เทศน์บนศาลา

โลกนอกโลกใน

๗ ก.ย. ๒๕๔๗

 

โลกนอกโลกใน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต. คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้รู้แจ้งทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน โลกนอกและโลกในนะ แต่เราเกิดมา เราเกิดมาเห็นแต่โลกนอก โลกในเราไม่เคยเห็น “โลกใน” โลกนะ โลก จักรวาลมันก็เป็นโลก สิ่งที่ว่าเป็นวัฏฏะนี้ก็เป็นโลก

โลกนี้เกิดขึ้นมาจากใคร? เกิดขึ้นมาจากจิตปฏิสนธิ จิตปฏิสนธิเกิดมามันถึงแสดงตัว ถ้าจิตไม่ปฏิสนธิออกมา จิตมันอยู่สภาวะของมัน บุญกุศลนะ ถ้ามีบุญมีกุศลจะเกิดอยู่บนเทวดา บนอินทร์ บนพรหม ก็สภาวะแบบนั้น ถ้าสภาวะตกนรก ตกนรกตกอเวจีนั้นก็เป็นสภาวะของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นจะแสดงตัวไง แสดงตัว นี่โลกใน ไม่มีใครเคยเห็นนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมรู้ทั้งโลกนอกและโลกในนะ โลกภายนอก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ นี่แสวงนะ ต้องทำบุญกุศลมหาศาลเลย ทำบุญกุศลมาก สละชีวิตนะ สละชีวิต สละทุกอย่างเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์รื้อสัตว์ขนสัตว์ จะเป็นผู้ที่เสียสละทุกอย่าง เสียสละเพื่อโพธิญาณ

แม้แต่ชาติสุดท้าย เกิดเป็นพระเวสสันดรก็ต้องเสียสละ เสียสละเพราะว่าวัฏฏะมันพามาอย่างนั้นอยู่แล้ว พามาคือบุญกุศลพาส่ง เกิดเป็นพระเวสสันดร แล้วกัณหา ชาลีก็มาเกิดเป็นบุตร ชูชกก็เกิดมา เกิดมาเพื่อเป็นขอทาน เกิดมาเพื่อจะมาขอลูกขอหลานของพระเวสสันดร เห็นไหม ทำไมมันพอดิบพอดีเป็นอย่างนั้น เพราะวัฏฏะหมุนไป สิ่งที่วัฏฏะหมุนไป บุญกุศลพาไป บาปอกุศลก็พาจิตนั้นไป จิตนี้แล้วแต่บุญกุศลหรือบาปอกุศลพาไป

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ธรรมนั้นยังไม่เกิด

พระเวสสันดร ขณะเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร ธรรมก็ยังไม่มี ธรรมที่สูงสุดชาติสุดท้ายของการเกิด เกิดมาเพื่อสร้างทานบารมี ชาติสุดท้ายเพราะไม่มีธรรม แต่การสละกัณหา ชาลี สละนางมัทรี สละทั้งหมด สละเพื่อทาน ทานเพื่อต้องการปรารถนาโพธิญาณ

ถึงขนาดว่าทำทานบุญกุศลขนาดนั้น เพราะศาสนาไม่มี มีแต่ลัทธิความเชื่อต่างๆ ฤๅษีชีไพรก็มีความเชื่ออย่างนั้น ทำไมพระเวสสันดรเข้าป่าล่ะ เวลาโดนไล่ออกจากราชวัง เข้าป่าไป เข้าป่าไปบำเพ็ญตนเหมือนฤๅษี ดำรงชีวิตด้วยผลไม้ในป่า สิ่งที่อยู่ในป่า สิ่งนี้ลัทธิความเชื่อมีอยู่ สภาวะความเป็นจริง ธรรมมีอยู่ แต่ไม่มีใครสามารถเข้าถึงสภาวะแบบนั้นได้

จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พอเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ใครพาเกิดล่ะ จิตปฏิสนธิตัวนั้นพาเกิด จิตของเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดมาแล้วเสวย...มีความสุขเพราะบุญกุศลพามานะ ขนาดว่าบุญกุศลพามาขนาดนั้น เพราะว่าถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าทำบุญกุศลสร้างมาขนาดนี้ต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน

อัญญาโกณฑัญญะ เวลาพยากรณ์ พยากรณ์หน้าเดียวเลยว่า “เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน” เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน แต่พราหมณ์ทั้ง ๘ พยากรณ์เป็น ๒ ว่า “ถ้าอยู่ในคฤหัสถ์จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าออกบวชจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เห็นไหม นี่โลกเป็นแบบนั้น

โลกนอก ในเมื่อศาสนายังไม่มี โลกนอกก็เรื่องเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังไม่มีอะไรแน่นอนหรอก มันแปรสภาพของมันไปเป็นอย่างนั้น สิ่งที่แปรสภาพ โลกนี้เคลื่อนไปตลอด จิตนี้ก็เคลื่อนไปตลอด มันถึงเป็นวัฏวนสภาวะแบบนั้น

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น ออกประพฤติปฏิบัติ เวลาออกบวช...เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย อำนาจวาสนานะ ขณะที่ว่าธรรมไม่มี ธรรม สภาวะความจริงมีอยู่ แต่สภาวธรรมที่ว่าให้การแสวงหา คือเครื่องมือหายังไม่มี สิ่งที่เครื่องมือหายังไม่มี เห็นไหม เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันยังสะเทือนใจได้นะ

สะเทือนใจว่า “เราก็ต้องเป็นอย่างนี้หรือ”

เราก็ต้องเป็นแบบนี้ เราเกิดมาแล้วขณะนี้ยังเป็นหนุ่มอยู่ ชีวิตเราก็ต้องแก่ไป ต้องตายไป สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะการสร้างเป็นพระโพธิสัตว์มา สิ่งนี้มันสะเทือนใจ เห็นสภาวะแบบนี้ก็สะเทือนใจ แต่เราเห็นกันจนชินหูชินตานะ มันสลดสังเวช พอสลดสังเวชเพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เราศึกษา เราศึกษาในปัจจุบันนี้ แต่สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ สิ่งนี้ไม่มี

มันสะเทือนใจ พอมันสะเทือนใจ “ถ้าสิ่งนี้มี มันต้องมีสิ่งที่ตรงกันข้ามสิ สิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย”

ถ้าเป็นความคิดอย่างนี้นะว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ฝั่งตรงข้ามมันต้องมีอยู่ เป็นความคิดอย่างนี้แก้กิเลสไม่ได้หรอก เพราะแก้กิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสมันเป็นความขับดันของอวิชชา มันเป็นความขับดันของพญามารที่ควบคุมใจนั้นอยู่นะ ใจดวงนั้นมีพญามารควบคุมสิ่งนี้อยู่ ความคิดว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก มันเป็นความสลด มันเป็นความสังเวช เป็นพื้นฐานที่ให้เจ้าชายสิทธัตถะออกแสวงหา

“เราจะต้องแสวงหาสิ่งที่ตรงข้าม”

พอดีราหุลเกิด พอราหุลเกิด ไม่กล้านะ ไม่กล้าไปดูนะเพราะอะไร เพราะมันสะเทือนใจมาก เวลาเป็นพระเวสสันดร สละกัณหาชาลี ก็สะเทือนใจมาก เพราะชูชกตีนะ ตีต่อหน้าเลย ขอแล้วก็ตีต่อหน้า เพราะต้องการอำนาจ ต้องการผูกมัด ดึงนั้นไป แล้วตีต่อหน้า ตีต่อหน้า จนลืมตัวนะ ชักพระขรรค์เหมือนกัน

แต่สติทัน สติทันถึงได้เสียบสิ่งนี้กลับไปว่า “เราปรารถนาโพธิญาณใช่ไหม” สิ่งนี้มันสะเทือนใจ

นี่เหมือนกัน เวลาจะออกบวช เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ราหุลเกิดแล้วไม่กล้าไปดู เพราะกลัวจะต้องติดตรงนั้น สิ่งที่ไปเห็นแล้วมันจะทำให้หัวใจเราหวั่นไหว แล้วเราจะออกไม่ได้หรอก สละสิ่งนั้นเลย ไม่ไปดูเลย สละออกจากราชวังนะ ไปค้นคว้า พยายามไป...ออกประพฤติปฏิบัติ ออกจากกษัตริย์ สิ่งที่ออกจากกษัตริย์ ชีวิตมีความสมบูรณ์พอสมควร สมควรนะ แต่เวลาออกไปแล้วศาสนายังไม่มี จะต้องไปใช้ชีวิตแบบนักพรต แสวงหาสิ่งนั้น พยายามค้นคว้าสิ่งนั้น

โลกนอก สิ่งที่เป็นเรื่องของโลกนอกเพราะเราเกิดมาในโลก ทั้งๆ ที่ว่าภูมิประเทศ คนมีบุญมาเกิด สิ่งที่คนมีบุญมาเกิด สิ่งนี้พร้อมแล้วจากเจ้าชายสิทธัตถะจะออกประพฤติปฏิบัติ แต่การแสวงหา เห็นไหม ในลัทธิต่างๆ เขาพยายามประพฤติปฏิบัติกัน ก็ต้องไปหาสิ่งนั้นเป็นเครื่องชี้นำ ไปหาสิ่งที่เป็นเครื่องชี้นำเพื่อจะให้เราประพฤติปฏิบัติ ให้เราง่ายเข้ามา พยายามค้นคว้าอย่างนั้นตลอดไป เขาทำขนาดไหนก็ทำกับเขานะ นี่โลกนอก สิ่งที่เป็นโลกนอกนะ

ถ้าโลกในล่ะ โลกในมันก็เรื่องของหัวใจไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับ อาฬารดาบส นี่เข้าสมาบัติได้ สิ่งที่เข้าสมาบัติได้ สิ่งที่เขาทำได้มันจะมีความมหัศจรรย์มาก เวลาเข้าสมาบัตินะ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สิ่งนี้มันเข้าไป จิตเวลาเข้าไปมันมีความสุขมาก มันทำให้ติดได้ ทำให้คนประพฤติปฏิบัติ แล้วเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมได้

ทำไมเขาประพฤติปฏิบัติแล้ว เขาเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมล่ะ

แต่เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธสิ่งนี้นะ ปฏิเสธเพราะอะไร เพราะมันเป็นโลกนอกเหมือนกันไง เป็นโลกนอกเพราะเป็นอาการของใจ มันไม่ใช่ใจ มันเป็นอาการของเขาต่างหาก มันแก้กิเลสไม่ได้เพราะมันไม่ใช่มรรค สิ่งที่ไม่ใช่มรรค ถึงสละสิ่งนี้ออกมา สละสิ่งนี้ออกมา เห็นไหม ไม่เชื่อ แล้วออกค้นคว้าเอง มากำหนดนะ เวลาจะได้มรรคได้ผล ทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก อานาปานสติกำหนดดูลม ให้ดูลมให้จิตมันสงบเข้ามา จิตนี้สงบเข้ามาๆ สงบเข้ามาพร้อมกับสติสัมปชัญญะ

ถ้าเป็นฌาน เป็นสมาบัติ จิตนี้สงบเหมือนกัน แต่มันมีพลังงานของมัน พอมีพลังงานของมัน เรามีความสุข มีความพอใจกับสิ่งนั้น ถ้าเรามีความสุข มีความพอใจกับสิ่งนั้น มันพอใจเพราะอะไร เพราะมีตัวตน มีเราอยู่ มีเรา มีความรู้สึกอยู่ สัมผัสอยู่ สัมผัสสิ่งนั้นก็พอใจสิ่งนั้น ถ้าพอใจสิ่งนั้น ก็ยึดสิ่งนั้นว่าเป็นเราๆ ความว่างไง ว่างอันนี้เป็นธรรม เป็นธรรม มีเรา มีตัวตน มันยึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างนั้น นี่โลกนอกนะ

ถ้าโลกในล่ะ “รู้แจ้งโลกนอกและรู้แจ้งโลกใน” รู้แจ้งโลกใน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ตั้งสติพร้อมไป เวลาจิตสงบเข้ามา นี่จิตส่งออก สิ่งที่ส่งออกไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกอดีตชาติมหาศาลเลย สาวไปขนาดไหนก็ไม่มีสิ้นสุด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พุทธวิสัย” จะไม่มีใครเสมอเหมือนนะ จะไปได้ไกลขนาดไหนมันไม่มีที่สิ้นสุด ดูจิตสิ เวลาข้อมูลเก็บไว้ในหัวใจ สัญญาต่างๆ ที่มันเก็บไว้ สาวไปไม่มีสิ้นสุด ถึงว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ โลกนอก โลกนอก เวลาย้อนกลับ กลับเข้ามาที่ใจก่อน ย้อนกลับมาที่ภวาสวะ ที่ภพ ที่ฐานของใจ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกให้จิตละเอียดเข้ามา จุตูปปาตญาณ รู้เวลาสัตว์เกิดเป็นอย่างไร ก็ไม่ใช่

จนมาทำลายถึงที่สุดนะ ทำลายถึงตัวอวิชชานะ ทำลายอาสวักขยญาณ อาสวักขัย อาสวะสิ่งที่เป็นความสกปรกโสมมของใจ โลกในเกิดเกิดตรงนี้ไง

“รู้แจ้งโลกนอกและรู้แจ้งโลกใน”

รู้แจ้งโลกในเพราะรู้เรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ ปัจจยาการของมัน มันเห็นสภาวะของมันขนาดนั้น มันทำลายออกหมด เวลาทำลายออกหมด ขณะที่ทำลายอวิชชากับวิชชา เห็นไหม วิชชาคือเห็นตามความเป็นจริง อาสวักขยญาณเกิดขึ้น วิชชาเกิดขึ้น วิชชาความเห็นถูกต้องเกิดขึ้น ทำลายโลกในนะ ทำลายโลกในจนทำใจนี้ให้สะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม ถ้ารู้แจ้งทั้งโลกนอก รู้แจ้งทั้งโลกในจะไม่เป็นความเสียหาย

แต่พวกเรา เราประพฤติปฏิบัติ เรารู้แจ้งแต่โลกนอก ถ้าเราจะเรียนศึกษา เราเรียนปริยัติขนาดไหน มันจะเป็นเรื่องโลกนอกนะ โลกเขาเจริญรุ่งเรืองขนาดไหน เขามีความเจริญของเขา โลกนั้นเรื่องวัตถุ นี่เจริญขึ้นมาเพราะอะไร เพราะวิทยาศาสตร์ เพราะมนุษย์ผู้ที่มีปัญญา เวลาธรรมชาติบีบคั้น ธรรมชาติบีบคั้น

สมัยโบราณเราก็ทำการเกษตรกรรมกันทั้งนั้น แต่เวลาเขาคิดเครื่องจักร เครื่องจักรไอน้ำได้ โลกพัฒนาไปได้ยุคหนึ่ง เวลามีเครื่องจักรไอน้ำจะมียุคอุตสาหกรรม เวลายุคอุตสาหกรรมก็ยุคหนึ่ง ขณะที่ว่ายุคอุตสาหกรรมขึ้นมา มีความตื่นเต้นมาก เพราะเรามีเครื่องทุ่นแรงมาก ชีวิตเราจะเจริญมาก แล้วในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเจริญขึ้นมาอีกยุคหนึ่ง ยุคไอทีต่างๆ โลกเจริญมาก เราก็จะส่งเสริมให้เจริญ สิ่งที่มีความเจริญของโลก โลกจากภายนอก

เราไม่เข้าใจเรื่องโลกนอกและโลกใน เราจะเป็นเหยื่อของโลก

เราเกิดขึ้นมากับโลกเพราะจิตใจเราเป็นโลก ถ้าจิตใจเราไม่เป็นโลก จะไม่มีการเกิด เพราะถ้าจิตใจเราเป็นธรรม ธรรม สภาวธรรมไม่มีพลังงานขับไส ถ้าสภาวธรรมไม่มีพลังงานขับไสสิ่งนี้จะเกิดไม่ได้ เวลาพระอรหันต์ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์แต่ก่อนๆ มา นิพพานไปแล้วจะไม่เกิด ไม่เกิดอีกเลย แต่จิตดวงนั้นก็มีอยู่ แต่ดับหมดแล้ว รู้แจ้งทั้งโลกนอกและโลกใน แต่ขณะที่ว่ายังเกิดอยู่นี้เป็นโลกทั้งหมด สิ่งที่เป็นโลกเพราะอะไร

หัวใจกับร่างกายนี้เกิดมาสัมพันธ์กัน สิ่งที่สัมพันธ์กันมันเป็นธรรมชาติ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เวลามีธาตุ ๔ คือร่างกายของเรา ดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งที่เป็นธาตุของเรา เป็นธาตุ ๔ แล้วขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือ ความคิด แต่มันมีโลกในซ้อนอยู่นะ โลกในคือตัวจิตปฏิสนธิมันมีสภาวะของใจ มีธาตุของธาตุรู้อยู่ ถ้าธาตุรู้อยู่พลังงานอันนี้มันส่งออกมาข้างนอก ออกมารับรู้ต่างๆ มันเป็นเรื่องโลกนอกและโลกใน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมก่อน รู้แจ้งโลกในก่อน แล้วรู้แจ้งโลกนอกด้วย แล้ววางศาสนาไว้ วางศาสนาให้เราก้าวเดินตามศาสนานั้น แต่เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เวลาเราเรียนปริยัติต่างๆ เราเรียนวิชาการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็กล่าวตู่ เรากล่าวตู่นะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมของเรา เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วมันเกิดปัญญา ความเป็นปัญญา ความเข้าใจของเรามันจะเกิดมาก เวลาเกิดมากมันจะซึ้งมาก มันจะมีความพอใจมาก มันจะมีความสุขมาก มันจะปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เข้ามาได้มหาศาลเลย ยิ่งปล่อยวางขนาดไหนมันก็ยิ่งทำให้ตัวตนนะ ให้ทิฏฐิมานะนี่มันสูงขึ้นมากขึ้น

การศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อจะให้ชำระกิเลส แต่เวลากิเลสมันอยู่ในหัวใจ ศึกษาเล่าเรียนมามันก็เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ว่าเป็นธรรมของตัวเราเอง ทั้งๆ ที่เป็นโลกนอกทั้งหมด สิ่งที่เป็นโลกนอก โลกนอกคืออาการของใจ ไม่ใช่ตัวใจ สิ่งที่เป็นตัวใจ สุตมยปัญญาคือการศึกษาเล่าเรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราศึกษาเล่าเรียนมา เราใคร่ครวญของเราเป็นจินตมยปัญญา จะเกิดภาวนามยปัญญามันต้องเกิดภาคปฏิบัติ

“คันถธุระ” คือการปกครอง สิ่งที่ปกครอง ปกครองแล้วเป็นคนดี ทำคุณงามความดี ปกครองแล้วจะเป็นสิ่งที่ดี

“วิปัสสนาธุระ” ถ้าวิปัสสนาธุระ วิปัสสนานี่ภาคปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ เกิดจากภาคปฏิบัติ ถ้าไม่มีการปฏิบัติ มันจะทำลายโลกในเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจะมีภาคปฏิบัติ มันจะทำลายโลกใน ถ้าทำลายโลกใน มันจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับศาสนา

ถ้าศาสนา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำลายโลกในก่อน พอทำลายโลกใน เวลาเผยแผ่ธรรม ยสะกับสหาย กับปัญจวัคคีย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้นะ พระ ๖๐ องค์ ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย พ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์และพ้นจากบ่วงที่เป็นโลก พระ ๖๑ องค์ เริ่มเผยแผ่ศาสนามาเพราะพ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์และพ้นจากบ่วงที่เป็นโลก

แต่ถ้าเราติดสภาวะของทิพย์ คือติดสภาวะของโลกในของเรา เราไม่ได้ปฏิบัติ แล้วเราทำลายกิเลสของเราไม่ได้ มันจะติดบ่วงทั้งทิพย์และติดบ่วงทั้งโลกเพราะอะไร เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันจะขับดัน ขับดันให้ใจดวงนี้แสวงหา แสวงหาเพื่อมันๆ มันจะทำลายทั้งโลกนอกและโลกใน ทำลายไปทั้งหมดเลย แต่ถ้าผู้มีคุณธรรมนะ...

เวลาศึกษาปริยัติมา เขาเป็นฝ่ายปกครอง เขาเผยแผ่ศาสนา เผยแผ่ศาสนาในทางโลก นักวิชาการจะมีปัญญาขนาดไหน กิเลสมันพาปัญญานั้นใช้เป็นประโยชน์นะ ปัญญาที่มันมีกิเลสที่เป็นตัวตนของเรา มันติดสภาวะโลกในที่เรามองไม่เห็น มันจะใช้สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับมัน สิ่งที่เป็นประโยชน์กับมัน เราทำคุณงามความดี เราเผยแผ่ศาสนาเพื่อเป็นประโยชน์กับโลก เวลาเราดับขันธ์ไป เราก็เกิดบนสวรรค์ เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม

ถ้าเราทำความชั่ว ทำชั่วทำบาปอกุศลเพราะอะไร เพราะเราเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราอ้างอิงว่าเป็นธรรมของเรา แล้วเราเอาความคิดความเห็นของกิเลสบวกเข้าไปเวลาเราเผยแผ่ธรรมทางวิชาการ เวลาวิชาการจะวิเคราะห์วิจัยขนาดไหนนี่เป็นวิชาการ ใครจะทำอย่างไรก็ได้ คิดตามวิชาการไปไง ถ้าทำตามวิชาการก็คิดตามวิชาการ มันก็เอากิเลสนี้บวกเข้าไปๆ แล้วเวลาทางวิชาการ ทางโลกเขาจะให้คุณงามความดีนะ ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นของใหม่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าไม่เคยมีใครคิดค้นคว้าได้

ปัญญาสาวกะ-สาวกเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเท่ากับกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัยนี้เป็นอจินไตยนะ สิ่งที่เป็นอจินไตย ๔ เรื่องพุทธวิสัย เรื่องกรรม เรื่องฌาน แล้วเรื่องของโลกเป็นอจินไตยที่ไม่มีใครสามารถคาดการได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำลายกิเลสในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากโลกใน ทำลายอันนี้แล้วและวางศาสนาไว้ สิ่งนั้นต่างหากสะอาดบริสุทธิ์ที่สุด ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

แต่พวกเราสาวกสาวกะ เราเอาสิ่งนี้มาเป็นทางวิชาการกัน แล้วเราตีความกัน นี่มันจะห่างไกลออกมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้า ออกมาเรื่อยๆ เพราะปัญญาของสาวกะไม่สามารถเทียบกับปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แน่นอน ว่าโลกเจริญ การเผยแผ่ธรรม การศึกษาเป็นสิ่งที่เจริญ เจริญ เจริญที่ไหนล่ะ? เจริญในหัวใจของกิเลสตัณหาความทะยานอยากสิ

เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยาก ในสมัยพุทธกาลนะ ชาวประมงในนครราชคฤห์ เขาไปทำประมง เขาจับปลาได้เป็นปลาทองคำ สิ่งที่เป็นปลาทองคำพอจับขึ้นมา เพราะสังคมเขาแคบ เขาบอก “ถ้าเราเอาไปมันจะเป็นโทษได้” ถึงต้องเอาไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร เวลาไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร ปลานี้อ้าปากในท้องพระโรง เหม็นไปหมดเลย

พระเจ้าพิมพสารเป็นพระโสดาบันนะ ไม่เข้าใจสิ่งนี้ แต่คิดในใจว่าจะไม่มีใครเข้าใจเรื่องนี้เลย เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงได้เอาปัญหานี้ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เป็นเพราะเหตุใด ปลานี้เกล็ดถึงเป็นทองคำเลย แล้วเวลาอ้าปากออกมาปากนี้เหม็นมาก”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ปลาตัวนี้เคยเป็นพระ เคยเป็นพระ เป็นเกจิ เป็นอาจารย์ แล้วสั่งสอน เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อน แล้วเผยแผ่ธรรม เวลาเริ่มต้นก็เผยแผ่ธรรมในความถูกต้อง แต่เพราะมีกิเลส มีตัณหาความทะยานอยากของตัว เวลาแสดงธรรมออกไปก็บวกความเห็นของตัวเข้าไป นี่กล่าวตู่ไง กล่าวตู่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวกจากกิเลสความเห็นของตัวเข้าไป เวลาตายจากชาตินั้นไปนะ ตกนรกหมกไหม้ในอเวจี ตกนรกหมกไหม้ขึ้นมาตลอด จนพ้นจากนรกอเวจีขึ้นมาๆ มาชาติสุดท้ายมาเกิดเป็นปลานะ เกิดเป็นปลาเพราะอะไร เพราะพ้นจากนรกขึ้นมา เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดซ้ำเกิดซากในนรกอเวจีนั้น

ที่ว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “โลกนอก” ถ้ามีกิเลสตัณหาจะทำให้ติดบ่วงไง บ่วงของนรก บ่วงของทิพย์ ถ้าผู้ที่ทำคุณงามความดีติดบ่วงของทิพย์นะ บ่วงของทิพย์จะให้จิตดวงนี้ได้บุญได้กุศลเพราะอะไร เพราะเราเผยแผ่ธรรม ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สามารถทำลายโลกในได้ ไม่สามารถเห็นกิเลสอวิชชาได้ เพราะไม่ทำภาคปฏิบัติ ถ้าภาคปฏิบัติย้อนกลับเข้ามา

แล้วเวลาพระเจ้าพิมพิสารถามว่า “แล้วเกล็ดทองคำนี้เป็นเพราะเหตุใด”

เกล็ดทองคำ เวลาเราบวช เราห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นี่ธงชัยพระอรหันต์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าธงชัยพระอรหันต์โบกสะบัดไง เห็นสมณะ ในมงคล ๓๘ ประการ “เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง” สมมุติสงฆ์บวช เวลาบวชพระขึ้นมา จีวร สังฆาฏิ นี่ธงชัยของพระอรหันต์ ได้บวชเป็นพระเป็นสงฆ์แล้วทำคุณประโยชน์ เกิดเป็นเกล็ดทองคำ แต่เพราะว่ามีกิเลสมีตัณหา ใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิดเบือน ตกนรกอเวจี เวลาเกิดเป็นปลาแล้ว เกิดเป็นปลานี้ปากก็ยังเหม็นอีก ขนาดเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนะ นี่บ่วงของโลกที่เป็นบ่วงของทิพย์ และบ่วงของโลก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เข้าใจเรื่องโลกนอกและโลกในทั้งหมด แต่เวลาเกิดเหตุ เวลาเกิดเหตุญาติข้างพ่อและญาติข้างแม่แย่งน้ำทำนากันนะ ต้องการน้ำทำนาเพราะน้ำไม่มี ต้องการเอาน้ำทำนาแล้วเกิดมีปัญหา ถึงเกิดยกทัพเข้าจะต่อสู้กันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ทั้งโลกนอกรู้ทั้งโลกใน ไปห้ามนะ ห้ามญาติฝ่ายพ่อและห้ามญาติฝ่ายแม่ว่าอย่าทำสงครามกัน

ตั้งปัญหาธรรมถามนะว่า “ชีวิตกับน้ำอันไหนมีคุณค่ากว่ากัน?”

แย่งน้ำนี่ แย่งน้ำเอามาทำนากับเกิดสงครามเกิดการประหัตประหารกัน ชีวิตของคนกับน้ำสิ่งใดมีคุณค่ากว่า

ญาติบอกว่า “ชีวิตมีคุณค่ากว่า” เห็นคุณค่ากว่า ได้สติ เลิกรากันไป สิ่งที่เลิกรากันไปนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาห้ามถึง ๒ หนนะ แต่เรื่องของกรรม ถึงที่สุดแล้วก็ต้องทำสงครามกัน ประหัตประหารกัน นี่เรื่องของโลกนอกนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจทุกอย่าง สิ่งนี้มันยังแก้ไขไม่ได้เลย

แล้วเราจะส่งเสริม ส่งเสริมความเจริญของพระพุทธศาสนา ส่งเสริมในการประพฤติปฏิบัติ ส่งเสริมในการศึกษาเล่าเรียน ส่งเสริมเพื่อเผยแผ่ธรรม นี่เราส่งเสริม เราคิดว่าเราส่งเสริม แต่เวลาเราวางธรรม กติกา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ภาคปริยัติ ศึกษาเล่าเรียนในภาคปริยัตินี้ ศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อให้ทรงธรรมทรงวินัยไว้นะ

ทรงธรรมอย่างเปลือกๆ ทรงธรรมแบบโปฐิละ ทรงธรรมแบบใบลานเปล่าก็ทรงไว้เพราะอะไร เพราะต้นไม้มีกระพี้ มีเปลือก มีแก่น แต่ในแก่นของต้นไม้นั้น ถ้าสิ่งนี้คลาดเคลื่อนไป ถ้าธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคลาดเคลื่อนไป นี่วัฏฏะ สิ่งที่วัฏฏะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นพระเวสสันดร ชาติสุดท้ายเกิดเป็นพระเวสสันดร สร้างคุณงามความดีมหาศาลเลย เพราะสละทั้งลูกสละทั้งเมีย สละให้ชูชกทั้งหมดเลย แล้วมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ

สิ่งที่ส่งเสริมมานี้เป็นอะไรล่ะ? สิ่งที่ส่งเสริมมาคือคุณงามความดี คือสิ่งที่ว่าสร้างเป็นพุทธภูมิส่งมา แล้วพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อดีตชาติชาติหนึ่งเคยเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเห็นอัครสาวกทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ถึงปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา แล้วทำบุญกุศลมานะ สิ่งที่ทำบุญกุศลสร้างสมมา แต่สาวกะ-สาวกสร้างบุญกุศลมา สิ่งนี้สร้างมาโดยพื้นฐาน

แต่ถ้าเป็นอัครสาวก เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องปรารถนา แม้แต่เป็นมารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องปรารถนา ในเมื่อปรารถนาแล้วสร้างบุญกุศลมาเพื่อสิ่งนี้ ถ้าธรรมวินัยจะไม่ไปขัดกับสิ่งนี้ไง จะมาตั้งแต่การปรารถนา แล้วสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาเป็นอัครสาวก ต้องสร้างบุญกุศลอย่างนี้มา

แล้วมาถึงชาติปัจจุบัน พอมาชาติปัจจุบันเกิดมาแล้วก็ยังเกิดในคหบดี พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเกิดเป็นบุตรของคหบดี ยังเพลิดเพลินอยู่ในโลก ไปฟ้อนรำที่ไหนก็ไปหาเขา ไปเล่นกับเขา สิ่งที่ไปเล่นกับเขา เพลินอยู่อย่างนั้นไง จนเบื่อหน่าย จนเบื่อหน่าย

นี่สิ่งที่สร้างสมมาถึงกาลถึงเวลา อินทรีย์แก่กล้า สิ่งที่เกิดแก่กล้า ออกแสวงหาไง ไปอยู่กับสัญชัย เรียนได้เหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส เห็นไหม สิ่งนี้ก็ปฏิเสธ แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะไปเรียนกับสัญชัยแล้ว “ไม่ใช่ ความรู้สึกนี้ก็ไม่ใช่ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เรื่องของโลกนี้ไม่ใช่ทั้งหมดเลย” นี่โลกนอก

แล้วเอาความเห็นจากโลกนอกไปจับกับความเห็นจากภายนอก มันก็เป็นความเห็น

ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีครูมีอาจารย์แล้วประพฤติปฏิบัติตรงตามธรรมตามวินัย เราจะเข้าถึงสัจธรรมนะ ถ้าเราปฏิบัติ ไม่ตรงธรรมตรงวินัย พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไปเรียนกับสัญชัย จนเข้าใจตามทฤษฎีของสัญชัยทั้งหมด แต่ก็ชำระกิเลสไม่ได้ เหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะอยู่กับอาฬารดาบสเลย ได้สมาบัติ ๘ แล้วกิเลสมันก็ทำลายไม่ได้

ความเป็นเห็นจากโลกๆ จากภายนอก ถ้าเห็นโลกจากภายนอก วนอยู่ตามอาการของใจ อยู่กับอาการของใจ อยู่กับโลกภายในหัวใจ แล้วเอาสิ่งนี้มาเป็นทิฏฐิเป็นมานะ ถ้ามีกิเลสแล้วยึดสิ่งนี้เป็นทิฏฐิเป็นมานะ

อาฬารดาบสบอกกับเจ้าชายสิทธัตถะเลย “อยู่กับเราเพื่อจะสอน ให้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาได้ เพราะมีความรู้เสมอเรา” นี่ได้รับการรับรองจากอาฬารดาบสอยู่แล้ว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องการสิ่งนั้น เพราะความรู้สึกของเรามันมี โลกในมันมี โลกในมันมีความเศร้าหมอง มันมีความรู้สึกของมัน มันมีความทุกข์ของมัน เห็นไหม ถึงออก ต้องแสวงหาเอง

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็เหมือนกัน สัญชัยสอนขนาดไหน จนสัญญากันนะ สัญญากันว่า “ถ้าเราไปเจอครูเจออาจารย์ ใครเจอครูบาอาจารย์ก่อนต้องมาบอกกันนะ” พระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิ การเคลื่อนการไหวไปของพระอัสสชินี้มีความสงบเสงี่ยมมาก มีความสงบเสงี่ยม มันแสดงออกมาจากใจ ถ้าใจเป็นธรรม การเคลื่อนไหวนั้นออกมามันจะเป็นธรรม ถ้าใจเป็นกิเลส การเคลื่อนไหวออกมามันก็เป็นกิเลส เพราะการเคลื่อนไหว

เวลาพระประพฤติปฏิบัติ ความเศร้าหมอง อยู่กับความเศร้า รูป เสียง ความเศร้า สิ่งนี้ทำให้คนติดได้ สิ่งนี้เอาสิ่งนี้มาเป็นตัวดึงดูด เรื่องของโลก เรื่องการแสวงหา เรื่องการติดบ่วงของโลก ติดบ่วงของทิพย์ แต่พระอัสสชิไปตามธรรมชาติของพระอัสสชิ พระสารีบุตรเห็นแล้วมีความเลื่อมใสมาก พอมีความเลื่อมใส เข้าไปกราบ ถาม ขอฟังธรรม

พระอัสสชิบอก “เราเป็นคนบวชใหม่”

นี่พระอรหันต์ รู้แจ้งทั้งโลกนอกรู้แจ้งทั้งโลกใน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้วว่าพระ ๖๐ องค์ รวมพระอัสสชิด้วย พ้นจากบ่วงของโลกนอกและโลกใน พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ จะเผยแผ่ธรรมไป แต่ก็มีความมักน้อยถ่อมตนนะ อ่อนน้อมถ่อมตนเพราะผู้มีธรรม

ถ้าผู้มีธรรมเรื่องความเป็นในหัวใจมันไม่มีทิฏฐิ ไม่มีมานะ ไม่มีความอหังการที่จะไปทำลายกัน มันมีความอหังการต่อเมื่อบันลือสีหนาท ถ้ามันบันลือสีหนาทมันมีความอหังการว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง ความจริงก็คือความจริงในหัวใจนั้น ถ้าความเป็นจริงในหัวใจนั้นจะต้องแสดงธรรมโดยความถูกต้อง ถ้าแสดงธรรมโดยความถูกต้องมันจะเป็นธรรมตลอดไป เห็นไหม ต้องเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย ถ้าสร้างสัจจะความจริงอันนี้ เข้าไปเห็นโลกในแล้วทำลายกิเลสในโลกในนี้ มันจะเป็นสัจจะอย่างนั้น

พระอัสสชิบอกกับพระสารีบุตร “เราเป็นผู้บวชใหม่”

“ถ้าผู้บวชใหม่แสดงธรรมเล็กน้อยก็ได้”

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า ผลคือธรรมทั้งหลายนี้มาแต่เหตุ ต้องย้อนไปที่เหตุแล้วทำลายที่เหตุนั้น”

พระสารีบุตรมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาเลย พระสารีบุตรเริ่มแสงสว่างจากใจเปิดขึ้น แต่โลกในยังทำลายไม่ได้ ไปบอกพระโมคคัลลานะ ไปบอกพระโมคคัลลานะว่า “ธรรมทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายเกิดมา มาแต่เหตุ”

มาแต่เหตุ มาแต่อดีต มาในปัจจุบันนี้ แล้วก็จะไปอนาคต ธรรมวินัยนี้ถึงจะไม่ขัดกับสิ่งนี้

แต่ถ้าเราเอาความเห็นของเรา เราจะให้โลกนี้เจริญ ความเห็นของเรา จะสร้างให้เจริญในวัตถุก็ได้ จะให้เจริญในศาสนพิธีก็ได้ ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนบุคคล นี้เป็นศาสนทายาท แต่ถ้าทายาทโดยเปลือกก็คุ้มครองพุทธศาสนาไว้

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี้เป็นตัวแก่นของศาสนา ในเมื่อตัวแก่นของศาสนานี่เราบวชมา เราจรรโลงสิ่งนี้มาสืบต่อกันมา สืบต่อกันมาในประเทศไทยเรา บางคราวในสมัยอยุธยา ถ้าพระไตรปิฎกไม่ครบ ขอมาจากลังกา ลังกาขอมาจากประเทศต่างๆ ที่ว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน จนเรียบเรียงมาให้มันครบ ครบพระไตรปิฎกเป็นธรรมและวินัย ถ้าเรายึดสิ่งธรรมวินัยนี้เป็นแบบเป็นแผนมันจะไม่ขัดข้องกับอดีต ไม่ขัดข้องกับปัจจุบัน ไม่ขัดข้องกับอนาคต

แต่ถ้าเราเอาเรื่องของกิเลส เอาเรื่องของการพัฒนา การเจริญรุ่งเรืองของโลก เราจะเปลี่ยนแปลงโลกนะ เราชาวพุทธศาสนาต้องการให้โลกมีความร่มเย็นเป็นสุข อยากให้โลกนี้มีความร่มเย็นเป็นสุข จะเผยแผ่ศาสนาไป เผยแผ่ศาสนาไปด้วยบ่วงที่เป็นทิพย์ ถ้าเป็นบุญกุศล ถ้าเผยแผ่ด้วยซื่อสัตย์กับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ถ้าเผยแผ่ไปจากความเห็นของตัว เผยแผ่โดยกิเลสตัณหานะ มันจะติดบ่วงของทิพย์ ติดบ่วงของโลกด้วย พอติดบ่วงของโลก เห็นไหม ทำบาปอกุศลจะเกิดนะ เกิดในนรกอเวจี เกิดในสิ่งต่างๆ เกิดในการกระทำอันนั้น สิ่งที่สร้าง สร้างก็เป็นประโยชน์ในเมื่อตัวเองมีกิเลสอยู่ ไม่เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การแสวงหานี้มันถึงว่าศาสนาจะเจริญ

ครูบาอาจารย์ของเราเวลาออกประพฤติปฏิบัติไม่มีครูมีอาจารย์เหมือนกัน ในยุคปัจจุบันนะ กึ่งพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ในพระไตรปิฎก “กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่ง” แต่จะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่งก็ต้องมีผู้ที่มาบุกเบิก

สิ่งที่เป็นธรรมวินัยนี้เป็นสิ่งที่เป็นตัวหนังสือ เวลาเราอ่านพระไตรปิฎก เราเอากิเลสก็อ่านด้วย เพราะเราอ่านจากความรู้สึกของเรา เราก็ตีความไปตามความเห็นของเรา นี่โลกนอกไง แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ เดี๋ยวนี้สำนักประพฤติปฏิบัติต่างๆ เวลาประพฤติปฏิบัติเอาความสงบเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา

ปล่อยวางเท่านั้น มันไม่เป็นมรรคหรอก สิ่งที่เป็นมรรค มรรคญาณมันจะเกิด มันจะทำลายโลกในอย่างไร ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปขนาดไหน ยิ่งสร้างทิฏฐิ ยิ่งสร้างมานะ ยิ่งสร้างความเห็นนะ ยิ่งปฏิบัติขนาดไหน ยิ่งห่างธรรมห่างวินัยออกไปเรื่อยๆ ห่างธรรมห่างวินัยจนเป็นฤๅษีเป็นชีไพรนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธจากอาฬารดาบส สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ เขามีสมาธิด้วย เป็นพลังงานของใจด้วย แล้วเขายังระลึกอดีตชาติได้ กาฬเทวิล ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด เขาระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ เห็นไหม เขารู้มาก่อน สิ่งนี้เขารู้มาแล้ว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธนะ

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราก็จะไปไพล่เอาสิ่งที่เป็นความปล่อยวางเข้ามาให้เป็นความว่าง เป็นความว่าง ความว่างอย่างนี้มีสติไหม ถ้าความว่างอย่างนี้มีสติ มันจะเข้าไปเห็นจากโลกใน ถ้าเห็นจากโลกในนะ เราต้องกำหนด เวลาเรากำหนด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีสมาธิถึงจะมีปัญญา ปัญญาในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติมันจะเกิดปัญญาของเรา ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ นั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราว่าเราเรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเพื่อเป็นธรรม

มันกลับไปติดบ่วง มันกลับไปติดบ่วงของโลกในหัวใจ บ่วงคือขันธ์ ๕ สัญญา ความจำได้ หมายรู้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งที่เราจะต้องทำลายโลกใน แต่เรากลับไปติดบ่วงของมันเอง เราไปสร้างสิ่งที่ตัวตนของเราให้มีทิฏฐิมานะสูงขึ้น สูงจรดฟ้านะ เรารู้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปหมด เวลาพูดธรรมะ โอ้โฮ! พูดออกมา ออกมาจากสัญญาทั้งหมด พูดได้หมดเลย

แต่ไม่สามารถชำระกิเลสได้แม้แต่ตัวเดียว ไม่สามารถทำความสงบของใจ ไม่สามารถเห็นสติว่ากำหนดจิตเข้ามาให้สงบอย่างไร ไม่เคยเห็นภวาสวะ ไม่เคยเห็นภพ ไม่เคยเห็นสถานะของกิเลสที่มันเกิดดับในหัวใจอย่างไร เห็นแต่ความเป็นไปของโลกไง ในเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น มีความทุกข์ความสุขเกิดขึ้น แล้วเราตั้งสติเข้าไป มันจะปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา

โดยสัจจะความจริง โลกนี้เป็นอนิจจัง ความเห็นของเราก็เป็นอนิจจัง แต่ที่สภาวธรรมที่เป็นอนัตตาเราไม่รู้จักไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป สิ่งใดๆ ในโลกนี้ สิ่งต่างๆ เป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สิ่งที่เป็นอนิจจัง เราเห็นเป็นอนิจจัง เราก็จะพัฒนามัน เราจะสร้างสมบุญญาธิการ สิ่งที่เป็นอนิจจัง เราจะสร้างให้มันคงที่ จะสร้างให้มันรุ่งเรือง ต้องการกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ต้องการศักดิ์ศรี ต้องการคุณงามความดี เห็นไหม กิเลสมันพาทำน่ะ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราประพฤติปฏิบัติ ทำลายหัวใจของเรา เราทำลายกิเลสนะ ไม่ใช่ให้กิเลสออกหน้า ให้กิเลสขับไส ถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไหน จนเราได้การรับรองจากสำนักใดก็แล้วแต่ว่าเรามีความรู้มีความเข้าใจ

มันจะเกิดทิฏฐิ จะเกิดมานะ เกิดความเห็นของตัวว่าตัวเองเป็นผู้รู้ ตัวเองเป็นผู้ที่เข้าใจ แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็ไม่ฟังความเห็นของเขานะ ว่าสิ่งนั้นเพราะอะไร เพราะมันไม่ตรงกับความเห็นของตัว สิ่งที่เป็นความเห็นของตัว เป็นความจำ สิ่งที่เป็นความจำ เป็นเรื่องของโลกนอก

ถ้าสิ่งที่การประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นเรื่องของโลกใน เพราะมันเป็นภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นมาจากธรรมจักรนะ เกิดจากพลังงานของใจที่มันหมุนเข้ามาทำลายตัวมันเอง ถ้าพลังงานของใจตัวนี้มีเข้ามา จะมีสัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ จิตนี้สงบเข้ามาจะเห็นความตั้งมั่นของมัน เราจะต้องมีความมุมานะ เราพยายามต้องมีสติ ความมุมานะ

ความเพียรชอบ ความเพียรของโลกเขา เห็นไหม ดูนักกีฬาสิ เขาจะได้เหรียญทองมา เขาต้องฝึกฝนเป็นสิบๆ ปีนะ ฝึกมาตั้งแต่เด็ก ฝึกมาทุกอย่างเลยเพื่อจะแข่งขันเอาชนะกันทางโลก แต่เรา การประพฤติปฏิบัติ ความเพียรของเรา เราจะชำระกิเลสนะ ถ้าเราจะชำระกิเลส ทำไมพระไตรปิฎกบอกว่า “ผู้ที่จะมีธรรมในหัวใจได้ต้องมีอินทรีย์ อินทรีย์สังวร ต้องสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ” สำรวมระวังเข้ามาเพื่อจะตั้งฐานอันนี้ให้มันเกิดขึ้นมาเป็นสถานะ

สิ่งที่เป็นสถานะมันก็เป็นโลกใน โลกในนะ โลกในคือตัวธาตุรู้ คือตัวจิตนั้น โลกใน

แต่เวลาโลกนี้มันเคลื่อนออกมามันออกจากความรู้สึก นั่นโลกนอกแล้ว คืออาการของใจ สิ่งที่เกิดดับนี้เป็นอาการของใจ ไม่ใช่ใจ สิ่งที่อาการเกิดดับ แต่ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เราว่านี่เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เป็นเรื่องปกติของใจที่มันคิดอย่างนี้ เราไม่เคยควบคุมมัน ไม่เคยตั้งสติ ไม่เคยเอาสิ่งที่มีกับเรา

สิ่งที่มีกับเรา สิ่งที่เป็นความรู้สึก สิ่งนี้มันเป็นพลังงานที่มันแสดงตัวของมันตลอดเวลาโดยธรรมชาติของมัน นี้คือเป็นมนุษย์ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาสิ่งนี้ทวนกระแส คำว่า “ทวนกระแส” คือใช้ความคิดความรู้สึกอันนี้ทวนกระแสจิตเข้าไป สิ่งที่ทวนกระแสจิตเข้าไปก็เริ่มตั้งมั่น เริ่มก่อตัว เริ่มทำสติเข้าไปให้ใจนี้มันตั้งมั่น สิ่งที่ใจนี้ตั้งมั่น จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้มีความสุข จิตนี้มีความสงบของมัน จิตนี้มีความชำนาญ ความเพียรของเราจะเกิดตรงนี้

ถ้าเรามีความเพียรของเรา แม้แต่กำหนดพุทโธๆ นี่แหละ พุทโธๆๆ คำกำหนดพุทโธๆ นี่สะเทือน ๓ โลกธาตุเพราะเป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้แต่ละพระองค์เป็นเรื่องที่แสนยาก แสนยากนะ แล้วมีหนึ่งเดียว แสนยากเพราะอะไร เพราะการปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ การสร้างสมบุญญาธิการมานะ การสร้างสมบุญญาธิการมาถึงขนาดนั้น แล้วเวลาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การค้นคว้าอันนี้ เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมเองเหมือนกัน แต่ไม่ได้วางธรรมไว้ ไม่ได้วางธรรมไว้ ไม่ได้วางสิ่งที่ว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ได้วางธรรมเรื่องโพชฌงค์ เรื่องต่างๆ เรื่องธรรมะอันนี้ไม่ได้วางไว้

สิ่งนี้วางไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมสิ่งนี้ไว้ วางไว้ให้เราก้าวเดินตาม ถ้าเรามีปัญญาแล้วเราพยายามค้นคว้าของเรา สิ่งนี้เป็นพิมพ์เขียว สิ่งที่เป็นพิมพ์เขียวนี่ให้ย้อนกลับเข้ามาที่ใจของเรา ไม่ใช่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นสัญญาของเรา แล้วเราก็จะโฆษณา เราจะเผยแผ่ออกไปให้สัตว์โลกรู้สิ่งนี้ รู้สิ่งนี้ เหมือนหมอเถื่อน หมอเถื่อนคือว่าไม่รู้จักความเป็นจริงของอาการของใจ แล้วเวลาเผยแผ่ออกไป ถ้าเขามีอาการอย่างนั้น เราจะไปแก้เขาได้อย่างไร

แต่ถ้าเราเป็นหมอนะ เป็นหมอหมายความว่า เราฝึกฝนเข้ามา เราฝึกงานจนสามารถ เราผ่าตัด เราทำอะไรได้ทุกอย่าง ในร่างกายของมนุษย์นี้เราเข้าใจทั้งหมด เราจะเข้าใจเรื่องระบบของร่างกาย แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ระบบของโลกในคือโรคของจิต เรื่องของอาการของใจ มันก็เป็นเหมือนร่างกายนี้ มันแล้วแต่ส่วนไหนไง ส่วนไหนเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนไหนเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาเฉพาะส่วนนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ เราใช้ความสงบของใจ เราต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญ พยายามทำจิตให้สงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามานี่ตรงกับจริต ตรงกับนิสัย ตรงกับกีฬาชนิดหนึ่งชนิดใดก็แล้วแต่ เล่นไม่เหมือนกัน กติกาของกีฬาเล่นไม่เหมือนกัน แต่เวลาแข่งขันแล้วผู้ชนะได้เหรียญทองเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราใช้เป็นปัญญาวิมุตติ เราก็ต้องใช้ปัญญา ใช้สติ แล้วปัญญาความคิดมันคิดออกไป เราใช้ความคิดเราย้อนทวนกระแสไว้ พยายามดูใจตัวนี้ไว้ นี่มันจะปล่อยวางได้ เพราะสิ่งนี้มันเป็นความเกิดดับ มันเป็นอนัตตา แต่เป็นอนัตตาโดยธรรมชาติของมัน นี่สภาวธรรมมีอยู่ แต่ไม่มีใครรื้อค้นขึ้นมา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกมันเป็นอนิจจังด้วย มันเป็นอนัตตาด้วย แต่ไม่มีใครเห็นใช่ไหม เวลาเราทำใจของเรา เรากำหนดพุทโธของเราจนจิตสงบ หรือทำปัญญาอบรมสมาธิเห็นอาการอย่างนี้ไง

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเป็นอนัตตา

เวลาเกิดพายุ เกิดสิ่งต่างๆ ทางธรรมชาติ สิ่งนั้นก็คือธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมชาติอันนั้นก็เป็นธรรมชาติที่มันไม่มีชีวิต มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันก่อตัวขึ้นได้ มันทำลายตัวมันเองได้ แต่สภาวธรรมที่เราสร้างขึ้นมา สร้างจากความรู้สึกของเราขึ้นมา มันเป็นภาวนามยปัญญาของเรา มันเป็นธรรมของเรา มันเป็นธรรมจักรของเรา มันเป็นสิ่งที่จะเข้าไปทำลายโลกใน ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น เห็นไหม มีสติ ระลึกรู้ชอบ มีสัมมาสมาธิรู้ชอบ งานชอบ

งานชอบนะ ถ้าการประพฤติปฏิบัติ ถ้างานไม่ชอบนะ มันจะไพล่ออกไปนะ ไพล่ออกไปเกิดเป็นทิฏฐิมานะ เวลาจิตสงบเข้ามาเห็นดวงแก้ว เห็นความสว่างของใจ เห็นสภาวะต่างๆ มันคิดว่าสภาวะนั้นเป็นธรรม เห็นไหม สภาวะนั้นเป็นธรรมถ้าจิตสงบนะ มันจะเป็นธรรม ธรรมหมายถึงว่ามันปล่อยวาง

เวลาเราปล่อยวาง เวลาเรามีความกังวลใจต่างๆ แล้วมีใครมาแก้ไขความกังวลใจของเรา เราจะมีความสบายใจไหม? เราจะมีความสบายใจเพราะเราเข้าใจตามความถูกต้อง เราก็จะปล่อยวางสิ่งนี้ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราทำความสงบของใจ เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ สภาวธรรมคือมันปล่อยวาง มันปล่อยวางเป็นสภาวธรรม แต่ไม่ใช่อริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจคือว่ามันต้องเป็นงานชอบ ถ้างานชอบ ชอบเพราะเหตุใด

เพราะว่าโลกใน เกิดมีมาร มีบ่วงของมาร มีลูกหลานของมาร มีเสนามาร ทำงานบนหัวใจของสัตว์โลก ทำงานบนหัวใจของเรา เราจะทำสิ่งใด เราประพฤติปฏิบัติมันก็มีทิฏฐิมานะ สิ่งที่มีทิฏฐิมานะให้ความเห็นของเราบิดเบือนตามแต่มารมันจะสร้างภาพ ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

สิ่งที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราประพฤติปฏิบัติเข้ามา มันจะชำระกิเลส มันจะทำให้กิเลสนี้ยุบยอบตัวลง มันจะมีความว่าง มันจะมีความปล่อยวาง ความว่างนะ ทุกคนจะบอกว่าเป็นความว่างๆ ความว่างขนาดไหนมันก็ว่าง วัตถุสิ่งต่างๆ ตั้งอยู่ เขาก็ว่างของเขา วัตถุเขาไม่มีชีวิต เขาไม่ยึดมั่นถือมั่นของเขาหรอก

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอก ไม่อยู่กับวัตถุสิ่งใดเลย อยู่กับหัวใจของผู้ที่ทุกข์ๆ ยากๆ น่ะ ทุกข์ๆ ยากๆ เพราะมีโลกใน เพราะมีจิตปฏิสนธิ เพราะมีตัวหัวใจพาเกิด เราถึงได้มานั่งภาวนากันอยู่นี้ เพราะมันพาเกิด มันมีโลกในของมัน

แล้วมันไม่สามารถทำให้โลกนอกนี้สงบตัวลงมา ถ้าสามารถทำโลกนอกให้สงบตัวเข้ามา นี่บ่วงของมาร สิ่งที่เป็นบ่วงของมารนี่ห่วงไปหมดนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจสิ่งนี้เลย เวลาออกธุดงค์ไปในป่า ไปเจอธรรมชาติที่สวยงามก็อยากจะให้คนใกล้ชิด อยากให้คนรู้จักได้เห็น เราไปเห็นอะไรก็อยากจะให้คนอื่นเห็นเหมือนเราๆ

เขามาเห็นอย่างเรา เขาจะบอกว่าสิ่งนี้ไม่สวยงามเลย เพราะจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน เขาไม่ชอบธรรมชาติอย่างนี้ เขาอาจชอบธรรมชาติทะเลก็ได้ เขาอาจชอบธรรมชาติอย่างอื่นก็ได้ แต่พอเราไปเห็นอะไรเข้ามันสวยงามขนาดไหนก็อยากให้คนใกล้ชิด อยากให้คนรู้จักมาเห็นสภาวะแบบนั้น

โลกนอกมันกระพือไปไง สิ่งที่กระพือไป ไปเห็นเฉพาะสิ่งที่ว่าเป็นสัปปายะนะ สถานที่ควรแก่การประพฤติปฏิบัติ

ในเมื่อการประพฤติปฏิบัติ เวลาบวชมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ในพระไตรปิฎก อุปัชฌาย์ต้องบอกรุกขมูล ต้องบอกกรรมฐาน ๕ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นจุดเป้าหมายในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าในการประพฤติปฏิบัติ เราจะไปรู้เห็นสิ่งต่างๆ นั้นมันเป็นเรื่องสิ่งข้างเคียง จิตของคนที่มีอำนาจวาสนา เวลาจิตสงบเข้าไปจะเห็นนะ เห็นนิมิตต่างๆ เห็นความเห็นต่างๆ

สิ่งที่เห็นต่างๆ นั้นเป็นการเนิ่นช้าตลอดเลย ถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยชี้นำ นี่คือสภาวธรรมไง สิ่งที่จิตสงบแล้วเห็นสภาวธรรมแบบนั้น เราก็จะตื่นเต้นไปกับความเห็นอย่างนั้น แล้วก็จะต้องการเห็นอย่างนั้นอีก พอต้องการเห็นอย่างนั้นอีกคือสมุทัยทั้งนั้นเลย คือตัณหาความทะยานอยาก เราประพฤติปฏิบัติโดยตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันจะเป็นสัมมาปฏิบัติได้อย่างไร

มันก็เป็นมิจฉา พอมิจฉามันก็ส่งออก มันก็ทำลายให้เราคลาดเคลื่อนออกไป แต่อ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดนะ เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว เราศึกษาอยู่แล้ว มันเป็นสัญญา มันเป็นสังขาร สิ่งที่คิด ที่ปรุง ที่แต่งทำสภาวะแบบนั้นเข้าไป มันถึงไม่ทำลายโลกใน ถ้ามันทำลายโลกใน พุทโธคำที่ปริยัติเขาดูถูกว่าพุทโธนี้ไม่มีปัญญานี่แหละ

ศีล สมาธิ ถ้าเราเกิดสมาธิ จะเกิดธรรม โลกุตตรธรรม ถ้าเราไม่มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นที่เขาทำกันนั้นเป็นโลกียธรรม สิ่งที่เป็นโลกียธรรม เป็นโลกนอก-โลกในมันผูกมัดกัน เวลาเราเกิดมาโลกนอก-โลกในอยู่ด้วยกัน อิงกัน อิงกันนะ มนุษย์เกิดมามีกายกับใจ กายกับใจนี่โลกนอกโลกใน เรื่องของกายนี้เรื่องของโลกนอกทั้งหมดเลย แต่เรื่องของใจก็โลกนอกก็มีเพราะการส่งออกเป็นโลกนอก

แต่ถ้ามันทวนกระแสกลับ มันจะเป็นมรรคา มรรคาเกิดขึ้นจะเข้าไปทำลายโลกในได้ ถ้าทำลายโลกในของเราออกจากใจนะ โลกทั้งนอกโลกในไม่มีในใจนั้น ใจนั้นจะปล่อยวางสิ่งนี้ทั้งหมดเลย สิ่งที่ปล่อยวาง เห็นไหม ปล่อยวางด้วยมรรคญาณ สิ่งที่มรรคญาณจะเกิดขึ้น ถ้าเราค้นคว้าของเรา เรามีอำนาจวาสนาของเรา เราทำของเราได้ จิตสงบเข้ามา เราเห็นสภาวะจิตสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาเพราะสิ่งนี้มันจะแสดงตัวได้เหมือนน้ำเลย น้ำ ถ้ามันเป็นน้ำสะอาด อยู่ในแก้วเราอาจจะไม่เห็นสีสันของมันก็ได้ เราจะเข้าใจว่าแก้วนั้นมีน้ำหรือไม่มีน้ำ ถ้าเราเติมสีสันเข้าไปจะมีน้ำ

ในเมื่อมันเคลื่อนไหว ในเมื่อมีการประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อมันแสดงตัว มันแสดงตัวโดยโลกนอกด้วย โดยขันธ์ ๕ โดยขันธ์ โดยขันธ์คือการพิจารณาจิต ถ้าโดยกาย โดยกายเพราะมันอยู่ในร่างกายนี้ ต้องลงที่กายกับจิตนี้เท่านั้น สิ่งที่ลงกายกับกับจิตนี้จะเป็นวิปัสสนา นี่ภาคปฏิบัติ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน เวลาเราลงไปในพื้นที่นะ ความเป็นไปของกิเลสตัณหามันลึกลับมหัศจรรย์กว่าแผนที่นั้นมาก

ในเมื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดอ่อนขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย ปัญญามีมาก แต่มีมากขณะที่เราใช้ของเรา มันใช้เฉพาะของเราเป็นแง่ใดแง่เดียวเท่านั้น แง่ของมัน แง่มุมของการประพฤติปฏิบัติคือการพิจารณากายหรือพิจารณาจิตก็แล้วแต่ หรือพิจารณาเวทนา แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ถ้าแง่มุมอย่างนี้เกิดขึ้นมันจะเป็นวิปัสสนาเกิดขึ้น วิปัสสนาเกิดขึ้นมา เวลามันชำระล้างมันจะปล่อยวาง มันจะเห็นความปล่อยวางของใจ ใจจะปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา เพราะมันมีการกระทำ สิ่งที่การกระทำเพราะมันมีจิตดวงนี้วิปัสสนา

แล้วบอก จิตไม่มีมันเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อเรายกจิตนี้วิปัสสนากายกับจิต จิตดูจิต จิตพิจารณาจิต จิตพิจารณาจิตเพราะอะไร เพราะจิตนี้มันเป็นพลังงานอันหนึ่ง มันพลังงานนี้เคลื่อนไหวออกไปในขันธ์ ๕ มันก็เป็นสัญญาเกิดก่อน สัญญาเทียบเคียง พอสัญญาเทียบเคียงมันจะเกิดความรู้สึกขึ้น พอความรู้สึกขึ้นเวทนารับรู้ วิญญาณรับรู้ แล้วสังขารปรุงแต่ง แต่งนี้ออกไปมันก็เคลื่อนไหวออกมา

ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไป นี่ดูจิต ดูขันธ์ ดูการทำงานของมัน จากที่ว่าว่างๆ จิตนี้สงบแล้วปล่อยวางเป็นธรรมทั้งหมด ถ้าจับจิตได้นะ สิ่งที่ว่างๆ นี่จะเห็นภูเขานะ มันอยู่ในความว่างนั้น ภูเขา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ กองใหญ่ๆ ที่มันแยกออกจากกันนะ กองของขันธ์ ๕ ไง ถ้ากองของขันธ์ ๕ ดวงตาของใจมันเห็นสภาวะแบบนั้นนะ ถ้าดวงตาเห็นสภาวธรรมแบบนั้น นี่ธรรมของใจดวงนั้นเกิดแล้ว ภาวนาเป็น สิ่งที่ภาวนาเป็นคือการเคลื่อนไหว ถ้าใจลองได้เคลื่อนไหว ใจได้ใคร่ครวญสิ่งนี้เข้าไป ใคร่ครวญสิ่งนี้ปัญญามันจะเกิด

เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องความมหัศจรรย์มาก ภาวนามยปัญญามันมีแง่มุมของเทคนิคของวิธีการ วิธีการพลิกแพลงไปอยู่ที่จริตนิสัย คนหยาบ คนละเอียดต่างกัน ถ้าคนหยาบ การพิจารณาหยาบๆ มันต้องใช้ความหยาบ แล้วมันจะละเอียดเข้ามาเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป มรรคหยาบ-มรรคละเอียดมันจะเดินข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆ นะ ทำลายเข้าไปเรื่อยๆ มรรคหยาบ สิ่งที่หยาบก็ใคร่ครวญสิ่งที่มันเป็นเรื่องของหยาบ แต่ขณะที่หยาบหรือละเอียดนี้ เพราะจิตมันผ่านขั้นตอนมันจะเห็นความหยาบหรือความละเอียด

แต่ขณะที่เราทำงาน สิ่งที่ในปัจจุบันนี้มันต้องไม่มีหยาบ ไม่มีละเอียดคือเราทั้งหมด สิ่งที่เราทั้งหมดเพราะเรายึดทั้งหมด อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นของใจดวงนี้มันยึดมั่นถือมั่นของมันไปหมด ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมนะ ทั้งๆ ที่เข้าใจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดนะ สิ่งที่เข้าใจนี้กิเลสมันพาเข้าใจ พญามารมันพาเข้าใจ

ถ้าพญามารพาเข้าใจ มันจะบอกว่ารู้แล้วๆ คำก็รู้แล้ว สองคำก็รู้แล้ว แต่กิเลสมันพารู้ ไม่บอกว่ากิเลสมันพารู้เลย ถ้ากิเลสมันพารู้นี้ มัชฌิมาปฏิปทาไม่ได้เกิดขึ้นมากับการประพฤติปฏิบัตินั้น มัชฌิมาปฏิปทาจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมันเป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่องของใจดวงนั้น ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของมันนะ

อัตตกิลมถานุโยค เราใคร่ครวญ เราเกร็ง เราพยายามทำของเราขึ้นไป เป็นอัตตกิลมถานุโยค แล้วการกระทำนั้นมันจะไม่มีผล มันจะติดขัด มันจะทำให้ใจนี้ก้าวเดินไม่สะดวกของมัน เราลองผิดแล้วเราก็กลับมาวางใจปกติ แล้วใคร่ครวญใหม่ ถ้ามันมีความสุข มันมีความพอใจของมัน มันจะติดกามสุขัลลิกานุโยค มันจะนอนจม มันจะแช่อยู่ในความเห็นของมัน แช่ว่า “สิ่งนี้ เราใคร่ครวญแล้ว สิ่งนี้เราเข้าใจแล้ว”

เข้าใจแล้ว ทำไมมันติดขัดอย่างนี้ล่ะ มันติดขัดอย่างนี้ เราก็ย้อนกลับ การวิปัสสนาต้องใคร่ครวญ ต้องกระทำบ่อยครั้งเข้า สิ่งที่เราวิปัสสนายกขึ้นวิปัสสนาใคร่ครวญเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นมาอย่างนี้ ถ้ากำลังมันพอ มันจะเป็นไปตามอำนาจวาสนา ใจดวงนั้นมันจะปล่อยวางๆ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปคือพิจารณาแล้วมันไม่ปล่อยวาง มันติดขัด

เราต้องวางนะ ต้องวางงานนั้น ถ้าเราวางงานนั้น แล้วกลับมาพุทโธๆ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ ต้องทำจิตนี้ให้มีพลังงานขึ้นมา ถ้าจิตนี้มีพลังงานขึ้นมา มันจะขับเคลื่อนออกไปทำงานของมัน มันจะปล่อยวางโดยความเข้าใจ โดยปัญญาที่มันพิจารณาไป แล้วมันจะปล่อยหมดๆ ถ้าอย่างนั้นแล้วมันจะพอมัน นี่มรรคมันเกิดอย่างนี้

เกิดเพราะว่าต้องสมดุลไง จะต้องมีงานชอบ มีความเพียรชอบ มีสติชอบ ทุกอย่างจะชอบของมัน เห็นไหม นี้คือภาวนามยปัญญา สิ่งที่ภาวนามยปัญญาเกิดจากภาคปฏิบัตินะ ภาคปฏิบัตินี้ต้องอาศัยครู หาอาจารย์คอยชี้นำถ้ามี ถ้าไม่มีก็อาศัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วค้นคว้าเอา แล้วล้มลุกคลุกคลาน เพราะกิเลสมันจะออกหน้าตลอด

สิ่งที่กิเลสออกหน้า เวลาเราศึกษาธรรม แล้วเราใคร่ครวญของเรา มันจะคาดหมายเลย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ องค์ของฌาน จะเข้าใจ กำหนดพุทโธๆ วิตก วิจาร ปีติ เวลามันปล่อยวางมันปีติ สุข มีความสุขมาก แล้วเอกัคคตารมณ์อยู่แค่นั้น แล้วก็แช่อยู่อย่างนั้น มันก้าวเดินไปไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถทำให้ลึกไปกว่านั้น ถ้าทำให้ลึกไปกว่านั้นเราก็เข้าใจว่าจะเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นความจริงนะ

สิ่งที่สัญญาอารมณ์เราสร้างภาพ เราสร้างว่าวิตก วิจาร พุทโธๆ วิตก วิจาร ปีติ เพราะใจมันปล่อยวาง มันเข้าใจ มันเป็นสัญญาอารมณ์มันก็ว่าง มันก็พอใจ เห็นไหม แล้วจิตมีความสุข สุขเพราะการศึกษาธรรม เราอ่านหนังสือพระไตรปิฎก เรายังขนลุกขนพองเลย เวลาจิตมันสงบเข้ามา มันปฏิบัติเข้ามา มันก็สัมผัสกับสิ่งนี้ได้ ถ้าสัมผัสสิ่งนี้ได้ เห็นไหม ว่าเป็นปีติ แล้วเป็นสุขของเรา แล้วก็เป็นเอกัคคตารมณ์ แล้วก็ไม่มีพลังงาน ไม่สามารถยกจิตนี้ขึ้นวิปัสสนา

ขณะที่ว่าประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีครูอาจารย์จะติดสภาวะแบบนี้ แล้วก็หันรีหันขวางนะ จิตจะหันรีหันขวาง จะก้าวซ้ายก็ไม่ถูก จะก้าวขวาก็ไม่ถูก จะถอยหลังก็ไม่ได้ แล้วก็จะมีความคิด มีความเสื่อมสภาวะ มีความเป็นไปของมัน

การประพฤติปฏิบัติถึงมีครูอาจารย์ ถึงจะเป็นอำนาจวาสนา สัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์เป็นอันดับ ๑ นะ ป่าเขา ถ้าพูดถึงป่าเขามันจะมีน้อยลงเพราะโลกเจริญขึ้นมา การรุกป่ามันจะมีมากขึ้น เราจะไม่มีโอกาส ป่าเขา แต่ทำอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็จะมีป่าของเอกชน มันจะมีเป็นไปได้ ป่าเขามันสร้างได้ง่ายๆ อาหารก็พอได้ หมู่คณะก็พอได้

แต่ครูแต่อาจารย์หาที่ไหน หาได้ยากมาก หาได้ยากมากนะ เพราะอะไร เพราะอินทรีย์ไง จริตนิสัยของแต่ละบุคคล ครูบาอาจารย์มีมาก เราฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์ก็หลายองค์ แล้วตรงกับจริต ตรงกับความเห็นของเราไหม ฟังแล้วมันไม่เข้าใจ ฟังแล้วมันไม่ลงใจ สิ่งนี้มันเป็นจริตเป็นนิสัย แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ฟังแล้วลงใจ สิ่งที่ลงใจไง เพราะอะไร เพราะจากใจดวงหนึ่ง ใจของครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติมาอย่างนั้นแล้ว จากใจดวงนั้น เวลาแสดงออกมา แสดงออกมาจากใจดวงนั้นแหละ วิธีการใจดวงนั้นประพฤติปฏิบัติมาอย่างไร ใจดวงนั้นมีประสบการณ์อย่างไร นี่ออกมาจากใจดวงนั้น ถ้ามันเข้ามาถึงใจเรา แล้วเราสามารถรับสภาวะนี้ได้ไหม ถ้าเรารับสภาวะนี้ได้ เราก็จะมีกำลังใจของเรา ถ้ามีกำลังใจ เวลาที่จะเนิ่นนานก็สั้นเข้า เราที่จะหลงทาง เราก็จะอยู่ในทาง

ถ้าเราเชื่อครูเชื่ออาจารย์ของเรา เราก็จะมีโอกาสของเรา เราจะทำลายโลกในของเราได้

ถ้าเราไม่ทำลายโลกในของเรานะ การเผยแผ่ธรรม การประพฤติปฏิบัติมันก็จะติดไปทั้งหมด ถ้าโลกในก็ติด โลกนอกก็ติด เพราะโลกในมันลังเลสงสัย จะไม่เข้าใจสิ่งใดเลย ข้างในกลวง ข้างในไม่มีหลักเกณฑ์เลย แล้วเวลาออกไปแสดง ออกไปแสดงในสังคม เราจะเอาหลักเกณฑ์อะไรออกไปแสดงกับสังคมล่ะ เพราะสังคมเขาศึกษาเรื่องของโลก เรื่องของโลก เรื่องของวิชาการ เขาศึกษามามาก เวลาเราพูดไม่มีหลักเกณฑ์ออกไป เขาจะจับเราได้หมดล่ะ แต่ถ้าเราพูดประสาของเรา เราพูดว่า “สิ่งนี้ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลก” เราก็พูดของเรา แต่เวลาเขาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาจะเห็นขี้ เขาจะเห็นแผนของเราว่าเราจะวางหลักเกณฑ์ได้อย่างไร เราจะเห็นว่าเวลามรรคเกิดอย่างไร เวลาภาวนามยปัญญาเกิดอย่างไร ถ้าเห็นภาวนามยปัญญาเกิด เพราะการกระทำ การเห็นเกิดขึ้นมาจากเรา

เราเป็นคนสร้างโรงงานนะ เราเป็นคนวางแปลน เราเป็นคนสร้างโรงงาน แล้วเขาถามวิธีการสร้างโรงงานอย่างนั้น แล้วเราบอกสร้างโรงงานไม่ได้ แล้วโรงงานมันเกิดมาได้อย่างไรล่ะ เวลาโรงงานมันผลิต มันผลิตมรรคขึ้นมานะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เห็นไหม มันผลิตมรรคขึ้นมาจากในหัวใจนะ

เวลามรรคเกิดขึ้นมาจากในหัวใจ มันจะล้มลุกคลุกคลาน ในเมื่อมันกำลังหัดก้าวเดินอยู่ เหมือนเด็กอ่อนที่มันหัดเดินเลย เด็กเกิดมาเดินได้เกือบทุกคน ถ้าเขาไม่มีโรคภัยไข้เจ็บของเขา เขาจะเดินได้ทุกคน แต่เขาก็ต้องฝึกหัด นี้คือธรรมชาติ

แต่ถ้าเราฝึกหัวใจของเรา เราฝึกเรา มันจะเดินได้ไหม ถ้าเดินได้ เดินขึ้นไป โสดาปัตติมรรคเกิด สกิทาคามรรคเกิด ถ้าเราเดินขึ้นมามันจะขึ้นไป จะทรงธรรมในหัวใจนั้น แล้วครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติจะทรงธรรมในหัวใจนั้นขนาดไหนล่ะ ถ้าครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัตินะ การเดินๆ ทุกคนเดินต้องเดินเหมือนกัน เวลาเดินเห็นการเดินเหมือนกัน แต่ว่าเวลาเดินแล้ว จังหวะการเดินช้าหรือเร็วนั้นเป็นแต่จริตนิสัยของคน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องเหมือนกัน นี่วิธีการดับทุกข์มันจะเหมือนกันไง

สิ่งที่เกิดมีวิธีการดับทุกข์ มรรคญาณเกิดขนาดไหนนั้นคือการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ถ้ามรรคญาณอันนี้ไม่เกิด คือวิธีการดับทุกข์ไม่เกิดขึ้น มันเป็นสภาวธรรมเฉยๆ แค่จิตสงบ แค่เห็นสภาวธรรมก็ตื่นเต้นกับความเห็น ตื่นเต้นให้กิเลสตัณหามันยึดทิฏฐิอันนั้นว่าเป็นธรรมๆ นะ มันน่าสลดน่าสังเวช เพราะสิ่งที่จะเป็นธรรมอย่างนั้นมันเป็นธรรมอยู่ในอนิจจังไง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะแบบนั้นเสื่อมแน่นอน สภาวธรรมอย่างนั้นเกิดขึ้นชั่วคราว เกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็เสื่อมไปในอนาคต แล้วจิตนี้ก็จะต้องแบกทุกข์จากภายใน เพราะโลกในไม่ได้ขยับเขยื้อน ทั้งๆ ที่เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกและโลกใน รู้แจ้งจากโลกใน โลกในคือโลกของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยาก พระอัสสชิยังอ่อนน้อมถ่อมตนขนาดนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบิณฑบาต พาพระออกธุดงค์ เวลาออกไปถิ่นทุรกันดาร ถามเลย “พระสีวลีมาหรือเปล่า”

ถ้าพระสีวลีมาจะมีคนใส่บาตร จะไม่ขาดแคลน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรอพระสีวลี เป็นครั้งเป็นคราวนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกเผยแผ่ธรรมเพราะอะไร เพราะจิตสงบเหมือนกัน จิตนี้ทำลายโลกในเหมือนกัน สิ่งที่ทำลายโลกในเหมือนกัน มันไม่มีทิฏฐิมานะ ถึงเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นความเห็นของธรรม นี่มันเป็นการชักนำกันนะ

เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เรานั่งเป็นหมู่เป็นคณะ มันส่งเสริมกัน สิ่งที่ส่งเสริมกัน สังฆะ สงฆ์ สิ่งที่เป็นสังฆะ สงฆ์ ๔ องค์ขึ้นไปเป็นสังฆะ สังฆะนี้มีธรรมวินัยเป็นที่อบอุ่น เป็นเครื่องยืนยันกับความเป็นสงฆ์นั้น นี่สมมุติสงฆ์ สิ่งที่เป็นสมมุติสงฆ์ เป็นหมู่เป็นคณะ เกื้อกูลกัน สิ่งที่เกื้อกูลกัน การประพฤติปฏิบัติมันก็จะก้าวเดินไป นี่เป็นสัปปายะแล้ว สิ่งที่เป็นสัปปายะ มันก็จะทำให้เราก้าวเดินไป ความเป็นไป

“ใจเขา ใจเรา” เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องการความสงบต้องการความสงัด เราต้องการความสะดวกในการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันก็ “ใจเขา ใจเรา” ถ้าเขามีความปรารถนาอย่างนั้น เรามีความปรารถนาอย่างนั้น เขาก็ปรารถนาอย่างนั้นเหมือนกัน เราจะไม่ทำความกระทบกระเทือนถึงกัน เห็นไหม อ่อนน้อมถ่อมตนตั้งแต่เริ่มเห็นความเป็นไปในสังคมนั้นแล้ว

แล้วถ้าใจประพฤติปฏิบัติเข้าไป เห็นจากภายในแล้วทำลายอันนั้นทั้งหมดนะ มันเกิดดับในหัวใจของเรา กิเลสตัณหาเวลามันเกิด มันเกิดจากใจของเรานะ แล้วเวลาเราฆ่ามัน ทำลายมันตายไปจากใจของเรา มันเกิดจากใจดวงไหนมันก็เห็นนะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันต้องการอำนาจ มันต้องการกดขี่คนอื่น แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีแต่เมตตาธรรมค้ำจุนโลกนะ ค้ำจุนโลก ไม่มีอำนาจ ไม่มีวาสนาจะไปกดขี่ใคร เว้นไว้แต่อุบายวิธีการในการสั่งสอน

เวลาอุบายวิธีการ ครูบาอาจารย์เล่าว่าสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นดุมาก ดุเวลาในการประพฤติปฏิบัติ แต่จะมีเมตตามากในเรื่องปัจจัย เรื่องความเป็นไปของลูกศิษย์ลูกหานะ ผ้าขาดแคลนขนาดไหนต้องให้พระผู้น้อยได้ก่อน ตัวหลวงปู่มั่นท่านสละ “ไม่เอาๆ ให้ผู้น้อยๆ”

ถ้าคนมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก “ต้องเราก่อนๆ เราเป็นหัวหน้า เราเป็นเจ้าของสมบัตินั้น เขาถวายเรา ต้องเป็นของเราก่อนสิ แล้วคนอื่นเอาทีหลัง”

แต่หลวงปู่มั่นท่านสละให้ลูกศิษย์ลูกหาหมดเลย ท่านขาดแคลนขนาดไหนท่านให้ขาดแคลนไป แต่ด้วยอำนาจวาสนาในการประพฤติปฏิบัติ อำนาจวาสนาของท่าน จะขาดแคลนขนาดไหน เดี๋ยวท่านก็ต้องมีผู้มาสละให้ท่านทุกทีไป นี่ถ้าเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมจะเป็นคุณประโยชน์จากหมู่จากคณะ ทำให้หมู่ให้คณะนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข

แต่ถ้าเป็นกิเลสตัณหามันจะบีบบี้กัน นี่โลกนอก สิ่งที่โลกนอกก็เป็นการจุนเจือกัน สิ่งที่จุนเจือเพื่อจะให้กลับมาโลกใน เพราะเราเกิดมามีอยู่ในตัวของสัตว์โลกทุกคน ทั้งโลกนอกและโลกในอยู่กับตัวเรา เพราะในเมื่อเกิดมาแล้ว แล้วมีอำนาจวาสนา มีอำนาจวาสนามากนะ ถ้าเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาเป็นการอ้อนวอนเป็นการขอเอา เห็นไหม เป็นการอ้อนวอน เป็นการขอเอา สิ่งที่อ้อนวอนขอเอา ไม่ต้องทำมากไง แต่ในเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ในความเป็นอยู่ก็อีกอย่างหนึ่ง

แต่ในศาสนาพุทธเรา ทุกอย่างอยู่เป็นการใช้ปัญญาของเราทั้งหมด ใช้การประพฤติ ใช้การปฏิบัติ ใครอยากอิ่มต้องกินเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “เป็นผู้ชี้บอกทางเท่านั้นนะ” แล้วสาวก-สาวกะเดินถึงทางสิ้นสุดกระบวนการนั้นก็มี เดินไปกึ่งทางถอยกลับก็มี ก้าวเดินไปแล้วคิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมก็มี แล้วก็นอนจมอยู่อย่างนั้น นี่มันก็เป็นเหยื่อของวัฏฏะ จะต้องตาย จะต้องเกิดกับวัฏฏะนี้

ทั้งๆ ที่เข้าใจว่า “เป็นธรรมนะ เข้าใจว่าจิตนี้บริสุทธิ์ผุดผ่องนะ” เข้าใจว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องเพราะมารมันบังไว้ มารมันบังใจดวงนี้ แล้วทำให้ใจดวงนี้ว่าง ทำให้ใจดวงนี้ไม่มีสิ่งใดแสดงออก นี่มันซุกอยู่ในใจนั้น มันใช้ใจนั้นเป็นที่ขับถ่าย เรายังไม่รู้เลยนะ แล้วว่าเป็นนักปฏิบัตินะ

ถ้าเป็นนักปฏิบัติ มันจะเห็นความเป็นไปของมัน จะเห็นความเป็นไป สังโยชน์ขาดออกไปเป็นชั้นเป็นตอนนะ ถึงที่สุด รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่ความว่างนะ สมาบัติ รูปฌาน อรูปฌาน รูปราคะ อรูปราคะ สิ่งที่เป็นรูปฌาน อรูปฌานเป็นความว่าง เป็นราคะนะ ความว่างอย่างนี้เป็นราคะ เวลาเราเข้าสมาบัติ ๘ นั่นน่ะราคะทั้งหมดเลย เพราะมันติดในรูป รูปฌาน อรูปฌาน ถ้าเราติดในรูปฌาน อรูปฌาน นี่เป็นสังโยชน์ มานะความเป็นไปนะ

จิตมันมีความเทียบเคียง มีมานะ อุทธัจจะ คือว่าเวลามันเคลื่อนไหวไปมันกระเพื่อม สิ่งที่กระเพื่อมมันทำให้จิตนี้มันละเอียดอ่อนไม่ได้ อวิชชาคือความไม่เข้าใจ สังโยชน์เบื้องบนมันละเอียดมาก ในการประพฤติปฏิบัติมันจะเห็น จะทำลายโลกใน มันจะทำลายอย่างนี้ไง รูปฌาน อรูปฌาน ก็เป็นราคะ ความถือตัวถือตนก็เป็นมานะ การใคร่ครวญนั้นก็เป็นอุทธัจจะแล้ว เวลาจิตมันกระเพื่อม เวลามันคิดไป ความคิดนี้แหละ ปัญญาที่เราใช้นี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เคลื่อนไหว ทำให้เป้าหมายนั้นพลาดคลาดเคลื่อนแล้ว

อวิชชาคือความไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้เพราะมันไม่รู้สัจธรรม ไม่รู้ความเป็นจริง ไม่รู้ว่ามรรคญาณ อรหัตตมรรครวมตัวกันอย่างไร อรหัตมรรคทำลายตัวภวาสวะ ตัวภพของใจอย่างไร เห็นไหม โลกใน โลกในคือตัวตอของจิต คือตัวอวิชชา คือตัวพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้คือตัวโลกใน ถ้าทำลายโลกใน ทำลายตรงนี้หมด รู้แจ้งทั้งโลกนอก รู้แจ้งทั้งโลกใน

ถ้ารู้แจ้งโลกในนะ การเผยแผ่ศาสนา จะเคารพธรรมเคารพวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จากหัวใจ เวลากราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จากหัวใจ ความกราบนั้นจะดูดดื่มกับใจดวงนั้น

แต่ถ้าพูดถึงโลกในแก่กล้านะ โลกใน ตัณหาความทะยานอยาก กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหมือนกัน เพราะเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นพระเหมือนกัน กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่กราบจากโลกภายนอก กราบจากเป็นพิธีกรรม แล้วมันไม่ซึ้งหัวใจ ถ้าไม่ซึ้งหัวใจนะ มันไม่ดูดดื่มใจ สิ่งที่ไม่ดูดดื่มใจ การแสดงออกต่างๆ มันก็ไม่ดูดดื่มใจ สิ่งที่ไม่ดูดดื่มใจ

เวลาแสดงธรรมออกมา มันขัดข้องไปทุกๆ อย่าง เพราะมันเป็นการขัด ขัดกับอดีต ขัดกับอนาคต เพราะปัจจุบันมันผิด ถ้าปัจจุบันมันถูก ปัจจุบันนี้ อดีต อนาคตรวมอยู่ที่ปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้มันจะเป็นอนาคต ปัจจุบันนี้มาจากอดีต อดีตนี้สร้างสมบุญญาธิการมามันถึงเป็นปัจจุบันนี้ แล้วปัจจุบันนี้ทำลายกิเลสหมดแล้ว อดีตมันไปไม่ได้หรอก เพราะดับสิ้นกันที่ปัจจุบันนี้

ธรรมวินัย ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ไม่ถึงที่สุด มันยังมีอนาคตนะ มันต้องไปอนาคต ธรรมวินัยถ้าทำถูกต้อง ทำคุณงามความดี นี่บ่วงของทิพย์ มันจะไปเกิดเป็นพรหมลงมา ธรรมวินัยถึงไปเกี่ยวกับอดีต เกี่ยวกับอนาคต แล้วสำคัญคือปัจจุบันนี้

ถ้าปัจจุบันนี้อยู่ในธรรม อยู่ในวินัย โลกนี้จะเจริญ ศาสนาจะเจริญ เจริญจากใจที่ประพฤติปฏิบัติ นี่ศาสนาเจริญในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ บริษัท สงฆ์บริษัท บริษัท ๔ ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกสงฆ์ อุบาสิกาสงฆ์ สงฆ์เป็นสงฆ์เพราะจิตนี้เข้าถึงธรรม เป็นสงฆ์เพราะจิตนี้ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น ภาวนามยปัญญาไม่จำกัดเฉพาะภิกษุสงฆ์ หรือภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกสงฆ์ก็ได้ อุบาสิกาสงฆ์ก็ได้

สงฆ์คือสังฆะ ถ้าจิตเป็นสังฆะ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลกเพราะเข้าถึง

“เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

อุบาสกสงฆ์ อุบาสิกาสงฆ์ ถ้าเป็นอุบาสกสงฆ์ก็เข้าถึงธรรมตรงนี้ อุบาสิกาสงฆ์ก็เข้าถึงบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงหลักความจริง จะทำลายโลกในเข้าไปเรื่อยๆ จะเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสิกาสงฆ์ อุบาสกสงฆ์ถึงจะสมบูรณ์ ศาสนาจะเจริญสมบูรณ์มาก เอวัง