ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วิบาก

๒๗ ก.ค. ๒๕๕๗

วิบาก

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องการเพ่ง การพิจารณากาย (เกิดอสุภะภายในองค์ความรู้)”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า การนั่งสมาธิลืมตาโดยกำหนดการเพ่งส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขน ขา เป็นต้น พอกำหนดเพ่งแขนหรือขา การปรุงแต่งภายในแปรสภาพจากแขนปกติ แปรสภาพเป็นแขนขาตามสมาธิที่ให้เป็น เช่น แขนขาดำ เหี่ยวย่น ใหญ่ เล็ก แต่ยังไม่ถึงขั้นเนื้อหนังพอง เป็นหนอง ก็พิจารณาสลับกับเนื้อสวย ถ้าพิจารณาเนื้อสวยขาว เกิดราคะ ถ้าพิจารณาหนังดำเหี่ยวย่น ราคะก็พอสงบตัว

จุดประสงค์หลักของการเพ่งพิจารณาคือฝึกให้รู้จักตัวเอง และให้จิตรับรู้ถึงหลักความเป็นจริงแห่งสัจธรรม อนิจจัง เป็นทุกข์ อนัตตา นี่ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นี่ ล้วนเป็นอนัตตา แต่คำว่าจิตหรือตัวรู้ก็ยังไม่ปล่อยวางง่ายๆ นะครับหลวงพ่อ การปฏิบัติ การเพ่งอย่างนี้ชักเข้าชักออก ลมหายใจเข้าออก รูปสวยชักออกเป็นรูปอสุภะ โดยกำหนดที่ร่างกายของตนเองนะครับ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิทำงานชอบอย่างไรบ้างครับ และการปฏิบัติต่อไปจะวิปัสสนาได้อย่างไรครับ

ตอบ : การปฏิบัติเริ่มต้นมันก็ปฏิบัติแบบนี้ การปฏิบัติแบบนี้หมายความว่า เวลาเราศึกษาตามทางวิชาการ เราศึกษาตามพระไตรปิฎก ต้องพูดถึงตามพระไตรปิฎกก่อน พอพูดถึงตามพระไตรปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนเอง แต่การสั่งสอนก็สั่งสอนบุคคล สั่งสอนคนที่วุฒิภาวะสูงส่ง อย่างพาหิยะที่ว่าเธอจงพิจารณาโลกนี้เป็นของสักแต่ว่าเพราะเขามีพื้นเพ เขามีกำลังของเขา แต่เวลาสอนคนที่ยังปฏิบัติเริ่มต้นก็บอกให้ทำความสงบของใจ นี่การสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลากหลายนัก

ทีนี้คำว่าหลากหลายขึ้นมา พอใครชอบสิ่งใด ใครจริตนิสัยสิ่งใดก็ชอบสิ่งนั้น ถ้าชอบสิ่งนั้น ดูสิ เวลาหลวงตาท่านสอน เวลาก่อนเข้าพรรษา อธิษฐานพรรษากัน ท่านจะยกตัวอย่างของพระจักขุบาลเป็นประจำ พระกรรมฐานเราส่วนใหญ่จะยกตัวอย่างของพระจักขุบาล พระโสณะ

เพราะพระจักขุบาลนี่นะ เวลาภาวนาไปเป็นโรคตาอักเสบ แล้วหมอมาหยอดตา บอกถ้าไม่นอน ตาจะบอดๆ นี่ตาจะบอดก็ไม่กลัว สู้อย่างเดียวๆ พิจารณาอย่างเดียว จนถึงที่สุดตาบอดจริงๆ แต่หัวใจมันผ่องแผ้ว กิเลสมันขาด นี่เวลากิเลสมันขาด

พระโสณะเดินจงกรม เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรวจกุฏิไง ไปตามวัด ไปตรวจกุฏิ เห็นเป็นรอยทางจงกรม เลือดนี่แดงไปหมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุทานขึ้นมานะที่นี่เป็นที่เชือดโคของใครคือที่นี่เป็นที่เชือดอะไรมันถึงมีเลือดนองไปขนาดนี้ บอกไม่ใช่ นี่เป็นทางเดินจงกรมของพระโสณะ

พระโสณะเป็นผู้ที่มีฝ่าเท้าบางไง เวลาเดินไป ฝ่าเท้ามันจะลอก มันจะบางจนเลือดแดงไปทั้งทางจงกรมเลย พอเลือดแดง เดินไม่ได้ เดินไม่ได้ก็กลิ้งไป

หลวงตาหรือครูบาอาจารย์ของเรากรรมฐานส่วนใหญ่จะยกพระโสณะกับพระจักขุบาล เพราะเป็นผู้ที่เข้มแข็ง เวลาเจออุปสรรคสิ่งใดก็ยังฟันฝ่าอุปสรรคสิ่งนั้นไปได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพูดถึง ต้องศึกษาตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎก เรายกเรื่องนี้ก่อน ทีนี้เวลาปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติไป ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เราก็จับทาง แล้วครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติได้ถูก ทีนี้เวลาปฏิบัติ ในวงกรรมฐานนี้เรื่องหนึ่งนะ ในวงของนักปฏิบัติ

ดูสิ ทั่วโลกเขาไปยุโรปกัน ไปดูเขาฝึกหัดสติ เขาเดินทอดน่องกัน แล้วก็ตื่นเต้นนะ ไปเห็นเขาเดินฝึกสติ แล้วก็ตื่นเต้นกัน เวลาไปเจอพวกฆราวาสสอนธรรม ไปเจอในยุโรป ไปเจอในอะไร

โธ่! ฤๅษีชีไพรเขาไปสอนในอเมริกา เขาขี่โรลส์รอยซ์ เขาคิดชั่วโมง เวลามาฝึกหัดนี่คิดเป็นชั่วโมง พอไปเจออย่างนั้น ตื่น อู๋ย! ตื่นเต้น อู๋ย! ตื่นเต้น แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เวลาครูบาอาจารย์เราสอนไม่ได้สนใจ ไม่สนใจ มันก็ใกล้เกลือกินด่างไง ของมันพื้นเพไง เกิดมาก็เห็นวัดมาตั้งแต่เกิดไง แล้วพระที่พูดก็พูดจนชินหูไง ฟังทุกวัน ฟังจนเบลอ เอ๊อะ! เหมือนนกแก้วนกขุนทอง พูดกันไปอย่างนั้นน่ะแม่จ๋าๆแม่จ๋า มันก็นึกว่ากล้วย พอแม่จ๋า ก็กินกล้วยคำหนึ่ง

แม่จ๋าก็พ่อแม่เว้ย ไม่ใช่กล้วย แม่จ๋า ก็กล้วยคำหนึ่งนะ แม่จ๋า ก็ได้กินกล้วย นี่อะไรแม่จ๋าๆ”...นกแก้วนกขุนทอง นี่เวลานกแก้วนกขุนทองในแนวทางปฏิบัติไง

เวลาเขาบอกว่าตามธรรมวินัยๆ ตามวินัย นั่นน่ะเป็นทฤษฎี เป็นการชี้เข้าไปสู่ใจ ทีนี้พอเข้าไปสู่ใจ ในวงปฏิบัติมันก็ร้อยแปดใช่ไหม มีการปฏิบัติแตกต่างหลากหลาย เราจะไม่พูดถึงลงรายละเอียดไปก็เดี๋ยวหาว่า แหม! เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่นตลอดเลย ถ้าเป็นดีๆ กรรมฐาน เวลาชั่วๆ ล่ะคนอื่นทั้งนั้นน่ะ

ไม่ใช่ชั่วๆ ไม่ใช่ดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดต่างหาก ถ้ามันถูก มันต้องเข้าสู่สมาธิได้ ถ้ามันเป็นความจริง มันศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันถูกต้องดีงาม เหตุ เห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันสมควรขึ้นมาแล้วมันก็ต้องเป็นผลมาแน่นอน ถ้าเหตุมันไม่สมควรขึ้นมามันก็พายเรือในอ่างอยู่อย่างนั้นน่ะ มันไปไหนไม่รอดหรอก ไปไหนไม่รอดเพราะอะไร เพราะผู้ชี้นำไม่รู้จักว่า อ่านทิศยังหลงทิศ ยังไม่รู้จักว่า เมื่อก่อนเขาดูดวงดาวนะ เดินเรือกัน ตอนมีเข็มทิศขึ้นมา เขาดูเข็มทิศ ตอนนี้เขาดูจีพีเอสแล้วไปตามนั้นเลย แต่ปฏิบัติมันยังไปไหนไม่รอดหรอก ถ้าไปไหนไม่รอด

ฉะนั้น ในการปฏิบัติ เวลาเขาบอกว่า กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เวลาเรานั่งลืมตา ลืมตาแล้วการเพ่ง

การเพ่ง จะบอกว่าผิดก็ไม่ใช่ ถ้าบอกว่าผิด เวลาเพ่งกสิณน่ะ เวลาเพ่งกสิณนะ คนเราถ้ากำหนดพุทโธแล้วสงบไม่ได้ แต่ถ้าเพ่งกสิณ เพ่งเทียนเพ่งอะไร บางคนทำได้ ถ้าทำได้อย่างนั้นมันอันตราย คำว่า อันตรายพอเพ่งไปแล้วมันเหมือนฌาน พอฌานมันมีกำลัง มันส่งไป พอมันเพ่งไปแล้วมันจะมีความรับรู้เรื่องฌานโลกีย์ พอฌานโลกีย์มันไปรู้นู่นรู้นี่ มันจะออกไง

ถ้ามันจะออก ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ เวลาเพ่ง ถ้าเพ่งฌาน เพ่งต่างๆ บางคนทำสมาธิทางนี้ได้ การทำสมาธิ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน สอน ๔๐ วิธีการ แล้วถ้าเพ่ง เพ่งกสิณเขียว กสิณขาว กสิณไฟ เพ่งอย่างนี้ กสิณไฟ กำหนดเพ่งไฟ มันเกิดความร้อน เพ่งไฟใส่ อีกฝ่ายหนึ่งได้รับรู้เลย แล้วอีกฝ่ายรับรู้

นี่พูดถึงการลืมตาไง ฉะนั้น การลืมตาของเรา เราไม่ได้เพ่งกสิณ เราเพ่งไปที่ส่วนหนึ่ง ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพ่งไปที่ส่วนหนึ่งของร่างกาย แล้วว่าจะถูกไหม มันก็ถูก มันก็ไม่ผิดอะไร

เวลาเราบวชมา พระบวชขึ้นมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราท่องพุทโธๆ ก็ได้ ท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจก็ได้ เนื้อ เอ็น กระดูก เราก็ท่องได้ อัฐิๆ เราก็ท่องได้ อัฐิๆ คือกระดูกไง คนเราก็มีกระดูกเป็นโครงสร้าง ถ้าอยู่กับกระดูกขึ้นมา อยู่กับแก่นแท้ของร่างกายเลย ถ้าอัฐิๆ มันก็เป็นสมาธิได้

แต่ถ้าเราไปเพ่งที่แขนขา ถ้าจิตมันเป็น จิตมันมีพื้นฐาน มันจะเป็นอย่างที่โยมถาม เวลาเพ่งแขนขาไป มันเหี่ยวมันย่น มันขยายใหญ่ขยายเล็ก มันเป็นได้อารมณ์ที่มันสมดุล แต่ถ้าพออยากได้อยากเป็น ไม่สมดุลแล้ว เพราะความอยากมันทำให้จิตกระเพื่อม พอจิตกระเพื่อมนะ พอเพ่งไปนะ โอ๋ย! มันเหี่ยวมันย่นนะ โอ๋ย! มันดีมากเลย มันต้องเหี่ยวมากกว่านี้...ไม่เหี่ยวแล้ว ไม่เหี่ยวแล้ว

แต่การที่มันเหี่ยว มันเหี่ยวเพราะอะไร เหี่ยวเพราะเราไม่มีตัวตนไง เราไม่ได้เข้าไปยุ่งกับมันนะ กำลังมันพอดีใช่ไหม อย่างเช่นลมพัดมา ลมพัดมาเย็นสบายดี ลมพัดมาอีกสิ ไม่มีลม ลมมันพัดมาเพราะอากาศมันสมดุล ความร้อนมันขึ้นไป ลมก็ถ่ายเท ลมก็พัดมา แล้วอยากให้มันพัดมาอีก มันพัดมาไหมล่ะ แต่ถ้าเราอยากหรือไม่อยากนั่นเรื่องหนึ่ง แต่โดยข้อเท็จจริงของอากาศ อากาศที่มันร้อน อากาศที่มันเปลี่ยนแปลง มันเกิดกระแสลมขึ้นมา มันเป็นข้อเท็จจริงของภูมิอากาศ ถ้าภูมิอากาศเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นแบบนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรากำหนดเพ่งอยู่ๆ ถ้าจิตมันสมดุลของมันก็เหมือนกับสภาวะของอุณหภูมิมันเป็นไปอย่างนั้น ถ้าเป็นไปอย่างนั้นนะ มันก็เป็นไง มันก็ทำให้แขนนี้มันเหี่ยวย่น มันเป็นไปสมดุลของมัน สมดุลอย่างนี้นี่สมดุลโดยส้มหล่น สมดุลโดยธรรมเกิด

แต่ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงพอเรากำหนดพุทโธ พอจิตเป็นสมาธิหรือกำหนดอัฐิ ถ้ารังเกียจพุทโธ อะไรก็ได้ ถ้ารังเกียจพุทโธอะไรๆ ก็พุทโธ เราก็รังเกียจ”...ไม่เป็นไร จะธัมโมก็ได้ จะสังโฆก็ได้ เทวตานุสติ มรณานุสติก็ได้ อะไรก็ได้ คำว่าก็ได้ถ้าจิตมันสงบ เราควบคุมได้

พอจิตสงบแล้วเราน้อมไป ถ้าเห็นแขน เห็นแขนเห็นขา มันทรงไว้ได้ไหม ถ้าทรงได้ แสดงว่าสมาธิเราใช้ได้ ถ้ามันทรงไว้ไม่ได้ วางไว้เลย กลับมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น แล้วน้อมไปที่แขนนั้น มันทรงไว้ได้ไหม ถ้าทรงไว้ได้ ทรงไว้ได้ กำลังจิตของมันดี ถ้ากำลังจิตดี รำพึงแล้ว รำพึงว่าให้แขนเหี่ยวย่นตามแต่กำลังของเรา มันจะเหี่ยวมันจะย่น มันจะพุมันจะพอง มันจะทำลายตัวมันเอง มันคืนสภาพสู่ธรรมชาติของมัน มันสลายไป ไอ้นี่มันต้องมีกำลัง นี่พูดถึงว่า ถ้าการปฏิบัติต่อเนื่องไปไง มันอยู่ที่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันอยู่ที่เหตุและผล

ทีนี้เพียงแต่ว่า เวลาถามมาอย่างนี้ถูกไหม ถูก เริ่มต้นพื้นฐาน เพราะสิ่งที่ในพระไตรปิฎก สิ่งที่เป็นธรรมวินัย คือว่าสิ่งที่เราพูดถึงอริยสัจ พูดถึงเรื่องต่างๆ มันมีชื่ออยู่แล้วไง มันมีทฤษฎีอยู่แล้วไง แล้วเราก็จับตัวนี้มาเป็นโจทย์ มาเป็นประเด็นไง ถ้าเป็นประเด็น ถ้าเราตีโจทย์แตก เราตีประเด็นแตก เราจะมีความรู้ แต่ถ้าเราท่องจำ ท่องจำทฤษฎีว่ามันจะต้องเป็นเกสา มันต้องเป็นโลมา มันต้องเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นอยู่อย่างนั้นหรือ มันเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่เป็นไตรลักษณ์

ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์มันก็แปรสภาพ ความแปรสภาพของมันคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือมันแปรปรวน นั่นคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ ถ้าเราเห็นความเป็นจริงนะ

เวลามันปฏิบัติไป สิ่งนี้ถูกต้องไหม

เขาเรียกว่า ผลของการปฏิบัติ วิบากกรรม คำว่าวิบากกรรมวิบาก วิบากคือผล กรรมคือการกระทำ ทำแล้วได้ผลอย่างใดก็เป็นวิบากกรรม วิบากกรรมที่เราได้อยู่นี่ ทีนี้วิบากกรรมมันได้มากได้น้อยล่ะ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ โอ้โฮ! มันจะมหัศจรรย์กว่านี้

ฉะนั้น เวลาที่เราปฏิบัติไป เราปฏิบัติ แต่เราไม่สามารถให้คะแนนตัวเองได้ เราไม่สามารถจะบอกว่า กิเลสจะขาดเมื่อนั้นเมื่อนี้ เราจะได้ผล

เวลาปฏิบัติไปเป็นทางโลกไง ทางโลก เห็นไหม ขนาดว่าเรียนอยู่มหาวิทยาลัยนี้ เรียนไม่จบ ย้ายมหาวิทยาลัย เอาหน่วยกิตนี้ไปส่งต่อมหาวิทยาลัยอื่น เออ! เอาหน่วยกิตนี้ เราเรียนมาแล้วกี่หน่วยกิต ก็เอาหน่วยกิตนี้มาเป็นฐานแล้วเรียนต่อ นี่ถือว่าเรียนแล้ว สอบแล้ว ผ่านแล้ว ได้หน่วยกิตแล้ว แต่ถ้าเป็นสมาธิ ไม่ใช่ เวลาเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ เวลาออกมาแล้วสมาธิก็หายหมด จิตรับรู้ว่าเคยมีเคยเป็น แต่ถ้าทำอีกก็ทำให้เกิดขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำได้แล้วๆ มันเป็นอดีตแล้วนะ สิ่งที่เราทำได้แล้วก็วางไว้ ไม่ต้องไปผูกมัด เพราะเราทุกข์ยากอยู่นี้ก็ไปผูกมัดกับความรู้เดิมไง เคยได้สมาธิแล้ว เคยได้ แล้วตอนนี้ล่ะ ตอนนี้ทุกข์ร้อนเป็นไฟเลย ตอนนี้ร้อนเป็นไฟเลย แล้วเป็นสมาธิไหม สมาธิร้อนเป็นไฟใช่ไหม

สมาธิไม่ร้อน สมาธิมันเย็น เคยได้สมาธิมา แต่ตอนนี้ร้อนเป็นไฟเลย แต่เคยได้สมาธิมา แล้วก็จะได้อย่างนั้น ไม่ใช่

นี่ถ้าเป็นธรรมเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ทางโลกไง ทางโลกเราเคยได้สิ่งใดมา เราก็คือได้ ความได้ของเราก็คือได้แล้ว แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ความได้ของเราคือประสบการณ์ ความได้ของเราคือเคยทำได้ การทำได้แบบนั้น จะทำอีก ต้องเอาการทำได้อย่างนั้นมาเริ่มต้น ต้องทำให้ได้อย่างนั้นเหมือนปัจจุบัน ทำให้ได้อย่างนั้น ถ้าทำได้อย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออกสมาธิ แล้วชำนาญในการรักษา

ทางโลกเขาวัดกันด้วยปริมาณว่า สมบัติใครมาก สมบัติใครน้อย แต่ทางปฏิบัติเขาวัดด้วยอุณหภูมิ ด้วยความเป็นจริงในใจนี้ ไม่ใช่ว่าเราเคยได้

เราเคยได้ มันเป็นกุปปธรรม อกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมะมันเป็นของชั่วคราวๆ ชั่วคราวทั้งนั้นน่ะ มันยังไม่เป็นจริง มันชั่วคราวเพราะอะไร ชั่วคราวเพราะมันพัฒนาได้ มันเจริญได้ ถ้ามันเจริญได้ การทำอย่างนี้ถูกไหม ถูก แต่ทำของเรา หมั่นเพียรของเรา ทำแล้วมันเป็นความจำเป็นไง ว่าเขากำหนดแล้ว เขาเพ่งสมาธิโดยการลืมตาแล้ว สิ่งที่เพ่งแขนขามันแปรสภาพของมันไป

การแปรสภาพของมันไปมันเป็นได้หลายหลาก มันเป็นได้ทั้งนั้นน่ะ พอมันเป็นได้ทั้งนั้น นักปฏิบัติเราถ้ายังไม่แน่ใจ เขายังไม่พูดออกไป ถ้าพูดออกไปแล้ว เพราะพูดออกไปแล้ว เราพูดอะไรก็แล้วแต่ ปริมาณมันเท่านี้ แต่ความจริงมันต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น พอปริมาณเท่านี้ คนที่ฟังจะรู้เลยว่าวุฒิภาวะเราแค่นี้ ภูมิเราแค่นี้ แต่พอเราทำได้มากกว่านี้ เจริญกว่านี้ขึ้นไปล่ะ อ้าว! เรายังไม่ได้ทำทะเบียนหลักฐานว่าเราได้เท่าไร แต่ถ้าเราทำของเราไปเรื่อยๆ ถ้ามันยังไม่ชัดเจน เราก็ทำของเราต่อเนื่องไป ฉะนั้น ทำให้สงบเข้ามา

อย่างที่ว่า เวลาพิจารณาเห็นเป็นเนื้อ เห็นมันพุมันพองขึ้นไปนะ ถ้าพิจารณาสลับเนื้อสวย พอเนื้อสวยก็เกิดราคะ

มันกระตุ้นมันก็เกิดราคะอยู่แล้ว ถ้าไปสุภะมันก็เกิดราคะ อสุภะมันก็ปล่อยวาง วิราคะ มันพิจารณาไปแล้วนะ ทำแล้วถ้ามันไม่เจริญก้าวหน้า หรือทำแล้วมันทำอย่างไรต่อ ทุกคนคิดว่าทำแล้วทำอย่างไรต่อ ทำเสร็จแล้วเก็บเข้าลิ้นชักใช่ไหม ทำงานเสร็จแล้วเก็บเข้าลิ้นชัก แล้วก็ไปทำงานอื่นต่อไป เวลาจะกลับมาเปิดลิ้นชัก เปิดไม่ออก เราเคยทำอะไรไว้ ทำอย่างไร ทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ ทำอะไรเสร็จแล้วก็เก็บเข้าลิ้นชักไว้

แต่ถ้าเป็นความจริง ทำอะไรแล้วนะ เราต้องพยายามทบทวนตลอด ต่อเนื่องตลอด ทำต่อเนื่องขึ้นไปมันจะเจริญงอกงามขึ้นไป แต่ในทางโลกไง เรามีหน้าที่การงาน เราปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ทำเป็นเครื่องอยู่ แต่ถ้าเราทำจริงๆ จังๆ นะ มันจะได้ประโยชน์กว่านี้

ถ้าถูกไหม

ถูก

ฉะนั้นเวลาการปฏิบัติอย่างนี้ การชักลมเข้าและชักลมออกอย่างนี้ เป็นสุภะ โดยกำหนดร่างกาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมาธิการงานชอบหรือไม่

การงานชอบนะ มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ทำถูกต้องดีงาม มันเป็นงานชอบ งานชอบ งานในสมถะ งานในสมาธิ ถ้าวิปัสสนา งานใช้ปัญญา นี่งานชอบ

ถ้างานชอบ ความถูกต้องชอบธรรม มันก็ปล่อยวาง ความถูกต้องชอบธรรม มันก็มีความสุข ความถูกต้องชอบธรรม แม้จะมีเล็กมีน้อย เราเก็บเล็กผสมน้อย ถ้าเรายังทำสิ่งใดไม่ได้ เราก็ฝึกหัดไป ทำสมาธิก็ให้มีสมาธิควบคุมดูแลตัวเองได้ เพราะมีสมาธิดูแลตัวเองได้แล้ว ถ้ามันออกฝึกหัดใช้ปัญญาไปแล้ว พอมันได้ประสบแล้ว เหมือนกับเราทานอาหารแล้วอิ่มหนำสำราญแล้วเราก็พักเก็บล้าง เดี๋ยวมันก็หิวอีก เพราะจิตใจเป็นแบบนี้ จิตใจเป็นแบบนี้ เราก็ทำต่อเนื่องๆ ไป

สิ่งที่ว่า อย่างนี้เป็นงานชอบไหม

ชอบ เป็นงานชอบ แต่งานชอบเป็นงานชอบชั่วคราว งานชอบชั่วคราว ทำต่อเนื่องๆ จนมันมั่นคงขึ้นไป เดี๋ยวถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะพัฒนาไปนะ ถ้าพอพัฒนาไปแล้ว โยมย้อนกลับไป ย้อนกลับไปสิ่งที่เราเคยทำมา มันจะสลดสังเวชเลยล่ะ เมื่อก่อนทำไมเราไปยึดมั่นถือมั่นตรงนั้น คนเรายังไม่เห็นเราผิดเราบกพร่องขึ้นมา เราจะไม่รู้ว่าความผิดความบกพร่องเราเป็นแบบใดเลย พอเราทำสิ่งใดขึ้นมา เราก็พยายามจะเทียบเคียงกับตำรับตำรา เทียบเคียงให้ว่าเราถูกต้อง เราชัดเจน มันอยากให้มันถูกต้อง ฉะนั้น มันถูกต้อง กิเลสมันก็บังเงาๆ มาตลอดไง

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราไป มันจะถูกต้องไม่ถูกต้องก็เราปฏิบัติอยู่นี่ เราทดสอบอยู่นี่ แล้วถ้ามันดีขึ้นไป สิ่งที่ดีขึ้น ดีขึ้นเจริญขึ้น มันก็ต้องรู้สิ่งที่เราเคยผ่านมามันต่ำกว่า มันต่ำกว่า แต่การต่ำกว่านั้น ที่ปฏิบัตินี่ถูกไหม มันก็ถูก ถูกในคนที่ไม่เคยทำมันก็จับต้นชนปลายไม่ได้

เราเคยนั่งสมาธินะ เรามาถึง เรานั่งสมาธิปั๊บเลย เราก็เริ่มต้นทำสมาธิทันทีเลย ไอ้คนไม่เคยทำสมาธิ พอมาถึงนะ ทำอย่างไรล่ะ ทำอย่างไร ก็ท่านั่งมันทำไม่เป็น ทำกันไม่เป็นหรอกไอ้ท่านั่งนี่ นั่งสมาธินี่ แล้วนั่งอย่างไรล่ะ โอ๋ย! มันเอียงๆๆ โอ๋ย! นั่งแล้วมันไม่ได้

ท่านั่งก็คือท่านั่ง รูปปั้น ปั้นรูปไว้ ตุ๊กตาเราวางที่ไหนก็ที่นั่นน่ะ แต่ใจของคนมันโลเล เวลาไม่ทำมันก็ไม่มีขอบเขต มันก็ไปอยู่สุขสบายของมัน เวลามันทำมันมีขอบเขต เอาแล้วนั่งอย่างไรล่ะ มันเอียง นั่งอย่างไรนี่คนเริ่มต้นฝึกหัดใหม่ แต่ถ้าคนเคยทำ พอนั่งสมาธิปั๊บ นั่งลงไปก็กำหนดตั้งสติก็เป็นสมาธิแล้ว นั่งเป็นคำบริกรรมแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราฝึกหัดจนชำนาญแล้ว สิ่งที่ถามมา เวลาเพ่งไปที่แขนที่ขา มันมีอาการ มันดำ มันเขียว มันช้ำอะไรนี่ ไอ้นี่มันเรื่องเป็นปัจจุบันที่เราพอใจ เราปฏิบัติแล้วเราได้ผล พอได้ผลแล้ว เดี๋ยวข้างหน้าต่อไปจะทำอย่างนี้อีกมันไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวมันจะไม่ขาวไม่ดำแล้ว มันจะออกสีม่วงๆ เดี๋ยวมันออกช้ำเลือดช้ำหนอง

พอออกจากนั่นไม่ใช่ ผิดอีกแล้ว มันต้องขาวๆ ดำๆ”...มันไม่ใช่ จะขาวๆ ดำๆ มันปัจจุบันก็ใช่ ถ้าปฏิบัติต่อไปข้างหน้ามันจะช้ำเลือดช้ำหนองก็ใช่ มันจะเป็นอย่างไรก็ใช่ แต่พอเราทำอะไรครั้งแรกปั๊บ มันจะเอาแต่ครั้งแรก อย่างนี้ไม่โตใช่ไหม เอ็งจะสตัฟฟ์ไว้เลยเนาะ เด็กเกิดมาก็สตัฟฟ์ ห้ามโต

จิตก็เหมือนกัน พอมันรู้มันเห็นเท่านั้นน่ะ เอ็งจะไม่รู้อะไรมากขึ้นไปกว่านี้หรือ เอ็งจะไม่ละเอียดไปมากกว่านี้หรือ ถ้ามันละเอียดมากขึ้นไป เปิดกว้างไว้ แล้วมันจะเป็นสิ่งใด มันจะเป็นมา ถ้าเป็นมามันก็เป็นความจริง

นี่บอกว่า วิบากกรรมคือผลของการกระทำ เราปฏิบัติถูกต้องดีงามมันก็จะเป็นผลของเรา ถ้าเราปฏิบัติกำลังขาดตกบกพร่อง มันก็ยังขาดตกบกพร่องไป แต่คำว่าขาดตกบกพร่องมันมีขาดตกบกพร่องอยู่แล้ว เพราะว่าเวลาอกุปปธรรม อฐานะที่มันจะไม่เปลี่ยนแปลง คือโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีขึ้นไป มันจะชัดเจนของมันมาก ฉะนั้น ถ้าถึงตอนนั้นแล้วนะ จบเลยล่ะ ชัดเจน

ถ้ายังไม่ชัดเจน เราก็ปฏิบัติของเราไป ไม่ต้องเสียใจหรอก ไม่ต้องคิดว่าหลวงพ่อนี่ แหม! อะไรก็ไม่ใช่ อะไรก็ไม่ใช่

คำว่าไม่ใช่ก็ต้องบอกของถูกกับผิด ถ้าของมันไม่ถูกแล้วบอกว่าถูก แล้วถ้าปฏิบัติไปข้างหน้าไปเจอของถูก ก็บอกว่าของถูกเป็นของผิดนะ

ถ้าถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด

แต่เราปฏิบัติเหมือนกันมันผิดมันถูกตรงไหนล่ะ ก็พุทโธเหมือนกัน ก็ปฏิบัติเหมือนกัน ก็เห็นกายเหมือนกัน หลวงพ่อก็เห็นกาย ผมก็เห็นกาย มันผิดตรงไหนล่ะ อ้าว! ก็เหมือนกัน หลวงพ่อต้องยอมรับสิ

อ้าว! เห็นเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันน่ะ เห็นเหมือนกันน่ะ เรานั่งอยู่นี่ เด็กมาหรือผู้ใหญ่มาก็เห็นเรานั่งกันอยู่อย่างนี้ แต่ภูมิความรู้เขาคิดแตกต่างกันไปทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน เห็นเหมือนกัน แต่ความชำนาญการมันแตกต่างกัน ถ้ามันแตกต่างกัน มันจะละเอียดไปมากกว่านี้ ฉะนั้น การเห็น ทุกคนเห็นได้ แต่เห็นแล้วก็อยู่ที่วุฒิภาวะเขาจะมีปัญญามากน้อยแค่ไหน

นี่เราเห็นของเราแล้ว เราก็เห็น แล้วรู้วุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหนล่ะ ถ้ามันมาก มันคงไม่ถามมาหรอก ถ้ามันมากนะ มันจะนั่งยิ้มกริ่มเลยล่ะ อื้ม! อื้ม! ถ้ามันมากนะ ถ้ามันถามมาแสดงว่าไม่แน่ใจ

ปัจจัตตัง ปัจจัตตัง ทำให้ดีเถอะ ทำไป เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกัน เราเป็นบริษัท ๔ ด้วยกันนะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นบริษัท ๔ เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน ฉะนั้น ปฏิบัติเถอะ ปฏิบัติไปถึงคุณงามความดี มันจะเป็นคุณงามความดีอันเดียวกัน ให้มั่นใจ ให้ทำด้วยสัมมาทิฏฐิความถูกต้องดีงาม ให้ทำไปเถอะ ทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

อ้าว! ต่อไป

ถาม : เรื่องจิตเป็นอสุภะเป็นอย่างไรครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ก่อนที่จิตจะลงสมาธิ จะมีภาพฟุ้งเรื่อยๆ (มันฟุ้งเอง ผมไม่ได้บังคับมัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์)

หลวงพ่อ : ต้องยืนยันด้วย

ถาม : และผมก็พยายามกลับมายึดลมกับพุทโธ พยายามไม่ไปตามภาพ และละเอียดลงไปจะเป็นเสียงจากสัญญา สังขารของผมเอง ออกมาเป็นคำๆ เหมือนเสียงจริงๆ (ส่วนใหญ่จำไม่ได้ว่ากล่าวว่าอะไร เหมือนรู้ แต่มันไม่จำ) แต่ถ้าทรงสติไว้อยู่ ไม่หลงประเด็น มันลงไปเข้าตรงส่วนสติที่เพ่งอยู่

ผมเองบางครั้งก็น้อมเห็นรูป กำหนดแปรสภาพจากสุภะเป็นอสุภะอยู่นะครับ แต่ตั้งให้อยู่นานๆ ยังทำไม่ได้ พอถอนออกมา ถ้าไม่ทำต่อเนื่อง สุภะมันก็ฟูขึ้นทีละน้อย และรู้ตัวอีกทีตอนมันมีกำลัง ทั้งๆ ที่การใช้ชีวิตปกตินี้เลี้ยงสติอ่อนๆ อยู่นะครับ

เคยฟังเทศน์ของหลวงตาที่ว่าจิตกลายเป็นอสุภะเสียเอง ทำนองนี้ ผมจำไม่ค่อยได้ หมายถึงอย่างไรครับ แม้ไม่ภาวนาก็ปรากฏอยู่ไหมครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : การปฏิบัตินะ ถ้าปฏิบัติ เรามีความฟุ้งอยู่เรื่อยๆ คิดถึงจิตที่เป็นสุภะเป็นอย่างไร จิตเป็นสุภะ เราปฏิบัติแล้ว พอจิตมันมีพื้นฐาน ถ้าเราไม่ปฏิบัตินะ มันก็มีความรู้สึกนึกคิดอยู่อย่างนี้ เวลาปฏิบัติไป เพียงแต่เรามีสติปัญญา มันไตร่ตรอง มันดูแลจิตของเรา มันถึงจะเห็นว่าจิตของเรามันแปลกประหลาด มันคิดเรื่องนู้นคิดเรื่องนี้ มันมีความทุกข์อย่างใด

แต่ถ้าเราไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย เราก็ใช้ชีวิตประจำวันของเรา มันก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ แต่ความรู้สึกนึกคิดนี้เราคิดเป็นวิทยาศาสตร์ คิดเป็นเรื่องหน้าที่การงาน คิดเป็นเรื่องโลก คิดเป็นอารมณ์ความรู้สึกของเรา สิ่งที่ละเอียดขึ้นมา เราก็ไม่ได้เห็นมัน

แต่พอเรามีสติปัญญา เราตั้งสติ เราทำความสงบของใจเข้ามา มันก็จะมารู้มาเห็นของมัน เห็นไหม รู้เห็นเรื่องเวลามันคิด มันคิดเรื่องหน้าที่การงานก็ทำหน้าที่การงานไป แต่ถ้ามีสติปัญญา เวลาจิตมันย้อนกลับเข้ามามันถึงมาเห็นตามภาพไง มาเห็นภาพ มาเห็นว่า เรามีเสียงคิดขึ้นมา เรามีความคิด เรามีสัจจะขึ้นมา มันรับรู้ได้

ทำของเราไปเรื่อยๆ ถ้าทำของเราไปเรื่อยๆ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว ถ้ามันไปเห็นภาพต่างๆ โดยคนที่ปรารถนาความสงบของใจเขาจะปล่อยวางภาพนั้น เขาละเขาวาง แต่ส่วนใหญ่ของเรา เราปฏิบัติไปแล้วเราอยากรู้อยากเห็น แล้วมันก็ชวนให้รู้ชวนให้เห็นด้วย

จิตใต้สำนึกทุกคนจะสงสัยว่า เรานั่งกันอยู่นี่ อดีตชาติเป็นอะไร ทุกคนคิดว่า อดีตชาติเป็นอะไร แหม! เรามีวาสนามากน้อยแค่ไหน โอ๋ย! มันอยากรู้ ใครๆ ก็อยากรู้ว่าตัวเองนี้มาจากไหน คุณภาพของจิตเรามีวาสนาแค่ไหน แล้วเขาบอกทำไปก็อยากจะรู้ แล้วกิเลสมันก็รู้ด้วยกับเรา เพราะเราอยากรู้ กิเลสมันก็อยากรู้ กิเลสมันก็เอานี่มาอ่อยเหยื่อ เวลานั่งไปมันก็โผล่มาให้นะ ชาติที่แล้วเป็นยอดหญ้า จิตสงบแล้วมันเห็นยอดหญ้าพลิ้วๆ มันก็อยากรู้ โอ้โฮ! ชาติที่แล้วคงเป็นยอดหญ้า อ้าว! มันก็อยากรู้ต่างไป พอกิเลสมันหลอกจนหัวปั่นเลยนะ พอจะรู้ทันมันนะ เดี๋ยวมันก็ให้เป็นเงา เป็นเงาของสัตว์ เป็นเงาของอะไรให้เรารับรู้ ชาติที่แล้วน่าจะเป็นแบบนี้ ตามไป...นี่มันภาวนาอะไร นี่มันภาวนาอะไร มันภาวนาวิ่งตามกิเลสอยู่นี่ มันภาวนาอะไร

เราภาวนานี้เราภาวนาเพื่อจะชำระล้างมัน เพื่อจะเป็นอิสระจากกิเลส ทำสมถะคือความเป็นอิสระจากกิเลส ถ้าเป็นอิสระ มันก็เป็นส่วนตัว เป็นส่วนตัว มันก็เป็นเอกภาพ พอเป็นเอกภาพก็คือเป็นสมาธิไง

แต่ถ้ามันมีกิเลสเจือปนอยู่ เห็นไหม ไม่คิดอะไรก็งงๆ คิดอะไรก็คาดหมายไป นี่กิเลสสมุทัยมันเจือปนมาตลอดความคิดเรา

เราต้องการความเป็นอิสระ เวลาเรามาภาวนา เราต้องการให้จิตเป็นอิสระ ถ้าจิตเป็นอิสระได้ อิสระโดยที่ไม่มีสมุทัยเจือปนมา นั่นคือสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ ถ้ากิเลสกับจิตมันอาศัยมาด้วยกัน มันก็เอายอดหญ้ามาพลิ้วๆ เดี๋ยวก็ใบไม้ไหว ให้อยากรู้อยากเห็นไง แล้วเราก็บอกว่า มันเป็นสุภะหรือเป็นอสุภะล่ะ แล้วมันเป็นสุภะหรือเปล่า

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัตินะ เราพยายามกำหนดพุทโธ อานาปานสติ อะไรก็ได้ บริกรรมให้ชัดๆ ถ้าสติชัดๆ มันไม่ไปรู้ยอดหญ้า มันไม่ไปรับรู้สิ่งใด

ถ้ามันรู้สิ่งใดเห็นสิ่งใด รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันเป็นพวงดอกไม้บูชาไง พอนั่งสมาธิไปโอ้โฮ! ในโลกนี้ไม่มีใครนั่งสมาธิ สู้เราไม่ได้ เรานี่เป็นยอดคนนี่พวงดอกไม้ไง มันหยอก มันหยอกอู๋ย! เรานี่ยอดคนเลยนะ เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วย มาประพฤติปฏิบัติด้วย กำลังจะเป็นพระอรหันต์อยู่แล้วแหละนี่มันยอๆ มันยอให้ลอย นี่พวงดอกไม้แห่งมาร

เวลานั่งสมาธินะ อึดอัดขัดข้องไปหมดเลย อู้ฮู! มันยุ่งยากไปหมดเลยนั่นน่ะบ่วงมันรัดคอ

เวลาปฏิบัติไป รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วเราจะชนะตนเองๆ สิ่งใดที่มันมีสิ่งใดมา จะมียอดหญ้า มีใบไม้ไหว มีสิ่งใด...ไม่เอา ยอดหญ้า ฟาร์มเขาเลี้ยงสัตว์ อู้ฮู! มันเป็นพันๆ ไร่ เขาไล่ต้อนวัวไปกิน เขากินหมดแล้ว ใบไม้ ใบไม้เขาเอามาทำเป็นอุตสาหกรรมเยอะแยะไปหมด ตอนนี้ไฟฟ้ามวลรวมเขาเอามาเป็นเชื้อเพลิง มันไปตื่นเต้นอะไรล่ะ ทางโลกเขายังเอามาเป็นธุรกิจเลย แล้วไปตื่นเต้นอะไร

ถ้ามีสติปัญญาอย่างนี้ เราภาวนาเพื่อความสงบไง เราภาวนาเพื่อความเป็นอิสระไง เราต้องการให้จิตเราเป็นอิสระ เราไม่ต้องการให้มีสมุทัยมาเจือปนน่ะ แล้วภาวนาไปก็ไปพร้อมกับมัน มันก็แหย่เรื่อย มันก็หลอกเรื่อย แล้วไปกับมันน่ะ แล้วมันจะเป็นสุภะหรืออสุภะล่ะ

เราภาวนาเพื่อจิตสงบ ถ้าจิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญานั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เราค่อยๆ ฝึกหัดใช้ เรายังไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ฉะนั้น สิ่งที่มันจะรู้มันจะเห็นต่างๆ มันเป็นเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นบอกว่า พอเขาภาวนาแล้วเขาเห็นเป็นสุภะ เป็นสุภะ เป็นอสุภะ มันอยู่ได้นาน ไม่อยู่ได้นาน ถ้ามันเป็นอสุภะแล้วจิตใจมันก็สงบดีงาม ถ้าเป็นอสุภะมันก็เฟื่องฟูขึ้นมา...พอมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้มันเห็นประโยชน์ไง ทีนี้มันก็คิดว่าอย่างนี้เป็นสุภะ เป็นอสุภะไง แล้วตอนนี้เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราฟังธรรม เขาบอกฟังธรรมนี้แสนยากๆ แต่ตอนนี้มันมีเสียงธรรมหลวงตา ก็เลยบอกว่าเคยฟังเทศน์หลวงตาบอกว่าจิตมันกลายเป็นอสุภะเสียเอง ทำนองนี้ มันคืออะไรผมจำไม่ได้

จิตมันเป็นอสุภะเสียเอง มันละเอียดไง จิตที่เป็นอสุภะเสียเอง เห็นไหม เวลาจิตมันสงบแล้ว เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม จิตเห็นจิต ถ้าว่าจิตนั้นเป็นอสุภะไม่ได้ อสุภะคือเป็นวัตถุที่เป็นอสุภะได้ เวลาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส สติปัฏฐาน ๔ มันก็มีจิตไง ถ้าจิตเป็นอสุภะเสียเอง ตัวเราเป็นจิต จิตเราพิจารณาเขา เราไปแยกแยะสิ่งอื่น แต่ตัวเราเองมันก็เป็นอสุภะเสียเอง ตัวเราเองก็ไม่แน่นอนไง ตัวเราเองมันก็เปลี่ยนแปลงไง ถ้าตัวมันเองเปลี่ยนแปลง มันก็เข้ามาสำรอก เข้ามาชำระล้างกันที่จิตไง เวลาสำรอกกิเลส มันสำรอกที่จิต มันไม่สำรอกออกที่กายไง

ฉะนั้น ไม่สำรอกออกที่กาย แล้วพิจารณากายมันจะสำรอกกิเลสได้อย่างไรล่ะ

อ้าว! ถ้าพิจารณากาย เพราะถ้าจิตไม่สงบ จิตมันไม่เห็นกาย เพราะกายนี้มันเกิดจากจิต ถ้าเกิดจากจิต มันก็สะเทือนกับจิต

ถ้าพิจารณาเวทนา เวทนา คนตายไม่มีเวทนา วัตถุธาตุไม่มีเวทนา มีเวทนาแต่สิ่งที่มีชีวิต เพราะสิ่งที่มีชีวิตมันถึงมีเวทนา ชีวิตมันคืออะไร ชีวิตก็คือปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิต เพราะมันมีจิต มันถึงมีเวทนา ถ้าจับพิจารณาเวทนา มันก็สะเทือนถึงจิต เห็นไหม

ถ้าพิจารณาจิต จะพิจารณาจิต จิตมันเกิดจากจิตเอง จิตพิจารณาจิต จิตเห็นอาการของจิต

ถ้าพิจารณาธรรม ธรรมะเกิดจากจิต

นี่พูดถึงสติปัฏฐาน ๔ นะ

แต่เวลาถ้าพูดถึง ถ้าหลวงตาท่านบอกว่าจิตมันเป็นอสุภะเสียเอง อันนั้นท่านพิจารณาอสุภะ ถ้าอสุภะ จิตใจท่านมีรากฐานสูงส่งแล้ว เรายังไม่ต้องพิจารณาถึงขนาดนั้น แต่เวลาคำเทศนาว่าการของครูบาอาจารย์มันเป็นคติธรรมได้ ถ้ามันเป็นคติธรรมได้ เราเอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา เราก็ทำได้

เพียงแต่คำถามเขาถามมา เพราะว่าเราพิจารณาอยู่ใช่ไหมว่าจิตของเรามันน้อมไปที่รูป พิจารณาไปแล้วเป็นสุภะ เป็นอสุภะ ถ้าเป็นสุภะ มันก็เกิดความฟูของใจ ถ้าเป็นอสุภะ มันก็ปล่อยวาง

เห็นไหม มันก็เหมือนยา ถ้ายากับของแสลง ถ้าของแสลง ยิ่งของแสลงเข้าไป โรคภัยไข้เจ็บมันก็รุนแรง ถ้ากินยา ยาก็เข้าไปสงบระงับ สุภะ อสุภะ นี่ไง ระหว่างกิเลสกับธรรม เราพิจารณา เราก็เห็นของเราเองตามความเป็นจริง แต่ทำไม่ได้ ทำแล้วมันทำอย่างไร มันพิจารณาไม่ได้ เพราะเราเพิ่งฝึกหัดใหม่ จิตใจเราก็อ่อนแอเป็นเรื่องธรรมดา เราถึงทำความสงบของใจให้มากขึ้น พิจารณาต่อเนื่องมากขึ้น เหมือนนักกีฬา นักกีฬาอาชีพ เขาเรียกว่ามืออาชีพ มืออาชีพเขารับผิดชอบนะ เขารับผิดชอบกับความดำรงชีวิตของเขา เพราะเขาเป็นนักกีฬา เขาต้องดูแลสุขภาพของเขา ไปไหนเขาจะดูแล เพราะเขาเป็นมืออาชีพ ไอ้พวกเรามือสมัครเล่น นักกีฬาก็จะเป็น เที่ยวเล่นก็จะเป็น นักเลงหัวไม้ก็จะเป็น เป็นทุกอย่างเลย มันก็เลยไม่รับผิดชอบอะไรเลย ปล่อยสำมะเลเทเมาไง

นี่ไง มันเหมือนกับการปฏิบัติ ถ้ามืออาชีพ เขามืออาชีพ เขารับผิดชอบ เพราะเขามืออาชีพ ไอ้เราไม่ใช่มืออาชีพแล้วยังล้มลุกคลุกคลานไง

มืออาชีพแบบครูบาอาจารย์ของเราท่านภาวนาจริงๆ ไง ๒๔ ชั่วโมง ล้มลุกคลุกคลานขนาดไหนก็สู้ เวลาจิตมันดี เวลามันดี มันดีสุดยอดเลย เวลามันเสื่อม เสื่อมอย่างไรก็สู้ สู้อย่างเดียว คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เราทำของเราอย่างนั้น

ที่ว่าจิตที่กลายเป็นอสุภะเสียเอง

อันนั้นความหมายของหลวงตาเป็นอีกกรณีหนึ่ง ความหมายของหลวงตา ท่านพิจารณาอสุภะ พิจารณาจนมันหายหมดเลย ท่านถึงเอาสุภะขึ้นมาเพื่อให้มันแสดงตัวออกมา เห็นไหม เวลาพิจารณาๆ มันหายหมด มันว่างหมด ไม่มีตัวตนเลย ท่านบอกไม่มีเหตุผลอย่างนี้ไม่เอาๆๆ นี่คนมีสติมีปัญญา

ถ้าเป็นพวกเรา ไม่ใช่ไม่เอาหรอก รีบตะครุบเลย ใครมาส่งเสริม โอ๋ย! สุดยอด คนนี้คนดี ให้ใบประกาศ ๕๐ ใบ มันจะติดรอบบ้านเลย

แต่ของท่าน ท่านไม่เอา เห็นไหม คนที่มีวุฒิภาวะ ถ้าสิ่งใดถ้าไม่มีเหตุมีผล ไม่เอา พอไม่เอาก็เอาสุภะมาพิจารณา พิจารณาซ้ำพิจารณาซากทั้งสุภะ อสุภะ พิจารณาระหว่าง ๒ ข้าง สุดท้ายแล้ว ไปทำลาย อ๋อ! จิตเป็นอสุภะเสียเอง มันอุทานน่ะ เวลามันเป็นจริงขึ้นมามันอุทานออกมาจากก้นบึ้งของใจเลยล่ะ อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง แต่ถ้าเรายังไม่อุทานนะ จำเขามาๆ จำเขามาหน่อยหนึ่งแล้วมาขยายความ

เราทำของเราอย่างนี้ไง เราบอกว่ามันเป็นวิบากกรรม วิบากกรรม กรรมคือการกระทำ วิบากคือผล วิบากกรรม ทำถูกต้องดีงามก็ได้ผลที่ดี ทำปานกลางมันก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ ทำเหลวไหล ทำพอสักแต่ว่าทำ มันก็เลยบอกว่าเอ๊! มรรคผลจะมีจริงหรือเปล่า บอกให้ทำก็ทำเต็มที่แล้ว เอ๊! มันน่าไม่มีหรอก”...นี่วิบากกรรม

กรรมของคนมันอ่อนแอมันก็ไปติฉินเขาทั่ว เขาลงทุนลงแรงกันจริงจัง ไอ้เราก็ทำของเราด้วยจิตใจมันอ่อนไง จับจดนิดๆ หน่อยๆ ก็บอกโอ๋ย! ฉันทำเต็มที่แล้ว อู๋ย! ฉันสุดยอดเลย อู๋ย! มรรคผลไม่มีหรอก ทุ่มทั้งชีวิตแล้ว

ไอ้คนที่จริงจังบอกว่าไอ้นั่นมันเดินเล่น มันเดินเล่นอยู่ มันบอกมรรคผลไม่มี แต่ถ้าคนจริงจังเขาทำจริงจังของเขานะ มันทำจริง

วิบากกรรมคือผลของการกระทำ ถ้าคนทำจริงได้ผลตามจริงๆ ถ้าคนทำปานกลางมันก็ทำเพื่อดำรงชีวิต ทำเพื่อผลบุญกุศล ถ้าทำอ่อนแอมันจะไม่เชื่อเลยล่ะหมดแล้วแหละ คงไม่มีแล้วล่ะ ทำมาจนขนาดนี้มันก็ไม่ได้ คงไม่มีหรอก มรรคผลไม่มีหรอกนี่ถ้าคนมันอ่อนแอ คนอ่อนแอก็คิดอย่างนั้นเพราะจิตใจเขาอ่อนแอ

ถ้าจิตใจเข้มแข็งนะ กาลเวลามา ๒,๐๐๐ กว่าปี ถ้าศาสนามันไม่มีเหตุมีผล ทำไมผู้ที่ปฏิบัติเขายังปฏิบัติกันอยู่ แล้วคนทำจริงขึ้นมาทำไมเขาได้จริงล่ะ แล้วคนที่ปฏิบัติแต่ละคนเขาไม่มีสติปัญญาเลยหรือ คนที่ทำจริงๆ พวกนั้นเขาไม่มีสติปัญญาใช่ไหม ต้องให้เขาหลอกกันมาตลอดมา ๒,๐๐๐-,๐๐๐ ปียังหลอกกันได้อยู่อย่างนั้นจริงๆ หรือ

ถ้ามันเป็นจริง เราหาเหตุผลสิ ถ้าเหตุผลขึ้นมา เรามีปัญญามากกว่านักปราชญ์ใช่ไหม มีปัญญามากกว่าหลวงปู่มั่นใช่ไหม มีปัญญามากกว่าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมา เอ็งมีปัญญาอย่างนั้นจริงๆ เชียวหรือ มันไม่มี ไม่มีก็แสดงว่าเรานี่อ่อนด้อยมาก เราอ่อนแอมาก แล้วให้กิเลสมันท่วมหัว กิเลสมันสุมหัวหลอกลวงอยู่นี่ ทำให้จริง วิบากกรรมๆ การกระทำมันส่งผลเป็นความจริงของเรา ถ้าทำจริง มันเป็นจริง

ฉะนั้น จิตเป็นอสุภะเป็นอย่างไร

พิจารณาไปแล้วจะรู้จริง ถ้ารู้จริงขึ้นมาแล้วมาสอนด้วยเนาะ รู้จริงแล้วช่วยบอกที มันเป็นอย่างไรวะ

แต่ถ้าคนรู้จริงแล้วนะ โอ้โฮ! มันเป็นปัจจัตตัง มันเข้าเผชิญเต็มที่ เป็นปัจจัตตังนะ รู้จำเพาะตน แต่เป็นครูบาอาจารย์เราสอนได้นะ ไม่ใช่รู้จำเพาะตนแล้วพูดไม่ได้ ถ้ารู้จำเพาะตน หลวงปู่มั่นเทศน์อยู่นั่นคืออะไร รู้จำเพาะตน หลวงตาท่านสอนอยู่นั่นคืออะไร ก็รู้จำเพาะตนไง ท่านถึงมีหลักเกณฑ์ในใจไง ถึงบอกหลักความถูกต้องดีงาม ความผิดพลาดของการกระทำมาได้ถูกต้องไง นี่ไง รู้จำเพาะตน แต่รู้จริงๆ รู้จริงๆ เห็นจริงๆ เป็นคุณสมบัติจริงๆ แล้วมั่นคงจริงๆ ในหลักธรรมนั้น จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น ทำให้จริงแล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง