เทศน์บนศาลา

เถาถั่ว-ต้มถั่ว

๑๙ ก.ค. ๒๕๕๗

 

เถาถั่ว-ต้มถั่ว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ เรามาฟังธรรมเพื่อความสุข ความสงบ เพื่อความจริงในใจของเรานะ ใจของเราเป็นของจริง แต่ภพชาติเป็นของสมมุติ สมมุติเพราะการเวียนว่ายตายเกิด ใจเราของจริง แต่เพราะเราไม่เคยทำได้ตามความเป็นจริง เราถึงไม่ได้สัมผัสความจริง ถ้าได้สัมผัสตามความจริง สิ่งที่เป็นความจริง ได้สัมผัสความจริง มันก็เป็นความจริงที่ยิ่งเป็นความจริงที่แน่นอน

แต่เกิดมาเป็นภพ เกิดมาเป็นมนุษย์มีภพชาติ ความเป็นภพเป็นชาติอันนี้มันเป็นของสมมุติ พอสมมุตินี่เป็นอาการของใจ อาการของใจ ดูสิ มันปลิ้นปล้อน มันซับซ้อนในใจของเรา สิ่งนี้ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราถึงมาฟังธรรม ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ความทำคุณงามความดีต่อเนื่อง เพราะทำคุณงามความดีต่อเนื่อง จิตใจถึงมีบารมี จิตใจถึงมีหลักมีเกณฑ์

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ได้ไปศึกษากับลัทธิต่างๆ เจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็สอนไปตามความเห็นของเขา แต่ด้วยอำนาจวาสนาบารมี ไม่เชื่อฟังเขา ไม่คล้อยตามเขาไป แล้วถ้าคล้อยตามเขาไป สิ่งที่ว่าเป็นลัทธิต่างๆ ที่เขายังนับถือกันมาจนปัจจุบันนี้ก็มี สิ่งนี้เราก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขา

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างอำนาจวาสนามา ในเมื่อเขามีรากฐานอยู่แล้วก็ไปศึกษากับเขา ศึกษากับเขาแล้ววางไว้หมดๆ เพราะมันไม่จริง มันไม่จริงเพราะว่าคนเกิดมามีกายกับใจๆ เวลาเรื่องของจิตใจมันร้อยแปด ร้อยสันพันคม มันเป็นไปได้ทั้งนั้นน่ะ เวลาจะดีก็ดีจนสุดๆ เวลามันร้าย มันร้ายจนถึงกับทำลายชีวิตของตัวเอง

นี่เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาถ้ามันมีความร่มเย็นเป็นสุขมันก็มีความคิดของมันอย่างนั้นน่ะ แต่เวลามันเสื่อมสภาพมามันก็จิตดิบๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขา เขาจะยกย่องสรรเสริญขนาดไหน เขาจะเห็นดีเห็นงามด้วยขนาดไหน ไม่สนใจ เพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ไม่สนใจเพราะว่าเราว่าเราไม่มีสิ่งใด เราไม่สนใจเพราะมันพิสูจน์แล้วมันไม่สามารถชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่สามารถชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริงถึงได้มาค้นคว้าเองๆ ถ้าค้นคว้าเอง ค้นคว้าในที่ไหน? ค้นคว้าในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชาอันนั้นสิ้นสุดไป อวิชชาสำรอกคายออก เห็นไหม “เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา”

เวลาเผยแผ่ธรรมๆ ไป พวกพราหมณ์ที่เขามีอายุขัยมากๆ เขาบอกว่า ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเด็กหนุ่ม ทำไมไม่เคารพผู้เฒ่าผู้แก่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เรายกมือไหว้ใครไม่ได้ ถ้ายกมือไหว้ใครไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราเป็นศาสดา ยกมือไหว้ใครเขาบอกว่า ในตามประเพณี ในเมื่อคนที่อ่อนกว่าก็ต้องเคารพคนที่อายุมากกว่า แก่กว่าเป็นธรรมดา แล้วแก่กว่ามันแก่กว่าด้วยภพด้วยชาติ แก่กว่าด้วยความสมมุติ แก่กว่าด้วยการเวียนว่ายตายเกิด เวลาตายไปก็มาเกิดเป็นทารก ก็มาเป็นผู้น้อยในวัฏสงสารไง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา” เป็นศาสดา ไม่มีสิ่งใดที่จะให้เคารพศรัทธาอีกแล้ว แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบ เขาถามว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา

“เรากราบธรรมๆ” กราบธรรม กราบสัจจะความจริงไง ถ้ามีสัจจะความจริง เคารพสัจจะความจริง ถ้าสิ่งที่เป็นจริงๆ เป็นจริงด้วยสัจธรรม ถ้าสัจธรรม มันคงที่ คงเส้นคงวา รอให้การพิสูจน์ไง นี่ไง เรามาฟังธรรมๆ ก็ฟังเพราะเหตุนี้ ฟังธรรมเพราะเรื่องของอะไร มันเป็นเรื่องอะไรล่ะ? มันก็เรื่องของเรา เรื่องในหัวใจของเราไง

เรื่องในหัวใจของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีการศึกษา เราบอกเรามีการศึกษา เรามีปัญญามาก เราค้นคว้าได้ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ค้นคว้าได้ ใครๆ ก็บอก เห็นไหม

“เธอจงมีธรรมเป็นพึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

ก็มีสัจธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมเราก็ศึกษามาแล้ว สิ่งที่หวังจะเป็นที่พึ่งแล้วมันก็พึ่งไม่ได้ พึ่งไม่ได้เพราะอะไร เพราะจิตใจเรามันจอมปลอม ที่ว่าเรามาฟังความจริงๆ เราค้นหาความจริง ความจริงมันจะเกิดมาจากที่ไหนล่ะ? ความจริงมันต้องเกิดจากความจริงกับความจริงมันจะเข้าหากันไง แต่จิตใจเรายังไม่เป็นความจริง ถ้าจิตใจเราไม่เป็นความจริง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศนาว่าการ เวลาอนุปุพพิกถา เวลาคนเข้ามาก็เทศน์เรื่องของทาน เรื่องของคนที่ใจเปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่าง ยอมรับความรู้ความเห็น ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจมันจะยอมรับ ถ้าจิตใจมันตระหนี่ถี่เหนียว มันหวงมันแหน มันจะคิดหวงแหนแต่ความรู้สึกของตัว ถ้าคิดแต่ความรู้สึกของตัว ตัวเองคิดถูกหมด คนอื่นคิดผิดหมด ถ้ามันคิดว่าถูกหมด มันจะมีอะไร? มันก็ยึดมั่นถือมั่นไง

สอนให้เสียสละทาน เสียสละทานแล้วไปไหน? สละทานก็ได้ไปสวรรค์ ถ้าไปสวรรค์ ก็ถือเนกขัมมะ พอจิตใจควรแก่การงานถึงเทศน์อริยสัจ เทศน์สัจจะความจริง เห็นไหม เวลาเผยแผ่ธรรมๆ เผยแผ่ธรรมระดับไหน เผยแผ่ธรรม วางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้เราศึกษาๆ เราก็ว่าเราศึกษาแล้ว เรามีปัญญาแล้ว ปัญญาของเรา ศึกษามาๆ มันเป็นทฤษฎี ศึกษามา เราศึกษามาเป็นความจำทั้งนั้นน่ะ แล้วเป็นความจริงไหมล่ะ? มันไม่เป็นความจริง แล้วเวลาจะเอาความจริงล่ะ

ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่ออะไร? ฟังธรรมเพื่อความจริงในหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา เราจะสัมผัสความจริงได้เราต้องค้นหาหัวใจของเราให้เจอก่อน ถ้าใจของเราเจอแล้วมันจะแสวงหาความจริงเพื่อตัวของมันเองได้ แต่ตอนนี้มันเป็นอาการของใจ มันเป็นเงา มันเป็นสัญญา มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เทวดา อินทร์ พรหมเขามีสมบัติเป็นทิพย์ เวลาพรหมเขามีผัสสาหาร เขามีขันธ์เดียว นี่สถานะของการเกิดการเวียนว่ายตายเกิดมันก็เป็นแบบนั้น

อันนี้มนุษย์เกิดมามีธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ เห็นไหม ธาตุ ๔ ก็ร่างกาย ธาตุ ๔ ธาตุไปหาหมอ หมอเขารักษาเรื่องของร่างกายนี้ไง ขันธ์ ๕ ก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เรื่องของนามธรรม ถ้าเรื่องของนามธรรมก็ความรู้สึกนึกคิดไง แต่เวลาทำความสงบของใจเข้ามามันก็จะเข้าไปสู่จิตไง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วจิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วขันธ์มาจากไหนล่ะ

ขันธ์ ๕ ก็มาจากจิต ขันธ์ ๕ มาจากจิตเพราะอะไร เพราะผลของวัฏฏะๆ ที่เขาบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ เวียนว่ายตายเกิดก็เป็นธรรมชาติ ความรู้สึกนึกคิดมันก็ธรรมชาติ ก็มันไหลมาเรื่อยๆ ความคิดเกิดมาจากใจ แต่เราไม่เห็นความจริงจากใจของเรา เวลามันให้ความจอมปลอมมา คือมันเอาความคิดยัดเยียดมาเราก็เชื่อมัน พอเชื่อมัน เราก็หวงแหนอารมณ์ความรู้สึกของเรา เราหวงแหน เราตระหนี่ถี่เหนียว เราก็ว่าความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา เราศึกษามา ศึกษามาด้วยความรู้สึกนึกคิดอันนี้ พอศึกษาด้วยความรู้สึกนึกคิดอันนี้ก็บอก “เรารู้ธรรม เราเข้าใจธรรมะ เราเข้าใจ”

การเข้าใจธรรมะมันก็เป็นความดีอันหนึ่ง เป็นความดีว่าทางโลก เห็นไหม ดูสิ เราอยู่ทางโลก เราต้องปากกัดตีนถีบ เราต้องทำหน้าที่การงานของเรา มันก็เหนื่อยยากทั้งนั้นน่ะ เวลาเหนื่อยยากขึ้นมา เราจะมีที่พึ่งอาศัยที่ไหนล่ะ เราทำมาหากิน ถ้าประสบความสำเร็จเราก็มีบ้านมีเรือน มีปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็ว่าสิ่งนั้นมันประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จ เราก็คอตกไง คอตกเวลาแก่เฒ่าขึ้นมา ไม้ใกล้ฝั่ง ต้องหาเสบียงกรังต่อเมื่อต้องเวียนว่ายตายเกิด

เวลาไม้ใกล้ฝั่งขึ้นมาแล้ว ในวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธ เวลาแก่ชราคร่ำคร่าก็ไปวัดไปวาเพื่อเตรียมตัว เตรียมตัวเพื่อจะเดินทางต่อไป นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาๆ มา เราศึกษาธรรมมา เวลาเราศึกษาเราเข้าใจก็เพื่อบรรเทาทุกข์ ถ้าเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์เลยนะ มันจะมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ความทุกข์น้อยเนื้อต่ำใจในชีวิตไปทั้งนั้นน่ะ ชีวิตมันมีการบีบคั้นมาตลอดเลย แล้วจะพึ่งที่ไหน จะเอาที่ไหนเป็นที่พึ่ง

ธรรมะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าสัจจะความจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าสัจจะความจริงมันเป็นแบบนี้ เราศึกษามาแล้ว จิตใจมันก็ได้บรรเทาทุกข์ มันก็มีที่พึ่งอาศัย อาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาเราจะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติ เราจะเอาจริง เราจะให้จิตใจของเราได้สัมผัสธรรม มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ให้มันรู้จริงเห็นจริงตามหัวใจของเรา ถ้ามันรู้จริงเห็นจริงตามหัวใจของเรา เราต้องทำความสงบของใจ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน วางธรรมวินัยนี้ไว้ “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” ปริยัติคือการศึกษา ศึกษามา ใครมีการศึกษา มีความเข้าใจแล้วมันใช้ได้ มันใช้กับชีวิตประจำวันได้ สิ่งนี้มันก็เป็นสัจจะ มันเป็นความจริง มันต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ เรายอมรับความจริง เราไม่ฝืนความจริง มันก็ไม่เจ็บช้ำน้ำใจจนเกินไป

แต่ถ้าเราไม่ยอมรับความจริง โลกธรรม ๘ มีสรรเสริญมีนินทา มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันมีแล้วมันก็ต้องเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา แล้วเราไม่ยอมรับความจริง “มันจะอยู่กับเราตลอดไป มันจะยึดมั่นถือมั่นตลอดไป” นี่ไปฝืนกับความจริงแล้วใครทุกข์ล่ะ ถ้าเราไปฝืนกับความจริง เพราะเราจะเอาตามใจเรา เราไม่เอาตามหลักความจริงอันนั้น แล้วใครทุกข์? ก็เราทุกข์

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา นี่ไง วัฏฏะ ที่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็เวียนไปตามวัฏฏะอย่างนี้ มันก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอยู่อย่างนี้ แล้วเราศึกษาแล้วเราก็เข้าใจ มันก็เป็นการบรรเทาทุกข์ได้ เป็นประเพณีวัฒนธรรม นี่การศึกษาของเรานะ

แต่ถ้าเราจะปฏิบัติล่ะ ปริยัติ ปฏิบัติ เวลาปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์บอกว่าสิ่งที่เราศึกษามาแล้วให้ใส่ลิ้นชักไว้ก่อน คือวางไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอามาเป็นกรอบให้เราเดินไปไม่ได้

เรายังไม่มีอะไรเลย เรายังไม่มีเงินมีทองอะไรเลย เราจะเตรียมกำปั่นเอาไว้ใส่เงินใส่ทอง แล้วจะแบกกำปั่นนั้นไปโดยที่ไม่มีเงินมีทองอะไรเลย เราจะมีเงินมีทอง เราจะมีกำปั่นใส่เงินใส่ทองก็ให้มันมีเงินมีทองขึ้นมาไว้ใส่ก่อน นี่ก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ใจของเราก็ยังไม่รู้จัก สิ่งใดๆ ก็ยังไม่รู้จัก แล้วเราบอกว่า “เรามีปัญญา เรารู้ธรรมะ”

นี่ไง ศึกษามาแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ก่อน แล้วพยายามทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ นี่ภาคปฏิบัติแล้ว เวลาเข้าสู่ภาคปฏิบัตินะ การศึกษามีมากมีน้อยวางไว้ แต่เวลาเราศึกษา เราปฏิบัติ เราก็ลังเล ลังเลว่าเรากลัวผิดพลาด เรากลัวทำแล้วเราจะไม่ได้ผลตามความเป็นจริง เราก็ต้องศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง เห็นไหม ศึกษามาเป็นแนวทาง ศึกษาแล้ววางไว้ ให้รู้จักช่องทางที่จะไปได้

เวลาช่องทางไปได้นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ บอกว่า มัคโค ทางอันเอก ทางอันเอก ทางของจิตที่จะก้าวเดินไป ถ้ามัคโค ทางอันเอก ดำริชอบ เริ่มต้นจะมีปัญญาเลย ปัญญาอันแรก เราก็บอก “เรามีปัญญาแล้ว” ปัญญา ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ดำริชอบ เอาปัญญาเป็นข้อที่ ๑ ถ้าปัญญาเป็นข้อที่ ๑ การเกิดมา แม้แต่การดำรงชีวิตทางโลกเราก็ต้องมีปัญญา ถ้าเราไม่มีปัญญา เราจะไม่เท่าทัน เราจะอยู่กับโลกโดยความเป็นเหยื่อ เวลาเราจะถือศีล เราก็ต้องมีปัญญา เราถือศีลเพื่อเป็นรั้วกั้นไม่ให้หัวใจมันอิสระจนเกินไป ถ้าเราถือศีลเป็นรั้วกั้น เราก็ไม่ต้องไปทุกข์ร้อนกับมันไง แต่นี่เราถือศีลเราก็ไปเกร็ง “ไอ้นั่นก็จะผิด ไอ้นี่...” ทำอะไรไม่ได้เลยเพราะถือว่ามันถือศีลไง

ศีลคือข้อห้าม คือรั้ว รั้วกั้นไว้ไม่ให้จิตใจมันอิสระจนเกินไป ถ้าถือศีลขึ้นมา พอมีศีล เราจะฝึกหัดทำสมาธิ ถ้าเราศึกษาการทำสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ไง เราต้องมีปัญญา ปัญญาที่จะเริ่มต้น ปัญญาทางโลกเขาใช้ชีวิตเขาต้องมีปัญญาของเขา เราจะทำทานก็ต้องมีปัญญาของเรา เราจะถือศีลเราก็มีปัญญาของเรา เราไม่เอาศีลมาเป็นโทษ เอาศีลมาบอกว่า “ทำอะไรไม่ได้เลย ทำอะไรมันมีแต่ความทุกข์ยากไปหมดเลย”

ถ้ามันถือศีล ถือศีลก็ถือหัวใจของเราไง ถ้าเรามีเจตนาดี เราไม่ตั้งใจทำความผิดพลาด แต่ความพลั้งเผลอทำต่างๆ เราฝึกสติขึ้นมา สิ่งนั้นมันก็จะเบาบางลงเพราะเรามีปัญญา เราถือศีลเราก็มีปัญญา เรายิ่งจะปฏิบัติ ยิ่งต้องมีปัญญามากขึ้น แล้วปัญญามากขึ้น ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคืออะไร? สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่งไง ความคิดที่ว่ามันเกิดดับ ที่มันไหลมาไม่มีวันที่สิ้นสุด เวลามันเกิดมาจากไหนไม่รู้ ถ้าเรามีสติปัญญา ถ้ามีปัญญามันจะเท่าทันความคิด

ปัญญาในพระพุทธศาสนาคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร กองสังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง ถ้าปัญญามันรู้รอบ ถ้าเราพุทโธๆๆ ไม่ให้มันไปไหนเลย มันอยู่กับพุทโธอย่างเดียว มันจะปรุงแต่งอะไรล่ะ แล้วถ้ามีสติมีปัญญา เรามีสติ มีปัญญาอบรมสมาธิ เราทำความสงบใจของใจเข้ามา ถ้าใจสงบระงับเข้ามา นี่ผลเริ่มต้นในการประพฤติปฏิบัตินะ

ในสามก๊กนะ ในสามก๊กมันมีอยู่ พี่น้องที่เขาแย่งชิงสมบัติกัน เวลาน้องจะฆ่าพี่ น้องเขาจะฆ่าพี่ของเขา แต่ด้วยความเป็นพี่น้องกัน พอด้วยความเป็นพี่น้องกัน เขาบอกว่าถ้าพูดให้ถูกใจเขาจะไม่ทำ เขาให้แต่งกวี

เขาเดินไปเดินมา เขาคิดขึ้นมาในปัจจุบันนั้น เวลาจะต้มถั่วก็ต้องใช้เถาถั่ว จะต้มถั่วก็ต้องใช้เถาถั่ว เราเป็นพี่เป็นน้องกัน เราจะมาฆ่ามาทำลายกันทำไม ต้นถั่วมันก็ออกเป็นผลถั่ว แล้วเวลาเขาจะต้มถั่ว เขาต้องใช้เถาถั่วนั้นเพื่อจุดไฟต้มให้ถั่วนั้นสุก น้องชายเขาฟังแล้วเขาสลดใจ เขาสลดใจ เขาไม่ปล่อยให้พี่เขาออกไป นี่ไง ด้วยปัญญาๆ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำความสงบของใจขึ้นมา ใจถ้ามันสงบขึ้นมา เราเห็นถั่วไหม แล้วเรามีมรรคไหม เรามีเถาถั่วที่เราจะต้มให้มันสุกไหม ถ้าเราไม่มีเถาถั่ว นี่ไง อาการของใจ มันเกี่ยวเนื่องกัน มันเกี่ยวเนื่องกันไปหมด มันเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตในไข่ ในครรภ์ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ ในการกำเนิด ๔ จิตมันเวียนว่ายตายเกิด มันมาตั้งแต่ต้น มันมาตั้งแต่เวรแต่กรรม เพราะผลของวัฏฏะมันถึงมาเกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูกกัน ไปเกิดเป็นโอปปาติกะ ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม นี่การกำเนิด ๔

พอจิตมันเริ่มต้นตั้งแต่จิตที่มันเกิด พอจิตมันเกิด เกิดมาสถานะของเรามันก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ถ้ารู้สึกคิดอย่างนี้มันก็เป็นเถาถั่ว เถาถั่ว เถาถั่วมันก็อาการไง ถ้าไม่มีต้นถั่วมันจะมีถั่วไหม แล้วมันมีสติมีปัญญาขึ้นมา ถ้ามันรู้จริงเห็นจริงขึ้นมา ถ้ามันจะต้มถั่วมันก็ต้องใช้เถาถั่ว เถาถั่วมันก็เอามาจุดไฟไง จุดไฟต้มเป็นเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงต้มถั่ว ถ้าต้มถั่ว ถั่วมันสุกล่ะ สุกแล้วมันก็ไม่เกิดไม่งอกอีกไง สุกแล้วมันก็เอาไปปลูกอีกไม่ได้ไง สุกแล้วมันก็เป็นอาหารไง

ถ้าหัวใจ ถ้ามันมีใจที่นี่ แต่นี่ไม่อย่างนั้นสิ เวลาเราบอกเรามีปัญญา ปัญญาเป็นสังขาร เป็นความคิด ความปรุง ความแต่งทั้งนั้น มันก็คิดจินตนาการไปหมดเลย พอจินตนาการไป มันจะเอาเถาถั่ว มันไม่ต้องต้มถั่วหรอก

เวลาเขาทำไร่ทำนากัน เวลาเขาจะปรับที่ของเขา เขาจุดไฟเผา มันเผาไปแล้วมันได้อะไรล่ะ นี่เขาเผา ดูไฟป่ามันเกิด มันก็เผาไปหมดล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของเรามันไม่ใช่เถาถั่ว มันต้มถั่ว มันเป็นความคิดของมาร มันเป็นความคิดที่ทำลายไปหมดเลย ทำลายโอกาส ทำลายความจริง ทำลายสิ่งที่เป็นสัจจะในใจของเรา มันทำลายไปหมดเลย มันไม่เป็นความจริงอะไรขึ้นมาเลย แล้วมันเป็นอะไรล่ะ? มันก็เป็นผลของวัฏฏะ

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์ที่เกิดมา การเวียนว่ายตายเกิดของเรา เราที่เกิดมาเห็นหน้ากันอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่เคยเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องกันมาในภพชาติใดภพชาติหนึ่ง ไม่มี เรา การเวียนว่ายตายเกิด เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณนะ ย้อนอดีตชาติของท่านไปไม่มีต้นไม่มีปลาย การเวียนว่ายตายเกิด ปฏิสนธิจิตมันเวียนว่ายตายเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเวียนว่ายตายเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วปัจจุบันนี้ด้วยคุณงามความดี ด้วยบุญกุศล ได้มนุษย์สมบัติ เราถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์กัน

แล้วเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วกึ่งพุทธกาล ในการประพฤติปฏิบัติในธรรมมันเข้มข้น เราก็มีโอกาสของเรา เรามีโอกาสเพราะอะไรล่ะ ถ้าเราไม่ได้คุณงามความดีไว้ โอกาส เห็นไหม ดูการเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์ก็เกิดมาตั้งแต่อดีตขึ้นมามหาศาล ในปัจจุบันนี้ก็มนุษย์เกิด ในอนาคตก็จะมีมนุษย์เกิด มนุษย์ก็จะเวียนว่ายตายเกิด แต่กาลเทศะ กาลมันแตกต่างกัน

ดูสิ เวลาเกิดมาในยุคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาเราเวียนว่ายตายเกิด เวลาก็แตกต่างกันมา ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ในปัจจุบันนี้ ดูสิ ว่าโลกเจริญๆ โลกเจริญเพราะอะไร เพราะทางวิชาการเขาเจริญ เขามีการศึกษา เขามีการค้นคว้า ดูพระไตรปิฎกเข้าไปในคอมพิวเตอร์ กดทุกอย่างมันสะดวกสบายไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะเขาอำนวยความสะดวกไว้ให้กับชาวพุทธ อำนวยความสะดวกไว้ให้กับที่ผู้ค้นคว้า อำนวยความสะดวกไว้หมดเลย เห็นไหม มันอยู่ที่กาลอยู่ที่เวลา การเวียนว่ายตายเกิดไง

เพราะมนุษย์สมบัติ เพราะเราทำคุณงามความดีมา ถ้าเราไม่ได้ทำคุณงามความดีมา เราจะไปเกิดเป็นอะไรก็ได้ เกิดตามแต่เวรแต่กรรม กรรมมันพาเวียนว่ายตายเกิดไง แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ฉะนั้นถึงบอกว่าการเกิดเป็นมนุษย์ที่เราไม่เกิดเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องมาในชาติใดชาติหนึ่งไม่มี ถ้ามันคิดได้อย่างนี้ เห็นไหม มันก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน เราเกิดมาเสมอกัน เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม เพราะมนุษย์เหมือนกัน เรามีปากมีท้องเหมือนกัน

แล้วถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเราอยากประพฤติปฏิบัติ เพราะเรามีจิตใจฝักใฝ่กับการที่ต้องการให้หัวใจพ้นออกไป เราพยายามจะทำ เราจะหาเถาถั่ว จะต้มถั่ว ก็หัวใจเราไง ถ้าเราทำคุณงามความดี เราจะประพฤติปฏิบัติ แต่คนที่จิตใจมันแตกต่างกันเขาไม่ได้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นความดี เขาเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นนามธรรมจนเกินไป จนจิตใจเขาหยาบเกินไป เขารับสิ่งนี้ไม่ได้

แต่ถ้าไปทำหน้าที่การงานกับเขา ไปอยู่ทางโลกกับเขา ถ้าใครประสบความสำเร็จ เห็นไหม ดูสิ รัฐบุรุษตายหมด รัฐบุรุษก็เวียนว่ายตายเกิด แล้วมาเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ แล้วมาเกิดแล้วมีอำนาจวาสนามากน้อยขนาดไหนก็ไม่รู้

ถ้ารัฐบุรุษ ถ้าสร้างเพื่อสังคม สร้างเพื่อความเป็นธรรม เห็นไหม จักรพรรดิ เวลาจักรพรรดิเขาจะมีขุนคลังแก้ว ขุนนางแก้ว แม่ทัพเป็นแก้ว เพราะมันเกิดมาร่วมสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกกับสังคม แต่เวลาจักรมันหยุด ต้องออกบวช ถ้าจักรมันไม่หยุด ไม่ออกบวชนะ สิ่งที่สร้างมามันจะไม่ต่อเนื่องกันไป นี่พูดถึงการเวียนว่ายตายเกิด คนที่เกิดมาแล้วถ้าเขาทำคุณงามความดี ทำเพื่อผลประโยชน์กับสังคม ประโยชน์กับโลก อันนั้นก็เป็นความดีของเขา เป็นลักษณะของผู้นำ ถ้าผู้นำที่ดี แล้วถ้าเวียนว่ายตายเกิด ถ้าทำอย่างนั้นจบแล้วมันไปไหนล่ะ

แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าเราจะมาประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาความจริงของเรา เขาบอกว่าจิตใจที่หยาบเขาก็มองไม่เห็นคุณงามความดีอันละเอียด มองไม่เห็นคุณธรรมในใจ เขามองเห็นแต่การประสบความสำเร็จ แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ถ้าใครมีคุณธรรม ใครทำสิ่งต่างๆ แม้แต่ในสมัยพุทธกาล เศรษฐีในสมัยพุทธกาลเขาจะตั้งโรงทานไว้หน้าบ้านของเขา เขาจะเสียสละทาน เขาจะให้ทาน ให้ทานกับคนที่ทุกข์ที่ยากให้มีที่พึ่งอาศัย นั่นน่ะมันเป็นเครื่องหมาย เป็นเครื่องหมายของคนที่จิตเป็นสาธารณะ จิตใจที่เป็นธรรม แต่เราไม่เป็นขนาดนั้น แต่เราจะเอาคุณงามความดีของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราพยายามแล้ว ทำงานจบแล้วทำงานเสร็จแล้วเราก็ปฏิบัติของเราอยู่ในบ้านของเรา แต่ถ้าเรามาบวชเป็นพระ เราบวชเป็นพระ เรามาปฏิบัติที่วัด เราก็พยายามทำคุณงามความดีของเรา ทำคุณงามความดีของเรา หน้าที่การงานข้อวัตรปฏิบัติ เพราะคนมันมีการใช้สอย

หลวงตาท่านบอกว่า นกมันยังมีรวงมีรัง นกมันยังต้องมีรังของมันเพื่อการอยู่อาศัย พระเราเวลาเราเสียสละจากทางโลกมา ไปอยู่วัดอยู่วา อารามิกะ ไปอยู่ที่คนที่ไม่มีบ้านไม่มีเรือน ถ้าไม่มีบ้านมีเรือนนะ แต่ที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าบ้านของเขา พระเราก็เรียกว่ากุฏิ มันก็ต้องทำความสะอาด ข้อวัตรปฏิบัติมันก็ต้องมีการปฏิบัติ ในการปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติเราก็ทำหน้าที่การงานของเรา แล้วถึงเวลาแล้ว ถ้าเป็นวัดปฏิบัติ เขาทำเพื่อให้จบ แล้วเพื่อจะภาวนา การภาวนามันก็ทำเพื่อหัวใจแล้ว

ถ้าทำเพื่อหัวใจ เราจะหาใจก็หาถั่ว หาต้นถั่วของเรา เราพุทโธๆ ของเรา ทำของเราให้เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าใจเป็นความจริงขึ้นมานะ มันมีมรรค ถ้ามีมรรค มันมีการกระทำของมัน ถ้ามีการกระทำของมัน มันจะเข้าสู่สัจจะความจริง ถ้ามันไม่มีการกระทำอย่างนี้ ไม่มีการกระทำ ถ้าใจไม่มีการกระทำ ไม่มีความจริงขึ้นมา มันเป็นเรื่องผลของวัฏฏะ

คำว่า “ผลของวัฏฏะ” คือความเป็นมนุษย์ไง ดู ดูว่านรกสวรรค์ เขาบอกว่า “นรกสวรรค์นี้ไม่มี เกิดเป็นมนุษย์ชาตินี้จบแล้วก็จบ” ถ้านรกสวรรค์ไม่มี สิ่งที่ไม่มีเพราะอะไร เพราะมันยังเป็นมนุษย์อยู่นี่ไง เพราะว่าสถานะของความเป็นมนุษย์อยู่นี่ มันก็อหังการได้ไง แต่เวลาหมดอายุขัยมันไปไหน หมดอายุขัยเวลาตายไป ไปไหน มันจะขึ้นบนหรือลงล่างล่ะ เวลามันไป มันมีของมัน ถ้ามันมีของมัน มันเป็นความจริงของมัน

แต่สถานะของมนุษย์ อายุขัยของเรา เพราะอะไร เพราะมาจากผลบุญ เพราะผลบุญเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ สถานะของมนุษย์มันก็อายุขัยหนึ่ง ถ้าอายุขัยหนึ่งมันก็ปากแข็งไง “นรกสวรรค์ไม่มี ความดีก็ทำอยู่กับมือนี่ไง ความดีก็ความดีของฉันไง ไอ้พวกที่ทำนั่นน่ะมันเป็นคนที่มีปัญหา เราเป็นคนที่ไม่มีปัญหา”...นี่เวลากิเลสมันครอบงำหัวใจมันคิดอย่างนั้น

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา สิ่งที่เราจะทำความจริงๆ เราทำความสงบของใจเข้ามา เพราะใจสงบขึ้นมา เราหาความจริง เรามาฟังธรรมๆ ก็เพื่อค้นคว้าความจริง เพื่อหาความจริง ถ้าหาความจริงมันจะสัมผัสได้ด้วยความจริง สัมผัสความจริงถ้าจิตมันจริงไง จิตมันจริงคือมันเป็นสมาธิจริงๆ สมาธิจริงๆ จิตมันได้สัมผัส มีการกระทำ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาจริงๆ มันเป็นผลจากการปฏิบัติ มันเป็นผลจากศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นผลจากการที่เราเข้มงวดกับจิตของเราเอง เข้มงวดด้วยสติ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห่วงเรื่องนี้มากนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จนคำสุดท้าย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้กับบริษัท ๔ เลย “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

นี่ด้วยความไม่ประมาท ถ้าด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีความประมาท เรามีสติปัญญาของเรา เราจะดูแลรักษาหัวใจของเราให้เป็นความจริงขึ้นมา แค่เป็นสัมมาสมาธิแค่นั้นล่ะ ถ้าจิตมันสงบ มันไม่มีสิ่งใดมีคุณค่าเท่ากับอย่างนี้เลย มันไม่มีสิ่งใดมีคุณค่ากับหัวใจของเราเลย

หัวใจของเราที่มีคุณค่าอยู่นี่มีคุณค่าเพราะอะไร มีคุณค่าเพราะเป็นชีวิต ถ้าจิตนี้ออกจากร่างก็คือคนตาย คนที่มีจิตอยู่กับร่างกายนี่แหละมันถึงเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ว่าสถานะของมนุษย์ที่มันรองรับไว้ ที่ว่านรกสวรรค์ไม่มี ถ้ามันหลุดจากนี้ไปนะ พอมันหมดอายุขัย จิตนี้ออกจากร่าง มันก็ไปตามเวรตามกรรม ถ้าคนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นโสดาบันจะกลับมาเกิดอีก ๗ ชาติ ถ้าเกิดเป็นสกิทาคามีล่ะ ถ้าเกิดเป็นอนาคามีล่ะ อนาคามีไปเกิดบนพรหม ถ้าเป็นพระอรหันต์ล่ะ พระอรหันต์ไปไหนล่ะ นี่คุณสมบัติที่ความเป็นจริงของจิต

แต่คุณสมบัติของเราในปัจจุบันนี้ คุณสมบัติของเรามันมีอวิชชา มีกิเลสครอบงำอยู่ มันครอบงำอยู่ มาร ตัณหาความทะยานอยาก ตัณหา-วิภวตัณหามันขับดันออกไป พอขับดันมันก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ พอมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ นี่มารเป็นใหญ่ กิเลสที่ว่าปฏิบัติธรรมแล้วมันไม่ได้ผลตามความจริง เวลาปฏิบัติน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ คนอื่นเขาทำได้หมดเลย ทำไมเราทำไม่ได้

สิ่งที่ปฏิบัติแล้วไม่ได้ก็เพราะอันนี้ สมุทัย มาร มารมันขับไส มารทำให้สับสน มารทำให้เราคลาดเคลื่อน มันคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงตลอด เพราะมันคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงมันถึงไม่สงบไง ถ้ามันไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง กำหนดพุทโธๆ บริกรรมเข้าไป บริกรรม ย้ำคิดย้ำอยู่กับที่ พุทโธๆๆ จิตมันไม่ส่งออก พุทโธๆๆ ถ้ามีสตินะ

เวลาถ้าผู้ปฏิบัติใหม่ เวลาพุทโธเข้ามามันอึดอัดขัดข้องไปหมดล่ะ เพราะอะไร เพราะจิตนี้มันเคยเร่ร่อน มันเคยเป็นอิสระของมัน พอมันมีสติบังคับมันก็เดือนร้อนแล้ว เด็ก ปล่อยมันเล่นทั้งวัน มันเล่นของมันได้ จับมันให้อยู่นิ่งๆ เดี๋ยวมันก็ร้องไห้

จิตก็เหมือนกัน แล้วเวลาถ้าไม่ดูแลรักษามัน มันคิดประสามันเลย ไปตามอิสระ เร่ร่อนไปได้ร้อยแปดเลย แล้วมันอยู่ที่เชาวน์ปัญญานะ อยู่ที่บารมีของจิต จิตบางคนมีโทสจริต โมหจริต มันอยู่ที่จริต ถ้าจริตของคนโทสจริต ไม่ได้เลย ขี้โกรธ อะไรกระทบไม่ได้เลย ไอ้โลภะก็ไอ้โลภอย่างเดียว จะเอาแต่ได้ ถ้าหลง ไม่มีใครบอกก็เชื่อเขาอยู่แล้ว นี่มันเป็นจริต ถ้าจริตมันก็ไปของมัน มันเร่ร่อนของมันอยู่อย่างนี้

แต่ถ้าเรามีความจริง แม้แต่ทำทานก็ต้องมีปัญญา แม้แต่รักษาศีลก็ต้องมีปัญญา แม้แต่ปฏิบัติก็ต้องมีปัญญา ปัญญาๆ ตรงนี้ ปัญญามันเห็นคุณเห็นโทษ พอปัญญามันเห็นคุณเห็นโทษมันก็ตั้งใจจะทำ พอตั้งใจจะทำ มันก็พุทโธๆๆ มันไม่เคลื่อนออกไป

แม้แต่คำว่า “พุทโธ” พุทโธมันเป็นคำระลึก เราระลึกขึ้น สติระลึกรู้แล้วกำหนดบริกรรมพุทโธๆ พุทโธกับความรู้สึกมันก็ยังเคลื่อนกันอยู่ มันยังไม่ลงเป็นอันเดียวกัน ถ้าพุทโธต่อเนื่อง แล้วทำอย่างไรจะให้มันลงร่องเดียวกันล่ะ

ถ้าพุทโธๆ จนมันละเอียดเข้ามา มันพุทโธจนพุทโธได้ จากที่ไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะมันเคยเร่ร่อน มันเคยเร่ร่อน มันไม่ลงรอยกัน มันขัดแย้งกันตลอด แต่เราพุทโธๆๆ มันก็ขัดแย้ง ขัดแย้งแล้วมันเครียด ขัดแย้งแล้วมันอึดอัด เพราะมันก็ยังไม่ลงร่องเดียวกัน พุทโธเรื่อยๆ จนมันสมานกัน มันจะเข้าเป็นอันเดียวกัน พออันเดียวกันนะ พุทโธชักละเอียดขึ้น มันเบาบางขึ้น จนพุทโธไม่ได้ เอ๊อะ! เอ๊อะ! เป็นหนึ่ง เห็นไหม

ถ้าเป็นสมาธินะ สมาธิคือจิตที่สงบ ไม่รับรู้อารมณ์ พอไม่รับรู้ เห็นไหม อารมณ์ อารมณ์กับธาตุรู้ มันไม่ลงรอยกันตลอด ไม่ลงรอยกันเพราะอะไร มันไม่ลงรอยกันก็เพราะตัณหา เพราะมันมีตัณหาความทะยาน เพราะกิเลส การปฏิบัติที่มันยากอยู่นี่ ยากเพราะกิเลสของเรามันทำให้ยาก

แต่ถ้าสัจธรรมๆ มันเป็นความจริงของมันอยู่แล้ว สัจธรรมเป็นอย่างนี้จริงๆ ศีล สมาธิ ปัญญามันมีอยู่จริง แต่เราทำไม่ได้ ถ้าเราทำไม่ได้ เราไม่มีวาสนา ทำไม่ได้ เราไม่มีโอกาส แต่ความจริงมันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้วคืออะไร มันมีอยู่แล้วคือว่าเรามีสมาธิอยู่ สมาธิก็สมาธิของปุถุชนไง สมาธิของความเป็นมนุษย์ไง ถ้าเราไม่มีสมาธิ ดูสิ เวลาพ่อแม่สอนลูก เวลาลูกมันยอมรับผิด หนูผิด มันก็รับรู้ได้ นี่ถ้าไม่มีสมาธิมันเป็นอย่างไร ไม่มีสมาธิ พูดอะไรก็ไม่ฟัง พูดอะไรมันก็เป็นไป

แต่สมาธิของปุถุชน ปุถุชนแล้วกัลยาณปุถุชน ปุถุชนคือคนหนา ปุถุชนคือสามัญสำนึกของมนุษย์ สามัญสำนึกของมนุษย์มันก็มีสมาธิของมันอยู่แล้ว แต่สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิของมนุษย์ไง ถ้าสมาธิของมนุษย์มันก็ได้เรื่องของมนุษย์ เพราะเราทำบุญกุศลมา เราถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นี่ศักยภาพของมนุษย์

เวลาในบรรดาสัตว์สองเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์ทำไมมันทำจิตใจให้มันองอาจกล้าหาญ ทำไมทำใจของมันผ่องแผ้ว ทำไมทำหัวใจของเราให้สำรอกคายกิเลสออกมาได้อย่างไร นี่มันทำได้จริงไง ถ้าทำได้จริง ทำได้จริงอยู่ที่วาสนาของเรา ถ้าทำได้จริง เราพยายามของเรา เราทำความจริงของเราให้ได้ ถ้าใจมันจริงขึ้นมา เห็นไหม

เถาถั่ว เถาถั่วคือปัญญานะ มันจะต้มถั่ว จิตใจของเรา จิตใจของเรามันต้องมีเถาถั่ว มันต้องมีมรรคมีผล มีเหตุมีผลขึ้นมาเพื่อต้ม อุณหภูมิ ความร้อนมันจะทำให้น้ำนั้นเดือด ความร้อนนั้นมันจะต้มถั่ว ถ้าเราไม่มีมรรค เราไม่มีเหตุมีผล เวลาทำหน้าที่การงานว่าเราเป็นคนมีปัญญา ปัญญานี้ปัญญาโลกียปัญญา ปัญญาโลก ปัญญาอย่างนั้นล่ะ ปัญญาของพระพุทธศาสนา ปัญญาคือยับยั้งความคิดได้ ปัญญาของเราคือเอาตัวเราไว้ในอำนาจของเราได้ ปัญญาของเราคือบังคับจิตของเราได้ จิตของเรา เราบังคับไม่ให้ไปเสวย ไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้ไปยึดเอาว่า “อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ทุกข์”

อันนั้นคนโง่ คนโง่เพราะมือไปจับไฟ พอจับไฟมันก็ร้อน จับไฟมันก็พอง เพราะเราไปจับ แล้วเราไม่จับจะทำอย่างไร

“ก็มันหน้าที่การงาน”

อ้าว! เวลาหน้าที่การงานก็เป็นเรื่องหน้าที่การงาน ถ้ามีหน้าที่การงาน เวลาทำงานมีหน้าที่ขึ้นมา เราก็มีสติปัญญา เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา ถ้าไม่มีความคิดมันก็ไม่มีการพูด ไม่มีการคิดมันก็ไม่มีการเคลื่อนไหว ร่างกายทำงานมันก็ต้องใช้ความคิด ขณะนั้นเราก็มีสติไปไง ถ้ามันทำงาน

แต่ถ้าพอเราจะภาวนา เราอยากได้ผล เราอยากได้สมาธิ เราอยากจะให้จิตเราเป็นอิสระ ถ้าจิตเป็นอิสระ มันไม่อยู่ในอำนาจของมาร มันไม่อยู่ในอำนาจของตัณหาความทะยานอยาก มันอยากได้อยากดีโดยที่มันยังไม่มีอะไรจะดี

แต่ถ้ามันเป็นความจริง พอมันสงบ มันปล่อยวางมาหมด มันเป็นสัมมาสมาธิ มันปล่อยหมด มันเป็นเอกเทศ พอเป็นเอกเทศ สิ่งนี้มันจะมีความสุขมาก จิตใจของเรา ตั้งแต่เกิดมา ความรู้สึกนึกคิด จิตไม่เคยได้พักเลย จิตไม่เคยได้พักเลย แม้แต่นอนหลับมันก็ฝัน เวลานอนหลับนะ มันก็แค่เบาเครื่อง มันไม่ได้พัก แต่พอจิตมันลงสมาธิ มันพัก หมายความว่า ขันธ์กับจิตมันแยกออกจากกัน ความรู้สึกนึกคิดกับจิตมันแยกออกจากกัน มันปล่อยวางได้ มันมีอิสระได้ พอมีอิสระได้มันจะมีความสุขมาก มันจะมีพลังมาก

ถ้ามีพลังงานมาก ถ้าสงบแล้วพอมันคลายตัวออกมา มันสดชื่น พอมันสดชื่นออกมา มันรื่นเริง มันมหัศจรรย์ มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ตัวเอง มันมหัศจรรย์จิตตัวเอง ทำไมมันเป็นอย่างนี้ๆ ศึกษาธรรมะมา ศึกษามาก็เข้าใจ เข้าใจเอง เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น มรรค ๘ ก็เข้าใจ อริยสัจก็เข้าใจ ทุกอย่างก็เข้าใจหมดเลย แต่เวลาจิตมันสงบ อืม! มันแตกต่างกัน รสชาติมันแตกต่างกันเพราะมันเป็นสมบัติของจิต เพราะจิตมันได้สัมผัส

แต่ขณะที่เราได้ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันศึกษาด้วยอาการ ศึกษาด้วยสามัญสำนึก แต่เวลาจิตสงบเข้ามา มันเป็นเอกเทศ มันเป็นอิสระของมัน พออิสระของมัน ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าพยายามรักษาไว้ เวลามันคลายออกมาก็พุทโธต่อเนื่องเข้าไปให้จิตสงบเข้าไป พักไว้ก่อน พักจนมีกำลัง

ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ เวลาจิตสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นกายด้วยบารมี เห็นกายด้วยอำนาจวาสนาของตัว แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้เห็น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เห็นเพราะอะไร ดูสิ ผู้ที่มีคุณธรรม ผู้ที่มีปัญญาในสังคมมนุษย์มันมีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ไอ้ชนชั้นกลางอย่างพวกเรามันมีเยอะ มันมีเยอะ เวลาจิตมันสงบแล้วก็คือสงบ

หลวงตาท่านบอกว่ามีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่จิตคึกคะนอง มันมีอยู่ประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ในจำนวนของประชากรที่เกิด ในประชากรของจิต

จิตที่สร้างบุญกุศล เพราะคนที่สร้างบุญกุศลมันต้องสร้างได้มากกว่า มันต้องเป็นผู้ขวนขวายได้มากกว่า การที่ขวนขวายได้มากกว่า อำนาจวาสนาบารมีของเขาต้องมากกว่า เวลาจิตสงบแล้ว จิตที่คึกคะนองมันจะมีฤทธิ์มีเดช มันจะรู้จะเห็น อันนี้เขามี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเราก็เอาตัวรอดได้ เราก็มีอาชีพ เราก็ดำรงชีวิตของเราได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติ จิตมันสงบ ถ้ามันสงบ มันจะสงบเข้ามาโดยปกติ สงบเข้ามาแล้วไม่รู้ไม่เห็นอะไร แต่ขอให้สงบ เพราะสัมมาสมาธิ เราทำเพื่อความเป็นสมาธิ สมาธิก็คือสมาธิ มันจะว่ามีบารมีหรือไม่มีบารมีนั้น อันนั้นมันเป็นนิสัย มันเป็นพันธุกรรม มันเป็นอำนาจวาสนาของจิต ไอ้ที่ว่าจะไปรู้ไปเห็นต่างๆ มันเป็นวาสนาของจิต แต่ความสงบก็คือความสงบ

ที่ว่าอริยสัจมันมีหนึ่งเดียวๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าสมาธิก็คือสมาธิ แต่สมาธิถ้ามันสงบเข้ามาแล้ว ถ้าจิตคึกคะนองมันจะรู้จะเห็นต่างๆ เราก็มีสติปัญญารักษาไว้ แต่ถ้ามันสงบเข้ามา สงบเข้ามาก็มีความสุข มีความสุข มีกำลัง แล้วมันองอาจกล้าหาญมาก เหมือนกับจะออกรู้ออกเห็น อยากจะทำ อยากจะเป็น

แต่ถ้ามันจะเป็นจริง ดำริชอบ งานชอบ การทำงานที่ชอบ งานของเรา งานในการทำความสงบของใจ งานของสมถะ งานสมถะคืองานทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วเราก็มีพื้นฐาน เราก็มีคุณธรรมเป็นคุณสมบัติของเรา เห็นไหม อัตตสมบัติของจิต จิตมีสมบัติของมัน อันนี้มันจะฝังใจเราไปตลอดเลย

แล้วถ้าพอจิตรักษาไว้ ถ้ามันคลายออกมาเราก็กำหนดเข้าไป กำหนดพุทโธต่อเนื่อง เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิถ้ามันเข้ามาสงบอีก จนมีกำลัง สังเกตให้ดี พอสังเกตให้ดีนะ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นจิต จิตเห็น คำว่า “จิตเห็น” ถ้ามรรค นี่เถาถั่ว เถาถั่วมันเป็นพลังงาน เถาถั่วมันจะต้มถั่ว ต้มถั่วก็ต้มจิตไง

ตัวจิตนี่แหละ ตัวจิตนี้ตัวสำคัญ เวลาปฏิสนธิจิตมันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันไปตามแต่เวรแต่กรรมของมันโดยอำนาจวาสนาขับดันกันไป มันเวียนว่ายตายเกิดหมุนมันไป นี่หมุนไปเพราะความไม่รู้ไง ดูสิ ไปเกิดภพชาติใดแล้วแต่ เกิดในครรภ์ คลอดออกมา ไปคลอดที่โรงพยาบาลเขาจดไว้เลยเวลาเท่าไร ไปคลอดที่ไหนล่ะ เวลาเกิดมาไม่รู้ นี่ไง สิ่งที่เป็นอำนาจวาสนาเวลามันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันไม่รู้นะ เวลาไปเกิดเป็นเทวดา ปุ๊บ! มาแล้ว โอ๊ะ! โอปปาติกะ เกิดในนรกก็เกิดเลย เกิดแล้วก็เกิดเลย นี่ผลของวัฏฏะ

แต่จะต้มถั่วมันไม่เป็นอย่างนั้น เวลาอริยสัจ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาสติปัญญามันพร้อมไง เพราะเราทำสัมมาสมาธิใช่ไหม เพราะจิตเราเป็นสมาธิ สมาธิมีสติไหม ถ้ามีสติ สติเป็นผู้บริหารใช่ไหม ถ้ามันบริหารจิต ถ้าจิตมันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันรู้มันเห็นของมัน มันไม่ใช่ไปแบบวัฏฏะ ไปแบบไปเกิดถึงรู้ เกิดแล้วถึงรู้ นี่ไปด้วยความไม่รู้ แต่นี่มันรู้ สัมมาสมาธิมันรู้ สัมมาสมาธิมันเห็น ที่ว่าจิตที่มันองอาจกล้าหาญที่มันแกล้วกล้ามาก ที่มันจะทำหน้าที่การงานของมัน มันจะเคี้ยวกลืนกิเลสเลย มันจะเคี้ยวกลืนมารเลย แต่มารอยู่ไหนล่ะ มารอยู่ไหน

ดูสิ เวลาไฟมันเผา เขาทำไร่ไถนา เขาเผาไฟ แล้วมันเผาไปหมด แล้วมันเป็นประโยชน์อะไรล่ะ นั่นเขาปรับพื้นที่ เขาจะปลูกไร่ไถนาของเขาใหม่ แต่นี้มันไม่ใช่ เถาถั่วมันจะต้มถั่ว เพราะอะไร เพราะมันมีเวรมีกรรมต่อกัน ดูสิ พี่น้องเขาขัดแย้งกัน เขาจะทำลายกัน แต่เวลาเขาพูดขึ้นมาเป็นกวี เป็นคติธรรม น้องชายเขาสลดใจนะ ปล่อยพี่ชายเขาไป เพราะอะไร เพราะพี่น้องกันเองจะฆ่ากันเอง อันนี้มันเป็นทางโลก

แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะ จิตต้องแก้จิต สมาธิเกิดมาจากไหน? สมาธิก็เกิดที่ใจ ถ้าใจมันไม่ผ่อนคลายเข้ามามันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วมันจะหาเถาถั่วเพื่อมันจะทำพลังงานขึ้นมา พอมีพลังงานขึ้นมาแล้วมันจะต้ม มันจะทำลาย ทำลายตัวมันเอง จิตแก้จิต ถ้าพอจิตมันสงบแล้ว มันองอาจมันกล้าหาญ มันจะเคี้ยวกลืนกิเลส แต่หากิเลสไม่เจอ

ถ้าหากิเลสไม่เจอนะ เวลามันเสื่อมมาเราก็ได้แค่นี้ คนที่อำนาจวาสนาน้อยจิตมันเป็นสมาธิก็คิดว่าสมาธิคือนิพพาน แม้แต่สมาธิก็คิดว่าสมาธิเป็นนิพพานเลย เพราะอะไร เพราะเราทำสมถะ พุทโธเกือบเป็นเกือบตาย ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ “โอ้โฮ! ใช้ปัญญามามากแล้วนะ ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็ได้ใช้ปัญญามา โอ๋ย! ปัญญาของเราแยกแยะ ทำลาย ชำระล้างกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอนเลย เราใช้ปัญญามาหมดเลย”...นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ถ้าคนวุฒิภาวะมันด้อย เวลามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เขาบอก “นี่คือภาวนามยปัญญา” ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญา สิ่งที่ทำมันเป็นเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องโลก เป็นสามัญสำนึกของเรา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิก็ความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละ

ดูสิ เวลาเราเริ่มต้นทำงาน ใครเป็นคนทำ เราต้องออกแรงเองใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันจะเริ่มทำสมาธิมันก็ต้องใช้ความคิดของมันนั่นแหละ เวลาพุทโธๆ วิตกวิจารก็เป็นความคิดเหมือนกัน วิตกวิจาร สามัญสำนึก นี่พื้นฐานเลย มันเป็นเรื่องพื้นฐานของจิตที่มันจะทำความสงบของใจเข้ามา แล้วเวลามันใช้ปัญญาขึ้นมา เขาบอกว่า “นี่เป็นภาวนามยปัญญา”...มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

พอปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา เพราะปัญญาอย่างนี้มันปัญญาจากโลก ปัญญาจากความรู้สึกนึกคิดของเรา แต่พอจิตมันสงบ พอใช้ปัญญาขึ้นมามันก็ปล่อยๆ ปล่อยแป๊บเดียวเดี๋ยวก็คิดอีก ถ้าปัญญาอบรมสมาธินะ แต่ถ้าเป็นพุทโธๆ เวลามันละเอียดเข้ามา ถ้ามันเบาขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วตกภวังค์ พอมันละเอียดเข้ามามันวูบหายไปเลย หรือมันละเอียดเข้ามา มันเข้าไปเฉยอยู่อย่างนั้นล่ะ แล้วทำอย่างไรต่อ

ถ้าเฉยๆ อยู่อย่างนั้นต้องพุทโธต่อเนื่อง ถ้าเฉยๆ อยู่ จิตมันไม่ยอมทำงานต่อเนื่องไป แล้วพอมันเฉยๆ อยู่นี่ โดยธรรมชาติทุกคนมักง่าย พอความมักง่ายก็คิดว่าอันนี้สุดความสามารถแล้ว พุทโธจนพุทโธไม่ได้แล้ว มันก็สุดซอยแล้วมันจะไปไหนต่อ

จิตมันมีซอยไหม ความคิดมันมีซอยไหม มันยังไปได้อีกเยอะแยะเลย มันจะไปสุดซอยตรงไหน แต่เพราะว่าความอ่อนด้อย วุฒิภาวะเราอ่อนด้อย พอกิเลสมันสร้างเรื่องขึ้นมา พุทโธๆ จนมันสุดซอยแล้ว มันก็ไปเฉยๆ อยู่ มันอะไรไม่ได้แล้ว ถ้ามันระลึกพุทโธ มันระลึกได้ เพราะความคิดมันยังเกิดได้ เพราะอะไร เพราะสุดซอย เราก็คิดเองว่าสุดซอย ความรู้สึกเราก็ยังมีอยู่ แต่เราคิดเข้าข้างตัวเองว่ามันสุดซอยไง มันสุดซอยเพราะมันมักง่าย เพราะมันไม่มีปัญญาพอ

แต่เราระลึกพุทโธต่อเนื่องขึ้นไป ระลึกพุทโธๆ จนพยายามพุทโธแล้วมันพุทโธไม่ได้ ขณะพุทโธได้หรือพุทโธไม่ได้ ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้ ส่วนใหญ่แล้วพุทโธได้ แต่เพราะความอยากได้ผลเร็วเกินไป ใจเร็วด่วนได้ว่าสิ่งนี้เป็นสมาธิ ทั้งๆ ที่มันยังไม่เป็น แต่มันกำลังจะเป็น ถ้ามันกำลังจะเป็น เราพุทโธตั้งแต่เริ่มต้นมามันก็อึดอัดขัดข้อง มันก็เครียดอยู่แล้ว แล้วเราพยายามพุทโธๆ จนจิตมันยอมกระทำ อันนี้ก็เป็นผลงานของเราแล้ว

จิตมันไม่ยอมกระทำนะ จิตมันเบื่อ จิตมันต้องการเร่ร่อน มันต้องการคิดตามแต่อำนาจของมัน มันต้องการความคิดที่กิเลสมันยื่นให้ แต่มันไม่ยอมรับความเป็นจริง มันไม่ยอมรับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพราะเราใช้สติ เราใช้การบังคับ เราพยายามกระทำอยู่นี่จนมันยอมรับพุทโธแล้ว พอมันยอมรับพุทโธ มันก็บริกรรมเข้ามาได้เรื่อยๆ แต่พอคำบริกรรมเข้ามาเรื่อยๆ แล้วมันมาสู่ความมักง่ายของจิต

กิเลสมันละเอียดไปเรื่อยๆ มันก็มักง่ายว่า “สุดซอยแล้ว มันเข้าไปอยู่เฉยๆ มันก้าวหน้าไปไม่ได้อีกแล้ว ทำจนสุดความสามารถแล้ว” นี่กิเลสมันหลอกทั้งนั้นน่ะ นี่หลุมพรางของมัน หลุมพรางของกิเลสให้เรายอมจำนนอยู่แค่นั้น

แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติเป็นนะ นี่มันพุทโธได้ จริงๆ แล้วมันพุทโธได้ แต่ไอ้ผู้ที่ปฏิบัติมันบอกว่าสุดซอย ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีอุบายนะ ท่านบอกว่าสมมุติว่านึก จะนึกได้ไหม? ได้ค่ะ

ก็มันได้อยู่แล้ว ไม่ใช่ได้ค่ะหรอก มันได้อยู่แล้ว แต่เขาใช้อุบายให้คนคนนั้น ให้ผู้ปฏิบัตินั้นหูตาสว่างขึ้นมา ผู้ปฏิบัตินั้นถ้าไม่หูตาสว่าง ผู้ปฏิบัตินั้นมันจะไม่ก้าวเดินต่อไป นี่คุณสมบัติของครูบาอาจารย์ท่านเป็นแบบนี้ ท่านรู้อยู่ ฟังก็รู้ ดูก็เห็น เพียงแต่จะพูดหรือไม่พูดนะ พูดขึ้นมาแล้วมันก็น้อยเนื้อต่ำใจไง “โอ๋ย! ครูบาอาจารย์ไม่ให้กำลังใจเลย”

ให้ ให้กำลังใจ ให้ปัญญา ให้ตัวเองฉลาดขึ้นด้วย แต่ด้วยความโง่ ด้วยความที่กิเลสมันครอบงำนั่นน่ะ “นี่มันสุดซอยแล้ว มันไปไม่ได้แล้ว”

ถ้ามีสติปัญญาพยายามนึกพุทโธต่อเนื่องไป ไม่สุดหรอก ถ้าไม่สุดแล้วมันต่อเนื่อง ต่อเนื่องคือจิตมันละเอียดขึ้นไป ละเอียดขึ้นไปนะ ถ้ามันจะวูบ วูบลงขนาดไหนเราก็มีสติพร้อม ถ้าละเอียดเข้าไป ละเอียดจนมันจะระลึกไม่ได้ มันจะระลึกไม่ได้เลย ถ้าระลึกไม่ได้มันจะเข้าสู่อัปปนานะ ถ้าเข้าสู่อัปปนา สมาธิมันเป็นแบบนี้ ถ้าสมาธิถ้าเข้าสู่อัปปนานะ มันจะสักแต่ว่ารู้นะ อันนี้มหัศจรรย์มาก

เพราะครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย ไอ้รวมใหญ่ๆ น้อยคนนักที่จะทำได้ ว่าอย่างอย่างนั้นเลยนะ น้อยคนนักที่จะทำได้ แล้วพอทำได้แล้ว เพราะไม่ต้องทำถึงตรงนี้ แค่อุปจารสมาธิมันก็วิปัสสนาได้แล้ว แต่ถ้าเข้าสู่อัปปนาได้ น้อยคนนักที่จะทำได้ แล้วทำได้ไม่บ่อยนัก แต่ไอ้ประเภท ๕ เปอร์เซ็นต์ ทำได้ ถ้าทำได้อย่างนี้นะ อันนี้พูดถึงความมหัศจรรย์ของจิต

พอจิตมันมหัศจรรย์แล้วถ้ามันคลายตัวออกมา จากอัปปนาสมาธิคลายตัวออกมาเป็นอุปจาระ อุปจาระคือจิตมันกระทบได้ จิตมีความคิดได้ ถ้าจิตไม่มีความคิดได้มันจะใช้ปัญญาได้ไหม จิตไม่มีความคิดได้มันจะวิปัสสนาได้ไหม? มันวิปัสสนาไม่ได้หรอก ถ้ามันจะวิปัสสนามันต้องคลายออกมา พอคลายออกมาถึงอุปจาระ น้อมไปทันที น้อมไปที่กาย ถ้ามีเวทนาขึ้นมา หงุดหงิดอะไรจับเลย เพราะตรงนี้จิตจริง จิตมีกำลังจริง ถ้าจับสิ่งใดได้นะ พอใช้ปัญญาไปมันจะทะลุทะลวงเลย คำว่า “ทะลุทะลวง” คือมันเป็นไตรลักษณ์ คำว่า “ทะลุทะลวง” คือมันพิจารณาแล้วมันทำลายจนมันเห็นจริง เห็นไหม เถาถั่วๆ

เถาถั่วคือการกระทำ เถาถั่วคือขันธ์ ๕ เถาถั่วคือมรรค เถาถั่วคือความจริง ความจริงที่มันเป็นจริง ถ้าความจริง ถ้ามันจุดไฟติด เถาถั่วมันจะต้มถั่ว จิตมันมีกำลังของมัน มันจะทำลายอวิชชาในหัวใจ มันพิจารณาของมัน มันแยกแยะของมันด้วยกำลัง ด้วยปัญญา อันนี้ต่างหากถึงเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาจากมรรค ปัญญาจากเถาถั่ว ปัญญาจากเถาถั่วจะต้มถั่ว อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าศาสนาพุทธเป็นแห่งปัญญา แล้วเราก็พยายามฝึกหัดปัญญากันอยู่นี่ เราต้องการปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้คือภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ไม่ใช่ปัญญาจากการศึกษา ไม่ใช่ปัญญาจากในตู้ ปัญญาจากตำรับตำรา ปัญญาจากชีวประวัติของครูบาอาจารย์ของเรา

อันนั้นมันเป็นแค่คติธรรม คติธรรมที่เราไปศึกษา คติธรรมของครูบาอาจารย์ คติธรรมของท่านที่ท่านปฏิบัติมาทั้งชีวิตของท่าน นั่นเป็นวิทยานิพนธ์ของท่าน เราศึกษามาเป็นแนวทาง ศึกษามาเป็นแบบอย่าง แล้วเราพยายามปฏิบัติ ปฏิบัติมันจะเกิดขึ้นจากการกระทำแบบนี้ เกิดขึ้นจากถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันคลายตัวออกมาเป็นอุปจาระแล้ว ถ้ามันจับสิ่งใดได้ มันพิจารณาไปได้ มันจะเห็นความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์หัวใจ มหัศจรรย์มรรค มหัศจรรย์ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหัศจรรย์สัจจะความจริง

สัจจะความจริงที่มันมีอยู่นี่ แต่พวกเราเข้าไม่ถึง พวกเราทำไม่ได้ เราไม่เข้าสู่สัจจะความจริงไง เราเข้าสู่สัญญา เข้าสู่ความจำ เข้าสู่จินตนาการ แล้วพอจินตนาการไปมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ แล้วบอกเกิดมาไม่มีอำนาจวาสนา

แต่เวลาถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว มันเห็นความจริงขึ้นมา มันภาวนาของมันขึ้นมา มันชัดเจนเลย ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าคนก้าวเดินต่อเนื่องไป พอจิตใจมันพัฒนาขึ้นไปมันจะรู้เลยว่าเรามาจากไหน เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นปัญญาอย่างนี้ไหม ถ้ามันเป็นปัญญาอย่างนี้ เวลาเราใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้า ถ้าจิตมันเป็นภาวนามยปัญญา ใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้า ถ้ากำลังสมาธิมันอ่อนมันก็จะลงมาสู่ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะลงมาสู่สามัญสำนึก ถ้าลงมาสู่สามัญสำนึกปั๊บ เวลาใช้ปัญญาไปแล้วมันไม่ทะลุทะลวงแล้ว มันไม่เป็นไตรลักษณ์แล้ว เพราะมันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่สมดุล ไม่สมดุลเพราะอะไร เพราะสมาธิมันอ่อนลง

ถ้าอ่อนลง ต้องกลับมาทำความสงบของใจ ออกมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้มันเข้มแข็งขึ้น ให้มีกำลังขึ้น พอมันใช้ปัญญาต่อเนื่องไป ด้วยฐานของสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เกิดจากจิตที่เป็นจริง ปัญญาที่เกิดจากความเป็นจริงมันจะเป็นไตรลักษณ์ มันจะพิจารณาของมันไป นี่มันรู้มันเห็นนะ คนภาวนาเป็น

สิ่งที่ยังภาวนาไม่เป็น คนภาวนาไปไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกมันจะล้มลุกคลุกคลาน เพราะเวลามันเสื่อม เวลามันท้อมันถอย เราปฏิบัติไปเพราะเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น เราก็อยากจะได้มรรคได้ผล ได้การกระทำที่สมความปรารถนา แล้วพอมันจะเข้าด้ายเข้าเข็ม มันจะสมความปรารถนา มันก็มุมานะเอาใหญ่โตไปเลย ใหญ่โตไปเลยมันก็ตกไปอีกข้างหนึ่ง ตกไปกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ ทางสองส่วนที่ไม่ควรเป็น แต่มันเป็นตลอด มันเป็นตลอดเพราะอะไร เพราะเราไม่รู้

เวลามันทุกข์มันยากก็อยากจะให้มันเป็นจริงขึ้นมา เวลาเป็นจริงขึ้นมา ทำจริง ทำมุมานะ มันก็เลยเถิดไป เลยเถิดไปมันต้องดีสิ เลยเถิดไปแล้วมันทำให้เสียหาย อ้าว! แล้วเสียหายแล้วทำอย่างไรล่ะ

ถ้ามันมีความเข้มข้น มันพยายามขับดันไปข้างหน้ามันก็ไปไม่ได้ เพราะมันเสื่อม มันเสื่อมแล้วมันทุกข์ “มันเสื่อมแล้วปฏิบัติแล้วเจ็บช้ำน้ำใจอย่างนี้ปฏิบัติไปทำไม ปฏิบัติไปแล้วมันมาเจ็บช้ำน้ำใจ ทำแล้วมันไม่ได้สมความปรารถนา ทำแล้วมันผิดพลาด ทำแล้วมันเสียหายตลอด ทำไปทำไม”...ถ้ามันไปรู้ไปเห็นอย่างนั้นเข้ามันก็ต้องถอยออกมา ถอยออกมาสู่ความสงบ

ถ้าปฏิบัติไปมันมีเจริญแล้วเสื่อม ถ้าคนไม่เจริญเลย ไม่มีความมีคุณธรรมขึ้นมาเลย มันจะเอาอะไรมาเสื่อม ถ้ามันไม่เคยพัฒนาขึ้นมาเลย ไม่เคยเป็นสัมมาสมาธิเลย ไม่เคยออกฝึกหัดใช้ปัญญาเลย มันก็ย่ำอยู่กับที่นั่นน่ะ มันไม่ก้าวเดินขึ้นมา พอมันก้าวเดินขึ้นมาแล้วมันจะเห็น เห็นระหว่างว่าโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญามันแตกต่างกันอย่างไร

ปัญญาของโลกคือสามัญสำนึกของนักวิชาการ นักวิจัยทำวิจัยต่างๆ นี่ปัญญาของโลก ได้ทั้งนั้นน่ะ ทำวิจัยต่อยอดงานวิชาการของใครก็ได้ มันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ นั่นน่ะ แล้วมันไม่จบสิ้นหรอก เพราะเรื่องของโลกมันไม่มีวันจบวันสิ้น

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาเวลามันเกิดขึ้น งานของธรรมๆ เวลาพิจารณาไป ถ้าจิตมันสมดุลของมัน มรรคสมดุลมันก็ปล่อย เพราะมันสมดุล เห็นไหม เทฺวฺเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ มัชฌิมาปฏิปทา ทางความสมดุลอันนี้ ถ้าความสมดุลอันนี้ อะไรมันสมดุลล่ะ? สติ สมาธิมันสมดุล เพราะมีสติมันถึงมีสมาธิ เพราะมีสมาธิขึ้นมา มันเกิดปัญญาที่เป็นมรรค ปัญญาเป็นธรรม ไม่ใช่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาของเรา “เราต้องเป็นอย่างนี้ เราจะต้องความพอใจอย่างนี้” นี่จริตนิสัยไง

แต่ถ้ามันเป็นจริตนิสัย ถ้ามันเป็นธรรม มันสมดุลของมัน มันสมดุลด้วยอะไร ดูสิ โทสจริต โมหจริต จริตของใครสมดุลอย่างไร ถ้าโทสจริตมันขี้โกรธ มันรุนแรง มันต้องมีความสมดุลของมัน มันถึงจะปล่อยของมัน มันจริตนิสัยของคน กิเลสของคน บางคนกิเลสหยาบ บางคนกิเลสหนา บางคนชอบอย่างหนึ่ง บางคนไม่ชอบอย่างหนึ่ง มันต้องสมดุลของมัน มันถึงจะไปถอดพิษอันนั้นได้ ถ้าถอดพิษของมันได้นะ ถ้ามันสมดุลมันก็ปล่อย ปล่อยก็ตทังคปหาน ถ้าคนภาวนาใหม่ๆ แล้วไม่มีครูบาอาจารย์บอก พอปล่อยแล้วชื่นใจมาก ทั้งชื่นใจ ทั้งพอใจ แล้วถ้าไม่มีสติปัญญารักษาไว้ มันพอใจ พอใจในผลนั้น เวลาปล่อยมันมีความสุขมากนะ

เวลาเราทุกข์เรายาก เราปฏิบัติแสนทุกข์แสนยากเลย ถ้าจิตมันสงบ “โอ้โฮ! พอใจ มันเป็นความมหัศจรรย์ จิตนี้ทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตนี้ ทำไมเราอยู่กับจิตแต่เราไม่เคยเห็นสภาพแบบนี้เลย อู๋ย! ทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้”...นี่ชั่วคราวนะ พอเดี๋ยวเสื่อมไปร้องไห้

มหัศจรรย์จริงๆ แต่ความมหัศจรรย์มันมาจากเพียรชอบ ความมหัศจรรย์เกิดจากความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความแสวงหา มันถึงเกิดมา แล้วพอเกิดมามันได้แค่นี้ แล้วเหตุมันไม่พอเดี๋ยวมันก็คลายตัวออก แล้วเราก็ต้องทำ

ครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ สอนให้ชำนาญวสี ชำนาญในการรักษา ชำนาญในการเข้าการออก ดูสิ ของใช้เรา เราเอาออกมาใช้เสร็จแล้วเราก็เก็บถนอมอย่างดีเลย เก็บ เดี๋ยวเราเอาออกมาใช้ ใช้แล้วเราก็เก็บ มันยังอยู่ใช่ไหม นั่นเป็นวัตถุ แต่ถ้าเป็นหัวใจล่ะ หัวใจมันจะอยู่ได้ด้วยความเพียรชอบ ความวิริยะ ความอุตสาหะ รักษาตรงนี้ไว้ ชำนาญในวสี พอจิตมันจริงขึ้นมาแล้วเราน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความจริง แล้วใช้ปัญญาไป ทีนี้ปัญญาไป เวลามันสมดุล เวลามันปล่อย โอ้โฮ! มันทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ จนคิดว่าเป็นพระอรหันต์นะ

แต่ครูบาอาจารย์เราท่านผ่านมาแล้วนะ ไอ้นี่เพิ่งหญ้าปากคอก เพิ่งจะเริ่มหัดภาวนา ถ้าหัดภาวนาแล้ว มันปล่อยมันก็ต้องปล่อยอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ มันเป็นหนทางที่จิตต้องก้าวเดินไปตามนี้ มันเป็นหนทางที่มัคโค ทางอันเอกที่จิตต้องก้าวเดินไป ถ้าจิตก้าวเดินไป พอก้าวเดินไป พอมันเห็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วมันพิจารณาของมัน มันปล่อยวางของมัน ปล่อยวางด้วยอะไร? ปล่อยวางด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ปล่อยวางด้วยข้อเท็จจริง จิตมันจริง สมาธิจริง ปัญญาจริง ความเป็นจริงมันถึงชำระกิเลสที่เป็นของจริงๆ ในใจได้จริงๆ ถ้ามันทำลาย มันปล่อยวางกิเลสในใจได้จริงๆ มันถึงมีความสุขไง

แม้แต่ว่าจิตที่เป็นสมาธิเรายังมีความมหัศจรรย์กับความเป็นจริงของเรา เรายังมหัศจรรย์กับจิตของเรามันมหัศจรรย์ขนาดนี้เลย แล้วพอใช้ปัญญาไป เวลามันต้มถั่วๆ เวลาจุดไฟได้ขึ้นมา เถาถั่วจุดไฟติดขึ้นมา มันให้แสงสว่าง มันให้ความร้อน โอ้โฮ! มหัศจรรย์ๆ เวลาต้มถั่ว ถ้าถั่วมันจะสุกขึ้นมา โอ๋ย มันได้กินถั่ว จิตมันจะมีคุณภาพของมัน จิตมันจะมีคุณงามความดีของมัน เวลามันปล่อย โอ้โฮ! มันมหัศจรรย์มากนะ

ถ้ามหัศจรรย์ขนาดไหน แล้วถ้าการบำรุงรักษาไม่ดี เสื่อมแน่นอน เวลาปฏิบัติไป จิตนี้เป็นนามธรรม รักษายาก ดูสิ ปกติของเราเวลาเราโกรธ เราไม่พอใจ รักษามันได้ไหม แล้วเวลามันดีขึ้นมา ภาวนามันเป็นความดีทั้งนั้นน่ะ ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นมาจากจิต เวลามันดีขึ้นมานะ เวลาเราปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เวลามันดีขึ้นมา โอ้โฮ! เราจับติดนะ ดูสิ เขาจับทำงาน จับชิ้นงานไป โอ๋ย! ทำอะไรมันคล่องแคล่ว มันดีงามไปหมดล่ะ เวลามันจะเสื่อมนะ เฮ้ย! ของดีๆ มันล้มเลย แล้วทำอย่างไร

นี่ไง ในวงกรรมเรา ครูบาอาจารย์ท่านถึงไม่ให้คลุกคลีกันมากเกินไป การคุยการเล่นกันมันก็เป็นโทษของมัน การคุ้นเคยกัน วิสาสะๆ วิสาสะด้วยสังคมโลกนะ เราอยู่ด้วยกันมันก็ต้องมีความคุ้นชินกันเป็นธรรมดา คุ้นชินคือวิสาสะ หยิบจับอะไรไหว้วานกันได้ แต่ถ้าคุ้นชินไปกระทบกระเทือน เพราะคนภาวนามันรู้ เขาถึงต้องให้มีความสงบมีความสงัด รักษาใจ

ใจมันรักษายาก เวลาปฏิบัติขึ้นมามันแสนทุกข์แสนยาก แล้วที่มันได้มาก็ได้มาจากความแสนทุกข์แสนยาก ได้เกิดมาจากความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความอุตสาหะรักษาใจ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา การเคลื่อนไหว การก้าวเดินไป การก้าวเดินไปโดยกิริยา

แต่ถ้าจิตมันสงบบนทางจงกรม อุปจาระมันเดินจงกรมได้ แต่ถ้าอัปปนาต้องนั่งลงเลย เพราะอัปปนามันสักแต่ว่ารู้ มันจะก้าวเดินไปไหน เพราะจิตมันไม่ออกรับรู้ จิตมันไม่ออกรับรู้เรื่องร่างกาย มันจะเดินได้อย่างไร ถ้ายืนอยู่ ถ้าใครยืนได้ ยืนได้ แต่ถ้าส่วนใหญ่ยืนอยู่แล้วมันจะล้ม ต้องนั่งลง นั่งบนทางจงกรมนั่นน่ะ พอนั่งลงแล้วมันสักแต่ว่าเลย

ถ้าเวลาใช้ปัญญา เดินจงกรมเวลาใช้ปัญญา ที่ว่า หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะชมอาจารย์สิงห์ทอง เดินจนทางจงกรมนี้เป็นร่องเลย เดินอยู่นั่นน่ะ เดินได้อย่างไร คนเราเดินได้อย่างไร มันเดินได้ เท้ามันเดินไป แต่มรรคมันหมุน ปัญญาติ้ว หมุนขึ้นมา มันฟาดมันฟัน โอ้โฮ! มันเพลิดมันเพลิน งานมันเข้าด้ายเข้าเข็ม คนทำงานแล้วงานเข้าด้ายเข้าเข็ม แล้วจิตมันล่องมันลอย เดินไปมันเหมือนกับไม่ได้เดิน มันเคลื่อนไหวไปโดยธรรม นี่เวลาจิตที่มันเป็นนะ จิตที่มันเป็นมันเป็นแบบนั้น ถ้าจิตมันเป็นแบบนั้น ภาวนาเป็นอย่างนั้น

ดูสิ ภาวนามยปัญญา ถ้ามันเดินอยู่อย่างนั้น เวลาพิจารณา เวลามันปล่อยวางมีความสุขๆ ถ้าเราไม่ต่อเนื่อง นี่ตทังคปหาน ตทังคปหานคือชั่วคราว กิเลสมันสลบ เดี๋ยวมันฟื้นนะ กิเลสสลบไปก็ โอ้โฮ! ดีใจ ภูมิใจ กิเลสมันตายไปแล้ว เข้าใจผิด เวลามันฟื้นมา มันฟื้นมาไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปปราบมันอีกแล้ว อ้าว! เพราะมันรู้ตัวแล้ว มันมีเล่ห์เหลี่ยมที่มันจะหนักกว่านี้อีกแล้ว

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ กิเลสสลบนะ เอ็งต้องรักษาให้ดี แล้วจับกายให้ได้ จับเวทนาให้ได้ จับจิตให้ได้ มันสลบแล้วมันจับได้ มันมีโอกาสกระทำ ถ้ามีโอกาสกระทำ แล้วแยกแยะเรื่อย เพราะมันสลบอยู่ มันยังไม่ตื่น ทำต่อเนื่องๆ ถ้ามีโอกาส ถ้ามันต่อเนื่องไป ถ้าสลบแล้วเราใช้มรรค ใช้ปัญญาฟาดฟันต่อเนื่องๆ มันตายได้ง่ายกว่าเพราะมันสลบแล้ว

แต่ถ้าด้วยความประมาทนะ นี่มันสลบอยู่เดี๋ยวมันฟื้น เพราะมันสลบไป มันสลบไปเพราะอะไร สลบไปเพราะความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของเรา พอมันฟื้นขึ้นมานะ “ทำแล้วขนาดนี้มันก็ยังไม่ได้ผล ปฏิบัติมาแล้วก็ขนาดนี้ เลิกดีกว่า เลิกดีกว่า” นี่ถ้ามันฟื้นมานะ ถ้ามันฟื้นมาความเพียรทำไม่ได้เลย มันเร่ามันร้อน จิตใจเดือนปุดๆๆ เลย ทำอะไรก็ไม่ได้ มันร้อนไปหมด

ถ้าร้อนขนาดนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านก็พยายามชักนำต่อเนื่องไปให้มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ คือกระทำขึ้นมาให้จิตมันฟื้นกลับมา ถ้าจิตมันฟื้นกลับมา มีสมาธิฟื้นกลับมา ปัญญาฟื้นกลับมา แล้วต่อสู้กับมันต่อเนื่องต่อไป นี่เวลาปฏิบัติเขาทำกันแบบนี้ แล้วครูบาอาจารย์ทำกันแบบนี้

ฉะนั้น ใครไม่เคยทำก็ว่า “กิเลสเขียนชื่อไว้ กิเลส แล้วฉีกเลย จบ” เขียนว่ากิเลสแล้วฉีกมันทิ้ง

ไอ้นั่นมันหมึก มันไม่ใช่ตัวจริง เวลากิเลสๆ เราก็อ่านว่า “กิเลส เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวจะเอาให้อยู่เลยกิเลสนี่” เวลาใครคิดก็คิดแบบนั้น แต่กิเลสมันเป็นเรา ไม่กล้าทำร้ายตัวเอง ไม่กล้าทำให้ตัวเองบอบช้ำ ไม่กล้าทำอะไรเลย แล้วจะไปโดนกิเลสได้อย่างไร

แต่ถ้ามีสติปัญญานะ เพราะอะไร เพราะอวิชชา กิเลสมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก

“แล้วการจะฆ่ามัน จะทำลายมัน มันไม่ใช่ความอยากหรือ”

ความอยากอย่างนี้อยากโดยธรรม อยากดิบอยากดี อยากมีความสุข อยากจะปลอดโปร่ง อยากจะเป็นอิสระ ความอยากอิสระ แต่ทีนี้อยากอิสระ อยากเฉยๆ ก็ไม่ได้ อยากเฉยๆ มันก็ไม่เป็นอย่างที่เราอยากหรอก แต่ความอยากมันจะทำให้เราค้นคว้า ทำให้เราขวนขวาย ทำให้มีการกระทำ ถ้าการกระทำ การกระทำอย่างนี้ ดูสิ ทางโลกอย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องขวนขวาย ต้องกระทำเพื่อการดำรงชีวิตทั้งนั้น

การดำรงชีวิตเราต้องขวนขวายอยู่แล้ว อันนี้เราก็ขวนขวายของเรา ขวนขวายเพื่อให้มันเป็นความจริง ไม่ใช่อยากเฉยๆ ถ้าอยากเฉยๆ มันก็ไม่ใช่มรรค อยากแล้วก็เดี๋ยวให้มันเกิดเอง ไม่มี อยากแล้วเป็นหนทาง ถ้าไม่อยาก มันไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีแรงดึงดูด มันจะเริ่มต้นอย่างไร นี่ถ้าอยากที่เป็นมรรค

แต่ตัณหาความทะยานอยากอย่างนั้นมันเป็นมาร เป็นมารเพราะอวิชชามันไม่รู้ว่ามันอยากอะไร แล้วอยากเพื่ออะไร อยากเพื่อสะสม อยากเพื่อให้นิสัยเสีย อยากเพื่อให้จิตได้ลุ่มหลง

แต่ไอ้ความอยากของเรา อยากเพื่อสติปัญญา ไม่ใช่อยากด้วยประมาทเลินเล่อ อยากเพื่อความจริง เห็นไหม ทำของเราอย่างนี้มันจะฟื้นมา ถ้าจิตที่มันเสื่อมไปมันก็จะฟื้นของมันมา ฟื้นของมันมาแล้วเราก็พิจารณาต่อเนื่องไปๆ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มันเป็นสัจจะความจริงนะ พิจารณาหนหนึ่งมันก็ปล่อยวางไปอีกอย่างหนึ่ง ด้วยอุบายวิธีการหนึ่ง แล้วพอพิจารณาต่อเนื่องไป เราก็ใช้อุบายวิธีการของเราอันใหม่ ใช้อุบายวิธีการในปัจจุบัน ปัจจุบันที่มันยกอะไรสิ่งใดขึ้นมาแล้วมันพิจารณาได้ นั้นคือปัจจุบัน ถ้าพิจารณาปัจจุบัน พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก ถ้ากำลังมันพอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยธัมมจักฯ ด้วยจักร ด้วยมัคโค ด้วยเถาถั่ว มันจะเกิดพลังงาน มันจะแผดเผา มันจะต้มถั่ว

ต้มไป เผาไป ต้มไป ดูแลไฟ เถาถั่วมันโดนไฟมันก็เป็นขี้เถ้า มันย่อยสลายก็เอามาเผาต่อเนื่อง ทำต่อเนื่องๆ จนถึงที่สุดน้ำเดือดนะ ถึงที่สุดมันสุกนะ เวลามันสุก เวลามันขาด ถ้าสุกแล้วก็จบนะ สุกแล้วทำอย่างอื่นต่อไปไม่ได้

พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาต่อเนื่องกันไป พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า พิจารณา พิจารณาอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้ามันไม่ขาด เพราะอะไร เพราะคนเวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อย พอมันปล่อยแล้วมันชะล่าใจใช่ไหม เวลามันเสื่อมไปทุกข์น่าดูเลย เพราะการปล่อยอันนั้น ผลอันนั้นมันฝังใจ แล้วมันหลุดมือไป หาอีกไม่ได้ มันมีความทุกข์ไหม

แล้วเราพยายามฟื้นฟูขึ้นมา พยายามปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันมีกำลัง ไฟกำลังโชติช่วงเลย เถาถั่ว กำลังจุดไฟเผานี้มันกำลังต้มถั่ว น้ำยังเดือดปุดๆ เรารักษาอย่างดีเลยคราวนี้ เถาถั่วใส่อย่างเดียวเลย เถาถั่วคือศีล สมาธิ ปัญญา พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก มันจะปล่อยขนาดไหน ไม่สน ทำแล้วทำเล่าๆ ถึงที่สุด เพราะเราทำต่อเนื่อง ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มีการกระทำ มีสติ มีปัญญา มีการรักษา มีการดูแล

ถ้าสติดีๆ ทำสมาธิดีๆ เลย แล้วพิจารณา พิจารณาไปมันปล่อย สมาธิดี พิจารณาต่อ การรักษาการดูแล ศีล สมาธิ ปัญญามันหนักหน่วงแต่ละคราวมันไม่เหมือนกัน ถ้าอารมณ์เราดีๆ บรรยากาศดีๆ ทำสมาธิง่ายก็ดี ถ้าอากาศมันร้อน สถานที่มันไม่สะดวกเลย กว่าจะทำสมาธิลงก็ลำบากอยู่

ถ้าทำสมาธิแล้ว สมาธิมันมีอยู่แล้วใช่ไหม จิตใจเรายังมีหลักอยู่ เราก็ใช้ปัญญาไปเลย ถ้าใช้ปัญญาไปเลย ถ้ามีสมาธิแล้วใช้ปัญญาไปเลย ถ้ามีสมาธิ สมาธิจะหนุนปัญญา ถ้าใช้ปัญญาไปเลย ปัญญามันจะแยกแยะเลย กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันแยกแยะได้ มันปล่อยวางได้ นั่นสมาธิเรามี แต่ถ้าเราใช้ปัญญาไปแล้วมันขลุกขลัก นั่นสมาธิมันไม่พอ สมาธิไม่พอ เราก็ทำสมาธิของเรา ต้องทำ ทำให้ใจมีกำลัง เห็นไหม

มันอยู่ที่บรรยากาศ มันไม่ดี สมาธิมันก็ทำได้ยาก ถ้าบรรยากาศมันดี สิ่งต่างๆ มันดี นี่ปัจจุบัน มันต้องปัจจุบันตลอด การกระทำมันอยู่ที่ปัจจุบัน แต่ทีนี้มันไม่อย่างนั้นสิ “เมื่อคืนภาวนาดี” เมื่อคืน ๒๔ ชั่วโมงแล้วนะ เมื่อคืน คิดแต่ตรงนั้นน่ะ ฝังใจตรงนั้นน่ะ ฝังใจว่ามันปล่อยอย่างนั้นน่ะ “เมื่อคืนมันปล่อยนะ” คิดถึงปัญญาอันนั้นเลย มันเป็นอดีตนะ

ถ้าคิดถึงเมื่อคืน เมื่อคืนเราเคยทำได้นั้นเป็นแนวทาง แล้วปัจจุบันธรรม ถ้ามันจะเกิด มันไม่เกิดเหมือนเมื่อคืนหรอก สิ่งที่มันผ่านไปแล้วมันเป็นอดีต แล้วกิเลสหรือว่าความไม่รู้เท่าทันของเรามันชอบเอาสิ่งนั้นมาเป็นอาวุธของกิเลส ทำให้เราคลาดเคลื่อน ไม่ลงรอยอันเดียวกัน

ความสมดุล ความพอดีคือความลงรอยอันเดียวกัน เห็นไหม เวลาพุทโธๆ กว่าจะลงรอยขึ้นมาจนเป็นสัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มรรค ๘ มรรค ๘ พอพิจารณาไปแล้ว พิจารณาบ่อยครั้งเข้าจนมันลงรอยอันเดียวกัน จากสองอย่างคือจิตกับพุทโธ จิตกับคำบริกรรม ๒

อันนี้ ๘ ใช้ปัญญา ความชอบ เพียรชอบ ๘ เพราะมันเป็นมรรค พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก มันละเอียดกว่า กว้างขวางกว่า ลึกซึ้งกว่า มันสามารถจะถอดถอน สามารถจะทำลายกิเลสได้ ถ้ามันพิจารณาซ้ำๆ จนมันสมดุล มันปล่อย นั่นคือมันจะสมดุล แต่มันยังไม่มรรคสามัคคี สมดุลแต่ไม่รวม สมดุลแต่ยังไม่สมุจเฉทฯ เวลาปล่อยมันสมดุล สมดุลแต่มันยังไม่สามัคคี ยังไม่คมกล้าพอ มันก็ปล่อยๆ

จนพิจารณาซ้ำๆ เวลามันสมดุลคมกล้าพอนะ พับ! กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ สิ่งที่ฝังใจอยู่มันคลายตัวออกหมด สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดหลุดออกไปเลย ทุกอย่างหลุดออกไป แล้วเป็นอย่างไรล่ะ มันเป็นอะไร มันเป็นอย่างไร นี่ความเป็นจริงของมันมันเกิดขึ้นมานะ

ถ้าทำอย่างนี้ เถาถั่ว ต้มถั่ว เถาถั่วเขาจะต้มถั่ว ต้มถั่วเพราะอะไร เพราะว่าเขาเป็นพี่เป็นน้องกัน เขาเป็นสายเลือดเดียวกัน เขาถึงสะเทือนใจต่อกัน คนเราไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน คนที่เขาแย่งชิงกัน คนที่เขาประหัตประหารกัน เขาทำร้ายได้เต็มที่เลย ไอ้นี่เป็นพี่น้องกัน เป็นพี่กับน้องแล้วจะมาแย่งชิงกัน จะมาประหัตประหารกันเอง อันนั้นมันเป็นเรื่องโลก เป็นการแย่งชิงทรัพย์สมบัติ

แต่ของเรา เราจะใช้มรรคใช้ผลนะ จิตมันเป็นกิเลส จิตมันเป็นเรานี่ล่ะ ของที่เป็นเรา กิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสก็เป็นเรา แต่เราจะใช้มรรคใช้ผลทำลายมัน เราจะใช้มรรคใช้ผลทำลายกิเลส อวิชชาความเห็นผิดในใจ แล้วกิเลสมันก็มีชีวิต จิตเรามีชีวิต กิเลสมันก็มีชีวิตด้วย เพราะกิเลสของเรามันก็หลอกล่อเรามาตลอด “เป็นคนดี คนเก่ง คนปฏิบัติทั้งนั้นน่ะ คนนี้เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ

ถ้ามันจริง มันต้องไม่สงสัยสิ ถ้ามันจริง หัวใจมันต้องมีหลักมีเกณฑ์สิ ถ้ามันจริง มันต้องมีคุณธรรมในหัวใจสิ ถ้ามันจริง มันต้องรักษาใจมันรอดสิ รักษาใจรอด รักษาหัวใจของเรา รักษาเราเพื่อจะเป็นศาสนาทายาท

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ สิ่งที่ทำมาเป็นประโยชน์ เวลาเทศนาว่าการปัญจวัคคีย์ได้พระอรหันต์ ๕ องค์ ไปเทศน์ยสะได้อีก ๕๕ องค์ เวลาเทศน์สอนจนเป็นพระอรหันต์หมด เป็นพระอรหันต์คือว่าจิตใจเป็นธรรมจริง เวลาเผยแผ่ธรรมไป พระพุทธเจ้าพูดไว้มันน่าซึ้งใจมาก “เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก โลกนี้เร่าร้อนนัก เขาต้องการธรรมโอสถ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน ต่างคนต่างไป เพื่อจะเอาธรรมะไปเผยแผ่ เพื่อเอาธรรมะไปเจือจานกับสัตว์โลก”

ในปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ ในปัจจุบันนี้ทางวิชาการเจริญ ไม่ต้องรอให้ใครมาเผยแผ่ มันมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก ดูสิ ในคอมพิวเตอร์กดไปเลย ได้หมดเลย แต่ก็สงสัยอยู่ดี สุดท้ายแล้วเราก็ต้องมานั่งกันตะบี้ตะบันเพื่อจะเอาความสงบ นั่งกันเพื่อจะให้จิตใจมันเป็นจริง ให้ได้สัมผัสขึ้นมา ให้มันเห็นจริง ให้มันรู้จริงเห็นจริง ให้จิตมันเป็นจริง แล้วมรรคผลจะเป็นจริงในหัวใจของเรา ปฏิบัติมาเพื่อเรา เอวัง