เทศน์เช้า วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ถ้าเด็กๆ มันเบื่อ หลวงพ่อพูดอะไรก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่โดยสัจธรรม เราอุตส่าห์ขวนขวายกันมา เราขวนขวายกันมา เราเสียสละไง
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง ธรรมะคือให้ปัญญา ปัญญามันอยู่ที่ไหนล่ะ ปัญญา หลวงตาบอกว่าปัญญามันต้มแกงกินไม่ได้ คือปัญญาจะไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ ปัญญาต้องใช้ความคิด ถ้าใช้ความคิด ใช้ปัญญา ปัญญาทำให้ชีวิตของเรามันไม่อั้นตู้ มีปัญหาสิ่งใดมันแก้ไขได้ด้วยปัญญาทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เป็นปัญญาๆ เห็นไหม ให้ธรรมเป็นทาน ให้ธรรมเป็นทาน
เราอุตส่าห์ขวนขวายกันมา เรามาเพื่อบุญกุศลของเรา ถ้าเพื่อบุญกุศลของเรา เวลาครูบาอาจารย์ เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ท่านบอกเลย เวลาเทศน์ต้องเทศน์จี้เข้าไปในที่กิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่จิตใต้สำนึก กิเลสมันอยู่ที่ใจดำไง พูดแทงใจดำ แต่ด้วยมารยาทสังคม พูดไม่ได้ สบายดีไหม พูดแต่ผิวๆ เผินๆ ไง เราทักทายกัน รักษามารยาท
แต่เวลาพูดธรรมะมันทิ่มเข้ากลางหัวใจเลยล่ะ พอทิ่มเข้ากลางหัวใจ ขนลุก ถ้ากิเลสทิ่มเข้ากลางหัวใจแล้วขนลุก คนนั้นมีโอกาส เพราะจิตใจมันเปิดกว้างไง จิตใจมันยอมรับ หมายถึงว่า ให้ยาแล้วยามันตรงต่อโรค ถ้าให้ยาแล้วมันดื้อยา มันไม่สนใจเลย ไม่สนใจสิ่งใดเลย เห็นไหม แต่เราบอกว่ามันจะเสียหน้าๆ
มันจะเสียหน้าไปไหน มันแทงเข้าสู่กิเลส กิเลสของเอ็ง
แล้วนี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อสังคมเขาบอกไปวัด พระจะรู้อะไร พระอยู่ในวัด ไม่เคยออกมาข้างนอกเลย พระจะรู้อะไร พระจะรู้อะไร
ไม่รู้ภาษาสมมุตินี่ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์หลงในอะไร? หลงในสมมุติบัญญัติ แต่พระอรหันต์ไม่หลงในอริยสัจ สัจจะความจริงกลางหัวใจไม่หลง แต่สมมุติบัญญัติมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สมมุติ ชื่อเสียง คนนี้ชื่อนาย ก. พอมาทักนาย ก. บอกไม่ใช่ ผมเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว นี่มันสมมุติมันเปลี่ยนแปลงกันได้ ถ้ามันเปลี่ยนแปลงกันได้ นั่นมันเรื่องสมมุติ
แต่เรื่องอริยสัจผิดไม่ได้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจธรรม มรรคมันเกิดอย่างไร สิ่งที่มันเกิดขึ้นมากลางหัวใจมันลบล้างอวิชชาได้อย่างไร ถ้ามันลบล้างอวิชชาได้ นั่นล่ะความจริง แล้วความจริงอันนั้นไม่มีเสื่อมสลาย ความจริงอันนั้นมันฝังอยู่กลางหัวใจ ความจริงอันนั้นเป็นความจริง แล้วความจริงมันเหนือโลกไง มันไม่สนใจหรอก เรื่องของโลก
โลก เรื่องปัญหาของสังคม เวลาสังคมมันเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องความจริงๆ เราแสวงหาความจริงกันที่นี่ ถ้าเราหาความจริงที่นี่ มันไม่มีการเสียหน้า ไม่มีหน้า ไม่มีตา ไม่มีอะไรเลย มันไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น สมมุติบัญญัติ สมมุติทั้งนั้น แล้วที่เรามากันอยู่นี่ เวลาแสดงธรรมๆ ก็แสดงผ่านสมมุตินี่แหละ
เวลาพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี่บัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่กิริยา กิริยาคือวิธีการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาศัยกิริยาอย่างนี้ อาศัยวิธีการอย่างนี้ อาศัยมรรคอย่างนี้เข้าไปถึงสัจจะความจริงอันนั้น
เวลาในมหายานเขาถามว่า นิพพานคืออะไร
เขาลุกขึ้นยืนนะ แล้วเม้มปากแน่นๆ แล้วนั่งลง เพราะมันพูดออกมาเป็นสมมุติหมดไง ถ้ามันพูดออกมาเป็นวิธีการหมด กิริยาของมันหมดไง แล้วเราเอากิริยามา แล้วก็มานั่งโต้เถียงกันว่าของใครถูกต้อง ของใครดีงาม แต่ถ้าใครทำความสงบของใจเข้ามาได้นั้นเข้าไปสู่เนื้อแท้ ตัวตนแท้จริงของเรา สิ่งที่เราได้มา ได้มาจากเวรจากกรรมนะ เราสร้างบุญกุศลสิ่งใดมาเราถึงเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เกิดมา อำนาจวาสนาของคนแตกต่างกัน แต่มนุษย์มีความเสมอภาคกันด้วยจิต ด้วยกายกับใจ
มนุษย์เสมอภาคด้วยมีหัวใจ เสมอภาคกันตรงนี้ แต่มนุษย์แตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนาบารมีของแต่ละบุคคล อำนาจวาสนาบารมีแต่ละบุคคลเกิดมาจากไหน? เกิดจากที่เราขวนขวายกันอยู่นี่ เราขวนขวายกันอยู่นี่ก็เพื่อหัวใจของเรา เพื่อบุญกุศลของเรา เพื่ออำนาจวาสนาบารมีของเรา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ แสวงหามาก็เพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมีอันนี้ ถ้าสร้างอำนาจวาสนาบารมีอันนี้ จิตใจมันปลอดโปร่ง จิตใจมันคิดแต่แง่บวก คิดแต่เรื่องเป็นบุญกุศล คิดแต่เรื่องคุณงามความดี
ถ้าจิตใจมันโดนบีบคั้น เกิดมาเราสร้างบุญกุศลของเรามาเหมือนกัน แต่มันอัตคัดขาดแคลน ความอัตคัดขาดแคลน ถ้าเรามีสติปัญญาเราก็ยับยั้งสิ่งนี้ได้ว่าเราสร้างอย่างนี้มา ความอัตคัดขาดแคลนมันก็เกิดจากการกระทำ แต่มนุษย์เสมอภาคกันด้วยหัวใจ มนุษย์เสมอภาคกันด้วยสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนสามารถจะทำคุณงามความดีได้ ทำความชั่วก็เป็นบาปอกุศลของใจของตัวเอง ถ้ามีสติปัญญา ถึงจะอัตคัดขาดแคลนขนาดไหนมันก็มีปัญญา มีปัญญามันก็รักษาหัวใจอันนี้ไม่ให้คิด
เวลาคิดมันแผดเผาตัวเองก่อน เราคิดดี-คิดชั่วก็แล้วแต่ คิดดี จิตใจมันก็ดีงาม คิดชั่ว คิดเอาเปรียบเขามันก็เผาตัวเอง ความคิดอันนั้นมันเบียดเบียนตนก่อนไง ถ้าเราทำคุณงามความดี มันก็ส่งเสริมตนก่อนใช่ไหม แต่ถ้ามันคิดในแง่ร้าย มันก็เบียดเบียนตนก่อนใช่ไหม มันเบียดเบียนตนแล้วก็ไปเบียดเบียนผู้อื่น เห็นไหม ถ้าเรามีสติมีปัญญา มีสัจธรรมอันนี้เราจะคิดอย่างนั้นไหม
ถึงมันจะอัตคัดขาดแคลนขนาดไหน เราก็มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน คนเหมือนกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีกายกับใจเหมือนกัน เราจะขาดแคลนอย่างใด เราก็จะมั่นคงของเรา เราจะทำคุณงามความดีของเรา เราจะสร้างสัจธรรมของเรา เราไม่ใช่เอาฟืนเอาไฟมาเผาตัวเรา เห็นไหม ถ้ามันมีคุณธรรมอย่างนั้น
แต่ถ้ามันเกิดมาด้วยเวรด้วยกรรม กรรมสร้างมนุษย์สมบัติมาได้เกิดเป็นมนุษย์สมบัติ แล้วมันมีแต่การแผดเผาตัวเอง มีแต่การทำลายเขาไปทั่วเลย แล้วบอกว่าตัวเรา เรามีสิทธิ เรามีเสรีภาพ เราเป็นปัญญาชน เรามีปัญญาของเรา มันหลอกตัวเอง ทั้งๆ ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การกระทำอันนั้นมันอยู่กลางหัวใจ การกระทำอันนั้นน่ะ การกระทำอันนั้นมันยืนยันกลางหัวใจ ฉะนั้น สุคโตไง ถ้าใครสุคโตนะ สุคโตที่นี่
สวรรค์ในอก เวลามันออกไปมันไปไหน นี่สวรรค์ในอก มันก็ไปสวรรค์ นรกในใจ นรกในใจนะ ของหนัก นรกมันมีแต่ตกต่ำ นรกในใจแล้วออกจากร่างนี้ไปมันจะไปไหนล่ะ สวรรค์ในอก นรกในใจคือต้นเหตุ ปลายเหตุคือวัฏฏะไง วัฏวน กามภพ รูปภพ อรูปภพเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของจิต
จิตเวลาทำคุณงามความดีมา เหมือนคนเวลาทำความผิดพลาดมา ศาลตัดสินก็ติดคุก พ้นจากโทษก็ออกจากคุกมา เราทำคุณงามความดีมาเราก็รื่นเริง เราก็มีสโมสรสันนิบาต เราก็มีแต่งานเลี้ยงของเรา บุญกุศล เวลาเราตกในวาระไหนล่ะ เราทำอะไร ชีวิตวันหนึ่งเราทำอะไรบ้าง
จิตนี้ก็เหมือนกัน มันสร้างสมสิ่งใดมาบ้าง เวลามันเคลื่อนไปมันก็ไปตามวาระของมัน แต่กรรมนี้เป็นอจินไตย อจินไตย หลวงพ่อก็บอกมาสิว่าขั้นตอนมันเป็นแบบใด มันซ้อนกันมาอย่างไร
มันซ้อนกันมา แต่จังหวะและโอกาสมันให้ผลแตกต่างกัน กาลเวลา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่ามันเป็นอจินไตย อจินไตยมันแน่นอนๆ แต่เราจะมาเรียงลำดับให้อย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์ๆ วิทยาศาสตร์ที่เราคิดกันมาเป็นสูตรสำเร็จ คำนวณแล้วต้องออกมาเป็นแบบนั้นๆ มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แต่เวลาจังหวะและโอกาสไง เวลาคำนวณออกมาแล้ว แต่มันอยู่ที่อุณหภูมิแตกต่างกัน อะไรแตกต่างกัน มันก็มีผลข้างเคียง
นี่มันเหมือนกัน เวลาทำคุณงามความดีๆ ถ้าเรามีปัญญา แล้วปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ปัญญาของเรานะ ปัญญาเราฝึกฝนของเรา แต่เวลายางเหนียว ตัณหาความทะยานอยาก คำว่า ตัณหาความทะยานอยากล้นฝั่ง คำว่า ล้นฝั่ง คือมันเกินพอดี มันคิดของมัน
ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ความคิดมันเป็นภาระ มันเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ ขันธ์ ๕ นี้สะอาดบริสุทธิ์ คำว่า สะอาดบริสุทธิ์ มันสะอาดบริสุทธิ์เพราะมันไม่มีกิเลสเข้ามาครอบงำ แต่มันคงที่ไม่ได้ มันต้องแปรสภาพ มันต้องทิ้งไปไง
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เวลาเราทิ้ง สอุปาทิเสสนิพพาน เศษส่วน เศษที่เหลืออยู่ เวลาชำระล้างกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชาในใจ คือไม่มีตัณหาความทะยานอยาก พอไม่มีตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่แสดงออก สิ่งที่ท่านวางเป็นธรรม กิริยา วิธีการ ทฤษฎี อันนั้นเป็นธรรม เราก็ว่าอันนั้นคงที่ตายตัว
แต่สิ่งนั้นมันเป็นวิธีการให้เราฝึกหัด ให้เราประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าเราไปรู้จริงๆ อันนั้นมันพ้นไป สิ่งนั้นถึงว่า ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ถ้ามันไม่มีกิเลส มันไม่มีกิเลสเข้ามา ความคิดก็คือความคิดนะ แต่ความคิดพอมันคิดแล้ว เราคิดแล้วเรามีการกระทำใช่ไหม ถ้าคิดแล้วเราทำอย่างนั้น เราคิดแล้วเราต้อง...แต่ถ้าคิดแล้วดีล่ะ เราคิดแต่นั่งสมาธิภาวนา เราคิดแต่จะเอาชนะตัวเอง เราคิดแล้วเราจะนั่งอยู่โคนไม้ เราจะเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา เราจะเกิดศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธิคือจิตมันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามามันมีความสุขของมัน มันมีกำลังของมัน แล้วมันจะเห็นความมหัศจรรย์ของใจไง
ที่ว่าสิทธิเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพของคน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน มีปรมาณู มีนิวเคลียร์ มีสิ่งต่างๆ มีคุณธรรมในหัวใจ แต่มันไม่ใช้ มันใช้ไม่เป็น มันหาไม่เจอ มันไปเอาแต่ความรู้สึกนึกคิด แล้วให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากยุแหย่ แล้วก็ออกไปข้างนอก ศึกษาค้นคว้าธรรม...ค้นคว้าที่ไหน
เวลาครูบาอาจารย์ของเราเข้าป่าเข้าเขาไป ไปอยู่โคนไม้ ไปอยู่ที่สัปปายะที่มันเสียวสันหลัง ที่สิ่งที่มันน่ากลัว เอาความน่ากลัวนั้นมาให้เรามีความเข้มแข็ง เขาธุดงค์ไปเขาก็ธุดงค์หาตัวเองนี่แหละ ธุดงค์ไปก็หาจิตเรานี่แหละ อาศัยสภาวะแวดล้อมชัยภูมิเป็นที่สงบสงัด เป็นที่วิเวก ถ้าอยู่ด้วยกัน พระไป ๒ องค์ พรุ่งนี้เช้าบิณฑบาตออกพร้อมกันนะ เดี๋ยวมีอะไรก็เอามาแบ่งกันเนาะ แม้แต่ไป ๒ คนมันก็ยังกังวล ยังคิดถึงกัน แล้วเราอยู่ในสังคม พระนี้ไม่จริง ต้องเข้าป่าเข้าเขา สู้เราไม่ได้ เราปฏิบัติอยู่กลางสังคมเลย อู๋ย! เราปฏิบัติดี
ไอ้ปฏิบัติแบบนั้นเป็นประเพณีวัฒนธรรม พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทาน เรื่องปริยัติ ปฏิบัติ พอเวลาปริยัติเราก็ศึกษากันมาแล้ว ทุกคนความรู้ท่วมหัว มีแต่ความรู้ ธรรมะเข้าใจไปหมดเลย นี่ปริยัติ วิธีการ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิธีการๆ ทฤษฎี ปฏิบัติ ปฏิบัติให้มันเป็นจริงขึ้นมา ก็เห่อ โอ้โฮ! ปฏิบัติกันใหญ่เลย แล้วปฏิบัติเอาอะไรล่ะ ปฏิบัติเอากิเลสไง ปฏิบัติเอาธรรมว่าทุกอย่างทำเสร็จแล้ว แล้วได้อะไรต่อ ได้งงๆ กลับมาถึงบ้านก็เผอเรอ เอ๊! สมาธิเป็นแบบนั้น ว่างไปหมดเลย เห็นไหม ปฏิบัติเป็นประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมไง วัฒนธรรมของชาวพุทธไง เขาปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติกับเขา เขามีอะไรก็ต้องมีเหมือนเขา เขาได้ปฏิบัติ เราก็ได้ปฏิบัติแบบเขา แล้วผลมันล่ะ
แต่เวลาเราจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านวิเวก ท่านสงบสงัดเอาความจริงของท่าน เวลามันเป็น มันเป็นกลางหัวใจ มันเป็นจริงนะ ถ้าเป็นจริงๆ ทำไมท่านรื่นเริงอาจหาญล่ะ
ครูบาอาจารย์ของเรา เช่น หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกว่าเดินจงกรมจนเฒ่าจนแก่ เช้าขึ้นมาต้องเดินจงกรมก่อน ดูสิ หลวงปู่ขาวเดินจงกรม ๓ เส้น พระอรหันต์ทั้งนั้นนะน่ะ พระอรหันต์นะ พระอรหันต์ทำอย่างนั้น
แล้วเรากิเลสท่วมหัว แล้วอยากปฏิบัติจะเอาจริง ไปนั่งเป็นตุ๊กตาไง นั่งเป็นแถว เวลาเดิน เดินแบบทหารเลย โอ้โฮ! เดินเป็นแถว เป็นอย่างนั้นหรือ เราจะปฏิบัติธรรมหรือเราจะฝึกทหาร เราจะเล่นตุ๊กตาใช่ไหม สะสมตุ๊กตา เอาไว้สะสมกันใช่ไหม มันไม่จริง แต่เป็นวัฒนธรรม ถือว่าได้ทำ ได้ปฏิบัติแล้ว ชาวพุทธเข้าใจในการปฏิบัติ แต่เอาใจของตัวเองไว้ในอำนาจของตัวเองไหม
ถ้าเอาใจของตัวเองไว้ในอำนาจของเรา นี่สิทธิเสรีภาพ จะเห็นความมหัศจรรย์ของจิตนะ จิตเวลามันสงบขึ้นมามันสงบ โอ้โฮ! มันสงบ มันมีคุณธรรมของมัน คุณธรรมมันหาซื้อไม่ได้ ธุรกิจบริการ ที่ไหนบริการดี ที่ไหนเขาทำได้ดี สปานี่ไปกัน โอ้โฮ! ที่ไหนสุดยอด ไปกันนะ แต่อันนี้ไปหาที่ไหนล่ะ แล้วใครจะทำให้ล่ะ แล้วถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาล่ะ
สิทธิเสรีภาพ นิวเคลียร์นิวตรอนอยู่ในใจของตัวเองทั้งนั้นแหละ มันมีกำลัง ดูสิ เวลาเข้าฌานสมาบัติมันไปได้สามโลกธาตุนะ จิตนี้ มันไปได้หมด รู้วาระไปหมด จะเอาอะไร จะถามอะไร บอกมา มันไปได้หมด แต่มันก็ไปได้แค่นั้นแหละ มันไปในวัฏฏะ แต่มันไม่ได้เข้าไปในใจของตัวเองเพื่อเกิดมรรคญาณ ทำลายอวิชชา เพราะการไปอันนั้นใครทำได้ ฉันทำได้ ฉันต้องเหนือเธอแน่นอน มันเกิดเป็นบุคคลวิเศษไง เป็นบุคคลที่เหนือคนอื่นไง เกิดทิฏฐิ เกิดมานะ เกิดว่าคนเหนือคน นั่นอะไรน่ะ ใช่ทิฏฐิไหม ใช่อัตตาไหม แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ แล้วถ้าเป็นมรรคล่ะ มรรคมันเป็นอย่างไร
เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านมาท่านเป็นอย่างนั้นจริง ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ ฟังธรรมแบบนี้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์เพราะอะไร เพราะใจของท่านควบคุมจนมีศีลในใจของท่าน คือความปกติของใจ แล้วจิตของท่านสงบลง แล้วจิตของท่านยกขึ้นสู่วิปัสสนา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นจากไหนล่ะ? ท่านเป็นจากกิริยาของใจ จากน้ำใจ จากการกระทำในหัวใจ
แล้วเรามีหัวใจไหม เรามีความสุข-ความทุกข์ไหม? เรามีทุกอย่างเลย เรามีเหมือนกันหมดเลย แต่เราใช้ไม่เป็น หาไม่เจอ แล้วไม่เอามาใช้ แล้วเวลาพระที่อื่นเขาสำมะเลเทเมาก็อันนั้นไม่ถูกต้องๆ
ไม่ถูกต้องเพราะว่าเขาได้โอกาส เขาได้โอกาส เขาเป็นนักพรตนักบวช เป็นผู้ที่ประกาศตนที่จะเอาชนะตนเอง แต่แพ้กิเลสของตัวเอง ทำตัวอย่างนั้น แต่นักพรตเหมือนกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานักพรตเหมือนกัน ท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน ท่านทำความจริงของท่าน ในสังคมทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนเลว แล้วทำไมไม่เอาคนดีมาเป็นตัวอย่างล่ะ
เวลาเราคิด เราต้องเอาคนดีเป็นตัวอย่างสิ เราจะไปเอาคนเลวเป็นตัวอย่าง ไม่ต้องไปเอามา เพราะมันมีอยู่แล้วทั่วโลก เราเองก็เป็นได้ คนเลวไม่ต้องบอกมันหรอก มันไหลไปเลย แต่คนดี คนดี แล้วใจมันดี แล้วใจที่มีกำลัง ใจที่เป็นความจริง
นี่ให้ธรรมเป็นทานๆ เป็นอย่างนี้ ให้ธรรมเป็นทานคือตักเตือน เตือนหัวใจ สิทธิเสรีภาพ ของที่มีอยู่ ให้กิเลสมันครอบงำไว้ แล้วเราก็วิ่งหา เหมือนกับเอาเพชรติดไว้ที่หน้าผาก แล้วก็วิ่งหาเพชร วิ่งหาๆ หาไม่เจอหรอก มันอยู่ที่หน้าผาก หาไม่เจอ ใจของเราแท้ๆ หาไม่เจอ
ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมๆ ท่านจะดึงกลับมาที่นี่ สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย เราอาศัยไปชั่วคราว อย่าไปตื่นเต้นกับมัน แต่ในเมื่ออาศัยใช่ไหม สังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พระเราเป็นสังฆะ ความเสมอกันไง ฉะนั้น สิ่งที่กระทำต้องเสมอกัน การผิดศีล การผิดแล้วพระอยู่ด้วยกันมันรังเกียจ พอรังเกียจ นานาสังวาส เหตุที่เกิดนานาสังวาสเพราะถือศีลแตกต่างกัน ความถือ ทิฏฐิมานะ ความเห็นแตกต่างกัน จนถึงที่สุดก็แยกเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นนานาสังวาส นานาสังวาสห้ามร่วมอยู่ด้วยกัน ห้ามกินด้วยกัน ห้ามนอนด้วยกัน เพราะมันรังเกียจ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะปรับปรุงใจของเรา ทำใจของเราขึ้นมา ให้เป็นจริงขึ้นมา ให้มีคุณธรรมขึ้นมา เป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมา เราจะเข้าใจสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้เราก้าวเดินนะ นั้นเป็นการก้าวเดินทางทฤษฎีที่เราจะจับยึดมั่นถือมั่นของเราไป
แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ มัคโค ทางอันเอก ทางของใจต่างหาก ศีล สมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้น ทางอันนี้เรารู้เราเห็นของเราเอง แล้วทางอันนี้มันจะประหัตประหาร ปัญญาญาณอันนี้มันจะประหัตประหารความไม่รู้ ความสงสัย สิ่งที่ฝังใจมันจะประหัตประหารสิ่งที่ทำลายนี้
การฆ่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน ไม่ให้มีการแก่งแย่งชิงดีกัน ทำอะไรปรับอาบัติหมด แม้แต่ความผิดเล็กน้อยก็ทุกกฏๆ แต่การประหารกิเลสประเสริฐที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุโมทนาด้วย ไม่ให้ทำสิ่งใดเลย ไม่ให้เบียดเบียนกันเลย ไม่ให้ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจต่อกันเลย แต่การประหารกิเลสประเสริฐที่สุด เอวัง