ไม่รู้คืออวิชชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “สงสัยในการภาวนา”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีข้อสงสัยขอเรียนถามดังนี้ครับ
๑. บ่อยครั้งที่ผมพิจารณา มักจะจบลงด้วยความไม่รู้ ผมจึงมีความสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูง
ตอบ : เดี๋ยวนี้ปัญหากระชับมาก เมื่อก่อนเขียนเป็นหน้าๆ เลย อธิบายเป็นคุ้งเป็นแควเลย แต่การอธิบายเมื่อก่อนอธิบายมาเยอะมาก เพราะว่าเวลาภาวนาไป เวลาภาวนาไปมันจะมีความสงสัย มันจะมีความรู้ความเห็นต่างๆ มหาศาลเลย เขียนปัญหาถามมาเยอะมาก แล้วเราก็ตอบไปเรื่อยๆ ตอบไปเรื่อยๆ นะ เขาก็เข้าใจดีขึ้น พอเข้าใจดีขึ้นเพราะภาวนามันเกิดความสงสัยไม่ได้ พอเกิดความสงสัยแล้วมันไม่ก้าวหน้า
ฉะนั้น เวลาเราตอบปัญหาเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เขาก็ภาวนาต่อเนื่องมาจนมาสรุปตรงนี้ เวลาภาวนาไปมันเป็นแบบนี้ สรุปลงว่า “บ่อยครั้งที่ผมพิจารณา มักจะจบลงด้วยที่ความไม่รู้”
ความไม่รู้ ไม่รู้คืออวิชชาไง ไม่รู้ก็คืออวิชชา เรามีอวิชชาโดยต้นเหตุอยู่แล้ว จิตเรามีความไม่รู้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว จิตเรามีอวิชชาครอบงำอยู่โดยธรรมชาติเลย ธรรมชาติก็คือมันไม่รู้ไง
แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์เลย เทศนาว่าการแจกแจง วิถีแห่งจิตแจกแจงได้หมดเลย แล้วพวกเราก็ไปเรียนกัน ไปเข้าใจกัน เราก็จำขี้ปากขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพูดชัดเจนมากเลย เหมือนเปี๊ยะเลย พุทธพจน์อันเดียวกันเลย แต่จบลงที่ความไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร
เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำรอกคายอวิชชาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบสิ้นไปแล้ว แต่เราไปจำวิธีการนั้นมา แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมา เราก็ทำทุกอย่างพร้อมเลย ทำทุกอย่างเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย มันก็รูปแบบไง เลียนแบบไง เลียนแบบมา แต่เราไม่ได้คิดค้น เราไม่ได้ทำของเราขึ้นมาเอง สุดท้ายมันก็จบลงตรงนี้ไง จบลงที่ความไม่รู้
“ผมจึงมีความสงสัย เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น”
ไม่ต้องสงสัยหรอก มันเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว ก็มันเป็นอย่างนี้ ธรรมะเป็นธรรมชาติไง ธรรมะเป็นธรรมชาติมันก็จบลงด้วยความไม่รู้ไง ก็ธรรมชาติไง ก็ยกให้ธรรมชาติไง แต่เราไม่รู้
แต่ถ้าเรารู้ล่ะ เห็นไหม รู้แจ้งแล้ววางไว้ อยู่เหนือมัน วางไว้หมดเลย วางธรรมชาติ วางวัฏฏะไว้ เราพ้นจากวัฏฏะไป
ถ้าจะพ้นจากวัฏฏะ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมามันถูกต้องมาทั้งนั้นน่ะ ถูกต้องหมายความว่า เริ่มต้นเราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะคนถามเขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิมา เห็นความรู้สึก เห็นความนึกคิด จับต้องได้หมด แล้วปล่อยวางหมดเลย ปล่อยไปๆ ปล่อยมาเรื่อย พิจารณา พอพิจารณาบ่อยครั้งเข้า พิจารณาบ่อยครั้งเข้า พิจารณาสิ้นสุดของมันคือความไม่รู้ จบลงที่ความไม่รู้
จบลงที่ความไม่รู้นี่สมุทัยมันเจือปนมา เวลาปฏิบัติไป สมุทัยมันเจือปนมา พอจบลงที่ความไม่รู้แล้ววางไว้ วางเลย กลับมาที่ความสงบ
หลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้เลย “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ”
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราจะพิจารณา เราคิดว่าเราจะทำงาน เราออกไปทำงาน เราขวนขวาย เราอยากได้มรรคได้ผลออกไปทำงาน พอไปทำงาน ทำงานจนออกไปอยู่กับงาน ออกไปส่งออกจนกำลังไม่พอ แล้วจบลงด้วยความไม่รู้ เห็นไหม หันรีหันขวางแล้ว หันรีหันขวาง ไปข้างหน้าก็ไปไม่ถูก จะถอยก็ถอยไม่เป็น อ้าว! แล้วทำอย่างไรล่ะ จะไปข้างหน้าก็ไปไม่ได้ เพราะมันจบลงที่ความไม่รู้
จบลงที่ความไม่รู้เพราะเหตุใด
จบลงที่ความไม่รู้ พอมันทำไปนะ กิเลสมันอ่อนตัวลงๆ มันหลบหลีก มันหลบหลีก มันหลบไง กิเลสมันหลบ กิเลสมันบังเงา กิเลสมันซ่อนอยู่ใต้จิตสำนึก แล้วเราก็พิจารณาของเราไป พิจารณาไปจบแล้วไปไหนล่ะ กิเลสมันหลบอยู่แล้วไปโดนมันไหม ไปโดนแล้วจบลงด้วยอะไร จบลงด้วยความไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร
ไม่รู้เพราะกิเลสมันยังหลบอยู่ภายใน เพราะอวิชชามันทำให้ไม่รู้ มันไม่รู้
อ้าว! ก็เราพิจารณาอยู่นี่ ก็เราพิจารณาอยู่ เราใช้ปัญญาอยู่ ที่เขาบอกว่า “ใช้ปัญญาไปเลยเป็นวิปัสสนา” ปัญญาของเขา สติปัฏฐาน ๔ มันก็เป็นแบบนี้
ทั้งๆ ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ ปฏิบัติตามความเป็นจริงเพราะเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วเราเห็น จับอารมณ์ความรู้สึกได้ จับขันธ์ได้ จับขันธ์ก็เป็นธรรมารมณ์ เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม เราจับจิตได้ เราจับได้แล้วพิจารณาไป แล้วมันปล่อยวางๆ
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ แต่ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันจะเป็นวิชชา ถ้าเป็นวิชชา ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิฯ เกิดญาณ เกิดวิชชา เกิดความรู้แจ้ง แล้วเกิดความรู้แจ้ง
แล้วทำอย่างไรถึงจะเกิดความรู้แจ้งล่ะ ถ้าเกิดความรู้แจ้ง
เวลามันไป มันไปไม่ไหวแล้ว ปล่อย ปล่อยแล้วกลับมาที่ผู้รู้ กลับมาที่พุทโธมาสร้างกำลัง ถ้าคนที่มีกำลังกว่า ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่มีกำลังมากกว่าจะคุมเกมเวลาจะต่อสู้กับเด็ก แต่ถ้าเราใช้กำลังบ่อยครั้งเข้าๆ กำลังเราอ่อนแอลง มันก็เสมอกัน เห็นไหม คนที่มีวุฒิภาวะเสมอกันก็ต่อสู้กันด้วยความเสมอภาค
แต่เวลาจิตมันเสื่อมนี่เราด้อยกว่าเขาแล้ว กิเลสมันเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความเพียรเราเป็นเด็กแล้ว เวลาภาวนาไปกิเลสมันเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เพราะมันใช้ลูกล่อลูกชน ใช้ลูกหลบลูกหลีก เราก็ยังเข้าใจว่ายังอหังการนะ วิปัสสนานะ โอ้โฮ! นักปฏิบัตินะ สู้ใหญ่เลย มุมานะนะ โอ้โฮ! ทำเต็มที่เลย กิเลสมันก็ล่อไปเรื่อย พาไปเรื่อย พาไปจนเราอ่อนล้า พาจนจิตเราเสื่อม พอจิตมันเสื่อมนะ มันตลบหลังมานี่ไง จบลงที่ความไม่รู้ ไม่รู้แล้วหันรีหันขวาง หันรีหันขวาง
แต่ถ้าครูบาอาจารย์นะ ไม่ต้องไปเสียใจ ไม่ต้องไปแปลกใจ เราจะเลียนแบบเขาเลยล่ะ มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นเช่นนี้เอง มันก็เป็นกิเลสอยู่อย่างนั้นเองไง ความเพียรก็เพียรกิเลสของเราเองไง มันไม่มรรคสามัคคีไง มันไม่สมุจเฉทปหานไง มันไม่ฟาดไม่ฟันเข้าไปที่อวิชชาไง มันไม่เข้าไปต่อสู้กับกิเลสไง
ถ้าเข้าไปต่อสู้กับกิเลส มันมีการชำระล้าง มันมีการฆ่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญการฆ่าประเภทเดียว
เห็นไหม การสร้างเวรสร้างกรรม การชนะ การระรานกัน พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมด ปฏิเสธหมดนะ ศีล ๕ ปาณาติปาตา ไม่ให้ฆ่ากัน ไม่ให้เบียดเบียนกัน ไม่ให้กลั่นแกล้งกัน ไม่ให้เสียดสีกัน ไม่ให้พูดถากถางกัน ไม่ให้ทั้งนั้นเลย สรรเสริญอยู่อย่างเดียวเท่านั้นน่ะ การฆ่ากิเลสประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้าสรรเสริญการฆ่ากิเลส
ฉะนั้น ใช้ปัญญาไปเลย วิปัสสนาไปเลย สติปัฏฐาน ๔ ไปเลย ไม่มีการกระทำอะไรเลย ไม่มีการทำอะไรเลย แล้วมันคืออะไร ก็ธรรมะเป็นธรรมชาติไง ธรรมชาติมันก็ตั้งอยู่นั่นไง ธรรมชาติอยู่ข้างนอก เราก็อยู่ของเราไง ทุกคนก็ต่างคนต่างอยู่ ก็เป็นธรรมชาติไง แล้วอย่างไรต่อล่ะ
แต่นี่ปฏิบัตินะ นี่ปฏิบัติหมายถึงว่าเราต่อสู้มาเป็นชั้นเป็นตอนแล้ว แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้ นี่ขนาดทำมานะ ทำมาคือว่าเราใช้
“๑. บ่อยครั้งที่ผมพิจารณา มักจะจบลงด้วยความไม่รู้”
แต่เมื่อก่อนมันจบลงด้วยอะไร จบลงด้วยความรู้ จบลงด้วยความรู้เพราะอะไร เพราะเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเรารู้ถึงจิตของเรา เราถึงวางอารมณ์ เพราะเรารู้จิตของเรา เราถึงวางอารมณ์ เพราะเราไม่รู้จิตของเรา เราถึงเสวยอารมณ์ เราเสวยอารมณ์ เราก็มีแต่ความคิด มีแต่ความผูกพัน เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้จิตของเรา
แต่ถ้าเรามีปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราทำจิตของเรา ตัวพลังงานมันเห็นโทษของมัน มันปล่อยวางๆ เรารู้จิตของเรา เรารู้จิตของเราด้วยรู้แจ้ง จิตของเรามันก็ไม่เสวยอารมณ์ จิตของเราก็เป็นเอกเทศ จิตของเราเป็นเอกเทศ จิตของเราก็เป็นสัมมาสมาธิ
พอเป็นสัมมาสมาธิ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นขันธ์ จิตเห็นการกระทำ จิตเห็นอารมณ์ นี่จิตเห็น ถึงจับแล้วพิจารณา
พิจารณาไปๆ มันจบลงด้วยความไม่รู้ได้อย่างไร
จบลงด้วยความไม่รู้เพราะสมาธิมันอ่อน จบลงที่ความไม่รู้เพราะกำลังไม่มี
ถ้ากำลังมีนะ จบลงไปด้วยความรู้แจ้ง พิจารณาไป พิจารณาแยกแยะไป พิจารณาไปเห็นเป็นไตรลักษณ์ มันปล่อย นี่มันปล่อยนะ ปล่อยตทังคปหาน ปล่อยคือปล่อยชั่วคราว ปล่อย ปล่อยแล้วก็อยู่กับความสุข ความสุขแล้วพอมีกำลังขึ้นมา พอมันจับความนึกคิดได้ จับต่อ จับต่อ พิจารณาต่อเนื่องไป พิจารณาต่อเนื่องไป
จับได้ พิจารณาไปมันก็ปล่อยๆ ถ้ามีกำลังมากขึ้น ปล่อยต่อเนื่องไป ถ้ากำลังมากขึ้นนะ ถ้ามันมีกำลังหมายถึงว่ามันปล่อยแล้วมันมีกำลัง ถ้ามันไม่ปล่อย มันใช้กำลังไปแล้วมันเสื่อม กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาที่สร้างกำลัง สร้างกำลังแล้วกลับไปพิจารณาต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ หมั่นคราดหมั่นไถ
หลวงปู่มั่นสั่งประจำเลย หมั่นคราดหมั่นไถ
ทำนาตั้งแต่สมัยโบราณมา เขาก็ต้องคราดต้องไถเขาถึงจะหว่านข้าวได้ จะปักกล้าหว่านเมล็ดข้าวได้ สมัยปัจจุบันนี้เวลาจะทำนาก็ต้องคราดต้องไถจนกว่าที่ดินเป็นเลนจนเหมาะสมกับการหว่านกล้า เหมาะสมกับการปักกล้าหว่านข้าวได้ อนาคต อนาคตกาลต่อไปข้างหน้าเขาก็ต้องหมั่นคราดหมั่นไถอยู่อย่างนี้ เขาหมั่นคราดหมั่นไถจนสุดท้ายแล้วเขาถึงสมควรจะหว่านกล้า จะหว่านข้าว จะปักกล้าได้
เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาไป ปล่อยแล้วปล่อยเล่าๆ ปล่อยก็คือปล่อย อดีตกาลเขาเกี่ยวข้าวไปแล้ว ข้าวเขาเกี่ยวแล้วเขาดำรงชีวิตในสมัยอดีตกาลมาแล้ว ปัจจุบันนี้เราก็ยังทำนาหาข้าวเลี้ยงชีวิตกันในปัจจุบันนี้ อนาคต มนุษย์ในอนาคตนั้นเขาก็ต้องทำนาเหมือนกัน เขาต้องหาข้าวหากินในอนาคตเขา นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เราก็ทำของเราในปัจจุบัน
ที่จบลงด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ก็หันรีหันขวางอยู่นี่ไง ถ้ามันไม่รู้ ไม่รู้ก็คืออวิชชา แล้วอวิชชาทำไมถึงไม่รู้ล่ะ ก็มันมีอยู่แล้ว อวิชชามันอยู่กับเราอยู่แล้ว ก็ไปจบลงที่มันไง ไปจบลงที่มัน ไปจบลงที่ความไม่รู้ไง แล้วจบลงที่ความไม่รู้
นี่ยังดีนะ จบที่ความไม่รู้แล้วยังสงสัย ยังเขียนมาถาม ถ้าไปจบที่ความไม่รู้นะ คนบอกว่า “มรรคผลไม่มีแล้วล่ะ เราทำมาขนาดนี้แล้ว วิปัสสนามา ปล่อยวางมา รู้แจ้งมาตลอดเลย สุดท้ายมาลงที่ความไม่รู้ เออ! เราทำขนาดนี้ มรรคผลนิพพานคงไม่มีแล้วล่ะ”
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ มันก็เป็นเช่นนี้เอง กิเลสมันก็เป็นเช่นนี้เอง กิเลสมันก็ปั่นหัวเอ็งเล่นไง กิเลสมันก็ปั่นหัวผู้ปฏิบัติเล่นไง ไหนบอกจะฆ่ามันไง จะฆ่ามัน แล้วถึงเวลาทำไมมาจบลง จบลงที่มัน ไปจบลงที่ความไม่รู้ ก็จบลงที่อวิชชา
แต่ถ้าเป็นธรรมะมันไปจบลงที่วิชชา เกิดญาณ เกิดวิชชา เกิดความรู้แจ้งในธรรมจักร ถ้าอย่างนั้นถึงเป็นสัมมาทิฏฐิ งานชอบ เพียรชอบ
ถ้างานไม่ชอบ มีสมาธิแล้วเถลไถล ส่งออกไปรู้นู่นรู้นี่ นั่นไม่ชอบ นี่งานไม่ชอบ งานส่งออก งานของโลก งานของมาร งานของกิเลส ไม่ใช่งานของมรรค ไม่ใช่งานของธรรม
ถ้างานของธรรม มันสงบระงับขนาดไหน น้อมไปกาย น้อมไปเวทนา น้อมไปจิต น้อมไปธรรม ไม่ส่งออก ไม่ส่งออกไปวิตกวิจารณ์เรื่องนอกจากอริยสัจ นอกจากอริยสัจแก้กิเลสไม่ได้ การแก้กิเลสมันจะอยู่ในอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคก็อยู่ในสติปัฏฐาน ๔ ถ้าสติปัฏฐาน ๔ แต่สติปัฏฐาน ๔ ต้องจิตจริง จิตเป็นสมาธิจริง จิตรู้จริง จิตตามความเป็นจริง มันถึงจะชำระล้างได้จริง
ขนาดจิตจริง รู้จริง สมาธิจริง ทำขึ้นไปแล้วเป็นอย่างนี้ ทำไปแล้วนะ เพราะทำไปแล้วมันเสื่อมสภาพเพราะกำลังใช้ไปแล้ว เทคโนโลยี วัตถุสิ่งใดก็แล้วแต่ที่ใช้ประโยชน์ พอใช้ไปแล้วมันเสื่อมค่าทั้งนั้น พร้อมกับอารมณ์ความรู้สึกด้วย อารมณ์ของเราไปรู้สิ่งต่างๆ โอ๋ย! ครั้งแรกรสชาติเข้มข้นมากเลย พอคิดซ้ำคิดซาก จืดแล้ว
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาวิปัสสนาไปแรกๆ มันก็เข้มข้นชัดเจน แต่พอทำไปแล้วกิเลสมันยืนระยะที่ดีกว่า มันยืนระยะไว้ เบียดไว้เรื่อยๆ มรรคใช้ต่อสู้มามันก็หลบหลีก ถึงเวลาแล้วพอมันยืนระยะ ธรรมเรายืนระยะก็สู้ไม่ได้ พอไปนี่ออกอาการแล้ว เป๋แล้ว ออกอาการ พอออกอาการ กิเลสมันยิ้มแล้ว พอยิ้มแล้วนะ ตอนนี้กิเลสมันซ้ำเติมแล้ว “ทำมาขนาดนี้แล้ว มรรคผล” นี่กิเลสมันซ้ำเติมแล้ว
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ เพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านวิกฤติอย่างนี้มากกว่านี้อีก มันหลอกมากกว่านี้อีก นี่ยังดีนะ มาจบลงที่ความไม่รู้ แต่ถ้ามันเป็นกิเลสมันสวมรอยนะ “นิพพาน วิปัสสนาจบแล้ว ว่างหมดแล้ว นิพพาน”
นิพพานอะไร ยังสงสัยอยู่นี่ ยังไม่รู้อยู่นี่ นิพพานอะไร ถ้าวิปัสสนาไปมันจะเจอเหตุนี้ เจอแบบว่ากิเลสมันหลอกมันล่อ มันพลิกมันแพลง
เวลาที่การประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่า ที่เราทุกข์ยากกันอยู่นี่มีอันเดียวเท่านั้นน่ะ กิเลสเราเท่านั้นน่ะ กิเลสคือมาร มารที่มันครอบงำหัวใจนี้มันไม่ปล่อยให้ใจนี้เป็นอิสระหรอก แล้วมันครอบงำมาไม่มีภพไม่มีชาติ ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันครอบงำมานานเนกาเล แล้วในปัจจุบันนี้เราเพิ่งมาหูตา เพิ่งมาตื่นไง เพิ่งมาระลึกได้ เพิ่งจะมาสู้กับมันไง
แต่เดิมถ้าคนไม่มองกลับมาตรงนี้นะ มันก็มองแต่หน้าที่การงานใช่ไหม เราจะร่ำเราจะรวย เราจะมั่งจะมี เราจะทำหน้าที่การงาน มันก็ไปกว้านเอาข้างนอก กิเลสมันอยู่ในเรือนมันก็ยิ้มสบาย นอนสบาย เอ็งไปหามาปรนเปรอข้าไป เอ็งไปหามาเพื่อปรนเปรอกิเลสอ้วนๆ ไง อย่างนี้สบาย
แต่ถ้าเราลืมหูลืมตา งานก็คืองาน เราทำแล้ว แต่เราทวนกระแสกลับแล้ว ทำสมาธิคือย้อนกลับไปที่จิต ถ้าย้อนกลับไปที่จิต จะไปรื้อค้นมันแล้ว ตอนนี้มันเดือดร้อนแล้ว ถ้ามันเดือดร้อนแล้วมันก็ต้องวางลวดลายของมันแล้ว ลวดลายของมันก็นี่ไง ทำไปแล้วเรายืนระยะระหว่างธรรมกับกิเลสต่อสู้กันในใจ ยืนระยะไม่ไหวก็เสื่อม
ถ้ายืนระยะมาอย่างนี้แล้วเราก็ต้องกลับมาฟิตความเข้มแข็งของเราเอง กลับมา ถ้าไปไม่รอด กลับมาพุทโธ พุทโธนี่ยาประจำบ้านเลยล่ะ ทำอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ให้คิดถึงพุทโธไว้เลย กลับมาพุทโธๆๆ
ทีนี้พุทโธ กิเลสมันสวมรอยนะ “โอ้โฮ! วิปัสสนามาขนาดนี้ ใช้ปัญญามาขนาดนี้ แยกแยะได้หมดเลย ขันธ์ ความรู้สึกแยกได้ขนาดนี้ ตอนนี้เราขึ้นไปยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว เราขึ้นไปจนสุดยอดสูงสุดในโลกแล้ว เราจะถอยกลับมาได้อย่างไร”
เวลาจะกลับมาพุทโธมันเป็นสมถะไง พอบอกสมถะ ทุกคนจะบอกว่า “อู๋ย! เราทำมาแล้ว พื้นที่ราบเราสำรวจมาหมดแล้ว ตอนนี้เราขึ้นจุดสูงสุดของโลกแล้ว แล้วจะถอยกลับมาได้อย่างไร” นี่กิเลสมันหลอกซ้ำสองซ้ำสาม
ยอดเขาเอเวอเรสต์มันสูงที่สุดในโลก เขาปีนขึ้นไปเขาจะไปเอาชื่อเอาเสียงกันว่าได้ไปถึงจุดสูงสุดของโลก อันนั้นมันก็แค่สมมุติอันหนึ่ง
แต่ในจิตใจของเรา เราวิปัสสนามาขนาดไหน เรารู้แจ้งขนาดไหน อันนั้นก็คือการฝึกงานของเรา เราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา แต่ในเมื่อมันยังไม่สมุจเฉทฯ มันยังไม่สมดุลของมัน เราต้องใช้กำลังต่อเนื่องไป เราต้องใช้กำลังต่อเนื่องไป เรายังต้องดำรงชีวิตต่อไป เราต้องมีคุณธรรมประจำใจของเราต่อไป เราจะต้องมีศีล เราต้องมีสมาธิ เราต้องมีปัญญาเพื่อเป็นเสบียง เป็นมรรค เห็นไหม มรรค ๘ มันต้องมี ๘ องค์กร ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ มันต้องเกื้อหนุนกัน ฉะนั้น เกื้อหนุนกัน เราก็กลับมาสร้างสมของเราเพื่อกองกำลังของเรา เพื่อจะเข้าไปต่อสู้ชำระล้างมัน ถ้ามันคิดได้อย่างนี้ กิเลสมันก็ไม่ซ้ำเติมไง
ถ้ากิเลสมันซ้ำเติมนะ “โอ้โฮ! เราไปไกลแล้ว เราวิปัสสนาไปจนจะจบอยู่แล้ว จะต้องกลับมาพุทโธอีก”
กองทัพไหนเขาต้องเดินด้วยท้องทั้งนั้นน่ะ กองทัพไหนเขาต้องมีเสบียงทั้งนั้นน่ะ แหม! ไปไกลแล้วไม่ต้องส่งเสบียงเลย เอ็งหากินเอาเองนะ กินลมเอาก็แล้วกัน อ้าว! รบไป กินลมไปด้วย ลมนั่นน่ะกินได้ อากาศกินเข้าไปแล้วไม่ต้องส่งเสบียง
เวลากิเลสมันพลิกแพลงนะ มันพลิกแพลงของมันอย่างนั้น เวลากิเลสมันใช้ดุลพินิจของมัน แต่ถ้าปัญญาเราไม่ทัน มันท้อแท้
นี่ไง เวลาปฏิบัติมันถึงต้องมีเหตุมีผล มีครูมีอาจารย์คอยสนับสนุน คอยสนับสนุนแล้ว เหตุผลของท่านชัดเจนอยู่แล้วแหละ แต่เหตุผลของเราเหตุผลข้างๆ คูๆ เหตุผลจะเรียกร้องเอาความเห็นใจ
มันก็น่าเห็นใจจริงๆ นะ มันทุกข์มันยากนะ โอ้โฮ! ลงทุนลงแรงมาก การปฏิบัติโอ้โฮ! เหนื่อยอ่อนมาก
หลวงตาท่านพูดประจำนะ ใครว่าทำงานแล้วเหนื่อย ทำงานแล้วเหนื่อย งานทางโลก ถ้ายังไม่ได้ภาวนา อย่าเพิ่งมาคุยนะ เพราะงานทางโลกมันไม่ถึงสละชีวิต การบำเพ็ญเพียรมันสละชีวิตแล้วสละชีวิตเล่านะ เวลากิเลสมันมาพลิกแพลง มันบอกจะตาย อะไรตายก่อน ทุ่มเลย ชีวิตนี้แลกเลย แลกกับความมุมานะของเรา เอาธรรมแลกกับกิเลสมา แลกกันมาประจำ
มันถึงบอกว่า ถ้ามันท้อมันแท้ มันทุกข์มันยาก ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นใจ เห็นใจ เพราะเห็นใจ ท่านถึงได้พยายามจะบอกถึงว่าให้เรามีสติมีปัญญารักษาให้ดี
เวลาทำนี่แสนทุกข์แสนยาก แล้วรักษาไว้นี่ยากมาก เงินทองเอาใส่เซฟไว้ ถ้ามันเสื่อมค่าก็เสื่อมค่าตามเงินเฟ้อ แต่ถ้าสมาธิ มันไม่รู้จะไปใส่เซฟไหน ปัญญาไม่รู้จะใส่เซฟไหน เวลามันดีมันก็ดีอยู่อย่างนี้ เวลามันถอยกรูดๆๆ หมดเลย เข็นครกขึ้นภูเขา เวลามันไหลลงมามันทับตายเลย นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาเกือบเป็นเกือบตายกว่าจะดีขึ้นมา เวลามันเสื่อม พรืด! หมดเลย ฟืด! เกลี้ยงเลย นี่เวลามันเสื่อมนะ
นี่ไง ครูบาอาจารย์เขาถึงไม่ให้คลุกไม่ให้คลีไง ไม่ให้คลุกคลีกัน พระภิกษุผู้ปฏิบัติให้อยู่วิเวก ให้อยู่ที่สงบสงัดรักษาใจของตัว ดูแลไว้ มันได้มานี้แสนยาก แล้วเวลาถ้ามันเสื่อมถอยไปแล้วก็มาคอตก มาทุกข์มายาก เพราะไม่รู้จักวิธีรักษาไง
แต่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้ว เวลามันเสื่อม เวลามันทุกข์มันยาก หลวงตาใช้คำว่า “เศรษฐีแล้วล้มละลาย” ถ้าเป็นสมาธิ สมาธินี่แจ่มเลย ดีมากเลย เวลามันเสื่อมนะ เหมือนเศรษฐีที่ล้มละลาย ดูสิ คนที่เป็นเศรษฐีแล้วล้มละลายทุกข์ขนาดไหน เหมือนกัน อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาพูดมาอย่างนี้มันชัดตรงนี้ไง
“บ่อยครั้งที่ผมพิจารณา มันจะไปจบลงที่ความไม่รู้”
แหม! สารภาพมาชัดๆ เลยนะ “ไปจบลงที่ความไม่รู้” ไม่เขียนมาแจ่มเลย แต่ก่อนเขียนมานี่ โอ้โฮ! แยกแยะหมดเลย รู้อย่างนั้น เห็นอย่างนั้น
ที่รู้อย่างนั้น เห็นอย่างนั้น มันเป็นประสบการณ์ของผู้ที่ปฏิบัติ ใจดวงใดก็แล้วแต่ได้แยกแยะ ได้ใช้ปัญญาไปแล้ว นั่นคือประสบการณ์ คนเราต้องมีประสบการณ์ เห็นไหม มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก คือการกระทำที่มีความเป็นจริงในใจของเรา มรรคผลมันจะเกิดจากการกระทำแบบนี้
มรรคผลไม่ได้เกิดจากสัญญาคือการจำ สัญญาไปจำเขามา แล้วเกิดจากจินตนาการ มันไม่ใช่มรรคไม่ใช่ผลหรอก มันลอยลม มันไม่มีเหตุผล ไม่มีข้อเท็จจริงในหัวใจ
แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันมีข้อเท็จจริงในหัวใจ เวลาทุกข์นะ ทุกข์ยากแสนเข็ญ เวลาลงสมาธิมันสงบนี่สุขพอใจเลย เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาแยกแยะขึ้นมา เห็นไหม ผลกำไร ขาดทุนแล้ว เราได้กำไร ได้ขาดทุน เรารู้แล้ว ตอนวิปัสสนามันจะได้มรรคได้ผลมา ตอนนั้นเราทำไปแล้ว
นี่เราก็ทำมาแล้ว แต่เวลาเป็นอย่างนี้ เวลาถึงที่สุดแล้วมันเป็นอย่างนี้ มันต้องกลับมาใหม่ กลับมานะ ไม่ใช่กลับมารื้อฟื้น กลับมาแบบคนไม่มีอะไรเลย กลับมาใหม่ มารื้อฟื้น กลับมาสร้างกำลังเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่เราทำมาแล้วเราก็รู้แล้วใช่ไหม เราภาวนามาแล้ว เราเข้าใจมาแล้ว เรารู้มาแล้ว อันนั้นก็คือสมบัติของเราไง ไม่ต้องไปตกใจว่า “ถ้ากลับมาพุทโธมันเหมือนกับ อู๋ย! ไปเริ่มต้นใหม่เลย โอ๋ย! มันไม่ไหว โอ๋ย! ทำมาไกลแล้วน่ะ”...กิเลสมันหลอก
กองทัพมันจะชนะกันวันนี้พรุ่งนี้มันยังต้องการเสบียงเลย มันยังต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา กองทัพเดินด้วยท้อง จะวิปัสสนาต้องมีสัมมาสมาธิเป็นเครื่องเกื้อหนุนตลอด สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าขาดสัมมาสมาธิ มันจะเป็นโลกียปัญญา เป็นเรื่องโลก เป็นเรื่องสัญญา เป็นเรื่องความจำ เป็นเรื่องความเคยชิน มันไม่ใช่เป็นมรรคจริง
มันเป็นมรรคจริงมันต้องมีสัมมาสมาธิเป็นตัวรองรับ เพราะสัมมาสมาธิมันไม่มีกิเลสเข้ามาเจือปน ไม่มีสมุทัยเข้ามาเจือปน มันเป็นสัมมาสมาธิมันถึงจะเป็นธรรม พอเป็นธรรมแล้วเกิดวิปัสสนา เกิดปัญญา มันจะเกิดภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาคือโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาคือปัญญาที่หลุดจากโลก ปัญญาที่พ้นจากโลก ปัญญาที่จะกำราบปราบปรามโลกทัศน์ความข้องในใจ
ความข้องในใจเป็นปัญญาทางโลก ฉะนั้น เวลาที่เราไหลลงไป มันจะไหลลงไปสู่สัญญา สู่ปัญญาทางโลก
แต่ถ้าเราวิปัสสนาไป เวลาถึงที่สุดมันขาดนะ อกุปปธรรม อกุปปธรรมคือโสดาบัน ถ้ามันวิปัสสนาต่อเนื่องสูงขึ้นไป เวลาถ้ามันไหลลงมานะ มันก็ไหลลงมาสู่ตรงนี้ ไหลลงมาสู่โสดาบัน ไหลลงมาสู่อกุปปธรรม อกุปปธรรมคือคงที่ไง อกุปปธรรมที่มันรองรับไว้ไง
แต่ตอนนี้เราไม่มีสิ่งใดรองรับไว้ เวลาไหลลงไปมันไหลไปที่ปุถุชนนู่นเลย ไหลลงไปที่สามัญสำนึกของมนุษย์เลย สามัญสำนึกของคน โลกียปัญญา เรื่องโลกเลย ถ้าทำไป พิจารณาไป มันจะรู้มันจะเห็นของมันอย่างนี้ แล้วจะสู้ได้ไง
เขาถามต่อไง “แล้วผมมีความสงสัยว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูง”
เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นผลงานของกิเลส มันเป็นพื้นฐาน เป็นเบสิกเลย กิเลสมันเป็นอย่างนี้ กิเลสมันหลอกผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันพลิกแพลง มันหลอกลวงเพื่อให้สมเป็นประโยชน์กับมัน
“เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น”
มันเป็นอย่างนี้แหละ กิเลสมันเป็นอย่างนี้แหละ ถ้าเป็นอย่างนี้ รู้เพราะอะไร เพราะเราใช้ปัญญาไปแล้วนะ จบลงที่ความไม่รู้ นี่กิเลส อวิชชา
แล้วถ้ารู้ล่ะ วิชชาล่ะ
เห็นไหม ถ้ามีวิชชา วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน มีวิชชา มีจรณะ มีความรอบคอบ มีทุกอย่างพร้อม ชัดเจนมากเลย เพราะอะไร เพราะเวลามันขาด ขาดด้วยความชัดเจน
เวลาปล่อยก็ปล่อยไปด้วยความรู้ แต่ก็ยังงงๆ เพราะอะไร เพราะมันไม่ขาด เวลามันขาด สังโยชน์มันขาดดั่งแขนขาด โอ๋ย! มันขาด เวลามันขาดต้องใช้ความมุมานะ ความพยายามไป ถ้าความมุมานะ ความพยายามไป
นี่ถามมาด้วยความดีมาก ดีมากหมายความว่า มีความสงสัย มีความข้องใจ เปิดอกคุยกันไง
ธรรมดาแล้วคนที่เขาวิปัสสนา เขาใช้ปัญญาไปแล้วเขาไม่กล้าพูดอย่างนี้ไง ไม่ใช่ว่ามันจบลงที่ความไม่รู้ ความไม่รู้คือเราไม่มีมรรคมีผล เราไม่มีเหตุมีผลไง ทุกคนจะบอกว่าเราเศรษฐีธรรม ทุกคนมีธรรมเต็มหัวใจเลย แต่ไอ้คนบอกว่าความไม่รู้ ความไม่มี ไม่ค่อยมีใครพูดไง แต่ถ้าเราพูดออกมา เออ! ใช่
เพราะความไม่รู้ ฝึกหัดดัดแปลงมันให้มันเป็นความรู้ เป็นความเข้าใจ เห็นแจ้ง รู้ชัด เวลาพิจารณาไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนกว่ามันจะถึงที่สุดมันก็ขณะจิตคือขาด ทำอย่างนั้นไป
นี่พูดถึง “ทำไมมันเป็นเช่นนั้น”
มันเป็นอย่างนี้
นี่พูดถึงว่ามันจบลงที่ความไม่รู้ คือมันจบลงที่อวิชชา ไปจบลงที่ตัวมันจริง ไปจบลงที่ตัวกิเลสนั่นล่ะ แต่เราพลิกกลับมาใหม่ ถ้าอย่างนี้แล้ว ถ้าพูดถึงถ้าไปหาอภิธรรม อภิธรรมบอก “เห็นไหม บอกแล้วพุทโธเป็นแบบนี้ พุทโธไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน พุทโธปฏิบัติไปแล้วไม่มีมรรคมีผล เห็นไหม สู้มาใช้ปัญญาอย่างเราดีกว่า ปัญญาอย่างเรามันรู้แจ้ง นั่นน่ะรู้แจ้ง”
รู้แจ้งอย่างนั้นรู้แจ้งสิ่งที่ว่ามันเป็นเช่นนั้นเองไง มันไม่มีสิ่งใดประหัตประหารกันไง มันไม่มีระหว่างธรรมกับกิเลสต่อสู้กันไง มันไม่มีธรรมะเข้าไปชำระล้าง ไปสำรอกไปคายกิเลสออกไง นี่เวลาคนที่มันเพลี่ยงพล้ำ คนที่ท้อแท้ พอไปเจอสิ่งใดชักจูงไป เราจะไปสิ่งที่มีคุณค่าต่ำลงไปเรื่อยๆ คุณค่าต่ำคือคุณค่าทางโลก ไม่มีคุณค่าทางธรรม
ถ้าคุณค่าทางธรรมนะ เราต้องมุมานะกลับมาใหม่ แล้วสู้กับมันใหม่ เอาให้เห็นจริงเห็นจังขึ้นมา กลับไปใหม่ กลับมาพุทโธ กลับมาที่ผู้รู้
นี้สงสัยในเรื่องภาวนาเนาะ ต่อไป
ถาม : เรื่อง “การเบียดเบียนผู้อื่น”
ครอบครัวคนจีนจะมีการทำฮวงซุ้ยบรรพบุรุษ แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งในครอบครัวทำการปรับฮวงซุ้ยเพื่อผลประโยชน์เฉพาะครอบครัวตัวเองโดยไม่แจ้งให้ญาติพี่น้องทราบ การกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นและเป็นบาปหรือไม่คะ
ตอบ : อันนี้เป็นเรื่องความเชื่อนะ ความเชื่อทางโลก เวลาเราพูดเรื่องนี้ เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านพูดดีนะ ท่านบอกว่า ท่านเรียนถึงมหา เวลาท่านพูดถึงทางวิชาการ ท่านบอกว่าวิชาการก็คือวิชาการ ไม่ใช่การถอดถอนกิเลส ถ้าท่านไม่เรียนมาก็หาว่าไปว่าคนอื่นไง
ไอ้เราก็เหมือนกัน เวลาเราพูดถึงฮวงซุ้ย เรื่องประเพณี มันเป็นเรื่องของคนไทยเชื้อสายจีน แล้วดูหน้าเราสิ เจ๊กทั้งขี้เลยล่ะ เพราะพ่อนี่จีนนอกเลย เราก็เหมือนกัน
ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นความเชื่อไง เรื่องฮวงซุ้ย เรื่องบรรพบุรุษ มันเป็นความเชื่อ ถ้าความเชื่อมันก็มีที่มาที่ไป อย่างเช่นความเชื่อ ดูสิ พระยสะ พระยสะฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไปเอาพรรคพวกมาบวช แล้วเขาถามว่าทำไมพระยสะทำได้ง่ายขนาดนั้น ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า แต่เดิมเขาเป็นคนที่เที่ยวเก็บศพไง เก็บศพไร้ญาติ เก็บศพกลางทางมาทำฌาปนกิจ เขาสร้างบุญอย่างนี้มาพร้อมกับคณะของเขา
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพวกเราล้างป่าช้าต่างๆ มันก็มาจากตรงนี้ไง มันมีที่มาที่ไปไง ทีนี้การว่ามีที่มาที่ไป บรรพบุรุษเขาฝังกัน มีฮวงซุ้ย แล้วฮวงซุ้ยแล้วเขาก็ถือไง เขาถือฮวงจุ้ย เขาถือว่าการทำอย่างนั้นเป็นเคล็ดเป็นต่างๆ อันนี้เป็นความเชื่อ เป็นความเชื่อใช่ไหม
ฉะนั้น ถ้าในครอบครัวเราคนใดคนหนึ่งไปปรับปรุงฮวงซุ้ยเพื่อประโยชน์เฉพาะครอบครัว
ถ้าเขาไปปรับฮวงซุ้ยเฉพาะครอบครัว ถ้าพูดถึงความเชื่อนะ ความเชื่อสิ่งนั้น ถ้ามองกันอย่างนั้น เอาสิ่งนั้นมาเป็นคติ เอาสิ่งนั้นมาเป็นรูปแบบ เราก็จะมีความบาดหมางกัน
แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เพราะเขาถามเรา เราเป็นพระ ถ้าเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ถือรัตนตรัย ให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก ไม่เชื่อสิ่งอื่นๆ ใดๆ เลย
ถ้าไม่เชื่อสิ่งอื่นๆ ใดๆ เลย เรื่องฮวงซุ้ย เรื่องต่างๆ มันก็เป็นศาสตร์ศาสตร์หนึ่งที่เขาเชื่อกัน ถ้าเป็นศาสตร์ศาสตร์หนึ่งที่เขาเชื่อกัน ถ้าเขาทำของเขาแล้วเขาได้ประโยชน์ของเขา เขาสนใจ เขาไปดูแล ถ้ามองมุมกลับ เขาไปดูแลฮวงซุ้ย เขาไปทำความสะอาด เขาไปดัดแปลง ถ้าเขาไปดูฮวงซุ้ยของพ่อแม่เราให้ดูสวยงาม เขาก็ทำประโยชน์กับเขา เพราะเขาขยัน เขาทำของเขา เขาประกอบสัมมาอาชีวะ เขาถึงเจริญรุ่งเรือง
แต่เราไปคิดไงว่าเขาไปปรับฮวงซุ้ยเฉพาะครอบครัวเขา เขาไปปรับฮวงซุ้ยเฉพาะครอบครัวเขา แล้วเขาก็เจริญรุ่งเรืองใช่ไหม ไอ้เราไม่ได้ไปปรับฮวงซุ้ย ครอบครัวเราก็เลยติดขัดไปหมดเลย
ไอ้คำว่า “ติดขัดหรือไม่ติดขัด” ถ้าเราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธเขาไม่ดูที่นั่น เขาให้ดูความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เห็นไหม เชื่อในสัจจะ ถ้าเชื่อในสัจจะ เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม ถ้าเขาไปทำฮวงซุ้ย เขาไปปรับฮวงซุ้ยเพื่อครอบครัวของเขา เราก็สาธุ สาธุว่า เขาขยันหมั่นเพียร เขาอุตส่าห์ไปดูแลฮวงซุ้ย เขายังทำมาหากิน ครอบครัวเขาเจริญรุ่งเรือง อ้าว! ก็สาธุ เขาเป็นคนดี
แล้วของเราล่ะ ของเรา อ้าว! เราก็ไปปรับบ้างก็ได้ถ้าเราจะไปปรับ เออ! เราก็ไปปรับฮวงซุ้ยบ้าง ถ้าเราเชื่อว่ามันทำแล้วมันจะรวย ถ้าไปปรับแล้วกลับมาทำแล้วทำไม่รวย อ้าว! ยุ่งเลย ฮวงซุ้ยก็ปรับแล้ว ทำมาหากินก็ทำแล้ว ทำไมไม่ร่ำรวยเหมือนเขาล่ะ
ทีนี้ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ เราเชื่อตรงนี้ไง เราเชื่อตรงที่ หนึ่ง เราขยันหมั่นเพียร เราขยันหมั่นเพียร เราไม่ประมาท เราไม่เลินเล่อ เราใช้สติปัญญา ตรงนี้มันจะทำให้เรามั่นคงในชีวิตเรา
เขาจะทำคุณงามความดีของเขาขนาดไหน เขาจะปรับฮวงซุ้ยของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา ความเชื่อของเขา ถ้าเขาเชื่ออย่างนั้น เขาเชื่อกันจริงๆ นะ เพราะว่าในสังคม ทางวิชาการต่างๆ แขนงต่างๆ มันมีเยอะแยะไปหมด อยู่ที่ใครจะศึกษาไม่ศึกษา ถ้าเขาศึกษาเรื่องฮวงซุ้ย เขาเชื่อเรื่องฮวงซุ้ย บางคนเชื่อเรื่องฮวงซุ้ย เขาเชื่อก็เรื่องของเขา เขาเชื่อของเขา แต่เขาทำไปๆ แล้ว เขาต้องไปปรับฮวงซุ้ยของเขา เขาต้องไปดูแลของเขา เขาต้องดูแลอย่างนั้นตลอดไป มันไม่เป็นอิสระใช่ไหม
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมยังต้องมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในลัทธิศาสนาอื่นเขาเคารพใคร ในวัฏฏะนี้จะเคารพใคร
ถ้าพูดถึงเคารพเทวดา อินทร์ พรหม เขาว่า เทวดา อินทร์ พรหมเป็นพระจงพระเจ้า มันก็สูงสุดในวัฏฏะก็มีเท่านี้ ตั้งแต่พรหมลงมา ตั้งแต่พรหมลงมานี่เป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นเลย มาฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วเราเองเราก็เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร เห็นไหม ถ้าสอนเรื่องทำมาหากิน เรื่องคารวะ ๖ เรามีความคารวะ เรามีความนอบน้อม เรื่องทิศก็ได้
เวลามาบวชแล้วเป็นทิด ทิดเพราะอะไร ทิดเพราะมีการศึกษา บนศีรษะของเราทิศเหนือ ทิศสูง ทิศบนศีรษะของเราคือสมณะชีพราหมณ์ ครูบาอาจารย์ของเรา ทิศเบื้องหน้าคือพ่อแม่ของเรา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องขวา เห็นไหม เขาให้บริหารทิศ ถ้าเราบริหารทิศ เราบริหารอย่างนี้ เราจัดการอย่างนี้ เราก็เป็นชาวพุทธ ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธ เรามีปัญญาแล้ว เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องปลีกย่อย
ฉะนั้น แต่เรา เราเป็นคนขาดแคลน เราเป็นคนไม่มั่นใจ เขาไปทำอย่างนั้น เราก็ไปมองเขาว่าเขาเบียดเบียน เพราะว่าถ้าเป็นฮวงซุ้ยนี่เป็นของตระกูล ทุกคนต้องมีสิทธิเสมอภาคเหมือนกัน เราคิดของเราอย่างนี้
สิทธิเสรีภาพเหมือนกัน แต่เขาทำของเขา เขาไปปรับฮวงซุ้ยของเขา เขาไปทำดีของเขา ปรับฮวงซุ้ยก็เหมือนเชงเม้ง เขาไปทำความสะอาด เขาไปทำความสะอาด ของคนไทยก็สงกรานต์ สงกรานต์ก็เอากระดูกพ่อกระดูกแม่มาทำความสะอาด นี่เขาทำคุณงามความดี คนทำคุณงามความดีเขาขยันหมั่นเพียรของเขา เขาถึงประกอบสัมมาอาชีวะ เขาถึงประสบความสำเร็จของเขา
ไอ้เรานี่ โอ๋ย! นักปฏิบัตินะ เป็นชาวพุทธนะ นั่งเฉยเลย นั่งพุทโธอย่างเดียวเลย ไม่ทำอะไรเลย มันก็ได้แค่พุทโธนี่ ได้ลมหายใจนี่ ได้หัวใจนี่ แต่สิ่งที่จะได้จากภายนอกมันก็ต้องขยันหมั่นเพียร ถ้าขยันหมั่นเพียรมันก็จะได้สิ่งนั้นมา
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาเบียดเบียนไหม
นี่ภาษาเรานะ ความคิดนี้ ใจนี้มหัศจรรย์มาก เวลาคิดดีนี่คิดได้ดีสุดๆ เลย เวลามันคิดร้ายมันก็คิดถึงกับทำร้ายตัวเองได้มหาศาลเลย อันนี้ก็เหมือนกัน นี่เราคิดของเราเองไง เราคิดว่าเป็นการเบียดเบียนไหม แล้วนี่ไม่กล้าไปถามคนทำด้วยนะ กลับมาถามพระ พระเป็นคนสาธารณะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทีนี้ไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็พูดอย่างนี้ เราคิดเอาเองไง เราคิดว่าเขาไปทำเพื่อประโยชน์ของเขา เพื่อประโยชน์ครอบครัวคนเดียว
ถ้าเราคิด จิตใจเราเป็นสาธารณะ ถ้าเขาทำดีแล้วก็เรื่องของเขา เขาทำดี ถ้าพี่น้องเรา ชาติตระกูลของเรา เขาเจริญรุ่งเรือง เราก็พอใจนะ แต่ถ้าเขาตกทุกข์ได้ยาก เรายิ่งเศร้าใจใหญ่ แต่ถ้าเขาทำดีแล้วเราก็พอใจ
แต่เรานะ ถ้าเรายังไม่ดีอย่างเขา เราก็ขยันหมั่นเพียรของเรา เราก็มุมานะบากบั่นของเรา เราบริหารจัดการของเราให้รอบคอบ เราไม่มีความประมาทในชีวิตของเรา ไม่ประมาทในทรัพย์สินของเรา เราทำของเรา ถ้าเราทำของเรามันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ปั๊บ รักษาใจเรา
หลวงตาท่านสอนบ่อย รักษาใจเรา ใจของคนอื่นนะ บาปเวรมันก็เรื่องของเขา ถ้าใจของเรา เรารักษา มันก็เป็นเรื่องของเรา เป็นผลประโยชน์ของเรา
ถ้าผลประโยชน์ของเรา ถ้าเราเป็นชาวพุทธด้วย เราใช้คำว่า “เป็นชาวพุทธ” บ่อย เพราะคำว่า “เป็นชาวพุทธ” พระพุทธศาสนาสอนให้เสียสละ เสียสละเรื่องภายนอก เสียสละเรื่องภายในคือความเบียดเบียนตนเอง ความคิดที่มันเบียดเบียนใจ เราต้องเสียสละให้เป็น ถ้าเสียสละได้ เห็นไหม การเสียสละนี้เขาเรียกว่าสละกิเลส ถ้าสละกิเลสได้
ที่เราภาวนากันอยู่นี่เราภาวนาเพื่อสละกิเลส ชำระล้างกิเลส ทีนี้มันชำระล้างไม่ได้ มันถึงต้องวางพื้นฐานเบสิกไปเริ่มต้นตั้งแต่ทานไง ฝึกหัดดัดแปลงมาตั้งแต่ทาน ทาน ศีล แล้วมาภาวนา ถ้ามันมีพื้นฐานมาอย่างนั้นปั๊บ มันก็ทำของมันขึ้นไปได้ ถ้าทำขึ้นไปได้นะ
ใครขยันหมั่นเพียร เราสาธุเลยนะ ใครทำคุณงามความดี ใครเสียสละ ใครทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรานี่เห็นดีเห็นงามไปกับเขาเลย เราช่วยส่งเสริมเขาเลย แล้วเราจะทำด้วย
แต่เราไม่ทำอย่างนั้น เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ไปทำใจของเรา เราเสียสละไอ้ความตระหนี่ถี่เหนียว ไอ้เสียสละที่คอยจับผิดคนอื่น ไอ้เสียสละที่ว่าเขาทำความดีแล้วเราไปกีดขวางเขา เราทำของเราบ้าง เราทำของเราบ้าง
ไอ้เรื่องความมั่งมีศรีสุขนี่นะ ถ้าใครทำบุญกุศลมา ถ้าใครไม่ทำบุญกุศลมานะ มันมีมากน้อยขนาดไหนก็รักษาไว้ไม่ได้นะ การรักษาไว้นี้ก็แสนยากนะ การแสวงหาเงินหาทองมานี้ก็ยากอย่างหนึ่ง
คนเราคนทุกข์คนจนเวลามีเงินมีทองก็มีความสุข มีความสบายใจ ยิ่งมีมากขึ้นมา พอคนมีเงินมีทองขึ้นมาก็เที่ยวเล่น เล่นการพนันสูญหายหมด เห็นไหม การที่แสวงหามาก็ทุกข์อันหนึ่ง การรักษาไว้ทุกข์กว่าอีก พอมีเงินมีทองขึ้นมา โอ้โฮ! เพื่อนมากเลย ญาติเยอะเลย ถ้าไม่มีเงินมีทอง ญาติไม่มีเลย ลองมีเงินมีทอง ญาติมาแล้ว คนนู้นยืม คนนี้จับ คนนี้ต้อง หมด รักษาไว้ก็แสนยาก ฉะนั้น ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เรารักษาของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ
ฉะนั้น คำว่า “อย่างนี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือเปล่า”
การเบียดเบียน การเบียดเบียนผู้อื่น เราไปเบียดเบียนให้เขาได้ทุกข์ได้ยาก อันนี้เขาแสวงหาความดีของเขา เราก็แสวงหาความดีของเรา ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเป็นญาติพี่น้องกัน เพราะฮวงซุ้ยของพ่อของแม่เป็นของส่วนรวม ถ้าของส่วนรวม เขาทำนี่ เขาทำ เขาทำเขาต้องได้ประโยชน์ของเขา ถ้าเราทำ เห็นไหม เขาทำได้ เราก็ทำได้ เขาไปทำฮวงซุ้ยให้ได้ประโยชน์ เราก็ไปทำของเราบ้าง
เขาทำ เขาได้ประโยชน์ เราไปทำ เราไม่ได้ประโยชน์ เพราะอะไร เพราะเราทำแบบสักแต่ว่า จิตใจเราไม่มั่นคง จิตใจเราไม่เคารพบูชาจริง ถ้าคนจิตใจเคารพบูชาจริง เขารักจริง เขาได้จริง เขาทำแล้วเขาได้ผลประโยชน์ของเขาจริง
ของเราทำ เห็นเขาทำรวย เราก็จะรวยกับเขาบ้าง แล้วทำแล้วทำไมถึงไม่รวย เขาขุดทอง เขาได้ทองกันเยอะแยะเลย เราไปขุดได้แต่ลมกลับมา ไม่ได้อะไรเลย
มันอยู่ที่ความมั่นคงของเรานะ ถามหลวงพ่อ ให้พูดถึงคนที่เขาไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ได้ถามให้หลวงพ่อพูดถึงคนเขียน
นี้พูดถึงเป็นสาธารณะ เป็นประโยชน์นะ
ฉะนั้น นี่เป็นความเชื่อนะ ความเชื่อ เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อเรื่องฤกษ์เรื่องยาม ไม่ให้เชื่อเรื่องมงคลตื่นข่าว ไม่ให้เชื่อนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระธรรมคือสัจจะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ศาสนาพุทธสอนอย่างนี้ ถ้าสอนอย่างนี้นะ พุทธมามกะ เราเชื่อมั่นของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา
สิ่งนี้มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ข้าวของเงินทองเป็นการดำรงชีวิต ธรรมะเป็นการดำรงหัวใจ หัวใจที่มีสุขมีทุกข์ อันนั้นมีค่ากว่า ถ้าหัวใจมีสุขมีทุกข์ สิ่งที่ถามปัญหามานี่มันวางหมดเลย เป็นเรื่องภายนอก
นี่เรื่องภายใน ถ้าเรื่องภายในมันต้องมีธรรมะ มีคุณธรรมเพื่อประโยชน์กับหัวใจของเรา เอวัง