ล้มแล้วลุก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ทุกข์จากจิตเสื่อม”
โยมเป็นลูกศิษย์ใหม่
หลวงพ่อ : เขาพูดเลยนะ ไม่เคยเจอกันเลย
ถาม : โยมเป็นลูกศิษย์ใหม่เจ้าค่ะ มีความทุกข์ยากแสนสาหัส โยมขอความเมตตาคำตอบโยมดังนี้เจ้าค่ะ
เมื่อราว ๑๒ ปีก่อน (พ.ศ. ๒๕๔๖) โยมได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่ง มีพระอาจารย์เป็นผู้สอน โยมเคารพนับถือท่านมาก เมื่อมีข้อสงสัยติดขัดประการใดก็จะกราบเรียนถามท่านมาตลอด การภาวนาก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ พอถึงปีที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๔) พระอาจารย์ท่านสึกไปมีครอบครัว ปาราชิก โยมตกใจมาก เสียใจ ผิดหวัง ท้อแท้ เคว้งคว้างมาก โยมคิดผิด
ได้ออกจากวัด ละทิ้งการภาวนาทั้งหมด แต่ยังรักษาศีล ๕ ยิ่งชีวิต หันกลับมาใช้ชีวิตแบบคนทางโลก ช็อปปิ้ง เที่ยว กิน ดูหนัง ละคร ทำแบบนี้อยู่ราวๆ ๑ ปี โยมเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ทางที่โยมปรารถนาเสียแล้ว ไม่สนุก ไม่มีความสุขเลย จนสุดท้ายโยมตัดสินใจมาเริ่มภาวนาพุทโธอีกครั้งหนึ่ง ยากมาก เป็นสมาธิบ้าง ไม่เป็นบ้าง ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนคนไม่เคยภาวนามาเลย โยมสู้ไม่ถอย แทบทุกครั้งความทรงจำเก่าๆ (สัญญา) ในเรื่องการภาวนาก็เข้ามารบกวนตลอด
โยมจะนำคำสอนของครูบาอาจารย์มาสอนใจตนว่า ให้อยู่กับปัจจุบัน อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว โยมพยายามแสวงหาครูอาจารย์มาตลอด จนได้รู้จักกับกัลยาณมิตร เขาได้แนะนำให้โยมไปกราบเรียนเล่าการภาวนาถวายท่านอาจารย์ โยมยังมีข้อลังเลสงสัยว่าควรเล่าถวายหรือไม่เจ้าค่ะ เพราะเป็นเรื่องในอดีต ซึ่งในปัจจุบันโยมก็ยังทำไม่ได้อย่างนั้น ควรจะทิ้งเรื่องไว้ในอดีต แล้วมาเริ่มต้นหัดภาวนาพุทโธใหม่ เพื่อให้อยู่กับปัจจุบัน โยมคิดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ
โยมเคยฟังเทศน์คำตอบท่านอาจารย์ และถ้าท่านอาจารย์ต้องการให้โยมเล่าอดีตเรื่องการภาวนา โยมก็จะเล่าถวายเจ้าค่ะ โยมขอความเมตตาเป็นที่พึ่งให้โยมด้วยเจ้าค่ะ โยมไม่มีครูบาอาจารย์เลย ว้าเหว่มาก
ตอบ : ไอ้เล่าถวายไม่เล่าถวาย การเล่าถวายส่วนใหญ่แล้วเขาจะเล่าถวายต่อเมื่อยังภาวนาอยู่ ยังต้องการความเจริญก้าวหน้า เพราะการเล่าถวายนั้นก็เหมือนกับว่าภูมิจิตเราอยู่แค่ไหน ครูบาอาจารย์ท่านจะอธิบายต่อเนื่องชักจูงขึ้นไป
แต่ในปัจจุบันนี้ จะว่าไม่ต้องเล่าถวายก็ได้ เดี๋ยวจะหาว่า โอ้โฮ! หลวงพ่อเล่นตัว...ไม่ใช่หรอก จะเล่าถวายไม่เล่าถวาย มันอยู่ที่จังหวะ จังหวะที่เราควรจะใช้อย่างใด เราควรจะเป็นอย่างใด เราทำตอนนั้น
ตอนนี้เล่าถวายไม่เล่าถวาย โยมก็ทุกข์อยู่อย่างนี้ เพราะใจโยมทุกข์ พอใจโยมทุกข์แล้ว โยมเล่าถวาย โยมก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าโยมสงสัยสิ ภาวนาแล้วติดขัดสิ่งใดโยมก็ทำได้ แต่นี่โยมไม่สงสัย เพราะโยมบอกว่า โยมกลับมาภาวนาพุทโธใหม่ เริ่มต้นภาวนาใหม่ เพราะเราเคยภาวนามาแล้ว เราก็พยายามทำตรงนี้ให้ได้ประโยชน์กับเรา ถ้าได้ประโยชน์กับเราแล้ว สิ่งนี้มันจะฟื้นมา
ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่อารัมภบทไง อารัมภบท เห็นไหม กรณีอย่างนี้เหมือนกรณีหลวงตาท่านพูด ตอนท่านพูดบ่อยๆ ตอนที่ว่าท่านพิมพ์ประวัติหลวงปู่มั่นออกมา แล้วใครมาอ่านประวัติหลวงปู่มั่นแล้วมีความศรัทธามีความเชื่อมาก มีความเชื่อมีความศรัทธามากเลย ก็ไปหาท่าน ไปหาท่าน ไปกราบท่านนะ บอกว่า เขาเป็นฆราวาส เขาศึกษาประวัติของหลวงปู่มั่นแล้วเขาศรัทธาพระปฏิบัติสายหลวงปู่มั่นมากๆ
หลวงตาท่านถึงพูดไงว่า ท่านมั่นใจว่า ในสายหลวงปู่มั่นพระกรรมฐานมีทั้งดีและเลว มีทั้งดีและเลว เลวก็มี ดีก็มี นี่ท่านพูดอย่างนี้
ท่านบอกเขาเพราะท่านสงสารเขา สงสารเขาว่า ถ้าเขามีศรัทธามีความเชื่อ มีความมั่นใจมากเลย แต่ถ้าวันไหนถ้าไปเจอพระที่มีปัญหาขึ้นมา เวลาเขาเสียใจขึ้นมา ท่านใช้คำว่า “หัวมันจะปัก” เหมือนกับนก นกหัวปักดิน มันตาย
ท่านบอกพระสายลูกศิษย์หลวงปู่มั่นดีก็มี เลวก็มี
ถ้าเลว คนเรา คำว่า “ดีและเลว” ทุกคนมันมีอยู่ในตัวทั้งนั้นน่ะ แต่ขณะที่เราปฏิบัติ เราพยายามจะกำจัดความเลวออกไปให้เหลือแต่คุณงามความดี แล้วเอาคุณงามความดี เปลี่ยนคุณงามความดีนี้ให้เป็นมรรค
ถ้าบอกว่า เป็นคุณงามความดีแล้วมันจะเป็นความดี...ความดีก็ตายไง เห็นไหม ถ้าเป็นความเลวนี่อกุศล อกุศลทำให้เราตกนรกอเวจี เป็นบาปอกุศล ถ้าทำกุศล กุศลเป็นความดี ความดีก็เกิดเป็นเทวดาไง
ทีนี้ถ้าเราเปลี่ยนความดีเป็นมรรค เห็นไหม เปลี่ยนความดีเป็นมรรค งงไหม ความดีก็คือความดี เพราะอะไร เพราะเวลาเราปฏิบัติไป เราข้ามพ้นความดีและความชั่ว ทั้งความดี เราก็พ้น ความชั่ว เราก็พ้น เราต้องข้ามพ้นไปดีและชั่วเลย ข้ามพ้นออกไป ทีนี้การข้ามพ้นออกไปมันเลยดีไป ทั้งดีและชั่ว เราข้ามพ้นไป ถ้าข้ามพ้นไปมันถึงหัก หักกิเลสได้ไง แต่ถ้ายังหักกิเลสไม่ได้มันดีและชั่วๆ
เปลี่ยนความดีเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคมันจะเจริญก้าวหน้าไป แต่ถ้ามันไม่เป็นมรรค เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในสังคมมานาน
ฉะนั้น เวลาเป็นโยม โยมบอกว่า โยมมีความเชื่อมาก โยมไปปฏิบัติ ๑๒ ปี ๑๒ ปีตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ นี่ ๑๒ ปี ปฏิบัติก้าวหน้า มีความศรัทธามีความเชื่อ มีต่างๆ
เราถึงบอกไง เวลาโยมมาวัดวันหนึ่งกี่นาที เราจะทำตัวเรานุ่มนวลขนาดไหน แนบเนียนขนาดไหนก็ได้ โยมมาวันละชั่วโมงใช่ไหม โยมกลับไปแล้วเรามีเวลาอีก ๒๓ ชั่วโมงแน่ะ ๒๓ ชั่วโมงนี้ลับหลังโยม เราจะทำอะไรก็ได้ เออ! เวลาต่อหน้าโยม มาเถอะ โยมมานี่เจริญพร ดูสิ เรียบร้อยขนาดนี้ พอโยมกลับไปแล้ว อีก ๒๓ ชั่วโมง เราจะออกลายอย่างไรก็ได้
เราถึงบอกว่า เวลาบอกว่าไปวัดแล้วเราจะเข้าใจไปทุกอย่างๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ ทีนี้เราเป็นไปไม่ได้ เราถึงบอกว่าเราต้องดึงหัวใจไว้ หัวใจของเรามาไว้กับเรา
เราไปหาครูบาอาจารย์นะ เวลาพูดถึงหาครูบาอาจารย์นี่ โอ้โฮ! แสนทุกข์แสนยาก หาครูบาอาจารย์นี่แสนทุกข์แสนยาก เราไปเจอครูบาอาจารย์แล้วถ้าไม่ตรงจริตตรงนิสัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ เวลาพระถ้ายังไม่พ้นนิสัย เวลาออกปฏิบัติไปหาครูบาอาจารย์ อยู่กับอุปัชฌาย์ ถ้าแยกจากอุปัชฌาย์มาต้องมีครูบาอาจารย์ถ้ายังไม่พ้นนิสัย แล้วถ้าไปอยู่ที่ไหน ให้สังเกตครูบาอาจารย์อยู่ ๗ วัน สังเกต สังเกตถึงนิสัยว่าเราจะเข้ากันได้หรือไม่ได้อยู่ ๗ วัน แล้วถ้า ๗ วัน ถ้าเราเข้ากันไม่ได้ เราต้องเก็บบริขารของเรา เราไปหาที่ใหม่ของเรา แต่ถ้าเราไม่เก็บ เราอยากอยู่กับท่าน เราต้องขอนิสัย เพราะราตรีที่ ๗ เลย ๗ วันไป ถ้าเราไม่ขอนิสัย เป็นอาบัติปาจิตตีย์ นี่เป็นอาบัตินะ
ฉะนั้น ก่อนที่จะขอนิสัย ท่านให้สังเกตกันก่อน ให้สัมผัสกันว่าเราเข้ากันได้ไหม เราลงกันได้ไหม ถ้าลงกันได้ เราจะขอนิสัยอาจารย์องค์นี้เป็นอาจารย์ของเรา แล้วถ้าขอนิสัยแล้ว คำว่า “ขอนิสัย” ขอนิสัยก็พร้อมจะให้สั่งสอนไง พร้อมจะให้ดุให้ด่า ให้เฆี่ยนให้ตีไง
ฉะนั้น เวลาออกจากพรรษาแล้วมหาปวารณา เวลามหาปวารณานะ ถ้าเรามีความผิดความบกพร่องอย่างใดให้ตักเตือนกัน ให้บอกกัน นี่ขอนิสัย ฉะนั้น การขอนิสัย แม้แต่พระเขายังให้สังเกตให้ดูกัน ฉะนั้น สิ่งที่ให้ดูกัน เราให้ดูกัน ให้สังเกตว่าเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้
การหาครูหาอาจารย์นี้แสนยาก แม้แต่ครูบาอาจารย์ท่านเป็นของจริง ว่านี่พูดถึงครูบาอาจารย์ที่เป็นของจริงเลย แต่ถ้าจริตมันไม่ตรงกัน มันพูดออกไปมันเหมือนเวลาน็อต เกลียวมันไม่ลงกัน มันติดขัดไปหมดแหละ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่มันลงกันนะ แหม! เกลียวนี่มันหมุนมันแน่น โอ๋ย! มันดูดมันดื่มนะ
เหมือนกับหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่าท่านปฏิบัติ ท่านจะออกปฏิบัติ ท่านบอกการปฏิบัติในสังคมโลก ทุกคนบอกว่าต้องมีปัญญา ต้องมีการศึกษาก่อน ถ้าไม่ศึกษาแล้วเราจะผิดพลาดไป เราก็ศึกษาก่อน เราศึกษาเพื่อให้มีปัญญาเพื่อจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เวลาจะปฏิบัติขึ้นมา ไอ้ที่ว่าศึกษาจะเป็นแนวทางปฏิบัติ มันก็ยังงงอยู่นั่นน่ะ มันก็ยังปฏิบัติไม่ได้อยู่ดีนั่นน่ะ ทีนี้พอไม่ได้อยู่ดี เราจะหาใครล่ะ
ท่านบอกว่าท่านก็ตั้งเป้าไว้ไปหาหลวงปู่มั่น ตั้งเป้าไว้เลย ถ้ามีครูบาอาจารย์องค์ใดชี้ทางเรา บอกได้ คอยแก้ความสงสัย ความบกพร่องของเรา คอยบอกคอยแนะว่าเรามีความสงสัยอย่างไร เรามีความบกพร่องอย่างไร ท่านคอยชี้คอยแนะเรา เราจะถืออาจารย์องค์นั้นเป็นอาจารย์ของเรา
แล้วท่านไปหาหลวงปู่มั่น มันก็ได้จริงๆ มันได้จริงๆ เวลาท่านชี้ท่านแนะ ท่านชี้ท่านแนะเพราะคนที่มันผ่านไปแล้วมันชี้มันแนะได้ มันบอกได้ มันบอกเลยนะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ สิ่งที่เป็นวิธีการ วิธีการที่การปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาทำสมาธิๆ ถ้าลงสมาธิไปแล้ว ถ้าคนมันสงบมันก็สงบลงด้วยความสงบ จิตสงบระงับด้วยความปกติสุข แต่ถ้าจิตมันสงบลงไปแล้ว มันไปรู้ไปเห็นต่างๆ รู้เห็นนะ เล่ห์กลมันเยอะแยะไปหมด มันรู้เห็น ทุกคนก็สงสัย ก็อยากรู้เห็น แล้วก็บอกว่ามันจะเห็นอย่างนั้น
บอกว่า เพราะจิตมันส่งออกเอง
เออ! มันก็เลยไม่ค่อยชัด นี่ถ้ามีคนพูดปั๊บ มันจะเริ่มสงสัยแล้ว
แต่ถ้าไม่มีคนพูดนะ บอกนี่จิตมันสงบนะ แล้วมันรู้มันเห็นอย่างนั้น มันว่าไป แล้วมันก็จะติดของมันไป นี่มันส่งออก เห็นไหม
ถ้ามีครูบาอาจารย์ รู้เลยว่าถ้ามันไม่พุทโธ จิตมันไม่มีกำลังเลย มันก็จะไม่รู้ไม่เห็นอะไร มันเป็นสามัญสำนึกสัญชาตญาณมันรู้อยู่อย่างนี้ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบมันจะเป็นอิสระ มันก็เหมือนประสาทสัมผัส ประสาทต่างๆ มันควบคุมให้จิตรับรู้อย่างนี้ตามอายตนะ แต่เวลาจิตมันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยอายตนะของมันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา
ตามอายตนะคือตามสายบังคับบัญชา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น นี่ตามประสาทสัมผัสที่มันเป็นวิทยาศาสตร์เลย แล้วเวลาพุทโธๆๆ กัน มันปล่อยเข้ามา มันปล่อยอายตนะ มันปล่อยเข้ามา มันมีช่องว่าง พอช่องว่าง จิตก็รู้นู่นรู้นี่ๆ
แต่ถ้ามันสงบเข้ามาเฉยๆ สงบเข้ามาโดยสติปัญญาเข้ามา มันสงบเข้ามา เห็นไหม เวลาเราไป ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วเราไม่รู้ พอมันเกิดอะไรขึ้น มันเกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น เราก็ว่าใช่ เราก็ว่าของเราใช่ แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นจริง ท่านรู้หมดแล้วแหละ มันจะเป็นอย่างนี้ วิธีการ วิธีการคือว่าธรรมวินัยมันเป็นอย่างนี้ชัดๆ แล้วถ้าคนทำจริงมันจะเป็นอย่างนี้ เข้ามาเป็นอย่างนี้เลย แต่เวลาคนเข้ามาแล้วนะ ทำไมมันเฉไฉไปล่ะ อันนั้นมันไม่จริงแล้ว มันไม่จริงแล้ว ถ้ามันไม่จริงแล้วมันก็ออกนอกลู่นอกทาง นี่เราหาครูบาอาจารย์กันแบบนี้ ถ้าเราหาครูบาอาจารย์กันแบบนี้ ถ้ามันเป็นจริงนะ
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์เป็นแบบนี้ เวลาที่ว่าเราไปหาท่านแล้ว ถ้าท่านยังไม่เป็นความจริง ท่านก็ต้องไปตามวาระของท่าน เห็นไหม ถ้าตามวาระของท่าน “พอเข้าปีที่ ๙ ท่านอาจารย์ก็สึกไปมีครอบครัว โยมตกใจ เสียใจ ผิดหวัง ท้อแท้ เคว้งคว้าง”
นี่น่าเห็นใจ ตรงนี้มันน่าเห็นใจ น่าเห็นใจเพราะอะไร เพราะเราหวังพึ่งไง เราหวังพึ่งนะ นี่เวลามันเสียใจมันเสียไปแล้ว
เวลาหลวงตานะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียชีวิตของท่านน่ะ ท่านนั่งร้องไห้เลยล่ะ อันนั้นไม่ใช่เสียใจว่าท่านทำผิดพลาดอะไร ท่านสุดยอด สุดยอดของพระ สุดยอดของครูบาอาจารย์เราเลย แต่เป็นวาระที่ท่านต้องเสียชีวิตไป พอเสียชีวิตไป หลวงตาท่านยังไม่สำเร็จ เห็นไหม เหมือนพระอานนท์เลย พระอานนท์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน ยืนร้องไห้ พระโสดาบันยืนร้องไห้ ไปยืนร้องไห้อยู่เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามหา “ภิกษุทั้งหลาย พระอานนท์ไปไหน”
“พระอานนท์ไปเกาะบานประตูร้องไห้อยู่นั่นเจ้าค่ะ”
“ไปเรียกอานนท์มา ไปเรียกอานนท์มา”
พอพระอานนท์มา “อานนท์ เธอร้องไห้ไปทำไม เธอร้องไห้เสียใจไปทำไม ความร้องไห้ ความเสียใจ เราแปลกแยกจากความจริงแล้ว”
ก็บอกว่า “ร้องไห้เพราะเป็นพระโสดาบันอยู่ ยังหวังพึ่ง หวังครูบาอาจารย์จะชี้นำอยู่”
“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่องค์ตถาคตก็ต้องตายเป็นธรรมดา เธอได้ทำบุญกุศลของเธอไว้เยอะมาก ต่อไปข้างหน้าอีก ๓ เดือน เขาจะทำสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์วันนั้น”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ รู้ว่าจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้นเลย แต่พระอานนท์ก็ยังเสียใจ ยังนั่นไป เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน เวลาหลวงตา หลวงปู่มั่นท่านล่วงไป ท่านก็เสียใจ โอ๋ย! นั่งร้องไห้เลย ท่านพูด นี่ขนาดคนที่กำลังพยายามประพฤติปฏิบัติ คนที่กระเสือกกระสนจะเอาตัวรอดให้ได้ แล้วมันก็เห็นช่องทางอยู่แล้ว เพราะหลวงตาตอนนั้นท่านเป็นพระอนาคามี ท่านยังมีความไม่รู้อยู่ข้างหน้า ท่านก็พยายามจะต่อสู้ของท่านไป
ทีนี้คนกำลังต่อสู้อยู่ ก็เหมือนกับเรา เราพยายามประกอบกิจการของเรา มันเกือบเสร็จ มันใกล้เสร็จ แต่มันไม่เสร็จ คิดดูสิ เวลาประกอบกิจการต่างๆ มา ทำมาตั้งแต่ทีแรก ก็เราทำมาเอง เราผิดพลาดมาเอง เวลาผิดไป เราก็มั่นใจของเราว่าเราผิดไปเอง แล้วก็คิดว่าความผิดนั้นถูกต้อง ก็ไปรายงานท่าน หลวงตาท่านไปรายงานหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็แก้ไข พอแก้ไข หลวงปู่มั่นก็พูดไปอย่างหนึ่ง หลวงปู่มั่นก็พูดของท่านตามความเป็นจริง
หลวงตาท่านบอกว่าท่านก็มีของท่าน คือท่านภาวนาของท่าน ท่านติดของท่าน ท่านก็ว่าของท่านมี ไม่ใช่ทิฏฐิมานะ ไม่ใช่ว่าจะลองของ เคารพมาก แต่เรามีประสบการณ์ไง เพราะเราทำของเรามา แล้วพอเราทำของเรามา เราก็ว่าของเราเป็นอย่างนี้ ท่านก็บอกว่าไอ้นั่นเป็นสมุทัย
ก็เถียงกัน เพราะของเรามี คือความสงสัยเรามี ความเห็นของเรามี คนเราไม่ใช่คนตาย ใครทำอะไรมันก็ต้องมีประสบการณ์มาทั้งนั้นน่ะ ทีนี้ประสบการณ์ของเราถูกหรือผิดล่ะ ประสบการณ์ของเราถูกหรือผิด แต่เราทำของเรามาเอง มันชัดเจนแจ่มแจ้งในใจเราใช่ไหม แต่มันมีสมุทัย มันยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ เราก็เถียงไง เถียงคือว่าโต้ตอบกันด้วยธรรมะ ว่าอย่างนั้นเถอะ โต้ตอบกันๆ
เวลาเราทำมาๆ เราผิดพลาดมา คนมันเห็นนะ คนไม่เคยทำอะไรเลย ไม่เคยผิดพลาดอะไรเลย ไม่เคยโต้แย้งกับใครเลย มันไม่เคยทำงานเลย คนไม่เคยทำงานเลยก็ไม่มีความเคยผิดอะไรมาเลย คนทำงานมามันผิดมาตลอด มันผิดมาตลอด มันต้องผิดมาก่อนมันถึงจะมาถูก พอมันถูกขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน ตั้งแต่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี กว่าจะเป็นพระอนาคามี สู้กันมาตลอด แล้วคิดดูสิ งานของเราทำยังไม่เสร็จ จวนจะเสร็จ ยังไม่เสร็จ แล้วคนที่ประคองมา คนที่อุ้มชูมา คนที่คอยประคับประคองมาก็มาล่วงไปเสียแล้ว คิดดูสิ นั่งร้องไห้ นั่งร้องไห้เลย นั่งร้องไห้อยู่ปลายเท้านั่นน่ะ นั่งร้องไห้ มันสลดสังเวชตัวเองไง เพราะตัวเองมันทุกข์มา
คนไม่ปฏิบัติไม่รู้ คนไม่เคยทุกข์ยากมา คนไม่เคยสมบุกสมบันมาจะไม่รู้หรอกว่า เวลาเราติด เวลาเรามั่นใจของเรา มันจะมั่นใจขนาดไหน แล้วคนที่บอก ผิดทุกที ท่านพูดเอง เวลาได้ปะทะกัน หัวแตกทุกที ปะทะทีไร เลือดโซก ไม่เคยชนะเลย ปะทะทีไรเป็นแพ้ทุกที แต่มันก็มี เพราะถ้ามันไม่ทำมันก็ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่พออย่างนั้น ท่านยังเสียใจขนาดนั้น นี่พูดถึงว่าครูบาอาจารย์เราที่เป็นธรรมนะ เป็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้ว
แต่สุดท้ายแล้วท่านนั่งอยู่ปลายเท้าหลวงปู่มั่นจนถึงที่สุด ท่านนึกได้ ระลึกได้ว่า คำสั่งหลวงปู่มั่นที่เป็นหมัดเด็ดมากเลย “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ แล้วมันจะไม่เสีย”
คำว่า “แล้วจะไม่เสีย” นี่สำคัญมาก เพราะเราปฏิบัติแล้วมันเสียหายไปหมดไง จิตมันจะลงบ้างไม่ลงบ้าง ปฏิบัติแล้วมีความสงสัย พอสงสัยนั่นคือกิเลส ความสงสัย วิจิกิจฉา ความลังเลความสงสัยชักให้เราหลงผิดมาตลอด จะทำเข้าด้ายเข้าเข็ม จะเข้าได้จะเข้าไม่ได้ มันก็เริ่มสงสัย พอสงสัยทีไรมันก็แฉลบออกทุกที แฉลบออกทุกที ที่เราเสียหาย เราเสียหายกันตรงนี้ตลอดมา เห็นไหม ทำอะไรไปแล้วจะจบ มันก็ไม่จบ ไอ้ไม่จบหรือ เราก็ทำได้ มันก็ครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ทุกที เป็นอย่างนี้ทุกทีเพราะความลังเลสงสัย แล้วมีครูบาอาจารย์คอยชี้คอยนำ คอยประคองมาตลอด สุดท้ายแล้วท่านล่วงไปแล้ว แล้วคำสั่งเสียที่เด็ดขาด เห็นไหม
“อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ถ้าสงสัย กลับมาที่พุทโธทันที”
ถ้าสงสัยกลับมาที่พุทโธ เพราะสงสัย มันลังเลแล้ว มันเริ่มสงสัยแล้ว เริ่มลูบๆ คลำๆ แล้ว มันจะเสียแล้วล่ะ มันจะเสียเพราะอะไร เพราะว่าพอน้ำขุ่น ปลามันมา น้ำขุ่น จะจับปลา ยิ่งลงไปหาปลา น้ำยิ่งขุ่นใหญ่ มันก็เลยจะขุ่นอยู่อย่างนั้นน่ะ
กลับมาพุทโธซะ พุทโธๆ จนน้ำใส น้ำใส นั่งอยู่ น้ำใสๆ จะเห็นแล้ว เงา เดี๋ยวก็ชัดขึ้นแล้ว ไอ้นู่นปลาๆๆ นี่ไง กลับมาพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ
แต่คนไปมองแปลกไง มองแบบว่า “มันไม่ได้เนื้อได้น้ำ มันไม่ได้ปลาเยอะๆ มันไม่ได้ปลาเป็นข้องๆ มันต้องได้เนื้อได้น้ำ ใช้ปัญญาไปเลย โอ้โฮ! มันได้ฟาดได้ฟัน โอ้โฮ! มันได้กอบโกยมา ประโยชน์ทั้งนั้นเลย”...เหลวไหล เหลวไหล
ฉะนั้น คำที่ว่า “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” ท่านถือตรงนี้เป็นหลัก หลวงตาท่านถือตรงนี้เป็นหลัก แล้วก็มาสั่งสอนพวกเรา แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยนะ
นี้พูดถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านเสียนะ ท่านทำคุณงามความดี แต่ของโยม ในเมื่อเขาทำของเขา เวรกรรมของเขามีของเขาอย่างนั้น ทำไมเราต้องไปทุกข์กับเขาล่ะ มันเวรกรรมของเขาทั้งนั้น สิ่งที่เขาสอนเรามา ถ้ามันเป็นประโยชน์ เราก็ระลึกตรงนั้นมา เพราะเราภาวนามา เขาบอกเลยว่า เขาปฏิบัติมา ๑๒ ปี เคารพครูบาอาจารย์มาก แล้วมีสิ่งใดนับถือท่านมาก มีข้อสงสัยสิ่งใดประกาศถามท่านทุกอย่าง ท่านตอบได้หมดทุกอย่างเลย โอ้โฮ! การภาวนาก้าวหน้ามากเลยน่ะ
เราก็เอาตรงนั้นสิ ไอ้นี่ก็ผลงานของเราไง เราก็เอาตรงนี้ ท่านล่วงไปแล้วก็จบ ถ้าท่านสึกออกไปก็เรื่องของท่าน หัวใจของเราก็เป็นของเราสิ หัวใจของเราก็เป็นของเรา แล้วหัวใจเรา เราก็ปฏิบัติของเราก็ได้ ทำที่ไหนก็ได้ ใจของเราน่ะ
โอ้โฮ! อย่างนั้นถ้าคนทำชั่วหมด เราก็ต้องไปชั่วตามเขาบ้าง อ้าว! มีแต่คนชั่วเว้ย กูก็ไม่ทำดีแล้ว...มันก็ไม่มี เห็นไหม อ้าว! มีแต่คนชั่ว กูก็ไม่ทำดีแล้วล่ะ
ถ้าเขาจะเป็นอย่างนั้นก็เรื่องของเขา ก็ตัวของเขา เรื่องของเขา เพียงแต่ว่า เพียงแต่เราไปผูกพันไว้กับเขาไง ทำดีมาตั้งมาก ทำไมมันผิดพลาดไปขนาดนั้น...นั่นก็เวรกรรมของสัตว์ ถ้าเวรกรรมของสัตว์ เรามีสติปัญญา เราไม่ไปตามนั้นนะ ถ้าไม่ไปตามนั้นนะ เรากลับมาภาวนาของเรา เรื่องของเขา เขาทำแล้วก็เรื่องของเขา เราทำคุณงามความดีของเรา เราไม่ผูกชีวิตไว้กับใคร แล้วกลับมาที่เรานี่ กลับมาที่เรา
เขาบอกว่า พอเขาไปใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาอยู่เป็นปี จนนึกขึ้นมาได้
เห็นไหม นี่ยังมีบุญอยู่ ยังนึกขึ้นมาได้ เพราะในพระพุทธศาสนาบอกว่า เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้วไม่ได้บวชเรียน เหยียบแผ่นดินผิด นี้อยู่ในธรรมของพระพุทธเจ้า เหยียบแผ่นดินผิดเชียว
แล้วนี่ของเรา เราปฏิบัติมาแล้ว แล้วเราก็ทิ้งไป แล้วนี่ก็จะกลับมาปฏิบัติใหม่ ถ้ากลับมาปฏิบัติใหม่นะ แต่มันยากแสนยาก...ธรรมดา ธรรมดา เพราะอะไร เพราะว่าเวลาจิตมันเสื่อม เวลาจิตมันเสื่อม ไม่เสื่อมธรรมดา ไอ้นี่จิตมันแบบว่า จิตที่มันเสียใจ ที่มันทอดทิ้ง มันทอดทิ้งนะ
ดูสิ เวลาเราสร้างบ้าน มันก็มีอิฐทรายหินปูนเหมือนกัน ไอ้นี่ปูนผสมแพลนท์มาเลย แล้วก็เททิ้งเลย สุดท้ายแล้วจะเอาปูนมาสร้างบ้านใหม่ มันแข็งอยู่นั่นน่ะ เอามาสร้าง จิตเราปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น รถปูนมาน่ะ เวลามันมา มันใช้ไม่ได้ เขาก็ล้างทิ้งเลย กองอยู่นั่น แล้วจะมาผสมให้มันเป็นปูนใหม่ขึ้นมา มันง่ายไหม
แต่เวลาเขาผสมปูน เขาสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา เขาฉาบเขาทาของเขาไป มันก็เป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นไป ไอ้นี่ไปเททิ้งไว้ แล้วเสร็จแล้วก็จะเอามาผสมใหม่ ผสมให้มันดีขึ้น ไอ้นั่นเป็นปูนนะ มันทำไม่ได้ เว้นไว้แต่มันไปย่อยสลายให้มันเป็นส่วนผสมของเขา แต่จิตใจเราทำได้ แต่ทำได้มันก็ทุกข์ยาก “สุดท้ายโยมตัดสินใจกลับมาภาวนาใหม่”
มันจะยาก มันจะยากมันจะง่ายนะ ดูสิ เวลาเขาจะเผาถ่าน เขาต้องตัดฟืน เขาไปตัดต้นไม้ แล้วมาเผาถ่าน พอเป็นถ่านแล้วเขาเอามาทำเป็นเตาไฟ ใช้ฟืนใช้ไฟเพื่อหุงต้ม
นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราเวลามันเสื่อมไปแล้วเราก็พยายามทำของเรา ถ้าทำของเราขึ้นมา ถ้าทำขึ้นมาได้มันก็เป็นถ่าน เป็นพลังงานที่จะมาทำสิ่งใดก็ได้ ฉะนั้น สัญญาเก่าๆ สิ่งเก่าๆ มันเป็นกรรมของสัตว์ เราไปเจอสภาวะนี้เอง เราไปเจอสภาวะนี้เอง
เราบวชเป็นพระนะ เราก็โดนหลอกมาเยอะ ตอนบวชใหม่ๆ ไปอยู่กับใคร เราก็ไม่มีภูมิคุ้มกัน ใครพูดอะไรก็เชื่อหมด เพราะอะไร เพราะถือว่าพระนี่ อู้ฮู! อาจารย์ใหญ่เว้ย แหม! พูดจาน่าเชื่อถือเว้ย โอ้โฮ! เชื่อเขาไปหมด
แต่พอตัวเองภาวนาขึ้นมา เอ๊! มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ พอไม่เป็นอย่างนั้น เราก็เริ่ม อ๋อ! วันหลังฟังพระนี่กูต้องฟังหูไว้หูแล้ว พระองค์ไหนจะพูดเก่งขนาดไหนก็สาธุ เรื่องของเอ็งเถอะ กูต้องใช้ปัญญาของกูเหมือนกัน
แต่เดิมยังไม่มีภูมิคุ้มกันไง แต่พอถ้ามีภูมิคุ้มกันแล้ว เห็นไหม เราล้มแล้วเราต้องลุกสิ พอมีภูมิคุ้มกันน่ะ มันเรื่องของท่าน เรื่องของท่านนะ เวลากรรมของสัตว์มันมาถึง ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสึกไปก็เยอะแยะ ครูบาอาจารย์ที่เรามองไม่เห็นว่าไม่มีค่าเลย ในนิทานเขาบอก เราอยากเจอพระอรหันต์ ไปถามอาจารย์ “อยากเจอพระอรหันต์ อยากเจอพระอรหันต์”
เอ๊! ก็เดินอยู่นั่นน่ะ อยากเจอพระอรหันต์ ไปหาไม่เจอหรอก ทั้งๆ ที่อาจารย์เป็นพระอรหันต์อยู่น่ะ เดินสวนอยู่ทุกวัน เดินสวนอยู่ นั่งอยู่นั่นพระอรหันต์ มันไม่รู้ว่านั่งอยู่กับพระอรหันต์นะ มันบอกมันอยากเจอพระอรหันต์ แล้วก็เที่ยวไปหาวัดนู้นวัดนี้ อู๋ย! ไปทั่วเลย กลับมาก็ปรึกษาอาจารย์ บอก “อาจารย์ วันนี้ไปหาพระอรหันต์ทั้งวันเลย ยังไม่เห็นเจอเลย” แล้วเดี๋ยวก็ไปอีก อยากเจอพระอรหันต์นะ วิ่งไปหาพระอรหันต์เต็มไปหมด แต่ไม่รู้ว่าที่ปรึกษาอยู่ ที่ถามอยู่นั่น พระอรหันต์นั่งอยู่กับมัน มันไม่รู้จัก
มันอยากเจอพระอรหันต์ไง อยากเจอพระอรหันต์ มันก็หาไปสิ หาของมึงไป เพราะมันเอาวุฒิภาวะอะไรไปจับล่ะ ใครพูดคล่องปาก ใครท่องจำได้แม่น ใครพูดได้ดีก็ชอบองค์นั้น ไอ้ใครที่เขาคอยจ้ำจี้จ้ำไชเรา เกลียดฉิบหายเลย อยากหาพระอรหันต์ แต่เกลียดฉิบหายเลย ชอบติ ชอบว่ากู เกลียดฉิบหายพระองค์นี้ แต่อยากหาพระอรหันต์นะ ไปหาไอ้คนที่พูดปากหวาน ไอ้พูดคล่องคอ ไปหานู่น แต่ไอ้คนที่อยู่ด้วยกันจ้ำจี้จ้ำไชอยู่นี่ มันเกลียด แต่มันบอกมันอยากหาพระอรหันต์ อยากเจอพระอรหันต์
อันนี้อยู่ในนิทาน นิทานของกรรมฐานเราเรื่องนี้เยอะ อยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่รู้จัก เดินชนอยู่นั่นน่ะ มึงอยู่กับพระอรหันต์ มึงนั่งติดอยู่นั่นมึงยังไม่รู้จัก แล้วมึงก็เที่ยวไปหาพระอรหันต์ เที่ยวไปหาพระอรหันต์ มึงหาไปเถอะ หาที่มึงอยากได้ เพราะใจมันเป็นขี้เรื้อนไง เพราะใจมันไม่เป็น มันไม่รู้ของมันไง ถ้าใจมันเป็น มันจะเข้าใจของมัน
นี่พูดถึงล้มแล้วเราลุกนะ คนล้มแล้วต้องลุก ถ้าลุกขึ้นมา เราก็จะปฏิบัติของเราใหม่ เราทำของเราใหม่ ถ้าทำของเราใหม่ มันจะยากจะง่าย เพราะภาวนามา คนภาวนาจะรู้ว่าจิตนี้รักษายากนัก ทำให้มันเจริญขึ้นมาก็แสนยาก แล้วเวลาจะรักษาไว้อีก มันยิ่งยากกว่าอีก แต่ก็ต้องทำ เพราะไม่ทำ มันก็เวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ไง
เกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ กว่าจะแสวงหานี้มา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ถึงได้มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าสร้างเพื่อตัวเอง ทำมา พอบารมีเต็ม ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไปเลย แต่พระพุทธเจ้าก็เป็นเฉพาะตน
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องสร้างบารมีมาเพื่อจะเอาสัจธรรมนี้มาเผยแผ่ เพื่อเอาสัจธรรมมาเป็นหลักเกณฑ์อธิบายให้พวกเราสาวกสาวกะได้ประโยชน์จากหลักธรรมนี้ แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านจะได้ของท่าน แล้วท่านจะสอนในชีวิตของท่าน เวลาท่านนิพพานแล้วก็จบ
แต่พระพุทธเจ้าแสวงหามา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย แล้วเราเกิดมาพบอย่างนี้ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พยายามแสวงหาขนาดไหน แล้วเราล่ะ เราล่ะ
ทีนี้บอก เวลาพูดอย่างนี้ เราไม่ต้องไปลงทุนลงแรงที่ไหนเลย เราไม่ต้องไปให้ใครหลอกลวงทั้งหมดเลย ไอ้ปลายจมูกนี่ ไอ้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก นี่อาวุธของเรา ใครจะว่าอย่างไร เรื่องของเขา เราทำตรงนี้
ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าทำตรงนี้แล้วก็ต้อง อู้ฮู! อยากจะเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไป”...อันนั้นเป็นไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้ระลึกถึงพุทธะ พุทโธๆ ให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธานุสติ
เราทำของเราที่นี่อยู่แล้ว เราปฏิบัติของเราอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้างย้อนรอย ไอ้นั่นมันย้อนรอย อยากจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบุญกุศล
เราเอาตรงนี้ เราเกิดมาแล้ว เรามีบุญกุศลแล้ว เราถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วลมหายใจมันมี เพราะเกิดมามีลมหายใจ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พยายามทำตรงนี้ให้ชัดๆ แล้วถ้ามันดีขึ้นมาแล้วมันจะฟื้นตัวมา
พอฟื้นตัวมา ถ้าฟื้นฟูจิตใจขึ้นมาได้นะ จะสังเวชมากเลย เกือบไปแล้ว เกือบไปแล้วนะ เพราะอะไร เพราะถ้าใช้ชีวิตสัพเพเหระอย่างนี้ไป มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลธรรม เราเข้าไปอยู่ศีลธรรมแล้วเราทิ้งมา ทิ้งมาแล้วไปใช้ชีวิตแบบสัตว์ แบบสัตว์ เห็นไหม มนุสสเปโต มนุสสติรัจฉาโน มนุสสเทโว มนุษย์ใช้ชีวิตแบบสัตว์ ใช้ชีวิตแบบมนุษย์ ใช้ชีวิตแบบเทวดา เราจะใช้ชีวิตแบบใด การใช้ชีวิตนั้นด้วยสติด้วยปัญญา นี่ถ้ามันคิดได้แล้วมันสังเวชเลย มันสลดสังเวชเลย โอ้โฮ! ฟื้นมาได้ ล้มแล้วลุกขึ้นมา ลุกขึ้นมาทำให้ได้ ทำให้จริงของตัวเอง ทำให้ได้
“แล้วเพื่อนบอกว่าให้ไปหาหลวงพ่อ แล้วเล่าให้หลวงพ่อฟัง”
ไม่ต้องเล่าหรอก ให้ปฏิบัติไป แล้วติดขัดสิ่งใดค่อยมาคุยกัน ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยมันไม่ต้องการยา ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยมันไม่ต้องกินยา กินเข้าไปไม่มีประโยชน์อะไร เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วค่อยมาหาหมอ
นี่ก็เหมือนกัน สงสัยแล้ว สงสัยในความปฏิบัติของตน สงสัยในการกระทำของตน ตอนนั้นค่อยมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง แต่ถ้ายังไม่สงสัย พุทโธไป พุทโธไป พุทโธให้ได้ ถึงเวลาแล้วค่อยมาหาตรงนั้น จบ
ถาม : เรื่อง “ทำอย่างไรต่อครับ”
จากการภาวนา ผมเห็นจังหวะที่ภาพหรือความรู้สึกกำลังเกิดขึ้นค่อนข้างชัด จากนั้นรู้เพียงคร่าวๆ ว่ากำลังจะขายความเป็นภาพนั้น ก็เกิดความสะดุดว่าจะตามไปดูกระบวนการนั้นต่อหรือหยุดครับ
ตอบ : นี่คือคำถามเนาะ
เวลาภาวนาไปแล้วถ้าจิตสงบลงโดยปกติ จิตสงบระงับ จิตสงบต้องมีสตินะ อย่าคิดว่าสงบ ส่วนใหญ่คิดว่าจิตสงบไง เวลามันพุทโธๆ ไปแล้วมันวูบหายไป แล้วมันทิ้งพุทโธไป มันไปแบบว่าไปเพลินอยู่ ไปเผลออยู่ ไปเผลออยู่กับความรู้สึกอันนั้นน่ะ แล้วมันก็ไม่ได้คิดอะไร มันเผลอไง ไปเผลออยู่ก็ “ว่างๆ ว่างๆ” อันนั้นไม่ใช่สมาธิ
แต่ถ้าเป็นการภาวนา ถ้าพุทโธๆ จิตมันสงบ จิตมันมีสติ มันพุทโธชัดๆ แล้วเวลามันลงนะ มันลงคือมันปล่อยวาง มันมีสติสัมปชัญญะพร้อมหมด อันนี้คือขณิกสมาธิ ถ้ามันต่อเนื่องไปคือเป็นอุปจาระไปเรื่อยๆ
ฉะนั้น เวลามันจะเป็น เห็นไหม “ผมภาวนาไปแล้วเห็นจังหวะที่ภาพและความรู้สึกมันจะเกิดขึ้น มันค่อนข้างชัด มันค่อนข้างชัด”...แต่ทีเดียว
เพราะส่วนใหญ่คนบอกว่ามันส่งออก มันไปรู้สิ่งต่างๆ
เราบอกกลับมาที่พุทโธสิ ถ้าพุทโธชัดๆ สิ่งนั้นก็จะหายไป
“อืม! มันก็เห็นจางๆ มันก็เห็นไม่แน่ชัด”
เวลาจะเอาจริงๆ ก็บอกไม่ชัด แต่เวลาบอกว่าให้พุทโธ มันบอกชัดๆ ชัดๆ คือพยายามจะพูดว่าการกระทำของตนมานั้นมันถูกต้อง การกระทำของตนมานั่นน่ะมันเป็นธรรม ว่าอย่างนั้นเลย แต่ความจริงมันไม่ใช่ เราพุทโธชัดๆ ไว้
ฉะนั้น เวลาภาวนาไปแล้ว จังหวะที่มันจะเห็นความรู้สึกนั้นมันจะเกิดแว็บๆ แว็บเดียว เวลาแว็บเดียว มันก็เริ่มสงสัยแล้ว สงสัยว่าจะไปทางไหนดี
ถ้าไปทางไหนดี เราภาวนาต่อเนื่อง ถ้ากำหนดอะไรก็ได้ ให้มีคำบริกรรมไว้ หรือปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ทำต่อเนื่องไปๆ
“สิ่งที่มันเกิดขึ้น กำลังที่เกิดขึ้นมันค่อนข้างชัด”
ค่อนข้างชัดมันก็เป็นตอนนั้นน่ะ ค่อนข้างชัดเพราะจิตมันชัด ถ้าจิตมันไม่ชัด มันจะไม่รู้ว่าชัด แต่พอมันชัดแล้วก็วางไว้ เพราะอะไร เพราะเวลาชัด มันส่งออกไปรู้ว่าชัด แต่ถ้ามันวางไว้แล้วก็กลับมาพุทโธ กลับมาที่ความรู้สึกไง ไม่ใช่กลับไปที่ความรู้ชัดนั้น ความรู้ชัดคือจิตมันส่งออกไปอยู่ที่ภาพนั้น จิตมันไปรับรู้ภาพนั้นน่ะ คำว่า “ส่งออก” คือออกไปรับรู้ ถ้าออกไปรับรู้แล้วภาพนั้นก็ชัด
แต่ถ้าถอนความรู้นั้นมา ภาพนั้นก็หาย ถอนความรู้นั้นด้วยพุทโธไง มันจะถอนอย่างไรล่ะ สิ่งที่ความนึกคิดมันจะถอนมาอย่างไร ถ้าสติระลึกพุทโธ เพราะความรู้สึกนี้มันบริกรรมพุทโธ คือมันถอนมาอยู่ที่พุทโธ ถ้าถอนมาอยู่ที่พุทโธ มันไม่ส่งออกไปรับรู้ ภาพนั้นมันก็ไม่มีใช่ไหม มันก็จบกันไป
ฉะนั้น บอกว่า “ภาพหรือความรู้สึกกำลังเกิดขึ้นค่อนข้างชัด เพียงแต่คร่าวๆ กำลังจะขายภาพนั้น”
ขายภาพนั้น ถ้ามันไปรู้ภาพนั้นปั๊บ มันยึดเลยว่าเราภาวนาเห็นภาพอย่างนั้น พอเห็นภาพอย่างนั้นปั๊บ มันก็จะมาเทียบเคียงพระไตรปิฎกเลย พระพุทธเจ้าก็ว่าอย่างนั้น อาจารย์องค์นั้นก็ว่าอย่างนั้น เราก็ได้ภาพนั้น
มันเคยได้ มันเคยได้มาแต่อดีตไง แล้วมันก็จะเอาไปโม้ทั้งชีวิตเลย แล้วไปภาวนาก็ไม่ก้าวหน้า มันติดแต่ภาพนั้นน่ะ
แต่ถ้าภาพนั้นมันทิ้งปั๊บนะ มันจะได้ภาพใหม่ มันจะได้ภาพอสุภะ มันจะได้ภาพความที่มันเจริญก้าวหน้า พอเจริญก้าวหน้า พอมันพัฒนาไป มันก็ทิ้งภาพนั้น มันก็ได้ภาพใหม่ ภาพใหม่คือละเอียดขึ้น ดีขึ้น จิตพัฒนาขึ้น มันจะได้ภาพใหม่ไปเรื่อยๆ ภาพใหม่ๆ
ฉะนั้น พอมันยึดภาพนั้นปั๊บ มันก็ติดไง คาอยู่นั่นน่ะ สวะ ไปคาอยู่ซอกหิน แล้วมันไม่ไหลไปแล้ว แต่ถ้ามันสลัดตัวออกมาได้ มันไหลออกทะเล ถ้าออกทะเล มันก็เป็นไปได้จริง
ฉะนั้น “สิ่งที่มันจะขายภาพนั้น แล้วมันสะดุด ว่าจะตามไปดูกระบวนการนั้นต่อหรือหยุด”
กระบวนการนั้นไม่ต้องไปดู ไม่ต้องไปดูอะไรเลย แต่โดยทั่วไป ไม่ต้องไปดูอะไรเลยมันก็สงสัย พอมันสงสัยปั๊บ เพราะคำว่า “สงสัย” มันมีสมุทัย กิเลสมันรู้แล้วว่าไอ้นี่คัน เวลาคัน คนต้องเกาไง พอมันสงสัยแล้วมันก็เอาภาพมาล่อเรื่อยๆ ไง เออ! ถ้าไม่ชอบ ไม่ชอบเดี๋ยวจะมีภาพ เขาเรียกว่าตรงข้าม ถ้าเป็นหญิงก็เอาภาพผู้ชายมาให้ดู ถ้าผู้ชายก็เอาผู้หญิงมาให้ดู อ้าว! ถ้าไม่ชอบ ไม่ชอบก็ให้มันวับๆ แวมๆ อยากดูไหม มันจะล่อ มันจะล่อ ถ้ามันสงสัยไง
แต่ถ้าไม่สงสัย มันไม่เอามาให้ดูหรอก เพราะกูไม่สงสัย ไม่สงสัย ไม่อยากดู ไม่สนใจ อ้าว! มันก็เอามาล่อไม่ได้ ถ้าสงสัย สงสัยนะ เออ! วับๆ แวมๆ มาแล้ว สงสัย สงสัย นี่กิเลสมันเป็นแบบนี้
แต่ถ้าเรามาพุทโธชัดๆ เลย ไม่สงสัย ไม่สนใจ ไม่อยากรู้ พุทโธชัดๆ มันหลอกเราไม่ได้ มันหลอกเราไม่ได้ สิ่งที่ว่าเห็นต่างๆ กิเลสหลอกทั้งนั้น เพราะทำความสงบของใจคือพักใจ จิตสงบ กิเลสระงับตัวลง ยังไม่ได้ใช้ปัญญาอะไรเลย ยังไม่ได้วิปัสสนาอะไรเลย ยังไม่เคยรู้เห็นอะไรเลย เราเพิ่งอนุบาลน่ะ เริ่มต้นการเรียนรู้เพื่อเป็นหลักกับชีวิตเราเท่านั้นเอง เรายังไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย
เราทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ไอ้ที่ภาพจะรู้จะเห็นขึ้นมา เดี๋ยวถ้าจิตสงบแล้ว ผู้ใหญ่ทำหน้าที่การงานได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด เด็กๆ ให้มันทำ ให้มันเฝ้าบ้าน มันยังเอาของไปให้คนอื่นขโมยเลย มันเฝ้าบ้าน มีใครมาหลอกมัน มันเอาของไปให้เขาหมด นี่ก็เหมือนกัน จิตใจเรายังอ่อนแออยู่ ยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันเหลวไหลทั้งนั้นน่ะ พยายามทำความสงบของใจเข้ามา
สิ่งที่ว่าเขาถามว่า “ต้องตามดูต่อไปหรือให้หยุด”
หยุด หยุดแน่นอน ถ้าหยุดปั๊บ เห็นไหม หลวงปู่ดูลย์บอกว่าต้องหยุดคิด หยุดแน่นอน ต้องหยุดคิด ต้องหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด
บอกพอหยุดเลย หยุดแล้วทำอย่างไรต่อ
หยุดก็พุทโธๆ ให้มันหยุด ก็ต้องใช้ความคิด ต้องใช้สติปัญญารักษาความหยุดอันนั้น ถ้ารักษาได้มันก็หยุดอยู่กับที่ ถ้าไม่รักษา พอหยุดแล้วมันก็เดินต่อแล้ว หยุดมันก็จะออกแล้ว หยุด พอหยุดแล้ว ถ้าหยุดแล้วจะกดไว้ไง กดไว้ หยุด ไม่ให้มีอะไรเลย ถ้ามีแล้วไม่ใช่การภาวนา แล้วมันจะเกิดปัญญาอย่างไรล่ะ
แต่เวลาเราหยุดแล้ว มีกำลังแล้ว มีกำลังขึ้นมา แล้วจิตมันออกรู้ จิตมันออกรู้ออกเห็น ออกรู้ ออกรู้คราวนี้เพราะมันเป็นผู้ใหญ่ มันมีกำลังแล้วมันออกรู้ ออกรู้ด้วยสติปัญญา จับสิ่งใดก็ใช้ปัญญา มันจะเกิดวิปัสสนา เราจะรู้เลยว่าปัญญาอย่างนี้มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ งงน่ะ ปัญญาอย่างนี้ไม่มีซื้อไม่มีขาย ไม่มีในท้องตลาด ไม่มีแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำให้ใครได้ เราต้องฝึกหัดขึ้นมา มันเป็นการฝึกหัด
อย่างเช่นตอนนี้เขาบอกว่า เวลาเราท่องจำๆ กัน มันต้องเรียนรู้ มันต้องเรียนรู้ ต้องกิจกรรมเรียนรู้ให้เด็กมันมีความรับผิดชอบ ให้มันรู้จักคิด ให้มันมีการเรียนรู้
จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้มันเห็นขึ้นมา มันมีการเรียนรู้ มีการเรียนรู้ มีการรู้การเห็น มีการวิปัสสนา มีการแยกแยะ ให้มันเรียนรู้ ถ้ามันเรียนรู้ นั่นแหละคือการแก้กิเลส
แต่หยุดคิดมันไม่มีการเรียนรู้ แต่มันต้องให้หยุดก่อน ไม่หยุด มันจะมีกำลังได้อย่างไร ไม่หยุด มันจะเป็นอิสระได้อย่างไร พยายามพุทโธๆ ให้มันหยุด หยุดแล้ว พอวิปัสสนาให้มันเรียนรู้ วิปัสสนาให้มันเข้าใจ มันเรียนรู้ขึ้นมามันก็มีความรู้ มันทำเป็น มันมีความรู้ มันมีการทำเป็นของมัน นั่นวิปัสสนา
ฉะนั้น ต้องหยุดก่อนนะ เดี๋ยวพอหยุดขึ้นมาก็หยุดไว้เลยนะ “ก็หลวงพ่อบอกให้หยุด ผมก็หยุดแล้ว มันผิดตรงไหนล่ะ”
ตอนนี้ต้องให้หยุด มันถูก แต่ถ้าวิปัสสนานี่ผิด เพราะวิปัสสนาต้องเรียนรู้
อ้าว! เวลาถามมาอย่างนี้ถูกไหม
ถูก
แล้วพอไปถามอีกที “ก็บอกว่าถูก ทำไมว่าผิดอีกแล้วล่ะ”
ผิดต่อเมื่อมันไม่วิวัฒนาการ ไม่พัฒนาไง ถ้ามันผิดตรงนั้นนะ แต่ก่อนที่มันพัฒนา มันต้องแข็งแรงก่อนถึงพัฒนา ถ้ามันพัฒนาไปได้ มันก็จะเป็นไปได้
เขาถามว่า “แล้วจะทำอย่างไรต่อไป”
เวลาครูบาอาจารย์สอน หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์สอนนะ ให้ทำความสงบของใจคือทำสมาธิ พอทำสมาธิแข็งแรงแล้วก็ใช้วิปัสสนา คือให้มันเรียนรู้ ให้พัฒนา จิตพัฒนา ถ้ามันเป็นตทังคปหาน มันก็วางชั่วคราว พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ กลับมาทำความสงบของใจเข้มแข็งขึ้นมา เวลามันขาด เวลามันขาด นั่นไง วิปัสสนาถึงมันขาด อกุปปธรรม ผลอันนั้นน่ะ
เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะเห็นความสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุทานเลย “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” สัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะรู้จริงขึ้นมานี่เป็นพยานต่อกัน เห็นไหม อกุปปธรรมมันเป็นอย่างไร กับพระอัญญาโกณฑัญญะนี่เป็นพยาน
อกุปปธรรม ธรรมที่คงที่ตายตัวที่มีอยู่จริง ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่หมุนไปตามวัฏฏะ ไม่หมุนไปอีกแล้ว สัจธรรมอันนี้มันมาจากความโลเลของเรา มาจากหัวใจของเรา ใจเราทำให้ได้อย่างนี้ เพื่อสุข เพื่อความเป็นสมบัติ เพื่อเป็นอัตตสมบัติของใจของเรา เอวัง