เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ก.ย. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะ ธรรมะ ธรรมะคือสัจจะ สัจจะไม่มีกาลไม่มีเวลา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา” แต่พวกเราเวลาบอก ศาสนามา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว มันหมดยุคหมดสมัย นี่ทุกคนคิดอย่างนั้นนะ หมดยุคหมดสมัยเพราะเราไม่มีครูไม่มีอาจารย์เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างไง เวลามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาค้นคว้า ท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิตนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า เกิดในป่า ตรัสรู้ในป่า นิพพานในป่า คำว่า “ในป่าๆ” มันเหนือโลกไง คือว่าไม่เกี่ยวข้องข้องแวะกับโลก แต่โลกไปข้องแวะกับครูบาอาจารย์เราเอง ไม่เกี่ยวไม่ข้องแวะกับโลกเพื่ออะไร? เพื่อให้เห็นหัวใจนี้มันไม่ออเซาะไง มันไม่ต้องออเซาะ ไม่ฉอเลาะกับโลกไง ถ้าความจริงมันเป็นแบบนั้น

ถ้าความจริงเป็นแบบนั้น เราไม่มีครู มีอาจารย์เป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง ถ้าเรามีครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง เราก็มีความเข้มแข็ง มีความมุมานะ มีความอดทน แต่นี้เราไม่มีความมุมานะ ไม่มีความอดทนไง เราเห็นแต่ว่าพอไม่มีความมุมานะไม่มีความอดทนใช่ไหม คนก็ต้องการความสะดวกต้องการความสบายใช่ไหม พวกที่เขาฉ้อฉลเขาก็บอกว่านั่นทางลัด นั่นสะดวก นั่นสบาย

เรานะ เราฝึกลูกเรามา เราอยากให้ลูกเราหมั่นเพียรไหม ลูกเรานะ ต้องมีความขยัน มีความวิริยอุตสาหะ ลูกเราต้องมีความหมั่นเพียรนะ ลูกเราถึงจะมีความสามารถยืนกับโลกได้ เราจะบอกให้ลูกเราไม่ต้องทำอะไรก็ได้ นึกเอา มันมาเอง มันมาเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เรามีความวิริยะมีความอุตสาหะ มีความหมั่นเพียร คนที่มีความหมั่นเพียร มีความวิริยะมีความอุตสาหะแล้วประสบความสำเร็จก็มากมาย คนที่มีความวิริยะมีความอุตสาหะแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ มันไม่สมความประสงค์ อันนั้นเราก็ทำของเราแล้ว มันทำไม่มีความวิริยะความอุตสาหะ เห็นไหม อำนาจวาสนามันแข่งขันกันไม่ได้

คนเราแข่งบุญแข่งกรรมกันไม่ได้ แต่คนสามารถทำได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าคนเราไม่ใช่ประเสริฐเพราะการเกิดนะ คนเราประเสริฐ คนเราดีเพราะการกระทำ คนเกิดมานะ เกิดในชาติในตระกูลใดล่ะ ถ้าเขาเกิดมาแล้วเขาไม่มีสมอง เขาไม่รับผิดชอบ เกิดในชาติตระกูลใดเขาก็เป็นคนไม่เอาไหนอยู่วันยังค่ำแหละ

แต่คนเราเกิดมานะ สมัยโบราณ ทาสเป็นกษัตริย์ก็มหาศาล นี่เขาเกิดเป็นทาสนะ เขาเกิดเป็นคนที่ต่ำต้อย เกิดเป็นคนที่ชายขอบ แต่ทำไมเขามีปัญญา เขามีอำนาจวาสนาของเขาจนเกิดมาเป็นผู้นำของคนได้ล่ะ เป็นได้เพราะอะไรล่ะ เพราะเขามีเชาวน์เขามีปัญญา เขามีความสามารถของเขาใช่ไหม เขาไม่ได้อ้อนวอนขอใคร เขาไม่ได้รอให้วาสนามาถึงเขาใช่ไหม แล้วบอกว่าแข่งบุญแข่งวาสนากันไม่ได้ แล้วบอกไม่มีอำนาจวาสนามาถึงเขาล่ะ

อำนาจวาสนานะ ทำสิ่งใดแล้วมันประสบความสำเร็จ จังหวะและโอกาสมันพอดีๆ นี่วาสนาของคน มันย้อนกลับมาการภาวนา

การภาวนา เห็นไหม ดูสิ เวลาผู้ที่มุมานะบากบั่นเต็มที่เลย แต่ทำไมเขาทดท้อ เขาทำแล้วจิตใจของเขาไม่ได้สัมผัสธรรมล่ะ เขาไม่ได้สัมผัส เขาได้สัมผัสความเพียร ความเพียรนั้นคือการกระทำของเขา แต่เวลาขิปปาภิญญา ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปค้นคว้าอยู่ ๖ ปี แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง มันเข้าไปตั้งแต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้อย่างนี้มันเกิดขึ้นมาในหัวใจ ถ้าญาณหยั่งรู้อย่างนี้เกิดขึ้นมาในหัวใจ มันจะมีอะไรปิดกั้นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ แล้วอำนาจวาสนาบารมีมาส่ง ส่งเพราะอะไร ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

คำว่า “อสงไขย” จริต ความรู้มันกว้างขวาง พอความรู้กว้างขวาง อริยสัจคือสัจจะความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ด้วยอำนาจวาสนาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนาคตังสญาณ ถึงได้รู้วาระจิตของคน ถึงได้ความสมควรของคนว่าคนควรปฏิบัติอย่างไร ควรระลึกอย่างไร เหตุผลอย่างใดมันถึงจะเข้ากับจริตนิสัยของคนนั้น อันนั้นเป็นเพราะอำนาจวาสนาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างมามหาศาลไง อันนั้นมันไม่ใช่อริยสัจ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วางอริยสัจสัจจะความจริง เราไม่ต้องไปรู้หรอก วาระจิตของคนอื่น รู้ความคิดของตัวนี่พอ รู้ว่ามันทุกข์มันยาก รู้ที่มันทุกข์มันยาก รู้ที่มันดีดมันดิ้นอยู่นี่ เอาตรงนี้ให้ได้นี่พอ แล้วถ้ามันได้ขึ้นมานะ ถ้ามีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนา เห็นไหม ดูสิ คนเกิดมารูปร่างหน้าตาก็ไม่เหมือนกัน ความชอบก็ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยเวลามันรวมลงไปแล้ว ถ้ารวมลงไปแล้ว ตรงนั้นล่ะ นั่นล่ะพลังของจิตๆ จิตที่มันมีกำลัง มันมีวาสนา มันจะออกรู้ของมัน แต่ด้วยมรรค ต้องดึงมันไว้ก่อนไง ด้วยมรรค พลังงานที่ใช้ออกไปมันใช้ออกไปโดยโลก มันไม่ได้ใช้ออกไปโดยสัจธรรม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน สอนอะไร? สอนเรื่องการดับทุกข์ ไม่ได้สอนเรื่องสมาธิหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องดับทุกข์ สมาธิมันเป็นเรื่องฤๅษีชีไพรเขาสอนสมาธิ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องดับทุกข์ แต่การดับทุกข์ต้องใช้จิตดับทุกข์ ถ้าจิต เพราะจิตปฏิสนธิจิตมันเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องเอาปฏิสนธิจิตมาคลายตัวของมันออก แล้วถ้าคลายตัวของมันออก แล้วถ้าเราไม่เข้าปฏิสนธิจิต เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าทุกข์มันอยู่ที่ไหน เพียงแต่สมาธิเป็นรากฐานไง ถ้าคนไม่มีสมาธิมันก็เป็นเรื่องโลกๆ นี่สมาธิจินตนาการกันไป แล้วสมาธิก็ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบส ได้สมาบัติ ๘ สิ่งที่ฌานสมาบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียนมาหมด ทุกอย่างเรียนมาหมดแล้ว สมาธิเรียนมาหมดเลย ฤๅษีชีไพร อุทกดาบส อาฬารดาบสบอกพระพุทธเจ้าว่ามีความรู้เหมือนเรา เสมอเรา สมาบัติ ๘ ได้เหมือนเรา นิโรธสมาบัติ สมาบัติที่เขาเข้ากันทำได้หมดแหละ

สมาธิก็คือสมาธิไง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษาสมาธิมาแล้วมันไม่เกิดปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสอนสมาธิอีกหรือเปล่า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลามาทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบ ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่เป็นผู้ที่เป็นธรรม จะบอกว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน คือให้ทุกคนสำนึกตัวเองก่อน ให้ใจรู้จักตัวเองก่อน ถ้ารู้จักตัวเองก่อนมันก็แก้ไข เห็นไหม

ดูสิ เวลาคนมีความขัดแย้งกัน เวลาเราจะเคลียร์ปัญหากัน ถ้าเขาไม่สำนึกผิดมันจะคุยกันได้ไหม ทุกคนก็ทิฏฐิมานะ เอาแต่ทิฏฐิของตัวเข้าชนกัน แต่ถ้าคนมันสำนึกผิด ใครผิดใครถูกต้องด้วยเหตุด้วยผลใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันสำนึกตัวมันเอง คือค้นคว้าตัวเองเจอ ถ้าสำนึกตัวเองขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ เพราะว่าเราภูมิใจกันไง “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา” แล้วมันก็ใช้สัญญาความจำคิดกันไป แล้วมันบอกนั่นล่ะพระพุทธศาสนา

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางวินัยไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สิ่งนี้เป็นปริยัติคือการศึกษา คนเราไม่มีการศึกษามันก็เริ่มต้นไม่ถูกหรอก มันก็ต้องมีการศึกษา มีการค้นคว้าเป็นเรื่องธรรมดา นี่เรื่องปริยัติ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าศึกษามาแล้วให้ปฏิบัติ ท่านพูดถึงเรื่องภาคปฏิบัติๆ ถ้าศึกษามาแล้วไม่มีภาคปฏิบัติมันก็จินตนาการกันไป แล้วก็เอาทิฏฐิมานะเข้าเสียดสีกัน นี่ขวานคนละเล่ม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ในธรรม สุตตันตปิฎก มนุษย์เกิดมาพกขวานกันมาคนละเล่มคือปาก แล้วถากกัน ถากกันด้วยขวาน ถากกันด้วยคารมคมคายไง

แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราพยายามค้นคว้าขึ้นไป แล้วมีครูมีอาจารย์เป็นแบบอย่าง ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์เป็นแบบอย่าง ทิฏฐิมานะมันจดฟ้า มันบอกเรารู้เราเห็น พอสงบเข้ามา พอจิตมันซาบซึ้ง จิตมันได้ปล่อยวางมามันก็จินตนาการ “อ๋อ! นิพพานเป็นแบบนี้เอง” แล้วพอเราออกไปรับรู้สิ่งใด “อ๋อ! นี่อนาคตังสญาณ” จินตนาการทั้งนั้นน่ะ พอจินตนาการมันเสื่อมไปแล้วมันไม่เหลืออะไรไว้ในหัวใจเลย

แต่เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วเราศึกษาพระพุทธศาสนามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ มันจะเกิดวิธีการดับทุกข์ มันจะเกิดมรรคไง มันจะเกิดมรรค เห็นไหม

มรรค หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า “จิตเห็นอาการของจิต” ถ้าจิตไม่เห็นอาการของจิตนั้นมันไม่เกิดมรรค “จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของการส่งออกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตเป็นมรรค จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของการที่จิตเห็นจิตเป็นนิโรธ” ผลของการจิตเห็นจิต ผล ผลของการวิปัสสนาถึงเป็นนิโรธ

ไอ้นี่บอกคร่อมไว้ ดูไว้ บ้าบอคอแตก นั่นล่ะ นั่นเพราะอะไรล่ะ เพราะว่าวุฒิภาวะของสังคมมันเป็นแบบนั้นไง เห็นไหม เรื่องพระพุทธศาสนา ถ้าบอกว่าสอนสมาธิๆ...สมาธิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าให้อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย คนเราอยู่กับตัวเองจะไม่เสีย คนเราอยู่กับสามัญสำนึกเรา ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ มีสามัญสำนึก ใครก็จะมาหลอกเราไม่ได้ แต่ถ้าเราโลภ เราอยากได้ เราเชื่อคนง่าย เขาก็จะหลอกเราได้ ถ้าเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้ มันจะมีเหตุมีผลเราถึงจะอยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้ได้ เราพุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้ มันเป็นตัวมันเอง มันจะมีความมหัศจรรย์ในตัวมันมาก ถ้ามีความมหัศจรรย์ในตัวมันมาก เห็นไหม

จิตเห็นอาการของจิต เวลามันจะเสวยอารมณ์ เวลามันจะคิด ธรรมชาติของความคิด เกิดดับๆ มันเกิดจากไหน? มันเกิดจากจิต ถ้าคนไม่มีจิตมันจะมีความคิดมาจากไหน แล้วเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมเขามีความคิดไหม แล้วเวลามาเกิดเป็นมนุษย์ ความคิดมันเกิดจากไหน แล้วเกิดเป็นสัตว์นรก เกิดในนรกอเวจีมันจะมีความคิดไหม มันมีความคิดตลอดล่ะ แต่ความคิดในสถานะที่เขาได้นั้น หลวงตาท่านใช้คำว่า “อยู่ในกรงขัง” เวลาไปเกิดในสถานะไหนก็อยู่ในกรงขังนั้น ไอ้กรงขังนั้นเป็นภพเป็นชาติ ไอ้ที่ว่านรกสวรรค์ไม่มีๆ เพราะมันยังไม่ถึงเวลาของมันนะ จิตที่มันออกจากกรงขังนี้ ออกจากสถานะนี้มันก็ต้องไปหากรงขังใหม่ มันก็ต้องไปหาสถานะใหม่ มันจะเวียนว่ายตายเกิดของมันอย่างนั้น

ถ้าจิตมันมีสติปัญญาขึ้นมา มันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันแยกมันแยะของมันนะ แยกแยะอะไร? แยกแยะกรงขัง กรงขังคืออะไร? กรงขังคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คืออะไร? คือความคิด รูป ถ้ามีรูปแล้วเราก็เชื่อมั่นในความคิดของเราใช่ไหม เราก็เชื่อในความเห็นของเราใช่ไหม ถ้าเราจับมันไม่ได้ เราก็ยังวิปัสสนามันไม่ได้ แต่ถ้าเราจับมันได้ เราวิปัสสนามันได้ เพราะเราจะทำลายกรงขังไง ทำลายสิ่งนี้ นี่ไง พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ มันต้องมีวิธีการของมัน มันถึงจะดับทุกข์ของมันได้

ไอ้นี่ไม่มีสิ่งใดเลย แล้วก็ลูบๆ คลำๆ กันไปแล้วมันจะดับทุกข์ของมันได้อย่างไร

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีอำนาจวาสนา เราถึงบอกว่ามันเข้ากันโดยธาตุ ธาตุของคนไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมๆ เวลาคฤหัสถ์พูดถึงเรื่องของทาน เรื่องของทานคือเรื่องการเสียสละ คือเรื่องการอภัยต่อกัน เรื่องอย่าผูกโกรธ อย่าอาฆาต อย่ามาดร้ายกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ถ้าเกิดทิฏฐิมานะกัน เห็นไหม ดูสิ ในสมัยพุทธกาลมันมีสหายอยู่คู่หนึ่ง เขาเป็นสหายกันมาทุกภพทุกชาติ เขาจะผลัดกันฆ่าทุกภพทุกชาติเลย อยู่ในสุตตันตปิฎก มาภพชาติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา เพื่อนเขาเป็นพรานป่า เขาเที่ยวป่าด้วยกัน คนหนึ่งนอนหลับ อีกคนหนึ่งกำลังจะฆ่าอีกคนหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยฤทธิ์ “อย่าเพิ่งทำ ปลุกเพื่อนขึ้นมา ปลุกเพื่อนจากนอนหลับขึ้นมา” เพราะเพื่อนจะโดนสังหาร ปลุกขึ้นมาแล้วก็บอกว่า “เธอทำกันอย่างนี้มาทุกภพทุกชาติ ผลัดกันทำมาอย่างนี้ทุกภพทุกชาติเลย”

ไอ้คนที่นอนหลับอยู่ไม่รู้ว่าเขากำลังจะฆ่าอยู่น่ะ แต่ไอ้คนที่จะฆ่าเขา ด้วยทิฏฐิมานะ ด้วยความผูกโกรธในใจไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลุกให้ตื่นขึ้นมาแล้วเทศนาว่าการเลย “เวรย่อมระงับด้วยความไม่จองเวร เธอสองคนนี้จองเวรจองกรรมกันมาทุกภพทุกชาติ เธอได้ทำลายกันมาอย่างนี้ตลอด แล้วถ้าทำต่อไปมันก็จะผูกโกรธกันไปอย่างนั้นแหละ มันจะอาฆาตมาดร้ายไปอยู่อย่างนี้ตลอดไป ปลุกขึ้นมาแล้วให้ขอขมาต่อกัน ให้อภัยต่อกัน” นั่นล่ะ ให้อภัยต่อกัน ให้อภัยต่อกัน นี่มันแก้มันแก้อย่างนี้ไง

แล้วพูดถึงว่าเขาเป็นสหายกัน แต่ทำไมเขาทำลายกันมาทุกภพทุกชาติล่ะ แล้วกิเลสในหัวใจของเรามันบีบบี้สีไฟในหัวใจของเรามาตลอด มันเป็นเจ้านาย มันข่มขี่หัวใจเรามาตลอด มันบอกว่าดูมันเฉยๆ แล้วมันจะให้อภัยเรา มันยอมไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลุกเขาขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการด้วยเหตุด้วยผลใช่ไหม เขาใช้ปัญญาของเขาใคร่ครวญไตร่ตรองแล้วเขาเห็นโทษของเขา เขาใคร่ครวญไตร่ตรองว่ามันเป็นความจริง เพราะสิ่งนี้มันผลัดกันกระทำมา จิตใต้สำนึกมันรับรู้ได้ เขาถึงเห็นโทษของมัน เขาถึงขอขมาต่อกัน เขาถึงให้อภัยต่อกัน “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

กิเลสไม่มีเหตุมีผล ธรรมะมีเหตุมีผลนะ เวลาเราศึกษาธรรมะ ธรรมะมีเหตุมีผล กิเลสมีเหตุมีผลไหม เวลามันชอบ มันต้องการ มันมีเหตุมีผลไหม เวลาเราจะทำ มันมีเหตุมีผลไหม กิเลสมันไม่มีเหตุมีผล แต่มันมีอำนาจเหนือกว่าใจดวงนี้ แล้วเราจะชนะมันๆ เรารวบรวมกำลังชนะมันได้ไหม มันก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามาให้มันมีกำลังขึ้นมา แล้วถ้ามันเกิดใช้ปัญญาขึ้นมา นี่พระพุทธศาสนาสอนเรื่องปัญญา

เราฟังเขาพูดกันมากว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาๆ แล้วเขาก็ใช้ความคิดของเขา ขวานคนละเล่มถากกันไปเรื่อยๆ ไง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาได้ทำให้หลวงปู่มั่น ด้วยการประพฤติปฏิบัติจนหลวงปู่มั่นท่านสิ้นจากกิเลสไป ปัญญาอย่างนี้ต่างหาก พระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ สอนที่นี่ สอนถึงการดับทุกข์ๆ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์ต้องมีมรรค องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกสุภัททะไง “สุภัททะ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

สุภัททะเป็นปัญญา เป็นนักปราชญ์ เขาเก่งมาก เขารู้ไปหมดนะเรื่องปรัชญา เรื่องลัทธิศาสนาเขาเข้าใจหมดเลย แล้วเขามาใคร่ครวญแล้วเขาลงใจไม่ได้ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาไหนก็ดี ลัทธิ การปฏิบัติ อะไรๆ ดีไปหมด ทุกอย่างดีไปหมด ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย เรากำลังจะตายในคืนนี้แล้ว ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

ทำสมาธิมีปัญญาไหม เป็นมรรคหรือเปล่า ถ้าสัมมาสมาธิก็เป็นองค์หนึ่งของมรรค ๘ สัมมาสมาธิเป็นหนึ่งในมรรค ๘ มรรคอีก ๗ องค์อยู่ไหน หาเจอหรือเปล่า หาเป็นไหม ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล เธออย่าถามให้เนิ่นนานไปเลย ให้พระอานนท์บวชให้ คืนนั้นปฏิบัติ เพราะว่าไปศึกษามาทั่วแล้ว ปรัชญารู้มาหมด ลัทธิศาสนาไหนสอน ใครสอนเก่งรู้หมด จำได้หมด แต่มันไปไม่รอด แต่พอมาปล่อยวางแล้วมาทำความจริงให้มันเกิดมรรค มรรคญาณอันนั้นทำให้สุภัททะเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายในกาลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนเอง เป็นองค์สุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มา สั่งสอนๆ พวกเราก็ปรารถนาอย่างนั้นแหละ แล้วกิเลสมันก็แซงหน้าแซงไปแล้วแต่ความคิดของมัน เห็นไหม เรากลับมาที่นี่ เรากลับมาที่สามัญสำนึกของเรา สังคมก็เป็นสังคม เพราะสังคมมนุษย์เราเป็นสังคม เราก็อยู่ในสังคมนั้น สังคมนั้นเป็นตลาด สังคมเป็นสิ่งที่หาสัมมาอาชีวะ หาเลี้ยงชีพ แต่มรรคญาณ ความเป็นจริงเรา ความเป็นจริงในใจของเรา สุข-ทุกข์มันอยู่ที่นี่ แล้วความจริงมันเกิดที่นี่ แล้วที่นี่จะทำใจดวงนี้ให้พ้นจากทุกข์ เอวัง