ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำให้รู้

๒๓ ส.ค. ๒๕๕๗

ทำให้รู้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องกราบขอบพระคุณในความเมตตาครับ

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ตามที่ท่านอาจารย์ได้เมตตาตอบคำถามผมในเรื่องไม่เหลวไหลนั้น ผมต้องกราบขอขมาท่านอาจารย์ด้วยครับที่คำถามผมเป็นการไม่สมควร และเป็นการประมาทพลาดพลั้งต่ออาจารย์ด้วยครับ ผมไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีแอบแฝงแต่อย่างใด ถามไปเพื่อประโยชน์ในการภาวนาเท่านั้นครับ เพราะผมไม่มีความละเอียดรอบคอบในการพิมพ์อธิบายคำถามในครั้งนี้ ผมมีสติปัญญาน้อย

ตัวผมเองเคยพิมพ์เล่าถวายและถามท่านอาจารย์ในเรื่องภาวนามาหลายครั้งแล้ว และได้นำมาปฏิบัติตาม และสอนใจตนเองอยู่โดยตลอดครับ เพียงแต่ในการพิมพ์คำถามครั้งที่แล้ว ผมไม่สามารถอธิบายเป็นตัวอักษรเล่าถวายและพิมพ์ถาม ผมไม่สามารถอธิบายให้ตรงกับความเป็นจริงให้ถูกต้องและละเอียดตามที่ใจผมในระยะนี้ได้รับรู้ได้โดยละเอียดจริงๆ ครับ ผมจึงได้ทำผิดพลาดไปครับ ผมต้องขอกราบขอขมาท่านอาจารย์ด้วยครับ ผมขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาของท่านอาจารย์ครับ ผมขอเรียนถามย่อๆ ดังนี้ครับ

. ตามที่ผมเคยจับกาย เวทนา ความคิด และอาการของใจ ในหลายๆ ครั้งที่จับได้และเอามาคิดพิจารณาได้นั้น ใจขณะนั้นมีความเข้าใจในเรื่องของแต่ละอาการต่างๆ นั้น จนบางครั้งใจนั้นมีการคลายจากการยึดถือในอาการนั้นๆ (ผมเล่าย่อๆ ครับ เนื่องจากเคยมีโอกาสเล่าถวายท่านอาจารย์ในอาการต่างๆ โดยละเอียดแล้วครับ)

และมีครั้งหนึ่งขณะพิจารณาเวทนากายคือความปวดขาปวดเข่าขณะนั่งสมาธินั้นปรากฏว่า ใจผมขณะนั้นเห็นความปวดกับกระดูกขาที่ดูขณะนั้นกับใจนั้นเป็นคนละสิ่งกัน ไม่ได้รวมกัน อยู่แยกจากกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้เห็นด้วยตาครับ เป็นความเห็นด้วยใจ เป็นความเข้าใจว่า อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง ณ ขณะนั้นครับ

หลังจากนั้นต่อมา ผมใช้ชีวิตตามปกติ ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ แต่สังเกตว่ามักเจอเหตุการณ์ใกล้กับความตายหลายครั้ง อย่างเช่นระหว่างขับรถมีรถข้างๆ ยางแตกเสียหลักคว่ำต่อหน้า ผมสังเกตใจผมขณะนั้นไม่ได้กระวนกระวายหรือตื่นตระหนก แต่ใจขณะนั้นกลับรวมวืบ กลับมารวมชัดอยู่ที่ใจตัวเองเป็นจุดเดียวครับ สติขณะนั้นดีมาก ชัดมาก

แม้กระทั่งเหตุการณ์ทราบว่าลุงตาย ใจผมก็เป็นลักษณะรวมเข้ามาจุดเดียวเหมือนกัน และมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความตายทำนองนี้อีกหลายครั้งหลายเหตุการณ์ครับ ใจผมก็เป็นลักษณะที่กล่าวมาเช่นเดียวกันครับ พอเจอเหตุการณ์เกี่ยวกับความตายของตนเอง ญาติสนิท หรือคนไม่รู้จัก ใจขณะนั้นก็มีลักษณะรวมอยู่จุดเดียว ไม่คิดเรื่องตายหรือกระวนกระวายดิ้นรนเหมือนครั้งก่อนๆ ผมเขียนภาษาเขียนอธิบายได้เพียงเท่านี้ครับ

. ระยะหลังจากนั้นมา เริ่มรับรู้สิ่งต่างๆ เข้ามาในใจเยอะครับ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์ ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ทั้งที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุต่างๆ ทั้งขณะภาวนา ขณะฝัน และขณะลืมตา มันเยอะครับ เล่าถวายเป็นภาษาเขียนไม่ถูก และเล่าไม่หมดครับ

. เรื่องความสงบของใจนั้น ระยะหลังมานี้ผมทำใจได้สงบทุกครั้งครับ แค่พนมมือก็สงบจนได้ยินหัวใจเต้น หรือรับรู้การสะเทือนของหัวใจได้เลย เรื่องความสงบของใจ ระยะหลังมานี้ใจผมสงบได้ทุกครั้งครับ หลายๆ ครั้งขณะลืมตาใช้ชีวิตประจำวัน ใจผมก็สงบรวมลงได้ครับ

. ระยะหลังมานี้ ผมมีความสงบ สงบง่ายมาก สงบทุกครั้งที่สิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งแสงสว่างจ้าจนเห็นชัด เห็นต้นไม้ยอดไม้ชัดเจนขณะภาวนาในป่ามืดๆ ขณะหลับตาครับ แต่ผมไม่เอา เพราะขณะนั้นรู้ว่าใจส่งออกไปข้างนอก มันไม่ใช่กาย เวทนา จิต ธรรม ผมไม่เอา แสงนั้นก็ค่อยๆ หายไป แสงนั้นสว่างและแรงมากครับ ขาวจ้า และมีอาการอย่างอื่นอีกมากมายครับ

แต่ระยะหลังมานี้สงบ แต่มีความคิดในความสงบครับ จับก็ไม่ค่อยจะทันครับ พอจับปุ๊บ ความคิดก็หายครับ แล้วจะพิจารณาอะไรใจก็ไม่ค่อยจะเอาครับ ใจจะออกๆ ท่าเดียว จะไม่ยอมพิจารณาอะไรเลย จะเลิกภาวนาอย่างเดียว แต่บางครั้งใจจับได้ก็ไม่มีอุบายอีกครับ พออุบายที่เคยใช้ได้ผลมาใช้ก็ใช้ไม่ได้ครับ มันคิดไม่ออก มันตื้อไปหมด คิดเท่าไรมันก็ไม่ค่อยจะเดินครับ ผมกราบเล่าถวายเพียงเท่านี้ครับ ไม่สามารถอธิบายให้ละเอียดเท่ากับใจสัมผัสได้

ตอบ : เขาขอเมตตา นี่พูดถึงนะ ฉะนั้น คำที่เหลวไหลครั้งที่แล้วเรารับไม่ได้ เพราะเขาเขียนมาว่าให้ชี้ทางไปพระสกิทาคามีมันรับไม่ได้ มันรับไม่ได้ มันเหลวไหล เอ็งจะไปสกิทาคามี เอ็งได้โสดาบันมาแล้วหรือ เอ็งได้อะไรมา แล้วเอ็งก็มาบอกว่าให้ชี้ทางไปสกิทาคามี แล้วข้านี่ก็เซ่อๆ ซ่าๆ ชี้เลยนะ สกิทาคามีไปทางนี้ กูก็บ้าน่ะสิ กูจะชี้ไปอย่างไรล่ะ มึงเขียนอย่างนั้นมาได้อย่างไร เขียนว่าให้ชี้ไปสกิทาคามี

แล้วถ้ามันเป็นการพูดกันระหว่างส่วนตัวมันก็ว่าไปอย่างหนึ่ง ไอ้นี่ให้พูดออกไมค์ ถ้าพูดออกไมค์ก็ต้องพูดอย่างนี้ เอ็งให้กูชี้สกิทาคามี กูก็จะชี้ลงนรกเลย เพราะกูก็ไปไม่เป็น ก็กูไปไม่ถูก กูก็ไม่รู้ไปทางไหน แล้วให้กูชี้ไปสกิทาคามี

นี่มันเขียนมานะ เขาเขียนมาเขาบอกว่า ขอโทษขออภัยที่ว่าผมไม่รอบคอบ เขียนไป คำเขียนเรื่องต่างๆ เขียนมากระทบกระเทือนน่ะ

คือเขียนอย่างนี้มันอันตราย ถ้าขาดสตินะ ถ้าขาดสติแล้วคิดว่าปฏิสันถาร คิดว่าเราพูดกันเป็นแบบว่า เราพูดกันเราก็ยอมรับกันเป็นวงภายในของเรา คิดอย่างนี้มันคิดได้ แต่คิดอย่างนี้ถ้าพูดออกไปแล้วใครอัดเทปไว้ เสร็จ

ฉะนั้น หลวงตาท่านถึงพูดไงว่า อยู่กับหลวงปู่มั่นมา หลวงปู่มั่นไม่เคยบอกว่าท่านได้อริยมรรคอริยผลอะไรเลย หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดว่าตัวท่านได้อะไรเลย หลวงปู่เสาร์ก็ไม่เคยพูด ท่านไม่เคยพูดหรอก ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านไม่พูดหรอก เวลาท่านจะพูด ท่านจะพูดถึงเหตุและผล อย่างเช่นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ท่านพูดตามทางวิชาการ ท่านพูดตามความเป็นจริง แต่ท่านไม่ได้บอกว่าใครได้ใครเป็น คนเป็นเขาพูดกันอย่างนั้น

ถ้าบอกไม่ได้มรรคไม่ได้ผล ไม่พูดเลย แล้วจะสอนกันอย่างไร อ้าว! ระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่กี่กิโล ระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปสุไหงโกลกยาวเท่าไร แล้วเอ็งพูดไม่ได้หรือ ระยะทางของเส้นทาง เอ็งพูดไม่ได้ใช่ไหม ระยะทางเท่าไร เอ็งก็บอกเขาไปสิ แล้วคนที่เขามาเขามีแผนที่ เขาก็วัดของเขาได้ เอ็งก็บอกมาสิ ระยะทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เท่าไร กรุงเทพฯ-หนองคายเท่าไร กรุงเทพฯ-สุไหงโกลกเท่าไร กรุงเทพฯ-หาดใหญ่เท่าไร อ้าว! ว่าไปสิ

มรรค ๔ ผล ๔ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ก็ว่าไปสิ ถ้าเอ็งรู้จริง เอ็งก็พูดไป ถ้าเอ็งเป็นอาจารย์ เอ็งก็บอกไปสิ

หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยบอกเลยว่าฉันได้นู่นฉันได้นี่ ไม่เคยพูดเลย หลวงตาท่านพูดประจำว่าครูบาอาจารย์ท่านไม่เคยบอกว่าท่านได้อะไรเลย ไม่เคยบอก แล้วไม่เคยบอกแล้ว แต่ทำไมท่านเทศน์ออกไป ทำไมเขาเชื่อล่ะ

เพราะว่าท่านบอกถึงระยะทางกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ไปหนองคาย กรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่ ท่านบอกหมด แล้วคนก็ขับรถไปแล้วมันก็ไปโป๊ะ! พอจะเข้าหาดใหญ่ ป้ายบอกทางเลย กิโลเมตรที่...พูดไป โชะ! คนปฏิบัติไปมันรู้ มันไปถึงปั๊บมันจะ จ๊ะ! รู้เลยๆ อ๋อ! แสดงว่าหลวงปู่มั่นท่านมาถึงที่นี่แล้ว แสดงว่าหลวงปู่มั่นท่านมาเชียงใหม่แล้ว ท่านถึงเดินมา ท่านนับระยะทางมาได้ตลอด หลวงปู่มั่นท่านได้มาถึงหนองคายแล้วท่านถึงได้รู้ว่าระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงหนองคายเท่าไร แล้วเราก็เดินตามมา เราขับรถไป เราสำรวจไป แล้วพอถึงหนองคาย ระยะทางกิโลเมตรมันเท่ากันทั้งหมดเลย อืม! แสดงว่าถูกต้อง นี้คือครูบาอาจารย์ของเรา ท่านไม่เคยพูดหรอก

หลวงตานะ ก่อนที่ท่านจะออกมาโครงการช่วยชาติ ถ้าใครพูดอย่างนี้ตบปากทันทีเลย แล้วถ้าใครมาบอกว่าผมได้ขั้นนั้นขั้นนี้นะ ท่านยี้ ไอ้นี่มันนกหวีดแล้ว นกหวีดเป่าปรี๊ดๆๆ ท่านรังเกียจ

แต่นี่พอมีโครงการช่วยชาติ ท่านพูดเอง ประชาชนเขาไม่รู้เหนือรู้ใต้ แล้วเขาจะสละเงินช่วยชาติ ทุกคนอยากจะช่วยเหลือชาติ แต่ทุกคนก็ระแวงว่าคนที่เอาเงินไปช่วยชาติเป็นผู้ที่หัวใจสะอาดบริสุทธิ์จริงหรือเปล่า เงินทองมันจะช่วยชาติจริงหรือเปล่า ท่านบอกว่าท่านต้องเอาธรรมะ ธรรมะในตัวของท่านมาค้ำประกัน มาค้ำประกันว่าท่านได้ประพฤติปฏิบัติมา ท่านถึงได้ประกาศออกมาด้วยความจำเป็น มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยว่า ประเทศชาติเกิดวิกฤติ แล้วหลวงตาท่านมีคุณธรรม มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยว่าให้หลวงตาได้มีโอกาสได้แสดงตนออกมาให้กับชาวโลกผู้ที่ไม่เชื่อถือเรื่องมรรคเรื่องผลได้รับรู้ รับทราบว่ามันมีผู้ปฏิบัติอย่างนั้นอยู่จริง ท่านถึงได้เสียสละออกมา ถ้าในใจของท่าน เหมือนกับว่าเอาธรรมะ เอาสิ่งที่เลอเลิศมาแลกกับปัจจัย แลกกับเงิน มันไม่คุ้มกันหรอก แต่ท่านก็ทำ

ที่บอกว่า ไม่มีใครประกาศหรอก ไม่มีใครหรอก ทำไมหลวงตาท่านพูดโต้งๆ โต้งๆ ตอนช่วยชาติ ประกาศแล้วประกาศอีก

ประกาศนั้นประกาศเพื่อให้สังคม เพื่อให้ผู้ที่จะเสียสละนั้นให้มีความเชื่อมั่น ให้มีความเชื่อมั่น ให้มีความศรัทธาว่าการทำครั้งนี้เป็นครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์มาพาทำ มันจะไม่มีความเสียหาย มันทำไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์ทางเดียว มันไม่มีทางที่เสียหายเลย ท่านถึงได้พูดออกมา ท่านพูดออกมา ท่านมีเหตุ มีความจำเป็น ท่านถึงพูดออกมา โดยธรรมชาติถ้าใครไปพูดอย่างนี้นะ ตบปาก ตบปากเลย ตบปากเลย เพราะไม่ต้องพูด เขารู้ คนแสวงหาเขามี คนต้องการความจริงเยอะแยะ คนที่เขาไม่พูด นั่นแหละทุกคนเคารพบูชา ไอ้ปรี๊ดๆๆ ไม่มีใครไปฟังหรอก มันวิ่งหนีกันหมด มันวิ่งหนีกันหมด มันวิ่งหนี โอ๋ย! มันปรี๊ดๆ

ปรี๊ดๆ ก็ กปปส. ไง เป่านกหวีดไง กปปส. ราชดำเนินเป่าปรี๊ดๆ เลย

ไอ้นี่ไปเป่ากันปรี๊ดๆ ไม่มีใครเชื่อหรอก คนเชื่อเขาพูดอย่างนั้น ฉะนั้น เราอยู่กับสังคมนี้มาไง แล้วนี่มาบอกว่าให้ชี้ทางไปสกิทาคามี มันถึงที่ว่าจะเป็นเลศนัย มันเป็นเลศนัยได้หลายๆ อย่าง เลศนัยว่า ถ้าพูดออกไปแล้วมันเป็นหลักฐาน หลักฐานนี้จะเอาไปใช้ในทางไหนก็ได้ เขามีเอกสารเขาฟ้องได้นะ เขาฟ้องในทางแพ่ง ฟ้องในทางอาญา เขาฟ้องได้ทุกอย่าง ถ้าคนมันจะคิดเพ่งโทษกัน แต่ถ้าคนที่แบบว่าเขาแสวงหาอยู่ เขาเออ! แหม! มีพระเขาชี้ทางไปสกิทาคามีได้นะ แสดงว่าพระองค์นี้เก่ง

คนคิดบวกมันก็มี คนคิดลบมันก็เยอะ หลวงตาถึงสอนว่า คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก เสียงสรรเสริญของคนโง่พากันไปล้ม พากันไปตายหมด คนโง่ไม่มีประโยชน์หรอก เขาโคกับขนโค เขาโคมี ๒ เขา ขนโคมีเต็มตัว เราจะพูดอะไรก็ได้ให้คนเขาเชื่อถือ ให้คนเขาศรัทธา ให้คนเขายอมรับ แล้วมันได้ประโยชน์อะไรล่ะ ขนโคนั่นน่ะ

คนโง่มันรักษาตัวไม่รอดหรอก ที่ไหนเขาเฮฮาก็เฮฮาไปกับเขา พอที่ไหนเขาบอกว่าที่นั่นไม่ถูก มันวิ่งกลับเลยหนูไม่รู้ หนูไม่เกี่ยว หนูไม่รู้ หนูไม่เกี่ยว”...เมื่อกี้มันยังวิ่งไปกับเขาเลย พอเขาชี้ความผิด หนูไม่รู้ หนูไม่เกี่ยวนั่นคนโง่ คนโง่ไม่เป็นประโยชน์กับใครหรอก

แล้วพูดอย่างนี้มันพูดไม่ได้ ถึงบอกว่า ถ้ากรรมฐานเรามีครูมีอาจารย์นะ เรื่องอย่างนี้มันเป็นเบสิกเป็นพื้นฐานว่าเราจะไม่พูดกันอย่างนั้น

ฉะนั้น เขาเขียนมาเลยบอกว่า ผมเคยเขียนมาหาหลวงพ่อหลายครั้งแล้ว หลวงพ่อก็ตอบปัญหาผมไปหลายครั้งแล้ว ผมก็เอาไปใช้เป็นประโยชน์มาก คราวนี้ผมเสร่อไปหน่อยหนึ่ง ผมเลยเขียนมาอย่างนี้

มันเป็นโทษนะ เป็นโทษกับคนที่เขายังไม่ศรัทธา เขายังไม่เชื่อ เขาจะบอกเลยว่า เฮ้ย! พระกับคนถามปัญหานี่สงสัยบ้าทั้งคู่เลย ไอ้บ้าก็ถามเรื่องบ้าๆ ไอ้คนตอบ ไอ้คนถามบ้ามามันก็เสือกตอบบ้าๆ เอ๊! สงสัยคู่นี้ต้องจับส่งโรงพยาบาล

ฉะนั้น เราถึงได้พูดไปอย่างนั้นว่าเหลวไหล จะพูดอะไรอีกล่ะ พูดเหลวไหล ถ้าพูดเหลวไหล เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องมีสติสิ บอกมาสิว่าปฏิบัติอย่างไร ถูกอย่างไร ผิดอย่างไร คนที่ปฏิบัติเป็นเขาชี้เขาบอกเอง ประโยชน์เราเยอะแยะ เราไปรู้ไปเห็นอะไรแล้วถามท่านสิ ผมปฏิบัติมาอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ ถ้าท่านตอบเราไม่ได้แสดงว่าท่านโม้ ท่านภาวนาไม่เป็น ท่านไม่เคยรู้เห็น แต่ถ้าคนภาวนาเป็นนะ บอกมาสิ ถามปั๊บนี่ชัวะ! ถามปั๊บนี่ชัวะ! ถามมาเถอะ

หลวงตาท่านพูด เห็นไหม ขอหาคนถามให้ท่านจนสักทีน่ะ ท่านพูดประจำ หลวงตานี่ มีคนถามปัญหาถามหลวงตาให้จนสักที อยากจะเจอหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ประจำนะ ถามเถอะ ปัญหานี่ถามมา ดูซิว่าท่านจะจนไหม ถ้าท่านจน แสดงว่าท่านภาวนาไม่ถูก เออ! ท่านบอกอยากเจอคนที่ถามปัญหาว่าท่านตอบไม่ได้ อยากเจอ อยากเจอมาก มันก็ไม่มี แต่ไอ้คนถามมันถามสัพเพเหระ คนถามกลับงงๆ

นี่ก็เหมือนกัน ทีนี้เวลาถามมา ถ้าถามได้เป็นประโยชน์ เขาบอกเขาเขียนมาเยอะมาก เป็นประโยชน์มาก

ประโยชน์ก็สาธุ ประโยชน์ เราก็ทำเพื่อประโยชน์นี่แหละ แต่ถ้าคำถามนั้นมันอันตราย ให้ชี้ทางเลย แล้วไอ้เสร่อก็ชี้เลยนะ นู่นพระอาทิตย์อยู่นั่น มันจับเลยนะ โอ๋ย! มึงชี้พระอาทิตย์หรือ พระอาทิตย์มันอยู่ในหนังสือต่างหาก หนังสือรูปพระอาทิตย์ ไปชี้พระอาทิตย์อยู่นั่นน่ะ เดี๋ยวมันก็จับ ยุ่งตายห่า

นี่ถึงว่านะ เขาเขียนมาอย่างนี้ก็เลยอธิบายให้ฟัง ไม่อยากอธิบายตรงๆ ไง ถ้าอธิบายตรงๆ ไปก็ แหม! เพราะว่าเวลาถามปัญหาไป ทุกคนจะบอกว่า จับผิดอย่างเดียว จับผิดอย่างเดียว หลวงพ่อคอยแต่จับผิดคน คนดีๆ หลวงพ่อไม่เคยดูเลย ดีแต่จับผิดคน

คนดีๆ ก็สาธุ เขาก็ดีแล้ว คนดีก็สาธุ เขาก็ดีของเขา แต่คนที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ คนที่ปฏิบัติอยู่ อ้าว! มีปัญหา เราช่วยกัน เราก็ช่วยกัน คนที่ล้มลุกคลุกคลาน เราก็ช่วยกัน ไอ้คนที่มันพึ่งตัวเองได้ มันไปได้ สาธุ ไปเลย เชิญตามสบาย ไปก่อนเลย เดี๋ยวตามไป ไปให้ถึงเลย แต่ไอ้เราล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ เราก็ช่วยกันไป ประคองกันไป ก็เพื่อประโยชน์นี่ไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามาครั้งที่แล้ว ถามอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าคำถามมันล็อกตายไง มันล็อกตายใช่ไหม แล้วไอ้คนตอบก็ตอบไป แล้วมันมีอะไรหลายๆ อย่าง ฉะนั้น มันเป็นการเตือน เป็นประโยชน์กับเราชาวพุทธ

เราชาวพุทธนะ ชาวพุทธเราต้องมีสติ เราต้องมีปัญญา เราจะพูดอะไรสิ่งใด วิสาสะ หรือว่าเป็นระหว่างครูกับอาจารย์ตัวต่อตัว ขนาดตัวต่อตัวเขายังห้ามอัดเทป เพราะคุยกันตัวต่อตัว พอออกจากนี่ไปมันไปลงยูทูบเลย ตัวต่อตัว ไปทั่วโลกเลย เวลาคุยกันตัวต่อตัว ออกจากนี่ไป ไปแล้ว ไปทั่วเลย

ฉะนั้น ตัวต่อตัวต้องห้ามอัดเทป อัดลงที่ใจ ถ้าใจมันอัดได้นะ แล้วปฏิบัติขึ้นมาให้ได้

ฉะนั้น ที่ว่าเหลวไหล ฉะนั้น สิ่งนั้นจบ นี่เข้ามาคำถาม คำถามว่า ผมจับกายได้ ผมจับเวทนาได้ สิ่งที่มันพิจารณาไปแล้ว แล้วใจมันคลายออก นี่เล่าย่อๆ แล้วที่ว่ามันถึงว่า เดี๋ยวนี้พอพิจารณาไปแล้วมันแยกออกจากกันเลยต่างๆ

เวลามันแยกออกจากกัน ถ้าเราพิจารณาได้อย่างนี้ เราพิจารณาอย่างนี้ พิจารณา เราให้จิตสงบ จิตเราสงบเข้าไป ถ้าจิตเราสงบนะ พอจิตสงบแล้วถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เราพิจารณาอย่างนี้ นี่เป็นอริยสัจ แต่นี่มันไม่เป็นอย่างนี้น่ะสิ เวลามันไม่เป็นอย่างนี้เพราะว่าเดี๋ยวมันเจริญแล้วเดี๋ยวมันเสื่อม เดี๋ยวมันทำได้ เดี๋ยวทำไม่ได้ แล้วพอทำได้ มันเป็นผิวเผิน คำว่าผิวเผินของเรานี่มันเป็นจินตนาการ

โอ๋ย! หลวงพ่อ จินตนาการได้อย่างไร ผมทำได้เอง

จิตของคน วุฒิภาวะมันเป็นแบบนี้ทั้งนั้นน่ะ เริ่มต้นขึ้นมาแล้วมันพิจารณากาย เห็นกายอย่างไร ถ้าเห็นกายขึ้นมา มันชัดขึ้นมา มันพิจารณา

เขาบอกว่า พิจารณาไปแล้วนะ มันแยกคนละส่วนเลย มันอยู่กัน ไม่เกี่ยวกันเลย เห็นได้ชัดๆ นะ เห็นชัดๆ เลย แต่ไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยความเข้าใจ อ้อ! มันเป็นอย่างนี้

อ้อ! เป็นอย่างนี้แล้วเป็นอย่างไรต่อ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นแบบนี้ พิจารณา รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง ถ้าเราเข้าใจผิด เราเข้าใจต่างๆ เรายึด เราทุกข์ตายห่าเลย แต่ถ้าเรามีปัญญาเข้าใจแล้วมันก็อ้อ!...อ้อ! แล้วอย่างไรต่อ คำว่าอ้อ!” มันอ้อ! ของใคร

ถ้าอ้อ! นะ อย่างที่ว่าอย่างนี้ กรณีที่ว่าหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นไงว่าหนองอ้อๆ เวลาหลวงปู่มั่น อ้อ! ขึ้นมา เขาไปหาหนองอ้อกันที่เชียงใหม่ ไม่เจอหรอก มันอ้อที่ในหัวใจ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน มันอ้อ! มันอ้อ! ก็เหมือนคนหลงทางมาถูกทางมันก็อ้อเหมือนกัน หนองอ้อมันเป็นขั้นเป็นตอน นี่ไง ถึงบอกเอ็งทำอย่างไรพูดมา คนที่เขาผ่านมาเขารู้ อ้อตรงไหน อ้อทีแรก กรุงเทพฯ-เชียงใหม่

มันกรุงเทพฯ-หัวลำโพง มันจะไปหัวลำโพง มันจะขึ้นไปเชียงใหม่ พอไปถึงหัวลำโพง อ้อ! เขาเขียนไว้ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อ้อ! เชียงใหม่ๆ อ้อ! อ้อ! ถึงหัวลำโพง มันไม่ได้อ้อที่เชียงใหม่

ฉะนั้น คำว่าอ้อ!” มันก็มีหลายชั้น เห็นไหม ถ้าคนเป็นเขารู้ ไปถึง รถขบวนนี้กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ นั่นมันชื่อรถขบวน นี่ต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางเชียงใหม่ เรายังไม่ได้ขึ้นรถเลย พอขึ้นรถไปแล้ว กว่ารถมันจะออก ได้เวลารถก็ออก รถออก มันก็ยังไป ออกจากหัวลำโพงไป ไปสระบุรี มันไปของมันไปเรื่อย นี่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น ที่ว่า เพราะความเข้าใจของตัวไง ถึงได้ชี้ทางไปนั่นชี้ทางไปนี่เพราะความคิดไง เพราะมีพื้นฐานอันนี้เป็นพื้นฐาน มันถึงคิดอย่างนั้น ถ้ามันคิดอย่างนั้น มันพิจารณาของมันไปว่ามันพิจารณาไปแล้ว

พอพิจารณาไปนะ การพิจารณามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม พอพิจารณาไปแล้วเขาบอกเลย ชีวิตมันก็แปลกแล้ว ไปเจอเฉียดกับความตายตลอดเลย เวลารถยางแตก ลุงตาย ไม่สะเทือนเลย

คนเรามันมีหลักนะ มีหลัก เหมือนกับเรามีสติมีปัญญานี่มันมีหลัก พอมีหลัก มันเข้าใจเรื่องสัจธรรม สัจธรรม การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้น พอมันเข้าใจ มันมีหลักมีเกณฑ์ พอมันว่า รถยางแตก มาถึง เราจะมีอุบัติเหตุ หรือว่าลุงเราตาย เราไม่สะเทือนใจ

เราไม่สะเทือนใจเพราะเรามีหลัก คนมีหลัก คนมีหลักไม่สะเทือนใจ มันก็เรื่องธรรมดา ทีนี้เราก็ไปตื่นเต้นไง ตื่นเต้นว่า โอ๋ย! แม้แต่อุบัติเหตุเราก็ไม่ตื่นเต้นเนาะ

ไม่ตื่นเต้น เราก็ยังจะตายอยู่นะ ไม่ตื่นเต้น มันต้องสำรอกมันต้องคาย มันถึงจะเป็นจริง

ไอ้เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา คนที่มีสติมีปัญญาก็เป็นแบบนี้ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดา ปฏิบัติมันเป็นเรื่องส่งออกนะ พอเรื่องส่งออก เห็นไหม พอมาข้างหลัง ข้อที่ ๒ ระยะหลังนี้พอเริ่มรับรู้ต่างๆ พอเข้ามาที่ใจ ความรู้เกี่ยวกับครูบาอาจารย์ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระธาตุ

นี่ส่งออกแล้ว นี่ส่งออก

พุทโธๆๆ เวลาจิตสงบเข้ามามันรู้โดยตัวมันเอง มันมีความสุขความสงบในตัวเอง ถ้ามีความสุขความสงบในตัวเอง พอมันส่งออกไป ออกไปรู้เรื่องอะไร ถ้ามันออกไปรู้เรื่องพระธาตุ ออกไปรู้เรื่องครูบาอาจารย์ทั้งรู้จักและไม่รู้จัก ไปเห็นภาพต่างๆ

แล้วมันเรื่องอะไรล่ะ แล้วมันได้อะไร ถ้ามันจะรู้มันต้องรู้เข้ามาข้างใน ถ้ารู้เข้ามาข้างในนะ จิตเราสงบแล้วเราเข้ามา เราจะเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าเห็นเป็นเรื่องครูบาอาจารย์มันก็เป็นเรื่องอนิจจัง วางไว้ ทุกอย่างวางไว้ มันจะเข้ามาสู่ข้างใน ให้วางไว้ แล้วปล่อย แล้วสงบเข้ามา ถ้ามันไม่ส่งออกไป ครูบาอาจารย์ท่าน เห็นไหม

เวลาคำถาม เวลาคำถามมันฟ้องเลย คำถามข้อแรก พิจารณาแล้วเห็นกายมันแยกจากกัน เห็นกาย เวทนามันเป็นส่วนกัน แล้วก็ไปเรื่องของความตาย แล้วมาข้อที่ ๒ ออกไปรู้เรื่องครูบาอาจารย์แล้ว

ข้อที่ ๒ มันก็เหมือนติดนิมิตแล้ว นี่ส่งออกแล้ว มันไม่เข้าสู่อริยสัจแล้ว ถ้ามันไม่เข้าสู่อริยสัจ แล้วทำอย่างไรจะเข้าสู่อริยสัจ

ทีนี้การปฏิบัติของเรา ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติใช่ไหม เวลาจิตสงบแล้วให้หัดพิจารณา พิจารณาต่อเนื่องไป ถ้าพิจารณาเป็นกาลๆ

ถ้าคนภาวนาไม่เป็นมันทำให้เหมือน ทำให้ครบสูตร อย่างที่เขาพูดว่า เขาใช้ปัญญา ใช้วิปัสสนา

เขาทำอะไรของเขา จิตเขาสงบหรือเปล่า เขามีพื้นฐานในการภาวนาไหม เขาบอกว่าภาวนาในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ แล้วก็คิดสร้างภาพเลย กาย เวทนา จิต ธรรม จบ รู้เท่าทันหมด ปล่อย ว่าง

แต่เวลาครูบาอาจารย์เรานะ ทำให้จิตสงบก่อน พอจิตสงบ พอมันเห็นกาย โอ๋ย! มันสะเทือนหัวใจแล้ว ถ้าสะเทือนหัวใจ มันก็จะมาเป็นอย่างนี้ พิจารณาไปแล้วมันก็แยกอย่างนี้ นี่มันปล่อยชั่วคราว แล้วทำอย่างไรต่อ

การภาวนาให้รู้จริง จิตนี้ กิจกรรมมันพัฒนาให้มันรู้มันเข้าใจ กับภาวนาให้มันเสร็จ คือทำให้มันเหมือนไง ทำให้มันเหมือนนะ เราทำทุกอย่างเลย พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่เป็นจินตนาการ จินตนาการที่มีจิตรับรู้ มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วอย่างไรต่อ พอมันวาง วางแล้วทำอย่างไรต่อ

เพราะตัวเองคิดว่าตัวเองทำแล้ว พอทำแล้วเราไม่มีสติควบคุม มันก็ออกแล้ว ออกไปรู้เรื่องครูบาอาจารย์ ออกไปรู้ครูบาอาจารย์ที่รู้จักและไม่รู้จัก ไปเรื่องพระธาตุ นี่ไปใหญ่เลย

ก็เหมือนคนเรา คนเราพอภาวนา พอจิตสงบ จิตสงบมันก็เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ เขาสงบเพื่อจะออกวิปัสสนา ทีนี้พอจิตสงบแล้วมันออกรู้ออกเห็นน่ะ มันไม่มีสติไง นี่ไง ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีปัญญาท่านต้องรั้งอันนี้ไว้ให้ได้ ต้องเอาจิตดวงนี้เอาไว้ให้ได้ ไม่ให้มันส่งออกอย่างนี้ ถ้ามันจะออกรู้ต้องออกรู้ในสติปัฏฐาน ๔

เวลาออกรู้สติปัฏฐาน ๔ มันต้องมีจิตเป็นสัมมาสมาธิ มันถึงออกรู้สติปัฏฐาน ๔

ไม่ใช่จิตสงบแล้วออกรู้ ออกรู้โดยเรื่องฌานโลกีย์ ด้วยความรู้ความเห็นของตัว นั่นน่ะกิเลสมันหลอกแล้ว

ถ้าครูบาอาจารย์มีนะ มันไม่ใช่เรื่อง นี่แหละออก พอมันออกไปแล้วทำไม่ถูก ทำไม่ได้ แต่มันมีจิตใต้สำนึกอันหนึ่ง อันหนึ่งที่ว่า เราเคยพิจารณากายแล้ว กายกับใจมันแยกจากกัน ก็คิดว่าตัวเองมีคุณธรรมไง ก็คิดว่า เห็นไหม คิดว่าตัวเองมีคุณธรรม แต่มันเป็นไหมล่ะ

ถ้ามันเป็นนะ ไอ้เรื่องที่ว่าไปรู้เรื่องครูบาอาจารย์ ไปรู้เรื่องพระธาตุ ที่ว่าเยอะแยะไปหมดจนพูดอะไรไม่ถูก มันเยอะไปหมด

ส่งออก มันไปกว้านมาหมดน่ะ ถ้ามันไปกว้านมา นี่ส่งออกทั้งนั้นน่ะ

ถ้าส่งออกแล้ว เราจะต้องบังคับด้วยสติ บังคับด้วยคำบริกรรม ให้จิตมันหยุด ถ้าจิตมันหยุดนะ มันไม่ส่งออก พอไม่ส่งออก พอสงบ ถ้ามีกำลังแล้วให้ไปดูกาย ดูเวทนา จิต ธรรมเหมือนเดิม ถ้าไปดูกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะมันสะเทือนนะ ถ้ามันสำรอกนะ ถ้ามันสำรอกมันคาย มันถึงชัดเจน นี่ไง สันทิฏฐิโก รู้ท่ามกลางหัวใจ

แต่นี่ยังหลวงพ่อชี้ทางให้ที ชี้ทางให้ที ชี้ทาง

พอคนมันเป็นนะ คนภาวนาเป็นหมายความว่า พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วมันขาดไปแล้ว นี่เป็นพื้นฐาน ภาวนาเป็นแล้ว แล้วถ้ามันจะติด มันจะติดมันก็ติดด้วยความยึดของตัว ถ้าความยึดของตัว อย่างเช่นหลวงตากับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านพยายามสับ แล้วคนที่เป็นนะ เขาต้องรอเวลา ถ้าไม่รอเวลา เราไปบอก มันยิ่งยึดยิ่งมั่น เราต้องให้จิตมันมีสมควรว่าจะรู้ถูกรู้ผิดได้ แล้วค่อยแนะค่อยชี้ ถ้าค่อยแนะค่อยชี้นะ

แล้วถ้าผู้ที่ปฏิบัติ มันติดอยู่แล้ว มันติดอยู่แล้วแหละ แต่ด้วยความสำคัญผิดก็ยึดว่าอันนี้ถูก แต่ถ้าคนที่จะชี้ให้รู้ว่ามันผิดได้มันจะต้องมีวุฒิภาวะที่เหนือกว่า เพราะมันผิดอยู่แล้ว มันผิดอยู่แล้วสำหรับครูบาอาจารย์ที่รู้จริง

มันยึดอยู่แล้ว มันถูกอยู่แล้วสำหรับคนที่ติด ไอ้คนที่ติดมันก็ติดอยู่แล้ว มันยึดอยู่แล้วว่าของกูนี่ถูก ไอ้คนเคยถูกมาเขารู้ว่าตรงนั้นมันผิด แล้วยิ่งไปบอกว่าคนที่มันติดอยู่มันจะยึดมากขึ้นไป ต้องรอจังหวะ ต้องบ่มเพาะ บ่มเพาะให้ได้เวลา พอได้เวลาก็ค่อยๆ แหย่ ค่อยๆ แหย่ ค่อยๆ จิ้ม จนกว่าผู้ที่ติดอยู่นี้

มันหวง มันยึดไว้เลยนะ ของฉันๆ พอค่อยๆ แหย่ เหมือนกับเอาผลไม้ไว้ มันเริ่มเน่าแล้วแหละ กลิ่นมันไม่ค่อยดีแล้วแหละ มันเน่า ก็ยังว่าอู๋ย! กลิ่นนี้แหละกลิ่นแท้มันยังยึดของมันอยู่ ฉะนั้น ค่อยๆ สะกิดๆ เดี๋ยวก็หลุด

ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง ในวงกรรมฐานเราที่ของจริงนะ เราจะรู้เลยว่าของจริงท่านให้อุบายอย่างไร ท่านชี้แนะอย่างไร แล้วผู้ที่ติดมันจะปล่อยวางอย่างไร ละอย่างไรมาเป็นชั้นเป็นตอน

ถ้าอย่างนั้นมันก็ติดอยู่นั่นน่ะ แล้วถ้ามันติดอยู่นั่นนะ นี่ติดนะ แล้วถ้าภาวนาไม่ได้เรื่องเลยล่ะ โอ้โฮ! มันยิ่งไปใหญ่เลยภาวนาในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวทั้งหมด”...มันสตัฟฟ์จิตไว้แล้วมันจะได้อะไรน่ะ มันสตัฟฟ์จิตให้มันตายอยู่นั่นน่ะ

ของเรานะ ต้นไม้มันมีชีวิตนะ มันต้องเจริญเติบโตนะ ไม่ใช่ต้นไม้พลาสติก ไปตั้งเอาไว้แล้วก็ดูกัน โอ้โฮ! สวยงาม ไม่ต้องรดน้ำ ไปตั้งที่ไหนมันก็ไม่ตาย ไอ้ของเราถ้ามันไม่มีความชุ่มชื้นนะ เดี๋ยวใบก็เหี่ยวแล้ว

มันไม่ใช่ต้นไม้พลาสติก มันต้องมีความรู้สึกมันถึงเป็นจริง ไอ้ที่ว่าสตัฟฟ์ไว้เลยมันต้นไม้พลาสติก สติปัฏฐาน ๔ พลาสติก มันอยู่แค่นั้นน่ะ ถ้ามันไม่มี ไม่มีก็บ้านโล่งโถง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่ง เออ! ก็บ้านนี้โล่งๆ เออ! เอามาตั้งไว้ เออ! อันนี้ใช่ สติปัฏฐาน ๔ เอาต้นไม้พลาสติกมาตั้งไว้...มันไม่ใช่

ถ้ามันเป็นจริง สิ่งมีชีวิตมันต้องพัฒนาของมัน มันเป็นไปของมัน มันเป็นความจริงของมัน อันนี้ถึงความจริง เห็นไหม

ฉะนั้น ข้อ ๒ ที่ว่ามันรู้เห็นไป มีของเข้ามา

เข้ามาแล้วหวงด้วยใช่ไหม เข้ามาแล้วโอ๋เลยเนาะ กลัว กลัวจะหลุดมือไป แต่ถ้าเวลามันเน่าก็รู้ว่าไม่ใช่หรอก พอมันไม่ใช่แล้วทำอย่างไรต่อ

มันไม่ใช่แล้ว ไม่ต้องไปคิดถึงเลย สิ่งที่เป็นอดีต ทุกคนเคยทำสิ่งใดมามันก็มีการผิดพลาดเป็นธรรมดา ไม่ต้องไปเสียใจว่าฉันผิดมา ๕ ปี แล้วฉันก็ไปนั่งทบทวนอีก ๕ ปี เป็น ๑๐ ปีไง ผิดมา ๕ ปีก็ทิ้งมันไปเลย แล้วปัจจุบันนี้ทำให้มันถูกก็จบไง

ติดมา ๕ ปีใช่ไหม ก็ต้องมาทบทวนอีก ๕ ปี เสียดาย เสียดายอดีต ๕ ปี คิดอีก ๕ ปีก็ ๑๐ ปี แต่ถ้ามันติด ๕ ปีแล้วพอมันวางก็จบเลย ๕ ปีก็แค่นั้นน่ะ แต่ถ้าติดมา ๕ ปี ยังไปคิดอยู่อีก ๕ ปีนะ ๑๐ ปี เออ! ข้างหน้ายังไม่ถูกๆ ยังไม่รู้ พอติดมา ๕ ปี ทบทวนอีก ๑๐ ปี ทบทวน

อันนี้มันเป็นเรื่องจริงนะนี่ ที่พูดนี่เรื่องจริง เพราะการเวียนว่ายตายเกิดมันเวียนว่ายตายเกิดมาเยอะ ฉะนั้น ทำให้รู้จริงๆ ไม่ใช่ทำให้เสร็จ นี่ทำให้มันเสร็จ ทำให้มันเข้าใจ มันก็เท่านี้ จะทำให้มันรู้จริงๆ ค่อยๆ พัฒนาของมัน

นี่ข้อที่ ๓ เรื่องความสงบของใจ เขาบอกว่าเขาทำได้สงบทุกครั้ง แค่พนมมือก็สงบแล้ว

ถ้ามันทำได้จริงนะ เวลาพุทโธ คนที่ชำนาญกำหนดพุทโธ ถ้าเป็นสัมมานะ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ถึงคำว่าติดเวลาออกใช้ปัญญามันจะติด แต่มันจะเข้าใจถึงความสงบนะ

แต่ส่วนใหญ่ที่เราเห็น เห็นไหมเวลาพูดอยู่นี่จิตสงบอยู่เลย เวลาคุยกับหลวงพ่อ จิตมันสงบอยู่เลย

แหม! กูคันหัว...มันสงบ มันสงบอย่างไร มันสงบอย่างนี้มันสงบโดยแบบภวังค์ ถ้ามันสงบ มันไม่ต้องรักษาไง

แต่ถ้ามันสงบจริงๆ นะ เวลามันเข้าไป ความสงบ เวลามันไหว มันกระเทือน มันก็ออกแล้ว จิตนี้เวลามันสงบนะ มันสงบของมัน ถ้ามันมีพื้นฐาน เราสงบจนเป็นสมาธิ สงบบ่อยๆ ครั้งเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ เราจะทำอะไร สมาธิจะเป็นพื้นฐาน มันก็มีสติมีปัญญาทำอะไรไม่ค่อยผิดพลาด แต่ถ้ามันออกไปมาก มันต้องกลับมาพัก นี่ถ้ามันสงบ มันสงบอย่างนี้

นี่บอกว่า พนมมือก็สงบอยู่แล้ว อะไรสงบอยู่แล้ว

มันอ้างน่ะ สมาธิ สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธินะ ไอ้นั่นมันสมาธิมิจฉาไง คือว่ามันเคยได้เมื่อวานนี้หรือมันเคยได้เมื่อกี้นี้ ก็นึกอารมณ์นั้นไว้ มันไม่เป็นปัจจุบันหรอก มันไม่เป็นปัจจุบัน

เขาบอกว่า พนมมือก็สงบแล้วๆ

มันสงบจริงหรือ ถ้ามันสงบนะ สงบคือการพักใจ ถ้าใจมันพักแล้ว มันเป็นสัมมาแล้ว พอออกมาใช้ปัญญา มันจะก้าวเดินของมันไป

ไอ้นี่มันสงบแล้วก็ยังไปรู้นู่นรู้นี่ มันไม่มีสติ สติมันคุมไม่ได้ ถ้าเป็นสมาธิมันก็เป็นมิจฉา มันไม่เป็นสัมมาคือความถูกต้องดีงาม ว่าอย่างนั้นเลย

ถ้ามันเคยทำมามันก็เป็นอย่างนี้ เหมือนเรา เราเคยทำอะไรมาแล้วเราเคยทำได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำ แต่มันก็รู้อยู่อย่างนี้ คือมันจะไป มันก็ไม่ไป ใจมันเสื่อม มันก็ไม่เสื่อม มันก็คาๆ อยู่อย่างนี้ แล้วก็บอกว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้ามันจะบอกว่าเป็นอุเบกขา มันก็ไม่ใช่ มันเป็นที่เราติดเอง

ฉะนั้น ไอ้คำว่าสงบอย่างนี้ให้เด็กๆ มันพูดกันเถอะ ให้เด็กๆ มันไปคุยกัน ไอ้เราจะปฏิบัตินะ ถ้าสงบต้องชัดๆ กำหนดเลย ลองใหม่เลยนะ ตั้งสติเลย แล้วกำหนดพุทโธชัดๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิชัดๆ ให้มันสงบเข้ามา แล้วดูความสงบของมันสิ

ถ้ามันสงบแล้ว ถ้ามันสงบ ถ้าจิตถ้ามันเป็นมิจฉานะ พอเริ่มมีกำลังมันก็ส่งออกไปรู้ ไปรู้พระธาตุ ไปรู้ถึงครูบาอาจารย์ ไปรู้เรื่องโลก แล้วมันได้อะไรขึ้นมา เขาเดือดร้อนหรือ ครูบาอาจารย์เดือดร้อนหรือ เราคนรู้มันเดือดร้อน ครูบาอาจารย์เดือดร้อนกับเราหรือเปล่า

เราไม่ต้องการอย่างนั้น เราต้องการจะสงบชัดๆ แล้วคุมไว้ นี่เป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้ามันออกไป มันไม่ส่งออกไปรู้นู่นรู้นี่ มันจะไปรู้สติปัฏฐาน ๔ เราจะให้มันทำงาน เราจะเอาธรรมะ เราจะเกิดมรรค เราจะเอามรรค ๘ มรรคมันจะเข้ามาสำรอกมันจะคายกิเลส แล้วมันคายกิเลส มันจะได้ก้าวหน้าไป

ไม่ใช่จับต้นชนปลายไม่ได้ ข้างหน้าก็ไปไม่ได้ ถอยกลับก็ถอยไม่ได้ แล้วก็คาๆ อยู่อย่างนี้ แล้วก็บอกให้ชี้ไปสกิทาคามี กูจะชี้ไปไหน ก็กูยังไปไม่เป็น ก็กูไม่รู้ไปอย่างไรสกิทาคามี คิดเอาเอง เออเอาเองไง

ไอ้พูดอย่างนี้เดี๋ยวเสียใจอีก ไอ้ที่แล้วก็แล้วกันไป เพียงแต่ว่า ที่พูดมันละเอียดรอบคอบ เรากรรมฐานไง วงกรรมฐาน เราพูดสิ่งใดให้เป็นประโยชน์ อย่าให้มันเกิดโทษ ไม่ให้เกิดโทษกับผู้ฟัง และไม่ให้เกิดโทษกับผู้ตอบ

ผู้ตอบเวลาพูดไป โลกนี้คนโง่มากกว่าคนฉลาดมาก คนมีเวรมีกรรมมากมันจ้องจับผิดเยอะแยะไปหมด คนทำดีมันขวางหูขวางตาคนชั่วนะ แล้วเราจะทำดี เราว่าทำดีใช่ไหม นี่ว่าทำดีหรือ

เราทำดีมันก็เป็นความดีความชั่วของเรานี่แหละ แต่คนที่มันจ้องจับผิดอยู่มันเยอะแยะไปหมด แล้วทำไมเราต้องไปเข้าทางเขาล่ะ เราจะทำดีกันทำไมเราต้องไปพูดให้มันเป็นภัยกับคนพูดและคนตอบล่ะ มันไม่ควรเอาความเป็นภัยเข้ามาไง

นี่พูดถึงเวลา ถ้าเดี๋ยวน้อยใจๆ มันเป็นเพราะเหตุนี้

. ระยะหลังนี้ผมมีแต่ความสงบ มันสงบง่าย สงบทุกครั้ง มีสิ่งแปลกๆ มหัศจรรย์หลายครั้ง อย่างเช่นที่มีแสงสว่างจ้า

ไอ้นั่นจบไปแล้ว ไอ้นี่ส่งออกทั้งนั้นน่ะ แสงสว่างจ้าก็แสงสว่างจ้า

แต่ที่ว่าระยะหลังนี้ทำอะไรไม่ได้เลย พอสงบแล้ว สงบแล้วจับอะไรก็ไม่ได้

ผลของมันก็เป็นแบบนี้ นี่มันยืนยันไง ผลของมันเป็นแบบนี้ ผลของมัน ถ้าเราสัพเพเหระแล้ว ผลที่สุดคือมันเสื่อมหมดแหละ ผลที่สุดแล้วพอจะจับปุ๊บ มันก็จับไม่ได้ พอจะจับได้ ปัญญาก็ไม่เกิด

อ้าว! ก็ไหนว่าเอ็งจับได้ตลอดเลย เอ็งก็รู้เท่าทัน เอ็งพิจารณากายได้ทั้งนั้นน่ะ ยกมือขึ้นยังสงบเลย จิตสงบตลอดเลย แล้วทำไปทำมาเลยสับสน จับต้นชนปลายไม่ได้ แล้วตกลงเป็นอย่างไร อ้าว! ตกลงเป็นอย่างไร

ระยะหลังภาวนาไม่ได้เลย มันจะออกท่าเดียว มันทำอะไรไม่ได้เลย

อ้าว! ก็มันผิดมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ต้น ไม่ดูแลมาตั้งแต่ต้น เข้าใจเอาเอง เออเอาเองว่าตัวเองพิจารณากายแล้วกายมันแยกแล้ว คิดเอาเองว่าตัวเองมีจิตใจมั่นคง คิดเอาเองว่าไปรู้เรื่องพระธาตุ ไปรู้เรื่องคนอื่น คิดเอาเองว่ายกมือขึ้นมาก็สงบ คิดเอาเองว่าความสงบอยู่กับใจไง แล้วก็จะชี้เลย บอกว่าชี้ไปสกิทาคามีทีหนึ่ง ชี้ไปทีๆ คิดเอาเองไง

เวลาครูบาอาจารย์ เราจะคุยกัน เราคุยกันอย่างนี้ เราจะคุยกันเป็นปัจจุบัน

เวลาคนมาถามปัญหาหลวงพ่อ จิตผมเคยสงบ ทำอย่างไรต่อ

สงบเมื่อไหร่

สงบเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว

มันคิดว่า ๑๐ ปีที่แล้วมันยังเก็บสงบไว้ในกระเป๋า มันยังไม่เอาไปไหนมั้ง สงสัยความสงบมันยังเก็บไว้ในกระเป๋าเลย ถึงเวลาก็จะควักออกมาเลย สงบอยู่นี่

มัน ๑๐ ปีที่แล้ว มันจะเป็นประโยชน์อะไร เขาเอาปัจจุบัน

นี่ก็เหมือนกัน พอมันเป็นไปแล้ว ผลของมัน ถ้ามันสับสน จับต้นชนปลายไม่ได้ ถึงที่สุดเสื่อมหมด เวลาภาวนา เวลาจะจับได้ ปัญญาก็ไม่เกิด นี่เพราะสมาธิมันไม่แข็งแรง เวลาจะทำความสงบ มันสงบแล้ว เวลาปัญญามันจะเกิด มันก็จับสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้ อืม! เอาสิ เวลาจับได้มันก็ไม่มีปัญญา มีปัญญามามันก็ไม่รู้จะเอาปัญญาไปใช้อะไร เห็นไหม

เราเริ่มต้นมา เราเริ่มต้นเราทำอะไรกันมา ถ้ามันภาวนาเป็นนะ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ถ้าพิจารณากายถูกต้องดีงาม พิจารณาซ้ำ ซ้ำ จนมีความชำนาญ มีความชำนาญ มรรค มรรค ๘ มันเจริญก้าวหน้าขึ้นมา นี่ภาวนาเป็น

พอภาวนาเป็น พอสงบเข้าไป พอยกขึ้น ยกขึ้นมันก็ไปสู่สกิทาคามิมรรค มันยกขึ้นๆ มรรค ๘ มันมา มันส่งเสริมกันมา เห็นไหม โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค

ไอ้นี่คิดว่าตัวเองแยกแล้วก็เป็นโสดาปัตติมรรค แล้วพอโสดาปัตติมรรคแล้วมันก็ไปรู้เรื่องคนอื่น มันก็ไปเห็นแสงสว่าง มันไปรู้อะไรนั่นน่ะ มันเป็นของชั่วคราว มันเกิดขึ้นจากความเพียร ความวิริยอุตสาหะ แต่เราไม่รู้จักประคอง ไม่รู้จักดูแลให้จิตมันพัฒนาขึ้นมาให้มันถูกต้องดีงาม

เราเป็นชาวพุทธ เราก็นั่งสมาธิภาวนากัน ทำสมาธิทำไม สมาธิเพื่อรู้วาระจิตคนนู้น สมาธิเพื่อเห็นเทวดา สมาธิ

นั่นไง นั่นน่ะออกนอกเรื่องนอกราวไปหมดแล้ว เวลาทำสมาธิ เป็นสมาธิเหมือนกัน เวลาทำสมาธิมาแล้วอีลุ่ยฉุยแฉก ลงไปห้วยหนองคลองบึง ไปนู่น ออกทะเลไปเลย

แต่ครูบาอาจารย์กรรมฐานเราท่านให้ทำสมาธิ ทำสมาธิแล้ว จิตให้มันสงบ มีความสุข มีความระงับ มีความสุขแล้วก็พยายามฝึกมัน ใช้วิปัสสนา ใช้ปัญญา ปัญญาเพื่อรู้แจ้ง ปัญญาเพื่อแทงทะลุอวิชชา แทงทะลุกับความไม่รู้ของเรา นี่กรรมฐานเขาสอนอย่างนี้

เขาไม่ได้ออกไปลงห้วยหนองคลองบึง แล้วก็ออกทะเลไปเลย แล้วกลับมา ชี้ไปสกิทาคามีทีหนึ่ง...โอ้โฮ! กูนี่เจ็บตับ

ฉะนั้น เวลาอันนั้นจบไปแล้ว เพียงแต่เวลาถามมา แล้วมาเคลียร์ปัญหากัน เวลาคำถามมา พอพิจารณาแล้วมันถึงเข้าใจ อ๋อ! เพราะปฏิบัติมาอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ แล้วคิดอย่างนี้ ถึงจะให้ชี้ไปทางนู้นไปทางนี้ คิดว่าตัวเองจะก้าวหน้าต่อไป

สุดท้ายแล้วข้อที่ ๔ ตอนนี้เวลามีสมาธิ จับกายได้ก็ไม่มีปัญญา เวลาปัญญามันพุ่ง ปัญญามันแยกแยะ มันก็จับกายไม่ได้

สุดท้ายจบ จบลงอย่างนี้ไง จบโดยที่ว่า สุดท้ายแล้วก็จับต้นชนปลายไปไม่ถูก สุดท้ายแล้วมันก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วทำอย่างไรต่อ

ทีนี้ทำอย่างไรต่อ อันนี้มันอยู่ที่อำนาจวาสนา เพราะนักปฏิบัติเราทุกคนจะถามว่า ผมก็ทำอย่างนั้น ดิฉันก็ทำอย่างนี้ แล้วทำไมมันไปไม่ได้

มันไปไม่ได้ มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของคน ถ้าคนมีอำนาจวาสนา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่ของเรา เราปฏิบัติยาก แล้วมันยังรู้ยากอีก มันยังไม่ได้ เราก็ต้องมีสติมีปัญญาเพื่อรักษาไว้ ให้มันถูกทางไว้ อย่าให้มันแฉลบ อย่าให้มันออกนอกลู่นอกทาง แล้วพยายามทำของเรา เพราะเราสร้างอำนาจวาสนามาเท่านี้

อย่างเช่นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ระยะทางเท่าไร แต่หลวงปู่มั่นท่านมีเงิน ท่านสามารถซื้อตั๋วกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ได้

ไอ้ของเราไม่มีเงินนะ เราก็ซื้อไปสระบุรี กรุงเทพฯ-เชียงใหม่มันไปไม่ได้ ไปได้แค่สระบุรี แล้วก็พยายามไปหางานทำที่สระบุรี แล้วก็จะซื้อตั๋วต่อ สระบุรีไปนครสวรรค์ นครสวรรค์ก็ขึ้นไปพิษณุโลก เราก็ทำของเราไป เพราะเราไม่มีเงินจะซื้อตั๋วกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เราไม่มีวาสนาทำได้อย่างนั้น เราก็ซื้อตั๋วของเราไปนะ ซื้อไป พักตามข้างทางไป หาเงินหาทองต่อเนื่องไป เราก็พยายามทำของเราไป นี้พูดถึงอำนาจวาสนาของคน

ถ้าปฏิบัติง่ายรู้ง่ายมันก็ดีของมันไป ถ้าปฏิบัติไม่ได้ ทำให้รู้ ให้เข้าใจ ไม่ใช่ทำให้เสร็จ บางคนรีบ ภาวนาเป็นอย่างนั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็ทำฉับๆๆ เสร็จแล้ว เสร็จแล้วทำอย่างไรต่อ

เสร็จแล้วเอ็งเอากลับบ้านไป สติปัฏฐาน ๔ ของเอ็ง เอ็งเอากลับบ้านไป ไม่เกี่ยวกับคนอื่น

เขาทำสติปัฏฐาน ๔ เขาทำมาเพื่อให้จิตมันฝึกหัด ให้จิตมันเป็นสมาธิ ให้จิตมันพิจารณา ให้มันเข้าใจ พอเข้าใจมันก็สำรอก มันคายตัวของมัน คายความสังโยชน์ คายกิเลสตัณหาในตัวของมัน ถ้ามันคายของมัน มันก็เป็นสันทิฏฐิโก มันก็เป็นปัจจัตตัง มันก็รู้ท่ามกลางหัวใจนั้น

ไม่ใช่ทำๆๆ เสร็จ สติปัฏฐาน ๔ เสร็จเลย ส่งครู แล้วครูให้คะแนน แล้วครูให้คะแนนแล้วกิเลสเอ็งหลุดไหม เห็นไหม นี่ทำให้เสร็จไง คือทำให้เหมือน ทำให้จบ เขาสอนกันนะ วิธีการอย่างนั้นๆๆ แล้วก็ทำอย่างนั้นๆๆ แล้วทำอย่างไรต่อ เสร็จแล้วทำอย่างไรต่อ ทางโลกเขาเป็นอย่างนั้น

แต่ธรรมไม่ใช่ ธรรม มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของจิต จิตหยาบ จิตกลาง จิตละเอียด จิตของคนมันสร้างอำนาจวาสนามาแตกต่างกัน พันธุกรรมของมันไม่เหมือนกัน มันสำรอกมันคายแตกต่างกัน ฉะนั้น ถ้าเราทำถูกต้องดีงามแล้วเราก็พยายามทำของเราให้อยู่ในร่องในรอย แล้วพยายามของเรา ทำให้รู้จริง

ทำให้รู้จริง ไม่ใช่กิเลสให้ทำ กิเลสมันอยากได้อยากดี กิเลสมันก็ให้ทำ กิเลสมันก็ทำให้ ทำให้เสร็จแล้ว ทำแล้วก็งงๆ พองงๆ ขึ้นมา บังเอิญตอนนี้เราออกสังคมมา ก็เลยบอก เออ! มีพระองค์หนึ่งมันเซ่อๆ มันชอบตอบธรรมะ ก็เลยถามมันว่า ชี้เลย ให้มันชี้ไปสกิทาคามี ชี้อย่างไร ไอ้เซ่อๆ ก็ชี้เลยนะ สกิทาคามีไปทางนั้น นี่ไง เพราะเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราทำของเราอย่างนั้น

ถ้ามีหลักมีเกณฑ์นะ ทำสิ่งใดก็แล้วแต่ มันเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์กับชาวพุทธ เป็นประโยชน์กับสังคม เป็นประโยชน์กับทุกๆ คน ความเป็นประโยชน์ไง เป็นประโยชน์

ธรรมของหลวงปู่มั่น ประโยชน์ใดที่ไม่มีโทษ บุญที่ไม่มีโทษ คุณที่ไม่มีโทษนั้นเป็นบุญที่สุด สิ่งที่ไม่มีโทษเป็นประโยชน์ล้วนๆ หลวงปู่มั่นท่านสอนอย่างนั้น ให้ทำอย่างนั้น ให้เป็นประโยชน์ที่ไม่มีโทษ เป็นประโยชน์สูงสุด เอวัง