ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หนีเราไม่พ้น

๑o พ.ค. ๒๕๕๗

หนีเราไม่พ้น

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : ถ้าอยู่กับคนในครอบครัวที่พูดจาลบๆ ทำให้จิตตก เราควรปฏิบัติอย่างไร ย้ายบ้านหนีดีไหม

ตอบ : อันนี้คือคำถามเนาะ คำถามสั้นๆ แต่ความหมายมันลึกซึ้งไง ลึกซึ้งเพราะอะไร เพราะว่าอยู่ในครอบครัว คนในครอบครัวพูดจาด้านลบๆ ทำให้จิตตก แล้วมันต้องอยู่กันทุกวัน มันต้องเห็นหน้ากันทุกวัน มันต้องอยู่กันตลอดเวลา มันทำให้ทุกข์ยากมากนะ ถ้าทำให้ทุกข์ยากมาก

แล้วเราควรปฏิบัติอย่างไร ย้ายบ้านดีไหม

ฉะนั้น ถ้าเราจะทำอย่างไร การทำของเรานะ เราต้องคิดก่อน ถ้าเราคิดนะ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ วัฒนธรรมของชาวพุทธไง พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก สิ่งที่ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะอะไร เพราะได้ชีวิตนี้มา เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ ถ้าเกิดมาจากพ่อจากแม่ ถ้าพ่อแม่เราเกิดมาด้วยบุญกุศล สัมมาทิฏฐิ พ่อแม่เป็นสัมมาทิฏฐิ ทำสิ่งที่ดีงาม ฝึกให้เราเป็นคนดีขึ้นมา นี่มันซาบซึ้ง ครอบครัวนี้อบอุ่นมาก

แต่เพราะพ่อแม่ พ่อแม่มีความเห็นต่าง ดูสิ ในสังคม บางครอบครัวบอกว่ามันมีความจำเป็น ไปหยิบของนู่น ไปหยิบของนี่ แล้วเวลามันต้องโทษขึ้นมามันยุ่งไปหมด มันยุ่งไปหมด เขาบอกว่ามีความจำเป็น มีความจำเป็นไง

เราเกิดมา ถ้าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก คือเราได้ชีวิตนี้มา เราได้ชีวิตนี้มาจากพ่อจากแม่ แล้วพ่อแม่เป็นสัมมาทิฏฐิ พ่อแม่ที่ดีงาม พ่อแม่ที่ต่างๆ เรายิ่งมีผลบวกมากขึ้นไป ถ้าเราเกิดมาจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่พ่อแม่มีมิจฉาทิฏฐิ พ่อแม่มีความเห็นที่แตกต่างกับพระพุทธศาสนา มีความเห็นแตกต่างกับสัจธรรม เราก็มีความทุกข์ใจ เรามีความทุกข์ใจนะ พอมีความทุกข์ใจ มีลูกศิษย์หลายคนมากบอกว่าพยายามจะดึงพ่อดึงแม่ พยายามจะให้เห็น เช่น ให้เลิกเล่นการพนัน ให้เลิกกินเหล้า

ลูกๆ มีความทุกข์มากนะ อยากให้พ่อแม่ไม่กินเหล้า โอ้โฮ! มีปัญหาเยอะมากเลย เพราะว่า หนึ่ง จิตใจอ่อนแอใช่ไหมเขาถึงได้กินเหล้า เขาถึงได้มีประสบการณ์แบบนั้น แต่จริงๆ ในหัวใจลึกๆ ทุกคนก็รู้ว่ามันเป็นความไม่ดี ผิดศีล ๕ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เห็นไหม การดื่มสุราผิดศีล ผิดศีลนะ เพราะทำให้ร่างกายทรุดโทรม ทำให้เสียทรัพย์ ทุกอย่างไม่ดีทั้งนั้นน่ะ แต่มันทำจนชินชา จิตใจอ่อนแอ สู้ไม่ไหว

มีลูกๆ หลายคนมากอยากให้พ่อเลิกจากเหล้า อยากให้พ่อเข้าวัดเข้าวา สิ่งนี้เราคิดของเราเองไง เราคิดของเรา เราคิดของเราแล้วมันก็มีปัญหา มีปัญหาความโต้แย้งกัน

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความจริงเป็นพระอรหันต์ของลูกคือให้ชีวิตนี้มา

หลวงตาท่านพูดว่าแม้แต่ท่านผิดก็อย่าเถียงหลวงตาท่านพูดอย่างนี้เลยนะ เพราะเถียงแล้วมันจะเข้าตัวไง เข้าตัวเพราะเราเป็นลูก แม้แต่พ่อแม่ผิดก็อย่าเถียงว่าอย่างนั้นเลยนะ

โอ๋ย! แต่วิทยาศาสตร์รับไม่ได้ วิทยาศาสตร์ยอมรับไม่ได้เด็ดขาดเลย ก็เราถูก โอ้โฮ! มันยืนกระต่ายขาเดียวมันจะพูด แต่ถ้าพูดเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องเวรเรื่องกรรมมันเป็นเรื่องภายใน เรื่องเวรเรื่องกรรมมันไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อุบัติเหตุเป็นวิทยาศาสตร์ อุบัติเหตุพิสูจน์ได้ว่ามันเกิดอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุมันมาจากไหนล่ะ ทำไมมันเกิดอุบัติเหตุล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลาเราอยู่กันครอบครัว ถ้าครอบครัวพูดในทางลบแล้วจะทำให้จิตตก จิตตกเพราะอะไร เพราะเราศึกษาธรรม เราศึกษา เราศึกษาว่าสิ่งใดถูกต้องดีงาม แล้วเราก็อยากเอาไม้บรรทัดไปวัดคนอื่นว่าควรจะเป็นแบบนี้ๆ แต่ในครอบครัว ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นผู้เฒ่าในครอบครัว ทุกคนต้องเคารพ พอทุกคนเคารพ มันเป็นวัฒนธรรมไง

นี่ก็เหมือนกัน พ่อแม่กูเลี้ยงเอ็งมาก่อนนะ อาบน้ำร้อนมาก่อนนะมันเกิดทิฏฐิได้ไง การว่าเกิดทิฏฐิขึ้นมาแล้วมันเป็นสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ทางวัฒนธรรม เป็นสิทธิ์ว่าเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นปู่เป็นย่า เราเป็นลูกเป็นหลาน เราต้องเชื่อฟัง ไอ้ตรงนี้เราพูดสิ่งใดไปมันจะขัดแย้ง

ฉะนั้น จะบอกว่า ผลของวัฏฏะ มันเป็นเวรเป็นกรรม เป็นเวรเป็นกรรม มันต้องมีเวรมีกรรมต่อกันถึงมาเกิดร่วมกัน

ทีนี้เกิดร่วมกัน ถ้าเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ เกิดมาที่พ่อแม่ที่ดีงาม พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกด้วย พ่อแม่ทำตัวดีด้วย เราก็จะปลื้มใจมากเลย แต่พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพ่อแม่ของเรา ทีนี้ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ พูดจาสิ่งใด เราทำใจของเรา เราทำใจของเราเพราะเราเกิดจากพ่อจากแม่ เห็นไหม พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก นี่พูดถึงว่าเรื่องเวรเรื่องกรรมนะ

ฉะนั้น เรื่องเวรเรื่องกรรม แล้วเราจะปฏิบัติอย่างไรดี เราจะปฏิบัติอย่างไร

เราปฏิบัติอย่างไร เราทำตัวเราดีนี่สำคัญมากเลย พ่อแม่นี่นะ พ่อแม่รักลูกมาก ถ้ารักลูก ถ้าลูกทำตัวดี ทำตัวที่ถูกต้องดีงาม พ่อแม่ยืนดูอยู่ พ่อแม่อายนะ

ถ้าเราเห็นพ่อแม่ทำผิด เราเกิดทิฏฐิมานะ เราเกิดความโต้แย้ง เราก็ทำของเราด้วย มันเกิดแรงปะทะ มันเกิดแรงกระทบ ไม่มีประโยชน์สิ่งใดเลย เหมือนกับไฟกับไฟเข้าปะทะกันมันก็ยิ่งเผาไหม้ลุกไหม้ไปใหญ่เลย

แต่ถ้าไฟใช่ไหม พ่อแม่เป็นฟืนเป็นไฟมา เราชักฟืนออก เราทำคุณงามความดีของเรา เราทำตัวของเราดีๆ ถ้าทำตัวดี พ่อแม่ก็ต้องมองว่า อืม! ลูกเราทำไมเป็นคนดีได้ ทำไมลูกเรามันมีความเห็นที่ถูกต้อง ทำไมเราเห็นไม่ถูกต้อง นี่คือการแก้พ่อแม่นะ

แต่นี้มันทำได้ยากเพราะอะไรรู้ไหม มันทำได้ยากเพราะอะไร เพราะมันทุกวันไง มันอยู่กันทุกวัน มันใกล้ชิดกัน ทำได้ยากมากเลย นานๆ หนหนึ่งมันยังพอทน ไอ้นี่เช้า กลางวัน เย็น อยู่ด้วยกันตลอดเลย แล้วพูดนี่มันกระเทือนตลอด แต่ถ้าเราทำได้ เราต้องทำแบบนี้ นี่วิธีการแก้ของเรานะ ถ้าแก้อย่างนี้ได้ เห็นไหม ในครอบครัว พระอรหันต์ของลูก แต่ไม่ใช่พระอรหันต์ของสาธารณะ

ฉะนั้น ถ้าเราบอกว่าเราจะย้ายบ้านหนีดีไหม

ความจะย้ายบ้านหนีมันจะย้ายหนีไปที่ไหน เราอยู่กับพ่อกับแม่นะ เราอยู่กับวงศ์ตระกูลของเรา มันไว้ใจได้นะ ความรักของพ่อของแม่เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์ ถึงจะพูดลบ ถึงจะมีอะไรกระทบกระทั่งกัน มันปลอดภัยไง

แต่ถ้าเราย้ายไปที่ไหนก็แล้วแต่ เราไปเจอคนแปลกหน้า เราไปเจอคนอื่น ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าเลวล่ะ คิดว่าหนีไปแล้วจะพ้นหรือ มันหนีไม่พ้นหรอก สังคมเป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่ามันอยู่ใกล้ชิดกัน เราเห็นข้อมูลเราถึงวินิจฉัยได้ว่าดีหรือไม่ดี แต่เราไปเจอคนอื่น เราเห็นแต่หน้า เรายังไม่รู้เลยว่าคนนี้พฤติกรรมดีหรือไม่ดี เราจะไปเชื่อใจใครได้ เชื่อใจใครไม่ได้หรอก

ทีนี้ว่าย้ายบ้านหนีดีไหม จะย้ายไปไหน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันหนีตัวเราไม่พ้นไง มันหนีมนุษย์ไม่พ้น เพราะอะไร เพราะเราหนีตัวเองไม่ได้ เราหนีความเป็นมนุษย์ของเราไม่ได้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ต้องอยู่ด้วยกัน เราหนีตัวเราเองไม่ได้ เราจะหนีใคร เราหนีใครไม่ได้หรอก เพราะอะไร เพราะเรายังติดตัวเราอยู่นี่

ถ้าออกมาบวชสิ ถ้าบวชแล้วอยู่กับสังคมสงฆ์ ขาดจากพ่อจากแม่ บวชมาแล้วนะ บวชแล้วเป็นอย่างไร บวชแล้วก็เจอพระ ถ้าเป็นผู้หญิงบวชแล้วก็เจอชี เจอชี เดี๋ยวเป็นปัญหากันอีกแล้ว ไปเจอพระก็ว่าพระเอาเปรียบ พระไม่เสมอภาค

มันหนีกิเลสเราไม่ได้นะ เราหนีสิ่งใดไม่พ้นหรอก จะย้ายหนีไปไหน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาไปบิณฑบาต พวกเดียรถีย์มันจ้างคนมาด่า จ้างคนมาด่าเลย จนพระอานนท์ทนไม่ไหวนะ ไปที่ไหนก็มีแต่คนติเตียน พระอานนท์บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเถอะ ย้ายเมือง ธุดงค์ไปที่อื่นดีกว่า

พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ แล้วถ้าไปข้างหน้าแล้วเขายังด่าอยู่ ไปไหนล่ะ

ก็ไปต่อ

แล้วไปต่อข้างหน้าเขายังด่าอยู่ แล้วไปไหนล่ะ

เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะจะมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปฟังพระอัสสชิ เป็นพระโสดาบัน ไปชวนสัญชัยไง สัญชัยถามพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็บอกว่าในโลกนี้คนโง่มากกว่าคนฉลาด

คนฉลาดมีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่คนที่ปัญญาที่ไม่ฉลาดจะมีเยอะกว่า เธอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเถอะ มันชนกลุ่มเดียวที่จะเข้าพระพุทธศาสนา เราจะอยู่กับคนโง่ คนโง่มันเยอะ คนโง่มันหลอกได้ง่าย เราจะอยู่กับคนโง่ๆ เอ็งไปอยู่กับคนฉลาดเถอะ

ในโลกนี้มีคนโง่หรือคนฉลาด ในเมื่อคนฉลาดมีอยู่หยิบมือหนึ่ง แล้วคนที่โง่ นี่สัญชัยพูดนะ ไม่ใช่เราพูด เดี๋ยวเวลาพูดจะดูถูกสังคมไปอีก สัญชัยเป็นคนพูดเองว่าคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก พระสารีบุตรบอกว่าคนโง่มาก ในโลกนี้มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด แล้วคิดดูสิ เราไปอยู่กับสังคมอย่างนั้นเราจะปั่นป่วนขนาดไหน นี่พูดถึงสังคมนะ

แต่จริงๆ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องมาแก้ที่ตนนี้ ถ้าแก้ที่ตนนี้แล้วนะ พอแก้ที่ตนเราได้ อยู่กับสังคมโดยไม่ติดไง ถ้าแก้ที่ตนได้นะ โอ้โฮ! ทำไมหลวงตาเวลาท่านบรรลุธรรม ทำไมท่านกราบแล้วกราบเล่า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี หลวงตาท่านกราบอะไรน่ะ ท่านกราบแล้วกราบเล่า น้ำตาไหลพราก กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าเราจะย้ายหนีไปไหน ครอบครัวชอบพูดแต่เรื่องลบ ทำให้จิตเราตก

นั่นมันเป็นจริต แล้วมันพูดจริงหรือพูดไม่จริง เพราะว่าเรามีความเห็นต่าง พอความเห็นต่าง ลูกจะไปทางนั้นจะไปทางนี้ พ่อแม่ห้ามไว้ก็พูดอย่างนี้ ความพูดเขาพูดเพื่อเผดียง เขาพูดเพื่อเขาหวงเรา ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาพูดว่าที่เอ็งทำไม่ถูกหรอก ที่เอ็งทำไม่ดีหรอก ทั้งๆ ที่เขารู้ว่าดี แต่เขาพูด จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกของคนรู้ดีรู้ชั่ว แต่เวลาความเห็นต่าง เห็นต่างปั๊บ เวลาเราจะทำสิ่งใดในความเห็นต่างหรือเขาต้องการให้เราเชื่อเขา เขาก็จะพูดในทางที่ว่าพูดโต้แย้งกับความเห็นของเรา แล้วเราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นพูดลบ

ลบจริงหรือเปล่า ถ้ายังลบไม่จริง ฉะนั้น เราทำความดีของเรา ถ้าจิตใจเรา เราศึกษาความดีของเรา เราปฏิบัติของเรา เราดูแลใจของเรา ท่านจะพูดอย่างไร ความดี ความสะอาดบริสุทธิ์ของพ่อของแม่ พ่อแม่มีความรักที่เจตนาสะอาดบริสุทธิ์ แต่ทิฏฐิมานะไง ความเห็นว่าแค่นั้น ความเห็นว่าอยากจะให้ลูกๆ เชื่อฟัง อยากจะให้ลูกๆ เห็นตาม

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราแล้ว อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อแม่ ถ้าเราทำได้ดีกว่า เราทำได้ดีกว่า ทำได้ดีกว่า ถ้าดีกว่าแล้วทำไมพ่อแม่ขนาดนี้ทำไมเราดูไม่ได้ ถ้าเราดีกว่า เออ! ถ้าเราดีกว่า แล้วถ้าเราปฏิบัติธรรมล่ะ เราปฏิบัติธรรม เราจะทำ

ทางสังคมเขาถึงพูดไง พวกปัญญาชน พวกบริษัท ๔ พยายามแสวงหานิพพานกัน แสวงหาครูบาอาจารย์กัน แต่ทิ้งพระอรหันต์ที่บ้านไว้ พระอรหันต์ที่บ้านไม่ดูแล ถ้าเราดูแลพระอรหันต์ที่บ้านด้วย ถ้าดูแลพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์ที่บ้านปากจัดน่าดูเลย พระอรหันต์ที่บ้านงอแงน่าดูเลย ทำไมพระอรหันต์ที่บ้านจู้จี้น่าดูเลย

อ้าว! ก็พระอรหันต์ที่บ้านแก่แล้ว พระอรหันต์ที่บ้านแก่แล้ว พระอรหันต์ที่บ้านก็ต้องจู้จี้อย่างนี้เป็นธรรมดา จู้จี้ เราก็ดูแลพระอรหันต์ของเรา เราดูแลพระอรหันต์ของเราในบ้านด้วย แล้วเราแสวงหาของเราด้วยนะ สังคมเขาจะติฉินนินทาเราไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำของเรานะ สังคมก็ติฉินนินทาได้

แล้วถ้าจิตใจเราปฏิบัติไป จิตใจเรามีคุณธรรมนะ เราจะดูแลพระอรหันต์ในบ้านเรานี่สุดยอดเลย เพราะชีวิตนี้ได้แต่ใดมา เพราะได้ชีวิตนี้มาถึงได้มาแสวงหา เพราะได้ชีวิตนี้มาถึงได้สถานะทางสังคมมา เพราะได้ชีวิตนี้มา เอาชีวิตนี้มาศึกษาธรรมะ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติเห็นคุณธรรม มันเริ่มต้น

จุดเริ่มต้น ชีวิตนี้ได้แต่ใดมา แต่ชีวิตนี้เราบอกได้มาจากกรรม เราทำดีมา มีมนุษย์สมบัติ เราถึงมาเกิดไง ใช่ เรามาเกิด แต่ไม่มีที่เกิด เราจะเกิดที่ไหนล่ะ เห็นไหม เพราะเรามีที่เกิดไง เราเกิดจากพ่อจากแม่ไง ถ้าไม่มีพ่อแม่เป็นแดนเกิด แล้วไปเกิดที่ไหนล่ะ

ถ้าพ่อแม่เป็นแดนเกิด คำว่าพระอรหันต์พระอรหันต์ตรงนี้ไง แต่พระอรหันต์แล้ว ในความสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งนี้ บุญคุณอันนี้มันล้นฟ้า พอล้นฟ้าแล้ว อันที่ความเป็นอยู่มันธรรมดา ลิ้นกับฟันมันยังขบกัน แล้วคนอยู่ในบ้านด้วยกันมันทำไมไม่มีปัญหากัน การมีปัญหากันนี่เรื่องธรรมดามากนะ นี่ธรรมดาแล้ว ถ้าจิตใจเราสูงกว่า จิตใจที่เราดีกว่า เราทำของเรา

ไอ้ที่ว่าจะย้ายหนีไปไหน ย้ายกิเลสออกจากใจเราดีกว่า กิเลสในใจนี้ย้ายมันออกไป ถ้าย้ายกิเลสออกจากในใจไปแล้วนะ โอ้โฮ! เห็นพ่อเห็นแม่มีคุณค่าเลย ไอ้คำพูดที่ท่านพูดมันผ่านหูไปหมดล่ะ แล้วผ่านหูไปหมด เราทำสิ่งใดได้

แต่ถ้าเราพูดนะ ท่านพูดสิ่งใดมา เรามีปฏิกิริยาโต้แย้ง มีปฏิกิริยาต่างๆ ท่านก็พูดบ่อย เพราะอะไร เพราะท่านคิดว่ายังไม่เชื่อฟัง แต่ถ้าท่านพูดอะไรมา เราเออๆ เห็นด้วย แต่ในเมื่อจิตใจที่สูงกว่า จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นไป ถ้าจิตใจเราสูงกว่า เราทำดีขึ้นไป เขาก็ทำดีตามมา ทำดีตามมา เห็นไหม

เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เห็นไหม ในทศชาติ สุวรรณสามที่ว่าหาบพ่อหาบแม่ไว้ ๒ ข้าง เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เอาพ่อเอาแม่ไว้บ่าซ้ายและบ่าขวา ให้ขี้ให้ถ่ายบนบ่าของเรา กับที่เราพาทำบุญแล้วให้พ่อแม่หูตาสว่าง ให้พ่อแม่ได้บรรลุธรรม

คิดดูสิ มันมีคุณสมบัติให้เอาพ่อเอาแม่ไว้บ่าซ้ายและบ่าขวาเลยล่ะ ที่เขาทำอย่างนั้นได้เพราะอะไรล่ะ เพราะพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์สร้างบุญกุศลมาทศชาติ ๑๐ ชาติสุดท้ายทำอย่างนั้น

ไอ้นี่เหมือนกัน เราอยากจะได้มีคุณธรรม ตรงนี้เราทำไป ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตก ทุกครอบครัวมีปัญหานี้หมด ทุกครอบครัว ไม่มีครอบครัวไหนไม่มี แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะออกบวช ออกมา หนีออกมา พระเจ้าสุทโธทนะเจ็บช้ำน้ำใจขนาดไหน เจ็บช้ำน้ำใจนะ เพราะอะไร เพราะว่าพราหมณ์พยากรณ์ไว้แล้วว่าถ้าอยู่ทางโลกจะเป็นจักรพรรดิ คือรวบรวมอินเดียทั้งหมดเป็นประเทศขึ้นมา เพราะมันเป็นแคว้นเล็กๆ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์จะรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ แต่ถ้าได้ออกบวชจะเป็นศาสดา พระเจ้าสุทโธทนะพยายามนะ ดูแลรักษาอย่างดีเลย อยากให้เป็นจักรพรรดิ ถึงที่สุดแล้วเจ้าชายสิทธัตถะก็ออกมาบวช

พอออกมาบวชนะ พอเป็นพระอรหันต์ นี่ร่ำลือมาก ส่งมหาอำมาตย์ไปนิมนต์มา กลับไปโปรด ไปโปรดอย่างไรนะ ก็อยากให้สามเณรราหุลรับช่วงต่อไป นางพิมพาก็บอกให้สามเณรราหุลไปขอสมบัติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้สมบัติ ก็ให้พระสารีบุตรบวชให้ บวชเป็นเณรซะ พระเจ้าสุทโธทนะพอรู้ ลูกก็ไปแล้ว หลานไปอีก โอ๋ย! เจ็บมาก เจ็บมาก ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย บอกต่อไปนี้ถ้าจะมีการบวชต้องขอให้พ่อแม่อนุญาตก่อน นี่พ่อแม่ยังไม่อนุญาต บวชไป โอ๋ย! เจ็บช้ำน้ำใจมาก สุดท้ายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศนาพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน สุดท้ายเทศน์เป็นพระอรหันต์หมดเลย

ครอบครัวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีการกระทบกระเทือนกันขนาดนี้ แล้วครอบครัวของเราจะไม่มีการกระทบกระเทือนกันเลย หนึ่ง

แล้วความเห็นของเราล่ะ ความเห็นของเรา ความเห็นของโลกทางวิทยาศาสตร์ไง ถ้าอยู่ด้วยกัน พูดจาแล้วมันกระทบกระเทือนกัน เราก็จะย้ายบ้านหนีดีไหม เขาว่านะ ทุกคนคิดแบบนี้แหละ แต่ถ้าโตขึ้นแล้วนะ จะเสียใจทีหลัง

เวลาวันพ่อวันแม่เขาจะพูดกันเรื่อยนะ ถ้ามีพ่อมีแม่ให้กราบนะ ยังมีบุญกุศลนะ แล้วก็จะบอกเธอไปกราบนะ พวกเราไปกราบนะ ถ้าวันไหนพ่อแม่ตายไปแล้ว วันพ่อวันแม่เขาไปกราบกัน เราไม่มี เพราะพ่อแม่เราเสียไปแล้ว ถึงวันนั้นเราได้ทำอะไรมา ทำดีแล้วเราก็ภูมิใจ แต่ถ้าเรามีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง เราก็จะเสียใจ มันเสียใจนะ คิดแล้วมันจะเสียใจภายหลังไง

แต่ตอนนี้ปรับจูนความคิดเราซะ แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติให้มันเห็นจริงขึ้นมา ถ้าเห็นจริงขึ้นมานะ สิ่งที่ท่านพูดเป็นของเล็กน้อยนัก เป็นของเล็กน้อยนัก แต่เวลาที่ท่านเลี้ยงดูเรามาตีนเท่าฝาหอย ส่งเสียเล่าเรียนมาจนโตมาขนาดนี้ แล้วเราทำหน้าที่การงานแล้ว ท่านส่งเสียมาขนาดนี้ แล้วคุณงามความดี ไอ้คำพูดคำจา เราเข้าใจได้

แต่ถ้าเราปรับหัวใจเรานะ ไอ้คำว่าพูดลบๆมันฟังแล้วมันรื่นหูเลยล่ะ ฟังแล้วมันชุ่มชื่นนะ ถ้าจิตใจมันดีแล้วนะ ไอ้ที่ว่าลบๆ มันเป็นบวกทันทีเลย แต่ถ้าจิตใจเรา จิตใจเราเป็นอย่างนี้นะ พูดบวกมันก็เป็นลบ พูดดีขนาดไหน อ้าว! เราจะไปวัด ไปปฏิบัติ ท่านไม่ให้ไป นี่ก็ลบแล้ว

แต่ถ้าจิตใจเราดีแล้วนะ ถ้าท่านไม่ให้ไป เราก็เข้าใจได้ ท่านไม่ให้ไปเพราะท่านเป็นห่วงเรา ท่านไม่ให้ไปเพราะว่าท่านเป็นห่วง ท่านกลัวเราจะไปโดนหลอก เราก็ต้องศึกษา เราก็ทำความจริงให้เห็นว่า เห็นไหม ไปกลับมาแล้วไม่เห็นโดนหลอกเลย ไปกลับมาแล้วยังเป็นคนดีขึ้นมาเลย ไปกลับมาแล้วทำให้ดี เมื่อก่อนเป็นคนสำมะเลเทเมา เดี๋ยวนี้เป็นคนดีหมดเลย ไปแล้วมันดีอย่างนี้ เห็นไหม ถ้ามันไม่หลอกแล้วมันก็จบไง

นี่พูดถึงว่า ย้ายบ้านดีไหม

ไม่ ย้ายหัวใจของเรา ย้ายกิเลสตัณหาในหัวใจของเราออกไป แล้วสิ่งนี้จะดีขึ้นมา

ทวนคำถามอีกทีหนึ่งถ้าอยู่กับคนในครอบครัวที่พูดจาลบๆ ทำให้จิตตก เราควรปฏิบัติอย่างไร ย้ายบ้านดีไหม

ไม่ดี

ทีนี้ถ้าพูดถึงจะดีนะ ดีอย่างนี้ ถ้าดีที่เศรษฐกิจ เช่น เราทำหน้าที่การงานย้ายไปต่างจังหวัด เราก็ต้องไปหาที่พักใหม่ หรือว่าถ้าเศรษฐกิจเราดี เราจะซื้อบ้าน เขาจะมีบ้านเป็นส่วนตัว อันนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจนะ ถ้าเรื่องเศรษฐกิจนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นเรื่องความรู้สึก นี้เราพูดเฉพาะความรู้สึก ธรรมะ ธรรมะมันเกี่ยวกับความรู้สึก

หลวงตาท่านสอนว่า ไม่มีสิ่งใดสัมผัสธรรมได้เลย เว้นไว้แต่หัวใจของคน คือความรู้สึกมันสัมผัสธรรมได้ สัมผัสธรรมได้เพราะอะไร เพราะมันทุกข์มันสุข จิตใจ ความรู้สึกมันมีสุขมีทุกข์ เพราะสุขทุกข์อันนี้มันจะสัมผัสธรรม สัมผัสความสุขกับความทุกข์ ถ้าสัมผัสความสุขมันก็เป็นคุณงามความดี ถ้าสัมผัสความทุกข์ก็คือกิเลส จิตใจของคนมันสัมผัสได้กิเลสกับธรรมๆ ถ้าถึงที่สุดแล้วมันถึงที่สุดแห่งทุกข์ไปเลย นั่นเป็นวิมุตติสุขเลย วิมุตติสุขอันนั้นเป็นเรื่องความรู้สึก ฉะนั้น เวลาตอบนี่ตอบถึงความรู้สึก

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องว่าถ้าเรามีบ้านใหม่ มีอะไรใหม่ดีไหม เออ! อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ เดี๋ยวบอกว่า แหม! มีทุกอย่างพร้อมเลย แล้วจะมีบ้านใหม่ก็ไม่ได้ ไม่ใช่ ไอ้นั่นเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่อันนี้เป็นเรื่องของเวรของกรรม เป็นเรื่องของความทุกข์ เป็นเรื่องของธรรมะ

ฉะนั้น อันนี้แบ่งเป็น ๒ อย่างเนาะ

ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ โอเค

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ว่าเราจะหลบ หลบเรื่องผลกระทบ หลบเรื่องผลของวัฏฏะ เรื่องเวรเรื่องกรรมนี่ไม่ใช่ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

ถ้าถูกต้องเพราะว่า พระอรหันต์ของเรา อย่างที่พูด เวลาท่านล่วงไปแล้วเราจะเสียใจทีหลัง ถ้าตอนนี้เราไม่ทำอะไร ตอนนี้มีโอกาสทำ ให้ทำเต็มที่ ถึงเวลาท่านล่วงไปแล้วก็จบ เราได้ทำดีแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ทำดีด้วย จะย้ายหนีด้วย ไม่ถูก

เอานะ อันนี้ประเด็นหนึ่ง ประเด็นต่อไป

ถาม : เมื่อเดินจงกรมจนอารมณ์ฟุ้งซ่านเหลือน้อยลงแล้ว จนรู้สึกว่าจิตเริ่มเข้าสู่สมาธิ รู้สึกว่าเท้าที่วางบนลานจงกรมนั้นเบา สัมผัสถึงความนุ่มของพื้นดินทรายที่เดิน ขอความกรุณาให้หลวงพ่อแนะนำข้อธรรมหรือหลักธรรมที่ใช้พิจารณาระหว่างที่จิตเป็นสมาธิค่ะ

ตอบ : ระหว่างที่จิตเป็นสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันเป็นมรรค เป็นมรรคคือเป็นมัคโค ทางอันเอก ทางอันเอกที่ว่าให้จิตมันก้าวเดินต่อไป จากปุถุชน เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบมากขึ้นจนมีเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น นี่เป็นกัลยาณปุถุชน พอเป็นกัลยาณปุถุชนแล้วพยายามทำจิตให้สงบเป็นสัมมาสมาธิแล้วย้อนไปดูกาย ย้อนไปดูเวทนา ย้อนไปดูจิต ย้อนไปดูธรรม นี่สติปัฏฐาน ๔ อันนั้นจะเป็นปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นมัคโค เป็นทางอันเอกที่ให้จิตใจนั้นก้าวเดินไป

ฉะนั้น เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามา จากเริ่มที่ใครมาทำความสงบของใจ พยายามฝึกหัด เดินจงกรมตั้งแต่จิตที่มันฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านน้อยลง จิตเริ่มเข้าสู่สมาธิ พอเข้าสู่สมาธิ เวลาเท้าที่มันเดินไปในทางจงกรม

เวลาถ้าจิตใจที่ภาวนาแล้วมันไม่ลง เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันมีแต่ความเบื่อหน่าย มันมีแต่ความอึดอัดขัดข้องไปหมด แต่ถ้าจิตมันสงบ แม้แต่เท้าที่วางบนลานจงกรมมันเบา มันสัมผัส มันนุ่มนิ่มไปหมดเลยน่ะ เพราะสุขแล้วจิตสงบมันจะมีความสุข ความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี

เราไปหาความสุขข้างนอก หากันมหาศาลเลย หามามันก็หาไปปรนเปรอตัณหา ตัณหา มันพอใจมันก็มีความสุขชั่วคราว เดี๋ยวพอมันชินชาแล้วมันก็อยากได้ใหม่ แต่ถ้าจิตมันสงบ มันปล่อยวางหมด มันสุขในตัวมันเอง เวลาเดินจงกรมไป พื้นนุ่มไปหมด ดิน ทราย โอ้โฮ! มันมีความนุ่ม มันมีความชุ่มชื่นไปหมดเลย ถ้าจิตสงบแล้วจะมีความสุข

ถ้าความสุขแล้ว ถ้ามีความสุขแล้วเรารักษาไว้ รักษาไว้คือตั้งสติให้ดี กำหนดพุทโธให้ดี เดี๋ยวมันก็จะสงบอย่างนี้ สงบเดี๋ยวมันก็คลายออก เพราะสมาธิ สมาธิมันตั้งอยู่กับเรานะ ถ้าสมาธิมันดีๆ ทรงได้ ๒ วัน ๓ วัน เดี๋ยวก็คลายออก แต่ถ้าคลายออกไปแล้ว ถ้าเราพุทโธของเรา ปัญญาอบรมสมาธิของเราต่อเนื่องไป ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันมั่นคงขึ้นมา สมาธิมันจะแนบแน่นของมันขึ้นไป แต่โดยธรรมชาติของมัน ถ้าแนบแน่นขนาดไหน เพราะมันไม่ใช่อกุปปธรรม

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เราถึงกลัวไง กลัวว่าทำดีๆ คนที่ทำดี ทำดีต่อเนื่องไป พอถึงที่สุดมันทิ้งนะ เลวได้สุดๆ เลย บางคนดีมากเลย ดีมาทั้งชีวิตเลย เวลามีอะไรกระทบ มันทิ้งเลยนะ มันทิ้งเลย มันไปทางอื่นเลย

นี่ก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิ ถ้าสมาธิมันดีๆ พอทำขึ้นไปมันเป็นสมาธิ พอสมาธิ พอทำขึ้นไปแล้ว พอมันเสื่อมแล้วนะ ขนาดนี้ รักษาขนาดนี้มันยังเป็นอย่างนั้น นี่ประชด มันไปเลยไง

ฉะนั้น บอกว่า ขอให้หลวงพ่อแนะนำข้อธรรม หลักธรรมที่จะใช้พิจารณาต่อเนื่องไป

ถ้าการพิจารณา ถ้าจิตสงบแล้วพิจารณาสิ่งใดก็ได้ที่จิตมันจับ

เวลาบอกให้หลวงพ่อแนะนำ คำว่าแนะนำมันก็เป็นความเห็นจากภายนอก แต่ถ้าเป็นจิตของเรานะ จิตสงบแล้วถ้าเรามีสติปัญญาใช่ไหม เราคิดถึงความคิด เราคิดถึงความคิด ฟังแล้วมันงงเนาะ เราคิดถึงความคิด ก็เราคิดก็เป็นความคิดแล้ว ทำไมต้องเราคิดถึงความคิดล่ะ

เพราะเราคิด แต่เราไม่เห็นความคิดเราไง เวลาเราคิด เรามีอารมณ์ เราคิด แต่เราไม่รู้ว่าเราคิดนะ มัน เออ! เราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องนี้เรื่องนั้น ทุกข์ไปหมดเลย แต่ไม่รู้ว่าตัวเองคิด รู้แต่เวลามันทุกข์ นี่เวลาเราคิด เห็นไหม

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ถ้าเราคิด ถ้าจิตสงบแล้วเราจับความคิดเราได้ จิตสงบแล้วเราจับความคิดเราได้ จับอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นปัจจุบัน ฝึกปัญญาอย่างนี้ ถ้าจิตสงบแล้วนะ ถ้าสงบ เราก็พุทโธไว้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไว้ จิตก็สงบเข้ามา

แต่ถ้ามันสงบแล้วเราอยากวิปัสสนา เราอยากจะฝึกหัดปัญญา จับ มันคิดเรื่องอะไรล่ะ มันเห็นอะไรล่ะ นั่นน่ะ พอมันเห็นปั๊บ เพราะจิตมันสงบแล้วเหมือนกับผ้าขาวมันสะอาด พอสิ่งใดสกปรกมาตกจะเห็นได้ชัด ถ้าจิตมันสงบแล้ว พอมันคิดอะไรมันจะรู้ความคิดมัน

ทั้งๆ ที่เราคิด เราคิดทุกเรื่องเลย คิดพุทโธ คิดปัญญาอบรมสมาธิ คิดทุกอย่างเลย คิดเพื่อให้สงบ พอสงบแล้วทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ

มันก็เห็นความคิดไง เห็นที่มันคิด ถ้าเห็นที่มันคิด ที่บอกว่าความรู้สึกเท่านั้นที่สัมผัสธรรมได้ ความรู้สึกเท่านั้นที่สัมผัสธรรมได้ความรู้สึกมันเห็นความคิด พอความรู้สึกเห็นความคิด มันก็แปลกใจไง พอมันแปลกใจ มันจับได้ มันเห็นนะ อ๋อ! เมื่อก่อนที่เราบ้าบอคอแตกก็อันนี้ไง อันที่มันคิดๆ อยู่นี่ ที่มันทุกข์มันยากก็อันนี้ไง แต่เราไม่เห็นไง เราไม่เห็นหรอก

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็น ถ้ามันเห็นมันก็จับ พอจับแล้วมันก็ใช้ปัญญาแยกแยะไปไง อ๋อ! เมื่อก่อนทุกข์เพราะเอ็งเนาะ เมื่อก่อนทุกข์เพราะเอ็งนี่ เมื่อก่อนไม่รู้เลย เมื่อก่อนทุกข์เพราะเอ็ง พอจับได้แล้วมันขำๆ นะ แล้วดีใจมาก

กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นอารมณ์ อารมณ์นี้มันเป็นธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เป็นธรรมะ

แต่ถ้าเป็นโลก อารมณ์ที่เป็นสัญญาอารมณ์ อารมณ์ของตัณหาความทะยานอยาก อันนั้นอารมณ์ของกิเลส

แต่ถ้าจิตสงบแล้วมันเป็นอารมณ์ของธรรมะ ธรรมารมณ์ ธรรมะเพราะมันสงบ มันธรรมารมณ์ มันถึงมีสติปัญญาที่รู้ที่เห็น

แต่ถ้าไม่มีสมาธิมันไม่ใช่ธรรมารมณ์หรอก มันเป็นเพชรฆาต มันเป็นอารมณ์เพชรฆาตประหัตประหารใจเรา แต่ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเห็น เห็นธรรมารมณ์ เพราะจิตเราสงบ เราเห็นอารมณ์ความรู้สึก มันจับได้ พอจับได้ พิจารณา นี่คำแนะนำ

เขาว่าถ้าจิตมันสงบแล้ว หลวงพ่อแนะนำว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะมีหลักธรรมอย่างใดที่ให้ใช้พิจารณา

เพราะอย่างนี้ เห็นไหม ไปตามวัดตามวา เขาจะมีโครงกระดูกแขวนไว้ เขาจะมีแขวนไว้ เขาว่าไว้พิจารณา อันนี้มันเป็นรูปแบบ ในทางทฤษฎีสอนไว้อย่างนั้น

แต่ในภาคปฏิบัตินะ ไอ้โครงกระดูกที่แขวนไว้ในตู้เขาแขวนไว้สอนอนาโตมีนักเรียนแพทย์ แต่ของเรานักเรียนธรรม นักเรียนธรรมต้องเห็นจากจิต มันไม่ได้เห็นจากตาเนื้อ

ตาเนื้อ นี่กิเลสมันหลอกแล้ว เพราะจิตเวลามันออกไป มันออกไปที่ศูนย์ประสาทคือสมอง แล้วสมองมันก็สั่งการของมันไป มันส่งออกไป ๕ โยชน์แล้วเรายังไม่รู้เลยว่าจิตส่งออก แล้วถ้าจิตส่งออกแล้วมันจะไปรู้ มันจะไปรู้อะไร ไอ้ที่รู้ๆ นั่นมันก็เป็นปริยัติไง ก็เอาโครงสร้าง เอาโครงกระดูกมาสอนว่ามนุษย์เป็นอย่างนี้ๆ ไอ้คนที่นักปฏิบัติแล้วก็ไปเอานักเรียนแพทย์ อาจารย์ใหญ่ของแพทย์ เอามาเป็นกรรมฐาน แล้วก็บอกว่านี่เป็นกรรมฐาน

แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เที่ยวป่าช้า สอนไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้าเพื่อให้จิตสงบเท่านั้นน่ะ

แต่ถ้าเห็นกายนะ ถ้าเห็นกายจะเห็นของเรา ไปเที่ยวป่าช้านะ จิตสงบแล้วให้เพ่งไปที่ซากศพแล้วหลับตา ตรงนี้ คำนี้สำคัญ ให้หลับตา ภาพนั้นมีอยู่ไหม ถ้าภาพนั้นมีอยู่ ให้กลับมาที่พักของตัว แล้วมาวิปัสสนา คือขยายส่วนแยกส่วน แล้วถ้าภาพนั้นหายไป เรายังตั้งไว้ไม่ได้ ก็ให้ไปเที่ยวป่าช้าอีก ทำให้จิตสงบแล้วเห็นภาพนั้น แล้วหลับตา ภาพนั้นคงที่ไหม ถ้าภาพนั้นคงที่ นั่นน่ะอุคคหนิมิต แล้วกลับมาขยาย วิภาคะ

แล้วถ้ามันเดินไปกลับมันไกลเกินไปนัก ให้เอากลับมาไว้ใกล้ๆ ที่พักตัว กลับมาใกล้ที่พักตัว อย่าเอามือไปจับนะ เดี๋ยวมันจะคุ้นชิน อ๋อ! เป็นอย่างนี้เอง มันจบเลย

ท่านบอกว่า ให้เอาไม้คีบ อย่าไปทำคุ้นเคยกับมัน เอาไม้คีบ คีบพวกซากศพมาไว้ข้างๆ ตัว คืออย่าไปทำคุ้นเคย

พวกเราที่เสียหายเพราะความคุ้นเคย ความคุ้นเคย ความคุ้นชิน ก็เหมือนเมื่อกี้นี้ ในครอบครัวมันสนิทชิดเชื้อกันมันเลยพูดเต็มที่เลย คนที่อยู่ด้วยกันเขาก็พูดแบบไม่ยั้งคิดเลย พูดเต็มที่เลย ไอ้คนฟังเจ็บน่าดูเลย เพราะมันความคุ้นชิน

สมบัติของเราไง ยึดว่าเป็นของเรา พูดอะไรก็ได้ แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดกัน เพราะความใกล้ชิดนี่แหละมันทำให้ทำอะไรก็ไม่ได้

จิตก็เหมือนกัน เวลาถ้ามันคุ้นชินแล้วหมดเลยนะ ท่านถึงให้เอาไม้คีบมาไว้ข้างๆ แล้วไปมองภาพนั้น ถ้ามองภาพนั้นนะ เวลาติด นี่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกาย พิจารณากาย ทีนี้ถ้าเห็นกายอย่างนี้มันเห็นกายอย่างไร เห็นกายที่จิตมันสงบแล้วมันเห็นตามความเป็นจริง ถ้าจิตสงบไง เพราะอะไร

เพราะเขาบอกว่าเขาเดินสมาธิ ความฟุ้งซ่านก็น้อยลง เกิดเป็นสมาธิขึ้นมา ทางจงกรมมันเป็นเบาๆ สัมผัสความนุ่ม สัมผัสความดีงาม พื้นหินพื้นทรายมันดีไปหมดเลย

ถ้าไม่ดีนะ แดดมันร้อนนะ โอ้โฮ! มันมีแต่ความกระวนกระวาย แต่ถ้ามันดีนะ มันดีไปหมดเลย แล้วอยากทำต่อเนื่อง

อันหนึ่งนะ สมาธิเกิดขึ้น สมาธิตั้งอยู่ สมาธิดับไป เราพยายามทำของเรา ทำสมาธิให้มั่นคง แล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ก็อย่างที่เราพูด ฝึกหัดใช้ปัญญา เอาปัจจุบัน จิตสงบแล้วพิจารณา ถ้าเห็นกายก็ได้กาย ถ้าเห็นเวทนา เห็นความหงุดหงิด ใจมันหงุดหงิดนั่นน่ะเวทนาของจิต ถ้าจิตมันสงบ มันชุ่มชื่น มันดีมากเลย

แต่ถ้าไม่ได้ดั่งใจ มันหงุดหงิด ไอ้หงุดหงิดนั่นน่ะเวทนาจิต จับเลย เอาสติจับเลย อะไรหงุดหงิด ทำไมมันถึงหงุดหงิด หงุดหงิดคืออะไร จับเลย พิจารณาไปนะ มันทัน มันปล่อยอีกนะ นี่ฝึกหัดใช้ปัญญา

เวทนากาย เวทนาจิต ถ้ากาย เวทนา จิต ธรรม จิตมันผ่องใส มันผ่องใสมันก็ดี พอมันเศร้าหมองไม่พอใจ แต่ถ้าเวลาพิจารณาธรรม จับอย่างนี้พิจารณาของเราไป มันเป็นปัจจุบันไง

ฉะนั้น ข้อธรรมที่จะเกิดขึ้นมันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่คนชอบ คนชอบหมายถึงว่ามันเกิดขึ้นกับเรา ผู้ที่พิจารณากายให้พิจารณาจิตมันก็ไม่สะดวก ผู้ที่พิจารณาจิตจะให้พิจารณากายก็ไม่สะดวก

แต่คนที่สะดวก ขณะที่ว่าสะดวก จิตเราสงบแล้วสะดวกมันยังทำได้ยาก แล้วถ้าจิตเราไม่สงบด้วย แล้วไม่สะดวกด้วย เวลาทำไปมันยิ่งยุ่งใหญ่เลย ฉะนั้น ให้มันสะดวกให้มันสบายของมัน แล้วค่อยๆ ทำไป ถ้าทำไปมันจะพัฒนาไป

แต่เราจะบอกว่า ถ้าทำสมาธิได้นะ ทำสมาธิให้มั่นคง รักษาสมาธิไว้ ถ้าสมาธิถ้ามันเสื่อมไปมันจะทุกข์ ถ้าสมาธิมันดีแล้ว ถ้าฝึกหัดพิจารณานะ พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาอย่างที่ว่าระหว่างที่จิตเป็นสมาธิค่ะ

จิตเป็นสมาธิ เราก็พิจารณาของเราไป นี่เป็นธรรม ถ้าจิตเราไม่เป็นสมาธิ เราก็พยายามกำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าสู่สมาธิ เพราะนี้คือสมบัติแท้ของเรา

สมบัติที่เราหานะ เราทำหน้าที่การงานขึ้นมานี่สมบัติสาธารณะ เราได้สิ่งใดมา โลก ใครมีปัญญาก็ทำธุรกิจการค้า ทำหน้าที่การงานขึ้นมา เขาก็ได้ผลตอบแทนขึ้นมาเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย นี่สมบัติสาธารณะ สมบัติสาธารณะเพราะอะไร เพราะเราทำก็ได้ เราไม่ทำก็ได้ ถ้าเรามีบำเหน็จบำนาญพอใช้แล้วเราไม่ทำงาน เราก็ยังเอาสิ่งที่เราแสวงหามาไว้ใช้เมื่อยามชราก็ได้

แต่ถ้าเราทำสมาธิ สมาธิ หนึ่ง เป็นความสุข สมาธิเป็นความสุข ถ้าเรามีสติมีปัญญา เรารักษาของเราได้ ถ้ารักษาของเราได้ ถ้าจิตสงบเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาดับขันธ์ลงที่นี่ อย่างน้อยเกิดเป็นพรหม เพราะพรหมมีขันธ์เดียว สมาธิคือขันธ์หนึ่ง สมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น ถ้าเราอยู่กับสมาธิ แล้วเกาะสมาธิไว้ เวลาจะดับขันธ์นี่เกิดบนพรหม ถ้าเกิดบนพรหม ถ้าเราทำคุณงามความดีไปเกิดบนสวรรค์ จิตมันเวียนว่ายตายเกิดไง นี่คือสมบัติของเราๆ นี่คือเสบียงกรังของเราที่เราจะไป

แต่เราใช้ปัญญาได้ เราพิจารณาของเราไป เวลาพิจารณา มันปล่อยวางๆ สติปัฏฐาน ๔ เวลามันขาด เป็นโสดาบันขึ้นมา ถ้าเป็นโสดาบันขึ้นมานี่อีก ๗ ชาติ เรารู้เลย มันองอาจ มันองอาจ มันกล้าหาญ มันไม่หวั่นไหวเลย ไม่หวั่นไหวเพราะอะไร เพราะธรรมดาของคน คนตาบอด คนที่ไม่มีความรู้ ออกไปข้างนอกจะหวั่นไหว ออกไปข้างนอกจะทำสิ่งใด คนไม่มีวิชาความรู้ในแขนงวิชานั้นจะทำงานนั้นไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่รู้ของมัน มันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะคือคนตาบอด แต่ถ้าพอมันละสักกายทิฏฐิ มีความเห็นชอบขึ้นมา อีก ๗ ชาติมันรู้ มันรู้ว่ามันเกิดอีก ๗ ชาติ คนเรามันรู้ที่มาที่ไป มันตื่นเต้นกับอะไร มันไม่หวั่นไหวแล้ว เพราะคนมันรู้

แต่ถ้าคนไม่รู้ เราไม่รู้ เราจะไปไหนล่ะ อ้าว! เวลาตาย เอ็งจะไปไหนล่ะ อ้าว! ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมมันดันไป แล้วแต่เวรแต่กรรม

แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วพอมันขาด อ้าว! กูจะไปตามสิทธิของกูไง อ้าว! กูจะไปตามสิทธิของกู ก็สิทธิ์ สิทธิ์เป็นสิทธิ์ อ้าว! โสดาบันเป็นสิทธิ์ของเรา อกุปปธรรม ใครจะมาแย่ง ใครจะมาดึงรอนสิทธิ์ของเรา เราไปตามสิทธิ์ของเรา อีก ๗ ชาติ

เห็นไหม มันแตกต่างกันไง มันจะเป็นจะตาย มันแตกต่างกับคนที่ไม่มีต้นไม่มีปลายเลย ฉะนั้น เราทำอย่างนี้ของเราไป นี่ปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อเหตุนี้

ฉะนั้น สิ่งที่อันแรกเขาบอกว่าเขาจะย้ายบ้านหนี

เราหนีใครไปไม่ได้ แต่เวลาเราหนีตัวเองไม่พ้น แต่เวลาเราปฏิบัติ เราจะย้ายกิเลสหนีออกจากใจเราเลย เราจะย้ายกิเลสออกจากใจของเรา เราจะอยู่ของเราด้วยความเป็นจริง ถ้าอยู่ด้วยความเป็นจริง เราปฏิบัติอย่างนี้มันจะได้สัจธรรม ได้ผลของธรรม สิ่งที่สัมผัสธรรมตามความเป็นจริงจะได้เกิดอันนี้ขึ้นมา นี่ถ้าปฏิบัติแล้วได้อย่างนี้

อันแรกปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันยังเป็นผลลบกับหัวใจของตัว ติดขัดไปหมด แต่อันที่สองปฏิบัติไปแล้วได้ผลขึ้นมา เป็นการปฏิบัติเหมือนกัน แต่ทำไมมันไม่เหมือนกัน เห็นไหม ปฏิบัติเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ แสดงธัมมจักฯ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงเอง พระอัญญาโกณฑัญญะรู้องค์เดียว ปัญจวัคคีย์ ๕ แต่เวลาแสดงธัมมจักฯ จบ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบันองค์เดียว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมต่อเนื่องจนปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมด แสดงอนัตตลักขณสูตรถึงเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทั้ง ๖ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเทศน์สอนยสะอีก ๕๕

ถึงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าเธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์

บ่วงที่เป็นโลก โลกธรรม ๘ บ่วงที่เป็นโลก

บ่วงที่เป็นทิพย์คือวัฏฏะ คือเทวดา อินทร์ พรหม

เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธออย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก เธออย่าไปซ้อนทางกันโลกเขาต้องการสัจธรรม คุณธรรม เผยแผ่ธรรมมา

ฉะนั้น จิตใจคนไม่เหมือนกัน แต่ถึงที่สุดแล้วอริยสัจมีหนึ่งเดียว เรามีความขยันหมั่นเพียร เราทำหน้าที่การงานของเรา เราปฏิบัติของเรา ใครปฏิบัติได้สมเหตุสมผลของเขา สาธุ ของเราต้องเป็นของเรา เราจะทุกข์จะยากมันเป็นของของเรา เราทำของเราเอง เราอยากได้ผลของเราเอง

ของคนอื่นเราฟังไว้เป็นคติธรรม ใครว่าสิ่งใดเราฟังไว้ สาธุ เป็นบุญกุศลของเขา แต่ของของเรา เราอยากได้เป็นผลของเรา เราต้องทำเพื่อประโยชน์กับเราเอง เอวัง