ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หาที่ลงใจ

๒o ก.ค. ๒๕๕๗

หาที่ลงใจ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องผู้ชี้ทาง

กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพด้วยเศียรเกล้า ในการปฏิบัติเพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์นั้น นอกจาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แล้ว ครูบาอาจารย์ผู้พาดำเนินถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะท่านย่อมรู้วิธีทรมานตีต้อนกิเลสของศิษย์ ทำให้ไม่เนิ่นช้าในการปฏิบัติ เกล้าจึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า

. ตามที่ท่านอาจารย์เคยสัมผัสมา ครูบาอาจารย์ภาคอีสานที่ยังทรงธาตุขันธ์อยู่ นอกจากหลวงปู่ลี หลวงปู่จันทร์เรียน แล้วยังมีพระอาจารย์องค์ใดที่มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นทุกข์โดยชอบ

. สำหรับผู้มุ่งหมายความหลุดพ้นในปัจจุบันชาติ จะมีข้อสังเกตและวิธีพิจารณาเลือกสำนักที่จะไปอยู่ศึกษาและปฏิบัติอย่างไรจึงจะสมกับความมุ่งหมาย กราบเรียนขอรบกวนท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วย

ตอบ : นี่พูดถึงนะ พูดถึงว่าความตั้งใจ เป้าหมายของเรา เวลาเราจะปฏิบัติ เราก็ห่วง อยากมีผู้ที่ชี้นำที่ดี กรณีนี้มันย้อนกลับไปได้ถึงกรณีของหลวงตาเลย ทีนี้หลวงตาเวลาท่านเรียนถึงมหา ท่านบอกท่านจบแล้วท่านจะออกปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ท่านก็ยังกังวล

เวลาเราบอกว่า ธรรมและวินัย เวลาศึกษาแล้ว เวลาปฏิบัติ เราก็กลัวจะหลงทาง เราต้องมีการศึกษาก่อน พอศึกษาแล้วมันจะเข้าใจ มันจะมีวิชาการ มันจะมีช่องทางในการปฏิบัติ ในความเข้าใจ เราเข้าใจอย่างนั้น

แต่เวลาเราเอาเข้าจริงนะ เวลาเราศึกษามา ถ้าศึกษามาเพื่อปฏิบัตินะ อย่างเช่นกรรมฐานเรานี่ เขาบอกว่า เราพูดนี่เราพูดเหมือนกับเราต่อต้านการศึกษา

ไม่ใช่ เราไม่ได้ต่อต้านการศึกษา ไปดูสิ โรงน้ำร้อนเราน่ะ ตู้พระไตรปิฎก ๒ ตู้ ๓ ตู้ แล้วในโรงน้ำร้อนเรามีตู้หนังสือ ไปดูสิ ประวัติครูบาอาจารย์ของเราเต็มไปหมดเลย ไม่มีใครหรอกที่ว่าจะไปต่อต้านการศึกษา แต่การศึกษาของกรรมฐานเขาศึกษามาเพื่อเป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติ เขาไม่ได้ศึกษามาเพื่อสอบเอาตำแหน่ง สอบเอาใบประกาศ สอบเอายศถาบรรดาศักดิ์

กรรมฐานเราศึกษา ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ปริยัติเขาศึกษาให้ปฏิบัติ เราไม่ได้ต่อต้านการศึกษา เราเห็นด้วยกับการศึกษา แต่การศึกษานี่ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ

เพราะการศึกษาในภาคปฏิบัติ ดูสิ อย่างครูบาอาจารย์เรา เวลาหลวงปู่มั่นท่านสงสัยในเรื่องผ้า ผ้าสมัยพุทธกาลเขาห่มกันอย่างไร ผ้านี่ผ้าสีอะไร การดำรงอย่างไร การเช็ดบาตร การล้างบาตร เวลาก่อนออกบิณฑบาตต้องประเคนบาตรไหม เพราะในวิสุทธิมรรค เวลาบิณฑบาตไปชายคาบ้านเขา ถ้าน้ำหยดจากชายคาลงสู่ในบาตร มันมีฝุ่นมีผง อันนั้นคือขาดประเคน เวลาออกบิณฑบาตต้องประเคนบาตรก่อนไหม ประเคนบาตร ถ้าไม่มีใครประเคน ให้ผ่านน้ำ เอาน้ำลงไปในบาตรแล้ววนให้น้ำทำความสะอาดออกมา เพื่อให้สมกับความสะอาดบริสุทธิ์ นี่ในภาคปฏิบัติเขาฝึกเลย เขาฝึกมาจากการกระทำ

เราไม่ได้ต่อต้านการศึกษานะ ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ฉะนั้น เวลาศึกษามาแล้ว ทุกคนก็คิดว่าศึกษาแล้วมันจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แต่มันเป็นดาบสองคมไง ถ้าศึกษามา ศึกษามาก็เป็นวัฒนธรรมใช่ไหม พ่อออกจารย์ พ่อออกจารย์คือครูบาอาจารย์ไง พวกที่เป็นมหาสึกไปเขาเรียกพ่อออกจารย์ พ่อออกจารย์ทางอีสาน ถ้าพ่อออกจารย์ คนนี้จะมีปัญญา ถ้ามีปัญญา มหาเก่าไง มหาเก่านี่รู้ไปหมด เรื่องวินัย เรื่องธรรมะ รู้ไปหมดเลย แต่รู้ ทำไมสึกจากการเป็นพระไปล่ะ สึกไปทำไม

พ่อออกจารย์ๆ ก็พ่อออก พ่อออกก็คือฆราวาส พ่อออกจารย์ก็อาจารย์ที่ผ่านการศึกษามา อ้าว! ศึกษามา ศึกษามีความรู้ ศึกษาต้องเอาตัวรอดสิ ถ้าศึกษามาแล้ว สึกออกไปเป็นพ่อออกจารย์ พ่อออกจารย์นะ นี่ไม่ใช่ดูถูกเหยียดหยาม นี่พูดถึงว่ากิเลสมันแหลมคมไง

ฉะนั้น เราก็ศึกษา เราศึกษามาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ทีนี้หลวงตาท่านก็ศึกษาจนจบเป็นมหา เวลาจะปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมา นิพพานจะมีจริงหรือเปล่า

เวลาเริ่มต้นศึกษา พอศึกษา คนที่ยังผ่านจากโลกมา มาศึกษาก็ อู้ฮู! เทวดา แหม! มันเป็นทิพย์ไปหมดเลย ก็อยากไปเกิดเป็นเทวดา พอศึกษาต่อไป พรหมมันดีกว่าเทวดา เออ! อยากไปพรหม พอศึกษาต่อไป พรหมยังกลับมาเกิดอีก อยากนิพพาน เห็นไหม พอศึกษานี่มันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป เพราะตามวิชาการมันจะลึกซึ้งเข้าไป แต่พอถึงที่สุดแล้วอยากจะเป็นพระอรหันต์ อยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วมีจริงหรือเปล่า

ท่านถึงตั้งสัจจะไง ถ้ามีใครคนหนึ่งชี้ความสงสัยอันนี้ได้ว่า มันยังมีอยู่จริง มันยังมีอยู่จริง สามารถเอามาเป็นแนวทางได้ ท่านถึงแสวงหา แสวงหาออกไป แล้วมันก็ไปเจอไง ไปเจอหลวงปู่มั่น ก็ไปเจอของจริงเข้านิพพานมันอยู่ที่ใจ มันไม่ได้อยู่ที่วัตถุธาตุ ไม่ได้อยู่สิ่งใดทั้งสิ้นแล้วไปเจอของจริงเข้ามันก็เป็นประโยชน์ไง

อันนี้ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเราบอกว่า เราอยากจะมีผู้ชี้ทาง ผู้ดำเนิน ครูบาอาจารย์ก็สำคัญ

ใช่ สำคัญจริงๆ สำคัญ พอสำคัญขึ้นมาแล้ว ทีนี้คำถามข้อที่ ๑ ตามที่ท่านอาจารย์เคยสัมผัสครูบาอาจารย์ทางภาคอีสานมา ที่ยังมีธาตุขันธ์อยู่ เช่น หลวงปู่ลี หลวงปู่จันทร์เรียน แล้วยังมีใครอีกบ้างล่ะ

มีใครอีกบ้าง เช่น หลวงปู่ลี หลวงปู่จันทร์เรียน นี่มันเป็นครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกันมา ไม่ใช่ว่าเราจะมีความสามารถจะไปรู้คนอื่นไปทั่วหมดหรอก แต่หลวงปู่ลี หลวงตาท่านค้ำประกันมา เศรษฐีธรรมมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์น่ะ

หลวงปู่จันทร์เรียนท่านอยู่ของท่านด้วยครูบาอาจารย์ที่ท่านพูดปากต่อปากกันมา

มันไม่ใช่ว่าใครจะยอมรับไม่ยอมรับ ยอมรับแบบกระแสสังคม สังคมเห็นว่าคนนั้นมีคุณสมบัติที่น่าเชื่อถือก็ยอมรับกันไป แล้วยอมรับกันไป ถึงเวลาแล้วพ่อออกจารย์ๆ ก็พ่อออก ยอมรับไปๆ เดี๋ยวก็เป็นพ่อออกไง

แต่นี่เป็นความจริง เป็นความจริง พอความจริง ความจริงก็ดูพฤติกรรมของท่านสิ คนที่เป็นความจริงนะ มันเป็นความจริง ท่านจะปกป้อง เช่น หลวงปู่ลี ตอนนี้หลวงปู่ลี หลวงปู่จันทร์เรียน ท่านมีชื่อเสียงมาก ฉะนั้น พระที่วัดเราก็ไปอยู่กับหลวงปู่จันทร์เรียน ไปอยู่กับหลวงปู่ลีหลายองค์ พอไปแล้วก็พระเป็นร้อยเข้าไป พระเป็นร้อย เพราะใครๆ ก็มุ่งไป พอมุ่งไป เรื่องความสงัดวิเวกต่างๆ แล้วคิดดูสิ พระเป็นร้อย ทุกคนก็มีทิฏฐิมาเหนือฟ้าทั้งนั้นน่ะ เพราะนักปฏิบัติมีความจริงจังทุกคนน่ะ พอไปแล้ว ความเห็นใครก็ความเห็นมันไง

เราจะบอกว่า มันจะมีการกระทบกระทั่งกัน จากผู้ที่รู้และไม่รู้ไปอยู่อาศัยกับท่านนั่นน่ะ แต่ของท่านเอง ท่านอยากคุ้มครองดูแล แต่ทิฏฐิของคน มันเป็นจริตนิสัย นิสัย ถ้าเป็นหลวงตา หลวงตาเอาตายหมดล่ะ หลวงตาเวลาท่านเทศน์นะ ใครจะมีทิฏฐิจรดฟ้าขนาดไหน จะมีความรู้สูงส่งมาขนาดไหนนะ เก็บไว้ แบบว่าเขี้ยวเล็บให้เก็บซ่อนไว้ในตัว อย่าให้ออกมานะ ถ้ากางออกมา ท่านจะตัดให้ เวลาอยู่กับหลวงตา ท่านตัดเขี้ยวตัดเล็บเลย ไอ้พวกที่มากางเขี้ยวกางเล็บในวัด ทีนี้เพราะท่านมีคุณสมบัติที่จะทำได้ เพราะว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านชมนะ หลวงปู่มั่นท่านชมว่า เวลาพูดกับพระไงว่า ต่อไปหมู่คณะ ถ้าเราตายไปแล้วจะไปอาศัยใครนะ ให้อาศัยมหานะ มหาดีทั้งข้างนอกและดีทั้งข้างใน

หลวงปู่ลีท่านดีข้างในไง แต่เรื่องข้างนอกมันอยู่ที่จริตนิสัย คำว่าดีข้างนอกมันสมณสารูป ใครจะมีการจรรโลงไว้ได้ แต่ดีข้างใน ข้างในมันต้องมีคุณธรรมในหัวใจจริงมันถึงดีจริง ถ้าดีจริงแล้วมันเป็นความจริงอันนั้น ฉะนั้น ถ้าดีข้างใน แต่ข้างนอกท่านเกรงอกเกรงใจข้างนอก เห็นไหม

แต่ถ้าบางคนข้างนอกก็ไม่ดี ข้างในก็ไม่ดี อู๋ย! ไปใหญ่เลย แต่ถ้ามันดีใน ถ้าดีใน ท่านเป็นคุณประโยชน์กับเราทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ว่าอยู่ที่เราจะได้มากน้อยแค่ไหน ครูบาอาจารย์ท่านผ่านอย่างนั้นมา นี่พูดถึงว่าถ้าเราหวังครูบาอาจารย์

ฉะนั้น หลวงปู่ลี หลวงปู่จันทร์เรียน...ใช่

แล้วองค์อื่นๆ ล่ะ

องค์อื่นมันก็ดู ดูพฤติกรรม หลวงปู่มั่นท่านบอกดีนอก ดีใน ถ้าดีนอก ดีนอกก็อยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ อย่าพาลูกศิษย์ลูกหาไปสำมะเลเทเมา

เราก็อ้างกัน มีความเมตตาไง สงสารคฤหัสถ์เขา ฆราวาสเขา เขาอยากทำบุญกุศล ห่วงเขา เมตตาสัตว์ๆ สงเคราะห์สัตว์ เวลาจะไปสงเคราะห์สัตว์ แต่ไม่คิดสงเคราะห์สมณะเลย ไม่คิดสงเคราะห์พระเลย พากันไป พอพากันไป อ้าว! เราเป็นคนปฏิบัติ เราก็รู้ใช่ไหมว่าเราต้องการความสงัด เราต้องการกาลเวลาของเรา แล้วก็ถูลู่ถูกังกันไปอย่างนี้ แล้วพอไปฉันบ้านนู้น ไปฉันบ้านนี้ กลับมาทัศนศึกษา ไปเที่ยวรอบโลกนั่นน่ะ อย่างนั้นหรือ อย่างนั้นหรือกรรมฐาน หลวงตาถึงบอกกรรมฐานจรวด กรรมฐานดาวเทียม ไอ้พวกนี้มันจะเป็นดาวเทียม มันจะไปโลกพระจันทร์กันแล้ว

ฉะนั้น เมื่อก่อนหลวงตามาที่โพธาราม ท่านพูด เราจำแม่นจนมาป่านนี้ เวลาท่านมาใหม่ๆ นะ สมัยนั้นยังไม่ออกโครงการช่วยชาติด้วย ท่านบอกเลยนะ เวลานั่งรถจากอุดรฯ มากรุงเทพฯ ๗-๘ ชั่วโมง แหม! เหนื่อยมาก เครื่องบินก็มี ความจริงมาเครื่องบินก็ได้ แต่เราขึ้นเครื่องบินไม่ได้ เพราะท่านบอกตัวท่านเองนะ ท่านบอกท่านขึ้นเครื่องบินไม่ได้เพราะอะไร เพราะด่าเขาไว้เยอะ เพราะไปบอกเขาว่ากรรมฐานค้างคาวไง บินไปบินมาไง เวลาลูกศิษย์เป็นอย่างนั้นท่านจี้เอาเลยนะ เป็นค้างคาวหรือ เที่ยวบินไปนู่นบินไปนี่ กรรมฐานค้างคาวไง เพราะท่านพูดเองว่ากรรมฐานค้างคาว ท่านเลยไม่ยอมเป็นค้างคาว ท่านเลยไม่ยอมบิน ท่านต้องนั่งรถทนเอา

นี่เวลาท่านพูดกับเรานะ ท่านพูดเอง บอกว่า นั่งรถมาจากอุดรฯ ไปกรุงเทพฯ โอ้โฮ! ปวดเมื่อยไปหมดเลย เครื่องบินก็มี แต่ขึ้นไม่ได้

เราไม่ได้ถาม เราก็นั่งฟัง ท่านจะพูดต่ออย่างไร

บอกว่า ก็ด่าเขาไว้เยอะ กรรมฐานค้างคาว

นี่ครูบาอาจารย์ที่ว่าเราจะมีที่พึ่งๆ ท่านต้องทนทุกข์ทรมาน ทนทุกข์นะ ทั้งๆ ที่ท่านมาเครื่องบินก็ได้ ท่านจะเอาอะไรก็ได้ แต่ท่านไม่ทำ ท่านทนทุกข์ทรมานนั่งรถมาหลังขดหลังแข็ง มาเพื่อเอาน้ำใจของคนน่ะ เห็นไหม ท่านเสียสละ ทั้งๆ ที่ท่าน เขาบอกว่า อู๋ย! พวกนี้พวกไม่มีคนศรัทธา พวกที่ไม่ทำคือว่าเขาไม่มี ไอ้คนคิดอย่างนั้นมันไม่ดีทั้งข้างนอกและไม่ดีทั้งข้างในไง

แต่ถ้ามันดีข้างในนะ เขามีความสามารถ ลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ เขาจะบริการอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ได้ทั้งนั้นน่ะ แต่ท่านยังไปดุเขาอีกด้วย ไม่ได้ๆ ทำอย่างนี้เสียหายหมด ทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ กรรมฐานมันจะแหลกเหลวไปหมดนี่ทั้งๆ ที่คนจะอุปัฏฐากท่าน ท่านยังไปดุเขาอีก แต่ถ้ากรรมฐานค้างคาวมันบอกว่ามันจะต้องมีเครื่องบิน

อันนี้เวลาถามไง ถามว่า ที่เราสัมผัสมายังมีใครอีกไหม

ถ้ามีใคร ก็ให้ดูตรงนี้ ดูที่ว่า หนึ่ง เขาปกป้องดูแลลูกศิษย์ลูกหาไหม แล้วถ้าทำเป็นตัวอย่างนะ คำว่าทำเป็นตัวอย่างหลวงตาท่านพูดคำนี้ หลวงตาท่านพูดเลย เพราะว่าคนที่มีบารมีนะ ก็มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วก็มีหลวงตา คำว่ามีบารมีเพราะอะไร เพราะทำให้คนเชื่อถือศรัทธานี่มันแสนยาก ทำให้เชื่อถือศรัทธาโดยธรรมนะ โดยธรรมคือมันเป็นไปโดยธรรมความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยการประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่การตลาด ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ ไอ้อย่างนั้นน่ะนักการเมืองก็ทำได้ แต่ท่านอยู่ของท่านด้วยสัจจะด้วยความจริง คือเช้าก็บิณฑบาต อยู่ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ท่านไม่เคยแสดงออกอะไรเลย แต่มันเป็นจริงขึ้นมาจากคุณงามความดีของท่าน

ฉะนั้น คนที่มีบารมีไง คือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วก็หลวงตา ฉะนั้น ขนาดคนมีบารมีขนาดนี้ หลวงตาท่านพูดเอง บอกว่า ใครก็แล้วแต่ที่จะทำให้ไม่ผิดธรรมวินัยเลย ให้มันอยู่ในหลักทั้งหมด มันเป็นไปได้ยาก มันเป็นไปได้ยาก นี่ท่านพูดกับพระเลย กลางศาลา มันทำไปได้ยากเพราะอะไร เพราะธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้งนัก

แต่ฉะนั้น ท่านพูดถึงตัวท่านเองไง บอกเราพยายามจะทำผิดให้น้อยที่สุดคือท่านพยายามจะทำความผิดพลาดให้น้อยที่สุด คำพูดคำนี้แสดงว่าท่านก็ต้องมีความผิด ถ้าคนอื่นจะจับผิด ท่านก็มีความผิด มีความผิดว่า เขามีความเห็นอย่างหนึ่ง แล้วก็เอาความเห็นนั้นไปวัดท่านก็อย่างหนึ่ง ท่านถึงบอกว่า ท่านพยายามจะทำผิดให้น้อยที่สุด แต่จะให้ถูกต้อง ถูกใจของคนทุกๆ คนไป มันเป็นไปไม่ได้ นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม เห็นไหม

ไม่ใช่ว่า อู๋ย! เราทำถูกต้องดีงามไปหมด...ไม่ใช่หรอก เราจะทำผิดให้น้อยที่สุด ทำผิดธรรมวินัยกฎหมายที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เราจะพยายามทำผิดให้น้อยที่สุด แต่เวลาทำไปแล้วมันก็มีความผิดพลาด ไอ้อย่างนี้มันไม่มีเจตนาไง ถ้าสติวินัย อันนี้ก็ยกไว้ว่ามันสติวินัย แต่ก็อีกแหละ พูดไปก็เหมือนกับยกย่องกันเอง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า จะมีใครบ้างไม่มีใครบ้าง เราก็ดูกันเอาเอง

. สำหรับผู้ที่มุ่งหมายความหลุดพ้นในชาติปัจจุบัน จะมีข้อสังเกตวิธีการพิจารณาเลือกสำนักที่จะไปอยู่ศึกษาและปฏิบัติอย่างไร

การจะเลือกไปอยู่สำนักใดก็แล้วแต่ เวลาในวินัยท่านบอกว่า ถ้าไปสำนักใดก็แล้วแต่ เขาต้องขอนิสัย ภิกษุที่บวชใหม่ต้องขอนิสัย คำว่าขอนิสัยไปอยู่ที่ไหนต้องขอนิสัยเพื่อจะให้มีคนคุ้มครอง ต้องให้ ๕ พรรษาขึ้นไป เป็นผู้ฉลาด ถึงพ้นนิสัย ไม่ต้องขอนิสัยก็ได้ แต่ถ้ายังต่ำกว่า ๕ พรรษา ไปอยู่ที่ไหนต้องขอนิสัย

ฉะนั้น คำว่าขอนิสัยไปอยู่ที่ไหนนะ เราก็สังเกต การขอนิสัย ธรรมวินัยยังเปิดกว้างไว้ว่าให้สังเกตกัน ๗ วัน ถ้าว่า ๗ วันแล้วเรารับพฤติกรรม รับความเป็นอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ให้เก็บบริขารออกไป แล้วให้เก็บบริขารออกไป เพราะว่าอยู่ใน ๗ วัน เรายังศึกษานิสัยกันอยู่ แต่ถ้าพ้น ๗ วันไปแล้วนะ ถ้าเราไม่ขอนิสัย ราตรีที่ ๗ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าปาจิตตีย์ มันจะมีปัญหาทันทีเลย นี่การขอนิสัย นี่พูดถึงวินัย วินัยพระพุทธเจ้าเปิดกว้างไว้แล้วให้เราเลือก ทีนี้พอเราไปเลือกแล้วเราก็สังเกตสิว่ามันเป็นไปได้ไหม มันจะเข้าได้ไหม ถ้ามันเป็นไปได้ มันเข้าได้ เราก็อยู่กับท่าน

แล้วถ้าเราศึกษาไปแล้ว พอเรามีหูมีตา มันจะรู้ ศีลจะรู้ได้ตอนอยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกันจะเห็นว่าพฤติกรรมจะจริงหรือไม่จริง แล้วยิ่งเป็นธรรมนะ เราภาวนามา เรามีคุณธรรมขนาดไหน ท่านพูดมา ไปถามปัญหาธรรมทีไร ไปไหนมา สามวาสองศอก อันนั้นไม่ใช่แล้วล่ะ ถ้าไปไหนมา สามวาสองศอก แสดงว่าเราภาวนาผิด ไม่อย่างนั้นท่านก็ตอบผิด

ถ้าท่านตอบปัญหามา ไปไหนมา สามวาสองศอก เราก็มาพิจารณาว่าจริงหรือเปล่า ถ้าเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันไม่จริง เราก็หาครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องดีงาม อันนี้เป็นการที่เราจะเลือกหานะ ความจะเลือก เราจะเลือก มันเป็นจริตนิสัย เป็นความชอบไง ถ้าเป็นความชอบส่วนตน ถ้าความชอบส่วนตน อาศัยตรงนี้

หลวงตาท่านเคารพหลวงปู่มั่นมากนะ ท่านพูดเอง บอกหลวงปู่มั่นจะพูดอะไรก็แล้วแต่ ท่านเป็นมหา ท่านก็จับเลยว่าหลวงปู่มั่นพูดเรื่องวินัยอย่างไร แล้วท่านก็มาเปิดในพระไตรปิฎกว่ามันตรงกันไหม

เราก็เคารพอยู่แล้ว แต่พอไปเปิดมันตรงกันอีก โอ้โฮ! มันยิ่งเคารพเข้าไปใหญ่ไง ท่านพูดอะไรมันไม่ผิดไม่พลาด มันเพียะๆๆ เลยล่ะ นี่มันยิ่งเคารพ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปอยู่ที่ไหน ท่านพูดสิ่งใดแล้วเราค่อยเปิดของเราว่าจริงหรือไม่จริง แต่เปิด เราเคยเจอที่มีพระเหมือนกัน เขาก็ไปเปิดของเขา ที่ว่าพ่อออกจารย์แต่งกันไว้น่ะ แล้วเราพูดอะไร เขาบอกผิดหมด เราพูดอยู่นี่ เขาบอกว่า พอเราพูดอะไรปั๊บ เขาจะเอาหนังสือมากาง แต่ไม่กางกับเรานะ ไปกางกับพระ บอกว่าเราพูดผิด เราพูดผิด เรานี่พูดผิดไปหมดทุกเรื่องเลย แล้วเขาก็ไปกางกันอยู่ข้างหลังน่ะ

เราบอก เฮ้ย! มีอะไรมาคุยกันสิ เรามีอะไรมาคุยกัน เราก็เป็นสุภาพบุรุษเหมือนกัน เราก็ฟังเหตุผลเหมือนกัน ทำไมไม่คุยกับเรา

ไม่ มันคุยกันเอง มันคุยกันเองนะ แล้วมันก็เอาหนังสือมาเปิด มันบอกว่าเราพูดผิดหมด มันน่ะถูก มันไปเอาตำนาน เอาอะไร แล้วก็เอามาเปิดกัน ฉะนั้น หนังสืออย่างนี้ในวัดเราไม่ค่อยมี แต่ธรรมดาหนังสือมันจะแบบว่าให้ส่งกันมาได้ ให้อะไรได้ อันนี้อันหนึ่ง

มันอยู่ที่วาสนาของคนนะ เขาเรียกว่าธาตุ เข้ากันโดยธาตุ ลูกศิษย์พระสารีบุตรเป็นปัญญาทั้งหมด เป็นพุทธจริต เป็นผู้มีปัญญา ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะชอบฤทธิ์ ถ้าใครชอบฤทธิ์ไปอยู่กับพระโมคคัลลานะจะสอนทางฤทธิ์ เขาจะเข้ากันโดยธาตุ ลูกศิษย์เทวทัตลามกทั้งหมด

อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เข้ากันโดยธาตุ ธาตุมันชอบ มันดูดดื่ม ถ้าธาตุมันชอบอย่างนี้ปั๊บ มันจะเข้ากันเลย ไอ้พวกลามกก็ชอบอันเดียวกัน ไอ้พวกที่ปัญญาคุยเรื่องปัญญาสนุกมาก ไอ้พวกฤทธิ์ เขาด้วยคุณสมบัติของจิตไง มันจะมีแต่ฤทธิ์ โอ้โฮ! ประลองฤทธิ์กัน มันก็มีความสนุก สังคมใดมันก็ชอบอย่างนั้นน่ะ นี่เข้ากันโดยธาตุ

เราก็เหมือนกัน เราแสวงหาอย่างนี้เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

ฉะนั้น จะถามว่า ครูบาอาจารย์ในภาคอีสานที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่เราได้สัมผัสมามีองค์ไหนบ้าง

หลวงปู่ลี หลวงปู่จันทร์เรียน เราพูดบ่อย เพราะว่ามันเชื่อถือได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่องค์อื่น เราก็รู้จัก เราก็สนิทคุ้นเคย ถ้าสนิทคุ้นเคย เพียงแต่ว่าเวลาทำไปแล้ว เวลาบอกถึงคุณธรรม บอกถึงวิธีการปฏิบัติ อันนี้สำคัญไง ถ้าสำคัญ บอกถึงวิธีการปฏิบัติ เวลาเราผิดพลาด เราจะมีคนแก้ไข นี่สำคัญนะ แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านไม่ชัดเจน เราไปพูดน่ะ เราก็ไขว้เขวอยู่แล้ว เราก็สงสัยอยู่แล้ว ไปเจอไอ้คนที่ลูบๆ คลำๆ สงสัย ตาบอดคลำช้าง ไปใหญ่เลย

แต่ถ้าเราไปเจอของจริง ท่านพูดมานี่เรางงเลยนะ คำเดียวนี่งง ไปไม่ถูกเลยล่ะ แต่เถียงไม่ขึ้น แต่ถ้าตาบอดคลำช้าง เอ็งก็เถียงได้ ข้าก็เถียงได้ ต่างคนต่างเอาอารมณ์ใส่กัน แล้วไม่จบ แล้วอยู่อย่างนั้นน่ะ

ฉะนั้น เอาตรงนี้ ให้ค้นหา ให้กลับมาตัวเราเอง

ถาม : เรื่องหลวงตาครับ ในอริยสัจ ๔ ลูกไม่เข้าใจครับ นิโรธ หนทางแห่งการดับทุกข์

กราบนมัสการหลวงพ่อ หลวงพ่อครับ ในอริยสัจ ๔ ลูกไม่เข้าใจครับ นิโรธ หนทางดับทุกข์ เราควรรู้ว่า ทุกข์ สมุทัย เป็นต้นเหตุของการดับทุกข์ นิโรธทำให้แจ้ง ตรงนี้ลูกว่าสำคัญ มรรคควรเจริญให้มาก คำว่ากิเลสนั้นมันสุดยอดจริงๆ หลวงพ่อครับ มันหลอกเราได้หมด ถ้าเราไม่พ้น ไม่บรรลุธรรมจริงๆ นิโรธ ๕ หมายถึงความดับกิเลส เราจะทำอย่างไรถึงจะดับกิเลสได้ การดับกิเลสก็มีเป็นชั้นเป็นตอนใช่ไหมครับ วิธีการทั้ง ๕ เราจะใช้วิธีไหนก็ได้ใช่ไหมครับ เราควรสะดวก เราควรใช้อย่างใด

วิธีเริ่มต้น ตอนนี้ลูกได้นั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา กำหนดพุทโธ คิดว่าลูกก็คงใช้วิธีนี้ต่อไปจนถึงเวลาของมันจริง เพราะคิดว่าถูกกับจริตของลูกแล้ว ขั้นนี้ลูกคงละกิเลสได้ชั่วขณะเท่านั้น ถ้ามันถึงเวลาของธรรม มันจะเกิดขึ้นเองใช่ไหมครับ เราไม่ต้องใส่ใจกับปฐม ทุติยะ ก็คือกำหนดจิตใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป แต่ลูกต้องการทำตามลำดับขั้นตอน นั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา กำหนดจิต รู้จิต ภาวนาพุทโธไปจนถึงปฐมฌาน ทุติยฌานไป ในนี้ลูกจะต้องทำอย่างไรบ้างให้เป็นหนทางต่อไปโดยเร็วที่สุด ถึงจะไปปฐมฌาน ทุติยฌาน ศิษย์ไม่เข้าใจ

ตอบ : เขาว่าไม่เข้าใจหลวงพ่อเลย ศิษย์ไม่เข้าใจ เวลาพูดนี่ไม่เข้าใจเล

ไม่เข้าใจหรอก เพราะคำถามมันเป็นคำถามของทางวิชาการ ถ้าทางวิชาการ ถ้าเข้าถึงฌานก็ต้องปฐมฌาน ทุติยฌาน ที่เขาบอกพุทโธๆ ได้ฌาน ๒ นี่เขาว่า เพราะมันเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่สมาบัติ ๘

ถ้าสมาบัติ ๘ พระพุทธเจ้าทิ้งมาแล้ว ไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบส เห็นไหม เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ เหมือนเรา มีความรู้เหมือนเรา อุทกดาบสเขารับประกันเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอาเลย กลับมากำหนดอานาปานสติ

ทีนี้กำหนดอานาปานสติ เวลาจิตมันสงบเข้าไปแล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้น เวลาที่ว่าไม่เข้าใจหลวงพ่อเลย ไม่เข้าใจ

ไม่เข้าใจเพราะอะไร เพราะนี่มันตำราไง ศึกษามาแล้ว เวลาที่หลวงปู่มั่นท่านบอกกับหลวงตา หลวงตาเรียนจบถึงมหามา การศึกษามา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ประเสริฐนัก เทิดใส่ศีรษะไว้ คือยกไว้สูงๆ แล้วเก็บไว้ในลิ้นชัก แล้วล็อกกุญแจไว้ แล้วเราปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว ความจริงกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นอันเดียวกัน

อันเดียวกันต่อเมื่อเราปฏิบัติได้แล้วไง แต่ถ้ามันยังไม่เป็นอันเดียวกัน เราศึกษามาแล้วเราก็ยึดของเราว่าเรารู้ๆๆๆ พอเรารู้ ปฏิบัติไปมันเป็นดาบสองคมไงอย่างนี้เป็นปฐมฌาน พอนึกๆ ขึ้นไป เออ! อย่างนี้เป็นทุติยฌาน มันนึกไปอีกหน่อย อย่างนี้เป็นจตุตถฌาน เฮ้ย! ไม่ใช่ นี่เป็นจตุตถฌาน”...มันคิดไปเอง มันคิดไปเองเพราะมันมีโจทย์ของมันอยู่แล้วไง นี่ไง ที่เวลาหลวงปู่มั่นบอกว่า มันจะมาเตะมาถีบกันอย่างนี้ไง

ถ้าเรายกปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌาน ๔ วางไว้ๆ วางไว้ในตำราไว้เลย ลั่นกุญแจไว้เลย พับ! แล้วเราก็มาพุทโธๆ ของเรา ถ้าจิตมันจะลงไม่ลงมันเรื่องของเราไง มันไม่ต้องว่าอย่างนี้ปฐมฌาน เอ๊อะๆ อย่างนี้จตุตถฌาน เอ๊อะๆ”...นี่มันจะมาขัดแย้งกันไปอย่างนี้

ไม่เข้าใจหรอก เราจะบอกว่า อีกนาน โยมที่เขียนมาถึงจะเข้าใจเราได้ คือจะเข้าใจเราได้

หลวงตา เราไปอยู่กับหลวงตาใหม่ๆ เรางงนะ หลวงตาท่านพูดใหม่ๆ เราไปใหม่ๆ เลย ท่านบอกว่าคนนี้ฟังธรรมเป็น

เอ๊! เราก็งงนะ เอ๊! ฟังธรรมทำไมใครจะฟังไม่เป็น ใครๆ ก็ฟังได้ ฟังคนพูด ใครจะฟังไม่ได้ใช่ไหม ใครพูด เราก็ฟังได้

เขาบอกคนนี้ฟังธรรมเป็น

เอ๊! เราก็แปลกใจ เอ๊! มันฟังธรรมเป็นอย่างไรวะ คนฟังทุกคนมันก็ฟังเป็นหมด ใครบ้างมันฟังไม่เป็น มันฟังเป็นทั้งนั้นน่ะ แต่ฟังแล้วมันไม่เข้าใจไง

ถึงมารู้ทีหลัง อ๋อ! คนฟังธรรมเป็นเขาถึงรู้ว่า อ๋อ! นี่ท่านพูดเพื่อเหตุนี้ พูดอย่างนี้เพื่อเรื่องอย่างนี้ พูดอย่างนี้ๆ

แต่ถ้าฟังธรรมไม่เป็นนะ มันเหมารวม นี่เขาเรียกว่าฟังธรรมไม่เป็น ฟังธรรมไม่เป็นคือว่ามันไม่ได้ประโยชน์จากการฟังธรรม

ถ้าคนฟังธรรมเป็นนะ ท่านพูดอย่างนี้ พูดถึงสมาธิ พูดถึงวิปัสสนา อ้าว! พูดถึงมรรคพูดถึงผล ที่เวลาหลวงตาท่านบอก หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์ เทศน์เหมือนเครื่องบินเลย ตั้งแต่เครื่องบินจะขึ้น ขึ้นไปเลย จนถึงที่สุด

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่านิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์ ๕ วิธีการ ๑๐ วิธีการ”...ไปแล้ว

นิโรธ ๕ หมายความว่า”...อ้าว!

นิโรธ ๕ นิโรธนะ กรณีนี้ที่ว่าหลวงปู่จวน เวลาหลวงปู่บัว ที่ท่านไปอยู่กับหลวงปู่จวน เข้านิโรธสมาบัติ แล้วก็บอกว่าตัวท่านจะหมดอายุขัยคือจะหมดชีวิต ให้หลวงปู่จวนทำโลงศพ สุดท้ายแล้วพอถึงวันแล้วไม่ตาย เพราะว่าหลวงปู่จวนท่านบอกว่าท่านก็ค้านไว้ในใจตลอดว่า นิโรธสมาบัติ นิโรธในอริยสัจ นิโรธคือการดับทุกข์ แต่นิโรธสมาบัติ นิโรธคือดับอารมณ์ มันไม่รู้อะไร แล้วมันไปรู้อะไร

ไอ้นี่นิโรธ ๕ เลย โอ๋ย! มันไปใหญ่เลย

ฉะนั้น หลวงปู่จวนท่านบอกว่า นิโรธของหลวงปู่มั่นไม่เป็นแบบนี้ คำว่านิโรธของหลวงปู่มั่นหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ไง นิโรธของหลวงปู่มั่นคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธความจริง นิโรธคือการดับทุกข์ นิโรธคือผล ผล ผลมันเกิดจากมรรค

ถ้ามรรค มรรคญาณ มรรคมันใช้ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มันไปแยกแยะของมัน ผลของมันเป็นนิโรธ แล้วเราไปจับนิโรธมาเป็นเหตุไงว่านิโรธจะทำอย่างไร นิโรธมันจะดับอย่างไร นิโรธคือผล นิโรธคือมันดับ ดับแล้ว ข้าวสุกแล้ว ข้าวสุกแล้วเอ็งจะทำอะไรต่อ ข้าวสุกแล้วก็กินไง กิน ข้าวสุกก็เปิดสิ เอาจานมา ข้าวสุกแล้ว เอาจานมา

นี่ไง นิโรธคือการดับทุกข์ นิโรธคือการดับทุกข์

นี่บอก นิโรธหนทางดับทุกข์ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การดับทุกข์ แล้วจะให้รู้แจ้ง พออย่างนี้มันก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม จะพิจารณาอริยสัจ ๔ พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จะให้ครบเลย นี่ตำราเขาว่าไว้อย่างนั้น เพราะตามตำรา มันเป็นสูตรใช่ไหม สูตรทุกอย่างเขาเป็นสเต็ปอย่างนี้ๆๆ ขึ้นไป

แต่เวลาคนทำ เวลาคนทำคนถนัดอย่างนี้ การสร้างบ้าน สร้างเรือน เขาก็ต้องตีเข็ม ทำคานคอดินแล้วก็ยกขึ้นไปนะ แล้วเขาจะสร้างบ้านในทะเลล่ะ เขาใช้แท่นขุดเจาะล่ะ แล้วเขาจะสร้าง ดูโรงแรมเรือสิ เรือเดินทะเลเขาเอามาทำโรงแรม มันลอยอยู่กลางน้ำน่ะ แล้วทำไมมันไม่มีเข็มล่ะ โรงแรมกลางทะเลมันลอยอยู่กลางทะเลน่ะ ทำไมมันไม่มีเข็ม ถ้าบอกไม่มีเข็มก็ผิดน่ะสิ อ้าว! ก็การสร้างบ้านมันก็ต้องมีเข็ม แล้วมันลอยอยู่กลางทะเล มันทำอย่างไรล่ะ

นี่จะพูดว่า ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องไม่เข้าใจตลอดไป คำว่า ฟังธรรมเป็น ฟังธรรมไม่เป็นฟังธรรมเป็น ทางวิชาการเราศึกษามา ศึกษามาแล้ววางไว้ ถ้าเราจะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติตามความจริงของเรา

เวลาพูดถึงความสงสัย แล้วก็ไม่เข้าใจหลวงพ่อเลย แต่มันมาตรงนี้ไง มาตรงที่ว่าวิธีเริ่มต้นตอนนี้ลูกได้นั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา กำหนดพุทโธ คิดว่าลูกใช้วิธีนี้ต่อไปจนถึงเวลาของมันจริง และคิดว่าถูกกับจริตของลูก ขั้นนี้ลูกจะละกิเลสได้ชั่วคราว

คำว่าชั่วคราวถ้าถึงเวลาของมัน คือกำหนดพุทโธๆ มันก็ปล่อยวางได้ชั่วคราว ถ้าปล่อยวางชั่วคราวมันยังไม่เกิดปัญญาไง ถ้ามันปล่อยวาง ถ้าอย่างนี้มันทำสมาธิ ถ้ามันจิตสงบได้มันก็สงบเข้ามา มันก็ละกิเลสได้ชั่วคราว มันได้ชั่วคราวเท่านั้นน่ะ ถ้าได้ชั่วคราว มันทำความสงบของใจเข้ามา มันรู้ว่าทำความสงบ สมาธิคือสมถะ เรายอมรับว่านี่เป็นสมถะ สมถะคือรู้ตัวตนของเรา

เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน สอนให้ทำสมาธิก่อน ให้เห็นตัวตนของเรา ถ้ามีตัวตนของเรา เราใช้ปัญญาไป ถ้าปัญญาไป มันก็เป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันก็เป็นปัญญาไป แล้วถ้าปัญญาไป เวลามันปล่อย สิ่งที่ว่า ถ้ามันปล่อยมา ถ้าบอกเป็นเงาของนิโรธ ไม่ใช่นิโรธเพราะมันเป็นผลของการปฏิบัติ นิโรธคือผลของการปฏิบัติ

อันนี้บอกว่านิโรธ ๕ ว่ากันไปประสาเขาเลย

อันนี้มันเป็น ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเขาไปอ่านมาจากพระไตรปิฎกนะ เขาก็บอกโอ้โฮ! หลวงพ่อนี่ แม้แต่พระพุทธเจ้าหลวงพ่อยังอัดเลย

เฮ้ย! ไม่ใช่นะมึง เดี๋ยวบอกอู้ฮู! หลวงพ่อ นี่มาจากพระไตรปิฎกนะ อู้ฮู! หลวงพ่อ

มันก็ถูกต้อง มันก็ถูกต้องตามนั้น มันเป็นวิชาการ เรายังใช้ไม่เป็นน่ะ ดูสิ ดูพวกหัวหน้างานเขาจะคุมงาน เขาเห็นเลยว่าต้องทำอย่างไร ถึงเวลามันถึงไซต์หน้างานมันจะมีปัญหาไปหมดล่ะ

เราทำอย่างนั้นยังไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย เอาปัญหามาก่อนแล้วโอ๋ย! มันต้องเป็นนิโรธ ๕ วิธีการดับ ๕ อย่าง

แล้วดับอย่างไรล่ะ โอ้โฮ! ดับอย่างไร ไม่เข้าใจหรอก ไม่เข้าใจเพราะว่า เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เราฝึกข้อวัตรปฏิบัติมาด้วยการดำรงชีวิต ถ้าเอาความดำรงชีวิตมาเปรียบกับธรรมวินัย มันก็อยู่ในนักธรรมโท นักธรรมตรี นักธรรมเอกเยอะแยะเลย

เพราะในนักธรรมโทมันสอนถึงการตัดไตรจีวร เรามาเป็นปะขาว แค่เป็นปะขาว เขาก็ให้ท่องขานนาค ให้หัดตัดเย็บ หัดย้อมผ้า มันมีอยู่ในนักธรรมโทนะ ฉะนั้น ทางวิชาการเขาก็ศึกษานักธรรมโทนะ เขาสอบได้นักธรรมโท เขาสอบได้นักธรรมเอกนะ แต่ให้ตัดผ้า ตัดผ้าไม่เป็น แล้วหาที่ไหน นู่น เสาชิงช้า คหบดีจีวรเขามาถวาย ตัดไม่เป็นน่ะ แต่มันได้นักธรรมโทนะ แต่มันตัดไม่เป็น

แต่พวกเราพระกรรมฐานไม่ได้อะไรเลย เพราะไม่ใช่เรียนมาเพื่อสอบ แต่เรียนของจริง ทั้งตัด ทั้งเย็บ ทั้งย้อม ของใช้ของสอยนี่ทำหมด มันอยู่ในนักธรรมโท นักธรรมเอกนู่นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน วิธีการนี้ก็เหมือนกัน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มันเป็นการเรียงลำดับอารมณ์ เรียงลำดับแบบว่าวุฒิภาวะของจิตที่มันสูงมันต่ำ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ ๘ เวลาเข้า เข้าอย่างไร เวลาออก ออกอย่างไร พระกรรมฐานไม่เคยเรียนเลย แต่พระกรรมฐานทำได้ หลวงตาบอกเลย รวมใหญ่ทำได้

เรียนเอากระดาษไง เออ! ได้กระดาษมา งง ไม่เข้าใจหลวงตา

ก็ไม่เข้าใจ เพราะเอ็งทำไม่เป็นก็ไม่เข้าใจไง เออ! ถ้าเอ็งทำเป็นนะ อ๋อ! ความจริงต้องเป็นแบบนี้ ปริยัติเขาเรียนมา เรียนมาไว้เพื่อเป็นแนวทาง แล้วถ้าปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมามันก็เป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม

นี่เขาบอกว่า เริ่มต้นเขายังพุทโธของเขาอยู่ เขาทำของเขาได้ ถึงเวลามันจะเป็นเองไหม

ไม่มีทาง

แล้วมันจะเกิดขึ้นเองใช่ไหม

ไม่ใช่

นี่เขาบอกว่า เขาปล่อยวางได้ชั่วคราว ต่อไปเวลามรรคผลมันจะเกิดขึ้นเองใช่ไหม

รอ รอไปเถอะ รอไป เพราะถ้าคนภาวนาไม่เป็น เห็นไหมทำสมาธิเลย ปัญญามันจะเกิดเองเลย ปัญญามันจะมาเลย มันจะแล่นมาเลย”...อ้าว! รอจนตาย ถ้าปัญญามันจะมาเอง ฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีอยู่หรอก

ถ้ามันเป็นจริง ในทางตำราว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันเกิดจากสมาธิ แล้วเกิดอย่างไรล่ะ นี่ไง ถ้าเกิดไม่ได้ ก็เหมือนเมื่อวาน ที่ว่าเกิดไม่ได้ ความคิดมันมาจากไหน...ไม่รู้ไม่เห็นหรอก รู้แต่ธรรมของพระพุทธเจ้า รู้แต่ศึกษามา แต่เวลามันจะเกิดขึ้นมานี่ไม่รู้

แต่ของเรา บ้านของเราใช่ไหม ในครัวของเราใช่ไหม หม้อไหเราทำเองใช่ไหม อาหารก็ทำเองใช่ไหม เราจะต้มจะแกงเมื่อไหร่ก็ได้ จะไม่ต้มไม่แกงก็ได้ เออ! ก็ของของเรา อ้าว! หม้อไหก็ของเรา ข้าวปลาอาหารก็ของเรา เราจะต้มจะหุงเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้มไม่หุงก็ได้

แต่ถ้ามันไม่เป็น มันไม่รู้หรอก ครัวก็ไม่มี หม้อไหก็ไม่มี ซื้อตามถุงข้างทาง ซื้อเอา แล้วก็บอก โอ้โฮ! เป็นเชฟใหญ่ นักทำอาหารอย่างเอก ซื้อเอาตามข้างทาง มันบอกว่ามันเก่งของมัน...ไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้

ถ้ามันเป็นไปได้มันจะเป็นอย่างนี้ กรรมฐานเป็นแบบนี้ ถ้ากรรมฐานเป็นแบบนี้ ทำอย่างนี้แล้วนะ ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็น มันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้นบอกว่าเราไม่ต้องใส่ใจกับ ปฐมฌาน ทุติยฌานใช่ไหม ปัญญาพิจารณาต่อไปแล้ว แต่ลูกต้องการลำดับชั้น

การลำดับ ลำดับตรงไหนล่ะ ไอ้อย่างนี้ ถ้าลำดับอย่างนี้นะ ไปอภิธรรม อภิธรรมเขาสอนอย่างนี้ อภิธรรมเขาจะสอนเลย ให้กำหนดรู้เท่าทัน แล้วก็เรียงลำดับไป ๑ ๒ ๓ ๔ แล้วพอจบแล้วไง ทบทวน แล้วก็ ๑ ๒ ๓ ๔ แล้วทำอย่างไรต่อ ทบทวน ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ อีกร้อยชาติก็ทบทวนอยู่นั่นน่ะ ทบทวนเพราะมันทำตามตำราไง ถ้าออกนอกตำรามันก็ไปไม่เป็นไง ถ้ามันทบทวนตามตำราไง ๑ ๒ ๓ ๔ เออ! แล้วทำจบแล้วทำอย่างไร ทบทวน เออ! ไปทบทวน ทบทวนก็ให้มันถูกต้องตามตำราไง ทบทวนก็ถูกต้องตามทฤษฎีไง แล้วจิตมึงไปไหนล่ะ จิตมึงไปอยู่ไหนล่ะ มันก็ทบทวนอยู่นั่นน่ะ

ถ้าจะเอาตาม เขาบอกว่าต้องการให้มันเป็นไปตามลำดับขั้น

ก็ไปฝึกหัดอภิธรรมน่ะ เขาจะบอก มันจะเป็นลำดับขั้น เขารู้ เขาบอกให้เลย แล้วบอกตามวิชาการเลย บอกตามตำราเลย แล้วพอจบแล้วทำอย่างไรต่อ ก็ทบทวน ทบทวน ทบทวนตามตำราไง อ้าว! ถ้ามันไม่ทบทวน มันออกนอกทางนะ ถ้าไม่ทบทวนนี่เดี๋ยวมันไหลไปเลย ถ้าทบทวน มันก็เกาะตำราไว้ใช่ไหม เกาะตำราไว้ ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วมรรคผลล่ะ

พูดอย่างนี้ไม่ได้นะ ไม่ได้ พูดถึงมรรคผลไม่ได้ ต้องปฏิบัติไป พูดถึงมรรคผลไม่ได้

แต่ของครูบาอาจารย์เรานะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ หลวงตาไปคุยกับหลวงปู่ขาว ไปคุยกับหลวงปู่แหวน ไปคุยกับหลวงปู่คำดี ครูบาอาจารย์ของเรา ผู้ที่มีภูมิด้วยกัน เขาจะตรวจสอบกัน

การตรวจสอบของเรา เราไม่ใช่ว่าเราทำอะไรแล้วเราจะมาปิดบังกันว่าพวกฉันดี พวกเธอไม่ดี ไม่ใช่ เราจะตรวจสอบกันเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ เพราะทุกคนแสวงหาความสะอาดบริสุทธิ์

แล้วพวกเรามีกิเลสท่วมหัว ไม่รู้หรอกอะไรสะอาดบริสุทธิ์และไม่สะอาดบริสุทธิ์ ต้องให้นักปราชญ์ ให้ผู้ที่มีคุณธรรมกับผู้ที่มีคุณธรรมเขาตรวจสอบกัน พอเขาตรวจสอบกัน แล้วเราเป็นลูกศิษย์ลูกหา เราก็เชื่อมั่นของเรา เพราะมันเป็นคณะ มันเป็นครูบาอาจารย์ของเราหลายๆ องค์ที่ตรวจสอบกัน ตรวจสอบกันมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นลงมาตลอด ฉะนั้น ไอ้อย่างนี้มันเป็นความจริง ความจริงอันนี้ต่างหาก

นี่ไง ถ้าบอกว่าไม่เข้าใจหลวงพ่อ

ก็ไม่เข้าใจ ไม่เป็นไร ไม่เข้าใจแล้วพยายามปีนบันได พยายามทำความเข้าใจ พยายามปีนบันได ถ้าปีนบันไดได้ก็ขึ้นก้อนเมฆ ขึ้นก้อนเมฆแล้วทำความเข้าใจ ถ้าทำความเข้าใจไม่ได้ มันก็เหมือนที่หลวงตาว่า ฟังธรรมไม่เป็น ถ้าฟังไม่เป็นก็เป็นแบบนั้น เห็นไหม

เขาบอกเขาต้องการลำดับชั้นลูกต้องทำอย่างไรบ้างให้เป็นหนทางให้เร็วที่สุดที่จะไปถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ยังต้องการลำดับชั้น

ไอ้กรณีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไอ้ฌานสมาบัติมันเป็นอภิญญา มันเป็นอภิญญา พระพุทธเจ้าสอนศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้สอนศีล ฌาน ปัญญา ฌานมันส่งออก ฌานมันส่งออก

ศีล สมาธิ สมาธิคือความปกติของใจ แล้วมีกำลัง

แต่ถ้าฌานมันมีพลังงาน มันส่งออก มันส่งออก ส่งออกไปรู้ไปเห็นเรื่องข้างนอก ก็เหมือนเรา เรื่องในบ้านไม่ทำ ไปสนใจแต่เรื่องคนอื่น เรื่องนอกบ้านนี่เก่ง พอถามประเทศชาตินี่สุดยอดเลย แต่เรื่องในบ้านไม่สนใจเลย เรื่องในบ้าน ไม่มีจะกินในบ้านมันยังไม่มองเลยนะ แต่มันจะไปบริหารประเทศ

แต่พระพุทธเจ้าไม่ทำอย่างนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาเรื่องในบ้าน

หลวงตาท่านสอนประจำ ใครจะดีใครจะชั่ว ช่างเขาว่ะ พวกเราจะทำความดี หรือเราจะทำความดี ใครจะดีใครจะชั่ว เรื่องของเขา หัวใจเราต่างหาก หัวใจเราต่างหาก ใครจะดีจะชั่ว เรื่องของเขา หัวใจเราต่างหาก

นี่ก็เหมือนกัน ศีล สมาธิ หัวใจเราน่ะ ถ้าฌานมันส่งออก มันไปยุ่งกับเรื่องคนอื่น ไปยุ่งเรื่องคนอื่น จะไปบริหารจัดการ จะไปครองโลกไง อู๋ย! ที่นู่นเขาพูด หูทิพย์ ได้ยินที่เขาคุยกัน ตาทิพย์ เห็นเขาทำความผิด หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ไปหมดเลย แต่หัวใจไม่ได้ดู หัวใจไม่ได้ดู เห็นไหม

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ครูบาอาจารย์เราสอนอย่างนี้ แล้วถ้าสอนอย่างนี้ หัวใจมันเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะ ไอ้อย่างที่บอกว่าจะไปรู้เรื่องคนอื่น ไอ้นั่นปิดไม่อยู่เลย

ถ้ามันรู้เรื่องใจของตัวเองแล้วนะ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งถ้ามันรอบรู้ใจดวงหนึ่งแล้ว มันจะมีใจดวงไหนในโลกนี้ที่ปิดบังมันได้ ใจดวงหนึ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ ใจดวงหนึ่งที่ทะลุปรุโปร่งแล้ว มันจะมีใจดวงไหนที่จะมาปิดบังใจดวงนี้ได้ เวลาเป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันสุดยอด

แต่เวลาทำไม่จริงนั่นน่ะ นั่นล่ะถึงจะไปเรียนเป็นขั้นเป็นตอน ไปเรียนตามตำรา ทบทวนๆ ทบทวนให้พอแรง แล้วเราจะรู้ว่าอันใดจริงและอันใดไม่จริง

ถ้าว่าไม่เข้าใจ ต้องไม่เข้าใจอยู่แล้ว ไม่เข้าใจหรอก ไม่เข้าใจเพราะมันเป็นกรรมฐานไง เพราะกรรมฐานคือฝ่ายปฏิบัติ แต่ถ้าทางวิชาการเป็นฝ่ายปริยัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติ ปฏิเวธ ก็ทบทวนๆ อยู่ไง ถ้าปฏิบัติแล้วปฏิเวธ นี่รู้จริง รู้จริงตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจก็เก็บเอาไว้ทำความเข้าใจ แล้วพยายามทำความเข้าใจเพื่อประโยชน์กับตนนะ

ไม่ใช่ตอบปัญหาเพื่อจะมาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วแบ่งแยก ตอนนี้เขาต้องการความสามัคคี ตอนนี้เขาต้องการความสามัคคี เราจะไม่พูดเพื่อความแตกแยก แต่เราพูดเพื่อเหตุผล เพื่อประโยชน์ เพื่อสัจจะ เพื่อความจริงของผู้ที่ปฏิบัติ เอวัง