ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เหมือนจะดี

๑๑ ส.ค. ๒๕๕๗

เหมือนจะดี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่องขอคำแนะนำในการภาวนาละกามครับผม

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับผม กระผมเพิ่งบวชมาได้ ๑ พรรษา เริ่มปฏิบัติโดยใช้บริกรรมพุทโธ หรือตจปัญจกกรรมฐาน หรืออาการ ๓๒ แล้วแต่สถานการณ์ จนจิตสงบแล้วน้อมจิตไปพิจารณากายเป็นส่วนมาก หลังจากที่กระผมได้ทำตามวิธีข้างต้น ปรากฏว่าจิตรวมลงแบบแปลกๆ ๓ หน คือ

รอบที่ ๑ กระผมนั่งไปประมาณ ๒ ชั่วโมง แล้วพิจารณาแยกกาย เวทนา จิตออกจากกัน เหมือนที่องค์หลวงตาได้เขียนไว้ในปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน ตอนก่อนจะลงรู้สึกว่า กายเป็นส่วนหนึ่ง เวทนาเป็นสภาวะหนึ่ง จิตเป็นสภาวะหนึ่ง แล้วเวทนาค่อยๆ หมุน (เป็นความรู้สึกว่าหมุนแบบดูดๆ) คือเวทนาหมุนมาเข้าหาจิต พอเวทนาหมุนถึงจิตก็รวมลงพรึ่บ! แต่ไม่นานครับ ครั้งนี้เพียงแค่รู้สึกมั่นใจครับ

รอบที่ ๒ และ ๓ กระผมพิจารณากายโดยไล่ขึ้นมา ไล่ขึ้นลงไปทีละอาการในอาการ ๓๒ พอถึงอาหารใหม่และกระเพาะอาหาร จิตก็ลงอย่างไม่คาดฝัน แต่ในขณะจิตที่ลงนั้นเป็นขณะเดียว แต่ความรู้สึกหลายๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือผมรู้สึกว่าได้ลิ้มรสพระธรรม เกิดปีติน้ำตาไหล รู้สึกขอบคุณพ่อแม่ ครูอาจารย์ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คนใส่บาตร ทุกสิ่งที่มีคุณต่อเรา และเห็นความโง่ของตนที่มีต่อกายมาหลายภพหลายชาติ ของมีอยู่กับตัวแท้ๆ เพิ่งมารู้วันนี้เองหรือ โดยเป็นอย่างนี้ ๒ วันติดๆ

ต่อมา ต่อจากนั้นก็ภาวนาพิจารณามาเรื่อย แยบคายมาเรื่อย แต่ก็ไม่เคยลงอัศจรรย์แบบนั้นอีกเลย และปัจจุบันนี้มีผมมีความรู้เห็นว่า ทุกสิ่งภายนอก หากเป็นสภาวะของเขาอย่างนั้นโดยไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใด ถ้าใจดวงนี้ไม่ไปรับมา (เป็นความรู้สึกว่า เข้าใจว่าสิ่งภายนอกเป็นเพียงวัตถุ ไม่มีความนึกคิดว่าเป็นโน้นเป็นนี้ แต่ใจเราเท่านั้นไปให้ความหมายและหลงความสำคัญของตนเอง)

การพิจารณาร่างกายก็มีความเห็นว่ามาติดอยู่กับสัญญาตัวเองล้วนๆ ถ้าพิจารณาแยกไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกไม่ได้ความ ต้องตั้งภาพให้จิตเกิดความกำหนัดยินดีขึ้นมาก่อน แล้วก็ค้นส่วนที่จิตติดมากที่สุดมาทั้งแยก ทั้งระเบิด ทั้งทำลายลงสู่สภาวะตามเป็นจริง เพื่อสอนใจที่ปีนเกลียวกับหลักความจริง ใจจากกำหนัดก็สงบ แต่กำหนดภาพที่น่ายินดี ใจก็ยินดี กำหนดอสุภะ มันก็ลง จะว่าผิดที่ภาพก็ไม่ใช่ แต่ผิดที่คนดูภาพต่างหาก แต่ผมไม่รู้จะทำอย่างไรให้ใจดวงนี้มันยอมรับสภาวธรรมจริงๆ ไม่หลงกับภาพสุภะ อสุภะ เพราะเราก็รู้อยู่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งต่างหาก แต่ใจมันไม่ลงไปกับความเข้าใจนี้สิครับ มันรวดเร็วมาก เกล้ากระผมขอสอบถามว่าควรทำอย่างใดต่อไป

ตอบ : นี่เขาถามว่าทำอย่างไรต่อไปนะ คำถาม คำถามเวลาเขาปฏิบัติขึ้นมา ว่าเขาปฏิบัติไป ตั้งใจปฏิบัติแล้ว ศึกษาเอาจากหนังสือปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน

นี่เวลาเขาตั้งใจปฏิบัติ เขาตั้งใจของเขา ถ้ามันเป็นจริงมันเป็นจริงอย่างนี้ มันเป็นจริงนะ มันเป็นจริงที่ว่า เวลาเขาพิจารณาไปแล้วจิตเขาวูบลง มันมีความมั่นใจ มีความสุข มีความพอใจ แล้วนึกถึงคุณ นึกถึงคนใส่บาตร นึกถึงคุณคนใส่บาตร นึกถึงคุณพ่อแม่ ครูอาจารย์ นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงคุณเขาไปหมดเลยถ้าใจมันดี ถ้าใจมันดีขึ้นมามันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ มันเป็นความจริง แล้วเป็นความจริง ความจริงคือปัจจัตตัง จิตมันสัมผัส จิตมันรู้ของมันเอง ต้องมีใครมาบอก

ต้องมีใครมาบอกใช่ไหม อย่างเรานี่อยากให้คนนี้เป็นคนดี ทั้งบังคับ ทั้งขู่เข็ญ มันไม่ดีสักที จิตนี้ เวลาเราศึกษา เรากำราบปราบปรามมัน จะเอาอะไรมาข่มขู่มัน เวลาไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพ ก็จะขู่มันนี่แหละ จะขู่ไม่ให้มันดิ้นไง พอเข้าไปใหม่ๆ ไปเห็นทีแรกมันก็ตกใจ มันก็กลัวน่ะ พอไปเที่ยว ๒ เที่ยว ๓ มันรู้ทันแล้ว โอ๋ย! มันก็แค่ซากศพ โอ๋ย! สบายมาก นอนกับศพมันยังนอนได้เลย เห็นไหม เวลาขู่มันก็ขู่มันเพื่อให้กลัวไง

แต่ทีนี้เวลาเราปฏิบัติของเรา ถ้าจิตมันเป็นไปตามอย่างที่เขียนมา นี่มันมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์มันเป็นความจริง เป็นความจริง ความจริงมันเกิดขึ้น มหัศจรรย์มาก แล้วกิเลสมันก็บังเงาใช่ไหม อยากได้อยากเป็นอย่างนี้ อยากได้อยากเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็ไม่เป็น ถ้ามันไม่เป็นนะ เวลาปฏิบัติไป เหมือนมันจะดี เหมือนมันจะดี แล้วมันดีจริงๆ ด้วย

เพราะโดยธรรมชาติ โดยการปฏิบัติของเรา ถ้าเราไม่สัมผัสสิ่งใดเลย เรามีแต่ศรัทธามีแต่ความเชื่อไง มีแต่ความเชื่อ ครูบาอาจารย์ท่านยืนยัน มีแต่ความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีแต่ความเชื่อ ความเชื่อเพราะสังคมของเรายอมรับนับถือกันมา เรามีความเชื่อ มีความมั่นใจ มีความมั่นคงว่าจะทำ แต่มันไม่ได้สัมผัสไง จิตมันไม่รู้จริงไง จิตไม่รู้จริงมันก็เร่ร่อน เร่ร่อน แต่เวลาปฏิบัติไป เหมือนมันจะดี นี่เหมือนมันจะดี

ปฏิบัตินะ พิจารณาแล้ว กำหนดพุทโธๆ แล้ว หรือใช้ตจปัญจกกรรมฐาน พิจารณาอาการ ๓๒ มันลงได้ ๓ หน ความลงได้ ๓ หนมันฝังใจมาก มันลงได้ ๓ หน เวลามันลง เห็นไหม ถ้าเราเองไม่ได้สัมผัส เราจะเอาอะไรมาพูด แต่ที่เวลาสัมผัส มานั่งไปรอบที่ ๑ เวลานั่งไปประมาณ ๒ ชั่วโมง พิจารณาแยกไปแล้ว แยกกาย แยกเวทนา แยกจิต มันแยกกาย แยกเวทนา แยกจิต แยกของมันไป ถ้าแยกของมันไป เวลามันจะลง วงเล็บเขาบอกเลยมันรู้สึกว่ามันหมุน แล้วมันดูด

มันดูดก็มันมีความรู้สึกไง สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายออกมา เวลาสัมปยุตเข้าไป จิตมันสัมผัสกับอะไร เวลาเราปฏิบัติ เรารู้เห็นอย่างนี้ แต่เวลาเราคิด เราไม่รู้ไง สามัญสำนึกของปุถุชนเขาคิด เขาคิดกันแบบนี้ มันเสวยอารมณ์ไง

ถ้ามันไม่เสวย มันจะคิดได้อย่างไร อารมณ์ความรู้สึกนี้มันมาจากไหน เวลาจิตสงบแล้วมันแยกออก เวลาแยกออกไปแล้ว จิตสงบแล้วแยกออก จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นว่ามันจะคิดอย่างไร มันจะจับของมัน วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ไง ถ้ามันเกิดตรงนี้ จิตมันเป็น ถ้าจิตมันเป็น

ถ้าจิตมันไม่เป็นนะ จิตมันยังไม่เป็น แล้วเวลาปฏิบัติไป เริ่มต้นเป็นแบบนี้ เป็นอย่างนี้เพราะมันสงบตัวเข้ามา เหมือนโค้ชฟุตบอลเลย โค้ชฟุตบอลเขาอ่านเกมทะลุ เขาเป็นคนวางแผนเลย แล้วเขาไปฝึกนักเตะ ไปฝึกผู้เล่นให้เล่นตามโค้ชที่จะสั่งให้เล่นตามนั้น โค้ชเขารู้ โค้ชเขาชำนาญ เขาสั่งให้ผู้เล่นต้องเล่นตามนั้น ไม่เล่นตามนั้น เปลี่ยนตัวออก เปลี่ยนตัวออกเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิต เวลาเราฝึกหัดใหม่ โค้ชคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ช่ำชอง เป็นผู้รู้วาระจิต เป็นผู้ที่ปฏิบัติมา เป็นผู้เข้าใจ เข้าใจสัจจะความจริง ไอ้เราผู้เล่นใหม่ไง เด็กฝึกใหม่ เด็กฝึกใหม่พยายามจะทำให้ได้ ทีนี้พอทำให้ได้ เรารับบอลได้ เราส่งบอลได้ เราก็เก่งแล้ว แหม! เก่งมาก นี่ไง เหมือนจะดี เหมือนจะดีไง เหมือนจะดีมันจะเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นความดีของมัน

แต่ถ้าทำไปแล้ว สิ่งที่มันเป็นไปแล้วมันเป็นผลบุญ อำนาจวาสนาของเรา จิตมันยังไม่มีสิ่งใดมาเป็นเครื่องล่อ มันทำของมันไปโดยสัจจะ ถ้ามันถูก มันสมดุล มันก็เป็นของมันจริง ทีนี้เป็นของมันจริง พอมันรับรู้แล้ว พอรับรู้แล้วมันอยากได้อยากเป็น พออยากได้อยากเป็น มันจะเป็นอย่างนี้อีกเมื่อไหร่ มันจะเป็นอย่างนี้อีกไหม รอบที่ ๑ รอบที่ ๒ รอบที่ ๓ มันเป็นของมัน มันมหัศจรรย์ แล้วทีนี้เราจะทำต่อไปไง คำว่าเหมือนจะดีเหมือนจะดี มันจะเป็นคุณงามความดีของเราแล้ว

แต่ถ้าเราจะทำให้มันจริงล่ะ ถ้าทำให้มันจริงนะ มันต้องกลับไปทำความสงบนั่นแหละ กลับไปทำความสงบ

แต่เขาบอกว่าเขาทำไม่ได้ เขาทำไม่ได้เพราะอะไร เขาทำไม่ได้เพราะทำไปแล้วมันไม่ลง พอไม่ลงแล้วเขาต้องตั้งเป็นสิ่งที่ดูดดื่ม เขาบอกว่าเขาจะละกามอย่างไร

สิ่งที่ว่าเขาบอกว่าเขาต้องตั้งขึ้นมา ตั้งขึ้นมาให้เป็นสัญญา หรือว่าเป็นสัญญาก็แล้วแต่ เป็นการพิจารณาแยกแยะที่ว่าให้มันเป็นกาม เป็นความถูกใจ ให้เป็นความถูกใจ

เพราะความถูกใจ ใจมันรับรู้ใช่ไหม เพราะความถูกใจไง เอาภาพอะไรก็ได้ให้มันถูกใจ ถูกใจนี่เขาบอกว่าให้มันถูกใจ ถูกใจแล้วพิจารณาตามนั้น พอถูกใจแล้วพิจารณาแล้วมันถึงจะได้ผลที่เราปฏิบัติมา

ฉะนั้น เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติไปถามหลวงตาว่าการปฏิบัติมานี้ถูกไหม

ถูก

แล้วทำอย่างไรต่อ

ก็ซ้ำ ก็ซ้ำ ก็ซ้ำ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราทำมามันรวมได้ ๓ รอบ ปฏิบัติมามันลงได้แปลกๆ ถึง ๓ หน ถ้าลงได้แปลกๆ ถึง ๓ หนแล้ว แล้วผมจะทำอย่างไรต่อไป

ถ้าทำอย่างไรต่อไป มันก็กลับมานี่ไง กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ว่า ถ้าเราพุทโธไม่ได้ อย่างที่ว่าเราใช้ปัญญา พุทโธ พุทโธให้จิตสงบก่อน ให้จิตสงบ จิตมีกำลังขึ้นมา แล้วมันถึงจะมาพิจารณาอย่างที่ว่านี่ การพิจารณา จิตของเรามันมีกำลัง พอมันพุทโธไปสักพักหนึ่งแล้วมันพิจารณาอาการ ๓๒ มันก็พิจารณาเหมือนกัน ถ้าพิจารณาของเรานะ ถ้าการพิจารณาของเรา ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ การพิจารณาอย่างนี้พิจารณาเพื่อให้มันสงบ พิจารณาเพื่อให้มันปล่อย

การพิจารณาเพื่อให้ปล่อย เริ่มต้นมันต้องมีสมถะ ฐานที่ตั้งแห่งการงาน พระกรรมฐานๆ ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราใช้พุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้เพื่อให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามานี่คือจิตจริง

อย่างเรา เราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ มาถึงเราก็พิจารณาอาการ ๓๒ เลย พิจารณาอาการ ๓๒ เลย มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะอะไร เพราะจิตเราเป็นปุถุชน จิตเรามันยังครอบงำไว้ด้วยสมุทัย จิตของเรายังเป็นตัวตนของเรา ถึงบอกนี่เป็นโลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญา พิจารณาแล้วมันปล่อยมามันก็เป็นสมถะ มันปล่อยมามันก็เป็นสมถะ มันเป็นสมาธิ ถ้าปล่อยเป็นสมาธิ

ทีนี้ถ้าโดยวุฒิภาวะของเราว่า เราพิจารณาแล้ว เพราะเราได้อ่านหนังสือพระธุดงคกรรมฐานมาแล้ว ให้พิจารณากาย ให้พิจารณาแยกแยะ แล้วพอมันเป็นจริง เขาบอกว่า เวทนาเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งนี้ร่างกายเป็นส่วนหนึ่ง เวทนาเป็นส่วนหนึ่ง สภาวะจิตเป็นส่วนหนึ่ง

คำว่าเป็นส่วนหนึ่งๆมันเป็นผลที่ว่าหลวงตาท่านปฏิบัติแล้ว เวลามันแยกออกไปตามความเป็นจริง มันปล่อย อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบแล้วมันเห็นตามความเป็นจริง มันก็เป็นส่วนอย่างนั้น

แต่ของเรา เพราะว่าความรู้สึก เราก็ว่ามันเป็นเวทนา เห็นไหม ความรับรู้เป็นรูป เราก็ว่ากาย ถ้าสภาวะจิตที่รับรู้ เราก็ว่าเป็นส่วนหนึ่ง

คำว่าส่วนหนึ่งส่วนหนึ่งของผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งของผู้ปฏิบัติแล้วเป็นส่วนหนึ่ง แต่ของเรามันยังคลุกเคล้ากัน แต่เราแยกเป็นกองออกไปเอง มันเป็นเรื่องโลกไง เรื่องโลก

เราจะบอกว่า การปฏิบัตินะ ถ้าปฏิบัติ ถ้ามันเป็นสมาธิ มันก็พิจารณาแยกเหมือนกัน แยกเหมือนกัน แต่เวลาลง มันลงเป็นสมาธิ มันลงเป็นสมาธิ เป็นสมถะ สมถะทำบ่อยครั้งเข้าจนมีความชำนาญ ถ้ามีความชำนาญแล้วเขาเรียกว่าจิตตั้งมั่น จิตมีกำลังแล้ว จิตแท้ จิตจริง พอจิตจริง จิตจริง จิตไปพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ มันก็เป็นวิปัสสนา มันก็เป็นวิปัสสนาจริง

แต่ถ้าจิตปลอม จิตปลอมหมายความว่า จิตปลอม จิตเราไม่เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิก็สมาธิปุถุชน คือสมาธิของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีสมาธิอยู่ ถ้าไม่มีสมาธิก็คือคนบ้า ถ้ามีสมาธิอยู่ สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิเพื่อทำงาน ทำหน้าที่การงาน เราก็มีสมาธิใช่ไหม ทำงาน เราก็ต้องมีสมาธิเหมือนกัน สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิของปุถุชน เห็นไหม

เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ ปุถชน กัลยาณปุถุชน ถ้ากัลยาณปุถุชนทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ บ่อยครั้งเข้าจนเห็นรูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร นี่กัลยาณปุถุชน ทำสมาธิได้ชำนาญ ทำสมาธิได้ชำนาญคือว่าเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะเป็นวิปัสสนา เพราะอะไร เพราะเป็นกัลยาณปุถุชน

ถ้าเป็นปุถุชนคนหนา ปุถุชนคนหนามันมีสมุทัยเข้ามาเจือปนอยู่แล้ว เวลาเราคิดสิ่งใด เราพิจารณาเห็นว่า กายเป็นส่วนหนึ่ง เวทนาเป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นความเห็นของเรา เป็นความเห็นของเรา มันยังไม่มีค่าจริงตามความเห็นของผู้ที่ใช้วิปัสสนาไปอีกขั้นตอนหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่เรารู้เราเห็นมันเป็นตามหนังสือปฏิปทาธุดงคกรรมฐาน ใช่ เพราะว่ามันเป็นตัวอักษร อยู่ที่เราตีความ มันเหมือนกับพระไตรปิฎก พระไตรปิฎก ใครอ่านพระไตรปิฎกนี่พุทธพจน์ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้ พระอานนท์จำไว้ แล้วพระสงฆ์ ๕๐๐ องค์ พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เป็นผู้สังคายนามา มา ๒๐๐ กว่าปีแล้วถึงมาจดจารึกกันมา

นี่มันเป็นพุทธพจน์ๆ ก็พุทธพจน์นี่ แต่ใครตีความล่ะ ตีความของปุถุชน ตีความของกัลยาณปุถุชน ตีความของผู้เดินโสดาปัตติมรรค ตีความตามความเห็นของผู้ที่ได้โสดาปัตติผล ตีความตามพระอรหันต์ที่รู้จริง โอ๋ย! มันละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกันเยอะ ฉะนั้น วางไว้

เราจะบอกว่า ที่ทำมานี่มันไม่ผิด เหมือนจะดี มันดีจริงๆ นั่นแหละ เหมือนจะดี เหมือนจะดี ถ้าดีแล้วมันต้องดีขึ้นต่อเนื่องไป เหมือนจะดี เราเข้ามา เข้ามาปฏิบัติแล้วจิตเรารวมถึง ๓ หน จิตเราปล่อยวางถึง ๓ หน ถ้าปล่อยวางแล้ว ถ้าปล่อยวางแล้ว เราได้รสของธรรมแล้ว แล้วในการปฏิบัติเขาบอกว่าเขาปฏิบัติ ว่าเขาเข้าใจไง เข้าใจว่า เขาจะละกามอย่างไร คำว่าละกามเพราะว่าเขาต้องใช้ความดูดดื่ม ใช้ความดูดดื่มของใจ พิจารณาแล้วมันถึงปล่อยวาง ฉะนั้น ปล่อยวางแล้วเขาถึงบอกว่า สิ่งนี้มันเป็นอะไรนะ เวลาเขากำหนดนะ กำหนดว่าเขาติดสัญญาของตัวเองล้วนๆ ที่พิจารณาแยกแยะไป รู้สึกว่าไม่ได้ความ ต้องตั้งภาพให้จิตเกิดความกำหนัดยินดีขึ้นมาก่อน แล้วก็ค้นส่วนที่จิตติดมากที่สุดมาให้แยกแยะ ทั้งระเบิด ทั้งทำลาย

ทั้งระเบิด ทั้งทำลาย มันเป็นจินตนาการทั้งหมด ทั้งระเบิด ทั้งทำลาย แต่ถ้าเวลาจิตสงบแล้ว เวลามันทำลาย เอาระเบิดที่ไหนไปทำลาย

เวลาเรารำพึง คนที่พิจารณาจิตสงบแล้วเห็นกาย เวลารำพึงให้มันเป็นไปตามนั้น รำพึง รำพึงคืออะไร รำพึงคือความคิดในสมาธิ สมาธิมันมีความคิดอันละเอียดได้ เพราะความคิดอันละเอียดนั้นน่ะมันถึงจะเป็นปัญญาขึ้นมา

พอจิตมันสงบแล้วรำพึง รำพึงให้กายนี้ย่อยสลายไป ให้มันทำลายไปต่อหน้าเรา นี่มันรำพึงขึ้นมาได้ ถ้ารำพึงขึ้นมาได้ มรรคมันก็เดินได้ ถ้ามรรคเดินได้มันก็เป็นปัญญา อันนั้นเป็นข้อเท็จจริงนะ เป็นอริยสัจ เป็นมรรค

แต่ถ้าบอกว่า เราทั้งระเบิดเลย ทั้งทำลายไปเลย ไอ้นี่มันเป็นเรื่องโลก เพราะเราจินตนาการได้จากโลกใช่ไหม ภูเขาทั้งภูเขา เขาจะทำลาย เขาระเบิดทิ้ง เขาเจาะอุโมงค์ทำรถไฟความเร็วสูงผ่านอุโมงค์นั้นไป เขามีสว่านเจาะ เขาทำได้ทั้งนั้นน่ะ นี่เป็นเทคโนโลยีทางโลก แล้วเราเห็นมา เราเห็นมา จิตใจของเรามันเป็นรูป มันเป็นสิ่งที่มันเกาะเกี่ยวกัน เราก็จะระเบิดทิ้งเหมือนกัน

ระเบิดทิ้งมันไม่ใช่ปัญญา การทำลายมันมาแยกแยะ มันเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือแปรสภาพ แปรสภาพต่อหน้าให้จิตใจได้รู้ได้เห็น ให้จิตใจนี้มันสำรอกมันคาย อันนี้เป็นวิปัสสนา

แต่ขณะที่เขาถามว่า เขาระเบิด เขาทำลายให้สภาวะนั้นตามเป็นจริง แล้วจิตใจมันปีนเกลียวต่อกัน จะให้มันยอมรับต่อกัน

การยอมรับ เห็นไหม การยอมรับคือเอาขยะซุกเข้าใต้พรม เอาข้อเท็จจริงซุกใต้พรม แต่ในการวิปัสสนาต้องตีแผ่ทั้งหมด ที่ไหนมีหลืบมีที่ซ่อนของกิเลส ต้องขุดคุ้ยค้นคว้า นี่ไง ความสะอาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ความสะอาดบริสุทธิ์ของธรรมะที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันจะไม่มีจุดมีต่อม ไม่มีสิ่งใดสงสัยคาใจเลย ถ้ามันมีสิ่งใดคาใจ กิเลสมันอยู่ตรงนั้นน่ะ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราจะทำ เราถึงจะต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้ว ถ้าจับสิ่งนี้

แต่คำถาม คำถามที่บอกเขาทำอย่างนี้ เพราะเขาบอกว่าต้องให้ใจมันดูดดื่ม พิจารณาเป็นกามราคะให้จิตใจมันดูดดื่มแล้วพิจารณาของมันไปให้มันปล่อยวาง ถ้าปล่อยวางก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

. เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

. ถ้าทำไม่ได้ วางไว้ทั้งหมด เพราะกำลังเราไม่พอใช่ไหม เราไปจับต้องสิ่งใด เราก็ยิ่งสงสัยมากขึ้น แต่ถ้าเราวางหมดเลย แล้วกลับมาพุทโธ พุทโธเป็นคำบริกรรม มันชัดเจนไง มันกำปั้นทุบดินเลย พุทโธๆๆ ไม่ต้องมาแยกมาแยะ

ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันต้องแยกมันแยะ มันใช้แยกแยะ มันแยกแยะด้วยเหตุด้วยผล มันปล่อย แต่ถ้าเราแยกแยะ มันแยกแยะมันก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ แล้วเราจับต้นชนปลายไม่ได้...วาง วาง กลับไปพุทโธ วางเลย วางตรงนี้แล้วกลับไปพุทโธ ให้พุทโธมีกำลังขึ้นมา พุทโธมีกำลังขึ้นมา เดี๋ยวกลับมาใช้ปัญญา กลับมาใช้ปัญญามันก็จะทำได้ เพราะมันมีกำลังจากพุทโธมาเสริม แล้วถ้าพิจารณาไปได้ พิจารณาไปได้มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

แล้วถ้าจิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วให้ฝึกหัดในการรักษาความสงบ คือว่าจะเข้าสมาธิอย่างไร เวลามันคลายตัวออกมาแล้วรับรู้อย่างไร ต่อไปก็ต้องเข้าทำสมาธิอีก นี่ให้มีความชำนาญ ชำนาญจนจิตมันมีกำลัง ถ้ามีกำลังขึ้นมาแล้ว

เพราะเขาถามว่าเกล้ากระผมจะสอบถามว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปจึงจะสามารถผ่านจุดนี้ไปได้

ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้ ก็เหมือนเราภาวนาไปแล้วมันติด เวลาพุทโธๆ ไปแล้ว พุทโธไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ แล้วพุทโธๆ ไป สติมันก็ไม่พอนะ มันก็แบบก้อนหินน่ะ เหมือนจะรู้ เหมือนกับจะรู้ แต่ถ้าจะรู้ก็เหมือนกับไม่รับรู้ แล้วทำอย่างไรก็ไปไม่ได้

ถ้าไปไม่ได้ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ท่านให้เข้มข้นแล้ว ให้กลับมาทบทวนศีลของเรา ศีลคือความดำรงชีวิตของเรา ทบทวนว่าเรามีอะไรผิดพลาดไหม ถ้าเราไม่มีอะไรผิดพลาดนะ อันนี้วางใจได้ ถ้าวางใจได้แล้ว เราเผชิญหน้ากับมันใช่ไหม เราจะเผชิญหน้ากับมัน

หลวงตาท่านบอกว่าจะสู้เสือกับมือเปล่า เวลาจะเข้าไปสู้เสือ เสือมันมีเขี้ยวมีเล็บ มันกัดเรา เราตาย แล้วเรามีอะไรไปสู้มัน เรามีอะไรไปสู้มัน

ถ้าเราจะมีอะไรไปสู้มัน เราต้องมีกำลังใช่ไหม เรามีกำลัง นี่เริ่มแล้ว เริ่มว่าจะต้องตั้งสติ จะต้องอดนอน

คำว่าอดนอนผ่อนอาหารทำไมต้องอดนอน อดนอนผ่อนอาหารมันจะมีกำลังได้อย่างไร คนจะมีกำลังต้องกินมากๆ สิ ต้องฟิตตัวดีๆ สิมันถึงจะมีกำลัง แล้วถ้าไปอดนอนผ่อนอาหารมันจะมีกำลังตรงไหนล่ะ

อดนอนนะ คนหิวนอน คนอดนอน อดนอนเพื่อให้มันสดชื่น อดนอนวันสองวันแรกนี่ โอ้โฮ! ง่วงนอนน่าดูเลย แต่ถ้าเราผ่านตรงนี้ไปได้ ถือเนสัชชิก ถ้าจิตมันสู้ได้ เห็นไหม

ถ้าผ่อนอาหาร ผ่อนอาหารเพราะอะไร ผ่อนอาหารเพราะกำลังมันเกิดจากจิต ทีนี้เวลาเราไม่ผ่อนอาหาร ธาตุขันธ์ กำลังของธาตุ พลังงาน ไขมันต่างๆ มันมีพลังงาน มันกดทับ เวลาเราอดอาหารไปๆ อดอาหารหลายวันเข้า มันจะดึงพลังงานสะสมนี้ออกมาใช้

แต่เดิมของคนไขมันเต็มตัวเลย คนอดอาหารนะ คนจะแกร่งมาก มันจะเหมือนกับหนังหุ้มกระดูกเลย ไขมันมันจะดึงมาใช้หมดเลย พอไขมันดึงมาใช้นะ พออดอาหารไป มันเหมือนกับคนป่วย ใครเคยไม่สบายแล้วเคยหายป่วย พอคนหายป่วย เขาจะต้องบำรุงใช่ไหม ให้ร่างกายแข็งแรง คนป่วยมันตัวเบา คนป่วยมันไม่มีกำลัง เพราะอะไร เพราะว่าร่างกายมันไม่มีพลังสะสมเลย นี่อดอาหารเพราะเหตุนี้ อดอาหารเพราะว่าไม่ให้สิ่งนี้ จิตนี้มันไวมาก แล้วถ้ามีพลังงานใดมีกำลังกดทับไว้ จิตมันทำงานไม่สะดวกของมัน ถ้าเราอดนอนผ่อนอาหาร คำว่าอดนอนผ่อนอาหารถ้าสิ่งนี้มันไม่มารบกวน ตอนนี้มันก็เป็นเรื่องของจิตล้วนๆ แล้ว จิตล้วนๆ แล้ว

ถ้าจิตล้วนๆ เราพุทโธ สู้กับมันด้วยพุทโธๆ เพราะอะไร เพราะมันไปไม่ได้นี่ จะเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่ได้ แล้วจะว่ารู้ก็ไม่รู้ ไอ้ว่าไม่รู้ มันก็ภาวนาอยู่นะเออ! ฉันก็ภาวนานะ แล้วฉันจะไปไหนล่ะนี่มันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น การอดนอนผ่อนอาหาร แล้วตั้งสติไว้ ไม่ใช่อดนอนผ่อนอาหารแบบคนเซ่อนะ ถ้าอดนอนผ่อนอาหารก็แอฟริกาไม่มีจะกิน ตายหมดเลย นั่นเขาไม่ได้ภาวนา ไอ้คนที่ไม่ได้ภาวนาอดนอนผ่อนอาหารนั่นเป็นโทษของเขา คนที่ไม่ภาวนาต้องกินต้องอยู่ เพราะคนเราเกิดมาต้องมีอาหาร ร่างกายต้องการอาหาร แล้วกินอยู่เพื่อดำรงชีวิต

แต่ของเรา เราต้องการจิต เราต้องการจิต การอดนอนผ่อนอาหารเป็นอุบาย เป็นอุบายผ่อนคลาย ผ่อนคลายให้กิเลสมันไม่เอาของที่มีอยู่ในเรามาเป็นประโยชน์กับมัน แล้วเอามาครอบงำจิตใจของเรา

อะไรที่กิเลสมันใช้ เห็นไหม อย่างเช่นพลังงานต่างๆ ที่เหลือใช้ กิเลสมันยิ้มเลย มันไม่ต้องทำอะไร มันเอาเท้าเขี่ย เขี่ยให้มันกดทับ เราก็ เอ๊อะ! ไปไม่รอดแล้ว พุทโธก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ไม่ได้สักอย่างเลย

เราก็มีสติสัมปชัญญะ อดนอนผ่อนอาหารไม่ให้สิ่งนี้ให้กิเลสมันเอาเท้าเขี่ยมากดทับเรา ถ้ามันไม่มี มันไม่มีอยู่ในตัวเรา มันก็ไม่มี อย่างเช่นเราบอกว่า นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี เราไปดูมา สัญญา สัญญาอยู่กับเรา แต่เราเห็นภาพนั้นมา แล้วเราเก็บข้อมูลไว้ในใจเรา เวลาไม่พอใจมันก็เอาขึ้นมาใช้ ไอ้นู่นเขาว่าเรา ไอ้นี่เขาว่าเรา

ใครว่า เขาก็อยู่ข้างนอก เราไปรับรู้มาแล้วเราก็เป็นสัญญาคือเก็บข้อมูลไว้ไง แล้วพอวันดีคืนดี พอสติมันอ่อน มันก็เอาข้อมูลนี้ไปคุ้ยมันขึ้นมา ไปคุ้ยขึ้นมา มันก็กดหัวใจเรา ของมันมีอยู่มันถึงเอามาใช้

นี่ก็เหมือนกัน ร่างกายมันอยู่กับเราเลย พลังงานมันอยู่กับเราเลย แล้วกิเลสมันยิ้มเลย เพราะของมันอยู่กับเรา มันเอามาใช้ได้ตลอดเวลา แล้วมันก็กดทับ เห็นไหม ถ้าเราอดนอนผ่อนอาหาร สิ่งนี้มันไม่มี เราตีแผ่ เราพยายามกระจายมันออก มันไม่มี พอมันไม่มี กิเลสมันจะเอาอะไรมาใช้ พอกิเลสไม่เอามาใช้นะ เวลาอดนอนผ่อนอาหาร ท้องจะร้องจ๊อกๆ ตัวนี่เบา หิวมาก หิวนี้เพื่อจะต่อสู้กับมัน นี้คืออาวุธไง สู้เสือกับมือเปล่าไง เอามือเปล่าๆ ไปสู้กับเสือไง

แล้วนี่บอกเป็นอาวุธ อดนอนผ่อนอาหารนี่เป็นอาวุธนะ เป็นเขี้ยวเป็นเล็บ จะไปตะปบกับเสือ มันจะเป็นเขี้ยวเป็นเล็บไปต่อสู้กับเสือ ต่อสู้กับไอ้ที่ว่า นั่งไปก็ไม่ได้ มาก็ไม่ได้

มันหิว มันได้ไหม เออ! เวลาไม่ได้ ท้องมันร้องจ๊อกๆ มันได้ไหม มันนั่งหิวอยู่นี่ อ้าว! มันจะหลับไหม

พอมันหิวขึ้นมา ปัญญามันไล่ไง

. ปัญญามันทำให้เราไม่สัปหงกโงกง่วง พลังงานมันไม่กดทับจิต หนึ่งนะ

. เป็นอุบาย

คำว่าเป็นอุบายพอเป็นอุบาย จิตมันเบาใช่ไหม เพราะมันไม่มีอะไรมากดถ่วง มันก็เบา พอเบาแล้วเราจะพุทโธชัดๆ ได้ไหมล่ะ ถ้าเบาแล้ว มันเป็นอุบาย เราจะส่งเสริมด้วยปัญญาไง ส่งเสริมด้วยสติด้วยปัญญา ถ้าด้วยสติด้วยปัญญา ภาวนาขึ้นไป จิตมันก็เป็นสมาธิได้ ถ้ามีสติมีปัญญา นี่คือเขี้ยวคือเล็บที่จะเข้าไปต่อสู้กับกิเลส เพราะกิเลสมันพยายามขับไส พยายามพลิกแพลงไม่ให้เราทำอะไรได้ แล้วพอกิเลสมันพลิกแพลงแล้วนะ ก็เชื่อมันด้วย เราก็มีวาสนาแค่นี้แหละ ภาวนา เราก็ภาวนาถึงที่สุดแล้ว คนอื่นเขาทำของเขา เราทำแค่นี้เราก็เลิกเถอะนี่มันก็เข้าทางมันไง กิเลสมันเอาอย่างนี้มาต่อรอง

เสือ กิเลสมันคือเสือ มันตะปบเอา แล้วเราก็ไม่มีอะไรสู้มันเลย แล้วเวลาไปหาครูบาอาจารย์ก็อัตตกิลมถานุโยค สอนแต่ยุ่งๆ สอนแต่ลำบากๆ สอนง่ายๆ บ้างไม่ได้หรือ สอนที่มันนอนแล้วเป็นสมาธิ สอนที่มันทำอะไรแล้วเป็นสมาธิ สอนอย่างนั้นสิ ไอ้นี่สอนอะไรก็ไม่รู้ ต้องอดนอน ต้องผ่อนอาหาร โอ๋ย! มันวุ่นวายไปหมดแต่ถ้าเขาปูพรมให้นอนเลยนะเออ! เอาอย่างนี้ๆ”...แล้วก็ไปไม่รอด ไปก็ไม่ได้ กลับก็ไม่ได้

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เราจะสู้เสือด้วยมือเปล่าหรือ จะเข้าไปต่อสู้กับเสือด้วยมือเปล่าใช่ไหม เสือโคร่ง เสือโคร่งคืออวิชชา มันตะปบ มันกัด มันฉีกหัวใจเรามาตลอด

ทีนี้เวลาภาวนาไปๆ อันนี้มันดีอย่างหนึ่ง เราอ่านแล้วมันดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างที่ว่าเขาลงได้ ๓ หน อันนี้พอใจ ถ้าลงได้ ๓ หน มันเป็นการยืนยันว่าสัจจะธรรมะมันมีจริง ศีล สมาธิ ปัญญามีอยู่จริง ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ แต่เวลาเราไปศึกษาไปค้นคว้าทางทฤษฎี ทางวิชาการ ทางวิชาการ ปริยัติเขาศึกษามาให้ปฏิบัติ แล้วเวลาปฏิบัติไปมันจะประสบสิ่งใด มันก็เป็นอำนาจวาสนาของเรา ถ้าอำนาจวาสนาของเรา เห็นไหม

นี่ธรรมะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะนี้มาหล่อเลี้ยงหัวใจ หล่อเลี้ยงหัวใจ สงบ ๓ หนนี่มาหล่อเลี้ยงไว้ ถ้าสงบ ๓ หน ที่มันลง ๓ หนไม่หล่อเลี้ยงไว้ มันไม่เกิดความมหัศจรรย์ ไม่เกิดความมุมานะ ไม่เกิดการกระทำแบบนี้ ไม่เกิดความสนใจไง ไม่เกิดความสนใจ ไม่เกิดการกระทำ ถ้าไม่เกิดการกระทำมันก็ไม่มี

นี่มันเกิดการกระทำขึ้นมา จิตมันเกิดการกระทำขึ้นมา จิตมันถึงได้เป็น พอจิตได้เป็นแล้ว ตอนที่ทำมา กิเลสมันยังเผลออยู่ไง มันคงคิดว่า เออ! ไอ้พวกเสร่อนี้มันคงไม่ปฏิบัติหรอก มรรคผลมันไม่มี

พอเราไปศึกษา เรามาปฏิบัติ พอเราได้เข้าสัมผัสความสงบ ๓ หน กิเลสมันสะดุ้งเลย อ้าว! ไอ้นี่มันปฏิบัติเหมือนกันหรือ พอมันสะดุ้ง มันตื่นขึ้นมา มันก็จะมาหาทางป้องกันไว้แล้ว เสือมันจะกางเขี้ยวกางเล็บแล้ว ทีนี้ภาวนาไม่ลงแล้ว กิเลสมันต่อต้าน

หลวงตาท่านสอนอยู่ เวลาปฏิบัติไปบอกว่า ทำแล้วมันลำบากๆ ธรรมะให้แต่คุณประโยชน์ ให้คุณงามความดีทั้งนั้น สิ่งที่เป็นความลำบากคือกิเลสมันต่อต้านทั้งนั้นน่ะ มันเรื่องของกิเลส มันหน้าที่ของกิเลส กิเลสมันทำของมัน

ถ้าทำของมันปั๊บ ทีนี้เป็นปัญญาของเขา ปัญญาของเขา เขาก็บอกว่า ที่ทำมาแล้วมันทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันเคยเป็นแล้วมันทำไม่ได้อีก แต่มาหาวิธีการ ให้คิดถึงความกำหนัดยินดี ถ้าคิดถึงความกำหนัดยินดีให้จิตมันได้สัมผัส มันถึงพิจารณาแล้วมันถึงจะเป็นไปได้ อันนี้ก็เป็นอุบายของเราไง ถ้าเป็นอุบายของเรา ฉะนั้น ถ้าเป็นอุบายของเรา เพราะเราสู้หน้าเดียว หมายถึงว่า เราคิดว่าเราใช้อุบาย ผู้ที่ปฏิบัติทางโลกเขาบอกว่าสิ่งที่เรามีอยู่แล้วจะมีอยู่กับเราตลอดไป มันไม่เหมือนวัตถุ

อย่างเช่นวัตถุ เราได้มาแล้ววางไว้ก็อยู่กับเราตลอดไปนี่แหละ แต่ถ้าเป็นสติ เป็นสมาธิ เป็นปัญญา มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันเจริญขึ้นมาแล้วเดี๋ยวมันก็วูบลง พอวูบลงแล้วทำดีๆ ก็ขึ้นมาอีก มันเป็นสิ่งมีชีวิตไง จิตเรามีชีวิตเพราะมันเป็นธาตุรู้ ธาตุที่มีชีวิต เดี๋ยวมันก็เจริญ เดี๋ยวมันก็เสื่อม ถ้าเวลามันเจริญขึ้นมามันก็ดี เวลามันเสื่อมลงแล้วเราไปไม่รอด เราก็ใช้อุบายของเรา

แล้วเราก็คิดไง เราคิดว่าเราเคยทำมาแล้ว จิตเราเคยเป็นสมาธิ ๓ หนแล้ว ถ้าต่อไปมันก็จะเป็นหนที่ ๔ หนที่ ๕ หนที่ ๖ ไป แต่ธรรมดามันเป็น ๓ หน ๔ หนแล้วมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นเป็นปัจจุบัน

แต่ถ้าเราฝึกหัด เราชำนาญในวสี เราชำนาญในเหตุ เราทำสมาธิได้ตลอดไปเพราะเรามีคำบริกรรม เรารักษาสติตลอดไป มันเหมือนกับที่หลวงตาเวลาจิตเสื่อม ไปฟ้องหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า จิตนี้มันเหมือนเด็กๆ เด็กๆ มันต้องมีอาหารของมัน ฉะนั้น ถ้าเด็กมันดื้อ เด็กมันไปเที่ยวเล่นอยู่ ก็ไม่ต้องไปตามมันหรอก กำหนดพุทโธไว้ อาหารของมัน ถ้าเดี๋ยวมันไปเที่ยวเล่น พอมันหิวมันก็ต้องกลับมากินอาหาร พุทโธไว้เรื่อยๆ พุทโธไว้

พุทโธเอาเป็นเอาตาย สุดท้ายแล้วมันก็กลับมาเจริญ นี่ไง คนเป็นมันเป็นอย่างนั้น คนเป็นมันรู้ว่าจิตนี้มันดื้อด้านอย่างไร แล้วมันดื้อด้านไม่ดื้อด้าน มันไปพลิกแพลงเอาสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยว่าเป็นธรรมะหมดเลย ไอ้นี่ดีๆๆ ไปหมดเลย ที่เป็นภัย มันเอามาเป็นเหตุผลอ้างว่ามันดีหมดเลย แต่ไอ้ที่เป็นธรรมะที่เป็นธรรมโอสถที่จะเอาไปชำระล้างมัน มันบอกไม่ดีๆๆ มันผลักทิ้งหมดเลย นี่กิเลสเป็นอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านรู้แล้ว เหมือนเด็กๆ มันไม่รู้เรื่องหรอก พุทโธไว้ ธรรมโอสถ พุทโธๆๆ พุทธานุสติไว้ สุดท้ายมันก็กลับมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปแล้ว เราเอาปัจจุบัน ใช้พุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เอาของเราให้กลับมา

ฉะนั้น เพียงแต่คำถามเขาเข้าใจผิดไง เข้าใจว่า กามคุณมันเป็นกามคุณ แล้วเราจะไปละอย่างไร กามคุณจะไปละอย่างไร

สิ่งนี้ความดูดดื่ม เวลาเราคิดถึงกามให้จิตใจมันสัมผัส ทีนี้เราใช้ปัญญาไป เวลามันปล่อยวางมันก็เป็นสมาธิไง แต่ถ้ามันไม่ดูดดื่มมันก็สักแต่ว่า เหมือนกับพุทโธๆ ถ้าพุทโธชัดๆ เวลามันสงบมันก็สงบลงเป็นสมาธิเลย สักแต่ว่าพุทโธไง ปากก็ว่าพุทโธไป จิตก็คิดไปเรื่องอื่น มันก็ไม่ลงสักที เพราะมันห่างกันไง ไอ้คำบริกรรมกับไอ้ตัวจิตมันห่างกันตั้งไกล

เราพุทโธๆๆ ต่อเนื่องไป พุทโธๆ จนจิตกับพุทโธเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพูดถึงความดูดดื่มของใจ ถ้าใจมันดูดดื่มสิ่งใดแล้วเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็รู้สึกมันปล่อยวาง แต่ถ้าเราไม่ดูดดื่ม เราพิจารณาไป มันก็ไปคิดเรื่องเลื่อนลอย มันไม่คิดเรื่องเกี่ยวกับความผิดชอบของใจด้วยไง

ทีนี้พอใจมันสัมผัสๆ เวลาเราพิจารณาไป ถ้าเราทำความสงบของใจให้ใจมันสงบ ถ้ามันไม่สงบ เราก็ตั้งใจของเรา เราทำของเรา มันทำเพื่อประโยชน์ใช่ไหม ถ้าทำเพื่อประโยชน์อย่างนี้มันก็เป็นระดับของมัน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน แล้วถ้ามันจะละกายที่ว่าเป็นกามราคะ จะละกาม นั่นเป็นอนาคตข้างหน้า

ในปัจจุบันนี้ถ้าจิตสงบแล้วพิจารณากายก็พอ พิจารณากาย กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ ถ้าเราพิจารณาของเราโดยตามสติปัฏฐาน ๔ มันก็เป็นอริยสัจ ๔ เป็นสัจจะความจริง ทำของเราไป

ฉะนั้น เขาบอกว่าทำแล้ว ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ มันคิดแบบนี้ คิดว่า ถ้าจิตมันดูดดื่ม มันเป็นกามราคะ แล้วถ้ากามราคะ แล้วความเข้าใจเรามันก็เป็นจริงว่ามันปีนเกลียวกัน กิเลสในใจเรากับธรรมะมันปีนเกลียวกัน มันไม่ยอมรับกัน ไม่ลงกันสักที ทำอย่างไรให้มันลงกัน ทำอย่างไรให้มันลงกัน

ให้ลงกัน มันก็เหมือนเรา ลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า แล้วเราก็บอกว่าเราจะทำให้ได้อย่างนั้น ลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้านะ ธรรมะสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกับลิขสิทธิ์เป็นเจ้าของสินค้า แล้วเราก็พยายามจะลอกเลียนแบบ มันก็ทำได้ทั้งนั้นน่ะ เราไปเอาส่วนประกอบมา แล้วประกอบขึ้นมาก็เป็นวัตถุชิ้นนั้น

แต่ถ้าเราเป็นจริงของเรา เราต้องพิจารณาของเราเอง เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมาเอง มันไม่เป็นสินค้าลอกเลียนแบบ เพราะมันเป็นการทดสอบของเรา เป็นการกระทำของเรา ทั้งๆ ที่พอทำเสร็จแล้วก็เป็นวัตถุอันเดียวกัน คือทำเสร็จแล้วมันก็ชำระล้างกิเลสเหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เราจะต้องพิจารณากามๆ...เราวางไว้ก่อน

กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จำคำนี้ให้ดี สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าจิตสงบแล้วจับสิ่งใดก็ได้ให้พิจารณา

แต่ตอนนี้ถ้ามันบอกว่ามันเป็นการพิจารณากาม เพราะเขาบอกว่ามันพิจารณากามแล้วจิตใจมันไม่ยอมรับ จะใช้ปัญญาให้มันยอมรับ...ไม่ใช่

ใช้ปัญญาทำลาย ทำลายทั้งหมดให้จิตมันเห็น จิตมันรู้มันเห็นว่า สิ่งนั้นมันเป็นไตรลักษณ์ สิ่งนั้นมันไม่คงที่ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งนี้เป็นวิธีการเท่านั้น เป็นการฝึกหัดใจเท่านั้น ถ้าใจฝึกหัด ทำของเราไปแล้วมันเห็นจริงตามนั้นแล้ว ถึงที่สุดเวลามันทิ้งแล้ว กุปปธรรม อกุปปธรรม เวลามันเป็นอกุปปธรรมแล้วมันเป็นเพราะอะไร วิบากกรรม วิบากคือผล ผลของการปฏิบัติ ผลของการทำจบสิ้นแล้วมันเป็นอย่างไร อันนั้นจะเป็นความจริง

แต่นี้ความเข้าใจบอกว่า จิตกับความรู้สึกมันปีนเกลียวกัน เราจะทำให้มันยอมรับต่อกันอย่างไร

ทำให้ยอมรับต่อกันอย่างไร เหมือนกับว่าเราอยากได้เงิน แล้วเราก็จะไปพิมพ์เงินมาเลย แต่เราอยากได้เงิน เราต้องทำงาน เราอยากได้เงิน เราต้องทำงาน ทำงานสิ้นเดือน เงินเดือนก็ออก นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติไป ถ้าจิตมันจะยอมรับไม่ยอมรับ วิปัสสนาไป วิปัสสนาไป ผลของมันคือสัจธรรม

ไอ้นี่อยากได้สัจธรรม คืออยากจะปั๊มแบงก์ ตำรวจจับนะมึง ปั๊มแบงก์นี่ตำรวจจับ แบงก์ชาติเขาปั๊ม ไอ้เราไม่มีทาง ไอ้เราได้แบงก์ต้องทำงาน เราทำงานถึงได้แบงก์มา นี่ก็เหมือนกัน จิตมันจะยอมรับๆ มันต้องใช้วิปัสสนา มันใช้ของมัน แล้วมันเป็นจริงขึ้นมา นั่นน่ะผลของมันจะเป็นแบบนั้น

เราปั๊มแบงก์ไม่ได้ แต่เราทำงานได้ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรมของเราคือใช้สติปัญญาแยกแยะของมัน แล้วธรรมะ ธรรมะที่มันจะได้มานั่นน่ะวิบากผลที่มันจะได้รับ ไม่ใช่ว่าจะให้ใจมันยอมรับไง

ความคิดของเราเป็นแบบนี้มันก็เลยขลุกขลักหน่อยหนึ่ง แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ เราพูดให้ฟัง จะว่าเป็นเบสิกก็ว่าโอ้โฮ! หลวงพ่อ ผมภาวนาเป็นนะ เบสิกได้อย่างไร

เป็นพื้นฐาน เอาตรงนี้เป็นหลักเกณฑ์ไว้ แล้วเราพยายามทำของเรา ถ้าทำได้มันก็จะเป็นความจริงของเรานะ

เกล้ากระผมอยากสอบถามว่า ควรจะทำอย่างไรจึงจะสามารถผ่านจุดนี้ไปได้ครับ

ผ่านจุดนี้ไปได้ก็คือเราทำความสงบ ทำความระลึกรู้ ถ้าจิตมันได้พัก แล้วถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าเป็นสมถะ จิตมันตั้งมั่นแล้ว เวลาวิปัสสนาไปแล้วมันจะเห็น วิปัสสนาคือภาวนามยปัญญา วิปัสสนาคือปัญญาแยกแยะ ปัญญาขุดคุ้ย ปัญญาขุดคุ้ยก็จะฝึกจิตให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริง

แต่เราไม่มีสติปัญญาพิจารณาแยกแยะให้มันรู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วจะให้มันยอมรับ พอยอมรับก็ยอมรับทฤษฎีไง พุทธพจน์ไง พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วไง นี่ธรรมะพระพุทธเจ้าไง นั่นก็ของพระพุทธเจ้า ของพระพุทธเจ้า เราศึกษามา

ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ศึกษามาเพื่อรู้จริง ศึกษามาเพื่อปฏิบัติเพื่อจะชำระล้าง เพื่อจะผ่อนคลายเอากิเลสของเราออก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา อันนั้นสุดยอดแล้ว นั่นเป็นของท่าน แล้วท่านก็วางทฤษฎีเอาไว้ นี่ธรรมวินัย แล้วเราก็ศึกษาทฤษฎีมาแล้วเป็นของเราหรือ เขาศึกษามาเพื่อปฏิบัติ นี่ศึกษามาปฏิบัติอย่างนี้

นี่ก็ปฏิบัติแล้วไง ปฏิบัติแล้วถึงถามหลวงพ่อมานี่ ปฏิบัติมา

เพียงแต่พูดนี้พูดถึงทิฏฐิที่บอกว่าเราจะให้จิตใจรู้อย่างนั้นๆ อันนั้นมันเป็นการลัดขั้นตอนไง เราทำของเราไป เราทำของเราไป

เพราะถามมาว่าแล้วผมจะผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไร

ผ่านจุดนี้ก็ต้องทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นมาก่อน กลับมาทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วค่อยกลับไปใช้ปัญญา สิ่งที่ผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่เป็นนามธรรมมันเป็นอดีตไปแล้ว

เวลาคนปฏิบัติ เห็นไหม ผมเคยเป็นสมาธิมาก่อน อย่างเราปฏิบัติ ปฏิบัติเสร็จแล้วพอเบื่อก็เลิกไป ๒๐ ปี พอกลับมาใหม่ ผมเคยทำมาก่อน เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วผมเคยทำสมาธิได้

แล้วตอนนี้ล่ะ

ตอนนี้จิตร้อนเป็นไฟเลยครับ

แล้วทำอย่างไรล่ะ

อ้าว! ก็ผมนึกถึงเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว แล้วผมจะเย็นได้ไหมล่ะ ก็ผมอยากเย็น ผมนึกถึง ๒๐ ปีที่แล้ว...ไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นไฟต้องดับตรงนี้ ต้องดับด้วยสติ เห็นไหม น้ำดับไฟ ดับไฟให้ร่มเย็นก่อน ถ้าดับไฟร่มเย็นแล้วเราฝึกหัดของเราให้เป็นสมาธิได้ แล้วฝึกหัดปฏิบัติเริ่มต้น ต้องเริ่มต้นๆ เห็นไหม จิตเสื่อมแล้วพยายามทำขึ้นมาให้มันเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าแค่นี้ ทำได้แค่นี้มันก็จะเป็นการเริ่มต้นของเรา

นี่พูดถึงว่า จะผ่านจุดนี้ได้อย่างไร

จะผ่านจุดนี้ก็ต้องมีสติ แล้วทำความสงบของใจให้เป็นสมาธิ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาต่อไป แล้วมันจะก้าวเดินไปในความถูกต้อง

อันนี้ก้าวเดินไป ก้าวเดินไปโดยที่ว่าเราทำแบบส้มหล่น คือเหมือนจะดี เหมือนจะดีคือมันสงบ ๓ หน แล้วตอนนี้มันจะดีขึ้นต่อไปไหมล่ะ เหมือนจะดี แล้วกิเลสมันก็มาบังเงาซะ

ก่อนที่มันเหมือนจะดี เพราะว่ากิเลสมันตื่นไม่ทัน กิเลสมันตื่นไม่ทัน เราปฏิบัติมาสงบถึง ๓ หน ตอนนี้กิเลสมันตื่นแล้ว เหมือนจะดี ตอนนี้กิเลสมันแผดเผาแล้วล่ะ แล้วเราก็ต้องสู้กับมัน แล้วทำให้มันดีจริงๆ ไม่เหมือนจะดี ให้มันดีเลย ดีกับเรา

แล้วดีกับเรา เราเป็นคนปฏิบัติเอง เราเป็นคนควบคุมเอง เป็นคนรักษาเอง เราเป็นคนที่จะชำระล้างกิเลสเอง กิเลสกับเราต้องต่อสู้กันด้วยสัจจะความจริง นี้คือภาคปฏิบัติ จะผ่านจุดนี้ไปได้ด้วยการสร้างสติ การทำสมาธิ การทำปัญญาต่อเนื่องไป ก็จะผ่านจุดนี้ไปได้ เอวัง