ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำจริงทำเล่น

๑๗ พ.ค. ๒๕๕๗

ทำจริงทำเล่น

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องกราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงครับ

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงครับ กระผมได้ฟังแล้วครับ ปฏิบัติธรรมเล่นๆ หรือเล่นปฏิบัติธรรม ผมขอเป็นคติธรรมสอนใจนะครับ

การทำสมาธิ (ผมเลือกนั่งสมาธิเพชรครับ) ก็นั่งได้อย่างมาก ๑ ชั่วโมงครับ พิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก น้ำเลือด เส้นเอ็น เส้นเลือด กระดูกไขข้อ ข้อกระดูก ลำไส้ เป็นต้น พิจารณาได้สักพักก็จะไปกำหนดรู้พุทโธที่ลมหายใจเข้าออก ตรงที่กำหนดได้ชัดมากคือตรงที่ใต้ลิ้นปี่ลงมาระหว่างสะดือ

กำหนดไปเรื่อยๆ ลมหายใจเบาหายไป พอนิดหนึ่ง ลมหายใจกลับมาอีก เป็นอยู่อย่างนี้จะพัฒนาไปได้อีกอย่างไรครับจึงจะเป็นวิปัสสนาละกามฉันทะได้ครับ และบางครั้งก็เหมือนสัมผัสพลังงานที่อยู่ในตัว คอยขับเคลื่อนลมหายใจอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ ภายในสมาธิครับ ขอหลวงพ่อเมตตาธรรมด้วยครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : ฉะนั้น ที่คำถาม คำที่ว่า ครั้งก่อนที่ถามมา เราตอบไปว่าปฏิบัติเล่นๆ คือเล่นปฏิบัติธรรม ถ้าเล่นปฏิบัติธรรมหมายถึงว่า เพราะเขาถามว่าการเกิดดับ

ถ้าการเกิดดับ การพิจารณาแบบการเกิดดับในการปฏิบัติมันมีหลากหลาย ถ้าการปฏิบัติมีหลากหลายนะ ถ้าเราไปดูการเกิดดับ รู้เท่าต่างๆ เพราะความเข้าใจของแนวทางปฏิบัตินั้น เขาบอกอย่างนั้นคือการปฏิบัติโดยใช้ปัญญา การใช้ปัญญานะ

เวลาใครกำหนดพุทโธ ใครทำความสงบของใจ เขาบอกว่านี่เป็นสมถะ การทำสมถะมันไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้ปัญญาคือไม่ใช่การปฏิบัติธรรมโดยความเป็นจริง เขาบอกไอ้นี่เป็นสมถะ มันจะเกิดนิมิต

แต่ถ้าเป็นความเห็นของเขา เขาบอกว่าเขาเห็นการเกิดดับ เขาเห็นรู้เท่าทัน เขาบอกสิ่งนั้นมันเป็นปัญญา ปัญญาอย่างนั้นคือปัญญาเห็นการเกิดดับ

แล้วคำถามว่า เห็นการเกิดการดับ เราถึงบอกว่าถ้าการเกิดการดับ แล้วการปฏิบัติมา เราปฏิบัติมาแล้ว ในแนวทางปฏิบัติมันมีหลากหลาย แล้วการปฏิบัติแบบนั้นน่ะการปฏิบัติเพื่อความสงบระงับ เพื่อความสงบระงับนะ

คนเวลาปฏิบัติ ส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติเขาบอกว่า การปฏิบัติของเขา เขาปฏิบัติแล้วเขาสบายใจ แต่เวลาเขากำหนดพุทโธหรือเขามาทำความสงบของใจ เขาบอกว่ามันทุกข์มันยาก มันทำลำบาก มันทำแล้วมันไม่ได้ผล ทำแล้วมันไม่มีความสุข ทำแล้วมันไม่มีความสุข มันไม่มีความสุขแบบที่เขาทำกันแบบนั้น ถ้าเขาทำกันแบบนั้น เขาจะมีความสุขของเขานะ เขารู้เท่าทันตัวเอง เขารู้เท่าทันเกิดดับ แล้วมันก็ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเบียดเบียนหัวใจ เขาบอกว่าการปฏิบัติอย่างนั้นเขามีความสุขของเขา เขาว่าอย่างนั้นคือการปฏิบัติธรรม แต่เวลากำหนดพุทโธๆ เขาบอกการกำหนดพุทโธมันเป็นสมถะ มันเกิดนิมิต มันจะทำให้เกิดความเห็นผิด แล้วคนที่ปฏิบัติปฏิบัติแล้วแบบว่ามันไม่มีความสุขแบบนั้นน่ะ ความสุขแบบเขาน่ะ นี้ความสุขแบบเขา เขามีความสุข

ถ้าพูดโดยธรรม โดยทั่วไป ถ้าเขาปฏิบัติแบบนั้น เราเห็นว่าถูกไหม ถ้าการปฏิบัติแบบนั้นน่ะ อำนาจวาสนาบารมีของคน ถ้าคนปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อความสุข ปฏิบัติเพื่อความเพลิดเพลิน อย่างนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมในวัฒนธรรมในประเพณี

ในประเพณีของชาวพุทธ เห็นไหม ดูสิ ชาวพุทธถ้าไม่สนใจในพระพุทธศาสนา เขาก็ใช้ชีวิตแบบโลกๆ ของเขาไป ถ้าใครสนใจในพระพุทธศาสนา เขายังมีโอกาสได้ทำบุญกุศลบ้าง ถ้าใครมีอำนาจวาสนา เขาทำบุญกุศลแล้วเขาก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ เขาทำความจริงของเขา

เห็นไหม แม้แต่จิตใจของคน คนที่เขาไม่สนใจเลย เขาใช้ชีวิตแบบโลกๆ เขา ใช้ชีวิตแบบสังคม เขาไม่สนใจคุณงามความดีในเรื่องพระพุทธศาสนา เขาไม่สนใจความดีเรื่องบุญเรื่องบาปของเขาเลย เขาสนใจแต่ว่าเขาทำหน้าที่การงานแล้วประสบความสำเร็จของเขา เขาทำแล้วเขาอยากแข่งขัน เขาอยากมีหน้ามีตาในสังคมของเขา เขาขวนขวายแต่ทางโลก

แต่คนถ้ามีศรัทธามีความเชื่อ เขาก็ขวนขวายในเรื่องบุญเรื่องกุศลของเขา เขาพยายามเสียสละทานของเขา เขาปฏิบัติของเขา

แล้วถ้าคนปฏิบัติแล้ว เวลาปฏิบัติจะปฏิบัติแนวทางไหน เพราะกิเลสมันปิดกั้นหัวใจไปทั้งนั้นน่ะ เวลาเขาจะปฏิบัติของเขา เขาปฏิบัติของเขาแล้วถ้ามันสบาย ปฏิบัติแล้วมันอบอุ่น ปฏิบัติแล้วมันรื่นเริง ถ้าเขาทำอย่างนั้นก็ได้ มันก็เหมือนนะ ถ้าพูดถึงแนวทางปฏิบัติ ถ้าเอาความจริงนะ นี่เราว่าทำเล่นหรือทำจริง

ถ้าทำจริงๆ ของเรา เวลาทำจริงๆ ขึ้นมามันต้องมีเนื้อหาสาระ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันทำแล้วมันต้องชำระล้างกิเลสได้ตามความเป็นจริง

แต่ถ้าทำเล่นๆ ทำเล่นๆ คือทำแบบนั้นไง ทำเล่นๆ ดูสิ ที่เวลาทางโลกเขา เวลาเขามีมหรสพ เขามีการละเล่น เขามีการรื่นเริง เขาไปที่ไหนแล้วเขามีความสุขใช่ไหม แต่เวลาเราถือศีล ศีล ๘ ห้ามดูการฟ้อนรำ ศีล ๘ ห้ามขับร้อง ร้องรำทำเพลง มันก็ตึงเครียด ถือศีลแล้วแห้งแล้ง แต่ถ้าเขามีมหรสพสมโภช เล่นตามเขา มีความรื่นเริงไปกับเขา อย่างนั้นชีวิตเรามีความสุข นี่พูดถึงมันตรงกับกิเลส กิเลสมันชอบ

ทีนี้ในการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติธรรมนะ ถ้ารู้เท่าในการปฏิบัติไป ไปปฏิบัติกันแล้วมีความร่มเย็นเป็นสุข เป็นสุขเพราะอะไรล่ะ เพราะมันไปกันมาก ไปกันเยอะ ปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติกันเป็นแนวทางเดียวกัน คือปฏิบัติไปโดยที่กิเลสไม่ได้สะเทือนเลย ไม่เข้าไปเผชิญหน้ากิเลสเลย ไม่ได้สนใจสิ่งใดๆ เลย ไปทำเพื่อบรรเทา

ถ้าเราบอกว่าเราเป็นคนหนา เราก็อยากจะเป็นคนบาง เป็นคนที่มีกุศล เราก็ทำบุญกุศลกัน ก็ทำง่ายๆ ขนาดทำง่ายๆ นะ โลกๆ เขายังทำได้ยากเลย นี่ขนาดเราไปปฏิบัตินะ สมมุติว่าเราปฏิบัติ เล่นปฏิบัติธรรม ก็เขาทำกันอย่างนั้นไง ไปถึง ๗ วัน ๘ วันแล้วกลับบ้าน เวลาก่อนไปก็แหม! เที่ยวเล่นจนเพลินพอแรงแล้วก็จะไปอยู่วัดสัก ๗-๘ วัน พออยู่วัด ๗-๘ วันก็แหม! มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข ก็กลับบ้าน กลับบ้าน นี่ปฏิบัติเล่นๆ ก็เป็นกันอย่างนั้นน่ะ แล้วว่าปฏิบัติเล่น นี่ปฏิบัติเล่นแบบสังคมนะ

แต่ถ้าปฏิบัติเล่นแบบกิเลส กิเลสมันหลอก ถ้ากิเลสมันหลอกนะ ที่เขาบอกว่าเขานั่งขัดสมาธิเพชรนะ เขากำหนดจิตแล้ว เขากำหนดพุทโธนะ

คำว่าพุทโธๆๆมันเหมือนไง มันเหมือนกับเวลากำหนดพุทโธ เวลาถ้าเขาไม่กำหนดพุทโธ เขาไม่ทำความสงบของใจ เราก็บอกว่าสิ่งนั้นเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก แต่เวลากำหนดพุทโธล่ะ ถ้าพุทโธๆ พุทโธเพื่อให้จิตสงบ มันก็เหมือนว่าพุทโธ ถ้าพูดถึงว่าพวกตื้นเขิน พุทโธที่ตื้นเขินก็ไม่รู้ว่าพุทโธไปทำไม ที่อธิบายกันไม่ได้อยู่นี่ก็เพราะว่าพุทโธไปทำไมล่ะ พุทโธมันมีประโยชน์อะไรล่ะ ทำไมต้องพุทโธด้วยล่ะ

ถ้าพุทโธ เราเขียนคำว่าพุทโธแขวนไว้ที่หน้าบ้าน ติดเอาไว้เลย เขียนว่าพุทโธแล้วติดไว้หน้าผากเลย มันก็เป็นแค่ตัวอักษรที่เขียนว่าพุทโธ

พุทโธมันต้องมีจิต จิตนี้ระลึก วิตก วิจาร จิตระลึก เวลาคิดมันทุกข์มันยาก เพราะว่าจิตมันทุกข์มันยาก จิตเรา ความรู้สึกนึกคิดเรามันทุกข์มันยาก เพราะความรู้สึกนึกคิดเรามันไปกว้านเอาอารมณ์มาใส่ตัวเอง แล้วก็บังคับว่าสิ่งที่มันจะไปคิดเรื่องอื่นก็ให้มันคิดพุทโธซะ พุทโธๆ เป็นคำบริกรรมไง

ทำไมถึงต้องพุทโธล่ะ

เวลามันตื้นๆ น้ำตื้นๆ เรือใหญ่เข้ามาไม่ได้นะ เวลาเขาจะลอกสันดอน เขาใช้อะไร เขาใช้เรือขุด เรือขุดมันต้องขุดสันดอนเพื่อให้เป็นร่องน้ำ เพื่อให้เรือใหญ่มันเข้ามาได้ มันต้องขุดให้ลึก ขุดให้จริง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราทำหน้าที่การงาน เราทำไร่ไถนา เราใช้อะไร ใช้จอบใช้เสียม ใช้จอบใช้เสียมก็ขุดเอาบนดิน ที่ไร่ที่นาก็ใช้จอบใช้เสียม จอบเสียมมันจะไปขุดลอกสันดอนได้ไหม สันดอนจะไปเอาจอบเอาเสียมลงไปลอกมันได้ไหม เพราะมันมีน้ำอยู่ เวลาดึงขึ้นมา น้ำก็วนไปอยู่อย่างนั้นน่ะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จิตมันตื้นๆ จิตเป็นสามัญสำนึก จิตมันคิดของเราธรรมดา มันก็คิดของมันไปอย่างนี้ แล้วพุทโธๆ แล้วทำไมต้องพุทโธล่ะ

เวลาเขาลอกสันดอน เขาใช้เรือขุดนะ นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ ให้จิตเรากว้างขวาง จิตเรามั่นคง จิตเรามีกำลังของเราขึ้นมา ถ้าจิตมีกำลังขึ้นมา จิตมันมีกำลัง จิตมันไม่ตื้นเขิน

ความตื้นเขิน พุทโธๆ ทำไม เวลาปฏิบัติเล่น จิตเขาสงบไหม

จิตเขาไม่สงบนะ ความที่เขาว่าสงบก็คือเขาสบายใจ เขาทำเพื่อความสบายใจกันน่ะ ที่ปฏิบัติเล่นๆ ที่เราใช้คำว่าปฏิบัติเล่นๆเขาปฏิบัติเพื่อความสบายใจ แล้วพอความสบายใจ คนมันทุกข์มันยากมา พอมันสบายใจมันก็บอกว่าอย่างนี้คือความสุขของเขา

ความสุขของเขามันก็คือโลกียะ ความสุขแบบโลกๆ ความสุขแบบสามัญสำนึก มันไม่เกี่ยวกับวิมุตติสุข มันไม่เกี่ยวกับอกุปปธรรม มันไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย

ศาสนาเขาต้องมีพื้นเพมาก่อน เขามีพื้นฐานขึ้นมา มีเบสิกขึ้นมา ทำให้มั่นคงขึ้นมา เพราะมั่นคงขึ้นมา ครูบาอาจารย์ถึงให้กำหนดพุทโธๆ เพราะให้จิตมันสงบเข้ามา เขาไม่ใช้จอบใช้เสียมไปขุดสันดอน เขาใช้เรือขุด

จิตก็เหมือนกัน จิตพื้นฐาน จิตเริ่มต้น มันก็เหมือนกับจิตปกติ จิตธรรมดา ก็มีจอบมีเสียม มีจอบมีเสียมมันก็ทำไร่ไถนาได้ มันก็ปลูกผักปลูกหญ้าได้ มันก็มีอาหารกินได้ ความมีอาหารกินมันก็กินเพื่อดำรงชีวิตก็อยู่โลกๆ นี่ นี่ปฏิบัติเล่นๆ การปฏิบัติเล่นคือปฏิบัติแบบพื้นฐาน ปฏิบัติเพื่อความสบายใจเท่านั้นเอง

แต่ถ้าปฏิบัติจริงๆ พุทโธๆ พุทโธให้ได้ก่อน พุทโธมันก็เป็นจอบเป็นเสียม พุทโธ เห็นไหม ดูสิ แผ่นเหล็ก เรือนะ เรือขุด เรือจะกี่หมื่นกี่พันตันก็แล้วแต่ มันมาจากแผ่นเหล็กใช่ไหม แผ่นเหล็กเขาประกอบขึ้น เขามีกระดูกเรือ เขาทำโครงเรือขึ้นมา อู่ต่อเรือ มันต่อมาจากอะไรล่ะ มันก็ต่อมาจากเหล็กนี่ ต่อมาจากเหล็ก ต่อจากวัสดุที่เขาเอามาต่อเรือ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ มันมาจากของเล็กน้อย แต่พุทโธบ่อยครั้งเข้า พุทโธให้มันมั่นคงขึ้นมา เดี๋ยวเราจะได้เรือขุดสันดอน เราจะได้เรือขุด เรือดูดสันดอนเลย

พุทโธๆ ไป พุทโธจนถ้ามันมีเรือขุด เรือดูดเลนดูดโคลน ถ้าเรือขนาดนั้น นี่พุทโธๆ จิตมันตั้งมั่น พุทโธๆ มันจะรู้ เรือมันมาจากไหนล่ะ เรือสัมมาสมาธิมันมีความสุขของมัน

อย่างที่เขาปฏิบัติเล่นๆ ปฏิบัติเพื่อความสบายใจ มันไม่ใช่สมาธิหรอก มันเป็นแค่ความสบายใจ สมาธิไม่เป็นแบบนั้น สมาธิมันร่มเย็นขนาดไหน จิตสงบ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้าจิตสงบระงับขึ้นมา โอ้โฮ! มันดูดดื่มขนาดคนที่มีบารมีจิตสงบแล้วระลึกอดีตชาติได้เลย เวลาเกิดปีติ ปีติมันเป็นได้ร้อยแปด ปีติเป็นตัวใหญ่ ตัวกว้าง ตัวเล็ก ปีติไปรู้วาระจิตของเขา ปีติ ถ้าจิตสงบมันรู้ได้ขนาดนั้นนะ อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันจะเข้าแบบนั้น

พอมันเป็นปีติ มันออกไปรับรู้ พุทโธต่อเนื่องไปๆ พุทโธต่อเนื่องจนมันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันก็เป็นของมันขึ้นมา นี่พูดถึงว่าถ้าปฏิบัติจริง ทำจริงหรือทำเล่นล่ะ

ทีนี้เขาบอกว่า เวลาได้ฟังธรรมของหลวงพ่อแล้วเล่นปฏิบัติธรรมผมก็ถือเป็นคติธรรมสอนใจนะครับ

ใช่ เพราะเวลาถามมา ถามเรื่องเกิดดับ มันมีเรื่องเกิดดับ เรื่องต่างๆ มันเป็นแนวทางปฏิบัติที่โลกเขากำลังตื่นเต้น โลกเขาคิดว่าในการปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้บอกบริษัท ๔ ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย

พวกเราก็อยากปฏิบัติบูชากัน แล้วมันมีร่องมีรอย หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เรา ท่านปฏิบัติมา ท่านประสบความสำเร็จของท่านมา ท่านประสบความสำเร็จ วิมุตติสุขตามความเป็นจริงของท่าน ท่านมีชีวิตอยู่ด้วยเป็นแบบอย่าง มีชีวิตอยู่โดยที่ไม่ติดในโลก ท่านมีชีวิตอยู่แบบเหนือโลก หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าตั้งแต่ตรัสรู้ ตั้งแต่เทศนาว่าการ ตั้งแต่นิพพาน ท่านอยู่ในป่ามาตลอด ท่านอยู่เป็นคติธรรม ท่านอยู่เป็นแบบอย่าง

เพราะมีครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติประสบความสำเร็จมา ประสบความสำเร็จมา เวลาท่านวางแนวทางข้อวัตรปฏิบัติมา มีครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติสมความปรารถนา ตามครูบาอาจารย์ไปเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ฉะนั้น สังคมก็ตื่นเต้น สังคมก็ปฏิบัติ เพราะถ้าไม่มีใครประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ได้คุณธรรมมา เราจะไม่กล้าประพฤติปฏิบัติกัน

เราปฏิบัติ เราล้มลุกคลุกคลาน แต่ว่ามีครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติจนเป็นแนวทาง จนมีคนเชื่อมั่นขึ้นมา เราก็ปฏิบัติตามกัน ปฏิบัติตามจนสังคมเขาเชื่อมั่น สังคมเชื่อมั่น สังคม คำว่าสังคมสังคมเกิดจากอะไร สังคมเกิดจากมนุษย์รวมกันก็เป็นสังคม แล้วมนุษย์ สังคม กระแสสังคมก็ข่าวลือ แล้วความจริงล่ะ ปฏิบัติจริงอยู่ไหนล่ะ

ปฏิบัติจริงมันต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ถ้ารู้จริง เวลาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นเวลาท่านแก้ลูกศิษย์ลูกหานะ การแก้จิตๆ แก้เฉพาะตน ถ้าใครปฏิบัติไปแล้วมีติดขัดใดๆ แก้เฉพาะจิตดวงนั้น เพราะมันเป็นอุปสรรคเฉพาะดวงจิตดวงนั้น

สังคม สังคมรวมขึ้นมาเป็นกระแสสังคม สังคมรวมกันเป็นกระแสสังคมก็เชื่อกันไปตามๆ กัน เชื่อตามๆ กันก็เลยลอยลม ลอยลมก็เลยเล่นปฏิบัติธรรมกัน พอเล่นปฏิบัติธรรม แล้วใครเป็นคนชี้ถูกชี้ผิดล่ะ ใครเป็นคนชี้ถูกชี้ผิด

แต่ถ้าเราจะชี้ถูกชี้ผิด เราต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ครูบาอาจารย์เราจะชี้ถูกชี้ผิด ชี้ถูกชี้ผิดเลย เห็นไหม เวลาเราไปปรึกษาธรรมะ ถ้าเราปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านฟังเฉยๆ ท่านฟังแล้วท่านเป็นคนบอกเองว่าถูกหรือผิด แต่เวลาคนถูกคนผิด ใครล่ะ คนถูกคนผิดก็คือเราคนที่ปฏิบัติใช่ไหม เราเป็นคนปฏิบัติ เราเป็นคนขวนขวายมาใช่ไหม เราปฏิบัติมาแล้วเราก็ต้องเอาความเป็นจริงของเราเสนอท่าน แล้วท่านจะบอกว่า ถ้าถูก ท่านจะส่งเสริม ถูก ท่านจะให้อุบาย ถูก ท่านจะกระตุ้นให้เราทำให้มากขึ้น ถ้าผิด ถ้าผิด ท่านจะเสนออุบาย

ถ้าบอกว่าผิดเลย เราก็เกิดทิฏฐิ ผิดได้อย่างไร ปฏิบัติไป เวลาเห็น เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง แล้วไม่จริง จะบอกกันอย่างไรล่ะ ท่านมีอุบาย ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติท่านมีอุบายว่าท่านจะเสนอวิธีการ เสนออุบายให้เราลองปฏิบัติ ให้เทียบเคียง ถ้าเราเห็นจริง เราปล่อยเลย แต่ถ้าเรายังไม่เห็นจริงอยู่นะ มันก็ยังติดขัดอยู่อย่างนั้นน่ะ

นี่พูดถึงว่า ใครชี้ถูกชี้ผิดใช่ไหม ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเอามาเป็นคติธรรมนี่ถูกต้อง

ฉะนั้นการทำสมาธิ ผมนั่งขัดสมาธิเพชรนะครับ

นั่งขัดสมาธิเพชร มันอยู่ที่คนชอบ บางคนก็นั่งสมาธิราบ บางคนนั่งขัดสมาธิเพชร บางคนก็เดินจงกรม อิริยาบถ ๔ ทำสิ่งใดก็ได้ให้มันเป็นจริงขึ้นมา

ฉะนั้น เวลานั่งขัดสมาธิเพชรแล้วเราพิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรื่องต่างๆ เป็นต้น พิจารณาไปสักพักหนึ่ง จิตมันก็สงบได้

ถ้าสงบได้ อันนี้มันเป็นเหมือนกับเราพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือเรากำหนดพุทโธ สิ่งนี้คือคำบริกรรม หรือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราพิจารณาของเราไป แล้วถ้าไม่ได้ กำหนดพุทโธไป กำหนดพุทโธๆ ต่อเนื่องกันไป ถ้าพุทโธต่อเนื่อง

พุทโธไว้ ทิ้งไม่ได้ เพราะทิ้งแล้ว พอทิ้งปั๊บ จิตมันหายไปเลย ถ้าหายไปเลยนะ มันขาด พอมันขาดไป ขาดสติไปมันก็ลอยลม มันจับต้องไม่ได้ ฉะนั้น ต้องมีสติ แล้วกำหนดพุทโธไว้ชัดๆ นี่ถูก

ทีนี้พอกำหนดพุทโธๆ พุทโธ กำหนดไปทำไม ทำไมต้องทำความสงบ

ทำความสงบก็เหมือนเรามีจอบมีเสียม เราก็ขุดเอาได้แต่พื้นดิน ขุดเอาได้แต่ที่แห้ง มันจะทำพอได้บ้างก็ขุดได้ตื้นๆ จิตเรามันยังตื้นเขิน จิตตื้นเขินมันก็เหมือนจิตปกติ จิตสามัญสำนึก

แต่ถ้าจิตมันอยู่ที่ไหน กิเลสมันอยู่ที่ไหน กิเลสมันอยู่ที่จิตใต้สำนึก ถ้ากิเลสมันอยู่ที่จิตใต้สำนึก เวลาเรากำหนดพุทโธๆ จิตมันลงไปสู่ตัวของจิต จิตเดิมแท้ พอจิตเดิมแท้ ถ้ามันเกิดปัญญา มันเกิดปัญญาตรงนั้น ปัญญาเกิดจากจิต

ปัญญาไม่ได้เกิดจากสมอง สมองมันเรียนมา ศึกษามา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันคาดมันหมายไปทั้งนั้นน่ะ เพราะมันส่งออก แต่เวลาไปเกิดที่จิต จิต พลังงานส่งไปที่สมอง สมองนี่ศูนย์รวมประสาท ประสาทมันก็คิด

แต่ถ้าจิตมันคิดเองล่ะ ปฏิสนธิจิต จิตมันคิดขึ้นเอง ปัญญาเกิดจากจิต ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสมอง ปัญญาเกิดจากสมองมันต้องเทียบเคียง ปัญญาเกิดจากจิตมันเป็นปัจจุบัน ถ้าจิตสงบแล้วพอเกิดจากจิต จิตมันน้อมไป มันจะรู้ของมัน แล้วพอพุทโธๆ พุทโธจะเข้าไปตรงนั้นน่ะ พุทโธไปเรื่อยๆ

ทีนี้พุทโธแล้วพุทโธกำหนดมันชัดขึ้น ชัดขึ้นตรงใต้ลิ้นปี่ ตรงใต้สะดือ

สะดือ ลิ้นปี่ มันก็เป็นกาย จิตมันก็ออกรับรู้น่ะ กำหนดที่สะดือ กำหนดชัดๆ เข้าไป มันจะหดเข้ามาเอง มันหดเข้ามา พุทโธๆๆ เราพุทโธ กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธเป็นพุทธานุสติ จิตมันกำหนดพุทโธ เรากำหนดพุทโธ เพราะจิตเป็นคนกำหนด จิตเป็นนามธรรม พอพุทโธเป็นพุทธานุสติ พุทธานุสติทำให้จิตมันทวนกระแสกลับ พอทวนกระแสกลับ พุทโธๆ พุทโธจนพุทโธไม่ได้

ทำไมมันถึงพุทโธไม่ได้ล่ะ

พุทโธไม่ได้ มันเกี่ยวกับสะดือไหม พุทโธไม่ได้ มันเกี่ยวกับลิ้นปี่ไหม พุทโธไม่ได้ มันเกี่ยวกับกายไหม

ไม่เห็นเกี่ยวเลย มันไม่เกี่ยวอะไรกับกายทั้งสิ้น ถ้าเราพุทโธไปเรื่อย พุทโธๆ พุทโธจนมันพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้คือตัวของมันไง แล้วตัวของมัน ตอนนั้นมันจะรู้ชัดเลย อ๋อ! อ๋อ! เองเลยล่ะ นี่ทำจริง ถ้าทำเล่นมันก็เล่นๆ กันไป ถ้าทำจริงมันก็เป็นจริง

นี่พูดถึงแล้วถ้ากำหนดลมหายใจไปเรื่อยๆ ลมหายใจมันเบาบางไป พอสักนิดหนึ่ง ลมหายใจกลับมาอีก แล้วก็อยู่อย่างนี้

ลมหายใจกลับมาอีกเพราะมันหยาบ ต้องกำหนดลมหายใจชัดๆ ลมหายใจมันจะเบา ถ้าคำว่าหายไปนี่เราอยากให้มันหาย มันจะเข้าสู่ทำเล่น เพราะทำเล่นมันการคาดหมาย พอเรากำหนดพุทโธ พอพุทโธมันจะหายไป เวลาพุทโธๆ มันเลือนรางไป มันก็จะหายไป

ถ้าเราพุทโธชัดๆ มันจะหายไปตามข้อเท็จจริง ตามข้อเท็จจริงหมายความว่าอะไร หมายความว่าคำบริกรรมมันจะละเอียดเข้าไปสู่เนื้อจิต พอเนื้อจิต จิตมันเสวย จิตมันคิด จิตมันคิด มันถึงคิดพุทโธ จิตมันรับรู้ มันถึงเสวยความสุขความทุกข์

ถ้าจิตมันอยู่โดยตัวของมันเองล่ะ จิตมันไม่เสวยล่ะ จิตมันไม่คิด จิตมันไม่พูดล่ะ จิตมันไม่รับรู้ มันจะเป็นอะไรล่ะ ฉะนั้น มันจะเป็นอย่างนี้ได้อย่างไรล่ะ มันจะเป็นอย่างนี้ได้ต่อเมื่อเราพุทโธเข้าไป พุทโธต่อเนื่อง พุทโธเข้าไป มันจะรู้มันจะเห็นของมันเอง มันจะลงขนาดไหน มันจะวูบวาบขนาดไหน พุทโธไว้เฉยๆ พอเข้าไปมันจะแก้ตรงนี้ไง แก้ที่ว่า เดี๋ยวมันก็เบา เดี๋ยวมันก็หายไป เดี๋ยวก็กลับมาอีก มันเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะพัฒนาอย่างไร

การพัฒนา พัฒนาคือความชำนาญ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเรามีเหตุของเรา เราพัฒนาของเราต่อเนื่องกันไป เดี๋ยวมันจะเข้ามาเอง แล้วไม่ต้องไปค้นหาที่ไหนนะ ไม่ใช่ถามหลวงพ่อมาแล้ว เล่นปฏิบัติธรรม แล้วพอหลวงพ่อแนะนำอย่างนี้แล้ว เดี๋ยวจะถามอีกว่า แล้วแนะนำอย่างนี้แล้วทำอย่างไรต่อ

แนะนำแล้วเราต้องปฏิบัติก่อน ปฏิบัติให้มันได้จริงขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติของเรา ทำความจริงขึ้นมา เราปฏิบัติของเรา ปฏิบัติ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ห้ามทิ้งพุทโธ หลวงปู่มั่นสั่งไว้ ห้ามทิ้งผู้รู้ ห้ามทิ้งพุทโธ เกาะพุทโธไว้ มันจะหยาบมันจะละเอียด เดี๋ยวจะรู้ของมันไป แล้วถ้ามันจะพัฒนาไปอย่างไรล่ะ

มันจะพัฒนาไปเพราะจิตมันสงบแล้ว พอจิตมันมีกำลังแล้วออกพิจารณาให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

เห็นธรรม เห็นความหงุดหงิด เห็นการปฏิบัติยาก เห็นการปฏิบัติ นั่งขัดสมาธิเพชรแล้วมันลำบาก เวลาคนอื่นเขานั่งขัดสมาธิราบ เราทำไมไม่ทำแบบเขา แล้วทำแบบเขาจะได้ไม่ได้

ไอ้ทำแบบเขาๆ แบบอะไร แบบเขาคือแบบทำเล่นใช่ไหม แบบเขาคือเล่นขายของ แต่แบบเรา เราขัดสมาธิเป็นอยู่แล้ว เราต้องทำให้มากขึ้น หนักขึ้นไปอีก หนักขึ้นไปเพื่ออะไร หนักขึ้นไปเพื่อไม่ให้กิเลสมันต่อรอง กิเลสในใจเรามันจะต่อรอง เราต้องหนักขึ้น ทำให้มันมั่นคงขึ้น ทำให้มันดีขึ้น หนักมากขึ้น

แล้วมันจะพัฒนาไปอย่างไรถึงจะเป็นวิปัสสนาละกามฉันทะ

วิปัสสนาหมายถึงว่า จิตมันสงบแล้วมันออกเห็น ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เราจะรู้เอง

เรากินข้าวเปล่า เราตักข้าวเปล่ากิน เรารู้ไหมว่าข้าวเปล่ารสชาติเป็นอย่างไร เราตักแกงเผ็ดกิน เราจะรู้ไหมว่าแกงเผ็ดมันมีรสชาติอย่างใด นี่ก็เหมือนกัน ทำสัมมาสมาธิ ถ้ามันสงบแล้วเราจะรู้ว่าเราสงบอย่างไร

แต่เวลาเราไปกินแกง แกงเผ็ดมันมีรสเผ็ด มันมีรสมัน มันมีรสขื่นรสอะไร เพราะอยู่ที่แกงอะไร นี่ก็เหมือนกัน จิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันรสอะไร วิปัสสนามันจะเป็นตรงนี้ไง ตรงที่เวลาจิต ถ้าเราพิจารณาโดยปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมเหมือนกัน พิจารณาแบบนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

แบบที่ว่ากระผมนั่งขัดสมาธิเพชรนะครับ แล้วผมพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เลือด ต่างๆ เอ็น ไขข้อกระดูก

ไอ้นี่มันพิจารณาโดยสามัญสำนึก สามัญสำนึกคือปัญญาอบรมสมาธิ อย่างนี้รสชาติไม่มี รสชาติไม่มี

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ มันไปเห็นกาย เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นเหมือนกันนี่แหละ แต่มีรสชาติ เพราะมันเป็นแกงเผ็ด มันเป็นแกงเผ็ด มันเป็นมัสมั่น มันเป็นผัดกะเพรา มันมีรสชาติของมัน ถ้ารสชาติของแกงกับรสชาติของข้าวสุกแตกต่างกัน รสชาติของข้าวสุกคือสมาธิ สมาธินี่รสชาติอันหนึ่ง เวลาปฏิบัติธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ธรรมรส รสของธรรม แล้วรสของธรรมเป็นอย่างไร

ฉะนั้น เวลาถ้ามันพัฒนาไปแล้ว จิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ๆ ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าออกฝึกหัดใช้คืออะไร

นึกในสมาธิ เขาเรียกว่ารำพึง จิตนี้รำพึงไป มีสติรำพึงไป รำพึงให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะสะดุ้งเลยล่ะ นี่คือการพัฒนาการของมัน ถ้ามันจากสมาธิสู่วิปัสสนา

แล้วถ้ามันจะละกามฉันทะได้ไหมครับ

กามฉันทะ กามราคะ มันอยู่ข้างหน้านู่น

ในแนวทางปฏิบัติ ทุกๆ คนบอกว่าอยากจะพิจารณาอสุภะ อยากจะละกามราคะ เพราะธรรมดาโลกนี้เป็นของคู่ ระหว่างคู่ สิ่งที่เป็นของคู่มันจะดูดเข้าหากัน ฉะนั้น เราอยากจะเป็นพรหมจรรย์ เราอยากจะละ ทุกคนก็อยากจะละตรงนี้ ถ้าละตรงนี้ได้ ต้องพิจารณากายไปนี่แหละ

การละกามฉันทะคือการพิจารณากายก่อน พิจารณากายให้เห็นสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกาย พิจารณากายซ้ำเข้าไปจนเห็นความเป็นจริงว่ากายกับจิตมันแยกจากกัน โลกนี้ราบไปหมด นี่เป็นสกิทาคามี แล้วถ้ามันต่อเนื่องไปมันจะเห็นอสุภะ ถ้าเห็นอสุภะ มันจะละกามราคะ ถ้าละกามราคะแล้ว มันก็ละเศษส่วนของกามราคะต่อเนื่องขึ้นไป แล้วมันก็จะไปเห็นตอของจิต ไปเห็นภวาสวะ เห็นภพ

ถ้าเห็นภพ เห็นภพ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ รูปฌาน อรูปฌาน เห็นไหม รูปราคะ อรูปราคะ มานะ มานะ ๙ อุทธัจจะ อวิชชา มันสังโยชน์เบื้องบน ๕ ตัว แต่ละเอียดลึกซึ้ง ถ้าละอันนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แล้วมันจะไปละกามฉันทะได้หรือไม่

การจะละกามฉันทะ กามฉันทะ กามราคะ เราคิดว่าจะละตรงนั้น ถ้าละตรงนั้น เราพยายามจะต่อสู้ตรงนั้น

แต่ถ้าเรากลับมานะ สรรพสิ่งทุกอย่างนี้เกิดบนร่างกายนี้ การปฏิบัติเริ่มต้น การพิจารณากาย ถ้าเห็นกายนะ เราแยกแยะนะ เราแยกแยะ แยกแยะเป็นไตรลักษณ์ มันจะพิจารณาของมันไป อันนี้มันเป็นบุคคล ๔ คู่ ที่ในการปฏิบัติมันจะเดินก้าวหน้าต่อไป นี้คือการทำจริง การทำจริงมันจะรู้จริงเห็นจริงไปตามขั้นตอนของมัน

ถ้าทำเล่นๆ เราก็อธิบายมาตั้งแต่ต้น เราเห็นสังคมมีการทำเล่นกัน การทำเล่นกัน ฉะนั้น เวลาเขียนปัญหาเข้ามาถามเรา การเขียนปัญหาถามเรา ถ้ามันทำเล่นมา ถ้าเราตอบปัญหานั้นไป เขาก็จะบอกว่าเราเห็นด้วยกับการทำเล่น

ฉะนั้น การทำเล่น เล่นปฏิบัติธรรม เราเห็นว่าการปฏิบัติธรรมดีกว่าคนที่ไม่ปฏิบัติ ดีกว่าคนไม่สนใจในศาสนา เขามาสนใจศาสนาก็เป็นสิ่งที่ดีงามแล้ว ถ้าเขาปฏิบัติเพื่อเป็นทำเล่น เพื่อความสบายใจของเขา นั่นก็เป็นอำนาจวาสนาของเขา แต่ถ้าจะปฏิบัติจริง แล้วรู้จริง มันก็ต้องทำความเป็นจริง ทำความเป็นจริง

ในพระพุทธศาสนามันมีความจริงอยู่ ในพระพุทธศาสนามันมีผู้รู้จริงอยู่ ฉะนั้น ความรู้จริง ความปฏิบัติจริง มันต้องทำตามความจริงมันถึงจะเห็นจริง ถ้าทำเล่นมันก็ได้ของเล่น แต่มันก็เป็นอำนาจวาสนา ทำเล่นก็ได้แค่นั้น เพราะเขาสร้างวาสนามาแค่นั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าการปฏิบัตินี้มันจะละกามฉันทะได้ไหมครับ

การปฏิบัติ จากพื้นฐานเบสิกขึ้นไป ถ้าทำถูกต้องดีงามขึ้นไป ละได้แน่นอน เพียงแต่เราจะมุมานะทำจริงทำจังได้ขนาดนั้นหรือไม่ เราจะมีความมุมานะ มีความวิริยอุตสาหะ มีความพยายามของเรา ทำไป มันต้องทำได้ ทำได้ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ฉะนั้น สิ่งที่ทำๆ ไปนั้นมันเป็นประโยชน์กับเราแล้ว

หรือบางครั้งมันเหมือนไปสัมผัสพลังงานที่อยู่ในตัวคอยขับเคลื่อนลมหายใจอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ ภายในสมาธิครับ

ถ้ามันไปรับรู้อะไร มันเป็นรสของธรรม ถ้าจิตมันสงบแล้ว ผลของมันคือความสุข เห็นไหม ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าเป็นสมาธิแล้ว ไปรับรู้ รับรู้มันเป็นความสุข ความสุขมันเกิดขึ้นน่ะ

ถ้าความทุกข์มันเกิดขึ้น เวลาปฏิบัติไปแล้วมันไม่รับรู้อะไร มันต่อต้าน มันขับดัน อันนั้นก็เป็นความเครียด เป็นความทุกข์ นั่นเรื่องกิเลส กิเลสเวลามันดันออกมาก็เป็นเรื่องหนึ่ง

เวลาจิตมันสงบเข้าไปแล้วมันไปรับรู้ เห็นไหมพอจิตมันสงบ บางครั้งไปสัมผัสพลังงานที่อยู่ในตัวคอยขับเคลื่อนกับลมหายใจอยู่

อันนั้นวางให้หมด อะไรที่มันมาหลอกมาล่อ วางทั้งนั้นน่ะ พุทโธต่อเนื่องไป พุทโธให้จิตมันสงบเข้าไป จิตสงบแล้ว ออกจากพุทโธแล้วเราจะฝึกหัดใช้ปัญญา เราฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป

ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาต้องฝึกหัด ถ้าปัญญาไม่ฝึกหัด ไม่เกิดขึ้นมาได้ จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถึงไม่เห็นกายก็นึกเอา ให้พิจารณากาย นึกถึงชีวิต นึกถึงชีวิตของเรา นึกถึงความทุกข์ของเรา นึกขึ้นมาแล้วปฏิบัติของเราต่อเนื่องไป อันนั้นคือฝึกหัดใช้ปัญญา มันยังไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ มันยังไม่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เพราะจิตมันสงบแล้วมันเห็นนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะที่เราฝึกหัดก็ฝึกหัดของเราต่อไป ฉะนั้น มันฝึกหัดได้

เวลามันสัมผัสความรู้สึกจากภายใน ขอหลวงพ่อเมตตาธรรมด้วยครับ

เมตตาธรรมก็ปฏิบัติก่อนเนาะ ปฏิบัติให้ได้ผล ปฏิบัติของเรา เพราะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราต้องมีอำนาจวาสนา เราถึงสนใจใฝ่ใจในการปฏิบัติ ถ้าสนใจใฝ่ใจในการปฏิบัติแล้ว เราปฏิบัติเพื่อคุณธรรม ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ให้ใจเรามีธรรมขึ้นมา มันจะเป็นธรรมของเรา จบ

นี่คำถามสด

ถาม : . ขอให้หลวงพ่อช่วยแนะนำข้อธรรมการรู้จักประมาณตน ความพอดี

. ขณะนี้หนูป่วยเป็นโรคระบบประสาท กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เห็นคนอื่นเดินจงกรม แต่หนูจะพักได้ในการเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นบางครั้ง จะเป็นการเอนหลังไปกับพื้น ซึ่งจะเหมือนหนูขี้เกียจหรือเปล่า

ตอบ : อันนี้พูดถึงความพอดี ความพอดีนี้พอดีอันหนึ่งนะ ความพอดี ในหลวงบอกเศรษฐกิจพอเพียง ความพอเพียงของคน เศรษฐี ความพอเพียงของเศรษฐี เศรษฐีเขามีเงินทุนของเขา เศรษฐีเขาจะทำธุรกิจของเขา เขาทำต้นทุนของเขา เขาใช้เงินเย็นของเขา นี่ในความดีของเขา คนชั้นกลาง คนชั้นกลางก็ทำความดีของคนชั้นกลาง ความพอดีของคนชั้นกลาง คนขี้ทุกข์ขี้ยาก เราก็ทำตามกำลังของความขี้ทุกข์ขี้ยากของเรา ความพอดีมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันก็ต่อไป

นี่ก็เหมือนกัน ความพอดีของเราก็ความพอดีของเรา เราก็ตั้งจิตใจของเรา ตั้งจิตใจของเรา ให้มีสติปัญญารักษา รักษาความพอดีของเรา นี่คือความพอดี ฉะนั้น ความพอดีแล้วจะเข้าไปสู่ข้อที่ ๒ คือว่า ถ้าเราเป็นโรคระบบประสาท เรื่องกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง

กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เราก็นั่งได้ อย่างเช่นเขาบอกว่า เวลานั่งสมาธิ เขาต้องนั่งขัดสมาธิ สมาธิราบ สมาธิเพชรก็แล้วแต่สมาธิ แล้วถ้าคนมันพิการมันนั่งสมาธิไม่ได้ มันจะทำสมาธิได้ไหม คนพิการ แขนขาเขาไม่ได้

ไม่ได้ เขาก็นั่งห้อยเท้าก็ได้ เพราะในการทำสมาธิ เดินจงกรม นั่งสมาธิ มันแตกต่างกัน เดินจงกรม นี่กิริยาของการเดิน นั่งสมาธิก็ท่านั่งสมาธิ คนเราพิการ เขาก็นั่งก็ได้ เขานอนก็ได้ ไม่มีปัญหา เพราะการปฏิบัติเขาไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออวดว่าร่างกายใครจะสวยงามกว่ากัน เขาปฏิบัติเพื่อความสงบของใจ เขาปฏิบัติเพื่อคุณงามความดี

ฉะนั้น ถ้าเรามีโรคประจำตัว ในเมื่อมันเดินจงกรมไม่ได้ เราก็นั่ง อ้าว! ที่ว่าบางทีนอนราบไปกับพื้น

นอนราบไปกับพื้น ก็นอนภาวนาก็ได้ อิริยาบถ ๔ เป็นอะไรไป เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าร่างกายเราไม่แข็งแรง เห็นไหม คนที่ร่างกายแข็งแรง จิตใจของเขาก็ไม่วิตกกังวล เขาภาวนาของเขา เขาอาจจะภาวนาราบรื่นก็ได้ เขาอาจจะภาวนายากก็ได้ ถ้าจิตใจเขาแข็งกระด้าง

แต่ถ้าจิตใจของเรา ถ้าเราต้องการภาวนา แต่เรามีเรื่องกล้ามเนื้อไม่มีแรงอย่างนี้ กล้ามเนื้อไม่มีแรง เห็นไหม เราภาวนาเพื่อหัวใจของเรา ยิ่งกล้ามเนื้อ ระบบประสาท กล้ามเนื้อไม่มีแรงยิ่งดีใหญ่ ให้เห็นโทษของมัน ร่างกายนี้เป็นรวงรังของโรค มีโรคประจำตัวทุกๆ คน มีมากมีน้อยอยู่ที่คนมีบุญมีกรรมขนาดไหน ฉะนั้น ถ้าร่างกายของเรามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เรายังประมาทกับชีวิตอยู่อีกไหม นี่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมามันบีบคั้นมา ทำไมเราไม่หาทางออก

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ไปหาหมอ หมอเขารักษาเรื่องสรีระของเรา เรื่องร่างกายของเรา แต่จิตใจของเรา ธรรมโอสถจะรักษาเรา หมอรักษาเราไม่ได้

หมอให้กำลังใจนะ หมอเขาบอกว่าหาย ทำทีเดียวหาย หมอจะให้กำลังใจตลอดแหละ เพื่อให้กำลังใจเข้มแข็ง ถ้ากำลังใจเข้มแข็ง หมอก็รักษาง่ายขึ้นมา เพราะกำลังใจมันจะกระตุ้นให้ร่างกายไม่อ่อนแอจนเกินไป ฉะนั้น เวลาหมอ หมอก็ให้กำลังใจ

แต่สำหรับเรา เราเองเราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักปฏิบัติ หมอไม่ต้องให้กำลังใจเราเลย เรามีปัญญาขึ้นมา เราจะเห็นเลย กายนี้เป็นรวงรังของโรค แล้วร่างกายมันเป็นโรคอยู่แล้ว แล้วจิตใจจะเป็นโรคด้วยไหม

ถ้าจิตใจเป็นโรคก็นี่ไงหนูจะเป็นคนขี้เกียจไหม

ถ้าเป็นคนขี้เกียจเขาก็ไม่ภาวนา ถ้าเป็นคนขี้เกียจ นี่เจ็บ คนป่วย คนป่วยต้องจ้างพยาบาล ๒ คน ขนาบซ้าย ขนาบขวา ก็ฉันเป็นคนป่วย อ้าว! คนป่วยก็ต้องจ้างพยาบาลมาดูแล แต่ถ้าฉันปฏิบัติธรรม อย่างนี้เป็นคนขี้เกียจไหม

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะกิเลสมันเอาทั้งขึ้นทั้งล่อง เวลาขาขึ้น ขาขึ้นจะปฏิบัติมันก็วิตกกังวล เวลาจะไม่ปฏิบัติมันก็ว่ามันขี้เกียจไง เวลาทั้งขึ้น ขึ้นมันก็หลอก จะไม่ทำมันก็หลอก กิเลสมันกินทั้งขึ้นทั้งล่องเลย แล้วปัจจุบันทำอย่างไรล่ะ ปัจจุบันทำอย่างไร

ปัจจุบัน ร่างกายนี้ยกให้หมอ หมอก็ดูแล อยู่ในความดูแลของแพทย์ แพทย์แนะนำอย่างไร ให้ประสาท ให้กล้ามเนื้อมันแข็งแรงขึ้นมา ถ้าแข็งแรงขึ้นมามันก็ดีขึ้นในทางการแพทย์

แต่ถ้าจิตใจเราล่ะ จิตใจเราถ้ามันจะทรุดมันจะโทรมขึ้นไป เราก็ดูแลของเราอยู่แล้ว ถ้าจิตใจมันไม่ไปกระตุ้นนะ เดี๋ยวมันก็หาย

แต่จิตใจไปวิตกกังวลเองนะอู๋ย! มันจะเป็นอย่างนั้นแล้ว มันจะเป็นอย่างนี้แล้วมันยังไม่เป็น เรานึกไปก่อนแล้ว จิตใจไปซ้ำเติม ถ้าจิตใจเราไม่ไปซ้ำเติมนะ มันก็เป็นอย่างนั้น อยู่อย่างนั้นน่ะ

ดูสิ ดูคนเจ็บคนป่วยนอนอยู่โรงพยาบาลเต็มไปหมดเลย คนเจ็บบางคนเขาเข้มแข็งขึ้นมา ต้องหายๆ แม้แต่ไม่น่าจะหายยังหายได้เลย เพราะจิตใจเขาเข้มแข็ง ถ้าจิตใจเข้มแข็งนะ หมอก็รักษาได้ง่าย ทางการแพทย์ ยาให้ไปแล้วมันให้ผลเต็มตามจำนวนที่ยาออกฤทธิ์ แต่ถ้าจิตใจของเรานะ จิตใจของเราวิตกกังวล มันไปกดไว้ขี่ไว้ ยามันจะออกฤทธิ์ไม่ได้อย่างคุณสมบัติของมัน มันอยู่ที่จิตใจของเราด้วย

ฉะนั้น เขาว่า ให้แนะนำถึงความพอดี ประมาณตน

ถ้าความประมาณตนนี่ก็บอกว่าเออ! หนูป่วยเนาะ อ้าว! หนูต้องนอนอย่างดีเลยนี่ความประมาณตน

เราประมาณตนของเรา ถ้าเห็นเขาเดินจงกรม เราเห็นแล้ว เห็นไหม คนเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เขามา เขานั่งสมาธิ เขาภาวนาของเขาด้วยกำลังความสามารถของเขา ร่างกายเป็นปกติ แล้วเขาจะรู้ได้ไหมว่าเราป่วยหรือไม่ป่วย ถ้าเราป่วย เรามานั่งภาวนาของเรานะ เขาก็มีความสงสัยอย่างนี้ เอ๊ะ! เขามาวัด ทำไมเขาไม่เดินจงกรมล่ะ เขามาวัด ทำไมเขาไม่นั่งสมาธิ

ถ้าเราบอกกันนะ บอกว่าเราเป็นคนป่วย เราทำได้แค่นี้ เขาจะให้โอกาสเรา เขาจะให้กำลังใจเรา เขาจะอะไร คนเรา เราเห็นแต่หน้า แต่เราไม่รู้นี่ว่าจิตใจเป็นแบบใด อันนี้ถ้าใครเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ภาวนาตามกำลังของเรา คำว่าภาวนาเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เหมือนกับมัจจุราชเขาตามมาแล้ว แล้วเราจะมีสมบัติอะไร เราจะมีสิ่งใดไปคะคานเขา

แต่ถ้าเรามีธรรมโอสถ มัจจุราชมันจะวิ่งหนีไปเลย เพราะเรามีคุณธรรมในใจ ถ้าเรามีคุณธรรมในใจ เราทำสิ่งใดก็ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความประมาณตนๆ เราประมาณเอง

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เจ็บไข้ได้ป่วยนี่ธรรมะมาแสดง เทศน์กัณฑ์หนึ่ง ธรรมะมาแสดงแล้ว เราอยู่ในป่าในเขา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มาลาเรียขึ้นมา ไม่มีหมอ ไม่มียา พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว

เวลาไม่เป็นไข้ เราก็เป็นปกติอย่างนี้ เวลาเป็นไข้ ไข้มันมาจากไหน ถ้าไข้มาจากไหน มันเป็นเองต้องหายเอง นี่เป็นคติของเราเลย มันเป็นมาจากไหนมันต้องหายที่นั่น เราถ้าออกมาข้างนอก เราถึงรักษา

แต่ถ้าอยู่ในป่า เพราะเราปฏิบัติอยู่ในป่านะ อยู่ด้วยกัน พระตายไป ๒ องค์ แต่คนละปี มาลาเรียด้วยกันนี่ ตายต่อหน้าเลย สู้กันอย่างนี้จนตายต่อหน้าเลย เห็นไหม ทำไมเขาเข้มแข็งได้ขนาดนั้น แล้วเราเห็นเขาตายต่อหน้า เราสลดไหม สลด แต่พอสลดแล้วเราก็มาคิดถึงตัวเราเอง ทำไมเขาทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ ฉะนั้น ต่อสู้มาตลอด นี่คำว่าต่อสู้

อันนี้มันเป็นวิบากกรรมแล้ว ในปัจจุบันมันเป็นวิบากกรรม แล้วเราทำกรรมสิ่งใดมามันถึงให้เราเป็นอย่างนี้ ถ้าเราทำสิ่งใดมา อันนี้มันเป็นวิบากคือผล ถ้าผลของมันแล้ว เราต้องตั้งสติแล้ว เพราะเราขาดสติ เราถึงได้สร้างบาปสร้างกรรม มันถึงมาเป็นแบบนี้

ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอย่างนี้ สอนเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องที่อดีต อดีตก็วางไว้ อนาคตยังมาไม่ถึง ในปัจจุบันนี้เราทำตรงปัจจุบันให้ดี ถ้ามันหายเป็นปกติมา อนาคตมันไม่มีวิบากกรรมอย่างนี้ต่อเนื่องไป แล้วเราก็ไม่สร้างกรรมสิ่งใดที่ให้มันเป็นทุกข์เป็นยากไปอีกแล้ว เราจะสร้างคุณงามความดีของเรา สร้างคุณงามความดีของเรา เราก็ตั้งใจทำความดีของเรา

เราไม่ไปน้อยเนื้อต่ำใจว่าคนอื่นเขามานี่เขาแข็งแรง เขาทำได้หมดเลย เราเป็นคนอย่างนี้ แต่บอกสิ บอกว่าเราป่วย เห็นไหม เพราะวัดที่นี่มีผู้ป่วยมาอยู่ในวัดนี้ อาศัยวัดนี้ก็เยอะมาก ถ้าป่วยแล้วนะ มันก็แล้วแต่ว่าเขาจะทำมากน้อยขนาดไหน ให้กำลังใจกัน การให้กำลังใจกัน สพฺเพ สตฺตา เป็นสัตว์ร่วมโลก สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด จงเป็นสุขๆ เถิด ฉะนั้น เวลามาอยู่ด้วยกัน มีน้ำใจต่อกัน

ใครเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ารู้กันแล้วก็ให้โอกาสเขา เจ็บไข้ได้ป่วย เดินไปเดินมา เราก็ช่วยกันดูแล แต่ถ้าใครแข็งแรง ใครเข้มแข็ง ก็ทำด้วยเต็มที่ของตน

รถ รถของใครสมบูรณ์ก็บรรทุกหนักหน่อยหนึ่ง เวลาจะเดินทาง เสบียงสัมภาระก็ใส่รถที่สมบูรณ์ รถของใครถ้ามันไม่สมบูรณ์นักก็ไปรถเปล่าๆ ก็ได้ ถ้ามันยังไม่ไหวก็เอาไม้ค้ำไว้ก่อนให้มันวิ่งไปได้ ให้มันถึงที่ก็ได้

รถของใครมันสมบูรณ์ เราก็บรรทุกของให้มันมากขึ้น รถใครไม่สมบูรณ์ เราก็ช่วยกันดูแล รถใครไปไม่ได้ อ้าว! เอารถซ้อนรถไปเลย ช่วยกันดูแลกัน นี่พูดถึงว่าถ้าใจเป็นธรรม ใจเป็นธรรมมันจะไม่มีปัญหา แต่ใจที่มันไม่เป็นธรรมมันมีปัญหา

นี่พูดถึงว่า แล้วจะทำอย่างไร เหมือนกับเราเป็นคนขี้เกียจ

ไม่หรอก อันนี้มันเหมือนกับว่ามันเป็นสมบัติเฉพาะตน คนไม่ป่วยก็จะไม่รู้จักว่าคนป่วยเป็นแบบใด ไอ้คนป่วยหรือก็จะหายจากป่วย ฉะนั้น ความป่วยไข้ โลกนี้เป็นรวงรังของโรค ร่างกายนี้เป็นรวงรังของโรค ถ้าเราเห็นว่ามันมีความป่วยความไข้ ความป่วยความไข้มันลุกลามมานะ เราจะมีที่ใดเป็นที่พึ่ง

ถ้าเรามีที่ใดเป็นที่พึ่ง พุทธานุสติ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเกิดสติเกิดปัญญา สิ่งนี้จะเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งอย่างไร ที่พึ่งเวลาจิตมันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มันอบอุ่น มีสติปัญญาขึ้นมา โรคภัยไข้เจ็บมันเบาลง แต่ถ้ามันเครียด มันวิตกกังวล โรคภัยไข้เจ็บมันจะซ้ำเติม เห็นไหม ธรรมโอสถ

เวลาร่างกายต้องให้หมอรักษานะ ไปหาหมอตามเวลาที่หมอสั่ง แล้วจิตใจของเรา เราเป็นคนดูแล เราเป็นคนดูแล เราพยายามปฏิบัติขึ้นมาให้มีธรรมโอสถรักษาหัวใจของเรา เอวัง