ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถูกหรือผิด

๑๔ ก.ย. ๒๕๕๗

ถูกหรือผิด

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องข้องใจว่าผิดไหม

กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกข้องใจเรื่องบิดาเป็นพระ แล้วลูกสาวมาแตะเนื้อต้องตัวพระผู้เป็นบิดาในตอนอาพาธ ลูกอยากทราบว่าผิดหรือเปล่าคะ และพระทำกับมารดาล่ะคะ

ตอบ : นี่พูดถึงคำถามนะ แล้วก็มีภาพมาให้ดูด้วย

สิ่งที่ทำนี่ สิ่งที่ทำ เวลาเราศึกษาศาสนา ศึกษาพระพุทธศาสนา ตอนนี้เขาให้มีการศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เขาจะไปเรียนเรื่องนวโกวาท เรื่องพระควรทำและพระไม่ควรทำ เรื่องธรรมะในนวโกวาท เขาคัดลอกมาจากพระไตรปิฎก

ถ้าเรารู้เราเข้าใจบางอย่าง เรารู้เข้าใจความจริงขึ้นมามันก็จะเป็นความจริง แต่ถ้าเรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ เวลาบอกว่าพระแตะเนื้อต้องตัวผู้หญิงไม่ได้ ไม่ได้

แต่เวลาพระเราธุดงค์ไปทางพม่า เขาให้ผู้หญิงหมอนวดมานวดให้พระ จนครูบาอาจารย์เราไป ท่านบอกว่าไม่ได้ๆ นี่มันเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมของเขา แต่วัฒนธรรมของเราไม่ได้

ถ้าวัฒนธรรมของเรา เพราะอะไร เพราะเวลาของเรา เวลาเราศึกษากัน มหามกุฏ มหาจุฬา เขาศึกษาทางวิชาการ ถ้าศึกษาทางวิชาการแล้ว เวลามีข้อโต้แย้งปั๊บ เขาจะเสนอเรื่องนี้เข้าไปที่เถรสมาคม เถรสมาคมเวลาเขาตัดสินขึ้นมาว่าทำได้และทำไม่ได้ ฉะนั้น เวลาวินัย พระในเมืองไทยเรา บางอย่าง เห็นไหม บางอย่างเถรสมาคมเขาอนุญาต อนุญาตให้ทำได้ เช่นว่า พระส่วนใหญ่เขาฉันนมได้ เขาอะไรได้ เขาถือว่าอนุโลม เขาอนุโลมนะ

แต่คำว่าอนุโลมมันอนุโลมเพราะว่าในความเห็นของเถรสมาคมใช่ไหม เถรสมาคมเขาอนุโลมให้ทำ แต่เขาไม่สามารถไปแก้พระไตรปิฎกได้ พระไตรปิฎกบังคับไว้เลยว่าไม่ได้ สิ่งใดที่เลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นคืออาหาร ถ้าสิ่งใดเลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นเป็นอาหารนะ ฉะนั้น เวลาพระปฏิบัติเรา เราถึงไม่ฉันไง เราฉันไม่ได้ แต่พระทั่วไปเขาฉันได้ เขาฉันได้เพราะมันมีฝ่ายผู้ที่ปกครอง ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายเขาอนุโลม

แต่พอเขาอนุโลม แต่พวกเรา เราสมัครใจใช่ไหม เราสมัครใจว่าเราไม่ทำแบบนั้น เพราะกฎหมายนี้ยังไม่ได้แก้ไข พระไตรปิฎกไม่ได้แก้ไข นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ สิ่งใดที่เลี้ยงทารกได้ นมนี่เลี้ยงทารกได้ สิ่งใดเลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นคืออาหาร ฉะนั้น พอเป็นอาหาร อาหารเราไปฉันตอนเย็นมันก็ผิดศีลใช่ไหม เพราะว่ามันยามวิกาล ห้าม นี่พูดถึงว่าถ้าสิ่งใดอนุโลมหรือไม่อนุโลม

ฉะนั้น คำถามไง คำถามถามว่านมัสการหลวงพ่อ ลูกข้องใจว่า บิดาที่เป็นพระ แล้วลูกสาวที่มาแตะเนื้อต้องตัวพระผู้เป็นบิดาในตอนอาพาธ ลูกอยากทราบว่าเขาผิดหรือเปล่า แต่ทำไมพระทำกับมารดาได้

พระทำกับมารดาได้เพราะอะไร เพราะมารดาให้ชีวิตนี้มา มารดา พระพุทธเจ้าอนุญาตนะ เราจำชื่อไม่ได้ ในพระไตรปิฎก พระบวชมาแล้ว ๑๐ กว่าพรรษา ลูกเศรษฐีเป็นลูกชายคนเดียว ไปปฏิบัติมาในป่าในเขานะ สมบุกสมบันมาเต็มที่เลย อยากจะหลุดพ้น อยากจะสิ้นกิเลส แต่มันก็มีความวิตกกังวล เพราะลูกชายคนเดียวใช่ไหม แล้วพ่อแม่ นี่อยู่ในพระไตรปิฎก พ่อแม่เป็นเศรษฐี แล้วก็เป็นห่วงพ่อห่วงแม่เหมือนกัน

แล้วพอไปปฏิบัติอยู่ในป่า พ่อแม่ชราภาพ พอพ่อแม่ชราภาพขึ้นมา พวกคนใช้โกงหมดเลย หลอกจนหมดเลย เศรษฐีนี้ เศรษฐี ๒ คนพ่อแม่ต้องไปเป็นขอทาน

พระไปปฏิบัติอยู่ในป่า ข่าวจากชาวบ้านมันก็มา อะไรมา มันภาวนาไม่ลง ภาวนาไม่ได้ ก็ตัดสินใจจะไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ ไปถึงทางสองแพร่ง ตัดสินใจว่า ถ้าไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ ใจคืออยากจะสึก อยากจะสึกเพราะสงสารพ่อสงสารแม่ คือจะไปเลี้ยงดูพ่อแม่ ว่าอย่างนั้นเถอะ ไปถึงทางสองแพร่งก็คิดว่าจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนหรือจะไปหาพ่อแม่ก่อนค่อยสึกไป

ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็ไปพูดถึงเหตุผลให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นพระก็เลี้ยงพ่อแม่ได้ ก็เลยเอาพ่อแม่มาเลี้ยง แล้วไปบิณฑบาต บิณฑบาตมาก็ให้พ่อแม่ได้ทานก่อน แล้วเสร็จแล้วพระถึงได้ฉัน

อู๋ย! พระนี่ติเตียนมาก พระติเตียนว่าศาสนาอย่างนี้ทำให้เสื่อมสิ เพราะศาสนานี้เขาใส่บาตรมาเพื่อพระ เขาไม่ได้ใส่บาตรมาเพื่อฆราวาส พระไปบิณฑบาตมาแล้วก็มาเลี้ยงคน เลี้ยงฆราวาส ทำให้ศาสนาเสื่อม ไปฟ้องพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเรียกมาทั้งหมดเลย แล้วพระพุทธเจ้าบอกว่า ในเมื่อคนดีต้องมีความกตัญญูกตเวที พ่อแม่ให้ชีวิตลูกมา ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระที่มาประพฤติปฏิบัติก็หวังมรรคหวังผลใช่ไหม ถ้าหวังมรรคหวังผลก็คือความดีเหมือนกัน แต่ความดีที่ละเอียดที่ลึกซึ้งไปกว่ากัน แต่ความดีอย่างนี้ความดีแบบโลก พระที่จะพ้นจากทุกข์ ความดีของโลก เรื่องพ่อเรื่องแม่ ยังไม่เข้าใจเรื่องของพ่อของแม่ได้ ยังไม่รู้จักกตัญญูกตเวที มันจะทำความดีอย่างไร

นี่พระพุทธเจ้าอนุญาต การเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นี่อนุญาต การดูแลพ่อแม่นี่อนุญาตใช่ไหม แต่ทีนี้พอเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่เพราะอะไร เพราะเราอุปัฏฐากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เป็นผู้มีคุณ

ทีนี้ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเรื่องของปัญหา ปัญหานี้คือว่าลูกมาอุปัฏฐากพ่อที่เป็นพระ

อ้าว! ถ้าพระอุปัฏฐากพ่อแม่ แล้วลูกที่มาอุปัฏฐากพระ แล้วพระไปโรงพยาบาลก็มีคนอุปัฏฐากอยู่แล้ว มันต่างกันไง

ต่างกันว่า เราเป็นพระใช่ไหม เราแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีจากพ่อแม่ของเรา ทีนี้เราบวชเป็นพระแล้ว เราเสียสละมาแล้ว เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราบวชมาเพื่อมรรคเพื่อผล นั่นลูกสาว ลูกสาวก็ลูกสาว ลูกสาวถ้าเห็นพ่อ ก็พ่อของเราเป็นพระ ถ้าเป็นพระที่ดี ลูกก็ต้องภูมิใจ อ้าว! ถ้าลูกห่วงพ่อว่าทุกข์ว่ายาก แล้วทุกข์ยากมันก็มีโรงพยาบาล มันก็มีบุรุษพยาบาล มันก็มีทุกอย่างพร้อม จะมาอ้างอย่างนั้นไม่ได้หรอก

เราจะบอกว่าผิด เพราะคำว่าผิดพระ ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา เราขอไม่ได้นะ สิ่งใดที่เราได้มา ที่เราใช้เล่ห์กลใช้เล่ห์เหลี่ยมไปให้เขาทำบุญ สิ่งที่ได้มาเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิ่งที่ได้มา ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ถ้าพระใช้เป็นปาจิตตีย์ สิ่งที่ได้มา ถ้าจะสละ ต้องสละของนั้นทิ้งก่อน ถึงปลงอาบัติถึงจะหาย ถ้าปลงอาบัติ ของยังอยู่ ยังปลงไม่หาย

เห็นไหม ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ขอยังไม่ได้เลย ฉะนั้น บอกถ้าเป็น ๗ ชั่วโคตร พระบวชมาแล้ว พ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ขอได้ ขอเลย บอกพระอยากได้อะไร ขอได้เลย ถ้าเป็นญาติ ญาติในสายเลือดนี่ขอได้ แต่ถ้าไม่ใช่สายเลือดนี่ขอไม่ได้ นี่ไง ไอ้นี่มันป้องกัน นิสสัคคิยปาจิตตีย์

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นเรื่องสีกา เรื่องผู้หญิงกับพระ มันอนิยต ๒ อนิยต ๒ ถ้าพูดในที่ลับหูลับตา ที่ลับหู พูดกัน ๒ คน ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดจาเกี้ยวหญิง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถ้ามีความกำหนัด แล้วมนุษย์มีความกำหนัดไหม พฤติกรรมที่ทำนั้นอย่างหนึ่งนะ แต่มันอยู่ที่กิเลสในใจมีหรือเปล่า

ถ้ากิเลสมีในใจ โดยธรรมชาติหญิงกับชาย พอมองไปแล้วมันมีความจิตใต้สำนึกมันรับรู้ไหม ว่าอย่างนั้นเลย กามราคะ ปฏิฆะ ถ้ามี ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ ทุกคนมันมีความกำหนัด มีความกระสัน มีความยินดีอยู่จิตใต้สำนึก เพียงแต่มันจะโดนคุ้ยขึ้นมาหรือเปล่า แล้วมันมาเห็นหญิงเห็นชาย มันคุ้ยขึ้นมาไหม

ฉะนั้น ถ้ามันคุ้ยขึ้นมา ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดจาเกี้ยวหญิง ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ ฉะนั้น จะลูกสาวหรือจะใครก็แล้วแต่จะมาจับ เรามีความกำหนัดหรือเปล่า คิดหรือเปล่า ถ้าคิด อนิยต ๒ ไง

อนิยต ๒ หมายความว่า ถ้าภิกษุกับผู้หญิงอยู่กันตัวต่อตัวลับหูลับตา ถ้ามีบุคคลที่เชื่อได้ อย่างเช่นนางวิสาขา ปรับอาบัติอย่างใด ให้เป็นอย่างนั้น ปรับอาบัติอย่างใด ให้เป็นอย่างนั้น ตั้งแต่ปาราชิกลงมาเลย ปาราชิกก็ได้ สังฆาทิเสสก็ได้ อนิยต ๒ ก็ได้ ปาจิตตีย์ก็ได้ ปรับอย่างไรก็ได้ ฉะนั้น ถ้าปรับ มันอยู่ในอนิยต ๒ ไง

ถึงบอกว่า มันจะบอกว่าผิดหรือไม่ผิดมันเป็นโลกวัชชะ โลกติเตียน ฉะนั้น สิ่งที่ธรรมดานะ ในสังคมไทย ผู้ที่บวชมาเป็นหลวงพ่อ หลวงตาก็มีลูกมีเต้ามาเยอะมาก ฉะนั้น เวลาเข้ามาเขาบอกว่าเป็นลูกเป็นเต้าอะไรกันมันเป็นที่น่าไว้ใจๆ

อันนี้มันป้องกันอาบัติ อาบัติเล็กน้อยนี่ได้ อย่างที่ว่าไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา มันมีตั้งแต่ทุกกฏ ปาจิตตีย์ อนิยต ๒ สังฆาทิเสส ปาราชิก มันอาบัติเล็กน้อย เขากันไว้ มันป้องกันตรงนั้นน่ะได้ แต่ถ้าบอกว่าจะมาทำได้ๆ นี่กล่าวตู่พุทธพจน์

กล่าวตู่พุทธพจน์ หมายความว่า ธรรมและวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว แล้วพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ตอนสังคายนาตั้งญัตติขึ้นมาเลย เพราะเขาถามพระอานนท์ พระอานนท์บอกว่าพระพุทธเจ้าสั่งไว้ว่า ต่อไปในอนาคตนะ วินัยเล็กน้อย ถ้าโลกเจริญแล้วมันอาจจะไม่สะดวก ให้ยกเลิกได้ ให้ยกเว้นได้

พระก็ถามพระอานนท์ว่าคำว่ายกเว้นมากน้อยแค่ไหน

พระอานนท์บอกก็ไม่ได้ถามพระพุทธเจ้าว่าแค่ไหนที่ว่ามันเล็กน้อย

ก็เลยตกลงตั้งญัตติกันว่า พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ที่ทำสังคายนาครั้งแรก ที่พระกัสสปะเป็นหัวหน้า เป็นผู้ทำสังคายนา ตั้งญัตติกันว่าเราจะไม่แก้ เราจะไม่แก้ หนึ่ง จะไม่แก้

ในพระไตรปิฎกมีอยู่ที่ว่ากล่าวตู่พุทธพจน์ ในสังฆาทิเสส มันมีพระหลายๆ องค์สมัยพุทธกาล สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ไม่เชื่อเรื่องนิพพาน นิพพานเป็นอัตตา นิพพานเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าปรับอาบัติทั้งนั้นน่ะ ถ้ายังกล่าวตู่พุทธพจน์ หมายถึงว่า ความเห็นนอกจากธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ให้ทำพรหมทัณฑ์ ไม่ให้คบ ปรับแยกออกจากหมู่ นี่มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ฉะนั้น กล่าวตู่พุทธพจน์คือเห็นผิดไปจากธรรมและวินัย

ฉะนั้น นี่ก็เหมือนกัน นี่บอกว่า ถ้าเป็นญาติ เป็นปวารณา ก็บอกว่าญาติ ปวารณา เขาก็ให้แค่ปวารณา ให้แค่ปวารณาใช่ไหม ขอสิ่งใดก็ได้ อะไรก็ได้ แต่บอกว่าให้มานวดมาเฟ้น มันไม่มี มันไม่มี จะบอกว่าผิดหรือไม่ผิดล่ะ

ทีนี้ผิดหรือไม่ผิดนี่เป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่เรื่องที่มันมีปัญหาที่สุดก็คือเรื่องโลกวัชชะ โลกติเตียน ทำสิ่งใดที่โลกติเตียน พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำอยู่แล้ว ทำสิ่งใดที่ให้โลกติเตียน แล้วโลกติเตียนไหม ถ้าโลกติเตียนมันก็ทำไม่ได้

ฉะนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าบิดาเป็นพระ นี่อันหนึ่งนะ เพราะว่า ธรรมดาถ้าเป็นพระ พระในวัดเยอะแยะ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น โอ้โฮ! พระล้อมหน้าล้อมหลัง แล้วล้อมหลัง ท่านไม่ให้เข้ามาใกล้ด้วย เพราะอะไร เพราะว่าใครมันจะมารู้ใจเรายิ่งกว่าเรา ใครมันจะรู้ พระเขาต้องให้พระอุปัฏฐาก พระเขาต้องให้พระดูแล พระเขาไม่ให้คนนอกดูแลหรอก ถ้าให้คนนอกมาดูแลนี่มันแปลกแล้วล่ะ มันแปลก

แล้วบอกว่า อ้าว! ก็นี่เป็นญาติกัน เป็นอะไรกัน

การสงเคราะห์ญาตินี่นะ ดูสิ เวลาเอาพ่อแม่มาสงเคราะห์ สิ่งนี้พระพุทธเจ้าสรรเสริญ การสงเคราะห์ เพราะว่าเราเกิดจากพ่อจากแม่ ถ้าพ่อแม่ เราเป็นคนดูแล เป็นคนเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวพ่อแม่ เราเป็นคนเช็ดเอง เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวนี่

แต่นี่เราเป็นพระ แล้วลูก ถ้าลูกเคารพบูชา เคารพบูชานั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะกรณีนี้มันเป็นกรณีที่หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นนะ ที่ว่าท่านบอกว่าไอ้พวกนี้มันไม่ถึงธรรม พอถึงธรรม เวลาหลวงปู่มั่นท่านชราภาพ เวลาท่านถ่ายที่ไหน หลวงตาท่านเอามือกอบเลยล่ะ ท่านไม่ต้องใช้อย่างอื่น ใช้เอามือกอบเลย เพราะท่านเคารพของท่านน่ะ นี่เวลามันเป็น พระมันดูแลกันได้

แต่ถ้าแบบว่า เป็นพระสังคม พระบ้าน เขาไม่ดูแลกัน เขาทอดทิ้งกัน ทอดทิ้งกัน นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นว่ากันไป แต่นี่พูดถึงโลกวัชชะ เราพูดถึงหลักเกณฑ์ ฉะนั้น สิ่งที่ว่า จะอ้างว่าใครก็แล้วแต่มาอย่างนี้ ถ้าเราบอกว่าผิด ถ้าเป็นความเห็นเรานะ

แต่ถ้าเป็นความเห็นสังคม ความเห็นของพระที่ว่าเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าในเมื่อมันมีสายเลือด มันถูกต้อง เราเชื่อพระพุทธเจ้า เราเชื่อสิ่งที่มันมีเหตุมีผล แต่เราไม่เชื่อว่าสังคมเขายอมรับว่าเป็นสายเลือดแล้วจะดูแลกันได้ เราไม่เชื่อ

ฉะนั้น ถ้าในความเห็นเรา ผิด

แล้วทำไมพ่อแม่ไม่ผิดล่ะ

ก็พ่อแม่ไม่ผิด ก็อธิบายมาแล้ว ถ้าเป็นพ่อเป็นแม่ เราเป็นลูก พ่อแม่ชราคร่ำคร่า พ่อแม่หนังเหี่ยวหนังย่น มีแต่เราไปเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ท่าน ไอ้นี่เป็นความกตัญญู แต่ถ้าเป็นตัวเรา เราอยากพ้นทุกข์ ก็เราบอกแล้วนี่ว่าเรามีคุณธรรม ถ้าเรามีคุณธรรม ของแค่นี้ ถ้าของแค่นี้แล้ว แล้วถ้ามีคุณธรรมนะ ใครๆ ก็อยากได้บุญ เขามาดูแลหมดแหละ ถ้าเขาดูแลหมด เห็นไหม มันไม่โลกวัชชะไง มันไม่มีใครติเตียนไง มันเปิดเผยไง

ผิด อย่างไรเราก็ว่าผิด เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่เขาจะว่าทำได้อย่างไรเรื่องของเขา นั่นข้อที่ ๑ ไอ้นี่ปัญหาโลกแตก เพราะเรื่องนี้มันจะเกิดไปข้างหน้าอีกเยอะเลย เพราะถ้าคนหนึ่งทำได้นะ ประเดี๋ยวทำกันเป็นแถวเลย ปัญหาโลกแตก

นี่ปัญหาของเรา ปัญหาธรรมะดีกว่า ปัญหาธรรมะคือปัญหาปฏิบัตินะ

ถาม : เรื่องสอบถามเรื่องการปฏิบัติค่ะ

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูฟังเทศน์หลวงพ่อเป็นประจำ และพยายามกำหนดพุทโธเป็นแนวทางค่ะ อยากสอบถามปัญหาค่ะ

. ตอนเดินและนั่งกำหนดพุทโธ และพิจารณาในกายแล้วเกิดทุกขเวทนาค่ะ กำหนดไปแล้วจิตมันเห็นความเจ็บมันแยกจากเราค่ะ คือเห็นว่ามันเกิดขึ้นของมันเอง แล้วมันก็เกิดแล้วก็ดับเรื่อยๆ พอสักพักสบายแล้วเดี๋ยวก็ปวดใหม่ ใจเลยไม่ได้สนใจ อยู่กับพุทโธเป็นหลัก อย่างนี้ถูกหรือเปล่าคะ หรือต้องบังคับใจให้เข้าไปสู่ความเจ็บปวดคะ

. เมื่อวานนั่งสมาธิแล้วเห็นว่า ความคิดมันเป็นความคิดแยกจากใจของเรา และเรากำหนดพุทโธอยู่ตลอด เวลานั่ง จิตมันอยู่กับการกำหนดพุทโธ และความรู้สึกก็รู้อยู่ในกาย แต่ส่วนของความคิดมันเกิดของมันเอง จิตเราเข้าไปยุ่งกับมัน มันเลยมีอารมณ์ร่วมกับมันตลอดเลยทุกข์ ที่ผ่านมาทุกข์กับความคิดตลอด เพราะใจเราไม่เคยรู้ คิดว่ามันเป็นเรา สิ่งที่ได้รู้นี้ถูกต้องหรือไม่คะ

. การกำหนดพุทโธจำเป็นต้องบังคับดูลมหายใจเข้าออกหรือไม่คะ หรือพิจารณาตามที่เราถนัด แต่แค่กำหนดพุทโธได้ตลอดไป

. เวลาง่วงนอนเป็นอุปสรรคในการภาวนามากค่ะ พอมีวิธีช่วยไหมคะ ขอคำแนะนำในการปฏิบัติต่อไปด้วยค่ะ

ตอบ : ในการปฏิบัติ เวลาเรามีความศรัทธามีความเชื่อ เราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ อยากจะพ้นจากทุกข์ แต่ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อแล้ว เราทำชีวิตประจำวันของเราให้มีคุณธรรมในใจนะ ถ้ามีคุณธรรมในใจ

เราตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกธรรม ๘ สิ่งที่เกิดขึ้น เห็นไหม ธรรมะมันเก่าแก่ มันมีของมันอยู่อย่างนั้น ชีวิตมันเป็นแบบนี้ แต่ของเราเวลามีความสุขแล้วเราก็อยากจะให้ความสุขความพอใจอยู่กับเรา สิ่งที่ขัดใจก็ไม่อยากจะให้อยู่กับเรา สิ่งนี้มันเป็นโลกธรรมเก่าแก่ คือมันมีของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เพราะความลุ่มหลงของคน เพราะไม่เข้าใจอย่างนั้น เพราะความไม่เข้าใจ เหมือนกับน็อต เกลียวมันคนละเกลียว มันเข้ากันไม่ได้

สัจจะความจริงมันเวียนว่ายตายเกิด วัฏฏะมันเป็นอย่างนี้ แต่ชีวิตเราเกิดมา เกิดมาเวียนว่ายตายเกิด เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดา พอเราเกิดมาแล้ว เรามีความพอใจแล้ว เราปฏิเสธการชราคร่ำคร่า เราปฏิเสธความเป็นไปของวัฏฏะ เราอยากอยู่คงที่ของเราไง มันเป็นไปไม่ได้

สิ่งที่เกิดๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นแล้ว เวลาการเกิดนี่อริยทรัพย์ การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีคุณค่ามาก มีคุณค่าเพราะอะไร เพราะมนุษย์มีสมอง ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ แม้มนุษย์เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ้นสุดแห่งทุกข์ก็ยังไปได้

ในบรรดาสัตว์สองเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนั้น ถ้าเราศึกษาธรรมะ ธรรมะแบบนี้ทำให้ชีวิตของเราให้มันมีที่พึ่ง ให้มันไม่เหี่ยวแห้ง

ถ้าชีวิตของเรามันไม่มีที่พึ่ง มันเหี่ยวแห้งนะ มันว้าเหว่ มันก็คิดแต่ทางโลกไป พยายามปากกัดตีนถีบ พยายามจะทำหน้าที่การงานให้ประสบความสำเร็จ แล้วก็มีความเร่าร้อนทั้งนั้นน่ะ

เวลาทำหน้าที่การงาน ดูเครื่องยนต์เวลาเราใช้งานไปมันก็เกิดความร้อน เขาต้องดับเครื่อง เขาต้องพักผ่อนมัน ชีวิตของเรา เวลาเราพอใจสิ่งใด เราก็จะทำของเราให้เต็มที่เลย เวลาถ้ามันประสบความสำเร็จ เราก็มีความเพลิดเพลิน เรายิ่งทำให้มากขึ้นไปอีก มันก็อยากร่ำอยากรวย อยากไป มันก็พยายามฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปเรื่อย แต่ถ้าทำไม่ประสบความสำเร็จก็มีแต่ความทุกข์ความยาก มีแต่ความแผดเผาไปในหัวใจ

นี่ถ้าเราศึกษาธรรมแบบนี้ นี่มีธรรมะหล่อเลี้ยงหัวใจ หล่อเลี้ยงหัวใจนะ ธรรมะมันเป็นธรรมโอสถ ถ้าเราศึกษาแล้ว เราเข้าใจแล้ว มันมาผ่อนคลายบรรเทาทุกข์ๆ มันบรรเทาหัวใจของเรานี่ บรรเทา ธรรมะมีประโยชน์อย่างนี้

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นเครื่องบรรเทา บรรเทาหัวใจของเรา แต่เราอยากจะมีคุณธรรม เราอยากจะมีความสุข เราอยากวิมุตติสุข เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราต้องมาปฏิบัติ เราก็จะมาเริ่มกำหนดพุทโธ

ที่คำถามนี้ถามว่าเวลากำหนดพุทโธ ฟังเทศน์หลวงพ่อประจำว่าให้กำหนดพุทโธๆ หนูพุทโธตลอดเวลา แล้วเวลามันเกิดเวทนาขึ้นมามันเจ็บมันปวด

ถ้ามันเจ็บมันปวด ธรรมดามันมีของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่จิตใจเราไม่ได้สนใจ จิตใจเราไปเพลิดเพลินกับอย่างอื่นนะ แต่เวลาเราจะมาควบคุมใจปั๊บ ไอ้สิ่งที่มันอยู่ใกล้ตัวเรามันแสดงตัวมันชัดเจนไง อย่างเช่นเวทนา อย่างเช่นความขัดข้องหมองใจมันก็มีของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่มันไปเพลินเรื่องอื่น กิเลสมันไปเอาอย่างอื่นมาหลอกไง เออ! จะได้เงินร้อยล้าน จะได้ยศถาบรรดาศักดิ์ อู๋ย! มันเพลินนะ ทั้งๆ ที่ไอ้ที่เวทนงเวทนามันก็มีอยู่อย่างนี้

แต่พอเราไม่รับรู้สิ่งข้างนอก เราปล่อยวาง หมดหน้าที่การงานแล้ว เราจะปฏิบัติแล้ว พอมาเผชิญหน้ากับมันนะ เดินก็มีเวทนา ความปวดก็ปวดกับเรา

สิ่งที่มันเจ็บมันปวดมันมีของมันอยู่แล้วแหละ เพียงแต่ว่าคนไม่มาศึกษามัน ไม่มาค้นคว้ามัน มันก็มีอยู่กับเรา นี่มนุษย์สมบัติ มนุษย์เกิดมามีกายกับใจ มันมีกับเราอยู่แล้ว แต่เราไม่ศึกษา เราไม่ค้นคว้า เราอยากได้ยศถาบรรดาศักดิ์ อยากได้การยอมรับจากข้างนอก เราไม่ศึกษาตัวเราเอง

ไอ้นั่นเขาให้มีธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ แต่เวลาเราจะเอาความจริง เราเผชิญกับทุกข์แล้ว เผชิญกับความจริง เผชิญกับทุกข์

ฉะนั้น เขาว่าเวลาเขากำหนดพุทโธ เวลากำหนดพุทโธ จิตมันเจ็บมาก พิจารณาไปแล้วมันแยก

เวลามันแยก มันเป็นไป พิจารณาไป เขาเรียกว่าส้มหล่นๆ มันมีนะ คนเราอยู่ที่วาสนา วาสนาบางคนทำอะไรแล้วมันพอดีไปหมดเลย แต่ถ้าเวลาวาสนามันไม่ทันอย่างนี้ ทำอะไรไปขาดตกบกพร่องไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งใดที่มันทำแล้วมันพอดีๆ แต่มันเป็นการส้มหล่น คือมันพอดีของมันเอง เรายังไม่บริหารจัดการไง แต่พอเราจะบริหารจัดการนี่หมดเลยนะ กรณีนี้มันเป็นกรณีของท่านอาจารย์สิงห์ทอง ท่านบอกว่าเวลาท่านจะบวช ญาติพี่น้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก บวชได้พรรษาหนึ่งจะให้มาขี้ในที่นอนเลยล่ะว่าอย่างนั้นเลยนะ เพราะเขาไม่เชื่อว่าอาจารย์สิงห์ทองจะบวชได้

ทีนี้พอท่านไปบวชเข้า ท่านบอกนะ นั่งสมาธิอย่างไรมันก็เป็นสมาธิ อู๋ย! ทำอะไรมันประสบความสำเร็จไปหมด แล้วมันมีความสุขมาก ท่านอธิษฐานเลยนะ เราจะบวชไม่สึก เราจะบวชไม่สึก

นี่ท่านเล่าเอง พอบวชไม่สึกเท่านั้นน่ะ ตอนนี้นะ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ โอ๋ย! มันไม่ได้สักอย่างเลย

เห็นไหม เวลาก่อนหน้านั้นเขาบอกว่าบวชไม่ได้หรอก แต่คนมันมีวาสนา ท่านบอกว่า สวดมนต์ก็เป็นสมาธินะ นะโม ตัสสะ ไม่ทัน นะโม ตัสสะเสร็จเลย จิตมันลงแล้ว ทำอะไรนี่มันดีไปหมดเลย โอ๋ย! มันสุขมาก โอ๋ย! ถ้ามันสุขอย่างนี้แล้วจะสึกทำไมล่ะ ถ้ามันสุขอย่างนี้ เราก็จะอยู่อย่างนี้ ก็เลยอธิษฐานไง บวชไม่สึก

พออธิษฐานแล้ว บวชไม่สึกเท่านั้นแหละ โอ้โฮ! กิเลสมันยกพลมานะ ทีนี้ภาวนาไม่ได้เลย โอ้โฮ! ล้มเหลวหมดทุกเรื่องเลย ทำอะไรก็ล้มลุกคลุกคลานเลย แต่ท่านก็พยายามของท่าน เพราะจิตใจท่านเด็ดขาด ท่านเป็นคนที่เข้มแข็งมาก

ทีนี้เพียงแต่นิสัยท่านสุดโต่งมาก ฉะนั้น พอตั้งสัจจะนะว่าบวชไม่สึกเท่านั้นน่ะ ภาวนาไม่ได้เลย ตอนนี้ โอ้โฮ! ร้อนเป็นไฟ แต่ท่านก็พยายามของท่าน ดับร้อนของท่าน แล้วพอมันเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา เพราะว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว ได้ฌาปนกิจไปแล้ว พระธาตุของท่านนะ ธาตุของท่านเป็นพระธาตุหมด นี่ท่านอาจารย์สิงห์ทอง นี่เรายกตัวอย่าง เห็นไหม มันกลับกลอกตลอด ใจเราน่ะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนา สิ่งที่ว่าเวทนามันแยกเลย ทุกอย่างมันวางได้หมดเลย

สิ่งนี้มันเป็นที่วาสนา เรายังบริหารจัดการไม่ได้ การปฏิบัติของเราต้องมีสตินะ พุทโธๆ จนละเอียดเข้ามา เราเข้าใจได้ เราเห็นได้ เราบริหารจัดการได้ พอพุทโธๆ ละเอียด เราก็เห็นใช่ไหม พอขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้ามันคลายออกมา เราก็เห็นว่าคลายออกมา แล้วถ้าเราย้อนไป เราย้อนไป จิตเห็นอาการของจิต คือเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง นั่นแหละจะเป็นวิปัสสนา นั่นแหละพระพุทธศาสนาสอนตรงนั้นน่ะ สอนวิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้ง รู้แจ้งในความเห็นเรา รู้แจ้งในหัวใจของเราไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพอมันปล่อยมันวาง มีความสุขใช่ไหม ทีนี้คำถามถามอย่างนี้สิ คำถามถามว่า พอมันสบาย พอมันปล่อยวางมันก็สบายใช่ไหม ใจเลยไม่ได้สนใจ อยู่กับพุทโธเป็นหลัก อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ หรือต้องบังคับ บังคับจิตใจให้อยู่กับความเจ็บปวด

ไม่ใช่ อยู่กับพุทโธนี่ถูก ไม่ใช่บังคับใจให้ไปอยู่ที่ความเจ็บปวด

ไอ้ที่เขาจะพิจารณาเวทนา เขาเห็นเวทนาของเขา เวลาจิตมันสงบแล้วจะไปจับเวทนาแล้วค่อยพิจารณา ไม่ใช่บังคับไปอยู่ที่ความเจ็บปวด ถ้าเราจะบังคับให้เราไปอยู่ที่ความเจ็บปวด มันเป็นขันติ ความอดทน

ถ้าเราบังคับไปอยู่ที่ความเจ็บปวด เราเจ็บปวดมากเลย แต่เรามีสตินะ จับเวทนา จับความเจ็บปวดแล้วพิจารณา เราไม่ใช่บังคับให้ไปอยู่เฉยๆ นะ เราต้องจับเขาให้ได้ จับเวทนาได้ว่า ไอ้สิ่งที่อย่างเช่นปวดหัวเข่า ปวดตรงไหนก็แล้วแต่ จับ เวทนามันคืออะไร ความเจ็บปวดนั้นมันคืออะไร ความเจ็บปวดมันมีเหตุมีผลอย่างไร ความเจ็บปวดนี้เกิดขึ้น และตั้งอยู่ แล้วมันจะดับไประหว่างที่มันเจ็บปวดได้อย่างใด

แล้วไม่ใช่บังคับไปอยู่กับมันนะ ต้องจิตสงบแล้วต้องจับให้ได้ การจับให้ได้คือการเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม จับเวทนาก็คือเห็นเวทนา เห็นสติปัฏฐาน ๔

แต่ถ้าเราไปบังคับว่าไปอยู่กับมัน คือว่าจิตใจของเรายังไม่เข้มแข็งพอ เรายังจับสิ่งใดไม่ได้ เราจะทำอะไรไม่ถูก ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าบังคับให้ไปอยู่กับความเจ็บปวด แต่บังคับให้อยู่กับพุทโธ

ถ้าบังคับให้อยู่กับพุทโธ เพราะบังคับให้อยู่กับพุทโธ พุทโธๆ จิตมันจะมีคำบริกรรม มันจะรักษาตัวมันเองจนมีกำลัง มีกำลังมันถึงจับได้ ต้องใช้สติปัญญาจับ แล้วพิจารณา ไม่ใช่บังคับให้อยู่อย่างนั้น แล้วถ้าบังคับพุทโธนี่ถูก นี่ข้อที่ ๑

. เมื่อวานนั่งสมาธิไปแล้ว ความคิดมันแยกจากใจของเรา กำลังพุทโธอยู่

ไอ้กรณีนี้เราเพิ่งปฏิบัติใหม่ เวลาคนทำงานใหม่ๆ นะ เวลาคนเรียนจบมาทำงานได้เงินเดือนเดือนแรก อู้ฮู! ภูมิใจมากเลย เพราะอะไร เพราะเงินมันก้อนหนึ่งเลย แล้วพอทุกเดือนๆ เดี๋ยวเงินเดือนไม่พอใช้

เดือนแรกเลย ใครทำงานเดือนแรกนะ ได้เงินเดือนเดือนแรก ภูมิใจมากเลย โอ้โฮ! เดือนแรก โอ้โฮ! เงินเยอะมาก ชีวิตนี้คงจะราบรื่นแล้วล่ะ แต่พอต่อไปๆ นะ เขาเพิ่มเงินเดือนให้ด้วย เงินเดือนขึ้นตลอดเลย ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องกู้เขาใช้เลยล่ะ

อันนี้ก็เหมือนกัน บอกว่า ถ้ามันนั่งสมาธิไปแล้ว ถ้าจิตมันแยกแล้ว เราจะเข้าใจอย่างไร

เวลาทำ ถ้ามันเห็นทีแรกมันก็ได้อย่างนั้น แต่ถ้าเราทำไปๆ นะ เราต้องพัฒนามากกว่านี้ เพราะข้อที่ ๒ ถามว่าเวลาความคิดมันแยกจากใจแล้ว แล้วเราจะพุทโธไปอย่างไร

พอมันแยก มันแยกแล้วนะ พอเราคิด พอเราทำอะไรเสร็จแล้วก็คือเสร็จ แต่ความจริง ใจ อารมณ์ของคนมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้ว โอ้โฮ! มันละเอียดมาก คือมันเร็วมาก เดี๋ยวก็แยก เดี๋ยวก็ยึด เดี๋ยวก็จับ พอแยกแล้วนะ มันก็คิดแต่ตอนแยก แต่ตอนที่มันเผลอไปจับ แล้วมันไปเจ็บปวดนี่ไม่ได้คิดเลย แต่พอมันแยก ภูมิใจนะ เราเคยแยกได้

เราเคยแยกได้มันเป็นอดีตไปแล้ว ไม่รู้ชาติไหน แต่ชาตินี้เดี๋ยวมันจะไปเจอกับความเจ็บปวด มันแยกแล้วก็วางไว้เพราะอารมณ์มันเร็วไง สิ่งที่ผิดพลาดเยอะแยะไปหมดเลย เราไม่เห็น พอมันส้มหล่น มันหลุดไปทีเดียว โอ๋ย! ยึดเลยว่าเราเคยแยกได้

เราเคยแยกได้ มันก็แยกไปแล้ว มันต้องให้อยู่ปัจจุบันไง สิ่งที่แยกแล้วมันก็เป็นการยืนยันว่าเราเคยรู้เคยเห็น นี่นักปฏิบัติใหม่

ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำต่อไป มันต้องผ่านทุกข์ใช่ไหม ความคิดตลอดไป เพราะใจเราไม่เคยรู้ คิดว่ามันเป็นเรา เขาบอกว่าสิ่งใด

มันยังสับสนน่ะ ตอนนี้เริ่มต้นนะ พยายามทำความสงบของใจเข้ามาให้ใจมันสงบเข้ามาก่อน เพราะจิตสงบแล้วจะมีความสุข แล้วพอความสุขแล้ว ตั้งสติไว้ชัดๆ แล้วถ้ามันรู้เห็นเวทนา เห็นกาย เราจับอย่างนี้พิจารณาของเราไป ไอ้นี่มันจะเป็นวิปัสสนาของเรา คือมันจะเป็นการฝึกปัญญาของเราไง

. การกำหนดพุทโธจำเป็นต้องบังคับให้ดูลมหายใจเข้าออกหรือไม่ หรือพิจารณาตามที่เราถนัด แต่ให้กำกับพุทโธไว้ตลอด

กำหนดลมหายใจ เรากำหนดลมหายใจอย่างเดียวก็ได้ จะทำอะไรนะ แบบว่ามันสับสนไง ทั้งลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ

ใหม่ๆ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธนี่ดีมาก เพราะมันเป็นรูปธรรม เพราะคนทำใหม่ๆ มันเป็นนามธรรมที่เราจับอะไรไม่ได้เลย ถ้าลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ เออ! รู้สึกว่ามันเป็นตัวเป็นตนหน่อย เริ่มต้นพื้นฐานเขาฝึกกันอย่างนี้

แต่พอมันต่อๆ ไปแล้ว พอมันชำนาญขึ้น แหม! พุทโธมาหลายเดือนแล้ว กว่าจะพุททีหนึ่ง แล้วกว่าจะโธนี่ อู้ฮู! มันนานมาก อู๋ย! มันคิดมาก

นี่มันจะมีอุปสรรคไปข้างหน้านะ ก็วางอันใดอันหนึ่ง วางลมหายใจ พุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆ ไป หรือวางพุทโธ อยู่แต่กับลมหายใจอย่างเดียว สติมันจะชัดเจน อย่างใดอย่างหนึ่งชัดๆ ชัดๆ เห็นไหม มันจะละเอียดเข้าไป ถ้าละเอียดเข้าไป

เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ลมหายใจต้องพุทเข้า โธออก พุทเข้า โธออก เขาเอาไว้สอนคนหัดเริ่มต้น แต่ถ้าคนเวลาจะใช้ มันก็เหมือนรถเกียร์ ๑ รถเบาเขาออกเกียร์ ๒ กัน เขาไม่ออกเกียร์ ๑ หรอก แต่มันก็ต้องมีเกียร์ ๑ อยู่ใช่ไหม รถนี้เขาออกเกียร์ ๒ เลย แต่มันก็มีเกียร์ ๑ อยู่ ถ้ารถหนัก เขาก็ออกเกียร์ ๑ รถเบาๆ ก็ออกเกียร์ ๒

นี่ก็เหมือนกัน วันไหนอารมณ์ดีๆ นะ เราก็พุทโธอย่างเดียว หรือลมหายใจไปเลย แต่ถ้าวันไหนมันแย่ โอ้โฮ! วันนี้กระทบรุนแรง ออกเกียร์ ๑ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เอาชัดๆ ถ้าออกเกียร์ ๒ เดี๋ยวมันดับ ออกเกียร์ ๑ ออกเกียร์ ๑ เลย ชัดๆ เลย สูดแรงๆ พุท แล้วคลายออก โธ เอาให้อยู่ เอาให้อยู่ เอาใจไว้ให้อยู่

เพราะการปฏิบัติเขาปฏิบัติเพื่อเอาหัวใจเรา เอาความรู้สึกของเรา ไม่ใช่ปฏิบัติว่าเพื่อจะไปเทียบเคียงกับใคร ใครทำอย่างนั้นดี ทำอย่างนี้ดี เราจะต้องดีเหมือนเขา...ไม่ใช่

เอาหัวใจของเรา เอาหัวใจของเรา

ถ้าวันไหนรถหนักออกเกียร์ ๑ ถ้าวันไหนรถมันเบา ออกเกียร์ ๒ ได้ ลมหายใจอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว ชัดๆ ชัดๆ มันเป็นสเต็ปอย่างนี้ แล้วทำให้ดี ทำของเราไปให้ดี ทำไปให้ดี แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

. เวลาง่วงนอนเป็นอุปสรรคในการภาวนามากค่ะ พอมีวิธีช่วยได้ไหมคะ

เวลามันง่วงนอน พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน เวลาไปเอาจริงเอาจังก็ยังง่วงนอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนนะ ให้ตรึกในธรรม ให้ตรึกในธรรมใช่ไหม ให้แหงนหน้าดูดาว ให้เอาน้ำลูบหน้า แล้วอีกข้อหนึ่ง แล้วข้อสุดท้าย ถ้ามันยังง่วงอยู่ ให้นอนซะ นอนเลย นอนตื่นแล้วค่อยทำใหม่

ทีนี้ถ้ามันง่วงนอน ทีนี้เพียงแต่ว่าถ้าเราไปนอน คนนี่แปลกนะ เวลาจะนอนให้หายง่วงนอน ยิ่งนอนยิ่งง่วง บางคนนอนทั้งวันนะ บางคนขี้เซาจะนอนตลอดเลย แล้วไม่กระฉับกระเฉง แล้วนอนอยู่อย่างนั้นน่ะ

เราจะบอกว่า นอนให้อิ่ม ไม่มีหรอก นอนให้เต็มที่แล้วหายง่วงนอน ไม่มีหรอก ยิ่งนอน เอ็งไปนอนดูสิ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมีคนมาถาม มาปรึกษาเราบ่อย พวกข้าราชการหลวงพ่อ หนูมันชอบนอน นอนแล้วนอนอีกมันก็ไม่เคยอิ่มสักที

มีคนมาปรึกษาแก้เรื่องนอนเยอะนะ เขาบอกว่าเขาก็นอน คิดว่านอนแล้วมันจะหายง่วง หรือนอนต่อไปแล้วมันจะสดชื่น มันก็นอนอย่างนั้นน่ะ นอนไปนอนมา นอนเหมือนคนขี้เกียจ มักมากในการนอน คือจะนอนอยู่อย่างนั้นน่ะ

เราถึงได้เห็นนะว่า ไอ้ที่ว่าง่วงนอนแล้วจะนอนให้อิ่มๆ ไม่มีหรอก ยิ่งนอนไปกลายเป็นคนเกียจคร้าน กลายเป็นคนขี้เซา เป็นคนที่ไม่เอาไหน

แต่เวลาเราง่วงนอน เราจะภาวนา มันก็เป็นอุปสรรค ถ้าเป็นอุปสรรคนะ สู้กับมัน ถ้าคำว่าสู้กับมันเวลาพระกรรมฐานจะสู้กับง่วงนอน เราอดอาหารนี่จบหมดนะ โอ้โฮ! ท้องมันร้องจ๊อกๆ จะไปง่วงนอนตรงไหน เวลามันหิวนี่ โอ๋ย! ท้องมันร้องจ๊อกๆ อยู่ เอ็งจะนอนหรือ นอนไปก็จ๊อกๆ อยู่นั่น แต่หิวไหม หิว มันต้องลงทุนไง

คำว่าหิวแต่เวลาใช้ปัญญาไล่เลย กระเพาะหิว ลำไส้หิว ปากหิว ปอดหิว ผิวหนังหิว มีอะไรหิว

ไม่มีอะไรหิวเลย กระเพาะมันหิวได้อย่างไร ลำไส้มันหิวได้อย่างไร มันไม่มีก็คือไม่มีธรรมชาติของมัน มันหิวเป็นหรือ กระเพาะมันมีชีวิตที่ไหน มันไม่มีความรู้ว่าหิวสักอย่างหนึ่ง พอมันไล่เข้าไป มันปล่อยหมดนะ มันอาย พอปล่อย ฟ้าบ! ว่างหมดเลย ความหิวก็ไม่มี ทุกอย่างหายหมดนะ นี่นักปฏิบัติเป็นอย่างนี้ เขาเคยทำมา ถ้านักปฏิบัติจริงๆ เขาทำของเขามา

แต่ไม่เคยปฏิบัติมันก็ยังบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันไม่กินมันก็ต้องหิวเป็นธรรมดา”...นี่มันเข้าข้างกิเลสไง มันเข้าข้างฝ่ายแพ้ มันไม่เข้าข้างฝ่ายชนะหรอก พอฝ่ายแพ้ มันเข้าข้างเลย อ้าว! คนมันก็ต้องกินข้าว คนไม่กินข้าวมันก็บ้าน่ะสิ”...แน่ะๆ มันออกไปนู่นน่ะ

เขาไม่ได้ถามว่ากินข้าวไม่กินข้าว เขาถามว่าง่วงนอนหรือไม่ง่วงนอน เขาถามว่ามีกิเลสหรือไม่มีกิเลส เขาไม่ได้ถามว่าหิวหรือไม่หิว แต่พวกเราไม่เคยภาวนา มันยังไม่ทำถึงที่สุด มันไม่เชื่อหรอก แล้วค้านในใจ

แต่ถ้าคนทำจบแล้วนะ เออ! จริงว่ะ เออ! จริงๆ เนาะ แต่กว่าจะจริงๆ นี่โอ้โฮ! ทุกข์เกือบตาย เพราะทิฏฐิของคนนะ ถ้ามันลองไม่เชื่อ มันสงสัยนะ มันจะมีเหตุผลอ้างอิงไปตลอด แล้วกว่ามันจะชนะได้นะ กว่าจะชนะทิฏฐิของตัวเองได้ โอ้โฮ! ทุ่มกันเต็มตัวเลยนะ ถึงที่สุดแล้วนะ พระพุทธเจ้าไม่เคยโกหกหรอก พระพุทธเจ้าพูดจริงทั้งนั้น กิเลสเราทั้งนั้นมันโกหก แล้วเชื่อด้วย

ฉะนั้น ที่ว่า ง่วงนอนมันเป็นอุปสรรคมากเลย

ง่วงนอนก็คือง่วงนอน เพราะว่าจริตนิสัยนะ บอกว่าคนที่นอนมากๆ นี่ตามตำรานะ เราไม่ได้ว่า คนที่ชอบนอนเป็นชีวิตจิตใจ เขาบอกว่าชาติที่แล้วเป็นงู เกิดมาจากงู ไอ้พวกนี้ ไอ้พวกมันนอนอยู่ในรูน่ะ มันไม่ไปไหนนะ

มันมีที่มาที่ไป บางคนเขาไม่นอน บางคนไม่ชอบ บางคน มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน ถ้ามันย้อนไป มันมีไง แล้วพอมีขึ้นมาแล้วมันแก้ได้ไหม มันต้องมีที่มาที่ไปสิ นิสัยของคนมันมีที่มาที่ไป เดี๋ยวนี้เห็นคอมพิวเตอร์ไหม หุ่นยนต์ เขาพยายามสร้างหุ่นยนต์ให้มีชีวิต อยู่ที่อะไรล่ะ อยู่ที่โปรแกรม เขาสร้างโปรแกรมอย่างไรมันก็แสดงออกได้แค่นั้นน่ะ

ชีวิตเราก็เหมือนกัน ไอ้ที่นิสัยใจคอมันมาจากอดีตทั้งนั้นน่ะ พันธุกรรมๆ ไอ้ที่สร้างมามันทำมาทั้งนั้นน่ะ แล้วเราเป็นอะไรมา แล้วสิ่งที่เป็นมามันดีหรือไม่ดี ถ้ามันเจอธรรมะแล้ว จะดี เราก็แก้กันที่นี่ไง ถ้าแก้ที่นี่มันก็เป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น การง่วงนอนมันมีวิธีแก้ เพียงแต่ว่าใจถึงหรือเปล่า แล้วอีกอย่างพอจะแก้ ก็หนูยังต้องทำงาน อดอาหารได้อย่างไร ก็ต้องไปทำงานไง ทำงานก็อดได้ ถ้าเดี๋ยวเป็นลม เป็นลม เดี๋ยวก็ส่งโรงพยาบาลเอง ทำงาน เดี๋ยวมันเป็นลมไง

ไม่เป็นหรอก แหม! เราเป็นคนอดเอง ขนาดหิว มันไม่เป็นลม มันวิ่งเข้าหาอาหารก่อนแล้ว เดี๋ยวมันสั่งมากินแล้ว มันไม่ต้องเป็นลมหรอก

เวลาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ ถึงบอกว่าทางคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ เราต้องทำหน้าที่การงานอยู่ เราก็ปฏิบัติของเราเพื่อบรรเทาทุกข์ของเราไป แล้วถ้าถึงเวลาแล้วเราเอาจริงเอาจังขึ้นมา เราก็มีเวลาของเรา พักร้อน หรือเอาจริงเอาจังสักพักหนึ่ง พิสูจน์กันว่าความจริงมันก็มีอยู่ เรายังเข้าไม่ถึง

ไม่ใช่อย่างนี้ จับปลาสองมือ มือหนึ่งก็ยังอู้ฮู! ต้องตื่นเช้าไปทำงาน ต้องอะไร อีกมือหนึ่งก็จะเป็นพระอรหันต์ให้ได้เลย มันจับปลาสองมือก็เลยจับอะไรไม่ติดสักอย่าง เพียงแต่ว่าปฏิบัติธรรมเพื่อบรรเทาทุกข์ให้หัวใจไม่ทุกข์จนเกินไป ให้มีคุณธรรมหล่อเลี้ยงหัวใจ เราไม่ได้หวังมรรคหวังผลขนาดที่ว่าเราต้องหลุดพ้นไป ยังไม่ถึงเวลาใช่ไหม

ถ้าปฏิบัติไปๆ ถ้ามันดีขึ้นมา เดี๋ยวเราหวังผลเหมือนอาจารย์สิงห์ทอง เวลาท่านปฏิบัติพรรษาแรก ท่านพูดเองนะ จะทำอะไรมันจะลงสมาธิอย่างเดียวเลยนะ นะโม ตัสสะ นี่มันลงแล้ว จะทำอะไรเป็นสมาธิหมดเลย อู๋ย! มันสุขมากเลย อย่างนี้จะสึกทำไมล่ะ อธิษฐานเลย บวชตลอดชีวิต...หมดเลย ทำอะไรก็ไม่ได้ ดูกิเลสมันตลบหลังสิ กิเลสร้ายนัก

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไปเถอะ ถ้ามันเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจ เกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ธรรมโอสถขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้โอกาส ได้ประโยชน์จากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ใช่เกิดมาเป็นชาวพุทธแล้วก็ไปทุกข์ร้อนอยู่กับทางโลก เจ็บช้ำน้ำใจอยู่กับทางโลก ไม่มีธรรมโอสถมาหล่อเลี้ยงหัวใจเลย เห็นไหม เราอยู่กับยา แต่เราไม่ใช้ยา เราเกิดมาอยู่กับธรรมะ แต่เราไม่ใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นประโยชน์กับเราเลย ไม่รู้ว่าใครโง่

พระพุทธเจ้าไม่โง่หรอก พระพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ วางธรรมวินัยนี้ไว้ เราน่ะโง่ อวดดี อวดว่าตัวเองมีปัญญา อวดว่าตัวเองฉลาด แล้วก็ทุกข์อยู่ในใจ ไม่รู้จักตัวเอง ฉะนั้น ปฏิบัติไป ให้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมเพื่อประโยชน์กับเรานะ

. ขอคำแนะนำที่ต้องทำต่อไปด้วยค่ะ

ขอคำแนะนำต่อไป ก็ชีวิตน่ะ ชีวิตเรา เราก็ปฏิบัติของเราไป คำแนะนำนะ มันชีวิตนักบวช เรานี่เป็นชีวิตนักบวช ถ้าชีวิตนักบวช สิ่งที่เป็นประโยชน์กับนักบวชคือการวิเวก อยู่ที่สงบสงัด วิเวกคือความจริง ความจริงนะ อยู่กับสัจจะความจริง

แต่ถ้าชีวิตทางคฤหัสถ์ ความจริงของเขา ก็อย่างที่ว่า มีพ่อมีแม่ต้องดูแล อยู่ในวงศ์ตระกูล อันนี้เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราไป เพราะเป็นเครื่องหมายของคนดี

เราอยากเป็นคนดี มันมีเครื่องหมายบอกนะ เครื่องหมายของการทำดี นี่เครื่องหมายของคนดี

คนเลว คนเลวปฏิเสธทุกอย่าง ไม่รับผิดชอบอะไรเลย เอาแต่ได้ของตัวเอง นี่เครื่องหมายของคนเลว

เราอยากเป็นคนดี เรามีเครื่องหมายของคนดี เราทำประโยชน์กับเรา

แนะนำด้วย ทำอย่างไรต่อไปนะ

เราปฏิบัติของเรา ถ้าทำได้นะ ปฏิบัติคืออริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แท้

ทรัพย์ของโลก ดูสิ เวลาเขาลดค่าเงิน ทรัพย์ที่อยู่กับเรามันลดค่าไปโดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย

แต่ถ้าเป็นอริยทรัพย์ ไม่มีใครลดค่าได้ มันเป็นของเรา เราปฏิบัติของเรา เรารู้ของเรา เราเห็นของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นสมบัติส่วนตนของเรา เอวัง