เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๓ ก.ย. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้จะพูดธรรมะนะ วันนี้จะแจกหนังสือ หนังสือเขาเพิ่งพิมพ์มาเมื่อวาน แล้วมันเป็นประวัติเจ้าคุณอุบาลีฯ ถ้าเจ้าคุณอุบาลีฯ พอเริ่มต้นหน้าแรก ท่านเขียนเองว่าท่านอายุครบ ๗๐ ปี ท่านเขียนประวัติท่านเองว่าอายุ ๗๐ ปี ถ้าคิดเป็นวัน ๒๐,๐๐๐ กว่าวัน แต่คิดถึงชีวิต ท่านพูดถึงชีวิตที่ได้มา เราต้องมีอาหาร สิ่งที่เรามีอาหาร เราปล้นชีวิตเขามาเท่าไร เป็นล้านๆ ชีวิต เวลาท่านพูดไง หนังสือนี้กินใจมาก เป็นประวัติเจ้าคุณอุบาลีฯ พิมพ์แจก เวลาแจกนะ หลวงตาท่านบอกว่าของมันเป็นธรรม เราให้กันไม่ได้หรือ เราทำไมต้องมาซื้อมาขายกัน

อันนี้เราไม่ได้ขาย แต่เวลาเราเอามาแจกแล้ว คนที่เอาไป ถ้าเขาเป็นประโยชน์ เขาไปเผื่อแผ่กันนั่นเรื่องหนึ่ง แต่เขาเอาไปขายกันน่ะ พอไปขาย ไปขายที่ร้านหนังสือเก่า คนเรานะ เวลาจิตใจที่มันสูงส่ง เขาทำอะไรเขาให้กัน สิ่งนั้นเป็นธรรม แต่เวลาเขาซื้อเขาขายกัน มันก็ว่าเรื่องนี้มันเป็นธุรกิจ มันเพื่อความขยายกว้างขวางออกไป เพราะมันมีทุนเพื่อจะกระจายออกไป เขาบอกเขาขายก็ขายในราคาที่ไม่ขูดรีด นี่เวลาเขาคิดเขาคิดกันอย่างนั้นนะ

แต่หลวงตาท่านบอกว่า ในเมื่อเราทำบุญกุศล เห็นไหม ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่ได้มาได้มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เราทำไมต้องมาซื้อมาขายกัน ทำไมเราให้กันไม่ได้ ถ้าเราให้กันไม่ได้ พระเป็นผู้ที่ยังให้เขาไม่ได้ แล้วโลกเขาจะอยู่กันอย่างไร

ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เราให้ทั้งนั้นแหละ แต่มันมีคนเอาไปขายไง ฉะนั้น เอาไปขาย เราถึงบอกถ้าแจก เล่มเล็กให้แจกเลย ถ้าเล่มใหญ่ต้องไปที่นู่น เดี๋ยวไปรับแจก เพราะของเราเอามาให้กันไง เราให้กันด้วยน้ำใจนะ

ฉะนั้น สิ่งที่มีคุณงามความดี สิ่งที่ธรรมของครูบาอาจารย์เราท่านมีคุณธรรม ทีนี้เวลาท่านพูดออกมามันกินใจทั้งนั้นแหละ สิ่งที่กินใจมันเป็นธรรมๆ นะ ถ้าเป็นธรรม สิ่งที่เราให้กัน ให้กันเป็นธรรมๆ มันเป็นธรรม แต่เวลาเป็นธรรม ถ้ามันเป็นกิเลส คนที่ไม่มี คนที่มีก็อยากจะแจก เขาบอกว่าทำก็เพื่ออยากดังๆ

มันจะไปดังที่ไหน คำว่า “อยากดังๆ” อยากดังเป็นผู้ให้ คนที่ให้มันอยากดังที่ไหน มันอยากให้เขาร่มเย็นเป็นสุขต่างหากล่ะ มันธรรมโอสถ ถ้าเราไม่มี เราจะเอาอะไรไปให้เขา เราต้องมีก่อนใช่ไหมเราถึงจะให้เขาได้ ถ้าเราให้เขาแล้วมันก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่คนที่เห็นเขาให้เขาก็อยากให้บ้าง ก็ไปเอามาแล้วมาดัดมาแปลง ดัดแปลงเพราะอะไร เพราะว่าอยากดังไง คำว่า “อยากดัง” มันจะมีกิเลสเจือปนเข้าไป คือว่าฉันได้อะไร ฉันต้องได้อะไร

แต่ครูบาอาจารย์ของเราไม่ใช่ เราต้องมีคุณธรรม เราถึงจะบอกเขาได้ว่าธรรมโอสถเป็นแบบใด แล้วเรายังต้องลงทุนลงแรง ผู้ที่มีคุณธรรม คุณธรรมเขาทำเพื่อประโยชน์โลกทั้งนั้นแหละ มันเป็นธรรมนะ มันไม่ใช่ไสยศาสตร์ ถ้าเป็นไสยศาสตร์นะ ก็เอาความเห็นของตัวเข้าไปไง ถ้าเอาความรู้ความเห็นของตัวเข้าไป แล้วความรู้ความเห็นของตัวมันไม่มี ถ้าความรู้ความเห็นของตัวมันมีนะ นั่นล่ะธรรมโอสถๆ ถ้าความรู้ความเห็นของตัวมันมี สิ่งนั้นจะเป็นธรรม

ถ้าเป็นธรรม เริ่มต้นมันก็เป็นธรรมแล้ว แล้วมันจะไปเห็นแก่ตัวได้อย่างไร มันไปอยากดังอยากใหญ่ได้อย่างไร ถ้าอยากดังอยากใหญ่มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรม เขาไม่อยากดังอยากใหญ่หรอก เขาต้องปราบกิเลสตัวเองให้ได้ เพราะไอ้ความอยากดังอยากใหญ่ ไอ้ตัวนี้แหละ ตัวนี้แหละมันบิดเบือน เพราะคำว่า “ฉันได้อะไร” แต่สังคมได้อะไรต่างหากล่ะ สังคมได้อะไร ถ้าสังคมได้ตามความเป็นจริงอันนั้น สังคมจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น ถ้าสังคมได้ความจริงนั้น นี้สังคมมันอ่อนด้อยไง

หลวงตาท่านพูดนะ ขนโคกับเขาโค ใครมีมากกว่ากัน

ไอ้ขนโคมันมีมากกว่าเขาโคอยู่แล้วล่ะ ไอ้ขนโคน่ะ ไอ้ขนโคก็วุฒิภาวะของเราไง วุฒิภาวะ ใครพูดอะไรก็เชื่อ ใครพูดอะไรก็เชื่อ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกต้องมีศรัทธา ศรัทธาคือความเชื่อนั่นแหละ แต่ความเชื่อ กาลามสูตรอย่าเพิ่งเชื่อสิ่งใด อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งใด ต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้มันรู้จริงขึ้นมาก่อน แต่ความจริงนั้นน่ะ อย่าไปเชื่อ อย่าเพิ่งไปเชื่อว่าสิ่งนั้นจะเป็นจริง สิ่งนั้นจะเป็นจริง

เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านจบมหามานะ ท่านจบมหามา เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น เคารพบูชามากนั่นแหละ แต่สุดท้ายแล้วท่านพูดเอง เวลาหลวงปู่มั่นพูดสิ่งใด มันก็ลงใจแล้วล่ะ แต่เราไปเปิดพระไตรปิฎกอีกที โอ้โฮ! มันยิ่งซาบซึ้งๆ ใหญ่ เห็นไหม มันยังต้องเข้ามาเปรียบเทียบ เพราะสิ่งนี้มันมีเปรียบเทียบอยู่แล้ว

แต่เวลาคนเรานะ เราไม่มีวุฒิภาวะ เราก็เปรียบเทียบพระไตรปิฎก ถ้าพระไตรปิฎก แล้วพอพระไตรปิฎกเราก็ตีความไง ตีความในพระไตรปิฎกอย่างนั้น พระไตรปิฎกมันก็เหมือนภาษา ดูสิ ภาษาเราอ่านออก แต่เราไม่เข้าใจความหมาย แต่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้ว ปริยัติ ปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นมา อ่านออกด้วย แล้วมันเข้าใจความหมายด้วย มันเข้าใจความหมายมันลึกซึ้งมาก มันซาบซึ้งๆ เห็นไหม เราอ่านออกไง แต่มันก็เข้าใจตามความรู้สึกของเรา เข้าใจตามวุฒิภาวะไง ถ้าเข้าใจตามวุฒิภาวะ สิ่งที่เข้าใจ มันถึงบอกว่า คนนู้นอยากได้อะไร คนนี้มีวุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ ถ้าใครมีคุณธรรมในใจ ดูสิ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” พระอัญญาโกณฑัญญะ สิ่งนี้วุฒิภาวะมันจะบอกเลย ความรู้ขนาดนี้มันจะรู้ได้ขนาดไหน ถ้ามีความลึกซึ้งขึ้นไป มันบอกหมด เวลาบอก บอกที่ไหน

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่าคนที่ไม่มีนะ เวลาพูดอย่างไรมันก็ไม่มีออกมาหรอก เวลาท่านไปฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ที่มีการศึกษามา ท่านบอกนี่ปริยัติ ปริยัติคือการศึกษามา ศึกษามาจะพูดอย่างนี้ แต่ถ้าปฏิบัติมานะ ถ้าปฏิบัติมาแค่ไหน ได้แค่ไหนมันจะบอกมา ผู้ที่ไม่มีนะ จะพูดอย่างไรมันก็ไม่มี

แต่ผู้ที่จะมีนะ ท่านพูดเล่นพูดหัวนะ หลวงปู่มั่นท่านพูดเล่นพูดจริง หลวงตาบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านพูดเล่นพูดจริง แต่เราฟังจริงๆ ตลอด เพราะของมันมีอยู่ ออกมามันจริงทั้งนั้นแหละ ถึงจะพูดเล่นมันก็มีของจริงนั่นแหละ ของเล่นๆ นั่นแหละของจริงทั้งนั้นเลย เพราะอะไร เพราะใจท่านเป็นธรรม ท่านพูดอย่างไรมันก็เป็นธรรม แต่คนที่ไม่มีพูดอย่างไรนะ พูดจะให้มัน...นี่ไง เวลาพูดขึ้นมา อวิชชาทั้งนั้นแหละ พูดถึงปฏิจจสมุปบาท ทางวิชาการ ตามทฤษฎี ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย

เพราะคนถ้ามีนะ มันไม่กล้าพูดอย่างนั้น ไม่กล้าพูดแบบนั้นเพราะอะไร เพราะมันเร็วมากไง สิ่งที่เร็วมากนะ เวลาปัจจยาการมันเร็วขนาดไหน มันปฏิสนธิจิตนะ เพราะมันยังไม่ออกมาที่ขันธ์เลย เวลาออกมาที่ขันธ์ก็เป็นปฏิฆะ ปฏิฆะคือข้อมูล มันเกิดกามราคะความพอใจ ความยึดมั่น เวลามันออกมามันก็เป็นธาตุ ๔ อุปาทาน ออกมามันเป็นสักกายทิฏฐิเลย เวลามันออกมาเป็นชั้นๆๆ ขึ้นมา แล้วเวลาย้อนกลับ เวลาพูดถึงย้อนกลับ แล้วคนมีมันจะย้อนกลับเข้าไป นี่ธรรมโอสถๆ

แล้วถ้ามันมีจริงแล้ว มันจะสังเวชว่ามันไม่มีใครรู้กับเราได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ที่ปุถุชนจะรู้ธรรมลึกซึ้งอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้ แสดงออกไปขนาดไหน แต่คนรู้เขามี คนรู้เขาฟังออก ถ้าคนรู้ฟังออก นั่นล่ะจะเป็นความจริงอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าเป็นธรรมๆ นะ คำว่า “เป็นธรรม” เพราะว่าเวลาแจกหนังสือไปเขาว่าอยากดังอยากใหญ่

คำว่า “อยากดังอยากใหญ่” นั่นคือกิเลสทั้งนั้นแหละ อยากดังอยากใหญ่เพราะอะไรล่ะ เพราะว่าอยากให้เขารู้จัก อยากเสนอตัวเองไง แต่นี้มันไม่ใช่อยากดังอยากใหญ่ มันเป็นศาสนทายาท ธรรมทายาท ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม ท่านทำประโยชน์กับโลกไว้มหาศาลเลย แล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์กับโลกมหาศาล เวลาคนเขามาตีความ ตีความกันหลากหลายไป แล้วมันแบบว่าดึงฟ้าลงต่ำ เพราะวุฒิภาวะมันไม่ถึงมันก็เข้าใจอย่างนั้น ยิ่งตีความยิ่งคลาดเคลื่อนออกไปจากธรรมไง

ทีนี้เรามาเก็บรวบรวม มาคัดลอก มาเก็บรวบรวม เพราะมันกินใจ มันกินใจ เวลาคำพูดของท่าน เห็นไหม เวลาปริยัติกับปฏิบัติห่างกันราวฟ้ากับดิน ถ้าคนอื่นพูดก็บอกว่าเราแบ่งแยกกัน แบ่งแยกกัน

แต่เจ้าคุณอุบาลีฯ ชีวิตของท่านนะ ท่านศึกษามาขนาดไหน แล้วเวลาศึกษา ขณะที่ท่านศึกษาท่านนั้นการศึกษายังไม่เจริญ ต้องศึกษาจากมุขปาฐะ ต้องศึกษาจากผู้บอก ต้องศึกษาจากผู้บอก ยังไม่มีตำรับตำรา การศึกษาจากผู้บอกมันต้องมีครูบาอาจารย์ เพราะสมัยนั้นการศึกษายังไม่เจริญ แล้วเวลาท่านศึกษามาแล้วท่านมีความรู้ของท่าน ท่านถึงมาวางรากฐานการศึกษา วางรากฐานการศึกษาถึงเกิดโรงเรียน เกิดทางวิชาการ เกิดตำรับตำราอะไรขึ้นมา ท่านวางรากฐานการศึกษา ท่านเป็นเจ้าแห่งปริยัติว่าอย่างนั้นเลย แล้วเวลาท่านมาประพฤติปฏิบัติทำไมท่านพูดเองล่ะว่า ปริยัติกับปฏิบัติห่างกันราวฟ้ากับดิน

ฉะนั้น สิ่งที่ห่างกันราวฟ้ากับดิน เราศึกษามาเราก็ศึกษา มันต้องมีการศึกษา โลกนี้เจริญด้วยการศึกษานะ มีปัญญาทำให้โลกนี้เจริญ ต้องมีการศึกษาทั้งนั้นแหละ แต่ศึกษาแล้วกิเลสมันไปยึดมั่นถือมั่นว่าเรารู้แล้ว เรารู้แล้ว

แล้วเวลาปฏิบัติไป เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม “มหา สิ่งที่มหาศึกษามา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐมาก เทิดใส่ศีรษะไว้ เทิดใส่ศีรษะไว้นะแล้วใส่ลิ้นชักไว้ในสมอง ใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วลั่นกุญแจมันไว้นะ ถ้าไม่ลั่นกุญแจไว้ เวลาปฏิบัติไปพร้อมกัน มันจะเตะมันจะถีบ”

คือว่า ปริยัติคือความรู้ของเรามันจะเกิดความลังเลสงสัย ความรู้ของเรามันก็จะคาดการณ์ ความรู้ของเรามันจะจินตนาการ ความรู้ของเรามันจะคาดหมายไปเลย แล้วเราปฏิบัติไปมันก็ไปตกหล่มอยู่อย่างนั้นแหละ ทำไมเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันเป็นไปหมดเลย แต่ถ้าเราเอาความรู้นี้ เอาภาคปริยัตินี้ เวลาปฏิบัติ เวลาศึกษา ศึกษามาเพื่อความรู้นะ แต่เราปฏิบัติตามความจริง เอาความรู้นี้ใส่ลิ้นชักไว้ในสมอง ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้นะ แล้วปฏิบัติของเราไป ปฏิบัติของเราไป

ถ้ามันไปถึงจุดหนึ่ง มันจะเหมือนกัน มันจะเหมือนกัน แต่ถ้ามันยังไม่ถึงจุดหนึ่ง ท่านบอกเลยนะ มันจะเตะมันจะถีบ มันจะเตะมันจะถีบคือว่ามันขัดแย้งกันไง มันจะคาดมันจะหมายนะ แล้วเราคนปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน มันยากมาก คำพูดอย่างนี้เป็นคำพูดของครูบาอาจารย์ท่านเห็นใจ ท่านเห็นใจ ท่านพยายามประคอง ท่านพยายามทำให้เราไปแนวทางที่ถูก ท่านพยายามให้เราทำสะดวก ท่านเปิดทางให้ แต่ไอ้เราก็บอกว่าเหมือนกัน เราก็ไปยึดไง แล้วพอพูดอย่างนี้ปั๊บ พูดอย่างนี้เขาบอกว่าไปดูถูกภาคปริยัติ...ไม่ ไม่ ไม่ได้ดูถูกภาคปริยัติ

ปริยัติคือปริยัติ แต่ปริยัติศึกษาแล้วเขาศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เรามีความรู้ เราเรียนจบแล้ว เราไม่ทำงาน เราจะเอาที่ไหนกินกัน เราเรียนจบแล้วเราก็ต้องทำมาหากินใช่ไหม เวลาทำมาหากิน สิ่งที่ได้มา นั่นล่ะผลประโยชน์ที่วิชาชีพของเรา นี่ก็เหมือนกัน ทฤษฎีเราเรียนมาแล้ว เราปฏิบัติ ปฏิบัติให้มันจริง ทีนี้พอจะไปปฏิบัติ คือจะประกอบอาชีพ เราเรียนมาเป็นอย่างนี้ แล้วสังคมมันซับซ้อนขนาดไหน เวลาไปทำธุรกิจมันมีสิ่งใด มันมีเล่ห์กลขนาดไหน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะปฏิบัติเข้าไป กิเลสของเรามันร้ายนัก กิเลสของเรามันพลิกแพลงหมดแหละ ถ้ามันพลิกแพลงขนาดไหน สิ่งที่กิเลสมันจะอ้างอิง คือกิเลสมันจะอ้างอิงธรรมะว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ฟังแล้ว เบื่อหน่ายมาก พูดซ้ำๆ ซากๆ น่าเบื่อหน่าย

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อานิสงส์ของการฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำมัน แก้ความสงสัย ถึงที่สุดถ้าจิตมันลง สว่างไสว ผ่องแผ้ว นี่อานิสงส์ของมันๆ

ฟังแล้วฟังเล่า ตอกย้ำๆ ตอกย้ำก็เอ็งไม่รู้ไง ตอกย้ำเพราะว่าเอ็งยังทำไม่ได้ไง แต่ถ้าเอ็งทำได้นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาวันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โอวาทปาติโมกข์ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ พระอรหันต์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเทศน์สอนเลย

แล้วของเรากิเลสเต็มหัว สิ่งที่ขัดแย้งในหัวใจ แล้วบอกว่ารู้แล้วๆ รู้แล้วมันก็จินตนาการ นี่กิเลสมันบังเงา มันอ้างเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหน้าฉาก แล้วหลังฉากมันก็ต้อนหัวใจไว้ในอำนาจของมัน มันก็ย่ำยีหัวใจของเรา เห็นไหม ดูกิเลสสิ ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานะ

แต่ถ้าเราวางไว้ ลั่นกุญแจไว้ไม่ให้มันหลอกมันลวง แล้วเราปฏิบัติของเราไป พอเราไปถึงจุดหนึ่ง หลวงปู่มั่นบอกว่ามันจะเหมือนกัน ความรู้เรานะ เห็นไหม พระอรหันต์สมัยพุทธกาลกับพระอรหันต์สมัยกึ่งพุทธกาลก็พระอรหันต์เหมือนกัน ความรู้ก็เหมือนกัน ความรู้ที่พระอรหันต์ในกึ่งพุทธกาลที่รู้มันก็รู้แบบพระอรหันต์สมัยพุทธกาลรู้นั่นล่ะ รู้แจ้งเหมือนกัน แทงทะลุเหมือนกัน เหมือนกันหมดเลย แล้วมันต่างกันตรงไหนล่ะ ถ้ามันเหมือนกัน เห็นไหม มันเหมือนกัน มันเหมือนกันหมดเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าธรรมทานๆ ครูบาอาจารย์ท่านทำไว้ เรามาแจกกัน เรามาพิมพ์แจกกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ จิตใจที่เป็นประโยชน์สาธารณะนะ เราให้กัน เราเจือจานต่อกัน เราไม่มีการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน แต่โลกมันเป็นแบบนั้น เขาทำอย่างนั้น

เราทำเพื่อประโยชน์ เราทำเพื่อประโยชน์ไง แต่ถ้าเราอยากดังอยากใหญ่มันก็ต้องพูดเพื่อเราๆ ถ้าพูดเพื่อเราก็กิเลสไง พูดเพื่อเรามันหวังผล ความหวังผลมันมีผลประโยชน์ ผลประโยชน์ทับซ้อน มันแสดงธรรมไม่ได้หรอก แล้วทำเพื่อประโยชน์กับสาธารณะไม่ได้หรอก มันหวังผล

แต่เราไม่หวังผล เห็นไหม ทิ้งเหวๆ ทำเพื่อประโยชน์ๆ ทีนี้สิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อประโยชน์ แล้วทำประโยชน์มันเป็นธรรมโอสถด้วย มันเป็นความจริงด้วย เพราะเป็นความจริง เวลาคนที่จิตใจมีวุฒิภาวะ พอไปค้นคว้านะ เวลามันสะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจคือสะเทือนกิเลส กิเลสมันอยู่จิตใต้สำนึก เวลาเราอ่านธรรมะ เวลาเราศึกษาไป ขนลุกขนพองเลย ถ้าขนลุกขนพอง นั่นแหละเรามีอำนาจวาสนา เรามีโอกาส แต่ถ้าเราคิดโดยตอบสนองกิเลส ผลประโยชน์ทับซ้อนนะ “ไม่ชอบ ไม่ดี”

“ไม่ชอบ ไม่ดี” มันไม่ดีอย่างไร เวลาไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะมันไม่ได้ดั่งใจใช่ไหม ถ้าได้ดั่งใจก็ได้ดั่งกิเลสไง แต่ถ้ามันขัดใจ ขัดใจคือขัดกิเลส ขัดใจ เห็นไหม ขัดเกลา ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นเครื่องขัดเกลา แต่พอขัดเกลาแล้วเราต้องมีสติมีปัญญา สติปัญญามันจะไปประหัตประหารกันที่มรรค

แต่เครื่องขัดเกลาๆ เราขัดมันไว้ ขัดเกลาไม่ให้กิเลสมันผยอง ขัดเกลาไม่ให้กิเลสมันเหิมเกริมหัวใจ ขัดเกลามันไว้ เราศึกษาๆ มา ขัดแย้งมันไว้ๆ ขัดแย้งเพื่อให้ธรรมมันชื่นบานขึ้นมาในหัวใจ ถ้ามันชื่นบานในหัวใจ เดี๋ยวภาคปฏิบัติมันจะมีทางรอด แต่ถ้ามันไม่ขัดใจมันไว้เลย เอาแต่ใจๆ สนองกิเลสตลอด นี่ผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้าเป็นผลประโยชน์จริง เราจะไม่ได้อะไรเลย

นี่เพื่อประโยชน์สังคมทั้งนั้น แจกไป ให้เพื่อประโยชน์สังคมไป ไม่ต้องการอะไรเลย แล้วไม่อยากได้อะไรเลย แต่อยากให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข อยากให้สังคม อยากให้จิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจเพื่อประโยชน์ต่อกัน ถ้าประโยชน์ต่อกัน ถ้าเป็นธรรมมันจะเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นโลก คิดแต่เรื่องตัวเอง คิดแต่ตัวเองอยากได้อยากใหญ่ คิดแต่ตัวเองว่าอยากได้ผลประโยชน์ แล้วเอาไว้ทำไม แล้วมันได้อะไร สิ่งที่ได้มามันสร้างเวรสร้างกรรม แต่เราเสียสละออกไปเพื่อประโยชน์ๆ มันเป็นประโยชน์กับสาธารณะ มันเป็นประโยชน์เพื่อสังคม ศาสนทายาท เพื่อประโยชน์กับโลก แจกทานเพื่อเหตุนี้ เอวัง