ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นี่สันนิษฐานเอา

๕ ก.ค. ๒๕๕๗

นี่สันนิษฐานเอา

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องกราบเรียนผลการปฏิบัติ

กราบนมัสการหลวงพ่อ ครั้งนี้ผมขอกราบเรียนผลการปฏิบัติทั้งหมดที่ผมได้พิจารณามาครับ คำถามนี้ผมขออนุญาตหลวงพ่อไม่ต้องตอบคำถามนะครับ เพราะผมเพียงต้องการรายงานผลการปฏิบัติเท่านั้นครับ

. ในการพิจารณาเบื้องต้นที่ผมสามารถแยกกาย จิต และเวทนาได้ มันเกิดขึ้นคนละทีครับ คือว่ามันไม่ได้รู้พร้อมกันหมดเลยในทีเดียว ดังนั้นผมจึงเพียงแต่รู้ว่าทั้ง ๓ ส่วนนั้นแยกกันต่างหาก จนเมื่อผมนำทั้ง ๓ ส่วนนั้นมาพิจารณารวมกันจนเกิดความเข้าใจขึ้นว่า ทั้ง ๓ ส่วนนั้นแท้จริงมีลักษณะเหมือนกันคือมันไม่เที่ยง เพราะมันยังแปรสภาพได้อยู่

. ในขณะที่ผมกำลังกินข้าว ผมได้พิจารณาส้มตำที่กำลังกินอยู่ว่า เมื่อผมกินเข้าไปแล้วมันจะกลายเป็นอย่างไร เมื่อผมลองไล่ดู ผลปรากฏว่าสุดท้ายมันจะกลายเป็นขี้ ผมจึงพิจารณาว่าเมื่อขี้สลายลงแล้ว กลายเป็นอะไร ผมจึงได้คำตอบว่า เมื่อกลายเป็นขี้ก็จะกลายเป็นดินและน้ำ ผมจึงคิดต่อว่า ในเมื่อมันเป็นดินกับน้ำ ทำไมจึงเรียกมันว่าขี้ ผมจึงเกิดความเข้าใจว่า เพราะว่ามันรวมตัวกันอยู่ในขณะนั้น เราจึงเรียกมันว่าขี้ และเมื่อผมลองไล่ย้อนกลับมาจนถึงเหตุที่ทำไมทำให้เกิดขี้ มันก็คือส้มตำ และเมื่อผมได้แยกส้มตำออกดูก็เห็นว่ามีลักษณะเหมือนกัน คือเกิดจากรวมตัวกันในขณะนั้นๆ เราจึงตั้งชื่อเรียกในขณะที่เราเห็นตอนนั้นว่ามันชื่ออะไร ผมจึงเกิดความเข้าใจขึ้นว่า ทุกอย่างมันเป็นสมมุติ มันเป็นเพียงชื่อเรียก แต่สภาพตามความเป็นจริงแล้วทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตลอดเวลา

. เมื่อผมนำสมมุติมาคิดต่อ ผมจึงความเข้าใจขึ้นว่า สภาพที่ผมเป็นอยู่คือความเป็นมนุษย์นี้ก็เป็นสมมุติอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ทำให้เป็นสมมุตินั้นเนื่องจากมนุษย์เองก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ดี

. ผมจึงนำความรู้ความเข้าใจทั้งหมดที่ผ่านมา มาคิดต่อ ผมจึงเกิดความเข้าใจขึ้นว่า เหตุเพราะว่าเราเข้าไปรับรู้ความไม่รู้ จึงทำให้เราเกิดความสงสัยตามมา ผมจึงคิดต่อว่า ความไม่รู้มันเป็นอย่างไร ผมจึงเกิดความเข้าใจว่า ความไม่รู้ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งมันอนัตตา เพราะแม้แต่อนัตตาก็ยังเป็นอนัตตา สาเหตุที่ผมพิจารณาความไม่รู้จนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าอวิชชาคือความไม่รู้ ผมเลยเสียเวลาหลงไปพิจารณาความไม่รู้แทนที่จะพิจารณาผู้รู้

. ในการพิจารณาผู้รู้ ผมพิจารณาดังนี้ครับ ในขณะนั้นผมเข้าใจว่า เมื่อผมรู้จักความไม่รู้ และได้ทำลายความไม่รู้แล้ว ผมคิดว่าผมในขณะนี้อยู่ในระดับอรหัตตผล อันนี้เป็นความคิดของผมเองนะครับ เพราะมันเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาเองขณะทำลายความไม่รู้ลง ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ผมไม่ทราบครับ ต่อมาผมจึงได้นำความคิดที่ว่าตัวเองเป็นอรหัตตผลมาพิจารณา ผมจึงเกิดความสงสัยว่า ตัวอรหัตตผลก็น่าจะยังเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าผมยังรับรู้ถึงความเป็นตัวตนของผมได้เองอยู่

ผมจึงพิจารณาต่อว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นตัวอรหัตตผลเองก็น่าจะเป็นอนัตตา เหตุเพราะว่ามีแต่นิพพานเท่านั้นจึงจะคงที่ได้ ผมจึงคิดต่อว่า ทำไมอรหัตตผลจึงเป็นอนัตตา เหตุที่เป็นอนัตตาเพราะว่ามันไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยง มันจึงยังต้องเปลี่ยนแปลง อะไรที่มันยังเปลี่ยนแปลงได้นั้นมันก็เป็นอนัตตา ด้วยเหตุนี้อรหัตตผลก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน ผมจึงเกิดความคิดในใจขึ้นว่า ที่เรียกว่านิพพานเที่ยงก็เพราะว่ามันไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้วนั่นเอง

นี่คือผลการปฏิบัติของผมครับ และตอนนี้ผมก็เชื่อในสิ่งที่ผมรู้ครับ แต่ถ้าหากว่าความรู้ของผมมันเปลี่ยนในวันไหน ผมพร้อมเสมอครับที่จะเข้าไปกราบเรียนถามการปฏิบัติกับหลวงพ่อใหม่อีกครั้ง กราบขอบพระคุณ

ตอบ : อันนี้คำถามมาตั้งแต่ต้น แล้วคำถามเขาก็เชื่อมั่นว่าเขามีคุณธรรม แล้วถ้ามีคุณธรรม วันนั้นเขามาหาเราแล้ว เราบอกว่า กาลเวลาจะพิสูจน์ อกาลิโก ธรรมะไม่มีกาลไม่มีเวลา ถึงเวลา เวลาจะพิสูจน์เอง เราบอกให้เวลาพิสูจน์เอง แล้วเขาจะถามเหตุผล เราบอกเราไม่ฟัง นี้เขาเลยเขียนมา พอเขียนมา เขาบอกว่าคำถามนี้ขออนุญาตหลวงพ่อไม่ต้องตอบคำถามนะครับ

ถ้าไม่ต้องตอบคำถาม ก็ไม่ต้องเขียนมา มันก็ไม่ต้องตอบ แต่นี่มันเขียนมา เขาเขียนมา เขียนมาให้เรารับรู้ ไอ้นี่มันก็ตีหัวเข้าบ้านไง แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้าตัวเองไม่มั่นใจก็บอกว่าอ้าว! ก็ได้ถามหลวงพ่อไปแล้ว หลวงพ่อก็ไม่เห็นว่าอะไรมันก็เหมือนกับว่าเราก็ต้องเห็นด้วยไง

เวลาปฏิบัติไปแล้วมันก็สงสัย ถ้ามันสงสัยมันก็ไม่ใช่อยู่แล้วแหละ แต่นี่มันสงสัยแล้ว มันสงสัยแล้วเขาถึงถามมา ถ้าไม่สงสัยก็ไม่ต้องถามมา ไอ้นี่บอกว่าถามมา แต่ห้ามตอบนะครับ ห้ามตอบ

เพราะถามมามันถึงมีเหตุผลไง แต่เวลาที่ปฏิบัติมา เราถึงบอกว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมนี่นะ เผยแผ่ธรรม อนุปุพพิกถา ทำให้คนมีศรัทธา ศรัทธาไทยไง ภิกษุทำศรัทธาไทยให้ตกล่วงเป็นอาบัติปาจิตตีย์นะ

แต่คนที่เขามีศรัทธามีความเชื่ออยู่แล้ว พระไปพูดให้เขาคลอนแคลน พระไปทำให้เขาหมดความเชื่อถือในศาสนา พระเป็นอาบัติทันทีเลย เพราะพระ การเผยแผ่ก็เพื่อให้มีความศรัทธามีความเชื่อในพระพุทธศาสนา ให้คนประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น สิ่งที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมก็เพื่อศรัทธาเพื่อความเชื่อ เพื่อความมั่นคงของศาสนา

ทีนี้เพื่อความมั่นคง สิ่งที่เราศรัทธามีความเชื่อนั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แล้วเวลาการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นในการปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้วเราปฏิบัติด้วยความเห็นของเราไง ถ้าเราปฏิบัติด้วยความเห็นของเรา ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะคอยชี้นำ จะคอยชักนำขึ้นมา ถ้าชักนำขึ้นมา มันก็เป็นความจริง ถ้าครูบาอาจารย์นั้น ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถ้าเห็นตามความเป็นจริง

แต่นี้เวลาปฏิบัติไปแล้วเราเห็นของเรา ฉะนั้น เราเห็นของเรา เราปฏิบัติ เราถึงว่า เวลาใครถามปัญหามา เริ่มต้นการปฏิบัติถูกต้องทั้งนั้นน่ะ ถูกต้องเพราะอะไร เพราะคนยังไม่เคยปฏิบัติเลยมันก็ยังไม่มีความผิดพลาด ถ้ามีความผิดพลาดมันก็แก้ไขตามความจริงอันนั้น ถ้าคนมีอำนาจวาสนาบารมีมันจะรู้จริงของมัน แต่ถ้ามันไม่มีอำนาจวาสนาบารมีก็ปฏิบัติไปเพื่อให้ภพชาติมันสั้นเข้า คือพยายามปฏิบัติเพื่อประโยชน์กับตนน่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติไป เวลาบอกว่า ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันแบบว่าอกาลิโก สิ่งที่เป็นสัจธรรมมันเป็นอันเดียวกัน จะพูดเมื่อไหร่จะทำเมื่อไหร่มันเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันเหมือนกัน ถ้ามันเป็นความจริงแล้วมันก็เป็นความจริงของเรา

แต่ถ้าบอกว่าเราไม่สงสัย ไม่สงสัย เขียนถามมา ถ้าถามมาแล้วไม่ให้ตอบ ไม่ให้ตอบมันก็แบบว่ายอมรับ เป็นการยอมรับว่าเรายอมรับว่าอันนั้นเป็นความจริง แล้วจะทำให้คนที่ปฏิบัติมันก็ติดอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันไม่ยอมรับ สิ่งที่ไม่ยอมรับเพราะอะไร เพราะที่เขียนมานี่มันผิดหมด มันผิดหมดเลย มันผิดที่ตรงไหนล่ะ มันผิดเพราะความเข้าใจเป็นภาคปริยัติ เป็นทางทฤษฎี มันก็เชื่อมั่นตามนี้ แต่ถ้าปฏิบัติมันผิดทั้งนั้นน่ะ มันผิดหมดเลย มันผิดหมดที่ไหน มันผิดหมด เวลาหลวงตาท่านจะออกประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ท่านไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลยนะมหา มหาเรียนมาจนเป็นถึงมหา สิ่งที่มหาเรียนมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ่งนี้สูงส่งมาก เราเทิดใส่ศีรษะไว้

เพราะไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่มีพระพุทธศาสนา ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรมก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมก็เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นรัตนตรัยของเรา

ฉะนั้น เวลาที่หลวงตาท่านศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทิดใส่ศีรษะไว้ เราเคารพบูชาเทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วเอาความรู้ความเห็นของการเรียนมาใส่ลิ้นชักไว้ แล้วก็ลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้มันออกมา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไป ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันจะเป็นอันเดียวกัน อันเดียวกัน

แต่ถ้ายังไม่เป็นความจริง เวลาปฏิบัติไป หลวงปู่มั่นท่านใช้คำว่า มันจะเตะมันจะถีบคือมันจะสร้างภาพ มันจะเกิดจินตนาการ มันจะเกิดการที่ว่าเรารู้ไปก่อน แล้วเวลาปฏิบัติไป ความรู้จริงมันก็มีของเรา แต่ไอ้การสร้างภาพนั้นมันก็มาดักหน้าไว้

ทีนี้การปฏิบัติมันจะลุ่มๆ ดอนๆ มันจะทุกข์มันจะยากมาก เพราะคนปฏิบัติแล้วทุกคนเวลาทุกข์เวลายากมันก็อยากได้ผลใช่ไหม ทุกคนทำงานต้องการประสบความสำเร็จ ทีนี้การปฏิบัติมันก็อยากได้ผล ทีนี้พอปฏิบัติไป มันรู้ของมันอยู่แล้ว มันก็ทุกข์ยากอยู่แล้ว มันก็ว่าใช่ มันก็สร้างภาพ จินตนาการสร้างภาพ พอสร้างภาพ มันจะเตะมันจะถีบ

มันจะเตะมันจะถีบคือว่ามันจะไม่ได้ความจริง ว่าอย่างนั้นเถอะ มันจะล้มลุกคลุกคลาน จะจริงก็ไม่จริง ไอ้จะว่าไม่จริงก็จริง ไอ้จะไม่จริงก็มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไอ้จะว่าไม่จริง มันก็ว่างๆ ไอ้ว่าจะไม่จริง ทำแล้วมันก็ดี ไอ้จะว่าจริง จริงก็สงสัย มันจะว่าจริงก็ไม่ใช่ ไอ้ว่าจะไม่จริงหรือ มันก็จะจริงอยู่ สิ่งนี้มันจะเตะมันจะถีบกัน นี้หลวงปู่มั่นท่านว่าอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาทำความเป็นจริงมันต้องทำความสงบของใจเข้ามา

ฉะนั้นถึงว่า สิ่งที่ว่ามันเป็นความผิด ความผิดตรงไหน ไอ้นี่มันเป็นอย่างที่ว่าทางโลกเขา เขาสันนิษฐานกันไง เวลานักวิชาการ เวลาเขาจะพูดอะไร เขาจะไม่รับผิดชอบ เขาบอกว่า นี่สันนิษฐานเอา สันนิษฐานๆ

นี่ก็สันนิษฐานเอา สันนิษฐานโดยกิเลส สันนิษฐานตามความเห็นของตัว

แต่ถ้าเป็นวงกรรมฐานนะ เขาจะรู้เลย เพราะคำพูดคำแรกมันก็ผิดอยู่แล้ว มันผิดอยู่แล้ว

. ในการพิจารณาเบื้องต้นผมสามารถแยกกาย แยกจิต และเวทนาได้ มันเกิดกันคนละที คือมันไม่ได้รู้พร้อมกันทั้งหมดเลยทีเดียว ดังนั้นผมจึงมาเรียง ผมจึงเพียงแต่เอา ๓ ส่วนนั้นมาแยกเหมือนกัน ผมจึงเอามาเรียงต่อกัน เอา ๓ ส่วนนั้นมาพิจารณารวมกันจนเกิดความเข้าใจว่า

ในวงกรรมฐานนะ ในการปฏิบัติ แม้แต่สิ่งที่เป็นอดีต เราเคยนั่งสมาธิได้ แล้วสิ่งที่เป็นสมาธินี้ก็ฝังใจ แล้วพอมันฝังใจปั๊บ จะนั่ง จะเอาสมาธิอย่างนั้น สมาธิอย่างนั้นนั่นอดีตไง แล้วไม่ได้หรอก ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก จนท้อใจ จนท้อใจ เออ! วางเถอะ ปล่อยมันเถอะ เราทำประสาเรา พอทำประสาเรา มันได้อีกแล้ว พอได้แล้ว ติดใจอีก ติดใจก็ฝังใจอีก จะเอาอย่างนี้ๆๆ มันก็ไม่ได้ นี่แม้แต่สมาธิยังไม่ได้เลย

แต่นี่เขาบอกว่า เขาแยกกายได้ แยกจิตได้ แยกเวทนาได้ แต่คนละคราว แล้วก็เอามาคิดไง เอามาเรียงกัน เอามาคิดเอา...มันสัญญาทั้งนั้นน่ะ คำพูดมันฟ้องชัดๆ เลยว่ามันไม่เป็นปัจจุบัน ถ้าไม่เป็นปัจจุบันคือมันไม่เกิดตามความเป็นจริง มันเกิดจากอดีตอนาคต

มันจะอดีตมา เกิดจากอดีต อดีตเคยแยกได้ เคยแยกได้ก็คือความเข้าใจ ความเข้าใจพิจารณาแล้วมันแยกได้ มันแยกได้คือความเข้าใจมันปล่อยได้ มันปล่อยทีละคราว แล้วก็เอา ๓ อย่างมารวมกัน แล้วมานั่งพิจารณา มันสัญญาทั้งนั้นน่ะ ถ้าอย่างนี้แล้วเขาเรียกว่าทางโลกทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้แหละ ใครทำอะไรได้แล้ว ใครสร้างบ้านแล้วบ้านเราต้องสำเร็จตลอดไป ใครทำอะไรเสร็จแล้วมันก็จะเสร็จอย่างนั้นน่ะ แต่มันก็เสื่อมสภาพนะ นี่ก็เหมือนกัน เราเคยภาวนาได้ เราก็คิดว่าจะได้

ไอ้ที่ได้มันคืออดีต มันเป็นอดีตไปแล้ว แล้วปัจจุบันยังไม่มีหรอก ถ้าปัจจุบันต้องเป็นปัจจุบัน แล้วปัจจุบันทรงตัวไว้ไม่ได้ เป็นสมาธิแล้วมันใช้ปัญญาเดี๋ยวนั้น อะไรเดี๋ยวนั้น มันจะเป็นความจริง

อันนี้มันผิดตั้งแต่ต้น มันผิดตั้งแต่ต้นเพราะว่า แยกกายได้ แยกจิตได้ แยกเวทนาได้...ก็ได้ แล้วทำไม แยกได้ก็คือได้ เราเกิดมา เรานั่งอยู่นี่ เคยดื่มน้ำนมแม่มาทั้งนั้นน่ะ แล้วดื่มน้ำนมแม่แล้วทำไม ก็ดื่มน้ำนมแม่มาถึงมีชีวิตนี้มาไง พอโตขึ้นมาก็กินอาหารอ่อน พอโตขึ้นมา เราก็กินอาหารปกติ แต่ตอนเล็กๆ ดื่มน้ำนมแม่ทั้งนั้นน่ะ เลือดในอก ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นแยกกายได้ ก็เริ่มต้นภาวนาพื้นฐานไง แล้วโตขึ้นไปทำอย่างไรต่อ อ้าว! แยกได้ก็คือแยกได้ แล้วทำอย่างไรต่อ

คนที่เขาภาวนาแล้วเขาจะเข้าใจว่า สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็คือผ่านมาแล้ว แต่เวลาพอผ่านมาแล้วเราคิดว่าเป็นสมบัติของเราตลอดไป อ้าว! ก็เราเกิดมาอย่างไรเราก็ไม่ยอมพัฒนา ก็อยู่อย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้น

อันนี้มันก็ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะว่าจนผมนำ ๓ ส่วนนั้นมาพิจารณารวมกัน

นำ ๓ ส่วนนั้นมาพิจารณารวมกันถ้าเป็นการปฏิบัติจริงนะ เราพิจารณาในปัจจุบันมันจะเกิดตามความเป็นจริงเป็นปัจจุบัน มันจะเกิดหรือไม่เกิด หรือเกิดแล้วมันเกิดแตกต่างกัน

ทีนี้ถ้าผมนำ ๓ ส่วนนั้นมาพิจารณารวมกัน”...อดีต คือสัญญาทั้งหมด

จนเกิดความเข้าใจว่าทั้ง ๓ ส่วนนั้นแท้จริงแล้วมันก็มีลักษณะเหมือนกัน

อ้าว! เราก็แยกสิ มนุษย์ผู้หญิงก็เป็นมนุษย์ผู้หญิง มนุษย์ผู้ชายก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน มนุษย์ผู้หญิงก็ต้องเป็นผู้หญิงตลอดไป มนุษย์ผู้ชายก็เป็นผู้ชายตลอดไป

อ้าว! เวลาเขาตัดอวัยวะเป็นเฉพาะส่วนเอามาปนกัน มันไม่ได้บอกถึงหญิงชาย แล้วมันเป็นอะไรล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันลักษณะเหมือนกันลักษณะ ๓ ส่วนที่แท้จริงแล้วมันลักษณะเหมือนกัน

มันเหมือนกันอย่างไร พิจารณากาย กายมันย่อยสลายอย่างไร มันย่อยสลายแต่ละครั้งมันก็ย่อยสลายไม่เหมือนกัน ความเข้าใจของปัญญา ปัญญามีหยาบ มีกลาง มีละเอียด เวลาพิจารณาไปมันแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ผ่านมาแล้วมันก็เป็นประสบการณ์ คนมีประสบการณ์มันก็แตกต่างกันไป อันนั้นพูดถึงการพิจารณานะ

ไอ้พิจารณาอย่างนี้ เอาทุกอย่างมารวมกันมันใช้ไม่ได้ มันเป็นสัญญา มันเป็นความเห็นของตัว ไม่เป็นความจริงหรอก แค่โจทย์มันก็ผิดแล้ว

ฉะนั้น. เวลาผมกินข้าว ผมกินข้าวผมพิจารณาไป

อันนี้โดยพื้นฐาน ใช่ เพราะอะไร เพราะเวลาพระจะฉันอาหาร พระยังต้องปฏิสังขาโย ถ้าพระนะ เวลาฉันอาหารไม่ปฏิสังขาโย เป็นอาบัติทุกกฏ พระบิณฑบาต ใช้ปัจจัย เวลาห่มผ้า ห่มผ้าเพื่ออะไร ห่มผ้าเพื่อกันความหนาว ห่มผ้าเพื่อกันริ้นกันยุง ไม่ได้ห่มเพราะสวยงาม จะฉันอาหาร ฉันของมูตรเน่า เก็บไว้มูตรเน่า ถ้าพระไปฉันอาหารนะ ไม่พิจารณาปฏิสังขาโยก่อน เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะการฉันอาหาร เวลาพิจารณาไปมันจะได้ปัญญา มันจะได้ประโยชน์มหาศาลเลย

ฉะนั้น เวลาเรากินข้าว เรากินข้าว เราคิดถึงขี้ ว่ากินแล้วก็เป็นขี้ มันก็ถูก พระก็ทำ มันก็ถูก อ้าว! ถูกแล้วอย่างไรต่อ นี่ไง มันเบสิก มันเป็นเรื่องพื้นฐานน่ะ พื้นฐานทำให้คนมีปัญญาขึ้นมา พระยังต้องทำ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เลย ปฏิสังขาโย การใช้สอยปัจจัย ๔ ต้องมีสติตลอด ต้องพิจารณา ถ้าการพิจารณา ถ้าเราพิจารณาด้วยมันก็ถูก มันก็ถูก เห็นไหม เด็กก็ต้องกินข้าว ผู้ใหญ่ก็ต้องกินข้าว ทุกคนก็ต้องกินข้าว กินข้าวก็ถูก แล้วทำอย่างไรต่อ กินข้าวเพื่อดำรงชีวิตไง แต่ถ้ามันเป็นความจริงล่ะ

พอพิจารณาไปแล้วว่าเป็นขี้ทุกอย่างแล้ว ผมถึงเข้าใจว่ามันก็เป็นสมมุติทั้งหมด มันเป็นสมมุติ

ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์เป็นธรรมะนะ ท่านบอกมนุษย์กินขี้ อ้าว! ผักก็คือขี้ ไอ้กรณีนี้ถ้าอยู่ในวงกรรมฐานมันเป็นเบสิก มันเป็นพื้นฐาน พื้นฐานเลย

ทีนี้คนเราเวลาถ้ามันติด เวลากิเลสมันท่วมหัว มันจะกินแต่ของประณีต ของอะไร แต่สรรพสิ่งในโลกนี้มันก็เกิดมาจากดิน มันเกิดมาจากดิน ทุกคนก็กินดินทั้งนั้นน่ะ มันเกิดมาจากดิน การเพาะปลูกต่างๆ มันก็เกิดมาจากดิน เกิดมาจากสสาร เกิดจากแร่ธาตุ มันก็กลับไปสู่แร่ธาตุ ไอ้นี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างมันก็เข้าใจได้ ถ้าเข้าใจได้ มันก็ถึงว่าผมก็เห็นว่ามันเป็นสมมุติ”...น่า! เห็นว่าเป็นสมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติหมดเลย

กรณีอย่างนี้ คนที่ปฏิบัตินะ เวลาธรรมมันเกิด เวลาธรรมมันเกิดมันจะเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็มีความมั่นคง จิตใจจะอาจหาญมาก สุดท้ายแล้วนะ เวลาวันเวลามันก็เสื่อมคลายไป มันก็เสื่อมคลายของมันไป ฉะนั้น เวลาการปฏิบัติ ในการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ ถ้าจิตใจอย่างนี้มันเริ่มต้นแล้ว ท่านจะคอยดูแล ท่านจะคอยให้มันเจริญงอกงามขึ้นไป ถ้ามันเจริญงอกงามขึ้นไป

สิ่งที่ทำมาๆ ใช่ พื้นฐานนี่ใช่ แต่คำว่าใช่แล้ว มันจะต้องพยายามประพฤติปฏิบัติให้เข้าสู่โลกุตตรธรรม อันนี้มันสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา มันเกิดจินตนาการ โดยพื้นฐาน โดยเบสิก แล้วจินตนาการไป

แล้วพอจินตนาการไป ดูสิ เวลาคนเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขามีความทุกข์ยากมาก แต่คนถ้าเขามีสติมีปัญญานะ เขาก็ทำของเขาแล้วเขาวางของเขาได้ เขาก็ทำงานโดยไม่เป็นความทุกข์ความยาก

คนที่ทำงานด้วยความทุกข์ความยากคือทำด้วยความทิฏฐิมานะ ทำด้วยอัตตา มันจมอยู่กับงาน ทุกข์น่าดูเลย แต่คนที่มีจิตใจที่เป็นธรรมเขาก็ทำงานเหมือนกันนะ ทำงานเขาทำตามหน้าที่ จิตใจรักษาไว้ ทำตามหน้าที่ เขาก็ทำงานโดยไม่ทุกข์ไม่ยาก

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา ถ้ามันเห็นจริงๆ มันก็เป็นงาน เป็นงาน เราก็วาง แล้ววางแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ วางงานอย่างนั้น แต่จิตมันจะหมุนกลับมาข้างในไง กลับมาก็มาเป็นประโยชน์ไง

ทีนี้ผมเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสมมุติทั้งหมด เพียงแต่เราให้ชื่อมัน

มันก็เข้าใจ มันเป็นเบสิก มันเป็นพื้นฐานน่ะ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า มนุษย์เกิดมากินดิน กินขี้ มันก็อย่างนี้ ปุ๋ยก็ขี้ ดูสิ ดูปุ๋ยคอก ก็ขี้ทั้งนั้นน่ะ แต่ให้เป็นประโยชน์กับผักหญ้า มันสวยงาม โอ้โฮ! มันงอกงาม น่ากินมาก เรากินเข้าไปแล้วก็เหมือนกัน ไอ้นี่มันเป็นเบสิก มันเป็นพื้นฐาน พื้นฐานให้ใจคนอยู่ในกรอบไง

ฉะนั้น พอถึงข้อที่ ๓เมื่อผมนำสมมุติคิดต่อ มันจึงเกิดความเข้าใจขึ้นว่า สภาพที่ผมเป็นอยู่ก็คือความเป็นมนุษย์นี้ก็เป็นสมมุติอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ทำให้เป็นสมมุตินั้นเนื่องจากมนุษย์เองก็ยังเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์เป็นสมมุติอย่างหนึ่ง

อันนี้มันจินตนาการไปหมดเลย ประสาเรานะ มันไม่เจอเป้าจริง ถ้าเจอเป้าจริง ทุกอย่างนี้เป็นสมมุติ มนุษย์ก็เวียนว่ายตายเกิด อาหารมันก็แปรสภาพ มันเป็นอนิจจัง มนุษย์ก็เป็นอนิจจัง มนุษย์เป็นสมมุติอันหนึ่ง มันเป็นปัญญาพื้นๆ น่ะ มันเป็นปัญญาพื้นๆ

แต่ถ้าคนเขาเห็นนะ เวลาจิตมันเห็นของมัน เวลามันเห็นกาย มันสะเทือนกิเลส ถ้าเห็นกายตามความเป็นจริง เพราะจิตมันสงบก่อน เราทำสมาธิกันให้จิตมันสงบ พอจิตมันสงบแล้วจิตมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นโดยจิต ไม่ใช่เห็นโดยจินตนาการ ไม่ใช่เห็นโดยคาดคิด ไม่ใช่เห็นโดยคาดหมาย

ไอ้นี่ผมเอามาคิด ผมเอามาปะติดปะต่อ...ไอ้นี่สัญญาทั้งหมด อย่างนี้ในวงกรรมฐาน ตรงนี้เขากลัวกันมาก เขากลัวว่ามันจะเป็นสัญญา

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาเวลาท่านเทศน์ เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เวลาเข้าถึงไคลแมกซ์ ถึงสิ่งที่มันจำเป็น ท่านบอกตรงนี้สำคัญ ท่านข้ามเลย เพราะท่านกลัวเราไปจำไง พอเราจำ เราจะสร้างภาพไง ยิ่งหลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์นะ ท่านเทศน์แต่เหตุเลย หลวงปู่มั่น หลวงตาบอก ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยประกาศตัวเองว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลอะไรเลย

หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยบอกว่าท่านมีคุณธรรมอะไรเลย แต่พระทั้งหมด พระทั้งประเทศ ทั้งทั่วโลก เชื่อว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ เพราะท่านไม่ได้บอกว่าท่านเป็นอะไรเลย แต่ท่านพูดถึงเหตุ เหตุอันนั้นมันจะบอกเลย ถ้าคนไม่มีคุณธรรมจะพูดถึงเหตุอย่างนั้นไม่ถูก ถ้าคนที่มีคุณธรรมเขาพูดถึงเหตุ

อย่างหมอ หมอเขาแนะนำเลย ยาอย่างนี้จะรักษาอย่างนั้น ใครเป็นโรคอะไรมา อ้าว! เอายาอันนี้ไป ไม่บอกว่าเป็นโรคอะไร แต่ให้ยาชนิดนี้มา รู้เลยว่าไอ้นี่เป็นโรคอะไร โรคอันนี้ต้องรักษาด้วยยาชนิดนี้

นี่ไง หลวงปู่มั่นท่านบอกจะให้ยาอย่างนั้นๆ ไอ้คนที่เป็นหมอเขารู้เลย อ๋อ! ถ้าให้โรคอย่างนี้ แสดงว่าอันนี้เป็นไข้ ถ้าให้ยาอย่างนี้ อ๋อ! ไอ้นั่นเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ยามันจะเข้าไปให้ผลกับอย่างนั้น นี่ท่านพูดแต่เรื่องเหตุ ท่านไม่พูดเรื่องผลเลย เพราะเรื่องผลแล้ว คนเรามันจะเอาไปเป็นสัญญา

แล้วพอเป็นสัญญาขึ้นมาแล้วก็เหมือนเรา ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นะ คนบ้านเล็กทำความสะอาดบ้านง่ายๆ คนบ้านใหญ่ทำความสะอาดบ้านยาก เพราะมันมีห้องมีหับเยอะมาก คนมีการศึกษา คนมีความรู้มากเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าคนเราไม่มีการศึกษา เราศึกษามาแต่การดำรงชีวิต แต่ปัญญาเราศึกษาธรรม เรารักษาได้ง่าย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาศึกษา ศึกษาทางภาคปริยัติ ศึกษา ศึกษามา ยิ่งบ้านหลังใหญ่ ศึกษามากรู้มาก เวลาปฏิบัติ ไอ้นั่นก็รู้แล้ว ไอ้นี่ก็รู้แล้ว ทุกอย่างรู้หมดเลย แต่ไม่รู้จักตัวเอง เพราะไม่เคยทำจิตให้สงบ ไม่รู้จักจิตของตัวเอง

รู้จักกิริยา รู้จักทางทฤษฎีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิบายไว้ ทฤษฎีรู้หมดเลย แต่ตัวเองไม่รู้จัก ถ้าตัวเองไม่รู้จัก เราจะไปเอาทฤษฎีนั้นเป็นของเราได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ารู้จักตัวเราเอง ตัวเราเองฝึกหัดทฤษฎีนั้น ตัวเองฝึกหัดให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าฝึกหัดเป็นจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ สิ่งที่ถามมานี่จะอายเลยล่ะ สิ่งที่ถามมานี่มันเบสิก มันพื้น โอ้โฮ! มันเป็นความจำทั้งนั้นเลย

ผมจึงเอาสมมุตินั้นมาคิดต่อ

โอ้โฮ! นี่ตายเลยนะ เพราะว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ท่านยังไม่ให้จำเลย ยิ่งหลวงตาเทศน์นะ อะไรที่สำคัญนะ ท่านบอกว่า พูดแค่นี้ เดี๋ยวมันจำท่านไม่บอกเลย

แต่นี่ไปเอาสมมุติมาคิดต่อผมจึงมีความเข้าใจขึ้นมาว่า

โอ้โฮ! ตายเลย

มันก็เหมือนเราจะรักษา ตอนนี้อีโบลา เขาต้องคาดปาก เขาต้องไม่ให้เชื้อไวรัสนี้สูดเข้าไปในร่างกายเลย แต่นี้บอกว่าไปเอาเชื้ออีโบลาเข้ามาพิจารณา เชื้อโรคไง สัญญาไง ผมก็เลยเอาอีโบลาเข้ามาป้ายจมูกเลย แล้วผมก็เอาเชื้ออีโบลากลืนเข้าไปเลย พิจารณาดูว่ามันจะติดโรคหรือเปล่า ก็ผมเอาสมมุติมาคิดต่อ สมมุติมาคิดต่อ เพราะว่าเขาคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสมมุติใช่ไหม แล้วผมก็เอาสมมุติมาคิดต่อ

แต่ถ้าเป็นการปฏิบัตินะ เรารู้ตามสมมุติแล้วเราก็สลดสังเวช แล้วทำใจให้สงบ คือสร้างร่างกายให้แข็งแรง เชื้ออีโบลามันทำให้คนตาย แล้วตอนนี้เขากำลังจะป้องกันแล้ว ไวรัสมันจะไปทั่วโลก เขาจะต้องป้องกันไม่ให้เข้าถึงตัวเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะปฏิบัตินะ เราก็ต้องทำร่างกายให้แข็งแรง เห็นไหม พุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ให้เกิดสมาธิ ให้ร่างกายแข็งแรง พอแข็งแรง ป้องกัน ป้องกันเชื้ออีโบลาคือกิเลส แล้วถ้าจิตสงบแล้วเราค่อยจับ เชื้ออีโบลามันแพร่มาจากอะไร แล้วมันจะเข้าสู่ร่างกายเราอย่างไร มันจะเข้าร่างกายคนอย่างไร นี่จะป้องกัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา หนึ่ง ต้องให้ร่างกายแข็งแรงก่อน แล้วต้องป้องกันตัวเองด้วย ป้องกันตัวเองด้วยสติ ป้องกันตัวเองไม่ให้เชื้อโรคเข้ามา

แต่นี่บอกผมไปเอาสมมุติมาคิดต่อไปเอาเชื้ออีโบลากลืนเข้าไปเลย ไวรัสหรือ สูดเข้าไปเยอะๆ แล้วจะพิจารณามันเข้าปอดหรือเปล่า เออ! แล้วก็บอกว่าผมก็เลยเข้าใจว่าการเกิดการตาย ผมเข้าใจไปหมดเลย

มันเกิดจากเริ่มต้นผิด สิ่งที่เราเอามาคิดต่อ คำว่าคิดต่อก็คือโลก คือสัญญาจนผมเข้าใจว่าถ้าเข้าใจว่า เข้าใจว่าอย่างไรล่ะ เข้าใจว่ามันก็มีสมุทัยเพราะผมเข้าใจว่าผมกับความเข้าใจก็คนละเรื่องแล้ว

สิ่งที่ว่าสภาพอย่างนี้มันเป็นมนุษย์ มนุษย์ก็เป็นสมมุติอย่างหนึ่ง เพราะเหตุนี้มนุษย์ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง

เวลาแร่ธาตุมันแปรสภาพไป มันทุกข์มันยากไหม หินมันย่อยสลายไป บ้านเรือนเวลาเราสร้างขึ้นมา คนที่มีความสุขใจก็คือเจ้าของบ้าน เวลาไฟไหม้บ้าน ไอ้คนเจ้าของบ้านทุกข์ใจมากเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเรากินอาหาร มันเป็นสมมุติอันหนึ่ง ทุกอย่างเป็นสมมุติอันหนึ่ง แล้วบอกว่าชีวิตเราก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่มันมีชีวิต มันมีความรู้สึก ชีวิตเรามีความรู้สึกนะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เกิดขึ้นมาก็อยากดีอยากเด่น ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่อยากประสบความสำเร็จ เวลาตายไปก็ตีโพยตีพาย แต่อาหารเวลาเคี้ยวกิน มันไม่ร้องไห้ด้วย ส้มตำมันไม่ร้องไห้เลย ส้มตำเอามาบดมันก็ยังเฉยๆ เลย มันไม่เห็นเสียใจเลย

เราบอกว่า สิ่งที่ว่าสมมุติอันหนึ่งที่เราพิจารณามา กับสมมุติอันหนึ่งในชีวิตมันแตกต่างกันแล้ว เห็นไหม แต่เราก็ไปว่ามันเหมือนกันไง ก็มีค่าเท่ากันไง เหมือนกันไง เพราะว่าเราคิดประสาเรา คิดแบบวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้

แต่ถ้าจะให้แก้กิเลสได้ เราต้องทำใจให้สงบก่อน รู้จักตัวตนของเรา มันมีหยาบมีละเอียด สิ่งที่เป็นแร่ธาตุก็คือเป็นแร่ธาตุ ร่างกายนี้มันทุกข์ไม่ได้ ร่างกายนี้ ร่างกายไม่มีชีวิต มันเป็นธาตุ ๔ สิ่งที่มีสุขมีทุกข์ก็คือใจของเรา ใจเป็นนามธรรม อู๋ย! มันอีกชั้นหนึ่ง

ไอ้นี่มันเป็นแบบเหมือนนักวิทยาศาสตร์ ที่ไอน์สไตน์มันบอก ถ้าให้เลือกนับถือศาสนาได้ จะเลือกนับถือศาสนาพุทธ แต่ตอนที่เขาเป็นยิว เขาก็ถือพระเจ้าของเขา เขาก็ตายไปแล้ว เขาบอกถ้าเขามีโอกาสเลือกได้ เขาจะเลือกนับถือศาสนาพุทธ แต่เขาเป็นยิว เขาก็นับถือพระเจ้าของเขา เขาก็ตายไปแล้ว

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราว่าเป็นสมมุติ เราคิดของเราได้ เราคิดมันก็เป็นโลก เป็นแบบไอน์สไตน์ ไอน์สไตน์มันตายไปแล้ว มันบอกเลย มันอยากนับถือศาสนาพุทธด้วย แล้วมันก็ตายไปแล้ว ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เข้าใจแล้ว รู้แล้ว มันก็รู้แบบวิทยาศาสตร์ รู้แบบแร่ธาตุ มันไม่รู้แบบชีวิต ไม่ได้รู้แบบความรู้สึกจากจิตวิญญาณ มันเป็นอย่างนี้ ข้อที่ ๓

ความผิดมันมีทุกข้อเลย คือมันคิดแบบโลก คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง มันไม่ได้คิดแบบธรรมเลย เพียงแต่ว่าถามปัญหาเรา แล้วเราตอบปัญหาไป มันก็ล้อกันมาตลอด

. ผมได้นำความรู้ความเข้าใจทั้งหมดที่ผ่านมาคิดต่อ

มาคิดต่ออีกแล้ว

ผมจึงเกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า เหตุเพราะว่าเราเข้าไปรับรู้ความไม่รู้ จึงทำให้เราเกิดความสงสัย ผมจึงคิดว่า

ไอ้ความรู้ความไม่รู้ ตัวเองยังเป็นสองอยู่ ถ้าเป็นยังเป็นสองอยู่ มีรู้กับไม่รู้ แล้วก็คิดของเราไปตลอด มันก็มีปัญหาไปตลอด

ทีแรกก็บอกว่าพิจารณาจนเป็นความไม่รู้ คือมันเงียบหายหมด คือไม่รู้อะไรเลย

ก็บอกว่า ถ้าไม่รู้คืออวิชชา

ก็พิจารณาผู้รู้ พอพิจารณาผู้รู้เสร็จแล้วทุกข์กลับเป็นของเราอย่างเก่า

เออ! เพราะอะไร เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น มันสับสนมาตั้งแต่ต้น เห็นไหมผมจึงเกิดความเข้าใจว่า ความไม่รู้มันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นอนัตตา ความไม่รู้เป็นอนัตตา

อ้าว! ความไม่รู้เป็นอนัตตาได้อย่างไร ความไม่รู้ อนัตตาก็เป็นอนัตตา

แล้วความไม่รู้เป็นอนัตตา เพราะแม้แต่อนัตตามันก็ยังเป็นอนัตตา

อืม! ไปใหญ่เลยนะ ไปใหญ่ไปเลย

พิจารณาความไม่รู้ พิจารณาผู้รู้จนเป็นไม่รู้

มันสับสนน่ะ มันสับสน นี่พูดถึงนะ เรามีการศึกษาทางโลก แต่นักบวช ดูพระเขาจบ ๙ ประโยค เขาเข้าใจเรื่องบาลี คำสอนในพระไตรปิฎกมันจะมีขั้นตอนของมัน

แล้วเรากรรมฐานไง เรากรรมฐาน เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาความจริง เอาความจริงมาถกแถลงกันเพื่อเข้าสู่ความจริง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติจะเอาความจริง คือเอาประสบการณ์จริงมาคุยกัน

ทีนี้ประสบการณ์จริงมาคุยกัน มันก็เป็นประสบการณ์จริงมาคุยกัน ทีนี้เวลาคุยกันในสาธารณะ เราคุยกันสาธารณะ ผู้ที่เขามีความรู้เขาฟังแล้วเขาหัวเราะ อะไรเดี๋ยวก็ไม่รู้ เดี๋ยวก็ผู้รู้ ไอ้ผู้ถูกรู้ เอ๊ะ! เขาบอกอย่างนี้มันเป็นโวหาร พวกนี้พวกเล่นลิ้น

แต่ถ้าปฏิบัติจริง เขารู้จริงของเขา พอรู้จริง มันมีองค์ความรู้ มีองค์ความรู้ เขาจะอธิบายเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เขาไม่สับสนน่ะ เขาไม่สับสน มันจะเริ่มต้นจากอะไรใช่ไหม แล้วเข้าไปสู่ความรู้จริงมันเป็นอย่างไร

ไอ้นี่เดี๋ยวพลิกไปพลิกมา พลิกมาพลิกไป พลิกมาพลิกไป

ผู้ที่เขาศึกษาทางทฤษฎี ผู้ที่เขาศึกษาทางบาลีเขาหัวเราะ เขาหัวเราะนะ พวกพระปฏิบัติไม่มีการศึกษา ไม่มีการศึกษาก็ไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีองค์ความรู้แล้วก็มาพูดธรรมะ พอพูดธรรมะก็เฉไฉกันอยู่อย่างนี้ นี่ความเห็นของผู้ที่ศึกษาทางบาลี

แต่ในทางปฏิบัติ บาลีมันเป็นธรรมวินัย มันเป็นการชี้นำ บอกเข้ามาสู่ความรู้สึกอันนี้ ถ้าเราปฏิบัติเข้ามาความรู้สึกอันนี้ มันเข้าใจหมดเลย แล้วมันเข้าใจหมด ถ้าเข้าใจหมดนะ สิ่งที่ไม่รู้ก็คือไม่รู้ แล้วถ้ามันรู้ มันไม่เป็นอย่างนี้

ถ้ามันรู้ จิตถ้ามีสัมมาสมาธิ จิตมันแข็งแรง ไม่เอาเชื้ออีโบลาเข้ามา ต้องป้องกันมันไว้ แล้วทำจิตให้มั่นคง พอจิตมั่นคง พอมันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม มันก็จับไวรัสแล้วพิจารณา พิจารณาแยกแยะว่า ไวรัสมันมีผลอย่างไร มันจะมียาสิ่งใดไปต่อต้านมัน แล้วมันจะทำอย่างไรให้สร้างวัคซีนขึ้นมา วัคซีนเวลาฉีดเข้าไปแล้วป้องกันไม่ให้เชื้ออีโบลาเกิดขึ้นมากับเรา ถ้าเชื้ออีโบลาเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะรักษาป้องกันมันอย่างไร เขาจะคิดยาของเขาได้ ยาของเขาจะปราบเชื้ออีโบลา เขาจะฆ่าเชื้ออีโบลาให้มันตายไป มันก็จบ เห็นไหม พอมันจบขึ้นมา มันไม่เป็นอนัตตาแล้ว

ก็มันเป็นอนัตตา ในอนัตตาก็เป็นอนัตตา

สับสน อนัตตามันเป็นอนัตตา กุปปธรรม อกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่พอพิจารณาจบสิ้นไปแล้ว เชื้ออีโบลาก็ได้ทำลายมันแล้ว วัคซีนที่ป้องกันเชื้ออีโบลา เราก็ได้สร้างขึ้นมาแล้ว แล้วเราป้องกันให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมา ร่างกายก็ป้องกัน แข็งแรงขึ้นมาแล้ว เราพ้นจากเชื้ออีโบลามาแล้วมันก็คงที่ของมัน นี่สิ่งนี้เป็นธรรม ไม่ใช่อนัตตา ไม่ใช่ ไม่ใช่

อนัตตามันเป็นความแปรสภาพของมัน มันต้องผ่านการแปรสภาพ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตา พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกระบวนการ กระบวนการของจิต กระบวนการที่มันพัฒนา จิตที่มีกิเลส มันทำความสงบของใจเข้ามาได้อย่างไร พอใจสงบ สัมมาสมาธิ มันใช้ปัญญา เห็นไหม งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรม ๘ อย่าง ความชอบธรรม ๘ อย่างมันพร้อมกันโดยอารมณ์เดียว เพราะอารมณ์เดียวมันถึงมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีคือความสมดุลของมัน ความสมดุลของกิ่งก้านสาขาขึ้นมาสมดุลของมัน แล้วมันสมุจเฉทปหาน มันเป็นความจริง มันไม่ใช่ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้

มันมีกระบวนการ มีกระบวนการของมรรค จับเหตุ เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด จับตัวทุกข์พิจารณาแยกแยะ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ สมุทัยคือเชื้อโรค สมุทัยคือกิเลส พอมันแยกแยะขึ้นไป มันสำรอกมันคายสมุทัย คายตัณหาความทะยานอยากด้วยมรรค พอด้วยมรรค มรรคทำลายสิ้นสุดไปแล้วเกิดนิโรธ นิโรธะ ดับหมด รู้หมด รู้หมดมันก็เป็น ดับหมด ดับอะไร

ไม่ใช่ดับแบบไม่รู้ ดับแบบผู้รู้ ไม่ใช่

ชัดเจน ถ้าเป็นอกุปปธรรม อันนั้นสมบูรณ์ของมัน กระบวนการมันเป็นแบบนี้

นี่มันแบบว่ามันพูดของมันไปเรื่อยไง

. การพิจารณาผู้รู้เขาพูดมาเรื่อย เขาบอกว่า หลวงพ่อห้ามตอบนะ หลวงพ่ออย่าประจานผมนะ ผมนี่นักปฏิบัติมาก หลวงพ่ออย่าประจาน

ถ้าอย่าประจานก็ไม่ต้องเขียนมา เพราะบอกแล้วว่าไม่ต้องเขียนมา ให้ปฏิบัติให้รู้จริงมา ไม่ให้เขียนมา วันนั้นมาก็ให้กลับ ให้กลับก็เลยเขียนมา เขียนมาบอกหลวงพ่อต้องรับรู้ ผมปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อรับรู้แล้ว ฉะนั้น ถ้าผมไปที่ไหนมาผมบอกว่าพระสงบรับประกันผมแล้ว

ฉะนั้น เขียนมาแล้ว ถ้าไม่ให้ตอบก็ไม่ต้องเขียนมา ถ้าเขียนมา เขียนมามันเป็นประเด็นแล้ว

สันนิษฐานเอา นี่สันนิษฐานเอา สันนิษฐานคือเดา นี่คือการคาดเดา ผู้ใดปฏิบัติธรรมคาดเดาก็ได้ธรรมะคาดเดา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันเป็นอันเดียวกัน มันเป็นอันเดียวกัน ถ้าอันเดียวกันแล้วมันจะไม่มีการโต้แย้ง ไม่มีขัดแย้งกัน แต่ถ้ามันไม่เหมือนกันมันก็เป็นอย่างนี้

. ในเมื่อพิจารณาผู้รู้ พิจารณาดังนี้ ในขณะที่ผมเข้าใจ เมื่อผมรู้จักความไม่รู้และทำลายความไม่รู้แล้ว ผมคิดว่า ในขณะที่อยู่ในลำดับของพระอรหัตตผล อันนี้มันเป็นความคิดของผมเอง มันเกิดความรู้ความเข้าใจ ผู้รู้ทำลายความไม่รู้แล้วเป็นอรหัตตผล

มันไม่มี มันไม่มี เห็นไหม

หลวงตาท่านไปถามหลวงปู่แหวน เวลาถามหลวงปู่แหวนว่า เริ่มต้นการพิจารณา พิจารณาอย่างไร หลวงปู่แหวนท่านตอบเลย พอตอบเสร็จ มันเข้าทางแล้ว พอเข้าทาง ท่านก็ถามต่อเลย ถามต่อ หลวงปู่แหวนตอบอีก ๔๕ นาที ตอบถึงอวิชชา ตอบถึงจบสิ้นเลย เห็นไหม ตอบจบเลย

แล้วเวลาหลวงปู่แหวนท่านพูดจบแล้ว ท่านบอกหลวงตานะ มหา มหามีอะไรโต้แย้งขัดแย้ง โต้แย้งมาเลยนี่ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

หลวงตาท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านก็เห็นหลวงปู่แหวนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านมีชื่อเสียง แต่ท่านยังไม่เคยได้คุยกับหลวงปู่แหวน ท่านก็อยากจะรู้ภูมิว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า

เวลาไปสนทนาธรรม มันเป็นธมฺมสากจฺฉา คือว่ามันเป็นธรรม เป็นธรรมคือว่าผู้ที่มีคุณธรรมด้วยกันสนทนาธรรมกัน ทีนี้พอสนทนาธรรมเสร็จแล้ว หลวงปู่แหวนท่านไม่เกิดทิฏฐิมานะ ท่านไม่เกิดว่าท่านเป็นพระผู้ใหญ่ มหาเป็นพระผู้น้อย ถ้าพระผู้น้อยมาถามพระผู้ใหญ่ มันแบบว่ามันไม่ให้เกียรติกัน หลวงปู่แหวนท่านไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย หลวงปู่แหวนท่านพูดเลยมหา มหาสงสัยอะไรไหม มหามีอะไรโต้แย้งไหม ถ้ามีอะไรโต้แย้งให้โต้แย้งมานะ เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของธรรม

ไม่ใช่ว่า โอ๋ย! พอมหามาถามแล้ว พอเราตอบเสร็จแล้วมหา มหานี่มาถามได้อย่างไร ฉันเป็นพระผู้ใหญ่ โอ๋ย! มหาเป็นพระผู้น้อย มาถามพระผู้ใหญ่ได้อย่างไร”...ไม่มีเลย

มหา มหามีอะไรไหม มหามีความสงสัยไหม มีความคิดเห็นต่างไหม ถ้ามีความคิดเห็นต่างให้โต้แย้งมา

หลวงตาท่านเป็นธรรมนะ ท่านกราบ เพราะว่าท่านเป็นพระผู้ใหญ่ เคารพด้วยอาวุโส ภันเต กราบหลวงปู่แหวนผมไม่โต้แย้งหรอกครับ ผมไม่มีความสงสัยหรอกครับ แต่ผมอยากหาฟังธรรมแบบนี้ ผมอยากฟังธรรม อยากเห็นของจริง อยากได้รื่นเริงในธรรมกราบหลวงปู่แหวน แล้ว ๒ คนก็หัวเราะด้วยกันคึกคัก

นี่ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มันไม่มีความโต้แย้งเลย ธรรมก็คือธรรม ไม่มีอาวุโส ไม่มีภันเต ไม่มีสูง ไม่มีใหญ่ ไม่มีเล็ก ไม่มีโต ไม่มีเลย ธรรมก็คือธรรม มีความเสมอภาคกันด้วยความเป็นธรรม พอเป็นธรรม พอจิตใจเป็นธรรมแล้วมันไม่มีการลบหลู่ในใจตั้งแต่ต้น มันไม่มีการทดสอบ ไม่มีการทดลองทั้งสิ้น แต่ในเมื่อธรรม อยากฟังธรรม มันก็จบ ถ้าเป็นธรรมมันเป็นแบบนั้น

แต่ถ้าเราคิดของเราเอง เราพิจารณาของเราเอง มันก็เลยเป็นโลกๆ อย่างนี้ ถ้าเป็นโลกๆ อย่างนี้มันก็มีผลไงผมก็คิดว่า ผมทำลาย ผมพิจารณาผู้รู้ ผู้ไม่รู้แล้ว ผมก็เข้าใจว่าสิ่งนี้มันเป็นอรหัตตผล ผมเข้าใจว่า ในขณะนี้ผมอยู่ในอรหัตตผล และผมก็ยังมั่นใจว่าสิ่งที่ผมไม่มีความสงสัยในอรหัตตผลของผมเลย

แล้วก็บอกว่าไม่ให้ตอบด้วยนะ ไม่ให้ตอบ

แล้วเขาว่าด้วยเหตุนี้อรหัตตผลมันก็ยังเป็นอนัตตา

ถ้าด้วยเหตุผลว่าอรหัตตผลของผมยังเป็นอนัตตา เพราะว่าเขาว่าเขาได้อรหัตตผลแล้ว แต่มันก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง

คำพูดของเขามันขัดแย้งกันเอง เขาว่าเขาได้อรหัตตผล แต่พิจารณาไปแล้ว อรหัตตผลมันก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ พออรหัตตผลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ มันก็ไปเข้ากันว่าอรหัตตผลก็เป็นอนัตตา

ถ้าอรหัตตผลเป็นอนัตตา มันไม่ต้องคิดอะไรมากเลยถ้าคนมีเชาวน์หน่อยเดียว เพราะก่อนหน้านี้มันมีการโต้แย้งกันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรือนิพพานเป็นอนัตตา สังคมโลกเขาโต้แย้งกันมาตลอด

มีนักปฏิบัติกลุ่มหนึ่งเขาบอกว่านิพพานเป็นอัตตา แล้วมีพวกปริยัติที่เขาศึกษาบาลีมาแล้ว ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สพฺเพ ธมฺมา เป็น อนตฺตา ก็มีการโต้แย้งกันระหว่าง ๒ ทฤษฎีว่า นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา แล้วโต้แย้งกันไปโต้แย้งกันมาด้วยทฤษฎีด้วยมุมมอง

มันไม่จบหรอก ปรัชญามันไม่จบหรอก นักปราชญ์กับนักปราชญ์ ปัญญามันมาก พอปัญญามันมาก มันก็หาเหตุหาผลมาขัดแย้งกันตลอด ไม่มีวันจบหรอก

ทีนี้มีคนมาถามหลวงตา หลวงตาท่านมีภูมิของท่านนะ ท่านก็แสดงความจริงของท่านบอกว่า นิพพานไม่เป็นทั้งอนัตตาและอัตตา

เพราะว่าอนัตตามันก็เป็นอนัตตาสมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา กิริยา สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนัตตา อัตตา อัตตาก็อัตตาตัวตน เพราะมีอัตตา เพราะมีภพ เพราะมีอัตตาถึงมีเรา เพราะอัตตามันถึงมีภพ เพราะภพเป็นอัตตา มันก็เวียนว่ายตายเกิดไง เพราะมีอยู่ มันก็ไปของมันไง

แต่เวลานิพพานไม่มีทั้งอัตตาและไม่มีทั้งอนัตตา เพราะนิพพานก็คือนิพพาน เพราะนิพพานก็คือนิพพาน อัตตาก็คืออัตตา อนัตตาก็คืออนัตตา ทำไมนิพพานต้องไปเข้าอัตตา นิพพานต้องไปเข้าอนัตตาด้วยล่ะ

อ้าว! มันคนละเรื่องกัน อนัตตาคือสัจธรรมที่มันแปรสภาพ มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว อัตตา อัตตาคนก็มีทิฏฐิมานะ ทิฏฐินี่อัตตา คนมีความรู้ความเห็นนี่คืออัตตาของมัน อ้าว! มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ คือมันคนละชื่อคนละเสียง มันคนละความหมายกันอยู่แล้ว นิพพาน นิพพานก็คือนิพพาน อ้าว! นิพพานก็คือนิพพาน ก็จบไง

นี่บอกว่าอรหัตตผลมันก็ยังเป็นอนัตตาเหมือนกัน

ไม่ต้องถามเราเลย ไปเก็บตกเอาที่เขาโต้แย้งกันน่ะ เก็บตกที่สังคมเขาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้วโต้แย้งกันน่ะ แล้วไปจับคำพูดของเขามาไตร่ตรอง มันก็จะเข้าใจได้แล้วว่าสิ่งนี้จริงหรือไม่จริง เพราะสิ่งนี้จริงหรือไม่จริง เขาถึงได้ถามกลับมาไง

นี่คือผลการปฏิบัติของผม ตอนนี้ผมก็ยังเชื่อในสิ่งที่ผมรู้ครับ ผมก็ยังเชื่อว่านิพพานมันเป็นอนัตตา อรหัตตผลมันเป็นอนัตตา

เขายังเชื่อของเขา ถ้ามันเชื่อของเขาก็จบไง

ทีนี้เพียงแต่ว่าคำถามนี้ขออนุญาตหลวงพ่อไม่ต้องตอบครับ

เพราะเขามีความเชื่อของเขาอย่างนั้น แล้วถ้าเขียนมาอย่างนี้ปั๊บ ก็ให้เราอ่านปั๊บ แล้วเราก็เก็บไว้ แล้วเขาอยู่ที่บ้านเขาคิดว่า โอ๋ย! หลวงพ่อก็อ่านแล้วเนาะ หลวงพ่อก็มีความเห็นเหมือนเรานะ มันก็จะเป็นนิพพานเป็นอนัตตาอย่างนี้ตลอดไป แล้วก็ยังเชื่อมั่นว่าเราเป็นพระอรหันต์ตลอดไป

ถ้ามันเป็นพระอรหันต์จริงนะ โอ้โฮ! กว่าพระอรหันต์จะเกิดแต่ละองค์มันแสนทุกข์แสนยาก ถ้ามันเป็นได้จริง เราก็ภูมิใจมากถ้ามันเป็นได้จริง

แต่นี้มันไม่จริง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะที่มามันก็ไม่จริง เขาเรียกโจทย์ ที่มาคือโจทย์ ถ้าโจทย์มันผิด คำถามมันตั้งไว้ผิด คำตอบมันจะถูกได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นจิตใจมันไปค้นคว้ามาสิ่งที่ผิด แล้วมันจะถูกได้อย่างไร นี่ถึงว่า สันนิษฐานเอา

คำว่าสันนิษฐานสันนิษฐานโดยกิเลสนะ สันนิษฐานโดยกิเลส เพราะว่าเราไม่มีเบสิกทางนี้ ผู้เขียนไม่มีเบสิกศึกษาในทางธรรม แต่ถ้าศึกษาทางโลกก็เรื่องของเขา

แต่สำหรับเรา เบสิกของเรา เบสิกของเราก็คือเราหลงมาเยอะ เพราะการปฏิบัติเริ่มต้นทุกคนก็ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นน่ะ เพราะการปฏิบัติของคน การปฏิบัติของคนก็คนมีกิเลสทั้งนั้นน่ะ มันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา แล้วจิตใจของคนหยาบละเอียดมันจะยอมรับเหตุรับผลหรือไม่ ถ้ายอมรับเหตุและผล มันฉุกคิด

อย่างที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีใครมายกยอปอปั้นท่านขนาดไหนท่านก็ไม่สนใจ ท่านก็ยังมีความทุกข์อยู่ จนท่านมาประพฤติปฏิบัติของท่านเอง เวลากิเลสมันออกไปจากใจของท่านเอง ท่านถึงยอมรับความเป็นจริง ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีครูมีอาจารย์

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติเรายังมีความสงสัยอย่างนี้ มีความสงสัยอย่างนี้มหาศาลเลย แสดงว่า มีวาสนาก็มีวาสนาอยากปฏิบัตินะ แต่มันก็ยังมีความสงสัย สงสัยอย่างนั้น

คำว่าสงสัยนี่นะ กิเลสทั้งนั้นเลย ถ้ายังสงสัย เขาไม่เอามาเป็นผลหรอก ในวงปฏิบัติเขามีกัน ในวงปฏิบัติ เพราะว่าในวงปฏิบัติเวลาโต้แย้งกัน เวลาหลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่ขาวอย่างนี้ อาจารย์สิงห์ทองกับหลวงตาคุยกันอย่างนี้ หลวงตาคุยกับหลวงปู่คำดีอย่างนี้ พระอรหันต์กับพระอรหันต์คุยกัน เวลาเขาคุยกันด้วยธรรมะ เขาถกกันเต็มที่เลย เพื่อจะให้ความสะอาดบริสุทธิ์

ไอ้นี่ไม่ต้องถกหรอก ตัวเองบอก นั่นผมก็สงสัย ผมสงสัยแล้วผมก็พิจารณาต่อ แล้วผมก็เอาความสงสัยนั้นมาพิจารณา

มันไม่ใช่ ถ้ามันไม่ใช่ มันก็เป็นความเห็นของเขา ถ้าความเห็นของเขา แล้วมันอยู่ที่วาสนาของคนเนาะ ฉะนั้น สิ่งนี้ถึงว่า ถ้าสันนิษฐานโดยกิเลสเป็นแบบนี้ นี่สันนิษฐานโดยกิเลส แล้วถ้าเขามีสังคม ถ้าสังคมของเขาเชื่อนั่นก็โอเค เรื่องของสังคม วุฒิภาวะของเขา

แต่โดยกรรมฐาน โดยครูบาอาจารย์ของเรา โดยที่เราปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัตินะ เริ่มต้น เห็นใจทั้งนั้นน่ะ ใครปฏิบัติแล้วทุกข์แล้วยากก็พยายามจะให้กำลังใจ พยายามจะดูแลกัน

แต่ถ้าเขาปฏิบัติ เขาถึงอรหัตตผล อรหัตตผลของเขายังเป็นอนัตตาอยู่ เขายังมีความเชื่อมั่นของเขา ไอ้นี่มันก็เป็นความเห็น เป็นมุมมองของเขา ถ้าใครมีทิฏฐิมานะอย่างใดมันก็เรื่องของเขา ถ้าใครมีอำนาจวาสนาสามารถแก้ได้ มันก็เพื่อประโยชน์ ถ้าไม่สามารถแก้ได้ มันเป็นกรรมของสัตว์

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ คนที่คัดค้านคัดง้างกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะแยะไป เพราะว่านิสัยวาสนา

เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะไปหาสัญชัยไงในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมากนี่สัญชัยถามพระสารีบุตร

พระสารีบุตรบอกว่าในโลกนี้คนโง่มาก

ฉะนั้น เธอไปอยู่กับคนฉลาดเถิด คนฉลาดก็กลุ่มเดียว ลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะอยู่กับคนโง่คนโง่คือมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ พูดสิ่งใดก็เชื่อไปอย่างนั้น

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าย้อนกลับมาที่เราปฏิบัติ ในสังคมของเรา ถ้าเขาบอกอรหัตตผลนี้ยังเป็นอนัตตาอยู่ ถ้าในกลุ่มชนที่เขาเชื่อ นั่นเป็นคนโง่หรือคนฉลาด

แต่ถ้าเป็นคนฉลาด ไม่ต้องให้ใครเลย ตัวเราเองคนเดียว ถ้าเราฉลาด เราจะทำให้ชีวิตนี้ไม่หลงใหลไปกับอวิชชา ไม่หลงใหลไปกับจินตมยปัญญา ไม่หลงใหลไปให้กิเลสอวิชชาพาสันนิษฐานธรรม สันนิษฐานนะ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นแบบนี้ ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม

ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันถึงจะได้เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม ไม่สมควรแก่ธรรมก็พยายามจะตีความสันนิษฐาน ตีความคือสันนิษฐาน ตีความเอาๆ นึกเอา ตีความเอา มันก็แล้วแต่กรรมของสัตว์ เอวัง