เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ ส.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะคือสัจธรรม สัจธรรมนี้เป็นที่แสวงหา จิตใจมันเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องความเป็นธรรมๆ เพราะหัวใจไง ถ้าหัวใจมันมีคุณธรรมนะ เราจะมีความสุข ความสุขของเราคือเราเหนือโลกไง เราเข้าใจ เราเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เราวางได้หมด เราเข้าใจได้หมดเลย แต่ถ้าเราแบกโลกนะ เราทุกข์มากเลย ถ้าความเป็นธรรมๆ มันเกิดที่นี่ ถ้าความเป็นธรรมนะ เราต้องรักษาหัวใจของเรา ถ้าเราดูแลหัวใจของเรา

ทุกคนปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทุกคนไม่ต้องการความทุกข์ความยาก ทุกคนปรารถนาความสุข แล้วความสุขมันอยู่ที่หัวใจของคนที่แสวงหา ถ้าแสวงหาเอาสิ่งที่เป็นสมมุติ ความจอมปลอม มารยาสาไถย เราก็รู้ว่าความมารยาสาไถย แสงสีเสียงเป็นมายาภาพทั้งนั้นแหละ เป็นมายาภาพ แต่ทำไมเราชอบล่ะ มันชอบเพราะอะไร มันชอบเพราะมันเข้ากันได้กับกิเลสไง กิเลสมันเข้ากับสิ่งนี้ เข้ากับสิ่งที่เป็นมายา สิ่งที่เป็นความจริงมันไม่เคยรู้จัก

เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมๆ มันก็เป็นมายาของกิเลส ก็กิเลสเอามาอย่างนั้นเข้ามาในหัวใจของเรา แล้วบอกว่าเราทำได้แล้ว เราเข้าใจแล้ว เรารู้หมดแล้ว แล้วทำไมต้องให้คนอื่นมาข่มขี่ล่ะ ทำไมต้องมีคนอื่นมาข่มขี่หัวใจของเราล่ะ หัวใจเรามันเป็นอิสระอยู่แล้วทำไมต้องให้มาข่มขี่ล่ะ ให้มันข่มขี่เพราะอะไร ให้มันข่มขี่ ใครจะมาข่มขี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ” คำว่า “จะสอนใครได้หนอ” มันละเอียดลึกซึ้งจนไม่รู้จะอธิบายเขาอย่างไร ถ้าเวลาอธิบายให้เขาฟัง เขาบอกเขาก็เข้าใจ เขาเข้าใจตามประสาของเขา เขาเข้าใจประสาเขานะ เขาไม่เข้าใจตามความเป็นจริงหรอก

ถ้าเขาเข้าใจตามความเป็นจริงนะ ตาสบตามันรู้หมด ตาสบตาเข้าใจหมดเลย มันเข้าใจเพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีผลไง ธรรมะของเรามันต้องมีเหตุมีผล มันต้องมีที่มาที่ไป คำว่า “ที่มาที่ไป” เห็นไหม เราเกิดมาจากไหน ทุกคนก็เกิดจากพ่อจากแม่ทั้งนั้นแหละ แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีการกระทำนั้นน่ะ เราเกิดจากการกระทำเดิมๆ มาของเรา จริตนิสัยที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้มันเป็นมาจากไหนล่ะ? เป็นมาจากพันธุกรรมของจิต

เวลาคนบริหารจัดการ จริตนิสัยของคน คนมันร้อยแปดพันเก้า ใจนี้ร้ายนัก เวลามันดี มันดีจนน่าตกใจ เวลามันร้าย มันร้ายจนน่าตกใจ ใจนี้เปลี่ยนแปลงไปได้หลากหลาย ใจนี้เป็นได้ทุกๆ อย่างเลย เวลามันทุกข์มันก็ทุกข์ในหัวใจของเรานี่แหละ

แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา มีสติปัญญาหมายถึงมีสามัญสำนึก ต้องมีสำนึกก่อนไง ถ้ามีสำนึก มันพอใจจะทำทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีความสำนึกนะ มันหาว่ารังแกมัน ทุกคนว่ารังแกมัน ทำไมครูบาอาจารย์ท่านลำเอียงๆ

ลำเอียงอย่างไร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริษัท ๔ เป็นลูกเป็นเต้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด แล้วจริตนิสัยมันร้อยแปดเลย เวลาจะพูดกับฆราวาส อนุปุพพิกถา พูดเรื่องทาน เรื่องของทานนะ เพราะทำทานนั่นน่ะมันเป็นประโยชน์กับสังคม ถ้าสังคมไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน มันเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองด้วย เป็นประโยชน์กับสังคมด้วย นี่เรื่องของทาน

เรื่องของศีลคือความปกติของใจ ถ้าใครมีศีล มีรั้วรอบขอบชิด จิตใจมันไม่เร่าร้อนจนเกินไปนัก เพราะมันมีรั้วรอบขอบชิดของมัน รักษาหัวใจของมันเอาไว้นะ ถ้ามีศีล

ถ้ามีภาวนา ภาวนาเขาจะฉลาดแล้ว เรานี่โง่มาตั้งนาน อู๋ย! ขวนขวายมาตั้งนาน ไม่รู้ไปหาที่ไหน มันหาที่ใจนี้เอง มันหาที่ใจนี้เอง แล้วมันหาไม่ได้ พอมันหาไม่ได้มันก็ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมเข้ามาก่อน ถ้าสภาวะแวดล้อมเข้ามา คนเราถ้ามันมีความปกตินะ คนเราเกิดมาถ้าปกติ อาการ ๓๒ เวลามาภาวนามาทำสิ่งใดมันดีทั้งนั้นแหละ

แล้วถ้าคนพิกลพิการล่ะ คนพิกลพิการก็ภาวนาได้ ถ้าเราพิการเราก็ภาวนา เพราะเวลาภาวนา เราภาวนาเอาหัวใจของเรา เราไม่ได้ภาวนาเอาร่างกายของเรา เห็นไหม เวลาโลกของเขา เขาต้องถ่ายภาพสวยๆ นะ ใครนั่งภาวนานะ นั่งสวยๆ แล้วถ่ายภาพวิวสวยๆ เอาไปโฆษณากัน แล้วมันได้อะไรล่ะ กูปั้นหุ่นดีกว่านั้นอีก ไปดูหุ่นขี้ผึ้งสิ เขาทำได้เหมือนเปี๊ยบเลย มันยืนเฉย มันนั่งทั้งวันทั้งคืนเลย

เวลาเขาภาวนาเขาเอาหัวใจนะ เขาเอาหัวใจของเขา ฉะนั้น สิ่งที่เวลาร่างกายเราสมบูรณ์ เราก็นั่งของเราด้วยอำนาจวาสนาของเรา ใครพิการ ใครมีความบกพร่องสิ่งใด เราก็นั่งอย่างนั้น เวลาคนเจ็บคนไข้คนป่วยนอนอยู่บนเตียงก็พุทโธท่านอนก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน ทำสิ่งใดก็ได้ ขอให้หัวใจของเราเข้ามา

คำว่า “ก็ได้ๆ” ต้องมีสามัญสำนึกนะ ถ้าก็ได้ๆ ก็โยนทิ้งหมดเลย ก็ฉันทำแล้ว สักแต่ว่า ก็ได้ๆ ก็ปฏิเสธหมดเลย ก็ไม่ได้สิ่งใดเลย

คำว่า “ก็ได้ๆ” เวลากิเลสมันโต้แย้ง ถ้าไม่ทำสิ่งใดเลยนะ กิเลสมันก็สบายใจ กิเลสมันก็ปล่อยให้เราอยู่อิสระ พอจะภาวนานะ มันมาแล้ว “อู๋ย! ไม่ได้ นั่งไม่ได้ ทำไม่ได้ ไม่ได้สักอย่างหนึ่งเลย” เวลากิเลสมันรู้ว่าเราจะภาวนานะ

เพราะถ้าการภาวนามันจะเปิดหัวใจ ให้หัวใจมันแจ่มแจ้ง ให้หัวใจมันเข้าใจสัจธรรมในชีวิต ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมในชีวิต ในทางโลกเราก็ไม่เดือดร้อนจนเกินไป มันเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นแบบนี้

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเข้าไปนะ มันจะเข้าใจสัจจะ วัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ทำไมถึงไปเกิด เกิดเพราะอะไร พอมันไปเข้าใจแล้วกิเลสมันพ่ายแพ้ กิเลส บ้านเรือนของมัน มันต้องเสียความครอบครองมาให้ธรรม ถ้ามันเสียความครอบครองให้ธรรม มันต่อต้านทั้งนั้นเลยล่ะ ถ้ากิเลสมันต่อต้านขึ้นมา ถ้ายังไม่ได้ภาวนา “รู้ไปหมด แหม! ทำง่ายๆ นั่งสมาธิใครจะนั่งไม่ได้ นั่งเฉยๆ เราทำงานมาขนาดไหน ทั้งชีวิตบากบั่นมาขนาดไหน แค่นั่งเฉยๆ ทำไมนั่งไม่ได้” พอไปนั่งเข้ามันนั่งไม่ได้จริงๆ แต่มันคิดอยู่นั่นแหละ นี่กิเลสมันยังไม่สำนึกตนนะ

ถ้าเรามีสำนึกๆ สำนึกอย่างนี้ ถ้าสำนึกอย่างนี้ปั๊บนะ มันรู้มันเห็นภัยนะ เราไปเห็นบอก อู้ฮู! คนนู้นไม่ดีอย่างนี้ คนนั้นทำลายเราอย่างนั้น...ไม่ใช่เลย หัวใจเราทั้งนั้นน่ะ ถ้าหัวใจเรา มันมีสติปัญญาสู้กับเรา ถ้ามีสติปัญญาสู้กับเรามันถึงมีสำนึกไง

ครูบาอาจารย์ท่านยื่นให้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางข้อวัตรปฏิบัติ ท่านรื้อค้นของท่านขึ้นมา ท่านเอาชนะใจของท่านขึ้นมาด้วยวิธีการอย่างไร ท่านเอาสิ่งนั้นวางเป็นข้อวัตรปฏิบัติให้เราได้ก้าวดำเนิน ข้อวัตรปฏิบัติคือการดัดแปลงหัวใจ

ถนนหนทางเขาให้ยานพาหนะมันเคลื่อนไป ให้มันผ่านไป ไม่มีถนนหนทาง ยานพาหนะก็ใช้สิ่งใดไม่ได้เลย ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ ไม่มีหนทางของการก้าวเดินของจิตเลย จิตมันอิสระของมัน มันทำของมัน เราต้องมีข้อวัตร ทำโดยกติกา ทำโดยข้อวัตรของเรา มันก็เรียกร้องอีกแหละ “มันไม่มีความจำเป็น บวชมาเพื่อภาวนา เรามาวัดจะมาภาวนา ทำไมต้องมาวุ่นวายกับไอ้เรื่องกติกาเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้” นี่เวลากิเลสมันแถนะ เอาจริงๆ เราทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นข้อวัตรปฏิบัตินั่นล่ะ นั่นล่ะเขาเรียกว่าเครื่องอยู่ ใจมันเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก ก็ให้อยู่กับสิ่งนี้ ถ้าไม่อยู่กับสิ่งนี้มันเป็นนามธรรม มันจับต้องไม่ได้เลย ก็อาศัยให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมาด้วยข้อวัตรไง ขี้เกียจ ไม่ทำ คัดค้าน นั่นล่ะฝืนมัน ฝืนมัน พอฝืนมันอยู่นั่นล่ะ เข้าร่องเข้ารอย นี่มันมีประโยชน์อย่างนั้นน่ะ

สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านชี้ท่านบอกมันมีประโยชน์ๆ มีประโยชน์ตรงไหนล่ะ? มีประโยชน์ตรงมันทำแล้วมันมีเครื่องอยู่ มันมีหัวใจ มันมีความรู้สึก ความรู้สึกที่เรามีสติปัญญาควบคุมมัน

ไม่ใช่ปล่อยมัน มันเก่งไปทุกเรื่องเลย “นู่นก็เล็กน้อย นี่ก็ไม่จำเป็น นู่นก็คนอื่นทำแล้ว” แล้วตัวเองล่ะ ตัวเองก็เร่ร่อนไง แต่คนที่เขาทำเขาได้ คนที่เขาทำเขาได้อะไร เพราะเขามีกติกากับตัวเขา ถึงเวลาปั๊บ ข้อวัตรของเขา เขาก็ทำของเขา เขามีสติเขามีปัญญา เขามีกติกา ถ้าคนมีกติกา ตัวเขามีสามัญสำนึกในตัวของเขา ถ้าตัวของเขา เวลาเขาจะนั่งสมาธิภาวนา เขามีสามัญสำนึกมาตั้งแต่ยังไม่นั่งภาวนา

เวลามานั่งภาวนาขึ้นมา พุทโธขึ้นมามันก็ชัดขึ้น ก็ดีขึ้น ถ้าพุทโธดีขึ้น ชัดขึ้นขึ้นมา เห็นไหม จิตนี้เรียกร้องความเป็นธรรม จิตนี้เรียกร้องนะ เรียกร้องให้คนช่วยเหลือ แล้วใครจะไปช่วยเหลือมันล่ะ

เวลาเขาติดคุกติดตาราง เขาต้องไปประกัน เขาต้องไปต่อสู้กับชั้นศาลถึงจะเอามันออกมาจากคุก มันไม่ใช่เรา ผู้ที่เป็นทนาย ผู้ที่มีความช่วยเหลือ แต่จิตนี้เป็นตัวของเขาเอง ตัวของเขาเอง แล้วใครจะไปช่วยเหลือเขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงยื่นให้ไง ยื่นให้ ทาน ศีล ภาวนาไง ยื่นให้ให้หัวใจมันพัฒนาขึ้นมาไง ถ้าหัวใจมันพัฒนาขึ้นมา สามัญสำนึกเราคิดใหม่เลยนะ แต่ก่อนเราจะไม่เห็นคุณค่าสิ่งนี้เลย เราจะเห็นคุณค่าแต่หน้าที่การงานของเรา จะขวนขวายอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อเราๆ แล้วก็ทุกข์จนเข็ญใจ

ทุกข์จนเข็ญใจโดยหัวใจนะ หัวใจมันทุกข์ มันจน หัวใจมันโหยหา หัวใจมันมีความทุกข์ความยากไง แต่ถ้าหน้าที่การงานเราก็ทำ เพราะปัจจัยเครื่องอาศัย คนเราเขาจะวัดคนว่าคนนั้นมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพอยู่ที่งาน ถ้างาน มาจากไหนล่ะ? งานก็มาจากคนที่มีคุณภาพทางใจ ถ้าหัวใจมันมีคุณภาพ หัวใจมันรับผิดชอบ หัวใจมันทำสิ่งใดมันจะทำสิ่งที่ดีงามขึ้นมา ถ้าหัวใจมันไม่รับผิดชอบนะ งานให้มัน มันก็เอาไปให้คนอื่นทำ งานให้มัน มันก็ไปกองไว้นั่น มันไม่ทำ

สุดท้ายมันก็ย้อนกลับไปที่ใจนั่นล่ะ แต่ย้อนกลับไปที่ใจ แต่ก่อนที่จะเข้าไปถึงที่ใจต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมาที่หัวใจ แล้วถ้ามันมีสามัญสำนึก ถ้ามันจะมาภาวนา ถ้ามาภาวนา มันภาวนาเพราะอะไร เพราะงานมันละเอียด นั่งเฉยๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ นั่งเฉยๆ นั่นแหละงานอันยิ่งใหญ่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นั่นน่ะ ตรัสรู้อยู่องค์เดียวนั่นน่ะ อยู่โคนต้นโพธิ์นั้นน่ะ งาน เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคญาณมันเกิดที่นั่น ถ้ามรรคญาณมันเกิดที่นั่น งานของใจมันเกิดที่นั่น

ใจที่เวียนว่ายตายเกิด ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมันจะเห็นเลยว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ กามภพ รูปภพมีหรือไม่มีไง เขาบอกว่านรกสวรรค์ไม่มีๆ...ไม่มีก็คิดเอาไง ทั้งๆ ที่เอ็งเกิดเอ็งตายมา เอ็งก็เป็นมาทุกภพทุกชาติ ใจเอ็งก็เป็นมาทั้งนั้น แต่เอ็งยังปฏิเสธความเห็นของเอ็งเลย

เพราะใจเวียนว่ายตายเกิด ใครมันเวียนว่ายตายเกิดล่ะ วัตถุมันเวียนว่ายตายเกิดที่ไหน มันก็หัวใจทั้งนั้นแหละ ธาตุรู้ๆ มันเวียนว่ายตายเกิด แล้วมันก็เวียนว่ายตายเกิดมาตลอด แล้วไม่มีใครรู้ใครเห็นมัน แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านวางไว้ วางไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้เป็นสมบัติของเราขึ้นมา ถ้าเป็นสมบัติของเราขึ้นมา เราไปรื้อไปค้นขึ้นมา ทำไมมันถึงเกิดล่ะ ทำไมมันถึงเกิด เพราะมันมืดบอดมันถึงเกิด

ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา มันมีภาวนามยปัญญาขึ้นมา อ๋อ! สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด เพราะเราเห็นผิดไปทุกๆ เรื่องเลย เราไม่เคยเห็นถูกต้องทำนองคลองธรรมสักเรื่องหนึ่ง ไม่เคยเห็นถูกต้องทำนองคลองธรรมเลย เห็นผิดไปกับความเป็นจริงตลอดเลย ความเป็นจริงมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ แต่มีความเห็นผิด เห็นผิดคืออวิชชา เห็นผิดคือความไม่รู้ เพราะความไม่รู้มันถึงยึดมั่นถือมั่น มันถึงเวียนว่ายตายเกิดนี่ไง

ถ้ามีปัญญาขึ้นไป ไปรู้เท่าเห็นเท่าขึ้นมา มันพัฒนาขึ้นไป สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด แม้แต่กายมันก็สักแต่ว่า กายนี้มันก็เกิดขึ้นมาในสถานะของมนุษย์ เป็นเทวดา อินทร์ พรหมเขาได้สถานะหนึ่ง เวลาเป็นมนุษย์ขึ้นมา มนุษย์ก็ใช้ภพชาติหนึ่งใช่ไหม แล้วเราก็เป็นของเราๆ อยู่นี่ มันเห็นผิด เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา มันพิจารณา มันแยกแยะของมัน พอมันเห็นถูก มันคลาย มันปล่อยมันวาง เวลามันขาด มันขาดนะ มันขาดถึงเป็นอกุปปธรรม

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คือสภาวะที่มันเปลี่ยนแปลงที่เราพิจารณาอยู่เป็นอนัตตา เวลามันขาดไปแล้วมันเป็นอกุปปธรรม มันเป็นอนัตตาไหมล่ะ มันจะเวียนว่ายตายเกิดอีกไหมล่ะ มันมีอะไรฝังใจอยู่ไหมล่ะ พอมันรู้เท่าขึ้นมามันเป็นประโยชน์อย่างนี้ เห็นไหม ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาจากสัจจะความจริง มันรู้ไปหมด

ที่ว่าผลของวัฏฏะๆ ใครมันเป็น เราก็ไปเถียงกันนรกสวรรค์มีไหม ทีนี้ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” ไอ้เราก็เลยบอกว่า “เออ! สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นรกสวรรค์ไม่มีหรอก”

ถ้าไม่มีสวรรค์ในอก ไม่มีนรกในใจ แล้วจิตนี้มันจะไปสวรรค์ ไปนรกอย่างไรล่ะ เพราะมันมีสวรรค์ในใจ มีสุคโต มันดับที่นี่มันถึงไปสวรรค์ ถ้ามันมีนรกในใจ มันมีแต่ความเดือดร้อนในใจ เวลามันตายไปมันจะไปไหนล่ะ

เห็นไหม สวรรค์ในอก นรกในใจมันเป็นผลการกระทำ มันเป็นกรรม มันถึงจะให้ผลตามนั้น ตามนั้นน่ะ ถึงบอกว่าเกิดมาจากไหนๆ คนนั้นเกิดมาจากพ่อจากแม่ คนนั้นเกิดมาจาก...ไม่ใช่หรอก เกิดมาจากกรรมดี-กรรมชั่ว กรรมดี-กรรมชั่วของเรานี่แหละ กรรมดี-กรรมชั่วมันไสไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนให้เราทำคุณงามความดี

ใครเขาจะติฉินนินทา ใครเขาจะถากถาง ไอ้นั่นปากสกปรก คิดดูสิ ปากของเขากับปากขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ เราจะเชื่อใครล่ะ เราจะเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเราจะเชื่อปากสกปรก นี้ภายนอกนะ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่หรอก มันเชื่อ มันคิด มันเชื่อกูนี่แหละ เชื่ออวิชชานี่แหละ เชื่อความเห็นผิดในใจนี่แหละ แต่พอคนเชื่ออย่างนี้มากขึ้นๆ ก็เป็นกระแสสังคม สังคมก็ว่าเป็นอย่างนั้นไป แล้วเราก็เจอกระแสสังคมไป เราถึงพยายามทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ฟังธรรมๆ

ทุกคนปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ความสุขทางโลกคือปัจจัยเครื่องอาศัยที่อุดมสมบูรณ์ แต่อุดมสมบูรณ์ขนาดไหน จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส มันจะสมบูรณ์แค่ไหน มันจะผ่องใสแค่ไหน สว่างไสวแค่ไหน มันต้องเฉาลงแน่นอน มันไม่มีสิ่งใดคงที่ จะสมบูรณ์อุดมขนาดไหนก็แล้วแต่ ในหัวใจเศร้าหมอง

ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกดวงใจว้าเหว่ ลองมีกิเลสอวิชชาอยู่ในใจแล้ว ทุกดวงใจว้าเหว่ จะสมบูรณ์ขนาดไหนก็ว้าเหว่ แต่ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ เราพยายามหาของเราขึ้นมา เราจะไม่ว้าเหว่

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนนั้นทำใจของตนให้สว่างไสว ทำหัวใจของตนให้ผ่องแผ้ว เห็นไหม เป็นประโยชน์กับตน แล้วจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น เป็นประโยชน์กับตน ต้องมีเหตุมีผลถึงชี้นำบอกคนอื่นได้ ถ้าเราไม่เคยรู้เคยเห็น เราจะไปบอกใคร เราจะไปบอกใครว่าถูกต้องอย่างไร เห็นไหม จะเป็นประโยชน์กับใจดวงนี้ จะเป็นประโยชน์ตนก่อน ต้องเป็นประโยชน์กับตน ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ประโยชน์กับตนแล้วจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น เอวัง