ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิเพื่อ

๑๓ ก.ย. ๒๕๕๗

สมาธิเพื่อ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องขณะใจสงบ ร่างกายได้รับการพักผ่อนเหมือนนอนหลับหรือไม่

กราบนมัสการพระอาจารย์ คืนก่อนที่นั่งภาวนา ผมเริ่มด้วยการพุทโธเร็วๆ เลยครับ ช่วงแรกใจไม่สงบเลย ภาวนาเร็วๆ ได้เป็นพุทโธบ้าง หลุดเผลอภาวนาเป็นอะไรไปไม่รู้บ้างตามความฟุ้ง พอมีสติก็เน้นคำพุทโธให้ชัด ถึงจะภาวนาเป็นอะไรไม่รู้ แต่สติก็พยายามจะภาวนาแบบดื้อหัวชนฝา

พอภาวนาไปๆ ใจเริ่มเบา พุทโธเริ่มชัด บังคับได้ง่ายขึ้น ถึงกระนั้นกิเลสก็มากวนให้เราลุกไปนอนตลอดเวลา (เพราะผมนั่งภาวนาดึกมาก และต้องตื่นไปทำงานแต่เช้าด้วย) แต่ก็พอมีประสบการณ์แล้ว เลยพุทโธให้เร็วขึ้นๆ จนรัวเป็นพืดไปเลย เพื่อกันไม่ให้ความคิดนั้นมาหลอกเรา จนรู้สึกตัวเบาสบาย กายก็เบาสบาย ผ่อนคลายเหมือนคนตื่นจากการนอนหลับพักผ่อนยาวๆ มานาน มันสดชื่น สบายใจ สบายกาย บอกไม่ถูกจริงๆ ครับ

อาการแบบนี้ทำให้ผมอดคิดสงสัยไม่ได้ว่า การนั่งภาวนา เมื่อจิตสงบแล้ว ร่างกายก็จะได้พักผ่อนไปด้วยหรือเปล่าครับ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็นั่งภาวนาทุกวันโดยไม่ต้องนอนก็ได้น่ะสิ อันนี้สงสัย ไม่แน่ใจเลยครับ เลยต้องเขียนมาขอความเมตตาจากพระอาจารย์ ถามเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

. ผมได้คิดไปถึงตอนที่ท่านอาจารย์ได้เทศน์หลายๆ ครั้งว่า พระอาจารย์ไม่ได้นอนช่วงเข้าพรรษา เป็นเพราะสมาธิหรือเปล่าครับ ที่ทำให้ผ่านวิกฤติแบบนั้นมาได้ครับ นั่นแสดงว่าเราสามารถพักผ่อนภายในสมาธิได้ใช่ไหมครับ ถ้าได้จริง เราก็สามารถนั่งภาวนาไปยาวๆ ข้ามคืนได้โดยร่างกายไม่อ่อนเพลีย และสามารถไปทำงานตอนเช้าได้ตามปกติ

. ต่อเนื่องจากข้อที่ ๑ ถ้าเราเอนกายนอน แต่เราภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ โดยบังคับให้ไม่นอน พุทโธไปตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเดือน โดยไม่ต้องหลับได้ไหมครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : นี่ให้ตอบปัญหา เห็นไหม เวลาปัญหา ปัญหานี่พื้นๆ แต่เราจะตอบให้มันพิสดาร ให้มันพิสดารว่า

คำว่าเข้าสมาธิ ทำสมาธิทำสมาธิมันคืออะไรล่ะ เพราะตอนนี้มีความเชื่อกันทำสมาธิๆ ศาสนาพุทธสอนเรื่องสมาธิ”...อย่างนั้นจริงๆ หรือ อย่างนั้นจริงๆ หรือ

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องมรรค พระพุทธศาสนาสอนเรื่องมรรค ๘ มรรค ๘ มันมีปัญญา มีงานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรมอันนั้นมันถึงเป็นมรรค พระพุทธศาสนาสอนที่นั่น

ถ้าทำสมาธิๆ พระพุทธเจ้าสอนเหนือกว่าสมาธิ เพราะสมาธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบสก็ได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ได้สมาธิ ได้ฌานโลกีย์ ได้ทุกอย่างมาพร้อมหมดแล้วแหละ แต่มันไม่ใช่พระพุทธศาสนา มันไม่ใช่

พระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทำจิตสงบ เวลาไปศึกษามา เข้าฌานโลกีย์ เข้าต่างๆ เราบอกอภิญญา ๖ เขาว่าคนนั้นได้ฌาน ๒ ฌาน ๓ อะไร เขาพูดนะ แหม! ถ้าพุทโธๆ มันจะได้แค่ฌาน ๒...ว่ากันไปไง ก็เพราะว่านึกว่าสอนสมาธิไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนสมาธิหรือ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้พ้นจากทุกข์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธินะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้พ้นจากทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีตรงข้าม ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่สอนให้พ้นจากทุกข์ สอนให้พ้นจากการเกิดและการตาย ไม่ได้สอนสมาธิ

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธินะ พระพุทธเจ้าสอนให้พ้นจากทุกข์ สอนให้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธเจ้าสอนให้ประพฤติปฏิบัติให้ตรงข้าม ให้นิพพาน ให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธเจ้าสอนเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ ไม่ใช่ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธิ

ถ้าสอนสมาธินะ ก็ไปเรียนกับฤๅษีสิ อ้าว! พวกฤๅษีก็สอนอยู่แล้ว ในสมัยพุทธกาลเขาสอนสมาธิกันอยู่แล้ว เขามีสมาธิอยู่แล้ว แล้วคนที่ภาวนาไปเขาบอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์ ทุกคนประกาศว่าเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็ไปศึกษามาหมดแล้ว ดูสัญชัยสิ นั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็ไปศึกษากับเขามาก็ไม่ใช่

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธเจ้าสอนมากกว่าสมาธิเยอะมาก พระพุทธเจ้าสอนอีกกว้างไกล โอ้โฮ! สอนอีกมหาศาลเลย แต่พวกเราเข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าสอนสมาธิ แล้วเราก็จะทำสมาธิ

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องสัจจะ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย พระพุทธเจ้าสอนที่นั่น เป้าหมายของพระพุทธศาสนาสอนถึงพ้นจากทุกข์

เราปรารถนาพ้นจากทุกข์ แล้วพ้นจากทุกข์แล้ว การจะพ้นจากทุกข์ ใครจะพ้นจากทุกข์ล่ะ

การจะพ้นจากทุกข์ ต้องจิตนี้เป็นผู้พ้นจากทุกข์ ถ้าจิตพ้นจากทุกข์ เพราะจิตไม่เวียนว่ายตายเกิด

เพราะจิตเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ คนที่เกิด เกิดมาจากไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาจากไหน อดีตชาติเริ่มตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะ ก็เป็นเทวดาอยู่บนดุสิตก่อน จากดุสิตก็ลงมา เกิดบนดุสิต รอมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ก็พระเวสสันดร พระเวสสันดรชาติไหน พระพุทธเจ้าเกิดมาจากไหน เวลาเกิด เราเกิดมาจากไหน จิตปฏิสนธิจิตมันเกิดมาจากไหน อะไรมันพาเกิด แล้วเวลาปัจจุบันแล้วรู้เท่าทันจิตตัวเองหรือเปล่า

ถ้ารู้เท่าทันจิตตัวเองแล้ว ถ้าเกิดมรรค เห็นไหม ดูสิ เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมา พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศน์ธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม ดวงจิตนะ มีดวงจิตเห็นธรรม ถ้าพอเห็นธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา อันนี้เป็นสมาธิหรือเปล่า อันนี้มันเป็นผลจากปัญญา ปัญญาที่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน สมาธิเป็นพื้นฐาน

ดูนักกีฬานะ นักกีฬา พูดถึงนักกีฬาอาชีพ ดูสิ อาชีพเขาเป็นเงินเป็นทอง โอ้โฮ! เงินทองเขามีมหาศาล นักฟุตบอล อาทิตย์หนึ่งเป็นสิบๆ ล้าน เงินเดือนเขาน่ะ

ดูนักกีฬาที่ดีนะ เวลาเขามีความฟิตของเขา นักกีฬาเขามีทักษะของเขา เขาเล่นกีฬาของเขา ถ้าเขารักษาความฟิต นี่วิชาชีพ เวลาที่เขาหาเงินหาทองมันได้ยาวไกล ถ้าใครไม่รักษาร่างกาย เห็นไหม บางคนเป็นนักกีฬาอาชีพ ปีสองปีเขาหมดอาชีพเลย เพราะเขาพิการ เขาเจ็บไข้ได้ป่วย นี่เขาไม่รักษาชีวิตของเขา ไม่รักษาความฟิต ไม่รักษาร่างกายของเขา นักกีฬาอาชีพบางคนสุรุ่ยสุร่าย ใช้เงินจนเสียคน

ความฟิต ความฟิตของร่างกาย มันก็เหมือนทางจิตใจนี่ จิตใจ สมาธิก็คือความฟิตของจิตใจ ถ้าจิตใจมันมีสมาธิเป็นพื้นฐาน พื้นฐานแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา มันถึงเกิดมรรค การว่าเกิดมรรค พระพุทธเจ้าสอนที่นี่ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล

ถ้าไม่มีมรรค มรรค ๘ ถ้าศาสนาไหนไม่มีมรรค ๘ ไม่มีมรรคในหัวใจ ไม่มีงานชอบ งานชอบคือวิปัสสนาญาณ ปัญญารู้แจ้ง ถ้าไม่มีอย่างนั้น ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ถ้าใครสอนสมาธิๆ มันก็แค่ฤๅษีชีไพร มันก็ติดสมาธิอยู่นั่นแหละ

พระพุทธเจ้าสอนมากกว่านั้น พระพุทธเจ้าสอนถึงอริยสัจ พระพุทธเจ้าสอนถึงเรื่องการพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธิ

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการกับบริษัท ๔ ถ้าไปเจอคฤหัสถ์ ท่านจะสอนเรื่องทาน อนุปุพพิกถา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสอนใคร เวลาสอนคฤหัสถ์ สอนให้รู้จักเสียสละทานก่อน ก่อนที่จะมาศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องให้รู้จักอกเขาอกเรา รู้จักน้ำใจคน รู้จักการเสียสละ อย่าตระหนี่ถี่เหนียว อย่าเอารัดเอาเปรียบใคร อย่าเห็นแก่ตัว เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนการให้เสียสละทานเพื่อให้จิตใจกว้างขวาง ให้ยอมรับความเห็นต่าง ให้ยอมรับสังคม ให้ยอมรับ เราเกิดมามีพ่อมีแม่มีพี่มีน้อง เราต้องรักกัน เราต้องช่วยเหลือเจือจานกัน แล้วพอจิตใจมันสมควรแก่การงาน ท่านถึงสอนเรื่องอริยสัจ

ถ้าสอนอริยสัจนะ พอสอนอริยสัจ ท่านก็ต้องดูก่อนใช่ไหม จะบอกว่า ท่านไม่สอนสมาธิเลย ไปเทศน์ธัมมจักฯ ปัญจวัคคีย์ ก็ไม่ได้สอนสมาธิเลย

เพราะปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี คนปฏิบัติมาด้วยกัน ๖ ปี เขาก็รู้อยู่แล้วว่ามีสมาธิ ทำไมต้องไปสอนสมาธิอีก สมาธินี้เป็นพื้นฐาน ถ้าใครมีสมาธิแล้ว ท่านก็สอนเรื่องปัญญา เรื่องอริยสัจไปเลย แต่ถ้ายังไม่มีสมาธิ ท่านก็สอนให้รู้จักการเสียสละ การเสียสละ จิตใจที่เป็นสาธารณะ มันจะทำสมาธิได้ง่าย ทำสมาธิ จิตใจตั้งมั่น จิตใจที่มีคุณธรรม

ทีนี้พวกที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นบอกให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน

พอบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ พวกเราก็ไปศึกษาธรรมะเลย ไปจำมาเลย มรรคคือเป็นอย่างนั้น ก็เลยบอกว่า มรรคมีกำลังเท่าไร ปัญญามีเท่าไร สมาธิจำนวนเท่าไร แล้วเราก็จะมารวมกันให้มรรคสามัคคีเลย เราก็จะเอามรรคมาวิเคราะห์ใช่ไหม มรรค ๘ ใช่ไหม ก็แยกเป็น ๘ ส่วนใช่ไหม น้ำหนักเท่าไร มีกี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้มันก็เป็นการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ไปอีก มันก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่ทั้งนั้นเลย ถ้าคนปฏิบัติไม่ถูกทาง ทำอย่างไรมันก็ไม่ถูก

ฉะนั้น ถ้าคนถูกทางนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านถึงบอกว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา ใจตั้งมั่น

นักกีฬาที่มีความฟิต ถ้านักกีฬามีความฟิต มีกำลัง นักกีฬาที่สมบูรณ์ เขาให้ลงแข่งขัน จะลงแข่งขันได้เขาก็ต้องมาฝึกทักษะ ฝึกจนเขาจะดูว่ามีปัญญาไหม ถ้าไม่ได้ก็เป็นตัวสำรองไปก่อน ตัวสำรองๆ ไม่ใช่ตัวจริง ถ้าฟิตมีกำลังแล้ว ทักษะใช้ได้ อ้าว! ได้ลงเป็นตัวสำรอง ลงไปแข่งขันได้กี่นาที ลองประสบการณ์ก่อน เห็นไหม มันจะมีเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา

นี่เราจะพูดถึงว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอะไร พระพุทธศาสนามีเป้าหมายสอนเรื่องอะไร พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนที่นี่ แต่การดับทุกข์โดยความเป็นจริงในภาคปฏิบัติมันต้องจิตสงบ จิตมีสมาธิ มันถึงจะมีกำลังขึ้นมา ถ้าจิตยังไม่มีกำลังขึ้นมา มันเป็นโลกียปัญญา มันก็ปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาแบบจินตนาการ ฉะนั้น มันถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา

ทีนี้จะมาที่คำถามแล้ว เขาทำสมาธิเพื่ออะไร สมาธิ ครูบาอาจารย์ท่านสอนเพื่ออะไร

สมาธิ ครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ สอนว่า ให้เราเข้าไปสู่ความจริง พระพุทธศาสนาต้องมีเนื้อหาสาระ มีข้อเท็จจริง ถ้ามีข้อเท็จจริง พระพุทธศาสนามันอยู่ที่ไหนล่ะ

เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธก็ตัวแทน เราปั้นรูปพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระธรรม พระธรรมก็พระไตรปิฎก พระสงฆ์ ก็พระสงฆ์เต็มบ้านเต็มเมืองอยู่นี่ไง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็ว่าพระพุทธศาสนาสอนที่นั่น ตัวธรรมะอยู่ที่นั่น...ไม่ใช่

นี่คือบริษัท ๔ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ต่างหาก ฝากศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฝากศาสนาไว้ แล้วเราก็ต้องรื้อค้นขึ้นมา รื้อค้นขึ้นมาให้เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา

เรามีศรัทธาความเชื่อ เราได้ทำบุญกุศล เราก็เป็นประเพณีวัฒนธรรม แต่พอเป็นประเพณีวัฒนธรรมแล้วเราเห็นว่าเวลาฟังธรรมๆ แล้วเราก็อยากจะมีคุณธรรม มีคุณธรรม อยากประพฤติปฏิบัติ ถ้าอยากประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าและหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนว่า ให้ทำความสงบของใจเข้ามา คือทำสมาธิ

เห็นไหม พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ แต่จะเห็นทุกข์ได้ ใครเป็นคนเห็นล่ะ ใครเป็นคนเห็นทุกข์ แล้วใครจะเห็นวิธีการดับทุกข์ แล้วมันจะดับด้วยวิธีใดล่ะ มันถึงทำความสงบของใจ

เราบอกว่า สมาธินี้เพื่อวิปัสสนา สมาธินี้เพื่อเป็นพื้นฐาน ถ้าเราทำสมาธิเพื่อเหตุนี้ เราจะเข้าใจว่าสมาธินี้เราทำแค่เป็นบาทเป็นฐานเพื่อเราจะเกิดปัญญา เกิดภาวนามยปัญญา

แต่ถ้าเราทำสมาธินะ เราทำสมาธิแล้วเราบอกว่า สมาธิเรามีความมหัศจรรย์มีอะไร นี่เราออกนอกทางแล้ว เพราะอะไร เพราะมันจะเป็นแบบว่าเราไปไหนไม่ได้ เราจะติดอยู่ตรงนี้ไง

ฉะนั้น ทำสมาธิ เพราะติดแค่นี้ เพราะวุฒิภาวะแค่นี้ เราถึงบอกว่า บางคนพอทำความสงบของใจใจมันว่างๆ นิพพานเป็นอย่างนี้เอง อ๋อ! นี้มันเป็นความว่าง เดี๋ยวนี้ก็ได้ว่างแล้ว นี่มันก็คือนิพพาน”...ยังไม่ได้ทำอะไรกันเลย มันบอกมันนิพพานแล้ว

เพราะคำว่านิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพ้นจากทุกข์ นิพพานของเราคือว่างๆ นิพพานของเราคือความว่างหรือ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริง ท่านเป็นจริง ท่านจะสอนให้เราสู่ความจริงได้

มันน่าเสียดาย ตอนนี้เรารู้สึกว่ามันสังเวชมาก สังเวชว่า พระพุทธศาสนาเรา หลวงตาท่านบอกว่า พระพุทธศาสนานี่นะ เหมือนกับห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เลย ในห้างสรรพสินค้า เข้าไปสิ มันมีสินค้า อู้ฮู! เต็มไปหมดเลย แล้วเราจะอยากได้สินค้าอะไรล่ะ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทาน เรื่องให้อภัยต่อกัน เรื่องคุณงามความดี ใครได้ฌานสมาบัติ ได้ระลึกอดีตชาติได้ นี่มันยังไม่เข้าอริยสัจเลย ระลึกอดีตชาติได้ อนาคตังสญาณ รู้อนาคตได้ รู้ทายวาระจิตของคนได้ นั่นมันยังไม่เข้าพระพุทธศาสนาเลย นี่ถ้าจิตของคนสงบแล้ว ถ้ามันออกไปตามจริตนิสัย

แต่ถ้าจะเข้าสู่มรรคต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบเข้ามาแล้วมันจะยกขึ้นสู่มรรค ยกขึ้นสู่มรรค มันเห็นกาย เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นจริง วิปัสสนามันจะเกิดขึ้น มันจะเป็นปัญญาไป ถ้าปัญญาไป มันจะเข้าสู่มรรคสู่ผล นี่วิธีการปฏิบัติไง

พระพุทธศาสนา ที่ว่ามีมรรคมีผล ที่เป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตมาก มีมรรคมีผล มีคุณงามความดี มีคุณธรรมเยอะไปหมดเลย แล้วเราเข้าไปแล้วเราจะได้อะไรมา

แต่ตอนนี้สอนสมาธิ สอนพลังจิต สอนไปทำไมไม่รู้ สอนไปรู้เรื่องอะไรล่ะ สอนไปทำไม แล้วสอนอะไร สอนแล้วมันได้อะไร แต่ถ้าเป็นพื้นฐานนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านให้ทำความสงบของใจเข้ามา เพราะถ้าใจสงบแล้ว ถ้าใจสงบ มันเป็นตามวิทยาศาสตร์ ตามข้อเท็จจริง

จิตคนถ้ามันฟุ้งซ่าน ถ้ามันแบกรับภาระอารมณ์พะรุงพะรัง มันก็เป็นความทุกข์ เป็นความเครียด เป็นความกดดันตัวเอง ทั้งๆ ที่เราอยากทำงาน อยากจะปลอดโปร่ง อยากจะมีความสุขทั้งนั้นน่ะ แต่ด้วยความอยาก ความตระหนี่ถี่เหนียวมันก็ไปกว้านมายึดไว้ แล้วมันก็เป็นความทุกข์ มันยึดไว้ ยึดไว้ทำไมล่ะ ยังไม่ได้ใช้ เอาไว้เวลาใช้สิ เครื่องครัวจะใช้ก็หยิบจับมา ใช้เสร็จก็วาง ทำไมเอามาแขวนไว้เต็มตัวเลย นี่มีด เขียง แขวนไว้เต็มคอเลย ของฉันมี ของฉันมี แล้วก็พะรุงพะรังไป มันก็เป็นความทุกข์

ท่านบอกให้ทำสมาธิ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ารู้ วางอารมณ์ให้หมด วางอารมณ์ให้หมดมันก็สุขสงบเข้ามา ถ้าสงบแล้ว เราจะใช้นะ เราจะทำครัว เรามีความจำเป็นต้องใช้ เราก็เอามีด เอาเขียง เอาภาชนะนั้นมาใช้

นี่ก็เหมือนกัน ความคิด เวลาเราจะคิดเรื่องงาน ถึงเวลาเราก็คิด เวลาคิดเสร็จแล้วเราก็วางมัน เราอยากใช้สิ่งใด เรามีความจำเป็น เราก็เอามาใช้ ใช้เสร็จ เราก็วางมัน ท่านก็สอนอย่างนี้ เห็นไหม

ทำความสงบของใจเข้ามา ผลเป็นแบบนี้ ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นก็สอนให้ทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจให้เป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ทำความสงบของใจเข้ามาให้เป็นมิจฉาสมาธิ

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิเพื่อวิปัสสนา สมาธิเพื่อยกขึ้นสู่ปัญญา เราทำสมาธิเพื่อสิ่งใด นี่พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ สอนที่ว่า เราทำสมาธิเพื่อยกใจขึ้นสู่วิปัสสนา ให้เกิดภาวนามยปัญญา ให้เกิดธรรมโอสถ ให้เกิดมรรคญาณ ให้เกิดสิ่งที่มาชำระล้างกิเลส เพื่อให้พ้นจากทุกข์ ให้เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เกิดมรรค วิธีการดับทุกข์ เกิดนิโรธคือการดับทุกข์ ให้เป็นความจริง นี่พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ ถ้าสอนอย่างนี้มันก็เป็นสเต็ปใช่ไหม ถ้าเกิดทำสมาธิ ทำสมาธิเพื่อวิปัสสนา ทำสมาธิมาเพื่อจะรื้อค้นให้พ้นจากทุกข์

แต่เราก็บอกว่าเฮ้ย! มันจะรู้อะไรล่ะ เราไปรู้เรื่องความคิดคนอื่น เราไปรู้ทุกอย่าง โอ๋ย! นี่เก่ง ไปรู้เรื่องตัวเองมันจะเป็นประโยชน์อะไร”...กิเลสมันก็ไพล่ไปนู่น นี่ถ้าคนมันไม่เป็นอ้าว! รู้เรื่องตัวเองจะมีอะไรเนาะ เรารู้เรื่องของเรามันมีอะไรล่ะถ้าคนอื่นยกย่องเราเก่ง เออ! ชอบ คืออยากจะให้คนเขายกย่องนับถือศรัทธา แต่ไม่รู้จักศรัทธาตัวเองเลย ไม่รู้จักตัวเองมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนเลย

ถ้ามันรู้ตัวเองมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน มันจะเป็นสัมมาสมาธิไง สัมมาสมาธิมันสุขสงบ มันระงับ ทำความสงบของใจเพื่อตรงนี้ ถ้าทำความสงบเพื่อตรงนี้นะ ทำความสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา

แต่ทีนี้มันเป็นจริตนิสัยของจิต จิตบางดวง พอจิตมันสงบแล้วมันออกรู้ออกเห็นต่างๆ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านมีสติปัญญา ท่านจะรั้งไว้ ดึงไว้ได้ไหม พยายามตั้งสติไว้ รั้งไว้ มันมีวิธีการแก้ไง

แต่ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ปฏิบัติแล้วมันไม่แก้ มันอยากตามไป คือมันไปเห็นเป็นผู้วิเศษไง พอมันไปรู้ไปเห็นสิ่งใดมันก็ตื่นเต้นใช่ไหม มันไปเห็นอะไรมันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับมันใช่ไหม เพราะคนมันไม่เคยรู้เคยเห็นไง

มันก็เหมือนเด็ก เด็กพอมันไปรู้ไปเห็นสิ่งใดมันก็ตกใจ มันก็ตื่นเต้นไปกับเขา แต่ผู้ใหญ่เขาเห็นทุกวัน ผู้ใหญ่เขา โอ๋ย! มันเป็นเรื่องอย่างนี้ มันเป็นธรรมดา มันเป็นเด็ก มันก็ต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่ แต่เด็กมันเห็น โอ๋ย! มันไปฟ้อง แม่ๆ อย่างนั้น แม่ๆ อย่างนี้ มันไปฟ้องหมดแหละ จิตมันไม่เคยรู้เคยเห็นมันเป็นแบบนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ ถ้าท่านเป็นจริงนะ ท่านก็ให้รั้งไว้

เราต้องมีการศึกษา มีการศึกษามาเพื่อวิชาชีพ ถ้าวิชาชีพแล้วเราต้องทำสัมมาอาชีวะเพื่อเลี้ยงชีพ ถ้าเลี้ยงชีพแล้ว เราจะทำคุณงามความดีมากขึ้นไป เราต้องทำของเรา เห็นไหม สมาธิเพื่อวิปัสสนา ฉะนั้น ถ้ามันเข้าใจอย่างนี้แล้วมันก็ทำได้

ฉะนั้น วิธีการทำสมาธิมันก็ยากอย่างที่ว่า จะเข้าสู่คำตอบ เห็นไหม เขาบอกว่า จะตอบเขาเป็นประเด็นๆ ไปเลย ประเด็นๆ ไปว่า ถ้าเขามีสมาธิก็พุทโธชัดๆ พยายามภาวนาให้รู้ขึ้นมา แต่สติมันพยายามขึ้นมา ภาวนาเข้าไป ดื้อแบบหัวชนฝา เพราะอะไร

เพราะว่าเราเคยผิดพลาดมาแล้วไง เพราะเราอยากทำความสงบของใจเข้ามาใช่ไหม ถ้าเราสงบไม่ได้ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุถ้าเราไม่มีเหตุ เราไม่ได้สร้างขึ้นมา มันเป็นสมาธิของใครล่ะ

เวลาพูดถึงสมาธิ สมาธิศึกษามา สมาธินี้มันเป็นตำรา มันก็เขียน ส-เสือ ม-ม้า สระอา ธ-ธง สระอิ สมาธิ นั่นมันชื่อ แล้วเราก็บอกเราทำว่างๆ ให้เป็นสมาธิ...มันเป็นชื่อ แต่เราไม่ได้ตัวมัน

แต่เราพยายามจะทำตัวมันขึ้นมามันก็เอาเรื่อง ถ้าจะเอาเรื่อง แม้แต่ทำสมาธิมันก็ยุ่งยากอยู่แล้ว ยุ่งยากพอสมควรแล้ว ทีนี้เราทำสมาธิขึ้นมาเพื่อบรรเทาทุกข์

ฉะนั้น คนถ้ามีจริตนิสัย พอตั้งสมาธิได้ พอทำได้ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคนยังทำสมาธิไม่ได้ มันก็ต้องลงทุนลงแรงอย่างที่ว่า ดื้อหัวชนฝาเลย ทำให้จริงจังขึ้นมา อันนั้นถูกต้อง เราต้องพยายามทำของเราขึ้นมา ทำความเป็นจริงขึ้นมา

ทีนี้พอทำขึ้นมา พอทำจริงๆ ขึ้นมาเลยนะ มันก็เริ่มสู่มรรค ถ้าสู้จนเต็มที่ สมาธิไวๆ ทำพุทโธไวๆ ขึ้นมา ที่เป็นพืดไปเลย เราเอาจริงเอาจังขึ้นมา ผลของมัน เห็นไหมจนรู้สึกว่ามันเบาสบาย กายก็เบาสบายผ่อนคลายเหมือนคนตื่นจากนอนนี่ถ้าได้พักผ่อนยาวๆ มันเป็นแบบนี้ ถ้าจิตมันพักมันดีกว่าที่เราจะนอนหลับ

นอนหลับขึ้นมาแล้วนะ ถ้านอนหลับไม่สนิท ตื่นขึ้นมามันก็ยังงัวเงีย ถ้าวันไหนเรานอนหลับสนิท ตื่นขึ้นมา เออ! วันนั้นสดชื่น แต่ถ้าทำสมาธิมันสดชื่นตลอด แต่ทำสมาธิมันก็ทำสมาธิ เราทำสมาธิไม่ได้ตลอดไป เราก็ต้องพักผ่อนเป็นเรื่องธรรมดา

บอกว่า เราจะเข้าสมาธิตลอดไปเลย แล้วเราจะได้สดชื่นตลอดไปอย่างนี้ มันจะเป็นไปได้ไหม

เป็นไปได้อยู่แล้ว เป็นไปได้ แต่เรื่องของจิตมันไวมาก เราจะทำอย่างนั้นตลอดไปได้ไหมล่ะ

ฉะนั้น เขาถึงบอกอดสงสัยไม่ได้ว่าการนั่ง จิตเพื่อให้สงบ ร่างกายนี้มันจะได้พักผ่อนได้หรือเปล่า ถ้าเช่นนั้นพุทโธทั้งวันเลยโดยไม่ต้องนอน มันก็ได้สิเขาว่าอย่างนั้นนะ

ก็ได้จริงๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาพระเข้าฌานสมาบัติ เข้าตามความเป็นจริงนะ จะเข้าฌานสมาบัติได้ เขาทำ ๗ วัน นั่งอยู่เฉยๆ ๗ วัน นั่งนิ่งๆ ตัวแข็งเหมือนตุ๊กตา ๗ วันนี่นั่งได้ เขาทำกันมา มันมีอยู่แล้ว พระเราทำกันมาหมดแล้วแหละ แต่ทำมาแล้วมันก็ไม่เห็นมหัศจรรย์ตรงไหนเลย มันไม่ได้ตื่นเต้นอะไรเลย

เขาจะไปตื่นเต้นตอนที่ว่าใช้ปัญญา ตื่นเต้นตอนที่ว่า เวลามรรคญาณเวลามันหมุนตัว เวลามันสำรอก เขาไปตื่นเต้นตรงนั้น เขาไปตื่นเต้นว่า สักกายทิฏฐิ เวลามันสำรอกสังโยชน์ ๓ ตัว โสดาบัน ถ้ากามราคะปฏิฆะอ่อนไป เป็นสกิทาคามี แล้วถ้าถอนกามราคะปฏิฆะ นั่นอนาคามี ถอนสังโยชน์นะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เกิดมานะทิฏฐิถอนหมดเลย ไอ้นั่นเขามหัศจรรย์ตอนนั้นน่ะ

เขาไม่มหัศจรรย์หรอก เขานั่งเฉยๆ ๗ วัน ๘ วัน เขาไม่มหัศจรรย์หรอก เพราะอะไร เพราะลัทธิศาสนาอื่นเขาก็ทำได้ ลัทธิศาสนาอื่นเขาไม่มีมรรคไม่มีผล เขาก็ทำได้ ถ้าเราไปตื่นเต้นอย่างนี้ ถ้าเขานั่งของเขา ๗ วัน ๘ วัน มันก็มีคุณวิเศษน่ะสิ มันไม่ใช่ มันไม่มีคุณวิเศษ เห็นไหม

นี่ไง ถึงบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนที่นี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องทำสมาธิ

ทีนี้พอทำสมาธิขึ้นมาก็บอกอ้าว! สมาธิมันก็มีความสุขไง มันก็ทุกข์ดับแล้วไงเออ! เขาบอกเลยนะทำสมาธิแล้วมันสุขมาก ปัญญามันจะเกิดเอง มันจะไปของมัน”...มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปได้นะ ครูบาอาจารย์เราไม่ติดสมาธิ ๕ ปีหรอก หลวงตาท่านบอก ถ้ามันเป็นไปได้นะ เป็นสมาธิแล้วมันก็เกิดปัญญา แล้วจะติดสมาธิได้อย่างไร แต่นี่มันติด มันรู้ว่ามันติด แล้วถ้ามันเป็นสมาธิแล้วมันเกิดปัญญาเป็นฤๅษีชีไพรก็เป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว

ฤๅษีชีไพร ฤๅษีเต็มไปหมดเลย ในปัจจุบัน อินเดีย ไปดูสิ พราหมณ์เขาบวชอยู่เต็มไปหมดเลย ถ้ามันเป็นสมาธิแล้วมันจะเกิดปัญญาเอง พระอรหันต์มีมาเรื่อยๆ เลย แต่นี่ไม่ใช่สักอย่าง มันไม่ใช่

ฉะนั้นบอกว่าพอเป็นสมาธิแล้วความทุกข์มันก็หายไป มันก็สุขเหมือนกัน

ไม่ใช่ อันนั้นมันบรรเทาทุกข์ มันเรื่องโลกๆ แต่ถ้าเรื่องความจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย ถ้าอีกอย่างหนึ่งเลย มันต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำไง เห็นไหม สมาธิเพื่อวิปัสสนา สมาธิเพื่อมรรคเพื่อผล ไม่ใช่สมาธิเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อสมาธิมันก็แค่ฤๅษีชีไพรสอนกันแค่นั้นแหละ

. ผมได้คิดในตอนที่ท่านอาจารย์ได้เทศน์หลายๆ ครั้งว่าท่านอาจารย์ไม่ได้นอนช่วงเข้าพรรษา เป็นเพราะสมาธิหรือเปล่า เป็นเพราะว่าผ่านวิกฤติอย่างนั้นมาได้

ไอ้นี่ไปตื่นเต้น เห็นไหม ไอ้เราพูดนี่เราพูดเป็นแบบว่า ที่พูดนี่พูดให้เห็นว่า เวลาพูดเมื่อก่อนนะ พูดว่า ไอ้ที่ว่าอันนู้นไม่ใช่ อันนี้ไม่ใช่ แล้วใช่มันเป็นแบบใด ไม่ใช่เอามาอวดว่า อู้ฮู! เราไม่นอนในพรรษาแล้วเก่งมาก

มันมีนะ เขาไม่นอนกันเยอะแยะ เนสัชชิกเต็มไปหมด ในวงพระปฏิบัติ พวกโยมไม่ได้ปฏิบัติ แล้วเดี๋ยวนี้ปฏิบัติมันอ่อนแอไปไง สมัยเราปฏิบัตินะ ถ้าวันพระ วันโกน อยู่ในหมู่พระ วันพระ วันโกน ไม่เคยนอน เนสัชชิกตลอดเป็นเรื่องปกติ วันพระนี่คือไม่นอนแล้ว ปกติก็ภาวนาอยู่แล้ว

เห็นไหม ที่บอกว่าทางของภิกษุเป็นทางกว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมง ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะต้องไปทำงานไง เวลากลับมานะ กลับมาจากที่ทำงาน ทำความสะอาดบ้านเสร็จแล้ว ทำครัวเสร็จ กินอาหารเสร็จ สวดมนต์จะนอน ภาวนาแค่นี้ นี่ทางคับแคบ แค่นี้ แต่พระ ๒๔ ชั่วโมง

ทีนี้พระ ๒๔ ชั่วโมง พระเขาปฏิบัติกัน ในวงกรรมฐาน ในวงครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง แล้วเวลา ๒๔ ชั่วโมงมันก็มีพักมีผ่อนมีนอนไง แต่ถ้าเป็นวันพระนี่ไม่นอนเลย เนสัชชิก ไม่นอนคือไม่ให้หลังติดพื้น ถ้าใครยังภาวนาไม่เป็น นั่งหลับก็นั่งไป หลับไป หลังไม่ติดพื้น แต่สัปหงกไป หัวทิ่มพื้นไป ก็ถือว่าไม่ได้นอน

เพราะคำว่านอนมันมีกฎของมัน ถ้าคำว่านอนหมายความว่าหลังติดพื้นคือท่านอน ถ้าหลังติดพื้นนั่นคือว่าขาด แต่ถ้าหลังไม่ติดพื้น อ้าว! ก็ถือว่ายังไม่ได้นอน แต่มันหลับไปแล้วก็ไม่เป็นไร มันไม่ได้นอน แต่มันหลับเพราะมันทนไม่ไหว แต่เขาก็ทนกันมา นี่พูดถึงว่า ถ้าในวงปฏิบัติมันเป็นเรื่องปกติ

ฉะนั้น พอพูดบอกอู้ฮู! ท่านอาจารย์ไม่ได้นอนทั้งพรรษาเลย ท่านอาจารย์ทำอย่างไร โอ๋ย! มันวิกฤติ

ของเด็กเล่น ของเด็กๆ เขาเพิ่งหัดกันน่ะ เพราะว่าเราบอกอันนู้นไม่ดี อันนี้ไม่ดี เราต้องบอกสิ เราเคยทำมา เราไม่ใช่อวดว่าเราไม่ได้นอนแล้วเก่ง

คนไม่นอนเยอะแยะ พระปฏิบัติไม่นอนนี่เต็มไปหมดเลย แต่ไม่นอนแล้วต่อไปทำถูกหรือผิดอีกนะ ไม่ใช่ไม่นอนแล้วมันจะถูก

เราก็วางยาสลบตัวเองเลย เดี๋ยวเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ได้นอนเลย สตัฟฟ์ไว้ก็ได้ สตัฟฟ์ไว้ ถ้าสตัฟฟ์แล้วเป็นพระอรหันต์ สตัฟฟ์เลย แล้วมันก็ไม่นอน

การไม่นอน ฉันน้อย นอนน้อย เป็นกลอุบายที่จะต่อสู้กับกิเลส ไม่ตามใจตัว กินแต่น้อย นอนแต่น้อย ปฏิบัติให้มาก นี้เป็นทางเดินของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น มันเป็นทางเดิน กินแต่น้อย นอนแต่น้อย ความเพียรให้มาก แล้วทำให้มาก

ฉะนั้น สิ่งที่ทำนั่นน่ะ ตอนนั้นน่ะ ตอนใหม่ๆ ตอนปฏิบัติใหม่ๆ ทุกคนทำสมาธิไม่ได้ คือเอาใจไว้กับตัวเองไม่ได้ ก็ต้องต่อสู้กับมันโดยกลอุบาย ถ้าทำอย่างไรแล้วมันก็สู้ไม่ได้ ก็ต้องให้เข้มข้นขึ้นจนไม่นอนเลย ไม่นอน ในพรรษา ๓ เดือนไม่นอน ทรมานมากๆ เพราะว่ายังภาวนาไม่เป็น

แล้วเขาก็ถาม ไม่นอนแล้วมันจะดีได้อย่างไร ไม่นอนแล้วมันจะสุขอย่างไร

ใหม่ๆ ก็ทรมาน แต่พอมันทำไปๆ พอจิตมันลงแล้วมันทำได้ คือเหมือนกับเรา ที่หลวงตาท่านพูด สู้เสือโดยเอามือเปล่าไปสู้เสือ สู้เสือโดยไม่มีอาวุธ

นี่ก็เหมือนกัน เราไม่มีอะไรไปต่อสู้กับกิเลสเลยไง เราก็ใช้การอดนอนผ่อนอาหาร ทรมานมาก แล้วพอมันได้อาวุธมา คือได้สติ ได้สมาธิมา มันได้อาวุธมา ได้สติ ได้สมาธิมา ก็เอาสติ เอาสมาธิ เอาปัญญาเข้าไปต่อสู้กับมัน

ที่ว่าอดนอนผ่อนอาหารก็เพื่ออยากได้อาวุธ อยากได้สติ อยากได้สมาธิ อยากได้ปัญญา แล้วพอมันสงบบ้าง มันก็ฝึกหัดได้สติ ได้สมาธิ ได้ปัญญา แล้วมันก็เสื่อม เสื่อมหมด พรรษา ๑ พรรษา ๒ เสื่อมหมด ได้มาแล้วก็เสื่อมไป อู้ฮู! อยากจะร้องไห้ ทรมาน

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตา ครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านบอกเลย พรรษาแรกที่เข้าป่าไป กิเลสมันเอาเสียหงายท้องเลย จนท่านน้ำตาไหลนะ อ๋อ! มึงเอากูขนาดนี้นะ ถ้ากูสู้ได้กูจะเอาเต็มที่เลย

เห็นไหม ทุกคนมันเคยผ่านวิกฤติมาไง พระกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงไม่เชื่อว่าลัดสั้น ทำง่ายๆ โอ๋ย! ดูจิตมันไปได้หมด”...มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่เคยมี มันไม่เคยมีหรอก

สิ่งที่มันมีอยู่คือขิปปาภิญญาที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาปฏิบัติจริงจัง แต่เขารู้ง่าย

ไอ้ที่บอกว่ามานั่งลูบๆ คลำๆ กัน เผลอๆ แล้วก็เป็นพระอรหันต์น่ะ ไม่มีหรอกเผลอปั๊บ สติมาเองมันไม่เคยมี ถ้าเผลอมันก็ตายเผลอปั๊บ สติมาเอง ถ้าตั้งใจทำสติ นั่นสติปลอมมันไม่เคยมี ครูบาอาจารย์ที่ทำจริงมา อย่างนี้มันไม่เคยมี ในตำรับตำรามันก็ไม่เคยมี

แต่ถ้ามันจะเป็นความจริง ความจริงมันต้องสู้อย่างนี้ แล้วที่บอกว่า ไม่เคยนอน ไม่อะไร ก็สู้มาอย่างนี้ไง ก็สู้มาอย่างนี้ แต่สู้มาแล้วมันก็แค่เป็นบาทฐาน เป็นพื้นฐานที่คนเรามันมีความมุมานะ ถ้ามันเอาใจไว้ไม่ได้ มันก็มุมานะ คือว่าเหมือนกับว่าคนมันใฝ่ดี คนมันใฝ่ดีมันมุมานะเพื่อเอาชนะตนเอง

มันไม่ใช่ใฝ่ดีแล้วก็ไปเอาความดีของคนอื่นมาให้เรา ไปบอกฉันรู้อย่างนั้น...ไม่ใช่ มันอยากฝึกอยากฝน อยากให้รู้ขึ้นมาตามความเป็นจริง อยากปัจจัตตัง อยากสันทิฏฐิโก คือถ้าเป็นสมาธิก็ให้เป็นสมาธิจริงๆ ถ้ามันเกิดปัญญาก็ให้มันเกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมา มันเลยรู้จักมรรครู้จักผลขึ้นมาไง มันต้องทำอย่างนั้นไง

ฉะนั้นบอกว่าอู้ฮู! ท่านอาจารย์ไม่ได้นอนในพรรษาเลย อู้ฮู! มันสุดยอด”...ไม่ใช่ เด็กเล่น เด็กๆ เล่นขายของ ยังภาวนาไม่เป็นเลย

แล้วพอทำสมาธิได้ก็ยังหลงอีกพักใหญ่ ตอนครูบาอาจารย์ หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านกระทืบเอา มันถึงได้มาเป็นแบบนี้ ลองไม่มีหลวงตากระทืบนะ โอ้โฮ! มันยังคิดว่ามันเป็นเทวดาอยู่ ขึ้นไป โอ้โฮ! ไม้หน้าสาม ป๊อก! หงายท้องเลย ประจำ

เราจะบอกว่า นักกีฬาแต่ละคนกว่าจะฝึกฝนมาได้ มันไม่ใช่ของง่ายหรอก แล้วฝึกฝนมา ทักษะกว่าจะได้ แล้วทักษะกว่าจะได้ ทุกคนเข้าข้างตัวเองว่าเราเป็นนักกีฬา อู้ฮู! เราสุดยอดเลย ทำไมโค้ชเขาไม่ให้เราเล่น แปลก อิจฉา พวกนี้อิจฉา มันจะบอกอิจฉาๆ

โค้ชเขาเล่นเป็นทีม เขาก็ดูแล้วตัวไหนมันเป็นประโยชน์ แต่ของเรา เราบอก อู้ฮู! สุดยอดเลย ทำไมเขาไม่ให้กูเล่นสักที ทำไมเขาไม่ให้กูลงวะ

เพราะมันเข้าข้างตัวเองหมดน่ะ ทุกคนกิเลสมันเป็นแบบนี้ แล้วเราปฏิบัติมา เราก็คิดแบบนี้แหละ เราก็บอก โอ๋ย! เราก็สุดยอดคน แต่ทำไปแล้วนะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เอาอยู่ หลวงตาท่านถึงบอกว่าท่านเคารพหลวงปู่มั่นมาก จิตดวงนี้มันดื้อนัก มันไม่เคยลงใครหรอก มันลงเฉพาะหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นก็จะนิพพานไปแล้ว แล้วเราจะพึ่งใคร โอ๋ย! ท่านเสียใจมาก เพราะอะไร

เพราะคนอื่นมันไม่มีทักษะ คือไม่มีเทคนิค ไม่มีความรู้เหนือเรา ความรู้เหนือคือมันรู้เท่าหมด แล้วไปรู้ทางตำราก็รู้จำมาด้วยกันใช่ไหม ก็ตาบอดด้วยกัน เอ็งก็เถียงได้ ข้าก็เถียงได้ พระไตรปิฎก ข้าก็อ่านมา เอ็งก็อ่านมา พระไตรปิฎกมันมีอยู่ทั่วประเทศไทย ใครก็อ่านได้ ใครบ้างไม่อ่านพระไตรปิฎก ใครบ้างไม่รู้ในพระไตรปิฎก ก็รู้ทั้งนั้นน่ะ แล้วก็มานั่งเถียงกัน ก็ตาดำตาแดงเถียงกัน ไม่มีใครรู้จริงหรอก

แต่คนรู้จริงนะ ท่านเขกเอา ท่านไม่เถียงหรอก ผัวะ! นี่พระไตรปิฎกหรือ หงายท้องเลย พระไตรปิฎกก็พระไตรปิฎก กลิ้งโค่โล่ไปนู่นน่ะ พอลุกขึ้นมา อ๋อๆ ใช่ๆ โอ้โฮ! นึกได้ พอกลิ้งไปแล้ว ลุกขึ้นมา อ๋อ! เป็นอย่างนี้เอง แล้วก็ทำมา

ฉะนั้น สิ่งที่พูดนี่นะ คำถามนี้ทำให้เราได้คิดพอสมควร ไอ้ที่เราพูดๆ มามันเด็กๆ ทั้งนั้นน่ะ ของเด็กเล่น ไอ้ของจริงๆ เวลามันยกขึ้นวิปัสสนาอันนั้นน่ะสำคัญ แล้วมันจะก้าวเดินไป

สมาธิเพื่อภาวนา ไม่ใช่สมาธิเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อออกรู้ เวลาเข้าฌานสมาบัติ รู้วาระจิต รู้ต่างๆ อภิญญา ไอ้นั่นมันเรื่องของอภิญญา มันเป็นฌานโลกีย์ มันเป็นเรื่องของฤๅษีชีไพร ฤๅษีชีไพรเขาก็ทำได้ เรื่องระลึกรู้วาระจิตนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ มันก็มีอยู่แล้ว ของอย่างนี้ ของใครๆ เขาก็ทำได้อยู่ แล้วมรรคมันไม่เป็นอย่างนี้ ไม่เป็น ถ้าไม่เป็น เห็นไหม

ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่พูดที่ว่าโอ๋ย! หลวงพ่อไม่นอนทั้งคืน มันผ่านวิกฤติมาได้อย่างไร

ก็ทนเอาเฉยๆ มันก็ผ่านได้ ไม่เห็นมีอะไรเลย ก็แค่อดทนเท่านั้นน่ะ ขันติมันก็ทนมาได้ ปัญญาก็ไม่เห็นมีอะไรเลย เพราะกูทำมา แล้วคนอื่นบอกจะเอาอย่างนี้เป็นเรื่องวิเศษ มันไม่วิเศษตรงไหนหรอก มันต้องยกขึ้นสู่วิปัสสนา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นมันผ่านมาได้อย่างไร ถ้าเรามีความสามารถนั่งยาวๆ ข้ามคืน

นั่งยาวๆ ได้ นั่งยาวๆ ได้ มันเป็นไป นี่ข้อที่ ๑ ใช่ไหม

ทีนี้ข้อที่ ๒ต่อเนื่องจากข้อที่ ๑ ถ้าเราเอนกายนอน แล้วเราพุทโธไปเรื่อยๆ บังคับไม่ให้นอน พุทโธไปตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเดือน โดยไม่ต้องหลับ อย่างนี้ได้ไหม

นี่เขาพูดนะ โดยที่ไม่ต้องหลับ ไม่มีทาง ถ้าจิตไม่ลง ไม่มีสิทธิ์

เวลาเข้าฌานสมาบัตินะ ปฐมฌานคือครบองค์ วิตก วิจาร คือพุทโธนี่วิตก ระลึกขึ้นนี่คือวิตก วิจาร คือพุทกับโธ ระลึกว่าพุทโธนี่วิตก วิตกคือถ้าใครไม่ระลึกคำบริกรรมก็ไม่มี ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ไม่มีการกระทำของจิต

ถ้าเราระลึกขึ้นมานี่คือวิตก มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่องค์ของฌาน ถ้ามันมีครบ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ความรู้สึกครบบริบูรณ์ นี่ปฐมฌาน เวลามันตัดวิตก วิจารไป นั่นน่ะทุติยฌาน ถ้าปีติมันขาดไป นั่นตติยฌาน ถ้ามันผ่านสุขไป เอกัคคตารมณ์ นั่นจตุตถฌาน เวลามันเข้าฌานมันเข้าอย่างไร นี่เวลาเข้าฌาน

นี่เราพูดถึงว่า ถ้าบอกว่า เราจะอยู่นานๆ ถ้าจิตมันลงไง ถ้าเข้าฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เวลาเข้าฌานสมาบัติ เข้าแล้วถอย เข้าแล้วถอย เข้าสมาบัติ เข้านิโรธสมาบัติไง

เวลาเข้านิโรธสมาบัติ เข้านิโรธสมาบัตินั่งได้ ติ๊ง! ๗ วัน ๗ คืน จะอยู่อย่างไรก็ได้ มันไม่ใช่ว่าพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธตลอดคืน พุทโธตลอดไป

พุทโธชั่วโมงหนึ่งมันก็จะออกแล้ว ไม่ต้องครึ่งวันหรอก มันจะรีบเลิก เพราะยังรู้สึกอยู่ แต่ถ้ามันเข้าที่บอกว่าเขาอยู่กัน ๗ วัน ๘ วัน เข้าฌานสมาบัติ นั่นเรื่องของฌานสมาบัตินะ

จะบอกว่า เรื่องฌานสมาบัติก็เข้าใจ มันเป็นไปได้ มันเป็นอย่างนี้ได้ เรื่องฌานสมาบัติมันเรื่องของฌานสมาบัติ เรื่องของมรรคมันเป็นเรื่องของมรรค เวลาโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เรื่องของมรรคมันก็เป็นเรื่องของมรรคนะ มรรค ๔ ผล ๔ เรื่องของฌาน เรื่องของสมาธิ มันก็เป็นเรื่องของสมาธินะ มันไม่เกี่ยวกันเลย แล้วคนที่เป็น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นท่านฟังทีเดียวก็รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี่ทำอะไร ที่ทำสมาธิๆ ทำทำไม

ไอ้ที่ทำสมาธิ พอเขาว่า ทำสมาธิ สร้างพลังแล้วมันเกิดปัญญา มันจะเกิดดับทุกข์อะไร...ไอ้นั่นมันเพ้อเจ้อ

เราบอกว่า ถ้ามันไม่มี จิตใจไม่มีคุณธรรม ที่ว่าอยากดังๆ อยากดังก็เพราะอยากจะโชว์ความสามารถ แต่โชว์ออกมามันมีแต่สิ่งจอมปลอม ไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย แล้วใครเป็นคนรู้ล่ะ อะไรปลอม อะไรจริง

มันจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อคนที่ทำความเป็นจริงขึ้นมา เขาถึงรู้ว่าอันนั้นปลอม ถ้าคนปลอม เพราะเวลาปฏิบัติไป ทุกคนก็ต้องผิดพลาดมา ก็ปลอมกันทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาจะเข้าสู่ความจริงเพราะอะไร เพราะมีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เพราะมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ

ทีนี้มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเหมือนกัน แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสอนเท่าไรเขาไม่เชื่อ หลวงปู่มั่นจ้ำจี้จ้ำไชเขายังไม่ฟัง แล้วเขาจะรู้ได้อย่างไรล่ะ

ก็หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเหมือนกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสอนหลวงตา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่แหวน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ขาว หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสอนครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์มาหมด

แล้วที่ไปอยู่กับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเยอะแยะ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ก็สอนเหมือนกัน แต่เขาก็ถือทิฏฐิของเขา เขาเก่งกว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นอีก เขาดีกว่าหลวงปู่มั่นอีก เขาว่าเขาเป็นคนอุปัฏฐาก เขาเป็นคนดูแลหลวงปู่มั่นน่ะ นั่นน่ะทำสมาธิ

แต่หลวงปู่มั่นท่านสอน สอนทำความสงบของใจเข้ามา อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธแล้วไม่เสีย ถ้าไม่เสียแล้วพยายามฝึกหัดของตัวขึ้นไป

ในเมื่อฝึกหัดของตัวขึ้นไป คนที่มีสติมีปัญญาเขาต้องขวนขวาย ขวนขวายไขว่คว้าหาความจริง ถ้าคนมีปัญญา แต่ถ้าคนเขามีปัญญาของเขา เขาทำของเขาได้ขนาดนั้นมันก็เป็นแค่การบรรเทาทุกข์

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกายกับใจ เรื่องมรรคเรื่องผล แต่เราพยายามปฏิบัติของเรา ถ้าเราไม่เข้าสู่มรรคสู่ผล เราก็ให้ใจของเราได้สัมผัสธรรมๆ

สัมผัสธรรมนะ เราทำบุญกุศล เราอยากได้บุญๆ บุญคือความสุขของใจ บุญคือความสบายใจ บุญที่เราได้มานี่เป็นบุญ แต่เราปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตเราได้สัมผัส ได้สัมผัสธรรมโอสถ ได้สัมผัสเนื้อของธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

ผู้ใดเห็นสมาธิธรรม ได้เห็นเงา เห็นเงาร่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดมีมรรคมีผลขึ้นไป ผู้ใดมีความละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต จนเป็นพุทธะเสียเอง

ถ้าที่ไหนมีพุทธะ ต้องทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายพุทธะนั้น ถ้าทำลายพุทธะนั้น ถึงจะสิ้นสุดจากวัฏฏะ ถ้ายังมีภวาสวะ ยังมีภพ มันยังเวียนว่ายตายเกิดตามอำนาจของภพนั้น ถ้าพูดถึงทำลายภพ ทำลายภวาสวะทั้งหมด มันถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ สอนเรื่องการดับทุกข์ สอนเรื่องทำลายอวิชชา ทำลายกิเลส ไม่ได้สอนเรื่องทำสมาธิ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องทำสมาธิ ไม่ใช่ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องพ้นทุกข์ เรื่องพ้นจากทุกข์ ตั้งตรงนี้ไง ทำสมาธิเพื่อพ้นทุกข์ เอวัง