ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จะวัดผล

๖ ก.ค. ๒๕๕๗

จะวัดผล

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องนั่งสมาธิกำหนดดูลมหายใจไปด้วย ฟังธรรมไปด้วย จะปฏิบัติเจริญก้าวหน้าหรือไม่

. ขณะที่นั่งสมาธิกำหนดดูลมหายใจไปด้วย ฟังธรรมไปด้วย กับนั่งดูลมเฉยๆ อย่างไรจะทำให้ธรรมะเจริญก้าวหน้าได้เร็วกว่ากันคะ

. ขอแนวทางการวัดความเจริญก้าวหน้าด้วยตนเอง เราจะวัดจากอะไรคะ ปฏิบัติภาวนามาพอสมควร เมื่อมีแรงกระทบ เช่น ถูกว่ากล่าวแรงๆ ต่อหน้าคนมากๆ หรือมีเหตุการณ์อะไรมากระทบจิต แต่จิตไม่หวั่นไหว ไม่ทำให้จิตเกิดความยินดียินร้าย จิตนิ่งเฉยเป็นอุเบกขา อย่างนี้ถือว่าผลการปฏิบัติก้าวหน้าได้หรือยังคะ

ขอความเมตตาจากพระอาจารย์โปรดพิจารณาอธิบายให้ด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : ให้อธิบายนะ สิ่งนี้อธิบายทุกวัน สิ่งที่อธิบายนี่อธิบายทุกวัน เพราะพื้นฐาน พื้นฐานของการปฏิบัติ เราต้องมีพื้นฐาน ถ้าไม่มีพื้นฐานการปฏิบัติ เราจะปฏิบัติไปโดยสามัญสำนึก

ในโลกปัจจุบันนี้เขาบอกว่า เราเป็นชาวพุทธ การปฏิบัติเป็นปฏิบัติธรรมะในชีวิตประจำวัน ทุกคนก็คิดนะ ทุกคนก็ว่าเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันมันก็ดี แต่ถ้าปฏิบัติจริงจัง เราต้องหาเวลา เราต้องปลีกวิเวกไป มันเป็นเรื่องที่ว่าเราแทบไม่มีโอกาสเลย

แต่ถ้าเราปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มันเป็นโอกาสที่เราปฏิบัติได้ แล้วธรรมะมันเป็นสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิ์ แล้วทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนก็ต้องสามารถปฏิบัติได้ ฉะนั้น เรามีอาชีพ เรามีหน้าที่การงานชีวิตประจำวัน เราปฏิบัติไปพร้อมกับชีวิตประจำวัน อันนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา นี่เขาคิดกันอย่างนั้นนะ

แล้วถ้าไปปฏิบัติ จะหาความสงบสงัดไป เราวิเวกไป ปฏิบัติเอาจริงเอาจัง ไอ้อย่างนั้นมันต้องเป็นนักบวช ต้องเป็นนักพรต เป็นผู้ที่ใฝ่พ้นทุกข์เขาถึงปฏิบัติแบบนั้น แล้วเราถ้าปฏิบัติเป็นแนวทางชีวิตประจำวัน อย่างนี้ถูกต้อง ถ้าพูดถึงความถูกต้อง ถูกต้องไหม มันก็ถูกต้อง แต่ถ้าหวังผลล่ะ เขาว่าถ้าวัดผลๆ

ถ้าวัดผล ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมันเป็นการผ่อนคลาย เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเผยแผ่ธรรมไปได้ทุกชนชั้น ในแสงเดือนแสงตะวันเวลาสาดส่องมา ไม่ลำเอียงว่าบ้านเรือนของใคร สาดส่องไปทุกบ้านทุกเรือน เสมอภาคหมด จะมีคนจน คนรวย คนทุกข์ คนยาก สาดส่องไป แสงสว่างของพระจันทร์สาดส่องไปทุกบ้านทุกเรือนเลย

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แม้แต่มนุษย์ แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไปโปรดไง โปรดสัตว์ได้หมด ถ้าโปรดสัตว์ได้หมด เพียงแต่เขาจะสนใจหรือไม่สนใจเท่านั้นเอง ฉะนั้น เขาจะสนใจหรือไม่สนใจเท่านั้นเอง

ฉะนั้น การปฏิบัติของเรา การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อันนี้มันเป็นการปฏิบัติเพื่อความผ่อนคลาย การผ่อนคลาย เห็นไหม ดูสิ ทางราชการเขาบอกว่า ต้องมีการอบรมพนักงาน มีการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่ออะไร เพื่อต้นทุนของเขา เวลาเขามีองค์กรของเขา ทรัพยากรของเขามีความขยันหมั่นเพียร ทรัพยากรของเขามีความซื่อสัตย์ ทรัพยากรของเขา มันลดต้นทุนน่ะ แล้วงานก็เจริญงอกงาม ทุกอย่างมีประโยชน์มากเลย นี่ประโยชน์อย่างนี้ประโยชน์กับโลก

แม้แต่บริษัท ถ้าพนักงานในบริษัทนั้นมีคุณธรรม พนักงานในบริษัทนั้นเป็นคนขยันหมั่นเพียร บริษัทนั้นก็มีกำไร มีผลประโยชน์มหาศาลเลย แล้วบริษัทนั้นเป็นนิพพานไหม บริษัทนั้นจะได้มรรคผลไหม...ไม่ได้ บริษัทนั้นได้ผลกำไร ได้ตัวเลข นั่นคือบริษัท

อันนี้ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันๆ มันก็เป็นการผ่อนคลายทรัพยากรมนุษย์ เป็นการผ่อนคลาย เราได้ธรรมะแค่นี้ ถ้าได้ธรรมะแค่นี้มันเป็นประโยชน์ไหม มันก็เป็นประโยชน์กับว่าให้คนมีการผ่อนคลาย ให้คนมีความสุข อันนี้ปฏิบัติถูกต้องไหม ถูก

แต่ถ้าจะวัดผล เอามรรคเอาผลล่ะ

ถ้าเอามรรคเอาผล สิ่งนี้ แม้แต่คนจะมาปฏิบัติเขายังไม่อยากปฏิบัติเลย แม้แต่คนทำทานก็ทำทานได้ยาก แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะเสียสละของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าในชีวิตประจำวันเราจะปฏิบัติก็ถูกต้อง ในชีวิตประจำวัน เห็นไหม เพราะเวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ ให้เรามีสติในทุกเมื่อ ในการปฏิบัติต้องมีสติ ถ้ามีสติ ความผิดพลาดก็ไม่มีแล้ว ชีวิตของเรามันก็ไม่สำมะเลเทเมา มันถูกต้องดีงามแล้วล่ะ นี่ถ้าเรามีสติ ถ้ามีสติ เราประพฤติปฏิบัติของเราไป ถ้าเรามีความสามารถขนาดไหน มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเอาจริงเอาจัง เรื่องเอามรรคเอาผล มันคนละเรื่องกันเลยนะ ถ้าเอามรรคเอาผลมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

อีกเรื่องหนึ่งคือว่า เวลาสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาปัญญา เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิล่ะ ในการประพฤติปฏิบัตินี้ไม่ใช่ยกตนข่มท่านหรือแบ่งแยกนะ ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมันก็หน้าที่การงาน เราทำงานของเรา แต่เอาธรรมะ ธรรมโอสถมาเป็นการบรรเทา เป็นการผ่อนคลาย แต่เราก็ดำรงชีวิตมนุษย์

แต่ถ้ามันจะปฏิบัติจริง มันจะลึกกว่านั้น มันจะทำได้มากกว่านั้น คือถ้าทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมันจะเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญานี่เป็นภาวนามยปัญญา มันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

ฉะนั้น เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งปั๊บ ทีนี้เราจะย้อนกลับมาทางโลก ถ้าทางโลกเขาทำอย่างนั้นถูกไหม ในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ถ้าเขาทำอย่างนั้นได้มันก็เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดี มันเป็นชาวพุทธ เป็นคฤหัสถ์ เป็นชาวพุทธที่มีแก่นสาร มันก็เป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์อย่างนั้น เพียงแต่ว่ามันจะก้าวเดินอย่างไรล่ะ

ในการศึกษานะ นักเรียน ในการศึกษา ถ้าเขามีพื้นฐานมาเข้มแข็ง เวลาเขาศึกษาเจริญเติบโตขึ้นไป เขาจะไปได้ง่ายกว่า แต่ถ้าพื้นฐานของเราอ่อนแอ ทำสิ่งใดมันอ่อนแอ เวลาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะเอาความจริงขึ้นมา สัมมาสมาธิ เราทำความสงบของใจ ทำอย่างไร ถ้าจิตมันสงบไม่สงบ ถ้าจิตสงบแล้ว เรามีพื้นฐานแล้ว ถ้ามันเกิดปัญญา มันชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วมันไม่ลังเลสงสัย

แต่ในปัจจุบันนี้เราล้มลุกคลุกคลานกันหมด แล้วทำอะไรๆ ก็ห่วงหน้าพะวงหลัง สิ่งต่างๆ โลกก็คือโลก หน้าที่การงานก็ต้องมีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้ว เราก็ทำของเรา เขาปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็เรื่องของเขา แต่เราตั้งสติไว้

เวลาตั้งสติไว้ มันก็เหมือนกับที่หลวงตาสอนว่า โคผูกไว้กับโคปล่อย ถ้าโคผูกไว้นะ ถึงเวลาปั๊บ เขาจะเอามาใช้งานได้เลย เพราะเราผูกเอาไว้ ถ้าโคปล่อย เราจะใช้งานต้องแสวงหา

ถ้ามีสติ ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เรามีสติของเราไว้ ในวันหนึ่ง เราก็ผูกหัวใจของเราไว้กับธรรมะ เวลาเราทำวัตรสวดมนต์ เราทำหน้าที่การงานเสร็จแล้ว เราจะนอน เราสวดมนต์แล้ว เราจะนั่งสมาธิภาวนา เราจะเอาโคมาใช้แล้ว ถ้าเราเอาโคมาใช้ เรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันลงสมาธิไป ถ้ามันเกิดปัญญา เราใช้งาน ใช้งานจิตแล้ว โคคือจิต

ตามรอยโค ตามรอยโค ตามรอยโคไป พุทโธๆ ตามรอยโคไป จนถึงเป็นตัวโคกับคำบริกรรมเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่ตามรอย เป็นตัวมันเลย พุทโธๆๆ จิตมันสงบเลย พอจิตสงบแล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ปัญญาคราวนี้แหละเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มันถอดมันถอน นี่ปัญญาของเราแล้ว สิ่งนี้มันจะเป็นความสำคัญไง

นี่พูดถึงว่า แนวทางปฏิบัติ การนั่งสมาธิ ดูลมหายใจ และการฟังธรรมไปด้วยเจริญหรือไม่เจริญ

เพราะคนเรามีหน้าที่การงาน เราถึงพูดว่า กระแสสังคมเป็นแบบนี้ แล้วเราก็อยู่ในกระแสสังคม ฉะนั้น อยู่ในกระแสสังคม เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะได้มรรคผลแค่ไหน นี่มันเป็นผลประโยชน์ของเรา

ฉะนั้น จะเข้าคำถาม คำถามว่า. ขณะที่นั่งสมาธิกำหนดดูลมหายใจไปด้วยกับฟังธรรมไปด้วย กับนั่งดูลมเฉยๆ อย่างใดจะได้ธรรมะเจริญมากกว่ากัน

เวลาเรานั่งสมาธิกำหนดดูลมหายใจก็ส่วนหนึ่งนะ แล้วถ้าฟังธรรมไปด้วยมันไม่ชัดเจนไง ถ้าเรานั่งสมาธิจะฟังธรรม เราก็นั่งสมาธิฟังธรรมเลย

เวลานั่งสมาธินะ การฟังธรรม หลวงตาท่านสอนว่า ในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือฟังเทศน์ คือฟังธรรม ฟังธรรม เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์ เวลาหลวงตาเทศน์ เวลาพระฟัง หลวงปู่มั่นเทศน์ ๔ ชั่วโมง นั่งนี่ตัวแข็งเลย มันฟัง โอ้โฮ! มันมีที่เกาะ มันรื่นเริง เหมือนกับคน ทารก เวลาทารกเห็นแม่ จะได้ดื่มน้ำนมจากแม่ โอ๋ย! ทารกมันจะดีใจมาก เวลาทารกมันอยู่ของมันเอง มันหิวมันกระหาย มันดิ้นรน มันอยากกินนม มันไม่มีนมจะกิน เวลาเห็นแม่มัน มันจะได้ดื่มน้ำนมจากหัวอกแม่ มันชื่นใจมาก

พระก็เหมือนกัน วันทั้งวันภาวนาของเราเอง พยายามประพฤติปฏิบัติของเราเองมันกระเสือกกระสนไป แต่เวลาครูบาอาจารย์จะเทศน์ นี่ได้ดื่มน้ำนมไง ดื่มสัจธรรมอย่างนั้นไง

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ท่านเทศน์ถึงการประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่สมาธิ ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เราฟังไป เห็นไหม ได้ดื่มสัจธรรม ดื่มสัจธรรมจากคนที่รู้จริงที่แสดงธรรมขึ้นมา มันเหมือนกับเรามีช่องทางไปได้เลย

หลวงตาท่านบอกว่า เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์นี่นะ มรรคผลนิพพานนี่หยิบเอาได้เลยนะ จับหยิบเอาได้เลยเวลาหลวงปู่มั่นเทศน์ เพราะคนรู้จริงเทศน์ใช่ไหม คนรู้จริงบอกทางใช่ไหม เราก็เห็นช่องทางไปด้วยเลย พอหลวงปู่มั่นเทศน์จบปั๊บ ฟ้าปิดหมดเลย นิพพานหายหมดเลย เพราะมันไม่มีคนชักนำ เห็นไหม ฉะนั้น การฟังธรรมสำคัญมาก แต่การฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนี่สำคัญมาก เพราะคนรู้จริงพาเราก้าวเดิน

แต่ถ้าไป ฟังธรรม ดูสิ ในเทศน์ปริยัติเขาก็แสดงธรรมๆ โดยจารมาจากพระไตรปิฎก เขาก็เอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ่าน เราก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน บางทีเราได้คติ ไอ้คนที่อ่านยังไม่รู้เรื่องเลย อ่านเป็นตามหน้าที่ ไอ้คนฟังอยู่นี่ แหม! ซาบซึ้งๆ นะ คนอ่านก็อ่านไปตามหน้าที่เพราะอะไร เพราะอ่านธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ใจของตัวเอง

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราเทศน์นะ เทศน์มาจากใจ มันบอกถึงวิธีการ เพราะใจจะรู้ได้ต้องมีวิธีการอันนั้น ต้องผ่านประสบการณ์อย่างนั้น ถึงเอาประสบการณ์ที่เราเคยล้มลุกคลุกคลานมา แล้วมันผิดมาอย่างไร แล้วถูกอย่างไร เวลาถูกแล้ว เวลาเข้าสู่ความจริง ความจริงเป็นอย่างไร เป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

การฟังธรรมสำคัญมาก หลวงตาบอกว่า ในภาคปฏิบัติ การฟังธรรมสำคัญที่สุด แต่ต้องฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ ถ้าฟังจากครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นจริง เห็นไหม เครื่องยนต์กลไกที่มันชำรุด มันติดไม่ได้ อะไรมันเสียแล้ว อะไหล่ตัวใดเสีย เครื่องยนต์นั้นติดไม่ได้

เราทำสติ สมาธิ ปัญญา งานชอบ เพียรชอบ มรรค ๘ สิ่งใดสิ่งหนึ่งชำรุด เครื่องยนต์มันไปไม่ได้หรอก ถ้าอะไหล่มันชำรุด เครื่องยนต์นั้นมันจะติดไม่ได้ แล้วมันจะไม่เป็นพลังงานขึ้นมา

แต่ถ้าเราฝึกหัดของเรา เครื่องยนต์มันไม่ดี เราก็ซ่อม เอามาดูแล สติเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร งานน่ะ งานภายนอก งานภายใน งานโลกียปัญญา งานโลกุตตรปัญญา งานมันมีมหาศาลเลย งานชอบ ก็ฝึกหัดขึ้นไป พยายามปฏิบัติขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะทำของมันได้ ถ้าทำได้ มันเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ สิ่งนี้ถ้าผู้ที่ปฏิบัติเป็นเขาจะบอกวิธีการของเขา ทำได้จริงไง ทำได้จริงมันเป็นประโยชน์ ถ้าฟังธรรมๆ ฟังจากคนที่รู้จริง

ทีนี้การฟังธรรมเป็นประโยชน์มาก ทีนี้พอการฟังธรรมเป็นประโยชน์มาก เป็นประโยชน์ ฉะนั้น เวลาฟังธรรม กำหนดดูลมหายใจพร้อมกับฟังธรรมมันจะเจริญไหม

ดูลมหายใจของเรา เราตั้งใจนะ กำหนดลมหายใจไว้ แล้วเราก็ฟังธรรมด้วย เวลาหลวงตาท่านสอน คนที่ปฏิบัติเป็น ท่านจะสอนอย่างนี้ ถ้าจะฟังธรรมนะ กำหนดจิตไว้เฉยๆ แล้วฟังเสียงที่มากระทบ ฟังเสียงนั้นมา แล้วไม่ต้องคิดว่าจะจำทุกคำ กลัวว่า โอ๋ย! อาจารย์ท่านเทศน์มันเป็นคุณประโยชน์มาก เหมือนเทปเลย อัดทุกคำเลย มันเป็นไปไม่ได้

เราทำใจเราให้สงบ แล้วกำหนดฟังเสียงนั้น ถ้าเสียงนั้นมันมานะ ถ้าคำใดคำหนึ่งเวลามันตรงกับจริตนะ มันทิ่มเข้าไปในความรู้สึกนะ ฟังคำนั้นน่ะขนลุกเลย ขนนี่ลุกเลย ขนพองเลย คำนั้นน่ะมันจะจำไปตลอดชีวิตเลย เขาฟังธรรมอย่างนี้ ถ้าขนลุกขนพอง จิตมันสลดมันสังเวช ฟังธรรมนี่มันสงบต่อหน้าได้เลย

หลวงตาท่านบอกว่า ท่านฟังธรรมหลวงปู่มั่น เวลาจิตสงบ จิตดับถึง ๓ วัน คือว่า ดับถึง ๓ วัน มันสงบนิ่งอยู่ ๓ วัน โอ้โฮ! มันมีความสุข เดินไปไหนเหมือนลอยไปตลอดเลย ถึง ๓ วันน่ะ จิตดับถึง ๓ วันคือมันไม่ออกไปยึดมั่นถือมั่น นี่ฟังธรรม

ฉะนั้น เวลาขณะนั่งสมาธิ ดูลมหายใจไปด้วยกับฟังธรรมไปด้วย กับนั่งดูลมเฉยๆ อย่างใดจะได้ธรรมะเจริญมากกว่ากัน

คำว่าเจริญมันก็อยู่ที่ความสงบไง คำว่าเจริญคือจิตมันพัฒนา เห็นไหม เด็กๆ มันก็มีความรู้แบบเด็กๆ คนที่อ่อนแอก็ยกของได้น้อย คนที่โตขึ้นมา เด็กมันฉลาดขึ้น มันโตขึ้น มันก็ทันคน กำลังหัวใจที่มันมีกำลังขึ้นมามันก็มีกำลังของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ที่มันเจริญ เจริญตรงนี้ไง เจริญที่ว่า หนึ่ง ทำสมาธิได้ง่าย สิ่งใดเข้ามากระทบกระเทือนแล้ววางได้ง่าย วางได้ง่าย ไม่ใช่ไม่รับรู้นะ วางได้ง่าย เพราะมันมีปัญญารู้ทันไง อะไรที่กระทบกระเทือนมันจะทำลายเราแล้ว จิตใจดวงนี้อุตส่าห์รักษามาขนาดนี้ ลงทุนลงแรงมาขนาดนี้ แล้วจะไปกระทบกระเทือนหรือว่าไปรับรู้สิ่งใด ไปสัมผัสใดๆ เล็กๆ น้อยๆ แล้วให้มันเสื่อมไป อู๋ย! ไม่เอาๆๆ เห็นไหม มันฉลาดไง มันรู้เลยว่าอะไรจะกระเทือนใจ อะไรจะทำให้หัวใจนี้มันล้มลุกคลุกคลาน มันจะวาง มันจะหลบมันจะหลีกของมันไป นี่มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ ถ้าวัด วัดตรงนี้

ถ้าพูดถึงว่า ดูลมหายใจไปด้วยกับฟังธรรมไปด้วย สิ่งใดจะเจริญมากกว่ากัน

ถ้าฟังธรรมนะ ถ้ามีโอกาสฟังธรรมนะ ต่อไปนี้ถ้าเปิดวิทยุหลวงตาฟังนะ แล้วเรากำหนดจิตฟังเฉยๆ แต่เวลาเราไม่ได้ฟังธรรม เราอยู่ของเราตัวคนเดียว เราปฏิบัติของเรา เราฟังธรรม เหมือนกับคนพิการ คนตาบอดเขาต้องมีไม้เท้านำ ฟังธรรมก็มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีของครูบาอาจารย์เป็นผู้นำ แต่บางทีเราก็ต้องทดสอบด้วยตัวเราเอง คือเราจะเดินด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องมีไม้เท้านำ เราก็กำหนดลมหายใจ ถ้าเราปฏิบัติด้วยตัวเราเอง

ถ้าเราฟังธรรมได้ เราก็ฟังธรรม เอาสิ่งนั้นน่ะ ฟังธรรมไม่ต้องกำหนดลมหายใจ ไม่ต้องพุทโธ ฟังธรรมเฉยๆ ฟังธรรมคือฟังธรรม อันนี้จะเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแขนงเดียวชัดๆ

แต่เวลาเราไม่ได้ฟังธรรม เราไม่ได้ฟังธรรมอยู่ เรากำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ หรือลมหายใจเฉยๆ หรือพุทโธเฉยๆ อันนี้ต้องมีคำบริกรรม

ถ้าฟังธรรม จิตมันเกาะ จิตมันไม่เร่ร่อน จิตมันเกาะ มันมีที่เกาะ แต่เวลาเรากำหนดพุทโธๆ จิตมันก็มีที่เกาะ เกาะพุทโธไว้ เกาะพุทโธไว้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ใช้ปัญญาควบคุมดูแลจิตไว้ มันต้องมีที่เกาะ มันไม่มีที่เกาะ มันเหลวไหล ไม่มีที่เกาะ เดี๋ยวมันก็หายมันไป แล้วถ้าไปๆ มันตกภวังค์ไปเลย มันจะเสียหายไง

ฉะนั้น ขณะที่ฟังธรรม กำหนดดูลมหายใจกับนั่งสมาธิไปด้วย หรือนั่งสมาธิดูลมหายใจเฉยๆ

คำว่าเฉยๆเราขีดเส้นไว้เลย คำว่าเฉยๆไม่ได้นะ ถ้าดูลมก็ต้องมีสติ ถ้าไปดูเฉยๆ คำว่าเฉยๆมันดูสักแต่ว่าไง ทำแบบว่าทำพอเป็นพิธีไม่ได้ คำว่าเฉยๆไม่ได้ ต้องชัดเจน แล้วชัดเจนของเรา พุทโธชัดเจน ชัดเจนก็คือกิริยาชัดเจน ไม่ใช่ชัดเจนแล้วต้องลุกขึ้นมาชัดเจน ไม่ใช่

ชัดเจนคือความรู้สึกนี้มันชัดเจนไว้ ชัดเจนไว้ ถ้าละเอียด มันจะละเอียดเข้ามา ถ้ามันพุทโธๆ ถ้ามันละเอียด มันจะรู้ของมัน

แล้วถ้าความเจริญ เจริญก็คือมันสะดวกสบายใจ ความเจริญคือความโล่งโถง การทำสมาธิถ้ามันเจริญนะ มันจะโล่งโถง มันจะมีความเบาของมัน มันจะมีความพอใจของมัน นี่คือความเจริญ วัดได้

วัดได้ที่ว่า ถ้ามันเจริญแล้ว กรณีอย่างนี้นะ ถ้าพูดถึงเราคิดแล้วว่า ทางวิทยาศาสตร์นะ เราทำงานจบแล้วก็คือจบ แต่ถ้าทางปฏิบัตินะ วันนี้ภาวนาดี ทำแล้วดี คำว่าดีวันนี้พรุ่งนี้จะให้ดีนะ พรุ่งนี้เหลวไหลเลย ภาวนาอย่างไรก็ไม่ลง ทำไมคำว่าดีมันไม่ดีต่อเนื่องไปล่ะ

ทางโลกนะ ทำสิ่งใด เราทำเสร็จแล้วเราก็เสร็จ ทำต่อไป เราต้องทำให้ดีกว่านี้ด้วย เพราะเราเคยทำมาแล้ว แต่เรื่องของการปฏิบัติมันมีกิเลสของเรา วันนี้อารมณ์ดี วันนี้มีสิ่งใดกระทบ ภาวนานี่ดี พรุ่งนี้จะเอาอีก อู้ฮู! วันนี้สุดยอดเลย พอพรุ่งนี้ ไปเลย ออกทะเลเลย ไม่ได้เรื่องเลย เห็นไหม เพราะเวลาเราภาวนา คนมีกิเลส กิเลสมันกลัวธรรมะ แล้วเราปฏิบัติธรรม เราจะมีหลักยึด กิเลสมันกลัวธรรมะมันจะได้คะแนนในใจ เวลาผ่านไปแล้วมันจะหาข้อต่อรอง หาสิ่งต่างๆ ทำให้เราเหลวไหล แล้วเราก็ไม่อยากเหลวไหล เรานักปฏิบัติ เราอยากได้ความดีทั้งนั้นน่ะ แต่ทำไมทำแล้วมันเหลวไหลล่ะ กิเลสมันแทรกมา เห็นไหม เวลาปฏิบัติมันมีตรงนี้ ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติมีตรงนี้ปั๊บ เราต้องมีสติ เราต้องมีการรักษา ต้องดูแลของเรา ฉะนั้น เฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีสติชัดเจน แล้วดูแลของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านะ การทำสมาธิดูลมหายใจพร้อมกับฟังธรรมไปด้วย

ถ้าทำมาแล้วได้ผลขนาดไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะเอาจริงนะ ดูลมหายใจก็ลมหายใจชัดๆ ถ้าขณะฟังธรรม เราก็ฟังธรรมอย่างเดียวชัดๆ เอาตรงนี้ให้ชัดเจนไปในการปฏิบัติ

มันก็เริ่มต้นไปแบบผู้ที่ว่า เขาดูลมหายใจไปแล้วเขามาฟังธรรม เหมือนกับคนที่ยังไม่เคยทำ ทำแล้วมันไม่ถนัด นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทำๆ ไป เพราะคนถนัด เห็นไหม เหมือนนักกีฬา นักกีฬา เบสิกเขาพยายามฝึกให้ดีเลย แล้วใหม่ๆ ให้ดี เพราะถ้าเล่นกีฬาไปแล้วเบสิกดี เดี๋ยวข้างหน้ามันจะดี เวลาเริ่มต้นเลย เบสิกเราไม่ดี พื้นฐานเราไม่ดี

นี่ก็เหมือนกัน ดูลมหายใจ ลมหายใจชัดๆ ถ้าฟังธรรมชัดๆ เบสิกให้มันแน่น เบสิกให้มันดีนะ แล้วต่อไปข้างหน้ามันจะดี นี่พูดถึงสมาธินะ

. ในแนวทางการวัดความเจริญก้าวหน้าด้วยตัวเอง เราจะวัดจากอะไรคะ ปฏิบัติภาวนามานานพอสมควร เมื่อมีแรงกระทบ เช่น ถูกว่ากล่าวแรงๆ ต่อหน้าคนมากๆ หรือมีเหตุการณ์อะไรมากระทบ จิตไม่ค่อยหวั่นไหวค่ะ ไม่ทำให้จิตยินดียินร้าย จิตนิ่งเฉย มีอุเบกขา อย่างนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติก้าวหน้าหรือไม่คะ

การปฏิบัติก้าวหน้า เราต้องมีสติปัญญาดูใจของเรา อย่างที่ว่า เวลาเขาวัด เขาวัดอย่างนี้เขาวัดแบบโลก เพราะอะไร เราทำหน้าที่การงานใช่ไหม เราทำงานอยู่ มันก็มีสังคมใช่ไหม เวลาเราโดนคนต่อว่าต่อหน้ารุนแรง เราก็ไม่โกรธ อันนี้มันเป็นอานิสงส์

ถ้าว่าเป็นบุญใช่ไหม เป็นบุญแล้วมันมีอานิสงส์ อานิสงส์ของนักปฏิบัติ นักปฏิบัติมันจะมีสติ พอมีสติ มีอะไรสิ่งใดกระทบ สติตัวนี้มันจะจับสิ่งนี้มาพิจารณา แต่ถ้าอานิสงส์ของมันใช่ไหม เราไม่มีสติใช่ไหม เวลาเราโดนใครว่าต่อหน้ามันก็โกรธเป็นธรรมดา เพราะเขาไม่ให้เกียรติเรา เราก็ต้องรักษาเกียรติ เราก็ต้องโต้แย้งเขาไป

แต่ถ้าเรานักปฏิบัติธรรมมันมีอานิสงส์ อานิสงส์ว่า แรงกระทบอย่างนี้ แรงกระทบ กระทบนี่เป็นส่วนหนึ่ง จิตใจของเรามันจะฟูหรือมันจะแฟบเป็นส่วนหนึ่ง เรามีสติ นี่อานิสงส์ คนที่ปฏิบัติเขาจะมีอานิสงส์อย่างนี้

แล้วเขาจะเข้าใจว่า สิ่งที่กระทบแล้วเราไม่มีความหวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย อย่างนี้วัดผลได้ไหม

อ้าว! มันเป็นอานิสงส์ก็วัดได้ วัดได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันเป็นจริงขึ้นมามันละเอียดกว่านี้ไง ฉะนั้น อันนี้วัดได้ระดับหนึ่งนะ แต่สิ่งที่ว่าไม่ได้เลยคือว่า จิตมันนิ่งเฉย มันเป็นอุเบกขา มันเป็นอุเบกขาไปเลย

ความเป็นอุเบกขา อันนี้มันเป็นการเข้าข้างตัวเอง ถ้าเป็นอุเบกขา อุเบกขาคือวางเฉย วางเฉยได้ แต่ถ้าอุเบกขา พออุเบกขามันไม่มีเหตุมีผลนะ เราวางแล้วเราจะไม่คิดอะไรเลยหรือ เราวางแล้ว สิ่งที่เราโดนกระทบมันเป็นจริงหรือเปล่า ถ้ามันเป็นจริง แล้วถ้าเราทำงานผิดพลาด เราก็ต้องแก้ไข แต่ถ้าเราทำงานไม่ผิดพลาด มันเป็นเพราะว่าเขาอิจฉาตาร้อนเรา อันนั้นมันเป็นผลของกิเลสของเขา มันก็ต้องมีปัญญาสิว่าเหตุที่มันเกิดมันเกิดเพราะอะไร แล้วถ้ามันเกิด เกิดมาทำไม

ถ้าอุเบกขา มันเหมือนก้อนหินน่ะ วันหลังก็ทำอะไรก็ได้ แล้วเราไม่พัฒนาอะไรเลยหรือ อันนี้อันหนึ่งนะ

ฉะนั้น สิ่งที่จะวัดผลไง เราจะวัดผล ถ้าเราจะวัดผล เราวัดผล จิตใจเราเจริญขึ้นมาไหม ถ้าจิตเราเจริญขึ้นมา สิ่งที่ผลกระทบมันเป็นที่ว่า ในเมื่อวุฒิภาวะเราแค่นี้ วัดผล เราก็วัดผลได้แค่นี้ใช่ไหม

แต่ถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริง ตามหลักเกณฑ์ของกรรมฐาน ตามหลักเกณฑ์ของครูบาอาจารย์นะ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่วัดผล

วัดผลเป็นอะไร

วัดผลว่า ถ้าเป็นปุถุชนคนหนา มันควบคุมอะไรไม่ได้หรอก เดี๋ยวมันก็เจริญ เดี๋ยวมันก็เสื่อมอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราพิจารณาของเราไปเรื่อย ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไปเรื่อย เวลามันรู้เท่าทัน สิ่งที่ว่าผลกระทบ รูป รส กลิ่น เสียง ผลกระทบมันเป็นสังคมใช่ไหม คำพูดมันก็เป็นรูปหนึ่ง ถ้ามันกระทบ ถ้าเรามีสติปัญญา รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันตัดขาด พอมันตัดขาดขึ้นมา เหมือนกับผู้ใหญ่คุยกับเด็กเลย

เด็กมันเล่นสนุกของมันใช่ไหม แต่ผู้ใหญ่เห็นเลย เด็กมันเล่นโดยสมมุติ มันทำอะไรประสบความสำเร็จทั้งหมดเพราะมันเขียนบทมาตั้งแต่ก่อนที่มันจะเล่นแล้ว ไอ้คนนี้เล่นเป็นแม่ค้า ไอ้คนนี้เล่นเป็นคนขายของ มันเขียนบทตั้งแต่ก่อนที่มันจะเล่น มันก็ประสบความสำเร็จตลอด

แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ เราเห็นเราก็เข้าใจ เด็กมันทำอะไร มันเขียนบทตั้งแต่ก่อนที่มันจะเล่น คนไหนเล่นเป็นอะไรก็เขียนบทตั้งแต่เล่นใช่ไหม เขาก็เล่นอย่างนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ไปมอง เออ! เด็กมันเขียนบทตั้งแต่เล่น มันเป็นอย่างนั้น เพราะเป็นโลกของเด็ก เป็นโลกของจินตนาการของเขา เป็นโลกของความไร้เดียงสา

จิตของเราก็เหมือนกัน เวลามันมีผลกระทบ ปุถุชนมันเหมือนโลกเด็กๆ มันไม่รู้ต้นชนปลายใดๆ ทั้งสิ้น มันไปกับเขา แต่ถ้าเรามีปัญญาพิจารณาของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรานะ เวลาสติมันทันแล้ว เวลามันขาดนะ รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันเป็นเพราะว่าเราไปยึดไปถือ เราๆๆ ไอ้ตัวเรานี้สำคัญมากเลย เรา เรา ถ้าเราตัดตรงนี้ได้ เพราะเราตัดเอง พอเราตัดเอง เราก็ควบคุมได้เอง

แต่เราตัดไม่ได้ เราตัดเราได้ เรารู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ เราก็ไปรู้เรื่อง รูป รส กลิ่น เสียงไง เราไปรู้สิ่งที่ผลกระทบไง แต่เราไม่รู้ถึงตัณหาไง เราไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงที่ยางเหนียวที่มันไปเกาะไง มันถึงตัดไม่ได้ ถ้าพุทโธๆ พุทโธบ่อยครั้งเข้ามันจะเห็นตรงนี้ไง

ถ้าเห็นตรงนี้ใช่ไหม เรา เราต่างหาก รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหาก ความพอใจและความไม่พอใจต่างหาก อย่างเช่นสิ่งกระทบจากสังคม ถ้าเราเข้าใจผิด เขาติฉินนินทาเรา แต่เราเข้าใจว่าเขาชมเรา เราก็ดีใจเนาะ เขาเสียดสีเรา เราก็ อู๋ย! ภูมิใจเนาะ เขายกย่องเรา เขายกย่องเรา เห็นไหม เราเข้าใจผิด เรา เรา ตัณหาความทะยานอยาก เราเข้าใจผิดเข้าใจถูก เราทั้งนั้นเลย เพราะเราเข้าใจผิดใช่ไหม เขาพูดจาดูถูก แต่เราเข้าใจความหมายไม่ได้ เราคิดว่าเขามาชม ใจเราก็ฟูนะ ใจเราก็ฟู เห็นไหม เรา เราทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันตัดตรงเราๆ ความเข้าใจ เข้าใจผิด เข้าใจถูก มันเข้าใจได้หมด รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

วัดผล ถ้าจะวัดผลตามมรรคตามผล คำว่าผลตรงนี้ ถ้าปุถุชนคนหนา ทำสมาธิหนูปฏิบัติมานานพอสมควร มีแรงผลกระทบที่ถูกว่าเช่นนี้มันวัดผลได้ไหม

มันวัดผลได้ มันเป็นอานิสงส์ วัดผลได้ วัดผลทางโลกๆ แต่ถ้าจะวัดผลในการปฏิบัติ อย่างเช่น ยกทุกวันว่า หลวงตาไปคุยกับหลวงปู่แหวน หลวงตาไปคุยกับหลวงปู่ขาว เขาวัดผลกัน วัดผลกันด้วยการสนทนาธรรม นักปราชญ์กับนักปราชญ์เขาวัดผลกัน เวลาวัดผล จริงจังเลย ความจริงเลย

ทีนี้สิ่งนั้นวัดผล นี่ของจริง แต่อารมณ์ สมาธิเจริญแล้วเสื่อม มันวัดผลกันตรงไหนล่ะ ถ้ามันวัดผลมันก็วัดผลที่ว่าเราทำแล้วดีขึ้นไม่ดีขึ้น แล้วทำแล้วมันก็เป็นอานิสงส์ อย่างที่ว่าเป็นอานิสงส์ที่ให้เรามีสติมีปัญญา เรารู้เท่าทันของเรา มันเป็นอานิสงส์ มันเป็นอานิสงส์ แต่มันอยู่ในอนิจจังไง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ มันเป็นอนัตตาอยู่ มันก็เป็นสัจธรรม สัจธรรมเป็นเครื่องบรรเทา

แต่ถ้าจะเอาอกุปปธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันจะวัดผลอย่างนี้ มันก็อย่างที่ว่า ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อันนี้มันเป็นอริยสัจ มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง แล้วมีหนึ่งเดียว ใครปฏิบัติเข้ามาถึงมันต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าคนที่ปฏิบัติไม่เข้ามาเป็นอย่างนี้มันก็อยู่ในวงนอก อยู่ในการสร้างสมบารมี อยู่ในการปฏิบัติ ปฏิบัติบูชา มันก็อยู่ของมันอย่างนี้ นี่วัดผล วัดผลตามความเป็นจริง

แต่วัดผลทางโลก วัดผลทางโลกที่เขาบอกว่า โอ้โฮ! เขาเป็นครูบาอาจารย์ มีคนนับหน้าถือตามาก อันนี้วัดผล วัดผลกันจำนวนหัวของลูกศิษย์ วัดผลกันที่คนเขาเชื่อถือศรัทธา อันนั้นวัดผลไม่ได้ สิ่งนั้นวัดผลไม่ได้ สิ่งนั้นมันเป็นกระแสสังคม

พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เวลาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ไปเอาพระมันตานีบุตร หลานของพระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียวเป็นพระอรหันต์ แล้วเข้าป่าเข้าเขาอยู่ตลอดเลย อยู่คนเดียวเลย อยู่องค์เดียวอยู่ในป่าตลอดชีวิตเลย แล้วจะนิพพาน มาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีคนไปยุ่งด้วยเลย องค์เดียวเลย สงฆ์องค์แรกของโลก ไม่ได้วัดผลด้วยจำนวนหัวของลูกศิษย์ ไม่ได้วัดผลด้วยมีลูกศิษย์ลูกหามาก ไม่ได้วัดผล

ดูสิ แม้แต่พระห่มผ้ามา ใช้ผ้าบังสุกุลย้อมด้วยสีหิน สีลูกรัง อยู่ในป่าเพราะมันไม่มีสี ไม่มีอะไรเลย ไม่มีลูกศิษย์ องค์เดียว ใช้ผ้าชุบกับสีหิน สีหินแดงๆ หินลูกรัง ใช้ชุบสี แล้วห่มผ้าสีนี้ เวลาจะนิพพานมาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระแตกตื่นกันหมดเลย เพราะพระเขาอยู่วัดมีคนอุปัฏฐาก ได้สีย้อมน้ำฝาด ได้สีเหลืองทอง แหม! สีมันแวววาว มันมีศักยภาพ

เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเณรแตกตื่นเลย เอ๊ะ! นั่นใครน่ะ นั่นใคร ไม่มีใครรู้จัก มาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับไปก็ไปนิพพาน แต่พระก็ถามว่านั่นใครน่ะ

พี่ชายใหญ่ เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เป็นพระอรหันต์องค์แรกของโลก ไม่มีลูกศิษย์เลย ไม่มีคนไปหาเลย ไม่มีใครไปนับหน้าถือตาเลย แต่ด้วยคุณงามความดีของท่าน กลิ่นของศีลหอมทวนลม มีจดจารึกอยู่ในพระไตรปิฎก ๒,๐๐๐ กว่าปี ชื่อเสียงของพระอัญญาโกณฑัญญะก็ยังฟุ้งกระจายไปติดปากนักเทศน์ชาวพุทธหมดเลย ใครเทศน์ก็ต้องพระอัญญาโกณฑัญญะ ใครพูดก็พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเสียงของพระอัญญาโกณฑัญญะ จนปัจจุบันนี้พระก็ยังเอาชื่อของท่านมาแสดงธรรมกันอยู่

นี่ไง วัดผลไง ถ้าวัดผลของธรรมมันวัดผลกันที่นี่ วัดผลของการมีคุณธรรมในหัวใจ ไม่ใช่วัดผลกันทางโลกๆ วัดผลกันจำนวนหัวของลูกศิษย์ วัดผลกันจำนวนสิ่งที่ทำประโยชน์กับโลก

ทำประโยชน์กับโลก หลวงตาทำเยอะแยะ ท่านทำมหาศาล แล้วท่านก็นิพพานไปแล้ว หลวงปู่มั่นท่านได้สร้างศากยบุตรไว้มาก อันนี้พูดถึงการวัดผลนะ

เพราะโยมถามมา เราเป็นพระ เวลาพูดออกไปมันมีคนฟังเยอะ ทั้งฆราวาสก็พวกญาติโยมฟัง การวัดผลก็แค่ความสงบของใจ แค่ให้ใจมีความรื่นเริง ให้ใจเรามีความสุข ให้ใจเราไม่ทุกข์ยาก มันก็เป็นคนที่ไม่กระเสือกกระสน ก็วัดผลของโยม

วัดผลของนักปฏิบัติ นักปฏิบัติเขามีเป้าหมาย เกิดนี้เกิดมาจากไหน เกิดมาแสนทุกข์แสนยาก เกิดมาทำไม แล้วการเกิดมันทุกข์ยากมาก แล้วเกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วกึ่งกลางพระพุทธศาสนา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบุกเบิกมา มันเหมือนคนไข้มียา ยาคือธรรมโอสถในปัจจุบันนี้ ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ที่อยากประพฤติปฏิบัติเขาก็ต้องมีเป้าหมายของเขา

ฉะนั้น เวลาเรื่องของญาติโยม ญาติโยมก็แค่มีธรรมโอสถเป็นที่บรรเทา เป็นที่ผ่อนคลาย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ใครแสวงหาได้ขนาดนี้ ชีวิตเขาก็ไม่ทุกข์ยากจนเกินไป

แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ได้มรรคได้ผล มันจะลงลึกกว่านี้ไง ลงลึกกว่านี้หมายความว่า เราต้องทำความสงบของใจ จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จากกัลยาณปุถุชน ฝึกหัดจิตสงบแล้วให้ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงเพราะจิตมันสงบเป็นจิตจริงๆ

แต่ถ้ามันยังไม่สงบ มีสมุทัย คือมีตัณหาความทะยานอยากมันคละเคล้ากัน คนเราเกิดมามีอวิชชา มีกิเลสมันคละเคล้ากันอยู่กับหัวใจ เราทำสิ่งใดเดี๋ยวก็คิดดีเดี๋ยวก็คิดร้าย เวลาคิดร้าย มันคิด เราก็หักห้ามมัน แต่เราพยายามคิดดี คิดดี เราทำไป พอคิดดีไปแล้ว เดี๋ยวสิ่งที่กิเลสมันก็เหนี่ยวรั้ง มันล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ เพราะอะไร เพราะมันยังมีอวิชชาอยู่ในหัวใจไง

แต่พยายามทำความสงบของใจ พุทโธๆ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว จิตมันจริงแล้ว ถ้าจิตมันจริงเพราะอะไร เพราะมันไม่มีสมุทัย ไม่มีสิ่งใดเข้ามาครอบงำ นี่จิตมันจริง พอจิตมันจริง เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าจิตมันจริง เห็นจริง มันก็เกิดวิปัสสนา วิปัสสนา นี่มันเป็นมรรค เป็นมรรคเพราะอะไร เป็นมรรคเพราะว่าดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบที่ว่าเป็นมรรคๆ เพราะมันมีสมาธิชอบ

เป็นมรรค พอมันเห็นกายจริง เพราะจิตมันจริง มันเห็นจริง เห็นจริงมันก็เป็นโสดาปัตติมรรค เห็นไหม ถ้าโสดาปัตติมรรคมันพิจารณาของมันไป ถ้าพิจารณามันก็ปล่อยวาง มีความมุมานะ เวลามันขาดไปก็เป็นโสดาปัตติผล นี่ตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ มีความขยันมีความหมั่นเพียรพิจารณาไป จากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

นี่เขาพูดถึงการวัดผลไง ถ้าการวัดผลปั๊บ เราบอกว่า โยมปฏิบัติอย่างนี้ มีสิ่งใดกระทบ มีคนมาว่าต่อหน้า เราก็ไม่หวั่นไหว เราก็นิ่งเฉย เราก็อุเบกขาเลย อย่างนี้จะเป็นอะไร

มันก็เป็นอานิสงส์ อานิสงส์ที่เราปฏิบัติมา เราได้ประพฤติปฏิบัติมา เราได้ฝึกหัดมา เหมือนเราก็มีร่องมีรอย เหมือนเราลูกศิษย์กรรมฐาน เราลูกศิษย์กรรมฐาน เรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ฝึกฝนมา เรามาฝึกหัดข้อวัตร เราก็รู้ประเพณีวัฒนธรรมของพระกรรมฐาน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราก็มีร่องมีรอย

กรรมฐานเขาปฏิบัติในป่าในเขา ในที่สงบสงัด เขาพยายามไม่มีการกระทบกัน เราได้นิสัยมา เราได้นิสัยมา เราได้สภาวะแวดล้อมมา แล้วเราจะมาปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติดีขึ้น เพราะมันเป็นการได้นิสัยมา ในการกระทำมา ถ้าเราปฏิบัติจริงขึ้นไป มันก็จะเป็นการวัดผลของที่ว่าจะเข้าสู่สัจธรรมแล้ว ถ้าสัจธรรมอันนี้เป็นความจริง

นี่พูดถึงการวัดผล แล้วการวัดผลขอความเมตตาหลวงพ่อพิจารณาอธิบายด้วยค่ะ

นี่อธิบายแล้ว อธิบายให้เห็นว่า การทำอย่างนี้ การปฏิบัติมันอยู่ที่อำนาจวาสนา ถ้ามีอำนาจวาสนา เราพยายามขวนขวายของเรา ได้มากได้น้อย เราก็เก็บหอมรอมริบ ถ้าพูดถึงเก็บหอมรอมริบนะ เราจะคิดถึงหลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านพูดว่า หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นน่ะ ในลูกศิษย์ลูกหาเชื่อมั่นว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แต่ตัวท่านเองท่านไม่เคยบอกว่าท่านเป็นอะไรเลย

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นก็เป็นพระอรหันต์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา หลวงตาท่านพยายามจะอุปัฏฐาก อะไรผู้เฒ่าผู้แก่ คนแก่แล้ว สมบุกสมบันมากับป่าเขามาก ท่านจะอุปัฏฐากให้พออยู่ได้ อะไรที่พอบรรเทาเรื่องความกระหาย หลวงปู่มั่นท่านไม่เอาเลย

แล้วหลวงตาท่านบอกว่า ก็ทำไมจะไม่ได้ล่ะ

ท่านบอกว่าไม่ได้หรอก ตาดำๆ มันมองอยู่

ตาดำๆ คือพระบวชใหม่ เห็นไหม เวลาพระบวชใหม่ พระเข้าไปอาศัยครูบาอาจารย์ก็ต้องบอกครูบาอาจารย์ของเราต้องสุดยอด ถ้าไปทำอะไรที่มันเห็นว่าอ่อนแอ พระบวชใหม่มันก็ไม่มีจุดยืน ท่านถึงบอกว่าไม่ได้หรอก ไอ้ตาดำๆ มันมองอยู่ ตาดำๆ คือพระบวชใหม่ พระที่อาศัยท่านมองอยู่ ท่านถึงเสียสละ ท่านถึงทำของท่านนะ

หลวงตาท่านบอกว่า ท่านเก็บหอมรอมริบ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร ท่านเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์โดยวินัยเขาเรียกสติวินัย

สติวินัย คนมีสติพร้อม เรื่องเจตนาทำความผิดมันไม่มี ถ้าเจตนาทำความผิดไม่มี สติวินัยนี่ยกเว้นนะ การทำความผิด การทำความผิดโดยไม่มีเจตนา การทำความผิดโดยไม่อะไร ถือว่าไม่ผิด มันมีอยู่ท้ายปาฏิโมกข์ สมฺมุขาวินโย ทาตพฺโพ สติวินโย ทาตพฺโพ อมูฬฺห คือว่า ในเมื่อเกิดอธิกรณ์ แล้วได้เคลียร์ด้วย อมูฬฺห ด้วยการเคลียร์กัน ด้วยการพูดจา สติวินัยมันมีอยู่ในพระไตรปิฎกว่า ๗ กรณีนี้ไม่เป็นอาบัติ ฉะนั้น พระอรหันต์ยกเว้นเลยว่า ถ้าเป็นอาบัติมันเลยปาปมุต สิ่งที่ว่าไม่เป็นอาบัติ

คำว่าไม่เป็นอาบัติคือต้องไม่ทำอะไรเลย นี่เขาว่าอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านบอกว่า เป็นผู้ที่เก็บหอมรอมริบเล็กน้อย ทำอะไรก็ทำเป็นคติตัวอย่าง ท่านเก็บหอมรอมริบของท่านมา ท่านทำของท่านมาเพื่อประโยชน์กับพวกเรา เพื่อประโยชน์เป็นตัวอย่าง ฉะนั้น เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราเห็นครูบาอาจารย์ทำแบบนั้น เราก็พยายามทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น นี่พูดถึงวัดผลนะ เขาเขียนมาเอง เขาบอกว่า ให้วัดผล จะทำอย่างไร วัดผลด้วยตัวเอง ความเข้าใจด้วยตัวเองไง

ความเข้าใจด้วยตัวเอง ตัวเองมีวุฒิภาวะแค่นี้ เราก็ดูที่ความสงบของเรา ดูความสงบของเรา ดูอานิสงส์ของเรา ดูชีวิตของเรา ชีวิตของเราดีขึ้น ชีวิตของเราไม่ทุกข์ยากจนเกินไป อย่างอื่นไม่เกี่ยว อย่างอื่นนะ อย่างอื่นมันเป็นเรื่องโลกๆ ถ้าธรรมะๆ ธรรมะเข้ากับหัวใจ ธรรมะเข้ากับความรู้สึก ถ้าชีวิตเราทุกข์น้อยลง ชีวิตเราดีขึ้น ดีขึ้นที่ความสบายใจ ดีขึ้น ไอ้ปัจจัยเครื่องอาศัยมันมาทีหลัง ปัจจัยเครื่องอาศัยอยู่ที่เราแสวงหา

ไม่ใช่ดีขึ้น ดีขึ้นที่ว่า ถ้าชีวิตเราดีขึ้น คือใจเราดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น แล้วถ้าทรัพย์สมบัติมันมาด้วยก็ดี ถ้าพูดถึงถ้าเราดีขึ้น จิตใจเราดีขึ้น อย่างอื่นมันยังขาดแคลนอยู่ เราทำได้ดีขึ้น ไปแสวงหามันก็แสวงหาได้ง่าย มันมีสติมีปัญญา มันไม่ทุกข์ร้อนจนเกินไป

ฉะนั้น ถ้าว่าชีวิตดีขึ้นไม่ดีขึ้น ปฏิบัติวัดผล วัดผลที่นี่ เพราะปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อดำรงชีวิตร่างกาย จิตใจนี้อาศัยธรรมะ ธรรมโอสถเป็นที่พึ่งอาศัยของหัวใจ ฉะนั้น วัดผล วัดผลที่ใจ

เวลาหลวงตาท่านไปไหน ท่านบอกไปเอาใจคน เอาใจคนคือจิตใจให้ผ่องแผ้ว จิตใจให้มีที่เกาะที่ยึด จิตใจให้มีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้ามีที่พึ่งแล้ว อย่างอื่นตามมาทีหลัง อย่างอื่นตามมาทีหลัง จิตใจของคนประเสริฐ จิตใจของคนมีหลักมีเกณฑ์ อย่างอื่นจะตามมาด้วยความไม่ทุกข์ไม่ร้อนจนเกินไป ฉะนั้น วัดผลที่หัวใจ เอวัง