ยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค ถ้ายกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรคแล้วพิจารณาของมันไป มันตทังคปหาน มันปล่อยแล้วปล่อยเล่า พิจารณาต่อเนื่องไป มันจะเป็นโสดาปัตติผล ถ้าโสดาปัตติผล มันพัฒนาการก้าวดำเนินไป นี่ถ้าบรรลุธรรม คำว่า “บรรลุธรรมๆ” มันต้องมีเหตุมีผล
วันพระก็ส่วนวันพระ วันพระสำคัญไหม สำคัญ แต่บรรลุธรรมนี้สำคัญกว่า เพราะอะไร เพราะมันจะมีพระในหัวใจเลย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคตเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสถิตกลางหัวใจเลย ไม่ต้องไปที่อินเดีย ไม่ต้องไปเฝ้า ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย หาอยู่กลางหัวใจนี่ พุทธะแท้นั่งอยู่กลางหัวใจนี่ อุปัฏฐากง่ายด้วย ดูแลง่ายด้วย ไม่ต้องไปดูแลไกลด้วย
นี่พูดถึงว่า “สังเกตว่าทำไมครูบาอาจารย์ท่านบรรลุธรรมวันพระ” ข้อ ๑ นี่เฉพาะวันพระนะ
“๒. หลายครั้งที่ผมภาวนา หากเป็นวันพระ ไม่ได้เน้นภาวนาเฉพาะวันพระครับ...” นี่กลัวโดนเอ็ดไง “...มันมักเหมือนจะภาวนาดีกว่าปกติ ทั้งขณะนั่งภาวนาและเวลาฝันครับ”
ถ้าเวลานั่งภาวนา เวลาฝัน ฝันมันก็อย่างที่ว่า วันพระ ถ้าพูดถึงในสุตตันตปิฎกนะ วันพระเขาจะปล่อยพวกผีพวกอะไรออกมารับส่วนบุญ ส่วนต่างๆ อันนี้มันเป็นวัฏฏะนะ ถ้าพูดอย่างนี้ไปแล้วเรารับรู้ แต่เราพยายามไม่พูด ไม่พูดเพราะอะไร ไม่พูดเพราะทางวิทยาศาสตร์เขาจะบอกว่า พุทธศาสน์ต้องมีเหตุมีผลสิ พุทธศาสน์อย่าพูดเลื่อนลอย พุทธศาสน์พูดเลื่อนลอย เพราะพุทธศาสน์มันพูดถึงวัฏฏะ พูดถึงการกำเนิด พูดถึงการเกิดการตาย แล้วพูดเป็นเหมือนกับนิยายไปเลย
นิยายส่วนนิยาย ทีนี้คำว่า “นิยาย” สุตตันตปิฎกคือนิทาน คำว่า “นิทาน” พระพุทธเจ้าท่านเห็นจริงของท่าน ภพชาติของมนุษย์ ภพชาติของสัตว์โลกที่ตายไป ทีนี้ถ้ามันพูดแล้ว ภพชาติ สิ่งที่เป็นอดีตกับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน แล้วเราจะมาเทียบเคียงกันมันก็คนละยุคคนละสมัยแล้ว
ฉะนั้น เวลาท่านเทียบเคียงถึงคนที่ตายไปแล้วเอามาเทียบเคียง ท่านถึงบอกเป็นนิทาน แต่นิทานจริงๆ นะมึง ไม่ใช่นิทานเล่นๆ นะ แต่พอคำว่า “นิทาน” ปั๊บ เราก็บอก เฮ้ย! มันเป็นนิทาน มันเป็นอะไร
ฉะนั้น กรณีนี้มันถึงบอกว่า เวลาเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเราเชื่อของเรา เราเชื่อของเรา ถ้าเราเชื่อแล้วเราอยากพิสูจน์ พิสูจน์ก็พุทโธให้จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามานะ ถ้าใครมีอำนาจวาสนาบารมีนะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันระลึกอดีตชาติ พอระลึกอดีตชาติไปก็บอกนี่ฝันไง
“วันปกติเวลาผมภาวนานะ ภาวนาก็ดี ฝันก็ดี”
เห็นไหม เพราะคนเรามันฝัน การฝัน ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ ฝันนะ มันก็มีสมุทัยเจือปน มีการคาดหมายเจือปน แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ พอมันไม่มีกิเลสแล้วมันจะไม่มีอะไรเจือปน ถ้าไม่มีอะไรเจือปน มันชัดเจน มันจะจริงของมัน ถ้าจริงของมัน เห็นไหม
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำไมมันดี ก็ดีเพราะเหตุนี้แหละ ดีเพราะว่ามันเปิดหมด ทุกอย่างเขาถึงกัน นี่พูดถึงการถึงกัน แต่มันก็ที่ว่าถ้าภาวนาดี ภาวนาดีมันก็มีการส่งเสริม เราสร้างคุณงามความดีมาดี
นักภาวนา เวลานั่งภาวนาปั๊บ บางคนมันจะมาคันตรงนั้น มันจะคันตรงนี้ แล้วถ้าเป็นบางสำนักเขาบอกว่าเทวดามาสะกิด โอ๋ย! เทวดามาสะกิด...ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่
เราภาวนาเพื่อเอาความสงบ สิ่งที่จะเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เราอุทิศส่วนกุศลให้เขาไป ถ้าเราทำคุณงามความดี ความดีก็คือความดี ทุกคนปรารถนาความดีทั้งนั้น ถ้าความดีเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความดีงาม สัมมาทิฏฐิ ความถูกต้องดีงาม ทุกคนจะเห็นดีงามไปหมดแหละ
แต่ถ้าเรามีบาปอกุศลนะ ไอ้นู่นมาสะกิด ไอ้นี่มาสะกิด มันไปเห็นนิมิต มันจะออกทางติรัจฉานวิชา มันจะออกไปทางรู้เรื่องจิตวิญญาณ มันไม่ใช่เข้าสู่มรรค ถ้าเข้าสู่มรรคนะ มันเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคมันเป็นมรรคญาณ
แต่ถ้าออกไปรู้ภูตผีปีศาจ ออกไปรู้ภพรู้ชาติ มันจะดึงออกไปแล้ว พอดึงออกไปแล้วนะ เทวดามาสะกิด โอ๋ย! ผีมาสะกิด มันจะชักจูงกันไป ถ้าชักจูงกันไป เห็นไหม แก้จิต ถ้ามีครูบาอาจารย์อยู่ ครูบาอาจารย์ท่านจะแก้ไขนะ
เพราะเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของจิตวิญญาณมันก็มาเข้าสู่จิตวิญญาณ จิตวิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วญาติกันโดยธรรมล่ะ ญาติกันโดยเป็นญาติล่ะ
อันนั้นเป็นญาติ รอก่อนๆ เดี๋ยวจะปฏิบัติก่อน ให้เข้ามรรคก่อน แล้วถ้ามันเป็นธรรม เดี๋ยวจะอุทิศส่วนกุศลให้ นี่พูดถึงคนเป็น คนเป็น คนรู้หลัก เขาจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก
แต่ถ้าเราไม่เป็นนะ อ๋อ! ญาติมา เทวดามาส่งเสริม...ไปเลย ออกเป็นมิจฉาทิฏฐิ ออกไปทำฌานโลกีย์ ออกไปสู่โลก ไม่ใช่ออกไปสู่ธรรม
ออกไปสู่ธรรมนะ เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ แล้วทางที่ควรเสพล่ะ นี่ครูบาอาจารย์มี ท่านจะแก้ตรงนี้ไง
นี่พูดถึงวันพระนะ พอขยายความไปมันก็เป็นแบบนี้ บอกว่าคำถามมันไม่เกี่ยวกับภาวนาเลย คำถามไม่มีประเด็นเลย คำถามนี้ไม่มีประเด็น แต่หลวงพ่อตอบเป็นประเด็นเลย
เป็นประเด็นเพราะว่ามันเป็นหญ้าปากคอก หลวงตาท่านสอนอยู่ว่า การปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งตอนเริ่มต้นคือหญ้าปากคอก อีกคราวหนึ่งคราวจะสิ้น การปฏิบัติมันจะยากอยู่ ๒ คราวนี้ คือว่าเหตุผลหรือความหละหลวมของเรามันทำให้เราเข้าสู่ทางได้ยาก
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติเริ่มต้นจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ เราคาดหมายไปหมด หญ้าปากคอก พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ทำของเราให้ดีขึ้นมา ถ้าดีขึ้นมาแล้วเดี๋ยวเราจะดีขึ้นมา
ถ้าเป็นวันพระ วันพระนี้วันสำคัญ เพราะวันพระเราตั้งใจภาวนา จิตวิญญาณต่างๆ เขาหวังผลกุศล หวังบุญกุศล ไอ้พวกที่บอกนรกสวรรค์ไม่มีๆ เวลาตายไปแล้วมันจะรู้ แล้วถ้ามันไม่ได้ทำสิ่งใดไว้มันจะมาขอ ไอ้ที่ว่ามันไม่มี มันต้องมาขอพึ่ง แต่เวลามันตายไปแล้วมันจะรู้ของมัน
สิ่งที่เราไม่เห็นเพราะอะไร เพราะสถานะของมนุษย์ สถานะของมิตินี้ สถานะที่ชีวิตหายใจเข้าหายใจออกมันให้ชีวิตนี้ยั่งยืน พอมันหลุดจากนี้ไป มันไปตามกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไปตามนั้น ไม่มีอุทธรณ์ฎีกาใดๆ ทั้งสิ้น มันจะไปตามกรรมของมัน
แล้วไปถึงตอนนั้นก็ เอ๊อะ! ไหนว่าไม่มีไง เออ! ไม่มี ทำไมกูมานั่งอยู่นี่ล่ะ กูไม่มี กูไม่มี ทำไมกูมาอยู่ตรงนี้...เดี๋ยวมันจะรู้ เดี๋ยวมันจะรู้
แต่ถ้าเราเชื่อ เราปฏิบัติของเราเพื่อความดีของเรา เห็นเขาใช้ชีวิตกันอีลุ่ยฉุยแฉก เขาว่ามีความสุขของเขา เรามาอยู่ในกรอบ มาอยู่ในศีลในธรรม โอ๋ย! ลำบากไปหมดเลย ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อู๋ย! ยุ่งไปหมดเลย
ไม่เป็นไร เราทำของเราไป เพราะพระพุทธเจ้าขีดเส้นให้เดินเส้นนี้ เราจะเดินเส้นนี้ไป ไอ้เขาเดินเส้นนั้น ไอ้เขาจะไปตามสะดวกสบายของเขา นรกสวรรค์ไม่มี เรื่องของเขา
เราไปเส้นนี้ เส้นที่พระพุทธเจ้าขีดไว้ให้เดิน เราเดินไปศีล สมาธิ ปัญญาของเรา เราเดินของเราไป แล้วปฏิบัติของเราไป ถ้าปฏิบัติไปเป็นความจริงขึ้นมา มันจะดีของมันขึ้นมา
นี่พูดถึงเรื่อง “ดังนี้ความเห็นส่วนตัวของผมเท่าที่ได้สัมผัสในวันพระมักจะมีความมหัศจรรย์ใจมาก จึงขอความเมตตาท่านอาจารย์เป็นความรู้เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ตั้งใจภาวนาครับ”
ตอบแล้วครับ จบ
ถาม : เรื่อง “ติดที่ปีติ ๒”
หลวงพ่อ : เขาถามมาแล้วหนหนึ่ง นี่ถามอีกแล้ว ปีติเหมือนกัน
ถาม : กราบนมัสการท่านอาจารย์ครับ ผมขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่งที่กรุณาตอบคำถาม “ติดที่ปีติ”
กระผมขออภัยพระอาจารย์ที่ไม่ได้อธิบายอาการของการภาวนา กล่าวคือในขณะที่ภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ อยู่นั้น พุทโธก็โผล่ออกมาที่กลางอก หายใจไม่ออก แต่พุทโธต่อเรื่อยๆ เพราะอยากรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
สักพักก็เริ่มหายใจเบาลง เกิดอาการปีติขึ้น คือน้ำตาไหล ขนลุกขนพอง จิตและร่างกายแยกคนละส่วน มีความสุขมาก ในขณะที่ทำงานก็มีความสุข ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ภาวนาทุกครั้งก็จะเป็นแบบนี้ประมาณ ๔-๕ วัน เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ภาวนากี่ครั้งก็มาติดอยู่ที่ปีตินี้เท่านั้น
ในช่วงที่รอคำตอบจากพระอาจารย์ เหมือนเป็นการทรมานกิเลส ทนไม่ไหว จึงลองพิจารณาตัวปีติที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ผลของมันทำให้เรามีความสุขจนได้คำตอบว่า จิตที่ยึดติดอยู่กับปีติ และผลของปีตินั่นเองเป็นตัวทำให้เกิดทุกข์
เมื่อจิตคลายตัวออกจากปีติก็พุทโธต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้พุทโธไม่มีเสียง แต่เป็นความรู้สึกว่ามีพุทโธอยู่กลางหน้าอก เวลาร่างกายอ่อนเพลียก็นึกถึงพุทโธ ก็เกิดขึ้นที่กลางหน้าอก สักพักความอ่อนเพลียก็หายไป ทั้งหมดที่ผมได้เรียนท่านอาจารย์ให้ทราบนี้ไม่รู้ว่าถูกทางหรือเปล่าครับ
ตอบ : เห็นไหม เริ่มต้นยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่ง ไอ้หญ้าปากคอกนี่มันยุ่ง
ติดปีติก็คือปีติ ปีติก็เป็นผล ปีตินี่นะ ปีติคือผล ปีติเกิดได้เพราะเหตุใด ปีติเกิดได้เพราะจิตมีปีติถึงมีความสุข ปีติเกิดบนจิต ปีติจะไม่ไปเกิดบนสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่ไม่มีความรับรู้ ปีติจะเกิดอยู่ที่จิต
จิตของเราที่ฟุ้งซ่าน จิตของเราที่มีความทุกข์ ปีติไม่เกิดหรอก มีแต่ความเครียด มีแต่ความเครียด มีแต่ความวิตกกังวลเกิดกับจิตของเรา เราพุทโธๆ ของเราไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราไป ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์
มันจะเกิดปีติ ถ้าเราเกิดปีติแล้ว พอปีติ ถ้าคนมีสติปัญญา เรากำหนดพุทโธของเราต่อเนื่องไป ปีติจะเริ่มจางลงๆ มันจะเกิดเป็นความสุข พอสุขแล้วกำหนดสุข ถ้าพุทโธต่อเนื่องไปมีความสุข พอความสุขใช่ไหม มีความสุขก็ติดในสุขนั้น พอพุทโธๆๆ ผ่านจากความสุขนั้นไปมันจะเกิดตั้งมั่น เห็นไหม เกิดตั้งมั่น
นี่ไง ถ้าพูดถึงรูปฌาน รูปฌาน อรูปฌาน รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่พูดถึงฌานนะ องค์ของสมาธิ องค์ของฌาน แต่ถ้าเป็นสมาธิพระพุทธเจ้าไม่เอาฌาน เพราะเอาฌานแล้วมันจะเกิดฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติ จิตมันจะส่งออกเพราะมีกำลังของมัน พระพุทธเจ้าถึงไม่เอาฌาน พระพุทธเจ้าถึงเอาสมาธิ เอาสัมมาสมาธิ
กำหนดพุทโธๆ ให้จิตเป็นสมาธิ เพราะสมาธิ สัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ มันจะเกิดปัญญา เพราะถ้าเป็นฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รูปฌาน อรูปฌาน มันจะส่งออก มันจะรับรู้ มันจะแบบว่า ถ้าจิตมันมีกำลังของมัน จิตนี้สำคัญมาก จิตถ้ามันมีแสงตกที่ไหน เสียงได้ยินถึงที่นั่น ถ้าเป็นอภิญญานะ แต่ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนามันก็สงบเฉยๆ ถ้าเข้าฌานสมาบัติ
ฉะนั้น เวลามันเกิดปีติ เวลาบอกปีติมันเกิดเพราะเหตุใด ปีติมันเกิดเพราะเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะจิตมันสงบมันถึงเกิดปีติ แล้วเกิดปีติ ทีแรกเกิดปีติก็ตื่นเต้นมาก พอเกิดปีติแล้วก็จะเกิดปีติอีก พอเกิดปีติอีก ปีติมันจะจางลงๆ แล้วเดี๋ยวนี้ทำไมไม่เกิดปีติเลย ปีติมันก็มีอยู่นั่นแหละ แต่เพราะเราคุ้นเคยกับมัน พอคุ้นเคยกับมัน มันก็เปลี่ยนสถานะไป เจริญขึ้นไป เห็นไหม ที่ว่าตติยฌาน จตุตถฌาน ฌานมันจะมีของมันอย่างนั้น ฉะนั้น เรากำหนดพุทโธๆ ของเรา ตรงนี้เอามาเปรียบเทียบให้เห็นระดับของความรู้สึก
แต่ถ้าพุทโธล่ะ พุทโธ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าอัปปนาสมาธิ เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธ เราพุทโธไป พุทโธโผล่กลางหน้าอก เขาว่าหายใจไม่ออกต่างๆ มันจะมีอุปสรรคอย่างนี้เวลาภาวนาไป
พูดถึงว่าเวลาพุทโธๆ มันจะมีปฏิกิริยา มันมีปฏิกิริยาเคมีทางหัวใจ ถ้าหัวใจ ปฏิกิริยาเคมีมันจะละเอียดเข้ามา เราพยายามจับเข้าไป เราไม่เอาอะไรเลย เราไม่เอาอะไรเลย หลวงปู่มั่นสอนไม่ให้ทิ้งผู้รู้ ไม่ให้ทิ้งพุทโธ เราจะไม่เอาสิ่งใด เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ
พุทโธนี้มันชื่อ แต่ถ้ามันสงบเข้ามา เราไม่ทิ้งผู้รู้ ผู้รู้เรา เพราะผู้รู้มันรู้พุทโธ ถ้ามันรู้พุทโธไว้ก่อน ถ้าผู้รู้ไม่รู้พุทโธ ผู้รู้มันก็รู้อารมณ์ รู้ออกไปข้างนอก แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ ไว้ มันจะมารู้ที่พุทโธ
ไม่ทิ้งพุทโธ เราไม่เสียหาย เพราะเราออกมาข้างนอก ออกมาแค่พุทโธ จิตออกมาแค่พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ถ้ามันสงบเข้ามา มันก็ทิ้งพุทโธมาอยู่ที่ผู้รู้
หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้เลย ถ้าปฏิบัติโดยไม่มีครูบาอาจารย์ ห้ามทิ้งผู้รู้ ห้ามทิ้งพุทโธ นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเราไปเรื่อยๆ แล้วเรากำหนดพุทโธของเราไปเรื่อยๆ ถ้าพุทโธไปเรื่อยๆ
ทีนี้บอกมันก็เกิดปีติ
ปีติก็คือปีติ ปีติมันเป็นผลเกิดจากเหตุ เหตุคือกำหนดพุทโธ เหตุคือจิตสงบ เหตุคือจิตมันมีกำลัง เหตุคือจิตมันสงบเข้ามามันถึงเกิดปีติ เกิดปีติแล้ว ถ้าพุทโธต่อเนื่องไป จากปีติมันก็จะเป็นสุข จากสุขมันก็จะตั้งมั่นเป็นเอกัคคตารมณ์ ตั้งมั่นแล้วทำอย่างไรต่อไป ตั้งมั่นแล้วก็ออกใช้ปัญญาไง ออกฝึกหัดใช้ปัญญา นี่พูดถึงเจโตวิมุตตินะ
ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าจะให้จิตสงบ มันอีกอย่างหนึ่ง นี่หญ้าปากคอกเพราะอะไร สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ทำต่อเนื่องกันไป
นี่พูดถึงว่า ถ้าขนลุกขนพอง
อันนี้อาการของมัน มันรู้ได้ร้อยแปดเลย จิตนี้มหัศจรรย์มาก นี่พูดถึงปีตินะ นี่พูดถึงว่า ถ้าเกิดปีติ เกิดสุข เกิดต่างๆ ให้พุทโธไว้ สิ่งที่ถามมา บอกว่า เวลาจิตมันเป็นไป จิตกับกายนี้แยกออกไปเลย แต่ละส่วนการรู้
มันเป็นได้ทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นไปแล้ว แล้ววาง รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง เพราะอะไร เพราะตอนนี้เรากำลังแบบว่าเข้าฝึกหัด เราพยายามฝึกหัดจิตของเรา ฝึกหัดจิตของเรา เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เราจะเข้าไปหาพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในหัวใจของสัตว์โลก ใครเป็นผู้ปฏิบัติ ผู้นั้นจะเข้าสู่จิตของผู้นั้น
เรากำลังจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เราปฏิบัติ เราก็จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา โยมปฏิบัติ โยมก็จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของโยม ในใจของโยม ต่างคนต่างมีพุทธะในใจทั้งนั้นน่ะ พุทธะของเรานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่กลางหัวใจ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
นี่เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน ต่างคนต่างเข้าไปเฝ้าในใจของตัวเอง ถ้าไปเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว อืม! นี่ของจริง
ฉะนั้น เราพุทโธของเราไป เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราไป แล้วถ้าจิตมันออกใช้ปัญญา ปัญญาเหมือนที่อธิบายมาตั้งแต่ต้นว่าวันพระๆ นั่นน่ะ อธิบายแบบนี้ เวลาออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นแบบนั้น ถ้าพูดไปมันก็จะซ้ำสอง เห็นไหม
ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น เขาบอกว่า เหตุแห่งทุกข์ เขาพยายามแสวงหาของเขา จิตที่ยึดอยู่กับปีตินี้เอง จิตที่ยึดอยู่กับปีติ ผลของปีตินี้เองที่เป็นตัวเกิดทุกข์
อันนี้ก็เป็นปัญญาอันหนึ่ง มันเป็นปัญญา เป็นสมบัติของเราไง เราคิดว่าอะไรเป็นตัวทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด เราอยากหาทุกข์ใช่ไหม เราบอกว่า ตัวปีตินี้เองคือเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวทำให้เกิดทุกข์
เห็นไหม มันมีเหตุ มันมีสมุทัย เพราะปีติ เราอยากไม่ให้มันแปรปรวน ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ สมุทัยคือตัณหา ตัณหาคือความอยาก ความอยาก ความผลักไส ความไม่ต้องการ นี่ตัณหา ตัวนี้แหละเป็นตัวให้เกิดทุกข์ เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด ฆ่าตัวนี้ ฆ่าตัวการคาดหมาย ฆ่าตัวการนะ
แต่ถ้าพอฆ่าแล้วมันเหลืออะไรล่ะ มันเหลืออะไร เพราะฆ่านี้มันต้องมีวิธีการ วิธีการคือมรรค พอมรรคมันทำเสร็จแล้วมันเกิดนิโรธ นิโรธคือการดับหมด การปล่อยหมด อิสรภาพ
การฆ่าการทำลายคือให้จิตนี้เป็นอิสรภาพ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของใคร ไม่ตกอยู่ในใต้อำนาจของตัณหา การคาด การหมาย การต้องการ การปรารถนา แต่ถ้ามันเป็นจริง ไม่ปรารถนาแล้วทำไปทำไมล่ะ
ไม่ปรารถนาเพราะทำให้เป็นจริงไง พอเป็นจริงแล้ว มันเป็นจริงแล้วไปปรารถนาอะไรล่ะ เราไปเห็นแล้วเราไปปรารถนาอะไร เรารู้แล้วเราไปปรารถนาอะไร เราไปรู้ธรรมแล้วเราปรารถนาอะไรล่ะ พระพุทธเจ้ารู้สิ่งใด เราก็รู้สิ่งนั้น มันก็จบ ถ้าจบแล้ว นี่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน
เราปฏิบัติ ต่างคนต่างปฏิบัติเพื่อจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน ต่างคนต่างปฏิบัติเพื่อไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของตัวเองนะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมท่านจะเน้นว่าธรรมะส่วนบุคคลๆ คือปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ธรรมะกลางหัวใจของเรา แล้วกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใคร แล้วไม่ให้เชื่อใคร หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่เชื่อใครทั้งสิ้น แต่เวลาท่านเจอหน้ากัน ท่านไปเจอกัน ไปคารวะ ใครจะไปคารวะหลวงปู่มั่น พอไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นถามว่า ภาวนาอย่างไร ภาวนาแล้วได้อะไร
นี่ธมฺมสากจฺฉา คือกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วท่านจะทดสอบกัน ทดสอบกัน ใครรู้อย่างใด ใครเห็นอย่างใด
อริยสัจมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว จะลงประตูเดียวกัน จะลงสู่อริยสัจ จะลงสู่ความจริง ถ้าความจริงกับความจริงนั้นเป็นอันเดียวกัน หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกกับหมู่คณะไว้ว่า หลวงปู่ขาวท่านได้สนทนาธรรมแล้ว หลวงปู่ขาวนี้เป็นที่พึ่งได้นะ ต่อไปถ้าท่านนิพพานแล้วให้หมู่คณะจำหลวงตาไว้นะ ดีทั้งข้างนอกคือข้อวัตรปฏิบัติ ดีทั้งข้างในคือหัวใจที่เป็นธรรม นี่เกิดจากอะไรล่ะ
เห็นไหม ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อ ไม่ต้องเชื่อ ไม่ต้องให้เครดิต ไม่ต้องอะไร แต่ทดสอบ ทดสอบกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลชีวิต การได้เห็นสมณะเป็นมงคลชีวิต สมณะที่แท้จริง แล้วเรากำลังจะปฏิบัติเข้าไปสู่ใจของเรา เข้าไปหาสมณะของเรา เข้าไปหาความจริงของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง