ยุคทอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗
ณ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ขอโอกาสครูบาอาจารย์และขอโอกาสคณะสงฆ์ จะแสดงธรรมเนาะ แสดงธรรม
วันนี้เป็นวันครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่เจี๊ยะครบ ๑๐ ปี เพราะเป็นวันมรณภาพของหลวงปู่เจี๊ยะ พวกเรามีความระลึกถึง เราถึงได้มาระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราจะเกิดขึ้นมาได้เพราะด้วยคุณงามความดีของท่าน เพราะเราระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน เราถึงฝังหัวใจของเรา
สิ่งที่จะเป็นคุณงามความดี เห็นไหม เวลาเราเกิดในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา หลวงปู่เจี๊ยะจะบอกว่า “เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เรามีโอกาส เรามีวาสนา” สิ่งที่วาสนาของเรา เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพุทธกาล
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เพราะองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสปฏิญาณตนกับปัญจวัคคีย์ว่า “เราเป็นพระอรหันต์ เราเป็นพระ-อรหันต์นะ เธอจงเงี่ยหูลงฟังธรรม” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมต่อเนื่อง จนพระปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงอนัตตลักขณสูตร มีพระอรหันต์เกิดขึ้นมาเป็นพยานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาไปเทศน์กับยสะ เทศน์ยสะจนเป็นพระอรหันต์ เพื่อนของยสะ เสร็จแล้วนะ เป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์ “เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ จงอย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนักๆ เขาต้องการสัจธรรม”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เห็นไหม รื้อสัตว์ขนสัตว์ๆ พระอรหันต์เป็นเต็มไปหมดเลย มีแต่พระอรหันต์นะ ความว่า “เจริญรุ่งเรือง” ในสมัยพุทธกาลนี้อันดับ ๑
ในพระไตรปิฎกบอกว่า “กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง” มันเจริญที่ไหนล่ะ? มันเจริญที่ไหน?
มันเจริญ เพราะว่า มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นคนที่รื้อค้นค้นคว้าเป็นความเป็นจริงขึ้นมาในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น นี่ศาสนาเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญในใจ เจริญในหัวใจ ถ้าเจริญในหัวใจ เห็นไหม ยุคทอง
ยุคทองเพราะอะไร เพราะสมัยนั้นหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ได้ประพฤติปฏิบัติ ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะ ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม สิ่งที่ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นเพราะอะไร สิ่งที่ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นเพราะท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาในใจของท่าน ท่านมีคุณธรรมในหัวใจของท่าน แต่เวลาจะรื้อค้นขึ้นมา จะรื้อค้นต่อไป ใครจะสั่งสอน? ใครจะเป็นคนชี้นำ?
ถ้าใครเป็นคนชี้นำ คนชี้นำมันเป็นยุคทองไง ยุคทองเพราะว่ามีครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำ ท่านถึงขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ เวลาท่านขึ้นไปเชียงใหม่ เห็นไหม ท่านเล่าให้ฟังว่า มันหนาว มันหนาวนะ มันอดมันอยาก มันหนาวมาก ไปกับหลวงปู่เฟื่อง หลวงปู่เฟื่องบอกว่ามีความคิดของท่าน แต่หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่า ไปหาหลวงปู่เฟื่อง “เฟื่องเว้ย! กลับเมืองจันท์เว้ย กลับเมืองจันท์” ดูว่าใจจะสู้ไหม ใจจะอยู่หรือไม่อยู่
แต่เพราะสู้ เพราะอยู่ เห็นไหม อากาศมันหนาว สิ่งที่อากาศมันหนาวเพราะมันเป็นป่าเป็นเขา เพราะหลวงปู่มั่นอยู่ในป่าในเขา นี่เวลายุคทอง ยุคทองมันต้องมีสิ่งที่ดีงามไปหมดไง ทำไมยุคทองต้องไปทุกข์ไปยากอย่างนั้นล่ะ เวลามันทุกข์มันยากนะ มันทุกข์มันยาก หัวใจมันทุกข์มันยากมากกว่านั้น เวลาความเป็นอยู่นะ เวลาไปอยู่กับชาวเขามันจะมีอะไรตกถึงท้องล่ะ
หลวงปู่เจี๊ยะนะ ท่านอยู่ที่เมืองจันท์ ได้รับการอบรมดูแลมา การเป็นอยู่ในปัจจัยเครื่องอาศัยมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ เพราะพ่อแม่เลี้ยงดูมา พ่อแม่เลี้ยงดูมาพ่อแม่ต้องรู้นิสัยของลูกใช่ไหม พ่อแม่ต้องเป็นห่วงลูกใช่ไหม ความเป็นอยู่ของท่าน ท่านไม่ใช่ว่าท่านเคยทุกข์ยากมาก่อน ท่านมีแต่ความอุดมสมบูรณ์นะ
แต่ความอุดมสมบูรณ์ เวลาเราเทียบทางโลกไงว่า ศาสนาเจริญๆ เจริญที่ไหน ถ้าเจริญก็ต้องมีคนนับหน้าถือตา ถ้าเจริญก็ต้องมีคนดูแล แล้วทำไมท่านแสวงหาล่ะ ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นล่ะ หลวงปู่มั่นสอนอะไร หลวงปู่มั่นทำอย่างไร ทำไมมันทุกข์มันยากขนาดนั้น ถ้ามันทุกข์มันยากขนาดนั้น แล้วถ้าศาสนาเจริญ เจริญที่ไหนล่ะ
มันเจริญในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นไง เพราะในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านมีความสุขของท่าน ท่านมีวิหารธรรมของท่าน ถ้าวิหารธรรม ธรรมอันนี้มันสำคัญๆ ไง
หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านก็ประพฤติปฏิบัติมีแนวทางของท่าน แล้วทำไมท่านต้องขึ้นไปแสวงหาอย่างนั้น ถ้าไปแสวงหาอย่างนั้น นี่ยุคทอง ถ้ายุคทองขึ้นมา ยุคทอง คนประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ยุคทองมันต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ยุคทองมันต้องมีมรรคญาณ ยุคทองมันต้องมีสัจธรรมเข้ามาระงับความฟุ้งซ่าน ระงับความเห็นแก่ตัว ระงับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจ นี่มันยุคทอง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายุคนั้นเจริญที่สุด เพราะมันมีคุณธรรม พระอรหันต์เต็มแผ่นดิน องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าแสดงธรรมทีหนึ่ง เทวดา อินทร์ พรหมสำเร็จเป็นแสนเป็นล้าน
แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน นี่ยุคทอง ยุคทองของกรรมฐานไง ถ้ากรรมฐานมันจะมีคุณธรรม มันต้องมีคุณธรรมความเป็นจริง ถ้าความเป็นจริงอันนั้น ทั้งๆ ที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็เป็นคนจริง คนจริงมันต้องไปหาของจริง ถ้าหาของจริง แล้วของจริงเอาอะไรสอน ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้จริง ผู้รู้จริงเขาเอาความอะลุ่มอล่วย เอาความเห็นแก่ใจกัน ทำอะไรลูบหน้าปะจมูก เป็นอย่างนั้นหรือ
เวลาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ท่านเล่าให้เราฟังเอง ท่านเคยกินดีอยู่ดีเพราะพ่อแม่เลี้ยงลูกมาขนาดนั้น เวลาท่านจะขึ้นไปทางเชียงใหม่ พ่อแม่ทุกข์มากเพราะลูกเราเลี้ยงมา รู้ว่าความเป็นอยู่มันเป็นแบบใด แล้วอยู่นี่เวลาบวชแล้วอยู่วัดทรายงาม อยู่ข้างบ้าน ท่านก็อุปัฏฐากดูแลของท่านอยู่ แล้วมันจะไปทุกข์ไปยาก
มันจะไปทุกข์ไปยาก แต่ไปทุกข์ยากเพราะหัวใจ เพราะไปทุกข์ยากเฉพาะร่างกาย มันไปทุกข์ไปยากเพราะแสวงหา มันเป็นยุคทอง ยุคทองว่าชื่อเสียงของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านระบือลือลั่น ระบือลือลั่น ท่านเป็นคนชี้ทางๆ แล้วเราปฏิบัติมา ท่านพิจารณากายของท่าน ท่านปล่อยวางกายของท่าน แล้วจะบอกใคร ใครจะสอนได้ ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะ
“ผมพิจารณากายครับ ผมแยกของผมอย่างนี้ๆ ครับ แล้วทำอย่างไรต่อ”
“ทำอย่างเดิม ทำอย่างนี้ต่อเนื่องไป”
ถ้าทำอย่างนี้ต่อเนื่องไปมันมีคุณธรรม คุณธรรมเพราะอะไร เพราะมันมีมรรค มันมีสัจธรรม มันมีความจริง ยุคทองมันอยู่ที่นี่ ยุคทองมันอยู่ที่มรรค มันอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วความเป็นอยู่มันทุกข์มันยากเพราะมันหนาว ความเป็นอยู่มันทุกข์มันยาก เพราะความเป็นอยู่ เห็นไหม บิณฑบาตมา ท่านพูดให้เราฟังเอง “กินข้าวกับกล้วย เป็นความลับอย่าบอกใคร กินข้าวกับกล้วย สิ่งอื่นกินไม่ได้”
ความกินไม่ได้ ความเป็นอยู่ปัจจัยเครื่องอาศัยมันก็ต้องขาดแคลนจริงไหม แต่ทำไมมันมีความสุขล่ะ ทำไมมันอยู่ป่าอยู่เขาด้วยความรื่นเริงล่ะ มันรื่นเริงในหัวใจไง มันไม่ใช่ว่ามันไม่มี ถ้าแสวงหาสิ่งที่มีมันก็แสวงหาอยู่ที่บ้านที่เรือน อยู่ที่พ่อแม่อุปัฏฐากมันก็อยู่ได้ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ แต่ทำไมเราต้องไปอยู่ในสภาพแบบนั้น สภาพแบบนั้น สิ่งที่มันเป็นสภาพแบบนั้น เพราะเราแสวงหาสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า มีคุณค่ามากกว่านะ นี่ความสุขกายกับความสุขใจ ถ้าความสุขใจมันจะเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ถ้ามันเกิดขึ้นนะ ครูบาอาจารย์ท่านของเราท่านเป็นแบบนี้ ยุคทองๆ ยุคทองเพราะยุคหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วยุคทองหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ดูสิ ท่านชี้นำมาด้วยความทุกข์ความยาก ด้วยความอัตคัดขาดแคลน ด้วยความไม่ปรนเปรอกิเลส
นี่เรามาส่งเสริมปรนเปรอกิเลสกัน แล้วบอกว่าเราจะมาคิดถึงหลวงปู่เจี๊ยะ เราจะมาคิดถึงครูบาอาจารย์ของเรา แล้วครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นอยู่มาอย่างไร เวลาท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านสมบุกสมบันมาอย่างไร ความสมบุกสมบันของท่านมาแล้วท่านได้คุณธรรมมา เพราะมีคุณธรรม เราถึงได้ระลึกถึง เพราะมีคุณธรรมใช่ไหม ท่านตายมา ๑๐ ปี เรายังระลึกถึงท่าน นั่นคืออะไร นั่นคือกลิ่น กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรมมันหอมทวนลม เพราะมันมีคุณธรรมอย่างนั้นเราถึงลงใจ
เพราะทุกคนก็มีกิเลส เราก็รู้กิเลสในใจของเขา กิเลสในใจของเรา คนเหมือนคน คนจะยอมคนหรือ คนเหมือนคน ใครจะยอมให้ใครเหนือคน แต่เพราะคุณธรรม เพราะเรายอมรับ เพราะเรายอมรับ เราถึงแสวงหา เพราะแสวงหา ท่านถึงต้องบุกบั่นขึ้นไปหาครูบาอาจารย์ของท่าน แล้วครูบาอาจารย์ของท่านก็รักนะ เพราะอะไร เพราะความเป็นอยู่ในครอบครัว ใครมีความเป็นอยู่ในครอบครัวนะ ถ้าลูกเต้าเราดี ลูกเต้าเราอยู่ในโอวาท ลูกเต้าเราทำสิ่งใดมันประสบความสำเร็จ พ่อแม่จะชื่นใจไหม ถ้าลูกเต้าของเราเกเร ลูกเต้าของเรามันเรรวน ลูกเต้าของเราไม่ทำความเป็นจริง เราจะมีความทุกข์ไหม
แล้วหลวงปู่เจี๊ยะท่านขึ้นไป เจ็บไข้ได้ป่วยหลวงปู่เจี๊ยะก็ไปดูแล ไปอยู่ที่โรงพยาบาล เขาบอกว่าใครจะไปเฝ้าหลวงปู่มั่นบ้าง เขามีแต่พระมองหน้ากัน หลวงปู่เจี๊ยะยกมือพับ! “ผมไปเอง” ท่านไปดูไปแลด้วยหัวใจ หัวใจมันเรียกร้อง หัวใจมันเคารพบูชา ไปอยู่ ไปอุปัฏฐาก เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะท่านอยู่เมืองมา เขาให้เงินมา บอกว่าคนไข้คนเจ็บคนป่วยต้องกินนม ขอเอาเงินนี้ไปซื้อนมมาเพื่อชงให้หลวงปู่มั่นฉัน คนเจ็บคนป่วยมันต้องฟื้นฟู ฟื้นฟูขึ้นมา เห็นไหม แสดงว่าท่านมีปัญญาไง แสดงว่าเวลาอดเวลาอยาก หลวงปู่มั่นก็พาอดพาอยากไง แต่ถ้ามันมีสิ่งใดขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับร่างกาย เพื่อประโยชน์กับสิ่งที่เป็นที่พึ่งของเรา เราก็ควรจะขวนขวาย เราขวนขวายนะ เราไม่ใช่ว่าเราทุกข์เรายากแล้วทุกอย่างมันต้องเอาทุกข์ยากนั้นเป็นเป้าหมาย
ทุกข์คืออริยสัจ ทุกข์คือความจริง ทุกข์มันเป็นความจริงอยู่แล้ว เป้าหมายเราให้เห็นทุกข์ นี่เราไม่เห็นของเราไง เราเห็นแต่ตำรับตำราไง อริยสัจ สติปัฏฐาน ๔ มันนกแก้วนกขุนทอง มันไม่มีความจริง
ยุคทอง ยุคทอง เห็นไหม
กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้พยากรณ์ไว้เอง ผู้ใดที่เกิดในยุคสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือสหชาติ มันต้องสร้างบุญกุศลมาใช่ไหม มันไม่สร้างบุญกุศลมามันจะมีโอกาสไปเกิดอย่างนั้นได้อย่างไร แต่ในเมื่อยุคทอง กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นพยายามค้นคว้าของท่านจนในใจของท่านเป็นความจริงในใจของท่านขึ้นมา ถ้าในใจของท่านขึ้นมา ท่านทำของท่านได้จริง แล้วท่านเป็นผู้ชี้นำได้จริง
แล้วชี้นำได้จริง เราทำไมไม่ดูแลให้มันอบอุ่น ไม่ดูแลให้มันสะดวกสบายล่ะ ความสะดวกสบายมันเป็นทางเดินของกิเลส คนที่เคยฆ่ากิเลสมาแล้วจะเดินตามกิเลสไป ให้กิเลสมันจูงจมูกไป ใครจะสอนอย่างนั้นได้ ใครจะสอนชำระล้างกิเลสโดยเดินตามกิเลสไป ใครจะสอน คนที่มันชำระกิเลสมา มันจะพาลูกศิษย์เดินไปสู่ความจำนนกับกิเลสไหม คนจะมีอำนาจวาสนามาขนาดไหน ชีวิตเขาจะอุดมสมบูรณ์มาขนาดไหน แต่ถ้าเขาจะชำระกิเลส เขาต้องต่อสู้กับมัน ต่อสู้กับมันด้วยสติด้วยปัญญา ถ้าต่อสู้ด้วยสติด้วยปัญญา สัจธรรม อันนี้ยุคทองๆ
แล้วท่านก็ได้ไปอุปัฏฐาก ท่านก็ได้ความเมตตาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอก เวลาท่านลงมาอยู่ทางอีสาน “เจี๊ยะเอ้ย! เจี๊ยะ เจี๊ยะทำจักตอก”
“ผมทำไม่เป็น ผมทำไม่เป็น”
หลวงปู่มั่นบอกว่า “ใครมันจะเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ ไม่หัดมันจะเป็นหรือ ใครมันจะเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ เขาก็มาหัดกันทั้งนั้นน่ะ”
โดยที่นิสัย โดยที่ท่านเป็นคนเข้มแข็ง ท่านเป็นคนมีอำนาจวาสนา แต่มันก็มีปัญญาใช่ไหม มันจะลงกันอย่างไร เราไม่เคยทำ งานอย่างนี้ไม่เคยทำ ถ้าไม่เคยทำนะ ใครจะเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ มันก็ต้องฝึกหัดทั้งนั้น แล้วถ้าเป็นผู้มีปัญญาชนอย่างเรา “เรามาปฏิบัติเว้ย! เรามาประพฤติปฏิบัติ เราจะเอามรรคเอาผล เราไม่ใช่จะมาเอาจักตอก จักตอกนั้นมันเป็นเรื่องงานกิจกรรมของผู้ที่เขามีอาชีพ เขาจะทำจักตอกของเขา เราจะมาปฏิบัติ”
แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม การจักตอกนั้นมันเป็นการจักตอกเพื่อให้เป็นข้อวัตร ให้จิตมันอยู่ เราพุทโธกันเพื่ออะไร มันจักตอก ถ้าจักตอกไม่เป็นมันก็ทำให้สิ่งนั้นบางไม่ได้ มันเหลาไม่ดีมันก็เป็นไปไม่ได้ การทำข้อวัตร การกระทำนั่น นี่ไง คนที่มีปัญญาสอนเขาสอนอย่างนี้ เขาสอนให้มีข้อวัตรปฏิบัติ เขาสอนให้รักษาใจ ถ้ารักษาใจรักษาที่นี่ ถ้ามันรักษาใจได้นะ มันจะดูแลหัวใจของเราขึ้นมา ถ้าหัวใจของเราขึ้นมา มันเป็นคุณธรรมแบบนี้
ถ้าคุณธรรมแบบนี้ขึ้นมา เราไปมองตรงไหนล่ะ เราจะมองว่าพุทโธๆ นั่งสมาธิภาวนามันจะเป็นการภาวนา แต่เวลาที่เขามีกิจกรรมต่างๆ คนที่มีสติมีปัญญา เวลาพระเราขาดสติ เดินไปเดินมาโดยขาดสติ หลวงปู่มั่นบอกเลย “นี่ซากศพมันเดินได้ ซากศพ” ทำไมล่ะ ก็จิตอยู่กับมึงนี่ อยู่ในตัว ทำไมเดินไปเดินมาไม่มีสติเลย ทำไมไม่มีเลย
แล้วการจักตอก การทำไม้เจียนั่นมันคืออะไร นั่นมันคืออะไร แล้วเวลามันเหลือจากนั้นมาให้นั่งสมาธิภาวนา ถ้าภาวนาเสร็จแล้วมันย้อนกลับมาทำเพื่อฝึกสติ มันมีการต่อเนื่อง หัวใจมันต่อเนื่องขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้ามันทำเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่ยุคทองของครูบาอาจารย์ของเราไง ถ้ายุคทองยุคนั้นมันมีสัจจะมีความจริงอย่างนี้ แล้วความจริงมันมาจากไหนล่ะ
ความจริงมันมาจากผู้รู้จริงไง ถ้ารู้จริงความเห็นจริงมันจะเป็นความจริงขึ้นมา แล้วความจริงมันเมตตาธรรมใช่ไหม ดูสิ เวลาเราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมตตาคุณ ปัญญาคุณ วิสุทธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระอรหันต์มีเมตตาไหม แล้วมีเมตตาจะเมตตาแบบพวกเราไหม เมตตาแบบพ่อแม่เมตตาลูก ลูกจะเอาอะไรก็ซื้อให้ๆ จะเมตตาอย่างนั้นไหม ถ้าซื้อให้อย่างนั้นมันก็เข้าทางกิเลสไง ทำให้ลูกเราเสียไง
เมตตาของท่านเมตตาโดยบังคับขู่เข็ญ ตบกิเลสให้มันเข้าทาง ตบเข้ามาทั้งหมด แล้วเราจะแสวงหาครูบาอาจารย์แบบนี้ที่ไหน ครูบาอาจารย์ที่เอาความจริงอย่างนี้สู้กับความจริง เราจะไปแสวงหาที่ไหน เพราะมันไม่มีไง เราถึงระลึกถึงของเรานี่ไง เราระลึกถึงของเรา เวลาเราระลึกถึงของเราเพื่อประโยชน์อะไรล่ะ
เวลาเขาแสวงหากัน เห็นไหม นี่ยุคทอง ยุคทองยุคนั้นมันผ่านไปแล้ว เราอยู่ที่นี่ตอนที่มาสร้างวัดนี่ เวลาหลวงตาท่านจะมาเยี่ยม ท่านเป็นคนเดินนำเราเอง ให้เก็บโน่นเก็บนี่ เพราะหลวงตามา เดี๋ยวหลวงตาเอ็ดเอา ท่านเก็บเอา เก็บโน่นเก็บนี่ เวลาหลวงตามาท่านก็คุยปฏิสันถารกัน เราก็นั่งฟังด้วย เวลาพูดกันสิ่งใดก็แล้วแต่มันจบลงด้วยอะไรล่ะ จบลงด้วยหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านถามปัญหาหลวงตา หลวงตาก็ตอบ แล้วถึงเวลาตอบขึ้นมา แล้วมันจบลงที่ไหนล่ะ มันจบลงที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นว่าอย่างไร
สังเกตได้ไหม เวลาท่านทำสิ่งใด “เจี๊ยะ ท่านก็เคยอยู่กับหลวงปู่มั่นมากับเรา มันก็อยู่มาด้วยกัน มันก็เห็นหลวงปู่มั่นมาด้วยกัน อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาด้วยกัน”หลวงปู่เจี๊ยะท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นสอนอะไรมาล่ะ ท่านสอนอะไรมา เวลาคุยกันมันจะตรงกันไหมล่ะ
เวลามันตรงกันนะ สิ่งที่มันเป็นจริง เพราะอะไร เพราะมันมีคุณธรรมในหัวใจไง ถ้าใจมันมีคุณธรรมมันเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เขาปฏิบัติมันเป็นอุบาย มันเป็นอุบายที่ว่าพ่อแม่สอนลูก มันเป็นอุบายว่า ใครจะมีอุบายมากน้อยขนาดไหน ที่เราสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาให้มันเข้าสู่สัจธรรม ถ้ามันไม่มีอุบายล่ะ มันไม่มีอุบาย เห็นไหม เพราะตัวเองก็มืดบอด แล้วยุคทองก็ผ่านไปแล้ว แล้วผ่านไปแล้วก็ไม่มีใครระลึก ไม่มีใครดูแล แล้วทำอย่างไรให้มันเป็นจริงขึ้นมาล่ะ
ถ้าความเป็นจริงมันเกิดขึ้นนะ มันเป็นความจริง ถ้าความจริงนะ ดูสังเกตได้ไหม ดูสิ เวลาหลวงปู่พรหมขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เวลาไปเห็นหลวงปู่มั่นนะ “แหม! ชื่อเสียงหลวงปู่มั่นคับฟ้า ตัวเล็กๆ” นี่มันคิดขึ้นมาในใจไง หลวงปู่มั่นท่านพูดเลย“อย่ามองคนที่รูปลักษณ์ อย่ามองคนที่ภายนอก จะมองคนได้มองจากภายในไหม ภายในตัวเองมันมีหรือเปล่า” ถ้าภายในมันมี เห็นไหม
เวลาในสมัยพุทธกาลหรือในปัจจุบันนี้มีสิ่งใดเกิดขึ้น เราจะจบลงด้วยพระไตรปิฎกจากธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาครูบาอาจารย์ของเรามีสิ่งใดเกิดขึ้น ถ้ามีคุณธรรมมันจบลงที่สัจธรรม มันจบลงที่หลวงปู่มั่น จะพูดสิ่งใด จะทำสิ่งใด มีความขัดแย้งกัน มันจะจบลงที่นั่น ถ้ามันจบลงที่นั่น เห็นไหม
หลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะ “นี่ไง หลวงปู่บัวท่านกำลังแยกกาย ท่านพิจารณากาย ผู้เฒ่ากำลังพิจารณาของท่านอยู่” ท่านพูดอะไรกันน่ะ นี่คนที่รู้กับคนที่รู้เขาคุยกัน ไอ้คนไม่รู้ฟังไม่รู้เรื่อง ไอ้คนที่รู้เขารู้ เขาคุยอะไรกัน เขาชี้นำอะไรกัน มันมีความจริงอันนั้นไง ถ้าความจริงอันนั้น เห็นไหม มันมีความจริงในใจ
เวลากึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง มันเจริญที่หัวใจนะ มันเจริญที่ความจริงนะ ความจริง ความมุมานะ ความอุตสาหะของเรา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันเป็นความจริง ถ้าความจริงอันนี้ เห็นไหม เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านจะเตือนประจำ “เราเกิดเป็นชาวพุทธนะ อย่าลืมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” ถ้าอย่าลืมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งนี้มันเป็นรัตนตรัย เรามีสิ่งนี้ฝังใจ ชาวพุทธมันมีอย่างนี้เป็นพื้นฐาน
พอพื้นฐานขึ้นมาแล้ว ยุคทองมันผ่านไปแล้ว ต่อไปนี้เป็นยุคพลาสติก มีเกลื่อนไปเลย พลาสติกน่ะจนเป็นขยะ จนเป็นที่ไม่เป็นสิ่งที่ปรารถนาของสังคม สังคมไม่ปรารถนาเลย ใช้แล้วไม่รู้จักคัดแยกขยะ ใช้แล้วก็ทิ้งกันเกลื่อนกลาด จะเอาอย่างนั้นใช่ไหม ถ้าเอาอย่างนั้นเรามาระลึกถึงอะไร
วันนี้เรามาระลึกถึง เราระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา เราระลึกถึงที่ตรงไหน ถ้าระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา ต้องระลึกถึงวิธีการของท่าน วิธีการกว่าจะมาเป็นหลวงปู่เจี๊ยะได้ วิธีการที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านรื้อค้นของท่านขึ้นมา ถ้าจะรื้อค้นของท่านขึ้นมา มันรื้อมาจากไหนล่ะ มันรื้อมา เห็นไหม
ถ้ารื้อค้นขึ้นมา พระไตรปิฎกก็มีอยู่ทั่วไป เวลาการศึกษาใครก็ศึกษาได้ เราศึกษามา ศึกษามานั่นอวิชชาทั้งนั้น มันศึกษามาจากภพ ภวาสวะ จากภพ จากภพไง จากหัวใจไง ภวาสวะ ความคิดไม่ใช่จิต ความคิดเกิดจากจิต แล้วไปเอาความคิดต่างหากไปศึกษาไปค้นคว้า ไปค้นคว้ามา ความคิดมันเกิดจากอะไร เกิดจากจิต จิตมันคืออะไร จิตมันภวาสวะ มันภพ มันอวิชชา มันความไม่รู้ ความไม่รู้แล้วไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
การปริยัติ ปริยัติต้องศึกษา โลกนี้จะเจริญด้วยการศึกษา ศึกษา เห็นไหม โลกนี้เจริญด้วยการศึกษา ด้วยปัญญา ด้วยสติปัญญาของคน สติปัญญาอย่างนี้มันเป็นวิชาชีพ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลกเขา โลกเขาใช้สอยอย่างนี้ มันเป็นวิชาชีพของเขา แล้วเราเอาสิ่งที่เป็นวิชาชีพ แล้วเราบอกเราประพฤติปฏิบัติธรรม มันจะเป็นความจริงของเราไหมล่ะ มันศึกษาไง แล้วบอกการศึกษาไง แล้วบอกว่า “พระป่าไม่มีการศึกษา โง่ๆ เซ่อๆ นั่งหลับตาทั้งวันทั้งคืน”
นั่งหลับตามันนั่งให้จริง นั่งให้ได้ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันนั่งไม่ได้น่ะสิ เวลาทำงานก็บอกว่าทุกข์ว่ายาก เวลาให้นั่งเฉยๆ มันก็ทำไม่เป็น ทำอะไรก็ไม่ได้ ไปทางโลกมันก็ไม่เอา ว่ามันทุกข์มันยาก เวลาจะพ้นจากทุกข์ จะเอาความจริงขึ้นมา มันก็บอกมันทำไม่ได้
สิ่งที่เราศึกษามามันศึกษามาแล้ว หลวงปู่มั่นท่านบอกหลวงตาไว้ “มหา สิ่งที่มหาศึกษามานี่ประเสริฐที่สุด ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทิดใส่ศีรษะไว้ เราจะเคารพบูชา เทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วใส่ลิ้นชักไว้ ใส่กุญแจไว้ อย่าให้มันออกมา แล้วประพฤติปฏิบัติไป ถ้ามันเป็นความจริงมันจะเป็นอันเดียวกัน ถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง มันจะเตะ มันจะถีบกัน”
คนที่ภาวนา ภาวนาไปไม่รอด มันไปไม่รอดเพราะอะไร มันไปไม่รอดเพราะมันรู้ก่อนไง มันรู้โจทย์ทุกอย่างเลย “ปัญญาก็รู้แล้ว ธัมมจักฯ ใครจะไม่รู้ ธรรมะองค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษาหมดแล้ว รู้ทุกอย่าง” แต่ไม่รู้จักตัวเอง
แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าให้พุทโธ ทำความสงบของใจให้เข้ามาก่อน ถ้าใจใครสงบได้ เพราะอวิชชามันสงบตัวลง ถ้าอวิชชาสงบลงตัวไม่ได้ ทำสมาธิไม่ได้ ในปัจจุบันนี้สิ่งที่ว่าทำสมาธิๆ นั้นนั่นคือเผลอ มันเหม่อลอย ความเผลอความเหม่อลอยนั้นเขาบอกว่าเป็นสมาธิ “ว่างๆ ว่างๆ”
อวกาศมันก็ว่าง ลมพัดมามันก็ว่าง แล้วใครเป็นคนว่างล่ะ ใครเขาเป็นเจ้าของความว่างนั้น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่าต้องกำหนดพุทโธให้จิตสงบเข้ามา จิตต้องสงบเข้ามา แล้วถ้าจิตมันไม่สงบเข้ามาล่ะ นี่อยากได้อยากดี
เวลาบอกว่าความอยากๆ เป็นกิเลส แล้วเวลาเราศึกษาแล้วเราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ นี่ความอยากที่เป็นมรรค ความอยากที่เป็นมรรคคือความขยันหมั่นเพียร ทีนี้ความขยันหมั่นเพียรมันก็มีกิเลสมาครอบงำอีก เวลาครอบงำขึ้นมาทำสิ่งใด เห็นไหม เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดบ่อย “เอ็งภาวนากันไม่เท่ากับข้านั่งแค่แป๊บเดียว ไม่เท่ากัน” แล้วเวลานั่งสมาธิไป ท่านจะพูดประจำ “ไอ้นั่งแช่อยู่อย่างนี้ อะไรก็นั่งแช่ นั่งแช่มันจะได้อะไรขึ้นมา” หลวงปู่เจี๊ยะจะพูดประจำ “นั่งแช่กันอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะมีความจริงอะไรขึ้นมาไหมล่ะ”
ถ้ามันเป็นความจริงมันต้องมีสิ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือความปกติของใจ ถ้าเกิดสมาธิขึ้น จิตต้องมีกำลัง ถ้าจิตมีกำลังแล้วพฤติกรรมมันแตกต่างกันไปเลยล่ะ มันแตกต่างนะ โรคภัยไข้เจ็บ เชื้อโรคใครจะเอาเข้าร่างกายเราบ้าง เราเห็นไหมว่าสิ่งที่เป็นเชื้อโรคใครต้องการ อีโบลา มันวิ่งหนีกันหมดเลย ไม่มีใครวิ่งเข้าไปหาอีโบลาเลย แล้วนี่เหมือนกัน ถ้าจิตเราสงบแล้วเราจะรู้เลยว่าที่มันไม่สงบมันเพราะอะไร มันเพราะอะไรล่ะ แล้วเวลาถ้ามันสงบ มันสงบอย่างไรล่ะ
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอน สั่งหลวงตาไว้เลย “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” หลวงปู่มั่นท่านจะนิพพาน หลวงตาท่านดูแลรักษามา เพราะปัญญาท่านยังหมุนติ้วๆ ตลอดเวลา ขึ้นไปหาทีไรก็ลุกขึ้นมาตอบ ตอบเสร็จก็นอนต่อ สุดท้ายแล้วนะ ท่านก็พยายามของท่าน พยายามของท่าน ถึงที่สุดแล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้ว แล้วมาระลึกถึง ไปนั่งอยู่ที่ปลายเท้า นั่งร้องไห้ นั่งร้องไห้อยู่นั่นน่ะ “ใจนี้มันดื้อนัก”
เห็นไหม คนที่จะประพฤติปฏิบัติที่มีหลัก มีสัจจะ มีความจริง มันจะเข้มแข็ง ความเข้มแข็งมันได้สร้างสมมา พันธุกรรมของจิต จิตนี้ได้สร้างสมพันธุกรรมของเขามา เขาจะมีบารมี คนที่เขามีบารมีถ้าไม่มีเหตุผลเหนือนั้น มันไม่ลง มันฟังใครไม่ได้ มันฟังใครไม่ได้หรอก มันจะต้องฟังธรรมที่มีเหตุมีผลเหนือกับใจดวงนั้น ฉะนั้น เวลาศึกษามาๆ ก็ฟังแต่เฉพาะหลวงปู่มั่นองค์เดียว เวลาไปศึกษากับใคร เวลาเขาสั่งสอนมา “ความรู้เท่านี้หรือจะมาสอนเรา” ท่านคิดขึ้นมาในใจนะ เพราะอะไร เพราะเราได้ปฏิบัติมาแล้ว เราได้ผ่านเหตุผ่านผลมาสมควร แล้วเขามาพูดโดยที่ไม่มีเหตุมีผลมันจะเป็นไปได้อย่างไรล่ะ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม
แต่ถ้าคนเป็นไปได้ล่ะ หลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านสอนเพราะอะไรล่ะ ท่านสอนเพราะท่านก็ล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ยุคทองของหลวงปู่มั่นท่านก็ล้มลุกคลุกคลานมา เวลาทำจิตสงบเข้าไปแล้ว พิจารณากายแล้วออกมามันก็ปกติ ทำไมเป็นแบบนั้น พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า “อ้อ! เราเคยปรารถนาพุทธภูมิไว้” ท่านถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบเข้าไปถึงฐานแล้วไปลากันตอนนั้น
“ปรารถนาพุทธภูมิต่อเนื่องไป มันก็จะไปเป็นพระอรหันต์เอาข้างหน้า เป็นพระพุทธเจ้า เป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ ในปัจจุบันนี้ถ้าขวนขวายประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา ถ้าสิ้นกิเลสมันก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ถ้ามันจะเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เราทำไมต้องสมบุกสมบันไปเป็นพระอรหันต์ในอนาคต”
นี่เหตุผลของหลวงปู่มั่น ท่านถึงลาของท่าน
พอลาของท่านแล้วท่านก็กลับมาพิจารณาทำความสงบของใจเข้ามา พอไปพิจารณากาย เห็นไหม พิจารณากายพอมันปล่อย เพราะอะไร นั่นน่ะพอมันลาแล้วมันจะเข้าสู่อริยสัจ มันจะเข้าสู่มรรค ถ้าไม่ลาพระโพธิสัตว์ ได้แต่ฌานโลกีย์ พระโพธิสัตว์เข้าอริยมรรคไม่ได้ ถ้าเข้าอริยมรรคได้ เข้าไปถ้ามันเกิดพิจารณาไปตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นจริงนะ แต่มันเป็นจริงไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเป็นจริง มันไปถอนสังโยชน์ ถ้าสังโยชน์ขาดไป พระโสดาบันอีก ๗ ชาติเท่านั้น แล้วพระโพธิสัตว์มันไม่มีต้นไม่มีปลาย ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันขัดแย้งกัน มันไปกันไม่ได้ มันจะเป็นความจริงของมัน
ถ้าเป็นความจริงของมัน เห็นไหม มันจะเข้าได้ฌานโลกีย์ แล้วพระโพธิสัตว์ที่มีอำนาจวาสนาบารมีเขาใช้จิตพิจารณาอย่างใดมันจะชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ที่เพิ่งพยายามปรารถนา ทำสิ่งใดมันก็อนิจจัง ผิดๆ ถูกๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ท่านไปลาของท่าน แล้วเวลาปัญญามันเกิดขึ้น มันหมุนเข้าไป มันเกิดอริยสัจ มันเกิดสัจจะ พอเกิดสัจจะ มันไปแยกของมัน เวลามันปล่อย พอปล่อยออกมา เอ้อ! มันต้องอย่างนี้สิ
มันมีความแตกต่าง เห็นไหม มีความแตกต่างกว่าพิจารณากายโดยสถานะของพระโพธิสัตว์ แล้วเวลาลาพระโพธิสัตว์แล้วมาพิจารณากายด้วยกำลังของมรรค มันมีความแตกต่าง นี่ไง เพราะครูบาอาจารย์ท่านมีมรรคมีผลของท่าน ท่านถึงสามารถสอนได้ ท่านถึงสามารถเอาหัวใจของครูบาอาจารย์ของเราที่ยุคทองมีแต่สร้างสมสร้างบุญญาธิการมาทั้งนั้น ถ้าไม่สร้างสมสร้างบุญญาธิการมา มันจะไม่มีกำลังพอ มันไม่สามารถยืนจิตดวงนี้เพื่อความสงบของใจเข้ามา เพื่อยกเข้าสู่มรรค แล้วเข้าไปพิจารณาแยกแยะให้มันเป็นความสมดุล
ความสมดุลคือมรรคสามัคคี ความสมดุลที่ว่าทางสายกลางๆ สายกลางตอนนี้ก็เอามาอ้างอิงกันไง ทางสายกลาง สายกลางของกิเลส ถ้าพอใจก็กลาง ถ้าไม่พอใจก็ไม่กลาง แล้วมันกลางตรงไหนล่ะ กลางก็ซ้ายขวาแล้วแบ่งตรงกลางใช่ไหม เอาตลับเมตรวัดใช่ไหม ตรงกลางแค่นี้ใช่ไหม แล้วมันกลางของใครน่ะ กิเลสคนไม่เหมือนกัน กิเลสหยาบ กิเลสหนา กิเลสบางแตกต่างกัน ความแตกต่างกัน คนเป็นโรคแตกต่างกัน ยารักษาต้องแตกต่างกัน คนเราโรคแตกต่างกัน แต่ใช้ยาโดยที่ว่าเป็นยาสูตรสำเร็จมา แก้กิเลสไม่ได้
นี้เพราะหลวงปู่มั่นท่านได้ประพฤติปฏิบัติของท่านมา คนเรามันปฏิบัติมา มันได้เห็นกิเลสมา มันได้ต่อสู้กับกิเลสมา มันได้ชำระกิเลสมา แล้วลูกศิษย์ลูกหายุคทองที่พยายามรื้อสัตว์ขนสัตว์ ยุคทอง เห็นไหม นี่วางไว้ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดนะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าเอง เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกนะ “จำชื่อหลวงปู่ขาวไว้นะ จำชื่อหลวงปู่ขาวไว้นะ” เวลารุ่นสุดท้ายหลวงมั่นท่านพูด “จำชื่อมหาไว้นะ มหาดีทั้งนอกและดีทั้งใน”
นอก นอกคือข้อวัตรปฏิบัติ นอกคือความเป็นอยู่ของสังคม ในคือหัวใจ ถ้าในไม่มี มันจะสอนอะไร คนตาบอดจูงคนตาดีไม่ได้ คนตาบอดไม่สามารถจูงคนตาดีไปได้ คนจะจูงคนมันต้องตาดี มันต้องมีตามันถึงจะจูงคนทั้งตาดีและตาบอดไปด้วย ตาดีตาใส บอดตาใส ศึกษามาเท่าไรว่ามันรู้ๆ นี่ไอ้บอดตาใส แต่ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นจริงขึ้นมา เวลาจะกลับนะ เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม สิ่งที่ศึกษามาเทิดใส่ศีรษะไว้ ปริยัติไม่ได้ดูถูกเหยียดหยาม ปริยัติมีการศึกษา แต่ศึกษาแล้วกิเลสมันบังเงา กิเลสมันอ้างอิงว่ามันรู้ กิเลสมันบังเงาแล้วมันสร้างภาพ
ที่ว่างๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้เผอเรอทั้งนั้น มิจฉาสมาธิ ว่าไม่ใช่สมาธิ มันก็กำหนดพุทโธ มันก็พยายามจะทำของมันเหมือนกัน แต่มันทำแล้วมันขาดสติ พอขาดสติมันเหมือนว่าวเชือกขาด มันเวิ้งว้างไป มันถึงควบคุมสิ่งใดกันไม่ได้ ยกขึ้นเป็นมรรคไม่ได้หรอก เพราะมันไม่ใช่สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นถ้าให้ค่าก็เป็นมิจฉา บอกเป็นมิจฉาก็ไม่ยอมอีก อยากจะได้เป็นสัมมา สัมมามันมีสติตรงไหน
พุทโธๆๆ นี่นะ ทำพุทโธสติมันพร้อมตลอด พุทโธๆๆ มันจะละเอียดขนาดไหนมันก็รู้ จะเข้าขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะมีสติตามมาตลอด แล้วคนที่เวลาพุทโธๆ ไป ถ้ามันมีอำนาจวาสนาที่มันมีจริตนิสัย เวลามันวูบลงมันวูบอย่างไร วูบแล้วมันไปไหน วูบลงแล้วมันไปจบลงตรงไหน ถ้าจบแล้วมันเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ ถ้าวูบไปแล้ว วูบแล้วมันเด้งออกมา วูบแล้วมันไม่ลงมันเป็นอย่างใด
นี่ไง เพราะหลวงปู่มั่นท่านได้ประสบการณ์ของท่าน ท่านได้ทำของท่านมา ท่านถึงมีปัญญาที่จะรื้อค้น มีปัญญาที่เป็นยุคทองไง ยุคทองที่ครูบาอาจารย์ของเราท่านพยายามขึ้นไปหาท่าน หาหลวงปู่มั่นๆ หาหลวงปู่มั่นก็เพื่อความจริงในหัวใจของเรา ทั้งที่ว่ามันฝืนกับชีวิตประจำวัน มันฝืนกับสิ่งที่เคยชิน มันฝืนไปทุกๆ อย่างเลย แล้วไม่ไปก็ได้ด้วย เพราะพ่อแม่ก็ไม่อยากให้ไป ใครก็ไม่อยากให้ไป แต่ในเมื่อคุณธรรม ธรรมมันมีค่ากว่า
สิ่งที่มันมีคุณธรรม เห็นไหม เวลาปฏิบัติขึ้นไปเป็นสมาธิ เวลาสมาธิมันใช้ปัญญาไปแล้วมันก้าวเดินไป มันมีคุณค่ากว่า แล้วเวลามันถอดมันถอนไป คุณค่าอันนั้นใครจะรู้กับเราด้วย ไม่มีใครรู้กับเราได้หรอก แล้วเราก็พูดให้ใครฟังไม่ได้ด้วย เพราะมันไม่รู้ พูดให้มันฟังมันจะรู้ได้อย่างไร คนไม่รู้พูดอย่างไรมันก็ไม่รู้ แล้วไม่จำเป็นต้องพูดให้มันรู้ด้วย เพราะมันไม่มีทางจะรู้ได้ มันไม่มีทางจะรู้ได้
มันจะรู้ได้ต่อเมื่อมันปฏิบัติ มันจะรู้ได้ต่อเมื่อถ้าจิตมันสงบ แล้วถ้าจิตไม่สงบ เวลามันผิดมามันก็ต้องรู้ว่าผิด เวลามันจะเข้าสู่ความจริงมันก็รู้ว่าเข้าสู่ความจริง เพราะมันมีสติ มันต้องมีสติ มันต้องมีการควบคุมของมันไป ถ้ามีสติเข้ามา มีสติเข้ามา พอมีสติเข้ามา มันเป็นสมาธิขึ้นมามันก็มีความสุข มีความสุขนะ แล้วถ้ามันเสื่อม เวลาสมาธิมันเสื่อม มันเสื่อมเพราะอะไรล่ะ
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเป็นสมาธิก็พุทโธมา ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เรามีเหตุผล มีเหตุมีสติมีปัญญาควบคุมดูแลเข้ามามันถึงสงบเข้ามา มันไม่มีสงบมาโดยอัตโนมัติ มันไม่มีสงบมาโดยใครยื่นให้ มันไม่มีทางสงบมาโดยที่มันจะเป็นไปเอง มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ถ้าสิ่งที่เป็นจริง เห็นไหม เป็นจริงมันต้องมีสติต้องมีปัญญา มีสติมีปัญญามันพิจารณาของมันเข้ามา ถ้ามันสงบมีสติปัญญาเข้ามาพร้อม พุทโธๆๆ ถ้ามันจะละเอียดขึ้นมา แต่นี้พอมันจะละเอียดเข้ามา มันมีกิเลสต่อต้าน
คนเราเวลาเกิดมันมีอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้แม้แต่ตัวเอง ไม่รู้แม้แต่ความคิด เวลาความคิดเกิดขึ้นก็นึกว่าเป็นเรา ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา ความคิดมันเกิดจากจิต ความคิดมันเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อารมณ์มันพร้อม มันรวมกันแล้วมันถึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกออกไป แล้วมันเกิดที่ไหนล่ะ
ลมพัด พายุมันพัดไปมา มันทำลาย ทำลายต้นไม้ ทำลายบ้านเรือนของคนไปตลอดเลย มันมีชีวิตไหม มันได้ทำลายเขา มันมีบาปมีกรรมไหม แล้วเวลาอารมณ์ความรู้สึกเราเกิดขึ้นมาจากจิต มันมีความรู้สึก มันสั่นไหวหัวใจ มันคลอนหัวใจ มันทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วก็เอาสิ่งนี้ไปศึกษาธรรมะ พอศึกษาธรรมะขึ้นมาก็วัฒนธรรมไง ศึกษาธรรมะขึ้นมามันมีเหตุมีผลใช่ไหม เราศึกษาด้วยวิชาชีพ ศึกษาด้วยโลกียปัญญา ศึกษามาแล้วมันก็มีวัฒนธรรม
สิ่งนี้เป็นกิเลส สิ่งนี้เป็นธรรม เราก็แยกให้เสร็จเลย ถ้ามีอารมณ์ความคิดอย่างนี้เป็นกิเลส ถ้ามีอารมณ์ความคิดอย่างนี้เป็นธรรม แล้วมันเป็นจริงไหม
แต่ถ้าเรามีสติ สติๆ หลวงตาบอกว่า “การปฏิบัติถ้ามีสตินั้นจะเป็นความเพียร ขาดสติแล้วไม่ใช่ความเพียร สักแต่ว่าทำ” ขอนไม้ ก้อนหิน ขอนไม้ก้อนหินมันไม่มีชีวิตจิตใจ มันไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ชีวิต จิตเรามี ธาตุรู้เป็นธาตุที่มีชีวิต นี่สสารที่มีชีวิต สันตติเกิดดับตลอด แล้วไม่เคยตาย เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะโดยที่เจ้าของตัวเองก็ไม่รู้ ไม่มีความรู้เลย แต่เพราะเรามีความเชื่อ หลวงปู่เจี๊ยะท่านฝังไว้ในหัวพวกเรา ให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ในใจ เป็นชาวพุทธต้องทำทาน ต้องมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ อยู่ในใจเพื่ออะไรล่ะ อยู่ในใจก็สร้างบุญกุศล นี่ไง สิ่งที่เวียนว่ายตายเกิด แรงขับของมัน แรงขับของบุญ
การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก แต่การได้การเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาตินี้มันเกิดมาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากมนุษยสมบัติของเราสร้างมา ถ้าเราไม่ได้สร้างมนุษยสมบัติมา เราจะมาเกิดนั่งกันอยู่นี่ไหม ดูสิ เป็ด ไก่ ๔๕ วัน เชือด ๔๕ วัน เชือด เชือดตลอด นั่นก็จิตหนึ่ง นี่ไง อบายภูมิไง
จิตนี้ไม่เคยตาย มันจะเวียนว่ายตายเกิดของมันอยู่อย่างนี้ แต่เพราะมนุษยสมบัติเราถึงได้เกิดมาเป็นคน ถ้าได้เกิดมาเป็นคน คนมันมีอะไรล่ะ คนมันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ใช่ไหม ถ้ามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เราศึกษานี่วัฒนธรรม เราศึกษาวัฒนธรรมนะ
เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อิทปฺปจฺจยตา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ อันนั้นมันเป็นพุทธวิสัย ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า ใครมันจะรู้อวิชชาปัจจยาการอย่างนั้น ปัจจยาการอย่างนั้น หลวงตาเวลาเขาบอกว่ามันเป็นปัจจยาการ “ไม่ดูๆ” เพราะความจริงมันรวดเร็วกว่านั้น ความจริงไม่มีใครทันมัน ความคิดของเรา เรายังไม่ทันความคิดเราเลย แล้วอิทปฺปจฺจยตา มันเป็นความคิดอันละเอียด มันเป็นนามธรรมล้วนๆ แล้วใครจะไปรู้ไปเห็นมัน พุทโธยังพุทโธไม่เป็นเลย พุทโธไม่เป็น เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราไม่ได้ๆ
นี่ยุคทองๆ ยุคทองของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น สั่งหลวงตาไว้ “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ห้ามทิ้งเด็ดขาด” แล้วเราก็บอกไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ “ไอ้สมถะ ไอ้หลับตาทั้งวันทั้งคืนมันจะเอาปัญญามาจากไหน” ถ้ามันจะเกิดปัญญา ปัญญาในความปรารถนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านต้องการภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ถ้าปัญญาเกิดจากการภาวนา มันจะรื้อค้นถอดถอนอวิชชาในหัวใจ
เพราะปัญญาที่มันคิดกันอยู่นี่ แล้วบอก “แนวทางสติปัฏฐาน ๔ แนวทางอริยสัจ ๔” กูก็ท่องได้ กูท่องได้ดีกว่ามึงอีก แล้วท่องมาทำไม เขาศึกษามา ศึกษาเป็นแนวทางให้ปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติขึ้นมาแล้วให้มันเป็นความจริงขึ้นมา เอาความจริงอันนั้นมาพูดกัน เอาความจริงอันนั้นมาพูดกัน
ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านมาเยี่ยมหลวงปู่เจี๊ยะที่นี่ ท่านจะคุยกันเรื่องนี้เยอะ หลวงปู่เจี๊ยะจะเป็นคนถามปัญหา แล้วหลวงตาก็จะเป็นคนตอบ แล้วเราก็นั่งฟังอยู่ตลอดเวลา เวลาเราฟังครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกันน่ะ เราจะฟังแบบนิ่งๆ คือเก็บอย่างเดียว ช้างสารจะชนกัน พระอรหันต์กับพระอรหันต์ท่านคุยกัน พวกเราเนี่ยนะ ไอ้หญ้าแพรก อย่าสะเออะ แต่ฟังเก็บไว้ ฟังเก็บไว้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะถามหลวงตาเกี่ยวกับความเป็นไปของคณะสงฆ์เรา กรรมฐานเรา “ทำไมเป็นอย่างนั้น ท่านอาจารย์ ทำไมเป็นอย่างนั้น”
“ก็มันเป็นอย่างนี้ๆๆ เพราะมันเป็นอย่างนี้ๆๆ”
เราพูดอย่างนี้ขึ้นมาเพราะอะไร เราพูดอย่างนี้มา คนหนึ่งรู้ คนหนึ่งไม่รู้ จะคุยกันได้ไหม คนหนึ่งตาดีกับคนหนึ่งตาบอด มันจะคุยกันรู้เรื่องไหม คนตาดีเขาคุยกับคนตาดี คนตาบอดต้องให้มันไปคุยกับคนตาบอด ถ้าคนตาดีมันมีคุณธรรมไง มันมีหัวใจที่เป็นธรรมไง หัวใจที่เป็นธรรมมันทำมาจากไหน ถ้ามันไม่มีมรรคมีผลมันทำมาจากไหน แล้วมรรคผลมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็น เกิดเฉพาะจิตดวงนั้น มันเกิดเผื่อแผ่คนอื่นไม่ได้ มันจะเป็นจิต มันจะเป็นความจริงขึ้นมาจากใจดวงนั้น ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาจากใจดวงนั้น แล้วใครทำล่ะ?
ยุคทองนะ เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกว่าไปบิณฑบาตมาแล้วได้มา ได้แจ่วมานิดหนึ่ง พระเณร ๗ - ๘ องค์ มันไม่พอกินกัน ใส่กะลา เอาน้ำใส่เยอะๆ คนๆๆ แล้วตักแจกคนละช้อน กินพอเป็นขี้ กินพอเป็นขี้ นี่พูดอย่างนี้มันไม่ใช่ว่าเอามาดูถูกเหยียดหยามทั้งสิ้นนะ พูดอย่างนี้พูดแบบคนที่มีธรรม คนที่มีธรรมในหัวใจที่เป็นธรรมมันประเสริฐ มันมีคุณค่า ไอ้ของปัจจัยเครื่องอาศัยมันไร้สาระ สัตว์มันก็มี สัตว์มันก็มีอาหาร สัตว์มันก็มีทุกอย่าง แล้วเรา เราเป็นผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติ เราเอาเรื่องอย่างนี้มาเป็นธงนำ นี่ยุคพลาสติกไง
ของถ้ามันมีมันก็คือมี ไม่ใช่ว่าของมันมีแล้วทุบทิ้ง ว่าฉันไม่เอา เขาว่าทุกข์นิยมๆ ไง ทุกข์นิยมมันเป็นสัจจะมันเป็นความจริงนะ คนที่มีอำนาจวาสนา สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็รู้จักบริหารจัดการมัน ปฏิสงฺขา โยฯ ฉันพอดำรงชีวิต ฉันเพื่อดำรงชีวิต เอาชีวิตไว้ประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เหลือนี้เผื่อแผ่หมู่คณะ
หลวงปู่เจี๊ยะท่านอยู่เมืองจันท์ พ่อแม่เลี้ยงดู กุ้งหอยปูปลาทั้งนั้น เวลาขึ้นไปอยู่ภาคเหนือ “ไอ้หงบ ความลับ กินข้าวกับกล้วย” เวลาท่านมาอยู่ที่นี่ เราอยู่กับท่าน ท่านบอกเราเอง “เวลามีกุ้งมา น้ำตาไหลทุกที คิดถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่ได้เคยกินอาหารแบบนี้” หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ รักอาจารย์ ท่านไม่เคยได้กินกุ้งเผา กุ้งใหญ่ กุ้งอย่างนี้ หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยกิน นี้คำพูดหลวงปู่เจี๊ยะ เวลามีอาหาร มีสิ่งใดที่เป็นความปรนเปรอกิเลส ท่านน้ำตาร่วงน้ำตาไหลเลย พูดกับเรา เราก็ถามว่าเพราะเหตุใด
“หลวงปู่มั่นไม่เคยเจออย่างนี้”
ถ้าหลวงปู่มั่นไม่เคยเจออย่างนี้ แสดงว่าหลวงปู่มั่นไม่มีวาสนาแบบพวกเราใช่ไหม หลวงปู่มั่นไม่มีวาสนากินกุ้งเนาะ พวกเรามีวาสนากินกุ้ง กินขี้
หลวงปู่มั่นท่านกินธรรม นี่ยุคทอง ถ้ายุคทองเขาทำกันอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ ท่านรู้ว่าสิ่งนั้นมันไปเสริมกิเลส สิ่งนั้นทำให้กิเลสมันฟูขึ้น แล้วพวกเราพยายามบอกว่า เราเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เจี๊ยะ เราเคารพหลวงปู่เจี๊ยะ เราอยากมีคุณธรรม
เราเคารพท่านนะ เพราะเราเคารพท่าน เราถึงระลึกถึงท่าน เพราะท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่น่าเคารพ น่าเคารพในหัวใจ น่าเคารพในธรรม แต่เรามองกันที่เปลือกนอกไง เปลือกนอกมันอยู่ที่อำนาจวาสนา ถ้าเปลือกนอก ถ้าในใจท่านไม่เป็นจริง ทำไมเวลาหลวงตาท่านพูด เวลามีปัญหาขึ้นมา “เราก็อยู่กับหลวงปู่มั่นมาด้วยกัน” แล้วเวลามีปัญหา เวลาคุยกัน มันรู้กันได้อย่างไร สิ่งที่มันรู้กันนะ แล้วเราปฏิบัติสิ เราปฏิบัติ เราติดข้องสิ่งใด ถามท่าน
หมอถ้ามันให้ยาได้แสดงว่าหมอนั้นถูก หมอถ้ามันให้ยาไม่ได้ หมอเถื่อน หมอเถื่อนมันจะให้ยา มันก็ให้ยาเราผิดๆ พลาดๆ เราทำสิ่งใดขึ้นมา ร่างกายมันฟื้นฟูขึ้นมาดีแล้วล่ะ มันจะหาย มันก็เอาเชื้อโรคแปะเข้าไปให้ติดเชื้อเข้าไปอีก ต้องการให้เราปฏิบัติไปไม่ได้ นี่เวลาหมอเถื่อนมันทำกันอย่างนั้นน่ะ
เวลาถ้าหมอจริง เห็นไหม นี่ไง เราถึงระลึกถึงท่านไง เราระลึกถึงท่านเพราะว่าท่านให้ยาถูก ท่านให้ยาได้ ท่านบอกเราได้ ท่านบอกเราได้ ถ้าท่านไม่มีจริง ท่านจะเอาอะไรมาบอกเรา สิ่งที่บอกเรา เห็นไหม ในหัวใจนั้น แต่สิ่งที่ท่านได้มาสิ เวลาที่นี่ เวลาพระมาเยอะๆ ท่านจะพูดบ่อย “มาทำไม ทำไมไม่เข้าป่าไป พระอัดกันเป็นปลากระป๋อง” ฟังคำอย่างนี้มันรู้เลย เพราะหนึ่ง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ต้องการให้ใครมาสรรเสริญเยินยอ ไม่ต้องการสร้างสถานะ ไม่ต้องการสร้างรากฐาน
รากฐานให้มันเกิดกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้น ใจนักปฏิบัติ ถ้าใจของมัน มันสร้างรากฐานขึ้นมาได้ ยุคทอง ให้มันสร้างคุณธรรมขึ้นมาในใจดวงนั้น ถ้าสร้างคุณธรรมขึ้นมาในใจดวงนั้นมันเป็นศาสนทายาท ศาสนทายาทมันจะเป็นหลักชัยของศาสนา ศาสนาจะมีที่พึ่ง เพราะมันมีหมอขึ้นมาเพื่อจะให้ยาต่อเนื่องกันไป ถ้าให้ยาต่อเนื่องกันไป มันจะเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ยุคทองนะ ยุคทองเพราะว่าผู้นำมีจริง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เราก็ภูมิใจกัน ภูมิใจกันว่าศาสนาเจริญ มีคนบวชคนเรียน คนเข้ามาศึกษาเยอะ แต่ในความหมายของครูบาอาจารย์เรามันเจริญ มันต้องเจริญในหัวใจ ถ้าใจมันเจริญ เห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาเข้าถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นอันเดียวกันเลย
เวลาพระสารีบุตรจะปรินิพพาน เวลาไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
“เธอจงสมควรแก่ของเวลาของเธอเถิด”
สมควรแก่เวลา การเกิดและการตาย พระอรหันต์กับพระอรหันต์เขาคุยกันได้ การเกิดและการตายมีค่าเท่ากัน มันไม่มีอะไรสั่นไหวใจดวงนั้นได้หรอก มันไม่มีอะไรสั่นไหวหัวใจดวงนั้นให้มันสะเทือนขึ้นมาได้หรอก ถ้ามันไม่มีอะไรสั่นไหวแล้วมันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น นี่ก็สมควรแก่เวลาไง เวลาที่มันเป็นอย่างนั้นก็ให้มันเป็นจริงของมันไป เพราะคนสร้างบุญสร้างกรรมมา มันแตกต่างหลากหลายกันไป ถ้ามันแตกต่างหลากหลายกันไป มันเป็นความจริงอันนั้น แต่มันปฏิบัติเป็นจริงขึ้นมาได้ไหมล่ะ
ถ้าเราปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมาได้ ถ้าเราระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา ท่านไม่ใช่คนที่ไม่มีอำนาจวาสนา แต่ท่านใช้ข้อวัตรปฏิบัติควบคุมหัวใจของท่าน ท่านใช้สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติเพื่อดัดแปลงตน การดัดแปลงตนคือดัดแปลงกิเลสกิเลสอวิชชาความไม่รู้มันเป็นอนุสัย มันก็ออกมาจากจิต คิดอะไรกิเลสมันแบ่งครึ่ง มันกินไปครึ่งหนึ่ง แล้วเราก็คิดครึ่งหนึ่ง ถ้าเราจะหยุดมัน เราก็หยุดความคิด หยุดความคิดจะหยุดได้อย่างไร หยุดความคิดแล้วมันไม่คิดอีกเลยหรือ
การหยุดความคิดก็ต้องใช้ความคิด การเอาความคิดไปหยุดความคิด พุทโธก็เป็นความคิด ถ้าหยุดความคิดได้ พอหยุดความคิดได้ เพราะหยุดใช่ไหม หยุดด้วยสติปัญญา ถ้ามันจะออกมา มันจะออกมาโดยธรรมชาติของมัน แต่เรามีสติมีปัญญา ถ้ามีสติมีปัญญา เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตโดยธรรมชาติของมัน มันก็เสวยอยู่อย่างนี้ โดยธรรมชาติของมัน ความคิดต้องเกิดอยู่อย่างนี้ แต่ไม่มีใครรู้ใครเห็นต้นกำเนิดของความคิด ความคิดมันคิดมาจากไหน มันคิดมาจากท้องพ่อท้องแม่หรือ มันคิดมาจากไหน ความคิดนี้
ความคิดมันก็เกิดจากจิต เกิดจากจิตมันก็เป็นเราไง เราคิดก็ไม่เป็นไรไง เพราะเราคิดมันเป็นมรรค เพราะมีความอยาก เราอยากทำคุณงามความดี มันก็เป็นธรรมดาธรรมชาติ เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ มันคิดมามันมีอวิชชาออกมา เราใช้พุทโธๆ จนจิตมันสงบได้ จิตมันสงบได้ พอจิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วมันก็เห็นต่างแล้วล่ะ ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเห็นต่างจากที่ว่าว่างๆ ว่างๆ นั่นน่ะ ว่างๆ นั่นมันเผอเรอ ไอ้เผอไอ้เรอ ไอ้ใช้ปัญญาไปก็สตัฟฟ์จิตไว้เลย รู้ตัวทั่วพร้อม มันสตัฟฟ์ไว้เลย จิตสตัฟฟ์มันเกิดปัญญาได้ไหม
แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิล่ะ สัมมาสมาธิ จิตเห็นอาการของจิต เห็นคือเห็นอะไร เห็นมันคือเห็นอะไร จิตเห็นอาการของจิต เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก ถ้าจิตสงบมันเป็นธรรม เป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าใจไม่สงบมันเป็นมาร มันเป็นมาร มันเป็นสิ่งที่ครอบงำหัวใจทั้งนั้น
แต่ถ้าจิตมันสงบนะ เพราะจิตมันสงบมันถึงรู้ถึงเห็นไง นี่ไง ถ้าจิตมันสงบแล้วยกขึ้นสู่ จิตสงบแล้วเป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน คนจะทำงาน ไม่มีงานให้ทำ เวลาไปทำงานกันเป็นงานรับใช้กิเลสไง กิเลสมันสั่งอย่างไร มันทำอย่างไร ทำตามมันหมดเลย กิเลสมันจะชักจูงอย่างไร ทำตามมันหมดเลย นั่งสมาธิอย่างนี้ นอนหลับอย่างนี้ ตื่นขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ เวลานั่งไป พระอรหันต์มันจะเป็นมงกุฎมาสวมใส่หัว นั่งไปพอรู้เห็นอย่างนี้ๆ ปฏิบัติอย่างนี้เป็นความจริง กิเลสมันจูงไปหมดเลยน่ะ
พุทโธๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบแล้วเห็นอาการของจิต หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของการส่งออกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด” นี่คนเป็นพูดมันถูกหมด คนไม่เป็นมันพูด “ห้ามคิดๆๆ” แล้วห้ามคิดอะไร ห้ามคิดก็ขอนไม้ไง เอ็งวางยาสลบกูสิ กูจะได้ไม่คิด มันเป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบมันมีสติ มันเกิดจากสติ เกิดจากคำบริกรรม พอมันสงบเข้ามา มันสงบโดยมันคาย คายสิ่งที่มันเสวยจนมันเป็นตัวมันเองโดยอิสระ เวลามันเสวย มันเสวยอารมณ์ มันเสวยความคิด ความคิดจรมามันเสวย
หลวงตาบอกว่า “จิตนี้หิวโหยนัก สิ่งใดผ่านมามันตะปบหมด จิตนี้เหมือนยางเหนียว สิ่งใดมามันแปะหมด” แต่พุทโธๆๆ ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันตั้งมั่น มันไม่ใช่ยางเหนียว มันอิ่มเต็มของมัน ถ้าอิ่มเต็มของมัน คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาจิตสงบแล้วคิดว่านิพพาน เพราะทำความสงบนี้แสนยาก การประพฤติปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานมาตลอด มันไม่เคยตั้งมั่นเสียที มันไม่เคยสงบระงับตามความเป็นจริงเสียที มีก็เร่ๆ ร่อนๆ เร่ๆ ร่อนๆ ก็ยุคพลาสติกๆ ไง เวลาปฏิบัติก็ต้องมีคนนับหน้าถือตา เวลาปฏิบัติแล้วก็ต้องมีคนอุปัฏฐาก นั่นกิเลสทั้งนั้น
เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้เลย ห้ามคลุกคลี อย่าคลุกคลี อย่ามั่วสุม อย่าพูดสักแต่พูด ทำปฏิบัติแล้วก็มัวแต่โม้ แล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นจริงล่ะ เขาห้ามคลุกคลีอยู่แล้วโดยหลักโดยเกณฑ์ ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันสงบเข้ามาแล้วมีสติ แล้วเห็นเลย แต่เห็นแล้วนะ เดี๋ยวมันก็คลายออก เพราะว่ากิเลสมันดัน การปฏิบัติมันมีปัญหาตัวเดียวเท่านั้น คือกิเลสคือมารของเรา แล้วมารของคนอื่นก็ไม่เกี่ยวด้วย มารของคนอื่นก็มีแต่ทำให้เราเดือดร้อน ทำให้เราฟุ้งซ่าน ทำให้เราไม่พอใจทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้วมันก็คือมารของเราทั้งนั้น
พุทโธๆๆ มันเริ่มควบคุมได้ มันก็แค่ปล่อยเข้ามาก็ขณิกะ มันก็ว่างๆ แล้วมีสติพร้อม ดูแลได้พร้อม แล้วก็บอกว่า “พุทโธไม่ได้แล้ว” พุทโธไม่ได้เพราะอะไร“เพราะจิตมันละเอียดแล้ว” นี่ไง มารมันก็สวมเขาอีกทีหนึ่ง บอกว่าพุทโธไม่ได้แล้ว แล้วก็คาอยู่อย่างนั้นน่ะ “มันว่างๆ ว่างๆ ทำอย่างไรต่อ” ทำไมมึงไม่พุทโธต่อล่ะ เพราะมันยังว่างไม่สุดกระบวนการของความว่างไง มันยังเข้าไปไม่สุดของความว่าง พุทโธต่อเนื่องได้ แต่มันขี้เกียจ มันโดนกิเลสครอบงำ มันโดนกิเลสผลักไส มันไม่มีสติปัญญา มันไม่มีอำนาจวาสนา มันก็ได้แค่นี้
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านกระตุ้น ท่านกระตุ้นตลอด ครูบา-อาจารย์ของเราท่านคอยกระตุ้น เพราะครูบาอาจารย์ของเราต้องล้มลุกคลุกคลานมาก่อน คนจิตไม่เจริญไม่มีอาการเสื่อม จิตเจริญแล้วเสื่อม เวลาเสื่อมแล้วมันทุกข์ยากขนาดไหน
ฉะนั้น ถ้าใครทำ มันก็จะเป็นแบบเรานี่ ขิปปาภิญญาเท่านั้นที่ตรัสรู้ง่าย ที่บรรลุธรรมได้ง่าย แล้วขิปปาภิญญาเขาต้องสร้างอำนาจวาสนาบารมีมามากกว่าเราเยอะ ถ้ามากกว่าเรา เขาจะไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ หรอก ไอ้อย่างพวกเรา ใครเอาอะไรมาล่อก็ไปหมด แล้วอย่างนี้คือเราจะทำขิปปาภิญญา เอาใจของตัวไว้ในอำนาจของตัวเอง ทำสงบได้ก็นับว่าเก่งแล้ว แล้วถ้าเก่ง ถ้ามันมีสติมีปัญญา ไอ้ที่พุทโธๆ มาแล้วมันละเอียด มันพุทโธไม่ได้ ลองพุทโธดูสิ มันต่อเนื่องได้ มันไปอีก
พอพุทโธเข้าไป มันละเอียดเข้าไปแล้ว ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปอีก จนมันจะพุทโธไม่ได้ มันจะพุทโธไม่ได้โดยตัวของมันเอง โดยตัวของมันเอง เพราะจิตมันเป็นเอกเทศ มันไม่เสวยอารมณ์ มันไม่มีความคิด จิตมันคิด นาโน พุทโธๆๆ มันสะสมจนมันตั้งมั่น ถ้ามันตั้งมั่นแล้วมันไปทำอย่างอื่นไม่ได้ จิตนี้รู้ได้หนึ่งเดียว ไม่มีสอง แต่เพราะความเร็วของจิต กระแสของจิต ความคิดมันเร็ว เร็วมาก มันซ้อนกันเร็วมาก เราเลยมีความคิดได้สองเรื่องสามเรื่อง แต่ความจริงถ้าถึงตัวมันแล้วมันจะได้หนึ่งเดียว ถ้ามันพุทโธๆ จนมันพุทโธๆ ไม่ได้ นั่นล่ะคือตัวของมัน
ถ้าตัวของมัน ถ้ามันพุทโธจนพุทโธไม่ได้ อัปปนาสมาธิมันลงถึงฐานของจิตเลย ลงถึงฐาน สักแต่ว่ารู้ แต่รู้ ไม่มีขาดตอน ไม่มีเผอไม่มีเรอ ไม่มี ไม่มี ถ้าเผอเรอนั่นน่ะลงภวังค์ ถ้าเผอเรอนั่นน่ะคือขาดแล้ว แต่ถ้ามันจริงเข้ามามันต้องจริงอย่างนี้ แล้วถ้าจริงอย่างนี้ เวลามันคลายตัวออกมามันจะคลายออกมา ถ้าคลายออกมามันรับรู้ได้ ตอนรับรู้ได้ รับรู้คืออะไร?
รับรู้คือรับรู้ร่างกาย รับรู้ตัวเราใช่ไหม ตอนรับรู้นี่มันเสวยแล้ว แล้วตอนที่มันเสวยถ้าเรามีสติ นี่ภาวนามยปัญญามันจะเกิดตรงนี้ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม เวลาเรานั่งภาวนากันอยู่นี่ เวลาเวทนามันเกิดขึ้น เราล้มลุกคลุกคลานเลย จะไปกันไม่รอด ล้มลุกคลุกคลานเลย เพราะอะไร เพราะเวทนาเป็นเรา
แต่ถ้าเราพุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตสงบมันไม่พิจารณาเวทนาไง พอมันไม่พิจารณา มันอยู่กับพุทโธ มันเกาะหนึ่งเดียว เกาะพุทโธแล้วถ้ามันสงบแล้ว ถ้าสงบแล้วมันตั้งมั่น แล้วถ้าเวทนาเกิดมันกลับไปจับเวทนา มันจับได้เลย ทำไมมันไม่ปวดสองเท่าสามเท่าอีกล่ะ ถ้าเวทนาเป็นเรา พอเวทนาเกิดขึ้น อยากให้หาย ปวดสองเท่า อยากให้หาย สามเท่า อยากให้หาย สี่เท่า แต่ถ้านักหลบ หลบมาพุทโธๆ
ยุคทองของครูบาอาจารย์ท่านสอนตรงนี้ไง แต่เพราะพวกเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เขาบอกว่า ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาอย่างนั้น ไอ้นั่นมันเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญา โลกียะคือโลก โลกคือภพ โลกคือจิต ความคิดเกิดจากจิต จิตมีอวิชชา มันคืออะไรน่ะแต่ถ้าเราพุทโธๆ จนมันเข้ามา เราจะเอาโลกุตตรปัญญา ไม่ใช่โลกียปัญญา
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นโลกียปัญญาทั้งนั้น ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าก็โลกียปัญญา ศึกษาสิ่งใดก็โลกียปัญญา กิเลสมันเอาไปใช้ครึ่งหนึ่ง เพราะมีความไม่ระลึกตัวของมัน เราถึงต้องพยายามกำหนดพุทโธๆ ให้จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เป็นเอกเทศ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เห็นไหม มันล้มลุกคลุกคลานกันมาอย่างนี้ มันเริ่มต้นภาวนากันมาอย่างนี้
แล้วเวลามันฝึกออกใช้ปัญญาล่ะ ออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญา คนที่ใช้ปัญญาเป็นมันจะเห็นความต่างว่า ถ้าเป็นโลกียปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ มันมีความรู้ความเห็นอย่างใด พอมันเข้าไปถึงจิตสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความจริง เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง พอมันเห็นขึ้นมามันสะเทือนอะไรบ้าง
คนเรานะ เวลาตีแผลเจ็บแสบ เวลาเขาเอาน้ำเกลือราดมันจะแสบกว่านั้นอีก มีแผลอยู่แล้ว ถ้ามันโดนของเค็มมันจะแสบกว่านั้น จิตใจของเรามันโดนกิเลสครอบงำอยู่ มันเจ็บแสบอยู่แล้ว แต่เวลาจิตมันสงบแล้วจะไปถอดไปถอนมัน จะไปต่อสู้กับมัน มันเจ็บแสบกว่า มันมีรสชาติกว่า มันลึกกว่า มันกระเทือนใจมากกว่า ถ้ามันมากกว่า เรามีแผล เรามีอุบัติเหตุ เราก็เจ็บแล้วใช่ไหม เวลาเขาเย็บ เขาผ่า เขาตัด มันเจ็บมากกว่า จะต้องวางยาสลบ จะรักษาโดยปกติไม่ได้
แล้วถ้าจิตมันไปเห็นล่ะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต ตามความจริงที่มันเป็นจริงของมันขึ้นมาล่ะ นั่นล่ะมันคือมรรค ถ้ามรรคเกิดขึ้นมาอย่างนี้ มันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมา ดูสิ เวลาว่าพิจารณากาย ผู้พิจารณากายโดยความชำนาญ โดยความต่างๆ อันนี้มันทำขึ้นมาเพราะอะไรล่ะ มันทำขึ้นมาเพราะจิตมันจริงไง จิตมันจริงมันก็เป็นสมาธิจริงๆ เพราะจิตมันจริง ถ้าจิตมันจริงเป็นสมาธิจริงขึ้นมา เวลาจิตมันจริงมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันก็เห็นตามความจริงไง
แต่ถ้าจิตเราไม่จริง จิตเราไม่จริง เราไปเห็น มันก็เป็นจินตนาการทั้งนั้นน่ะ แต่วุฒิภาวะของใจเรามันอ่อนด้อย เราก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นๆๆ เพราะเราศึกษามา เรารู้ตามตำรามา เรารู้มา แล้วพอจิตมันเป็น มันลึกลับอย่างนั้น... ยัง
เวลาคนภาวนานะ เวลาจิตมันสงบนะ เวลาธรรมมันเกิด สิ่งที่สงสัยอยู่มันผุดขึ้นมา สิ่งที่รู้ที่เห็นมันผุดขึ้นมา อันนั้นเป็นธรรมหรือเปล่า ตามตำราบอกนี่คือธรรมเกิด สิ่งที่เป็นธรรมมันผุดขึ้นมา แต่ถ้าเป็นหลวงตา หลวงตาบอกกิเลสมันเกิด กิเลสมันเกิดเพราะอะไร กิเลส เพราะธรรมมันเกิดแล้ว เราติดใจ เราอยากได้ มันผ่านไปแล้วก็เรียกร้องหา มันไม่มาหรอก นั่นกิเลสเกิดไง ถ้าธรรมมันเกิดมันไม่ใช่อริยสัจ
ฉะนั้น ว่าจิตมันภาวนาไปแล้ว คนเรามันมีจิตใต้สำนึก มันจะมีอย่างนี้เข้ามา มีอย่างนี้ลอยขึ้นมา แล้วอย่างนี้ลอยขึ้นมา คนเป็นหรือไม่เป็นล่ะ ถ้าครูบาอาจารย์เราเป็น นั่นน่ะธรรมมันเกิด ถ้าธรรมมันเกิดแล้วก็ตีปีก ธรรมมันเกิด ก็ธรรมเกิดแล้ว แล้วจะมีอะไรต่อ ธรรมมันเกิดก็คุณงามความดีมันเกิด คุณงามความดีมันเกิด มันก็เกิดมาแล้ว ก้อนเมฆ เกิดมาแล้วมีความร่มเย็นเป็นสุข เกิดมาแล้วมันก็จรไป เพราะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายมันแปรสภาวะของมันไปอย่างนั้น
ไอ้นี่มันก็เป็นธรรม ธรรมของปุถุชน ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคือคนหนา ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราก็ไล่ของเราเข้าไป ไล่ด้วยสติด้วยปัญญา มันจะรู้เท่าทัน รูป รส กลิ่น เสียง รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร ถ้าสติปัญญาไม่ทันมันก็รัดคอ ถ้าสติปัญญาเราดีมันก็เป็นพวงดอกไม้ เขาเอามาเชิดชู เขาเอามาให้ลุ่มหลง ปุถุชน กัลยาณปุถุชน
กัลยาณปุถุชนเขาพิจารณาจนเห็นเท่าทัน เท่าทันรูป รส กลิ่น เสียง เสียงสักแต่ว่าเสียง รูปสักแต่ว่ารูป ถ้ามันจะเป็นสักแต่ว่า มันต้องมีสติปัญญามันถึงเป็นสักแต่ว่า ถ้ามันขาดสติมันไม่สักแต่ว่า มันเป็นเรา มันเป็นเราเข้าไปเต็มตัวแล้ว มันยังปากดีว่าสักแต่ว่าๆ มันจะสักแต่ว่ามาจากไหน ในเมื่อใจเอ็งมันอยู่ที่ไหน เอ็งเห็นอยู่ตรงไหน มันไปหมดแล้ว
แต่ถ้ามีสติปัญญา มันไล่เข้าไปจนมันเห็นรูป รส กลิ่น เสียงสักแต่ว่า เพราะสติปัญญามันทัน พอมันทันมันปล่อย มันปล่อยเข้ามา ปุถุชน กัลยาณปุถุชน กัลยาณ-ปุถุชน เห็นไหม นี่คนทำสมาธิได้ เพราะกัลยาณปุถุชนมีปัญญารู้ว่ารูป รส กลิ่น เสียงที่เราติดกัน เราข้องกันอยู่นี้ เสียงที่กระทบทุกอย่างข้องกันอยู่นี้มันสักแต่ว่า เราเข้าใจผิดก็ได้ เขาว่าคนอื่นก็ได้ สิ่งที่เขาสรรเสริญนินทามันก็เป็นกระแสสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเท่านั้นเป็นผู้รื้อค้นถอดถอนกิเลสของตน ไม่มีใครจะมารื้อค้นถอดถอนกิเลสของเราได้ แต่เราอาศัยยุคทอง ยุคที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เจี๊ยะท่านไปศึกษาค้นคว้า แล้วมีครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง ท่านพาหลบพาหลีก พาให้เอาหัวใจของเราให้เข้าไปสู่สัจธรรม นี่อาศัย อาศัยได้อย่างนี้ อาศัยครูบาอาจารย์พาหลบพาหลีก แล้วอาศัยสติปัญญาของครูบาอาจารย์เรา คอยตบคอยตีหัวใจของเราที่มันจะไปหยิบไปฉวย
ถ้ามันไปหยิบไปฉวย มันก็ไปเอาฟืนเอาไฟมาใส่ใจ เราอาศัยครูบาอาจารย์ได้อย่างนี้ เราอาศัยหมู่คณะได้อย่างนี้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไป ถ้ามันมีสติปัญญาจนไม่หยิบฉวย จนเท่าทันหมดแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อ ถ้ารู้เท่าทันแล้ว สงบแล้ว ดีแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อ มันไม่มีมรรค มันไม่มีการก้าวเดิน มันไม่มีสัจจะ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารู้เท่าทัน รู้ทุกอย่างหมดเลย แล้วมีอะไรเป็นจริงล่ะ
แต่หลวงปู่มั่นบอกว่า สิ่งที่ศึกษามานี้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่มีศาสนา ไม่มีธรรมะก็ไม่มีพระอริยสงฆ์ เพราะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปตามความเป็นจริงแล้วเขามีคุณธรรมในใจของเขา ถ้ามันมีคุณธรรมในใจของเขา สิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัย มันจะไม่สำคัญได้อย่างไร การศึกษามันจะเหลวแหลกตรงไหน มันเหลวแหลกตรงชิงสุกก่อนห่าม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าปริยัติเรียนไว้เพื่อปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนไว้มาเพื่อเป็นสมบัติของเรา มันรู้ได้แค่เป็นสัญญา แค่จำ แค่เป็นแนวทาง แล้วก็เอาแนวทางมาวางว่าเป็นสมบัติของเรา ไม่อายกิเลสบ้างเลยหรือ ไม่อายมันเลยเนาะ เพราะมันยังไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา มันยังไม่มีมรรค
ถ้ามันจะมีมรรค เห็นไหม เราระลึกถึงครูบาอาจารย์ ระลึกถึงครูบาอาจารย์เพราะท่านทำได้จริง แล้วท่านก็บอกเราจริง แล้วท่านก็เป็นแบบอย่างให้เราได้เห็นจริง พวกเราตาเนื้อ เราเห็นได้ กิริยามารยาทของท่าน เราเห็นได้ ความเป็นอยู่ของท่าน แต่เราไม่เห็นคุณธรรมในใจของท่าน แต่คนที่เห็นคุณธรรมในใจของท่าน ท่านต้องมีคุณธรรมเสมอ หรือคนมีสมาธิแล้วไปถามท่าน มีคนมาถามหลวงปู่เจี๊ยะมากเลย “หลับครับ หลับครับ นั่งแล้วหลับครับ” หลับทั้งนั้น แล้วหลับ ทำไมมันถึงหลับล่ะ ถ้าหลับทำไมไม่อดอาหารล่ะ ลองอดอาหารดูสิ ให้ท้องมันร้องจ๊อกๆ มันจะหลับไหม มันมีวิธีแก้ เพียงแต่ว่ามันจะจริงหรือเปล่า
เราเองเราเป็นชาวพุทธนะ เราปรารถนามรรคปรารถนาผล แต่เวลาเราทำ เราทำเอาแต่ตามใจชอบ ทำอย่างที่กิเลสมันอนุญาตให้ทำ ทำได้แค่นี้ ชาวพุทธทำได้แค่นี้ เผอๆ เรอๆ กันอยู่นี่ ว่างๆ ว่างๆ อยู่นั่นน่ะ ว่างๆ ดูอากาศมันว่าง มองไปบนอากาศสิ ไม่อายมันหรือ บนอากาศ นกมันยังบินอยู่นั่น
ความว่างมันต้องมีความสุขกับเรา ถ้าจิตมันว่างนะ จิตมันว่าง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตนี้มันคลุกคลีคลุกเคล้าอยู่กับกิเลส คลุกเคล้าอยู่กับความคิด คลุกเคล้าอยู่กับพญามาร มารมันเหยียบย่ำอยู่อย่างนี้ แล้วเวลามันสลัดทิ้งหมดมันจะสุขขนาดไหน แล้วถ้าจิตเวลามันสงบแล้วมันมีความสุขอย่างนั้น แล้วมันบอกว่าว่างๆ ว่างๆ ได้อย่างไร มันพูดไม่ออก เวลาเป็นสมาธินะ เอ๊อะ! มันพูดไม่ออก เพราะมันพูดออกมาเป็นสมมุติไม่ได้ สัจธรรมพูดออกมาเป็นสมมุติไม่ได้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นศาสดา เห็นไหม พระ-ปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบเหมือนกัน ทำไมไม่วางธรรมวินัยล่ะ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ท่านรู้เฉพาะตน รู้ขึ้นมาด้วยตัวท่านเองด้วย ก็รื้อค้นขึ้นมาเองเหมือนกัน แต่ทำไมท่านไม่แจกแจงแยกแยะไป ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรม ประกาศธัมมจักฯ เลย เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มัชฌิมาปฏิปทาคือความพอดี ไม่ใช่กลาง กลางมันจะวัดแล้วมันจะไปทางนั้นน่ะ กิเลสมันจะวิ่งออกช่องนี้
ความสมดุลความพอดี ถ้าความสมดุลความพอดีของมัน เอาตรงนี้ ถ้าเอาตรงนี้แล้วทำให้มันจริงขึ้นมา ถ้าจริงขึ้นมา เห็นไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะได้สร้างบุญญาธิการมาถึงได้แยกแยะแจกแจง แยกแยะแจกแจงสิ่งที่เป็นสัจจะ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ สิ่งที่ประกาศมานี้ในพระไตรปิฎกนี่ใบไม้ในกำมือ สัจจะความจริงมันเหมือนใบไม้ในป่า สิ่งที่สั่งที่สอนนี้เอาแค่ใบไม้ในกำมือ แล้วพวกเอ็งจับให้ได้นะ
ใบไม้เอาไปทำยาได้ ใบไม้เอาไปทำอาหารการกินได้ เอาเพื่อให้เป็นประโยชน์ ใบไม้มันยังใช้ประโยชน์ไม่เป็น เวลามันคิดอะไรขึ้นมาได้บอกว่า “ก็นี่ไง ใบไม้ในป่าไง ที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่าใบไม้ในป่า เราก็ได้ใบไม้ในป่า” ไอ้นี่มันสารพิษนะ กินเข้าไปก็ตายหมดล่ะ ของที่พระพุทธเจ้ายื่นให้มันยังกินไม่เป็นเลย มันจะไปเก็บใบไม้ในป่ามากินเอง มันก็เป็นพิษหมดล่ะ
ถ้าทำจริง เรามีครูบาอาจารย์เป็นพื้นเป็นฐาน เรานะ เป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์หลวงปู่เจี๊ยะ เราปฏิบัติกันแล้วอย่าให้เสียชื่อครูบาอาจารย์ ถ้าไม่ให้เสียชื่อครูบาอาจารย์ สิ่งเราเป็นอยู่ ความเป็นอยู่ของเรา สิ่งนี้มันป้องกัน ป้องกัน มันเป็นขอบเขตป้องกัน ไม่ให้ใจมันไหลๆๆ ไป แล้วครูบาอาจารย์ท่านดูแลเรา แล้วเราก็ไหลๆๆ กันไป แล้วเราจะมีอะไรกันล่ะ ถ้ามันจะมี มีอย่างนี้ ทำสมาธิ ทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าใจสงบเข้ามา
ฉะนั้น สิ่งที่คนถ้ามีอำนาจวาสนาบารมี สิ่งที่มันได้มา ได้มาโดยเป็นธรรม มันก็เป็นธรรม คนที่เป็นธรรม จิตเขาเป็นธรรมนะ สิ่งที่ได้มาเขาใช้สอยด้วยประหยัดมัธยัสถ์ สิ่งที่เหลือเพื่อหมู่คณะ ดูพระอานนนท์สิ เขาถวายจีวร ๕๐๐ ผืน พอเขาถวายจีวร ๕๐๐ ผืนใช่ไหม มันก็ร่ำลือไป กษัตริย์บอกว่า “พระอะไรทำไมโลภมากขนาดนี้ เอาจีวรทีหนึ่งตั้ง ๕๐๐ ผืน” ทำให้สนใจ ต้องไปเฝ้าพระอานนท์ ไปถามพระอานนท์ “ท่านรับจีวรไว้ ๕๐๐ ผืนจริงๆ หรือ”
“จริง”
“ทำไมท่านโลภมากขนาดนั้น ตั้ง ๕๐๐ ผืน แล้วจีวรเก่านี้ทำอย่างไร”
บอกว่า “อ๋อ! จีวรเก่า ถ้ามันเก่านะ เราก็เอามาทำม่าน ทำผ้าเช็ดเท้า ตำแล้วเอามาคั้น แล้วที่ใช้ก็ใช้ผืนเดียว”
“แล้วอีก ๔๙๙ ผืนไปไหนล่ะ”
“อ้าว! ก็หมู่คณะไง ก็พระที่มันขาดแคลนนี่ไง”
เขาให้ ๕๐๐ ผืน เขาติในใจ พอมาฟังเหตุผลของพระอานนท์ นี่จิตใจที่เป็นธรรม เขาแจกแจง เขาแจกจ่าย เขาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เขาคิดถึงหมู่คณะ เขาคิดถึงพระ คิดถึงเณร คิดถึงหมู่คณะว่าคนไม่มีอำนาจวาสนา เขาใช้ผืนเดียว ใช้ชุดเดียว เขาก็แจกจ่ายไปหมด นี่ถ้าคนมีคุณธรรม
ไม่ใช่ว่ามันมีแล้วเราก็ต้องให้มันไม่มี มันมีเราก็จะโยนทิ้ง อันนั้นมันก็ซื่อบื้อ มันมีมันก็ต้องใช้รู้จักใช้รู้จักสอย รู้จักทำประโยชน์ แล้วถ้าเราจะปฏิบัติ เราก็ไม่ต้องไปตามมันขนาดนั้น ทำอย่างไรก็แล้วแต่ ดัดมัน! ดัดมัน! ดัดหัวใจ หลวงตาท่านพูดประจำ “มึงอยากไป กูไม่ไป” คือใจมันอยาก มันอยากจะไป เราไม่ไป แล้วเวลามันอยาก เรามีสติปัญญาทันว่ากูไม่ไปไหม พอมันอยากก็ไปแล้ว กลับมาพอคิดได้ เสียใจ
อ้าว! ถ้ามันอยากใช่ไหม สติเราทันนะ อ้าว! เอ็งอยากไป กูไม่ไป นั่นสติเกิดแล้วนะน่ะ นั้นคือปัญญาแก้ ถ้ามีปัญญาแก้ เราก็จะรักษาใจเราได้ ถ้าเราไม่มีปัญญาแก้ สิ่งที่เกิดจากกิเลสมันก็ทั้งยุทั้งแหย่ทั้งขับทั้งไส แล้วเราก็ต้องตามมันไป แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราแก้ของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับของเรา ถ้าทำแบบนี้ เห็นไหม
มันเป็นยุคเป็นคราว เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เวลาท่านพูดถึงท่านสมบุกสมบันมา ชอบ ชอบฟังอย่างนั้น แล้วมันก็ฝังใจ ยุคทอง ไม่ใช่ไม่มี หลวงปู่มั่นดังทั่วประเทศไทย หลวงปู่มั่นปรารถนาสิ่งใด ถ้าใครไม่ถวาย เป็นไปไม่ได้ แต่ท่านไม่เคยพาใครออกนอกลู่นอกทาง ท่านจะพาให้ประหยัดมัธยัสถ์
เพราะการประหยัดมัธยัสถ์ เห็นไหม มันเป็นเครื่องหมายของคนมีสติปัญญา ถ้าฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม มันเป็นช่องทางของกิเลส แล้วถ้าช่องทางของกิเลสมันพาไปแล้ว แล้วเราจะไปปฏิบัติอะไร เวลาจะมานั่งสมาธิก็บอกว่าเมื่อกี้ตามเขาไป มันยังไม่ได้ดั่งใจ ยังจะไปอีกนะ นั่งสมาธิอยู่นี่มันจะไปโน่น ไปเอาอีกล่ะ มันยังไม่พอ
แต่ถ้ามันประหยัด มันมัธยัสถ์ สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ปัจจัย ๔ มันเหลือล้น สิ่งที่เขาจะสละนั้น ศรัทธาไทยเขาสละของเขา มันเป็นบุญของเขา ถ้ามันเป็นบุญของเขา เขามีเจตนาเสียสละของเขา เขาให้ทาน ทานอันนั้นมันก็เป็นประโยชน์กับส่วนกลาง เราจะไม่ไปยุ่งกับตรงนั้น เพราะเราปรารถนาสัจธรรม เราปรารถนาหัวใจของเรา
หัวใจของเราสิ่งที่จะควบคุมมันได้คือสติ สติกับปัญญาเท่านั้น แล้วถ้ามีปัญญาแก้ มีปัญญาเข้ามาถอดถอน ปัญญาเข้ามาชำระล้าง สิ่งนี้ เห็นไหม ที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านขึ้นไปอยู่ ไปอยู่น่ะ ท่านไม่มีหรือ อยู่บ้านน่ะมันมหาศาล แล้วไปกินข้าวกับกล้วย เพราะด้วยความเคยชินของท่าน ท่านเคยกินกุ้งหอยปูปลา แล้วขึ้นไปอยู่นั่นน่ะ อยู่กับชาวเขา ท่านบอกว่า “วันไหนไปบิณฑบาตได้ปลาสร้อยตัวเท่านี้ วันนั้นถูกรางวัลที่ ๑” ท่านพูดกับเรานะ “วันไหนไปบิณฑบาตกลับมาได้ปลาสร้อยมา ๑ ตัว กว่าเขาจะหาได้ ได้ปลาสร้อยมา ๑ ตัว วันนั้นถูกรางวัลที่ ๑”
ไปทุกข์ทรมานทำไม ไปทุกข์ทรมานเพราะหัวใจมันยิ่งใหญ่ หัวใจมันยิ่งใหญ่ หัวใจมันต้องการคุณธรรม สิ่งที่ทำเพราะคนมีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาอย่างนั้น เราทำอย่างนั้น ถ้าระลึกถึงครูบาอาจารย์ต้องระลึกถึงข้อวัตรปฏิบัติ ระลึกถึงปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์ท่านวางเป็นแนวทางอันนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ท่านบำเพ็ญเพียรมาขนาดนั้น ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านวางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้กับบริษัท ๔ ของเรา ฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ยุคทองของครูบาอาจารย์ของเราท่านก็แสวงหาของท่านขึ้นมา กึ่งพุทธกาล แล้วท่านปฏิบัติมามีข้อวัตรปฏิบัติ ท่านวางแนวทางเอาไว้ให้พวกเรา ถ้าเราคิดถึงครูบาอาจารย์ของเรา เราต้องคิดถึงแนวทางที่ท่านรื้อค้นธรรมะขึ้นมาในใจของท่าน แล้วท่านก็ปรารถนาให้พวกเราปฏิบัติให้มีคุณธรรมขึ้นมาในใจ ถ้ามันปฏิบัติขึ้นมามีคุณธรรมในใจ มันไว้ใจได้
ถ้าปฏิบัติขึ้นมาในใจ เห็นไหม สิ่งที่สร้างยากที่สุดคือสร้างพระเป็นๆ สิ่งที่สร้างยากที่สุดคือสร้างพระในใจของคน แล้วสร้างขึ้นมาไม่จำเป็นว่าต้องพระเท่านั้นที่จะประพฤติปฏิบัติ นางวิสาขาไม่ได้บวช เป็นพระโสดาบัน พระเจ้าสุทโธทนะไม่ได้บวช เป็นพระอรหันต์ ในปัจจุบันนี้ในวงกรรมฐานของเราที่ไม่ได้บวช เป็นพระอริยบุคคลมันก็ยังมี แต่ที่เขามี เขามีเพราะอะไรล่ะ ที่เขามี ไปสืบประวัติเขาสิ ที่เขามี เขามุมานะบากบั่นทั้งนั้น เขามีขอบมีเขตมีกติกากับตัวเขาเอง เขาไม่เคยใช้ชีวิตของเขาลุ่มๆ ดอนๆ ปล่อยให้กิเลสมันจูงจมูกไป ท่านใช้ชีวิตของท่านด้วยความวิริยอุตสาหะ พยายามมีความเพียรชอบ แล้วท่านทำของท่านขึ้นมา
ฉะนั้น ความสุขทางโลก ความสุขที่เราแสวงหากัน ความสุขที่มันว่าเป็นความสุข มันเป็นความสุขของกิเลสไง กิเลสมันเอาอย่างนี้มาล่อ ล่อแล้วเราก็ติดมัน แล้วในปัจจุบันนี้เวลาวงการปฏิบัติ “ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติลัดสั้น” ถ้ามันมีจริง องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าสอนหมดแล้ว ใครมันจะมีปัญญาเท่ากับเทียบเทียมองค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า อจินไตย ๔ พุทธวิสัย แล้วมันมีใครบ้างที่จะมีปัญญา มีความรู้เท่าองค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าเป็นอย่างนั้น องค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกลัดสั้นให้แล้ว มันต้องบอกแล้ว แต่ทำไมวางธรรมและวินัยอย่างนี้ แล้วเวลาวางธรรม“โมฆราช เธอจงมองโลกนี้สักแต่ว่า เธอจงมองโลกนี้สักแต่ว่า แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ”
“เธอจงมองสักแต่ว่าๆ” เราก็สักแต่ว่า สักแต่ว่า สักแต่ว่าของเรามันสักแต่ว่า ปฏิเสธไง สักแต่ว่าของพวกเรามันเป็นการปฏิเสธ มันปฏิเสธจากข้างนอก แล้วใจมันปฏิเสธได้ไหม ทุกข์มันปฏิเสธได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าเราทำจิตสงบเข้ามา ตัวจิตมันรู้เอง ตัวจิตเป็นคนค้นคว้าเอง มันจะปฏิเสธอะไร เพราะตัวมันเป็น ตัวมันรู้ตัวมันเห็น มันปฏิเสธได้อย่างไร แล้วถ้ามันเกิดมรรค ธรรมจักร จักรมันเกิด ปัญญามันเกิด แล้วปัญญามันเกิด มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันเกิดจากอะไร มันเกิดจากจิต แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหน?
กิเลสมันอยู่ที่จิต เวลามันชำระล้างกันมันก็ชำระล้างกันที่จิต แล้วถ้าจิตมันเห็นนะ จิตเห็นอาการของจิตเป็นมรรค ผลจากการเคลื่อนไหว ผลจากมรรคที่กระบวนการของมันจบสิ้นเป็นนิโรธ แล้วใครทำ?
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านมีสติมีปัญญา ท่านรวบรัดมาให้เราเป็นแนวทาง ให้เราจับต้อง แต่สิ่งที่ท่านจะพูดมา อย่างเช่น หลวงปู่ดูลย์ท่านจะพูดอย่างนี้มา ท่านก็ต้องประพฤติปฏิบัติมาตามความเป็นจริงของท่าน ถ้าตามความเป็นจริงของท่านนะ ยุคทอง ยุคทองในสมัยหลวงปู่มั่น ท่านพูดไว้หมด องค์ไหนบ้างๆ ยุคทอง ยุคพลาสติกของเรานี่ยุคพลาสติก ยุคพลาสติกมันเร็ว สร้างได้ง่าย แต่ขยะล้นเมือง ขยะล้นเมือง
เราจะเอาความจริงนะ วันนี้มันเป็นวันมงคล วันครบรอบครูบาอาจารย์ของเรา เราระลึกถึงท่าน เราต้องระลึกถึงปฏิปทาของท่าน ระลึกถึงปฏิปทาของท่านที่เราเคารพบูชาท่านจริง ถ้าเราระลึกถึงปฏิปทาของท่าน ท่านห่วงพวกเราเยอะนะ เวลาที่มาปฏิบัติ “นั่งแช่อย่างนี้มันไม่พอกินหรอก นั่งแช่อยู่นั่นน่ะ” นั่งแช่มันไม่ใช้สติปัญญาไง “นั่งแช่อยู่นั่นน่ะ” แล้วแช่อย่างไรล่ะ แล้วทำไมไม่ทำให้มันจริงขึ้นมาล่ะ
ถ้าจริงขึ้นมามันจะออกรู้ออกเห็น ออกเป็นความจริงขึ้นมาของเรา ถ้าออกรู้ออกเห็น ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ไม่ต้องเถียงกันหรอก เวลาเขาจะเถียงกัน ถ้าเขาจะเถียงเอาสีข้างเข้าถู ให้มันพูดอยู่คนเดียว ให้มันพูดไปเถอะ เรากลับบ้านนอนดีกว่า เราทำมาเกือบตาย ไปเถียงกับมันทำไม ถ้าเถียงกับมัน เราก็บ้ากว่ามันน่ะสิ มันก็บ้าพอแรงอยู่แล้ว ยังต้องไปบ้าน้ำลายกับมันอีก เรารู้ของเราในใจของเรา เราจะเอาใจของเรา
วันนี้วันสำคัญนะ ถ้ามันสำคัญจริง ชีวิตของเราสำคัญจริง เราต้องมีข้อวัตร เราต้องมีปฏิบัติ ข้อวัตรคือกติกา ตั้งกติกากับตัวเอง เวลาพระจะเข้าพรรษานะ เขาอธิษฐานพรรษา อธิษฐานพรรษา เขาจะตั้งข้อธุดงค์ของเขา นั่นล่ะคือเขาตั้งสัจจะของเขา
แล้วเวลาออกพรรษา มหาปวารณา ใครทำผิดใครทำพลาด ใครกินใจต่อใคร ใครมีความบาดหมางต่อใคร ถึงจะรู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ขออภัย ขออภัยต่อกัน แล้วขออภัยต่อกันนะ แล้วถ้ามีสิ่งใดกระเทือนใจ มีสิ่งใดทำให้คนอื่นเดือดร้อน ขอขมาลาโทษ “ขอโทษนะ บางทีทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางทีทำไปด้วยการวิสาสะ” วิสาสะ หมายความว่า เราคิดว่าเรากับเขาเป็นเพื่อนกัน เรากับเขาสามารถพูดได้ วิสาสะพูดออกไป ถ้ามีสิ่งใดมันสะเทือนใจ ขอโทษ ขอโทษ
ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา เราพยายามจะสร้างหลักเกณฑ์ของเราขึ้นมา มันจะได้ไม่ว่างเปล่าไง ในศาสนานี้ ในการเกิดนี้ เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้วไม่เสียชาติเกิด เอวัง