ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หรือว่ารู้

๑๕ มิ.ย. ๒๕๕๗

หรือว่ารู้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องอยากแก้ไขจิต

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูงครับ การที่กำหนดจิตต่อเนื่องกันไปเหมือนอยู่ในลิฟต์ไปเรื่อยๆ แต่เกิดรู้ตัวอีกทีก็อยู่อีกชั้นหนึ่งคือปรากฏภาพทางใจ ผมสงสัยว่า นี้จิตติดสัญญาไหม รู้ตัวอยู่ไหม (ถามตัวเอง) แล้วกำหนดถอยออกมาก็รู้ตัวจริงๆ บางครั้งก็หลงจริงๆ มันรู้ว่าหลง ก็ถอยออกมา ก็กลับไปหลงอีกที่หนึ่ง ผมพยายามกำหนดทรงสภาวะสติไว้ ระลึกมาหากายตัวเอง ทรงภาพนั้นไว้ อธิษฐานให้มันทำลาย หนังก็เริ่มแตกเหมือนกระดาษโดนไฟไหม้ เอามือจับเหมือนจับวัตถุจริงๆ

บ่อยครั้งภาพสัญญาโลกเข้ามาแทรก ก็ไหลของมันไป แม้ทรงสติจ่อไว้ก็เอาไว้ไม่อยู่ แต่ประเด็นคือหัวใจมันไม่สลดเท่าไรเลยครับ หรือว่าผมรู้ตัวว่าเป็นแค่นิมิตก็ไม่ทราบนะครับ (เพราะธรรมดาผมชอบสร้างจินตนาภาพความไม่งามไปใส่คนอื่น เมื่อรู้ว่าจิตเกิดกามราคะขึ้น เพียงเพื่อบรรเทาเท่านั้น เลยเกิดความชินชาดื้อด้านไปแล้วหรือไม่ครับ แปลกๆ)

มีครั้งหนึ่งผมเองก็นอนกำลังตื่น แต่อยากนอนต่อ เกิดฝัน เหมือนมีสตินิดหน่อย และเห็นหญิงสาว และจิตเผลอไปพิจารณาเอง จากรูปสาวน่ารักใคร่ กลับเหี่ยวลง เกิดความเสียใจอยู่มาก ผมนึกแล้วเสียดายมาก จิตผมมันเดินหนีเหมือนหนีปัญหา ไม่ยอมพิจารณาต่อ แต่ตอนสติดีๆ กลับจับแล้วไม่ค่อยสลดใจเลย การพิจารณาทำไมมันแฉลบขนาดนี้ครับ กราบขอความเมตตาหลวงพ่อ

ตอบ : นี่คำถามนะ เขาถามมาเรื่องการปฏิบัติ อยากแก้ไขจิต

เวลาจิต เวลาเราคิดของเราไปไง โดยพื้นฐานของการภาวนา การภาวนาในแนวสติปัฏฐาน ๔ ก็คิด ก็เป็นการจินตนาการ เพราะเราทำแบบกำปั้นทุบดิน เราไปศึกษามาจากพระไตรปิฎก อภิธรรม ความยุบหนอพองหนอ ใช้ปัญญาไปตามแนวสติปัฏฐาน ๔ อันนี้คือจินตนาการทั้งหมด

เวลาทำไปแล้วเขาบอกว่า มันแปลก มันไม่สลด มันไม่ลึกซึ้งหรอก มันก็เหมือนสามัญสำนึก มันแบบว่ามันเศร้าหมอง เวลามันกระเทือนหัวใจบ้าง นี่เวลาเป็นอย่างนั้นน่ะ

แต่เวลามาแนวทางสติปัฏฐาน ๔ แบบครูบาอาจารย์ของเรา ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน เพราะการทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ความสงบใจเข้ามา ใจมันได้สมาธิ มันได้สงบ มันได้รสชาติแล้ว รสของสมาธิธรรม

ถ้าจิตใจของเรา จิตใจของเรายังดิบๆ อย่างนี้ จิตใจของเรายังเป็นสามัญสำนึก ยังเป็นโลกียปัญญา ยังเป็นโลกๆ อยู่อย่างนี้ เวลาพิจารณาธรรมะ อย่างสูงสุดเลยมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถึงที่สุดแล้วมันก็ไปลงที่สมาธินั่นน่ะ มันลงที่สมาธิ แต่เราไม่เข้าใจว่าเป็นสมาธิไง

เพราะเราคาดหมาย เราจินตนาการไปว่าธรรมะคือความว่าง ธรรมะคือการปล่อยวาง เวลามันปล่อยวางอารมณ์สัญญาเข้ามา เราก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ มันแค่ปัญญาอบรมสมาธิน่ะ แต่ถ้าคนไม่มีสติปัญญา ไม่เข้าใจ ก็เป็นมิจฉา มิจฉาคือความหลงผิด พอมิจฉา มิจฉาเป็นความผิดพลาด มิจฉาคือความหลงผิด ก็ตัวเองไม่รู้ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นอยู่ ตัวเองไม่รู้หรอก พอตัวเองไม่รู้ ตัวเองก็คิดว่าสิ่งนี้ใช้ปัญญาไปแล้ว ปล่อยวางนี่มันเป็นผลของการปฏิบัติธรรม ถ้ามันมีสติปัญญานะ มีสติสัมปชัญญะ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันคือการปล่อยวาง

แต่มีสติรับรู้ต่อไป รับรู้คืออะไร รับรู้พอมันปล่อยแล้วมันมีสติ สติกับความรู้อันนี้ ถ้าความรู้อันนี้ เราก็รู้แค่นี้ไง เรารู้แค่นี้ เหมือนเรา เราจะหาเงินเพื่อจะไปแลกเปลี่ยนสินค้าสิ่งใดมา ราคามันเท่าไร เราสะสมๆ ถ้ามันยังไม่ถึงจำนวนเท่านั้น เราจะไปแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ได้ เราก็สะสมไป

นี่ก็เหมือนกัน เรารู้อยู่นี่เป็นสมาธิ มันยังไม่ใช่ภาวนามยปัญญา มันเป็นสมาธิ สมาธินี้เกิดด้วยปัญญา เขาบอกว่าก็ใช้ปัญญาไปแล้วๆ

ปัญญาไปแล้วมันปัญญาทางโลกๆ โลกๆ เขาใช้ปัญญา ทำธุรกิจการค้าก็ต้องใช้ปัญญา สอนลูกยังต้องใช้ปัญญาเลย เวลาสอนลูก เวลาลูกเกิดขึ้นมา ลูกมันไร้เดียงสาเลย เราก็ต้องทำวุฒิภาวะไปไร้เดียงสาเหมือนมันน่ะ เออๆ ออๆ สอนให้มันโตขึ้นมา นี่ยังต้องใช้ปัญญา ทั้งที่เรามีปัญญาเหนือกว่า เราก็ต้องไร้เดียงสาเหมือนมันน่ะ ถ้าไม่ไร้เดียงสาแล้วเราจะสื่อกับมันได้อย่างไร

พอมันสื่อขึ้นมา การจะเลี้ยงลูกยังต้องใช้ปัญญาเลย ทีนี้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ต้องใช้ปัญญา แต่เขาบอกว่า เขาพิจารณา เขาใช้ปัญญามาแล้ว

ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาทางโลก เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาโดยสามัญสำนึก ปัญญาโดยปฏิภาณไหวพริบของคน มันไม่ใช่ปัญญาในภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ ถ้ามันไม่ใช่มันก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ โดยเนื้อแท้ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยชื่อ ใครก็ใส่ชื่อได้ นาย ก นาย ข นาย ค ใครก็ตั้งชื่อได้ สมชายมีชื่อเป็นล้านๆ คนในเมืองไทย สมชายๆๆ ก็ชื่อ แต่ความจริงล่ะ นี่ก็เหมือนกัน สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ก็ชื่อ ก็พูดกันไป แต่ถ้าความจริงล่ะ

เอาความจริง เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง มันจะสลด นี้ว่าหัวใจมันไม่สลด มันแปลกที่มันไม่สลดเนาะ มันแปลกที่มันไม่ได้

อ้าว! มันไม่ได้ ก็ไม่ถึงก็ไม่ได้ เราจะไปกรุงเทพฯ เรานั่งกันอยู่นี่ เราก็เขียนกัน กรุงเทพฯ เดี๋ยวเราเขียนแผนที่กันเลย บ้านใครอยู่ไหน เขียนกรุงเทพฯ กันเลย เขียนที่นี่ แล้วจะถึงกรุงเทพฯ ไหมล่ะ ไปถึงกรุงเทพฯ ไหมล่ะ แต่นั่งกันอยู่นี่ กรุงเทพฯ เราอยู่สนามหลวง ไอ้นั่นกรุงเทพฯ อ้าว! อยู่สุขุมวิท ไอ้นั่นกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ของใครล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ปัญญาไป ปัญญาของใครล่ะ ปัญญาของใคร

ถ้ามันไม่ถึงมันก็สลดแค่นี้ไง มันก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ โดยข้อเท็จจริงไง มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยชื่อ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน แล้วเราได้ทางวิชาการนั้นมา ธรรมและวินัย แต่ความเป็นจริงยังไม่มี ยังไม่มี ถ้าความจริงมันมี ครูบาอาจารย์ที่มีเราเพราะอะไร มันมีเพราะว่า ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบจากปุถุชนคือโลก จะเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนจะขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค ถ้ามันไปลงสู่โสดาปัตติผล เหนือโลก เหนือโลกคือมันเกิดอีก ๗ ชาติ

ถ้าคนอยู่ในโลกนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย การเกิดและการตายไม่มีต้นและไม่มีปลาย มันจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของมันไปตามแต่เวรแต่กรรมที่มันได้สร้างมา ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวันจบสิ้น จะไปของมันอยู่อย่างนี้

แต่ถ้าใครประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นโสดาบัน อีก ๗ ชาติอย่างมาก เปลี่ยนแปลง มันแตกต่างแล้ว ความแตกต่างกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ความแตกต่างที่มันเหนือธรรมชาติส่วนหนึ่ง แล้วมันพิจารณาของมันต่อเนื่องกันไป จนถึงที่สุดมันทิ้งหมดเลย รู้ธรรมะ รู้แจ้งเห็นจริงแล้ววางไว้ตามความเป็นจริง ของมันเป็นนู่น ของเราเป็นนี่ ไม่เกี่ยวกัน จบ วัฏฏะสละทิ้งหมดสิ้นไป นั้นเป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ที่ถูกต้องกับใจดวงนั้น แนวทางสติปัฏฐาน ๔ ที่ถูกต้องจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นรู้แจ้งตามใจดวงนั้น

แต่ถ้าเราได้แต่ชื่อ เราได้ทางวิชาการมานี่ มา ใครก็ได้ มาเถียงกัน มาสิ สติปัฏฐาน ๔ ใครก็ได้ มา ตั้งแง่มา เดี๋ยวต้องเอาแง่มุมหักล้างกัน มันก็หักล้างกันอยู่นั่นน่ะ สติปัฏฐาน ๔ อย่างหยาบ สติปัฏฐาน ๔ อย่างละเอียด สติปัฏฐาน ๔ อ้าว! ตั้งแง่มา ตั้งแง่สติปัฏฐาน ๔ มา แล้วเรามาปะทะกันด้วยสติปัฏฐาน ๔

แต่ถ้าปฏิบัติจริงนะ มันสลดนะ มันสังเวช หลวงตาเวลาท่านบรรลุธรรม ท่านลุกขึ้นกราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กราบใครน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี กราบใครน่ะ

กราบบุญคุณ กราบบุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รื้อค้นมา แล้ววางเป็นทางวิชาการธรรมและวินัยนี้ไว้ ผู้ใดค้นคว้ากระทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาในใจ

หลวงตาท่านเป็นถึงมหา ท่านเรียนจบนะ คำว่ามหาทางวิชาการเขาว่าโอ๋ย! แค่มหาบัว มหา ๓ ประโยค ต้อง ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคเขาคิดไปนู่น เขาคิดว่าเขา ๙ ประโยค เขาจะมีปัญญามากกว่า ๓ ประโยค

คำว่า๓ ประโยคแปลบาลีได้ มันลึกซึ้งในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนาดว่าปฏิเสธว่า ทางทฤษฎีศึกษามาจนแปลได้ ภาษานี่เข้าใจทะลุปรุโปร่ง แต่เวลาปฏิบัติก็ยังไม่แน่ใจ ต้องให้หลวงปู่มั่นชักจูง หลวงปู่มั่นเป็นคนชี้นำเป็นคนบอกกล่าว

แต่หลวงปู่มั่นเวลาบอกกล่าว ก็ยังตั้งป้อมเถียงกับหลวงปู่มั่นอ้าว! ถ้าสัมมาสมาธิมันไม่มีอยู่จริง ทำไมในพระไตรปิฎกบอกว่าให้ทำสัมมาสมาธิล่ะ

อ้าว! สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง เพราะมันไม่มีสมุทัยซ้อนมา สมาธิของท่านมันมีสมุทัยเจือปนเว้ย

อ้าว! เวลาออกใช้ปัญญา ปัญญาก็ได้พิจารณามาแล้ว

นั่นน่ะสมบัติบ้า

สมบัติบ้าได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้ปัญญามันก็ชำระกิเลสไม่ได้

นั่นแหละสมบัติบ้า

ขนาดรู้ๆ อยู่นี่ นี่ได้แต่ชื่อมันมา ทั้งๆ ที่ว่าเป็นถึงมหานะ เข้าใจหมดแล้วนะ เข้าใจหมดแล้ว

สติปัฏฐาน ๔ ตั้งป้อมมาเลย ตั้งป้อมมาแล้วมาเถียงกัน มา ได้เลย ใครก็ได้ตั้งขึ้นมา มันไม่มีความจริงอยู่ในใจแม้แต่คนเดียว

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปตามความเป็นจริง เห็นไหม มีความรู้ขนาดนี้ ซาบซึ้งเข้าใจได้หมด แต่ก็เป็นความเข้าใจของโลก ความเข้าใจของที่ยังมีตัณหาความทะยานอยากในใจ

ขนาดไปศึกษากับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นพยายามชักนำขนาดไหน ยังตั้งป้อม ตั้งป้อมเพราะอะไร เพราะมันก็มีความรู้ของเรา ไม่ใช่ทิฏฐิมานะ ไม่ใช่จะเอาแพ้เอาชนะ อยากชนะคะคานอาจารย์ ไม่ใช่ แต่มันสงสัย มันมีข้อมูลน่ะ อ้าว! มันก็รู้ ทำไมล่ะ อ้าว! ในเมื่อมันรู้ ในเมื่อมันมีปมในใจมันก็ต้องเคลียร์ใช่ไหม เราเคารพบูชา เราจะเคลียร์หาความรู้ ตั้งป้อมซัดกันเลย อันนี้คือระหว่างที่ประพฤติปฏิบัติ

แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้ว แล้วท่านค้นของท่านเอง แล้วท่านบรรลุธรรมถึงที่สุด ท่านลุกขึ้นกราบนะ กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า ผู้รู้จริง ผู้รู้จริงมันซาบซึ้งใจ

แล้วความรู้จริงอันนี้ คนเรานะ ใครที่ร่ำรวยนะ เราจะรู้เลยว่าสิ่งที่ร่ำรวยมา เราทำสิ่งใดมาเราถึงร่ำรวย เราทบทวนได้นะว่าเราทำธุรกิจอะไรมา เราทำงานอะไรมา เราถึงมีผลประโยชน์ตอบแทนขนาดนี้

แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรมาเลย เราศึกษาทางวิชาการ ศึกษาว่าคนนี้ร่ำรวยอย่างไร แล้วเราศึกษา เออ! เราก็รู้ได้ว่าคนนั้นร่ำรวยอย่างไร แต่มันไม่ซาบซึ้งเหมือนคนที่เราทำมาเอง แล้วร่ำรวยมาเอง

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถึงเวลาที่สุดแล้วมันรู้จริงเห็นจริง มันซาบซึ้ง กราบแล้วกราบเล่า แต่ก่อนจะกราบ เห็นไหม โต้แย้งกับหลวงปู่มั่นขนาดไหน ทั้งๆ ที่เคารพนะ ทั้งๆ ที่เคารพ ไม่ได้โต้แย้งด้วยความไม่เคารพ ท่านประธานที่เคารพ เคารพมาก ทั้งๆ ที่เคารพนี่แหละ แต่เรามีปมในใจ เราอยากจะถอดถอน

นี่พูดถึงว่า เราพูดให้ฟังก่อนว่าแนวทางปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ แนวทางปฏิบัติตามความเป็นจริงเขาต้องทำความสงบของใจเข้ามา

ฉะนั้น ผู้ถามว่าอยากแก้จิตๆ เพราะอยากแก้จิต เขาก็พูดอย่างนี้ เวลาผมกำหนดจิตมันเหมือนอยู่ในลิฟต์ที่มันเลื่อน ที่มันเลื่อน มารู้ตัวอีกทีหนึ่ง เหมือนเลื่อนจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง เลื่อนจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง

ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นความเข้าใจของเขา แต่เวลาคนที่ปฏิบัติจริงนะ เวลาทำขณิกสมาธิ เวลาทำพุทโธๆๆ เวลามันสงบเข้ามา เราก็รู้ว่าสงบ รู้ว่าสงบ แต่ความสงบแบบนี้ คำว่าสงบเหมือนคล้ายๆ คล้ายๆ นะ แต่ไม่ใช่ คล้ายๆ ว่าสิ่งที่อย่างน้ำท่วม อย่างเกิดภัยพิบัติ เราป้องกันไม่ได้ มันมาตามฤดูกาล

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันจะเป็น ขณิกสมาธิ มันเหมือนกับเราเริ่มต้นใหม่ มันเหมือนฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง ขณิกสมาธิมันก็อย่างนี้ แต่ถ้าเรารู้การเปลี่ยนแปลง แต่เราสามารถ ดูสิ เวลาฤดูหนาว หิมะตกมากเลย มันสะสมหิมะไว้ เวลาละลายขึ้นมามันก็เป็นแหล่งน้ำ เป็นต้นน้ำ

นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธๆๆ เราสะสมไว้ เราดูแลต่อไป ถ้าฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง นี่ขณิกสมาธิ ถ้ามันควบคุมได้ มันบริหารจัดการได้ นี่อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิ เพราะเป็นสมาธิ แต่ยังบริหารจัดการได้ แล้วถ้าพุทโธต่อเนื่องไปเป็นอัปปนาแล้ว เห็นไหม ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ น้ำแข็งมันเกาะหนาเป็นกิโลๆ เลย นี่ก็เหมือนกัน เวลาเข้า นี่ความละเอียดของสมาธิไง

ไม่ใช่ว่า เป็นชั้นเหมือนขึ้นคอนโดเลยนะ ชั้น ๒๐ ชั้น ๓๐ ชั้น ๔๐ จะขึ้นไปชั้นที่ ๑๒๐ จะขึ้นไปชั้นที่ ๕๐๐-๖๐๐ เหมือนขึ้นลิฟต์ไง

ขึ้นลิฟต์อย่างนี้มันเป็นเรื่องสัญญาอารมณ์ มันเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมันเป็นไป แต่สมาธิก็คือสมาธิ สมาธิคือสมาธิ ถ้าสมาธิคือสมาธิ เราทำความสงบได้

นี่พูดถึงว่า เขาว่าเขาสงสัยไง สงสัยว่า เวลาจิตของเขาแต่ละชั้นมันเลื่อนได้ เขาว่าแก้จิต

ฉะนั้น เราจะบอกว่า จะต้องกำหนดพุทโธชัดๆ จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เพราะคำที่ว่าเขาใช้ความรู้สึก นี่มันส่งออกแล้ว มันไปอยู่ตรงนั้นแล้ว มันไปอยู่ที่ว่าเราเคลื่อนจากฐานของเรา พุทโธๆๆ อยู่อย่างนี้

แต่ถ้าเราเคลื่อนออกไปอารมณ์ มันก็ไหลไปไหลมา ที่มันไปอยู่ชั้นนั้น ลงไปเหมือนในลิฟต์ มันเลื่อนไปเลื่อนมา เลื่อนจนความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงไป

เพราะนี่เขาถามว่าเขาจะแก้จิตนะ นี่พูดถึงเรื่องแก้จิต

ถ้าแก้จิต สมาธิต้องให้ชัดเจน ความสงบต้องให้ชัดเจน

ไอ้นี่บอกว่าปฏิบัติมานานหรือไม่นาน ตอบวันนี้ เดี๋ยวจะเขียนมาใหม่ เพราะตอนนี้เราจะเคลียร์ เราจะเคลียร์ถึงพื้นฐานเบสิก เบสิกในการปฏิบัติ เบสิก แต่เวลาคนที่ปฏิบัติไปแล้วพื้นฐานมันไม่ดี พอพื้นฐานไม่ดี เวลาปฏิบัติไป รู้เห็นสิ่งใดก็หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อต้องรับผิดชอบ

โอ๋ย! เราต้องแบก ๓ โลกไว้เลยหรือ ใครปฏิบัตินี่กูต้องรับผิดชอบหมดเลยเนาะ อ้าว! เอ็งปฏิบัติก็เอ็งปฏิบัติของเอ็งไป แต่เบสิกมันเป็นแบบนี้ ถ้าเบสิกมันเป็นแบบนี้ เวลาปฏิบัติ เรากำหนดพุทโธ มันเหมือนจะรู้ แต่มันไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร ไม่รู้เพราะว่า ที่หลวงตาท่านไปโต้แย้งกับหลวงปู่มั่นน่ะ

อ้าว! ก็ในเมื่อพระไตรปิฎกบอกว่ามีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันก็คือความตั้งมั่น นี่ก็ตั้งมั่นแล้ว

นี่คนเป็น แต่หลวงปู่มั่นท่านใส่เลยสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าไม่มีสมุทัยเจือปนเว้ย สัมมาสมาธิของท่านมันเจือไปด้วยสมุทัย สมุทัยคือตัณหาไง

นี่ก็เหมือนกัน มันเลื่อนไปเลื่อนมา ใครเป็นคนเลื่อนน่ะ เลื่อนไปเลื่อนมา เลื่อนมาเลื่อนไป ลิฟต์มันเลื่อนชั้น เลื่อนไปเลื่อนมา

เราจะบอกว่า ถ้าพื้นฐานอย่างนี้ปั๊บ ถ้าพื้นฐานเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันไหลอย่างนี้แล้วมันก็ไหลตลอดไป มันจะไม่ได้หลักได้เกณฑ์เลย

แต่ถ้ามันเป็นพุทโธ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสงบแล้ว การสงบต้องใช้ปัญญา ไม่มีปัญญา รักษาความสงบไม่ได้ ถ้ามันสงบแล้วอยู่กับความสงบ แล้วไม่สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้าคนมีสติ

เวลาสงบแล้วอ๋อ! พระอรหันต์เป็นอย่างนี้เองมันจะบอกเลย อ๋อ! พระอรหันต์ว่างๆ อย่างนี้ นี่พระอรหันต์นี่ไง มิจฉาไง

ถ้าเป็นสัมมาคือความระลึกรู้ รู้ตัวตลอดเวลา เป็นสิ่งใด รู้สิ่งนั้น รู้สถานะ รู้สถานะว่าเป็นจริงอย่างใด นี่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมีสติมีปัญญา มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัว รู้การกระทำ รู้สถานะ

รู้แล้ว พอมันสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันมีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วหมายความว่า เวลาเราทำพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิมันต้องมีปัญญาอยู่แล้ว แต่ปัญญาอย่างนี้เรารู้เลยว่าปัญญาที่การขวนขวายของเรา

ปัญญาวิชาชีพ เห็นไหม เราทำวิชาชีพ เวลาเราไปทำงาน นี่วิชาชีพของเรา เวลากลับเข้ามาบ้าน เรามาอยู่ในครอบครัว เรามีลูกมีหลาน เราสอน นั่นวิชาชีพหรือเปล่า เป็นวิชาชีพไหม นี้คือปัญหาในครอบครัวของเรา นี่คือผลประโยชน์ในครอบครัวของเรา แต่เวลาเราออกจากบ้าน เราไปทำงาน นั่นคือวิชาชีพ ต้องมีการศึกษาวิชาชีพ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราใช้ปัญญาๆ ปัญญาที่เราออกไปกว้านหา นี่วิชาชีพ เราออกไปกว้าน เราไปดูสิ่งใด แต่ถ้ามันสงบเข้ามาล่ะ เวลามันสงบเข้ามา ถ้ามันเกิดภาวนามยปัญญา ในครอบครัวของเรา ในจิตของเรา ในความเป็นไปของเรา แต่สิ่งที่มีปัญญาวิชาชีพมา มันก็ต้องมีมา มีมาเพื่อความสงบ ถ้าจิตมันสงบอย่างนี้

เวลามันถอยเข้าถอยออก อย่างที่เขาว่า คำถามไง คำถามว่า จิตมันติดสัญญา มันรู้ตัวของมัน เวลากำหนดถอยออกมา

กำหนดถอยเข้าถอยออกมันเป็นเหมือนกับเราจินตนาการหมด ฉะนั้น เพราะมันจินตนาการอย่างนี้ เวลาจิต

ผมพยายามกำหนดทรงสติไว้ ระลึกถึงร่างกายของตัวเอง ทรงภาพนั้นไว้แล้วอธิษฐานให้มันทำลาย

คำว่าอธิษฐานอธิษฐานคือเป้าหมาย ตั้งเป้า อธิษฐาน แต่เวลาพิจารณาจริงๆ มันไม่ใช้อธิษฐาน มันใช้ปัญญาฟาดฟันเลย ปัญญาเข้าไปเผชิญกับมัน ไม่ใช่อธิษฐาน ไม่ใช่อ้อนวอนขอ เราอ้อนวอนขอไม่ได้ เราต้องใช้ปัญญาฟาดฟันกับมันเลย

แล้วปัญญามันเป็นอย่างไรล่ะ ปัญญามันอยู่ไหนล่ะ

ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นนะ ปัญญา เห็นไหม ถ้าเราเห็นกาย เห็นกายใช่ไหม เรามีสติ เราเห็นกาย เราจับกายได้ พิจารณากาย

ไอ้นี่มันจับไม่ได้ มันจับไม่ได้มันตั้งทรงสติไว้ ระลึกถึงกายมันก็เกิดกายขึ้นมา แล้วอธิษฐาน พออธิษฐานหนังมันเริ่มแตก มันเป็นกระดาษ มันเหมือนโดนไฟไหม้ แล้วเราเอามือจับเหมือนวัตถุจริง

ตรงนี้มันฟ้องเอามือจับจิตมันอยู่ข้างนอก มันหยาบ

แต่ถ้าจิตมันเห็นกายนะ มันเป็นเรื่องของนามธรรมทั้งหมด เวลาจิตมันสงบแล้วเห็นกาย ยกกายขึ้นแล้วพิจารณา มันจะแยกออกไป เราเห็น เห็นชัดๆ ไม่ต้องเอามือจับ คำว่าเอามือจับมันออกมาข้างนอกแล้ว มันออกมาข้างนอกไง

ฉะนั้น คำว่าอธิษฐานเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้ เริ่มต้นเราถึงบอกว่า พื้นฐานของเรา ถ้าเราทำโดยความเข้าใจของเรา ความเข้าใจมันก็เป็นแบบนี้ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์อย่างที่เราพูดอยู่นี่ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ ถ้ามีอย่างนี้ปั๊บนะ ท่านจะบอกว่าให้ทำให้ชัดเจนขึ้น

คำว่าทำให้ชัดเจนขึ้นเราตั้งสติให้ดีขึ้น กำหนดพุทโธให้ชัดเจนขึ้น หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ให้มันดีขึ้น ถ้ามันสงบจริง มันสงบจริงๆ ก็เหมือนกับเงินจริงกับเงินปลอม เงินปลอมเขาใช้ตอนมืดๆ ค่ำๆ ใช้ตอนสลัวๆ ตอนที่คนเยอะๆ ไอ้เงินปลอมๆ เขาจะไปใช้ตอนนั้น ไอ้เงินจริงมันใช้สว่างไสว ใช้ต่อหน้านี่

นี่ก็เหมือนกัน ปัญญามันเกิดขึ้น มันเคลื่อนไปเคลื่อนมา ใช้อธิษฐานเอา...มันเหมือนกับเราจะใช้เงินต้องตอนคนเยอะๆ ตอนคนพลุกพล่าน คนที่เขาไม่สนใจ ใช้ตอนนั้น แต่เวลาถ้ามันชัดเจนระหว่างเรากับแม่ค้า เราไม่กล้าใช้แล้ว เพราะเขาจะตั้งสติ เขาจะเห็นได้

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นความจริง เงินจริงใช้ได้ทุกที่ ศีล สมาธิ ปัญญา สติใช้ได้ทุกที่ แล้วไม่ใช่อธิษฐานเอา ตั้งจิต เวลากำหนดนะ จิตเห็นกายแล้วพิจารณา พิจารณาโดยเจาะจง สติ มหาสติ

คำว่าอธิษฐานมันผิดมากก็เลยทรงภาพนั้นไว้แล้วอธิษฐานให้มันทำลาย

อธิษฐานทำลายก็คือนึกเอา

แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เห็นไหม รำพึง ถ้าเราเห็นกาย ตั้งกายไว้แล้วรำพึง เพราะอะไร เพราะการตั้งกายนี้จิตเป็นคนตั้ง จะเห็นกาย จะเห็นสิ่งต่างๆ จิตสงบแล้วจิตจะเป็นคนเห็น ถ้าจิตเป็นคนเห็น จิตเป็นคนรำพึง จิตเป็นคนพิจารณา จิตเป็นคนแยกแยะ ภาพนั้นจะทำลายให้เห็นเลย นั่นไตรลักษณ์ ถ้าอย่างนั้นเป็นจริง

แต่ประเด็นที่มันไม่สลดเท่าไรนัก ถ้ามันไม่สลดเท่าไรนัก เราก็ค่อยๆ ดูกันไป มันไม่สลดเท่าไรนักเพราะมันผิวเผินไง มันผิวเผินเพราะสติเราไม่ดีไง ปัญญาเราไม่ดีไง ถ้าสติปัญญาเราดีขึ้น มันจะดีขึ้นของมันไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น อีกเรื่องหนึ่งมีครั้งหนึ่งผมนอนกำลังตื่น แต่อยากจะนอนต่อ ก็เกิดฝัน พอมันฝันไปเห็นภาพหญิงสาว แล้วจิตมันพิจารณาไปแล้วมันเสียดาย มันเสียดายที่ว่าจิตมันเดินหนี มันไม่ยอมพิจารณาต่ออันนี้มันฝันน่ะ เห็นไหมเวลาผมนอนหลับแล้วเกิดฝันนั่นฝันไป

ทีนี้การฝันของเรากับการที่เราภาวนามันใกล้เคียงกัน เราเคยคิดว่ามันเป็นไปได้ไง แต่ความจริง ความฝันเพราะไม่มีเราเข้าไปบวก มันยังดีกว่าเราด้วย ดีกว่าเราตรงไหน ตรงที่เห็นกายผู้หญิงแล้วเราเข้าไปพิจารณา พอพิจารณาไปมันมีความรู้สึกมาก แต่จิตมันเดินหนี เรายังเสียดายเลย จิตมันเดินหนี จิตมันไม่ยอมพิจารณาต่อ ถ้าพิจารณาต่อมันจะทำให้เราได้เห็นสัจจะไง มันยิ่งเศร้าใจเข้าไปใหญ่

ถ้าเศร้าใจ อันนั้นก็ยังเป็นความฝัน มันเป็นบารมีธรรม ความฝันนี้เป็นการบอกเหตุ เป็นการบอก ฝันว่าเราจะเกิดวิกฤติอะไร ฝันว่าชีวิตเราจะประสบความสำเร็จไหม นี่ฝัน ฝันบอกล่วงหน้า ฝันบอกไปก่อน นี่คือความฝัน แต่มันไม่ใช่ความจริง ถ้าความจริงนะ มันพิจารณาไม่ใช่ความฝัน

ไอ้นี่เริ่มต้นก็อธิษฐานให้มันเป็น พอความฝัน ฝันดีกว่าอธิษฐานอีก เพราะอธิษฐานแล้วผิวหนังแตกละเอียดไป ไอ้นั่นมันเป็นจินตนาการ เวลาฝันเข้าไป ฝันเข้าไปเจอภาพผู้หญิงเลย สุดท้ายแล้วเดินหนี เดินหนีมันไปเลย เป็นความฝัน

การปฏิบัติมานะ การปฏิบัติ เริ่มต้นเราปฏิบัติ เราทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามามันจะมีความสุขของมัน ถ้ามีความสุขแล้วเราหัดพิจารณาไป มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงเพราะจิตสงบ ตัวจิต จิตจริง จิตจริงแท้

เงินจริงๆ ซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างใดได้ตามมูลค่านั้น จิตจริงๆ แล้วพิจารณาตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เราจะได้ผลตามความเป็นจริง

แต่ก่อนที่จะตามความเป็นจริง เราล้มลุกคลุกคลานมานี่เป็นโลกๆ สิ่งที่เราล้มลุกคลุกคลานมา อันนั้นการฝึกหัด ในเมื่อเรายังมีกิเลสในใจ มันก็จะมีถูกบ้างผิดบ้างเป็นธรรมดา นี่พูดถึงธรรมดานะ ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติมามันไม่ใช่ผิดทั้งหมด คำว่าผิดทั้งหมดหมายความว่า เราปฏิบัติไปแล้ว ทุกอย่าง ใครๆ ทำต้องผิดทุกเรื่องเลย ไม่มีอะไรถูกเลยหรือ...ไม่ใช่

คำว่าไม่ได้ผิดทั้งหมดคือเราทำ คนทำงาน คนปฏิบัติอะไร คนไม่ผิดคือคนไม่เคยทำอะไรเลย ทีนี้พอเราทำอะไรมา เรามีกิเลสอยู่ มันก็ผิดพลาดเป็นธรรมดา คำว่าไม่ผิดทั้งหมดคือว่าคนปฏิบัติก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ เป็นอย่างนี้คือพยายามปฏิบัติ มันจะถูกมันจะผิด มันอาศัยประสบการณ์ อาศัยความเคยชิน อาศัยความรับรู้ อาศัยการแยกแยะ อาศัยที่เราคอยตรวจสอบ แล้วมันจะดีขึ้นมาเรื่อยๆ ดีขึ้นมาเรื่อยๆ

เหมือนที่เราพูดตอนแรก เราพูดตอนแรกเรื่องหลวงปู่มั่น เราพูดตอนแรกเรื่องหลวงตา เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านได้สิ้นแล้ว ได้เผาแล้ว กระดูกของท่านเป็นพระธาตุ หลวงตาเวลาท่านมีชีวิตอยู่ เกสาโกนลงมามันก็เป็นแก้วอยู่แล้ว ตอนท่านมีชีวิตอยู่ เกสา ผมของหลวงตาโกนมา ลูกศิษย์ลูกหาเก็บกันไว้เป็นแก้วหมด ฉะนั้น เวลาตอนท่านสิ้นไปแล้วเผา ส่วนที่เก็บไว้ที่ผลึกที่เป็นแก้วก็มี แต่ส่วนที่ยังเป็นอัฐิอยู่ก็เยอะ สิ่งที่เยอะมันต้องอาศัยกาลเวลา มันจะพิสูจน์กันไป นี้เราพูดถึงผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติที่ท่านรู้จริง ท่านปฏิบัติกันอย่างที่เราเอามาเป็นตัวอย่าง

แต่เวลาคำถาม คำถามมาด้วยประสบการณ์ของเรา เราเอามาเปรียบเทียบกันว่าเราปฏิบัติแล้วเราเป็นอย่างนี้ แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติแล้วท่านหมดกิเลสไปแล้ว แล้วเราปฏิบัติกันอยู่นี่ เราพยายามจะทำให้ได้ มันก็เป็นแบบนี้

เป็นแบบนี้ เราเอามาเปรียบเทียบกันให้เห็นระหว่างการทำที่ถูกและการทำที่ล้มลุกคลุกคลานของเราเพื่อความขยันหมั่นเพียร เพื่อบอกว่า ผู้ที่ปฏิบัติจริงสมควรแก่ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแบบครูบาอาจารย์ท่านมี แล้วท่านทำเสร็จของท่านไปแล้ว แล้วเราจะปฏิบัติ เราเอาความจริง เอามาเปรียบเทียบกัน แล้วไปพิจารณา ไปพิจารณาเพื่อเป็นคติธรรมของผู้ถาม

ถาม : เรื่องสงสัยในการภาวนา

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีข้อสงสัยกราบเรียนถามดังนี้ คือว่า เมื่อผมพิจารณาสิ่งที่ถูกรู้ จนกระทั่งสิ่งที่ถูกรู้หายไป และเหลือแต่ผู้รู้ ผมจึงเกิดความสงสัยคือ

. สิ่งที่ถูกรู้มันหายไปไหนครับ

. เมื่อสิ่งที่ถูกรู้หายไป ทำไมเหลือแต่ผู้รู้ครับ

ตอบ : ไอ้ครั้งที่แล้วบอกพิจารณาไปจนไม่รู้ ไอ้ตอนนี้ภาวนาไปแล้ว หรือว่ารู้ เพราะพิจารณาถึงผู้รู้

สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมด ในโลกทุกอย่างเป็นนามธรรม รูปนอก รูปใน เห็นไหม รูปนอกคือสสารต่างๆ ที่เป็นรูป นี่รูปนอก เรากระทบได้ รูป รส กลิ่น เสียง จิตใจเรารับรู้ มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้

ในเมื่อรูป รส กลิ่น เสียงมันมีอยู่ของมันใช่ไหม จิตของเราก็มีอยู่ของเรา จิตของเรากระทบ ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ แล้วพิจารณา ไม่พิจารณามันก็แปรสภาพอยู่แล้ว ไม่พิจารณา

สิ่งที่ถูกรู้ เราสนใจ เรารู้ มันก็รู้ เราไม่สนใจ มันก็มีอยู่ เราไม่รู้ สิ่งที่ถูกรู้มันมีอยู่ทั่วไปหมด แต่เราไม่สนใจ มันก็ไม่รู้อะไรเลย

แต่ถ้าเราไปจับสิ่งใดให้เป็นสิ่งที่พิจารณาเป็นสารแล้ว เราพิจารณาไป พอมันเข้าใจมันก็ปล่อยวาง สิ่งที่ถูกรู้มันก็ย่อยสลายไป แล้วก็เหลือผู้รู้ แล้วผู้รู้ทำอย่างไรต่อล่ะ ผู้รู้ทำอย่างไรต่อ

หรือว่ารู้ แล้วรู้อะไรล่ะ เรารู้อะไร รู้อะไร เห็นไหม ทุกอย่างเราทำงานเสร็จหมดแล้ว ทุกอย่างทำงานเสร็จหมดแล้ว แล้วทำอะไรต่อ ก็นั่งหัวตออยู่นี่ไง ก็นั่งอยู่นี่ นั่งอยู่นี่เดี๋ยวเหงื่อก็ออกอีก ก็ต้องทำความสะอาดต่อ ถ้านั่งอยู่ปั๊บ เดี๋ยวขี้ไคลก็ออกแล้ว นั่งอยู่นี่ ไม่ไปไหน นั่งอยู่นี่ เวลาอากาศร้อนๆ ขึ้นมา เหงื่อไหลไคลย้อยเลย แล้วทำอย่างไรต่อ ทำความสะอาดรอบต่อไป

สิ่งที่ถูกรู้มันหายไปไหนครับ

สิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่เป็นนามธรรม รู้เพราะอะไร รู้เพราะยึด ถ้าไม่ยึด มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น รู้เพราะเราไปยึด รู้เพราะเราไปรู้

แต่ถ้าสัจธรรม เราต้องรู้ เรามีสติปัญญาใช่ไหม เราจับสิ่งใดแล้วพิจารณาของเรา แยกแยะของเรา อันนั้นคือฝึกหัดใช้ปัญญาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์

แต่ถ้าเราใช้จินตนาการ เราใช้สัญชาตญาณของเรา สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรมวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้วเราก็ศึกษามา แล้วก็เอาทางวิชาการอย่างนั้นมาเป็นต้นแบบ มาเป็นรูปแบบ แล้วเราก็ทำอย่างนั้น ทำให้เหมือน ทำให้เหมือน ทำให้เหมือนก็เลยไม่เหมือน

แต่ถ้าเราทำของเราเองนะ ของพระพุทธเจ้าวางไว้ พระพุทธเจ้าบอกทฤษฎีนี้ สิ่งที่เป็นสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจจะอริยสัจจะเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็เดินมรรคของเรา เราปฏิบัติของเราไป เราปฏิบัติของเราไป เวลาปฏิบัติไปมันจะรู้โดยข้อเท็จจริงของมัน รู้โดยความจริงของมัน

ถ้ารู้ก็คือรู้ ถ้าไม่รู้ก็หัวปักหัวปำ ไม่รู้ก็ต้องพยายามต่อสู้ ไม่รู้ก็ต้องพยายามหยิบจับว่าสิ่งใดที่ควรจะรู้

สิ่งใด เห็นไหม ถ้าจิตสงบแล้วจิตจับได้ มันก็เป็นความจริงขึ้นมา แล้วถ้าพิจารณา มันปล่อยไปๆๆ ถ้ามันเป็นจริง มันสลัดสังโยชน์ ไอ้นี่มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นขันธ์ ๕ กาย เวทนา จิต ธรรม จับสิ่งใดก็ได้พิจารณาซ้ำๆๆ

แล้วถ้าผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้มันหายไป หายไปแล้วเหลืออะไรล่ะ

วงกรรมฐานเขาถามกันอย่างนี้ สิ่งที่มันหายไปแล้วเหลืออะไร เหลือใคร แล้วเหลือแล้ว คนที่เหลือมีคุณสมบัติอย่างใด สิ่งที่เหลือมีคุณสมบัติอย่างใด คุณสมบัติของธรรมเป็นอย่างไร ถ้าคนเป็นมันรู้ไง

อ้าว! มาถามสิ ถามเราสิ พระเป็นอย่างไร

อ๋อ! พระก็โกนหัว บวชมาจากอุปัชฌาย์นี่ไง พระหรือ พระก็มีสมณสารูปนี่ไง

อ้าว! ถามโยมสิ โยมผู้หญิง อ้าว! ผู้หญิงก็เกิดมา นี่เพศหญิงไง อ้าว! ผู้ชาย ผู้ชายก็เป็นอย่างนี้ไง อ้าว! ถามมาสิ อ้าว! เราเป็นสถานะไหนเราก็รู้ จริงไหม

แล้วนี่ก็เหมือนกัน อ้าว! ผู้รู้หายไปแล้วเหลืออะไรล่ะ แล้วเหลืออะไร แล้วเป็นอย่างไรต่อ หรือว่ารู้

กรณีอย่างนี้กิเลสมันหลอก ไม่ใช่หรอก กิเลสมีหยาบ มีละเอียด เวลาที่เราแบกหามโลก เราทุกข์ไปหมดล่ะ แต่เราปล่อยวางเข้ามาแล้ว แล้วเราคืออะไรล่ะ

นี่ไง เวลาเราออกวิเวกกัน เห็นไหม ออกวิเวก อยู่คนเดียวระวังความคิด ระวังความคิด เพราะความคิดมันทำให้เราเศร้าหมอง ความคิดทำให้เราวิตกวิจารณ์ ความคิดทำให้เรากลัวไปหมดเลย ไปอยู่ที่ไหนก็กลัวไปหมดเลย

แต่ถ้าเวลามันพิจารณาจนมันดื้อ มันไม่เอาอะไรเลย คนที่ไม่เอาอะไรเลยหมายความว่า แม้แต่ข้อวัตร แม้แต่พฤติกรรมของเรามันทอดธุระ ไม่เอาอะไรคือมันทอดธุระ ถ้าทอดธุระคือว่าเอ็งไม่ได้รับผิดชอบชีวิตเอ็งเลยหรือ

เวลาพิจารณาไปจะเป็นอย่างนั้นนะ เวลาจิตที่มันแบกหามนี่ทุกข์มากเลย พอพิจารณาไปๆ มันไม่รู้จริง ถ้าคนรู้จริงเขาไม่ทอดธุระนะ มันรู้ชัดเจนใช่ไหม สิ่งใดหยิบจับนี่มันถูกต้องดีงามไปหมด นี่รู้จริง

แต่แบบเราพิจารณาไปแล้วมันเหมือนกับปฏิเสธ ทอดธุระเลย ปล่อยหมดเลย ไม่มี ไม่มีอะไรเลย

กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค มัชฌิมาปฏิปทา ความพอดีของธรรมมันเป็นอย่างใด มัชฌิมา ความพอดีของธรรม

ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าปฏิบัติไปแล้วมันงงอย่างนี้ ครั้งที่แล้วบอกว่าไม่รู้ ไม่รู้คืออวิชชา แล้วคราวนี้ หรือว่าจะรู้ หรือว่าจะรู้

หรือว่าจะรู้ เป็นทฤษฎี เป็นเรื่องโลก เป็นเรื่องโวหาร เป็นเรื่องความสงสัย ไม่เป็นเรื่องจริง หรือว่ารู้ หรือว่าสงสัย หรือว่าไม่เข้าใจ

ถ้ามันรู้ มันอธิบายสิ่งที่ว่า รู้อย่างไร รู้อะไร มันปล่อยอะไร เหลืออะไร สิ่งที่เหลือมีคุณสมบัติอย่างใด ถ้าไม่มีคุณสมบัติ แสดงว่าตทังคปหานมันปล่อยไปเรื่อยๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ ถ้ามันปล่อยจริง มันสำรอกคายสังโยชน์ พอสังโยชน์แล้วมันเหลืออะไร เป็นอย่างไร มันจะรู้จริง นี่ข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒เมื่อสิ่งที่ถูกรู้หายไป ทำไมจึงเหลือแต่ผู้รู้

เอ็งเพิ่งรู้หรือ เอ็งเพิ่งรู้หรือ เหลือแต่ผู้รู้

เราจะพูดอย่างนี้นะ เวลาพูดอย่างนี้มันพูดได้ เวลาคำถามสิ่งที่ถูกรู้หายไป ทำไมจึงเหลือแต่ผู้รู้แล้วเวลาเราไม่ทำอะไรเลย เรากำหนดพุทโธๆๆ สมาธิเราก็เหลือแต่ผู้รู้ สมาธิเราก็เหลือแต่ผู้รู้ ขณิกสมาธิ มีผู้รู้ ก็ยังรับรู้สิ่งต่างๆ อยู่ ถ้าพุทโธต่อเนื่องไปเป็นอุปจาระ มันก็เหลือแต่ผู้รู้ แต่มันก็ยังรับรู้อายตนะได้ ยังรับรู้กาย เวทนา จิต ธรรมได้ ถ้าเราพุทโธต่อเนื่องไป พุทโธต่อเนื่องไปจนเป็นอัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่ผู้รู้นะ สักแต่ว่ารู้ ละเอียดกว่านี้อีก แล้วคืออะไรล่ะ ก็สมาธิไง สมาธิไง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิไง

อัปปนาสมาธิคือสักแต่ว่ารู้ไง ดับหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ดับหมด นั่งนี่สักแต่ว่ารู้ ทุกอย่างดับหมด นั่นไง แล้วนั่นคืออะไรล่ะ

ถ้าเหลือแต่ผู้รู้ สมาธิลึกกว่านี้อีก แต่ถ้ามันเหลือแต่ผู้รู้ เหลืออย่างใดก็แล้วแต่ เหลือแล้วเดี๋ยวก็ออกมาอีกถ้ามันพิจารณาจนสิ่งที่ถูกรู้หายไป แล้วมันเหลืออะไร

พยายามตั้งสติไว้นะ แล้วค้นคว้า ตั้งสติ เวลาสิ่งใดๆ ที่พูดนี้ไม่ใช่ลบล้างทั้งหมด คำว่าลบล้างหมายความว่า เวลาคนปฏิบัติ เราปฏิบัติก็แสนทุกข์แสนยากแล้ว แล้วถามอะไรไปนี่ผิดหมดเลย แล้วจะไปทางไหนกัน

แต่ถ้าปฏิบัติไปมันยังไม่ถูกต้อง มันยังไม่ถูกต้องหมายความว่า เป้าหมายเรายังไม่ถึงที่สุด มันยังมีระยะทางที่เราต้องเดินต่อไป ถ้าเรามีระยะทางที่เดินต่อไป ถ้าเราบอกว่าสิ่งนี้ถูกต้อง เขาจะไม่เดินต่อไป เขาจะหยุดอยู่ตรงนั้น หยุดอยู่ตรงนั้นคือว่าเขาจะไม่พัฒนา เขาไม่พัฒนา แล้วเวลาหยุดอยู่ตรงนั้นปั๊บ พอหยุดปั๊บ กิเลสนะ มันก็จะยึด แล้วกิเลสมันก็จะแผ่กิ่งก้านสาขา แล้วกิเลสมันก็จะครอบงำ แล้วจิตก็จะเสื่อม พอเสื่อมขึ้นมาก็จะเสียใจ ปฏิบัติแล้วก็แค่นี้ พอขึ้นไปแล้วก็ถอย ถอยแล้วก็ขึ้น ทุกข์ยากอยู่แค่นี้ อันนี้คือธรรมชาติของกิเลส

หน้าที่การงานของกิเลสคืออย่างนี้ คือทำให้ผู้ปฏิบัติเรรวน คือพยายามถอนรากถอนโคนผู้ที่ปฏิบัติ เพราะผู้ที่ปฏิบัติจะชนะกิเลสในใจของตัว ถ้าชนะกิเลสในใจของตัว ใจดวงนี้มันจะมาอยู่ใต้อำนาจของพญามาร มารมันไม่ยอมหรอกโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของมัน นี่ธรรมะๆ นี่ไง ธรรมชาติของกิเลส โดยธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนี้ แต่คนไม่ไปรู้ไปเห็นมันเพราะอะไร เพราะมันเป็นเราไง เพราะมันกับเราอยู่ด้วยกันไง คือเรามีผลประโยชน์ร่วมกัน มันยึดครองใจเราอยู่น่ะ มันมีผลประโยชน์ร่วมกัน พอคนมีผลประโยชน์ร่วม มันไม่กล้าทำลายเขา ไม่กล้าทำลายเขา ไม่กล้าเปิดหน้าดูเขา ไม่กล้าแตะต้องเขา เพราะเขาเป็นเรา

แต่ถ้าเราฝึกหัดของเรา เราปฏิบัติของเรา เดี๋ยวจะรู้จะเห็นระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กัน ถ้าต่อสู้กันไปแล้ว

สิ่งที่ถูกรู้มันหายไป ทำไมมันเหลือแต่ผู้รู้

แค่สมาธิเขาก็ทำได้

ทำไมมันเหลือแต่ผู้รู้

มันก็ง่ายๆ ของมันพื้นฐานน่ะ หรือว่าจะรู้ หรือว่าเรารู้อะไร

ทำไมเหลือแต่ผู้รู้

ผู้รู้ อยู่กับมันสิ เดี๋ยวมันก็คลายออก เหลือแต่ผู้รู้ ผู้รู้จะทรงตัวอยู่ได้ไหม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ผู้รู้เป็นอนิจจัง เดี๋ยวมันก็แปรปรวน เดี๋ยวมันก็ออกไปรับรู้ เดี๋ยวมันก็ซ่าออกไป นี่มันยังแปรปรวนอยู่ ยังเป็นอนิจจังอยู่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อนัตตามันยังแปรปรวนอยู่

พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป เวลามันคายออกไปแล้วมันเป็นอกุปปธรรม ตอนนั้นน่ะจะรู้จริง ถ้ารู้จริงอย่างนี้จบ

ฉะนั้น สิ่งนี้ให้ทำต่อไป ให้ทำต่อไป คำถามก็ตอบแล้ว หรือว่าจะรู้ล่ะ หรือว่าจะรู้ หรือว่าจะรู้ก็ไม่รู้ เพราะคำว่าหรือจะรู้หลวงตาท่านเป็นอย่างนี้อยู่ที่หนองผือไง จิตจับแล้วปล่อย จิตจับแล้วปล่อย จิตจับนี่เหลือแต่ผู้รู้ไง พอมันจับอารมณ์ จับแล้วก็ปล่อย เพราะสติมันทัน สติมันทัน ทันกับจิต แต่ปัญญามันไม่จับแล้วแยกแยะ จับแล้วปล่อย จับแล้วปล่อย เอ๊ะ! อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ อ้าว! พระอรหันต์ก็มันว่างหมดไง จับแล้วมันก็ปล่อย ว่างหมดเลย

แต่ด้วยความเรียนมาที่เป็นมหา ถ้าสงสัย ไม่ใช่ หรือว่า หรือว่านี่มันสงสัย ถ้ายังลังเลสงสัยอยู่ ไม่ใช่ พอไม่ใช่ปั๊บ ท่านปัดทิ้ง แล้วท่านมุมานะขึ้นไป ท่านดันตัวเองจนถึงที่สุดแห่งทุกข์

หรือว่า หรือว่ารู้ ถ้าหรือว่ารู้มันยังสงสัย ถ้าสงสัยคือไม่รู้ เอวัง