เทศน์บนศาลา

สกุลพุทธะ

๒๘ ต.ค. ๒๕๔๗

 

สกุลพุทธะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๗
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ วันนี้ออกพรรษา พรรษาปี ๒๕๔๗ นี่เป็นอดีตไปแล้ว เราจะเรียกร้องสิ่งนี้กลับคืนมาไม่ได้ มันเป็นอดีตไป ชีวิตล่วงไปๆ นะ วันนี้วันมหาปวารณา “มหาปวารณา” ถ้าเราได้ปวารณาต่อสงฆ์นะ ตามธรรมตามวินัยไง ถ้าจะปวารณาต่อสงฆ์ที่หมู่คณะใดก็แล้วแต่ เท่ากับปวารณากับหมู่สงฆ์ทั้งหมดไง หมู่สงฆ์ทั้งหมด สงฆ์เวลาปวารณาแล้ว ได้ปวารณากับสงฆ์ไว้ สงฆ์จะตักเตือน สงฆ์จะคอยชี้นำกันไง สิ่งใดขาดตกบกพร่องจะต้องดูแลกัน จะต้องเกื้อกูลกัน ถ้าเป็นธรรมนะ

ถ้าไม่เป็นธรรม จะอาศัยสิ่งนี้ ธรรมและวินัยนี้เหมือนกับทะเล เสมือนมหาสมุทร เหมือนทะเลที่กว้างขวางมาก มันจะพัดซากศพเข้าฝั่งตลอด มันไม่ยอมรับสิ่งสกปรกไว้ในทะเลนั้น ในทะเลนั้น น้ำนั้นคลื่นจะซัดสิ่งต่างๆ เข้าหาฝั่ง นี้ก็เหมือนกัน เราปวารณาไว้กับสงฆ์ ธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ สิ่งนี้เป็นเครื่องดำเนินไง ถึงกว้างขวางมาก แล้วเราจะทำอย่างไรให้เราเข้าถึงธรรม

ถ้าเข้าถึงธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมก่อน ถึงเป็นต้นสกุลนะ “สกุลพุทธะ” ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามค้นคว้าอยู่ ๖ ปี ขณะที่ค้นคว้าอยู่ เวลาท่านค้นคว้า สิ่งที่ว่าผิดพลาดไง เวลาจิตสงบจิตที่เป็นความสุขก็ได้

เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาทำสำเร็จมาแล้ว เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ครั้งแรกที่สอนภิกษุ ทเวเม ภิกฺขเว ทเว คือ ๒ ไง ทาง ๒ ส่วน อัตตกิลมถานุโยคที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปลองกับลัทธิต่างๆ ที่เขาสั่งสอนกัน อ้างตนว่าเป็นศาสดาเป็นผู้ที่ถึงธรรม ไปศึกษากับเขา ทำได้อย่างเขา ดีกว่าเขาทั้งหมด มันก็เข้าถึงธรรมไม่ได้ เพราะเป็นอัตตกิลมถานุโยค เอียงไปส่วนหนึ่ง ไม่มัชฌิมาปฏิปทา

เวลาทำความสงบของใจ เวลาเราทำสมาธิ ใครทำความสงบของใจได้ จะเข้าใจความสุขความสงบของใจ ว่าใจจะมีความสุขขนาดไหน เราประพฤติปฏิบัติกัน จิตถ้าเข้าถึงความสงบ เราจะมีความดูดดื่มกับอันนั้น จนเราเคลิบเคลิ้มนะว่าสิ่งนี้เป็นผลก็ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปเรียนกับอาฬารดาบส ได้ถึงสมาบัติ ๘ นะ ถ้าสมาบัติ ๘ ความคิดของใจ ถ้าใครเคยทำสมาบัติจะเข้าใจนะ เริ่มจากปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุต ถฌาน ความเป็นรูปฌานมันขับเคลื่อนไป มันเปลี่ยนตั้งแต่ปฐมฌาน ความสงบของใจมันพลิกแพลงอย่างไร มันจะเห็นสภาวะแบบนั้นนะ แล้วอรูปฌานมันยิ่งมหัศจรรย์นะ เวลาจิตมันพลิก มันเปลี่ยนขั้นตอน เวลาขั้นตอนของที่มันเปลี่ยนจากฌานหนึ่งขึ้นอีกฌานหนึ่ง นี่ความเป็นไปของมัน มันขับเคลื่อนไปมันมีความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์มาก มันเปลี่ยนแปลงไป เห็นความอย่างนั้นมันน่าจะติดนะ

นี่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติกัน ที่ว่าเราเป็นปุถุชน ส่วนใหญ่จะติด ติดเพราะว่ามันมีรสชาติ ๑ มันมีกำลังของมัน ๑ แล้วมันมีความรู้ต่างๆ ไง อุตตริมนุสสธรรมไง ธรรมเหนือมนุษย์ ปุถุชนไง มนุษย์ปุถุชนทำสิ่งนี้ได้ยาก กามสุขัลลิกานุโยค สิ่งที่เป็นกามสุขัลลิกานุโยคเพราะมันเป็นความสุขไง มันเป็นความสุข มันเป็นกาม กามเพราะอะไร เพราะรูปฌาน มันเป็นรูป มันเป็นกาม เพราะมันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นพลังงานที่ใจมันเกาะเกี่ยว มันเป็นรูปของใจ สิ่งที่อาการของใจมันสัมพันธ์กัน มันถึงเป็นกามสุขัลลิกานุโยค

สิ่งนี้ ทเวเม ภิกฺขเว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่มหาศาลเลย ๖ ปีนะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีบารมีมาก มีบารมีมาก มีกำลังมาก สิ่งที่ทำ ทำสิ่งใด พิสูจน์สิ่งใด กำลังของใจมันจะทำได้เหนือกว่า เหนือกว่า แต่ขนาดเหนือกว่าอย่างไร มันไม่มัชฌิมาปฎิปทา

ใน ๖ ปีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าธรรมอยู่นั้น สิ่งที่ค้นคว้านี่ลองผิดลองถูกมามหาศาล ถึงเวลาตรัสรู้แล้ว เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์ไง ถึงสงสารมาก ถึงสงสารพวกเราประพฤติปฏิบัติ ถึงเตือนไว้ตลอด ธรรมจะเตือนตลอด ธรรมและวินัยจะเตือนเรามาตลอดนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ธรรมและวินัยจะคอยเตือนเราถ้าเราซื่อสัตย์ แต่ถ้าเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราจะขี้โกงไง เราจะขี้โกงนะ เราจะยึดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของเรา แล้วเราจะสร้างสัญญาอารมณ์ว่าเป็นสภาวะแบบนั้น กิเลสมันร้ายกาจนักนะ นี่ขนาดที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติล่ะ จะเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม

นี่กึ่งพุทธกาลศาสนานี้จะเจริญอีกหนหนึ่ง ในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนั้นนะ แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราอยู่ในวงของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ วงกรรมฐานเรา เราจะเห็นว่าวงพระศาสนาเจริญมาก เพราะเรามีครูมีอาจารย์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นหมู่ใหญ่มาก หมู่ใหญ่ ถ้าเราเทียบเคียงออกไปถึงประชากรของโลกมันเล็กน้อยมาก เล็กน้อยมาก

แล้วในปัจจุบันชาวพุทธของเราเองก็ถามกันนะ ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า มันน่าสลดสังเวชมากนะ กล้าถามได้ขนาดที่ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีตัวตนจริงหรือเปล่า นี่ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่เชื่อสิ่งใดเลยสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ค้นคว้าอย่างนั้น ปัญญามากขนาดนั้น เวลาค้นคว้า เวลารื้อค้นออกไป ในอัตตกิลมถานุโยค ทำขนาดไหนที่ว่าทำให้ทรมานตน ทรมาน เข้าใจว่าการทรมานตนคือการทรมานกิเลสไง การทรมานกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ มันไม่เข้ามามัชฌิมาปฏิปทา มันไม่เข้ามาที่ใจ

จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษากับเขามาทั้งหมดแล้ว ถึงเริ่มต้น เฉลียวใจตั้งแต่ตอนเป็นราชกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะพาออกไปแรกนาขวัญ นั่งอยู่โคนต้นหว้า ความสงบที่กำหนดลมหายใจ “อานาปานสติ” เข้าใจถึงขนาดที่ว่า มันย้อนกลับไปถึงตอนเป็นเด็ก ถึงต้องทำอารมณ์อย่างนั้น เพราะอารมณ์อย่างนั้น อารมณ์เป็นกลางไง เห็นไหม กลางคือเป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่ย้อนอย่างนั้น ถึงกลับไปทำอานาปานสติ ทำลมหายใจเข้าและลมหายใจออก อยู่กับในปัจจุบันลมนั้น แล้วย้อนกลับ พอจิตสงบเข้าไปขนาดไหน เพราะสร้างสมมามาก

ถ้าไม่ได้ศึกษาของลัทธิต่างๆ มา เวลาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะว่าไม่เคยลองของใครมาแล้วจะสอนได้อย่างไรไง นี่ลองมาทั้งหมด อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มันถึงไม่ใช่มรรค เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อาสวักขยญาณ มรรค ๘ เกิดตรงนี้ เกิดตรงที่เข้ามาชำระ นี่ต้นตระกูลของพุทธะไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธเจ้าเป็นต้นสกุลหนึ่ง แล้ววางศาสนาไว้นะ วางศาสนาไว้เป็นธรรมและวินัยให้เราก้าวเดินตาม แล้ววางวินัยไว้ แล้วเราศึกษา จนเรามีศรัทธาความเชื่อ เราได้บวชเป็นพระ เป็นสงฆ์ บวชเป็นพระนะ

ครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนะ ก่อนที่ปรินิพพาน เริ่มต้นตั้งแต่ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วินัยยังไม่มี แต่ธรรมเกิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่มาก่อน เผยแผ่ธรรมมา เริ่มต้นจากมีผู้เข้ามาบวช เอหิภิกขุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้เอง “จงเป็นภิกษุเข้ามาเถิด” นี่บวชง่ายๆ อย่างนั้น เพราะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำเองไง เวลาพระมากขึ้น ให้สงฆ์เป็นผู้บวชให้ ถึงไตรสรณคมน์ ถึงสุดท้ายเรา ต้องให้สงฆ์เป็นผู้บวชใช่ไหม จตุตถกรรม สงฆ์เป็นผู้บวช นี่ธรรมวินัยวางมาเป็นชั้นเป็นตอนมา เป็นชั้นเป็นตอนเพราะสงฆ์หมู่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่หมู่ใหญ่ขึ้น คนเข้ามาบวชมากขึ้น พระเข้ามาบวชมากขึ้น นี่พอเข้ามาบวช ทิฏฐิความเห็นของพระมันก็มีต่างๆ กันไป วางธรรมและวินัยมา

แต่เดิมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สวดพระปาฏิโมกข์เอง เพราะพระยังน้อยอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสวดเองนะ ทวนธรรม ทวนวินัยตลอดไป ให้เราเข้าใจธรรมให้เข้าใจวินัยเพื่อจะได้รักษาตน มีระดับนี้ แล้วเพิ่มขึ้นมาเรื่อย เพราะผู้ที่ทำอาบัติมีมากขึ้นมาเรื่อย จนสุดท้ายนะ สงฆ์ในหมู่นั้นไม่บริสุทธิ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารอจะสวดปาฏิโมกข์...ไม่สวด จนพระอานนท์นิมนต์แล้วนิมนต์อีก จนใกล้สว่าง บอกว่า “สงฆ์นี้ไม่บริสุทธิ์” ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปาฏิโมกข์นะ ผู้ที่มาสวดนั้นจะตกนรกไง ถึงว่ามีความเมตตาขนาดนั้นนะ ทั้งๆ ที่ธรรมเป็นประโยชน์ แต่มันจะสะเทือนกับคนอื่นที่เป็นโทษ ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมออกไปเพื่อเป็นธรรมไง

พระอนุรุทธะถึงกำหนดดูจิตไง ว่าใครเป็นผู้ที่ว่าไม่บริสุทธิ์ในสงฆ์นั้น ถึงได้จับแขนออกไปไง ว่า “บัดนี้สงฆ์บริสุทธิ์แล้ว ขอให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระปาฏิโมกข์เถิด” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสลดใจมาก สลดใจ ผู้ที่เข้ามาบวชในศาสนาก็มีผู้ที่เข้ามาบวชจริงและไม่จริง ตั้งแต่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงพระปาฏิโมกข์เสียเอง

ถึงบอกว่า “ต่อไปนี้ให้สงฆ์เป็นผู้สวดพระปาฏิโมกข์นะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระทำกันเองต่อไป เพราะมันสลดสังเวชขนาดนั้นนะ นี่วางธรรมวางวินัยมา แล้วในปัจจุบันนี้ธรรมและวินัยสืบต่อกันมา สืบต่อกันมา สืบต่อเป็นช่วงๆ มานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนะ

พระเจ้าอโศกมหาราชขณะที่ออกรบนะ ออกรบ ต้องการเผยแผ่อำนาจ เผยแผ่บุญญาธิการของพระเจ้าอโศก รบราฆ่าฟันตายมหาศาลเลย เวลาสลดสังเวชกับสภาวะแบบนั้น ๑ แล้วเวลาเห็นเณรน้อยไง เห็นเณรน้อยนะ เห็นเณรน้อยเดินอยู่ ตัวเองอยู่บนราชวังนะ มีความเมตตาไง ความเมตตาให้อำมาตย์ไปนิมนต์ขึ้นมา แล้วให้แสดงธรรมให้ฟังไง เณรบอกว่าเณรยังน้อยอยู่ แสดงธรรมให้ฟัง เห็นไหม ทำด้วยความเมตตานะ เมตตาเณรมาก

แต่เวลาเณรแสดงธรรมให้ฟังนะ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ให้ประมาท ไม่ให้ประมาท ให้ตั้งสติ ให้ตัวเองมีสติ ถ้าคนไม่ประมาทจะไม่ทำความผิดพลาดเลย นี่มีความสะเทือนใจนะ ความสะเทือนใจ จนหันกลับมานับถือศาสนาพุทธ จนเป็นผู้ที่ว่าส่งเสริมพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เผยแผ่ออกมา เป็นวงกว้างออกมา วงกว้างขึ้นมาขนาดไหน สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัย

เวลาเราเป็นชาวพุทธ เราอ่านพระไตรปิฎก เวลาพูดถึงศีลธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันลังเลใจนะว่าจะทำได้ขนาดนั้นหรือ ในเมื่อว่าครั้งพุทธกาลคนมีศรัทธามีความเชื่อน่าจะทำได้ ในปัจจุบันนี้ใครจะทำได้ขนาดนั้น นี่ถ้าเราคิดในทางโลกไง เวลาเราบวชเข้ามาแล้ว ศีลธรรมจริยธรรมจะไม่ให้โลกเจริญ จะต้องใช้ไปตามภาษาโลก มันจะขัดแย้งไปกับโลกตลอดเวลา

แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธ ในเมื่อพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ บัญญัติกฎหมายมา บัญญัติกฎหมายมาก็เพื่อธรรมวินัย สิ่งที่ธรรมวินัย เราก็จะอยู่ในสังคมนี้ด้วยความสงบสุข ถ้าสังคมนี้สงบสุขขึ้นมา เพราะอะไร เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นชาวพุทธ สกุลของพระพุทธศาสนา สกุลนะ “สกุลของพุทธะ” ถ้าเป็นสกุลของพุทธะ เราเป็นพุทธบริษัทไง อุบาสก อุบาสิกา ในเมื่ออุบาสก อุบาสิกา มันสิ่งที่ใจนี้เป็นชาวพุทธไง ถือศีล ๕ มีทาน มีศีล มีภาวนา

ถ้าเกิดมีการภาวนา ผู้ที่อยากภาวนามันจะเริ่มความศึกษาไง ศึกษาธรรม ธรรมวินัยอย่างนี้จะทำให้ ศีล มันก็ยอมจะรักษานะ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ถ้าเราจะถือศีลระดับไหน เวลาเราเป็นปะขาวไง เราเข้ามาเป็นปะขาว ชี พราหมณ์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจะชำระกิเลส สิ่งนี้จะยอมทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สกุลของพุทธะมันก็เด่นชัดขึ้นมา

แต่ถ้าอยู่ตามกระแสโลกไง อยู่ตามกระแสโลกมันก็เป็นไปตามโลกนะ โลกเป็นแบบนั้น โลกสิ่งต่างๆ ต้องการความสุข โลกเป็นเรื่องของกิเลส เวลาเราบวชขึ้นมา เวลาเขาตั้งใจเป็นศรัทธาอยากบวช บวชขึ้นมาแล้วเพื่อจะจรรโลงศาสนา แต่ถ้าจรรโลงศาสนา กิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ในหัวใจ นี่ซากศพไง ซากศพอยู่ในทะเล ธรรมและวินัยจะซัดซากศพนั้นให้เข้าหาฝั่ง เข้าหาฝั่ง มันมีความกังวลใจ มันมีความทุกข์ร้อนใจ ใจนี้จะทุกข์ร้อนมาก ทุกข์ร้อนเพราะอะไร

เพราะสิ่งที่ทำไว้ในหัวใจของเรามันจะเผาลนใจไง กิเลสตัณหาความทะยานอยากจะเผาลนใจนั้นนัก ถ้าเผาลนใจนั้นนักเหมือนจะเป็นความทุกข์ สิ่งที่เป็นความทุกข์ไง แล้วกด ปิดบังไว้ ปิดบังไว้ขนาดไหน มันเป็นเรื่องของความเปิดเผยสำหรับเรา เราเป็นคนกระทำนะ ความลับไม่มีในเรา ความลับจะมีแต่คนอื่น แต่ความลับไม่มีในเรา ในเมื่อใจมันเป็นกังวลอย่างนั้น สิ่งที่เป็นความกังวลนี้เป็นนิวรณธรรม

ถ้าเป็นนิวรณธรรมหัวใจมันเศร้าหมองอยู่แล้ว ถ้าหัวใจมันเศร้าหมอง จิตดวงนี้ พุทธะนี้ โดนปกคลุมไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี้เป็นกิเลสนะ เป็นวัฏวนของมัน เริ่มมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันถึงได้ทำกรรมไง สิ่งที่ทำกรรมแล้ว ผลก็ตกเป็นวิบาก เป็นผล ผลนั้นก็ต้องเกิดกับใจแน่นอน

สิ่งที่การกระทำนี้ เกิดการกระทำมาจากไหน เรามีศรัทธามีความเชื่อนี้ มันมาจากไหน ทำไมคนอื่นเขาไม่มีความศรัทธา ไม่มีความเชื่อเหมือนเรา ความศรัทธา ความเชื่อนะ ถ้ามีศรัทธา มีความเชื่อ เราเริ่มต้นศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกลับขนาดไหน เราศึกษาของเราเข้าไป มันอยู่ที่ว่าปัญญาของคน ถ้าปัญญาของคน มันตีความต่างๆ กันไป ถ้าเราตีความได้สะเทือนใจของเรา นี่มันสะเทือนกิเลส

การสะเทือนกิเลส มันต้องอาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องจูงใจก่อน ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องจูงใจ มันจะเกี่ยวไปกับโลกหมด “โลก” มีสิ่งล่อลวงตลอดเวลา รูป รส กลิ่น เสียง เพราะตัณหาความทะยานอยากกับมารในหัวใจของเรา มันไปด้วยกัน มันจะไปด้วยกันโดยราบรื่นเลย ราบรื่น มันจะทำลายโอกาสเราไง

ดูสิ ดูอย่าง กาลเวลาล่วงไปๆ นะ หมดพรรษาไป เราจะเรียกร้องกาลเวลาสิ่งนี้กลับมาไม่ได้เลย สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติมา ในพรรษานี้ถ้าเราได้ตั้งสัจจะไว้ จะถือธุดงค์ขนาดไหน จะทำสัจจะข้อไหน ถ้าเราได้ทำสมกับสัจจะนั้น เราก็มีความภูมิใจของเรา สิ่งที่ความภูมิใจของเรา ในการสร้างบ้านสร้างเรือนเขาต้องปรับพื้นที่ เขาต้องถมดิน หินก้อนแรก กรวดก้อนแรกที่ถมลงไป

นี่ก็เหมือนกัน เราฝึกประพฤติปฏิบัติ เราตั้งสัจจะไว้ขนาดไหน เราก็ถมไง ถมตามสัจจะของเรา ถมความจริงจังของเราไปในหัวใจของเรา ตามธรรมว่า “ทะเลถมไม่มีวันเต็ม” ถมไม่เต็มหรอก ในมหาสมุทรนี่ถมขนาดไหนก็ไม่เต็ม เพราะมหาสมุทรมันกว้างขวางมาก แต่ใจของคนลึกลับมหาศาล ลึกกว่ามหาสมุทรนี้นัก หยั่งน้ำใจของคนไม่ได้นะ แต่ถ้าเรามีสัจจะ เรามีความจริง มันมีขอบเขต ขอบเขตเกิดจากตรงนี้ไง เกิดจากเรามีสัจจะของเรา เราสร้างของเราขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ นี่สามารถถมเต็มได้นะ ถมเต็มได้ ถมเต็มได้เพราะเรา เราทำใจของเราให้อิ่มเต็ม ถ้าใจของเราอิ่มเต็ม มันจะเกิดสัมมาสมาธิ มันจะเกิดความตั้งมั่นของมัน ถ้าจิตนี้ตั้งมั่น เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติได้นะ

ในวงของพระนะ เวลาเราปวารณากัน จากหมู่สงฆ์ทั้งหมด สงฆ์ สงฆ์ในสังคม ในสังคมต่างๆ สงฆ์เกี่ยวพันกันไปหมด ปวารณา-มหาปวารณาคือให้ตักให้เตือนกัน แต่แล้วตักเตือนกัน เขาฟังไหมล่ะ ถ้าเขาไม่ฟัง ในวงของปริยัติ ในเรื่องธรรมวินัยก็ตีความตามธรรมและวินัย ในเรื่องธรรมข้อหนึ่ง ศีลข้อหนึ่ง

ในเมื่อวัตรปฏิบัติก็เหมือนกัน สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของเปลือกนะ ถ้าเป็นเรื่องของเปลือก ศีล สมาธิ ปัญญา ในเรื่องของศีล ศีลถ้ามันเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน อยู่กันมีความสุข มีความสงบร่มเย็นมาก ทิฏฐิต่างกัน ในเมื่อทิฏฐิความเห็นไม่เหมือนกัน ถ้าศีลต่างกัน นานาสังวาสเกิดตรงนี้ไง เกิดตรงความเห็นต่างกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่ว่า หนีจากพระที่มีความเห็นต่าง ระหว่างธรรมกถึกกับวินัยธรมีปัญหากันเรื่องน้ำในขัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอมีความเห็นต่างกันนี้ เธอจะอยู่ร่วมกันไม่ได้นะ เธอจะกินร่วมกันไม่ได้ เธอจะนอนร่วมกันไม่ได้ ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มีความขวนขวายน้อยเถิด” นี่พระไม่ยอมฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ความเห็นต่างด้วยความเห็น จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลีกเร้นเข้าไปในป่าเลไลยก์

เวลาพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนีเข้าไป ให้ช้างกับให้ลิงอุปัฏฐากไง ถ้าความเห็นต่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก นี่ธรรมวินัย ว่าถ้ามีความเห็นต่างนี้เป็นนานาสังวาส นานาสังวาสจะอยู่ร่วมกันก็ไม่ได้ จะกินร่วมกันก็ไม่ได้ จะทำสังฆกรรมร่วมกันก็ไม่ได้ ทำสามีจิกรรมไม่ได้ ให้แยกกันทำ

แต่ในเมื่อความเห็นอย่างนั้น มีความเห็นเพราะทิฏฐิตัณหา ทิฏฐิตัณหาความดื้อของตัวเองไม่ยอมลง แต่ในเมื่อคฤหัสถ์นะ อุบาสก-อุบาสิกาเขาฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นพระนี้ไม่ยอมฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาไม่ใส่บาตรให้ฉัน จนหิวจนโหย จนต้องยอมลงตัว ให้ไปนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา เวลากลับมา เทศน์สอนระหว่างพระฝ่ายธรรมกถึกกับฝ่ายวินัยธรให้สมานสามัคคีกัน แล้วให้ลงอุโบสถร่วม เห็นไหม สามัคคีอุโบสถเกิดตรงนี้ไง “สามัคคีอุโบสถ” เวลามีปัญหากันแล้วสวดสามัคคีอุโบสถ อุโบสถเวลาตกปักษ์นั้นก็เป็นสิ่งที่ว่าเป็นธรรม ธรรมโดยธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พอมีปัญหาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ พระนั้นมีความเห็นกลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง นี่ให้ทำสามัคคีอุโบสถ

สิ่งที่ทำสามัคคีอุโบสถ เพราะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ใครสามารถทำอย่างนี้ได้ล่ะ ในสมัยปัจจุบันนี้ ในเมื่อธรรมวินัยเราก็ต้องรักษาธรรมวินัยไว้แล้วแต่ความเห็นต่างๆ ทิฏฐิความเห็นต่างๆ เขาเห็นต่างกัน ความเห็นต่างกันนั้นเป็นเรื่องของปริยัตินะ สิ่งที่เป็นปริยัติเราก็ต้องศึกษาธรรมศึกษาวินัย ในเมื่อธรรมวินัยสิ่งนี้เป็นเครื่องดำเนินไง

ภิกษุบวชมาแล้ว ถ้ายังไม่เป็นนวกะ ไม่พ้นนิสัย ไม่พ้นนิสัยไปไหนอยู่ในแรมคืน ถ้าออกไปในแรมคืน ไม่อยู่ในนิสัย ๗ วัน คืนที่ ๘ จะเป็นปาจิตตีย์ แต่ถ้าขณะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนั้น แต่ก็มีบัญญัติยกเว้นไว้ ยกเว้นไว้แต่เวลาภิกษุเป็นนวกะออกธุดงค์ไป เดินทางอยู่ แล้วเกิดไปเจอที่เป็นสัปปายะ ภาวนาอยู่ จิตใจร่มเย็นอยู่ ภิกษุนั้นให้ตั้งสัจจะไว้ว่า “ถ้าเราเจอผู้อาวุโสมา เราจะขอนิสัย” นี่เราตั้งใจ ใจสำคัญมาก ใจแค่เกาะเกี่ยว เกาะเกี่ยวว่าเราจะขอนิสัย ถ้ามีภิกษุมาเราจะขอนิสัยคือไม่ประมาทไง เราจะขอนิสัยคืออยู่ในธรรม อยู่ในวินัย ไม่ได้ทำความผิดพลาด

แต่ในปัจจุบันนี้ในการประพฤติปฏิบัติของเรา จิตใจร่มเย็น ในเมื่อความร่มเย็นของใจเรา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาธรรมมากกว่า ธรรมคือความสงบร่มเย็นของใจ ถ้าใจดวงไหนมีความร่มเย็นเป็นสุข วินัยข้อนั้นยกเว้นไว้ ยกเว้นไว้ให้ไม่เป็นอาบัติไง

เวลาเราออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นนวกะ เราออกธุดงค์ ถ้าเป็นไป เรามีความองอาจกล้าหาญ เราทำของเรา ถ้าหมู่ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ไหนเราก็ขอนิสัย ถ้าไม่เจอครูบาอาจารย์ที่ไหนขณะที่เราเดินทางอยู่ นี่ถึงว่าออกธุดงค์ได้ ถ้าถือตามปริยัติว่า ภิกษุไม่ได้ ๕ พรรษาจะออกธุดงค์ไม่ได้ ออกธุดงค์ต้องมีพระพี่เลี้ยงไป ถ้ามีมันก็ดี แล้วพี่เลี้ยงถูกต้องมันก็เป็นประโยชน์

ถ้าพี่เลี้ยงเป็นมิจฉาทิฏฐิจะพาธุดงค์ไปไหนล่ะ ก็พาธุดงค์ไปหลอกลวงโลก พาธุดงค์ไปเพื่อหาลาภสักการะมาเพื่อปากของกิเลสไง เพื่อปากของกิเลส ทะเลถมไม่มีวันเต็ม แล้วกิเลสในหัวใจที่ไหนมันจะถมเต็มล่ะ ก็พาพระนั้นออกไปเป็นเรื่องของโลก แต่ถ้าในวงปฏิบัติเรามีครูบามีอาจารย์นะ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราพยายามจะดูแลสัทธิวิหาริก สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์ นี่วงปฏิบัติ เวลาเราทำปวารณากันถึงจะเตือนกันได้

เวลาครูบาอาจารย์ของเราไปเยี่ยมลูกศิษย์ลูกหา คอยเตือน คอยชี้ความผิดพลาดของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สังฆะไง สงฆ์สำคัญมาก “สังฆะ” ภิกษุต่างๆ อยู่ในที่ต่างๆ อยู่ในธรรมเสมอกัน ศีล ๒๒๗ เสมอกัน ทำไมจะเตือนกันไม่ได้ ถ้าเป็นธรรมด้วยกัน สิ่งที่เป็นธรรมด้วยกัน เตือนเพื่อประโยชน์ เพื่อจะให้เข้ามาถึงปฏิบัติได้ เพราะอะไร

เพราะสกุลของพุทธะ ในการบวช ในการศรัทธาของเรา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในเมื่อเราบวชตามธรรมวินัย เราบวชโดยสมบูรณ์ในธรรมวินัย เราก็เป็นพระสงฆ์อยู่แล้ว นี่สมมุติสงฆ์ เราเป็นสมมุติสงฆ์ เรารักษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เตือนกันอย่างนี้ไง แล้วรักษาธรรมวินัยให้ถูกต้องตามธรรมตามวินัย นี่เราเป็นสกุลของพุทธะโดยสมมุติไง

ในเมื่อเราบวชเป็นพระโดยสมมุติ เราเป็นสถานะเพศของพระ เราออกบิณฑบาต เขาก็ใส่บาตรให้ เราเจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็ดูแลให้ เห็นไหม ปัจจัย ๔ โยมเขาพร้อม อุบาสก-อุบาสิกาเขาพร้อมอยู่กับปัจจัย ๔ เพื่อจะส่งเสริมให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ นี้เป็นสมมุติสงฆ์ สกุลของพุทธะโดยสมมุติ

แล้วเราจะส่งเสริมสกุลพุทธะโดยทำอย่างไรล่ะ ถ้าเราส่งเสริมสกุลพุทธะในหัวใจนะ ใจนี้จะเป็นพุทธะไง ใจนี้จะทำความสงบของใจเข้ามา ความสงบของใจจะทำอย่างไร นี่ถ้าจะทำความสงบของใจเข้ามา เริ่มต้นจากว่า สกุลโดยสมมุติต้องให้สมบูรณ์ ถ้าสกุลโดยสมมุติไม่สมบูรณ์ การประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เพราะมันทุศีลไง ทุศีลมันก็ปฏิบัติได้อย่างไรล่ะ ถ้าทุศีล การประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นมิจฉาสิ

สิ่งที่เป็นมิจฉา นี่ทุศีลอยู่ เรามีความปกปิดในหัวใจของเราอยู่ เรามีความต้องการ เราเป็นโมฆะ สิ่งที่ต่างๆ ความคิดความเห็นเราเป็นโมฆะทั้งหมด แล้วเราจะพยายามประพฤติปฏิบัติของเรา สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติของเรามันก็เป็นสมาธิ ถ้าเรามีความเข้มแข็ง เรามีสติของเราขึ้นมา มีความเข้มแข็งเพราะจิตมันเป็นสภาวะของอกุศลไง สิ่งที่เป็นอกุศล จิตมันสงบขึ้นมามันก็เป็นอกุศลธรรม สิ่งที่เป็นอกุศลกรรม ธรรมฝ่ายดำ แล้วมันจะเกิดเป็นสัมมาไปได้อย่างไรล่ะ สิ่งที่เกิดเป็นสัมมามันจะเข้าเป็นมรรคไปได้อย่างไร มันไปเกิดสภาวะแบบนั้น นี่ทุศีล

เราถึงต้องมีสัมมาไง การถือศีลของเราให้มันเป็นปกติไง เริ่มต้นจากสกุลของพุทธะโดยสมมุติ มันถึงต้องสมบูรณ์ สมบูรณ์โดยที่เราหาครูหาอาจารย์ของเรา สิ่งที่หาครูหาอาจารย์นะ ขณะที่สงฆ์ลงอุโบสถอยู่ ถ้าเรามีอาบัติของเราอยู่ เราปิดบังไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาจะแสดงพระปาฏิโมกข์ สงฆ์ไม่บริสุทธิ์ท่านยังไม่แสดง เพราะกลัวสงฆ์นั้นตกนรกไง

สิ่งที่เป็นสมมุติสงฆ์ สงฆ์รวมกัน สงฆ์ถือธรรมวินัย เวลาลงอุโบสถกัน สมมุติสงฆ์ทั้งหมดนี้มันก็เป็นกรรมแล้ว แล้วถ้าในสงฆ์นั้นมีพระอริยสงฆ์ แล้วในสงฆ์นั้นมีพระอรหันต์อยู่ในสงฆ์นั้น สงฆ์นั้นมันจะมีกรรมไง สิ่งที่กรรมอันนี้มันก็ทำให้ปิด ตัดรอน การประพฤติปฏิบัติมาตลอด ถ้ามันตัดรอนการประพฤติปฏิบัติมา ความเป็นไปของเรามันจะยากลำบากของเราตลอดไป

แต่ถ้าทำอุโบสถ ในเมื่อสกุลพุทธะนี้มันสมบูรณ์อย่างนี้ไง ถ้ามันเป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่องของใจดวงนั้น ความบริสุทธิ์ของสมมุตินะ ความบริสุทธิ์สมมุติคือการบรรเทา บรรเทาความเร่าร้อนของใจ ใจมันจะเร่าร้อนมากถ้ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเรื่องของโลกล้วนๆ ความคิดตัณหาความทะยานอยากของมัน มันจะหาแต่ฟืนแต่ไฟเผาใจของมัน

แต่ถ้าจิตใจของเราเป็นสัมมา สิ่งที่เราสละ เราเจือจานกัน นี่ชาวพุทธของเรามีทาน มีศีล มีภาวนา การให้อภัยกัน ให้อภัยโดยหัวใจไง หัวใจมันมีความบาดหมางกัน มันมีการอะไรกัน มหาปวารณาเกิดตรงนี้ เปิดช่องให้ใจมันเปิดสิ่งที่หมักหมมในหัวใจนี้เปิดออก ถ้าเปิดสิ่งต่างๆ ออก สิ่งที่มันเป็นความหมักหมมของใจ สิ่งที่มันเป็นความเห็นผิด มันจะเปิดออก ถ้าเปิดออกอย่างนั้น เราต้องตั้งใจของเรา สิ่งนี้เราจะไม่ทำอีก

ถ้าทำอีก มันก็ไปซ้ำแผลเดิม ซ้ำแผลเดิม เพราะมันเป็นกิเลส มันเป็นตัณหา มันเป็นความทะยานอยาก ถ้าซ้ำแผลเดิมจนเป็นจริตเป็นนิสัยอย่างนั้นหรือ ถ้าทำอย่างนั้นเราจะก้าวเดินไปถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร ฉะนั้น เราถึงต้องดัดไง ดัดให้เข้ามาในข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติเพื่อจะให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถดัดใจของตัว ดัดใจของตัวเข้ามาหาโดยความเป็นสมบูรณ์โดยสกุลพุทธะโดยสมมุติ ถ้าสกุลพุทธะโดยสมมุติสมบูรณ์ขึ้นมา เราถึงวางเป้าหมาย วางการเดินทางของเรา

ถ้าเดินทางของเรา มันจะมีความองอาจกล้าหาญนะ เราเข้าป่าเข้าเขาเวลาออกธุดงค์ เราจะไม่กลัวสิ่งใดเลย เพราะศีลเราบริสุทธิ์ เราจะไม่ประหวั่นพรั่นพรึงกับสิ่งใด เวลาเราอยู่ในเมือง มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนะ เป็นภิกษุแล้วอยู่ในวัดในวา มันก็มีเพื่อนมีสิ่งต่างๆ ความเป็นไปนะ มันยังไม่วิตกวิจารณ์มากเกินไป แต่เวลาเราออกธุดงค์ เราอยู่คนเดียวสิ เวลาค่ำมืดขึ้นมามันจะวิตกวิจารณ์ไป ทั้งๆ ที่ผียังไม่เห็น มันก็วิตกวิจารณ์ไปนะ แล้วสัตว์ร้ายสิ่งต่างๆ ล่ะ ถ้าศีลเราสมบูรณ์ สิ่งนี้จะองอาจกล้าหาญ เราจะไม่กลัวสิ่งใดเลย เพราะสิ่งที่ว่าในหัวใจของเรา เราไม่มีความผิดพลาด แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันมีไง อวิชชามีในหัวใจ มันมีความสร้างภาพ ถึงต้องตั้งสติ สิ่งนี้จะทำให้เรามีความสงบของใจเข้ามา

ถ้ามีความสงบของใจเข้ามา เรากลัวขนาดไหน อาศัยความกลัวนั้นเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเรากลัว มันจะเอาสิ่งใดมาหลอกลวงใจของเรา เรากลัวผี กลัวเสือ กลัวสัตว์ร้ายต่างๆ เราต้องกลับมาที่พุทโธไง ที่พุทโธ กำหนดพุทโธ เพราะมันกลัว มันไม่มีที่พึ่งไง เราไปอยู่ในป่านะ เวลาที่มันมืดค่ำขึ้นมา เราจะพึ่งใคร ถ้าเรายิ่งคิดมาก มันก็ยิ่งเร่าร้อนมาก

ถ้าเราไม่มีที่พึ่ง เราหาที่พึ่งไม่ได้ เราถึงต้องพึ่งต้นสกุลของเรา คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำหนดพุทโธๆ นี่สติมันพร้อม พุทโธๆๆ ตลอด เพราะมันไม่มีที่พึ่งแล้ว ที่พึ่งนี้คือที่เกาะเกี่ยวเรา ถ้ามันแยบออก มันก็สร้างภาพขึ้นมาให้ใจเราคลอนแคลนไป เห็นไหม สิ่งที่กลัว สิ่งที่กลัวแล้วให้เป็นโทษกับใจนะ ความกลัวนี้ให้เป็นโทษกับใจมาก กลัวมาก กลัวจนให้ใจเรามีแต่ความเร่าร้อนนะ ตื่นเต้นจนเหงื่อแตกเหงื่อแตนได้เพราะความกลัว

แต่ถ้าเรามีสติขึ้นมา เราพยายามกำหนดพุทโธๆ ความกลัวอันนั้นมันจะเป็นคุณไง คุณให้เพราะมีความกลัวอย่างนี้มันถึงมีสติ แล้วไม่คิดมากออกไป ไม่คิดให้ฟุ้งซ่านออกไป มันถึงกำหนด พุทโธ อยู่กับพุทโธ พุทโธนี้เป็นธรรมไง เป็นธรรมๆ ถ้าเรากำหนดพุทโธ กำหนดพุทโธๆ ขึ้นมา เป็นคำบริกรรมกับใจนั้น ใจจะเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ขึ้นมาไง สิ่งนี้ขึ้นมา นี่วงปฏิบัติ ในเมื่อวงปฏิบัติต้องการ ต้องการสัมมาสมาธิ ในวงปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ของเรา พระกรรมฐานเราจะย้อนกลับเข้ามาที่นี่ไง เราจะสืบสกุล เราจะต้องสร้างใจของเราให้เป็นพุทธะ ถ้าใจกำหนดพุทโธขึ้นมา ใจเป็นพุทโธๆ พุทโธนี้เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับเราแสวงหาใครอยู่ เรารู้จักชื่อเขา แต่เรายังไม่เจอตัวเขา ถ้าเราไปเจอตัวเขา เราจะไปหาชื่อเขาทำไม เราได้ตัวเขาแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน กำหนดพุทโธๆ ต้องให้พุทโธชัดเจนมาก นี่กิเลสมันหลอกนะ เวลากิเลสมันหลอกว่ากำหนดพุทโธๆ มันเป็นสิ่งที่หยาบ เราต้องกำหนดพุทโธๆ แล้วให้มันเบาลงๆ...ไม่ต้องเบาลง กำหนดแรงๆ นี่แหละ พุทโธๆ คำว่า “พุทโธ” เวลาเราเรียนหนังสือเราต้องใช้อักษรนะ สิ่งที่เป็นอักษรเพื่อผสมหัดเรียนหัดเขียนอักษรให้เป็น แล้วต้องรวมคำเข้ามาให้เป็น

เราจะเรียนสูงเรียนส่งขนาดไหน เราก็ต้องเขียนตัวอักษรนี้ ใช้ตัวอักษรนี้เป็นเครื่องเรียน “อัตถะ” อัตถะคือความหมาย “บัญญัติ” บัญญัติคือตัวอักษร นี่มันต้องอาศัยสิ่งนี้บัญญัติออกมาให้มันเป็นความรู้สึกของเราขึ้นมา “พุทโธๆ” ก็เหมือนกัน มันเหมือนกับตัวอักษรที่เราจะต้องใช้นี้ตลอดไป พุทโธๆ จะสูงส่งขนาดไหนก็นั่งพุทโธ ถ้าพุทโธอยู่กับเรา สิ่งนี้สติเราจะพร้อมอยู่ แล้วจิตกับเราก็ไม่แวบออก

แต่ถ้าพุทโธมันเริ่มจางลงๆ เห็นไหม มันตกภวังค์ นี่กิเลสมันแทรกเข้ามาในวงปฏิบัติ กิเลสมันแทรกเข้ามาในความคิดของเราว่า ถ้าเรากำหนดพุทโธ เมื่อไรเราจะก้าวเดินไปข้างหน้า เราต้องการให้จิตนี้สงบก่อน ต้องการให้จิตสงบ ถ้าพุทโธอยู่มันหยาบ มันต้องการให้ละเอียด แล้วพอละเอียดขึ้นมา นี่ว่าเรามีความเห็นธรรม เรามีความเป็นไป

กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแทรกซ้อนเข้าไปในหัวใจตลอด

การประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยชี้นำ เห็นไหม เริ่มต้นมันเหมือนเด็กอ่อน เหมือนเราเด็กอ่อน เราต้องไปโรงเรียนอนุบาลเพื่อจะให้มีพี่เลี้ยงเลี้ยงเด็กของเรา นี้ก็เหมือนกัน เราต้องมีสติ เราต้องมีคำบริกรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บังคับใจของเราให้มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ขึ้นมาให้ได้

เกาะนะ ถ้าไม่ให้มันเกาะ มันก็จะออกแวบ ออกไปหารับรู้สิ่งจากภายนอก สิ่งจากภายนอกคือเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง ที่กิเลสมันพอใจไง สิ่งที่รูป รส กลิ่น เสียง มันพอใจ มันก็ไปแสวงหาสิ่งนั้นมาเพื่อมาเผาลนมันไง แต่ถ้าพุทโธๆ นี่มันเป็นอารมณ์ที่จืด อารมณ์ที่จืด น้ำสะอาด น้ำจืด มันไม่ให้โทษกับร่างกาย สิ่งนี้จะบำรุงร่างกายให้มีชีวิตราบรื่น

พุทโธก็เหมือนกัน เป็นอาหารของใจ แต่กิเลสมันไม่ชอบ กิเลสมันต้องการรสชาติ รสความโลดโผนของมัน มันจะต้องหาสิ่งต่างๆ มาสะเทือนหัวใจของมัน มันถึงพอใจไง กิเลสมันคันไง พอมันคันแล้ว มันก็พยายามจะหาอะไรขึ้นมาให้เข้ากับความคันของมัน แต่พุทโธๆ มันเป็นเรื่องของความปกติของใจ มันไม่มีความคัน มันเข้ากับกิเลสไม่ได้ กิเลสมันถึงผลักไส มันถึงไม่ต้องการ

แล้วมันก็สร้างความคิดความเห็นของเราว่า “สิ่งนี้เรารู้แล้ว สิ่งนี้เราเข้าใจแล้ว พุทโธก็กำหนดมาตั้งแต่...ภาวนามาพอแรงแล้ว” ถ้ามันคิดประสามันอย่างนี้ มันก็วนไปตามอำนาจของมัน วนไปตามอำนาจของกิเลส สภาวะมันก็ขับไสอย่างนั้น แล้วเราจะก้าวเดินไปไม่ได้ ถ้าเราทำความสงบของใจเราเข้ามา เรากำหนดพุทโธขึ้นมา ให้ศีลบริสุทธิ์ ให้ไม่มีความคลางแคลงใจ

จิตใจนี่คลางแคลงใจ มีความลังเลใจ มีความผิดพลาดของใจ นี้คือนิวรณธรรม มันปิดกั้นมรรค ปิดกั้นความสงบของใจ แล้วเราจะเข้ามาความสงบของเราไม่ได้ ฉะนั้น เวลาพระเราถึงต้องปลงอาบัติไง ถ้ามีอาบัติต้องรีบปลงอาบัติ สิ่งต่างๆ ต้องรีบทำ รีบทำความกังวลของใจให้ออกจากใจตลอด จะไม่ให้สิ่งนี้คาใจอยู่เลย แล้วประพฤติปฏิบัติด้วยมีสติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจวาสนาของตัว พยายามศึกษาของเรา ศึกษาจากหัวใจ

ถ้าศึกษาจากหัวใจ นี่สกุลพุทธะโดยธรรมจะเกิดขึ้นมาจากเรา สกุลพุทธะโดยสมมุติสมบูรณ์อยู่แล้วในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันนี้เราบวชเป็นพระโดยสมบูรณ์ สิ่งนี้สมบูรณ์ ทุกอย่างสมบูรณ์ แต่ความสมบูรณ์ขนาดไหนมันก็มีกิเลสอยู่ในหัวใจ มันก็เผาลนใจนะ “บวช” บวชแต่ร่างกาย แต่หัวใจยังไม่ได้บวช บวชร่างกาย เห็นไหม บวชร่างกาย

ในปัจจุบันเขาเล่นหนังกัน เขาเล่นหนังกันจนเขาหาเงินหาทองได้ก็มหาศาลเลย “สมมุติซ้อนสมมุติ” เราเป็นสมมุติโดยสมบูรณ์ เพราะเราบวชของเราถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามธรรมวินัย แต่ของเขานี่สมมุติขึ้นมาเพื่อเป็นเรื่องของโลกไง สมมุติโลกกับสมมุติโดยความเป็นจริง สมมุติโดยธรรมวินัยต่างกัน นี้เราจริงโดยสมมุติ แล้วเราพยายามจะทำหัวใจของเราขึ้นมาให้สมบูรณ์ เราจะต้องย้อนกลับเข้ามาทำความสงบของใจให้ได้ก่อน

พื้นฐานของใจทำความสงบเข้ามาให้ได้ สิ่งที่ใจสงบไม่ได้ เพราะมันติดให้รูป รส กลิ่น เสียง บ่วงของมาร เราถึงต้องตั้งสติ แล้วเอาสตินี้ควบคุมเข้ามา มันจะสงบได้โดยสัจจะ โดยข้อเท็จจริง ถ้าใครจริงจะได้ผลตามความเป็นจริง ถ้าเรามีสติของเรา ทำจริงของเรา มันต้องสงบได้ เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ การพิสูจน์ในการประพฤติปฏิบัติ วิทยาศาสตร์ในทางจิตเลยว่า ถ้ามีเหตุอย่างนี้ผลต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน แล้วพิสูจน์ได้โดยความเป็นจริง

แต่ที่มันพิสูจน์ไม่ได้เพราะเราไม่จริง เราไม่จริง ๑

กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามีอำนาจมากกว่าเรา ๑

ทั้งๆ ที่ว่าเราก็มีหัวใจนะ เราก็มีความรู้สึกนะ เราต้องมีความปรารถนาดี ทุกคนต้องการความดีทั้งหมด แต่ทำไมกิเลสตัณหาของเรามันเป็นอย่างนี้ล่ะ ทำไมมันไม่จริงกับเรา ทำไมครูบาอาจารย์ท่านสามารถทำได้ล่ะ สิ่งนี้พิสูจน์ได้ พิสูจน์จากใจของเรานี่แหละ

ถ้าพิสูจน์จากใจของเรา มันฟุ้งซ่าน มันเป็นปกติของทุกๆ คนที่มีอยู่ แล้วมันสงบขึ้นมา มันทำอย่างไรของมันขึ้นมาถึงได้สงบได้ ถ้ามันสงบขึ้นมานะ เราทำของเราไม่เป็น เรามีความปรารถนา มีความต้องการ ทำขนาดไหนมันก็ไม่สงบขึ้นมา ทำอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้น จนถึงที่สุดมันปล่อยวางของมัน มันต้องสมดุลเข้าวันหนึ่ง

ถ้าวันใดวันหนึ่งมันสมดุลขึ้นมามันจะปล่อยวาง มันเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือความสัมผัสของใจ ใจจะมีความเวิ้งว้าง มีความสุขของมัน นี่สัมมาสมาธิ สิ่งนี้ควรแก่การงาน ต้องกระทำอย่างนี้ให้บ่อยครั้งเข้าๆ จิตสงบบ่อยครั้งๆ มันถึงตั้งมั่น ถึงเป็นสมาธิไง ถ้าเป็นสมาธิ เราจะยกขึ้นวิปัสสนา ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา นี่ธรรมจะเกิดตรงนี้ สกุลพุทธะเกิดตรงนี้ เกิดตรงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาโดยอาสวักขยญาณไง

อาสวักขยญาณ เป็นมรรคญาณ มรรคญาณ มรรคเกิด มรรคเกิดตรงนี้ไง สิ่งที่เป็นมรรคมันเป็นสัมมา สัมมาเพราะมีสัมมาสมาธิเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิคือมันมีสติพร้อม งานพร้อม ความเพียรพร้อม นี่งานชอบ เพียรชอบต่างๆ ความจะเป็นความชอบ ชอบเพราะว่าเราทำเข้ามาถูกต้อง พอเราทำถูกต้อง เรายกขึ้นวิปัสสนา ถ้ามีอำนาจวาสนา มันจะเกิดเห็นกาย เห็นจิต ถ้ามีวาสนา

ถ้าไม่มีวาสนา เราต้องพยายามฝึกฝนของเรา

สิ่งใดก็แล้วแต่ มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าเราทำของเราในความถูกต้อง มันทำได้ ถ้าไม่มีการกระทำ ไม่มีการฝึกฝน มันจะมาจากไหนล่ะ เรามีแต่ความอ้อนวอน เรามีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ เรามีแต่ความสักแต่ว่าทำ การสักแต่ว่าทำมันก็ผ่านพ้นไป นี่ ๑ พรรษาผ่านพ้นไป เราได้สิ่งใดมาเป็นเครื่องจรรโลงหัวใจของเรา

สิ่งใดจะเป็นสิ่งที่ว่าทำให้หัวใจเราเข้มแข็งขึ้นมา เราต้องพยายามเข้มแข็ง ต้องทำ ต้องสืบสกุลของใจดวงนี้ สืบสกุลของธรรมดวงนี้ให้เข้ามาในใจของเรา ถ้าธรรมเข้ามาในใจของเรา เราจะเป็นผู้ที่จรรโลงศาสนานะ จากการประพฤติปฏิบัติ มันจะให้ผลเป็นความสุข ๑ เราจะไม่มีความกังวลนะ

เวลาเกิด เวลาตาย สิ่งที่เกิดที่ตาย เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตนี้ต้องเวียนไปในวัฏฏะโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราก็เห็นสภาวะความเป็นจริง เรามีความเชื่ออย่างนี้ แล้วเราเห็นสภาวะในใจของเรา เพราะจิตมันสงบเข้ามาเห็นสภาวะใจของเรา นี่มันเป็นสภาวะแบบนี้ มันถึงสะเทือนหัวใจไง ถ้ามันสะเทือนหัวใจ เราจะต้องพยายามค้นคว้าของเรา พยายามพิจารณาของเรา ถ้าพิจารณาของเรา พยายามทำของเราขึ้นมานะ

ถ้าจิตของเราไม่มีวาสนา เราก็รำพึงสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วเราวิปัสสนาของเรา ทำของเราไง เกิดขึ้นมาแล้ว มันทำ เห็น เป็นโดยปกติ สิ่งที่เป็นปกตินะ เวลาเราเป็นปุถุชนนะ เป็นปุถุชนกับกัลยาณปุถุชนต่างกัน เป็นปุถุชน ความอยากของใจ มันจะคิดเห็นสิ่งสภาวะ มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นการสร้างภาพ

แต่ถ้าเราเป็นกัลยาณชน สิ่งที่เข้าไปเห็น นี่ความลึกมันต่างกันไง สิ่งที่ความลึกของใจมันต่างกัน ความเห็นของใจมันต่างกัน เห็นสภาวะกายกับจิตต่างกัน วิปัสสนาเกิดเกิดอย่างนี้ แล้ววิปัสสนาใคร่ครวญไป ปัญญามันเกิดเห็นสภาวะ ถ้าเห็น พิจารณากายมันจะแปรสภาพ ถ้าจิตนี้มีกำลังพอ ให้จิตนี้แปรสภาพ ให้มันแปรสภาพของมันไป สิ่งที่แปรสภาพเป็นวิภาคะ วิภาคะ คือแยกส่วนขยายส่วน สิ่งที่แยกส่วนขยายส่วนเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากอาศัยสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน แล้วออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ ข้างนอก ยึดไปทั้งหมด

เวลาอยู่เป็นคฤหัสถ์ เขาแสวงหาทรัพย์สมบัติ เขาพยายามแสวงหาของเขาเพื่อยึดเข้ามาเป็นของเขา ทุกคนมีตัณหาความทะยานอยาก มีความโลภ ต้องการสิ่งต่างๆ ถ้าคนมีอำนาจวาสนา คนสร้างบุญญาธิการมา ถ้าเขามีของเขามันจะเป็นของเขา ถ้าไม่มีของเขา เราดิ้นรนขนาดไหน แล้วเราก็จะมีความทุกข์ความยากของเรา ถ้าเป็นความทุกข์ความยากของเรา มันก็กระเสือกกระสนให้เราต้องเป็นความทุกข์ยากขนาดนั้น

สิ่งที่ออกไปยึดจากข้างนอกไง แล้วมันไปจากไหนล่ะ? มันไปจากตรงนี้ ตรงที่วิปัสสนาอยู่ นี่ ตรงตัวตน ตรงกายกับจิต สิ่งนี้เป็นภวาสวะ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานให้จิตนี้ขับเคลื่อนออกไป แล้วเราก็วิปัสสนาเพื่อให้มันวิภาคะ เพื่อทำลายไง ทำลายให้สภาวะของกายนี้มันขยายส่วนออกไป ขยายส่วนจนกายเป็นสภาวะของมัน จนมันเปื่อย มันเน่าขนาดไหน มันเปื่อย มันเห็นของมันนะ นี่มันจะคืนตัวเป็นดิน กลายเป็นดิน เราจะซ้ำสภาวะแบบนั้น เพราะถ้าทำลายตรงนี้ ทำลายตรงฐานของความคิดที่มันส่งออกไปข้างนอก นี่ตัวตนมันเกิดตรงนี้ แล้วมันไปยึดสิ่งข้างนอก

ถ้าเราไปทำลายจากข้างนอก เห็นแต่รูป รส กลิ่น เสียง เห็นสภาวธรรมจากอาการของใจ เห็นสภาวะอาการของใจ มันก็ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา เพื่อปกปิดตัวตนของมันไง ปล่อยวางสิ่งต่างๆ สัญญาอารมณ์ที่ปล่อยวางต่างๆ เข้ามา มาเพื่อถนอมมันไว้นะ ถนอมตัวตน ถนอมสิ่งที่กิเลสอาศัยอยู่ เหมือนกับถนอมเชื้อโรค หรือถนอมสิ่งที่อยู่ของสัตว์ร้าย ให้สัตว์ร้ายตะปบ คอยกินหัวใจของเรา เราไม่เข้าใจนะ ถ้าเราเข้าใจ เราเห็นสภาวธรรมของจริง มันจะสลดสังเวช

นี่มันสัตว์ร้าย นี่มันสิ่งที่ว่า กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันอาศัยใจของเราอยู่ แล้วมันออกไปยึดมั่นถือมั่นข้างนอก ให้หัวใจเราคลอนแคลน ตามแต่กิเลสมันจะบัญชาการ จะไม่ต้องการสิ่งใด อยากแสวงหาสิ่งใด ก็ต้องหาสิ่งนั้นมาปรนเปรอมันไง สัตว์ร้ายนี้หลอกเรา ให้เราออกไปหาเหยื่อให้มันกิน แล้วเราก็ออกไปหาเหยื่อให้กับสัตว์ร้ายนี้กินตลอด จนเราไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะกิเลสมันควบคุมใจ ถ้าเราทำอย่างนี้ นี่วิปัสสนาเกิดอย่างนี้ เพื่อจะทำลายสัตว์ร้ายอย่างนี้

สัตว์ร้ายอาศัยกายกับจิตนี้ออกไปหาเหยื่อ ออกไปยึดมั่นถือมั่นกับโลก แล้วเราวิปัสสนาของเรา ทำลายของเรา ด้วยกำลังของมรรคญาณนะ สิ่งนี้ต่างๆ พิจารณาสิ่งนี้ต่างๆ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ถ้ากำลังมันพอมันสมดุล

ทเวเม ภิกฺขเว ทาง ๒ ส่วนภิกษุไม่ควรเสพ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนตลอด “สกุลของพุทธะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีธรรมยังค้นคว้า พยายามค้นคว้าเข้ามา แล้วค้นคว้า วางธรรมไว้กับเรามี เรามีอยู่ มียาอยู่ ผู้ป่วยมียารักษาอยู่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ซึ่งๆ หน้า ให้เราเทียบเคียงกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้วว่ามันเป็นมัชฌิมาปฏิปทาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไว้ไหม

นี่เรามีโอกาสมหาศาล เรามีสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ เพราะเราเกิดมาพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้เราถึงใคร่ครวญมันไง นี่วงปฏิบัติมันจะเทียบเคียงอย่างนี้ ถ้าวงปฏิบัติเข้ามานะ จะวิปัสสนาขนาดไหน จะเป็นปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ จะสิ่งต่างๆ ถึงจุดตรงนี้ต้องเหมือนกัน จะอ้างว่าเพราะเราทำคนละกรณีกันจะให้ผลต่างกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ถ้ามันเป็นไปได้ ทำไมอริยสัจอันเดียวกันล่ะ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” สิ่งนี้เป็นอริยสัจ เป็นความจริงอยู่ แล้วถ้าวิปัสสนา จะวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมนี้เท่านั้น สิ่งนี้หัวใจของศาสนาอยู่ตรงนี้

แล้วถ้าทำออกมาไม่เหมือนกัน มันจะเป็นอริยสัจอันเดียวกันได้อย่างไร?

มันจะเป็นอริยสัจอันเดียวกัน เพราะมันเข้ามาวนค้นคว้าตรงนี้เข้ามา นี่ถึงวิปัสสนาเข้ามาจนขนาดไหน มันปล่อยวางขนาดไหน ถ้ามันไม่สมุจเฉทปหานไง เวลาสมุจเฉทปหาน สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

วิจิกิจฉานะ ไม่มีความลังเลสงสัยในธรรม

สีลัพพตปรามาส จะไม่มีความผิดศีล

เราเป็นสกุลพุทธะโดยสมมุติ เวลาผิดพลาดขึ้นมา เราผิดศีล เราต้องปลงอาบัตินะ เพราะเราผิดศีล มันเป็นอาบัติขึ้นมา ผิดเพราะเราขาดสติ ขาดสติเราขาดออกไป เราก็ทำสร้างกรรมขึ้นมา เพราะเราทำสิ่งนั้นเป็นกรรม สิ่งนั้นเป็นกรรม กรรมนี้ให้ผล อาบัตินี้ก็ให้ผลเป็นนิวรณธรรม เราปลงอาบัติ ปลงอาบัติเพื่อจะให้สิ่งที่ว่าเป็นอาบัติ สิ่งที่ว่าเป็นนิวรณ์นี้พ้นไป แต่กรรมมันมีอยู่ไง นี้เป็นสกุลพุทธะโดยสมมุติไง

แต่ขณะที่ว่า กาย สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ขาดออกไปจากใจนะ มันจะไม่มีความลังเลสงสัย จะลูบคลำศีล จะผิดศีล เป็นไปไม่ได้เลย สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้เพราะเรามันขาดออกไปจากใจ มันไม่ผิดศีล แต่มันมีกรรมไง สิ่งที่เป็นสภาวะกรรม นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เวลาหลานตาย มีความทุกข์ความเศร้า ร้องไห้นะ ทำไมนางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่ ๗ ขวบ ทำไมมีครอบครัวล่ะ ทำไมมีบุตรล่ะ

สิ่งที่มีบุตร ความผิด สิ่งที่เกิดจากเจตนาไม่มี แต่ในเมื่อเป็นสังคมโลก พระโสดาบันก็อยู่กับโลกเขา ยังดำรงชีวิตอยู่กับโลก สิ่งที่เป็นชีวิตอยู่กับโลกจะไม่ทำความผิดพลาดจากโลกไง สิ่งที่โลก กฎหมายโลก ศีลธรรม จริยธรรมที่โลกเขามีอยู่ จะไม่ทำผิดพลาดอย่างนั้น จะเป็นสิ่งที่ว่าเป็นผู้ดีตลอด เป็นคนดีตลอด จะเป็นนักปราชญ์ในสังคมนั้น

นางวิสาขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบภิกษุณีที่ท้อง ที่มีบุตรอยู่ขณะที่บวช ให้นางวิสาขา เพราะนางวิสาขาเป็นคฤหัสถ์ แต่ท่านเป็นพระโสดาบันไง ทำสิ่งที่ไม่มีสิ่งที่ผิดพลาดไง สิ่งที่ผิดพลาดไม่ผิดศีล สิ่งที่ไม่ผิดศีลคือไม่ผิดออกไปเป็นอกุศลธรรม จะเป็นกุศลธรรมตลอด แต่สิ่งนี้ก็เป็นสกุลพุทธะโดยส่วนหนึ่ง ความที่จะเป็นสกุลพุทธะโดยหัวใจโดยสมบูรณ์ ต้องเดินหน้าต่อไป

ดูอย่างพระอานนท์สิ พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน แต่เพราะความห่วงอาลัย รักในเด็ก เอาเด็กมาบวชมาก เอาเด็กบวชมาก ห่วงโลกนะ จนพระกัสสปะบอกพระอานนท์นะ ว่า “พระอานนท์ทำตัวเหมือนเด็กๆ” จนพระอานนท์ได้สตินะ ได้สติ ต้องพยายามไม่ไปขวนขวาย นี่พระโสดาบันไปขวนขวายเอาเด็กน้อยมาบวช แล้วดูแลเด็กนั้น

เวลาพระโสดาบัน พระอานนท์จะไปเทศนาว่าการ ไปสอนภิกษุณี ทำไมนิมนต์ให้พระกัสสปะไปสอนนางภิกษุณีล่ะ เพราะว่าพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน สิ่งที่กิเลสละเอียดกว่าพระโสดาบันนั้น พระอานนท์ไม่สามารถบอกตามแง่มุมของกิเลสที่มันอยู่ในแง่มุมของจิตนั้นไง เวลาไปสั่งสอนนางภิกษุณี ถึงนิมนต์พระกัสสปะเข้าไปสอนนางภิกษุณีนั้น เพราะพระกัสสปะเป็นพระอรหันต์

สิ่งที่เป็นพระอรหันต์จะเข้าใจแง่มุมกิเลสอันละเอียดที่มันหลบซ่อนอยู่ในหัวใจ มันหลบมันซ่อน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมของเราเจริญขึ้นมา มันจะคอยหลบคอยซ่อนไม่ให้เราเห็นสภาวะมัน ไม่ให้เห็นสภาวะมัน ถ้าเราไม่เห็นมัน เราก็ไม่สามารถจับมันมาวิปัสสนาได้ ไม่สามารถจับวิปัสสนานะ สิ่งที่ไม่สามารถจับวิปัสสนา เราก็จะไม่สามารถชำระกิเลสได้ ในเมื่อสกุลธรรมของเรามันเจริญขึ้นไป มันก็ไม่สามารถเจริญขึ้นไปได้

แล้วในการประพฤติปฏิบัติ มันถึงสำคัญ ครูบาอาจารย์ถึงสำคัญตรงนี้ไง แล้วในปัจจุบันนี้ ครูบาอาจารย์ของเราจะเข้าใจสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้มันเป็นความลึกลับของใจ มันเป็นความละเอียดอ่อนในหัวใจที่กิเลสมันหลบซ่อนอยู่ในหัวใจ ที่ขนาดที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ยังมีความหลบซ่อนอยู่ในหัวใจ แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาอย่างนี้ ครูบาอาจารย์อยู่ที่ไหนล่ะ

ในวงกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเราพยายามค้นคว้าสิ่งนี้ขึ้นมา สิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อจะคอย จะแก้ไขไง จะแก้ไขผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มีความผิดข้อง มีความเกี่ยวข้อง มีกิเลสมันหลบเลี่ยงอยู่ในหัวใจ มันมีแง่มุมอย่างไร เราจะหาครูหาอาจารย์เพื่อชี้นำสิ่งนี้ ถ้าชี้นำสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราต้องจับประเด็นสิ่งนี้ขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเราไง

ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา เราจะเริ่มเอาสิ่งนี้เป็นประเด็น สิ่งที่เป็นประเด็น หัวใจมันก็จะทวนกระแสกลับเข้ามาหากิเลส ถ้ามันไม่เป็นประเด็น ไม่สิ่งที่สะเทือนหัวใจ มันก็จะออกไปตามกิเลสที่มันหลบซ่อน ๑ เวลาเราทำสัมมาสมาธิ เราทำความสงบของใจ กิเลสมันจะหลบซ่อนในหัวใจ จนเราเข้าใจว่ากิเลสมันหมดนะ ไม่มีกิเลสในหัวใจของเรา เพราะเราไม่เห็นกิเลสเลย ไม่เห็น เพราะมันสงบมาก กิเลสมันละเอียดอ่อนไง

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า น้ำใสจะเห็นตัวปลาไง น้ำใสจะเห็นตัวปลา แล้วเราจะรอให้กิเลสมันเห็น มันเป็นไปไม่ได้ กิเลสมันจะหลบเรา ถ้าจิตใจเรามีกำลังเข้มแข็งขึ้นมา กิเลสมันจะหลบ นี่ถ้าธรรมเข้มแข็ง กิเลสมันจะซ่อนตัวลง แต่ถ้าธรรมอ่อนแอ กิเลสมันจะออกนะ แต่ขณะที่กิเลสมันออกขึ้นมามันจะทำให้เราติดอยู่อย่างนั้น ๑ เพราะยึดมั่นถือมั่น ขนาดเป็นพระโสดาบันก็ยังติดในพระโสดาบันนั้น

แต่ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราย้อนกลับมาของเราขึ้นไป มันจะเจริญเติบโตขึ้นไป สกุลพุทธะมันจะละเอียดอ่อนเข้ามาในหัวใจ สิ่งที่มันเป็นความเฉา มันเป็นความเศร้าหมอง มันเป็นสิ่งที่หลบอยู่ในหัวใจนะ มันจะไม่เห็นโรคเลย เวลาเราไปตรวจร่างกาย นี่ปกติ ปกติอยู่ตลอด แต่เวลาถึงสุดท้าย เวลาโรคมันรุนแรงขึ้นมา ไปตรวจเจอโรคนั้น ถึงขึ้นสุดท้ายไม่มีโอกาสรักษา

เวลากิเลสมันจะร้าย ร้ายขนาดนั้นนะ มันจะทำให้เราไม่ประพฤติปฏิบัติไง ไม่ให้เราก้าวเดินไป มันตัดโอกาสนะ โอกาสของชีวิตเรา ในเมื่อชีวิตเรามีอยู่ ในเมื่อโอกาสของเรามีอยู่ ในเมื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายังไม่จบกระบวนการในการประพฤติปฏิบัตินั้น เราถึงต้องไม่ประมาท เราต้องค้นคว้าของเราขึ้นมาไง

ทำความสงบของใจขึ้นมา หาครูหาอาจารย์ให้ชี้นำ หาครูหาอาจารย์ให้คอยเตือนสติว่า เราควรจะทำอย่างไร ถ้าเราควรทำได้ ต้องมีความเข้มแข็ง ต้องมีความเข้มแข็งกับเรา ถ้าความเข้มแข็งเกิดขึ้นมาจากใจ มันจะเริ่มมีความสงบของใจ ความว่างของใจเป็นพระโสดาบันอันหนึ่ง แต่ในการทำความสงบของใจ เป็นพลังงานของใจอันหนึ่ง

แล้วสิ่งนี้ย้อนทวนกระแสกลับเข้ามา ถึงเห็นได้ เห็นกาย เห็นจิต เห็นได้ต่างๆ กัน เห็นขนาดไหนจับสิ่งนั้นวิปัสสนา ถ้าจับสิ่งนั้น เพราะกิเลสอาศัยสิ่งนี้เป็นรวงเป็นรัง สิ่งที่ว่าคูหาของใจ คูหาของจิต ถ้าเราเปิด เราทำลายเข้าไป มันจะกลับเข้าไปสู่มัน นี่มันออกมาหาเหยื่อกินเฉยๆ นะ มันไม่ได้อยู่ในคูหาของจิต มันออกมาอยู่ที่ขันธ์

สิ่งที่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต เห็นไหม ออกมาอยู่ข้างนอก ออกมาอยู่ข้างนอก เพราะเอาสิ่งนี้ไปตะปบเหยื่อไง สิ่งนี้เป็นมือเป็นเท้าของกิเลส กิเลสอาศัยสิ่งนี้ออกมา ออกมามาติดอะไรล่ะ ติดพันอะไร ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไป กายกับจิตมันปล่อยวาง กายนี้ราบเป็นหน้ากลอง กายกับจิตนี้แยกออกจากกันโดยสัจจะความจริง โดยสัจจะของมรรคญาณ โดยสัจจะของการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น สิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้นจะก้าวล่วงเข้ามาด้วยความเป็นจริงของใจดวงนั้น

ใจดวงนั้นถึงย้อนกลับเข้าไป จะเข้าไปเจอกามราคะนะ สิ่งที่กามราคะ เวลามันติดนี่ไม่มีเลย กิเลสหาไม่เจอ หาไม่ได้ งานของเราก็ไม่มี...งานมีมหาศาลมาก ในวงกรรมฐาน เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าใครเข้าค้น รื้อค้นเจอ เจอกายเจอจิต งานของการประพฤติปฏิบัติจะเกิดมหาศาลเลย เพราะมันแสดงตัวของมันไง

ในการดำรงชีวิตของจิตนะ จิตดำรงชีวิตในวัฏฏะ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขาเสวยกามของเขาอยู่ตลอดไป เป็นกามไง กามราคะ กามฉันทะ สิ่งนี้เป็นกามของเขา เขาพอใจจิตของเขา จิตนี้ก็เวียนไปในวัฏฏะ เห็นไหม สิ่งนี้เป็นกามทั้งหมด แต่เรามองไม่เห็นไง แต่นี้เราประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไม่เห็นสิ่งนี้ เรายังไม่เห็นอาการของมัน

เวลาโลกเขาอยู่กันโดยสมมุติของเขา ในการครองเรือนของเขา สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของเขา สิ่งนี้เป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ของเขา สิ่งนี้โลกเป็นเรื่องปกติของเขา แต่เวลาเราวิปัสสนาเข้ามาในหัวใจ มันเหมือนรวบยอดไง เวลารวบยอด เราทอดแหออกไป แหจะกว้างออกไป แต่เรารวบเข้ามา รวบเข้ามามาถึง รวบเข้ามา มันจะรวมเข้ามา

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราแทงเข้าไปในหัวใจ นี้คือยอดของกามราคะ สิ่งที่กามราคะ ทุกดวงใจ ทุกบุคคล ทุกสัตว์ สิ่งที่เกิดในโลกนี้ กามราคะเกิดจากตรงนี้ต่างหาก สิ่งที่ความเป็นไปนั้น เป็นผลของกามราคะ ผลของใจที่มันต้องการ มันต้องการแสวงหา แล้วโลกเขาก็เป็นไปอย่างนั้น มันไม่ผิดศีลธรรมของเขาเพราะเขาเป็นสมมุติไง ในโลกสมมุติเขาเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นธรรมชาติของเขา

แต่ในเมื่อกิเลสตัณหาทะยานอยากมันเป็นสภาวะแบบนั้น มันอุ่นกินอย่างนั้น อยู่ในศีลในธรรมมันก็ไม่ผิดพลาด แต่ขณะที่เรารวบยอดเข้าไปในหัวใจของเรา เราจะไปเจอกามราคะของเรา ถ้าเราไปเจอกามราคะของเรา แล้วเราจะเอาสิ่งใดไปต่อสู้กับมันล่ะ สิ่งที่การต่อสู้กับกามราคะจะทำลายกามราคะในหัวใจ มันจะต้องมีมหาสติ-มหาปัญญา สิ่งที่มหาสติ-มหาปัญญา เล่ห์เหลี่ยมของมันจะพลิกแพลงออกไป พลิกแพลงให้เราล้มลุกคลุกคลานนะ

ในการต่อสู้ ในการประพฤติปฏิบัติ ในการต่อสู้ประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้มันเป็นการต่อสู้ซึ่งๆ หน้าไง ในเมื่อกามราคะมันเป็นความต้องการอย่างมาก ต้องการอย่างมากในความเป็นความเยิ้มของมัน ในการพอใจของมัน มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานไปกับความเห็นของเขา คือกำลังของเขาที่มีอำนาจมหาศาลขนาดนั้นนะ

เราถึงต้องตั้งสติให้ดี ตั้งสติแล้วกลับมาทำความสงบของใจ สร้างพลังงานเข้าไปต่อต้านกัน ถ้าพลังงานต่อต้านกัน นี่มันสงบตัวลงได้ เริ่มต้นตั้งแต่มันพอใจของมัน มันก็แสวงหาของมัน เราก็ล้มลุกคลุกคลานขนาดนั้น ถ้าเรามีจังหวะ เรามีจังหวะเรายันเท้าของเราไว้ได้ ถ้าเรายันของเราไว้ได้ เราจะลุกขึ้นยืนได้ ถ้าลุกขึ้นยืนได้ เราจะต้องกลับมา กลับมาที่ กลับมาที่ทำความสงบแล้ว ถ้ากลับมาทำความสงบ กำลังมันเกิดขึ้นมา มันก็จะต่อสู้กันได้

แต่ถ้าเรายันของเราไม่ได้นะ เวลากามราคะมันสร้างภาพอย่างนั้น มันออกมาโดยกิเลสพาปัญญาใช้อย่างนั้น มันจะล้มลุกคลุกคลาน ถอยร่น ถอยร่นไปตลอด นี่ในการต่อสู้ในการชำระกิเลสมันถึงต้องมี ในการจับในการวาง จับสิ่งนี้ขึ้นมาให้วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไม่ได้ให้วางไว้ก่อน กลับไปหากำลังของเราขึ้นมา แล้วแยกแยะมัน ต้องแยกมันออก สิ่งที่รวมตัวกัน เกลียวเชือกมันรวมแล้วเป็นเส้นเชือก เราจะดึงให้ขาด เป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าเราคลายเกลียวของมันออก

นี้ก็เหมือนกัน เราคลายเกลียวของมันออกด้วยสติของเรา เราจับแล้วเราแยกแยะของมัน แยกออกไป นี่สัญญา ความเทียบความเคียงของใจ สิ่งที่สังขารความคิดพอใจขนาดไหน นี้เป็นความคิดในการวิปัสสนาจิต แต่ถ้าวิปัสสนากาย เราตั้งสติให้ดี แล้วเราจับกายขึ้นมา ถ้าจับขึ้นมา ภาพมันจะเกิดทันที ถ้าเราวิปัสสนาไป กำลังเราพอ มันจะเริ่มทำลาย มันจะเร็วมาก สิ่งที่เร็วเพราะกำลังมันเร็ว เพราะมันเป็นงานภายใน

สิ่งที่งานภายในเห็นเป็นอสุภะ มันจะกลืนตัวของมัน กลืนตัวของมัน กลืนตัวของมันตลอด แล้วเราพิจารณาของเราไป นี่ทำแล้วทำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันปล่อย ปล่อยขนาดไหนก็ซ้ำ ปล่อยนะ ถ้ามันใช้เราเทียบเคียง ในชั้นของวิปัสสนากายมันเป็นเป็นความเห็นซึ่งหน้า ปัญญาอย่างนี้ คือ ปัญญาที่เห็นสภาพ เห็นภาพแล้วเข้าใจ แล้วปล่อยวาง

แต่ถ้าวิปัสสนาจิตนี้มันมีเหตุมีผลของมันไง ทำไมมันเป็นอย่างนี้ จิตทำไมเป็นอย่างนี้ สัญญามันคิดอย่างนี้ มันเทียบเคียงแล้วสังขารมันจะปรุงไป ปรุงให้เป็นภาพไง จิตนี้มันเคลื่อนไปมันก็เป็นกาม ถ้าจิตมันไม่เคลื่อน มันปกติของมัน มันอยู่ของมัน มันก็เป็นธรรม นี่มันหลอกทั้งหมด เป็นธรรมได้อย่างไร เพราะเรายังไม่ทำลายมัน สิ่งที่ไม่ทำลายมัน กลับมามันก็เป็นตัวของมันไง

ถึงบอกว่า อุเบกขา มันปล่อยวางอย่างนี้ มันเป็นธรรมเป็นธรรม...อุเบกขาไม่ใช่ธรรม อุเบกขานี้เป็นกิริยาของมันที่ก้าวเดิน ที่มันต่อสู้กันแล้วมันหลอกเราไปอยู่ในอุเบกขานี้ อุเบกขาเพราะมันเป็นตัวฐาน เป็นตัวภพ เป็นตัวสถานที่รองรับ เราต้องทำลายทั้งหมด สิ่งที่ทำลายทั้งหมด ทำลายสิ่งนี้ มันหลอกมาอย่างนี้ไง

ถ้ามันหลอกมันซ่อนตรงนี้ เราก็จับตรงนี้วิปัสสนา วิปัสสนาไปเรื่อย ถึงที่สุดขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ มันต้องทำลายกัน สิ่งที่ทำลายกันมันจะขาด เห็นไหม วิปัสสนากาย เห็นแค่สภาวะกายมันเกิดดับขนาดไหน มันจะเร็วขนาดไหน จับขึ้นมา ถึงที่สุดแล้วถ้ามันไม่ยอมวิปัสสนา มันไม่ยอมทำ มันเข้าใจว่า ฉันทำแล้ว ฉันเข้าใจแล้ว ความเข้าใจกิเลสมันพาให้เข้าใจนี่ มันไม่ใช่ธรรมเข้ามาให้เข้าใจ

ถ้าเราเข้าใจ เราเข้าใจเรื่องอะไร เราเข้าใจสิ่งใด มันไม่มีเหตุมีผลว่าเราเข้าใจเรื่องอะไร ฉะนั้น ไม่มีความเข้าใจ คือกิเลสตัณหามันบอกว่าเข้าใจ พอบอกเข้าใจเราก็เชื่อกิเลสไป นี่กิเลสพาใช้ กิเลสแทรกเข้ามาในวงปฏิบัติ ถ้าเข้าใจ สิ่งที่เข้าใจคือเราเข้าใจ แต่ถ้ามรรคสามัคคีมันไม่ใช่เข้าใจ มันความเห็นความแยกความแตกสลายของมันไป มันแปรสภาพเพราะกำลังมันพอ มันสมดุล ความสมดุลของมรรค มหาสติ-มหาปัญญามันรวมตัว มันทำลายออกไป นี่มันปล่อย

แล้วเราฝึกซ้อม การฝึกซ้อม การซ้ำ การซ้ำคือการทำให้สิ่งนี้มันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา ให้มันอ่อนตัวลง กิเลสเริ่มอ่อนตัวลง แล้วสิ่งนี้มันก็เริ่มเบาตัวลง เบาตัวลง พอเบาตัวลงการปฏิบัติมันก็ง่าย พอวิปัสสนาไปมันก็จะปล่อยเพราะมันเป็นเรื่องภายใน มันเป็นเรื่องภายในของใจที่เข้าไปประสบเหตุการณ์นั้น สิ่งที่ประสบเหตุการณ์นั้นเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะพร้อม ต่างๆ ไว้พร้อม งานชอบ เพียรชอบพร้อม มันจะปล่อยพลั๊บๆ รวดเร็วขนาดไหนเราก็ซ้อมของเราไปตลอด สิ่งที่ซ้อมตลอด นี่แหละคือใช้ปัญญา

ความเห็นของใจ สิ่งที่วิปัสสนากาย ภาพนี้มันจะเข้ามาสอนใจตลอด สิ่งที่สอนใจตลอด มันก็สลดสังเวช มันก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความว่างขนาดไหน ว่างก็มีความสุขนะ ความสุขขนาดไหน ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่ว่าง เหตุผลมันเกิดไม่ได้ สิ่งใดทำลายสิ่งใดไป นี่อุเบกขาขนาดไหน มันเป็นสิ่งที่อุเบกขาที่กิเลสมันซ่อนอยู่ในอุเบกขานั้น ก็ย้อนกลับมาจับสิ่งนี้ ถ้ามันจับไม่ได้ สิ่งใดไม่ได้ เอาความเป็นสุภะเอาเป็นสิ่งสวยงามเข้ามาเทียบมันก็ได้ เทียบให้มันเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเป็นสุภะ กิเลสมันมีอยู่นะ

เวลาเขาเสพกามกัน เขาต้องไปหาเพศตรงข้ามเสพกามกันนะ แต่ขณะเราเอาสุภะเข้ามา ความสวยงามเข้าไปแนบกับมัน มันอยู่กับใจ สิ่งที่เป็นใจ อาการของใจกับอาการของใจมันเสียดสีกันอยู่ในหัวใจ มันเห็นเดี๋ยวนั้นแหละ สิ่งที่เห็นสภาวะแบบนั้นมันต้องเป็นไป สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม มันสัมผัสสัมพันธ์กัน เอาความสุภะมาล่อมัน มันแสดงตัว มันต้องแสดงตัวโดยข้อเท็จจริง เพราะมันมีสิ่งที่มันมีปากใหญ่โตของกิเลสตัณหามันซ่อนตัวอยู่นั้น เพียงแต่มันพยายามหลบ

แล้วเราไปคุ้ยเขี่ยมัน ไปค้นคว้าหามันโดยที่เอาสิ่งที่มันพอใจ เอาสิ่งที่มันต้องการ เอาสิ่งที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ว่ามันติดพันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วโดยสัญชาตญาณของมัน เพียงแต่เพราะเราวิปัสสนา แล้วธรรมเราเจริญก้าวขึ้นมา มันถึงหลบหลีก มันถึงต้องแสวงตัวของมัน มันทำเป็นว่ามันไม่ต้องการ มันทำเป็นว่ามันหมด หมดไม่มีความต้องการไง

แต่เมื่อเอาสุภะเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์กับมัน มันมีความเป็นไปของมัน

นี่ไง มันยังอยู่อย่างนี้ มันก็ต้องวิปัสสนาซ้ำ เห็นไหม พอ “นี่ไง” มันก็จับได้ พอจับได้ก็วิปัสสนาไป ถึงที่สุดแล้วมันจะต้องทำลายกัน มันจะต้องมีเหตุผลทำลายของมัน ครืน! ออกไปจากใจนะ กามราคะขาดออกหมดใจ นี่สกุลของพุทธะมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปถึงตรงตัวพุทธะไง สิ่งที่เป็นตัวพุทธะมันจะฝึกซ้อมสิ่งนี้เข้ามา ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา

“พุทธะ” พุทธะนี่เป็นสมมุตินะ พุทธะนี้เป็นสมมุติเพราะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี้เป็นสมมุติ สมมุติเพื่อเราให้เราก้าวเดิน เราเป็นสงฆ์โดยสมมุติ สงฆ์โดยสมมุติในสกุลพุทธะโดยสมมุตินี้มันสมบูรณ์โดยสมมุติ เราวิปัสสนาของเรา เข้าใจตามความเป็นจริงของเรา เข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เป็นสภาวธรรมจากภายใน

แล้วเข้าไปจะเห็นว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ที่ปริยัติเขาบอกว่ามันสืบต่อเป็นอิทัปปัจจยตา มันเป็นการก้าว มันเป็นสิ่งที่มันเป็นไป ลองเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงของมันมันจะเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าเข้าไปเห็นมัน นั่นล่ะคือตัวพุทธะล่ะ สิ่งที่เป็นตัวพุทธะนั่นคือตัวอวิชชาล่ะ

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส่ จิตเดิมแท้นั้นคือตัวกิเลส”

สิ่งที่เป็นตัวกิเลส ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เวลาเราก้าวเดินขึ้นมาแสนทุกข์แสนยาก กว่าจะเข้ามามีความเชื่อ เข้ามาบวชในศาสนา แล้วมาถือศีล มีศีลยังถือธุดงควัตรเพื่อจะทำลายกิเลส มันเป็นความทุกข์ความยากจากเปลือกจากภายนอกนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจากภายใน มันอาศัยกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันจะพลิกแพลง ล่อลวงให้ใจมีความอ่อนแอ มีความไม่จริงจัง เราพยายามสู้ทนขึ้นมา นี่มันเป็นความทุกข์จากภายใน เป็นความเห็นจากภายใน

ทุกข์อันนี้เราสร้างขึ้นมาจนมันเป็นมรรคไง “มรรคญาณ” มรรคเกิดขึ้นมา ทำลายกิเลสเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนไปเห็นตัว ตัวสกุลตัวต้นสกุลของกิเลส นี่สกุลพุทธะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางสมมุติไว้ให้เราก้าวเดิน แล้วเราก็เดินตามธรรม เดินตามวินัย สิ่งที่เดินตามธรรมวินัยเข้าไป จนจะเห็นเห็นตัวจริงของมัน เห็นตัวจริงในวงปฏิบัติ ในวงพระกรรมฐาน เห็นตัวจริงของตัวใจ เห็นตัวจริงของตัวอวิชชา แล้วจับตัวนี้ได้ ถ้าจับตัวนี้ได้

แต่คนจะเห็นตัวจริงอย่างนี้ได้มันต้องมีอำนาจวาสนา เพราะเวลามันว่าง มันปล่อยวางหมด มันจะปิดบังตัวนี้มาก สิ่งที่การเข้าไปเห็นตัวจริงของพุทธะนี้เพราะตัวพุทธะคือตัวพลังงาน มันส่งออกตลอด แล้วเราสร้างธรรมของเราขึ้นมา แม้แต่พระอานนท์ยังไม่สามารถอธิบายให้กับภิกษุณีได้ ต้องให้พระกัสสปะเข้าไปอธิบายเรื่องสิ่งนี้

จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์ปฏิบัติจนถึงที่สุดได้ พระอานนท์ก็เข้าใจ เข้าใจต่อเมื่อพระอานนท์เป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น ขณะที่เป็นอริยบุคคลชั้นต่ำจะไม่รู้สิ่งนี้สภาวะแบบนี้ได้เลย สิ่งที่สภาวะแบบนี้ แล้วเราก้าวเดินเข้าไปจนเห็นสภาวะแบบนี้ได้ มันเป็นอำนาจวาสนาขนาดไหน

ถ้าไม่มีอำนาจวาสนามันจะบังไว้ ว่าอันนี้เป็นความว่าง จิตนี้ไม่มี จิตนี้เป็นความว่าง นี่คือนิพพาน...สิ่งที่นิพพานกิเลสมันหลอก อวิชชามันหลอกไง ถ้าอวิชชามันหลอก ย้อนกลับเข้าไป ความเศร้าหมอง ความผ่องใส จิตนี้ผ่องใส จิตนี้ว่างมาก ถ้ามีความว่างมีความผ่องใสอยู่ที่นั่น นั่นคือตัวอวิชชา ถ้าจับตัวอวิชชาได้นั้นคือตัวภพ

ภวาสวะ ตัวนี้คือตัวอนุสัย อิทัปปัจจยตานี้คืออนุสัย อิทัปปัจจยตา อนุสัยที่มันซึมไปไง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อนุสัยมันนอนเนื่องอย่างนี้ กิเลสอันละเอียดไม่ต้องทำอะไรมัน ไม่มีสิ่งใดไปกระทบกระเทือนมัน มันก็เป็นตัวอวิชชา เพราะมันเป็นตัวอนุสัย มันเป็นตัวที่ไหลเลื่อนไปตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติอย่างนี้มันเลื่อนออกไป นี่คือตัวพลังงานไง ตัวพลังงาน ตัวอวิชชาเป็นพลังงานเฉยๆ ขันธ์อยู่อีกอันหนึ่ง มันไหลออกไป ไหลออกไปแล้วมันถึงไปกระเพื่อมโดนขันธ์

แต่ขณะที่มันปล่อยขันธ์ เราทำลายขันธ์เข้ามาทั้งหมด ทำลายกามราคะเข้ามาทั้งหมด มันก็หดเข้ามาอยู่ในตัวของมัน ในเมื่อหดอยู่ในตัวของมัน มันก็บังตัวของมันไว้ เพราะมันเป็นตัวมันเอง พอมันเป็นตัวมันเอง มันบอกไม่มีสิ่งใด ว่างหมดๆ

ถึงการจะพบตัวสิ่งนี้ มันถึงเป็นเรื่องเอาการเอางานโดยสมบูรณ์อยู่ ถึงต้องย้อนจิต ถึงมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำสิ่งนี้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำคอยเคาะอย่างนี้ เรามีอำนาจวาสนา เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ธรรมของครูบาอาจารย์ ๑ เราจะต้องเทียบเคียง ถ้าเทียบเคียงแล้วมันจะมีความลังเลสงสัย มันไม่เหมือนกันไง ทำไมครูบาอาจารย์ของเราจะอธิบายธรรมได้ถูกต้อง ทำไมเรามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันบังอยู่ไง มันไม่ครบวงจร มันไม่เห็นโดยสมบูรณ์ ถึงมีความแปลก เพราะมีความแปลกใจ มีความแปลกใจมันก็เริ่มค้นคว้าไง

พอเริ่มค้นคว้ากลับไป ย้อนกลับ นี่ทำจิตให้สมบูรณ์ ให้สมบูรณ์มาก ย้อนกลับไป ถึงเห็นตัว ตัวพุทธะ ทำลายตัวพุทธะนะ พอเห็นสมบูรณ์จับตัวนี้ได้ นี้คือตัวอวิชชา แล้วใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง แล้วธรรมของเราเกิดขึ้นมาจากใจ ต้องธรรมของเราเกิดขึ้นมาจากใจนะ ธรรมของเราเกิดขึ้นมา ทำลายตัวนี้ไง นี่สกุลของพุทธะโดยสมบูรณ์

นี้สมมุติทั้งหมด ธรรมและวินัยนี้เป็นสมมุตินะ

จิตที่พ้นจากธรรมและวินัยนี้ไป ถึงไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่สิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ความคิดหรือสิ่งต่างๆ ที่ออกมาเป็นสมมุตินี้ นี้เป็นสมมุติเพื่อสื่อความหมาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ ธรรมและวินัยที่ว่าเป็นทะเลหลวง พัดสิ่งที่เป็นสิ่งโสโครกซากศพเข้าฝั่งหมด สิ่งนี้เป็นเพื่อเป็นรูปธรรม ให้เราก้าวเดินตามนี้ พอเราก้าวเดินตามธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงที่สุดเราเข้าไปถึงธรรมของเราเอง

ถ้าเราเข้าไปถึงธรรมของเราเอง นี้! นี้ต่างหาก ความคิดไม่มี ความรู้สึกไม่มี สิ่งต่างๆ ไม่มี ถ้าสิ่งต่างๆ ความคิดความต่างๆ มี นั้นเป็นสมมุติทั้งหมด นั้นเป็นเรื่องของอาการของใจทั้งหมด นิพพานไม่มี นิพพานไม่มีในสมมุติ แต่นิพพานมีในตัวของมันเองไง นิพพานมีในความกว้างของนิพพานอันนั้นไง ถึงถ้าครูอาจารย์ชี้นำอย่างนี้ แล้วสืบต่อกันอย่างนี้ มันจะเป็นความจริงอย่างนี้ไง นี่สกุลของพุทธะโดยสมบูรณ์ไง

“มหาปวารณา” เราปวารณากับสงฆ์ในสมมุติโลกนี้เราปวารณา แต่ถ้าใจของเราเป็นธรรมนะ เราจะปวารณากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่อดีต ตั้งแต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ต่างๆ ปวารณากับสิ่งที่ว่าสงฆ์ที่เป็นสงฆ์โดยสมบูรณ์ เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะต่างๆ นี้ เป็นธรรมโดยสมบูรณ์ นี่จะปวารณากันโดยธรรม โดยหัวใจที่เป็นธรรมไง

สิ่งที่เป็นธรรม

ปวารณาโดยสมมุติ ๑

ปวารณาโดยสิ่งที่ว่าเราชำระกิเลสออกจากใจ ๑

ถ้าเราชำระกิเลสออกจากใจ อวิชชาพุทธะตัวนี้โดนพลิกคว่ำไปแล้ว ๑

นี้จะเป็นธรรมโดยสมบูรณ์

เราจะมีโอกาสได้ปวารณากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปวารณากับครูบาอาจารย์ทุกๆ องค์ เพราะใจเสมอกัน แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราไม่จริงจังของเรา เราจะต้องปวารณากับสงฆ์ในสมมุตินี้ แล้วเราจะเวียนตายเวียนเกิด แล้วเราจะปวารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้หรือ อย่างนี้กลับมาย้อนศรใจตัว อย่างนี้กลับมาสะเทือนใจตัว แล้วตัวจะมีโอกาส เอวัง