เลี้ยงชีพ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “เป็นบาป เป็นมโนกรรมหรือไม่”
กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่งเจ้าค่ะ โยมขออนุญาตส่งคำถามมาเพื่อกราบขอความเมตตาสงเคราะห์จากหลวงพ่อ ขอได้โปรดเมตตาชี้แนะ และให้แง่คิดทางสว่างแก่โยมด้วยเจ้าค่ะ โยมกราบขอขมากรรมและขออภัยในคำถามของโยมไม่ใช่คำถามที่มีสาระเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมโดยตรงเจ้าค่ะ แต่เนื่องจากคำถามนี้เป็นเหตุที่ทำให้โยมจิตตก เสียศรัทธา และรบกวนใจของโยมอยู่ตลอดเวลา จนรู้สึกไม่สบายใจเจ้าค่ะ
โยมย้ายมาอยู่จังหวัดจังหวัดหนึ่งที่มีพระกรรมฐานในสายธรรมยุตให้เลือกไปทำบุญกุศลได้ค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งตลอดเวลาปีเศษๆ จนถึงปัจจุบันนี้ เกือบทุกวันเสาร์อาทิตย์ โยมขวนขวายที่จะต้องไปทำบุญถวายจังหัน และถวายปัจจัยไทยทานตามสมควรให้เกิดเป็นอานิสงส์กุศลของตนเอง
โยมไปวัดที่เจ้าอาวาสท่านเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ และมีคนบอกว่า ตั้งแต่มาอยู่นี้ ท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านสำเร็จแล้ว บรรลุธรรมแล้ว ท่านจบกิจของท่านแล้ว
ตอบ : นี่เป็นคำที่ว่าชาวบ้านเขาสรรเสริญไง แต่ทีนี้ต่อไปนี้คำถามจะยาวมาก เกี่ยวกับเรื่องพระวัดนี้เลี้ยงสุนัข แล้วสุนัขมันตาย พอมันตายแล้วเขาให้เจ้าอาวาสบอกให้ลูกศิษย์ไปซื้อสุนัขมาเลี้ยง พอซื้อสุนัขมาเลี้ยง โยมเขาเห็น เขาเลยจิตตก จิตตกก็ยกคำถามเป็นข้อๆๆ มาเยอะมากเลย เกี่ยวกับเรื่องควรไม่ควร ควรอย่างไร เพราะด้วยความเห็นของโยม เพราะโยมคนนี้เขาบอกเขาก็เลี้ยงสุนัขเหมือนกัน เลี้ยงสุนัขแล้ว เวลาเขาจะไปไหนเขาต้องไปจ้างคนอื่นเลี้ยง เพราะว่ามันเป็นความรับผิดชอบ
ฉะนั้น วัดทั่วไปจะมาเลี้ยงสุนัข มันมาเลี้ยงสุนัขแล้วไปซื้อสุนัข เวลาสุนัขตายไป เขามีความเสียใจ มีความผูกพัน ก็อยากได้สุนัขใหม่ ลูกศิษย์ก็ไปซื้อสุนัขใหม่มาให้เลี้ยง พอซื้อสุนัขใหม่มาให้เลี้ยง เขาก็เลี้ยงด้วยความทะนุถนอม ตรงนี้เขาถึงจิตตก จิตตกมาก เพราะเขาก็เลี้ยงสุนัข ทีนี้เขาเลี้ยงสุนัขแล้ว เพราะมันเป็นความรับผิดชอบไง นี่เราพูดถึงความเห็นของโลก เห็นไหม
ถ้าความเห็นของโลกนะ เราก็ต้องเอาเรื่องธรรมและวินัยเป็นตัวตั้ง ถ้าเป็นตัวตั้งนะ การเลี้ยงชีพ ถ้าการเลี้ยงชีพ ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้วว่า ถ้าอย่างครูบาอาจารย์ของเราท่านออกประพฤติปฏิบัติ อย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านจะไปโดดเดี่ยว ท่านจะไปของท่าน ท่านจะขวนขวายของท่าน ท่านจะปฏิบัติตามความจริงของท่าน
ถ้าอย่างครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่นหลวงตาท่านก็พูดบ่อยบอกว่าเราเสร็จงานกันหรือยัง อย่างครูบาอาจารย์ท่านจะไปเมืองนอก ท่านจะไปลาท่าน ท่านบอกว่า งานของตัวเองทำไมไม่ทำ ไปทำงานของใคร
นี่ก็เหมือนกัน งานของตัวเองมีหรือยัง เราก็มีงานต้องทำใช่ไหม เพราะเรามีกิเลสในหัวใจใช่ไหม ถ้าเรามีงานต้องทำ เราต้องทำงานของเราให้จบก่อน ถ้าเราทำงานให้จบ เราทำงานของเราจบแล้ว เราจะเมตตาใคร เราจะสงเคราะห์สิ่งใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ถ้างานของเรายังไม่จบ เราต้องเร่งทำงานของเรา อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะเร่งทำงานของท่านให้จบ พยายามจะทำงานของท่าน ถ้ายังไม่จบ ท่านจะขวนขวายของท่าน ท่านพยายามจะรื้อถอนกิเลสในหัวใจของท่าน ถ้าท่านจบงานของท่านแล้วท่านจะสงเคราะห์ ท่านจะสงเคราะห์โลก ท่านจะมีจิตใจเมตตากับสัตว์โลก นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
แต่ถ้าครูบาอาจารย์อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านต้องเป็นตัวอย่าง ท่านเป็นตัวอย่าง ชีวิตของท่าน ท่านปฏิบัติในป่า ท่านบรรลุธรรมในป่า เวลาท่านสอนครูบาอาจารย์เราท่านสอนอยู่ในป่า เวลาท่านสิ้นอายุขัย ท่านออกจากป่ามาเพราะมีความจำเป็นว่า ท่านบอกว่า ถ้าท่านตายที่หนองผือ พวกสัตว์โดยทั่วไป เขาต้องมาทำอาหารเลี้ยงประชาชน มันจะต้องตายตามท่านไปอีก ท่านถึงขวนขวายออกมาที่วัดป่าสุทธาวาส มันอยู่ชานเมืองสกลนคร นี่ท่านมีเมตตาของท่านไง ท่านมีเมตตาของท่านเพราะท่านทำงานของท่านจบแล้ว ท่านเป็นตัวอย่าง ท่านทำเป็นตัวอย่างกับพวกเรา
ทีนี้ถ้าพวกเราล่ะ ถ้าเราบวชเป็นพระ งานของเรายังมีอยู่ไหม ถ้างานของเรายังมีอยู่ เราต้องขวนขวายงานของเรา ทีนี้ถ้างานของเราไม่มี อย่างเช่นบอกว่า ไปทำบุญที่วัดนี้ท่านบอกว่า พระองค์นี้ท่านปฏิบัติชอบมาก ท่านสำเร็จแล้ว ท่านบรรลุธรรมแล้ว ท่านจบกิจของท่านแล้ว พอท่านจบกิจของท่านแล้ว ด้วยความศรัทธาด้วยความเชื่อ เราก็เคารพ พอเราเคารพ เราก็ยกไว้สูงมาก เพราะเราเคารพใช่ไหม เราก็ตั้งใจว่าต้องให้เป็นอย่างที่เราปรารถนา ต้องตั้งใจอย่างที่เราคิดว่าท่านต้องทำอยู่ในกรอบนั้น
แต่พอเวลาท่านทำของท่าน จิตเราตกเลย ถ้าจิตเราตกแล้ว เพราะว่าท่านทำโดยที่เราเห็นว่ามันไม่สมควร ไม่สมควร เพราะว่าเขาพูดมามาก พูดบอกว่า ในวัดนั้นมันก็มีสัตว์ มีหมาจรจัด มีหมาวัดเยอะแยะไปหมด แต่เวลาไปซื้อ ไปซื้อหมาพันธุ์มา แล้วเวลาเลี้ยง นี่คำถามของเขา เขาบอกว่า เวลาเขาเลี้ยงสุนัขตัวนั้น เขาเอาไปนอนในกุฏิ เพราะกุฏิท่าน ในกุฏิของท่านทุกๆ ราตรีหรือเปล่า หรือว่ามันครบ ๓ ราตรีแล้วต้องเอาออกมานอนข้างนอก ๑ คืน
เห็นไหม เพราะเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เรารู้นี่ว่าภิกษุห้ามนอนในที่มุงที่บังกับอนุปสัมบันเกิน ๓ คืน อย่างเช่นเราธุดงค์ไป เราเที่ยวไป เราไปกับสามเณร อนุปสัมบันคือปุถุชนคนทั่วไป เราจะมีความจำเป็น นอนกันได้ ๒ คืน คืนที่ ๓ ต้องไปนอนที่อื่น ห้ามนอนกันเกิน ๓ คืน นี่วินัยเขาก็ศึกษามา
แล้วนี่เอาสุนัขเข้าไปนอน สุนัขมันนอนเกิน ๓ คืนหรือเปล่า ถ้าคืนที่ ๓ ต้องออกมานอกห้องหรือเปล่า เพราะอะไร เพราะชาวบ้านเขาบอกไง เขาบอกว่า ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านบรรลุธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้วมันผิดวินัยไหม
เพราะถ้ามันผิดวินัย เพราะถ้าเป็นสติวินัย ถ้าเขายกว่าเป็นที่พ้นแล้ว พ้นแล้วจะเป็นจริงไหม มันขัดขวางไปหมด มันหันรีหันขวาง
ฉะนั้น เอาตรงนี้ เอาตรงที่วินัย ภิกษุ ถ้าเราจะเลี้ยงสัตว์ เราเลี้ยงสัตว์ด้วยความเมตตา อย่างเช่นหลวงตาท่านเคยเทศน์ไว้ว่า ท่านอยู่ในป่านะ เวลาท่านบิณฑบาตมา ท่านฉันเสร็จแล้ว ที่เหลือนั้นท่านก็ไปวางไว้เป็นจุดๆ ให้กระรอก ให้สัตว์มันได้กิน นี่เราสงเคราะห์เขา สงเคราะห์เขาด้วยความเป็นธรรม เราไม่ได้ยึดเขาเป็นเจ้าของ
แล้วอย่างสัตว์ อย่างสุนัข สุนัขจรจัด พระเขาก็เลี้ยงของเขา เราบิณฑบาตไป ถ้าเราเหลือสิ่งใด เราก็เทให้ก้นบาตร เราก็กองไว้กับลานหินให้หมามันได้กิน ให้ต่างๆ มันได้กิน เราก็เลี้ยง
ถ้ามันไปอยู่วัด ถ้าวัดที่วัดโดยทั่วไปเขาก็เลี้ยงของเขา แต่ถ้าวัดปฏิบัตินะ เขาจะเลี้ยง มันต้องให้เป็นที่เป็นทาง เพราะอะไร เพราะวัดปฏิบัติเขาต้องการเอาคน ต้องการสร้างคนให้เป็นพระ ต้องการสร้างคนให้เป็นพระ ความกังวลพยายามจะให้น้อย ความกระทบกระเทือนกัน เสียงต่างๆ จะให้น้อยที่สุด ถ้าน้อยที่สุด สิ่งนี้มันทำได้ ถ้ามันทำได้นะ
ฉะนั้น ถ้าเราจะมองกันตรงนี้ มองว่า ถ้าจิตเราตก จิตเราตกนะ เรารับไม่ได้ รับไม่ได้ ถ้าพูดถึงนะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมจริงๆ นะ อย่างเช่นสุนัข ถ้าเป็นสัตว์ตัวเมีย ภิกษุจับต้องไม่ได้ มันเป็นวัตถุอนามาส ภิกษุจับต้อง ต้องเป็นอาบัติทุกกฏอย่างต่ำ ถ้าสัตว์ตัวเมีย ถ้าสัตว์ เราจับไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเป็นสัตว์ตัวผู้ เราจะจับ เพราะว่าถ้าเลี้ยงแล้วมันเจ็บไข้ได้ป่วย เราต้องดูแลมัน เราต้องแก้ไขมัน เราจับได้หรือจับไม่ได้ นี่พูดถึงเอาวินัยเป็นตัวตั้ง ไม่ต้องบอกเลยว่าพระองค์นี้จะบรรลุธรรมแล้วไม่บรรลุธรรมแล้ว ต้องเอาวินัยเป็นตัวตั้งก่อน
ถ้าเอาวินัยเป็นตัวตั้ง ถ้ามันจับได้หรือจับไม่ได้ ภิกษุกักขังสัตว์ มันก็เป็นอาบัติ แล้ววัดที่เขาเลี้ยงหมาจรจัด เขาเลี้ยงหมาโดยทั่วไปเป็นร้อยๆ ตัว หลายๆ ร้อยตัว อันนั้นเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ
ถ้ามันเป็นอาบัติ อาบัติของเขา บอกว่าอาบัติมันเล็กน้อย แต่ชีวิตสัตว์ ชีวิตสัตว์หนึ่งมันไม่มีอยู่มีกิน ถ้ามันมีอยู่มีกิน เขาจะเลี้ยงมันเพื่อเอาบุญ เขามองกันตรงนั้นก็ได้ ถ้าเขามองตรงนั้น มันเรื่องของโลกเขาไง ถ้าเรื่องของโลกเขา ดูสิ เรื่องสาธารณะ เรื่องประโยชน์สาธารณะที่เราจะช่วยเหลือเจือจานกัน ประโยชน์สาธารณะ ถ้ามันเป็นไปได้ ใครทำได้มันก็เป็นประโยชน์กับเขา นี่เป็นเรื่องของทาน
ทีนี้พอเรื่องของทาน เราก็บอกว่าพวกเราต้องเมตตา สัตว์ เราต้องเมตตามัน เราก็มีเมตตามัน แต่เราต้องดูสมณสารูป เราเป็นอะไร เราเป็นอะไร
ถ้าโดยฆราวาสเขาทำกัน เขารับเลี้ยงสัตว์ เขาเลี้ยงสัตว์ดูแลสัตว์ ด้วยคนที่เขามาช่วยเหลือเจือจานกัน อันนั้นก็ด้วยเขาขวนขวาย เขาอยากได้ของเขา
แล้วถ้าจะเป็นพระ พระเขามีความคิดอย่างนั้นน่ะ นี่พูดถึงเอาวินัยเป็นตัวตั้งก่อน ถ้าเอาวินัยเป็นตัวตั้งปั๊บ เราก็มองของเรา เพราะว่าเขาบอกว่า เราก็เลี้ยงสัตว์เหมือนกัน แล้วมันมีปัญหามาก เพราะว่าเราเลี้ยงสัตว์แล้วมันเป็นภาระ ถ้ามันเป็นภาระแล้วเราจะทำอย่างใด แล้วถ้าไปวัด เขาทำอย่างนั้นแล้วเราจะไปทำบุญกับเขา
นี่เพราะเขาพูดมา เขาบอกว่า สิ่งที่จิตเขาตกนะ เขารู้สึกหดหู่ จิตเขาตกมาก ตกมากเพราะว่าอะไร เพราะว่ามันทำโดยที่เขาไม่เห็นด้วยไง เพราะว่าในวัดนั้นมันก็มีสุนัข แล้วมีสุนัขแล้วเขาบอกว่า “เวลาพระบิณฑบาตมา อาหาร บางทีสุนัขมันก็ไม่มีจะกิน บางวันโยมนำอาหารไปถวายพระแล้ว โยมก็ยังนำอาหารสำหรับสุนัขต่างหาก แยกไปฝากไว้ที่โรงครัวด้วยเช่นกัน”
เพราะจิตใจของคนมันแยกไม่ได้ มันแบ่งแยกไม่ได้ ดูสิ เราไปทำบุญกับพระได้ แต่ปล่อยให้สุนัข ปล่อยให้ทุกๆ อย่างมันหิวโหย เราก็ทำใจไม่ได้ แล้วเวลาผู้ที่มีธรรม ทำไมเขาเลี้ยงดูสุนัขของเขาเอานอนในห้องแอร์ แล้วสุนัขในวัดนั้นปล่อยให้มันอดๆ อยากๆ ใจเขาก็ตกเลย ใจเขารับไม่ได้ ถ้าใจเขารับไม่ได้ มันเป็นนานาจิตตัง สิ่งที่เป็นนานาจิตตัง สิ่งที่มันเป็นเรื่องโลกๆ นะ หนึ่ง มันเป็นโลกๆ แต่จิตเราตก ถ้าจิตเราตก ความดีแค่นี้ไง
ความดีของโยมที่โยมบอกว่าโยมก็เลี้ยงสุนัขเหมือนกัน แล้วที่เจ้าอาวาสเขาว่าเขาบรรลุธรรมแล้ว เขามีคุณธรรมในหัวใจ ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ โยมก็ต้องดูเอา แล้วถ้าดูเอา ถ้ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้หมายความว่าเรารับไม่ได้ เรารับไม่ได้ เราก็รักษาใจเราซะ
หลวงตาท่านสอนบ่อย ให้รักษาใจเรา นั่นเป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาทำของเขา เพราะว่ามันเป็นคำถามนี้มันขัดแย้งกันไง มันขัดแย้งกัน บอกว่า เพราะว่าพระองค์นี้สำเร็จแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
ถ้าบรรลุธรรมแล้ว เราตั้งเป้าไว้สูงส่ง ฉะนั้น เวลาเขาทำสิ่งใด เราเห็นแล้วมันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมมันก็เรื่องของเขา ถ้าเขาเป็นธรรม จิตใจเขาเป็นธรรม เขาทำได้ขนาดนั้นก็เรื่องของเขา แล้วเราแยกตัวเราออกมา เรารักษาหัวใจของเรา เพราะเราไม่สามารถที่เราจะไปให้ใครต้องมีจิตเมตตาเหมือนกัน แล้วคิดเหมือนกัน มันหายากมาก เพราะคนมุมมองมันแตกต่างกัน จริตนิสัยของคนมันแตกต่างกัน ถ้าจริตนิสัยของคนแตกต่างกัน เขาจะเลี้ยงของเขา เขาจะทำของเขา มันเรื่องของเขา ถ้ามันเรื่องของเขาใช่ไหม มันเรื่องของเขา แล้วเราเองเราจะต้องหาทางรักษาใจเราต่างหาก เพราะว่าถ้าทำไป จะคิดไปก็คิดไม่ได้ไง
เพราะเขาเขียนมา “ถ้าหากว่าท่านเจ้าอาวาสท่านสำเร็จแล้ว ท่านบรรลุธรรมแล้วจริงๆ ท่านก็อาจจะไม่มีอาบัติที่ไม่อาบัติอีกต่อไปแล้ว หรือท่านอาจจะพ้นไปจากบุญและบาปแล้ว แต่ตัวโยมต่างหากที่จะเป็นบาปจากจิตของตัวเองที่บังเอิญไปรับรู้ แล้วก็ไปคิดปรุงแต่งไปเอาเอง เป็นเหตุให้ไม่เหมาะไม่สมควร ไม่ใช่กิจอันควร ทุกวันนี้โยมยังไปวัดนี้อยู่ พบสุนัขตัวนั้น”
มันไปเห็นแล้วมันก็คิดอยู่อย่างนี้ ถ้ามันไปเห็น มันคิดอยู่อย่างนี้ เราทำใจเราเอง เพราะเขาก็บอกว่าเขาเป็นลูกศิษย์หลวงตาเหมือนกัน เพราะเขาย้ายมาอยู่จังหวัดนี้ เห็นหลวงตาเลี้ยงเหมือนกัน แต่เวลาเห็นหลวงตาเลี้ยง ทำไมโยมไม่ขัดใจล่ะ โยมไม่ขัดใจเพราะว่าถ้าเป็นความจริงมันไม่มีมารยาสาไถย
ครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่มีมารยาสาไถย ท่านทำ เห็นไหม เหมือนความไร้เดียงสา ไร้เดียงสาคือมันสะอาดบริสุทธิ์แบบไร้เดียงสาทางโลกนะ ทางโลกนี่ไร้เดียงสา แต่พระอริยเจ้าไม่ใช่ไร้เดียงสา ท่านมีสติปัญญาของท่าน แล้วท่านมีเมตตาของท่าน ท่านทำของท่าน บางทีมันมีเวรมีกรรมต่อกัน ท่านก็รักษาของท่าน ท่านดูแลของท่าน ท่านทำของท่านโดยไม่มีมารยาสาไถย ไม่มีมารยาสาไถย ท่านรับผิดชอบของท่านเอง
แต่ถ้ามันมีมารยาสาไถย มารยาสาไถยมันเอาสิ่งนี้มาเป็นสิ่งที่ความสัมพันธ์ไง เอาสิ่งนี้มาเป็นความสัมพันธ์เข้าไปหาญาติโยม เอาสิ่งนี้เป็นความสัมพันธ์ว่าต้องหาอาหารมาให้สัตว์ ต้องมาดูแลสัตว์ เอาสัตว์มาเป็นอย่างนี้ ถ้ามีมารยาสาไถยก็เอาสัตว์นี้เป็นข้ออ้าง
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านไม่มีมารยาสาไถยนะ มันเป็นภาระของท่าน มันเป็นเวรกรรมของท่านเอง เพราะท่านผูกพันของท่านเอง ท่านก็แก้ไขของท่านเอง มันไม่มีมารยาสาไถย
เราเห็นหลวงตาท่านก็เลี้ยงสุนัขเหมือนกัน ครูบาอาจารย์เราก็เลี้ยงสุนัขเหมือนกัน แต่ท่านเล่นของท่านด้วยไม่มีมารยาสาไถย ท่านเลี้ยงด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ มันทำแล้วมันไม่ขัดหูขัดตา
แต่ถ้าอย่างนี้มันขัดหูขัดตาใช่ไหม ถ้ามันขัดหูขัดตา เราบอกว่า ถ้ามันมีมารยาสาไถย มารยาสาไถยนี่มันรับรู้ได้ไง ดูสิ เด็กๆ คนที่รักมันจริงมันก็รับรู้ได้นะ อย่างสุนัข เราให้อาหารมัน มันเห็นคุณ มันจะซื่อสัตย์กับคนคนนั้นมาก มันจะซื่อสัตย์กับคนคนนั้นมาก
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่มีมารยาสาไถย มันทำแล้วเรารับได้ มันก็จบ ถ้าเรารับไม่ได้ ทิ้งเลย เรารับไม่ได้ มันมีมารยาสาไถย มันมีมารยาสาไถย เราก็วาง เพราะเราไม่ต้องการไปเอาเวรเอากรรมอันนั้นเพื่อมาให้จิตของเรา เขาบอกจิตตก ศรัทธาตกๆ
ศรัทธาตก เราทำบุญที่ไหนก็ได้ เวลามีคนเขาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราควรทำบุญที่ใด
ควรทำบุญที่เธอพอใจ
เพราะโดยธรรมชาติของเรา กิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรามันก็ครอบงำเราอยู่แล้ว มันตระหนี่ถี่เหนียวของมันอยู่แล้ว ถ้ามันมีความศรัทธาที่ไหน มันมีความเชื่อถือที่ไหน ให้ทำที่นั่น
ทีนี้ถ้าเอาบุญกุศลล่ะ
ท่านบอก ถ้าเอาบุญกุศล บุญกุศลต้องเอามาพูดกันใหม่แล้วว่าเนื้อนาบุญ
ถ้าเนื้อนาบุญ ถ้าเอาบุญที่ไหนเราก็เลือกเอา ถ้าเนื้อนาบุญที่นี่ เราทำของเราได้ เราก็ไป ถ้าเนื้อนาทำไม่ได้ เราก็ไม่ไป
เวลาสัตว์นะ มันเลี้ยงชีพมันด้วยอาหารของมัน เวลาพระเรา ถ้าเรามีวิชาชีพ เวลาพระปฏิบัติเขาก็มีคุณธรรม เขาแสวงหาคุณธรรม
แต่ถ้ามันเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพด้วยศรัทธาด้วยความเชื่อ เลี้ยงชีพด้วยสัตว์เลี้ยง เลี้ยงสัตว์แล้วต้องใครมาทำบุญกุศล จะเลี้ยงชีพอย่างไรล่ะ นี่มันเป็นการเลี้ยงชีพไง
ถ้าสมณะเรา เวลาเราบวชมาแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านบวชมาแล้ว นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นิสสัย ๔ ทำอย่างนี้ ๔ อย่าง สิ่งที่ทำไม่ได้เลย ๔ อย่าง แล้วจะทำอะไร
เขาจะเลี้ยงชีพด้วยคุณธรรมในหัวใจ ถ้าเลี้ยงชีพด้วยคุณธรรมในหัวใจ ครูบาอาจารย์ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้นำ ท่านต้องทำตัวท่านเป็นตัวอย่าง เรื่องการเลี้ยงสัตว์มันแยกกันไม่ได้ พอมันแยกกันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นผลของวัฏฏะ มันมีเวรมีกรรมต่อกัน ถ้ามีเวรมีกรรมต่อกันนะ ดูสิ เวลาคนรักนะ คนรักสุนัขก็รักมาก คนที่ไม่ชอบสุนัขก็ไม่ชอบเลย ไม่ชอบ จะต่อต้านเลย เห็นไหม จิตใจคนไม่เหมือนกัน
แต่ทีนี้พอไม่เหมือนกัน เราต้องสัมพันธ์กับเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงมีวินัยไง สัตว์ เราจะสัมพันธ์กับมันได้มากน้อยขนาดไหน นี่พูดถึงวินัยนะ วินัยแล้วแต่คนจะเข้มงวดกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ถ้าความเข้มงวดกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ไอ้เรื่องการกระทำมันก็ทำ มันจะมีระยะห่าง
เราบวชมา ครูบาอาจารย์ท่านบวชมาทำไม ท่านบวชมา ท่านสำเร็จแล้วท่านมาทำไม ท่านจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านจะมาเทศนาว่าการ ท่านจะมาเอาคน
เวลาคน เราต้องดูแลคน แล้วสัตว์ล่ะ เราจะดูแลสัตว์ไปอีกระดับหนึ่งใช่ไหม ถ้าดูแลสัตว์อีกระดับหนึ่ง มันก็มีชีวิตเหมือนกัน เราก็ต้องดูแลเหมือนกัน ถ้าดูแลเหมือนกัน ถ้าไม่มีมารยาสาไถย เขาก็ดูแลสุดความสามารถของคน
คนมีบารมีนะ มันมีปัจจัยเครื่องอาศัยที่จะดูแลสัตว์ได้อิ่มหนำสำราญ คนที่ไม่มีบารมี ตัวเองก็ยังทุกข์ๆ ยากๆ เลย แล้วจะเอาปัจจัย ๔ ไปบำรุงสัตว์ มันก็หาได้ยาก แต่ถ้าคนมีมารยาสาไถย เขาเอาสัตว์นั้นเป็นข้ออ้าง เอาสิ่งนั้นเพื่อหาปัจจัย ๔ เพื่อสัตว์นั้น เห็นไหม เลี้ยงชีพด้วยอะไร
ถ้าเลี้ยงชีพด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัย เรามีรัตนตรัย เรามีแก้วสารพัดนึก เราเลี้ยงชีพหัวใจเราด้วยอย่างนี้
ถ้าคนมันมีมารยาสาไถยเขาเอาสัตว์มาเลี้ยงชีพ เอาสัตว์มาเป็นข้ออ้าง เอาสัตว์มาเป็นความสัมพันธ์ นี่การเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพโดยกิเลสไง นี่พูดภาษาเรานะ ฉะนั้น เราพูดโดยหลักเลย
แล้วตอนนี้กลับมาที่ตัวผู้ถาม ผู้ถามว่า โยมจิตตก เสียศรัทธา เสียศรัทธาหมดเลย แล้วยังต้องไปทำบุญที่วัดนี้ เพราะได้รับการฝึกฝนมา เป็นลูกศิษย์กรรมฐาน แล้วโยมจะแก้ไขจิตใจของโยมอย่างไร นี่เขาถามนะ
ถ้าจิตใจมันหดหู่ หดหู่เพราะว่าเราเอามาตรฐานของเราไง มาตรฐานของเรา เพราะเราก็รักสัตว์เหมือนกัน เขาเขียนว่าเขาก็เลี้ยงสัตว์เหมือนกัน เวลาเขาจะไปต่างจังหวัด เขาต้องเอาสัตว์ไปฝากไว้ที่สำนักรับเลี้ยงสัตว์ มันเป็นภาระไปหมด แล้วทำไมท่านเอาภาระมาใส่ตัวท่าน ทำไมท่านเป็นพระที่ว่าท่านบรรลุธรรมแล้ว แต่ทำไมท่านคิดไม่ได้ แต่โยมคิดได้
“โยมหาทางแก้ไขจิตของตนอย่างไรเจ้าคะ”
ถ้าโยมหาทางแก้จิตของเรา เรามองสิ่งที่ว่าเราเห็นว่าเป็นแง่บวกที่เราจะมองได้ ตรงนั้นเรายกไว้ให้เป็นเหมือนกับผู้ที่เป็นจำเลย ศาลยังไม่ตัดสิน ถือว่าจำเลยนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจำเป็นต้องไปอย่างนั้น สิ่งที่เรามองว่าเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนั้นในเมื่อเราตัดสินของเราไม่ได้ ในเมื่อศาลยังไม่ตัดสิน เขาถือว่าผู้นั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ก็ยกให้เขา ยกให้เขา รักษาใจเรา
ทีนี้คนเรามันมีมาตรฐาน มาตรฐานว่า เราเองยังเป็นภาระขนาดนี้ แล้วเวลาท่าน ท่านจะเป็นภาระขนาดไหน ทำไมท่านหาภาระใส่ตัว เราไปแบกรับแทนท่านไง ถ้าเราไปแบกรับแทนท่านก็ยกไว้ ยกไว้
นี่พูดถึงการเลี้ยงสุนัข เพราะโดยส่วนมากพระเลี้ยงกันเยอะมาก แล้วเราได้ยินเอง มีโยมมาพูดให้ฟัง พูดกับเราอยู่นี่บอกว่า “หลวงพ่อ เขาบอกว่าวัดไหนเลี้ยงหมาฝรั่ง อย่าไปวัดนั้น”
แล้วหลวงพ่อก็เลี้ยงเหมือนกัน แต่เขาไม่เห็น เพราะเราเลี้ยงอยู่หลังวัด
มีคนมาหาเรา แล้วพูดกับเรา “หลวงพ่อ พวกเพื่อนๆ เขาบอกนะ วัดไหนเลี้ยงหมาฝรั่ง อย่าไปวัดนั้น เพราะเลี้ยงหมาฝรั่งถือว่าฟุ่มเฟือย เพราะต้องไปซื้อหมาฝรั่งมา แล้วยังต้องซื้ออาหารหมามาเลี้ยงมันอีก หลวงพ่อ วัดไหนเลี้ยงหมาฝรั่งนะ เขาอย่าให้ไปวัดนั้น เพราะวัดนั้นฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์” เขาพูดกับเรานะ เขาไม่รู้ว่าเราก็เลี้ยง อยู่หลังวัดเราก็มี
ไอ้นั่นก็เรื่องของเขา ถ้าเขาพูดของเขา เห็นไหม เราเลี้ยงของเราเพราะว่า ไอ้ปุ้ม ไอ้ปุ้ยของหลวงตานี่นะ เขาเอามาให้หลวงตา พอให้หลวงตาแล้วมันดุ มันไปกัดคนอื่น แล้วไปให้ใคร ใครก็รับเลี้ยงไม่ได้ แล้วเอาไว้ที่อื่นมันอาจจะเสียชีวิต เรารับเลย เรารับเลี้ยงแทนเลย ร็อตไวเลอร์ เรารับเลี้ยงแทนหมด
ไอ้ปุ้ม ไอ้ปุ้ย รับของหลวงตาที่สวนแสงธรรม เรามาเลี้ยงไว้ เพราะไม่อยากให้ใครทำร้ายมัน เพราะมันพ้นจากคนอื่นไป ถ้าคนมันเป็นภาระ เขาก็ทำร้ายมันซะ เราเอามาเลี้ยง เลี้ยงมันไป เลี้ยงให้มันจนกว่ามันจะตายไป
ฉะนั้น สิ่งที่ได้มา เราก็ได้มาด้วยว่าสงสารมัน สงสารเพราะเราคิดว่าคนที่เอามา เอามาให้พระโดยไม่ได้คิดเลยว่า ถ้าหลวงตาเลี้ยง ท่านเลี้ยงลาบราดอร์ เลี้ยงพวกนี้มันไม่กัดคน ร็อตไวเลอร์มันกัด พอร็อตไวเลอร์กัด หลวงตาท่านพูดเองว่ามันไม่ได้แล้วนะ มันจะกัดคน ให้เอาออกไป แล้วไม่มีใครดูแลมันไง
เวลาเราไปเอามา เราก็ไม่คิดหรอกว่าพันธุ์ไหนมันดุ พันธุ์ไหนมันเข้ากับคนได้ แล้วสุดท้ายแล้วมันก็กัดจริงๆ เราเอามาเลี้ยงไว้ มันยังกัดพระเลย พระให้อาหารมัน มันยังกัดเลยนะ ไอ้ปุ้ยกัดเลย
แต่กัดแล้วเราก็ค่อยๆ ดูแลมัน เพราะเราคิดว่ามันเสียใจ คือคนไปรังแกมัน คนที่รังแกมัน มันฝังใจ จิตใจมันเลยระแวง ฉะนั้น มันต้องค่อยๆ ดูแล ดูแลไป อันนี้ออกตัวแทนพระแล้วนะ ตอนนี้ออกตัวแทนพระแล้วล่ะ มันก็มีบาปมีกรรมของคนไป ทีนี้เราพูดเองไง
“ทุกครั้งที่โยมมาวัดนี้จะพบที่วัดเขาเลี้ยงสุนัขหลายตัว ทั้งเพศผู้ เพศเมีย”
ไอ้นี่ว่ากันไปนะ ทีนี้เรารับผิดชอบของเรา นี่พูดถึงว่าพระเลี้ยงหมา แล้วทำให้โยมจิตตก ถ้าโยมจิตตกแล้วเราก็ต้องย้อนกลับมาที่พระ ย้อนกลับมาที่พระ ถ้าพระ ถ้าจิตใจของโยมนานาจิตตัง มุมมองของเขาแตกต่างหลากหลายไป มันก็ต้องให้สมควรไง ถ้าสมควรแก่การกระทำก็จบนะ นี่พูดถึงการเลี้ยงชีพ ถ้าคนจะเลี้ยงชีพ
เพราะหลวงตาท่านพูดบ่อย เริ่มต้นเวลาพระไปหาท่าน จะลาไปไหน ท่านบอกว่า “งานของตนทำให้จบก่อน งานของตนทำให้จบก่อน”
จะทำอะไร หน้าที่ของตัว งานส่วนตัวทำให้จบ แล้วงานอื่นจะทำสิ่งใดมันก็ทำได้ ถ้างานของตนยังไม่จบ ต้องเอางานของตนก่อน แล้วนี่เที่ยวไปรับผิดชอบเรื่องอื่นๆ มันเป็นภาระไปหมดนะ นี่พูดถึงว่าเลี้ยงชีพด้วยทางโลก
เลี้ยงชีพหัวใจ เลี้ยงทั้งทางธรรม ถ้าทางธรรมจบแล้วจบเลย ถ้าทางธรรมจบแล้ว ทำอะไรก็เป็นประโยชน์หมดแหละ แล้วพอมันจบแล้ว ดูสิ เขาก็เขียนมาว่า หลวงตาก็เลี้ยง ทำไมมันไม่ขัดหูขัดตาเลย เขาก็อยู่นั่นน่ะ นี่ถ้ามันไม่มีมารยา มันจบนะ ถ้ามีมารยา มันไม่จบ ไม่จบแล้วมันเป็นแบบนั้นน่ะ
ฉะนั้น เลี้ยงชีพแล้วเลี้ยงธรรม เลี้ยงหัวใจ ทำให้สมควรแล้วกัน นี่มันเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ภิกษุกับอุบาสก อุบาสิกา เราเป็นบริษัท ๔ เราเป็นศาสนทายาท เราร่วมกันดูแลศาสนา แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันมั่นคง ทำให้มั่นคง ทำให้จิตใจของบริษัทอบอุ่น จิตใจของบริษัท
เห็นไหม ถ้าภิกษุทำศรัทธาไทยให้ตกล่วงเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ศรัทธาไทยคือความเชื่อของเขา ต้องทำให้มั่นคง อย่าทำให้มันคลอนแคลน ทำให้คลอนแคลน เราทำด้วยความจริงใจของเรา
เราเองเราก็โลเล พอโลเล เราทำสิ่งใดไปด้วยมารยาสาไถย โลกเขาเห็นเขาก็โลเล พอโลเลขึ้นไปมันก็เลยไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งอาศัยเลย
ฉะนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เลี้ยงหัวใจด้วยมรรคด้วยผล เลี้ยงหัวใจของเรา ทำประโยชน์ตรงนี้ แล้วเรื่องอย่างอื่นมันเป็นเครื่องอยู่อาศัย มันเป็นเครื่องอยู่อาศัย มันเป็นปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น
อาศัย เห็นไหม มีวิหารธรรมเพื่อสิ้นสุด รอเวลาจะสิ้นสุดแห่งชีวิตนี้เท่านั้น แล้วถ้ามันสิ้นสุดแห่งชีวิตนี้ ก่อนจะสิ้นสุดชีวิต เป็นเนื้อนาบุญของโลก เขาได้เป็นที่พึ่งอาศัย เขาได้ความอบอุ่นใจ นี่พูดถึงการเลี้ยงชีพ
ถาม : เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ”
กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมากที่เมตตาตอบคำถามเรื่องจิตสับสน กลัว เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๗ เรื่อง “ไม่รู้จักจิต” เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มากๆ เป็นสิ่งมีค่าทางสมาธิปฏิบัติ
ตอบ : ถ้ามันมีค่าก็ให้ถือสิ่งนั้นแล้วปฏิบัติต่อเนื่องไป ไอ้ความกลัว ความต่างๆ ไอ้ความวิตกกังวลต่างๆ เวลาปฏิบัตินี่หญ้าปากคอก ในการปฏิบัติ หลวงตาท่านสอนอยู่บ่อย บอกว่า การปฏิบัติมันจะเริ่มต้นยากตั้งแต่คราวเริ่มต้น คราวเริ่มต้นคราวหนึ่ง กับคราวที่จะสิ้นสุดนั้นคราวหนึ่ง
ทีนี้คราวเริ่มต้นมันยาก มันหญ้าปากคอก เราไม่รู้ว่าเราจะเลือกกินตรงไหนก่อน ไม่รู้จะเลือกใช้ประโยชน์ตรงไหนก่อน แล้วมันหญ้าปากคอก มันจับจดไปหมด ฉะนั้น สิ่งใดๆ หลวงตาท่านถึงเตือนไว้ แล้วเราเอาข้อนี้มาพูดย้ำแล้วย้ำอีก เห็นไหม ไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ ไม่เสีย
เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะเสียนะ หลวงตาท่านกำลังเร่งความเพียรของท่าน ท่านรำพึงรำพันกับหลวงปู่มั่นว่า ถ้าครูบาอาจารย์ท่านจากไปแล้ว เราจะพึ่งพาอาศัยใคร
หลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้เลย “ไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ จะไม่เสีย”
นี่ก็เหมือนกัน เราอย่าทิ้ง มันจะเกิดขึ้นสิ่งใด หญ้าปากคอก อะไรจะเกิดขึ้นมามันสับสนไปหมดแหละ เราพุทโธของเราไว้ เราพุทโธไว้ มันจะมีความกลัว ความต่างๆ เราพุทโธของเราไว้ พุทโธของเราไว้ พอจิตมันสงบแล้วมันราบรื่น มันมีความสุขของมัน แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันใช้ไม่ได้ กลับมาพุทโธต่อ เรายังเดินไม่ได้ เรายังเดินไม่ได้ เรายังก้าวเดินไปไม่ได้ เราพุทโธต่อ
เด็ก เด็กเวลาคลอดมาแล้วมันต้องก้าวเดินของมัน มันต้องวิ่งของมัน มันต้องเดินของมันได้ แต่ถ้ายังเดินไม่ได้มันก็อาศัยคลานไปก่อน อาศัยแถไปก่อน กระเถิบไปก่อน
นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรายังแก้ไขอะไรไม่ได้ ให้ทำตรงนี้ไว้ อย่างที่ว่าถ้ามันสับสน เราถึงพยายามพูดให้มันมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ จับตรงนี้ไว้ ถ้ามันเป็นประโยชน์กับการภาวนา ก็พูดเพื่อประโยชน์ไง ก็พูดเพื่อภาวนาไง ก็พูดเพื่อบริษัท ๔ เพื่อผู้ที่จะก้าวเดินต่อไป จับหลักอันนี้ได้ ให้มันเป็นประโยชน์ ให้มันเป็นประโยชน์ตอนนี้
จิตนะ เวลามันฟัง มันยอมฟังมันก็ว่าเป็นประโยชน์ ประเดี๋ยวพอมันดื้อมันด้านขึ้นมานะ ไอ้ประโยชน์ๆ มันโยนทิ้งเลย แล้วมันไปกว้านอะไรมาเผาใจอีกแล้ว
ฉะนั้น อย่าทิ้งผู้รู้ ถ้าจิตมันยอมรับ มันก็เป็นประโยชน์ มันยอมไง ถ้าวันไหนมันดื้อ วันไหนมันดื้อ มันไม่ยอมขึ้นมา ไอ้ที่เป็นประโยชน์ๆ มันไม่เป็นประโยชน์อีกแล้ว “หลวงพ่อวันนั้นพูดดีเลย วันนี้ทำไมพูดไม่เอาไหนเลย”
ก็อันเดียวกันนั่นแหละ เพราะจิตใจมันต่อต้าน เวลาจิตใจมันต่อต้านนะ มันต่อต้านเพราะกิเลสมันต่อต้าน มันต่อต้านก็พุทโธ พุทโธสู้กับมัน พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เห็นไหม
ไม่ทิ้งพุทโธ ไม่ทิ้งผู้รู้ เวลาอะไรจะเกิดขึ้น ยึดหลักอันนี้ไว้ ต่อสู้อันนี้ไว้ ถ้ามันเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติ
เขาบอกว่า “มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย พุทโธๆ มันไม่มีปัญญา”
มันไม่มีปัญญา มันใช้กำลัง มันใช้ความศรัทธาต่อสู้กับไอ้ความดื้อด้านของใจเราเอง คนอื่นเขาจะมีประโยชน์อะไรกับเรา ใครทำมาหากินขนาดไหน เขาก็ได้ประโยชน์ของเขา ใครภาวนาดีของเขาก็ได้ภาวนาดีของเขา ใครล้มลุกคลุกคลานก็เรื่องของเขา แล้วเราล่ะ เราล่ะ เราเวลามันดีมันก็ดี เวลามันดื้อมันก็เป็นแบบนี้ ดื้อมันก็ อ้าว! พุทโธซะ พุทโธซะ เห็นไหม มันมีที่เกาะ มันมีที่ไป เหมือนกับมีพ่อมีแม่คอยเลี้ยงดูแล ลูกมีพ่อมีแม่คอยดูแล มันจะมีสิ่งใดมันก็มาปรึกษาพ่อแม่ มีอะไรที่ยังสงสัยก็มาปรึกษาพ่อแม่
นี่ก็เหมือนกัน เรามีพุทโธ มีศาสดาประจำใจของเรา แล้วเรามีความกลัว เรามีอะไรเราก็กลับมาหาพุทโธของเราซะ เราอยู่กับพุทโธของเราไป
เขาบอกว่ามันโง่ มันไม่มีปัญญา
เออ! ไม่มีปัญญานี่แหละมันไม่เสีย ไอ้มีปัญญา ปัญญาเห็นแถไถลไปไหนแล้วก็ไม่รู้
อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ มันไม่เสีย เอาตรงนี้ไว้ ถ้ามันเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์มากๆ ก็พูดเพื่อประโยชน์ไง ที่พูดก็พูดเพื่อประโยชน์นะ
ถาม : เรื่อง “ใจเป็นปกติแล้วค่ะ”
กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ ขณะนี้ทุกอย่างกลับเป็นปกติแล้วค่ะ ลูกสามารถกลับมาทำสมาธิได้โดยที่ไม่ติดแล้วค่ะ และไม่มีอาการที่เคยเล่าให้ฟังแล้วค่ะ ลูกนอนได้แล้ว หลับสบายได้แล้ว ฉะนั้น ขณะที่พยายามจะคว้าสิ่งต่างๆ มา แต่ลูกพยายามให้นึกถึงคำว่า “พุทโธๆ” อยู่ตลอดไปค่ะ
ตอบ : เขาทำได้แล้ว เขาเป็นประโยชน์แล้ว ก็เป็นประโยชน์มาก เพราะว่าเขาเขียนมา อันนี้เขาเขียนมาบอก “การเลี้ยงชีพ” การเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย เลี้ยงชีพด้วยคำข้าว เราเลี้ยงชีพของเราด้วยคำบริกรรม เราเลี้ยงชีพของเราด้วยสติปัญญา ถ้าเราเลี้ยงชีพด้วยสติปัญญา ถ้าเราเลี้ยงชีพด้วยสติปัญญา มันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นปัญญาขึ้นมา
ฉะนั้น สิ่งที่คำถามมานี่เหมือนกัน ล้มลุกคลุกคลานมา ล้มลุกคลุกคลานมาก็หาที่พึ่ง หาที่พึ่ง เราก็พยายามทำของเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เราได้ที่พึ่งแล้ว เราหาของเรา ได้ประโยชน์แล้วเราเอาที่พึ่งของเรา
แล้วที่พึ่งเราอย่าทิ้ง ใครจะพูดอย่างไร ใครจะภาวนาอย่างไร เขาภาวนา เขามีเหตุผลสิ่งใด เขามีความจริงอะไรมาเป็นเครื่องยืนยัน สิ่งที่เขาพูดกันทางโลก ทางโลกเขาพูดกันด้วยทฤษฎี ด้วยโลกียปัญญา เขาไม่รู้ตัวของเขานะ คนที่มีปัญญามากๆ โดยเป็นสัญญา สัญญา สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง
สิ่งที่เขาว่าเป็นปัญญามันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกคือจำ คือค้นคว้า มันไม่เป็นปัญญาทางธรรม
ถ้าเป็นปัญญาทางธรรม เราพุทโธๆ ถ้ามันทำจิตสงบเข้ามาได้ ถ้าจิตมันสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาๆ ปัญญาที่มันเกิดขึ้น ปัญญามันจะแยกแยะ มันถอดถอน อันนี้เป็นปัญญาโดยธรรม ปัญญาโดยธรรมมันเป็นธรรมโอสถ มันเป็นธรรมจักร มันฟาดฟันกิเลส มันผ่อนถ่ายออกไป แล้วพอมันจบสิ้นกระบวนการของมันเป็นอกุปปธรรม คือมันคงที่ตายตัว
แต่ไอ้พวกสัญญา พวกที่ว่าบอกว่า เราใช้ปัญญาไปเลย เรามีปัญญา เรามีการปฏิบัติกันอยู่นี่ เรามีความรู้ของเรา เรามีปัญญามากๆ ปัญญาที่เราค้นคว้ากันอยู่นี่...ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันไม่ผิด มันไม่ผิดหมายความว่า จุดเริ่มต้นของเรา เราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมาเป็นคนนะ แล้วมีสามัญสำนึกรับรู้ถึงว่าคนมันมีกายกับใจ แล้วเวลาเราทำงาน ทำงานประกอบอาชีพ ทำงานด้วยน้ำมือของเรา มันเป็นการทำงานทางโลก แล้วเวลาผู้จัดการ ผู้อำนวยการบริษัทต่างๆ เขาใช้ปัญญาของเขา ปัญญานั้นเป็นโลกียะ การบริหารจัดการ แต่เวลาบริหารจัดการมันเป็นเรื่องโลกๆ เกิดจากจิต เกิดจากตัณหาความทะยานอยาก เกิดจากกิเลส
แต่เวลาทำความสงบของใจ พุทโธๆ จิตมันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามาแล้วนะ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอันนี้ต่างหาก ปัญญาอันนี้ต่างหากที่ว่ามันเป็นปัญญา แต่โลกเข้าใจไม่ได้ เขาก็บอกว่าเขาใช้ปัญญาของเขา ปัญญาการบริหารจัดการ โลกเขาบริหารจัดการหน้าที่การงานของเขา การบริหารจัดการในงานของเขา
แต่เวลาปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นปัญญาที่บริหารจัดการความคิด เอาความคิดมาเรียงให้เข้าที่เข้าทาง พอเข้าที่เข้าทาง มันสงบระงับขึ้นมา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ
แม้แต่ปัญญาทางโลก ปัญญาที่คิดกันมันเป็นปัญญา แล้วเอาปัญญาอย่างนั้นมาเป็นปัญญา แล้วเขาก็บอกว่าสิ่งที่เราทำกันนี่มันไม่เป็นปัญญา เราเลยไม่กล้าพุทโธกันไง หนึ่ง พุทโธแล้วจิตมันไม่ใช้ปัญญา พุทโธเป็นสมถะ พุทโธไม่เป็นประโยชน์
แต่เพราะพุทโธนี่ไง เพราะพุทโธ เห็นไหม “จิตกลับมาปกติแล้วค่ะ นอนได้แล้วค่ะ” แต่ก่อนนอนไม่ได้เลย มันฝัน มันรู้มันเห็นอะไรจนตกอกตกใจไปทั่ว แล้วก็จะภาวนาต่อเนื่องไป นี่ดีนะ ถ้าไปเจอสำนักปฏิบัติที่เขาบอกว่า ต้องแก้อย่างนั้น ต้องแก้อย่างนี้ แก้ไปแก้มา แก้จนลิงแก้แห แก้ไม่ตกเลย
การแก้ง่ายๆ เลย พุทโธ กลับมาพุทโธ เชือกมันเส้นเดียวเลย จบแล้ว ไม่ต้องไปแก้ที่ไหนเลย ไม่ต้องไปลิงแก้แห ทิ้งเลย พุทโธอย่างเดียว กลับมาพุทโธๆ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบระงับแล้วนะ มันจะถูกต้องดีงาม
ถ้าใจมันยังไม่สงบมันก็ทุกข์ยากอย่างนี้ ทำใจของเราให้ดี นี่พูดถึงเริ่มต้นตั้งแต่ว่าเรื่องโลกๆ
เขาบอกว่า คำถามนี้ไม่ใช่ปัญหาภาวนา แต่มันเป็นปัญหาที่ว่าไปพบไปเห็น
เราไปพบไปเห็นนี่ระดับของทาน
ปัญหาที่ ๒ แก้ความสับสน ถ้าจิตมันสับสนแล้วกลับมาเป็นประโยชน์กับการภาวนา เห็นไหม นี่จะเลี้ยงหัวใจแล้ว แล้วถ้าปฏิบัติแล้วจิตมันปกติแล้วค่ะ ถ้าปกติแล้ว เราก็มั่นคง จิตของเรามีจุดยืน มันไม่โลเล ไม่ตื่นเต้นไปกับกระแสโลก แล้วเราทำของเรา
กระแสโลกมันรุนแรงนะ ยิ่งสังคมมันมีการส่งเสริมกัน มีการสัมพันธ์ มีประชาสัมพันธ์ การชักนำกันไปหมดนะ
เวลาพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะจะชวนสัญชัยมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง
“โลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก” สัญชัยถามพระสารีบุตร “โลกนี้มีคนโง่มาก ถ้าเธอจะไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่กับผู้ฉลาดมันมีน้อย เราจะอยู่กับคนโง่”
แต่นี่ในมุมกลับกัน ในปัจจุบันนี้ ในแนวทางปฏิบัติในชาวพุทธเรา คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ถ้าคนฉลาดมาก มันก็ต้องรู้อะไรผิดอะไรถูกสิ แต่นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ ไปไหนมา สามวาสองศอก พุทโธไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ถ้ามันเถลไถลไปน่ะได้ เถลไถลไปถลอกปอกเปิก ล้มลุกคลุกคลานไปได้
แต่เพื่อความสงบของใจ เพื่อความสงบระงับ เพื่อเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมา เพื่อมีจุดยืนของใจบอกทำไม่ได้ แต่ถ้ามันล้มลุกคลุกคลานไปนะ ถลอกปอกเปิกไปนะ ไม่ได้อะไรมาเลย มันบอกว่าได้ อย่างนั้นน่ะดี ไม่รู้ว่าคนโง่หรือคนฉลาด
ฉะนั้น เวลาบอกพุทโธ มันว่าคนโง่ ไม่มีปัญญา พุทโธไม่มีปัญญา แต่ถ้ามันถลอกปอกเปิกให้เขาหลอกให้เขาลวง ให้เขาล้วงกระเป๋าไป นั่นน่ะคนฉลาด
คนฉลาดทำตัวอย่างนั้นหรือ คนฉลาดมันต้องมีจุดยืนสิ คนฉลาดมันต้องเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราสิ มันต้องอยู่ด้วยความสงบระงับได้ มันต้องมีความสุขในใจ มันต้องมีจุดยืนสิ แล้วจุดยืนมันเกิดจากไหนล่ะ ก็เกิดจากพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เอวัง