ใจสังเวช
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “รายงานเพิ่มเติม”
กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมขอขยายความเพิ่มเติมจากที่ได้รายงานไป
๑. ตอนที่โยมร้องไห้สะเทือนใจ มันสะเทือนใจมากกว่าครั้งแรกที่เห็นอาการของจิตตอนที่โยมเห็นเหตุมาจากความไม่พอใจ และคำเทศน์ของหลวงพ่อผุดขึ้นมา อารมณ์สะเทือนใจมันพุ่งออกมาเหมือนก๊อกแตก อยากร้องไห้ออกมาดังๆ แบบร้องไห้ให้บ้านแตก แต่ต้องเอามืออุดปากไว้ น้ำมูกน้ำตาไหล อนาถใจกับตัวเอง สลดสังเวชกับตัวเองว่า “เป็นเพียงแค่อารมณ์ ทำไมเราเป็นได้ขนาดนี้” เดินจงกรมไปต้องหยุดร้องไห้แล้วลงไปกองกับพื้นระเบียง สะเทือนใจ ซาบซึ้งใจ ก้มกราบพระพุทธเจ้า ขอบพระทัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ค้นพบความจริงแล้วนำมาบอก ขอบคุณหลวงพ่อที่สั่งสอน เตือนสติ เขียนไปก็ร้องไห้ไปค่ะ
ระหว่างวันที่ได้ส่งข้อความบอกเพื่อนกัลยาณธรรมถึงประสบการณ์ที่พบมา เล่าให้เขารู้ น้ำตาจะไหล ต้องสะกดกั้นไว้ เกรงว่าเพื่อนร่วมงานจะตกใจ
๒. ตอนที่โยมฟังเทศน์หลวงพ่อระหว่างนั่งสมาธิ ตอนนั้นจากหลับๆ ตื่นๆ ตื่นเต็มตา ตัวชาเพราะความกลัวมากๆ แต่พอกลับมาฟังอีกครั้งในวันใหม่ กลับไม่เจอจุดที่สะเทือนใจและกลัว แถมยังไม่แน่ใจว่าฟังธรรมกัณฑ์ไหนระหว่าง ๒ กัณฑ์ที่ทำให้กลัวและสะเทือน
๓. ตอนที่โยมเขียนรายงานส่งหลวงพ่อเสร็จถึงได้หลับไป พอรู้สึกตัวตื่นแว็บ โยมเห็นเด็กผู้หญิงผูกผมจุก ๒ ข้างแสยะยิ้มให้กับโยม เห็นฟันสีเหมือนเหล็กแหลมคมเหมือนฟันปลา พอเห็นแว็บ จิตมันบอกพับ! ขึ้นมา “หลานกิเลส”
ตอนนั้นไม่ได้มีความรู้สึกกลัวเฉยๆ ระหว่างตื่นและทำกิจกรรมต่างๆ สังเกตตัวเองเหมือนเบาๆ ปล่อยอะไรได้ไปหนึ่งเปลาะ กังวลลึกๆ เพลาลงไป แต่ก็ยังไม่หมดไป
ถึงที่ทำงาน เริ่มทำงานได้ชั่วโมงกว่าๆ อยู่ๆ ความกลัวก็ผุดขึ้นมา โยมรู้ว่าจะเจอหลานกิเลสเล่นงานแล้ว แต่คนละตัวที่เจอไปครั้งก่อน ต้องตั้งสติคุยกับคนอื่นและทำงาน ท่องพุทโธสลับกับปลอบและขู่ไป ใช้ปัญญาไล่ทำให้มันสงบตัวลงได้บ้าง พอบ่ายๆ เผลอ มาอีกแล้ว ก็ท่องพุทโธๆ ไปเรื่อย ตั้งสติ แต่ตอนนั้นมันมีแว็บเข้ามา เริ่มรู้สึกสนุก ต้องรีบวางอารมณ์เป็นกลาง เกรงว่าเขาจะรู้ตัว เดี๋ยวจะเล่นงานเราหงายหลัง
ตอนนี้โยมใช้วิธีฟังเพื่อนร่วมงานพูด ก็จะท่องพุทโธในใจ หรือทำงานที่ไม่ต้องจดจ่อก็ท่องพุทโธ แต่ถ้าพิมพ์งาน หรืองานที่ต้องใช้ความคิด จะหยุดท่อง เอาสติจดจ่ออยู่กับงานแทน หากต้องคุยกับใคร พยายามตั้งสติระวังไม่ให้ตัวเองไหลตามอารมณ์ที่มากระทบ และพยายามวางอารมณ์เป็นกลาง รู้ตัวว่าเริ่มไม่สบอารมณ์ก็จะหยุด พยายามไม่จมไปอยู่กับอารมณ์นั้นๆ
ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร งานมีปัญหา หัวหน้าก็มาปรึกษา โยมพยายามปลอบและบอกเขาว่าอย่ายึดติด อยู่ที่บ้านก็เจอกระทบ น้องชวนทะเลาะ โยมต้องควบคุมสติไม่ไปตอบโต้ ยอมๆ เขาไป ทั้งๆ ที่ใจมันไม่ยอม โยมต้องปลอบว่า ทะเลาะไปก็เท่านั้น ถ้าไปตอบโต้ เดี๋ยวก็ยิ่งฟุ้ง แล้วก็ยิ่งยุ่ง ช่างมัน โยมพยายามคิดอยู่เสมอ อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าประมาท โยมทำแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าคะ หลวงพ่อเห็นว่าควรปรับปรุงอย่างใด
ตอบ : คำถามยาวเหยียดเลย เอาเริ่มต้นก่อน เริ่มต้นว่า “ตอนที่โยมสะเทือนใจร้องไห้ มันสะเทือนใจมากกว่าครั้งแรก เห็นอาการของจิต ตอนนี้โยมเริ่มเห็นว่ามาจากความไม่พอใจ เพราะฟังคำเทศน์หลวงพ่อผุดขึ้น อารมณ์สะเทือนใจมันพุ่งออกมาเหมือนอกแตก เหมือนก๊อกแตก อยากร้องไห้ มันสะเทือนใจมากกว่า”
เขาว่าอย่างนั้นนะ ความสะเทือนใจ เขาว่าเขาสะเทือนใจตอนที่ว่าพิจารณาไปๆ แล้วจิตเห็นอาการของจิต คือจิตจับได้ จิตจับเหตุจับผลได้ที่เราจะพิจารณาได้ มันสะเทือนใจมาก แล้วคราวนี้มันสะเทือนใจมากกว่าอีก สะเทือนใจมากกว่า แล้วทำให้ตกอกตกใจไปหมดเลย
จับสิ่งใดได้แล้วเราพิจารณาของเราไป การพิจารณาของเรานะ การรู้การเห็นต่างๆ ความที่ถ้ามันสะเทือนใจแล้ว จับสิ่งใดแล้วมันพิจารณาของมัน มันเป็นจริตนิสัยของคน
จริตนิสัยของคน เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดถึงอาจารย์สิงห์ทอง อาจารย์สิงห์ทองเวลาท่านทำของท่านไป เห็นไหม มันเงียบมันหายไปโดยที่ว่าไม่บอกขณะ ไม่บอกอะไรเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่มันบอกว่ามันสะเทือนใจ คราวนั้นมันสะเทือนใจ คราวนี้มันสะเทือนใจ นี่มันจริตของคน มันจริตของคนนะ เวลามันสังเวช ถ้ามันสังเวช มันสะเทือนใจ สิ่งที่สะเทือนใจมันก็เป็นประโยชน์กับเราแล้ว แล้วสะเทือนใจแล้วถ้าจับสิ่งนั้นน่ะ มันเป็นอาการที่ผ่านไปแล้ว
แล้วถ้าพูดถึงมันสะเทือนใจอีก ว่ามันสะเทือนใจ
สะเทือนใจ เวลามันพิจารณาไป มันจับสิ่งนั้นได้ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจับได้แล้วพิจารณาของเราไป ถ้าพิจารณาไปนะ สิ่งที่เราพิจารณา เราพิจารณาเพื่อให้เรารู้เท่า พิจารณาเพื่อให้เราปล่อยวาง พิจารณาเพื่อไม่ให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมาอีก
สิ่งที่ว่ากลัวๆๆ สิ่งที่กลัว ความกลัว ความต่างๆ มันฝังใจ ถ้าความฝังใจปั๊บ สิ่งนี้มันเป็นปมในใจ ถ้าปมในใจ เห็นไหม เหมือนกับรสของอาหาร รสของอาหาร บางรสอาหาร ดูต้มยำ ถ้ามันขาดพริก ขาดตะไคร้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง รสชาติมันก็ฟั่นเฝือ รสชาติมันไม่นั่นหรอก
แต่ถ้ามันเข้มข้น รสชาติมันจะเข้มข้น ความเข้มข้น เห็นไหม ถ้ารสของอาหาร รสมันเข้มข้น รสมันเจือจาง รสต่างๆ มันอยู่ที่ส่วนผสม อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้าอยู่ที่การกระทำของเรา เราทำสิ่งใดให้มันสำเร็จเป็นอาหารมา ถ้าสำเร็จเป็นอาหารมา ถ้ามรรคมันสมบูรณ์ อาหารนั้นกลมกล่อม อาหารนั้นรสมันสมบูรณ์ แต่ถ้ามันขาดสิ่งใดไป มันจืดมันชืด มันต่างๆ ไอ้รสนี่มันแตกต่างกัน
ฉะนั้น เวลาถ้าพอมันสะเทือนใจๆ สิ่งที่มันรู้มันเห็น ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นมัน เพราะมันเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งใดที่เป็นอดีตไปแล้ว เราปล่อย เพราะว่าการปฏิบัติมันต้องเป็นปัจจุบันนี้ใช่ไหม
ถ้าเราเป็นปัจจุบัน สิ่งที่ว่ามันจะน้ำหูน้ำตาไหล ไอ้นี่มันเป็นนิสัยของคน เขาเรียกว่าคนอ่อนไหว คนอ่อนไหวเป็นอย่างนี้ตลอดไป ถ้าคนเขาไม่อ่อนไหวนะ อารมณ์มันกระทบขนาดไหนเขาก็เข้มแข็งของเขา เขาก็ไม่อ่อนไหวจนน้ำหูน้ำตาไหลของเขา
ถ้าคนที่เข้มแข็งไปเจอคนอ่อนไหวนะ พอมีอะไรกระทบก็น้ำตาไหล เขาบอก “เออ! สงสัยไอ้นี่มันไม่มีสติมั้ง” เขาคิดของเขาไป เห็นไหม คนเรากำลังใจของคนมันแตกต่างกัน
แต่ของเราสะเทือนใจ เราก็สะเทือนใจของเรา ถ้าเราสะเทือนใจแล้วให้มันผ่านไป คืออย่าไปติด อย่าไปยึดติด อย่างนี้ตายเลย คำว่า “ตายเลย” หมายความว่า เวลาเรามีฐานะ ทุกคนเวลาทำงานก็อยากมีบ้านมีรถเป็นของตัวเองใช่ไหม แล้วพอมีฐานะ เขาเริ่มมีบ้านหลังที่ ๒ แล้วพอมีบ้านหลังที่ ๒ จะมีคอนโดอีกนะ แล้วคนคนเดียวอยู่ตั้ง ๓ บ้าน ๔ บ้าน แล้วพะรุงพะรังไปหมด
เขามีไว้ลงทุน เขามีสมบัติไว้ แต่จิตใจมันไม่ไปแบกรับให้หนักหน่วงหัวใจไง เขามีบ้าน ๑๐ หลังเขายังวางได้เลย เขามีบ้าน ๑๐ หลัง ๒๐ หลัง พออยู่บ้านนี้ก็ชำระล้างบ้านนี้ อยู่บ้านนี้ ออกจากบ้านนี้ไปอยู่บ้านนั้นก็มานอนบ้านนี้ พอนอนบ้านนี้ พอออกจากบ้านนี้ไปนอนบ้านนั้นก็ไปนอนบ้านนั้น
ไอ้นี่จะนอนทีหนึ่ง ๑๐ หลังเลยนะ จะแบ่งตัวเองไปนอน ไปแบกรับภาระ ก็ตายน่ะสิ
วาง มีบ้าน ๑๐ หลัง มีบ้าน ๒ หลัง หรือไม่มีบ้านเลย เช่าเขาอยู่ก็อยู่ได้ นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ที่มันผ่านมาแล้ว มันสะเทือนใจแล้ว วางซะ มันผ่านมานี่มันเป็นคติธรรม คติธรรมตอนเราคิดไง เวลาเราออกมาเราก็คิดได้ใช่ไหมว่าเราเคยผ่านสิ่งใดมาได้ เราทบทวนได้นะ ถ้าเราไม่ทบทวนได้ มรรค ๔ ผล ๔ มันจะจบลงตรงไหนล่ะ
มรรค ๔ ผล ๔ นะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันทบทวนได้ แล้วถ้ามันทบทวนได้แล้ว ทบทวนแล้ว เวลาไปรื้อพระไตรปิฎกมันเข้าใจ มันเพียะๆๆ เลย
แต่ถ้ามันทบทวนแล้วนะ “เอ๊! ของเรามันดีกว่า ของเราสุดยอดกว่า” อันนั้นแสดงว่ากิเลส
สังเกตได้ เราไปซื้อของสิ ของเทียมสวยกว่าของแท้อีก ของแท้ดูมันธรรมดาๆ ถ้าของเทียมนี่แวววาวน่าดูเลย ถ้าเราบอกว่าเราเก่งกว่า แสดงว่าของเทียมๆ “โอ้! ปัญญาเราเยอะกว่า ปัญญาเรากว้างขวางกว่า พระพุทธเจ้าสู้เราไม่ได้เลย อ่านพระไตรปิฎกแล้ว โอ้โฮ! ปัญญาเราสุดยอดกว่า ดีกว่า”...นั่นแหละของเทียม แวววาวเชียว
แต่ของแท้มันเรียบๆ แต่มันมีคุณภาพนะ ของแท้นี่ของจริง ของแท้ ถ้าเราพิจารณาแล้วเราไปเทียบ เราไปเทียบกับพระไตรปิฎก เราจะเก็บไว้เพื่อเทียบเคียง เพื่อว่าเราเคยรู้เคยเห็นสิ่งใดมา ถ้าเคยรู้เห็นสิ่งใดมา สิ่งนั้นถ้าธรรมะกับธรรมะมันเข้ากัน
ไอ้นี่สะเทือนใจแล้วก็สะเทือนใจ สะเทือนใจก็จะเอาสะเทือนใจ มาใส่สะเทือนใจ สะเทือนใจก็เกิดน้ำตา มันก็ร้องไห้อยู่นั่นน่ะ มันก็ร้องไห้อยู่นั่นน่ะ ได้ตุ๊กตาทอง ดาราเจ้าน้ำตาไง ได้ออสการ์เลยล่ะ ได้ ๒ ตัว ๓ ตัว
เราไม่ได้ปฏิบัติเอาออสการ์ เราปฏิบัติเอาความสุข เราปฏิบัติเอาความจริง ปล่อย ปล่อยเลย วางไว้เลย
เห็นไหม เวลาใจมันสังเวช ใจมันสังเวช มันสังเวชใจนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เขาเรียกธรรมสังเวช เวลาหลวงตา น้ำตาท่านไหลพรากไหลพรูเลย ถ้ามันสังเวช เขาเรียกขันธ์ทำงาน จิตใจนี้มันอยู่ในธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เวลามันสะเทือนใจ หัวใจมันสะเทือนใจ
สะเทือนใจ เหมือนเรา เวลาเราสะเทือนใจ ขนลุกเลย ไอ้ขนลุกมันสะเทือนใจได้อย่างไร สะเทือนใจก็คือสะเทือนใจ สะเทือนใจทำไมขนมันลุกล่ะ เพราะมันสะเทือนใจใช่ไหม ใจมันสะเทือนใจ แต่ธาตุขันธ์ เพราะว่าใจมันอยู่ในธาตุขันธ์นี้ มันแสดงปฏิกิริยานี่ขนลุกเลย ขันธ์มันทำงาน
หลวงตาเวลาน้ำตาไหลนี่ขันธ์มันทำงาน ขันธ์มันทำงานแล้ว มันทำงานเพราะอะไร เพราะมันสะเทือนหัวใจ มันไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ยาก มันสะเทือนหัวใจ อันนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าธรรมสังเวช มันเกิดความสังเวช มันเกิดความสะเทือนใจ
ถ้ามันเกิดธรรมสังเวช มันเกิดสะเทือนใจนะ เราสะอึกสะอื้นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่บอกว่ามันสะเทือนใจ มันสะอึกสะอื้น
เราไปเอาความสะอึกสะอื้นเป็นเป้าหมาย เป็นตัวตั้ง แล้วใจเราไปอยู่ไหนล่ะ แล้วธรรมะมันอยู่ไหนล่ะ
ธรรมสังเวชไง เราวางไว้ แล้วเราทำของเราไป
นี่พูดถึงว่ามันสะเทือนใจนะ มันสะเทือนใจมาก จะบอกว่ามันสะเทือนใจมาก แล้วก็ว่าเอาสะเทือนใจนั้น มันจะร้องห่มร้องไห้ แล้วเราพยายามอดกลั้นไว้ เราอดกลั้นไว้
เราร้องไห้ก็ได้ เวลาเราอยู่คนเดียวไม่มีใครเห็น ร้องเลย แต่ร้องเบาๆ อย่าให้เสียงออกนอกบ้าน ร้องของเรานะ ให้มันเต็มที่เลย ให้มันสะใจเลย แล้วก็จบ
ไอ้นี่มันไปหยุดของมันนะ ร้องก็ร้อง ร้องไห้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้นะ คนเราเกิดมามีทุกข์มียาก น้ำตาไหลร้องไห้แต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าเอามารวมกันทุกภพทุกชาติ น้ำทะเลสู้ไม่ได้ น้ำทะเลนี่
เราจะบอกว่า เราไม่ใช่ร้องไห้ชาตินี้หรอก เราร้องไห้มาทุกภพทุกชาติ แล้วชาตินี้ก็จะร้องไห้ต่อไป ร้องไห้มันไม่ใช่คุณธรรมไง ร้องไห้ไม่ใช่เป้าหมาย
เป้าหมายคือศีล สมาธิ ปัญญา เป้าหมายคือมรรคญาณ เป้าหมายคือสัจธรรม เป้าหมายคือปัญญาของเรา
แต่เวลามันสะเทือนใจแล้วมันก็ร้องไห้ มันสะเทือนใจเพราะเราใช้ปัญญาใคร่ครวญคลี่คลายออกแล้วมันสะเทือนใจ แล้วน้ำตามันก็พรั่งพรูออกมา น้ำตาพรั่งพรูออกมามันเป็นผลตอบรับภายหลัง มันผลเกิดจากการกระทบกระเทือนหัวใจ ถ้ามันกระทบกระเทือนหัวใจ เราเอาตรงนี้ เอาเป้าหมายตรงนี้ แล้วมาอยู่ที่นี่
ถ้ามันจะร้องไห้ มันจะรำพึงรำพัน ถ้าผลมันออกมาแล้วเป็นคติธรรม หรือเป็นสิ่งที่มันให้ความสะใจ มันก็ไม่เสียหาย แต่มันจะเกิดจากหัวใจ เกิดจากผลกระทบอันนี้ๆ
นี่พูดถึงถ้ามันสะเทือนใจ พูดถึงร้องไห้ นี่ข้อที่ ๑ สิ่งนี้วางไว้ น้ำตามันจะไหล มันจะพรั่งพรูขนาดไหน นี่ธรรมสังเวช จบ
“๒. ตอนที่โยมฟังเทศน์หลวงพ่อระหว่างนั่งสมาธิ ตอนนั้นหลับๆ ตื่นๆ ตื่นเต็มตา ตัวชาเพราะความกลัวมากๆ แต่พอกลับมาฟังครั้งใหม่กลับไม่เจอจุดนั้น”
เหมือนกับร้องไห้ เวลาจิตมันสะเทือนใจมันร้องไห้ มันร้องไห้ก็จบไปแล้ว ไอ้นี่เวลาฟังเทศน์ ฟังเทศน์ จิตใจมันไม่มีสติควบคุมตัวเองได้ อาศัยฟังเทศน์นั้นเป็นที่เกาะ แล้วจิตใจมันมีกิเลสอยู่ คือมันมีสิ่งใดที่ฝังใจอยู่ มีปม แล้วพอไปฟังเทศน์มันสะเทือน มันถึงกลัว มันสะเทือน
เวลาครูบาอาจารย์ท่านฟังเทศน์นะ ฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์ ถ้าจิตใจมันดี จิตใจนุ่มนวลนะ เวลาฟังมานี่ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมาก ขนลุกหมดเลย ฟังแล้วตัวนี่โป่ง ตัวนี่พองหมดเลยนะ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมาก มาฟังใหม่ ไม่เจอ มาฟังใหม่ เอ๊ะ! ตรงนี้มันอยู่ไหน หาไม่เจอ
ขณะที่มันเจอ มันเจอเพราะอะไร เจอเพราะใจ ใจเรามันมีสิ่งใดที่มันฝังใจอยู่ แล้วมีสิ่งใดที่มันเปิดรับอยู่ มันสะเทือนใจพอดี
แล้วฟังเทศน์นะ เวลาฟังเทศน์ มาเปิดเทปนี่ฟังเทศน์ โอ๋ย! ฟังเทศน์ ฟังไป อู้ฮู! ตรงนี้ดีมากเลย ม้วนนี้ก็ฟังแล้ว คราวหน้าฟังใหม่นะ มาเปิดอีก อู้ฮู! อันนี้ดีกว่าอีก ทำไมครั้งที่แล้วเราไม่ได้ยิน
จิตใจของคนเหมือนยา ให้ยาชิ้นนี้มันถูกโรค ถ้าครั้งต่อไปมันดื้อยา เขาให้ยาชนิดใหม่ ชนิดใหม่มันก็ถูกโรคอีก นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังเทศน์ ถ้ามันพอดี เพราะจิตใจมันไม่มีที่พึ่ง สิ่งนี้มามันดูดมันซึม อู้ฮู! ฝังใจมาก แล้วฟังใหม่จะเอาอารมณ์อย่างนั้นนะ ไม่ได้หรอก ไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าฟังเทศน์ ถ้ามันกลัว สิ่งที่กลัว เรากลัวอยู่แล้ว แต่ไม่มีที่พึ่ง มันก็เปิดเทปฟัง เปิดเทปฟังก็ฟังอย่างนั้น ฟังเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเกาะอย่างนี้ใช้ได้
เวลาเราพุทโธๆ อยู่คนเดียวต้องพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ปล่อยมันเร่ร่อน ถ้าปล่อยเร่ร่อนจะตกภวังค์หมด มันจะหายไปเลย เราพุทโธๆๆ ไว้ จะเกาะพุทโธไว้เลย ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันมีสติพร้อมไปตลอด เห็นไหม นี่เราเกาะพุทโธไว้
ฟังเทศน์ ฟังเทศน์ก็ความรู้สึก เสียงมันมากระทบ เห็นไหม เหมือนพุทโธ เวลาฟังเทศน์นี่วางหมดเลย ไม่ต้องพุทโธ ไม่ต้องพุทโธ ตั้งสติไว้เฉยๆ เสียงมากระทบเอง เสียงมากระทบเอง
เพราะถ้ามันจับอะไรมา ระหว่างพุทโธกับลมหายใจเข้าออก เกียร์ ๑ เวลารถมันออกไม่ได้ มันก็ต้องออกเกียร์ ๑ ถ้าเครื่องมันดีออกเกียร์ ๒ เกียร์ ๒ คือว่าเอาพุทโธก็ได้ เอาอารมณ์ก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เวลาออกเกียร์ ๑ เราต้องกำหนดพุทโธพร้อมลมหายใจ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังเทศน์ๆ เวลาพุทโธๆๆ มันก็ระลึกพุทโธแล้ว ระลึกพุทโธด้วย แล้วฟังเทศน์ด้วย ตั้งสติด้วย โอ้โฮ! จับปลาทีหนึ่ง ๔ มือ ๕ มือ ไม่ได้อะไรเลย
ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ เราพุทโธของเราไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราไป
แต่ถ้าเราฟังเทศน์ วางหมดเลย อยู่กับเทศน์ ฟังเทศน์เสียงนั้นกระทบเอง พอเสียงนั้นกระทบเอง เสียงนั้น ก็เกาะเสียงนั้นไป ถ้าเกาะเสียงนั้นไป นี่เกาะเสียงนั้นไป ถ้าจิตมันเริ่มวาง โอ้โฮ! คำเทศน์มาเพียะๆๆ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจหมดแหละ
แต่ถ้าใจมันไม่ดีนะ ใจมันเหมือนกับน้ำล้นถ้วย ชาล้นถ้วย น้ำล้นแก้ว มันคิดอยู่เต็มหัวใจเลย คิดเรื่องนู้น คิดเรื่องนี้นะ เทศน์มาเถอะ มันล้นไปหมด ไม่ได้รับรู้อะไร มันล้นไป
แต่ถ้าน้ำในแก้วไม่มี เวลาเขาเทน้ำมา โอ้โฮ! มันมีน้ำสดชื่นแจ่มใส นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตใจถ้ามันปล่อยวาง เวลาสิ่งใดมามันก็สดชื่น มันก็ดูดดื่ม
แต่ถ้าเวลามันเครียด ความเครียดมันเต็มแก้วแล้ว ล้นแก้ว เวลาความทุกข์ความยากเรามันล้นแก้ว ล้นหัวใจไง อะไรมาก็ผ่านเฉยๆ ฟังก็สักแต่ว่าฟัง เสียงมันก็ผ่านไปเรื่อยๆ แต่ถ้าน้ำพร่องจากแก้วนะ พอเติมน้ำไป โอ้โฮ! โอ้โฮ! นี่พูดถึงฟังเทศน์ไง มันเป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึกของเรา
ฉะนั้นบอกว่า เวลาฟังเทศน์แล้วจะกลับไปฟังใหม่มันไม่ได้อย่างนั้น
มันไม่ได้อารมณ์อย่างนั้นอยู่แล้ว
ฉะนั้น ถ้าฟังเทศน์ ถ้ามันกลัว คำว่า “กลัว” ความกลัวมันเกิดดับ ถ้ากลัวนัก เราใช้สติปัญญาใคร่ครวญ ความกลัว มันกลัวอะไรล่ะ ส่วนใหญ่ความกลัวแท้ๆ คือกลัวตัวเอง
เวลาตัวเองกลัวแล้ว กลัวความมืด กลัวผี กลัวสาง ถ้ามันเข้าใจเข้ามานะ มันปล่อยวางเข้ามา มันก็เสียวยอกอยู่ในใจ ความกลัวมันคาอยู่หัวใจ ความกลัวเพราะอะไรล่ะ เพราะมันไม่รู้จักตัวมันเอง เพราะอวิชชา ความไม่รู้จักตัวเอง
แต่ถ้ามันเข้าไปสู่สัจจะความจริง มันรู้จักตัวเองหมดนะ เรารู้จักเรา เข้าใจเราหมดเลย แล้วใครจะมาหลอกล่ะ
ใครจะบอกว่าเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ ใครจะมาใส่ความว่าเราเป็นอะไรก็แล้วแต่ เรื่องเขาใส่ความ เราเป็นอะไรเรารู้ เรามั่นใจของเราว่าเราเป็นอย่างนี้ เขาจะมาใส่ความอย่างไร เขาจะมาชักนำอย่างไรไม่ไป
นี่ความกลัว กลัวตัวเอง แต่เพราะพอกลัวตัวเองด้วย เขามาใส่ความด้วย ไปเลย “เออ! ทำอย่างนั้นจริงหรือ เราผิดอย่างนั้นจริงหรือ”...ไปเลย เห็นไหม
แต่ถ้าเราไม่กลัวตัวเอง เราเข้าใจตัวเราเอง ใครจะมาใส่ความอย่างไร ไม่สน ไม่สนโลกธรรม ๘ ติฉินนินทา แล้วเราจะไม่ทุกข์ยากอย่างนี้ ไม่ต้องระแวงในหัวใจอย่างนี้ ไม่ต้องระแวง ไม่ต้องตกใจอะไรทั้งสิ้น
มันไม่มีอะไรหรอก เห็นไหม ถ้ามันจะมีภูตผีปีศาจข้างนอก ไอ้ผีตัวแรกคือใจของเรา ภูตผีปีศาจคือจิตวิญญาณ เราก็มีจิตหนึ่ง จิตนี้เจ้าเรือน ในเมื่อผีเรือนมันมั่นคง ผีป่ามันจะเข้ามาได้อย่างไร
ไอ้ผีป่ามันไม่มีที่อาศัย มันก็จะหาที่อาศัย บ้านหลังไหนผีเรือนมันอ่อนแอ กูจะเข้าอาศัยในบ้านนั้น แล้วถ้าผีเรือนมันเข้มแข็ง ผีป่าที่ไหนมันจะเข้ามา
ไอ้ผีตัวนี้ ไอ้ผีนี่ เราก็ตั้งพุทโธๆ ให้ผีตัวนี้ ให้พุทโธเราเข้มแข็ง ไปกลัวใคร แหม! กลัวผี กูก็ผีเหมือนกัน อ้าว! มึงผีนอก มึงผีป่า กูผีเรือน มา เออ! ถ้าผีเรือนมันเข้มแข็ง ผีป่ามันเข้ามาได้อย่างไร ก็ผีเรือนกูคุมอยู่นี่
ไอ้ผีเรือนไม่สนใจตัวเอง แต่ไปกลัวผีป่า ไปกลัวแต่อารมณ์ภายนอก กลัวทุกอย่างไปหมดเลย แล้วไอ้ผีเรือนก็ปล่อยให้มันอ่อนแอ
ไอ้ผีเรือนทำให้มันเข้มแข็งขึ้นมา พุทโธๆ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้มันผ่องใส ผีเรือนมันเข้มแข็ง ผีเรือนมันเป็นเจ้าเรือน ผีป่าไหนมันจะเข้ามา มันกลัวตายเลย มันไม่กล้าเข้ามาหรอก
มันมีมาก็มาขอส่วนบุญหน่อยหนึ่ง ทุกข์ยาก เออ! ถ้าอย่างนั้นอุทิศให้เขาไปก็จบ เพราะเรา สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เราก็ไม่ไปเหยียบย่ำเขาหรอก จิตหนึ่งเขาก็มีคุณค่าเหมือนกัน จิตเราก็มีคุณค่าของเราเหมือนกัน ทำไมเราต้องไปกลัวคนนู้นกลัวคนนี้ กลัวไปหมดเลยล่ะ ไปกลัวทำไมล่ะ ไปกลัวเพราะพวกเราบกพร่องน่ะสิ
เห็นไหม เราทำผิด ตำรวจมานี่เสียววูบเลย เราไม่ได้ทำอะไรผิด ตำรวจมา อ้าว! ตำรวจมาธุระอะไร แต่ถ้าทำผิดนะ โอ้โฮ! ตำรวจมานี่วูบวาบเลย
นี่ไง ผีเรือน ผีเรือนมันไม่ผิด ตำรวจมา อ้าว! ขอเชิญ ขอเชิญ ท่านมีธุระอะไร มาทำไม นี่ถ้าผีเรือนมันเข้มแข็งไง มันจะไปกลัวอะไรล่ะ
นี่พูดถึงว่าความกลัว เขากลัวมาก เขากลัวแล้วก็จะหาที่พึ่งๆ แล้วก็จะหาที่พึ่ง เวลาฟังเทศน์หลวงพ่อไป ด้วยความกลัว หาที่พึ่ง ฟังเทศน์ไปแล้วมันดี
ดีก็ดี ดีแล้วมันเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ฉะนั้น ดีเพราะอารมณ์เราดี เขาแปลกใจไง เพราะว่าถ้าดีแล้วก็จะฟังเทศน์ตรงนี้ แล้วจะเอาคำพูดคำนี้เอามาแก้ไขเราได้ตลอดไป มันแก้ได้ตอนนั้น พอจิตใจเรา พอผีเรือนมันเข้มแข็ง แต่ผีป่ามันเยอะ ผีเรือนสู้ไม่ไหว ผีเรือนมันเหนื่อย ไอ้ผีป่ามันก็เข้ามาหลอกแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ฟังเทศน์คราวนี้ดีนะ ผีเรือนเข้มแข็งเลย คราวหน้าผีป่ามันเริ่มเจาะยางแล้ว เพื่อจะให้อ่อนแอ ก็จะมาฟังเทศน์หลวงพ่ออีก หาไม่เจอ
นี่ไง เพราะอาศัยพึ่งภายนอก แต่ก็พึ่งได้ ครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งแน่นอน แต่ที่พึ่งแล้วเราต้องเติบโตขึ้นมา ต้องเติบโตขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๒
“๓. ตอนที่โยมเขียนรายงานหลวงพ่อแล้วหลับไป รู้สึกตัวขึ้นมาแว็บหนึ่ง โยมเห็นเด็กผู้หญิงผูกจุก ๒ คนแสยะยิ้มฟันเป็นเหล็กเลย แหลมคมมาก พอเห็นแว็บ โยมมั่นใจขึ้นมาว่าเป็นหลานของกิเลส”
เฮ้ย! หลานกิเลสเป็นนามธรรมนะมึง หลานกิเลสไม่ใช่กุมารทองนะเว้ย
ปู่กิเลส พ่อกิเลส ตัวกิเลส ลูกกิเลส หลานกิเลส นี้เรียกว่าครอบครัวกิเลส หลวงตาท่านก็ใช้ คำว่า “ใช้” เพราะว่ากิเลส ปู่ของมันเป็นเจ้าวัฏจักร ลูกของเขา ตัวกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นแม่ทัพ แล้วลูกกิเลส ความอุปาทาน ความหลงผิด แล้วถ้าหลานกิเลส หลานของมัน ลูกก็ต้องมีหลาน หลานมันก็คือสักกายทิฏฐิความเห็นผิด อันนี้เป็นอุปมาอุปไมย เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นบุคลาธิษฐานขึ้นมาให้เห็นว่ากิเลสมันไม่มีตัวตน แต่เราก็อุปมาอุปไมยเหมือนครอบครัวของกิเลส
ถ้าครอบครัวของกิเลส มันอาศัยภวาสวะ อาศัยภพ อาศัยหัวใจของสัตว์โลกเป็นที่อยู่อาศัย มันมีครอบครัวมันอาศัยบนหัวใจของสัตว์โลก ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ บุคลาธิษฐาน เทศน์ธรรมะเพื่อให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้จับต้องได้
ทีนี้การจับต้องได้ ตัวหลานกิเลสมันก็เป็นนามธรรม มันเป็นทิฏฐิความเห็นผิด มันไม่ใช่ว่ามันเป็นผมจุก มันมีฟันเป็นเหล็ก
ถ้าอย่างนี้ ไอ้ความเห็นนิมิตก็คือว่านิมิต ถ้าฝันไป ถ้าเราฝัน เราเห็นอย่างนั้น มันก็เป็นนิมิตที่รู้ที่เห็น
แต่ถ้าเป็นหลานกิเลส เราจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ใครจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ นั่นน่ะคือที่อยู่ของหลานกิเลส
เพราะกิเลสเป็นนามธรรม กิเลสเหมือนน้ำ น้ำปล่อยไว้มันก็ระเหยไป ระเหิดหมด น้ำถ้าตั้งไว้กลางแดดมันระเหิดหมดเลย ถ้าน้ำมีจำนวนมากมันก็ท่วมคนตายหมด
นี่พูดถึงว่า มันเหมือนกับคำว่า “น้ำ” เห็นไหม น้ำยังใช้ประโยชน์สิ่งใดได้ น้ำทำโทษอะไรได้ เวลากิเลส น้ำไปผสมกับสิ่งใด กิเลสเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ทิฏฐิ ทิฏฐิคนไปยึดมันก็เกิดทิฏฐิขึ้นมา
ถ้าคนไม่ยึด ปล่อยวาง มันจะมีทิฏฐิไหม
มี ไม่ใช่ว่าปล่อยวางแล้วไม่มีทิฏฐิหรอก มี
ถ้ายึดทิฏฐิมันก็เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ถ้าไม่ยึดทิฏฐิ ไม่ยึดเลย ปล่อยเลย เราก็มีของเราอยู่ เพราะเรามีกิเลสอยู่ นี่ยึดก็มี ไม่ยึดก็มี
แต่เวลาเราพิจารณาแล้ว จิตสงบแล้วถ้าไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะกิเลสนี้เหมือนน้ำ น้ำไปใช้อะไรล่ะ ไฟฟ้า ไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรล่ะ เครื่องใช้ไฟฟ้าอะไร เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างโทรศัพท์ทุกอย่าง เพราะมันมีไฟ มันมีถ่าน มันถึงทำงาน ถ่านหมดมันก็ทำอะไรไม่ได้
กิเลสก็เหมือนกัน มันอาศัยกาย อาศัยเวทนา อาศัยจิต อาศัยธรรมเพื่อออกมาหาผลประโยชน์ของมัน ถ้าเราจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ขึ้นมา นี่เราเห็นหลานของมัน เพราะมันมาจากไฟฟ้านั้น ถ้ามันพิจารณาต่อเนื่องไป มันก็กลับเข้าไปสู่ตัวกิเลส ถ้าตัวกิเลสมันเป็นแบบนั้น
ฉะนั้น เวลาจะพูดเพื่อให้เป็นนามธรรม เพื่อเป็นบุคลาธิษฐาน เพื่อให้ธรรมะเป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งที่ผู้ที่สื่อกับผู้ที่รับฟังมันเป็นประเด็นเดียวกัน คือเข้าใจร่วมกันถูกต้อง ความเข้าใจร่วมกันถูกต้อง ถึงบอกว่าหลานกิเลส
มันพูดมาเพื่อความเข้าใจ เพื่อความถูกต้อง เพื่อความเห็นอันเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าหลานกิเลสมันเป็นแบบนี้ หลานกิเลสคือสักกายทิฏฐิ นี่หลานกิเลส ถ้าลูกกิเลส พ่อกิเลส ปู่กิเลส อวิชชา มันหยาบ โอ้โฮ! มันใหญ่โต
แต่ถ้าเป็นนิมิต เป็นนิมิตนะ นี่พูดจะบอกว่า “โยมเห็นเด็กผู้หญิงผมจุก ๒ คนมันแสยะยิ้ม”
อันนั้นเป็นนิมิตที่เรานอนไป เราตื่นขึ้นมา ถ้ามันจะรู้จะเห็นสิ่งใด อันนั้นเป็นเห็นอันหนึ่ง ถ้าบอกว่ามันเป็นกิเลสก็ได้
แต่ถ้าบอกว่าไอ้หลาน ๒ คนนั้นมันเป็นหลานกิเลสเลย เดี๋ยวต้องไปหาพ่อกิเลส ลูกกิเลส แล้วถ้าไม่เจอตัวมันล่ะ เพราะมันเป็นนามธรรมไง นี่เป็นนามธรรม ทีนี้เราพูดกันให้เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นบุคลาธิษฐานให้สื่อความหมายเราเข้าใจกัน
ฉะนั้น ถ้าเห็นหลานกิเลส หลานกิเลสที่เห็นนี่นะ เวลาครั้งแรก เวลาอาการที่เห็นจิต โยมมีความเห็นจิตขึ้นมาแล้ว เวลามันสะเทือนใจที่มันพุ่งขึ้นมา นั่นน่ะหลานกิเลส ถ้าหลานกิเลส มันสะเทือนใจ เพราะเราจับสติปัฏฐาน ๔
เห็นไหม ปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันสงบระงับแล้วมันไปจับกาย ใจเห็นอาการของใจ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตถ้ามันจับอาการของมันได้ จับความคิดได้ จับกายได้ จับจิตได้ จับธรรมได้ นั่นน่ะสติปัฏฐาน ๔ นั่นล่ะมันจะเห็นหลานของมัน จะเห็นร่องรอยของกิเลส แล้วถ้าจับได้ พิจารณาได้ มันจะเป็นความจริงของมัน อันนี้ต่างหากที่ว่าเป็นหลานกิเลส
หลานกิเลส ลูกกิเลส พ่อกิเลส ปู่กิเลส มันเป็นบุคลาธิษฐาน
แต่บอกว่ามันไม่มีตัวตนหรือ
ไม่มีตัวตน เรามีกิเลสไหม เออ! เรามีกิเลสหรือเปล่า แล้วเรามีกิเลสแล้วเราจะเป็นอย่างไรล่ะ
เห็นไหม นี่ธรรมะ ธรรมะมันกว้างขวาง ธรรมะนี้มันกระจายไปทั่ว ฉะนั้น สิ่งที่เห็นเป็นเด็กผู้หญิงผมจุก ๒ คนนั้นเอาวางไว้ นั้นเป็นที่เรารู้เราเห็นเป็นนิมิต ถ้าจะจับตัวมันน่ะ ต่อไปภาวนาต้องไปเอาไอ้เด็ก ๒ คนนี้มาถึงจะวิปัสสนาได้ ถ้าไม่เห็นเด็ก ๒ คนนี้ ยุ่งเลย แล้วกิเลสมันเกิดตลอดเวลา กิเลสมันอยู่กับเราตลอดเวลา แล้วไอ้ผมจุก ๒ คนนั้นมันอยู่ไหนล่ะ ไอ้ผมจุก ๒ คนนั้นน่ะ
ไอ้ผมจุก ๒ คนนั้น ถ้าใครรู้ใครเห็นนั้น วางไว้ นั่นเป็นนิมิต นิมิตส่วนนิมิตนะ อย่างเช่นเวลาเราภาวนา เวลาปัญญามันเกิด ปัญญาเราเกิดนะ มันแยกมันแยะของมันไป เวลามันปล่อย พอปล่อยแล้วไปเห็นไง
อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านพิจารณาธาตุขันธ์มันแยกกลับนะ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันแยกหมด รวมหมด ว่างหมดเลย สุขมาก ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอก “เออ! เหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลย”
ฉะนั้น เสร็จแล้วก็จะเอาอีกไง อารมณ์อย่างนั้นมันมีความสุขมาก ก็พิจารณาอีก ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นอีก จะเอาอย่างนั้นอีก
“จะบ้าหรือ มันก็มีหนเดียวเท่านั้นน่ะ”
นี่พูดถึงว่า เวลาเป็น “ของมหาเหมือนเราเลย เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา แต่ของมหาไม่มียักษ์ เรามียักษ์”
เวลาหลวงตาท่านพิจารณาด้วยปัญญาของท่าน ท่านปล่อยวาง พิจารณาด้วยมรรค เวลาพิจารณาแล้วมันแยกมันแยะ มันว่างหมดเลย เห็นไหม นี่คือความจริง หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาอย่างนี้ แต่ท่านพิจารณาถึงโรคเสียดอก โรคเจ็บท้องของท่าน ท่านมีโรคประจำตัว ท่านพิจารณาของท่านอย่างนี้ แล้วมันแยกหมดเลย พอแยกเสร็จแล้วนะ ท่านบอกว่า “ของมหานะ เวลามันปล่อยวางแล้วไม่มียักษ์ แต่ของเราปล่อยวางแล้วมียักษ์”
เห็นไหม มันไม่เหมือนกัน บารมีคนไม่เหมือนกัน ของมหาท่านปล่อย ปล่อยหมดเลย ปล่อยหมดเลย ปล่อยนี่ด้วยปัญญา แต่ไม่มียักษ์ แต่ของเรา เวลาเราปล่อยเสร็จแล้วเรายังมียักษ์ มียักษ์คือว่ามันมีนิมิตต่อเนื่องไป
ฉะนั้น เวลาผล เวลาเราปฏิบัติ จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ปัญญานี่ อยู่ที่มรรคนี่ เวลาหลวงตาท่านปล่อยแล้ว นั่นน่ะสมบูรณ์แล้ว หลวงปู่มั่นท่านก็ปล่อยแล้ว สมบูรณ์แล้ว แต่ท่านยังเห็นยักษ์อีก มันยังออกไปอีก ออกไปเห็นนิมิตต่อเนื่อง มันยังมีผล มีบารมีธรรมที่มันมากกว่า มันก็เห็นของมันไปอย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเรารู้เราเห็น จริงๆ แล้วเราต้องเอาตรงนี้ไง เอาตรงที่ว่าใช้ปัญญาของเรา นี่คืออริยสัจ นี่คือมรรค นี่คือทางมัคโค พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ ปัญญา ภาวนามยปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญามันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ใช้ปัญญา ปัญญาคือมรรคญาณ ศีล สมาธิ ปัญญา
แล้วถ้าศีล สมาธิ ปัญญา แล้วถ้าจิตมันลงแล้วบางคนก็เห็น บางคนก็ไม่เห็น คนเดียวกันบางทีก็เห็น บางทีก็ไม่เห็น เห็นหมายความว่ามันสงบแล้วไปรู้ไปเห็น ถ้าสงบแล้วไม่รู้ไม่เห็นก็มี
เพราะหัวใจมันอยู่ตรงมรรค หัวใจมันอยู่ที่ปัญญานี่ หัวใจมันอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา หัวใจมันจะเห็นนิมิต
แต่ถ้าคนเห็นกาย เห็นกายโดยไม่เป็นนิมิต โอ๋ย! มันกว้างไปมากนะ มันจะกว้างไปมาก เอาสัจจะ เอาความจริง
ฉะนั้น อันนี้ว่าหลานกิเลส
วางไว้ก่อน เราไม่ยอมรับว่าไอ้เด็กผมจุกเป็นหลานกิเลส เราไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นว่าไอ้ผมจุกนี่เป็นหลานกิเลส แต่เราเห็นว่าสิ่งที่รู้เห็นนี้รู้เห็นโดยจริตนิสัย แต่ถ้าเป็นหลานกิเลสมันจะจับของมันได้ อันนี้อันหนึ่ง
อันต่อไปเขาบอกว่า ที่ทำงานมันมีผลกระทบ
เวลาภาวนาก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ แล้วนี่ที่ทำงานก็ยังมีผลกระทบอีก ถ้าผลกระทบ เราก็บอกว่าหลบมาที่พุทโธ
ถ้ากรณีนี้มันก็เหมือนกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ ทางของนักบวชนักพรตมันกว้างขวาง
ทางของนักบวชนักพรต ๒๔ ชั่วโมง พระฉันเสร็จแล้ว ของเรามีแต่พระที่รับผิดชอบ เราจะให้ช่วยดูแลงาน แต่พระที่ไม่รับผิดชอบ เราให้ภาวนา ๒๔ ชั่วโมง เช่น วันนี้อดอาหารไปหลายองค์ วันนี้อดอาหารไป ๕-๖ องค์มั้ง เพราะพระ ๒๒ วันนี้บิณฑบาต ๑๖ หรือ ๑๗ วันนี้พระอดอาหารหลายองค์
ถ้าอดอาหารนี่ ๒๔ ชั่วโมง เขาไม่ต้องทำอะไร ข้อวัตรนี่ยกเว้นเลย ถ้ายกเว้น นี่ทางกว้างขวาง ทางกว้างขวางคือมีเวลาภาวนาอยู่ แล้วมีครูบาอาจารย์กันไว้ คือว่าอยู่คนเดียว อยู่ในที่ของตัวเป็นเอกเทศคนเดียวจะไม่มีใครเข้าไปยุ่ง ๒๔ ชั่วโมง
แต่ถ้าทางคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ เพราะว่าเวลาที่ทำงาน เวลาทำงานแล้วมีสิ่งใดก็ว่าทำงานไปก็กลับมาท่องพุทโธ พยายามหลบหลีกไม่กระทบกับใคร ถ้ากระทบแล้วมันก็ไปกระทบกระเทือนให้กิเลสเราฟูขึ้นมา
ถ้ามันฟูขึ้นมาอย่างนี้ เราต้องมีสติปัญญา มีสติปัญญาหมายความว่า ในเมื่อเรามีหน้าที่ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องมีหน้าที่การงานเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพื่อเอาชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ
พอปฏิบัติขึ้นมา จิตใจเดี๋ยวมันก็กลัวอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็กลัวอย่างนี้ อุปสรรคมันเยอะ นี่ทางคับแคบ ทางคับแคบก็พยายามหาทางออกของตัว ถ้าทำได้มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าทำไม่ได้ เดี๋ยวค่อยว่ากัน
มันต้องหลบหลีกไปเพราะว่าเราเป็นคฤหัสถ์ คฤหัสถ์คือว่าเรายังเป็นผู้ดำรงชีวิตทางโลก ตอนนี้เขาก็ว่าของเขาไป เห็นไหม เขาทำของเขามา เวลาพิมพ์งานต่างๆ มันเป็นที่ทำงานนะ อันนี้อันหนึ่ง อันต่อไปนี่สิ
“ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กร งานมีปัญหา หัวหน้างานก็มาปรึกษา โยมก็พยายามปลอบและบอกเขาว่าอย่ายึดติด อยู่ที่บ้านก็เจอกระทบกับน้อง น้องชวนทะเลาะ โยมต้องควบคุมสติไม่ให้ตอบโต้ ยอมๆ เขาไป ทั้งๆ ที่ใจมันไม่ยอม”
ถ้าทางโลกเขาบอกว่า “ยอมๆ เขาไป” ยอมๆ คือแบบว่า ยอมจำนน ลัทธิยอมจำนน ยอมแพ้เขาหมดเลย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งผู้แพ้เลย
แต่พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร แพ้เป็นพระ เราไม่ได้แพ้ เราเป็นพระ เป็นพระหมายความว่ามีสติมีปัญญา มีสติปัญญา พอมีสติปัญญา เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บอกว่า ถ้าคนเขาโกรธเรา เขากำลังด่าเรา ว่าอย่างนั้นเลย ถ้าเราด่าตอบนี่เราโง่กว่าเขา
เวลาคนเขามาโจมตีเรา ถ้าเราโต้ตอบไป เห็นคนโจมตีเราไหม โอ้โฮ! เขาหน้าดำคร่ำเครียดเลย โอ้โฮ! เลือดเต็มหน้าเลย เลือดแดงหมดเลย โอ้โฮ! ด่าใหญ่เลย มันเป็นตัวตลกไหม มันเป็นยักษ์เป็นผีไหม เป็นแน่นอน แล้วเราอยากเป็นยักษ์เป็นผีกับเขาไหม ไม่อยาก แต่เป็นทำไม อ้าว! เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าไม่ยอมไง
คำว่า “ยอม” ยอมคือว่ายอมจำนน คือเป็นลัทธิผู้แพ้ แต่ความจริงไม่ใช่ ชนะต่างหาก ชนะตน การชนะนี่ชนะยากนะ เพราะอะไร โลกธรรม ๘ เราขาดสติอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่ดีๆ เขาก็มาโจมตีเอาๆ เรารับไม่ได้หรอก แต่มันต้องมีเวรมีกรรมสิ เขาต้องเข้าใจผิดมา เขาต้องมีคนไปยุไปแหย่อะไรมา นี่มันเรื่องของเขา
เวลาเขามา ถ้าเขาขาดสติ เขาจะโจมตี เขาจะติฉินนินทา
อ้าว! ก็ให้เขาอารมณ์เบาๆ ก่อนแล้วค่อยคุยกับเขาก็ได้ ถ้าไม่คุยกับเขามันก็กรรมของสัตว์ คือว่าเราไม่ตอบโต้ไง
ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์เขามาติเตียนพระพุทธเจ้าไง ติเตียนพระพุทธเจ้าเลย “นี่เป็นผู้อาวุโสน้อย ยังเป็นเด็กอยู่ไม่ไหว้ผู้ใหญ่ อย่างนี้มันผิดประเพณี”
พระพุทธเจ้านั่งเฉย เขาพูดจนพอใจ พระพุทธเจ้าถามกลับคำเดียว “พราหมณ์ พราหมณ์เวลาเอาสำรับอาหารไปต้อนรับคนอื่น ถ้าเขาไม่กินอาหารนั้น พราหมณ์ต้องทำอย่างไร”
“ก็ต้องเอาสำรับกลับไง”
ฉะนั้น “เวลาพราหมณ์มาโจมตี มากล่าวโทษพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่รับ ให้เอากลับไป ให้เอากลับไป” โอ๋ย! ยิ่งโกรธใหญ่ ๒ ชั้น ๓ ชั้นเลย
อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันมีการทะเลาะเบาะแว้ง ในเมื่อเขาว่าเข้าไปแล้วถ้ามันมีปัญหาไปมันยิ่งฟุ้งไป มันยิ่งยุ่งยากไป เราก็ยอมๆ ไป คำว่า “ยอมๆ” นี่มีสตินะ
ยอมโดยใจมันไม่ยอม แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราเห็นแล้วเราสังเวชนะ อย่างนี้เขาไม่ใช่เรียกว่ายอม เขาเรียกว่าชนะตนเอง ชนะตนนะ
คนที่เขาทั้งโจมตี ทั้งกล่าวร้าย เราก็รู้มีความรู้สึก เราไม่ได้ทำเลย ความจริงมันก็ต้องโกรธ ๒ เท่าเนาะ ไอ้คนที่ทำผิดเขาจับได้มันก็ยังว่า เออ! เขาจับได้ ไอ้นี่ไม่ได้ทำแล้วเขามาโจมตี โอ้โฮ! มันโกรธ ๒ เท่า ๓ เท่าเลย
แต่ถ้าเรามีสติเราก็ยับยั้งไว้ จนเขามีสติแล้วค่อยบอกเขานะ โอ้โฮ! เขาจะขออภัย เขาจะขอโทษ ถ้าเขาขอได้
ถ้าเขาขอไม่ได้นะ คนที่เขาโลกธรรม ๘ เขาจะติฉินนินทา ก็เขาแกล้งไม่รู้อยู่แล้ว เขาก็รู้ว่าเราไม่ได้ทำ แต่เขาใส่ความใส่ไคล้เพื่อจะโจมตี เราจะพูดอย่างไร เราไม่มีเหตุผล ไม่มีเหตุหลักฐานที่จะเคลียร์ปัญหานี้ เขาก็ยิ่งบอกว่าเรายอมจำนน เขายิ่งไปโฆษณานะ “ใช่ เมื่อกี้เพิ่งไปว่าเขามา เขาเงียบเลย เขายอมรับ”...โอ้โฮ! พูดไปนู่นเลย
นี่เราชนะตนเองต่างหาก คำว่า “ชนะ” คือชนะใจเรา ถ้าเขามาแหย่แล้วเราเต้น นั่นน่ะเต้นตามเพลงเขาเลย เขาจะให้เราเล่นบทไหน เราก็กด เราก็ต้องเต้นตามนั้น เป็นตุ๊กตาไขลานเลย นั่นก็เป็นเรื่องอีกอย่าง
โลกธรรม ๘ เราอยู่กับโลกธรรม ๘ นะ ถ้ามองกระแสโลก “อู๋ย! ยอมแพ้เป็นคนที่สิ้นไร้ไม้ตอก”
แต่ถ้ามองในทางธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ชัดเจนมาก “อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า”
เพราะพระอริยเจ้าเขานิ่งอยู่ เพราะว่าได้รับผลกระทบ ใครไปติฉินนินทาก็รับรู้ รับรู้ทั้งนั้นน่ะ แต่ท่านมีสติปัญญายับยั้งของท่าน ท่านมีสติปัญญามีเหตุมีผลแยกแยะได้ แล้วท่านไม่โต้ตอบ ไม่พูด ไม่พูดเพราะอะไร ไม่พูดเพราะเขาไม่เข้าใจ พูดไปแล้วมันกระทบกระเทือนกันน่ะ
“อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า”
พระอริยเจ้า ที่ติฉินนินทา ที่ด่าเขา เขารู้หมดแหละ เขารู้ว่าด่าเรื่องอะไร แต่เขารู้ว่ามันไม่ถูก มันไม่จริง แล้วเขาก็ไม่พูดด้วย เพราะพูดไป ไอ้คนที่มาพูดมันใส่ไคล้ มันได้ความคิดชุดสำเร็จรูปมาจากคนที่เขาปั่นหัวมา พูดไปมันก็ไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ท่านไม่พูดให้เสียเวลา ไม่พูดให้กระทบกระเทือน นี่พระอริยเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้
แล้วบอกว่า เรายอมๆ ไป เรายอมจำนนทั้งๆ ที่ใจมันไม่ยอม
คำนี้เราฟังแล้ว ใช่ ถ้าพูดทางโลก ทางวิทยาศาสตร์ก็พูดอย่างนี้ว่าเรายอม แต่ความจริงแล้วเราไม่ใช้คำว่า “ยอม” เราใช้คำว่า “ชนะ”
แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร
แพ้ เห็นไหม แพ้เป็นพระ เขาว่าเขาชนะ เขาเป็นมาร แต่ที่คำว่า “ชนะ” คือชนะใจตัวเอง ชนะใจตัวเอง ชนะกิเลส ชนะกิเลส ชนะความที่มันไม่ยอมลง ชนะไอ้สิ่งที่เขามาคุ้ยเขี่ย เขามาใส่ไฟ เขาเอาน้ำมันสาดเข้ามานี่ เพื่อให้เราลุกขึ้นมานี่ แล้วเราดับไฟได้
เขาเอาน้ำมันสาดเข้ามาเลย แล้วเราดับได้ นี่เราชนะ เราชนะตรงนี้ เราชนะมารของเรา ชนะกิเลสของเรา
แต่บอกยอมๆ กันไป...ไม่ใช่
ถ้าสู้ตรงนี้ได้มันก็จะสู้ได้เนาะ
ฉะนั้น เขาบอกว่า “หากหลวงพ่อเห็นควรว่าปรับปรุงอย่างใด โปรดเมตตาด้วย”
ปรับปรุงอย่างใด ก็พูดนี่ พูดตั้งแต่ต้นมาจนจบ ให้ปรับปรุงอย่างนี้ ให้ทำอย่างนี้เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ
ฉะนั้น ไอ้เรื่องการภาวนา ไอ้เรื่องการกระทำ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ในเมื่อเราเกิดมาอย่างนี้ ใจของเรา เราเกิดมาเรายังมีสติปัญญารักษาตัวรอดมาขนาดนี้ แล้วมาศึกษาธรรมะขนาดนี้
แล้วปฏิบัติของเรานะ ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติสำมะเลเทเมาที่เขาปฏิบัติกันไป ปฏิบัติตามแต่สัญญาอารมณ์นั่นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราปฏิบัติตามความจริง เราพุทโธจริงๆ แล้วจิตเราสงบ จิตเรามีหลักมีเกณฑ์ แล้วเราเห็นความบกพร่องของเรา แล้วมันเกิดความสังเวช เกิดสังเวช เกิดน้ำตาไหลพรากๆ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้เรามีวาสนา
เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
แล้วอาชีพการงาน เกิดเป็นมนุษย์ทำหน้าที่การงานประสบความสำเร็จต่างๆ นี่เกิดเป็นมนุษย์
พบพระพุทธศาสนาแล้วไม่สนใจ พบพระพุทธศาสนาแล้ว เขาก็ทำของเขาแล้วเขาก็ตายเปล่า ตายไปโดยเกิดเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง
เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา แล้วเราปฏิบัติของเรา ปฏิบัติจนมันเข้าไปสะเทือนใจจนน้ำหูน้ำตาไหล จนไปเห็นมาร หลานของกิเลสเลยล่ะ ทำอย่างนี้ปั๊บ เราคิดถึงชีวิตของเราสิว่ามันมีคุณค่าไหม
เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วเราทำได้ขนาดนี้ เราก็เอาชีวิต มันก็มีคุณมีประโยชน์แล้ว มีประโยชน์กับจิตของเราเอง มีประโยชน์กับจิตใจของเราเอง
ใครจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรมันเรื่องของเขา ความเห็นของเขาไง เราจะเชื่อปากขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนศีล สมาธิ ปัญญา
นี่เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อปัญญาคุณ เชื่อเมตตาคุณ เชื่อความกรุณาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราปฏิบัติของเรา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่เชื่อโลก เราไม่เชื่อสังคม เอวัง