เทศน์บนศาลา

เรียนจากจิต

๑๑ ต.ค. ๒๕๔๗

 

เรียนจากจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗
ณ วัดป่าสมสงัด ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

ฟังธรรมนะ ฟังธรรม ธรรมะจะเกิดนะ ธรรมะจะเกิดจากใจของเรา ใจของเราเวลาสุขเวลาทุกข์ มันสุขมันทุกข์ที่ใจ ใจนะ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่ง ใจเป็นส่วนหนึ่ง เวลาเราเรียนปริยัติ เราต้องใช้สัญญา ใช้ขันธ์นี่เรียนปริยัติ แต่ในภาคปฏิบัติมันเรียนที่ใจไง ใจจะเรียนวิชาธรรม ถ้าเราเรียนวิชาธรรมของเราได้ ธรรมจะเกิดที่ใจ

ธรรมจะเกิดที่ใจของเรา แล้วเราจะแสวงหาที่เรียนที่ไหน เราออกบุกป่าฝ่าดง ออกธุดงค์ ออกต่างๆ มันก็เรียนใจของตัวเองไง เรียนใจของตัวเองให้เห็นตามความจริงว่าใจนี้มันสมบุกสมบันมาขนาดไหน เราออกบุกป่าฝ่าดงนะ เอาร่างกายออกบุกป่าฝ่าดง เพราะเราแบกบริขารไป เวลาเราออกประพฤติปฏิบัติ เราออกประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องออกปฏิบัติเพื่อจะค้นคว้าหาใจของตัวเอง ทั้งๆ ที่ใจอยู่กับเรานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำคัญตรงนี้ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมไว้

ในครั้งปัจจุบันนี้มีหนังสือออกมาเป็นตู้พระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎกนี้เป็นตำราที่ว่าเป็นการยืนยันอย่างประเสริฐที่สุด นี่พระไตรปิฎกก่อน แล้วก็ฎีกา อรรถกถา ต่างๆ กันไป แล้วสาวกในปัจจุบันนี้ออกตำรับตำรามา เห็นไหม เป็นที่ศึกษาของเรา เราจะศึกษาเล่าเรียนสิ่งนี้ ถ้าเราอ่านตำรา เราจะอ่านตำเราเพื่อย้อนกลับมาดูใจเรา เราจะศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพื่อจะย้อนมาดูหัวใจของเรา นี่ถึงว่าปริยัติเป็นการศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน

แต่ขณะที่เราออกประพฤติปฏิบัตินี่มันเป็นการออกปฏิบัติตามความเป็นจริงของเราเลย เราศึกษาจากความเป็นจริงไง ศึกษาจากข้อเท็จจริง เห็นไหม เวลาเราออกธุดงค์ เราก็ออกธุดงค์ ออกบุกป่าฝ่าเขา ออกบุกป่าฝ่าดงก็เพื่อจะหาใจของตัวเอง แต่นี้เราอยู่ปฏิบัติ เราอยู่ในวัดในวา เราก็ต้องดูหาใจของตัวเอง ถ้าเราเจอใจของตัวเอง เราจะเรียนจากตรงนี้ ถ้าเราไม่เจอใจของตัวเอง เราจะไปเรียนที่ไหน...มันสำคัญ สำคัญตรงนี้ ถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้

แต่ในเรียนของภาคปริยัติ จะมีความสงบ ไม่มีความสงบ มีความตั้งใจเรียน ท่องจำกันตามแต่ตำรับตำรา แล้วศึกษากันจนได้ยศได้ชั้นต่างๆ ขึ้นมา สิ่งที่ได้ยศได้ชั้นต่างๆ ขึ้นมาก็เพราะการศึกษา การจำมา

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านต้องการให้ย้อนกลับมาชำระความทุกข์นะ ชำระความทุกข์ ต้องการไม่ให้ใจนี้สมบุกสมบันไปในวัฏฏะ ถ้าเราไม่ศึกษาใจของเรา ใจของเราจะต้องสมบุกสมบันไปในวัฏฏะ มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปโดยอำนาจของกรรม กรรมนี้จะต้องทำให้จิตนี้ตายเกิดๆ ไปตลอดไม่มีต้นไม่มีปลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะสมบุญญาธิการมาเพื่อจะดับตรงนี้ไง เพื่อจะค้นคว้าตรงนี้ให้ได้

แล้วเราเกิดมามีอำนาจวาสนา เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราออกประพฤติปฏิบัติ เพราะเราออกแสวงหาสิ่งที่มีสมบัติ มีคุณค่าที่สุด โลกเขาหาสมบัติกัน เขาหามาเพื่อปากเพื่อท้องนะ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าต้องเกิดต้องตาย เพราะเกิดท่ามกลางศาสนาเรา ศาสนาพุทธนี่เกิดมาตอนปัจจุบันนี้ กึ่งพุทธกาลนี่เจริญมาก มีคนมีครูบาอาจารย์ค้นคว้าสิ่งนี้มา

แล้วว่า “ดับกิเลสได้ๆ จิตนี้ไม่ต้องเกิดอีกเลย” แต่มันก็เป็นความลังเลสงสัยของเขา ความสงสัยของเขามันจะเป็นสภาวะแบบนั้นไหม สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของหัวใจ แต่เรื่องของปากเรื่องของท้องมันต้องกินอยู่ทุกวัน เห็นไหม ความกินอยู่ ความต้องใช้สอยอยู่ทุกวันนี่เขาต้องพยายามแสวงหาของเขา ถ้าแสวงหาของเขา เขาว่าสิ่งนั้นเป็นหน้าที่การงานของเขา เขาก็เลยติดอยู่ในโลกไง พยายามแสวงหาสิ่งนั้นมาเพื่อจะให้จิตนี้ เพื่อให้ชีวิตนี้มีความสุข มีความร่มเย็น

สิ่งนั้นเป็นความทุกข์ ทุกข์อันหนึ่งเพราะทุกข์ต้องแสวงหามาเพื่อให้เราดำรงชีวิตอยู่ แต่ถ้าเราออกบวช ออกประพฤติปฏิบัติ มันก็ทุกข์อันหนึ่ง เห็นไหม เพราะอะไร เพราะกิเลสมันก็ขับไสอยู่ในหัวใจ ในเมื่อคนมีกิเลสอยู่ เขาแสวงหาของเขาอย่างนั้น นั้นคือกิเลสหาธรรม เขาก็แสวงหาตามอำนาจของกิเลส แต่อำนาจของกิเลส แสวงหาขนาดไหนเขาก็มีการคดโกงกัน เขามีการแก่งแย่งกัน เขามีการทำร้ายกัน

แต่เวลาทำร้ายกันแล้วกิเลสมันซ่อนเงื่อนออกมา ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม เราจะช่วยเหลือเจือจาน เห็นไหม ในการที่ว่าเขาต้มตุ๋นกัน เขามาด้วยกัน ช่วยเหลือทั้งนั้นล่ะ เขาจะต้องมีการช่วยเหลือ มีการส่งเสริม แต่สุดท้ายแล้วเขาจะได้ผลประโยชน์ คนที่โง่กว่าคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ เขาตกทองกัน เห็นไหม เอาของปลอมมาแลกของจริง เรามีทองอยู่เล็กน้อย แต่ในเมื่อต้องการสิ่งที่มากกว่า เราก็ไปแลกเขามาว่า สิ่งนี้เส้นนี้ใหญ่กว่า มาตกทองของเรา เราก็จะเสียสิ่งนั้นไปไง เราเสียสิ่งที่ความเป็นจริงไปตลอดไปนะ

ในชีวิตโลกก็เหมือนกัน เขาต้องดำรงชีวิตของเขา แต่ความที่เขาต้องหมดอายุขัยไปแต่ละมื้อแต่ละวัน ชีวิตของเขาจะต้องไปถึงที่การพลัดพรากเป็นที่สุด คนที่เกิดมาแล้ว สิ่งจำเป็น ความเป็นจริงคือต้องตายไป เกิดมาจากโลกนี้ อาศัยอยู่กันชั่วคราวแล้วก็ต้องตายไปๆ จะทำคุณงามความดีเป็นบุญกุศล อันนี้ก็ต้องเกิดต้องตาย เห็นไหม มันขนาดที่ว่าเกิดตาย ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ เราก็ทำคุณงามความดี เราก็ว่าเราจะประพฤติปฏิบัติ ตายแล้วเกิดบนสวรรค์ก็จะไปปฏิบัติต่อไป

แต่ในปัจจุบันนี้ล่ะ ในเมื่อปัจจุบันนี้เรามีสติ เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมเราไม่ขวนขวายล่ะ ถ้าเราขวนขวาย ทำไมเราไม่มีใจอาจหาญสู้กับความเป็นจริงล่ะ ถ้าสู้กับความเป็นจริง เห็นไหม เราถึงจะต้องย้อนกลับมาดูใจของเราไง จะเรียนจากใจของเราให้ได้ ถ้าเรียนจากใจของเราให้ได้ เราถึงต้องมีศรัทธามีความเชื่อ มีความเชื่อแล้วออกประพฤติปฏิบัติ ออกบวช ออกจนได้สถานะนี้มา

เช้าออกไปบิณฑบาต เขาใส่บาตรให้กินอยู่แล้ว เห็นไหม ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องกังวล ในโลกเขา เขาต้องกังวลหาสิ่งนี้มาเป็นเพื่อความดำรงชีวิตของเขา เพื่อความสุขของเขา เพื่อความสงบของเขา เพื่อความร่มเย็นของเขา เขาก็หาของเขาขึ้นมา เขาก็สะสมของเขาขึ้นมา สิ่งที่สะสมเขาก็ใช้ชีวิตไปวันหนึ่งๆ ถึงที่สุดก็ต้องตายไป ทั้งๆ ที่ว่ามีโอกาสนะ เราทำบุญกุศลได้ ทำไมพระเราบวชมาในศาสนาแล้วทำไมต้องออกไปล่ะ ทำไมต้องสึกออกไป เพราะสึกออกไปเพราะมีความจำเป็น สิ่งต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องของกรรม

แต่ถ้าเรามีสติล่ะ ทำไมเราไม่ฝืนสิ่งนี้ล่ะ ถ้าเราฝืนสิ่งนี้ได้ ฝืนแค่นี้มันก็เป็นสิ่งที่ว่าเรื่องมันเป็นความลำบากลำบนแล้วนะ เพราะอะไร เพราะเราอยากออกไปไง ออกไปแล้วมันจะคิดไปตามกระแสกิเลส กิเลสว่าเราก็ยังทำสิ่งนั้นได้ ยังทำสิ่งนี้ได้ แต่ถ้าเราอยู่ในพระ เราอยู่ในเพศของพระ เรามีปัจจัยเครื่องอาศัย เพราะโลกเขารู้ว่าพระเป็นผู้ประกาศตน ว่าจะเป็นผู้ที่จะรบกับกิเลสไง เขาจะมีปัจจัย เขาจะเอื้อเฟื้อเจือจานกับพระ เพราะเขาหวังบุญกุศลจากการได้ทำบุญกุศลจากพระนั้น เพราะศาสนานี้ บริษัท ๔ มันจะพึ่งพาอาศัยกัน โลกจะเวียนไปอย่างนี้ไง นี่สัจจะความจริงเป็นอย่างนี้

แต่วิทยาศาสตร์เขาคิดของเขาออกไป เห็นไหม ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นแขนงของเขาออกไป มันไม่อิงเอื้ออาศัยกัน แต่ในเรื่องของสัจจะความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ประเสริฐมาก สิ่งที่ว่าโลกเป็นไปอย่างนี้ หมุนมันไปอย่างนี้ การสละไง การบุญกุศล เห็นไหม ผู้ที่ว่าจะต้องการบุญกุศลจากสังฆะ จากเนื้อนาบุญของโลก แล้วเราออกมาประพฤติปฏิบัติ เราจะเป็นเนื้อนาบุญของโลกได้ไหม ถ้าเราเป็นเนื้อนาบุญของโลกได้ เขาทำบุญกุศลกับเรา เขาจะได้บุญกุศลขึ้นไป เพิ่มพูนขึ้นไป เขาจะไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมของเขาในตามที่เขาได้เจือจาน เขาได้สละมา เขาได้ทำบุญกุศลในศาสนานี้

แต่ถ้าเราออกประพฤติปฏิบัติ เราปฏิบัติดีของเรา แต่ถ้าเราไม่ถึงที่สุด เวลาเราเกิดเราก็เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหมเหมือนกัน แต่ถ้าเราถึงที่สุด เราจะไม่เกิดอีกเลย เราจะเป็นเนื้อนาที่บริสุทธิ์ไง สิ่งที่ว่าเนื้อนาของเขานะ ดินดี เวลาเขาทำบุญกุศลของเขา เขาจะเกิดผลตอบแทนในเนื้อนานั้นมหาศาลเลย แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดของกิเลสนะ นี่เนื้อนานั้นยิ่งมีคุณค่ามหาศาล เนื้อนานั้นเป็นเนื้อนาที่มีคุณค่ามากเลย มีคุณค่าสำหรับเราก่อนนะ เพราะความสุขความทุกข์ในหัวใจของเรา ใครๆ เขาจะไม่รู้ไปกับเรา แต่เรารู้ของเรานะ ความสุขความทุกข์ในใจของเรานี่มีมหาศาลเลย

ว่าบุญกุศลสร้างมา เราถึงได้มีศรัทธามีความเชื่อ แล้วมีครองเพศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธงชัยพระอรหันต์นะ ผู้ใดห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ธงชัยของพระอรหันต์จะนำเราไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี่ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะ เราจะเรียนจากตรงนี้ได้ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ การเล่าเรียนของเขาภาคปริยัติ เขาจะเรียนของเขาขนาดไหน เขาก็เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียนธรรมเหมือนกัน แต่เป็นการเรียนมาเพื่อความจำ เห็นไหม สิ่งที่ความจำมา กิเลสมันก็อ้างว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ไง ถ้าเราจะทรงธรรมทรงวินัย เราจะศึกษาธรรม เราจะออกประพฤติปฏิบัติ เราต้องเรียนรู้ก่อน เราต้องเรียนรู้ก่อน

คนมีกิเลส เห็นไหม สิ่งที่เรียนมา เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ว่าเราประพฤติปฏิบัติด้วยแผนที่เครื่องดำเนินที่ถูกต้อง เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติด้วยกิเลส มันจะคาดมันจะหมายไปไง สิ่งที่คาดหมายไป มันเอาภาคปริยัตินี่ควรจะวางไว้ก่อน มันเอามาคาดหมายว่าสมาธิจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาจะเป็นอย่างนั้น ฉันจะมีความรู้มาก...มันเป็นสิ่งที่สัญญาอารมณ์ ถ้าสัญญาอารมณ์สิ่งนี้เกิดขึ้นมา ในการปฏิบัติของเขา เป็นการปฏิบัติโดยปริยัติ สิ่งที่โดยปริยัติเพราะเป็นความกลัวของกิเลสไง

กิเลสบอกว่า ถ้าเราไม่ไปเรียนปริยัติก่อน เวลาเราปฏิบัติไปมันจะหลงไป มันจะปฏิบัติธรรมไม่เป็นชาวพุทธ จะเป็นปฏิบัติธรรมแบบไสยศาสตร์ เป็นปฏิบัติธรรม...นั้นเป็นเพราะกิเลสมันหลอก หลอกให้เราห่วงหน้าพะวงหลัง ในปัจจุบันนี้ก็เป็นปัจจุบันนี้ เพราะปัจจุบันนี้ วันนี้มาจากเมื่อวานนี้ แล้วพรุ่งนี้ก็จะมาเป็นอนาคตตลอดไป อดีต อนาคต เมื่อวานนี้ กับพรุ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ชำระกิเลสไม่ได้ แต่กิเลสมันคาดหมายไปนะ เราต้องเรียนมาก่อน ต้องยึดมั่นก่อน ไปดึงเมื่อวานนี้มากอดเอาไว้ แล้วก็จินตนาการไปพรุ่งนี้ไง มันไม่จินตนาการในปัจจุบันนี้ มันถึงไม่เป็นปัจจุบันนี้ นี่เราห่วงกันอย่างนั้นไง

ศาสนานี้เจริญมากในภาคปริยัตินะ เจริญมากเพราะตำรามีมหาศาลเลย เราจะไม่ต้องไปกังวลเลยว่าเราปฏิบัติไปแล้วมันจะมีผิดพลาดไปไหน เพราะอะไร เพราะเราเรียนจากความเป็นจริงไง เรียนจากจิตของเรา เรียนจากธรรมะ

หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขา ครูบาอาจารย์ถามว่า อยู่ในป่าไม่มีตำรับตำรา ไม่มีสิ่งที่จะตรวจทาน หลวงปู่มั่นไปฟังธรรมจากใคร เราอยู่ในวัดในวา กอดตู้พระไตรปิฎกนี่ยังลังเลสงสัยไปตลอด เห็นไหม นี่ไปเอาเมื่อวานนี้ พยายามดึงเมื่อวานนี้ให้เป็นปัจจุบัน ติดในเมื่อวานนี้ไง มันติดอดีตไป

ถึงบอก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้มานี้ ๒,๕๐๐ กว่าปีนะ มันเป็นสิ่งที่สดๆ ร้อนๆ ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่วางเป็นธรรมมาเพื่อให้เราศึกษา เราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็จะไปยึดว่าเป็นธรรมของเรา เราจะไปยึดมาไง แล้วจะให้เป็นประพฤติปฏิบัติ

ประพฤติปฏิบัติโดยกิเลส เห็นไหม กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยึดสิ่งนั้น แล้วก็คาดหมายสิ่งนั้น มันเลยเป็นสัญญาอารมณ์สิ่งนั้นนะ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ มันจะเป็นความผิดพลาด กิเลสมันก็คาดหมายไป

เราปฏิบัติไปเถิด เราเรียนจากจิตของเรา เรียนจากประสบการณ์ของเรา เรียนจากความเป็นจริงของเรา สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นมาถ้าเราพยายามทำของเราขึ้นมานะ เว้นไว้แต่ถ้ากิเลสมันขับไส เห็นไหม เวลาผู้ประพฤติปฏิบัติไป ไปเห็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมา นี่ความเป็นไปนะ ถ้าเห็นนะ เวลาเกิดความสงบ ทำความสงบเห็นนิมิตต่างๆ เห็นสิ่งนั้น ถ้าเราไปติดสิ่งนั้น นี่เราก็อยู่ที่กรรมไง ถ้ากรรมมันพลัดพรากไปอย่างนั้น การขับไสไปอย่างนั้นเป็นสภาวะแบบนั้น ๑ นะ แต่ผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติ แต่เขาถือไสยศาสตร์โดยความผิดพลาดของเขา ถือผีถือสางต่างๆ สิ่งนั้นเขาหลงไปนะ ชีวิตนี้เป็นไปอย่างนั้น จะมีความทุกข์ไปอย่างนั้น เพราะว่าไปติดข้องกับสิ่งนั้นไง

จิตวิญญาณเรื่องของการเกิดและการตายนะ สิ่งนี้มีอยู่เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ยืนยันได้กับหัวใจของเราไง ในเมื่อเรามีจิตของเรา เรามีความรู้ของเรา เรามีความรู้สึกของเรา ถ้าเราตายจากปัจจุบันนี้ไป คุณงามความดีของเรามันเสวยทันทีไง จิตนี้จะขับเคลื่อนตลอดเวลา จิตนี้ไม่มีช่องว่าง นี่มันจะเกิดจะตายตลอดไป ถ้าตายของเรา เห็นไหม มนุษย์นี่เวลาตายไปแล้ว นาย ก ตายไปแล้วก็จบประวัติของนาย ก ตายไปแล้ว ไปเกิดใหม่เป็นนาย ข นาย ค นายอะไรก็แล้วแต่ จะเกิดเป็นคนใหม่ตลอดไป

แต่จิตขณะมันขับเคลื่อนไปนี่มันไม่มีช่วงเวลาช่วงว่างของมันเลย เกิดเป็นสัมภเวสี เกิดเป็นต่างๆ นี่ถ้าทำบาปอกุศลมาก เขาหิวกระหายของเขา จิตนี้มีอยู่ วิญญาณมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ เห็นไหม ถ้าเขามีสิ่งที่ว่าเขาต้องอาศัยกับจิตต่างๆ กับสิ่งที่เขามีอยู่ ทำไมเราต้องไปเคารพ ไปบูชาเขาล่ะ สิ่งที่บูชาเขา

เราทำบุญกุศลของเรา เราอุทิศส่วนกุศลของเราเพื่อเขา เราทำเพื่อเรา บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อย่างที่เขาทำบุญกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลเพื่อสิ่งนั้น เพื่อให้สิ่งนั้นเขามีความสุข เห็นไหม บุญกุศลเป็นอาหารของจิตวิญญาณนะ สิ่งที่บุญกุศลของเขา เขาต้องการบุญกุศลของเขาอย่างนั้นเพื่อขับผ่อนคลายความทุกข์ของเขาไง อุทิศส่วนกุศลให้กับจิตวิญญาณอย่างนั้นเพื่อให้เขาผ่อนคลาย เพราะเขาเป็นคนมืดบอด เวลาเขามีชีวิตอยู่ เขาไม่ทำบุญกุศลของเขา เขาไม่สร้างบุญกุศลของเขา

แต่สิ่งนี้มันเป็นสัตว์โลก เป็นจิตวิญญาณที่มีอยู่ เราอุทิศส่วนกุศลอย่างนั้นเพื่อเขา แต่เวลาเขาทำคุณไสยกัน เขามีสิ่งนี้กัน มันมาทับจิตของเรา ถ้าเราไปถือสิ่งเหล่านั้น เราก็ตกอยู่ในอำนาจของเขา เราจะไม่ถืออำนาจสิ่งนั้น เพราะเรามีที่พึ่งของเราแล้ว เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีรัตนตรัย ถ้าเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนั้นจะไม่มีคุณค่ากับสิ่งใดเลย จะไม่มีอำนาจในหัวใจของเราเลย แต่คนเขาก็ยังขับยังไพล่ไปเคารพสิ่งนั้น

เราประพฤติปฏิบัติ เราออกธุดงค์ในป่าในเขานะ มีสิ่งนี้อยู่ หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติ พวกจิตวิญญาณเขาเฝ้าถ้ำอยู่ เวลาไปเดินจงกรมปกตินี่เขาพาลนะ “ทำไมสมณะองค์นี้เดินจงกรมเหมือนกับม้าแข่งวิ่ง วิ่งให้เสียงดังนัก” หลวงปู่มั่นนะ ท่านรู้เรื่องวาระจิตของเขา เวลาเดินจงกรมต่อไปก็เดินจงกรมเพื่อจะไม่ให้เสียงดังไง “ทำไมสมณะนี้เดินเหมือนกับคนป่วย” นี่เขาเห็นนะ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เขารับเขารู้อยู่ตลอดเวลา นี่จิตวิญญาณมีอยู่โดยดั้งเดิม สิ่งที่เวียนตายเวียนเกิดโดยดั้งเดิม ฉะนั้น ถ้าอำนาจของเขา เขาพาลของเขาอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของเขา แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราทำบุญกุศลของเรา

ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ทำบุญกุศล เขาอุทิศส่วนกุศลสิ่งนั้นไป แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตเราสงบ เราทำคุณงามความดี เราอุทิศส่วนกุศลสิ่งนั้นตลอดไปให้ร่มเย็นเป็นสุขไง สิ่งที่ร่มเย็นเป็นสุข เราจะได้ประพฤติปฏิบัติด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเราปฏิบัติด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม ร่มเย็นเป็นสุขคือสถานะ คือสิ่งแวดล้อมนะ แต่หัวใจร่มเย็นเป็นสุขไหม

ถ้าหัวใจร่มเย็นเป็นสุข ในการประพฤติปฏิบัติของเรามันจะได้ผลมาตลอด ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ เรามีศรัทธามีความเชื่อ มีความชุ่มชื่นขึ้นมา มันมีความองอาจกล้าหาญ มันเป็นความร่มเย็นเป็นสุขปัจจุบันนี้นะ นี่ถ้าเรียนจากจิต เรียนสภาวะแบบนี้ เพราะเรามีความร่มเย็น เรามีความเป็นสุขของเราในหัวใจของเราที่มันอยากประพฤติปฏิบัติ

ถ้าประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาความจริงนะ เอาความจริงคือเอาธาตุรู้ เอาพลังงานอันนี้ให้อยู่กับเราให้ได้ ถ้าเอาพลังงานอันนี้อยู่กับเราได้ ความสงบจะเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าเราความสงบจะเกิดขึ้นมา เหตุในความสงบเกิดขึ้นมาจากอะไรล่ะ? เกิดขึ้นมาจากคำบริกรรม สิ่งที่บริกรรม เพราะธรรมชาติของธาตุรู้มันแสดงตัวของมันตลอดเวลา เวลามันคิดนะ มีอารมณ์เกิดขึ้นมาในหัวใจ อารมณ์สิ่งต่างๆ มันจะคิด

อย่างโลกเขาทำกัน เขาทำบริหารธุรกิจต่างๆ เขาต้องมีโครงการ เขาต้องมีการประชุมกัน การประชุมกันก็ถกปัญหาของโครงการนั้น ของธุรกิจของเขา เห็นไหม แต่เวลาจิต กิเลสมันอยู่ในหัวใจ เวลาสิ่งที่ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันประชุมกันนะ มันประชุมกันเกิดมาเป็นอารมณ์ของเรา เกิดเป็นความรู้สึก ความคิดนี่มันเกิดขึ้นมา นี่เวลาความคิดเกิด เกิดมาจากไหน เวลาเราไม่คิด มันมาจากไหน มันไม่ได้ประชุมกัน มันเลิกงาน แต่พลังงาน ธาตุรู้ของเรามีอยู่ ความรู้สึกของเรามีอยู่

แต่เวลาความคิดของเราเกิดขึ้นมานี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันประชุมกัน เกิดมาเป็นอารมณ์แขกจรมาถึงเรา จรมาในพลังงานนั้น คือในสถานที่นั้น นี่สภาวะจิตเป็นแบบนี้ ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมาแบบนี้ เราจะทำให้จิตนี้สงบขึ้นมาเพื่อจะเรียนความรู้สึก เรียนความเป็นไป จะเข้าไปหาพุทโธ จะเข้าไปหาหัวใจของเรา

เราถึงต้องมีคำบริกรรมไง เอาสิ่งที่มันประชุมกันเป็นความคิดที่มันเป็นความคิดให้เราเป็นอารมณ์ความรู้สึกนี้ เอามาเป็นพุทโธนี้เข้าไปให้สิ่งนี้เกาะเกี่ยว ให้สิ่งนี้เป็นอาหารของใจ ให้สิ่งที่มันประชุมกันในเรื่องพุทโธ พุทโธๆๆ หรืออานาปานสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ต่างๆ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมา ให้จิตมันแสดงตัวให้สิ่งที่แสดงตัวออกมา ถ้ามันแสดงตัวสิ่งนี้ออกมา มันจะพุทโธๆ ไป

ถ้ามีพุทโธเกาะไปนี่จิตมันจะมีสถานะของมัน มันจะมีที่เกาะเกี่ยวของมันไปก่อน สิ่งที่เกาะเกี่ยวไปก่อน เห็นไหม เหมือนเด็กๆ ที่มันจะเริ่มทำงาน เราจะฝึกงาน เราสมัครงานที่ไหน เราจะฝึกงานใหม่ เขาจะทดลองงานของเราก่อนว่าเราทำงานของเราได้ไหม นี่ก็เหมือนกัน เราจะทดลอง เราจะให้ใจของเราแสดงตัวออกมา เราให้กำหนดพุทโธๆๆ ให้จิตนี้เกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ เห็นไหม พุทโธๆๆ ถ้าเรามีสติ มันจะเป็นงานของเรา เราทำงานจะไม่มีการพลั้งเผลอ

ถ้าสติเราขาดไป เราสักแต่ว่าพุทโธๆ แต่ความคิดมันก็เข้ามา เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันสามารถประชุมกันได้ ถ้ามันสามารถประชุมกันได้มันก็ให้ความคิดของเราแยกออกไปจากคำว่าพุทโธ “พุทโธ” แล้วก็คิดอย่างอื่นเข้าไป แล้วก็กลับมาพุทโธอีก แล้วถึงสร้างสติขึ้นมา เห็นไหม เราต้องดึงสิ่งนี้เข้ามา สัมมาสมาธิเกิดขึ้นมา เราจะเกิดเป็นความสงบจากใจขึ้นมา ถ้าเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา จิตมันจะมีอารมณ์ความรู้สึกอีกอันหนึ่ง

จากความที่เราชุ่มชื่น เรามีความสุขมาก เพราะเราเป็นชาวพุทธ แล้วเราออกประพฤติปฏิบัติ เราจะมีความอิ่มเอมใจของเราว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราออกประพฤติปฏิบัตินี้เราเป็นนักรบ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระอานนท์ไว้ บอกพระอานนท์ให้บอกกับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญกุศลอย่างประเสริฐที่สุดคือการปฏิบัติบูชา ปฏิบัติ เห็นไหม พยายามประพฤติปฏิบัติ คือโอกาสอันนั้นมันเปิดกว้างไง นี้เราได้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เรามีความสดใส เรามีความชุ่มชื่นในหัวใจ เพราะเรามีศรัทธา มีความเชื่อ เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลามันไม่ได้ดั่งใจ เราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ความวิตกกังวลเกิดขึ้น ความลังเลสงสัยเกิดขึ้น ชีวิตผ่านไปวันหนึ่งๆ การประพฤติปฏิบัติของเรา เรากลัวว่าเราปฏิบัติแล้วเราไม่ได้ผล เราจะปฏิบัติอย่างไร

สิ่งนี้ ขณะที่ปฏิบัติ ความทุกข์อย่างนี้มันเกิดขึ้นมาไง นี่ถ้าเราทำปฏิบัติต่อไปๆ ความฟุ้งซ่าน ความคิด ความต่างๆ ความโต้แย้งของกิเลส เห็นไหม กิเลสมันมีอยู่ในหัวใจของเรานะ เวลาเราเรียนธรรม เรียนอย่างนี้ไง เรียนธรรม เรียนจิตของเรา เราเรียนว่า ถ้าศรัทธาความเชื่อเกิดขึ้นมา มีความสุขอันหนึ่ง เวลากิเลสขึ้นมา มันเกิดขึ้น ความลังเลสงสัย “เรามีอำนาจวาสนาน้อย เราประพฤติปฏิบัติแล้วไม่สมความมุ่งหมายของเรา เราทำแล้วไม่ได้ของเรา ทำไมผู้ปฏิบัติแล้วจะมีประสบความสำเร็จ ทำไมเรามันไม่มีความสำเร็จ” นี่มันจะตัดทอนความองอาจกล้าหาญของใจดวงนั้น ทำให้ใจดวงนี้คิดออกไป

แล้วสถานะของเราล่ะ สถานะของพระไง ถ้าเราเป็นพระของเรา เราได้ปัจจัย ๔ จากผู้ที่หวังบุญกุศลของเรา เราดำรงชีวิตของเราได้ แต่ในศีลธรรมของเราล่ะ ในศีลธรรมเครื่องดำเนินมีขอบเขตของเรา กิเลสมันก็เกาะเสี้ยม “เราออกไปแล้ว เราจะมีสถานะ เราจะมีความสุขอย่างนั้น มันเป็นไป”...ไม่มีหรอก สุขอันไหนจะเท่ากับความสงบของใจนี้ไม่มี เราแสวงหาความสุข ความจริงของเราขนาดนี้แล้ว กิเลสมันก็ขับไสให้เราคิดจินตนาการออกไปประสาโลกนะ ทั้งๆ ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ เพราะอะไร

นี่ปริยัติเขาก็เรียนกันอย่างนี้ เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่เขาปฏิบัติไม่ได้ เขาคาดหมายเป็นสัญญาอารมณ์ ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี่ กิเลสมันขับไสออกมามันก็เป็นความขับไสของมัน เป็นความคิดของมัน เห็นไหม มันต้องต่อสู้กับกิเลสไปทุกวิถีทางเลย ในการประพฤติปฏิบัติ เพราะกิเลสมันจะขับไสออกไป

เราที่ว่าเป็นนักรบๆ เรารบกับกิเลส เราต้องการใจของเราให้มีความสงบขึ้นมา ถ้าจิตของเราสงบขึ้นมาได้ด้วยบุญญาธิการของเรา บุญญาธิการนะ กำหนดพุทโธๆ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เรื่องของจิตเป็นความรู้สึก เป็นนามธรรม จนขนาดที่ว่าภาคปริยัติเขาบอกว่า “จิตนี้เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้นะ”...มันไม่มีหรอก มันเป็นนามธรรมเฉยๆ รูปธรรมต่างหากจับต้องได้

แต่ขณะที่จิตมันสงบขึ้นมา จากนามธรรม จากกำหนดพุทโธ จากมีสติสัมปชัญญะ มันจะเป็นรูปธรรมขึ้นมา รูปธรรมคือว่ามันเป็นสิ่งที่เรารับรู้ไง จิตนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมา จิตนี้เป็นอย่างนี้หนอ ความสงบเป็นอย่างนี้ มันมีความสุขของเราขึ้นมา เห็นไหม “เรียนจากจิต” มันเรียนอย่างนี้ เรียนจะเป็นปัจจัตตังนะ ขณะที่เป็นสมถะขนาดไหน มีความสงบขนาดไหน มันจะมีความสุขของมันขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง

สิ่งที่เป็นนามธรรม แล้วเรามีสติไง เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเราสร้างเป็นเอกัคคตารมณ์ นั่งกำหนดจิตเพื่อให้สงบเข้ามาๆ เห็นไหม เรียนจากจิต คือเรียนจากความรู้สึก คือเรียนจากหัวใจของเรา สิ่งที่เป็นนามธรรมก็เป็นปัจจัตตังขึ้นมาในหัวใจว่าเป็นรูปธรรมอย่างนี้ นี่ความสงบเกิดขึ้นมาอย่างนี้

ถ้ามีอำนาจวาสนามันจะเกิดเห็นสิ่งที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ใน จิต ในธรรม สิ่งที่เห็นสภาวะแบบนั้น นี่ถ้าจิตสงบเห็นสภาวะแบบนั้น เห็นขึ้นมามันจะมีความรู้สึกไปอีกอันหนึ่งนะ จิตสงบมันมีความสุข มีความร่มเย็นของมัน มันมีความพอใจ มีความสงบมาก แล้วให้น้อมไปเห็นกาย เห็นสภาวะกาย คือเห็นสภาวะที่มันเป็นสิ่งที่เป็นสภาวธรรม

เห็นกายอันหนึ่งจะมีความสะเทือนใจ แต่ถ้าเราพิจารณากายออกไปอีกชั้นหนึ่ง เห็นสภาวะเป็นไตรลักษณ์ สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขณะที่มันเป็นอนิจจัง เห็นไหม โลกเขาเป็นไป สิ่งที่เป็นไป เรื่องของนามธรรม ความสุขเกิดขึ้น แล้วก็เลือนไป หายไป เสื่อมไป มีเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปมันเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของมัน

ขณะที่เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์อีกส่วนหนึ่ง เห็นไตรลักษณ์ความเป็นไปของมัน สิ่งที่เป็นไปของมัน เพราะเราตั้งสัมมาสมาธิขึ้นมาได้ เพราะจิตมันสงบขึ้นมาได้ เรามีที่เรียนไง ถ้าจิตเราไม่สงบเราจะเรียนจากไหน? เรียนโดยสัญญา เรียนโดยนามธรรม เรียนโดยสิ่งที่ปริยัติเขาเรียนกันอยู่นี้ เขาเอาอาการของใจเรียน เอาสัญญาความจำได้หมายรู้เรียน

แต่ขณะเราเรียนประพฤติปฏิบัติ เราเรียนในการปฏิบัติของเรา พอจิตมันสงบขึ้นมามันเห็นสภาวะกายอย่างนี้ มันเรียนสภาวะแบบนี้ มันเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงนี้นะ นี่ความเห็นอย่างนี้ การปล่อยวางอย่างนี้ ความสุขอย่างนี้ มันจะมีมากกว่าเป็นสัมมาสมาธินะ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ ปล่อยวางจากอารมณ์ขึ้นมามันก็มีความสุขมหาศาลอยู่แล้ว สิ่งที่เห็นตามความเป็นจริง ในการเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วมันเป็นเห็นความเป็นไปของมัน เป็นปฏิภาคะ คือความเป็นไปของมัน แล้วมันปล่อยวางของมันขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง นี่สภาวะแบบนั้นมันจะเห็นลึกเข้าไปกว่านั้นนะ สิ่งที่ลึกไปกว่านั้น นี่คือผล

เวลาเขาเรียนปริยัติ เขาเรียนทางโลก เขาต้องให้ครูบาอาจารย์เป็นผู้ตรวจสอบ ส่งแล้วเป็นผู้ให้คะแนนตรวจสอบว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ในการปฏิบัติของเรา เรียนจากจิตนี้มันเป็นความจริงตลอดเวลานะ ธรรมจะเป็นผู้เห็นว่าเราปล่อยวางได้หรือไม่ได้ ถ้าเราวิปัสสนาเห็นกายแล้วนี่มันปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวางออกไป นี่ปล่อยวางแล้วกิเลสมันสงบยุบยอบตัวลงๆ ถ้าเราวิปัสสนาบ่อยครั้งเข้าไง

ถ้าเรามีสติ เรามีความเข้าใจ เราจะทำซ้ำของเรา เราจะวิปัสสนาต่อเนื่องๆ ไป ความต่อเนื่องอันนั้นมันจะเป็นผลของเราขึ้นมา จะเป็นสิ่งที่จิตมันจะปล่อยวางเข้ามาถึงต่อเนื่อง แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วกิเลส ความเห็นของเรา เห็นว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เพราะปริยัติว่าว่าอย่างนี้ ว่าเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วเราพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง นี่มันจะไปเรียกร้องเอาผลนะ

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นกลาง สิ่งที่เป็นกลาง คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางเป็นเป็นกลาง เพราะคนเรากิเลสหยาบก็มี กิเลสบางก็มี กิเลสคือว่าความเป็นไปความยึดมั่นถือมั่นของใจ การวิปัสสนาเป็นขั้นเป็นตอนมันจะปล่อยวางเป็นขั้นเป็นตอนของมัน

สิ่งที่ปล่อยวาง จะบอกว่า ให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ถึงวางไว้เป็นกลาง กลางให้เราได้ใคร่ครวญของเราเอง ถ้าเราใคร่ครวญของเราเอง เห็นไหม กิเลสมันไปยึดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เราพิจารณากายแล้ว เราปล่อยวางกายแล้ว” แล้วมันไปเรียกร้องผลเอาสิ่งนั้นนะ

สิ่งที่ไปเรียกร้องเอาผล แต่มันไม่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติไง เราไม่ใช่เรียนจากจิต ผลเกิดจากจิต ถ้าผลเกิดจากจิต สิ่งที่เกิดจากจิตนี้เกิดจากความเป็นธรรมอย่างนี้ เห็นไหม ภาวนามยปัญญามันจะเคลื่อนหลุดออกไป สิ่งที่เป็นภาวนามยปัญญาเคลื่อนออกไป สิ่งนั้นมันจะปล่อยวางซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าเราไม่ซ้ำ เวลามันปล่อยวางอย่างนั้น เราไปเรียกร้องเอากับตู้พระไตรปิฎกไง เรียกร้องเอาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่กิเลสมันไพล่ไปนะ ไพล่ไปให้เรียกร้อง

เรียกร้องอย่างไรก็ไม่ได้ผล เพราะมันไม่ได้เกิดจากปัจจัตตัง มันไม่เกิดจากหัวใจของเรา มันไม่เกิดจากสิ่งที่เราเรียนรู้จากธรรมะในหัวใจของเรา สิ่งที่เราเรียนรู้ในธรรมะในหัวใจของเรา มันจะเกิดขึ้นมาจากเรา สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเรา สิ่งนี้จะเป็นความจริงขึ้นมาทั้งหมด สิ่งที่เป็นความจริงขึ้นมามันเกิดจากภาวนาของเรา เกิดจากปัญญาของเรา สิ่งที่ปัญญา การเรียนรู้อย่างนี้มันจะโต้ตอบในหัวใจของเราระหว่างกิเลสกับธรรมนะ ถ้ากิเลสมันมีอำนาจมากกว่า มันจะขับไสให้การประพฤติปฏิบัติของเราส่งออกไป แล้วจะไปเรียกร้องเอาธรรม นี่จะเป็นความทุกข์มาก เพราะจิตนี้เจริญแล้วเสื่อม สิ่งนี้เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เจริญแล้วเสื่อม

แล้วถ้ามันเสื่อมไปต่อหน้า เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นใหม่ก็ต้องไปค้นคว้าสิ่งนี้ใหม่ ต้องไปเรียนจากจิต คือต้องทำให้จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา เห็นไหม จิตนี้เป็นผู้ค้นคว้า จิตนี้เป็นผู้ไปเห็นกาย จิตนี้เป็นผู้ที่ไปรับรู้เวทนา จิตนี้เป็นผู้ไปเห็นจิต จิตนี้รู้เห็นสภาวธรรม ธรรมคือความกระทบกระเทือนในหัวใจ สิ่งที่สัมผัสกับใจ ใจสัมผัสกับอารมณ์ สัมผัสกับความรู้สึก นั้นคือสภาวธรรม นี่มันจะไปเรียนรู้จากนั้น

ถ้าจิตเราไม่สงบ สิ่งนี้มันจะละเอียดไปเรียนรู้สิ่งนั้นไม่ได้ ถ้าเรียนรู้สิ่งนั้นไม่ได้มันก็เป็นสัญญาอารมณ์ สิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์เราก็เรียนออกไป เห็นไหม นี่ส่งออกมาแบบปริยัติเขาเรียนกันโดยสัญญา สิ่งที่สัญญาอารมณ์เขาเรียนมา เขาจำมา สิ่งที่จำมาแก้กิเลสไม่ได้นะ แล้วเราออกประพฤติปฏิบัติ เราจะเรียนจากจิตของเราเอง สิ่งที่เรียนจากจิตของเราเอง เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราปฏิบัติบูชา สิ่งที่ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติเข้ามานี่เพราะมีอำนาจวาสนา เพราะเรามีความองอาจกล้าหาญในการเข้ามารื้อค้นสิ่งที่ละเอียดอ่อนในหัวใจ

สิ่งที่เป็นนามธรรมที่มันละเอียดอ่อน เราค้นคว้าเข้าไปจนเห็นความสงบของใจ เห็นจิตของเรา แล้วเรายกจิตของเราวิปัสสนา นี่การวิปัสสนานะ จิตดวงนี้มันเป็นนามธรรมที่มันละเอียดอ่อนมาก แล้ววิปัสสนาไป แล้วมันปล่อยวางๆ แต่เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันขับไสขึ้นมาจนให้การประพฤติปฏิบัติของเรา เราส่งออกไปค้นคว้าไง จะไปเรียกร้องเอาธรรมจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อกาลิโก ธรรมนี่ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เอหิปัสสิโก คือเรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรมต่างหาก แต่เราไปเรียกร้องเอากับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ใช่เรียกร้องให้เข้ามาดูธรรมของเรา ถ้าเรียกร้องเข้ามาดูธรรมของเรานะ เวลามันวิปัสสนาไปๆ เห็นสภาวะกายต่างๆ มันจะต้องย้อนกลับไปที่เหตุ สิ่งที่เหตุนี้เราเห็นเพราะเหตุใด

กายนี้ สิ่งที่ว่าตาของใจไปเห็น เวลาเห็นนี่มันมีความองอาจกล้าหาญมาก มันมีความรับรู้ มันมีความสะเทือนใจ เพราะถ้าเราเห็นอย่างนี้ได้ เราจะได้เรียนธรรมแล้ว เราจะได้เรียนธรรม เรียนประพฤติปฏิบัติ นี่เราออกประพฤติปฏิบัติ เราเป็นพระปฏิบัติ เราเป็นพระธุดงคกรรมฐาน เราจะชำระกิเลส ถ้าการเรียนอย่างนี้ ผลของมันคือการชำระกิเลส สิ่งที่ชำระกิเลสออกไปจากใจนี่เริ่มเบาบางลง ถ้ากิเลสมันเริ่มเบาบางลงจากใจของเรา นี่เราเป็นผู้รับผลนั้นไง เราเป็นศากยบุตรนะ

เพราะเราปฏิบัติธรรมแล้วมีผลขึ้นมาจากใจของเรา เราเป็นศากยบุตรรบกับกิเลส รบกับความเห็นผิดของใจของเรา ความเห็นผิดของใจของเราเพราะมันไปยึดมั่นถือมั่น ชีวิตนี้คือเรา ร่างกายนี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา สิ่งนี้เป็นเราทั้งหมดเลย แต่เราไปเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะเห็นผลว่าสิ่งที่ไม่เป็นเราเพราะอะไร

เพราะสิ่งนั้นมันเป็นสภาวะตามความเป็นจริง เห็นไหม เราเห็นได้ ขณะที่เราไปเห็นสิ่งความเป็นจริงสิ่งนี้ได้ว่าสิ่งนี้มันแปรสภาพตลอดไป เพราะมันใคร่ครวญไปแล้วมันจะแปรสภาพ เดี๋ยวนั้นๆ เพราะอะไร เพราะมันเป็นความจริงอันนั้น มันเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะปล่อยวางเดี๋ยวนั้น ถ้าการปล่อยวางเดี๋ยวนั้น นั้นเป็นผลงานของเรา นั้นคือการประพฤติปฏิบัติของเรา

เราศึกษาธรรมขนาดนั้น เราเรียนของเราขนาดนั้น จะเป็นบุญกุศลของเรามหาศาลเลย บุญกุศลนะ เพราะความเห็นจริง เห็นสภาวธรรมมันจะเป็นกุศล บุญกุศลเกิดขึ้นมาจากใจ สิ่งที่บุญกุศลเกิดขึ้นมาจากใจ เห็นไหม บุญคือความสุขไง มันจะมีความสุขมาก สิ่งที่มีความสุขมาก แล้วเราอุทิศส่วนกุศลอย่างนี้ออกไปให้...สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมมันเป็นอนัตตาอย่างนั้น แล้วก็สรรพสัตว์ทั้งหลาย สัพเพ สัตตา สรรพสัตว์ทั้งหลาย ออกให้อุทิศส่วนกุศลนั้นกันไป สิ่งนี้จะเป็นบุญกุศล บุญกุศลจากใจของเรา เราก็จะเป็นบุญกุศลกับสัตว์โลก สิ่งที่เป็นสัตว์โลกเขาต้องการบุญสิ่งนี้

เราเห็นธรรม สภาวธรรมแบบนี้ เราเห็นสิ่งนี้เกิดมาจากใจ เราถึงต้องทำสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเราจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ สัตตะคือสัตว์ผู้ข้อง ตัวนี้ สัตว์คือสัตว์เรา สัตว์โลกเรานี่แหละ สิ่งที่หัวใจมันข้องเกี่ยวไปกับกิเลสตัณหา ขณะที่ประพฤติปฏิบัติเห็นไตรลักษณะ สิ่งที่เห็นไตรลักษณ์ เกิดขึ้นมาจากไตรลักษณ์ไง ถ้าจิตมันพิจารณาแล้ว ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ตลอดไป นี่เรียนธรรมต้องเรียนอย่างนี้ ถ้าเรียนอย่างนี้เกิดขึ้นมา นี่ย้อนไปที่เหตุนั้น

ถ้ามันเสื่อมสภาวะ เสื่อมคือว่าสิ่งนี้มันไม่...เราต้องตั้งต้น เป็นอานาปานสติ กำหนดลมก็ต้องกลับไปที่ลม ถ้ากำหนดพุทโธก็ต้องกลับไปที่พุทโธ กลับกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ต้องรักษาสิ่งนี้ตลอด ถ้ารักษาสิ่งนี้ เราจะมีห้องเรียน ถ้ารักษาสิ่งนี้คือจิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามานี่สงบเข้ามาแล้วมันมีกำลังงาน เราออกไปวิปัสสนามันก็จะเป็นผลไง คือว่าธรรมจะให้คะแนนตลอดนะ เราจะให้คะแนนเราไม่ได้ ยิ่งกิเลสให้คะแนนมันจะไปเรียกร้องเอาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ถ้าเราวิปัสสนาไปนี่มันจะปล่อยวาง จะปล่อยวางขนาดไหน ถ้ากำลังไม่พอ คือพิจารณาไปเห็นกายก็เห็นภาพไม่ชัด ถ้าวิปัสสนาไปมันก็เห็นไม่เป็นตามความเป็นจริง มันจะมีการยื้อกัน เพราะมันไม่ปล่อย คือว่ามันไม่ย่อยสลายไป แต่ถ้าเราจะย่อยสลายไป เราถึงต้องกลับมาที่สมถะ กลับมาที่ความสงบนี้ ถ้ามีความสงบนี้ เพราะมีความสงบนี้มันถึงเห็นสภาวะแบบนั้น ถึงจะเห็นกายแบบนั้น เพราะความสงบนี้มันถึงเห็นกำลังอย่างนี้ มันวิปัสสนาไป กายแบบนั้นถึงจะย่อยสลายไป ถึงจะทำลายไป กายเป็นน้ำ เป็นดิน เป็นลม เป็นไฟ ไปต่อหน้าต่อตา

สิ่งที่ต่อหน้าต่อตา นี่ทำบ่อยครั้งเข้าๆ สภาวะแบบนี้ไง จะสูงส่งขนาดไหน วิปัสสนาขนาดไหน จะต้องกลับมาสมถะตลอด สิ่งที่กลับมาสมถะ เพราะกลับไปหาผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สิ่งที่ผู้รู้นี่ สถานะความเป็นจริงอันนี้ จิตอันนี้มันจะเข้าไปวิปัสสนา เห็นไหม “เรียนจากจิต” จิตนี้ออกไปเรียนวิชาการต่างๆ ออกไปเรียนในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สภาวธรรม สภาวะอย่างนี้มันจะปล่อยวางเข้ามา

แล้วเวลาจิตมันสงบเข้ามาเห็นต่างๆ เห็นเป็นนิมิต เห็นไปรับรู้สิ่งที่ว่าเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมมาอนุโมทนากับเรา สิ่งนั้นเขาอนุโมทนากับเรา วางไว้ เพราะสภาวะของการเกิดและการตาย จิตนี้เกิดและตายมาในสภาวะแบบนี้ มันมีเครือญาติ มีสิ่งที่ทำบุญกุศลไว้ต่อเนื่องกัน เขาจะอนุโมทนากับเราขนาดไหน เขาจะมาส่งเสริมขนาดไหน นั้นวางไว้ เพราะนั่นไม่ใช่อริยสัจ

สิ่งที่เป็นอริยสัจมันคือว่า กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งที่เป็นอริยสัจ ธรรมคือสภาวธรรม คือสภาวะ คือมรรคญาณอันนี้ เราจะเอาสิ่งนี้ขึ้นมา นี่เราเรียนตรงนี้ เรียนเข้ามาตรงนี้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจิตมันส่งออกนะ เห็นสภาวะต่างๆ ว่าเป็นสภาวธรรม เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมไง

ธรรมมันจะเกิดขึ้นมาเพราะวิปัสสนาต่างหาก ถ้าวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำเข้าไปด้วยสติด้วยสัมปชัญญะ ถ้ามีสติ งานนี้จะสมบูรณ์นะ ถ้าขาดสติ มันเป็นสักแต่ว่าทำ ๑ การให้เนิ่นช้า ๑ นี่มันจะส่งออกไป มันจะมุดออกไป เพราะมันไม่มีใครควบคุมไง สติจะเป็นพี่เลี้ยงของหัวใจนี้ จะควบคุมใจนี้ให้ทำงานเป็นประโยชน์กับเราตลอดไป นี่งานของพระกรรมฐานเรา งานของผู้ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ คืองานค้นคว้าจากในหัวใจนี้

ถ้าค้นคว้าจากในหัวใจนี้ มันจะค้นคว้าจากไหนล่ะ ถ้าไม่ค้นคว้าจากการนั่งสมาธิ ในการเดินจงกรม ในการตรึกในธรรม ในการตรึกในสภาวธรรมอันนี้ ในปัญญาจะเกิดขึ้นมา นี่งานนี้เป็นงานอย่างเอก งานนี้เป็นงานที่ประเสริฐมากนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาตรงนี้ไง ถ้างานอย่างนี้เกิดขึ้นคือภาวนาเป็นแล้วนะ ถ้าภาวนาเป็น มันจะมีงานมีการ ระยะทางที่จะก้าวเดินไปอีกมหาศาลนะ เราจะต้องก้าวเดินเข้าไปในหัวใจของเรา ในจิตมันจะก้าวเดินไป มรรคอย่างละเอียดจะลึกซึ้งเข้ามาในหัวใจ

ลึกซึ้งถ้าจิตสงบเข้ามา มันปล่อยวางจากอาการของใจเข้ามา งานของเราคือการงานจากภายใน งานของภายใน เห็นไหม งานจากภายนอกเขาใช้สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งของเขา เขาใช้ปัญญา ใช้ความคิด ความปรุง ความแต่งอันนี้ เพราะไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีสมาธิ มันคิดขนาดไหนเขาคิดได้เพราะความคิดเกิดดับ แล้วก็ล้ามาก เหนื่อยมาก

แต่ขณะที่เป็นงานของเรา มันก็เป็นสังขารนะ แต่สังขารนี้มีสัมมาสมาธิรองรับไง ถ้ามีสัมมาสมาธิรองรับขึ้นมา เวลาปัญญามันเกิด สังขาร ความปรุง ความแต่งนี่แหละ แต่ปัญญามีสัมมาสมาธิมารองรับ มันจะย้อนกลับมาเป็นโลกุตตรธรรม ปัญญานี้เป็นภาวนามยปัญญา โลกุตตรธรรมนี่ย้อนเข้ามาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วมันจะแยกแยะออกไป

แยก คือว่า พิจารณาจิต ก็เห็นว่าจิตนี้มันทำงานอย่างไร จิตนี้ไปเกาะเกี่ยวกายอย่างไร มันเกาะเกี่ยว จิตนี้เกาะเกี่ยวเพราะมันเป็นสัญญา ไปยึดมั่นถือมั่น เห็นไหม วิปัสสนาอย่างนี้มันจะปล่อยวางกายเข้ามา

ถ้าเราเห็นกาย วิปัสสนากายไป สิ่งที่วิปัสสนากาย กายนี้เห็นสภาวะรูปของกาย จะกายนี้ให้มันแปรสภาพไป สิ่งที่แปรสภาพไป ถ้าเป็นเรื่องของภาวนามยปัญญา เรื่องของจิตหยาบ ๑ เพราะจิตนี้มันวิปัสสนาไปโดยเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม เกาะเกี่ยวกับกายอย่างไร เป็นกายอย่างไร เห็นจิตนี้คิดอย่างไร ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด เวลาวิปัสสนาไปมันจะปล่อยวางๆ สิ่งนี้มันเป็นปัญญานะ

แต่ถ้าพิจารณากายโดยเห็นภาพกาย ปัญญาของเราคือใช้พลังงานของเรา ให้กายนี้แปรสภาพ ปัญญาคือเห็นกายแปรสภาพแล้วปัญญามันเกิด ปัญญามันเกิดคือความเข้าใจ เห็นสภาวะแล้วมันจะ อ๋อ! อ๋อ! เป็นอย่างนี้หรือ มันสลดสังเวชไง มีปัญญาคือรำพึงให้กายนี้แปรสภาพ ให้แปรสภาพให้เราดูไง เราดูนี่เราเพ่ง ความเพ่งดูโดยมีปัญญาอันนี้ โดยมีสัมมาสมาธิรองรับ นี่การพิจารณากายเห็นกาย กายมันแปรสภาพให้เราดู มันดูจนไม่มีสถานะรองรับ ไม่มีกาย ไม่มีสิ่งใดเลย เพราะมันคืนสู่สภาพเดิมของมันทั้งหมด พอสู่สภาพเดิมของมันทั้งหมด จิตมันก็ปล่อย

นี่เวลาจิตมันปล่อย ปัญญาในการวิปัสสนากาย คือเห็นภาพ ดูภาพ เพ่งเห็นภาพให้ภาพนั้นแปรสภาพไป ภาพนั้นแปรสภาพไปมันก็ปล่อยวาง พิจารณาจิตต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญในจิตให้แยกแยะในจิต ความแยกแยะในจิต จิตมันเกาะเกี่ยวอย่างใด เห็นไหม นี่มันถึงเป็นจริต มันถึงเป็นนิสัย สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ต่างกัน

วิปัสสนาเวทนา ถ้ากำลังพอ วิปัสสนาเวทนาไป เวทนาเป็นเราหรือ สิ่งนี้เป็นเราหรือ? มันไม่มีสิ่งใดเป็นเราเลย ถ้าไม่เป็นเรา เราไปยึดมั่นถือมั่นมันเพื่ออะไร เราไปยึดมั่นถือมั่น ใครไปยึดมั่นถือมั่นล่ะ เพราะไอ้จิตตัวโง่ๆ นี่แหละไปยึดมั่น เพราะมันโง่เอง แล้วถ้ามันมีปัญญาขึ้นมา ฉลาด ฉลาดตรงไหนล่ะ? ฉลาดเห็นว่าเห็นตามความเป็นจริงของมัน ถ้ามันปล่อยวาง เวทนานั้นก็เบาลง เวทนานั้นก็หายไปไง ถ้าเวทนามันปล่อยวาง มันปล่อยวาง ๕๐-๕๐ มันก็ชา มันยันกันไว้นะ แต่ถ้าเราเห็นความเป็นจริง มันจะปล่อยหมดนะ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตสักแต่ว่าจิต มันปล่อยวาง ว่างเข้ามา เห็นไหม วิปัสสนาเวทนา

วิปัสสนาจิต จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส นี่มันเป็นจริต มันเป็นนิสัย วิปัสสนาธรรมก็คือสภาวธรรมที่พิจารณากายโดยจิตนั่นล่ะ สิ่งนี้มันเป็นไป จริตนิสัยมันแยกแยะออกไป

ถ้ามีสัมมาสมาธิ มันเป็นสังขารปรุง สังขารแต่งเหมือนกัน แต่มันเป็นโลกุตตรธรรม มันเป็นภาวนามยปัญญา สิ่งที่จะเป็นภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นมาโดยพุทโธนั่นล่ะ โดยสมถะนี่แหละ สมถะถึงสำคัญมาก

สมถะเป็นส่วนหนึ่งนะ สัมมาสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ล้านเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ปัญญา สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เป็นโลกียะ เป็นปัญญาของโลกเขา เห็นไหม เขาจะคิดขนาดไหน เขาจะเมื่อยล้า ผู้ที่บริหารบริหารธุรกิจของเขา เขาจะเหนื่อย เขาจะเครียดขนาดไหน ถ้าเขาคิดขึ้นมาความคิดเขาเกิด เห็นไหม สังขารมันมีอยู่แล้ว ขันธ์ ๕ มันมีอยู่โดยธรรมชาติของเรา

แต่ถ้าสังขาร ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา เป็นการปฏิบัติของเรา ถ้าเราใช้สังขารอย่างนี้ นี่มันเป็นเรื่องของโลก เพราะไม่มีสัมมาสมาธิรองรับอย่างนี้ มันเป็นสังขาร เป็นเรื่องของกิเลส มันยังไม่เป็นไปเลย มันจะไม่เป็นปัญญาโลกุตตรธรรม แต่ถ้ามันเป็นสังขาร มันเป็นสัญญาอย่างนั้น เป็นสัญญา เป็นความจำได้หมายรู้อย่างนั้น มันเป็นเรื่องของโลกแล้ว เราต้องกลับมาที่สงบ

ในการประพฤติปฏิบัติ สังขารที่เกิดขึ้นมา ปัญญาที่เกิดขึ้นมา มันต้องมีสัมมาสมาธิมารองรับไง คือว่าสัมมาสมาธิที่ล้านเปอร์เซ็นต์นี้ที่ฆ่ากิเลสไม่ได้นี่มันจะไปหนุนให้สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งอันนี้มันเป็นธรรม ถ้าสิ่งนี้เป็นธรรม เวลามันคิด มันวิปัสสนาไป มันจะแยกแยะ มันจะปล่อยวางไป

สิ่งที่ปล่อยวาง ความสมดุลอันนี้มันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่ความหยาบ ความหนาของกิเลสของแต่ละบุคคล ขิปปาภิญญา ความรู้เร็วเห็นเร็วมันจะเป็นไปรวดเร็วมาก แต่ถ้าเราสร้างสมของเรามาไม่ขนาดนั้น มันจะต้องถูต้องไถนะ ต้องวิปัสสนาไปบ่อยครั้งเข้า ไม่ต้องไปห่วงอดีตอนาคตว่าเราวิปัสสนาไปแล้วจะต้องรู้เร็วอย่างนั้น เมื่อก่อน เมื่อครั้งที่แล้วเราวิปัสสนาไปมันจะมีเข้าใจเร็วมาก เดี๋ยวนี้ทำไมมันช้ามาก ขนาดวิปัสสนาไป ปัญญามันหมุนไปแล้วทำไมมันไม่ปล่อย

สิ่งที่ไม่ปล่อยก็ไม่สำคัญ เพราะความเร็วความช้านี้มันอยู่ที่จังหวะ อยู่ที่ความสมดุล อยู่ที่ความเป็นไปของธรรมที่มันจะเกิดขึ้น เราเรียนจากจิตนี้ให้จิตมันเป็นไปตามความเป็นจริงปกติของมัน ให้มันเป็นตามความเป็นจริงของมัน ถ้าเป็นความเป็นจริงของมันขนาดไหนที่มันเรียนรู้แล้วเข้าใจอย่างนั้น มันปล่อยวางสิ่งนั้น นั้นเป็นความจริงไง

แต่ถ้าเราต้องการว่า ทำไมมันช้า ทำไมมันไม่เป็นเหมือนครั้งก่อน ทำไมมันไม่เป็น...นั้นคือสัญญาเกิดแล้วนะ สัญญาคือความเทียบเคียงกับอดีตอนาคต เพราะครั้งก่อนก็คืออดีตชัดเจนอยู่แล้ว แล้วทำไมไปเทียบกับครั้งก่อน มันก็ไปดึงอดีตอนาคต ไปเอาเมื่อวานกับพรุ่งนี้มาเป็นวันปัจจุบันไง ชีวิตคือลมหายใจเข้าและลมหายใจออกในปัจจุบันนี้เท่านั้นนะ

ถ้าอยู่ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ถ้าใครมีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้สติอยู่ตลอดเวลา ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุด นี้ในปัจจุบันธรรมไง ถ้าเราพิจารณาในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เป็นปัจจุบันสำคัญที่สุด ฉะนั้น มันจะช้ามันจะเร็วไม่สำคัญ อย่าไปหน่วงอดีตอนาคตมาอยู่ในปัจจุบันนี้ มันจะเป็นอดีตอนาคต มันไม่เป็นปัจจุบัน แล้วมันยิ่งจะช้าไปอีกถ้ามันไม่ปล่อยวางนะ แล้วถ้ามันปล่อยวางไม่ได้ คือปัญญาพิจารณาไปแล้วกำลังมันไม่พอนะ เราต้องวางงานสิ่งนั้นเลย

ขณะขั้นของปัญญา มันจะกว้างขวาง มันจะพิจารณาของมันไป นี่เวลาเป็นปัญญานะ แล้วถ้าปัญญา สัมมาสมาธิมันกำลังไม่พอนี่มันจะเป็นสัญญา เราถึงต้องปล่อย เรื่องของปัญญานี่กว้างขวางมาก แล้วเราต้องปล่อยปัญญาด้วย แล้วเรากลับไปที่สัมมาสมาธิ กลับไปที่พุทโธให้ได้ สร้างพลังงานอันนี้ให้ได้ ความสมดุลอย่างนี้มันอยู่ที่ความสมดุลของที่เราสร้างสมเป็นจริต เป็นนิสัยของเรา นี่ต้องหมั่นดูตรงนี้นะ

ถ้ามันเป็นปัญญาออกไป มันพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง อย่างนั้นถูกต้อง อย่างนั้นเราก็ก้าวเดินไป แล้วถ้ามันเหนื่อย มันพิจารณาไปแล้วมันไม่ปล่อยวาง เราต้องกลับมาที่สัมมาสมาธิ หรือเราพิจารณาไปแล้วมันไม่เป็นไป เราก็ต้องกลับมาที่สมาธิ ผู้รู้และสตินี้สำคัญมาก ต้องกลับมาตรงนี้ตลอด แล้วกลับมาตรงนี้ ถ้าเราวิปัสสนากาย เห็นกายโดยตามความเป็นจริงนะ เรากลับมาที่ผู้รู้ พุทโธๆๆ นี่ แล้วกลับมาย้ำตรงนี้

ถ้าพลังงานตรงนี้มันเสมอภาค มันก็จะไปเห็นกายสภาวะแบบนั้นอีก สิ่งเห็นสภาวะกายแบบนี้ เราไม่ต้องไปตื่นเต้นกับความเห็นนั้น เราต้องอยู่กับสติอันนี้ ถ้าสติกับผู้รู้นี้ชัดเจน พลังงานนี้มากขึ้น ภาพนั้นจะชัดเจนมาก แล้วเรารำพึงไป ถ้าสติ สมาธิดีมาก ภาพนั้นจะคมชัดมาก ถ้าคมชัดมาก สติกับสมาธิมีความจำเป็น มีความสำคัญ

แต่ถ้าสติ สมาธิ มันเข้มแข็ง แบบว่าสมาธิดีมาก ภาพนั้นมันก็ไม่แปรสภาพ ต้องใช้ปัญญาให้มากขึ้น ถ้าปัญญา สมาธิสมดุล ความสมดุลของมันนี่มันจะปล่อยวางๆ สิ่งที่สมดุลที่เป็นความปล่อยวางนั้น นี่เรียนจากใจ เรียนอย่างนี้ไง

ความสมดุล ความปล่อยวาง นั้นคือมรรคมันสัมปยุตกัน มรรครวมตัว นี่สติชอบ ปัญญาชอบ เพียรชอบ งานชอบ สิ่งที่เป็นความชอบของมัน มันจะสมดุลของมัน นี่ที่เราวิปัสสนากัน เราทำกันเพื่อตรงนี้ไง เพื่อให้มรรคสมดุล ให้มรรคสามัคคี ถ้ามรรคสามัคคีเมื่อไร มัชฌิมาปฏิปทานี่ คำว่า “ความเป็นกลาง” กลางที่มรรคสามัคคี มรรคปฏิปทามันสำคัญตรงนี้ สำคัญที่มันเป็นใจที่เราเรียนจากจิต จิตนี้มันสมดุล

สิ่งที่สมดุลนี้เป็นอาการของใจทั้งหมดนะ สิ่งที่อาการที่มรรคมันรวมเป็นสมดุลของมัน สัมปยุตของมันขึ้นไป มันสัมปยุตมันก็ปล่อยๆ เห็นไหม วิปัสสนาเพื่อเหตุนี้ เพื่อให้ปัญญามันก้าวเดินออกไปแล้วชำระกิเลสออกไป ปล่อยวางซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุดมันจะมีเหตุผลของมัน มันจะขาดไปของมัน

ถ้ามันมีเหตุผลของมันนะ เวลาขาดออกไปมันจะสมดุลมาก นี่ขั้นของปัญญา ปัญญาทั้งด้นของครูบาอาจารย์ที่ยกให้เรานี่ สิ่งนี้จะเรียนจากไหนก็ไม่รู้ เรียนจากครูบาอาจารย์นะ เรียนจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่รู้ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการสอนมาอย่างนี้ นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วภาคปริยัติไปยึดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นธรรมของเราเอง เป็นไปไม่ได้เลย

ขณะที่เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะมีความเมตตาลูกศิษย์ลูกหามากนะ เพราะครูบาอาจารย์จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นมาในหัวใจได้ก็ต้องทุ่มทั้งชีวิต ครูบาอาจารย์เราเอาชีวิตแลกสิ่งนี้ขึ้นมา เอาสิ่งนี้แลกมา แลกมาเพราะในการประพฤติปฏิบัติโดยความเป็นจริงของใจ แล้วสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นปัญญาของเรา มันจะมีความแยบคายของมัน มันจะมีความสมดุลของมัน มันจะเข้าไปชำระกิเลสของมัน

แต่ถ้าครูบาอาจารย์บอกว่า “ปัญญาเป็นอย่างนั้นๆ” เราก็จะคิดให้เป็นปัญญาของเรา มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นคนละหัวใจ มันเป็นคนละอำนาจวาสนา มันเป็นคนละบารมี บารมีของครูบาอาจารย์ก็เป็นบารมีของท่าน ถ้าวิปัสสนาขนาดระดับนั้นแล้วมันปล่อยวางตามความเป็นจริงของท่าน แล้วบารมีของเรา เรามีความทุกข์ความยากของเราขนาดไหน ถ้ามันเป็นของเรามันจะเป็นปัญญาของเรา มันถึงต้องเรียนจากใจของเราจริงๆ มันต้องเรียนจากจิตของเราจริงๆ ธรรมต้องเกิดขึ้นมาจากใจของเราจริงๆ มันถึงจะเป็นปัญญาของเราไง

ถ้าเป็นปัญญาของเรา มันจะปล่อยวางตามความเป็นจริงในปัญญาของเรานั้น ถ้ามันปล่อยตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของเรานั้น มันจะเห็นสังโยชน์ขาดออกไป สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพพตปรามาส จะขาดออกไป สิ่งนี้จะเป็นความจริง เห็นไหม นี่เรียนจากใจ เห็นสภาวะใจอย่างนี้ ใจเรียนใจ ใจเรียนสภาวธรรมอย่างนี้ วิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วมันจะมีความเป็นจริงของมัน

สิ่งที่หยาบ แล้วสิ่งที่ละเอียดล่ะ ละเอียดมันก็มีความจริงของมันลึกเข้าไป เห็นไหม สติมันจะย้อนกลับเข้าไป สติกับผู้รู้จะละเอียดเข้าไป เพราะโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรคมันต่างกัน ต่างกันเพราะความลึกความตื้นต่างกัน นี่มรรคหยาบ ถึงเราใช้มรรคโดยสมบูรณ์มาก เราใช้มรรคโดยความเป็นจริง โดยสัมปยุตเข้ามา มันสมุจเฉทปหานขาดออกไป เห็นไหม สิ่งนั้นใช้หมดไปแล้ว เราถึงต้องทำผู้รู้ขึ้นมา พุทโธๆ ให้ละเอียดเข้าไป เพื่อจะจับสิ่งที่ละเอียดเข้าไป นี่อาการของใจจะมีอย่างนี้ตลอดไป

อาการของใจ เห็นไหม โลกเขาเป็นอาการของใจ แต่อาการของจิต เพราะขันธ์ไม่ใช่จิต อาการของใจคืออาการของขันธ์ ขันธ์นี้มีกิเลสยึดมั่น ขันธ์อย่างหยาบ ถ้าเราวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม จนมันปล่อยวางตามความเป็นจริงอย่างนั้น ขันธ์ระดับนี้บริสุทธิ์ไง สิ่งที่บริสุทธิ์เพราะอะไร เพราะมันรู้จริงของมันไง กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย โดยสัจจะความจริง จิตดวงนี้เป็นอฐานะที่มันจะเสื่อมจากตรงนี้นะ มันรู้ตามความเป็นจริงของมัน แล้วใครจะมาหลอกกันว่าสิ่งที่ว่าจะให้ออกไปยึดกายมันก็เป็นไปไม่ได้ กายก็อยู่ส่วนกายเก้อๆ เขินๆ จิตก็อยู่ส่วนจิต ธรรม สภาวธรรมอยู่ มันสภาวะแบบนั้น สิ่งนี้จะกลับมารวมกันเป็นอย่างเก่าอย่างเดิมอีกไม่ได้

เพราะสิ่งที่ร้อยรัดคือสังโยชน์ขาดออกไปแล้ว แต่กิเลสสิ่งที่ละเอียด ขันธ์อย่างหยาบขาดไป แต่ขันธ์อย่างละเอียดล่ะ สิ่งที่ขันธ์อย่างละเอียด เห็นไหม นี่อาการอย่างละเอียดออกมาจากภายใน ถึงต้องใช้สมาธิอย่างละเอียดเข้าไป นี่มรรคมันถึงคนละชั้นกันไง

ถึงว่า ถ้าผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติ ถึงว่าทำไมพูดแต่ของเก่า ทำไมพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สิ่งที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่านี่เป็นประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติมาก สิ่งที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะทำให้กิเลสมันเข้ามาทำให้การประพฤติปฏิบัติเราส่งออก ทำให้เราประพฤติปฏิบัติออกไป “สภาวธรรมเราเกิดแล้ว มันปล่อยวางแล้ว นั้นเป็นสภาวธรรม” แต่สภาวะที่ว่ามันสมุจเฉทปหานนั้นเป็นความจริงอันหนึ่ง เป็นความจริงในอริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจนะ มันฝังอยู่ในหัวใจดวงนั้น สิ่งนั้นจะลบเลือนอีกไม่ได้เลย

เพราะมันได้กรีดลงไปในหัวใจแล้ว รอยในหัวใจนั้นเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเพราะมันปล่อยกายตามความเป็นจริงอันนั้นแล้ว เป็นอฐานะที่สิ่งนี้ให้มันสมบูรณ์ให้เหมือนกับจิตของปุถุชนอีก เป็นไปไม่ได้ นี่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่สมบูรณ์ แต่สิ่งที่เป็นความละเอียดอยู่มันยังเป็นความละเอียดอยู่จากภายใน เห็นไหม ความทุกข์จากภายใน เราถึงต้องกำหนดพุทโธๆ สิ่งที่กำหนดพุทโธเพื่อให้จิตสงบเข้ามาแล้วย้อนกลับไปจับอาการของมัน

ถ้าเราวิปัสสนากายจะเห็นกายของมันจากความเป็นไปภายในไง สิ่งที่เห็นกายภายนอก มันแปรสภาพ มันเปื่อยมันเน่าไปโดยธรรมชาติของมัน มันกลับเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่สิ่งที่มันยึดนี่เพราะอะไร เพราะกายอย่างนอก กายนอก กายใน กายในกาย มันเป็นสภาวะแบบนั้น สิ่งที่ว่ากายในมันจะเกาะเกี่ยวสิ่งนี้อีกไง มันเป็นอุปาทานยึดอยู่ สิ่งนี้เราถึงย้อนกลับไป ถ้าการวิปัสสนากาย มันก็จะเห็นสภาวะกายอย่างเก่า เห็นสภาวะกายนะ ถ้าเห็นสภาวะกาย วิปัสสนาไปมันจะคืนตัวของมัน คืนตัวของมันขึ้นมา ปล่อยวางออกไปขนาดไหนมันก็คืนตัวของมัน

ฉะนั้น วิปัสสนาไป สิ่งที่ว่ากายขาดไปแล้ว มันขาดจากความยึดมั่นถือมั่นจากหัวใจ แต่สภาวะมันมีอยู่โดยธรรมชาติ เห็นไหม ธรรมชาติคือมันมีอยู่ เราเป็นมนุษย์ เรายังไม่ตายจากมนุษย์ ร่างกายโดยสมมุติ โดยชั่วคราวก็มีอยู่ เพราะเรามีชีวิตอยู่ เรามีร่างกายเราอยู่ แต่ขณะที่ว่าพิจารณาเข้าไปจากภายใน มันปล่อยกายอันหยาบไป มันปล่อยตรงกิเลสที่สังโยชน์มันร้อยรัดนั้น ถ้าเราวิปัสสนากายซ้ำเข้ามานี่มันจะเห็นจากภายใน

สิ่งที่เป็นกายชั้นตอนหนึ่ง สิ่งที่เป็นชั้นตอนหนึ่งคือกายที่ลึกกว่านั้นไง วิปัสสนาไปมันก็จะเห็นสภาวะ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม...มันก็จะคืนตัวไปธรรมชาติออกไปสภาวะอย่างนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุดมันก็ขาดเหมือนกัน พอขาด กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง พิจารณาจิตก็เหมือนกัน พิจารณาซ้ำไปเถิด มันสภาวะแบบนั้น กาย เวทนา จิต ธรรม ถึงบอก มรรค ๔ ผล ๔ มันละเอียดอ่อนเข้าไปจากภายในนะ

เรียนจากธรรม เรียนจากจิต เพราะจิตมันเรียนธรรม จิตมันสร้างสภาวธรรมเป็นสมบัติของเรา ธรรมคือสภาวะที่เป็นอริยสัจ เป็นธรรม เป็นมรรคสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นมรรคมันถึงเกิดสภาวะแบบนี้

เพราะเราสร้างสม สิ่งนี้เกิดขึ้นมา เราจะทำลาย เราเป็นโรค เราเป็นภัย เราจะหายา เราต้องไปหายามารักษามัน นี้ก็เหมือนกัน “ธรรมโอสถ” ยาที่จะรักษาใจคือสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานเพราะจิตสงบขึ้นมา เพราะตัวจิตนี้ ตัวธาตุรู้นี้มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน เราถึงต้องชำระล้างเข้ามาสิ่งต่างๆ เข้ามา ให้จิตนี้มันปล่อยวางเข้ามาๆ ปล่อยวางเข้ามามันก็ชำระขาดอย่างนอก

นี่เหมือนกัน กายนอก กายใน ก็เหมือนกัน มันปกคลุมอยู่ สิ่งที่ปกคลุมอยู่ เราปฏิบัติขนาดไหนมันก็ต้องเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลโดยแน่นอน เราจะไปทำลายอวิชชา เราจะไปเฝ้าเจ้าวัฏจักร มันจะอยู่ข้างหน้านั้น แต่ในการประพฤติปฏิบัติ มรรค ๔ ผล ๔ มันจะเป็นสภาวะแบบนี้ ถ้าเราคว่ำสิ่งนี้เข้ามามันก็จะปล่อยวางเข้ามา พอถึงกายในขึ้นมา วิปัสสนา มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น

ถึงว่า วิปัสสนากายแล้วจะจบจากกายแล้ว ไม่มีกายอีก...ไม่ใช่ ถ้าคนมีวาสนาเรื่องวิปัสสนากายตลอดไป มันจะเป็นกาย เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป สิ่งที่เป็นชั้นตอนเข้าไป พิจารณากายซ้ำอีกๆ มันจะเป็นสภาวะต่างกัน ต่างกันเพราะมันละเอียดกว่านั้น มันปล่อยวางอย่างนั้น นี่มันจะปล่อยวางๆ จนถึงที่สุดมันขาดนะ กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง ว่างหมด โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง มันจะมีความสุขมาก

กิเลสอย่างหยาบๆ มันขาดนะ แต่กิเลสอย่างละเอียดมันก็จะยึดให้ใจดวงนี้เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสภาวธรรมไง ว่างหมด นี่คือนิพพาน นี่คือความสุข นี่เป็นความจริง...ติดได้ ในการประพฤติปฏิบัติถ้าไม่มีครูมีอาจารย์ มันสำคัญตรงนี้ไง เพราะเวลาธมฺมสากจฺฉา เวลาเราประพฤติไป ธรรมในหัวใจของเรามีความรื่นเริงอาจหาญ ไม่ต้องการให้ครูบาอาจารย์พยากรณ์ว่าธรรมเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง แต่ต้องการให้ครูบาอาจารย์รับรู้สภาวะแบบนั้นไง เวลาแสดงออกไป ถ้าเป็นความจริง ครูบาอาจารย์จะสาธุการด้วย แต่ถ้าไม่เป็นความจริง ครูบาอาจารย์ก็ต้องมีอุบายวิธีการ จะต้องให้หาอุบายวิธีการนะ

เพราะกิเลสมันต่อต้าน กิเลสมันหลอกใจดวงนี้แล้วมันก็ยังจะไปต่อต้านครูบาอาจารย์ จะไปต้านธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง จะบวกลบคูณหารว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นนิพพาน สิ่งนี้จะเป็นความเป็นไป ครูบาอาจารย์ต้องหาอุบาย หาวิธีการจะครอบอย่างไรให้เรารับรู้ว่าโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง แต่สิ่งที่ละเอียดกว่านั้นมันยังมีอยู่อีกมาก ถ้ามีอยู่มาก ถ้าคนมีอำนาจวาสนา เชื่อครูบาอาจารย์ จะกลับมาที่พุทโธๆ ให้มันสงบเข้ามานะ ให้มีพลังงาน

ความว่างอันนั้นมันไม่ใช่พลังงานหรือ? ความว่างนั้นเป็นผลของการวิปัสสนากาย วิปัสสนาจิต วิปัสสนาธรรม ความว่างนั้นเป็นผล มันว่างจากกิเลสตัณหา แต่จะต้องเข้าไปรื้อค้น เข้าไปทำลายจากกิเลสภายใน มันจะต้องใช้พลังงานอันละเอียดกว่านั้น มันถึงต้องกลับไปที่พุทโธให้สิ่งที่ความว่างนั้นเกิดพลังงานขึ้นมา สิ่งที่เกิดพลังงานขึ้นมา ถึงย้อนกลับไปดูไง ถ้าไปเห็นเข้าไป จะไปเห็นอสุภะ-อสุภังนะ

เราพิจารณากายแล้วเราปล่อยกายมาแล้ว ทำไมเข้าไปเห็นอสุภะอีกล่ะ? เพราะกายอสุภะนี้คือจิตมันสร้างภาพ จิตมันสร้างภาพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ คือความสวยงาม ความพอใจของมัน เพราะจิตนี้มันมีกามของมันโดยธรรมชาติของมัน จิตนี้เกิดและตาย เห็นไหม

การเกิดและการตายในวัฏฏะนี้เกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ? เกิดขึ้นมาจากกามโอฆะนี้ไง สิ่งที่กามโอฆะทำให้เผ่าพันธุ์ของสัตว์โลกมีอยู่ตลอดไป แต่เวลาจิตนี้ตายขึ้นไป จิตนี้เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม กามราคะ เทวดาเขาก็เสพกาม กามคือความพอใจของเขา นี่เทวดา อินทร์ พรหม เขาก็เสพกามของเขา กามของเขาอันนั้นมันเป็นกามจากหัวใจ นี่จิตเกิดจิตตาย เกิดมาจากกาม กามที่มันมีความรูปสวยรูปงามของเขา

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ เราจับสภาวธรรมได้ ถ้าเราจับสภาวธรรมได้เราจะเห็นอสุภะนะ ถ้าเราจับสภาวธรรมไม่ได้ คือจิตมันไม่เห็นกาย มันยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ มันต้องรื้อค้นไง ถ้ารื้อค้นนี่ออกมาแสวงหา ขั้นของปัญญามันจะเห็นกาย ถ้ามันจะเห็นกาย มันจับกายได้ มันจะเป็นอสุภะ ถ้าจิตสงบจะเป็นอสุภะ ถ้าจิตมันไม่สงบพอ มันจับสิ่งนี้ไม่ได้ มันใช้ปัญญาไม่ได้ มันก็ไปติดเกี่ยว เกาะเกี่ยวกัน แล้วมันก็สร้างภาพว่าปล่อยวางสิ่งนั้น สิ่งที่ปล่อยวาง เห็นไหม ติดได้ตลอดไป

แต่ถ้าเรามีสติ เราเชื่อครูบาอาจารย์ของเรา เราจะต้องกลับมา ยกกลับไปที่พุทโธๆ ให้จิตมันมีกำลังขึ้นมา เวลายกขึ้นมา กลับมาทำงาน ทำงานคือว่าวิปัสสนาในสิ่งนั้น นี่เห็นเป็นอสุภะนะ อสุภะมันเยิ้ม มันเป็นสิ่งที่เยิ้มเป็นเลือดเป็นหนอง เป็นสิ่งที่เศร้าหมอง นี่ถ้าปัญญามันทันมันก็ปล่อยวางได้เหมือนกัน ปล่อยวางสิ่งนี้มันก็สร้างสภาวะติดอย่างนี้ จนถึงที่สุด ปล่อยวางจนสิ่งที่ว่าจับ เห็นสภาวะอสุภะแล้วมันปล่อยทันทีๆ จนมันเข้าใจว่าสิ่งนี้หมดกิเลสนะ นี่มันก็เป็นไป

นี่เรียนจากธรรม เรียนจากจิต เรียนจากประสบการณ์ มันจะเห็นสภาวะแง่มุมของกิเลสที่มันร้อยสันพันคม มันหลอกการวิปัสสนานี้ให้เราล้มลุกคลุกคลานขนาดนั้นนะ ถ้าเราอย่างนั้น สิ่งนี้ถ้ามันปล่อยวางขนาดนี้ ทำไมมันมีความขุ่นมัวในใจล่ะ ใจทำไมมันขุ่นมัว ทำไมมันมีสิ่งนี้ร้อยรัดของมัน เห็นไหม จนต้องสร้างสุภะ เห็นความสวยงามขึ้นมาแนบไว้ที่จิตนะ ถ้าเห็นสภาวะความสุภะ ความสวยงามแนบไว้ที่จิต

พอแนบไว้ที่จิต ความสวยงามไง เพราะจิตนี้มีกาม พอสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่รูปสวยงาม สิ่งที่รูปมันพอใจ มันก็มีอารมณ์ พอมันมีอารมณ์ขึ้นมามันจะเห็น นี่ไง ไหนว่ามันปล่อยวางแล้ว ไหนว่ามันขาดแล้วไง อารมณ์ความรู้สึก กามความใคร่ของมัน ความพอใจของมัน ถ้าความพอใจของมัน นี้มันไม่ขาดจริงนี่ มันถึงต้องกลับไปพิจารณาใหม่ พิจารณาเป็นอสุภะ-อสุภัง สุภะ-สุภัง ถึงต้องควบคุม ต้องสิ่งนี้แนบไปกับใจ คือตรวจสอบไปกับใจ

อสุภะ มันปล่อยวางขนาดไหนมันก็กลืนเข้ามาที่ใจ สุภะ มันปล่อย สวยงามขนาดไหนมันก็ทำให้เกิดความพอใจ ความต้องการ นี่เทียบเคียงตลอดไป แล้วต้องกลับไปพิจารณาอสุภะอีก พิจารณาซ้ำแล้วมันกลืนเข้ามาที่ใจๆ จนมันถึงที่ใจแล้ว ตัวใจต่างหากเป็นตัวสร้างภาพสิ่งนั้น ตัวใจคือตัวความรู้สึก ตัวสัญญา สุภะ-อสุภะมันเกิดจากสัญญา สัญญาสร้างภาพสภาวะแบบนั้น การสร้างภาพนี้ว่าสัญญา สัญญานี้เป็นสร้างภาพ แต่ตัวกิเลสในผู้รู้นั้นต่างหากมันอาศัยสิ่งนี้สร้างภาพไง เป็นสัญญาทั้งหมด สุภะ-อสุภะเป็นสัญญาทั้งหมด

แต่พิจารณาจิตมันละเอียดไปอีกอย่างหนึ่ง พิจารณาจิตมันจะเป็นความเป็นไปของมัน ว่าสิ่งนี้เป็นอาการของใจ สิ่งที่จิตละเอียด มันเป็นกาม เป็นความพอใจเหมือนกัน กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งที่ละเอียด ละเอียดในหัวใจมาก

สิ่งที่เป็นสัญญา สัญญาที่มีกิเลสใช้ มันถึงสร้างภาพได้ แต่สัญญาที่พอเราพิจารณาไปจนถึงที่สุด มันปล่อยวางขาดนะ ครืน! ในหัวใจ กามราคะนี้ขาดออกไปจากหัวใจเลย เราจะฝึกซ้อมจิตนี้ไปเป็นสัญญาอันละเอียด สัญญาจะสร้างภาพ เราทำสิ่งนี้จนปล่อยวางไป จนสัญญาไม่มีนะ สัญญานี้ไม่มี หมด ภาพนี้ไม่มี หมด ว่างหมดเลย สิ่งที่ว่างๆ

นี่ตัวจิต เรียนจากจิต จิตนี้เป็นเพราะอาการ คืออาการของขันธ์ สิ่งที่ขันธ์นี้มีมาเกิดในหัวใจ มันถึงมีสัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกอย่างพร้อม แล้วมันสร้างภาพสิ่งนี้ขึ้นมา สร้างภาพนี้เป็นความทุกข์ความสุข เป็นความทุกข์ในหัวใจ สร้างเรื่องของโลกเขา เรื่องของปุถุชน พอมันสร้างภาพสิ่งนี้มันเกิดกามราคะ มันต้องใจสิ่งนี้ มันก็จะแสวงหาเรื่องของกามของเขา สิ่งที่โลกเขาเป็นกามกัน นี่มันสร้างภาพกัน มันไม่เห็น

แต่เราเรียนจากจิต เห็นไหม ธรรม เรียนจากจิต จากธรรมจากใจ มันเจอสภาวะแบบนั้น คือสภาวธรรม คือสภาวะมรรค แล้วมันทำลายกัน เห็นไหม เราเป็นการสร้างภาพ ภาพอย่างนี้เป็นภาพของธรรม ภาพอย่างนี้คือภาพของมรรค มรรคมันหมุนเข้ามาจากภายใน เห็นสภาวะตามความเป็นจริงที่เห็นภาพขึ้นมาตามความเป็นจริง นี่มันเป็นเรื่องของสังขารที่ละเอียดอ่อนขึ้นมา จนมันทำลายออกหมด มันทำลายออกไป จนฝึกซ้อมทำลายภาพนั้น ทำลายสิ่งที่มันเกิดดับๆ ในหัวใจ ละเอียดเข้าไป มันจะละเอียดเข้าไป มันจะปล่อยวางจนลึกซึ้งเข้าไปนะ จนไม่มี จนสร้างภาพไม่ได้ ภาพที่ไม่มีเกิดขึ้นไม่ได้

แต่มันว่างหมด นี่ติดได้ ถึงครูอาจารย์จะชี้ตรงนี้ จะย้อนกลับไปที่สภาวะจิตนะ สภาวะจิตนั้นคือตัวอวิชชานะ นี่เรียนจากจิตต้องเรียนให้ถึงที่สุด ถ้าเรียนไม่ถึงที่สุด มันเรียนอาการของใจ เรื่องของขันธ์อันละเอียดแล้วปล่อยวางหมด มันว่างหมดเลย มันเรียนไม่ได้ เพราะมันหาสถานที่ไม่เจอ

แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะขึ้นมาโดยสมบูรณ์ นี่กำหนดจิตเข้าไป แล้วจิตย้อนเข้าไป ย้อนขึ้นทวนกระแส สิ่งนี้มันเศร้าหมอง สิ่งนี้มันผ่องใส ความว่างนี้มันก็อาลัยอาวรณ์ สิ่งนี้เป็นอาลัยอาวรณ์นะ ทำไมครูบาอาจารย์ของเราว่าวิมุตติ ทำไมมีความสุขมาก มีความสุขที่ว่าพ้นจากอวิชชาไปทั้งหมด แต่สิ่งนี้ทำไมมันต้องมีสงวน ต้องรักษา เห็นไหม นี่ความเศร้าหมอง ความผ่องใสมันจะเกิดจากใจ

ถ้าย้อนกลับเข้ามานี่ โอ้โฮ! อรหัตตมรรคนี่ละเอียดอ่อนมาก สิ่งที่ละเอียดอ่อน เหมือนกับถ้าเทียบเคียงโดยการประพฤติปฏิบัติ เหมือนกับว่าจะสุดวิสัยจะเห็นสภาวะสิ่งนี้ได้เลย แต่ถ้ามีอำนาจวาสนา สิ่งนี้ละเอียดอ่อนจนย้อนกลับเข้าไปจับสิ่งที่เป็นผู้รู้นะ สิ่งที่เป็นผู้รู้คือตัวจิต จิต อวิชชา นี่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าย้อนกลับไปจับจิตที่เป็นอวิชชา สิ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างนี้ ความเป็นไปของมัน นี่ปัญญาอย่างละเอียด

ขั้นของปัญญาที่มันลึกลับมหัศจรรย์ ปัญญาที่ว่าเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าเราเป็นพระกรรมฐาน เราเรียนประพฤติปฏิบัติ เราเรียนจากใจของเรา เราเรียนจากจิตของเรา สิ่งที่เรียนจากจิตนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล สิ่งที่เป็นปริยัติเขาเรียนกันไป เขาคาดการณ์สิ่งนี้ไม่ได้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นปัจจยาการออกไปจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วก็เทียบเคียงเป็นอารมณ์ความรู้สึกของโลก “ปัจจยาการๆ”

แต่ถ้าไปเห็นตามความเป็นจริงของมัน โอ้โฮ! นี่ปัจจยาการมันเกิดพร้อมกัน เพราะมันเป็นปัจจยาการ มันไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์คือว่ามันแยกออกเป็นส่วนๆ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตเราวิปัสสนาเข้าไปมันจะแยกได้ ปัญญาอย่างนั้นถ้าเข้าไม่ถึงตรงนี้เป็นอุทธัจจะ คือเป็นไปไม่ได้ ปัญญาญาณที่มันซึมเข้าไป ละเอียดอ่อนเข้าไป ไปเห็นสิ่งนี้นะ

แต่ถ้าพิจารณากาย มันเป็นสิ่งที่ว่ากายของจิต กายของจิตคืออะไร? กายของจิตคือกายจากภายใน มันสร้าง มันเป็นจุด เป็นสิ่งที่เป็นละเอียดจากภายใน มันเป็นสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการจะเห็นกายนั้น กายอย่างละเอียดนี้มันเป็นกายจากภายใน นี่ถ้าวิปัสสนาไปโดยสามัญสำนึก มันจะเป็นไปไม่ได้ ต้องวิปัสสนาโดนอันละเอียดนี้ โดยปัญญาญาณอันละเอียดนี้ จนถึงที่สุดมันจะพลิกคว่ำสิ่งนี้ได้นะ

ถ้าจะทำลายตัวจิตนี้ได้ เห็นไหม เรียนจากจิต เอาจิตนี้เรียนจากกายภายนอก กายนอก กายใน กายในกาย จนถึงตัวมันเองทำลายตัวมันเอง เรียนจากเวทนา จากเวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา จนทำลายตัวมันเอง เรียนจากจิต วิปัสสนาไป จิตนี้เป็นสภาวธรรมขนาดไหน ถึงที่สุดตรงนี้มันจะพลิกตรงนี้หมดเลย ถ้าพลิกตรงนี้ เห็นไหม เรียนจากจิต เอาจิตเรียนเขา เรียนโดยเกิดภาวนามยปัญญา เรียนเกิดโดยสัมมามรรค

สัมมา ไม่ใช่มิจฉานะ โดยสัมมามรรค ทำลายจากจิต ทำลายอาการของใจ อาการของขันธ์ ปล่อยวางเข้ามาถึงที่สุด นี่ตัวมันเองเรียนเข้ามา แล้วก็ฆ่ากิเลสจากลูกจากหลานจากสิ่งต่างๆ เข้ามา จนถึงตัวมันเอง จนเป็นเจ้าวัฏจักร จนเป็นเรือนยอดของวัฏฏะ เรือนยอดของการประพฤติปฏิบัติ แล้วจิตที่ละเอียดอ่อนเข้าไปถึงทำลายมัน นี่เรียนจากจิต

ตัวจิตนี้เรียนเขามา แล้วฆ่าเขามา แล้วภาวนามยปัญญาอย่างละเอียดจากอรหัตตมรรคเข้าไปทำลายตัวมันเอง ทำลายตัวจิตนี้ จิตนี้เร่าเรียนเขามา ฆ่าเขามา แล้วต้องฆ่าตัวมันเอง ทำลายตัวมันเอง แต่ทางโลกเขาทำกันไม่ได้ ถ้าเป็นกิเลสมันปกป้องตัวมันเอง มันจะขับไสให้สิ่งนี้ออกไปจากภายนอก ให้ไปทำลายคนอื่น ไม่ยอมให้ทำลายตัวมันเอง แล้วไม่ยอมให้เข้ามา มันสงวน มันรักษา กิเลสนี้ร้ายกาจนัก มันจะสงวนรักษาไว้ให้เจ้าวัฏจักรนี้อยู่ในหัวใจของเรา แต่ปัญญาญาณอย่างละเอียดเข้าไปทำลายเจ้าวัฏจักรตัวนี้ออกไปทั้งหมด เห็นไหม เรียนเขาเข้ามา ฆ่าเขาเข้ามา แล้วต้องฆ่าตัวเอง นี่สภาวธรรมเป็นสิ่งที่ลึกลับมหัศจรรย์มาก

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกลับมหัศจรรย์มาก ลึกลับขนาดที่ว่าครูบาอาจารย์ว่า ปัญญาอย่างละเอียดนี้จะสอนกันได้อย่างไร จนขณะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว จะสอนใครได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตั้งปรารถนามาเป็นพระโพธิสัตว์นะ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ จะปฏิบัติมาเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ครูบาอาจารย์ เวลาปฏิบัติขึ้นไป มันจะลึกลับจนเหมือนกับจะสุดวิสัยเลย แต่ทำไมครูบาอาจารย์ของเรามีมหาศาล เป็นผู้ชี้นำเรามาเลย

ถึงว่า อำนาจวาสนาจากใจดวงนั้นเป็นไปได้ เราประพฤติปฏิบัติมาเป็นไปได้ จิตนี้เรียนเป็นธรรมขึ้นมา เป็นสัมมามรรค แล้วฆ่ากิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จนถึงที่สุด จิตนี้ก็ต้องทำลายตัวเอง จะถึงที่สุด ถ้าจิตนี้ไม่ทำลายตัวเอง เห็นไหม เรียนจากจิตแล้วก็ไปติดที่จิต ถ้าเรียนจากจิตแล้วทำลายจิต นั้นคือการปฏิบัติที่สมบูรณ์ เอวัง